ความเป็นมาของพระศุกร์

พระศุกร์
ก็เห็นจะต้องเอาเรื่องทางวิทยาศาสตร์สาขาดาราศาสตร์ก่อนละ เพื่อเป็นความรู้เล็กๆ น้อยๆ เตือนใจในสิ่งที่ทำให้หวนนึกเมื่อครั้งถูกบังคับให้เรียนนั่นแหละดาวพระศุกร์เป็นดาวพระเคราะห์ที่สุกสว่างที่สุด ถ้าปรากฎตอนรุ่งสางทางทิศตะวันออก เรียกว่า ดาวรุ่ง และ ดาวประกายพรึก (Morning Star) ถ้าเป็นตอนค่ำ เรียกว่า ดาวประจำเมือง (Evening Star) ดาวพระศุกร์เป็นดาวฝาแฝดกับโลก เพราะมีขนาดไล่เลี่ยกัน มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๗,๗๐๐ ไมล์ มีมวลราว .๘๒ เท่าของโลก สะท้อนแสงได้ ๕๙% ดาวพระศุกร์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าดาวพุธ มีระยะเฉลี่ย ๖๗ ล้านไมล์ ถ้าเป็นตอนรุ่งสางจะเห็นได้ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นราว ๓ ช.ม. ดาวพระศุกร์อยู่หางจากดวงอาทิตย์ใกล้ที่สุดราว ๖๖,๗๘๗,๐๐๐ ไมล์ ไกลที่สุดราว ๖๗,๗๐๕,๐๐๐ ไมล์ ทางโคจรรอบดวงอาทิตย์มีรูปกลมกว่าทางโคจรของดาวเคราะห์ดวงอื่น และดาวพระศุกร์อยู่ห่างจากโลกใกล้ที่สุด ๒๓,๗๐๑ ไมล์ ไกลที่สุด ๑๖๒,๒๒๙,๐๐๐ ไมล์ ดาวพระศุกร์ได้รับความร้อนและแสงสว่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ๒ เท่า มีความดึงดูดราว ๘๙% ของความดึงดูดโลก โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยความเร็วเฉลี่ย ๒๑.๗ ไมล์ต่อวินาที โคจรครบรอบใน ๒๒๕ วัน หมุนรอบตัวเองใช้เวลา ๒๓ ชั่วโมง ๒๑ นาที ก็เท่านี้สำหรับเรื่องดาราศาสตร์ครับ

ส่วนตามเรื่องศาสนาพราหมณ์ ตามเคย เข้าทำนองเทพองค์อื่นๆ คือสับสนอยู่นั่นเอง ตำราไสยศาสตร์น่ะว่าพระอิศวรทรงสร้างพระศุกร์จากวัว ๒๑ ตัว ในหนังสือเฉลิมไตรภพว่าไว้ดังนี้ เป็นกาพย์ฉบังครับ

สุวกำนำศุภโค                  หน้าเด่นใบโพ
ยี่สิบเอ็ดเสร็จประสงค์        กราบทั้งสี่องค์
เธอทรงยินดีปรีดา
ร่ายเวทวิเศษศักดา            เป่าต้องกายา
คาวีพินาศฟาดกัน
พรมน้ำกรดบรรไลยกัล์ป     กายคาวีนั้น
ก็กลายเป็นหนองฟองฟู
บัดใจทลายเป็นอณู           ผ้าทิพย์ชมพู
ห่อหุ้มเป็นกลุ่มเดียวกัน
วารีพิธีสาปสรรพ์               รดเสกเป่าพลัน
ห่อนั้นก็เป็นเทวา
ทรงเครื่องรุ่งเรืองนัยนา      สุดแสงโมรา
นามาว่าพระศุกร์สุกสี

ตามตำรับปุราณะว่า พระศุกร์เป็นโอรสของ ภฤคุบดีพรหมบุตร กับ นางชยาติ (เลื่องลือ) มีธิดาชื่อ เทวยาณี เป็นมเหสีของท้าวยยาติในตระกูลจันทรวงศ์ เป็นปุโรหิตของท้าวพลีและพวกแทตย์ แต่นั่นแหละครับ บางคัมภีร์ก็ว่าพระศุกร์นั้นน่ะ เป็นบุตรของพระกวี และมีชายา ชื่อว่า ศุศุมา หรือ ศตปาวรา

ในลิลิตนารายณ์สิบปาง ปางวามนาวตาร มีเรื่องย่อๆ ว่า มีอสูรตนหนึ่งชื่อท้าวพลี (เป็นพวกแทตย์ ก็ยักษ์ประเภทหนึ่งนั่นแหละ) ได้ไปในพิธีกวนน้ำอมฤต ถูกเทพฆ่าตาย พวกอสูรได้พาลงไปสู่บาดาล พราหมณ์ได้ชุบชีวิตให้ ด้วยความแค้นแน่นอุราท้าวพลีจึงได้ทำพิธีกรรมเพิ่มฤทธิ์ให้ตนเองจนสำเร็จ ก็พาพวกแทตย์รุกรานไปทั่วจนถึงแดนพระอินทร์ ได้ครอบครองแดนพระอินทร์ทั้งหมด พระอินทร์ได้ไปขอคำปรึกษาพระพฤหัสบดีซึ่งเป็นดาวครู พระพฤหัสบดีก็แนะนำดีเหลือละ คือให้หลบฉากไปให้พ้นจากแดนก่อน เป็นการชั่วคราว ต่อมาพระอินทร์ก็ได้ไปขอคำชี้แนะจากพระกัศยปเทพบิดรกับระอทิติเทพมารดร นางอทิติแนะนำให้ทำพิธีขอความช่วยเหลือต่อพระนารายณ์ ในที่สุดพระนารายณ์ก็อวตารมาเป็นพราหมณ์เตี้ยชื่อ วามน ต่อมาท้าวพลีอยากเติมฤทธิ์ให้ตนเองอีก ก็ทำพิธีกรรมอีกตามเคย คราวนี้วามนได้ไป ณ ที่นั้นด้ย ท้าวพลีได้ออกปากว่าจะขออะไรก็ให้ทั้งนั้นแหละ วามนได้ทีก็ขอที่ดินเพียง ๓ ย่างก้าวเท่านั้นเอง ท้าวพลีเห็นเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยก็ยกให้ แม้พระศุกร์ซึ่งเป็นอาจารย์จะห้ามไว้ เพื่อนก็ใจถึงบอกว่าลั่นวาจาแล้วไม่คืนคำหรอก เมื่อท้าวพลีทำพิธีรดน้ำตามธรรมเนียมของการยกให้ พระศุกร์ก็หายเข้าไปในพวยน้ำเต้า อุดรูไม่ให้น้ำหลั่ง วามนน่ะเป็นนารายณ์อวตารมานะครับ ก็ย่อมทันเหลี่ยมเชิงของพระศุกร์ละ เลยเอาหญ้าคาแยงเข้าไปในพวยน้ำเต้า ถูกตาพระศุกร์เล่นเอาพระศุกร์ตาบอดไปเลย และทนเจ็บไม่ไหวต้องหายตัวออกมาน้ำก็หลั่งจากพวยน้ำเต้าไหลลงมือวามนฉับพลัน

สมถวิลแล้วจึงได้              สำแดง
ฤทธิ์เดชประจักษ์ตา          บัดนั้น
ย่างหนึ่งเหยียบทั่วแหล่ง    สุรภพ
อีกย่างเหยียบหมดชั้น        ชนสถาน

ครับ ก็เพียงสองก้าวเท่านั้น ย่างก้าวแรกก็ไปทั่วแดนเทวดา อีกย่างไปทั่วแดนมนุษย์ เหลืออีกก้าว ถ้าจะย่างเห็นทีจะทั่วแดนบาดาล ซึ่งก็เรียกทั่วสามโลก คือ สวรรค์ มนุษย์ บาดาล ทีนี้ท้าวพลีก็ตาค้างซิครับ ในที่สุดและที่สุดก็ต้องถูกลงโทษให้ไปอยู่บาดาลชั้นต่ำสุด ต่อมาเพื่อนบำเพ็ญความดี จนพระศรีมเหสีพระนารายณ์เห็นใจอ้อนวอนขอให้พระนารายณ์ช่วย พระนารายณ์น่ะถึงแม้จะเป็นเทวดาก็เถอะก็เหมือนมนุษย์เหมือนกัน คือแม้จะใจแข็งประดุจเหล็กกล้า แต่จะกลายเป็นอ่อนเหมือนขี้ผึ้งถูกไฟลนได้ ถ้าเมียรักขอร้อง เรื่องอย่างนี้ในโลกมนุษย์มีเยอะครับ ผลก็คือได้รับอภัย
ขุนมารจงย้ายที่               อยู่พลัน
ไปอยู่แดนสุตล                เขตแคว้น
เจ้าจงครอบครองขัณฑ์    ทรงราชย์
เป็นสุขสนุกแม้น              แดนสรวง

ตรงนี้ ขอจ้อถึงคำ “สุตล” หน่อย เป็นเกร็ดวรรณคดีน่ะ คือว่าภายใต้โลกที่มนุษย์เราอยู่นี่แหละ เราเรียกชื่อรวมกันว่าบาดาล เป็นที่อยู่แห่งนาค แทตย์ ทานพ ยักษ์และอสูรอื่นๆ โลกบาดาลนี้ตามปัทมปุราณะ กล่าวว่ามี ๗ ชั้นครับ จะนับจากชั้นบนลงไปถึงชั้นล่างสุดได้ดังนี้

๑. อตล  ผู้ครองชื่อมหามายา
๒. วิตล  ผู้ครองชื่อ หาตเกศวร เป็นภาคหนึ่งแห่งพระศิวะ
๓. สุตล  ผู้ครองชื่อพลี คือ แทตย์ที่ว่านั่นแหละ
๔. ตลาตล  ผู้ครองชื่อมายะ
๕. มหาตล  เป็นแดนที่อยู่ของงู
๖. รสาตล  เป็นแดนที่อยู่ของแทตย์และทานพ
๗. บาดาล  เป็นแดนที่อยู่ของนาค มีพญาวาสุกรีเป็นราชา

แดนบาดาลที่สูงๆ นั้น สบายกายสำราญใจเหมือนๆ กับแดนสวรรค์งั้นแหละ ท้าวพลีได้เลื่อนปรู๊ดไปถึงแดนสุตลก็ย่อมจะยินดีปรีดาละครับ มิหนำซ้ำองค์พระนารายณ์ยังประทานพรซ้ำอีกว่าถ้าเพียรทำความดีแล้ว

ยามดีจะมอบให้          ครองสรวง
เป็นที่พระอินทร์เอก     อะคร้าว
เสพทิพยะสุขปวง       สมปรารถ-นาแฮ
เป็นใหญ่ในภพด้าว     สามแดน

ความ “เป็นใหญ่ในภพด้าว สามแดน” น่ะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงอธิบายประกอบว่า “อาศัยเหตุที่ท้าวพลีได้ครองโลกแล้วครั้ง ๑ และได้รับพรพระวิษณุเป็นเจ้าไว้ว่าจะได้ครองอีกครั้ง ๑ ในอนาคต เวลาที่โหรบูชาเทวดาจึงกล่าวว่า “โอมพระภูมิพระธรณี กรุงพลีเรืองฤทธิ์” ดังนี้ อนึ่งรูปท้าวพลีก็มีอยู่ด้วยในศาลหลักเมืองในกรุงเทพฯ เรียกว่า รูปกรุงพาลี”

ก็จับความได้ว่า เรียกเพี้ยนเป็นกรุงพาลีได้เหมือนกันดังนี้ บางเกจิอาจารย์จึงสรุปว่าท้าวพลีหรือกรุงพาลีเป็นเจ้าของหรือเจ้าแห่งแผ่นดินทั้งหมด ถือว่าเป็นใหญ่  พระภูมิเจ้าที่หรืออาจเป็นเรื่องที่มาของศาลพระภูมิเลยก็ได้ ในเรื่องขุนช้างขุนแผน เวลาบนบานอะไรก็บนต่อกรุงพาลีด้วย เช่น “ทั้งพระเพลิงพระพายกรุงพาลี”

ในหนังสือเทวปาง มีเรื่องเล่าว่า กรุงพาลีเดิมเป็นยักษ์ชื่อ มูลาคนี มีตาเป็นไฟ เที่ยวเบียดเบียนเทวดาและมนุษย์ พระอิศวรจึงมาปราบ ยักษ์มูลาคนีเพื่อนแน่เหมือนกัน ไม่กลัว ลืมตาเป็นไฟไปล้อมพระอิศวรไว้ พระอิศวรสำแดงฤทธิ์ขึ้นเหยียบหลังยักษ์ แล้วบันดาลให้มีท่อน้ำออกจากช่องพระกรรณดับไฟเสียได้ มูลาคนีก็สิ้นฤทธิ์ พระอิศวรจึงสาปให้เป็นกรุงพาลี เที่ยวกินเครื่องสังเวยอยู่ในมนุษยโลก ก็คงจะเป็นเค้าที่มาของศาลพระภูมิอีกนั่นแหละ

ตามตำนานเกี่ยวกับพระภูมิ บางคัมภีร์มีว่า ท้าวทศราช กับนาง สันทาทุก ครองกรุงพลี มีโอรสเก้าองค์ โอรสทั้งเก้านี้ได้รับแต่งตั้งรักษาภูมิแผ่นดินในลักษณะต่างๆ กัน คือ

องค์ที่ ๑ ชื่อ พระชัยมงคล  ให้เป็นพระภูมิรักษาบ้านเคหสถาน
องค์ที่ ๒ ชื่อ พระนาคราช เป็นพระภูมิรักษาทวารและบันได
องค์ที่ ๓ ชื่อ พระคนธรรพ์  เป็นพระภูมิรักษาเรือนหอบ่าวสาว
องค์ที่ ๔ ชื่อ พระเทวเถร เป็นพระภูมิรักษาโค กระบือ
องค์ที่ ๕ ชื่อ พระโพสพ  เป็นพระภูมิรักษายุ้งฉางข้าว
องค์ที่ ๖ ชื่อ พระเยาวแผ้ว เป็นพระภูมิรักษานา ป่า เขา
องค์ที่ ๗ ชื่อ พระธรรมโหรา เป็นพระภูมิรักษาสวน
องค์ที่ ๘ ชื่อ พระวัยทัต เป็นพระภูมิรักษาวัดวาอาราม
องค์ที่ ๙ ชื่อ พระทาษราชา เป็นพระภูมิรักษาห้วยหนอง คลอง บึง แม่น้ำ

พระภูมิแต่ละองค์มีบริวาร ๓ ตน ชื่อ นายจันทิศ นายจันที และจ่าประสบเชิงเรือน

ในคัมภีร์ พรหมจุติ ได้กล่าวว่า ก่อนหน้าพระพุทธองค์จะตรัสรู้ การนิยมตั้งศาลพระภูมิมีมาก่อนแล้ว ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงขอที่จากพระภูมิ ๓ ก้าว โดยพุทธาภินิหารทรงย่างเพียง ๓ ก้าวก็สุดจักรวาล พระภูมิจึงต้องออกไปอยู่นอกจักรวาล ครั้นแล้วก็เป็นเหตุให้ขาดเครื่องสังเวยต่างๆ พระพุทธองค์ทรงประทานพุทธานุญาตให้อยู่ในภูมิสถานเดิม เป็นเหตุให้มีการตั้งศาลพระภูมิตามเคหสถาน เรือกสวนไร่นา วัดวาอารามมาตราบทุกวันนี้

ตรงนี้มีเกร็ดต่างไปนิด กล่าวว่าเมื่อพระพุทธองค์อุบัติขึ้นในโลก จะหาที่เผยแผ่พระธรรมมิได้ ได้ทรงขอพื้นที่พระเจ้าทศราชเพื่อทรงประกาสศาสนา ๓ ก้าว พระเจ้าทศราชก็ยินดีถวาย แต่ด้วยพุทธาภินิหาร ทรงก้าวเพียง ๒ ก้าว พื้นที่ของพระเจ้าทศราชก็หมดเสียแล้ว เลยต้องอาศัยอยู่นอกฟ้าหิมพานต์ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้กลับอยู่ที่เดิม ทรงประทานพรให้อีกว่า ถ้ามนุษย์หญิงชายผู้ใดกระทำการอันเป็นมงคลที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน ก็ให้สักการบูชาและสังเวยพระภูมิเจ้าที่เสียก่อนก็จะเป็นสิริมงคล

ครับ ผมเล่าเรื่องพระศุกร์ตอนตาบอด แล้วเกี่ยวพันกับกรุงพาลี เรื่องศาลพระภูมิ ก็เลยฝอยออกไปเยอะ ไหนๆ ก็เลยเถิดมาถึงเรื่องพระภูมิเจ้าที่แล้ว ก็เลยต่อเรื่องคติเรื่องพระภูมิของฝรั่งอีกนิด เป็นความเชื่อของพวกโรมันไม่ใช่พวกกรีก ลัทธิการบูชาพระภูมิของโรมันเกิดขึ้นในสมัยกษัตริย์ นูมา ผู้ครองกรุงโรมเมื่อประมาณ ๗๐๐ ปีก่อนคริสตศก พระภูมิของฝรั่งเหมือนกับหลักเขต คือเรียกว่า เตอร์มินัส (Terminus) คำนี้ตกมาเป็นคำอังกฤาในความหมายว่าสุดเขต สุดทาง เรื่องมีว่า กษัตริย์นูมาทรงสั่งให้ชาวเมืองเอาหิน (Termini) ปักเป็นเครื่องหมายเขตแดน เพื่อให้เทพคุ้มครองแดนนั้นๆ ถึงเทศกาลราวเดือนกุมภาพันธ์ก็มีการฉลองใหญ่ เซ่นไหว้สังเวยกันด้วยแพะ แกะ หินที่ปักนี่น่ะใครจะถอนไม่ได้ ถือว่าเป็นเสนียดและอาจจะถูกฆ่าตาย ที่กรุงโรมมีศาลเจ้าเตอร์มินัสนี้ด้วย นอกจากนั้นยังมีความเชื่ออีกกระแสหนึ่งว่าคนเราทุกคนมีเทวดารักษาอยู่ ถ้าเป็นคนผู้ชายก็มีเทพจีเนียส (Genius) ถ้าเป็นหญิงก็มีเทพจูโน (Juno) ก็เป็นคล้ายวิญญาณประจำตัวนั่นแหละ ทั้งยังเชื่ออีกว่าสถานที่ก็ต้องมีเทพรักษา เรียกว่า จีเนียสโลไซ (Genius Loci) ก็คือเจ้าที่นั่นเอง

พระศุกร์น่ะไม่กินเส้นกับพระพฤหัสบดีหรอกครับ ก็คราวเกิดเทวสุรสงครามอันมีกรณีพิพาทมาจากพระจันทร์ไปฉุดนางดาราชายาแก้วของพระพฤหัสบดี พระศุกร์พร้อมด้วยพวกแทตย์ และพวกแทตย์ทานพเป็นฝ่ายอักษะ เข้าข้างฝ่ายผิดคือพระจันทร์ดังที่ผมจ้อไว้ในเรื่องพระจันทร์แล้วละครับ

แล้วก็ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า พระศุกร์กับพระเสาร์ก็ปีนเกลียวไม่กินสีกันเหมือนกัน แต่พระศุกร์กับพระอังคารถูกเส้นกันดี เรื่องนี้มีนิยายประกอบด้วยครับ คือครั้งบรรพกาลพระอังคารไปเกิดเป็นกบ พระเสาร์เกิดเป็นงู พระศุกร์เกิดเป็นรุกขเทวดา งูย่อมกินกบเป็นธรรมดา เมื่องูเห็นกบก็รี่เข้าใส่ กบวิ่งไปแอบในโพรงไม้ที่มีรุกขเทวดาอยู่ รุกขเทวดาช่วยกบไว้ได้โดยตะเพิดงู งูก็เลยไม่ได้กินกบ ก็ช่วยกันอย่างนี้ละครับ แหม ว่าถึงเรื่องงูผมขอแทรกนอกเรื่องสักนิดเถอะ แต่เป็นเรื่องจริงของธรรมชาติ งูจงอางกลัวตะขาบ แม้จะเลื้อยเร็วอย่างไรเวลาเห็นตะขาบงูจงอางกลับเข้าไปแอบในโพรงไม้ ฝ่ายตะขาบก็กลัวไก่และคางคก ทั้งคางคกและไก่ก็ไพล่ไปกลัวงู ธรรมชาติสร้างความสมดุลกันดีแท้

พระศุกร์มีนามเรียกต่างๆ เช่น
กวี หรือ กาพย์ แปลว่า ผู้ประพันธ์
มฆาภพ แปลว่า บุตรของมฆา
โษทสานศุ แปลว่า ผู้มีรัศมี ๑๖ แฉก
เศวต แปลว่า ขาว

ในเรื่องรามเกียรติ์ พระศุกร์ลงมาเกิดเป็นทหารของพระรามในจำพวกสิบแปดมงกุฎ คือเป็นนิลปาสัน

เรื่องนี้ผมจำเป็นต้องแทรกไว้ตรงนี้ เพราะได้กล่าวถึงเทพต่างๆ ที่อวตารลงไปเกิดช่วยพระรามอยู่เสมอ คราวนี้รวบรวมเป็นเรื่องเดียวกันไปเป็นอันว่าหมดเรื่องกันเสียทีและเป็นหมวดหมู่ดีด้วย สิบแปดมงกุฎ ก็หมายถึงเสนาวานร ๑๘ ตนที่อวตารจากเทวดาต่างๆ แต่จะมีใครบ้างไม่ลงรอยกันนักหรอก ตามเรื่องรามเกียรติ์น่ะพระรามมีวานรเป็นทหารอยู่ ๗๗ สมุทร (บางแห่งเขียนสมุด) สมุทรหนึ่งมีจำนวนเลขศูนย์ตามหลังเลขหนึ่ง ๑๔ ตัว และบรรดาตัวดีๆ (ก็ไม่ถึงขั้นหนุมาน สุครีพ องคตหรอก) มี ๑๘ ตัวจึงได้เรียกว่า ๑๘ มงกุฎ แต่มีใครบ้างก็ไม่ลงรอยกันนัก ในหนังสือพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ของ ร.๑ มีว่า บรรดาเทวดาพากันอาสาลงมาช่วยพระรามนั้น

เมื่อนั้น                           ฝูงเทพเทวาน้อยใหญ่
ต่างทูลอาสาภูวไทย        จะขอไปเป็นพลอวตาร
มล้างเหล่าอสูรพาลา        ที่หยาบช้าเบียนโลกทุกสถาน
พระราหูฤทธิไกรชัยชาญ    เป็นทหารชื่อนิลปานัน
พระพินายนั้นเป็นนิลเอก    พระพิเนกนั้นเป็นนิลขัน
พระเกตุเป็นเสนีกุมิตัน        พระอังคารเป็นวิสันตราวี
พระหิมพานจะเป็นโกมุท    พระสมุทรนิลราชกบี่ศรี
พระเพลิงนิลนนท์ มนตรี    พระเสารีเป็นนิลพานร
พระศุกร์เป็นนิลปาสัน        พระพฤหัสบดีนั้นมาลุนทเกสร
พระพุธเป็นสุรเสนฤทธิรอน      พระจันทรเป็นสัตพลี
วิรุฬหกวิรูปักษ์สองตระกูล        เป็นเกยูรมายูรกบี่ศรี
เทวัญวานรนอกนี้                   บัญชีเจ็ดสิบเจ็ดสมุดตรา
จากกลอนนี้ก็ได้ความดังนี้
๑. พระราหู เป็น นิลปานัน
๒. พระพินาย เป็น นิลเอก
๓. พระพิเนก เป็น นิลขัน
๔. พระเกตุ เป็น กุมิตัน
๕. พระอังคาร เป็น วิสันตราวี
๖. พระหิมพาน เป็น โกมุท
๗. พระสมุทร เป็น นิลราช
๘. พระเพลิง เป็น นิลนนท์
๙. พระเสาร์ เป็น นิลพานร
๑๐. พระศุกร์ เป็น นิลปาสัน
๑๑. พระพฤหัสบดี เป็น มาลุนทเกสร
๑๒. พระพุธ เป็น สุรเสน
๑๓. พระจันทร์ เป็น สัตพลี
๑๔. วิรุฬหก เป็น เกยูร
๑๕. วิรูปักษ์ เป็น มายูร

ตอนนี้นับได้เพียง ๑๕ ส่วนในลิลิตนารายณ์สิบปางของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ปางรามจันทราวตารกล่าวถึงนายวานรที่นับกันว่าเป็นสิบแปดมงกุฎไว้ ๑๘ ตน มีชื่อต่างไปจากข้างต้นบ้าง คือไม่มีชื่อนิลนนท์ นิลพานร และเพิ่มอีก คือ
๑. พระไพศรพณ์ เป็น เกสรมาลา
๒. พระมหาชัย เป็น สุรกานต์
๓. พระพิรุณ เป็น ไวยบุตร
๔. พระอีสาน เป็น ไชยาม
๕. พระเสาร์ เป็น พิมลวานร
รวม ๑๓ ข้างต้นก็เป็น ๑๘ พอดีครับ

ส่วนภาพระเบียงรอบอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีโคลงบรรยายชื่อวานร ตัวนายไว้ถึง ๒๐ แต่ก็มิได้บอกว่าตัวใดเป็นนายนับเนื่องเข้าเป็นพวกสิบแปดมงกุฎ ในจำนวน ๒๐ นายที่ปรากฎในวัดพระแก้วนี้ มีรายชื่อ ๑๘ นาย เหมือนลิลิตนารายณ์สิบปาง และเพิ่มอีก ๒ นาย นิลนนท์และนิลพัท

อย่างไรก็ตาม ในรามเกียรติ์ตอนพระรามชุมพลปรึกษากันยกข้ามไปลังกา ตอนนี้กล่าวถึงชื่อตัวนายวานรว่าเป็นสิบแปดมงกุฎไว้ด้วย แต่นับเข้าจริงได้ถึง ๒๕ นาย คือ ๑. ไชยาม ๒. เกสรมาลา ๓. นิลนนท์ ๔.นิลราช ๕. นิลขัน ๖. นิลปานัน ๗. นิลเอก ๘. ขุนนิล ๙. พิงคา ๑๐. วิสันตราวี ๑๑. โชติมุข ๑๒. วิมล ๑๓. มานนท์ ๑๔. เกยูร ๑๕. มายูร ๑๖. ศรราม ๑๗. วาหุโลม ๑๘. สัตพลี ๑๙. โกมุท ๒๐. สุรเสน ๒๑. สุรกานต์ ๒๒. ทวิพัต ๒๓. มหัตวิกัน ๒๔. ไวยบุตร ๒๕. มากัญจวิก เรื่องของเรื่องเลยไม่ลงรอยกันนี่แหละครับ

มาเรื่องพระศุกร์ต่อครับ พระศุกร์ถือกันว่าเป็นเทวดาแห่งความรัก ความงาม ตลอดจนถึงความสันติภาพด้วย แต่ไหงเห็นไม่กินเส้นกับดาวหลายดวงก็ไม่รู้ได้ พระศุกร์มีวิมานสีทอง ทรงโคอุสุภราช เป็นพาหนะ และมีหน้าที่เป็นผู้รักษาเขาพระสุเมรุทางทิศอุดร ส่วนภาพเขียนเป็นรูปหน้าตาเป็นแทตย์มุ่นชฎาเป็นฤาษี สีกายเป็นสีประภัสสร (สีพระอาทิตย์แรกขึ้น) หรือสีจำปา มีประคำคล้องคอ บางทีก็มีไม้เท้าถือด้วย โคที่ทรงนั้นเป็นดำขาวปนด่าง

มานึกถึงพระศุกร์เป็นเทพแห่งความงาม ทำให้นึกถึงพระศุกร์ของฝรั่ง ซึ่งก็เป็นเทพแห่งความงามเหมือนกัน แต่ของเขาเป็นเทพธิดาครับ เทพนี้เราคุ้นหูดีคือ วีนัส(Venus) หรือ อาโฟรดิตี (Aphrodite) คำอาโฟรดิตีในภาษากรีกแปลว่าเกิดจากฟองน้ำครับ จึงถือกันว่าเป็นผู้กำเนิดจากมหาสมุทร และบางครั้งบางหนก็ไปพักผ่อนใต้ท้องสมุทรเล่นได้

วีนัสดาวพระศุกร์ฝรั่งนี้ เป็นเทพธิดาที่มีความงามนักหนา รูปปั้นวีนสเป็นรูปปั้นงามที่สุดในบรรดารูปปั้นหญิง ช่างเขียนช่างปั้นจะพยายามทำเทพอโปลโล (Apollo พระอาทิตย์) เป็นเทพฝ่ายชายให้งามที่สุด และทำวีนัสให้งามที่สุดของเทพฝ่ายหญิง

เป็นธรรมดาครับหญิงงามก็ต้องเย่อหยิ่งหลงใหลในความงามของตน เทพธิดาวีนัสพระศุกร์ฝรั่งก็เช่นกันมีจริตพิษสงเอาการ จนกระทั่งซุส (Zeus ดาวพฤหัสบดีฝรั่ง) ซึ่งเป็นเทพสูงสุดลงโทษบังคับให้แต่งงานเป็นชายาของเฮพีตัส (Hephaetus) หรือวุลเคน (Vulcain) เป็นเทพที่มีฐานะด้อยอยู่สักหน่อย คือเป็นช่างโลหะหรือช่างเหล็ก อันที่จริงเทพองค์นี้เทือกเถาเหล่ากอก็ไม่ใช่เล่น เป็นถึงลูกของซุสกับฮีรามเหสีใหญ่ แต่กลายเป็นผู้ดีตกยากไป วีนัสก็ไม่เกรงหรอกครับกลับไปรักกับอาริส (Ares) หรือ Mars ดาวพระอังคารของฝรั่ง อาโปลโลจับได้ไปบอกเฮฟีตัส เฮฟีตัสก็ทำตาข่ายดักจับได้ทั้ง ๒ องค์ ขณะอยู่ด้วยกัน แล้วก็ประจานให้เทวดามุงทั้งหลายดู พอใจแล้วก็ปล่อย

วีนัสมีลูกกับอาริสหลายองค์ แต่ที่เจนหูที่สุดคือ Cupid กามเทพฝรั่งละ เรื่องความรักของวีนัสยังมีต่อไปอีก ต่อมาเธอพบเด็กชายคนหนึ่งได้นำตัวไปฝากให้เปอร์ซีโฟนี (Persephone) เลี้ยงแทน เด็กคนนี้ได้ชื่อว่าอาโดนิส (Adonis) ต่อมาเพื่อนโตเป็นหนุ่มรูปงาม ชอบล่าสัตว์ ส่วนวีนัสก็ยังสาวสวยอยู่เกิดหลงรักพ่อหนุ่มนั่นจะเอาตัวไปเป็นสามี ส่วนเปอร์ซีโฟนีก็ไม่ยอมเพราะก็อยาได้ไว้เป็นสามีเหมือนกัน ผลที่สุดซุสต้องตัดสินให้อาโดนิสอยู่กับฝ่ายหญิงทั้งสองนั้น องค์ละ ๔ เดือน อาโดนิสก็สบายแฮไป

เรื่องวีนัสยังมีอีก คือเป็นเทพที่หยิ่งในความงามของตน ไม่ยอมให้ใครมีความงามเกิน มีหญิงสาวสวยคนหนึ่งชื่อไซคี (Psyche ภาษากรีกแปลว่าดวงวิญญาณ) เป็นคนอยู่ในโลกนี่แหละ ความงามของเธอเป็นที่เลื่องลือของบรรดาหนุ่มๆ มาก ปรากฎว่านางจะเดินไปไหนก็มีหนุ่มๆ เอาดอกไม้โปรยที่เท้าเข้าทำนอง “สำลีอ่อนช้อนประเชิญให้เดินไป” ความทราบถึงวีนัสเลยสั่งให้คิวปิดเอาศรไปยิงให้นางเกิดรักกับชายเลวที่สุดคิวปิดก็ทำตามคำสั่ง แต่พอเห็นหน้าของนางไซคีซึ่งกำลังหลับอยู่ก็ตะลึงโฉม ความเผอเรอทำให้ศรของตนมาโดนตัวเองเข้า คิวปิดก็เลยหลงรักนางแต่ก็กลัวแม่วีนัส ต้องอ้อนวอนเทวดาให้ช่วย ในที่สุดคิวปิดก็ได้อยู่กับไซคีสมใจ โดยที่วีนัสไม่รู้ แต่คิวปิดก็ได้แต่มาหานางในเวลาค่ำคืนเท่านั้น แต่บอกนางว่าตนเป็นยักษ์เป็นมาร และก้บอกแม่วีนัสว่าไซคีแต่งงานกับยักษ์ไปแล้ว ฝ่ายนางไซคีสงสัยเป็นนักเป็นหนา เพราะไม่เห็นตัวคิวปิดแต่กิริยามารยาทที่กระทำก็ไม่ใช่ยักษ์อะไร ถามคิวปิคิวปิดก็ขอร้องอย่าดูตัวเลย อยู่กันอย่างสุขสบายอย่างนี้ดีแล้ว แต่ผู้หญิงก็ต้องเป็นผู้หญิงคืออยากรู้ วันหนึ่งขณะที่คิวปิดหลับก็เอาโคมไฟส่องเห็นคิวปิดเป็นเทพเจ้างาม คิวปิดตื่นรู้ว่านางรู้ความจริงแล้ว และรู้ด้วยว่าบรรดาผู้หญิงน่ะพูดมาก มิช้ามินานแม่ต้องรู้ เลยหนีไป ไซคีได้พยายามออกติดตามจนในที่สุดไปถึงเทวสถานของวีนัส วีนัสก็ยังเกลียดแกล้งทรมานต่างๆ นานา คิวปิดแอบมาช่วย ผลสุดท้ายวีนัสก็รู้ความจริงว่าตนเป็นแม่ผัวของไซคีก็ยิ่งเกลียดมากขึ้นอีก ผลที่สุดซุสมาบังคับให้วีนัสยอมให้คิวปิดอยู่ด้วยกันกับไซคีอย่างผาสุก

เทพวีนัสนี่ไม่ใช่จะอิจฉาเฉพาะผู้หญิงที่มีความงามเท่านั้นนะ แม้ผู้ชายที่งามเธอก็อิจฉาเอาเรื่องเหมือนกัน มีเทพบุตรรูปตรงสะเป๊คองค์หนึ่งชื่อนาร์ซิสซัส (Narcissus) เป็นลูกเทพเจ้าประจำแม่น้ำ ความหล่อจนพวกนางฟ้า (Nymph) ทั้งหลายหลงรัก มีนางฟ้าองค์หนึ่งชื่อเอโค (Echo) หลงใหลเอามากๆ แต่นางฟ้าองค์นี้มีนิสัยแปลกชอบพูดซ้ำคำของผู้อื่น ส่วนนาร์ซิสซัสนี่ก็มีนิสัยแปลกชอบหลงไหลความงามของตนเอง เจอกันทีไรนาร์ซิสซัสแทนที่จะชมความงามของหญิงกลับชมตัวเองเสียนี่ ข้างเอโคชอบพูดซ้ำก็พูดตามฝ่ายชายจนเลื่องลือถึงวีนัส วีนัสก็เลยริษยานาร์ซิสซัส วันหนึ่งเอโคกำลังอ้อนวอนขอความรักนาร์ซิสซัส แต่นาร์ซิสซัสกลับมัวเพลินมองดูรูปเงาของตนในน้ำเสียนี่ วีนัสเกิดหมั่นไส้เลยผลักนาร์ซิสซัสตกน้ำตาย แปลกอยู่ที่นาร์ซิสซัสเป็นลูกของเทพเจ้าประจำแม่น้ำแต่ทำไมถึงจมน้ำตายไปได้หนอ แต่ศพของนาร์ซิสซัสก็กลายเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่ง คือดอกนาร์ซิสซัสนั่นเอง ส่วนคำเอโค (Echo) กลายมาเป็นคำอังกฤษแปลว่าเสียงสะท้อน ส่วนคำนาร์ซิสซัสก็เปลี่ยนรูปเป็นคำขยาย เช่น นาร์ซิสติค เปอร์ซั่น ก็หมายถึงบุคคลที่หลงใหลในตนเอง ใช้มากครับในเรื่องจิตวิทยา

เล่าเรื่องพระศุกร์พราหมณ์ แตกคอไปเรื่องสิบแปดมงกุฎแล้วก็เลยไปเป็นเรื่องพระศุกร์ฝรั่ง ก็เห็นจะจบเรื่องพระศุกร์ได้แล้วนะ ขอบคุณครับ ที่ทนอ่านและอ่านทนจนถึงบรรทัดนี้

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

เรื่องราวเกี่ยวกับพระวิศวกรรม

พระวิศวกรรม

วิศวกรรม, พระ
พระวิศวกรรมเทพองค์นี้ ผมหาที่ค้นยากจริงๆ ครับ เห็นจะต้องแทรกเรื่องอื่นๆ บ้าง แต่กระนั้นก็คงไม่ยาวนักหรอก ตั้งแต่เขียนมาก็เห็นจะเป็นเรื่องนี้ละที่สั้นที่สุด จนด้วยเกล้าครับ จะทำเป็นไม่รู้แล้วข้ามไปก็เกรงบอกอต่วยจะว่าได้ เพราะบอกอต่วยน่ะสำเร็จสถาปัตย์ พระวิศวกรรมเป็นเทพการช่างครับ เป็นเทพที่บอกอต่วยนับถือเอามากๆ

พระวิศวกรรมนี้ เห็นเรียกกันต่างๆ เช่น วิษณุกรรม เวสสุกรรม วิศุกรรม วิศวกรมัน เพชฉลูกรรม และ วิศวกรรมัน

วิทยานิพนธ์เรื่องเทวดาพระเวท ของอุดม  เรืองศรี อธิบายเรื่องนี้ไว้นิดเดียวว่า

“ในฤคเวท มีบทสดุดีที่พรรณนาถึงพระวิศวกรมันโดยเฉพาะ และนามของท้าวเธอมีกล่าวไว้ในตอนที่สิบของคัมภีร์นี้อีกห้าแห่งด้วยกัน”

“จากการบรรยายลักษณะนั้นกล่าวว่า เทพวิศวกรมันเป็นผู้เห็นสรรพสิ่ง ทรงไว้ซึ่งดวงตา ใบหน้า แขนและขาอยู่รอบข้าง ซึ่งทั้งนี้เป็นลักษณะของพระพรหมในยุคหลังพระเวท นอกเหนือจากนั้นยังกำหนดให้วิศวกรมันมีปีกอีกด้วย ท้าวเป็นเทพแห่งการพูดและเป็นต้นเคาของลาภผลทั้งปวง มาในยุคพราหมณะถือว่าเป็นองค์เดียวกับประชาบดี แต่ครั้นถึงสมัยหลังพระเวทแล้วก็ลดความสำคัญลงมาเป็นเทพแห่งการช่างเท่านั้น”

ก็เท่านี้ละครับ ส่วนพระวิศวกรรมเป็นลูกของใครนั้น เอาแน่ไม่ได้หรอกบางแห่งก็ว่าเป็นลูกของ ภูวน บางตำนานก็ว่าเป็นลูกของ ประภาส ซึ่งเป็นหนึ่งของพวกวสุเทพซึ่งเป็นบริวารของพระอินทร์ วสุเทพนี้มี ๘ องค์ คือ ธร(ดิน) อาป(น้ำ) อนิล(ลม) อนล (ไฟ) โสม (เดือน) ธรุระ (ดาวเหนือ) ปรัตยุษ (รุ่ง) ประภาส (แสงสว่าง) อ้อ พระวิศวกรรมมีธิดาชื่อสัญญา หรือศรันยา ซึ่งเป็นชายาของพระอาทิตย์องค์ที่เป็นพระสุริยเทพ เรื่องพระอาทิตย์หลายดวงนี้ได้เล่าไว้ในเรื่องพระวรุณบ้างแล้วนะครับ

เรื่องราวของพระวิศวกรรมกับพระอินทร์มักจะเกี่ยวข้องกันเสมอ เห็นจะเป็นเพราะพระวิศวกรรมเป็นเทพบริวารฝ่ายช่างของพระอินทร์ ผมก็เลยจำเป็นแทรกเรื่องพระอินทร์ไว้ตรงนี้สักนิดเหอะ แล้วค่อยว่าให้ละเอียดตอนถึงหมวด ออ=อินทร์ เรื่องพระอินทร์นั้นน่ะมีเรื่องยืดยาวเล่ากันไม่หวาดไม่ไหวหรอกครับ

ในหนังสือชุมนุมนิพนธ์ อ.น.ก. ของพระยาอุปกิตศิลปสารได้กล่าวถึงเรื่องพระอินทร์ตามคติพุทธศาสนาไว้ว่ามีในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ว่าเดิมทีน่ะพระอินทร์ก็เป็นคนธรรมดาๆ อย่างเรานี่แหละ มีนามกรว่า มฆะ หรือ มฆมาณพ อยู่ที่ตำบลจุลคาม แคว้นมคธ ได้ร่วมมือกับเพื่อนอีก ๓๒ คน รวมเป็น ๓๓ คน ได้ทำกุศลไว้มากครับเช่น สร้างถนน ศาลาพักร้อน บ่อน้ำ โดยเฉพาะมฆมาณพได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ๗ ประการ

๑. เลี้ยงบิดามารดาตลอดชีวิต
๒. ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต
๓. พูดจาอ่อนหวานตลอดชีวิต
๔. ไม่พูดส่อเสียดตลอดชีวิต
๕. ไม่ตระหนี่ ให้ทานและยินดีให้ทาน
๖. กล่าวคำสัตย์ตลอดชีวิต
๗. ไม่โกรธเลยตลอดชีวิต

เมื่อตายไปจึงได้ขึ้นสวรรค์ มฆมาณพน่ะเป็นพระอินทร์ พรรคพวกอีก ๓๒ คนก็เป็นเทวดาชั้นผู้ใหญ่กันทั้งนั้น เช่น พระอาทิตย์ พระพิรุณและพระเวสสุกรรม หรือวิศวกรรมเทพการช่างนี่แหละ เรื่องนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงด้วยครับ และมีเรื่องยืดยาวมาก เอาไว้ผมเล่าเรื่องพระอินทร์โดยเฉพาะก็แล้วกัน เป็นอันว่าพระอินทร์กับพระวิศวกรรมเป็นเพื่อนกันมาก่อนก็แล้วกัน และพระวิศวกรรมนั้นเป็นเทพฝ่ายช่าง

ก็เพราะพระวิศวกรรมเป็นเทพฝ่ายช่างนี่แหละ ในเรื่อง มัทนะพาธา พระราชนิพนธ์พระมงกุฎเกล้าฯ ตอนท้าวชัยเสนตะลึงในความงามของนางมัทนา พรรณาถึงเทพวิศวกรรมไว้ด้วยว่า

“ยืนเพ่งและนั่งพิศ    วรพักตร์ บ หมางเมิน
งามใดบงามเกิน        มะทะนา ณ โลกสาม
แลวิศวะกรรมัน        ผิวะปั้นวะธูตาม
แบบอีกก็ไม่งาม        ดุจะโฉมอนงค์นี้
เหตุนี้สินงคราญ        ณ สถานพิภพตรี
จึงไม่ประสบที่        สิริรูปะเทียมทัน”

เห็นไหมล่ะครับ ท้าวชัยเสนว่านางมัทนาน่ะงามนักหนา พระวิศวกรรมปั้นขึ้น และจะปั้นใหม่อีกสักครั้งก็จะไม่ทรงทำให้งามได้อีกหรอก

ไม่เฉพาะเกี่ยวกับการปั้นรูปเท่านั้นนะครับ การสร้างบ้านก็เชี่ยวชาญเหมือนกัน ในเรื่อง มหาเวสสันดรชาดก ก็มีเรื่องพระวิศวกรรมนี่แหละ คือตอนพระเวสสันดรเสด็จมาบำเพ็ญพรต ณ เขาวงกต พระอินทร์ได้มีเทวบัญชาให้พระเวสสุกรรมเนรมิตอาศรมให้

“พระเวสสุกรรมเทวบุตรรับเทวบัญชาว่าสาธุดังนี้แล้ว ก็คลาดแคล้วจากเทวโลกโดยพลัน ถึงเขาวังกบรรพตนั้นมิช้า ด้วยเทพฤทธิ์ก็นิรมิตพระบรรณศาลาสองหลังตั้งไว้ และถิ่นที่ทั้งปวงสำหรับใช้คือที่จงกรม และถิ่นที่สมควรทุกประการ อนึ่งได้บันดาลด้วยเทพฤทธิ์ ให้กอไม้น้อยๆ มีดวงดอกอันวิจิตรหลายอย่างต่างๆ กัน และกัทลีวันป่ากล้วยมีผลอันหวานงอกขึ้นทันใจในที่นั้นๆ ทำให้เป็นที่สำคัญเหมือนกับมนุษย์บุรุษที่อยู่มาแต่ก่อนปลูกไว้ เป็นเครื่องประดับในพระอาศรมสถาน แล้วนิรมิตบรรพชิตบริขารทุกประการ ตั้งไว้ให้บริบูรณ์พร้อมมูลในบรรณศาลา อกฺขเร ตตฺถ ลิขิตฺวา แล้วเขียนหนังสือเป็นสัญญาประกาศไว้ว่า เยเกจิ ใครๆ จะใคร่บรรพชาก็จงอย่ามีสงกาเลย แล้วจงรับสรรพสิ่งพร้อมสรรพสมณบริขาร อีกถิ่นสถานอาศรมบทนี้ด้วยความยินดีเป็นของตนเถิด พรหมจรรย์อันประเสริฐจงเป็นไปโดยสวัสดี แล้วทำเทวอิทธาธิฏฐานบันดาลให้อมนุษย์ร้ายราวี และมฤคปักษีมีเสียงอันไม่เป็นที่เจริญใจ ให้หนีไปไกลจากที่นั้น กำชับสั่งเทพเจ้าในไพรสัณฑ์ โดยบัญชาสมเด็จท้าวเทวาธิราช ให้รักษาสี่กษัตริย์ให้เสวยสวัสดีอยู่ อย่ามีความประมาทเปิดช่องให้ไพรีมีมา การตามเทพบัญชาพระเวสสุกรรมจัดเสร็จแล้ว ก็คลาดแคล้วคลาไคล คืนพิภพเทวาลัยนั้นแล”

เห็นไหมล่ะครับ พระวิศวกรรมสร้างเก่งกว่านักสถาปัตย์ซะอีก เพราะไม่ต้องมัวสร้างกันละ เนรมิตเอาเลย

ก็ในเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรนั่นแหละ ตอนท้ายว่าด้วยการกลับชาติ พระวิศวกรรมนี้ได้กลับชาติมาเป็นพระโมคคัลลานะ อัครสาวกของพระพุทธองค์

ในเรื่อง สังข์ทอง พระวิศวกรรมก็เกี่ยวข้องกับเขาเหมือนกัน คือเจ้าเงาะเล่นตัวนัก ไม่ยอมถอดเงาะสักที พ่อตาเกลียดนัก รจนาก็มีแต่ความทุกข์ที่พ่อและลูกเขยไม่กินเส้นกัน ร้อนถึงพระอินทร์อีก ต้องแปลงตัวยกทัพมาล้อมเมือง ชวนเล่นพนันตีคลีกัน ตอนแรกพระวิศวกรรมมีบทบาทถือสารไปตามเทวบัญชาของพระอินทร์

“เมื่อนั้น                                 พระวิศณุกรรมแกล้วกล้า
ผาดแผลงสำแดงฤทธา           เท้าถีบทวาราทลายลง
เห็นพวกรักษาหน้าที่               วิ่งหนีเกลื่อนกลาดตวาดส่ง
แกล้งทำสิงหนาทอาจอง          เดินตรงเข้าโรงรจนา
เห็นท้าวสามานต์อยู่บนอาสน์   หมู่อำมาตย์เฝ้าแหนอยู่แน่นหนา
แกล้งกรายหัวข้าเฝ้าเข้ามา        ยืนอยู่ตรงหน้าเจ้าธานี
ฯลฯ
เมื่อนั้น                                พระวิศณุกรรมแกล้วกล้า
เสแสร้งแกล้งกล่าววาจา        เหวยเหวยพระยาเจ้าธานี
จงก้มเกล้าเคารพอภิวาท       คอยสดับรับราชสารศรี
นายเราให้มาว่าโดยดี            แล้วคลี่ราชสารออกอ่านไป”

ทีนี้ตีคลีพนันกัน หกเขยก็แพ้ ถึงคราวเจ้าเงาะบ้างเจ้าเงาะแกล้งยั่งพ่อตาเล่นติดเครื่องทรงไม่ได้เรื่อง ร้อนถึงพระอินทร์ต้องให้พระวิศวกรรมนี้แหละเอาเครื่องทรงไปให้

เมื่อนั้น                               จึงองค์เจ้าไตรตรึงษา
แจ้งใจในทิพย์วิญญาณ์         จะนิ่งดูอยู่ท่าเห็นช้าที
จึงตรัสสั่งพระวิศณุกรรม์        จงจัดสรรเครื่องทรงเรืองศรี
เอาไปให้พระสังข์ครั้งนี้         จะได้ใส่ตีคลีอวดพ่อตา

เรื่องพระวิศวกรรมปรากฎในวรรณคดีหลายเรื่องครับ โดยมากก็รับเทวบัญชาจากพระอินทร์นั่นแหละ ผมจะเล่าอีกเรื่องเดียวครับ คือ เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดนางพิม นางศรีประจันฝันเห็นพระวิศวกรรม กลอนตอนนี้บ่งเลยว่าพระวิศวกรรมเป็นเทวดาช่าง มีดังนี้ครับ

“มาจะกล่าวถึงนางศรีประจัน    เที่ยงคืนนอนฝันในเคหา
ว่าพระพิศณุกรรม์เหาะดั้นฟ้า    ถือแหวนประดับมาสวมนิ้วนาง
แล้วก็กลับสถานพิมานมาศ        แสนสนิทพิศวาสจนสว่าง
ตื่นลุกปลุกยังยิ้มหัวพลาง        ล้างหน้าแล้วพลันแก้ฝันไป
ท่านขาคืนนี้ข้าเจ้าฝัน            ว่าพิศณุกรรม์นายช่างใหญ่
ถือแหวนประดับงามจับใจ        เอามาส่งให้ไว้กับเรา
แล้วก็กลับไปสถานพิมานฟ้า    เมียจะเกิดโรคาหรือพ่อเจ้า
ให้เมียรู้ประจักษ์ว่าหนักเบา        ความฝันนั้นเล่ายังติดตา
พันศรโยธาผู้ผัวแก้ว            ฟังเมียเล่าแล้วหัวเราะร่า
จึงทำนายฝันไปมิได้ช้า        ว่าเจ้าฝันนั้นหนาจะมีครรภ์
ได้แหวนประดับลูกจะเป็นหญิง    รูปร่างงามจริงตละแกล้งสรร
ด้วยเป็นแหวนของพระวิศณุกรรม์    จะเป็นช่างใครนั้นไม่ทันเลย
ศรีประจันรับพรหัวเราะร่า        ให้ได้เหมือนปากว่าเถิดพ่อเอ๋ย
ถ้าฉันนี้มีลูกได้ชมเชย            ไม่อุ้มลูกใครเลยให้นินทา”

เอ เรื่องพระวิศวกรรมผมแก่เรื่องวรรณคดีไปแยะเลย เห็จะต้องจบตอนนี้เสียทีแฮะ

จะเป็นไรมี ง่ายนิดเดียว ในหนังสือเทพเจ้าและสิ่งน่ารู้ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ทรงอธิบายไว้นิดเดียว ผมก็ขอคัดมาเป็นการจบเรื่องเทพองค์นี้นะครับ

“พระวิศุกรรม ฤาเรียกตามภาษาสันสกฤตว่าวิศวกรรมและตวัสตฤก็เรียก นับว่าเป็นศิลปินเอกในหมู่เทวดา

ในรูปชาวมัชฌิมประเทศ เขียนพระวิศุกรรมมีสีกายขาวมี ๓ เนตร ทรงชฎา และอาภรณ์ทอง ถือคทา (ของไทยเราเป็นสีเขียวโพกผ้า)”

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

ความเป็นมาของพระพิรุณ

พระพิรุณ

วรุณ, พระ
พระวรุณหรือพระพิรุณ เป็นเทพแห่งฝนและน้ำทั้งหลาย เป็นผู้รักษาความสุขสวัสดีแห่งมนุษย์ทั้งปวง มีพระสมุทร พระคงคาเทวี ลำน้ำ สระ น้ำพุ เป็นบริวาร พระวรุณมีมเหสีชื่อ วารุณี ซึ่งเป็นเทพีแห่งเหล้า แต่แปลกแฮะแม้พระวรุณจะเป็นสวามีเทพีแห่งเหล้าก็เถอะ พระวรุณไม่ยอมเสวยเหล้าเลยเชียว ไม่เหมือนพระอินทร์ซึ่งชอบเสวยเหล้านัก ผมชักสงสัยอยู่เหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะมิ่งมเหสีบังคับไม่ให้สวามีดื่มเหล้าก็ได้นะ นี่ผมเดาเอาดอก อาจเป็นเพราะพระวรุณไม่ชอบดื่มก็เป็นได้

เรื่องของเทวดาทั้งหลายทั้งปวงน่ะ ท่านจัดเป็น ๓ พวก พวกที่๑. อยู่ในสวรรค์ เช่น พระวรุณ วิษณุ ฯลฯ อทิติ พวกที่อยู่ในฟ้า (อากาศป มีพระอินทร์ พระรุทระ พวกที่สามอยู่บนพื้นโลก คือ อคนี โสม และยม

ในสมัยโบราณโพ้น พระวรุณเป็นที่นับถือยกย่องแห่งพราหมณืมาก แต่ต่อมามีพระนารายณ์ พระอิศวร พระพรหมา ความเป็นเลิศของพระวรุณก็เลยถอยลง อำนาจหน้าที่ต่างๆ ของพระวรุณก็เลยถูกแบ่งปันไป เหลือแต่เป็นเจ้าแห่งฝนและน้ำนั่นแหละ

ตามไตรเพทนั้นกล่าวว่า พระวรุณเป็นโอรสของ พระกัศยปประชาบดี กับพระอทิติ ซึ่งมีโอรสด้วยกัน ๘ องค์ คือ ๑. วรุณาทิตย์ (คือพระวรุณ) ๒. มิตราทิตย์ ๓. อริยมนาทิตย์ ๔.ภคาทิตย์ ๕. องศาทิตย์ ๖. อินทราทิตย์ ๗. ธาตราทิตย์ ๘. สุริยาทิตย์

จะเห็นว่า ทีคำว่า อาทิตย์ พ่วงท้ายทั้งนั้น ทั้งนี้ก็หมายความว่า ลูกพระอทิตินั่นเอง ในบรรดาลูกพระอทิติทั้ง ๘ นี้ พระวรุณเป็นหัวหน้าเพราะเป็นพี่ใหญ่ ส่วน สุริยาทิตย์ หรือพระสุริยะนั้นออกจาะมีกรรมอยู่ พระอทิติไม่รักไม่ยอมรับว่าเป็นลูก จึงไม่ได้ไปอยู่บนสวรรค์เหมือนพระอาทิตย์พี่ๆ อีก ๗ องค์ ต้องขับรถลอยละล่องอยู่ในระหว่างสวรรค์กับมนุษยโลกจนทุกวันนี้ ในพระเวทว่าพระสุริยาทิตย์นี้เป็นผู้ให้แสงสว่างและความอบอุ่น ทรงรถเทียมด้วยม้าสีแดง ๗ ตัว

ในเรื่องพระอาทิตย์นี้ ไม่ใช่มีดวงเดียวอย่างที่เราเข้าใจหรอก และก็ออกจะสับสนเต็มที ผมจำเป็นต้องให้ผู้อ่านและ บอ.กอ. ต่วยปวดหมองอย่างผมบ้าง เพราะการเรียบเรียงเรื่องเทพแต่ละองค์น่ะ ผมคว้าหนังสือหลายเล่ม ความไม่ลงรอยกันชวนให้หมองล้ามาก เรื่องพระอาทิตย์นี่ก็เถอะ ความข้างต้นน่ะผมเก็บมาจากหนังสือเรื่องวรรณคดีไทยของอาจารย์หรีด เรืองฤทธิ์ ตีพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๒ ทีนี้ผมขอคัดจากหนังสือ พระศุณหเศป พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ บ้าง

“พระอาทิตย์ (ซึ่งโดยมากก็มาใช้อยู่แคบๆ เพียงเรียกดวงตะวัน) ซึ่งเป็นพระสุริยาทิตย์นั้น ในพระเวทมี ๗ องค์คือ ๑ วรุณ ๒ มิตร ๓ อรยัมมัน ๔  ภค ๕ ทักษ ๖ อังศ ๗ สุริย ฟาสาวิตฤ แต่พระวรุณเป็นหัวหน้าในหมู่เทพทั้ง ๗ นั้น”

เห็นไหมล่ะครับ ไม่ตรงกันหรอก และอีกแห่งหนึ่งมีว่า “พระวรุณในที่นี้ตามที่เข้าใจได้ว่า พระอาทิตย์อีกภาค ๑ นั่นเอง คือพระอาทิตย์เวลาเย็น ในอาถรรพเวทมีข้อความอยู่ว่า “เวลาเย็นพระอัคนีย่อมเป็นพระวรุณ และพระมิตรเมื่อยามอุทัยในรุ่งเช้าครั้นเมื่อเป็นพระสาวิตฤแล้วจึงเตร็จไปในฟากฟ้า และเป็นพระอินทร์แล้วจึงยังสวรรค์ให้อบอุ่นในท่ามกลาง”

ส่วนในหนังสือศาสนาสากลเล่ม ๑ ของหลวงวิจิตวาทการ บอกว่ามีพี่น้องรวมกัน ๗ องค์เหมือนกัน ไม่ใช่ ๘ องค์ คือมี วรุณาทิตย์ มิตราทิตย์ อริยมนาทิตย์ องศาทิตย์ อินทราทิตย์ และสุริยาทิตย์ ไม่มีธาตราทิตย์ครับ

บอกแล้วนะครับ ว่าพระวรุณนั้นยิ่งใหญ่มาก ในหนังสือศุณหเศปนั่นแหละ มีคำสรรเสริญพระวรุณไว้ถึง ๓๑ บท จะคัดมาสัก ๔ บทก็พอนะ ลีลาสำนวนโวหารไพเราะสละสลวยดีครับ

๑.  “ข้าแต่พระวรุณเทวราช  แม้แต่สกุณชาติอันบินไปในอากาศก็มิได้มีกำลังและความสามารถเสมอด้วยพระองค์และจะทนพระพิโรธแห่งพระองค์มิได้เลย ทั้งลำน้ำทั้งหลายอันไหลอยู่ไม่มีที่สุดก็ดี ลมทั้งหลายก็ดี จะมีความรวดเร็วเกินกว่านั้นมิได้เลย”
๒. “พระวรุณเทวราชผู้ทรงมเหศรศักดิ์ ผู้สถิตในฟากฟ้าอันหาที่สุดมิได้ พระองค์ผู้ทรงค้ำจุนไว้ซึ่งกองแสงสว่างอันรัศมีส่องลงมา และมีฐานอยู่เบื้องบน ขอรัศมีเหล่านั้นจงมารวมอยู่ในข้าทั้งหลายเพื่อเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิต”
๓. “พระวรุณเทวราชไซร้ พระองค์ได้ขยายมรรคาแห่งดวงตะวันเพื่อโคจรไปมาทุกๆ วัน เป็นมรรคาข้ามไปในอากาศอันปราศจากมรรคา ขอพระองค์จงเป็นผู้ชำนะแก่ปวงผู้ที่เป็นศัตรูแก่ดวงจิตแห่งข้าทั้งหลาย”
๔. “ข้าแต่เทวราช พระองค์ไซร้ย่อมมีโอรสทั้งร้อยและทั้งพัน ขอพระบารมีแห่งพระองค์จงคุ้มเกรงรักษาข้าทั้งหลาย ขอจงทรงกำจัดนิรฤดีผู้เป็นปัจจามิตรให้ห่างไกลข้าพระองค์ และขอจงทรงบันดาลให้ข้าทั้งหลายรอดพ้นจากปวงบาปกรรม อันข้าพระองค์ได้กระทำมาแล้ว”

การที่พระวรุณได้รับยกย่องจากชาวอินเดียมาก ก็เป็นเพราะพระวรุณหมายถึงพระอาทิตย์และเทพแห่งฝนนั่นเอง ตอนแรกพวกอริยกะอยู่ทางเหนือมาก อากาศก็หนาว ดวงอาทิตย์ให้ความอบอุ่นแก่มนุษย์นี่ครับ ส่วนตอนที่เป็นภูมิภาคร้อน ฝนก็ต้องมีความสำคัญอีกนั่นแหละ

พระวรุณถือกันว่าเป็นเทพที่มีพระวรกายงามมาก นับว่าท้าวเธอเป็นผู้สร้างและบำรุงทั้งเทวโลกและมนุษยโลก และเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณายิ่ง แต่ว่าท้าวเธอก็เกลียดความเท็จเป็นที่สุด กล่าวกันว่าไม่มีใครที่พูดความเท็จโดยที่พระวรุณจะไม่ทราบได้เลย และรู้ละเอียดยิบว่าใครจะกะพริบตากี่ครั้ง เมื่อใครกล่าวเท็จหรือผิดสัญญา ท้าวเธอก็ใช้วรุณบาศคล้องไปลงทัณฑ์ หรือบันดาลให้ป่วยไข้ และทำนองเดียวกันถ้าใครอยู่ในสัตย์หรือเกรงต่อบาปก็จะปูนบำเหน็จให้มีความสุขความเจริญ และช่วยให้พ้นมฤตยูได้ในบางครั้งบางหน

ก็ในเรื่องพระศุณหเศปนั่นแหละ มีเรื่องว่า ท้าวหริศจันทร์ ผู้ครองอโยธยาทรงอยากมีโอรส ได้ไปขอโอรสต่อพระวรุณโดยสัญญาว่าถ้าได้โอรสแล้วจะเอาบุตรทำบูชายัญ ก็แปลกอยู่เหมือนกันนะอุตส่าห์ขอโอรสเพราะอยากมี แต่มีแล้วก็จะทำให้ตายโดยวิธีบูชายัญ ในที่สุดท้าวหริศจันทร์ก็ได้โอรสสมใจ มีนามว่า พระโรหิตกุมาร ทีนี้ความรักลูกก็คิดเบี้ยวสัญญาต่างๆ ในที่สุดพระวรุณก็ลงโทษให้ท้าวหริศจันทร์เป็นโรคท้องมาน เรื่องนี้แปลกดีแฮะ โรคท้องมานนี้เป็นโรคพุงป่องอันเกิดจากน้ำที่มีอยู่ในท้องเยอะ อันเป็นผลมาจากตับแข็ง และคนที่เป็นโรคตับแข็งก็จะเกิดกับคนกินเหล้าบ่อยๆ ทีนี้พระวรุณเป็นเจ้าแห่งน้ำแล้วก็มีชายาเป็นเทพีแห่งเหล้า คิดให้ดีเถอะ คนสร้างนิยายเรื่องนี้มีปัญญาเนี้ยบจริงๆ สัมพันธ์กันดีออกจะบอกให้

พระวรุณน่ะ อวตารลงมาเกิดเป็นจำพวกสิบแปดมงกุฎคอยช่วยเหลือพระรามเหมือนกัน คือเป็นไวยบุตร เฉพาะพระวรุณนี้ในรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ ร.๑ ไม่ได้กล่าวไว้ ไปปรากฎในลิลิตนารายณ์สิบปาง ปางรามจันทรอวตารของ ร.๖ ถึงแม้จะอวตารลงมาแล้ว เทพก็ยังคงมีอยู่นะครับ ในเรื่องรามเกียรติ์ ร.๑ น่ะว่าสุรเสนซึ่งเป็นสิบแปดมงกุฎเหมือนกัน คือพระพุธอวตารลงมา สุรเสนนี้ตามเรื่องว่าเป็นลูกของพระวรุณนี่แหละ และยังมีเรื่องเกี่ยวกับพระวรุณอีก คือพระรามฝากศรที่ได้จากรามสูรไว้กับพระวรุณ เรื่องของเรื่องรามสูรพิเรนทร์นัก พระรามก็ปราบได้แต่ยกโทษให้ รามสูรก็ถวายศรให้พระราม พระรามก็ฝากไว้กับพระวรุณหรือพิรุณ

“เดชอานุภาพพระจักรกฤษณ์    ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว
พระพิรุณเทวารักษาไว้            ด้วยใจจงรักภักดี”

ตอนหนึ่ง พระรามรบกับพระยาขร คันศรประจำองค์พระรามเกิดหักก็เรียกศรที่ฝากไว้
“เมื่อนั้น            พระพิรุณเทวัญแกล้วกล้า
รู้ว่าสมเด็จพระจักรา        ต่อด้วยยักษาใจทมิฬ
บัดนี้ศรทรงพระองค์หัก    จักเอาซึ่งคันธนูศิลป์
ของรามสูรอสุริน            ล้างเสี้ยนแผ่นดินให้บรรลัย
แจ้งแล้วจึงหยิบเอาคันศร    อันฤทธิรอนสามโลกสะเทือนไหว
ออกจากวิมานแก้วแววไว        เหาะไปยังโคทาวารี”

ในเรื่องพระนล  ซึ่งเป็นเรื่องเกร็ดที่แทรกอยู่ในมหากาพย์ภารตะนั้น ตอนทมยันตีเลือกคู่ พระวรุณก็ไปร่วมด้วยโดยแปลงให้เหมือนพระนล ตอนนั้นมีพระนลตัวปลอมเยอะครับ แต่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซื่อตรงที่ทมยันตีมีต่อพระนล ก็สามารถเลือกพระนลองค์จริงได้ พระวรุณก้ไม่ได้โกรธเกรี้ยวอะไรหรอก กลับอวยพรพร้อมกับเทพองค์อื่นๆ
“ต่างองค์เทเวศรต่างมี        มนัสยินดี
ด้วยพระนลแก้วไกรสมร
ต่างองค์อำนวนอวยพร    สี่องค์อมร
รวมแปดประการขานไข
พระอินทร์ผู้ครอบครองไตร     ตรึงษาธิปไตย
ผู้ผัวศจีศรีสมาน
ให้ท้าวนลราชมหิบาล        สัมฤทธิในการ
พลีและบวงสรวงสวรรค์
อีกหนึ่งยามองค์ทรงธรรม์    ดำเนินผ่านพลัน
ให้ชนนิยมบารมี            ฯลฯ
พระวรุณเจ้าน้ำฤทธิ์รงค์    ให้ฝนอันองค์
กษัตริย์จะเรียกได้ดาย
อีกให้มาลีหลากหลาย        สุวคนธ์ขจาย
บ่มีเวลาราโรย”

ในเรื่องสาวิตรี (เล่าแล้วในเรื่องพระยม) พระวรุณก็อวยพรสี่กษัตริย์คือ พระสัตยวาน สาวิตรี ท้าวทยุมัต และนางไสยพยา
“ตัวเราวรุณอุทกราช        ประสาทพรว่าขอให้มีฝน
ตกดีทั่วไปในมณฑล        เพื่อนฝูงชนชื่นบานสราญดี”

พระวรุณ  มีนามเรียกกันต่างๆ ดังนี้
ประเจตัส แปลว่า ผู้มีปัญญา
ชลปติ แปลว่า เจ้าแห่งน้ำ
อัมพุราช แปลว่า เจ้าแห่งน้ำทั้งหลาย
ปาศี แปลว่า ผู้ถือบ่วง
ยาทปติ แปลว่า เจ้าแห่งสัตว์น้ำ
สินธุปติ แปลว่า เจ้าแห่งน้ำ

ในคัมภีร์มหาภารตะ กล่าวว่า พระวรุณเป็นโอรสของ ฤาษีกรรทมพรหมบุตร และว่าเป็นโลกบาลรักษาทิศประจิม เป็นใหญ่ในหมู่นาค

รูปพระวรุณนั้น สีกายขาว หัตถ์ขวาถือบ่วงหรือบางทีก็คือธนูศรก็มี ทรง “มกระ” คือเหรา เป็นพาหนะ ข้างไทยเราว่าทรงนาค รูปเขียนบางแห่งทำเป็นรูปเทวามี ๔ กรบ้าง ๖ กรบ้าง หัตถ์ขวาถืออาโภค คือร่มที่ถูกน้ำไม่เปียก รูปคล้ายเศียรนาค หัตถ์ซ้ายถือบ่วงบาศ พาหนะนั้นมักเขียนเป็นจระเข้ พระวรุณนี้มีเมืองชื่อวสุธาหรือสุธา และมักประทับที่บุษปศิรี อ้อ ตราประจำกระทรวงเกษตรน่ะใช้เป็น พระพิรุณทรงนาค เห็นจะเป็นเพราะพระวรุณหรือพิรุณเป็นเทพแห่งน้ำ และนาคก็ให้น้ำ กระทรวงเกษตรของเราต้องการน้ำหรือขาดน้ำทำนองนี้นั่นเอง

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

ตำนานเกี่ยวกับพระแม่ลักษมี

พระลักษมี

ลักษมี, พระ
พระลักษมีเป็นมเหสีคู่ทุกข์คู่ยากของพระนารายณ์หรือพระวิษณุ ส่วนเรื่องกำเนิดของพระลักษมีนั้นก็คราวเทวดากวนเกษียรสมุทร เพื่อทำน้ำอมฤตนั่นแหละ เรื่องสาเหตุที่กวนผมได้เล่าไว้แล้วในเรื่องพระจันทร์และก็คงจะลืมไปแล้ว แล้วก็แล้วกันไป

ตอนกวนน้ำอมฤตนั้น มีอะไรต่ออะไรเกิดขึ้นเยอะครับ รวมทั้งพระลักษมีนี้ด้วย ขอย้ำอีกหนนะ ของสำคัญๆ ที่เกิดก็มี

๑. โค ชื่อว่า สุรภี เป็นโคสารพัดนึก นึกอะไรไดสมใจ
๒. สุรา ชื่อว่า วารุณี เป็นเทพีแห่งเหล้า
๓. ปาริชาติ เป็นไม้วิเศษ พระอินทร์เอาไปปลูกไว้ที่สวนนันทวัน เป็นต้นไม้ที่ใครดมแล้วก็สามารถระลึกชาติแต่ปางก่อนได้ ถ้าสตรีใดนำมาประดับผมก็จะมีเสน่ห์แรง

๔. อัปสร  นางฟ้า ไม่มีเทวดาองค์ใดรับไปเป็นชายาโดยเฉพาะ นัยว่าเป็นต้นไม้ริมทางสำหรับเทวดา แหม คนที่ชื่อว่าอัปสรนี่ไม่ดีเลยแฮะ
๕. ดวงจันทร์ พระอิศวรเอาไปเป็นปิ่นปักผม
๖. พิษ ฝูงนาคสูบเอาไว้ นาคเป็นบรรพบุรุษของงู งูจึงมีพิษอยู่ทุกวันนี้
๗. พระลักษมี  มีความงามเป็นเลิศ เลยตกเป็นมเหสีของพระนารายณ์
๘. ธันวันตี  ทูนผอบใส่น้ำอมฤต ที่พวกยักษ์และเทวดาต้องการกันนักละ

พระลักษมีนั้นเกิดจากฟองน้ำ จึงได้นามว่า ชลธิชา(เกิดแต่น้ำ) และเพราะผุดขึ้นจากเกษียณสมุทรคราวกวนน้ำอมฤต จึงได้นามว่า กษิราพธิดานัย (ลูกสาวแห่งทะเลน้ำนม) และเมื่อผุดขึ้นมาแล้วถือดอกบัวจึงได้นามว่า ปัทมา หรือ กมลา(ดอกบัว)

คำว่า ลักษมี นี้ก็แปลว่า มีความถึงพร้อม คืองามพร้อม และมีสิริอันประเสริฐ จึงได้นามอีกว่า พระศรี

ในลิลิตนารายณ์สิบปางของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพรรณนาเป็นโคลงดั้นว่า

“จากสาครผุดขึ้น        ที่เจ็ด
คือดอกกมลบาน        แจ่มจ้า
มีเทวีเสด็จ            กลางดอก
งามประเสริฐเลิศหล้า    แหล่งสาม
มีนามปรากฎต้อง    พระศรี
ศุภลักษณ์ใดปาน    เปรียบได้
งามยิ่งสุรนารี        มวลหมด
จินตกวีไร้            พจน์ชม”

ก็สวยจนไม่มีใครเทียบละ แม้แต่กวียังไม่สามารถจะหาถ้อยคำมาบรรยายได้ ฉะนั้นจึงเป็นที่ชื่นชมโดยทั่วหน้ากัน พระคงคาหลั่งน้ำมาอวยพร เทวะคชตักน้ำรดถวายเกษียรสมุทรถวายมาลัยทิพย์ พระวิศวกรรมเนรมิตเครื่องทรงถวาย

และเมื่อพระลักษมีทรงเครื่องแล้วก็ตรงเข้าเฝ้าพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงให้เธอเป็นมเหสี ในลิลิตที่ว่านั่นแหละบรรยายว่า

ครานั้นทรงเครื่องแล้ว        พระศรี
เสด็จไปเฝ้าวิษ            ณุไท้
บังคมพระจักรี            กายยอบ
วิษณุรับกอดไว้             กับทรวง

พระลักษมีนอกจากจะถือกันว่ามีความงามแล้ว ยังเป็นผู้นำมาซึ่งความเจริญ(ภคะ) จึงได้นามอีกว่า พระภควดี คือเป็นผู้อำนวยโชค ชาวอินเดียมักจะมีพระลักษมีไว้บูชาประจำบ้านเพราะถือว่าจะนำโชคหรือความเจริญมาให้ ทั้งยังมีน้ำพระหฤทัยเมตตาปรานีอยู่เสมอ มีความงามทั้งร่างกายและกิริยามารยาท มีวาจาไพเราะยวนเสน่หาอารมณ์ยิ่งนัก

อันที่จริงองค์พระนารายณ์นั้นทรงมีรักเดียวใจเดียว คือมีมเหสีองค์เดียวเท่านั้นคือพระลักษมีนี่แหละ ถ้าจะเดาก็เห็นจะเป็นเพราะพระลักษมีดีพร้อม ทั้งความงาม มารยาท วาจา น่าจะเป็นคตินะครับ เป็นคติของหญิงที่ไปทำให้สามีมีเมียน้อยนั่นแหละ อย่างไรก็ตามก็มีข่าวลือกันให้แซ่ดว่า พระนารายณ์มีมเหสีถึง ๑๐ องค์ คือ พระลักษมี พระศรี พระภควดี พระกษิราพธิดานัย พระปัทมา พระกมลา พระชลธิชา พระจันจลา พระโลลา และพระโลกมาตา ที่จริงก็องค์เดียวกันทั้งนั้นครับ แต่ได้นามกรต่างๆ กันไปอย่างที่ว่าไว้

โดยเฉพาะเรื่องพระศรีนี่ ลือจนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเทวนารีอีกองค์หนึ่ง แม้ในรามเกียรติ์ยังเข้าใจผิดเลย ตอนพระอิศวรให้พระอินทร์ไปเชิญพระนารายณ์ มีกลอนว่า

“ครั้นถึงเกษียรชลธาร        เชิงเขาจักรวาลสูงใหญ่
เห็นองค์พระนารายณ์ฤทธิไกร    ไสยาสน์เหนือหลังนาคา
องค์พระศรีอยู่เบื้องซ้าย         พระลักษมีโฉมฉายอยู่เบื้องขวา
โกสีย์กับฝูงเทวา                จึงถวายวันทาพร้อมกัน”

ความจริงไม่ใช่หรอก เป็นเรื่องเทวดาลือกันไปเอง พระศรีก็คือพระลักษมีนั่นแหละ โดยเฉพาะพระนารายณ์มักจะประทับบนอาสนะขาว เบื้องขวาของพระองค์เป็นที่ประทับของพระลักษมี และไม่มีเบื้องซ้ายด้วย ส่วนพระลักษมีนั้นมีรัศมีเปล่งปลั่งยังกะแสงฟ้าแลบ ทั้งพระวรกายของพระลักษมีก็มีกลิ่นหอมดั่งดอกบัว หอมฟุ้งจรุงกลิ่นไปถึงสองร้อยโยชน์ บางทีก็ว่าไปถึงแปดร้อยโยชน์ก็มี

อันที่จริง พระลักษมีก็ทรงเป็นกุลเทพธิดา รักเดียวใจเดียวเหมือนกัน พระนารายณ์อวตารไปปราบเสี้ยนหนามที่ไหน พระลักษมีก็ทรงลงไปด้วย เช่นเมื่อพระนารายณ์อวตารเป็น วามนาวตาร (คนค่อม) พระลักษมีก็เป็นกมลาหรือในปาง ปรศุรามาวตาร (รามสูร) พระลักษมีก็เป็น นางธรณี ปางรามาวตาร เธอก็เป็นนางสีดา ปางกฤษณาวตาร เธอก็เป็น นางรุกษิณี

เรื่องราวของพระลักษมีก็ยุ่งๆ อยู่เหมือนกันแหละ ในวิษณุปุราณะว่าพระลักษมีน่ะเป็นธิดาของ ฤาษีภฤคุ กับ นางขยาติ และยังมีเรื่องอีกว่าเธอเป็นมารดาของกามเทพ ด้วย

ยิ่งกว่านั้น พวกพราหมณืไวษณวนิกาย คือพวกที่นับถือพระนารายณ์ใหญ่เล่าว่า เดิมน่ะพระนารายณ์มีมเหสีถึง ๓ องค์ คือพระลักษมี พระสรัสวดี และพระคงคา แต่บรรดามเหสีทั้งสามนี้ต่างก็แก่งแย่งกันเป็นใหญ่หรือเป็น “หลวง” พระนารายณ์จึงประทานพระสรัสวดีให้พระพรหม และประทานพระคงคาให้พระอิศวร เหลือเฉพาะพระลักษมีเท่านั้น

สรุปพระนามพระลักษมีไว้ตรงนี้อีกครั้ง จะได้จำง่ายดี

หริปรีย แปลว่า เป็นที่รักใคร่แห่งพระหริคือพระนารายณ์
ปัทมา  แปลว่า นางบัวหลวง
ปัทมาลัย  แปลว่า ผู้สถิตในบัวหลวง
ชลธิชา แปลว่า เกิดแต่ทะเลหรือน้ำ
โลกมาตา แปลว่า มารดาโลก
กษิราพธิดานัย แปลว่า ลูกสาวแห่งทะเลน้ำนม
ลักษมี แปลว่า มีความถึงพร้อม คืองามพร้อม
พระศรี แปลว่า มิ่งมงคล
อินทิรา แปลว่า งาม

รูปของพระลักษมีมักเขียนเป็นนางงาม มีสีกายเป็นทองนั่งบนดอกบัว มือถือดอกบัว บางตำนานว่ามี ๔ กร แต่โดยมากมักเขียน ๒ กรเท่านั้น

อ้อ เรื่องของพระลักษมีตามที่เล่ามานั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงอธิบายจากวิษณุปุราณะไว้ในหนังสือพระเจ้าของพราหมณื แต่อ่านแล้วเข้าใจยากหน่อยครับ ผมขอคัดมาแทรกประดับความรู้เป็นการจบตอนนี้ด้วย

“ในวิษณุปุราณะ กำเนิดแห่งพระลักษมีกล่าวไว้เป็น ๒ นัย คือ นัยหนึ่งว่าเป็นบุตรีพระภฤคมุนีประชาบดีกับนางขยาติ (ขัณฑ์ที่๑ วรรคที่ ๘) อีกนัยหนึ่งว่าเกิดแต่เกษียรสมุทร (ขัณฑ์ที่ ๑ วรรคที่ ๘) การที่มีกำเนิดเป็น ๒ นัยเช่นนี้ ในขัณฑ์ที่ ๑ วรรคที่ ๘ มีอธิบายไว้ คือพระไมเตรยะตั้งปัญหาถามพระปราศรมุนีว่า “ตามคำที่ชนมักกล่าวกันนั้น ว่าพระศรีมีกำเนิดจากเกษียรสมุทรเมื่อกวนน้ำอมฤต ก็ไฉนเล่าท่านจึงกล่าวว่าเทวีนั้นเป็นบุตรีพระภฤคุกับนางขยาติ” พระปราศรจึงวิสัชนาว่า “พระศรีผู้เป็นมเหสีพระวิษณุ ผู้เป็นมารดาโลกนั้นไซร้ ย่อมเป็นผู้คงอยู่ไม่มีเวลาดับ ดูกรพราหมณือันประเสร็จ อันพระเป็นเจ้าย่อมสถิตอยู่ในที่ทั้งปวงฉันใด เทวีก็ย่อมอยู่ทั่วไปฉันนั้น พระวิษณุเป็นอรรถ เทวีเป็นวาจ (คำพูด) พระหริเป็นนัย เทวีเป็นนิติ พระวิษณุเป็นปัญญา เทวีเป็นวุทธิ (ความฉลาด) พระเป็นเจ้าเป็นธรรม นางเป็นกริยา พระเป็นผู้สร้าง นางเป็นภูติ พระศรีเป็นภูมิ พระหริเป็นภูธร (ผู้จุนโลก) พระเป็นเจ้าคือสันโดษ พระอมรรตยลักษมีคือดุษฎี (ความไม่ทะเยอทะยาน) พระเป็นความอยากได้ นางเป็นความคิด พระเป็นยัญกรรม นางเป็นทักษิณา เทวีเป็นอาชยาหุติ (คือการพลีด้วยเนยใส) พระชนรรทนะเป็นปุโรตวาส (เข้าเภา) พระลักษมีเป็นห้องฝ่ายใน (ที่ผู้หญิงนั่งในพิธี) พระมธุสุนทน์ เป็นห้องฝ่ายหน้า (ที่ผู้ชายนั่ง) พระลักษมีคือเวที (แท่นที่บูชาไฟ) พระหริคือยูปะ (หลักผูกสัตว์บูชายัญ) พระศรีคือเชื้อเพลิง พระหริคือกุศะ (หญ้าคา) พระคือองค์แห่งพระสามเวท กมลาศนเทวีคือสำเนียงที่สวด พระลักษมี คือสวาหา (คำมงคลบูชาไฟ) พระวาสุเทพโลกนารถคือไฟ ที่บูชา พระเสารี (พระนารายณ์ป คือพระศังกร (อิศวร) พระภูติ (ลักษมี) คือพระมเหศวรี ดูกรไมเตรยะ พระเกศวะ (นารายณ์) คือดวงอาทิตย์ แลแสงสว่างไซร้ก็คือ พระปัทมาลัยเทวี (ลักษมี) พระวิษณุคือปิตฤคณะ (ฝูงบิดาโลก) พระปัทมาคือชายา (สุวธา) ผู้ให้ความอิ่ม พระศรี คือสวรรค์ พระวิษณุผู้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งทั้งปวงคือ นภากาศ พระศรีบดี (นารายณ์) คือดวงจันทร์ นางคือแสงอันไม่เหือดหาย นางนั้นได้นามว่าเป็นผู้บันดาลให้โลกกระดิก พระคือลมซึ่งพัดทั่วไป พระโควินท์ (นารายณ์) คือ มหาสมุทร พระลักษมีคือฝั่ง พระลักษมีคือพระอินทราณี (มเหสีพระอินทร์) พระมทุสูทน์คือพระเทเวนทร(อินทร์) พระจักรินคือพระยม พระกมลาศนเทวีคือนางธูโมรณา (มเหสีพระยม) พระศรีเป็นทรัพย์ พระศรีธร (นารายณ์) คือพระกุเวร ดูกรมหาพราหมณ์ พระลักษมีคือนางเคารี พระเกศวะคือพระชลบดี (พระวรุณ) พระศรีคือเทวเสนา พระหริคือเทวเสนาบดี พระคทาธรคือการต่อสู้ พระศรีคือศักดิ์ (กำลัง) พระลักษมีคือกาษฐาและกลา พระหริคือนิเมษ และมุหูรตะ พระลักษมีคือแสงสว่าง พระหริผู้เป็นสิ่งทั้งปวงและเป็นวิศวบดี (เป็นใหญ่เหนือสิ่งทั้งปวง) คือประทีป พระโลกมาตาคือเถาวัลย์ พระวิษณุคือต้นไม้ซึ่งเถาวัลย์นั้นพันอยู่ นางคือกลางคืน พระเป็นผู้ทรงจักรคทาคือกลางวัน พระผู้จำแนกสุข(นารายณ์) เป็นสวามี พระกมลาศนเทวี คือภรรยาเทพเจ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลำน้ำปุลึงค์ (คือที่มีนามเป็นตัวผู้) เทวีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลำน้ำอิตถีลึงค์ พระปัทมเนตร (นารายณื) คือธวัช พระปัทมาลัยคือเกตุ (ธง) พระลักษมีคือกาม พระนารายณ์โลเกศคือโลภ ดูกรท่านผู้รอบรู้ในทางธรรม พระโควินท์คือราค พระลักษมีผู้เป็นสุขุมาลยชายาคือรติ (ความรื่นเริง) แต่เหตุไฉนเล่าจะต้องกล่าวถึงคุณต่างๆ แห่งพระองค์ฉะนั้น สิริรวมกล่าวได้โดยสังเขปว่า ในบรรดาเทวดา สัตว์และมนุษย์ พระหริย่อมเป็นองค์แห่งเพศชาย พระลักษมีย่อมเป็นองค์แห่งเพศหญิง นอกจากพระองค์ทั้งสองนี้แล้ว จะมีสิ่งใดได้ก็หาไม่เลย”

ลองพิจารณาอ่านเถอะครับ พระไมเตรยะถามและพระปราศรมุนีตอบ คำตอบไม่ยักกะตรงคำถามเลย และตอบเสียยืดยาว จนผู้ถามลืมคำถามของตนไปแล้วก็ได้ จากคำตอบก็พอจะสรุปได้ว่า พระศรีและพระลักษมีเป็นองค์เดียวกัน และเป็นของคู่กับพระนารายณ์ แต่ไม่ตรงคำถามเลยจริงๆ
ก็ขอจบเรื่องพระลักษมีเท่านี้ละครับ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

ชีวประวัติของพระราหู

ราหู

ราหู, พระ
อันว่าชีวประวัติของพระราหูนั้น ผมได้กล่าวไว้บ้างแล้วในเรื่องพระจันทร์ ตอนนั้นน่ะผมได้คัดความมหึมาของรูปทรงของพระราหูตามที่พรรณาไว้ในไตรภูมิพระร่วงด้วยนะครับ ใหญ่โตพิลึกเหลือรับละ เพราะเรื่องเกี่ยวพันกับพระจันทร์ด้วยนี่ครับ

ด้วยเหตุฉะนี้แล เรื่องราวของพระราหูในตอนนี้ผมก็ต้องจ้อได้ไม่มากนักหรอก ทั้งๆ ที่มีหนังสือกางอยู่บนโต๊ะกว่า ๓๐ เล่มก็เถอะ แต่นั่นแหละ ผมก็จะขอเอาเรื่องควรรู้ที่เกี่ยวกันกับเรื่องชุดนี้แทรกไว้อีกนั่นแหละ เพราะผมทราบว่ามีนักเรียน และครูภาษาไทยอ่าน ต่วย’ตูนพิเศษ กันแยะครับ คงจะได้อะไรๆ เป็นทำนอง “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม” บ้างหรอกนา ข้อสำคัญที่สุดถ้าผมเขียนสั้นจุ๊ดจู๋คนที่จะด่าผมก็คือ บกง นั่นแหละ แกจะฝ่าผมเอาเปรียบครับ โปรดเห็นใจบ้างนะ

ราหูเป็นดาวพระเคราะห์ดวงหนึ่ง ก็คือโลกที่เราอาศัยอยู่นี่แหละ ว่ากันตามหลักวิทยาศาสตร์ (เพราะทางพราหมณ์ได้ว่าถึงเรื่องความใหญ่โตไว้ในตอนพระจันทร์แล้ว) โลกเรานี้มีอายุนานมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓,๕๐๐ ล้านปี มีเส้นผ่าศูนย์กลางโดยเฉลี่ย ๗,๙๑๘ ไมล์ เส้นรอบวงตามศูนย์สูตรยาวประมาณ ๒๔,๙๐๐ ไมล์ หมุนรอบตัวเองจากตะวันตกไปทางตะวันออกครบ ๑ รอบกินเวลา ๒๓ ช.ม. ๕๖ นาที ๔ วินาที หรือ ๑ วัน จึงทำให้คนบนโลกเห็นดวงดาวและดวงอาทิตย์เคลื่อนที่จากตะวันออกไปตะวันตก โลกมีแกนเอียงกับทางโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นมุม ๒๓ ๑/๒ องศา และโคจรรอบดวงอาทิตย์ ๑ รอบในเวลาประมาณ ๓๖๕ วัน หรือ ๑ ปี ซึ่งมีผลทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ ๙๓ ล้านไมล์ นี่เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์แผนปัจจุบันครับผม

ในทางศาสนาพราหมณ์น่ะ ถือว่าพระราหูเป็นบุตรของ ท้าวเวปจิตติ กับนางสิงหิกา แต่ในหนังสือพระเป็นเจ้าของพราหมณ์พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ว่าพระราหูเป็นโอรสของ พระพฤหัสบดี กับ นางสิงหิกา ส่วนทางโหราศาสตร์ว่าด้วยตำนานดาวนพเคราะห์ว่า พระอิพระอิศวรเป็นเจ้าได้สร้างพระราหูขึ้นโดยใช้หัวผีโขมด ๑๒ หัว มาป่นแล้วประพรมด้วยน้ำอมฤต ฉับพลันก็บังเกิดเป็นพระราหู ยังมีต่างออกไปอีกครับ ก็ในหนังสือเฉลิมไตรภพนั่นแหละ ผมก็กล่าวไว้ในเรื่องพระจันทร์แล้วเหมือนกัน

เพราะความยุ่งๆ สับสนในเรื่องเทวดาแทบทุกองค์ ซึ่งผมก้ได้ให้เหตุผลไปแล้วหลายตอนครับ ผมก็ไม่กล่าวอีกละ แต่ขอเสริมอีกนิดว่า นักศาสนาเช่นคุณหลวงวิจิตรวาทการท่านเขียนไว้ในหนังสือศาสนาสากลว่า ลัทธิศาสนาพราหมณ์สับสนนัก เมื่อกลายมาเป็นศาสนาฮินดู และเกิดพระอิศวรในศาสนานี้ และมีหน้าที่เป็นผู้สร้าง ทางฮินดูก็กวาดล้างกำเนิดเก่าของเทพเจ้ามากมายหลายองค์เอามาให้พระอิศวรสร้างใหม่หมด และวิธีสร้างก็แปลกจากที่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะดาวนพเคราะห์นั่นแหละ ผมก็รวมมากล่าวเลย

เอานางฟ้า ๑๕ นาง มาเสกป่นให้ละเอียดแล้วสร้างขึ้นเป็นพระจันทร์
เอากระบือ ๘ ตัว มาเสกป่นแล้วสร้างเป็นพระอังคาร
เอาช้าง ๑๘ เชือก มาเสกป่นแล้วสร้างเป็นพระพุธ
เอาฤาษี ๑๙ ตน มาเสกป่นแล้วสร้างเป็นพระพฤหัสบดี
เอาโค ๒๑ ตัว มาเสกป่นแล้วสร้างเป็นพระศุกร์
เอาเสือโคร่ง ๑๐ ตัว มาเสกป่นแล้วสร้างเป็นพระเสาร์
เอาหัวผีโขมด ๑๒ หัว มาเสกป่นแล้วสร้างเป็นพระราหู

ก็นับว่าดีเหมือนกันครับ เพราะตัดปัญหาเรื่องพ่อเรื่องแม่ของเทวดาต่างๆ ได้ดี เพราะเรื่องนี้สับสนพิลึก

เรื่องพระราหูหัวขาดครึ่งท่อนน่ะ ได้เล่าละเอียดแล้วในเรื่องพระจันทร์อีกนั่นแหละ แต่จะเล่าให้ย่อที่สุดอีกที จะได้เทียบกับเรื่องอื่นด้วย เรื่องนี้อยู่ในนารายณ์สิบปาง ปางกูรมาวตาร คือเป็นเต่า ตอนนี้มีการกวนน้ำอมฤตกัน พระราหูได้แปลงตัวให้สวยเป็นเทวดาไปดื่มด้วย พระอาทิตย์พระจันทร์ไปฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์ก็เอาจักรขว้างตัดราหูขาดครึ่งท่อน แต่ราหูไม่ตายหรอกเพราะได้ดื่มน้ำอย่างว่าแล้วนี่ เกร็ดย่อยก็ว่า ท่อนหัวเป็นพระราหู ท่อนล่างเป็นพระเกตุ พระเกตุก็เลยเป็นดาวพระเคราะห์ดวงที่ ๙ พอดี และพระเกตุนี่แหละครับ มีลูกเป็นดาวหาง และผุ่งไต้ละ เรื่องนี้ราหูแค้นพระอาทิตย์พระจันทร์มาก เจอกันที่ไหนเป็นได้อมกันเล่นไงล่ะ

มีต่างออกไปอีก อย่างในหนังสือเฉลิมไตรภพเล่าว่า พระอิศวรสร้างพระราหูแล้ว ราหูก็ชักจะกำเริบ คิดว่าตัวของตนออกจะมหึมา มหึมาจริงๆ ครับ ลองย้อนไปอ่านเรื่องพระจันทร์เถอะ แต่ถึงจะโตก็มีฤทธิ์น้อยจัง ไม่เหมือนพระอิศวร พระราหูเห็นอ่างเก็บน้ำท้ายปราสาทพระอิศวร เพื่อนเดาเอาว่าต้องเป็นของศักดิ์สิทธิ์แน่ จึงลอบไปอาบกิน พระอิศวรรู้ด้วยญาณว่าพระราหูล่อน้ำอมฤตเข้าไปแล้ว พระอิศวรกริ้วเอาจักรขว้างไป พระราหูก็ขาดสองท่อน แต่ก็ไม่ตายหรอก อย่าเป็นห่วงเลย

ก็มีอีกกระแสอีกนั่นแหละ สมัยก่อนโน้น พระเสาร์ไปถือกำเนิดเป็นพระยานาค รักษาเขาสัตนาปริพันธ์ พระพฤหัสบดีถือกำเนิดเป็นพระอินทร์ รักษาเขาพระสุเมรุ ตอนแรกรักกันดีหรอก ต่อมามิตรสัมพันธ์แตกร้าว แล้วก็มีพระยาครุฑเข้ามาเกี่ยวเข้าอีกอยู่ดีๆ ก็อยากกินพระยานาค พระยานาคหนีไปบอกพระราหูให้ช่วย เกิดรบกันระหว่างพระราหูกับครุฑ ครุฑแพ้ ที่จริงก็แสดงว่าพระราหูมีฤทธิ์ไม่ใช่เล่น ครุฑเก่งนะครับ ผมได้เล่าความเก่งของครุฑไว้ในเรื่องพระนารายณืแล้ว แต่ไหงถึงแพ้พระราหูได้ก็ไม่รู้ ครุฑหนีไปหาพระอินทร์ พระราหูก็ตามไป ระหว่างทางพระราหูเหนื่อยหิวน้ำ เลยแวะดื่มน้ำอมฤต พระอินทร์ก็กริ้วนะซี เอาจักรเพชรขว้างไปทำให้พระราหูขาดสองท่อนอีก

ทั้งสามเรื่องที่ทำให้พระราหูขาด ๒ ท่อนนั้น ก็เป็นอันว่าผู้ลงโทษต่างกันไปเป็นพระนารายณ์บ้าง พระอิศวรบ้าง พระอินทร์บ้าง เรื่องจึงยุ่งเหลือเกินละ

คำว่า “ราหู” ในหนังสือชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหลวงสารานุประพันธ์ แปลว่า “ผู้จับ” ครับ ก็คงจะมีนัยว่าจับพระอาทิตย์พระจันทร์นั่นเอง ส่วนตอนเกิดมาทีแรกน่ะ มีหางเป็นนาค มีที่อยู่ในอากาส วิมานสีนิล มีครุฑเป็นพาหนะ แต่บางแห่งว่ามีสิงห์เป็นพาหนะ สิงห์น่าจะถูกกว่า ส่วนภาพที่เขียนก็เขียนกันเป็น ๒ แบบ อย่างหนึ่งหน้าเป็นยักษ์ มีหางนาคนั่งเหนือเมฆหมอก สีกายเป็นสีทองสัมฤทธิ์ มีทองเป็นเครื่องประดับ มี ๒ มือ อีกอย่างหนึ่งเขียนเป็นรูปยักษ์ แต่มีเฉพาะหัว สีทองสัมฤทธิ์ แต่ที่เป็นสีเขียวก็มี และมักจะเป็นรูปที่กำลังอมพระอาทิตย์ หรือไม่ก็พระจันทร์อยู่

ทีนี้ผมก็ขอแทรกเรื่องอื่นละครับ ก็เรื่องปุราณะนั่นแหละ เพราะคำนี้ผมเอ่ยถึงในชุดเทวดานุกรมบ่อยจัง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงอธิบายไว้ในอภิธานท้ายเรื่องศกุนตลาไว้ดังนี้

“ปุราณะ แปลว่า เก่า เป็นนามใช้เรียกหนังสือจำพวกหนึ่งซึ่งมีพราหมณ์เก็บรวบรวมแต่งขึ้นภายหลังยุคหนังสือจำพวกที่เรียกว่าอิติหาส (เช่นเรื่องรามายณะและมหาภารตะเป็นต้น) หนังสือตำรับต่างๆ ของพราหมณ์แบ่งได้เป็น ๓ ยุค เรียกนามตามลักษณะแห่งหนังสือ คือ

๑. ยุคไตรเพท  เป็นยุคที่แต่งตำรับที่ออกนามว่าพระเวทพร้อมด้วยตำรับอื่นๆ อันเป็นบริวาร มีข้อความอันกล่าวด้วยการบูชายัญ สรรเสริญพระเป็นเจ้าโดยวิธีอย่างเก่าที่สุด ไม่ใคร่จะมีเรื่องราวเล่าเป็นอย่างนิยายหรือประวัติพิสดาร เพราะในสมัยนั้นยังมิได้มีเวลาคิดประดิษฐ์ประดอยเรื่องราวมากปานใด

๒. ยุคอิติหาส  เป็นยุคที่เกิดมีวีรบุรุษ (คือคนเก่งในสงครามเป็นต้นตรงกับศัพท์ภาอังกฤษว่า เฮียโร=Hero นั้น) ขึ้นแล้ว จึงมีผู้คิดรวบรวมเรื่องราวอันเป็นตำนาน เนื่องด้วยวีรบุรุษเหล่านี้ขึ้นรจนาเป็นกาพย์ให้จำง่ายแล้ว และสอนให้ศิษย์สาธยายในกาลอันควรแล้วก็จำกันต่อๆ มา เรื่องชนิดนี้มีรามายณะและมหาภารตะเป็นอาทิ แต่ก็ยังมิได้มีผู้ใดจดลงเป็นลายลักษณ์อักษร จนต่อมาภายหลังอีกหลายๆ ร้อยปีจึงได้มีจดลงเป็นหนังสือ เพราะฉะนั้นหนังสืออิติหาสเหล่านี้จึงมักมีข้อผนวกหรือแก้ไขเกินไปกว่าเรื่องเดิม เช่นนับถือพระรามและพระฤกษณ์ ในส่วนที่เป็นวีรบุรุษก่อนแล้วจึงเกณฑ์ให้เป็นพระนารายณ์อวตารต่อไปทีเดียว และโดยเหตุที่จะต้องหาพยานหลักฐานประกอบให้จงได้จึงต้องประดิษฐ์ข้อความเพิ่มเติมขึ้นอย่างพิสดาร เช่นในเรื่องรามายณะเพิ่มเสริมต่อลงไปในต้นเรื่องเองก็มากแล้ว แต่ยังเห็นไม่ใคร่ละเอียดพอจึงถึงแก่ต้องมีแถมอีกทั้งกัณฑ์เรียกว่า “อุตตรกาณฑ์” ฉะนี้เป็นตัวอย่าง แต่ถึงอย่างไรวีรบุรุษเหล่านี้ยังคงเป็นมนุษย์อยู่

๓. ยุคปุราณะ  เมื่อยกยอวีรบุรุษต่างๆ มากขึ้นทุกที หนุนๆ กันจนขึ้นไปถึงยอดแล้ว ก็ต้องเลยกลายเป็นเทวดากันเท่านั้นเอง จึงเกิดมีตำรับชุดปุราณะขึ้นสำหรับเป็นพยานหลักฐานว่า ท่านพระเป็นเจ้าและเทวดาองค์นั้นๆ ได้ทรงอภินิหารอย่างนั้นๆ และเสด็จลงมาเอื้อแก่มนุษย์โดยอวตารหรือแบ่งภาคเป็นอย่างนั้นๆ ยิ่งแต่งก็ยิ่งเพลินเหลิงเจิ้งสนุกมากขึ้นทุกที และลักษณะสั่งสอนวิธีเล่าเป็นนินทานห่อธรรม ก็เป็นวิธีที่พวกอาจารย์สังเกตเห็นอยู่ว่าเป็นที่พอใจผู้ศึกษาเป็นผลอันดีทำให้จดจำคำสอนไว้ได้ดีขึ้น (ถึงแม้ข้างฝ่ายท่านผู้เป็นอาจารย์สอนฝ่ายพุทธศาสน์ของเราก็ต้องใช้วิธีเช่นนั้นเหมือนกัน) ข้างฝ่ายไสยศาสตร์จึงเกิดตำรับตำราพวกที่เรียกว่าปุราณะ คืออ้างว่ารวบรวมเรื่องเก่าๆ มาตกแต่งขึ้นไว้เพื่อให้เป็นหลักฐาน (ข้างฝ่ายพุทธศาสน์ก็มีหนังสือคล้ายๆ ปุราณะอยู่มากเหมือนกัน) และหนังสือตำรับเหล่านี้เป็นที่ถูกใจผู้ศึกษามากก็จำกันได้มากจนมาในที่สุด ทั้งพราหมณ์และชนสามัญที่ถือไสยศาสตร์มีเป็นจำนวนน้อยที่รู้จักไตรเพทอันแท้จริง โดยมากถือเอาชุดปุราณะเป็นตำรับสำคัญของลัทธิไสยศาสตร์ทีเดียว ความรู้ในทางไสยศาสตร์ทีได้เคยมีมาในประเทศสยามนี้ จึงเป็นไปตามข้อความในปุราณะเป็นพื้น และโดยมากพูดถึงพระเวทหรือไตรเพทก็พูดกันพล่อยๆ ไปอย่างนั้นเอง จะได้มีความรู้ลึกซึ้งไปถึงพระเวทจริงนั้นหามิได้”

นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ผมคัดจากอภิธานเรื่องศกุนตลานะครับ ยังมีอธิบายเรื่องนี้อีกมากครับ และยังมีอธิบายในหนังสือ พระศุนหเศป ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ อีก ใครที่ต้องการหาความรู้ก็หาอ่านเอาเองเถอะครับ
ก็เป็นอันจบเรื่องของพระราหูตรงนี้ละ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

เรื่องราวของพระยายมราช

พระยายมราช
ขอคัดความจากหนังสือไตรภูมิพระร่วง ซึ่งมีสำนวนขลังชวนให้สยองขวัญยิ่งนัก

“เมืองพระญายมราชนั้นใหญ่นัก และล้อมรอบประตูนรกทั้ง ๔ ประตูนรกนั้นแล พระยายมราชนั้นทรงธรรมนักหนา พิจารณาถ้อยความอันใดๆ และบังคับโจทก์และจำเลยนั้นด้วยสัจซื่อ และชอบธรรมทุกวันทุกเมื่อ ผู้ใดตายย่อมไปไหว้พระญายมราชก่อนฯ พระญายมราชจึงถามผู้นั้น ยังมึงได้กระทำบาปฉันใด แลมึงเร่งคำนึงดูแลมึงว่าโดยสัจโดยจริงฯ เมื่อดังนั้นเทวดาทั้ง ๔ องค์อันแต่งมาซึ่งบัญชีบุญและบาปแห่งคนทั้งหลายก็ได้ไปอยู่ในแห่งนั้นด้วย แลถือบัญชีอยู่แห่งนั้น ผู้ใดกระทำบุญอันใดไซร้เทพยดานั้นเขียนชื่อผู้นั้นในแผ่นทองสุกแล้วทูนใส่เหนือหัวไปถึงพระญายมราชๆ ก็จับใส่หัวแล้วก็สาธุการอนุโมทนายินดี แล้วก็วางไว้บนแท่นทองอันประดับด้วยแก้วสัตตพิธีรัตนะและมีอันเรืองงามแล ผู้ใดอันกระทำบาปไซร้ เทวดานั้นตราบัญชีลงในแผ่นหนังหมาแลเอาไว้แห่ง ๑ เมื่อพระญายมราชถามดังนั้น ผู้ใดกระทำบุญด้วยอำนาจบุญแห่งผู้นั้น หากรำพึงรู้ทุกอันแลกล่าวแก่พระญายมราชว่า ข้าได้ทำบุญธรรมดังนั้นเทพยดาถือบัญชีนั้นก็หมายบัญชีในแผ่นทองนั้น ก็ดุจความอันเจ้าตัวกล่าวนั้น พระญายมราชก็ชี้ให้ขึ้นไปสู่สวรรค์อันมีวิมานทองอันประดับนี้ด้วยแก้ว ๗ ประการ แลมีนางฟ้าเป็นบริวาร แลมีบริโภคเทียรย่อมทิพย์ แลจะกล่าวเถิงความสุขนั้นบ่มิได้เลนฯ ผิแลผู้ใดกระทำบาปนั้นบันดาลตู่ตนมันเองนั้น แลมันมิอาจบอกบาปได้เลย จึงเทพยดานั้นเอาบัญชีในแผ่นหนังหมามาอ่านให้มันฟัง มันจึงสารภาพว่าจริงแล้ว พระญายมราชแลเทพยดา ก็บังคับแก่ฝูงยมบาลให้เอามันไป โดยบาปกรรมมันอันหนาและเบานั้นแลฯ บังคับอันควรในนรกอันหนักแลเบานั้นแลความทุกขเวทนาแห่งเขานั้นจะกล่าวบ่มิถ้วนได้เลยฯ ผู้กระทำบุญก็ได้กระทำ บาปก็ได้กระทำ เทพยดานั้นจะซักบุญและบาปนั้นมาดูทั้งสองฝ่ายๆ ใดหนักไปฝ่ายนั้น แล้วแม้ว่าผู้บุญหนักแลไปสวรรค์ก็ดี เมื่อภายหลังยังจะมาใช้บาปตนนั้นเล่าบ่มิอย่าเลย ผู้สร้างผู้บาปหนักแลไปในนรกก่อน แลเมื่อภายหลังนั้นจึงจะได้เสวยบุญแห่งตนนั้นบ่มิอย่าแลฯ อันว่าคนผู้กระทำบุญกระทำบาปเสมอกันดังนั้นไซร้พระญายมราชแลเทพยดาถือบัญชีนั้นบังคับให้เป็นยมราช ยมบาล ๑๕ วัน มีสมบัติทิพย์ดุจเทพยดาแลตกนรก ๑๕ วันนั้น ต่อสิ้นบาปมันนั้นแลฯ ฯลฯ”

ครับ ผมตัดมาเพียงแค่นี้ เดี๋ยวจะเป็นนิยายสยองขวัญของ คุณจินตวีร์  วิวัธน์ เข้า

เรื่องราวของพระยมนั้นสับสนอลหม่านยุ่งยากเหมือนกับเทพองค์อื่นๆ นั่นแหละ ผมอ่านหลายเล่มราว ๒๐ เล่ม ความตีกันในสมองของผมยุ่งไปหมด จะพยายามบรรจงเล่าให้ได้เนื้อกระทงความครับ

คำว่า “ยม” แปลว่า ผู้ยับยั้ง หมายถึงยับยั้งผู้ประกอบกรรมชั่วนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีนามอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ยมราช ธรรมราช มัจจุราช มฤตยูกาล อนฺตก กฤตนฺต ศมน ทัณฑี ทัณฑธาร ภิมศาสน ปาศี ปิตฤปติ เปรตราช ศราทเทวะ ในคัมภีร์พระเวทออกนามพระยมว่า สํ คมโน ชนานาม แปลว่า ผู้รวบรวมคน และว่าเป็นใหญ่ในปิตฤทั้งหลาย คือเป็นต้นโคตรแห่งคนที่ล่วงลับไปแล้ว

พระยมมีหน้าที่พิพากษาผู้ตายอย่างเที่ยงธรรม จึงมีนามว่า “ธรรม” หรือ “ธรรมราช”  และมีที่อยู่เรียกว่า “ยมปุระ” เพราะเมื่อคนเราตายไป มโนหรือวิญญาณก็จะไปสู่ยมปุระ เพื่อให้พระยายมราชตัดสินลงโทษตามความผิด โดยมี จิตรคุปต์ (ภาษาบาลีว่า จิตฺตตคุตฺโต และภาษาชาวบ้านว่า เจ็ตคุก) เป็นผู้อ่านประวัติผู้ตาย อันจดไว้ในสมุดรายชื่อ อัครสันธานา แล้วพระยายมราชก็พิพากษา ดังนั้นพระยายมราชจึงมีอำนาจนิกรชน จึงได้นามว่า ทัณฑธร แปลว่า ผู้มีอำนาจลงโทษ อ้อ ปราสาทที่พำนักของพระยมมีชื่อว่า กาลีจี มีบัลลังก์ชื่อ วิจารภู ส่วน จิตรคุปต์ หรือบางแห่งก็เรียกว่า จันทรคุปต์ นี้มีผู้ชายสองคน คือ จันท์ หรือ มหาจันท์ และ กาลบุรุษ คนเดินหนังสือพระยมราชชื่อยมทูต คนเฝ้าประตูปราสาทชื่อ ไวธยต แต่บางตำนานว่าผู้เฝ้าทางที่จะไปสู่สำนักพระยมนั้นเป็นหมา ๒ ตัว ชื่อ สามะ(ดำ) และสวละ (ด่าง) สุนัขนี้มีรูปร่างประหลาด มีถึง ๔ ตา รูจมูกกว้างมาก ทั้งยังมีนกฮูกด้วย ถ้าส่งไปหาใครก็เป็นสัญญาณแห่งความตายละ

พระยายมถือกำเนิดจาก วิวสฺวตฺ หรือ วิวัสวัต คือ พระอาทิตย์ ด้วยเหตุนี้พระยมจึงได้ชื่อว่า ไววัสวัต แปลว่าผู้เกิดจากวิวัสวัตนั่นแหละ พระยมมีน้องสาวฝาแฝดชื่อ ยมี หรือ ยมุนา ซึ่งต่อมาเป็นชายาของพระยมเอง สามีภรรยาคู่นี้นัยว่าเป็นต้นกำเนิดของมวลมนุษย์คล้ายกับเรื่องอดัมกับอีฟของศาสนาคริสต์

บางคัมภีร์ว่าพระยมเป็นมนุษย์คนแรกในมนูยุคที่ ๗ คือเป็นโอรสพระวิวัสวัต (พระอาทิตย์ป กับนางสรัญยู บางแห่งก็ว่านางสังชญา หรือสัญญา แปลว่าผู้มีสติยั้งคิด ความสังเกตหรือความจำได้

ตรงนี้ต้องกล่าวถึงคำว่า มนูยุคที่ ๗ ก่อนครับ ผมเป็นเป็นเกร็ดน่ารู้นี่นา แต่ก็ออกจะเข้าใจยากอยู่ ผมคัดจากหนังสือ ชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหลวงสารานุประพันธ์ เลย ถ้าต้องการขยายความอีกก็อ่านศาสนาสากลของหลวงวิจิตเอาเองเถอะ

หลังจากการสร้างโลกแล้ว พระพรหมก็เริ่มสร้างมนุษย์ให้เป็นพลโลก มนุษย์คนแรกที่พระพรหมสร้างเรียกว่า “มนู” เป็นประชาบดีของคนในโลกนี้ทั้งหมด และสร้างต่อๆ มาตามยุคของโลกที่ทำลายลงและสร้างใหม่รวม ๑๔ องค์ดังต่อไปนี้

มนูยุคหนึ่งๆ หรือเรียกตามภาษาสันสกฤตของพราหมณ์ว่า “มันวันตร” หนึ่งมีกำหนด ๓๑๑,๐๔๐,๐๐๐ ปี

พระมนูที่ได้มาบังเกิดแล้วในโลกนี้มี ๗ องค์ คือ

๑. พระมนูสวายัมภูวะ เป็นโอรสพระสวยัมภู(พรหม) เป็นประชาบดีผู้สร้างฤาษี ๑๐ ตน มีพระริจิเป็นต้น เป็นผู้แต่งตำรับมานวธรรมศาสตร์ หรือกฎหมายพระมนู
๒. พระมนูสวาโรจิษะ
๓. พระมนูเอาตฺตมิ
๔. พระมนูตามะสะ
๕. พระมนูไรวตะ
๖. พระมนูจากษมะ
๗. พระมนูไววัสวัต

พระมนูองค์ที่ ๗ นี้ โดยโอรสแห่งพระอาทิตย์ เป็นผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐจึงได้ฉายาว่า “สัตยพรต” เป็นมหาชนกแห่งมนุษย์ที่ยังคงอยู่ในโลกทุกวันนี้ ตามเรื่องราวมีมา ซึ่งพราหมณ์เก็บมารวมไว้ในคัมภีร์ปุราณะหลายแห่งว่า เมื่อสิ้นมนูยุคที่ ๖ เริ่มยุคที่ ๗ นั้น โลกนี้เต็มไปด้วยบาปพระเป็นเจ้าจึงบันดาลให้เกิดมหาอุทกนองมาท่วมโลก คนและสัตว์ในพื้นดินก็ตายสิ้น แต่ส่วนพระมนูนั้น พระพิษณุเป็นเจ้าเห็นว่าเป็นผู้ทรงคุณธรรมประเสริฐจึงได้อวตารเป็นปลา (ปางมัตสยาวตาร ซึ่งเป็นปางหนึ่งของการอวตารอันจะกล่าวต่อไป) ลงมาบอกพระมนูให้ต่อแพใหญ่ จัดหาสัตว์ลงในแพนั้น แล้วพระมัตสยาวตารก็จงแพลอยไป จนเมื่อน้ำลดแล้ว พระมนูจึงได้เป็นเจ้าแผ่นดินองค์แรกของมนุษยโลก และเป็นมาหชนกของคนสืบมา

พระมนูลูกพระอาทิตย์นี้แล ตำรับว่าเป็นผู้สร้างกรุงอโยธยานครหลวงแห่งแคว้นโกศลราษฎ์(ในอินเดีย) และเป็นปฐมชนกแห่งวงศ์กษัตริย์ “สุริยวงศ์” นางอิลาบุตรีเป็นชายาแห่งพระพุธผู้เป็นโอรสพระจันทร์ ซึ่งได้ตั้งวงศ์กษัตริย์อีกวงศ์หนึ่ง เรียกว่า จันทรวงศ์ เพราะฉะนั้นกษัตริย์สุริยวงศ์กับจันทรวงศ์จึงนับว่ามีต้นสกุลร่วมกัน

สมเด็จพระมหาธีรราชมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานอรรถาธิบายไว้ว่า คำฝรั่งว่า “Man” กับ “มนู” นั้น สันนิษฐานว่าจะมาจากมูลเดียวกัน เพราะในตำรับศาสนาโบราณกล่าวว่า มหาชนกคนแรกแห่งมนุษย์ในโลกนี้มีนามว่า มันนะ (Manna) หรือ ตามภาษาเยอรมันโบราณว่า มันนุส (Mannus) และคำว่า “คน” ของภาษาเยอรมันเดี๋ยวนี้ เรียกว่า “มันน์” (Mann) ซึ่งตกไปถึงอังกฤษเป็น “แมน” (Man) ดังนี้

ส่วนพระมนูที่จะมีมา ณ เบื้องหน้าอีก ๗ องค์นั้นมีนามปรากฎดังนี้
๘. พระมนูเสาวรณี
๙. พระมนูทักษะสาวรณี
๑๐. พระมนูพรหมเสาวรณี
๑๑. พระมนูธรรมเสาวรณี
๑๒. พระมนูรุทรสาวรณี
๑๓. พระมนูเราจะยะ หรือเทวสาวรณี
๑๔. พระมนูเภาตยะ หรืออินทรสาวรณี

“เมื่อพระมนูสวายัมภูวะ องค์ที่ ๑ ซึ่งเป็นโอรสพระสวยัมภู (พรหม) เกิดแล้ว ท่านก็สร้างมนุษย์สืบพันธุ์ต่อมาในฐานเป็นประชาบดี (ผู้สร้างมนุษย์) มนุษย์รุ่นแรกที่สืบพันธุ์จากพระมนูสวายัมภูวะเป็นฤาษี ๑๐ ตน เรียกกันว่าทศฤาษี นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง มีนามดังนี้คือ มริจิ อัตริ อังคีรส ปุลัสตยะ ปุละหะ กระตุ วสิษฐ์ ทักษะ ภฤดู นารถ”

พระมริจิมีลูกชื่อ พระมาริจี หรืออีกนามหนึ่งว่าพระกัศยปๆ องค์นี้เป็นเทพมุนีผู้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นผู้สร้างทั้งมนุษย์และสัตว์ต่อมาอีกมากหลาย ดังจะกล่าวต่อไปพระกัศยปเป็นบิดาพระมนูไววัสวัต ผู้เป็นมหาชนกแห่งมนุษย์ในโลกเวลานี้ พระกัศยปได้พระอทิติ พระเทพมารดาเป็นชายา ก็ได้เป็นชนกแห่งพระอาทิตย์และทั้งเป็นชนกพระอินทร์ด้วย นอกจากพระอทิติแล้ว พระกัศยปยังได้พระธิดาพระทักษะประชาบดีอีก ๑๒ องค์เป็นชายา ตอนนี้เองเลยมีลูกเป็นสัตว์ประหลาดต่างๆ เช่น ครุฑ นาค รากษส แทตย์ ทานพ ฯลฯ

ครับ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวพันกัน และเป็นความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับเทพและมนุษย์ ผมก็เลยคัดมาแทรกไว้ตอนนี้ด้วย เข้าใจยากหน่อยก็เป็นไรไปครับ เข้าทำนอง “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม”

เรื่องของพระยม บางกระแสก็ว่าเดิมเป็นกษัตริย์ครองนครเวศาลี ในขณะออกศึกอย่างกล้าหาญนั้นได้อธิษฐานว่า ถ้าตายไปขอให้ได้เป็นเจ้านรก ก็สมความปรารถนาตามที่อธิษฐาน คือแม่ทัพ ๑๘ คน กับทหาร ๘๐,๐๐๐ คน ได้ตายตามไปเกิดในนรกด้วยและแบ่งหน้าที่ต่างๆ กัน แต่พระยมก็ยังมีกรรมติดตัวตามสนองอยู่ คือในระยะ ๒๔ นาฬิกา จะมีปีศาจมากรอกน้ำทองแดงลงไปในปาก ๓ ครั้งเสมอๆ ไปจนกว่าจะสิ้นกรรม และเมื่อสิ้นกรรมก็จะได้ไปเกิดเป็นท้าวสมันตราช

พระยมมีชายา ๑๓ นาง ล้วยเป็นธิดาของพระทักษะประชาบดี มีนามดังต่อไปนี้

๑. นางศรัทธา มีบุตรชื่อ กาม (ใคร่ป
๒. นางลักษมี มีบุตรชื่อ ทรรป (หยิ่ง)
๓. นางธฤติ มีบุตรชื่อ นิยม (ขีดขั้น)
๔. นางดุษฎี มีบุตรชื่อ สันโดษ (พอใจ)
๕. นางปุษฎ มีบุตรชื่ โลภ (อยากได้)
๖. นางเมธา มีบุตรชื่อ ศรุต (เรื่องที่สดับ)
๗. นางกิริยา มีบุตรชื่อ ทัณฑ์ (แก้ไข)
๘. นางพุทธิ มีบุตรชื่ โพธ (เข้าใจ)
๙. นางลัชชา มีบุตรชื่อ วินัย (มรรยาทดี)
๑๐. นางวปุ มีบุตรชื่อ พยัพสาย (ขยัน)
๑๑. นางศานติ มีบุตรชื่อ โลภ (อยากได้)
๑๒. นางสิทธิ มีบุตรชื่อ สุข (สบาย)
๑๓. นางเกียรติ มีบุตรชื่อ ยศ (ชื่อเสียง)

ตามคัมภีร์มหากาพย์ว่าพระยมยังมีบุตรเกิดแต่นางกุนตีมเหสีท้าวปานฑุอีกองค์หนึ่ง ชื่อ ยุธิษเฐียร เป็นโอรสองค์แรกในเหล่าปาณฑพทั้ง ๕ ต่อมาเมื่อทำสงครามมีชัยชนะแก่พวกโกรพแล้วได้เป็นราชาธิราชครองนครหัสดิน ทรงนามว่ามหาธรรมราชา ชาวอินเดียนับถือพระยุธิษเฐียรธรรมราชาว่าเป็นกษัตริย์นักปกครองในคัมภีร์นี้พรรณนารูปร่างพระยมเป็นที่น่าสะพรึงกลัวมาก คือหน้าตาดุร้าย รูปร่างใหญ่โต สีกายเลื่อมประภัสสร (สีเหมือนพระอาทิตย์แรกขึ้น) ใสอย่างแก้ว หรือนัยหนึ่งว่าสีเขียว นัยน์ตาวาว ทรงมงกุฎ นุ่งห่มสีแดงเลือด มีกระบือเป็นพาหนะ (กระบือนี้ในลิลิตโองการแช่งน้ำว่าชื่อ ทุณพี) ถือคทาใหญ่เรียกว่า กาลทัณฑ์ หรือ ยมทัณฑ์ มีนัยน์ตาเป็นอาวุธ เรียกว่า นยนาวุธ มีบ่วงสำหรับคล้องวิญญาณผู้ตาย เรียกว่า ยมบาศ วิมานล้วนไปด้วยทองแดงและเหล็ก และมักเขียนกันมี ๔ กร

มีเกร็ดเรื่องพระยมในปุราณะ (คำนี้ต้องหาโอกาสแทรกให้จนได้ละครับ เพราะกล่าวถึงหลายครั้งแล้ว) ว่าพระยมทะเลาะกับนางฉายา ซึ่งเป็นสาวใช้ของบิดาของพระยม พระยมโกรธเลยเตะนางฉายาเข้าให้ นางฉายาแม้จะเป็นสาวใช้ก็มีฤทธิ์เหมือนกัน เลยสาปพระยมให้เท้าเป็นแผลมีหนอนยั้วเยี้ย พระอาทิตย์รู้สึกสงสารพระยมมาก จึงเนรมิตไก่ตัวผู้ตัวหนึ่งให้ไปรักษา โดยให้ไก่จิกหนอนในแผลจนหนอนหมด แผลจึงหายเป็นปกติ และด้วยเหตุนี้แหละพระยมจึงได้มีชื่ออีกว่า ศีรฺณปาท แปลว่า เท้าเน่า

หน้าที่ของพระยมนั้นเป็นโลกบาลทิศทักษิณ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นที่สถิตของพระยมก็น่าจะเป็นสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิก สวรรค์ชั้นหนึ่งในฉกามาพจร ดังที่กล่าวไว้ในเรื่องจัตุโลกบาลแล้ว แต่ในไตรภูมินั้น พระยมนั้นมีที่อยู่เป็นเมืองใหญ่โตมาก อยู่ใต้แผ่นดินที่เราอยู่กันนี้ เรียกว่า ยมโลก หรือ ยมปุระ ก็คือเมืองนรกนั่นแหละ นรกนั้นมีหลายขุมนัก ที่สำคัญและใหญ่ๆ ก็ ๘ ขุม เรียงลำดับเป็นชั้นๆ คือ
๑. สัญชีพนรก
๒. กาลสูตรนรก
๓. สังฆาฎนรก
๔. โรรุพนรก
๕. มหาโรรุพนรก
๖. ดาปนรก
๗. มหาดาปนรก
๘. มหาอเวจีนรก

นรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมนี้มีนรกย่อยหรือนกบ่าวอีกมากจนนับไม่ถ้วน
เรื่องไตรภูมิพระร่วงไม่ได้พรรณนาความดุร้ายของนรกขุมใหญ่ไว้หรอก พรรณนาแต่ขุมย่อย เฉพาะขุมย่อยก็เหลือกินแล้ว คือมหาโหด ถ้าจะพรรณนาขุมใหญ่คงจะไม่รู้ว่าจะสรรหาอะไรที่มหาโหดมากกว่านี้ จะขอยกมาสักขุมนะครับ สยดสยองพิลึกละ

“ครั้นตายได้ไปเกิดในนรกอันชื่อเวตรณีนั้น ยมบาลอยู่ในเวตรณีนั้นเทียรย่อมถือไม้ค้อน มีดพร้า หอกดาบ หลาว แหลน เครื่องฆ่า เครื่องแทง เครื่องยิง เครื่องตีทั้งหลาย ฝูงนั้นย่อมเหล็กแดงและมีเปลวพุ่งขึ้นไปดังไฟลุก ดังนั้นบมิวายแล ยมบาลจึงถือเครื่องทั้งนั้นไล่แทงไลตีฝูงคนนรกด้วยสิ่งนั้น เขาก็เจ็บปวดเวทนานักหนาอดทนบมิได้เลย ในนรกนั้นมีแม่น้ำใหญ่อันชื่อว่าไพตรณีและน้ำนั้นเค็มนักหนา ครั้นว่าเขาแล่นหนีน้ำนั้นเล่า หวายเครือหวายดาษไปมา แลหวายนั้นมีหนามอันใหญ่เท่าจอบเทียรย่อมเหล็กแดงเป็นเปลวไฟลุกทุกเมื่อแล ลงน้ำนั้นก็ขาดดังท่านเอามีดกรดอันคมมาแล่มากันเขาทุกแห่ง แลเครือหวายเทียรย่อมขวากใหญ่ แลยาวย่อมเหล็กแดงลุกเป็นเปลวไฟไปไหม้ตัวเขา ดังไฟไหม้ต้นไม้ในกลางป่า ครั้นว่าตัวเขาตระหลอกตกลงหนามหวายนั้นลงไปยอกขวากเหล้กอันอยู่ใต้นั้น ตัวเขานั้นก็ขาดห้อย ณ ทุกแห่ง เมื่อขวากเหล็กนั้นยอกตัวเขาดังท่านเสียบปลานั้นแล บัดเดี๋ยวหนึ่งเปลวไฟไหม้ขาวขึ้นมาแล้ว ลุกขึ้นเป็นไฟไหม้ตนเขาหึงนานนักแล ตนเขานั้นสุกเน่าเปื่อยไปสิ้น ใต้ขวากเหล็กในน้ำเวตรณีนั้นมีใบบัวหลวงและใบบัวนั้นเทียรย่อมเหล็กเป็นคมรอบนั้นดังคมมีด และใบบัวนั้นเป็นเปลวลุกอยู่บมิดับเลยสักคาบ ครั้นว่าตนเขานั้นตระหลอดจากขวากเหล็กนั้นตกลงเหลือใบบัวเหล็กแดงนั้น ใบบัวเหล็กแดงอันคมนั้น ก็บาดขาดวิ่นทุกแห่งดังท่านกันขวางกันยาวนั้นไซร้ เขาตกอยู่ในใบบัวเหล็กแดงนั้นช้านานแล้วจึงตระหลอดตกลงไปในน้ำๆ นั้นเค็มหนักหนา แสบเนื้อแสบตัวเขาสาหัสดังปลาอันคนตีที่บนบกนั้น บัดเดี๋ยวนั้นแมน้ำนั้นก็กลายเป็นเปวไฟไหม้ตนเขานั้น ดูควันฟุ้งขึ้นทุกแห่งรุ่งเรืองเทียรย่อมเปลวไฟในพื้นแม่น้ำเวตรณีนั้นเทียรย่อมคมมีดหงายขึ้นทุกแห่งคมนักหนา เมื่อคนนรกนั้นร้อนด้วยเปลวไฟไหม้ดังนั้นเขาจึงคำนึงใฝ่ใจว่ามากูจะดำน้ำนี้ลงไปชะรอยจะพบน้ำเย็นภายใต้โพ้นและจะอยู่ได้แรงใจสะน้อยเขาจึงดำน้ำลงไปในพื้นน้ำนั้น จึงถูกคมมีดอันหลายอยู่ใต้น้ำนั้นตัวเขาก็ขาดทุกแห่งดังท่านแสร้งกันเขานั้นยิ่งแสนสาหัส…”

ครับ นี่เป็นแต่ขุมย่อยขุมหนึ่งนะครับ มีที่มหาโหดกว่านี้ก็มี อ้อ แทรกอีกนิดเถอะ เสฐียรโกเศศเขียนไว้ในเล่าเรื่องไตรภูมิพระร่วงว่า

“เพียงแต่สัตว์นรกขุมแรกก็มีอายุยืนได้ ๕๐๐ ปีเมืองนรก วัน ๑ กับคืน ๑ ของเมื่องนรกได้ ๙ ล้านปีของเมืองมนุษย์ ส่วนสัตว์นรกขุมอื่นที่อยู่ถัดไป มีอายุยืนนับทวีคูณจำนวนปีของนรกขุมแรก หรือสองเท่าตัวเป็นลำดับไปจนนับไม่ถ้วน เรื่องนับปีเดือนนรกเปรียบเทียบกับปีเมืองมนุษย์นี้ที่พูดติดปากกันในพวกชาวบ้าน มักพูดกล่าวว่า ๑๐๐ ปีเมืองมนุษย์เท่ากับวัน ๑ กับคืน ๑ ของเมืองสวรรค์ ๑๐๐ ปีเมืองสวรรค์เท่ากับ ๑ วัน ๑ คืนของเมืองนรก”

หันมาสู่เรื่องพระยมอีก เรื่องพระยมเกี่ยวข้อกับวรรณคดีไทยหลายเรื่อง แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่อง “สาวิตรี” ของ ร.๖ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ตามเค้าใน “ปติวรตามาหตฺมฺยบรรพ” ใน วนฺธรรม แห่งคัมภีร์มหาภารตะ คัมภีร์มหากาพย์ภารตะนับเป็นคัมภีร์ที่สำคัญคู่กับรามายณะมหาภารตะ ผู้รจนาคือฤาษีวยาสหรือวยาสกฤษณไทวปายนะ และถือกันเป็นคัมภีร์อิติหาส คือเป็นพงศาวดารของอินเดีย ชาวอินเดียถือกันว่า ใครได้ฟังได้อ่านจบได้กุศลแรง ตายไปแล้วได้ไปสวรรค์ เรื่องสาวิตรีเป็นเรื่องย่อยที่อยู่ในมหาภารตะ เป็นเรื่องที่ฤาษีพฤหทัศวะเป็นผู้เล่าให้กษัตริย์ปาณฑพฟัง ขอเล่าพอเป็นสังเขป

ท้าวอัศวบดีราชาแห่งแคว้นมัทรนคร ต้องทำพิธีพลีกรรมอยู่นานจนได้บุตรีชื่อสาวิตรี มีสิริโฉมงามมาก ต่อมาเธอเลือกคู่เอง และเลือกพระสัตยวาน โอรสท้าวทยุมัตเสน ซึ่งถูกแย่งราชสมบัติและพระเนตรเสียต้องหนีไปประทับในป่า พระสัตยวานนั้น “มีศักดิ์แม้พระอาทิตย์ มีปัญญาแม้นพระพฤหัสบดี มีความกล้าแม้นท้าวอมรินทร์ ความกรุณาแม้พระธรณี” อย่างไรก็ตามพระนารถฤาษีได้ทูลว่า พระสัตยวานจะสิ้นพระชนมายุภายใน ๑ ปี แต่นางสาวิตรีไม่ยอมเปลี่ยนใจ ในที่สุดก็อภิเษกกัน และครั้นถึงกาลที่พระสัตยวานจะสิ้นอายุ ด้วยความฉลาดและมีวาจาอันไพเราะของเธอจึงขอชีวิตพระสัตยวานต่อพระยมได้ วาจาอันไพเราะที่สาวิตรีทูลพระยมนั้นมีหลายตอนครับ และเธอก็ได้พรเป็นข้อๆ ผมขอคัดมาประกอบบางตอนครับ

“อนึ่งใกล้พระองค์ผู้ทรงคุณ    เป็นจอมบุญแท้จริงทุกสิ่งสรรพ์
การคบผู้ซื่อตรงทรงคุณธรรม์    ย่อมมีผลอนันต์อันเลิศดี
เสวนากับผู้ประพฤติธรรม    คือคบมิตรเลิศล้ำและเป็นศรี
หม่อมฉันชอบคนธรรมจารี    จึงสู้ลีลาตามเสด็จมา”
ตอนนี้เธอได้พรจากพระยมให้พระราชบิดาได้ครองราชย์ตามเดิม

“พรงองค์เป็นโอรสอาทิตย์ไซร้    จึงเรียกไววัสวัตบดีศรี
ประสาทธรรมสม่ำเสมอดี    จึงมีนามว่าธรรมราชา
อันผู้ใดทรงธรรมเที่ยงสถิต    ชนย่อมอยากเป็นมิตรเป็นนักหนา
ความใจดีมีจิตมากเมตตา    ย่อมแนะสัตว์นานาไว้วางใจ”
ตอนนี้เธอได้พร “โอรสเรืองฤทธิ์ถึงร้อยคน”

“การดำเนินร่วมทางอย่างเป็นมิตร        กับผู้สุจริตย่อมเป็นศรี
พระองค์เป็นยอดธรรมจารี        หม่อมฉันนี้จึงตามเสด็จจร
เสวนาบัณฑิตเป็นกิจชอบ        ประกอบด้วยกุศลสโมสร
อันธรรมจารีศรีสุนทร            นรากรได้พึ่งจึงเย็นใจ”
พอพระยมทรงอนุญาตให้ขอพรนางก็ว่า
“อ้าพระผู้ประสาทศรีสวัสดิ์        พรพิพัฒน์ประทานแก่ตูข้า
ไหนจะได้สมถวิลจินตนา        แม้ไร้พระภรรดาผู้ยาใจ
ฉะนั้นจึงจำต้องขอประทาน        ชีวิตพระสัตยวานคืนขึ้นใหม่
ดำรงพระวาทีที่ลั่นไว้            สมที่ได้เป็นธรรมราชา”
ครับ ก็ได้ชีวิตสามีคืนมาตอนนี้ละครับ เป็นอันว่าจบเรื่องพระยมก็แล้วกัน

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

พระพุธเทพเจ้า

พระพุธ

พุธ, พระ
พระพุธถือเป็นเทพเจ้าแห่งวาจาและพาณิชย์ แต่เรื่องกำเนิดพระพุธก็ยุ่งยากอย่างเดียวกับเทพองค์อื่นๆ นั่นแหละ คือบางตำนานก็ว่าเป็นโอรสของ พระจันทร์ กับนางดารา ซึ่งได้เล่าแล้วตอนว่าด้วยพระพฤหัสบดี บางตำนานก็ว่าเป็นบุตรของ พระจันทร์ เกิดกับนาง โรหิณี ซึ่งเป็นชายาคนโปรดของพระจันทร์เอง ดังที่ได้เล่าไว้ในเรื่องพระจันทร์แล้ว บางตำนานว่าพระอิศวรเป็นเจ้าสร้างพระพุธขึ้นจากช้าง ๑๗ ตัว เอามาป่นแล้วประพรมด้วยน้ำอมฤต ก็บังเกิดเป็นองค์เทพบุตรคือพระพุธ สีกายเป็นสีแก้วมรกต บางทีก็ว่าสีโมรา มีวิมานเป็นสีมณี และมีช้างเป็นพาหนะ

ในหนังสือ เฉลิมไตรภพ ซึ่งเป็นหนังสือหาอ่านยากมากครับ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
สั่งสุวกำเลือกสรร    สิบเจ็ดคชพันธุ์
มาพลันยังโรงพิธี
เลือกสรรฉัททันต์อันดี        เชื้อวงศ์พงพี
นุภาพเรี่ยวแรงแหงหาญ
ครบทั้งสิบเจ็ดคชสาร        ถวายองค์ทรงญาณ
โองการพระเวทศักดา
ลมกรดพัดต้องกายา        สิบเจ็ดคชา
นั้นแหลกละเอียดอณู
ห่อผ้าสีแดงงามตรู        น้ำทิพย์พรมพรู
อณูเป็นองค์เทพา
ทรงเครื่องรุ่งเรืองกายา        สีแก้วโมรา
นามว่าพระพุธพุทโฒ

กล่าวกันว่า ชนชาติอริยกะเป็นพวกที่สนใจในเรื่องดาราศาสตร์มาก เดิมได้จัดดาวเคราะห์เป็น ๕ เรียกว่า ปัญจนาคา คือ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ ต่อมาจัด พระอาทิตย์ พระจันทร์ รวมเข้าไปด้วย ก็รวมเป็น ๗ เรียกว่า “สัปตนาคา” แล้วจึงเอามาตั้งเป็นนามวัน คือเป็นวันอาทิตย์ วันจันทร์ ฯลฯ

ส่วนฤดูกาลนั้น พวกอริยกะจัดเป็น ๖ ฤดู แล้วก็มอบหน้าที่ให้ดาวพระเคราะห์มีหน้าที่รักษา กล่าวคือ
พระจันทร์  รักษาฤดูศารท (ใบไม้ร่วง)
พระอังคาร  รักษาฤดูวรรษ (ฝน)
พระพุธ  รักษาฤดูเหมันต์ (หนาว)
พระพฤหัสบดี  รักษาฤดูศิศิระ (หนาว)
พระศุกร์  รักษาฤดูครีษมะ (ร้อน)
พระเสาร์  รักษาฤดูวสันต์ (ดอกไม้ผลิ)

ข้างต้นนี้ ผมเก็บความจากหนังสือ พจนะ-สารานุกรม ของ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร แต่ในหนังสือ เทวกำเนิด ของ พระยาสจจาภิรมย์ ว่าต่างไปอีก คือเป็นดังนี้

พระจันทร์  รักษาฤดูวรรษ (ฝน)
พระอังคาร  รักษาฤดูครีษมะ (ร้อน)
พระพุธ  รักษาฤดูศารท (ใบไม้ร่วง)
พระพฤหัสบดี  รักษาฤดูเหมันต์ (หนาวต้น)
พระศุกร์ รักษาฤดูวสันต์ (ใบไม้ผลิ)
พระเสาร์  รักษาฤดูศิศิระ (หนาวปลาย)

ก็ออกจะแตกต่างกันครับ ไม่รู้ว่าอะไรจะถูกแน่หรือต่างกระแสต่างตำนานต่างคัมภีร์กันก็ไม่รู้ได้ ความจริงในอินเดียนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงอธิบายไว้ใน อภิธานศกุนตลา ไว้ว่ามีเพียง ๔ ฤดู เท่านั้น คือมีความตอนหนึ่งว่า

วสันต์-ฤดูดอกไม้ผลิ ตรงกับที่อังกฤษเรียกว่าสปริง (Spring) ในเมืองเรามักเข้าใจผิดกันเสียว่าเป็นฤดูฝน ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอันเกิดจากความรู้น้อย รู้จักฤดูเพียงสาม คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว นามแห่งฤดูทั้ง ๓ นี้เรียกตามสันสกฤต คือ ๑. ครีษมะ=ร้อน ๒. วรรษา=ฝน ๓. เหมันต์=หนาว แต่ข้างมัธยมประเทศและประเทศที่เหนือๆ มักแบ่งฤดูเป็น ๔ คือ ๑. วสันต์=ใบไม้ผลิ ๒. ครีษมะ=ร้อน ๓. ศารท=ใบไม้ร่วง ๔. เหมันต์=หนาว

เรื่องพระพุทปรากฎในคัมภีร์รามยณะเหมือนกัน กล่าวคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “บ่อเกิดรามเกียรติ์” อยู่ในอุตรกัณฑ์ และ พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ์) นำมาแต่งเป็นเรื่อง อิลราชคำฉันท์ ซึ่งถือเป็นวรรณคดีเรื่องหนึ่ง ผมก็เลยขอเล่าเรื่องย่อของเรื่องนี้เสียเลย

ขอแถลงเรื่องพระนารายณ์อวตารลงเป้นพระรามจันทร์ เมื่อทรงปราบเหล่าพาลเสร็จแล้ว ประชาชนแห่งนครศรีอยุธยาอันเป็นนครหลวงก็มีแต่ความร่มเย็น พระองค์ทรงดำริจะสมโภชพระนครด้วยพิธีราชสูยะ พระภรตผู้อนุชาทรงทูลคัดค้านพระลักษณ์ทรงเสริมว่า ควรประกอบพิธีอัศวเมธ และทรงอ้างเรื่องราวว่า เมือพระอินทร์ทรงปราบพฤตาสูร ก็ทรงประกอบพิธีอัศวเมธนี้ พระรามจันทร์ทรงเห็นชอบด้วยและทรงเล่าเรื่องท้าวอิลราชให้พระอนุชาได้สดับ

ยังมีกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าท้าวอิลราช ทรงครองเมืองพลหิทรงเป็นโอรสพระกรรทมปชาบดีพรหมบุตร ท้าวอิลราชเสด็จประพาสป่า ทรงเพลิดเพลินกับธรรมชาติจนหลงเข้าไปที่ลับเฉพาะของพระอิศวรกับพระอุมา ซึ่งขณะนั้นพระอิศวรกับพระอุมาทรงประทับอยู่ และพระอิศวรทรงหยอกล้อพระอุมา โดยทรงจำแลงพระกายเป็นหญิง ด้วยอำนาจพระเวทของพระองค์ทำให้บรรดาสัตว์ต่างๆ ในบริเวณนั้นกลายเป็นตัวเมียหมด ท้าวอิลราชกลายเป็นนางอิลา มีความตกใจเป็นอันมาก ได้เสด็จเข้าเฝ้าพระอิศวรเพื่อขออภัยโทษ พระอิศวรกริ้ว พระอุมาทรงมีพระเมตตาผ่อนผันโทษ โดยให้เป็นชาย ๑ เดือน หญิง ๑ เดือน สลับกันไป และขณะที่เป็นชายก็ให้ลืมเรื่องราวตอนที่เป็นหญิง ขณะที่เป็นหญิงก็ลืมเรื่องราวที่เป็นชาย ส่วนที่เป็นหญิงก็มีความงามเป็นเลิศ

ต่อมา นางอิลาและคณานางทั้งหลายหลงทางไปยังที่พระพุธบำเพ็ยพรตอยู่ พระพุธเห็นความงามของนางอิลาตบะก็แตก พานางไปในอาศรมและได้นางอิลาเป็นชายา ซึ่งตอนนี้นางอิลาก็สลับเพศเดือนต่อเดือน แต่ไม่ทราบเรื่องราวอะไร จนนางอิลาตั้งครรภ์ และมีโอรสชื่อท้าวปุรุรพ ต่อมาพระพุธได้ช่วยกับบรรดาฤาษีชีพราหมณ์ประกอบพิธีอัศวเมธล้างบาปของนางอิลา พระอิศวรพอพระทัยทรงประทานโทษให้นางอิลาก็เป็นท้าวอิลราชตามเดิม ต่อมาท้าวอิลราชทรงมอบเมืองพลหิให้ท้าวกัสพินท์โอรสองค์ใหญ่ปกครอง และสร้างเมืองปฏิฐานหรือเมืองประดิษฐานให้ท้าวปุรุรพซึ่งเป็นโอรสของพระองค์ขณะเป็นนางอิลาเกิดกับพระพุธปกครอง พระปุรุรพนับเป็นปฐมกษัตริย์แห่งจันทรวงศ์ เมืองประดิษฐานนี้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมนา ตรงข้ามกับเมืองอาลาฮาบัดในปัจจุบัน ตามตำนานว่าเมืองนี้ต่อมาได้แยกเป็นสองวงศ์ อีกวงศืหนึ่งไปครองนครใหม่ชื่อหัสดินปุระ และเกิดแย่งอำนาจกัน เกิดสงครามใหญ่โตเรียกว่ามหาภารตยุทธ

ครับ เห็นจะต้องแทรกศัพท์อะไรไว้หน่อย เพราะในวรรณคดีไทยมีกล่าวอยู่หลายเรื่อง คือ พิธีราชสูยะ และ พิธีอัศวเมธ

พิธีราชสูยะ  มีอธิบายในหนังสือเรื่องพระศุนหเศปของ ร.๖ ดังนี้ พิธีราชสูยะนั้นใช้สำหรับงานเถลิงรัชแห่งพระราชาธิบดี ผู้ที่ได้ทรงมีชัยชำนะฤาได้ทรงแผ่อานุภาพโดยอาการอื่น จนได้เป็นใหญ่เหนือบรรดาพระราชาทั้งปวง คือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พิธีนี้ก็คล้ายพิธีราชาภิเษก ซึ่งพระราชากระทำทุกๆ องค์ แต่เป็นพิธีใหญ่กว่า และมักจะมีงานอยู่ปีหนึ่งเต็ม บางทีก็หลายปีกว่าจะเสร็จการ ในระหว่างนั้นมักกระทำพลีกรรมและยัญพิธีต่างๆ ซึ่งเป็นลัทธิฤาประเพณีสำหรับชนบทต่างๆ ที่จะได้มารวมอยู่ในราชอาณาจักรแห่งพระราชาธิบดีผู้กระทำพิธีราชสูยะนั้น และชนต่างพรรณต่างภาก็ได้มีโอกาสมาพบปะสมาคมกันในระหว่างเวลาที่มาช่วยงาน

พิธีอัศวเมธ  มีอธิบายทั้งในเรื่องศุนหเศป บ่อเกิดรามเกียรติ์และเรื่องลิลิตนารายณ์สิบปาง ของ ร. ๖ จะขอเก็บความจากเรื่องหลังเท่านั้น พิธีอัศวเมธเป็นพิธีสำคัญอันมีกำหนดไว้ว่า ให้ทำเพื่อขอพรพระเป็นเจ้าในเมื่อปรารถนาอะไรสำคัญมากๆ พิธีอัศวเมธนี้เฉพาะแต่พระราชาธิบดีจึงจะทำได้ และในโบราณกาลสมัยเป็นพิธีขอลูกเท่านั้น แต่ต่อๆ มากลายเป็นพิธีแผ่อำนาจไป เริ่มต้นลงมือทำพิธีเรียกว่า “อัคนิษโฎม” คือพิธีบูชาไฟ และฉลองม้าตัวสำคัญ แล้วปล่อยม้านั้นให้เดินทางไปในแคว้นต่างๆ มีกองทัพตามไปด้วย เมื่อม้าไปถึงแห่งใด ผู้ครองแว่นแคว้นนั้นต้องกระทำการเคารถ หรือมิฉะนั้นก็ต้องสู้รบกับกองทัพที่ตามม้านั้นไป เมื่อม้าได้เที่ยวครบหนึ่งปีแล้วจึงพากลับพระนคร และพระราชาผู้เป็นเจ้าของม้าทำพิธีฉลองเป็นการใหญ่ แล้วฆ่าม้าสำคัญนั้นบูชายัญ พระอัครมเหสีของพระราชาต้องเป็นผู้ลงมือฆ่าม้า แล้วต้องเผาศพม้าอยู่ตลอดคืน พร้อมด้วยมเหสีรองและพระสนมกำลัล เช้าขึ้นจึงสรงชำระพระกายแล้วขึ้นเฝ้าพระราชสามี ทางไสยศาสตร์นิยมกันว่า ถ้าพระราชาองค์ใดกระทำพิธีอัศวเมธได้ร้อยครั้งจักได้เป็นพระอินทร์ ครอบครองเทวดาแลมนุษย์ทั่วไป

ครับ ผมอดแทรกเรื่องวรรณคดีเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อผู้อ่านที่กำลังเรียนอยู่ครับ ได้จังหวะเหมาะตอนใดผมก็จะแทรกละ คงไม่เป็นไรนักหนาไม่ใช่หรือ

เอาละ หันมาเรื่องพระพุธต่อ พระพุธมีลักษณะเป็นรูปฤาษี มีสีกายเขียวอย่างแก้วมรกต มีรัศมีเป็นสีขาวดุจปรอท มือข้างหนึ่งถือขอช้าง และมีช้างเป็นพาหนะ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

กำเนิดพระวายุ

พระพาย

พายุ, พระ
พระวายุ หรือพายุ ก็คือพระพายหรือลมนั่นเอง พระพายุนับเป็นเทพเจ้าดั้งเดิมของพวกมิลักขะ คือชนชาติถิ่นเดิมของอินเดีย และบางตำนานก็เรียกเป็นมารุต อนิล คันธวหะ และปวันวาตก็มี

การกำเนิดของพระวายุก็แปลก คือนางทิติมเหสีฝ่ายซ้ายของพระกัศยปเทพบิดร ซึ่งเป็นแม่ของพวกอสูรแทตย์ที่แพ้เทวดาและพระอินทร์เมื่อคราวกวนน้ำอมฤต (เรื่องนี้เล่าไว้ในเรื่องพระจันทร์ไปแล้วเล็กน้อย) นางทิตินึกแค้นใจว่ามีลูกก็สู้เทวดาไม่ได้ ได้ไปเฝ้าพระสวามี ทูลวิงวอนขอลูกชายที่เก่งๆ เพื่อจะได้เป็นศัตรูและรบชนะพระอินทร์และเทวดา พระกัศยปแนะให้นางไปบำเพ็ญตบะ ๑๐๐ ปี นางทิติมีความเพียรแรงกล้า ได้ไปยังตำบลกุศปลพแล้วก็ตั้งใจบำเพ็ญตบะขอลูก พระอินทร์รู้เรื่องราวก็ชักจะเกรงอยู่เหมือนกันจึงดำเนินอุบายโดยไปปรนนิบัติรับใช้นางทิติ เอาใจใส่ช่วยเหลือทุกอย่างจนนางทิติรักใคร่ บอกว่าลูกที่จะคลอดนั้นจะให้เป็นมิตรกับพระอินทร์แต่พระอินทร์ก็ไม่ค่อยไว้ใจนัก คอยจังหวะอยู่ ครั้นเมื่อนางทิติเผลอนอนผิดทิศ พระอินทร์ได้โอกาสก็สำแดงฤทธิ์เข้าไปในครรภ์ของนาง แล้วเอาวัชระตัดลูกของนางเป็นเจ็ดภาค ครั้นนางตื่นขึ้นรู้สึกผิดปรกติในท้อง เลยมอบลูกให้เป็นบริวารของพระอินทร์ บางตำนานก็บอกว่าเป็นสหายกับพระอินทร์ แต่อย่างไรก็ตามพระอินทร์ได้ให้บุตรของนางทิตินี้ให้มีหน้าที่เกี่ยวกับลมและได้ชื่อว่าพระมารุต บุตรทั้ง ๗ ของนางทิตินี้มีดังนี้
๑. เป็นลมตะวันออก
๒. เป็นลมตะวันตก
๓. เป็นลมเหนือ
๔. เป็นลมใต้
๕. เป็นลมพัดในเทวโลก
๖. เป็นลมพัดในพรหมโลก
๗. เป็นทิพยวายุ คือลมในอากาศ

พระพายุจัดเป็นโลกบาลทิศพายัพ และเป็นเทพแห่งลมนั่นเอง มีเรื่องเล่าว่าพระนารถยุแหย่ให้พระวายุพัดยอดเขาพระสุเมรุให้หัก พระวายุก็หูเบาทำตาม พัดอยู่หลายครั้งแต่หาสำเร็จไม่ ทั้งนี้เพราะพระยาครุฑเอาปีกกั้นไว้ ต่อมาก็ยุใหม่ บอกว่าคอยพัดในเวลาที่พระยาครุฑไม่ยู่ พอได้จังหวะครุฑไม่อยู่พระพายุก็พัดจนยอดเขาพระสุเมรุหักและหอบเอาไปทิ้งทะเล ซึ่งก็คือเกาะลังกา (ซีลอน) ในปัจจุบันนี้นั่นเอง เกาะนี้ละครับที่สุนทรภู่เกณฑ์ให้เป็นเมืองฝรั่งในเรื่องพระอภัยมณีละ

ในหนังสือ นารายณ์สิบปาง ฉบับ คุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ มีเรื่องเล่าว่าอนันตนาคราชต้องการอวดฤทธิ์เดชท้าทายลองฤทธิ์กับเทวดาทั้งหลาย พระพายต้องการประลองยุทธด้วย พระอิศวรมีเทวบัญชาอนุญาตเพราะทรงรู้ด้วยทิพยญาณว่าอะไรจะเกิดอะไรจะเป็น พระอนันตนาคราชแผลงฤทธิ์ใช้กำลังภายในเอากายพัดเขาพระสุเมรุ ตั้งแต่พื้นดินไปจนถึงยอดได้ถึง ๔ หมื่นโยชน์ แล้วเลิกพังพานไว้คอยรับยุทธวิธีของพระพาย โดยท้าว่าให้ลองพัดให้เขาพระสุเมรุหักสักทีเถอะน่า พระพายก็พัดอย่างแรง พระอนันตนาคราชก็อ้าปากออกกลืนลมหมด เขาพระสุเมรุ ไม่สะดุ้งสะเทือนสักนิด พระพายชักมีน้ำโห บันดาลให้เกิดลมพายุใหญ่แรงขึ้นไปอีก ฝ่ายอนันตนาคราชก็ใช้กำลังภายในเนรมิตให้กายใหญ่โตและยาวขึ้นไปอีก แล้วก็กลืนลมจนเกลี้ยง ไม่ว่าจะพัดมาอย่างไรเพื่อนก็เนรมิตรเศียรให้โตคอยกลืนลมเล่น ข้างฝ่ายพระพายุยิ่งโกรธาใหญ่ จึงบันดาลเอาลมหายใจที่เทวดามนุษย์สัตว์ใช้หายใจเข้าออกเก็บตุนเอาไว้จนหมด เพื่อจะได้พัดให้เขาพระสุเมรุหักให้ได้ เรื่องของเรื่องเทวดาก็ลำบากซิครับ เพราะไม่มีลมหายใจนี่ จึงชวนกันไปฟ้องพระอิศวร บอกว่าหายใจไม่ทั่วท้อง จะแย่ไปตามๆ กันแล้ว พระอิศวรจึงต้องไปห้ามมีเทวบัญชาว่าท่านทั้งสองได้ประลองเชิงยุทธจักรกันเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ทั่วพิภพก็ได้เห็นฤทธิ์กันทั่วแล้ว เสมอกันเถอะ อนันตนาคราชน่ะคายลมออกจากปากเสีย เทวดาจะไม่มีลมหายใจแล้ว พระอนันตนาคราชก็คายลม ลมก็พลุ่งออกจากปากแต่พัดแรงไปหน่อย กระทบเขาพระสุเมรุหักแตกกระจายเป็นดินไปเลย นัยว่าราบดุจหน้ากลอง มีปริมณฑลกว้างข้างละหมื่นโยชน์ บรรดาพระเป็นเจ้าและเหล่าเทวดาก็พากันแซ่ซ้องสรรเสริญสองเจ้ายุทธจักรนั่นแล

ในเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ พระพายเป็นพ่อของหนุมาน โดยพระอิศวรมีเทวบัญชาให้พระพายนำเทพศัสตราไปซัดในปากนางสวาหะ ซึ่งถูกนางอัจนาผู้เป็นมารดาสาปให้ยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลมอยู่บนยอดเขาจักรวาล เพื่อจะได้เกิดบุตรเป็นทหารเอกของพระราม เทพศัสตราวุธนี้ก็คือ คทาเพชร ตรีเพชร และจักรแก้ว ทั้งกำชับอีกว่า “ตัวท่านเป็นบิดร วานรในครรภ์นางเทวี” ในรามเกียรติ์มีว่า

มาจะกล่าวบทไป     ถึงพระอิศาวรนาถา
แจ้งว่านวลนางอัจนา    โกรธาสาปราชบุตรไป
ให้ยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลม    ยอดพนมจักรวาลเนินไศล
กูจะให้มีบุตรวุฒิไกร    จะได้เป็นทหารพระจักรา

คิดแล้วจึงแบ่งกำลัง     สั่งองค์พระพายแกล้วกล้า
เอาเทพอาวุธอันศักดา        ทั้งกำลังกายาของเรานี้
ไปซัดเข้าปากสวาหะ        จะเกิดบุตรเป็นกระบี่ศรี
อันคทาเพชรเรืองฤทธี        มีอานุภาพเกรียงไกร
ให้เป็นสันหลังตลอดทาง    จึงจะเดินทางตลอดได้
อันตรีเพชรสุรกานต์ชาญชัย        ให้เป็นกายกรบาทา
จักรแก้วอันเรืองฤทธิรอน        เป็นเศียรวานรแกล้วกล้า
อาวุธทั้งสามศักดา            มหิมาประกอบเป็นอินทรีย์
มาตรแม้นจะล้างศัตรู            ทั้งหมู่อสุรศักดิ์ยักษี
ให้ชักเอาตรีเพชรฤทธี            ที่อกกระบี่ออกรอนราญ
แล้วดูป้องกันอันตราย            อย่าให้ใครกล้ำกรายดวงสมร
ตัวท่านนั้นเป็นบิดร            วานรในครรภ์นางเทวี

เมื่อหนุมานเกิดก็สำแดงฤทธิ์ทันที คือ
ลอยอยู่ตรงพักตร์ชนนี        รัศมีโชติช่วงในเวหา
มีกุณพลขนเพชรอลงการ์    เขี้ยวแก้วแววฟ้ามาลัย
หาวเป็นดาวเดือนรวี        แปดกรสี่หน้าสูงใหญ่
สำแดงแผลงฤทธิ์เกรียงไกร    แล้วลงมาไหว้พระมารดา
ทั้งองค์พระพายเรืองเดช    สำคัญว่าปิตุเรศนาถา
ก็เข้าอิงแอบแนบกายา        วานรชื่นชมยินดี

เรื่องราวหนุมานนั้นมีแตกต่างกันหลายกระแสนัก ในหนังสือ “บ่อเกิดรามเกียรติ์” ของ ร.๖ เล่าเรื่องหนุมานต่างไปจากข้างต้น คือมีความดังนี้

“กำเนิดและประวัติหนุมาน เป็นบุตรนางอัญชนา มเหสีท้าว เกศรีกปิราช ผู้ครอบครองสำนักอยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุ แต่พ่อจริงของหนุมานคือพระพาย นางอัญชนาครรภ์แก่แล้วไปคลอดทิ้งไว้ที่ในป่า ทารกนั้นหิว เป็นพระอาทิตย์คิดว่าผลไม้ก็เหาะขึ้นไปจะหยิบกิน พระพายก็ช่วยส่งและช่วยพัดระบายไว้มิให้ร้อน เผอิญวันนี้นพระราหูก็กำลังพยายามจะจับพระอาทิตย์ พอหนุมานเหาะขึ้นไปถึงรถพระอาทิตย์ พอหนุมานเหาะขึ้นไปถึงรถพระอาทิตย์ พระราหูก็ปล่อยพระอาทิตย์แล้วไปฟ้องพระอินทร์ พระอินทร์ก็ทรงช้างเอราวัณออกไปดูเหตุการณ์ พระราหูนำหน้าไป ฝ่ายหนุมานเห็นพระราหูก็ผละจากพระอาทิตย์โดยไปจับพระราหู พระราหูกลัวจึงหนีไปแอบหลังพระอินทร์ หนุมานเห็นช้างเอราวัณสำคัญว่าเป็นผลไม้ลูกใหญ่ จึงตรงเข้าไปจะจับกิน พระอินทร์จึงตีหนุมานด้วยวัชระตกลงยังพื้นดินตรงหัว จึงได้นามว่า หนุมาน ฝ่ายพระพายมีความเคือง จึงอุ้มหนุมานเข้าไปในถ้ำ และพระพายเองก็อยู่เสียในนั้น ไม่พัดไปมา บรรดาเทวดา มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงก็พากันเดือดร้อนทั่วไปจนพระพรหมต้องไปวิงวอนพระพายจึงยินยอมออกจากถ้ำ”

เรื่องรามเกียรติ์ที่เข้ามาในเมืองไทยนั้นมีหลายกระแสนักครับ ใครต้องการทราบก็อ่านหนังสือบ่อเกิดรามเกียรติ์ของ ร.๖ อุปกรณ์รามเกียรติ์ ของเสฐียรโกเศษนาคะประทีปดูก็แล้วกัน ในเมืองอินเดียนั้นนับถือหนุมานมากกว่าพระลักษณ์เสียอีก ในหนังสือ อุปกรณ์รามเกียรติ์ ว่าไว้ดังนี้

“แต่ไหนแต่ไรแล้ว ลิงเป็นสัตว์ที่ลางชาติในสมัยโบราณนับถือบูชา ถ้ากล่าวโดยเฉพาะอินเดีย การนับถือลิงมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ ชาติธเบตเองยังนับถือว่าชาติของตนสืบมาจากลิง”

“เหตุไรอินเดียจึงนับถือลิงว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ และมีศาลไว้ทำพลีบูชาโดยเฉพาะ เห็นจะเป็นเพราะในชั้นเดิม ซึ่งคงไม่เนื่องมาจากเหตุที่ลิงเคยเป็นทหารพระรามจะถือว่าลิงมีลักษณะคล้ายคลึงกับมนุษย์มาก ต่อมาสมัยเมื่อมีรามายณะขึ้น หนุมานได้เป็นทหารเอกของพระราม การนับถือลิงจึงยิ่งแน่นแฟ้น จนมีศาลหนุมานนับจำนวนได้ร้อยๆ มีอยู่ทั่วไปในอินเดีย ทำไมจึงบูชาแต่หนุมาน ส่วนพระภรต พระลักษณ์และตัวสำคัญอื่นๆ ในรามายณะจึงไม่มีผู้นิยม ทั้งนี้จะต้องสันนิษฐานว่า การนับถือหนุมานคงเนื่องมาจากการนับถือบูชาลิงซึ่งมีมาแล้วแต่กาลก่อน เมื่อเกิดรามายณะขึ้นจึงมีการนับถือบูชาหนุมานฟื้นความนิยมเรื่องนับถือบูชาลิง เป็นเหตุให้ลัทธิต่างๆ เพียรเอาหนุมานไปอยู่ในนิการของตน”

กล่าวถึงหนุมานลูกพระพายเสียเพลิน ก็เห็นสรุปได้เป็นการจบเรื่องนี้ ลักษณะของพระพายมีสีกายเป็นสีขาว เสื้อทรงสีน้ำเงิน มี ๔ กร กรขวาถือลูกศร กรซ้ายถือธงทรงมงกุฎ มีกวางเป็นพาหนะ หรือบางทีมีรถเป็นแก้ว ใช้เทียมด้วยม้าสีแดงหรือม่วง

ขอเติมกลอนจากวรรณคดีเรื่องกากี แสดงบุคลิก เอกลักษณ์ของเทพทิ้งท้ายอีกที ไพเราะมากครับ ตอนท้าวพรหมทัตครวญถึงกากี

“นิเวสน์วังตั้งเที่ยวตระหลบจบ    มิได้พบนิ่มน้องสนองหน้า
ฤาอิศเรศประเวศทรงอสุภา        ลักสุดาเหินเหาะไปหิมพานต์
ฤาจักรกฤษณ์ฤทธิรงค์ทรงครุฑ    มาลักนุชพี่ไปร่วมภิรมย์สมาน
ฤาธาดาทรงมหาหงส์ทะยาน    ลักสมรไปสมานพิมานพรหม
ฤาอินทร์องค์ทรงพระยาไอยเรศ    พาดวงเนตรพี่ไปดาวดึงส์สม
ฤาสุริยงค์ทรงรถอันลอยลม        มาลอบชมกลิ่นแก้วแล้วพาจร
ฤาพระเพลิงฤทธิรงค์ทรงแรด    มาเวียนแวดพาน้องไปสมสมร
ฤาพระพายชายทรงอัสดร        มาอุ้มองค์บังอรแอบอุราไป
ฤาครุฑาวาสุกรีวิทเยศ            มาโลมลวงดวงเนตรไปฤาไฉน
เสียดายเอ๋ยมิได้เคยระคายไกล    เวรใดจึงคลาดพี่เคล้าคลึง”

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

เรื่องราวของพระพฤหัสบดี

พระพฤหัสบดี

พฤหัสบดี, พระ
ดาวพฤหัสบดีตามตำราโหราศาสตร์ นับเป็นดาวพระเคราะห์ที่ใหญ่รองจากพระอาทิตย์ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘๖,๐๐๐ ไมล์ มีเนื้อที่ ๒๔,๕๗๑,๔๘๐,๐๐๐ ตารางไมล์ ดาวพระเคราะห์นี้มีดังนี้ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์ เกตุ และเพราะดาวพฤหัสบดีเป็นดาวที่ใหญ่อย่างว่านั่นแหละ นิยายกรีกจึงจัดให้เป็นเทพสูงสุดเหมือนพระอิศวรของพราหมณ์ มีนามกรว่า ซิวส์หรือซีอุส Zeus ส่วนทางพราหมณ์ถือว่าเป็นครู วันพฤหัสบดีจึงเรียกว่า คุรุวาร

นักวิชาการทางศาสนาเช่นหลวงวิจิตรวาทการ สรุปการแบ่งสมัยศาสนาพราหมณ์เป็น ๔ สมัย คือ สมัยอริยกะ สมัยพระเวท สมัยพราหมณะ และ สมัยฮินดู พระพฤหัสบดีนี้บางทีก็ว่าเป็นฤาษี บางทีก็ว่าเป็นเทวดา และทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการของพระอินทร์มาตั้งแต่สมัยอริยกะ ซึ่งสมัยนั้นพระอินทร์ใหญ่มาก ยังไม่เกิดพระเป็นเจ้าทั้งสาม มาในสมัยพระเวท พระพฤหัสบดีได้รับยกย่องมากขึ้น ได้เป็นทูตของสวรรค์ นำความดีความชอบของมนุษย์ไปแจ้งแก่สวรรค์ สมัยพราหมณะก็ได้เป็นอาจารย์ของเทพเจ้าทั้งหลาย ในสมัยฮินดูพระพฤหัสบดีก็ยังคงรักษาการในตำแหน่งทางวิชาการอีกนั่นแหละ

บางกระแสท่านว่าพระพฤหัสบดีเป็นผู้ประกอบพิธีของเทพเหมือนกับพระอัคนี พระพฤหัสบดีได้รับยกย่องให้เป็นปุโรหิต (ผู้ประกอบพิธีในบ้าน) พราหมณ์ (ผู้สวดมนต์) และพรหม (การสวดหรือความภักดี) เป็นผู้นำเครื่องสังเวยไปให้แก่เทพ เป็นผู้สวดและมาร่วมในการสวดมนต์ของมนุษย์ด้วย และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ได้นามว่า “คณบดี” คือหัวหน้าของกลุ่มซึ่งครั้งหนึ่งเป็นฉายาของพระอินทร์และพระคเณศ พระพฤหัสบดียังเป็นราชาแห่งการสวดและบันดาลใจให้เกิดบทสวดมนต์สดุดีเทพ ดังนั้นจึงเป็นผู้เกี่ยวข้องกับมนุษย์ โดยถือกันอีกว่าเป็นเทพแห่งการพูดและปัญญา หรือ วาจบดี อีกด้วย ตอนนี้ดูจะสับสนอยู่เหมือนกัน พระพุธนั้นก็ถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งวาจาและพาณิชย์ เป็นผู้มีความฉลาดและรอบรู้ และก็คล้ายกับพระพุธ (Hermes หรือ Mercury) ของเทพนิยายกรีก ซึ่งจัดเป็นเทพแห่งการขโมยและวาทศิลป์

พระพฤหัสบดีเป็นโอรสของ พระอังคีรสพรหมบุตร กับ นางสมปฤดี (สติ) แต่ตามตำนานพระเคราะห์ว่า พระอิศวรได้สร้างพระพฤหัสบดีขึ้นด้วยฤาษี ๑๙ ตน ด้วยการร่ายพระเวทให้กายฤาษี ๑๙ ตนนั้นละเอียด แล้วเอาผ้าห่อผงนั้นประพรมด้วยน้ำอมฤต จึงได้บังเกิดเป็นพระพฤหัสบดี มีวิมานเป็นสีบุศราคัม และกวางทองเป็นพาหนะ

พระพฤหัสบดีมีชายาสองพระองค์ คือ นาง ดารา มีบุตรคือ พระพุธ และนาง มมตา มีบุตรมีนามว่า พระภรัทราชมุนี ในรามเกียรติ์มีเรื่องว่าทหารของพระรามชื่อตาระ ก็เป็นบุตรของพระพฤหัสบดี

เรื่องชายาของพระพฤหัสบดีที่ชื่อดารานั้น มีเรื่องเล่าสนุกสนานมาก เกี่ยวข้องกับพระจันทร์ ซึ่งก็ได้เล่าไว้ในเรื่องพระจันทร์แล้ว ในที่นี้จะเล่าย่อและขยายความบางตอนที่ไม่ได้กล่าวไว้ในตอนนั้น เรื่องมีอยู่ว่า พระจันทร์ได้ลักเอานางดาราไปเป็นเมีย จนเป็นเหตุให้เกิดสงครามใหญ่โต ข้างพระพฤหัสบดีนั้นมีพระอิศวร พระอินทร์ช่วยรบ ส่วนพระศุกร์นั้นไม่ถูกเส้นกับพระพฤหัสบดีมาก่อน เลยเข้าข้างพระจันทร์ นอกจากนั้นก็มีพวก ทานพ แทตย์ และอสูร ซึ่งเป็นศิษย์ของพระศุกร์ก็ช่วยข้างพระจันทร์ ครั้งนั้นการรบเกรียวกราวมาก เรียกกันว่า เทวาสูรสงคราม ผลที่สุดพระพรหมต้องมาห้ามทัพ บังคับพระจันทร์ให้ส่งนางดาราคืนให้พระพฤหัสบดี และนางดารานี้ต่อมาก็ได้บุตรมีนามกรว่าพระพุธนั่นแหละ

ตรงนี้ ผมขอแทรกเรื่อง ทานพ แทตย์ และอสูร สักนิดเถอะ ทั้งนี้เพราะเหตุผล ๒ ประการ คือ เรื่องราวของพระพฤหัสบดีมีน้อย ถ้าเขียนสั้นๆ ไปก็ไม่พอฉบับ คุณต่วยก็จะว่าได้ อีกประการหนึ่งชื่อเหล่านี้มีปรากฎในวรรณคดีอยู่เสมอๆ ผู้อ่านที่กำลังอยู่ในวัยเรียนก็จะพลอยได้รับความรู้ไปด้วย และผมก็จะไม่อธิบายยาวหรอกเดี๋ยวก็เลยเถิดไปอีก และเพื่อความสะดวกก็ขอคัดจากหนังสือ ชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของ หลวงสารานุประพันธ์ ตีพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๖ โน่น ตัดตอนมาเล็กน้อยก็แล้วกันนะครับ

ลำดับต่อไปนี้ เป็นรายชื่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เป็นพลโลก อาศัยอยู่ในไตรภพทั้ง ๓ นี้
๑. เทวดา แปลว่า ผู้เล่นสนุก ผู้เปล่งแสง เป็นพลโลกของโลกสวรรค์
๒. คนธรรพ์ เป็นภูต (ผู้มีกำเนิด) จำพวกหนึ่งซึ่งเข้ากับเทวดาก็ได้ เข้ากับมนุษย์ก็ได้ เพราะมีอยู่ทั้งสวรรค์และมนุษยโลก หรืออีกนัยหนึ่งว่ามีดลกของเขาอีกอันหนึ่งต่างหาก เรียกว่า “คนธรรพโลก” อยู่ระหว่างโลกสวรรค์กับโลกมนุษย์ (เข้าใจกันว่าเป็นชาวเขา ซึ่งมักตั้งถิ่นฐานอยู่บนเขา) คนธรรพ์มีหน้าที่เป็นผู้รักษาโสม เป็นผู้ชำนาญในการปรุงยา เป็นผู้อำนวนการนักษัตรและเป็นหมอดู รอบรู้กิจการต่างๆ ที่เป็นไปในโลก ทั้งปัจจุบันและอนาคต เจ้าหรืออธิบดีของคนธรรพ์ชื่อ ท้าวจิตรถ หรือ จิตรเสน บางตำรับเรียกท้าว ธตรฐ

อภินิหารของคนธรรพ์ มีที่สำคัญอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นผู้ชำนาญในการขับร้องและดนตรีปี่พาทย์ เป็นพนักงานขับร้องและทำดนตรีบรรเลงพระเป็นเจ้าและเทพนิกร

ครูเฒ่าของการขับร้องและดนตรีชื่อ พระนารทมุนี ผู้คิดทำพิรุณขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก พระมุนีองค์นี้ได้นามว่า “ปรคนธรรพ์” ซึ่งต่อมาพวกนักดนตรีปี่พาทย์จำเลื่อนไปเรียกว่า “พระประโคนธรรพ์”

๓. ยักษ์ เป็นภูตจำพวกหนึ่ง เรียกกันว่า อสูร แปลว่าพวกอริกับเทวดา สิ่งมีชีวิตจำพวกนี้มีทั้งใจดีและใจร้าย รูปร่างน่าเกลียดและน่ากลัว มีเขี้ยวยื่นออกมาจากปาก เป็นลูกพระกัศยป มีเจ้าหรืออธิบดีชื่อ ท้าวกุเวร…อาศัยอยู่ทั้งในสวรรค์และโลกมนุษย์ มีทั้งดีและชั่ว
๔. กินนร  เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง คล้ายๆ คนแต่ไม่ใช่คนทีเดียว เพราะมีหาง ศัพท์กินนรแปลว่า “คนหรือมิใช่” หรือ “คนอะไร” อาศัยอยู่ตามถ้ำเขา ในระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ คือ กิมบุรุษวรรษ กินนรเป็นบริวารของท้าวกุเวร และเป็นพวกคนธรรพ์ เพศหญิงเรียกว่า “กินรี” ตามรูปเดิมของอินเดียนั้นตัวเป็นคนหัวเป็นม้าแต่ตกมาเมืองไทยกลายรูป หัวเป็นคนตัวเป็นนก
นาค เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายงูใหญ่อาศัยอยู่ใต้พื้นโลกมนุษย์คือพื้นน้ำ เป็นลูกพระกัศยปเหมือนกัน มีท้าววิรูปักษ์เป็นอธิบดีจอมนาค
ครุฑ  เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายนกใหญ่อาศัยอยู่บนพื้นโลกมนุษย์ เป็นอริกับนาค คอยกินนาคตลอดเวลา เป็นลูกท้าวกัศยป กับนางวินตา เป็นพาหนะของพระวิษณุ
แทตย์  เป็นอสูรจำพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกของนางทิติกับพระมหาฤาษีกัศยป
ทานพ  เป็นอสูรเชื้อสายแห่งนางหนูกับพระกัศยป
รากษส  เป็นอสูรจำพวกหนึ่ง ซึ่งมีทั้งดีและชั่ว อาศัยอยู่ตามป่าช้า ชอบกวนพราหมณ์ในขณะทำพิธี มักกวนพราหมณ์ผู้ตั้งใจสมาธิ เข้าสิงในซากศพ กินคนและรบกวนให้ร้ายแก่มนุษย์โดยอาการต่างๆ คัมภีร์ปุราณะว่าเกิดแต่รากษะพราหมณ์ผู้เป็นลูกพระกัศยปกับนางขศา ฯลฯ

ผมคัดมาเพียงแค่นี้ครับ หนังสือที่ว่านี้หาอ่านได้ยากในปัจจุบัน แต่ถ้าต้องการความรู้จริงๆ ผมคิดว่าอ่านอภิธานท้ายเรื่องศกุนตลาของ ร.๖ จะได้อะไรๆ มากกว่านัก

รูปของพระพฤหัสบดีเป็นเทพฤาษี สีกายเป็นสีแก้วไพฑูรย์ พาหนะเป็นกวางทอง อาภรณ์แก้วมุกดาหาร มือถือกระดานชนวน เพราะพระพฤหัสบดีเป็นครูของเทวดา เราถือวันพฤหัสบดีเป็นวันครู นักเรียนจัดพิธีไหว้ครูก็ตรงกับวันพฤหัสบดี

เรื่องรูปพระพฤหัสบดีนี้ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ณ เมืองอินเดียของ คุณอุดม  รุ่งเรืองศรี เรื่อง เทวดาพระเวท ได้กล่าวว่า “ลักษณะของพระพฤหัสบดี ส่วนใหญ่มักปรากฎคู่เคียงกับเทพอื่นเสมอ โดยแนวนี้พระพฤหัสบดีย่อมมีความคล้ายคลึงกับอคนีในด้านปรากฎการณ์ เทพท้าวนี้มีปากอยู่เจ็ดปาก ลิ้นเดียว และมีเจ็ดสี กายเป็นสีทองและสีทองแดง น้ำเสียงแจ่มใสและสง่างาม มีเขาอันคมกริบ หลังสีน้ำเงิน และมีปีกนับร้อย อาวุธคู่พระหัตถ์คือลูกศรกับคันธนู สายธนูนี้คือจารีต (ขนบประเพณี) อาวุธอีกอย่างหนึ่งคือขวานโลหะหรือขวานสั้นที่เป็นทองคำ ซึ่งทวาสตฤเป็นผู้ประดิษฐ์รถทรงเป็นทองคำและเทียมด้วยม้าสีเหลือง รถนี้เป็นรถแห่งขนบประเพณีเช่นกัน เวลาทรงรถ พระพฤหัสบดีจะอยู่ในท่ายืน รถทรงนี้จะเป็นพาหนะนำไปประหารเหล่าผีร้ายทลายคอกขังวัว(ทำให้ฝนตก) และทำลายความมืด”

เป็นอันว่าจบเรื่องพระพฤหัสบดีครับ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

ความเป็นมาเกี่ยวกับพระพรหม

พระพรหม

พรหมา, พระ
“โอมชย ชย ไชโสฬสพรหมญาณ บานเศียรเกล้า เจ้าคลี่บัวทอง ผยองเหนือขุนห่าน ท่านรังก่อดินก่อฟ้าหน้าจัตุรทิศ ทัยมิตรดา มหากฤตราตัย อมตัยโลเกศ จงตรีศักดิ์ ท่านพิญาณปรมาธิเบศ ทัยธเรศสรสิทธิพ่อ เสวยพรหมทรใช่น้อย ประถมบุญภารดิเรก บูรพบรู้กี่ร้อย ก่อมา”

ครับ ผมคัดจากลิลิตโองการแช่งน้ำ เป็นบทสรรเสริญพระพรหมาละครับ ภาษาเก่าหน่อยเพราะแต่งกันตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่ทอง กษัตริย์องค์แรกในสมัยอยุธยาโน่นใจความกว้างๆ ก็บ่งลักษณะเทพองค์นี้ละครับ

เอาภาษาสมัยใหม่หน่อยก็ในหนังสือประถมมาลาครับ
“อ้าองค์บรมปรเมศ        วรหิทธิเดช
ทรงบุษบกหงส์วิหคพา-    หนะผาดผยองผัน
เชิญช่วยพิทักษ์ธรรมนูญกฎ    อัยการระบอบบรรพ์
เป็นอาทิคือคัมภีระธรร-    มศาสตร์ส่งเป็นแก่นสาร
หลักชัยและคัมภีร์พรหมศักดิ์    กำหนดกฎมณเฑียรบาล
อย่าให้จลาจลวิการ            คือจะปลอมและเปลี่ยนแปลง”

เอาละครับ ผมคัดมา ๒ ตอนเช่นนี้ ขลังแน่นอนละ แต่ว่า คำว่า “โอม” ซึ่งผมเขียนถึงหลายตอนแล้ว ตอนนี้เห็นจะต้องวิสัชนากันเสียที

คำว่า “โอม” ถือเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ เป็นคำขึ้นต้นของการกล่าวมนต์ หรือกล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยมีนัยย่อมาจาก อะ อุ มะ

อ หมายถึงพระวิษณุ (นารายณ์)
อุ หมายถึงพระศิวะ
ม หมายถึงพระพรหม

แต่เรื่องนี้ ท่านผู้รู้ก็ว่าไม่แน่นักหรอก ท่านว่าน่าจะมีที่มาจากคำหลังดังนี้ครับ
อ หมายถึงพระศิวะ คือมี อะ ตรงท้ายศิวะ
อุ หมายถึงพระวิษณุ คือมี อุ ตรงท้ายวิษณุ
ม หมายถึงพระพรหม คือมี ม ตรงท้ายพรหม

นัยว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงดัดแปลงคำว่า “โอม” มาใช้ในทางพระพุทธศาสนา โดยหมายถึงพระรัตนตรัย มีนัยดังนี้

อ : อฺรหํ หมายถึง พระพุทธเจ้า
อุ : อุตตมธมฺม หมายถึงพระธรรมอันสูงสุด
ม : มหาสงฆ์

ผมเคยกล่าวแล้วในหมวดเทพองค์อื่นว่า ระหว่างเทพนารายณ์ ศิวะ และพรหมา เทพองค์ไหนจะใหญ่กว่ากัน และผมขอผัดไว้ว่า จะมาเล่าในตอนว่าด้วยพรหมา ผมขอเรียนท่านผู้อ่านละครับ ผมอ่านหนังสือต่างๆ กว่า ๑๕ เล่ม ก็ยังงงๆ อยู่เพราะเป็นเรื่องยุ่งยากสับสนเหลือที่สมองน้อยๆ ของผมจะจำได้และเรียบเรียงให้เข้าใจได้ง่ายๆ ถ้าผมสรุปเรื่องพระพรหมาสั้นๆ ง่ายๆ ก็เห็นว่าผมจะสบายคนเดียว ผมต้องให้ผู้อ่านหัวหมุนไปกับผมด้วย อย่างนี้เป็นการไม่เอาเปรียบกัน อันที่จริงถ้าสรุปสั้นๆ ในหมวดนี้ผมใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่เมื่อมาแยกแยะอะไรต่ออะไรนี้ ผมใช้เวลาเป็นเดือนทีเดียวแหละ

ตามศาสนาพราหมณ์นั้น จำเดิมถือว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งทั้งหลาย และถือว่าพระพรหมเป็นมหาวิญญาณของสกลโลก เรียกว่า “มหาตมัน” หรือ “ปรมาตมัน” และถือว่าการบำเพ็ญบุญให้วิญญาณของตนเข้าใกล้กับมหาวิญญาณนี้เป็นบรมสุข นี่เป็นข้อปฏิบัติอันสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ยุคก่อน ซึ่งยุคนี้ถือว่าพระพรหมไม่มีเพศ เรียกกันว่า “ปรพรหม” ไม่ใช่พรหมาซึ่งเป็นเพศชายในยุคหลัง

พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก และโลกคงอยู่ได้มีกำหนด ๑ วันของพระพรหม คิดเป็นปีมนุษย์ได้ ๒,๑๖๐,๐๐๐,๐๐๐ ปี เมื่อสิ้นวันหนึ่งของพระพรหมแล้ว มีไฟบรรลัยกัลป์ไหม้โลก พระพรหมนั้นสร้างโลกแล้วก็บรรทมเป็นเวลา ๑ คืน ตื่นจากพระบรรทมก็เป็นเวลาไฟไหม้โลก ก็สร้างโลกอีก แล้วก็บรรทมอีก เป็นอยู่อย่างนี้จนครบ ๑๐๐ ปีของพระพรหมก็จะถึงเวลามหาประลัย คือสิ้นโลกกันเลย แต่อย่าตกใจกันเลยครับ ๑๐๐ ปีของพระพรหมนั้นถ้าเทียบเวลากับเมืองมนุษย์น่ะ ต้องเขียนเป็นตัวเลขเรียงกันถึง ๑๕ ตัวทีเดียว อย่างที่ผมเทียบไว้ในเรื่องนารายณ์แล้ว

นี่แสดงว่า จำเดิมพระพรหมเป็นเทพสูงสุด และบางคัมภีร์ก็ว่าบรรดาพระเวททั้งหลายก็ออกจากพระโอษฐ์ของพระพรหม ซึ่งก็เป็นการยืนยันได้ว่าพระพรหมก็ต้องใหญ่ที่สุด

ในยุคหลัง ได้มีเทพอีก ๒ องค์ คือพระศิวะและพระนารายณ์ จึงทำให้พระพรหมลดต่ำลงมาก เพราะตำนานต่างๆ ก็ยกย่องพระนารายณ์บ้าง พระศิวะบ้าง จนพระพรหมเหลือแต่พระคุณ ผู้คนนับถือน้อยลง จะเห็นได้ว่าทั้งประเทศอินเดียมีสถานที่บูชาพระพรหมโดยเฉพาะอยู่แห่งเดียวเท่านั้น คืออยู่ที่ตำบลปุษกะวะในแขวงอาชมีร จะมีการบำเพ็ยก็ปีละหนในวันเพ็ญเดือน ๓ เท่านั้น

เมื่อเกิดเทพอีก ๒ องค์ดังกล่าว พราหมณ์ที่นับถือเทพวิษณุ เรียกกันว่า ไวษณพนิกาย ส่วนมากก็เป็นชาวอินเดียทางภาคใต้ โดยที่ภาคใต้ของอินเดียอยู่ใกล้ทะเลพระวิษณุประทับอยู่ในเกษียรสมุทร เป็นเทพเจ้าแห่งทะเล ส่วนพวกที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ เรียกว่า ไศวนิกาย ซึ่งโดยมากก็เป็นชาวอินเดียภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนแถบภูเขาหิมาลัย เพราะพระศิวะก็คือเทพแห่งขุนเขานั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาพราหมณ์ที่นับถือเทพองค์ใดก็ต้องมีตำนานประกอบความยิ่งใหญ่ของเทพองค์นั้น เรื่องจึงต้องสับสนเพราะมีตำนานมากเหลือเกิน ผมจะเล่าเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น

อย่างเรื่องสร้างโลก พราหมณ์ที่นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่ ก็ยกให้ว่าพระวิษณุเป็นผู้สร้าง โดยอธิบายว่า พระวิษณุแบ่งภาคเป็นพระพรหมา และสร้างโลกขึ้นในน้ำ และบางคัมภีร์ก็ว่า พระพรหมานั้นกำเนิดในดอกบัว ซึ่งผุดจากพระนาภีของพระวิษณุ จึงต้องนับว่าพระวิษณุเป็นต้นตำรับในการสร้างโลก เพราะสร้างพระพรหมาก่อน

คัมภีร์ปัทมปุราณะ ยกพระวิษณุเป็นพระปรพรหมผู้เป็นปฐมบรมมูลแห่งโลก ในคัมภีร์ที่ว่านั้นมีดังนี้ ผมขอคัดจากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ในหนังสือพระเป็นเจ้าของพราหมณ์

“ในเมื่อจำเดิมเริ่มรั้วสวรรค์โลก พระมหาวิษณุมีพระหฤทัยปรารถนาจะใคร่ทรงสร้างโลกทั้งหมด จึงบันดาลพระองค์ให้เป็น ๓ ภาค กล่าวคือเป็นผู้สร้าง ๑ ผู้สงวน ๑ ผู้ล้าง ๑ พระมหาบุรุษได้ทรงสร้างพระพรหมาขึ้นจากบั้นพระองค์เบื้องขวา เพื่อสร้างโลกนี้ ทรงสร้างพระวิษณุขึ้นจากบั้นพระองค์เบื้องซ้ายเพื่อสงวนโลกนี้ แล้วจึงสร้างพระศิวะมหากาลจากกลางพระองค์ เพื่อล้างโลกนี้ คนเราไซร้ บางคนก็บูชาพระพรหมา บางคนก็บูชาพระศิวะ แต่พระวิษณุเป็นเจ้า พระองค์ผู้เป็น ๑ แบ่งภาค ๓ นั้นไซร้ ทรงสร้าง สงวน และล้างโลก เหตุฉะนี้ผู้มีศรัทธาแท้จริงจงอย่าได้บูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามนั้นให้แปลกกันไปเลย”

ส่วนพวกที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ก็มีเรื่องเล่าต่อไปดังนี้ เมื่อเพลิงบรรลัยกัลป์ล้างโลกสิ้นแล้ว ก็เป็นอากาศว่างเปล่าอยู่ พระเวททั้งหลายก็มาประชุมกันเข้า บังเกิดเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่งมีพระนามว่า พระปรเมศวรเป็นเจ้า (คือพระศิวะ) พระปรเมศวรเป็นเจ้าจึงเอาพระหัตถ์ลูบพระอุระเข้าแล้วสะบัดออกไปเป็นพระอุมา พระปรเมศวร หรือพระศิวะได้ทรงปรึกษากับพระอุมาในการที่จะมาทรงสร้างโลกและสรรพสิ่งต่างๆ พระอุมาก็ทูลว่าลำพังสององค์เห็นจะทรงลำบากแน่ ทรงให้พระอิศวรสร้างเทพขึ้นอีก พระอิศวรก็ทรงเห็นด้วย ทรงใช้พระหัตถ์เบื้องซ้ายลูบพระหัตถ์เบื้องขวา บังเกิดเป็นพระนารายณ์ และใช้พระหัตถ์เบื้องขวาลูบพระหัตถ์เบื้องซ้าย บังเกิดเป็นพระพรหมธาดาขึ้น ก็แปลว่าเทพ ๕ องค์รวมทั้งพระอุมา ก็ทรงช่วยกันสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้น

มีอีกตำนานหนึ่ง ตำนานนี้ค่อนข้างท้าทายสติปัญญาผู้อ่านมากครับ ว่าใครจะเป็นใหญ่ คือมีเรื่องว่า บรรดาฤาษีทั้งหลายอยากรู้ว่าเทพองค์ใดจะเป็นใหญ่ที่สุด จึงพร้อมใจกันให้พระภฤคุมุนีผู้เป็นบุตรของพระพรหมไปพิสูจน์ พระภฤคุมุนีตรงไปพรหมโลกก่อน เดินเข้าไปในวิมานของพระพรหมโดยมิได้แสดงกิริยาเคารพตามประเพณี พระพรหมกริ้ว แต่ทรงเห็นเป็นบุตรก็ทรงระงับโทสะได้ ต่อจากนั้นพระภฤคุมุนีก็ไปยังเขาไกรลาส พระอิศวรก็ทรงลุกมากอด แต่พระภฤคุมุนีหันหน้าหนี พระอิศวรกริ้วจะฆ่าด้วยพระแสงตรีศูล แต่พระอุมาห้ามทัน ต่อจากนั้นพระภฤคุก็ไปยังไวกูณฐ์ เห็นพระนารายณ์บรรทมหลับอยู่ที่ตักพระลักษมี พระมุนีก็ยกเท้าขึ้นถีบกลางพระทรวง พระวิษณุเสด็จลุกขึ้นแล้วนมัสการพระภฤคุ ตรัสว่า “ข้าพเจ้ายินดีต้อนรับท่านมหาพราหมณ์ ขอเชิญท่านจงนั่งลงพักผ่อนกาย และขอจงให้อภัยแก่ข้าพเจ้า ผู้ได้กระทำผิดไปแล้วโดยความโฉดเขลาด้วยไม่ได้ลุกขึ้นนั่งรับแขกโดยเร็ว และขออภัยซึ่งทำให้เท้าอันอ่อนของท่านต้องเจ็บเพราะข้าพเจ้า” แล้วทรงเอาพระหัตถ์นวดเท้าพระภฤคุและตรัสต่อไปอีกว่า “วันนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ได้มีบุญยิ่งนัก เพราะพระคุณเจ้าได้เอาธุลีละอองพระบาทแห่งท่านอันเป็นเครื่องล้างบาปได้นั้น แตะบนหน้าอกแห่งข้า” พระภฤคุมุนีไม่ได้กล่าวอะไร ทูลลากลับมาบอกบรรดาฤาษีทั้งหลายที่อยากทราบว่า เทพองค์ใดใหญ่ที่สุด

เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ ท่านคิดว่าใครจะเป็นเทพที่ใหญ่ที่สุดล่ะครับ ลองเดาดูก่อนก็ได้

ในตำนานน่ะ บรรดาฤาษีต่างๆ นั้นลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าพระนารายณ์เป็นใหญ่ในเทพทั้งสาม เหตุผลก็เพราะว่าพระนารายณ์เป็นเทพที่ปราศจากโทษและความโกรธครับ

ครับ ผมเล่าตำนานเรื่องเทพองค์ใดเป็นใหญ่เพียงเท่านี้เพราะมีมากเหลือเกิน

เมื่อเกิดเทพทั้งสาม ท่านก็ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก พระวิษณุเป็นผู้บริหารโลก และพระศิวะเป็นผู้ทำลายโลกตามกาละที่หมดยุค และต่อมาก็เกิดลัทธิ “ตรีมูรติ” คือนับถือพระเป็นเจ้าทั้งสามร่วมกัน แต่ชาวฮินดูออกจะนับถือพระวิษณุกับพระศิวะมาก ส่วนพรหมนั้นตกต่ำลงไปดังที่เล่าแล้ว

ย้อนมาเรื่องพระพรหมาต่อ ว่าถึงเรื่องกำเนิดพระพรหมโดยเฉพาะซึ่งก็ออกจะสับสนอีกนั่นแหละ เอาเป็นง่ายๆ ว่า บ้างก็ว่าพระพรหมนั้นเป็นพระสวยัมภู คือ กำเนิดขึ้นเอง ไม่มีใครสร้าง อีกเรื่องหนึ่งกล่าวว่า แต่เดิมนั้นทั้งโลกทั้งสวรรค์ยังไม่มีและก็ไม่มีอะไรเลย ยังว่างเวิ้งอยู่ พระอาตมภู (ผู้เกิดขึ้นเอง) มีพระประสงค์จะสร้างสิ่งทั้งหลายทั้งปวง จึงสร้างน้ำขึ้นก่อน แล้วเอาพืชหว่านลงในน้ำ จากพืชก็เกิดไข่ทองซึ่งเรียกว่า หิรัณยครรภ (เป็นนามหนึ่งของพระพรหม) ต่อมาไข่ทองนี้ก็แตกออกปรากฎเป็นพระพรหม นัยว่าไข่นั้นแตกออกเป็น ๒ ซีก นอกจากเกิดพระพรหมาแล้วไข่ซีกบนลอยขึ้นเบื้องบน กลายเป็นท้องฟ้า ซีกหนึ่งลอยต่ำ กลายเป็นแผ่นดิน พระพรหมก็เลยสร้างโลก ส่วนตอนจะสร้างมนุษย์นั้นพระพรหมต้องแบ่งเป็นสองภาค ภาคหนึ่งเป็นชาย ภาคหนึ่งเป็นหญิง แล้วก็ช่วยกันสร้างพระวิษณุขึ้นก่อน นี่ก็แสดงว่าในคัมภีร์นี้ถือว่าพระพรหมใหญ่ที่สุด พระวิษณุได้สร้างมนุษย์คนหนึ่งชื่อ วิราช พระวิราชสร้าง พระมนู พระมนูเป็นผู้สร้างมนุษย์อีกต่อหนึ่ง คำว่ามนุษย์ก็ออกจากศัพท์พระมนูนี่แหละ บางตำนานว่าพระพรหมไม่ได้แบ่งภาคหรอก สร้างนางขึ้นองค์หนึ่ง มีนามว่า สุรัสวดี หรือ ศตรูปา ซึ่งเป็นมเหสีของพระพรหมา แล้วก็ช่วยกันสร้างมนุษย์ สัตว์ เทวดา อสูร และพืชพันธุ์ต่างๆ

พระพรหมา มีสีกายแดง มีสี่หน้า จึงเรียกว่า จตุรานน หรือ จตุรมุข มีแปดหูจึงเรียกว่า อัษฎกรรณ มีสี่กร เครื่องถือมี ธารพระกร ช้อน (สำหรับหยอดเนยในไฟ) ประคำ ธนู ชื่อว่า ปริวีตะ หม้อน้ำ และคัมภีร์ มีมเหสีคือ พระสุรัสวดี เทวีผู้อุปถัมภ์การศึกษา มีพาหนะคือหงส์ ท่านจึงมีนามว่า หงสวาหนที่สถิตของพระพรหมเรียกว่า พรหมนฤนทา

นอกจากนี้ นามของพระพรหมยังมีอีกมากครับ จะขอเก็บมารวมๆ กันเท่าที่จะหาได

วิธิฒ เวธา ทรุหิณฒ สรัษฏก แปลว่า ผู้สร้าง
ธาดา, วิธาดา แปลว่า ทรงไว้
ปิตามหา แปลว่า บิดาใหญ่
โลเกศ แปลว่า จอมโลก
ปรเมษฎ์ แปลว่า เป็นใหญ่ในสวรรค์
สนัต แปลว่า เก่า, โบราณ
อาทิกวี แปลว่า กวีคนแรก
อาตมภู แปลว่า เป็นขึ้นด้วยตนเอง
กมลาศน์ แปลว่า มีดอกบัวเป็นที่นั่ง
พระครรไลหงส์ แปลว่า ไปด้วยหงส์ มีหงส์เป็นพาหนะ
ธาตริ, วิธาตริ แปลว่า ผู้รักษา
กมเลศ แปลว่า อยู่เหนือดอกบัว

ทีนี้จะเลยกล่าวถึงพระพรหมตามคติพุทธศาสนาบ้าง พระพรหมในทางพุทธศาสนาไม่มีเพศหญิง เพศชาย และไม่ได้เป็นผู้สร้างโลก เพราะตามพุทธโอวาทกล่าวว่าโลกนี้ไม่มีผู้สร้าง ย่อมเป็นไปตามสภาพของมันเอง ตามไตรภูมิพระร่วงอันเป็นคติทางพุทธศาสนา ซึ่งแน่นอน ก็ย่อมจะมีคติทางพราหมณ์เคล้าอยู่ด้วยกล่าวว่าเมื่อต้นภัทรกัป โลกถูกไฟผลาญหมด กลิ่นไอดินหอมขึ้นไปชั้นพรหม พรหมได้ลงมากินง้วนดินเลยหมดอำนาจ เหาะกลับไม่ได้กลายเป็นมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง ก็แปลว่ามนุษย์เป็นเหล่ากอพรหมเหมือนกัน

พรหมทางพุทธศาสนานั้น แบ่งเป็น ๒ พวก คือ รูปพรหม ได้แก่ พรหมที่มีร่างกายและ อรูปพรหม คือ พรหมที่ไม่มีรูป มีแต่จิตปรากฎ พรหมนั้นละเว้นจากการมีลูกมีเมีย ดังนั้นใครที่ละเว้นจากการครองเรือน ถือบวชเป็นพระ ก็เรียกว่า พรหมจารี แปลว่าผู้ประพฤติเหมือนพรหม ถ้าเป็นหญิงก็เรียกว่า พรหมจาริณี แต่ว่าศัพท์นี้เลือนไป หมายถึงหญิงสาวที่บริสุทธิ์ เมื่อกล่าวถึงศัพท์พรหมต่างๆ เข้าก็ขอคัดจากพจนานุกรม เลือกเท่าที่จำเป็นก็แล้วกัน

พรหมจรรย์  การศึกษาปรมัตถ์ การศึกษาพระเวท การถือพรตบางอย่าง เช่น เว้นเมถุน เป็นต้น การบวชซึ่งละเว้นเมถุน เป็นต้น
พรหมจักร  จักรวาลคำสอนของพระพุทธเจ้า
พรหมจาริณี หญิงที่ยังบริสุทธิ์
พรหมจารี ผู้ศึกษาปรมัตถ์ นักเรียนพระเวท ผู้ถือพรตบางอย่าง เช่น เว้นเมถุนเป็นต้น ในพระพุทธศาสนาหมายเอาผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีเว้นจากเมถุนเป็นต้น เช่น ภิกษุ หญิงที่ยังบริสุทธิ์
พรหมทัณฑ์  ตามศาสนาพราหมณ์ หมายความว่า “ไม้พระพรหม” ชื่อศัตราวุธกายสิทธิ์ชนิดหนึ่ง การสาปแห่งพรหมณ์ โทษอย่างสูงคือห้ามไม่ให้ใครๆ พูดด้วยในหมู่สงฆ์ด้วยกัน

พรหมวิหาร ธรรมของพระพรหม หรือของท่านผู้เป็นใหญ่ มี ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

นอกจากนี้ยังมีศัพท์เทคนิควิชาการเฉพาะอีกครับ เช่นเด็กที่เกิดนั้นถือว่าพระพรหมจะเขียนเป็นเส้นไว้ที่หน้าผาก เพื่อแสดงให้รู้ว่ามีความเป็นความตายเป็นประการใด เรียกว่า พรหมลิขิต ลายชนิดหนึ่งมีรูปภาพประกอบที่หัวเสาในสถาปัตยกรรม มีปราสาท โบสถ์ วิหาร เรียกว่า พรหมสร ลายเป็นตาสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปเป็นรูปเจดีย์ มีไว้ที่หน้าจั่วเรือนแบบไทย เรียกกันว่า พรหมพักตร์

ว่าถึงเรื่องพรหมที่มีตัวตน ในเรื่องพุทธศาสนานั้นมีเรื่องน่ารู้อยู่เรื่องหนึ่งครับ คือเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ทรงดำริถึงเรื่องการสั่งสอนชาวโลก แต่ก็ทรงท้อพระทัยเพราะทรงเห็นว่าพระธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนยากที่มนุษย์อย่างเราๆ จะเข้าใจได้ ขณะนั้นก็มี ท้าวสหัมบดีพรหม ได้เสด็จลงมาจากพรหมโลก อาราธนาขอให้พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมต่อไป ซึ่งว่อมจะมีผู้เข้าใจได้บ้าง ดังคำบาลีที่ท่านผูกเป็นคำฉันท์ และเรานำมาใช้อาราธนาพระก่อนเทศน์มีว่า
พฺรหฺมา จ โลกาธิปติ สหมฺปติ
กตฺอญฺชลี อนฺธิวรฺ อยาจถ
สนฺตีธ สตฺตาปฺปรชกฺขชาติกา
เทเสตุ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชํ
แปลได้ความว่า “พระพรหมมีนามว่า สหัมบดี ผู้เป็นอธิบดีในโลก ยกอัญชลีวิงวอนพระผู้ทรงพระภาค ผู้ไม่มีผู้ใดประเสริฐยิ่งกว่า ว่า “สัตว์ในโลกนี้ที่มีมลทินในจักษุน้อย (คือมีปัญญาจักษุพอจะเห็นธรรมได้) ก็มีอยู่ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงอนุเคราะห์ แสดงธรรมแก่หมู่สัตว์นี้เถิด”

ก็แสดงว่าพระพรหมก็นับถือพระพุทธองค์เช่นกัน แต่ต้องเข้าใจอีกนิดเถอะ พระพรหมในทางพุทธศาสนานั้นมีมากครับ มนุษย์เราทำความดีมากๆ ตายไปก็เป็นพรหมได้ แต่ในทางศาสนาพราหมณ์นั้น พระพรหมหรือพระพรหมามีองค์เดียวเท่านั้น

และจะว่าไป เทพต่างๆ อันที่จริงก็มีเอกลักษณ์ของเอกเทวดาเฉพาะองค์ครับ ในวรรณคดีไทยหลายเรื่องพรรณนาไว้ เมื่อเราอ่านเราก็เข้าใจทันทีว่าคือเทพองค์ใด ผมก็อดแทรกเรื่องในวรรณคดีไม่ได้อีกนั่นแหละ

ดังในนิราศนรินทร์
พันเนตรภูวนาถตั้ง    ตาระวัง ใดฮา
พักตร์สี่แปดโสตฟัง    อื่นอื้อ
กฤษณะนิทรเลอหลัง    นาคหลับ ฤาพ่อ
สองวิโยคร่ำรื้อ    เทพท้าวทำเมิน
บาทที่ ๑ หมายถึงพระอินทร์ บาทที่ ๒ พระพรหม บาทที่ ๓ พระนารายณ์ นิราศนรินทร์อีกบท
“วัดสงส์เหมราชร้าง    รังถวาย นามแฮ
เรียมนิราเรือนสาย    สวาทสร้อย
หงส์ทรงสี่พักตร์ผาย    พรหมโลก แลฤา
จะสั่งสารนุชคล้อย    คลาดท้าวไป่ทัน”

ในนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อยของพระยาตรังศิษย์ศรีปราชญ์
วัดหงส์หงส์เทพไท้    ธาดา แลฤา
ไฉนบ่เห็นหงส์มา    หนึ่งน้อย
ฤาทรงกมลาศน์พา    ผยองยาตร ฟ้านา
จักสั่งสารนุชคล้อย    คลาดแคล้วฤาทัน

นิราศตามเสด็จลำน้ำน้อยของพระยาตรัง
โฉมเจ้าจะแหวกฟ้า    ฝากพรห-เมศฤา
เกรงจะชมฌานเมิน    แม่ไว้
จะฝากอิศวรกรม        ไกรลาส
ไฟราคร้อนหล้าไท้    ทั่วแหนง

นิราศกรุงเก่าของมหาฤกษ์
จะฝากประเทศด้าว    ดินแดน ใดนา
ทุกเทศทุกไทแสน    เสน่ห์น้อง
มององค์อุมาแมน    ศิวมุ่ง ชมแม่
มอบพระลักษมีพ้อง    พิษณุเจ้าจะกวน
หรือในอุณรุท พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีความตอนพระอุณรุทบรรทมหลับอยู่ พระไทรเหาะมาดูเห็นก็แปลกใจ
“งามทรงงามองค์อรชร        งามนอนบนราชรถา
จึงคิดถวิลจินดา            จะว่าพระอิสโรโมฬี
เป็นไรไม่ทรงอุสุภราช        จะเอองค์ประพาสก็ใช่ที่
ฤาจะว่านารายณ์เรืองฤทธี    เหตุใดไม่ขี่ครุฑทรง
ฤาจะว่าบรมพรหเมศ        ไยไม่ประเวศครรไลหงส์
จะว่าอมรินทร์อินทร์องค์    เป็นไฉนไม่ทรงเอราวัณ”

เป็นอันว่าผมขอจบเรื่องพระพรหมาเพียงเท่านี้ละครับ ที่จริงนโยบายของคุณต่วยน่ะ บังคับผมให้เขียนเทพองค์ละฉบับไม่มีการต่อฉบับหน้า ผมก็พยายามทำอย่างนั้นแต่จำเป็นครับ เทพบางองค์เกี่ยวข้องกับวรรณคดีไทยหรือเรื่องไทยๆ มาก ผมก็ต้องแทรกเกร็ดๆ กันบ้างละ นี่ก็คิดไว้แล้วว่าต่อไป เทพต่อไปผมจะเล่าฉบับละองค์ละ ยกเว้นพระอินทร์เท่านั้น เพราะเกี่ยวข้องกับวรรณคดีไทยมากเหลือเกิน แล้วก็เกี่ยวข้องกับมนุษย์เสียจริงเชียว

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร