ตำนานของพระอินทร์

Socail Like & Share

พระอินทร์
“ให้พระอินทร์หักคอซีเอ้า”
“ให้พระอินทร์เขียวๆ มาบอกก็ไม่เชื่อ”
ที่เขียนข้างต้นน่ะ เป็นคำพูดติดปากคนไทยมานานนม ก็พอจะเป็นหลักเป็นฐานได้ว่า เรารู้จักพระอินทร์นานนักแล้ว และเราสนิทสนมกับพระอินทร์ดีกว่าเทพองค์อื่นๆ มากเชียวละ ดูๆ พระอินทร์ก็ชอบมายุ่งเกี่ยวกับมนุษย์เสียจริง บรรดาวรรณคดีไทยก็มีเรื่องพระอินทร์มากกว่าเทพองค์อื่นๆ แล้วพระอินทร์ก็มีทั้งคติพราหมณืและพุทธ เรื่องของพระอินทร์ผมจึงต้องขอฝอยสัก ๒ ฉบับ ทั้งๆ ที่จ้อได้ถึง ๔ ฉบับ แต่ผมตัดทิ้งไปบ้างครับ

พระอินทร์ตามคติพราหมณ์ถือว่าเป็นเทพที่เก่าแก่ ในสมัยพระเวทถือว่าเป็นเทพที่ยิ่งใหญ่กว่าเทพอื่นๆ ถือว่าเป็นเจ้าแห่งฟ้า เป็นผู้ถืออสุนีบาต เป็นผู้บันดาลให้ฝนตกและกำกับฤดูกาล และเป็นเทพแห่งสงครามคอยปราบปรามผู้ก่อความเดือดร้อนหรือหนักแผ่นดิน ลักษณะของพระอินทร์ในสมัยพระเวทนั้น มีรูปร่างอ้วน บึกบึน มีศอใหญ่ แผ่นหลังสีน้ำตาล ท้องใหญ่บรรจุน้ำโสมได้หลายสระ โอษฐ์กว้าง เคราสีทอง เกศาสีทอง ผิวก็สีทอง และมีร่างกายใหญ่เท่ากับโลกสิบเท่า โปรดน้ำโสมหรือเหล้าเป็นที่สุด จึงมีนามว่า “โสมปา” ในคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์มีบทสดุดีพระอินทร์ถึง ๒๕๐ บท มากกว่าเทพองค์ใด ผมขอคัดบทสดุดีมาประกอบความยิ่งใหญ่ของพระอินทร์สักนิดนะครับ จากหนังสือปรีชาญาณของสิทธัตถะ ของ สมัค บุราวาส

“พระผู้เป็นเจ้าองค์ใด ในคราแรกเริ่มเดิมทีที่อุบัติขึ้น เป็นสิ่งแรกที่มีเจตภูตพระผู้เป็นเจ้าองค์ซึ่งพิทักษ์เทพเจ้าทั้งหลายด้วยอานุภาพแห่งพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าองค์ซึ่งสองโลกต้องตระหนักด้วยเดชานุภาพ และศักดานุภาพของพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าองค์ซึ่งสองโลกต้องตระหนักด้วยเดชานุภาพ และศักดานุภาพของพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าองค์นั้นแล มนุษย์ทั้งหลายเอ๋ย คือพระอินทร์”

“พระผู้เป็นเจ้าองค์ใดบังคับโลกที่สั่นสะท้านให้นิ่งได้ ทำความมั่นคงให้แก่ขุนเขาที่หวั่นไหว พระผู้เป็นเจ้าองค์ใดสร้างสวรรค์ขึ้น พระผู้เป็นเจ้าองค์นั้นแล มนุษย์ทั้งหลายเอ๋ย คือพระอินทร์” ฯลฯ

พระอินทร์ไม่ถือว่าเป็นสยัมภู คือไม่ได้เกิดขึ้นเอง มีพ่อมีแม่เหมือนกัน แต่ก็สับสนเต็มทีครับ บางทีก็ว่าเป็นโอรสของทยาอุส แต่บางทีว่าเป็นโอรสของพระทวาสตฤกับเทวีนิษฏิกร และบางตำนานว่าเป็นโอรสของ เทยาส (ฟ้า) กับปฤถวี (ดิน) แต่โดยทั่วไปก็เข้าใจกันว่าพระอินทร์เป็นโอรสของพระกัศยปเทพบิดร กับพระนางอทิติเทพมารดร จึงต้องนับว่าเป็นหนึ่งในจำนวนเทพแห่งพระอาทิตย์ทั้งยังถือว่าพระอินทร์เป็นจอมสวรรค์เป็นใหญ่ในหมู่วสุเทพ คือเป็นใหญ่ในหมู่ธร (ดิน) อาป (น้ำ) อนิล (ลม อนล (ไฟ) ธรุระ (ดาวเหนือ) โสม (จันทร์) ปรัตยุษ (รุ่ง) ประภาส (แสงสว่าง) พระอินทร์จึงได้นามว่า วาสพ (เป็นใหญ่ในหมู่วสุเทพ)

ส่วนมเหสีของพระอินทร์ ตามคัมภีร์พระเวทว่ามีองค์เดียว คือ “อินทราณี” แต่ก็เรียกกันหลายนาม เช่น เอนทรี, ศจี และพจนานุกรมอังกฤษ-สันสกฤต ของโมเนียร์ วิลเลียม กล่าวว่ามเหสีของพระอินทร์เรียกกันหลายนาม เช่น ศจี อินทราณี มโฆนิ อินทรศักดิ์ ปุโลมชา และเปาโลมี ส่วนคัมภีร์พระเวทสดุดีไว้ว่า “ตามบรรดาสตรีทั้งหลาย อินทราณีมีโชคดีกว่าหญิงทั้งสิ้น เพราะภัสดาของนางจะมิได้สิ้นชีพด้วยชราภาพในเบื้องหน้า” ข้อนี้นักปราชญ์อธิบายว่า พระอินทร์จะเปลี่ยนไปกี่องค์ก็ตาม อินทราณีก็คงยังเป็นมเหสีของพระอินทร์องค์ต่อๆ ไป หมายความอีกทีว่า เธอไม่รู้จักแก่เฒ่าสาวเสมอสวยเสมอเป็นนั่นเทียว

พระอินทร์คอยปราบปรามผู้ทำให้เกิดความแห้งแล้ง เช่น ปราบพฤตาสูร จึงได้ฉายาว่า พฤตหน และปราบอสูรวลาสูรผู้ขโมยวัวของฤาษี พระอินทร์จึงได้ฉายาว่า วัลภิท พระอินทร์เคยปราบอสูรโดยทำลายเวียงผาของอสูรเสียหายไปมาก จึงได้ยาว่าปุรันทร์

โอรสของพระอินทร์ก็มีเหมือนกัน มีนามว่า ชยันตะ แต่บางตำนานว่าชื่อ จิตรคุปต์ นัยว่าไม่ได้เกิดในครรภ์ของนางอินทราณีหรอก เกิดในครรภ์ของนางโค ทั้งนี้เพราะพระอุมาได้สาปไว้ไม่ให้นางฟ้าทั้งหลายมีครรภ์ได้ นางอินทราณีขอพรให้มีบุตร จึงต้องให้นางโคมีครรภ์แทน แต่ตอนนางโคคลอด นางก็รู้สึกเจ็บปวดเหมือนจะคลอดบุตรเอง แต่เกร็ดนี้คงเป็นเกร็ดระยะหลัง เพราะในสมัยพระเวทยังไม่มีเทพอิศวรอุมาเลย

ตามคติพุทธศาสนาก็มีเรื่องพระอินทร์มาก แต่บางเรื่องก็ยากจะแยกออกจากคติพราหมณ์ได้เด็ดขาด ตามคติพุทธถือว่าพระอินทร์ในทางพุทธศาสนาจะต้องเป็นไปตามพุทธโอวาท ที่ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายเกิดมาแล้วก็ต้องมีวันเสื่อมไปตามสภาพ เทวดาทั้งหลายสิ้นบุญแล้วก็ต้องจุติ (คือเคลื่อนจากสภาพความเป็นอยู่เดิม คือตาย) ไปปฏิสนธิยังภพใดก็แล้วแต่ผลบุญที่ทำไว้ ใครที่สั่งสมบุญไว้ก็เป็นพระอินทร์ได้ พระอินทร์จึงมีการผลัดเปลี่ยนกันไป คิดไปก็เหมือนตำแหน่งรัฐมนตรีนั่นแหละครับ มี “ขึ้นหม้อ” แล้วก็ “ตกกระป๋อง” ได้เหมือนกันละ

เรื่องของพระอินทร์ตามคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท มีเรื่องย่อๆ ว่า เดิมทีพระอินทร์เป็นมนุษย์ชื่อมฆะ หรือมฆามาณพ (เมื่อได้เป็นพระอินทร์จึงได้ชื่อว่ามฆวาน แปลว่า ผู้บริบูรณ์ด้วยทรัพย์) อยู่ที่ตำบลจุลคาม แคว้นมคธ มฆะกับเพื่อนรวมเป็น ๓๓ คนได้ทำกุศลไว้มาก เช่น ทำศาลาพักร้อน บ่อน้ำ ฯลฯ โดยเฉพาะมฆมาณพได้ประพฤติวัฏบท ๗ ประการซึ่งตามนัยวตปทสูตร ก็มี ๑. อุปการะพ่อแม่ ๒. เคารพผู้สูงอายุ ๓. เจรจาด้วยคำหวาน ๔. ไม่พูดให้ร้ายผู้ใด ๕. ยินดีในการบริจาค ๖. มีสัตย์ ๗. ระงับโทสจริต ก็เห็นจะเป็นหลักการขั้นมูลฐานในการดำรงตำแหน่งพระอินทร์ละครับ (ปชานามิ สกฺกกรเณ จ ธมฺเม เยสํ ธมฺมานํ สมทินฺนตฺตา สกฺโก สกฺกตฺตํ อชฺชคา)

เมื่อทั้งสามสิบสามคนตายไปก็ได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หรือตรัยตรึงศ์ ไตรตรึงศ์ ซึ่งก็มาจากคำว่า เตติส แปลว่า ๓๓ คือเป็นที่อยู่ของเทวดา ๓๓ องค์ สวรรค์ชั้นนี้ก็คงจะได้ชื่อมาจากมนุษย์ ๓๓ คนมาปฏิสนธินั่นเอง (สวรรค์ชั้นดาวดึงส์จัดอยู่ในฉกามาพจร ซึ่งมี ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราชิก ดาวดึงส์ ยามะ ดุสิต นิมมานนรดี ปรินิมมิตวสวัตดี) อันที่จริงสวรรค์ชั้นนี้มีอดีตพระอินทร์ครองอยู่ก่อนแล้วละครับ แล้วก็มีเมืองหลวงอยู่ตรงกลางเมือง เป็นเมืองของพระอินทร์โดยเฉพาะ มีชื่อว่า สุทัศน์ (แปลว่าดูงาม) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า อมราวดี (แปลว่าเมืองของผู้ไม่ตายคือเทวดา) พระอินทร์ใหม่ได้ครองเมืองนี้ ก็จัดสรรเมืองต่างๆ ให้สหายอีก ๓๒ คน โดยจัดเป็นเมืองอยู่รอบนอกเมืองสุทัศน์ทั้ง ๔ ทิศ ทิศละ ๘ เมือง เทวดาที่ว่านี้ที่เรารู้จักดีก็มี มาตุลี มีหน้าที่เป็นสารถีขับรถ เวสสุกรรม เทวดานายช่าง พระสุริยะ และพระพิรุณ เป็นต้น

พระอินทร์เก่ากับพวกที่ชอบดื่มเหล้านั้น เมื่อรู้ว่ามฆมาณพกับพวกมาเกิดก็จัดสุรามาเลี้ยงดูกันเป็นที่สำราญ พระอินทร์ใหม่กับพวกไม่ยอมดื่ม ปล่อยให้อดีตพระอินทร์กับพวกเมาจนหัวทิ่ม พระอินทร์ใหม่กับพวกก็จับเหวี่ยงลงจากสวรรค์ ก็เป็นอันว่าสิ้นบุญไม่ได้เป็นพระอินทร์อีกกลายเป็นอสูร แต่ว่าผลบุญเก่าที่ตักตวงไว้ก็ยังพอเหลืออยู่บ้าง จึงบังเกิดอสูรพิภพเชิงเขาพระสุเมรุ มีไม้จิตติปาตลีเป็นไม้ประจำภพพระอินทร์เก่าที่ตกกระป๋องไปเป็นอสูรนี้ มีชื่อว่า เวปจิต หรือ ไพรจิตราสูร หรือ เนวาสิกาสูร พวกนี้นัยว่าเห็นโทษของการดื่มสุรา จึงเลิกเด็ดขาด จึงได้ชื่อว่า อสุระหรืออสูร

ตามคติพุทธนั้นพระอินทร์มีภรรยา ๔ คน และมีภรรยา ๔ คนมาตั้งแต่เป็นมนุษย์ที่ชื่อมฆะแล้ว ภรรยาทั้ง ๔ มีชื่อว่า สุธรรมา สุจิตรา สุนันทา และสุชาดา ภรรยา ๓ คนแรก ได้ร่วมทำกุศลกับมฆมาณพด้วยจึงได้ไปปฏิสนธิชั้นดาวดึงส์และเป็นชายาพระอินทร์ด้วย ส่วนสุชาดาไม่สนใจในเรื่องกุศลนักจึงต้องไปเกิดเป็นนกยาง พระอินทร์เป็นห่วงเมียได้แปลงเพศไปแนะนำให้ถือศีลนางนกยางก็เชื่อ ต่อมาตายไปและเกิดเป็นช่างปั้นหม้อที่เมืองพาราณสี พระอินทร์ก็แปลงเพศไปแนะนำให้ถือศีลอีก เมื่อนางตายไปได้ไปเกิดเป็นธิดาของท้าวเวปจิตติหรือไพจิตราสูร ก็อดีตพระอินทร์นั่นแหละครับ ครั้นนางเจริญวัยบิดาก็ทำพิธีสยุมพรให้เลือกคู่ตามใจชอบ พระอินทร์ก็แปลงเป็นยักษ์แก่ๆ ไปในงานนี้ด้วย นางสุชาดารู้ด้วยเป็นบุพเพสันนิวาสกันจึงเลือกอสูรแก่นั้น และทันใดนั้นพระอินทร์ก็อุ้มนางขึ้นเวชยันต์ไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตอนนี้พระอินทร์ก็เลยได้นามอีกว่า สุชัมบดี แปลว่า สามีสุชาดา) พวกอสูรก็พากันแสบทรวงไปตามๆ กัน จึงยกทัพไปรบเป็นสงครามใหญ่เรียกว่า เทวาสุรสงคราม พวกอสูรแพ้ต้องยกทัพกลับ แต่ครั้นถึงฤดูดอกจิตติปาตลีบานก็ทำให้พวกอสูรมีจิตประหวัดไปถึงดอกปาริฉัตตะ (ต้นปาริชาต) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำภพดาวดึงส์ ก็เลยฟุ้งซ่านถึงเรื่องอดีตที่ตนเคยขึ้นหม้อเป็นพระอินทร์ได้ดื่มสุรากันเป็นที่สำราญ ตลอดไปจนถึงเรื่องพระอินทร์ปลอมมาลักลูกสาวไป พวกอสูรยกทัพขึ้นไปรบกับพระอินทร์อีกก็พ่ายแพ้อีก เป็นอย่างนี้ทุกครั้งที่ดอกจิตติปาตลี (แคฝอย)บาน บางครั้งพระอินทร์ก็ใช้ยุทธวิธีขงเบ้งเหมือนกัน คือทำเป็นด่าน มีด่านนาค ด่านครุฑ ด่านกุมภัณฑ์ ด่านยักษ์ ด่านจาตุมหาราช ส่วนที่เมืองพระอินทร์ก็ทำเป็นรูปพระอินทร์ปลอมถือวชิระไว้ทุกๆ ประตู ทำนองขงเบ้งดีดพิณนั่นแหละ พวกอสูรปราได้ทุกด่าน แต่พอมาเป็นรูปพระอินทร์ปลอดถือวชิระก็พากันหนีกระจัดกระเจิงไป

การรบที่เรียกว่าเทวาสุรสงครามนี้ นัยว่างดงามนักหนา คงจะมีท่าทางงดงามสง่า องอาจน่าเกรงขามอยู่ ในวรรณคดีเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย จึงนำมาพรรณนาเป็นทำนองความเปรียบเสมือนหนึ่งการรบของพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา ซึ่งมีว่า

งามสองสุริยราชล้ำ          เลอพิศ นาพ่อ
พ่างพัชรินทร์ไพจิตร        ศึกสร้าง
ฤารามเริ่มรณฤทธิ์            รบราพณ์ แลฤา
ทุกเทศทุกทิศอ้าง            อื่นไท้ไป่เทียม

อันว่าเรื่องเทวาสุรสงครามนี้ เอาเค้าไปวิเคราะห์เป็นพงศาวดารก็ยังได้ เพราะมีเค้าจริงๆ ที่กรองได้เหลืออยู่บ้างเหมือนกันแหละครับ คือเป็นเรื่องของพวกอริยกะรุกรานชนเผ่าเดิมของอินเดียซึ่งเรียกกันว่า ทัสยุ หรือ มิลักขะ ก็ในสมัยบรรพกาลโพ้น พวกชนเผ่าอารยันหรือพวกอินโดยูโรเปียน (Indo-european) เป็นเผ่าที่มีความเจริญอยู่แล้ว เดากันว่าดั้งเดิมน่ะพวกนี้อยู่ตอนกลางของทวีปเอเชีย ต่อมาได้แยกย้ายกันไป ปรากฎว่าเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ๓ กลุ่มด้วยกัน
กลุ่มที่ ๑ แยกไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่ทวีปยุโรป กลายเป็นชนชาติต่างๆ ในยุโรป
กลุ่มที่ ๒ ลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นชาวอิหร่านหรือเปอร์เซีย
กลุ่มที่ ๓ แยกลงมาทางใต้มาอาศัยตามลุ่มน้ำสินธุ กลายเป็นชาวฮินดูในปัจจุบัน

เรื่องนี้น่ะนักปราชญ์ได้พิสูจน์กันแล้ว ได้ลงความเห็นว่าภาฝรั่งเก่าๆ ที่ใช้ในยุโรป ภาษาเปอร์เชียรุ่นเก่าและภาษาสันสกฤตมีกำเนิดจากชาติเดียวกัน หรือรากเง่าเดียวกัน ก็หมายถึงภาของพวกอริยกะรุ่นดึงดำบรรพ์นั่นแหละ แต่เมื่อแยกกันไปหลายพันปี ติดฟ้าอากาศตลอดจนการผสมกับชนพื้นเมือง จึงทำให้ภาและผิวพรรณของคนเปลี่ยไปเป็นธรรมดา

ส่วนที่อพยพมาตามลุ่มน้ำสินธุ (ภาสันสกฤตเรียกว่า ปัญจนันทยเทศ หรือ ปัญจนที ปัจจุบันนี้เรียกว่า ปัญจาป แต่เดิมก็มีชนพื้นเมืองอยู่แล้ว เรียกว่าทัสยุหรือมิลักขะ (เหตุที่เรียกว่าทัสยุหรือทาสก็เพราะพวกนี้ตกเป็นเชลยของพวกที่ยกเข้ามาใหม่ ส่วนคำว่ามิลักขะศัพท์เดิมแปลว่าชาวเขา แต่แล้วก็กลายความหมายเป็นคนป่าหรือต่ำช้า) ตอนแรกก็ต้องมีการรบราฆ่าฟันแย่งดินแดนกัน และพวกอารยันมีความเจริญกว่าได้รับชัยชนะ พวกนี้มีสติปัญญาเฉียบแหลมจึงผูกเป็นนิยายเทวาสุรสงคราม มีความเป็นนัยพระอินทร์ใหม่ก็คือพวกอารยัน พระอินทร์เก่าที่ถูกเตะจากสวรรค์ก็คือพวกชนพื้นเมืองก็เหมือนอย่างไทยละครับฉลาดไม่ใช่เล่นหรอก การละเล่นละครโขนเรารับจากอินเดีย แต่หัวโขนยักษ์น่ะเราคิดประดิษฐ์ให้คล้ายพวกขอม เราก็เป็นเชื้อสายพ่อขุนรามเหมือนกันนี่ครับ เกลียดพวกขอมก็ให้ขอมเป็นยักษ์เป็นมารไปซะเลย

พระอินทร์เป็นเทพที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด เป็นความสมบูรณ์พูนสุขที่มนุษย์จะพึงวาดมโนภาพได้ ทั้งนี้ก็เพราะถือว่าพระอินทร์นั้นเป็นได้เพราะบารมีที่สร้างสมกันมาเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ จะได้เป็นสิ่งดลใจให้มนุษย์พึงกระทำความดีจะได้เสพทิพยวิมานในกาลข้างหน้า

พระอินทร์มีปราสาทชื่อ เวชยันต์ หรือ ไพชยนต์ มีอุทยานชื่อ นันทะ จิตรลดา ปารุสกะ และ สักกวัน มีช้างชื่อ ไอราพต หรือ เอราวัณ มีม้าชื่อ อุจไฉศรพ มีศรชื่อ ศักรธนู มีพระขรรค์ชื่อ ปรัญชะ มีมเหสี ๔ องค์ เวลาพระอินทร์ประทับอยู่เหนือแท่นแก้ว สุธรรมา และ สุจิตรา อยู่เบื้องซ้าย สุนันทาอยู่เบื้องหลัง สุชาดา อยู่เบื้องขวา นอกจากนี้ยังมีชายาอยู่อีก ๙๒ องค์ นางฟ้าคอยบำเรออีกตั้ง ๒๔ ล้าน นี่ก็นับว่ายังน้อยนะครับ ยังน้อยกว่านางฟ้าที่แห่ห้อมล้อมหน้าหลังพระศรีอาริยเมตไตรย เมื่อเสด็จมาไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ ปรากฎว่ามีนางฟ้ามาแห่ห้อมถึง ๔ แสนโกฏิคน เทวดาสามัญยังมีนางฟ้าเป็นบริวารองค์ละพันคนครับ

ตามไตรภูมิพระร่วงนั้น สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตั้งอยู่บนเขาสุเนรุราชบรรพต (เขาพระสุเมรุ) เมืองของพระอินทร์กว้าง ๘๐๐,๐๐๐,๐๐๐ วา มีปราสาทแก้ว กำแพงแก้ว ประตูประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ เมื่อเปิดประตูเข้าไปจะได้ยินเสียงดนตรีอันไพเราะ มีไพชยนต์วิมานหรือปราสาทอันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ ตั้งอยู่ท่ามกลางสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไพชยนต์วิมานนี้สูง ๒๕,๖๐๐,๐๐๐ วา ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ และประกอบด้วยเชิงชั้นชาลา ๑๐๐ ชาลา แต่ละชาลามีวิมาน ๗๐๐ วิมาน วิมานหนึ่งมีนางเทพอัปสร ๗ องค์ เทพอัปสรองค์หนึ่งมีนางฟ้าเป็นบริวารอีก ๗ คน รวมนางฟ้าซึ่งอยู่ในไพชยนต์ปราสาทก็ได้ ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ นาง

ส่วนอุทยานของพระอินทร์ เยื้องตะวันออกนั้นมีสวนชื่อ นันทอุทยาน (แปลว่าสวนขวัญอันเป็นที่ยินดี) มีสระใหญ่ ๒ สระชื่อ นันทาโบกขรณี (โบกขรณีแปลว่าสระบัว) และ จุลนันทาโบกขรณี น้ำในสระใสสะอาด ริมฝั่งมีศิลาแก้ว ๒ แผ่น ชื่อ นันทาปริถิสาณ และ จุลนันทาปริถิสาณ เป็นแผ่นศิลาที่มีรัศมีรุ่งเรืองและอ่อนนุ่ม

ส่วนด้านใต้ มีอุทยานชื่อ ผรุสวัน (แปลว่าสวนมะปราง) หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า ปารุสกวัน (สวนปารุสกวันในพระราชวังสวนดุสิตก็มาจากชื่อนี้) มีสระใหญ่ ๒ สระคือ ภทรโบกขรณี และ สุภัทราโบกขรณี มีศิลาแก้ว ๒ แผ่นชื่อ ภัทราปริภิสาณ และ สุภัทราปริถิสาณ

ทางทิศตะวันตก มีอุทยานชื่อ จิตรลดาวัน (แปลว่างามไปด้วยเถาไม้ และพระตำหนักสวนจิตรลดาก็มาจากชื่อนี้) มีสระใหญ่ ๒ สระคือ จิตรโบกขรณี และ จุลจิตรโบกขรณี มีแผ่นศิลาแก้ว ๒ แผ่นชื่อ จิตรปาสาณ และ จุลจิตรปาสาณ

ทิศเหนือ มีอุทยานชื่อ สักกวัน มีสระ ๒ สระ ชื่อ ธรรมาโบกขรณี และ สุธรรมาโบกขรณี มีศิลาแก้วชื่อ ธรรมาปริถิปาสาณ และ สุธรรมาปริถิปาสาณ

ในไตรภูมิยังกล่าวว่ามีสวนอีกหนึ่งชื่อมหานพ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ก็เห็นจะต้องยกคำกลอนพรรณาอุทยานประกอบละครับ เพราะคำกลอนทำให้เกิดมโนภิรมย์ผ่องใสนัก จากสมบัติอมรินทร์คำกลอนของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ครับ

“ในอุทยานนันทวันที่ประพาส        รุกขชาติร่มรื่นเกษมสลอน
มณฑาไม้ทิพยรสขจายจร             แก้วซ้อนเกดแซมผกากาญจน์
รกฟ้ารังฟ้าหวนหอม                     ประยงค์เปรียงพยอมกลิ่นหอมหวาน
เสาวรสส่งรสสุมามาลย์                ลมพานเลื่อนพวงลงร่วงราย
อุทยานมีมิ่งไม้สูงระหง                  จันทน์แดงเดื่อดงขล้อขลาย
กุหลาบกาหลงแลยางทราย           กุ่มงอกแกมหงายสลับกัน
พุดจีบพวงจาบพิมเสนสน             จำปาจวงปนนมสวรรค์
แคฝอยเค็ดฝิ่นโมกมัน                  กลำพอกลำพันคนทา
ควรพิศจิตลดาวันสถาน                มะลิพันเลื้อยพานพฤกษา
ช้องนางช้างน้าวมะลิลา                มลุลีลอยฟ้าดอกสะพรั่งไพร
ยมโดยแย้มดอกออกสลอน            อัญชันอ่อนช้อยยอดไสว
สายหยุดส่งเสาวรสไกล                กล้วยไม้เกลื่อนหมู่เถาวัลย์
อันปารุสกวันซึ่งทรงผล                ปรางปนปริงปานดังรังสรรค์
พลวงหว้าพลับหวานม่วงมัน          เกดจันทน์กำจัดไฟเฟือง
แลยอลำไยเรียงขนัด                   ขวิดสละขว้าวสลัดใบเหลือง
สวายสอไสวสีเรื่อเรือง                 ชิดเนื่องชั้นเนินกัทลี”

รถทรงของพระอินทร์มีชื่อว่า “ไพชยนต์” (รถทรงของพระอินทร์นี้นัยว่าเป็นชื่อเดียวกันกับเวชยันต์ราชรถ เป็นราชรถสำหรับชักพระบรมศพมาสู่พระเมรุ) ในไตรภูมิกล่าวพรรณนาไว้ว่า “อนึ่ง ในรถนั้นกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา โดยรีได้ ๘,๐๐๐ วา ท่านใส่กลดแก้ว อนึ่ง กลางแท่นแก้วนั้นกว้างได้โยชน์ ๑ แลดูแท่นแก้วนั้นขาว แลดูกลดแก้วนั้นเลื่อมดังแสงพระอาทิตย์อันส่องลงมาปกพระจันทร์ เมื่อเดือนดับในหัวไพชยนตรถนั้น แลมีม้าแก้ว ๒,๐๐๐ ตัว เทียมรถข้างละพันตัว แลมีเครื่องแก้วประดับทุกๆ ตัว แลรถนั้นเทียรย่อมทองคำและประดับด้วยแก้วสัตตพิธรัตนะ แลมีสร้อยมุกดาห้อยย้อยเป็นมาลัยทองห้อยย้อยลงพาย แลมีระไบแก้วแลพรวนทองอันมีรัศมีรุ่งเรืองดังสายอินทรธนูแลฟ้าแมลบดังแสงอาทิตย์ แลราจะพรรณนาเถิงความนั้นบมิถ้วนได้เลย”

แต่โดยทั่วไปพาหนะของพระอินทร์คือช้างเอราวัณ หรือไอยราวัณ ไอราวัณ ไอยราพรต ไอยราวัต ซึ่งไม่ใช่สัตว์เดรัจแนหรอก แต่เป็นเทพ ชื่อไอยราวัณเทพบุตร เมื่อพระอินทร์จะเสด็จไปไหนก็นิมิตเป็นช้างเผือกให้ประทับไป มีพรรณนาในไตรภูมิว่า “จึงไอยราวรรณเทพบุตรก็นิมิตตัวเป็นช้างเผือกตัว ๑ ใหญ่นักโดยสูงได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา และมีหัวได้ ๓๓ หัวๆ น้อยๆ อยู่สองหัวอยู่สองข้างนอกทั้งหลายนั้นแลว่าหัวใหญ่ได้ ๒,๐๐๐ วา แลหัวนั้นเข้าไปทั้งสองข้างแลหัวแล ๓,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๔,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๕,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๖,๐๐๐ วา เร่งเข้าไปเถิงในก็เร่งใหญ่ถัดกันเข้าไปดังกล่าวนี้แล ส่วนหัวใหญ่อันที่อยู่ท่ามกลางทั้งหลายชื่อสุทัศ เป็นพระที่นั่งแห่งอินทร์ โดยกว้างได้ ๒๔๐,๐๐๐ วา…” แล้วก็พรรณนาต่อไปว่าเหนือหัวช้างมีแท่นแก้วอันหนึ่งกว้าง ๙๖,๐๐๐ วา มีปราสาทกลางแท่นแก้วสูงได้ ๘,๐๐๐ วา มีหมอนใหญ่ หมอนน้อน หมอนอิง ส่วนองค์อินทร์นั้นสูง ๖,๐๐๐ วา ประทับเหนือแท่นแก้ว มีเทพยดาขี่ ๒๒ หัว ช้างทั้ง ๓๓ หัวจะมีงาหัวละ ๗ กิ่ง และงานั้นยาว ๔๐๐,๐๐๐ วา” แล้วก็บรรยายต่อไปเป็นฉากๆ ซึ่งในรามเกียรติ์ก็นำมาแต่งไว้แต่ผม่จะขอคัดจากบทพากย์เอราวัณของรัชกาลที่ ๒ ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์

อินทรชิตบิดเบือนกายิน          เหมือนองค์อมรินทร์
ทรงคชเอราวัณ
ช้างนิมิตฤทธิ์แรงแข็งขัน        เผือกผ่องผิวพรรณ
สีสังข์สะอาดโอฬาร์
สามสิบสามเศียรโสภา           เศียรหนึ่งเจ็ดงา
ดั่งเพชรรัตน์รูจี
งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี               สระหนึ่งย่อมมี
เจ็ดกออุบลบันดาล
กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์       ดอกหนึ่งเบ่งบาน
มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา
กลีบหนึ่งมีเทพธิดา                เจ็ดองค์โสภา
แน่งน้อยลำเพานงพาล
นางหนึ่งย่อมมีบริวาร              อีกเจ็ดเยาวมาลย์
ล้วนรูปนิมิตมายา
จับระบำรำร่ายส่ายหา             ชำเลืองหางตา
ทำทีดั่งเทพอัปสร
มีวิมานแก้วงามบวร                ทุกเกศกุญชร
ดั่งเวชยันต์อมรินทร์

ตอนนี้เห็นจะต้องเก็บความกันหน่อยละครับ ช้างเอราวัณนี้มีหัว ๓๓ หัว (แต่ภาพเขียนมักจะเขียนเป็น ๓ หัว เห็นจะเขียนไม่ไหวกระมังเพราะยังมีหัวน้อยๆ ประดับข้างหัวใหญ่อีก) มีงา ๒๓๑ กิ่ง มีสระ ๑,๖๑๗ สระ กอบัว ๑๑,๓๑๙ กอ ดอกบัว ๗๙,๒๓๓ ดอก กลีบดอกบัว ๕๔๔,๖๓๑ กลีบ เทพธิดา ๓,๘๘๒,๔๑๗ องค์ นางฟ้าบริวาร ๒๗,๑๗๖,๙๑๙ นาง บริเวณที่งาช้างที่นางฟ้าอยู่นั้น มีความกว้าง ๕๐ โยชน์ ดูไปก็นับว่าออกจะเบียดเสียดกันอยู่เหมือนกัน

ช้างเอราวัณนี้สูง ๑ ล้าน ๒ แสนวา เทียบก็ประมาณได้ ๒๔,๐๐๐ กิโลเมตร ส่วนหัวช้างที่เป็นหัวใหญ่มีชื่อว่าสุทัศน์นั้นมีความกว้างประมาณ ๔,๘๐๐ กิโลเมตร ดูไปก็จะผิดส่วนอยู่เพราะหัวใหญ่กว่าความสูงถึง ๒ เท่า งาที่มี ๗ กิ่งแต่ละกิ่งมีความยาวประมาณ ๕๕๐ กิโลเมตร อ้อ ช้างเอราวัณนี้ใช้เป็นตราเทศบาลนครกรุงเทพฯ

นอกเมืองไตรตรึงษ์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสวนชื่อ บุณฑริกวัน มีไม้ทองหลางใหญ่ต้นหนึ่งชื่อ ปาริชิกัลปพฤกษ์ (ที่จริงต้นปาริชาตกับต้นกัลปพฤกษ์ผิดกันครับ ต้นปาริชาตในเรื่องกามนิตนั้นดมแล้วระลึกชาติได้ ส่วนต้นกัลปพฤกษ์มีอยู่ในอุตรกุรุทวีป ใครนึกอะไรก็ได้อย่างนั้น เป็นต้นสารพัดนึก) ต้นปาริชาตนี้ไตรภูมิว่า “รอบพุ่มนั้นได้ ๒๔๐,๐๐๐ วา โดยสูงได้ ๘๐๐,๐๐๐ วา รอบต้นไม้นั้นได้ ๑๒๐,๐๐๐ วา โดยกว้างพุ่มไม้นั้นได้ ๘๐๐,๐๐๐ วา” ไตรภูมินั้นดูจะแก่ตัวเลขไปสักหน่อย ในหนังสือสมบัติอมรินทร์คำกลอนมีว่า

“มีพระยาไม้ปาริกชาต                  ประจำเชิงเมรุมาศมไหศวรรย์

สูงร้อยโยชน์ยิ่งไม้ในหิมวันต์        ทรงสุคันธ์ทิพยรสขจายจร
กลิ่นบุปผาฟุ้งฟ้าไปร้อยโยชน์      อบเอารสสาโรชเกสร
ทั่วสถานพิมานเทวนิกร               เบิกบัญชรพิศงามเมื่อยามบาน
เพื่อองค์วาสวรินทร์เทวราช         ประเวศน์อาสน์ร่มไม้มณฑลสถาน
ประยูรหมู่สุรเทพเยาวมาลย์         สำราญรมย์ชมช่อมณีผกา”

ใต้ต้นปาริชาตนี้มีแท่นแก้วชื่อ บัณฑุกัมพล เป็นแท่นสีแดงเข้มดังดอกสะเอ้ง (ดอกชบา) โดยรีได้ ๑๒๐,๐๐๐ วา โดยกว้างได้ ๔๐,๐๐๐ วา โดยหนาได้ ๑๒๐,๐๐๐ วา” ในสมบัติอมรินทร์มีว่า

“บัณฑุกัมพลอาสน์ศิลาทิพย์        กำหนดสิบห้าโยชน์โดยหนา
กว้างสองหมื่นโยชน์เจษฎา          เป็นมหาบัลลังก์แก้วอำไพ
ยาวหกหมื่นโยชน์แดงก่ำ             ดังน้ำปัทมราชอันสุกใส
เจริญสวัสดิ์โสมนัสแก่หัสนัยน์     ชุ่มฤทัยไปด้วยรสสุมาลี”

แผ่นศิลานี้อ่อนดังฟูกผ้าอ่อนดังหงอนราชหงส์ทอง เมื่อพระอินทร์นั่งจะยุบลงไปถึงสะดือ แต่ถ้าลุกขึ้นก็เต็มดังเดิม ก็เหมือนแท่นสะปริง แต่ถ้ามีเหตุเภทภัยในโลกแท่นนี้จะเตือนให้พระอินทร์รู้ด้วยการแข็งกระด้าง พระอินทร์ก็ต้องลงไปช่วย อย่างในเรื่องสังข์ศิลปชัย และเรื่องสังข์ทอง ซึ่งเรื่องหลังนี้มีกลอนว่า

“มาจะกล่าวบทไป                    ถึงท้าวสหัสนัยน์ไตรตรึงษา
ทิพยอาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา    กระด้างดั่งศิลาประหลาดใจ
จะมีเหตุมั่นแม่นในแดนดิน        อมรินทร์เร่งคิดจิตสงสัย
จึงสอดส่งทิพยเนตรดูเหตุภัย    ก็แจ้งใจในนางรจนา”

ณ บริเวณเดียวกันนั้น มีศาลาใหญ่ชื่อ “สุธรรมาเทพสภา” เป็นที่ประชุมและฟังธรรมเทศนาของเทวดา และมีต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อ อสาพติ ต้นไม้ชนิดนี้พันปีบานครั้งหนึ่ง ส่วนปาริชาตนั้นร้อยปีจะบานสักครั้ง แต่เมื่อบานแล้วคุ้มครับ เพราะหอมนักหนา ดอกปาริชาตน่ะมีรัศมีเรืองไปไกลได้ ๘ แสนวา หอมฟุ้งไปไกลถึง ๘แสนวา เทวดาทั้งหลายชื่นชมกับดอกไม้สองชนิดนี้นักละ

พระอินทร์เป็นเทพที่คอยดูแลความอุดมสมบูรณ์ของมนุษย์ คราวหนึ่งพฤตาสูรบำเพ็ญตบะอันทำให้บังเกิดความแห้งแล้งแก่โลก พระอินทร์ต้องปราบ อิลราชคำฉันท์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน  สาลักษณ์) ว่า

“อินทร์รอนพฤตาสูร          เอิบอิศรอันพูน
บำเพ็ญตบะบารมี
พระผลาญมารมอดชีวี        วชิรปาณี
คะนึงในโทษอันทำ
อวยอัศวเมธพลีกรรม         เกลื่อนบาปบ่มบำ
รุงบุญระบอบบำบวง”

เรื่องของเรื่องก็มีว่า พฤตาสูรบำเพ็ญตบะมาช้านาน พระอินทร์เกรงจะก่อความเดือดร้อนให้แก่โลก ได้ไปขอร้องให้พระนารายณ์ปราบ แต่พระนารายณ์เห็นว่าพฤตาสูรบูชาพระองค์ จะฆ่าเสียก็ดูกระไร จึงแบ่งกำลังให้พระอินทร์ พระอินทร์จึงฆ่าพฤตาสูรด้วยวชิระ (อาวุธของพระอินทร์มีมาก เช่น วัชระ พระขรรค์ ศร ขอสับ และร่างแหสำหรับตลบศัตรู) ต่อมาพระอินทร์เห็นว่าการฆ่าพฤตาสูรนั้นเป็นบาปเสมอด้วยฆ่าพราหมณ์ จึงออกไปนอกเขาจักรวาลเพื่อบำเพ็ญตบะ เป็นเหตุให้เทวดาเดือดร้อนไปทั่ว จึงไปร้องทุกข์พระนารายณ์ พระนารายณ์ก็แนะนำให้พระอินทร์ประกอบพิธีอัศวเมธเป็นการล้างบาป ตัวบาปก็เลยออกจากพระอินทร์ แล้วแบ่งเป็น ๔ ภาค ภาคที่ ๑ สิงอยู่ในน้ำทำให้เกิดน้ำท่วม ส่วนที่ ๒ สิงอยู่ในดินบางแห่งทำให้ดินเค็ม ส่วนที่ ๓ สิงอยู่ในหญิงสาว มีกำหนด ๓ คืนทุกๆ เดือนเพื่อบุรุษจะนอนด้วยไม่ได้ (คือมีระดู) ส่วนที่ ๔ เข้าไปสิงบุคคลที่ฆ่าพราหมณ์อันหาความผิดมิได้

ในสมัยต่อมามีพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ คือพระพรหมา พระอิศวร พระนารายณ์ เรื่องราวของพระอินทร์ก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ ฤทธิ์อำนาจก็ถอยลงครับ อย่างในเรื่องรามเกียรติ์ พระอินทร์รบแพ้เมฆนาท หรือรณพักตร์ลูกของทศกัณฐ์ รณพักตร์จึงได้นามว่าอินทรชิต แปลว่าชนะพระอินทร์ ในเรื่องศกุนตลา พระอินทร์วานให้ท้าวทุษยันต์ไปปราบอสูรกาลเนมี ในเรื่องมหาภารตะมีเรื่องพระอินทร์ผิดศีล คือเป็นชู้กับนางอหลยาเมียของพระโคดมดาบส เป็นเหตุให้ถูกสาปให้มีโยนีติดเต็มตัว พระอินทร์เลยได้นามตอนนี้ว่า สโยนิ และเมื่อพระอินทร์อ้อนวอนจนฤาษีใจอ่อนก็ถอนคำสาปให้โยนีเป็นตาและมีถึงพันตา ในเรื่องจินดารมณ์คำกลอนกล่าวไว้ว่า

“สหัสโยนีสิ้นนามตามสำเหนียก           เขากลับเรียกสหัสนัยน์ไตรตรึงษา
พระเนตรส่องสุดสวรรค์เท่าพันตา         เห็นโลกาเจนจบภพไตร”

เมื่อพระอินทร์กลายมามีพันตาเช่นนี้ ก็เลยมีนามว่า เนตรโยนิ, สหัสรากษะ และ สหัสนัยน์ (พันตา) แต่ความหมายพันตาของพระอินทร์นี้ ตามคติพุทธท่านว่ามีความสามารถคิดข้อความตั้งพันเรื่องได้ในเวลาครู่เดียว

นามพระอินทร์มีมากครับ ขอเก็บมารวมนอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว คือ
อมรินทร์=เป็นใหญ่ในหมู่อมร
เทวปติ, เทวเทวะ=เป็นใหญ่ในหมู่เทวดา
สุรปติ, สุรบดี, สุรบดินทร์, สุรินทร์=เป็นใหญ่ในหมู่สุระ
มเหนทร, มหินทร=เป็นใหญ่
สักระ, สักรินทร์=ผู้มีความสามารถยิ่ง
วัชรี, วัชรินทร์, วชิรปาณี=ผู้ถือวชิระ
สวรรคปติ, สวรรคบดี=จอมสวรรค์
เมฆวาหน=ผู้ทรงเมฆ
วฤตระหา=ผู้สังหารวฤตระ คือความแห้งแล้ง
ทิวัสปติ=เจ้าแห่งอากาศ
วาสวะ, วาสพ=เป็นใหญ่ในวสุเทพ
ศตกรต, สตมขะ=เจ้าแห่งการบวงสรวงมีกำหนดได้ร้อย (คือพิธีอัศวเมธ ๑๐๐ ครั้ง ซึ่งเป้นผลให้ผู้กระทำได้เป็นพระอินทร์)
ศจีปติ=ภัสดาแห่งนางศจี
มารุตวาน=เป็นเจ้าแห่งลม
สักกะ=ให้ทานด้วยความเคารพ
เทวานมินทะ=ใหญ่กว่าเทวดา

ในวรรณคดีไทยหลายต่อหลายเรื่อง มีเรื่องพระอินทร์เข้าไปเป็นตัวละครด้วย จะเล่าทุกเรื่องก็จะยาวมากนัก จะฝอยเฉพาะบางเรื่องที่สนุกเท่านั้น ในนิราศพระบาทของสุนทรภู่รำพันคร่ำครวญการจากนางไว้ว่า

“ครั้งอิเหนาสุริยวงศ์อันทรงกฤช        พระแรงฤทธิ์แรมร้างจินตะหรา
พระสุธนร้างห่างมโนราห์                  พระรามร้างแรมสีดาพระทัยตรอม
องค์พระเพชรปาณีท้าวตรีเนตร         เสียพระเวทผูกทวารกรุงพาณถนอม
สุจิตราลาตายไม่วายตรอม               ล้วนเจิมจอมธรณีทั้งสี่องค์”

กลอนตอนนี้กล่าวถึงตัวพระตัวนาง ๔ คู่ครับ และท้าวตรีเนตรหมายถึงมี ๓ ตานั้นในที่นี้หมายถึงพระอินทร์ไม่ใช่พระอิศวร มีการสับสนเพราะตำนานเป็นเหตุครับ จะขอฝอยเกร็ดเฉพาะ “องค์พระเพชรปาณีท้าวตรีเนตร เสียพระเวทผูกทวารกรุงพาณถนอม สุจิตราลาตายไม่วายตรอม” เรื่องนี้มีอยู่เรื่องอุณรุทของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีเรื่องย่นย่อว่า ท้าวกรุงพาณขุนยักษ์ผู้ครองเมืองรัตนานคร ประพฤติตนเป็นพาลและมีงานอดิเรกชอบแปลงเป็นเทวาไปสมสู่นางฟ้า ครั้งหนึ่งแปลงเป็นตุ๊ดตู่แอบอยู่ที่วิรานไพชยนต์ เพื่อจะแอบฟังพระเวทที่พระอินทร์ผูกทวารไว้ พระอินทร์เจ้าชู้ก็ต้องหวงเมียเป็นธรรมดา ไปไหนก็ต้องร่ายเวทปิดทวารซะ ต่อมาเมื่อพระอินทร์ไม่อยู่ ท้าวกรุงพาณได้โอกาสแปลงร่างเป็นพระอินทร์ใช้พระเวทนั้นเปิดประตูเข้าไปสมสู่กับสุจิตราโดยที่สุจิตราไม่รู้ แต่วันนั้นพระอินทร์กลับไวและจะสมสู่กับสุจิตราอีก จึงเกิดการเอะอะความเลยแตก สุจิตราต้องจุติจากสวรรค์ไปเกิดในดอกบัว จนเป็นเหตุให้ท้าวกรุงพาณถูกพระนารายณ์อวตารลงมาฆ่าตาย

เรื่องจันทโครบก็มีครับ คือพระจันทโครบเรียนวิชาจบได้ผอบจากฤาษีเป็นประกาศนียบัตร แต่ไปเปิดกลางป่าทั้งๆ ที่พระอาจารย์ห้ามไว้ ผอบนั้นมีนางโมราผู้สวยงามโผล่ออกมา พระจันทโครบก็ย่อมจะดีใจและได้นางเป็นชายา ต่อมาเจอะกับโจรรบกัน โมราสองใจปันรักให้กับโจรยื่นพระขรรค์ทางด้ามให้โจร โจรเลยฆ่าจันทโครบ ต่อมาพระอินทร์ตัวเอกก็มาชุบชีวิตให้ และสาปนางโมราเป็นชะนี เฉพาะตอนพระจันทโครบจะตายนั้นได้บริภาเมียได้ไพเราะนัก ได้รสทางวรรณศิลป์ดีมาก

“อารมณ์นางเหมือนน้ำค้างบนใบพฤกษ์    เมื่อยามดึกดั่งจะรองมาดื่มได้
พอรุ่งแสงสุริย์ฉายก็หายไป                     มาเห็นใจต่อเมื่อใจจะขาดรอน
เมื่อแรกรักมิได้แหนงเสียแรงรัก               เสียดายศักดิ์ที่ได้ร่วมสโมสร
ขอฝากชื่อไว้ให้ลือขจายขจร                  เทพนิกรช่วยประกาศในโลกา
กุลบุตรเป็นบุรุษรักาศักดิ์                       อย่าเรียนรักนารีเหมือนเยี่ยงข้า
สิ้นประกาศขาดจิตจากอุรา                   ก็มรณาอยู่ในไพรพนม”

ตอนพระอินทร์สาปโมรา ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของบรรดาเมียที่คิดฆ่าผัวครับ

“ให้คลับคล้ายคลับคลาภาษาคน        ที่บาปตนฆ่าผัวนั้นนึกได้
ที่เคยมีความอายให้หายไป                ขึ้นไต่ไม้ทรมานประจานตัว
ครั้นสิ้นสายสุริย์แสงแดงอากาศ          รำลึกชาติขึ้นมาได้ว่าเลือดผัว
เที่ยวร่ายไม้ห้อยโหนแล้วโยนตัว        ร้องเรียกผัวเสียงชัดภาษาคน
นั่นแลชะนีจึงไม่มีตัวผู้ผัว                   เพราะหญิงชั่วสาระยำทุกแห่งหน
ได้เชยค่างต่างเพศเป็นผัวตน            ด้วยเดิมคนต้องคำอัมรินทร์”

ที่จริงก็อยากจะเล่าเรื่องวรรณคดี ที่มีพระอินทร์ไปเกี่ยวข้องอยู่อีกหลายเรื่องครับ แต่ก็คล้ายๆ กันนั่นเองจึงขอแถมเพลงยาวนายนรินทร์ไว้สักนิดเถอะ อ่านแล้วเพลินดีเอาไปใช้ก็ย่อมได้ ทั้งมีเรื่องเกี่ยวๆ กับพระอินทร์และต้นปาริชาตอยู่ด้วย

“พี่หมายน้องดุจปองปาริกชาติ        มณฑาไทเทวราชในสรวงสวรรค์
หากนิเวศน์ศิวาลัยสิไกลกัน           จะใฝ่ฝันดอกฟ้าสุมามาลย์
แสนรักหักให้แสนวิตก                   สุดอกที่จะเอื้อมอาจหาญ
ด้วยเกรงเดชศักดาจักรมัฆวาน        เมื่อมณฑาทิพย์สถานสถิตถึงเทวินทร์
แต่ไพจิตรที่เป็นจอมสุธาภพ           หวังประสบมณฑาทองปองถวิล
ก่นแต่ราญรณรงค์ด้วยองค์อินทร์     อมรินทร์ยังไม่อัปรารอน
ถ้าพี่มีเดชได้ดังไพจิตร                 ถึงสิ้นฤทธิ์ไม่สิ้นรักแรงสมร
จะดับจิตลงด้วยจักรกำจายจร        สักพันท่อนพี่ไม่ถอยซึ่งหทัย”

ก็เห็นจะสรุปตรงนี้ละครับ รูปเขียนพระอินทร์บางทีก็มี ๔ กร ๒ หัตถ์ถือหอก หัตถ์ที่ ๓ ถือวชิราวุธ หัตถ์ที่ ๔ ว่าง แต่โดยมากมักเขียนเป็น ๒ กร มีพระกายสีเขียว เพราะในระยะหลังๆ พระอินทร์กล่าวกันว่ามีสีพระกายเป็นสีเขียวไปแล้ว กำลังทรงช้างเอราวัณ หัตถ์ขวาถือวชิราวุธ หัตถ์ซ้ายถือธนูบางทีก็เป็นพระขรรค์
ก็เป็นอันว่าจบเรื่องพระอินทร์กันบรรทัดนี้ละ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร