เรื่องราวของพระอัคนี

Socail Like & Share

พระอัคนี

เรื่องของพระอัคนีหรือพระเพลิง ก็ย่อมเป็นธรรมดาในเรื่องความสับสนอลวนอีกนั่นแหละ บ้างก็ว่าเป็นโอรสแห่งอากาสและปฤถวี และเรียกนามว่า พระอภิมาณี งก็ว่าเป็นโอรสของพระกัศยปกับนางอทิติ จึงนับเนื่องเป็นอาทิตย์องค์หนึ่ง บ้างก็ว่าเป็นโอรสพระอัคคีรส ราชาปิตรีทั้งหลาย (คือบิดาของมนุษย์) บ้างก็ว่าเป็นหลานของมุณีคัณฑิล ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยพระเจ้าตามัส ในวิษณุปุราณะเรียก พระอัคนีว่า อภิมาณี เป็นโอรสองค์หัวปีของพระพรหมา และมีลูก ๓ องค์มีชื่อว่า ปาวก ปวราน และศจิ

เรื่องกำเนิดพระอัคนีนี้ยังมีเรื่องพิสดารเอาการอีก คือ บรรดามุนีทั้งหลายทั้งปวงผู้รอบรู้พระเวท ได้เชิญพระอัคนีลงมาสถิตในมนุษยโลกเพื่อรับเครื่องสังเวย เพื่อสดับคำสรรเสริญและเพื่อบันดาลให้ความสำเร็จแก่มนุษย์ พระองค์ก็รับเชิญ แสดงพระกายให้ปรากฎเป็นสีทอง พระเกศาลุกโชน ปลายพระโมลีส่งรัศมีเป็นควันสีหมอกเมฆ พระโอษบ์อมเพลิง เสวยสรรพสิ่งที่เป็นอาหารสำหรับพระองค์แล้วเสด็จขึ้นสู่สุวรรณรถเทียมด้วยม้าสีแดงปลิวตามลมมาถึงแดนมนุษย์ เสวยไม้ หญ้าในป่า ทุ่ง เตียนเหมือนผมที่โกนแล้ว เปลวซึ่งออกจากพระกายเมื่อลมส่งเปล่งเสียงดังเปรี๊ยะๆ วิถีทางที่เสด็จมาคงเหลือแต่แผ่นดินสีดำเหมือนตอตะโก ตอนนี้นึกๆ ก็แปลกนะครับพระมุนีเล่นเชญมากินป่ากินพืชอย่างนี้ไม่รู้จะเชิญมาทำไม คิดไปก็เหมือนมนุษย์ละครับ เลือกผู้แทนบางคนมากินป่าเล่นให้เตียนโล่งจนได้เกิดน้ำท่วมกันทุกบ่อยๆ

พระอัคนีได้ถือปฏิสนธิเป็นครั้งแรกในพระครรภ์ชนนี คือไม้สีไฟอันล่าง ซึ่งมุนีทั้งหลายได้จัดให้แต่งงานแต่งการกับพระชนกคือไม้สีไฟอันบน แล้วพระอัคนีก็สำแดงองค์อันรุ่งโรจน์ออกมา เสร็จแล้วก็เสวยทั้งพระชนกและชนนีเสียเลย ก็คือเผาไม้สีไฟสองอันนั่นแหละแล้วก็หลบไปซ่อนตัวเสีย นับว่าพระองค์เสวยพระชนกชนนีโดยปราศจากโทษ และแม้ว่าพระองค์จะกำพร้าแต่วันแรกที่ถือกำเนิดแต่ก็เจริญวัยได้เอง แต่พระองค์ก็เป็นมิตรกับปวงชน พระมุนีจึงได้เชิญพระองค์มาไว้ในเตาไฟ ลำไส้ตะเกียงและเทียน

ผมคิดๆ แล้วก็เห็นจะยอมยกนิ้วให้ผู้สร้างนิยายตอนนี้ซะจริง ก็แต่ก่อนโบราณกาลนั้นเราๆ ใช้ไม้สองอันสีกันทำให้เกิดความร้อนและไฟขึ้น ไฟก็เผาไม้สองอันนั้นเหมือนพระอัคนีกินพ่อกินแม่นั่นแหละ คนสร้างนิยายก็คงเอาจากสิ่งที่เห็นนั้นมาจินตนาการยกเป็นตำนานขึ้น

อันที่จริงพระอัคนีเป็นเทพรุ่นเก่าในสมัยพระเวทเชียวแหละ และถือกันว่ามีความสำคัญเป็นรองมาจากพระอินทร์ โดยข้อเท็จจริงแล้วพระอัคนีเป็นเทพเจ้าประจำบ้าน ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างโลกมนุษย์กับโลกของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งนี้เพราะว่าในพิธีกรรมทางศาสนาอินเดียนั้นมีการทำยัญกรรม อันได้แก่การเซ่นสรวงเทวดาโดยใช้ถั่ว งา เนย หญ้าฝรั่น ฯลฯ เผาลงในกองไฟ ที่เรียกว่า “โหมกรรม” โดยฐานะเช่นว่านี้ ไฟหรือพระอัคนีจึงได้รับขนานนามต่างๆ เช่นว่าเป็นทูตหรือเป็นโอษฐ์ของเทวดาทั้งหลายบ้าง เป็นพาหะที่นำเครื่องสังเวยไปถวานพระผู้เป็นเจ้าบ้าง

การนับถือไฟนั้นมีมานานแล้ว เดิมทีชนพื้นเมืองของอินเดียที่เรียกกันว่า มิลักขะก็นับถือไฟอยู่แล้ว แต่ต่อมาพวกอริยกะที่บุกรุกเข้าครอบครองได้ยกย่องให้ไฟเป็นเทพเจ้าอีกองค์หนึ่ง ชื่อพระอัคนี ชนพื้นเมืองก็พอใจ แต่พวกอริยกะฉลาดกว่านั้น พวกนี้นับถือพระอาทิตย์หรือพระสาวิตรี ไม่ยอมให้พระอัคนีเป็นเทพเจ้าใหญ่กว่าพระอาทิตย์ แต่เป็นบริวารของพระอาทิตย์ เหมือนหนึ่งเตือนสติชนพื้นเมืองให้สำนึกว่าตนต้องอยู่ในฐานะที่ต่ำกว่าพวกอริยกะเหมือนพระอัคนีเป็นบริวารของพระอาทิตย์ฉะนั้น

อันที่จริงในสมัยพระเวทนั้นพรรณาถึงพระอัคนีว่ามีอยู่ด้วยกันสามรูปแบบ ไฟบนถพื้นดินหนึ่ง ไฟในสายฟ้าซึ่งอยู่ในท้องฟ้าหนึ่ง และไฟซึ่งอยู่ในดวงอาทิตย์อีกหนึ่ง แสดงว่าการนับถือไฟมีมานานนักหนาแล้ว เรื่องนี้พระบาทสมเด็ดพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงอธิบายไว้ว่า

“ในชั้นต้นพระเวทมี ๓ แท้จริงมีอยู่ ๑ เท่านั้นเอง คือรวบรวมคำบูชา ตามที่ข้าพเจ้าอธิบายมาครั้งก่อนแล้ว บูชาไฟซึ่งมีแบ่งเพียง ๓ ภาค ภาคที่ ๑ คือ อัคนี หรือเพลิง ซึ่งอยู่ในโลกเราทั้งหลาย คือไฟที่จุดอยู่ตามบ้าน หรือใช้ประกอบอาหาร ภาคที่ ๒ สาวิตรีคือแสงสว่างทั้งหลายอยู่บนสวรรค์ที่เราเรียกดวงตะวัน ถูกเข้าก็ร้อนเหมือนถูกไฟ เวลานั้นเขาจึงถือว่า แสงก็คือส่วนหนึ่งแห่งไฟนั้นเอง ซึ่งเรามานึกแล้ว ความรู้ของอาจารย์ในวิทยาศาสตร์ภายหลังก็รับรองว่า ไฟมาจากพระอาทิตย์นั้นเอง เพราะฉะนั้น ความคิดของเขาก็ไม่สู้เลวนักเขาว่าพระอาทิตย์กับไฟเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็นับว่าไม่ผิด ภาคที่ ๓ นั้นเรียกว่าไฟในอากาศ หรือวิทยุ หรือไฟฟ้า พูดถึงไฟฟ้าในที่นี้ ต้องขอให้เข้าใจว่าไฟฟ้าที่เป็นพระเจ้านั้นเป็นส่วนหนึ่ง เราพูดถึงไฟฟ้าดูเหมือนเป็นของใหม่ ที่แท้จริงเมื่อเวลา ๖,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้วเขารู้ว่าไฟฟ้ามี เขาจึงนับถือเป็นพระเจ้า”

หน้าที่สำคัญของพระอัคนี คือการเป็นพยานในความดีของมนุษย์ เพราะฉะนั้น ในการทำความดีงามของมนุษย์ทุกอย่างมนุษย์ย่อมใช้ไฟเสมอละครับ การเซ่นสรวงบูชาเอย การภาวนาเอย ก็ต้องจุดธูปจุดเทียนเพื่อให้พระอัคนีเป็นพยานไว้ว่าได้กระทำอย่างนี้ และเป็นสื่อให้ไปถึงสวรรค์ และผู้ที่เชื่อว่าตนได้ประพฤติดีตลอดคืนตลอดวัน หรืออยากจะหาเครื่องเตือนใจให้ประพฤติดีก็ต้องตามไฟไว้ในที่บูชาโดยไม่ยอมให้ดับเลย ก็เพื่อให้พระอัคนีเป็นพยานแห่งการทำความดีของตน หรือคอยเตือนให้ทำความดี

นักปราชญ์ท่านวิเคราะห์ในเรื่องความคิดเชิงจินตนาการนี้ไว้ว่า ธรรมดามนุษย์เราผู้ที่ทำความผิดหรือทำสิ่งที่ตนต้องอับอายก็มักจะต้องซ่อนทำหรือทำไม่ให้ใครเห็นหรือทำในที่มืดเพรากลัวคนรู้คนเห็น แต่การทำความดีหรือทำอะไรที่พอจะอวดอ้างกันได้ก็ต้องอยากให้คนรู้คนเห็นละ จึงเกิดความคิดว่าพระอัคนีนั่นแหละเป็นพยานในการทำความดีของตน

ชาวอารยันนอกจากถือว่าไฟเป็นสื่อหรือพาหะที่นำเครื่องสังเวยไปมอบถวายเทวดาแล้ว ยังถือว่าไฟเป็นสิ่งที่ชำระล้างมลทินต่างๆ ให้หมดไปด้วยครับ ความคิดนี่ละกระมังทำให้เกิดลัทธิลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคนเช่นในเรื่องรามายณะ นางสีดาลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน ความคิดนี้เลยมาถึงไทยด้วย ก็เรื่องขุนช้างขุนแผนสร้อยฟ้ากับศรีมาลาต้องลุยไฟแสดงความบริสุทธิ์ของตน ในกฎหมายตราสามดวงของเราก็บ่งถึงการลุยไฟเป็นลักษณะของการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ พวกพราหมณ์เองก็เถอะน่าถ้าได้ทำผิดหรือถูกขับออกจากวรรณะก็ใช้ไฟเป็นเครื่องชำระล้างบาปหรือมลทินได้ โดยนำเอาทองคำเผาไฟแล้ววางไว้บนลิ้นให้ลิ้นไหม้หรือใช้เหล็กแดงนาบตามร่างกาย หรือให้เดินลุยไฟ ก็เท่ากับไฟได้ชำระมลทินที่ทำไว้ให้หมดสิ้นไปแล้วละ

พระอัคนีเป็นที่นับถือกันมากครับจึงมีบทสรรเสริญเกี่ยวกับพระอัคนีมาก ในหนังสือศุณหเศป ของ ร.๖ ก็มี ในหนังสือบ่อเกิดลัทธิประเพณีอินเดีย ของคุณจำนง  ทองประเสริฐก็มี แต่ผมจะคัดเฉพาะในเรื่องพระเป็นเจ้าของพราหมณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เท่านั้นละ

“คำสรรเสริญบทหนึ่ง ซึ่งโปรเฟสเซอร์โมเนียร์วิลเลี่ยมได้แปลหนังสือ ชื่อ “อินเดียวิสดอม” บอกลักษณะพระเพลิงแจ่มแจ้งดี มีใจความตามคำสรรเสริญนั้นว่า มีแสดงสว่างรัศมี ๗ แฉกมีรูปแปลกๆ น่าชม กายเป็นสีทองคำ มีเศียร ๓ เศียร เกศากระจ่างเป็นโพลน และโอษฐ์ทั้ง ๓ มีคางและทนต์อันร้อนจัด เสวยสรรพสิ่งทั้งปวง บางทีพระองค์ก็มีขานับด้วยพันล้านรุ่งโรจน์ มีเนตรนัยด้วยพันอันฉายรัศมีกระจ่างจ้า ทรงรถทองลอยละลิ่วเฉียดลม เทียบม้าอันแดงจัด”

นามของพระอัคนีก็มีมากครับ เช่น
พราหมณัศปติ=เป็นใหญ่ในหมู่พราหมณ์
วาหนี=ผู้รับเครื่องพลีกูณฑ์
ธนัญชัย=ผู้ชำนะทรัพย์
ชวลนะ=ผู้ลุกสว่าง
ธูมเกตุ=ผู้มีควันเป็นที่กำหนดหรือเป็นธง
ฉาครถะ=ผู้ทรงแกะผู้
สัปตชิวหา=ผู้มีชิวหาเจ็ด
โตมรธร=ผู้ถือโตมร
หุตภุช, หุตาศ=ผู้ชอบเครื่องสังเวย
อพฺชหัตถ์=มือถือดอกบัว
โรหิตาศวะ=มีม้าแดง

พระอัคนีมีชายาชื่อนางสวาหา ซึ่งมีรูปเป็นครุฑตัวเมีย บางทีเรียกครุฑี หรือสุบรรณี และบ้างก็ว่าพระอัคนีเป็นเทพโลกบาลทิศอาคเนย์ ในรามเกียรติ์ว่าประอัคนีเป็นบิดาของนิลนนท์ทหารของพระราม

ในวรรณคดีไทยกล่าวถึงพระอัคนีหรือพระเพลิงไว้หลายเรื่องเหมือนกันครับ ในเรื่องกากีคำกลอนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนท้าวพรหมทัตครวญถึงกากี เมื่อพระยาครุฑพานางไปวิมานฉิมพลี ก็พรรณนาถึงเทพหลายองค์ บ่งบุคลิกแต่ละองค์ไว้ดีแท้

“นิเวสน์วังตั้งเพียงตระหลบจบ    มิได้พบนิ่มน้องสนองหน้า
ฤาอิศเรศประเวศทรงอุสุภา        ลักสุดาเหินเหาะไปหิมพานต์
ฤาจักรกฤษณ์ฤทธิรงค์ทรงครุฑ    มาลักนุชพี่ไปร่วมภิรมย์สมาน
ฤาธาดาทรงมหาหงส์ทะยาน    ลักสมรไปสมานพิมานพรหม
ฤาอินทร์องค์ทรงพระยาไอยเรศ    พาดวงเนตรที่ไปดาวดึงส์สม
ฤาสุริยงค์ทรงรถอันลอยลม        มาลอบชมกลิ่นแก้วแล้วพาจร
ฤาพระเพลิงฤทธิรงค์ทรงแรด    มาเวียนแวดพาน้องไปสมสมร
ฤาพระพายชายทรงอัสดร        มาอุ้มบังอรแอบอุราไป
ฤาครุฑาวาสุกรีวิทเยศ            มาโลมลวงดวงเนตรไปฤาไฉน
เสียดายเอ๋ยมิได้เคยระคายไกล    เวรใดจึงคลาดเจ้าที่เคล้าคลึง”
และในมัทนะพาธา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุญฯ ได้กล่าวถึงไฟทั้ง ๓ ภาคเลย ดังนี้
“อ้าองค์พระอัคนี            วรศรีประภาใส
เป็นเอกอุดมใน            หุตะกิจพลีการ
ข้าขอประนตองค์        สุระทั้งตรีสถาน
ทุกภาคพิเศษมาน        มนะมุ่ง ณ การยัญ
หนึ่งคือสุรีย์แจ่ม            สุจรัสณภูมิสวรรค์
ส่องโลกมนุษย์นัน-        ทนะอุ่นระอุกาย
ที่สองประภาปรา        กฏะในสภาพราย
คือวิชชุโชติฉาย            รุจิแลบ ณ เมฆา
ที่สามก็คือไฟ             นระก่อ ณ เคหา
เพื่อกอบสุภักษา            และประกอบพลีพูน
องค์นี้แหละได้เชิญ        พระเสด็จ ณ แท่นภูณฑ์
ด้วยพร้อมมโนมูล        จะกระทำหุตาการ”

รูปเขียนพระอัคนีเขียนเป็นบุรุษ ๒ หน้า ๔ กร มีลิ้น ๗ ลิ้น มีควันเป็นมงกุฎ เสื้อทรงสีม่วง สีกายเป็นสีไฟ ถ้าทรงรถใช้ด้วยม้าสีแดง มีแกะเป็นพาหนะ บางตำราก็ว่าทรงแรดหรือระมาดเป็นพาหนะ อาวุธมีหลายอย่างครับ ถือศรชื่ออาคเนยาสน์ ชุบขึ้นเวลาบูชาไฟ และโตมรก็ประกอบขึ้นด้วยเปลวเพลิงอีกนั่นแหละ นอกจากนี้ก็ยังมีดอกบัวและอื่นๆ อีก ที่อยู่ของพระอัคนีมีชื่อว่าปุระชโยติส บางตำราก็ว่ารูปเขียนเป็นสีแดง มี ๓ กร ๗ เนตร ขนงและเกศสีม่วงแก่ ทรงแกะผู้เป็นสีม่วงแก่ คล้องสังวาลสายธุรำซึ่งเป็นสังวาลของพราหมณ์ทำเป็นด้ายพัน ๓ สาย และมีสังวาลผลไม้ร้อยเป็นพวง มีเปลวไฟออกจากโอษฐ์ มีรัศมีเป็น ๗ แฉก ถือขวาน

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร