ตำนานเกี่ยวกับพระแม่อุมา

Socail Like & Share

“ขอเดชะพระอุมารักษาสวาท
ให้ผุดผาดเพียงพักตร์พระลักษมี
วิมานแก้วแววฟ้าฝูงนารี
คอยพัดวีแวดล้อมอยู่พร้อมเพรียง”
(รำพันพิลาป-สุนทรภู่)

พระอุมาเหมวดี  เรียกอย่างสั้นก็ว่าพระอุมา เป็นมเหสีของพระอิศวร จึงนับว่าเป็นเทวนารีที่ยิ่งใหญ่ทีเดียวละ พระอุมานี้เป็นธิดาของ พระหิมวัต (เขาหิมาลัย) กับ นางเมนา หรือ เมนกา บุตรีแห่งเมรุ บางตำนานก็มีนิยายประกอบชาติปางก่อนของพระอุมาด้วย คือท้าวเธอถือกำเนิดเป็นพระสตี เป็นธิดาของพระทักษะและได้ตกเป็นมเหสีของพระอิศวร พ่อตากับลูกเขยไม่กินเส้นกันดังที่ผมจ้อไว้ในเรื่อง พระทักษะ แล้ว ความไม่กินสีกันนี้เองมีเหตุการณ์อันทำให้พระสตีเสียชีวิต พระอิศวรตรอมใจเลยออกประพฤติพรตเป็นโยคี ต่อมามียักษ์ตนหนึ่งชื่อ ตารกะ (ในรามเกียรติ์เรียกเป็นตรีปุรัม) บำเพ็ญตบะมีฤทธิ์เยอะ ทวยเทวดาเกรงว่ายักษ์ตนนี้จะก่อความวุ่นวาย ก็สัมมนากันในหัวข้อวิธีกำจัดยักษ์ตนนี้ ในที่สุดก็ได้ความว่า ต้องได้โอรสพระอิศวรไปปราบ แต่ติดขัดที่ชายาพระอิศวรสิ้นชีพไปแล้ว จะหาโอรสมาได้อย่างไรกัน เผอิญในหมู่เทวดาซุบซิบกันว่า พระสตีไปเกิดเป็นพระอุมาแล้ว จึงหกามเทพแผลงศรรักปักอก (ดูเรื่องกามเทพ) ด้วยวิธีการนี้เองพระอิศวรก็ได้โอรสชื่อ พระขันทกุมาร และปราบยักษ์ตนนี้ได้สำเร็จ

บางตำนานกล่าวว่า พระอิศวรทรงสร้างพระอุมาขึ้นเองโดยเอาพระหัตถ์ข้างขวาลูบพระอุระ ก็เกิดเป็นพระอุมาสมปรารถนา และถือเป็น ศักดิ ของพระอิศวร (ศักดิ นี่เดี๋ยวผมค่อยเล่านะครับ) แล้วก็ช่วยกันสร้างโลกไงเล่า
พระแม่อุมาเทวี
พระอุมานี้ มีด้วยกัน ๓ ภาคครับ ภาคที่ ๑ คือ พระอุมา หรือบารพตีหรือบรรพตี (นางชาวเขา) หรือพระมหาเทวี ภาคนี้ใจดีครับ มีสิริโฉมงดงาม ผิวเนื้อเรื่อเรืองเหลืองกระจ่าง บางทีก็เขียนเป็น ๒ กรบ้าง ๔ กรบ้าง ในภาคนี้บางทีก็เรียกว่า เคารี (แปลว่า สีเหลืองกระจ่าง) แล้วก็เติมเกร็ดอีกว่า เดิมทีพระอุมาน่ะมีสีกายดำ พระอิศวรยั่วเรื่องผิวทำให้นางน้อยใจ ก็เป็นเรื่องธรรมดาครับ ที่ภรรยาย่อมน้อยใจที่สามีติในเรื่องความงาม นางก็เลยหนีไปอยู่ป่า พระอิศวรต้องไปง้อและประทานพรให้ผิวเป็นสีเหลือง
พระแม่กาลี
ภาคที่ ๒ เป็นภาคที่ดุและน่ากลัว เรียกกันว่า กาลี หรือ ภัทรกาลี หรือ กาลิกา เอกลักษณ์น่าสยองมากครับ ผิวดำสนิท หน้าดุ อ้วนล่ำ ผมสยายประบ่า มี ๑๐ แขน บางทีก็เขียนเป็น ๔ แขน มีอาวุธพร้อมทุกมือ บางทีก็เขียนเป็นมือหนึ่งถือดาบ มือหนึ่งยกขึ้นประทานพร มือหนึ่งยกขึ้นรับผู้ที่บูชา ที่น่าสะดุ้งก็ตรงที่มีเลือดหยดตามปากและตัวมือ ก็ถือกะโหลกหัวยักษ์ที่ตัดใหม่ๆ สดๆ คาวๆ บางทีก็ถือตรีปฏัก บางทีก็เขียนเป็นรูปยืนเหยียบมหิงสาอสูร
พระแม่ทุรคา
ภาคที่ ๓. ก็เป็นภาคที่ดุร้ายสยดสยองพองขนเหมือนกันมีชื่อว่า ทุรคา รูปทุรคานี้ใช้ศพเป็นตุ้มหู กะโหลกผีเป็นสร้อยคอ มีซี่โครงคนผูกติดกันเป็นเข็มขัด นัยน์ตาทั้งสองโปนแดงยังกะสายเลือดยังไงยังงั้น มีผมยาวถึงส้นเท้า นมก็ยานถึงสะเอว ลิ้นก็แลบออกมาถึงทรวงอก เล็บมือเล็บเท้ายาวแหลมคม มีอาวุธประจำตัว ๑๒ อย่าง คือ จักร ตรี ศูล ขรรค์ หอก กระบอง ลูกธนู บ่วงบาศ ปฏัก โล่ ขวาน ระฆัง แต่ในบางคัมภีร์ก็ว่าภาคทุรคานี้มีสีกายเหลือง และมีรูปโฉมงามเหมือนภาคพระอุมา ที่น่ากลัวอยู่หน่อยก็ตรงที่มีเสือเป็นพาหนะ

พระอุมาปางที่ดุร้ายเป็นพระแม่เจ้ากาลีนี้ แม้แต่พระอิศวรก็ยังเกรงใจ มีนิยายว่างมีความต้องการจะฆ่ายักษ์ตนหนึ่ง แต่เจ้ายักษ์ตนนี้มีฤทธิ์เอาการละครับ แม้นางจะฆ่าอย่างไรเพื่อนก็ไม่ยักตาย เมื่อมีเลือดหยดถูกแผ่นดินเพื่อนก็เกิดใหม่เป็นพัน เจ้าแม่ก็ใช้วิธีดูดเลือดยักษ์ไม่ให้ตกถูกพื้นดิน พร้อมกับฆ่ายักษ์ตนนั้นได้อย่างชนิดหืดขึ้นคอ เมื่อฆ่าได้ก็ดีใจ ฉลองด้วยการแผลงฤทธิ์เล่น แผลงเพลินไป ทำท่าจะยกเท้ากระทืบโลก ซึ่งจะมีผลทำให้มนุษย์เทวดาพากันตายไปตามๆ กัน เทวดาวิ่งวุ่นไปทูลขอพระอิศวร พระอิศวรก็เกรงใจไม่กล้าห้ามหรอก ยิ่งน้ำกำลังเชี่ยวจะเอาเรือไปขวางก็ไม่สมควรนัก แต่พระอิศวรก็คิดว่าไงๆ เจ้าแม่ก็เป็นเมีย คงจะมีความนับถืออยู่บ้าง พระอิศวรจึงลงนอนอยู่บนพื้นดลกในขณะที่เจ้าแม่จะกระทืบโลกพอดี และเจ้าแม่ก็เห็นพระอิศวรเสียก่อนเลยยั้งเท้าไว้ทัน เพราะไงๆ เจ้าแม่ก็เป็นเมีย เมียจะกระทืบผัวจะเป็นตัวอย่างที่ดีได้ไงเล่า ก็เป็นผลให้โลกยังคงอยู่ทุกวันนี้แหละ มนุษย์ได้อาศัยด้วยความสุขและทุกข์ระคนกันไป ในตอนนี้มักจะเขียนรูปเจ้าแม่กาลีเป็น ๔ กร ถือคทายอดหัวกะโหลกคนและเศียรอสูร ผมยาวประบ่า ยืนแลบลิ้น มีเลือดเปรอะเต็มปากและมือ เรียกกันว่า พระแม่เจ้ากาลี อ้อถึงแม้รูปตอนนี้จะน่าสยองขวัญก็มีแววส่อให้เห็นอาการอายนิดๆ ที่ทำท่าจะกระทืบพระสวามีน่ะ

ภาคที่ดุร้ายของพระอุมาน่ะ มีนามเรียกมากครับ เช่น ศยามา(ดำ) จัณฑี จัณฑิกา(ดุร้าย) ไภรวี (น่าพิลึกพึงกลัว)

ภาคของ ทุรคา นี้ บางปุราณะว่าได้ชื่อนี้ก็เพราะพระอุมาปราบอสูรตนหนึ่ง ชื่อ ทุรคะ ที่ทำให้ชาวโลกเดือดร้อน แต่ตามศัพท์น่ะ คำว่า ทุรคา แปลว่าเข้าถึงได้ยากหรือเข้าถึงมิได้ เรื่องนี้ถือกันเป็นลัทธิ “ศักดิ” ซึ่งเป็นลัทธิที่เกิดขึ้นภายหลังศาสนาพราหมณ์นานนัก อธิบายอย่างกว้างๆ ก็ได้ความว่าเป็นลัทธิที่เคารพนับถือชายาของพระเป็นเจ้า คำว่าศักดิแปลว่ากำลังหรือฤทธิ์อำนาจ อย่างเช่น พวกที่นับถือพระศิวะก็ว่าพระอุมาเป็นศักดิ พวกที่นับถือพระนารายณ์ ก็ว่าพระลักษมีเป็นศักดิ พวกที่นับถือพระพรหมก็ว่าพระสรัสวดีเป็นศักดิ แต่โดยทั่วไปก็หมายถึงพระอุมามากกว่า ลัทธินี้นัยว่าเป็นลัทธิประสมออกจากลัทธิฮินดู และเป็นลัทธิที่หันเข้ากลับชนชาติเดิมที่ไม่ใช่ชาวอารยัน ลัทธินี้มีผู้นับถือกันมากในอินเดียภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถวเนปาลราษฎร์ แคว้นเบงคอล (องคราษฎร์) และในอัสสัม (โบราณเรียกว่าแคว้นกามรูป)

ที่จริงลัทธิศักดินี้ก็เข้าที เพราะตามธรรมเนียม เทวดาใหญ่ๆ ก็ย่อมจะเข้าถึงได้ยาก ถ้าเข้าทางชายาก็ย่อมจะง่ายกว่า ก็เหมือนมนุษย์ละครับ ผู้มีอำนาจน่ะเข้าถึงยากจะตาย เข้าทางประตูหลังหรือคุณนายดูจะง่ายมาก เมียก็บังคับผัวทำนองโง่เง่าเต่าตุ่นไม่รู้จักหาเงินโดยวิธีลัด เรื่องของเรื่องก็สำเร็จทุกประการแล

ทีนี้มาเรื่องเจ้าแม่กาลี คำว่ากาลีบางท่านก็ให้ความหมายว่า ดำ แต่นักปราชญ์บางท่านว่าคำนี้ออกมาจากคำว่า “กาล” แปลว่าเวลา กาลี มีความหมายว่า ผู้ชนะแล้วซึ่งเวลา หรือผู้ซึ่งกาลเวลาไม่สามารถเอาชนะได้ ก็คือไม่ตาย ไม่แก่เฒ่านั่นเอง แต่เรื่องเจ้าแม่กาลีมีเรื่องยืดยาวครับ เพื่อให้เข้าใจง่ายเป็นเรื่องเป็นตอนตามลำดับ เห็นจะต้องกล่าวถึงคำว่า สตี ก่อน

ที่เล่าไว้ในตอนแรกว่า สตีเป็นชายาพระอิศวรน่ะ แล้วมีเรื่องสิ้นชีวิตเพราะพ่อตาลูกเขยไม่ถูกกัน อันนับเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่ของเมียที่รักผัว ความจริงคำว่า “สตี” แปลว่า หญิงดี และต่อมาราวๆ พ.ศ. ๑๐๐๐ เห็นจะได้ มีประเพณีหญิงม่ายต้องเอาตัวเองตายตามสามี ถ้าสามีมีอันตายก่อน นับว่าเป็นประเพณีที่มหาโหดสำหรับเมียมาก ผู้ที่ยอมเผาตัวตายตามสามีนี้ได้รับการยกยอ่งจากสังคมมาก ว่ากล้าหาญและรักผัวมาก จึงได้ชื่อว่า “สตี” ส่วนหญิงใดไม่ยอมตายตามผัว ก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นหญิงชั่ว เรื่องนี้เมื่ออินเดียตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษก็สั่งห้ามแล้ว เดี๋ยวนี้คงจะหาเมียที่กล้าหาญเช่นนี้ได้ยากเต็มทีครับ แต่สังคมแม่ม่ายส่วนมากก็ยังคงได้รับความทุกขเวทนาอยู่มาก เพราะค่านิยมเก่าๆ นี่แหละ ไม่เหมือนเมืองไทยหรอกนา แต่เรื่องเมียฆ่าตัวตายตามผัวนี้ก็มีในวรรณคดีไทยเรื่องอิเหนา ซึ่งเป็นเรื่องที่เรารับเอามาจากชวา แสดงว่าชวาก็รับประเพณีสตีนี้ด้วย เรียกกันว่า แบหลา เช่นตอนนางดรสาแบหลาตามระตูบุศสิหนาผู้สามี

“เมื่อนั้น                                นวลนางดรสามารศรี
กำสรดโศกศัลย์พันทวี            อัญชลีทั้งสองกษัตรา
แล้วทูลว่าพระองค์ผู้ทรงเดช   จงได้โปรดเกศเกศา
ข้าน้อยขอถวายบังคมลา         ตายตามภัศดาด้วยภักดี
ฯลฯ

ครั้นเสร็จจึงตั้งอธิษฐาน                เยาวมาลย์กราบงามสามท่า

เห็นเพลิงพลุ่งรุ่งโรจน์โชตินา        ก็แบหลาโจนเข้าในอัคคี”

ในอิเหนาน่ะมีหลายตอนทีเดียว เช่น “ฉวยคว้าได้กริชของพี่ยา จะแบหลาชีวันให้บรรลัย” และ “น้องจะแบหลาครานี้ ตายตามพระพี่ที่หายไป”

เรื่องประเพณีสตีนี้แหละ เป็นที่มาของเรื่องการนับถือเจ้าแม่กาลีละ หญิงที่กล้าหาญหรือทำเป็นกล้าเผาตัวตายตามสามีเช่นนี้ ก็ย่อมจะเป็นที่ยกย่องแก่บรรดาคนทั่วไป สังคมก็ชม กวีก็ชมถึงกับแต่งบทสรรเสริญไว้มาก โดยปกติคนเราแต่ก่อนถึงแม้เดี๋ยวนี้ก็เหอะนับถือผีสางกันอยู่แล้ว ผีที่ตายทั้งกลมก็ยิ่งถือว่าเฮี้ยนนัก ยิ่งเป็นผีที่เผาตัวเองตายตามผัว คนก็ยิ่งนับถือกันมาก บังเอิญเฉพาะมีผีที่ตายด้วยวิธีการสตีนี้ตนหนึ่ง เกิดศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา ใครบนอะไรก็ได้ ประชาชนก็เลยนับถือผีโชคดีตนนั้นมาก แม้กระทั่งพวกโจรก็นับถือ และเรียกกันว่า เจ้าแม่กาลี พวกพราหมณ์ก็ใช้วิธีการฉลาด ใช้จิตวิทยาขั้นพื้นฐาน คือไม่ขัดศรัทธาของประชาชน ประชาชนนับถือก็นับถือไป เป็นแต่บอกว่า เจ้าแม่กาลีนี้ที่จริงก็ไม่ใช่ใครหรอก ก็คือภาคหนึ่งของพระอุมา มเหสีของพระอิศวรนั่นเอง ประชาชนก็ไม่ว่า เพราะก็นับถือเจ้าแม่กาลีอยู่แล้ว ยิ่งบอกว่าเป็นภาคหนึ่งของพระอุมา ก็เท่ากับยกย่องสิ่งที่ตนนับถืออยู่ ไม่ได้ทำลายศรัทธาของมวลชนด้วยเหตุนี้แหละพระอุมาจึงเป็นเจ้าแม่กาลีด้วยประการฉะนี้แล

เรื่องการบูชาเจ้าแม่กาลีและทุรคานี้ มีวิธีการแปลกๆ วิตถารเอาเรื่อง เล่ากันว่าเจ้าแม่กาลีชอบของสังเวยสัตวพลี ที่เมืองกัลกัตตา ณ ตำบลกาลีฆาฏ มีเทวาลัยของกาลีเทวี ซึ่งมีคนเอาแพะไปตัดคอสังเวยทุกๆ วัน นอกจากวิธีการบูชาด้วยการบูชายัญแล้ว ยังมีการเสพเมถุนกันในเทวาลัยก็จัดให้มีหญิงแพศยาไว้ประจำ เรียกว่าเทพทาส นัยว่าให้เจ้าแม่กาลีเพลิดเพลินกับการดูการเสพเมถุน เพื่อจะได้ไม่ต้องแผลงฤทธิ์ให้สยองขวัญเล่น และบางพวกก็อุจาดยิ่งไปกว่านั้น คือจะมีวันหนึ่งซึ่งเป็นวันที่ถือว่าเป็นวันแสวงหาบุญ จะมีหญิงชายจำนวนมากเข้าไปในเทวาลัยในขณะที่มืดๆ แล้วต่างก็คลำหากัน ชายใดคลำเจอะหญิงคนไหนก็ไม่ต้องถามชื่อแซ่กันละ เสพเมถุนธรรมกันเลยทีเดียว และถ้าเผอิญคลำเจอะพี่น้องพ่อแม่ยิ่งได้บุญใหญ่ ตามปกติพวกนี้ไม่พิเรนอย่างนี้ เป็นคนที่มีศีลธรรมดีทีเดียว แต่เฉพาะวันนี้เท่านั้นที่ถือกันว่าต้องทำเพื่อสะสมบุญไว้ เดี๋ยวนี้น่ะคงไม่มีแล้วหรอกลัทธิวิตถารต่างๆ นี้ เรียกกันว่า ลัทธิตันตระ ซึ่งเป็นเรื่องสุขุม อธิบายให้เข้าใจยากครับ ขอแนะนำให้ไปอ่านหนังสือ “ลัทธิของเพื่อน” ของเสฐียร  โกเศษและนาคะประทีปเอาเอง  ได้ความรู้หลายครับ รวมความว่าทั้งลัทธิศักดิและตันตระน่ะไม่ใช่ของเดิมของศาสนาพราหมณ์และฮินดูหรอก เป็นเรื่องกระเซ้นกระสายไปและไม่ใช่ของพวกอารยันด้วย ส่วนทุรคาเทวีนั้นบางคัมภีร์ว่าเป็นเทพีแห่งสงคราม แต่ก็ได้รับการบูชากราบไหว้ในฐานะเป็นพระแม่เจ้าผู้พิชิตความชั่วร้าย ลัทธิการบูชากราบไหว้พระทุรคานี้ แพร่หลายมากในแคว้นเบงกอล มีเทศกาลและหยุดงานกันเรียกกันว่า ทุรคาบูชา เรียกย่อๆ ว่า D.P Holiday นับเป็นระยะเวลาพักผ่อนหย่อนใจจากการงานที่ยาวนานที่สุดในเบงกอล

เรื่องของพระอุมามีในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น กามนิต อิลราชคำฉันท์ (ได้เล่าไว้แล้วตอนก่อนๆ) และเรื่องรามเกียรติ์ ในเรื่องกามนิตกล่าวถึงเจ้าแม่กาลีว่า

“การปล้นสะดมมักทำในข้างแรมเดือนมืด ด้วยโจรถือว่าเป็นระยะกาลที่พระแม่เจ้ากาลีคุ้มครองโจรกรรม เมื่อคืนแรมสิบห้าค่ำเป็นดิถีสมโภชบูชาพระแม่เจ้ากาลีมีพิธีแสนน่าเกลียดน่ากลัว ฆ่าโคและแพะสีดำนับจำนวนไม่ถ้วนเอาบูชาเทวรูป และฆ่าคนที่จับมาได้บูชายัญอีกด้วย เอาตัวผู้จะถูกฆ่านอนบนแท่นบูชา แล้วแหวะเส้นโลหิตใหญ่ให้โลหิตพุ่งไปเข้าปากเทวรูปร่างร้ายซึ่งมีหัวกะโหลกคนเป็นสังวาลคล้องคอ”

รามเกียรติ์น่ะมีหลายตอน เช่นตอนกำเนิดหนุมาน หนุมานไปซุกซนหักไม้ในสวนของท้าวเธอ จึงถูกสาปให้กำลังหดไปกึ่งหนึ่ง เมื่อหนุมานทูลขอ พระอุมาก็ว่าถอนคำสาปไม่ได้ แต่ก็ให้พรใหม่ว่า

เมื่อนั้น                              องค์พระอุมาโฉมศรี
จึงมีเทวราชวาที                 ว่าเหวยกระบี่ผู้ศักดา
อันคำของกูประกาศิต          ดั่งเหล็กเพชรลิขิตแผ่นผา
ไม่รู้ที่จะคืนวาจา                  แต่ว่าจะให้พรไป
เมื่อใดพระทรงบัลลังก์นาค    เสด็จจากเกษียรสมุทรใหญ่
มาเป็นพระรามเรืองชัย         ได้ลูบหลังจนหางวานร
จึงพ้นคำกูสาปสรรค์            กำลังนั้นคงคืนดั่งก่อน
เอ็งอย่าทุกขาอาวรณ์           วานรจงเป็นสวัสดี

นางมณโฑนั้นก็เกิดจากกบ และเคยอยู่กับพระอุมา ได้เรียนรู้พิธีสัญชีพหุงน้ำทิพย์พรมศพให้คืนชีวิตจากพระอุมา ต่อมานางมณโฑตกเป็นเมียทศกัณฐ์ เพราะทศกัณฐ์ยกเขาไกรลาสที่ทรุดได้ ทศกัณฑ์เล่นขอพระอุมาเป็นชายาแต่แตะต้องไม่ได้ ต้องให้พระอุมานั่งบนหัวไป พระนารายณ์แปลงแนะนำทศกัณฐ์ให้ไปเปลี่ยนเป็นนางมณโฑ ต่อมาเกิดศึกระหว่างทศกัณฐ์กับพระราม ญาติทศกัณฐ์พากันล้มตาย นางมณโฑจึงเล่าให้ทศกัณฑ์ฟังว่าตนได้พิธีชุบชีวิตจากพระอุมา

“จึงประทานพระมนตร์อันหนึ่ง         ลึกซึ้งสุขุมหนักหนา
ให้ทำตบะกิจวิทยา                        ชื่อว่าสัญชีพพิธี
จะเกิดน้ำทิพย์อันวิเศษ                  ดั่งอมฤตตรีเนตรรังศรี
บรรดาใครม้วยชีวี                         รดด้วยน้ำนี้ก็เป็นมา
จะใช้สิ่งใดก็ใช้ได้                        เรืองฤทธิไกรแกล้วกล้า
ทั้งรู้เหาะเหินเดินฟ้า                     แต่เจรจาไม่ได้ดังใจคิด
ถึงตายไปวันละร้อยแสน               จะคืนมาเป็นแน่นอักนิษฐ์
จะรื้อเข้าเข่นฆ่าปัจจามิตร             ด้วยอำนาจฤทธิ์วารี”

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร