ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร

บรรดาวีรสตรีที่ได้รับการสดุดีประวัติไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ๒ พี่น้องชาวถลาง เป็นผู้ที่ได้ประกอบวีรกรรมเป็นแบบอย่างแห่งการต่อสู้ เพื่อปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนไว้โดยสุดกำลัง เหตุการณ์สู้รบกองทัพพม่าที่มาล้อมเมืองถลาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ แม้เวลาจะล่วงเลยมานานปี แต่ลูกหลานไทยก็ยังเล่าขาน ความกล้าหาญของท่านไว้โดยไม่ลืมเลือนท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร

ประวัติวีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร เกิดขึ้นในสมัยเมื่อกรุงรัตนโกสินทร์เพิ่งสถาปนาได้เพียง ๓ ปี เป็นเหตุการณ์ศึกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า พม่าคงจะมาตีเมืองไทยจึงโปรดให้สร้างกรุงเทพมหานครทางฝั่งข้างตะวันออกแทนที่จะอยู่ทั้งสองฝั่งอย่างกรุงธนบุรี ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่า

..ด้วยทรงพระราชดำริว่าพม่าคงจะมาตีเมืองไทย กรุงธนบุรีสร้างป้อมปราการทั้ง ๒ ฝั่ง เอาแม่นํ้าไว้กลางเมืองเหมือนอย่างเมืองพิษณุโลก มีประโยชน์ที่อาจเอาเรือรบไว้ในเมืองเมื่อเวลาถูกข้าศึกมาตั้งประชิด แต่การสู้รบรักษาเมือง คนข้างในจะถ่ายเทช่วยกันรบพุ่งรักษาหน้าที่ไม่ใคร่ทันท่วงทีด้วยต้องข้ามนํ้า… ทรงพระราชดำริว่า…ถ้าข้าศึกเข้ามาได้ถึงพระนครจะไม่สามารถต่อสู้ข้าศึกรักษาพระนครได้…ถ้าสร้างเมืองแต่ฟากเดียวจะได้แม่นํ้าใหญ่เป็นคูเมืองทั้งด้านตะวันตก และด้านใต้ต้องขุดคลองเป็นคูเมืองแต่ด้านเหนือกับด้านตะวันออกเท่านั้น ถ้าข้าศึกจะเข้ามาได้ถึงพระนครก็พอต่อสู้ได้ ด้วยเหตุนี้จึงโปรดให้ย้ายพระนครมาสร้างข้างฟากตะวันออกแต่ฝังเดียว”

การที่ได้ทรงพระราชดำริว่าพม่าคงจะมาตีเมืองไทยนี้ถูกต้องแม่นยำยิ่งนัก เพราะใน พ.ศ. ๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงขึ้นครองราชสมบัติต้องการที่จะแสดงพระบรมราชานุภาพเช่นกับพระเจ้าบุเรงนอง จึงต้องเข้ามาตีเมืองไทยให้มีเกียรติยศ โปรดให้เกณฑ์พลเป็นกองทัพใหญ่เข้ามาถึง ๙ ทัพ โดยเส้นทางที่กองทัพพม่ายกเข้ามาครั้งนั้นทางหนึ่ง คือ ยกเข้าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทย ดังปรากฏหลักฐานพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ว่า

“… ให้เนมโยคุงนะรักเป็นแม่ทัพใหญ่… ถือพล ๒,๕๐๐ เป็นทัพหน้ายกมาทางเมืองมะริดให้ยกมาตีเมืองชุมพร เมืองไชยา ให้แกงวุ่นแมงยี่ถือพล ๔,๕๐๐ เป็นทัพหนุนยกมาอีกทางหนึ่ง แล้วเกณฑ์ทัพเรือให้ยี่วุ่นเป็นแม่ทัพ…ถือพล ๓,๐๐๐ ยกมาตีถลาง…”

เนื้อความที่บันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดารตอนนี้เอง คือ เหตุการณ์ที่มาแห่งวีรกรรมของชาวเมืองถลาง ซึ่งมีท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เป็นหัวหน้าทำการสู้รบจนได้ชัยชนะ

เป็นที่ทราบกันว่าสตรีไทยแต่โบราณมามีบทบาทในเรื่องราชการบ้านเมืองน้อยมาก ดังที่มีคำเปรียบเทียบไว้ว่า สามีเป็นช้างเท้าหน้า ภรรยาเป็นช้างเท้าหลัง หน้าที่สำคัญของผู้หญิงคือ การเป็นแม่บ้าน ดูแลบ้านเรือน สามี ลูก และผู้คนในบ้าน ส่วนงานบ้านงานเมืองนั้นตกอยู่ในหน้าที่ของผู้ชายเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทรต้องออกหน้า ทำหน้าที่อันหนักยิ่งนี้ ย่อมต้องมีมูลเหตุที่มาว่า เป็นเพราะเหตุใด เพื่อทำความเข้าใจกับบทบาทของสุภาพสตรีพี่น้อง ๒ ท่านนี้ จึงสมควรย้อนศึกษาชาติภูมิ เป็นเบื้องต้น

ชาติภูมิ
พงศาวดารเมืองถลางบันทึกชาติภูมิของท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ไว้ดังนี้

“…ขอเล่าเรื่องราวตามผู้เฒ่าเล่ามาแต่ก่อน และได้รู้ได้เห็นเองว่าเมืองถลางแต่ก่อนนั้น จอมร้างบ้านตะเคียนเป็นเจ้าเมือง เมียจอมร้างเป็นแขกเมืองไทร…หม่าเสี้ยขัดใจไม่อยู่เมืองไทรมาอยู่เมืองถลาง ได้กับจอมร้างเป็นผัว มีลูกชาย ๒ หญิง ๓ รวม ๕ คน หญิงชื่อจันเป็นท้าวเทพกระสัตรี หญิงน้องถัดมาชื่อมุกเป็นท้าวศรีสุนทร…พระยาพิมลเป็นพระกระมาอยู่เมืองชุมพรได้กับท้าวเทพกระสัตรีๆ นั้น เมื่อหนุ่มสาวเป็นเมียหม่อมศรีภักดี…หม่อมศรีภักดีนั้นได้กับท้าวเทพกระสัตรีมีลูกสองคน หญิงชื่อแม่ปราง ชายชื่อ เทียน… ท้าวเทพกระสัตรีเป็นหม้ายแล้วได้กับพระยาพิมล. ..”

ตามสาระในพงศาวดารเมืองถลางข้างต้นนี้ ได้ทราบว่า ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร มีนามเดิมว่า จัน และมุก เป็นบุตรีของเจ้าเมืองถลาง ท่านได้สมรสครั้งแรกกับหม่อมศรีภักดี มีลูกด้วยกันสองคน ชื่อ แม่ปราง และเทียน ต่อมาได้แต่งงานใหม่กับพระยาพิมลมีตำแหน่งพระกระ คือ ผู้ดูแลเมืองกระ แล้วมาอยู่เมืองชุมพร ซึ่งผู้ศึกษาประวัติชีวิตราชการของพระยาพิมลพบว่า ท่านมีความภักดีอยู่กับเจ้าเมือง นครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่า เมื่อครั้งที่ได้แต่งงานกับคุณจันนั้นเป็นช่วงที่มาช่วยราชการเมืองถลาง ต่อมาได้ไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุงคงจะได้กลับคืนมาครองเมืองถลาง มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุรินทรราชา ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานที่ว่าเมื่อใกล้จะเกิดศึกพม่าเข้าตีเมืองถลางนั้น ท่านล้มเจ็บลง ท่านผู้หญิงจันต้องรับภาระแทนเช่นในเรื่องที่ได้เคยติดต่อทำมาค้าขายอยู่กับพระยาราชกปิตัน ยังไม่สามารถชำระหนี้สิน ได้เรื่องหนึ่ง ดังที่ท่านผู้หญิงจันได้มีหนังสือถึงพระยาราชกปิตันขอผัดผ่อนไว้ก่อน มีความที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง ดังนี้

“.. หนังถือท่านผู้หญิงมาถึงลาโตก ด้วยมีหนังสือไปนั้นได้แล้ว ครั้นจะเอาหนังสือเรียนแก่พระยาถลางๆ ป่วยหนักอยู่…แลมี (เรื่อง) ราวข่าวว่าพม่าจะมาตีเมืองถลาง ท่านพระยาถลางเจ็บหนักอยู่ ถ้าพม่ายกมาจริง ข้าเจ้าจะได้พึ่งลาโตกเป็นหลักที่ยุดต่อไป แลซึ่งว่าจะเอาดีบุก ค่าผ้านั้น ท่านพระยาถลางยังเจ็บหนัก มิได้ปรึกษาว่ากล่าวก่อน ถ้าพระยาถลางคลายป่วยแล้วจะได้ปรึกษาว่ากล่าวจุดเตือนให้..”

เนื้อความในจดหมายท่านผู้หญิงจันฉบับนี้ นอกจากเป็นหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ชั้นต้นที่ช่วยให้เห็นภาพเหตุการณ์ที่เจ้าเมืองถลางล้มเจ็บ ว่าเป็นเรื่องที่มีผลต่อความมั่นคงของบ้านเมืองแล้ว บุคคลในครอบครัวโดยเฉพาะผู้เป็นภรรยา ยิ่งต้องระทมทุกข์เป็นอย่างยิ่ง แต่ท่านผู้หญิงเป็นสตรีที่มีความเข้มแข็ง จึงหาทางผ่อนปรนกับพระยาราชกปิตันไว้ก่อน และที่เห็นในนํ้าใจภักดีของความเป็นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากก็คือ ท่านแบกรับภาระไว้เอง โดยไม่นำความเรียนให้ท่านพระยาถลางทราบ เพราะเกรงจะกระทบกับสภาพเจ็บป่วยของสามี

แต่แล้วพระยาถลางก็ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อกำลังเกิดศึกพม่าเข้าตีเมืองถลางพอดี ท่านผู้หญิงจัน พร้อมด้วยคุณมุกน้องสาวจึงเข้าแบกรับหน้าที่แทนพระยาถลางโดยไม่สามารถหลีกหนีได้

เหตุการณ์เมื่อทัพพม่าเข้าล้อมเมืองถลาง ซึ่งท่านผู้หญิงจันกับคุณมุกน้องสาวรวบรวมไพร่พลต่อสู้รักษาบ้านเมืองไว้คราวนั้น มีหลักฐานกล่าวไว้ว่า

“…ภรรยาถลางชื่อจัน กับน้องสาวอีกคนหนึ่ง (ชื่อมุก) เป็นคนใจกล้าหาญองอาจ จึงให้กรมการเกณฑ์ไพร่บ้านพลเมืองทั้งชายหญิง ออกตั้งค่ายรบกับพม่านอกเมือง ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบสู้รบกันอยู่ทุกวัน จนประมาณได้เดือนเศษพม่าก็หักเอาเมืองมิได้ ไพร่พลในกองทัพก็ขัดสนเสบียงอาหารลงก็จำเป็นต้องเลิกทัพกลับไป…”

“ฝ่ายกรมการเมืองถลาง ครั้นทัพพม่าเลิกกลับไปแล้ว ได้ข่าวว่าทัพหลวงสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จพระราชดำเนินออกมาตีทัพพม่าทางบกแตกไปสิ้นแล้ว จึงบอกข้อราชการมากราบทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานครฉบับหนึ่ง และขณะเมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จกลับเข้ามาถึงพระนครแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการให้มีตราออกไปยังเมืองถลาง ตั้งกรมการผู้มีความชอบในการสงครามเป็นพระยาถลางขึ้นใหม่ แล้วโปรดตั้งจันท์ภรรยาพระยาถลางเก่า ซึ่งออกต่อรบพม่านั้นเป็นท้าวเทพสตรี โปรดให้ตั้งมุกน้องหญิงนั้นเป็น ท้าวศรีสุนทร พระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่อิสตรีทั้ง ๒ คน ตามสมควรแก่ความชอบ ในการสงครามนั้น…”

แม้พงศาวดารจะบันทึกยุทธวิธีสู้รบกับข้าศึกไว้โดยรวบรัดว่า ท่านและน้องสาวได้เกณฑ์ไพร่พลออกตั้งค่ายรบนอกเมือง และใช้ปืนใหญ่น้อยโต้ตอบทุกวันนานประมาณ 9 เดือน แต่หากพิจารณาสภาพความเป็นจริง การยืนหยัดสู้ข้าศึกที่เหนือกว่าทั้งด้วยพละกำลังและศัตราวุธนานนับเดือน จนในที่สุดข้าศึกต้องล่าถอยกลับไปนั้น ต้องนับว่าผู้ที่จะกระทำเช่นนี้ได้ต้องมีทั้งความพากเพียรพยายาม ความหาญกล้าและจิตใจที่มุ่งมั่นอย่างถึงที่สุด

มีผู้ศึกษาชีวประวัติของท่าน ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า มูลเหตุที่ท่านผู้หญิงจันและคุณมุกจะเข้าสู้รบ ป้องกันราษฎรชาวเมืองด้วยฐานะของภรรยาและผู้อยู่ในครอบครัวเจ้าเมืองตามหน้าที่นั้น สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้เร่งระดมผู้คน โน้มน้าวจิตใจให้ร่วมกันต่อสู้โดยเร็ว คือ ท่านเห็นว่าบ้านเรือนทรัพย์สมบัติของท่านเองยังถูกทำลายเสียหายจนหมดสิ้น หากเป็นชาวบ้านชาวเมืองจะยิ่งเสียหายกว่ายิ่งนัก ถ้าไม่สามารถรวมพลต่อสู้ข้าศึกได้ก็จะไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เลย

บทบาทในฐานะเป็นแม่และการรักษาเกียรติยศชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล
แม้จะเสร็จศึกพม่าได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดินเป็นท้าวเทพกระษัตรี คู่กับท้าวศรีสุนทร ผู้เป็นน้องสาวแล้ว แต่ภารกิจของท่านท้าวเทพกระษัตรี ยังมิเสร็จสิ้นแต่เพียงนั้น

เพราะท่านยังต้องดูแลบำรุงเมืองจัดหาเสบียงอาหารให้พอเพียงแก่ผู้คนพลเมือง และครอบครัวของท่านเอง ดังที่ท่านผู้หญิงมีหนังสือไปถึงพระยาราชกปิตัน พรรณนาความยากลำบากขัดสน และขอความช่วยเหลือในการค้าขายต่อไป ดังนี้

“… หนังสือท่านผู้หญิงเจริญมายังท่านพระยาราชกปิตันเหล็กให้แจ้ง… แลอยู่ทุกวันนี้ ณ เมืองถลางพม่าตีบ้านเมืองเป็นจลาจล อดข้าวปลาอาหารเป็นหนักหนา ตูข้ายกมาตั้งทำดีบุก ณ ตะ (กั่ว) ป่า ได้ดีบุกบ้างเล็กน้อย เอาซื้อข้าวแพงได้เท่าใดซื้อสิ้นเท่านั้น…บัดนี้ท่านมาตั้งอยู่เกาะปุเลาปีนังแล้วใกล้กับเมืองถลาง แลท่านกับท่านผู้ตายได้เคยเป็นมิตรกันมาแต่ก่อน เห็นว่าจะได้พลอยพึ่งบุญรอดชีวิตเพราะสติปัญญาของท่านสืบไป…แลตูข้าได้แต่งนายแชม จีนเสมียนอิ่วคุมเอาดีบุกไปถึงท่านให้ช่วยจัดซื้อข้าวให้… ถ้าได้ข้าวแล้วนั้น ขอท่านได้ช่วยแต่งสลุบกำปั่นเอามาส่งให้ทัน ณ เดือน ๑๑ เห็นว่าจะได้รอดชี (วิต) เห็นหน้าท่านสืบไป…”

นอกจากนี้เนื่องจากบุตรชายของท่าน คือ พระยาทุกขราษฎร์ (เทียน) ซึ่งยังมิได้เป็นเจ้าเมืองถลาง ตามวงศ์ตระกูล ด้วยจิตสำนึกของผู้เป็นแม่ ความตระหนักในเกียรติยศของผู้สืบสายวงศ์ตระกูลเจ้าเมืองถลางแต่โบราณ รวมทั้งความเป็นผู้มีนํ้าใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและชาญฉลาด ท้าวเทพกระษัตรีจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ใหญ่ยิ่งอีกครั้ง คือ การเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสม เด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

เมื่อท้าวเทพกระษัตรีจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ครั้งนั้น ท่านได้เตรียมการต่างๆ อย่างพรักพร้อม ด้วยการจัดหาสิ่งของมีค่าเตรียมนำเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายตามธรรมเนียม เช่น ปืน ผ้าชนิดต่างๆ นํ้าหอม ต่างประเทศ ซึ่งล้วนเป็นของดีทั้งสิ้น ของเหล่านี้ท่านได้ติดต่อขอซื้อจากพระยาราชกปิตันเช่นเคยดังความในจดหมายเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๓๐ มีไปถึงพระยาราชกปิตันดังนี้

“…หนังสือข้าฯ ท่านผู้หญิง ปรนนิบัติมายังโตกพระยา (นายท่า) น ด้วย ณ เดือนแปด ข้างแรมนี้ ข้าพเจ้าจะเข้าไปกรุงเป็นแน่… แลให้โตกพระยานายท่านช่วยจัดปืนสุตันสัก ๕๐ บอก ผ้าขาวก้านแย่งลายเครือ ผ้าขาวอุเหม้าเนื้อดี แพรดาไหรสีต่างกัน นํ้ามันจันทร์ นํ้ากุหลาบ…แลข้าพเจ้าไปครั้งนี้โดยขัดสนหนักหนา สิ่งอันใดพระยานายท่านได้เห็นดู ข้าพเจ้าด้วยเถิด…ข้าฯ (จะ.) ว่ากล่าวคิดอ่านออกมาให้พระยาทุกราชทำการ ณ เมืองถลางดูสักครั้งแต่จะเอาบุญพระยานายท่านปกเป็นที่พึ่งด้วย. ..”

การซึ่งท้าวเทพกระษัตรีตั้งใจจะขึ้นไปกรุงฯ ครั้งนี้มีเหตุต้องเลื่อนไปก่อนเพราะท่านต้องจัดการเกี่ยวกับลูกหนี้ ซึ่งติดค้างเงินดีบุกของหลวงซึ่งมีตรามาเร่งรัดจนเรียบร้อย จึงเดินทางเข้ากรุงได้ในเดือน ๓ ดังความในหนังสือที่ท่านเล่าเรื่องไปยังพระยาราชกปิตันให้ช่วยหาสิ่งของเช่นเดิมซึ่งไม่ทราบว่า ในคราวก่อนท่านได้รับความช่วยเหลือแล้วหรือไม่ ดังนี้

“… หนังสือท่านผู้หญิง โอยพรสี่ประการมายังท่านพระยาราชกปิตัน ด้วยเดิมข้าพเจ้ามีหนังสือมาแก่ท่านโตกพระยาว่าจะขอลาเข้าไปบางกอก แลข้าพเจ้ายกไปจากถลาง แต่ ณ เดือน ๑๐ ไปค้างนํ้าอยู่ ณ เมืองใต้…ข้าพเจ้าจะเข้าไปบางกอก ณ เดือน ๓ เป็นแน่แล้ว โต (ก) พระยาท่านได้เห็นดูอย่าให้ข้าพเจ้าเข้าไปมือเปล่า ให้ช่วยหาปืนน้อยยอดสุตันสัก ๒ บอก… พร้อกบุญท่านช่วยอนุเคราะห์ ด้วยข้าพเจ้าเป็นผู้หญิงหามีที่เห็นหน้าผู้ใดคนอื่นไม่…”

และนอกจากสิ่งของมีค่านานาชนิดที่ตระเตรียมไปทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ท้าวเทพกระษัตรียังนำบุตรสาวนามว่า ทอง ไปน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นบาทบริจาริกาคนหนึ่ง และบุตรชายนามว่า จุ้ย ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กคนหนึ่ง บุตรสาวของท่านต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาในพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าหญิงยุคล ส่วนพระยาทุกขราษฎร์ผู้เป็นบุตรนั้น ต่อมาได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้เป็นพระยาถลาง มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาเพชรคีรีศรีสงคราม นับว่าจุดมุ่งหมายที่ท้าวเทพกระษัตรีเพียรพยายามเข้าไปดำเนินการ ณ เมืองกรุง บรรลุผลสำเร็จตามที่ตั้งไว้ทุกประการ

ในบั้นปลายชีวิตท้าวเทพกระษัตรี น่าจะมีชีวิตเป็นปกติสุขอยู่กับลูกหลาน ส่วนท้าวศรีสุนทรผู้เป็นน้องสาวไม่ปรากฏเรื่องราวว่าเป็นเช่นใด แต่สันนิษฐานว่าท่านคงอยู่กับพี่สาวต่อมา

หลักฐานสุดท้ายที่กล่าวถึงท้าวเทพกระษัตรี เป็นช่วงที่ท่านอยู่ในปัจฉิมวัย ดูเหมือนว่าจะมีสุขภาพไม่สู้เป็นปกติเท่าใดนัก ดังที่เจ้าพระยาเพชรคีรีศรีสงคราม พระยาถลางมีจดหมายไปถึงพระยาราชกปิตัน ผู้เป็นสหายเก่าแก่ของมารดาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๓๕ เรื่องการค้าขายโดยอ้างให้เห็นแก่ผู้เป็นมารดาด้วยว่า

“หนังสือเจ้าพระยาเพชรคิรีศรีสงคราม พระยาถลาง บอกมายังโตกพระยาท่าน ณ เกาะหมาก…แลบัดนี้ ตูข้าต้องการปืนสุตันสัก ๒๐๐ – ๓๐๐ บอก ให้ท่านช่วยจัดซื้อให้ มากับเครื่องทองเหลือง แม่ขันอาบนํ้าของซึ่งงกปิตันเลนเอามาแต่ก่อน โตกท่านเอ็นดูแก่คุณมารดาด้วยเถิด ด้วยทุกวันนี้ก็แก่ลงกว่า (แ) ต่ก่อนแล้ว ก็ขัดสนไม่สบายเหมือนแต่ก่อน…”

ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อใดไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นช่วงก่อนศึกพม่าใน พ.ศ. ๒๓๓๕ ซึ่งบุตรของท่านได้ไปราชการทัพพม่าที่เมืองมะริดทำหน้าที่ เช่น เดียวกับผู้เป็นมารดา และท่านน้าที่ได้ทำไว้แล้วแก่บ้านเมือง

เหตุการณ์วีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ได้เป็นความทรงจำของผู้คนในชั้นหลังมาทุกยุคทุกสมัย ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กวีสมัยรัตนโกสินทร์ ได้รจนาความเก่งกล้าสามารถขึ้นไว้มีความอันไพเราะและกินใจ ดังต่อไปนี้

ท้าวเทพกษัตรี (จันทร์)
• เมืองถลางปางพม่าล้อม ลุยรัณ
รอดเพราะคุณหญิงจันทร์ รับสู้
ผัวพญาผิอาสัญ เสียก่อน ก็ดี
เหลือแต่หญิงยังกู้ เกียรติ์ไว้ชัยเฉลิม

• เริ่มรบรุกตลบต้าน โจมตี
ทั้งสกัดตัดสเบียงที ดักก้าว
พม่าอดหมดพลังหนี จากเกาะ กระเจิงแฮ
กลศึกแพ้แม่ท้าว ไม่ท้อโถม ทนง

• อุบายรงค์คงคู่ใช้ สมเขบ็จ
ใครโฉดลงโทษเข็ด จึ่งยั้ง
ใครชอบตอบบำเหน็จ สมชอบ
ยั่วจิตถวายชีวิตตั้ง แต่สู้ริปูหาญ

• ไป่ท้านไป่ท้อไป่ เปิ่งมุด
เชื่อพระเดชพระพุทธ ยอดฟ้า
ลือหึ่งว่าถึงอยุท- ธยาล่ม แล้วแฮ
มานะห่อนละกล้า กราดป้องหงองไฉน

• พลไทสมทบทั้ง ชายหญิง
โรมรุธสัประยุทธ์ยิง เลิกแพ้
ถวิลเดียวจะเฉี่ยวชิง ชัยขจัด อรินแฮ
ฉลองพระคุณเจ้าแม้ ชีพม้วยอวยถวาย

• เพราะนางนายทัพกล้า เกรียงญาณ
ชักฝ่ายหญิงชายทหาร เหิ่มแกล้ว
สมสั่งประดังผลาญ พม่าล่า ประลัยแฮ
เมืองมั่นขวัญไทแผ้ว ผึ่งหล้าฉ่าเฉลิม

• เผยเพิ่มพิระศักดิ์ก้อง โลกี
ท้าวเทพกษัตรี โปรดตั้ง
เป็นเยี่ยงสตรีศรี อยุธเยศ แม่เอย
ชีพดับเกียรติศัพท์ยั้ง อยู่ช้าชวนถวิล

• แผ่นดินพุทธยอดฟ้า ฝังใจ
พันลึกปัจจนึกภัย พ่างดิ้น
หากครบนักรบไท เอกเอก อนันต์แฮ
ไทยจึ่งไทยไป่สิ้น สืบเชื้อชูสยาม

• พระรามอธิราชเจ้า จักรี วงศ์เอย
ผยองพระฤทธิบารมี แมกกล้า
เหตุอมาตย์ราชเศรณี สนองภัก – ดีนา
ข้าผึ่งเดชพึ่งเจ้า จึ่งพื้นยืนเกษม สันติ์แล ฯ

คำเริงสดุดี สตรีไทยนักรบ
• เกิดเป็นไทยชายหญิงไม่นิ่งขลาด แสนสมัครักชาติศาสนา
กตัญญูสู้ตายถวายชีวา ต่อเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินสิ้นทุกคน

ยามสบายปล่อยชายเป็นนายทหาร ครั้นเกิดการศึกเสือเมื่อขัดสน
พวกผู้หญิงใช่จะทิ้งนิ่งอับจน ออกต่างขวนขวายช่วยม้วยไม่กลัว

เปลก็ไกวดาบแกว่งแข็งหรือไม่ ไม่อวดหยิ่งหญิงไทยมิใช่ชั่ว
ไหนไถถากกรากกรำไหนทำครัว ใช่รู้จักแต่จะยั่วผัวเมื่อไร

แรงเหมือนมดอดเหมือนกากล้าเหมือนหญิง นี่จะจริงเหมือนว่าหรือหาไม่
เมืองถลางปางจะจอดรอดเพราะใคร เพราะหญิงไทยไล่ฆ่าพม่าแพ้

เครื่องกลไกเพราะไอผลักให้วิ่ง เหมือนผู้หญิงยวนชายตะกายแต้
เลี้ยงให้อ้วนชวนให้กล้าท้าให้แย ใช่อ้อแอ้อ่อนอุบายเช่นชายงง

กรุงศรีอยุทธยาใครอย่าหยาม มีวันทรามยามดีมีวันส่ง
มีคราจ้าครามึนขึ้นขึ้นลงลง แต่ไทยคงเป็นไทมิใช่ทราม ฯ

อธิษฐาน
ขึ้นชื่อไทยใจกล้าใครอย่าหมื่น รัตน์โกสินทร์เอกอมรนครสยาม
รวยคนดีสีห์สง่ากล้าสงคราม ชั้นหญิงไทยไม่คร้ามต่อความตาย ฯ

ฤทธิ์รักชาติศาสนามหากษัตร์ โสมนัสมอบชีวาบูชาถวาย
ขอพระวงศ์จักรีนิรันตราย เป็นเจ้านายนิรันดรสมพร เทอญ ฯ

สรรเสริญพระบารมี
พระเดชพระมหากษัตร์ศึก ปราบปัจจนึกนิกรพม่าแตกล่าหนี
เหมือนช้างโขลงโผงแผ่แพ้ฤทธี มนุษน้อยปางนี้น่าอัศจรรย์ ฯ

สร้อย
โอ้ยามดึกพาละมฤคคร่ะทึมหน เสือสีห์พิกล
เสียวเสียงคำรณเลวงไพร สยดสยองคนองไฉน
สง่ามิเหมือนสง่าชัย อำนาจชาติไทยสง่าเอย ฯ

ศึกพม่าคราไหนไม่ใหญ่เหมือน เปรียบเหมือนเลื่อนลูกหีบหนีบนิ้วสั้น
โอ้นิ้วเพ็ชร์เด็ดดัสกรทัน ผองพม่าอาสัญครั่นสงคราม ฯ

สร้อย
โอ้ดวงอังสุมาลีที่ร่อนหาว แสงฉายพร่ะพราว
แสนสวะว่ะวาวเวิ้งพนม สว่างไสวน่าใคร่ชม
ถวิลมิเหมือนบาทบรม ข้าน้อยนิยมพระเดช เอย ฯ

ขอพระวงศ์จักรีจีระฐิต อาญาสิทธิ์ปกชีวาประชาสยาม
ขอกรุงรัตนโกสินทร์ภิญโญงาม อย่ารู้ทรามเกษมสันติ์นิรันดรเอย ฯ

สร้อย
โอ้เอื้องฟ้าลดาสวรรค์วันะสถาน รเหยหอมพนานต์
เฉียวฉุนเสาวมาลย์เมื่อลมพา ชื่นผลูบรู้รา
มิเหมือนพระมิ่งมงกุฎพุทธยอดฟ้า พระเกียรติยศคู่หล้าเหลือลืม เอย ฯ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: บุหลง ศรีกนก

สมเด็จเจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี

เป็นพระราช ชายานารีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลักฐานเก่าใช้ กุลฑลทิพยวดี หรือ กุณฑลทิพยวดี ก็มี

พระนามเดิมของสมเด็จเจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี คือ พระองค์เจ้าหญิงจันทบุรี พระราชธิดาองค์ที่ ๒๓ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติจากเจ้าจอมมารดาทองสุก หรือเจ้านางทองสุก (พระราชธิดาของพระเจ้าอินทวงค์ แห่งนครเวียงจันทน์) ประสูติเมื่อปีมะเมีย สัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๑๖๐ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๑)

ต่อมา เจ้าจอมมารดาทองสุก พระมารดาสิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ. ๒๓๔๖ เวลานั้นสมเด็จเจ้าฟ้า กุณฑลทิพยวดี มีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา เจ้าจอมแว่น ซึ่งเป็นบาทบริจาริกาชาวเวียงจันทน์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงรับหน้าที่เป็นผู้อภิบาลพระองค์สืบต่อมา

เหตุการณ์สำคัญเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ มีหลักฐานจาก พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ได้กล่าวถึงว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีตามเสด็จพระราชดำเนินไปทรงลอยพระประทีปที่พระตำหนักแพ ครั้นพอถึงเวลาจุดดอกไม้ไฟ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระชนกนาถ ทรงพระกรุณาว่ากำลังประชวรพระเนตรอยู่ จึงโปรดให้เสด็จกลับพระตำหนัก ระหว่างทางเสด็จกลับนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงประสบอุบัติเหตุพลัดตกลงแม่นํ้า แต่ทรงไม่เป็นอันตราย เพราะทรงเกาะทุ่นหยวกไว้ได้ ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า

…พระเจ้าลูกเธอ พระองค์หญิงองค์ ๑ ปรากฏพระนามว่า พระองค์เจ้าจันทบุรี … เสด็จกลับขึ้นมาถึงเรือบัลลังก์กับตำหนักแพต่อกันพลาดตกนํ้าหายไป พี่เลี้ยงนางนมร้องอื้ออึงขึ้น คนทั้งปวงตกใจพากันลงนํ้าเที่ยวค้นหา จึงพบพระองค์เจ้าลูกเธอพระองค์นั้น เกาะทุ่นหยวกอยู่ท้ายนํ้า หาได้เป็นอันตรายไม่ เป็นอัศจรรย์…

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพิจารณาด้วยพระกรุณาจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ว่า พระราชธิดาพระองค์นี้ทรงกำพร้าพระมารดามาแต่ทรงพระเยาว์ ทั้งยังทรงดำรงฐานะเป็นพระราชนัดดา แห่งเจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ สมควรสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เลื่อนชั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑล ทิพยวดี เมื่อวันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีเถาะนพศก จ.ศ. ๑๑๖๙ ตรงกับวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๕๐ ดังปรากฏพระบรมราชโองการใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ตอนหนึ่งว่า

…พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ เจ้าจอมมารดาก็เป็นบุตรีเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต สิ้นชีพเสียแต่เมื่อปีกุนเบญจศก แต่พระชนม์พระองค์เจ้าได้ ๕ พรรษา ไม่มีมารดา ทรงพระกรุณามาก พระองค์เจ้านี้ อัยกาก็เป็นเจ้าประเทศราชยังดำรงชีพอยู่ ควรจะสถาปนาให้มีอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๒ ค่ำ จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระนาม ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๓ ค่ำ พระราชทานสุพรรณบัฏ เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี แล้วมีงานสมโภชอีก ๓ วัน

ในปี พ.ศ. ๒๓๕๑ สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมีพระชนมายุได้ ๑๑ พรรษา ครบกำหนดโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีโสกันต์ เจ้าฟ้าตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า เพื่อให้เป็นแบบแผนไว้ในแผ่นดินสืบต่อไป นับว่าเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์เต็มตามตำรา โบราณราชประเพณีทุกประการ ดังปรากฏหลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ตอนหนึ่งว่า

ในปีมะโรงสัมฤทธิศกนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี พระชนมายุได้ ๑๑ พรรษา ถึงกำหนดโสกันต์ ทรงพระราชดำริว่าตั้งแต่ตั้งแผ่นดินมา ยังหาได้กระทำการพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าให้เต็มตามตำราไม่ และแบบแผนพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าอย่างครั้งกรุงเก่านั้น เจ้าฟ้าพินทวดี พระราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงแนะสอนไว้ ในพระราชวังบวรฯ ครั้งโสกันต์พระองค์เจ้า ๓ พระองค์เป็นเยี่ยงอย่างอยู่แล้ว จึงโปรดให้เจ้าพนักงานตั้งเขาไกรลาศ ณ ชาลาในพระราชวัง ตั้งการพระราชพิธี มีเตียง พระมณฑป บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและตั้งราชวัติฉัตรรายทางนั่งกลาบาต และมีการเล่นต่างๆ ตลอดสองข้างทางที่จะเดินกระบวนแห่แต่ประตูราชสำราญมา

หลังจากที่สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีโสกันต์ได้เพียงปีเดียว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระชนกนาถก็เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ เป็นรัชกาลที่ ๒ ครั้งนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงพระเจริญวัยขึ้นมากพระสิริโฉมงดงามยิ่ง ทั้งยังทรงเพียบพร้อมไปด้วยพระคุณลักษณะที่อ่อนหวานละมุนละไม จนเป็นที่เลื่องลือกล่าวขวัญกันทั่วไปในราชสำนัก ครั้นเมื่อถึงเวลามงคลฤกษ์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ในฐานะพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก ทางฝ่ายในกำหนดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงเป็นผู้เชิญเสด็จฯ เข้าสู่พระมหามณเฑียรเป็นปฐมฤกษ์

เหตุการณ์ครั้งนั้น มีเกร็ดเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ความงามของสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เป็นชนวนที่ทำให้สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงขุ่นเคืองพระทัยพระราชสวามีมาตราบจนสิ้นรัชกาล เหตุที่ตอนแรกนั้น สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงตั้งพระทัยที่จะถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีอยู่ก่อนแล้ว ถึงกับตรัลชมความงามของสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีต่อเบื้องพระพักตร์ แต่ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงทำทีเป็นไม่สนพระราชหฤทัย ทั้งยังทรงตำหนิสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ดังนั้นในเวลาต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีขึ้นดำรงตำแหน่ง พระราชชายานารี จึงทำให้สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงขัดเคืองพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับเสด็จฯ ไปอยู่กับสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระราชโอรส ที่พระราชวังเดิม และไม่เสด็จฯ เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกต่อไปตราบจนสิ้นรัชกาล

เนื่องจากสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงเป็นผู้ที่มีพระจริยวัตรที่นุ่มนวลอ่อนโยน เปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณาต่อบุคคลทุกชนชั้น ทั้งยังทรงมีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เป็นนิจ จึงมิได้ทรงถือพระองค์ว่าเป็นที่โปรดปรานแต่ประการใด โดยเฉพาะทรงถวายความเคารพนบนอบต่อสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ด้วยพระอุปนิสัยดังกล่าวนี้ จึงเป็นส่วนส่งเสริมให้สมเด็จ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงสามารถชนะพระทัยสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ได้สำเร็จในที่สุด นับว่าสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงเป็นผู้ที่มีความเพียรในการประกอบกรรมดีโดยแท้จริง และเนื่องจากพระองค์ทรงยึดมั่นศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาอย่างมั่นคงตลอดมา ยังผลให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชสวามี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ทรงรับหน้าที่ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์เป็นงานหลวงมาจนตลอดรัชสมัย

สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี มีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวม ๔ พระองค์ คือ
๑. เจ้าฟ้าอาภรณ์ ประสูติวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๓๕๙ ในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงช่วยกำกับกรมพระคชบาล สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๑ ทรงเป็นต้นราชสกุล อาภรณกุล

๒. เจ้าฟ้าชายกลาง ประสูติวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๓๖๒ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงรับราชการในกรมวัง ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า เจ้าฟ้ามหามาลา และทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่น และกรมขุนปราบปรปักษ์ตามลำดับ โปรดให้กำกับราชการในกรมวัง กรมพระคชบาล และกรมสังฆการีธรรมการ ในรัชกาลที่ ๕ เลื่อนเป็นกรมพระบำราบปรปักษ์และสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่พร้อมกันสมมุติให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนัก และว่าราชการในพระคลังทั้งปวง ต่อมาได้ทรงว่าราชการในกระทรวงมหาดไทยอีกกระทรวงหนึ่ง สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ทรงเป็นต้นราชสกุล มาลากุล

๓. เจ้าฟ้าหญิง ประสูติในวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๖๓ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๒

๔. เจ้าฟ้าชายปิ๋ว ประสูติในวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๖๕ สิ้นพระชนม์ ในรัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๘๓

สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเป็นพระราชมารดาที่ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เป็นผลให้บรรดาพระราชโอรสทั้งสามพระองค์ ต่างก็ทรงได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ โปรดให้สุนทรภู่ กวีเอกในสมัยนั้น เป็นผู้ถวายพระอักษรแก่พระราชโอรสทุกพระองค์ ซึ่งในเวลาต่อมาได้ปรากฏงานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าของสุนทรภู่ ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ถึงสองเรื่อง คือ เรื่อง สวัสดิรักษาคำกลอน แต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ และเรื่อง เพลงยาวถวายโอวาท แต่งถวาย เจ้าฟ้าชายกลางและเจ้าฟ้าชายปิ๋ว ตามลำดับ

ครั้นเมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ใน พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๓ สืบต่อมา ครั้งนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงต้องทำหน้าที่พระมารดา ดูแลอบรมพระราชโอรสทั้งสามพระองค์ด้วยความเข้มแข็ง ทั้งยังทรงถือเป็นธุระในการถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์อยู่เป็นนิจ ตามที่พระราชสวามีทรงมอบหมายหน้าที่ไว้แต่เดิม ด้วยความจงรักภักดี นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงนํ้าพระทัยที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรมของพระองค์ ที่ทรงรับอุปการะสุนทรภู่อยู่ระยะหนึ่ง ในช่วงที่กวีเอกผู้นี้ตกอยู่ในฐานะลำบาก ยากเข็ญ จนถึงกับต้องไปอุปสมบทจำพรรษาอยู่ที่วัดราชบูรณะ ดังปรากฏหลักฐานตอนท้ายเรื่อง เพลงยาวถวายโอวาท ซึ่งสุนทรภู่ได้ถวายพระพรแด่สมเด็จเจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี และพระราชโอรสว่า

ควรมิควรส่วนผลาอานิสงส์ ซึ่งรูปทรงสังวรรัตน์ประภัสสร
ให้สี่องค์ทรงมหาสถาวร ถวายพรพันวษาขอลาเอย

ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงพระประชวรด้วยพระโรคโบราณ มาเป็นเวลานาน และสิ้นพระชนม์เมื่อวันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีจอสัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๒๐๐ ตรงกับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๘๑ รวมพระชนมายุ ๔๐ พรรษา

พระประวัติสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีนั้น เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงคุณลักษณะของกุลสตรีไทยที่มีความยึดมั่นในหลักธรรมพรหมวิหาร ๔ ในการดำเนินพระชนม์ชีพมาโดยตลอด ด้วยทรงเป็น “ผู้ให้” ที่ ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข โดยมิได้หวังผลตอบแทน ตราบจนคุณความดีนั้นส่งผลให้พระองค์ทรงประสบกับความสุขและความสำเร็จในที่สุด

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: อรวรรณ ทรัพย์พลอย

เจ้าจอมแว่น

สนมเอกผู้จงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือ เจ้าจอมแว่น หรือคุณเสือเจ้าจอมแว่น

เจ้าจอมแว่นเป็นชาวเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๒ ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมากรุงเทพฯ ขณะที่พระองค์ยังดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ และทรงเป็น แม่ทัพยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ ใน พ.ศ. ๒๓๒๑ ในครั้งนั้น ได้ “…กวาดครอบครัวลาวชาวเมืองกับทั้งพระราชบุตรธิดา วงศานุวงศ์และขุนนางท้าวเพี้ยทั้งปวง กับทรัพย์สิ่งของเครื่องศาสตราวุธ และช้างม้าเป็นอันมาก และเชิญพระพุทธปฏิมากรพระแก้วมรกต พระบาง เลิกทัพกลับมายังกรุงธนบุรี…”

เจ้าจอมแว่นได้ถวายความจงรักภักดี หลังจากตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมายังกรุงเทพฯ ปฏิบัติรับใช้ใกล้ชิดพระองค์ตลอดมา จนกระทั่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติและสวรรคต เจ้าจอมแว่นเป็นสนมเอกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดปรานไว้วางพระราชหฤทัย และพระราชทานอภัยโทษให้เสมอ มีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาเป็นส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องราวของเจ้าจอมแว่น นับตั้งแต่เริ่มแรกที่ตามเสด็จฯ มาถึงกรุงเทพฯ ตามที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง โครงกระดูกในตู้ ความว่า

“เมื่อเจ้าจอมแว่นมาอยู่ในทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยาฯ แล้ว ท่านผู้หญิงก็หึงหวงมาก มีปากเสียงกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ด้วยเรื่องคุณแว่นนี้อยู่บ่อยๆ

จนคืนวันหนึ่ง ท่านผู้หญิงถือดุ้นแสมไบ่ยืนคอยดักอยู่ในที่มืด บนนอกชานเรือน พอคุณแว่นเดินออกมาจากเรือนหลังใหญ่ อันเป็นที่อยู่ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านผู้หญิงก็เอาดุ้นแสมตีหัว คุณแว่นก็ร้องขึ้นว่า

“เจ้าคุณขา คุณหญิงตีหัวดิฉัน”

สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็โกรธยิ่งนัก ฉวยได้ดาบออกจากเรือนจะมาฟันท่านผู้หญิง ฝ่ายท่านผู้หญิงก็วิ่งเข้าเรือนที่ท่านอยู่ แล้วปิดประตูลั่นดาลไว้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เอาดาบฟันประตูอยู่โครมๆ”

เจ้าจอมแว่นรับราชการในพระองค์โดยมิได้มีพระองค์เจ้า และทำหน้าที่ดูแลบรรดาพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์อย่างเข้มงวด จนเป็นที่ เกรงกลัวได้รับฉายาว่า “คุณเสือ” โดยส่วนตัว เจ้าจอมแว่นคงต้องการ มีพระองค์เจ้าดังปรากฏความใน สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๔ ความว่า

“…ที่ในวิหารพระโลกนาถมีรูปจำหลักด้วยศิลาอ่อนทำเป็นเด็กแต่งเครื่องอาภรณ์ติดฝาผนังไว้ ๒ ข้างพระพุทธรูป เล่ากันมาว่าเมื่อสร้างวัดพระเชตุพนนั้น เจ้าจอมแว่นพระสนมเอกผู้เป็นราชูปถาก ซึ่งเจ้านายลูกเธอเกรงกลัวเรียกกันว่า “คุณเสือ” อีกนาม ๑ กราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ว่า อยากจะทำบุญอธิษฐานขอให้มีลูก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปเด็ก ๒ รูป อย่างเป็นเครื่องประดับพระวิหาร…”

การทำเช่นนี้ เป็นความใน ที่รู้กันในหมู่คนใกล้ชิดไม่ได้เป็นที่เปิดเผย แต่มีความปรากฏในจารึกคำโคลงใต้ภาพเด็ก ข้างพระพุทธรูปในวิหารพระโลกนาถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ความว่า

“รจนาสุดารัตนแก้ว กุมารี หนึ่งฤๅ
เสนออธิบายบุตรี ลาภไซร้
บูชิตเชษฐชินศรี เฉลาฉลัก หินเฮย
บุญส่งจงลุได้ เสด็จด้วยดั่งถวิล

กุมารหนึ่งพึงฉลักตั้ง ติดผนัง
สถิตย่อยู่เบื้องหลัง พระไว้
คุณเสือสวาดิหวัง แสวงบุตร ชายเฮย
เฉลยเหตุธิเบศร์ให้ สฤษดิแสร้งแต่งผล”

ผู้คนมักนิยมไปกราบไหว้บูชาพระพุทธโลกนาถ ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในปัจจุบัน เพราะเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องให้บุตร และจะประสบผลสำเร็จหากขอในคืนวันเพ็ญ ซึ่เป็นวันสำคัญทางพุทธศาศนา นอกจากสร้างรูปเด็กถวายประดับในวิหารพระโลกนาถแล้ว ในงานเทศน์มหาชาติครั้งหนึ่ง เจ้าจอมแว่น ยังทำกระจาดใหญ่ใส่เด็กผมจุกแต่งเครื่องหมดจดงดงาม ติดกัณฑ์เทศน์ถวายเป็นสิทธิขาด นับเป็นความคิดแปลกแหวกแนว อาจจะสืบเนื่องมาจากความต้องการมีพระองค์เจ้าเป็นอย่างยิ่งก็เป็นได้

เจ้าจอมแว่นถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และถวายสืบต่อมาถึงบรรดาพระเจ้าลูกเธอด้วย โดยถวายการดูแลเคร่งครัดเป็นที่เกรงกันในบรรดาพระเจ้าลูกเธอรุ่นเล็กที่ยังทรงพระเยาว์ ในส่วนพระเจ้าลูกเธอรุ่นใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น ทรงสนิทสนมมากกับเจ้าจอมแว่น ตรัสเรียกชื่อว่า ‘พี่แว่น’ เมื่อมีปัญหาส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นที่ขัดพระราชหฤทัยก็ได้ทรงอาศัยพี่แว่นช่วยเพ็ดทูลความต่างๆ ได้ เนื่องจากเป็นคนโปรดและทรงทราบว่า จงรักภักดีอย่างยิ่ง จึงได้รับพระราชทานอภัยเสมอ ดังเหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงพระครรภ์กับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าจอมแว่นเป็นผู้กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบ โดยขอพระราชทานไม่ให้กริ้วมาก และในปลายรัชสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระโกศทองใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๑ ครั้นสร้างแล้วเสร็จ มีรับสั่งให้เชิญไปตั้งถวายให้ทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งเป็นที่ประทับ ตั้งอยู่หลายวันก็มิได้ตรัสให้ยกไปเก็บในคลัง จนบรรดาข้าราชบริพารต่างพากันไม่สบายใจเห็นเป็นลางร้าย เจ้าจอมแว่นเป็นผู้กราบบังคมทูลวิงวอนให้ยกไปเก็บ พระองค์มีรับสั่งว่า

“…กูทำสำหรับให้ตัวกูเอง
จะเป็นอัปมงคลทำไม…” กับทั้งตรัสว่าไม่ทรงถือ ถ้าหากว่า “…ไม่เอามาตั้งดู ทำไมกูจะได้เห็น…” แต่ก็โปรดเกล้าฯ ให้ยกพระโกศไปเก็บตามคำกราบบังคมทูล

นอกจากจะถวายการรับใช้ใกล้ชิดพระองค์แล้ว เจ้าจอมแว่นยังเป็นผู้มีฝีมือในการปรุงอาหารด้วย กล่าวกันว่าท่านเป็นต้นคิดประดิษฐ์ขนมไข่เหี้ยขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชประสงค์จะเสวยไข่เหี้ย ซึ่งสมัยโบราณนิยมกินกับมังคุด แต่ขณะนั้นหาได้ยาก เจ้าจอมแว่นจึงคิดประดิษฐ์ขนมไข่เหี้ยขึ้นถวายแทน

บรรดาพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ้าจอมแว่นก็ได้ถวายอภิบาลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เนื่องจากเจ้าฟ้ากุณฑลฯ มีพระมารดา คือเจ้าหญิงทองสุก เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอินทวงศ์ เจ้ากรุงเวียงจันทน์ และทรงกำพร้าพระชนนี ตั้งแต่พระชนม์ ๕ พรรษา เมื่อสิ้นรัชกาลแล้ว เจ้าจอมแว่นว่างราชการ จึงรับเป็นธุระถวายอภิบาลเจ้าฟ้ากุณฑลฯ ตลอดมา เพราะต่างมีเชื้อสายเป็นชาวเวียงจันทน์ด้วยกัน จนกระทั่งเจ้าฟ้ากุณฑลฯ ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และด้วยความเข้มแข็งและเฉียบขาดตาม ฉายา “คุณเสือ” เจ้าจอมแว่นได้ทำให้เจ้าฟ้ากุณฑลฯ ทรงอยู่ในราชสำนักได้อย่างผาสุก และยังได้ถวายอภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ๓ พระองศ์ต่อมา คือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ากลาง (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์) และเจ้าฟ้าปิ๋ว และเจ้าจอมแว่นถึงแก่อนิจกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ศิรินันท์ บุญศิริ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนรินทรเทวี

เป็นพระน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิมว่า กุ มีพระสมญานามที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “เจ้าครอกวัดโพธิ์” ที่มาของคำนี้ อาจสันนิษฐานถึงที่มาได้ดังนี้ คำว่า “เจ้าครอก” หมายถึง การเป็นเจ้าโดยกำเนิดมิได้ยกย่องหรือแต่งตั้ง ส่วนคำว่า “วัดโพธิ์” มาจากวังที่ประทับติดกับวัดโพธิ์ ปัจจุบันคือบริเวณที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาส

พระองค์เจ้ากุเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ ๖ ในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) และพระน้องนางร่วมพระชนกชนนีกับพระอัครชายา (หยก บางแห่งว่า ดาวเรือง) ผู้เป็นพระบรมราชชนนีแห่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระชนกทั้งสิ้น ๗ พระองค์ ดังปรากฏหลักฐานในราชสกุลวงศ์ “ลำดับปฐมวงศ์” ว่า

สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระองศ์ผู้เป็นต้นพระบรมราชวงศ์จักรี พระนามเดิมว่า ทองดี พระอัครชายา พระนามเดิมว่า หยก มีพระโอรสธิดา ๗ พระองศ์ นับเป็นชั้นที่ ๑ ในปฐมวงศ์ คือ

๑. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี

๒. พระเจ้ารามณรงค์

๓. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์

๔. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

๕. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
ทั้ง ๕ พระองค์นี้ประสูติแต่พระอัครชายา (หยก)

๖. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ประสูติแต่พระน้องนางของพระอัครชายา (หยก)

๗. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ประสูติแต่เจ้าจอมมารดามา

สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกมีพระชายา ๓ องค์ คือ พระอัครชายา (หยก) เป็นลำดับที่ ๑ หลังจากพระอัครชายา (หยก) ทิวงคตแล้ว พระน้องนางของพระอัครชายา (หยก) เป็นพระชายาลำดับที่ ๒ และ เจ้าจอมมารดามา เป็นลำดับที่ ๓ ปรากฏความในปฐมวงศ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวลำดับประวัติความเป็นมาของพระปฐมบรมราชวงศ์จักรี ดังนี้

“จะขอกล่าวถึงความประวัติเป็นไปต่างๆ ในโลกนี้ จนถึงกาลเมื่อละโลกนี้ล่วงไปยังปรโลกของพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นบุรพบุรุษในพระบรมราชวงศ์อันนี้ซึ่งเป็นชั้นต้น คือสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี แลสมเด็จพระปัยยิกาใหญ่ แลสมเด็จพระปัยยิกาน้อย ๓ พระองค์ แลชั้นสองคือ พระโอรส พระธิดาของสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีทั้ง ๗ พระองค์…

สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีนั้น ทราบแต่ว่าได้ดำรงพระชนมายุแลสุขสมบัติ ครอบครองสกุลใหญ่ และมีอำนาจในราชกิจดังกล่าวแล้วอยู่สิ้นกาลนาน จนตลอดเวลาพม่าข้าศึกเข้าล้อมกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ในคราวที่กรุงจะแตกทำลายนั้น

สมเด็จพระปัยยิกาพระองค์ใหญ่นั้น ได้มีพระเอารส พระธิดา ๕ พระองค์ แล้วก็สิ้นพระชนม์ล่วงไปโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อสิ้นพระชนม์นั้นพระชนมายุเท่าไรไม่ทราบถนัด พระปัยยิกาพระองค์น้อยได้รับปรนนิบัติสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีในที่นั้นต่อมา ได้ประสูติพระธิดาพระองค์หนึ่งแล้ว จะสิ้นพระชนม์เมื่อใดก็หาได้ความเป็นแน่ไม่ ได้ความเป็นแน่แต่ว่าเมื่อเวลาพม่าเข้าล้อมกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เวลาที่สุดนั้น สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีมีพระดำริจะออกจากกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา หลีกหนีข้าศึกไปอยู่ให้ห่างไกล จะชักชวนพระเอารสพระธิดาทั้งปวงตามเสด็จไปด้วยพร้อมกัน พระเอารส พระธิดาทั้ง ๖ พระองค์ที่ทรงพระเจริญแล้วนั้นได้แยกย้ายไปตั้งสกุลอื่น มีพระบุตร พระบุตรี เกี่ยวข้องเป็นห่วงใยพัวพันมากมาย จะรวบรวมมาพร้อมเพรียงกันแล้ว คุมเป็นพวกใหญ่ ออกไปโดยง่ายหาได้ไม่ เมื่อได้ช่องจึงได้พาแต่พระกุมารพระองค์น้อยกับหญิงบาทบริจาริก ซึ่งเป็นหม่อมมารดาของพระกุมารนั้นไปอาศัยอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก…”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ทรงอภิเษกกับหม่อมมุก นายกวดหุ้มแพร มหาดเล็ก ครั้งกรุงธนบุรี บุตรเจ้าพระยามหาสมบัติ (ผล) ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ มีพระโอรส ๒ พระองค์ คือ

๑. พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนรินทรเทพ (พระองศ์เจ้าชายฉิม)

๒. พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรนทร์บริรักษ์ (พระองศ์เจ้าชายเจ่ง)

ปรากฏหลักฐานในลำดับปฐมวงศ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

“กรมหลวงนรินทรเทวีนั้น เมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรีได้กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ ซึ่งคนเป็นอันมากเรียกว่า กรมหมื่นมุกเป็นพระภัสดา ได้ประสูติพระบุตรพระองค์หนึ่ง คือ กรมหมื่น นรินทรเทพแล้ว มาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติพระบุตรอีกพระองค์หนึ่ง คือ กรมหมื่นนเรนทรบริรักษ์ กรมหมื่นซึ่งเป็นพระบุตรทั้งสองนั้น ก็ได้เป็นต้นวงศ์ของหม่อมเจ้าชาย หม่อมเจ้าหญิงเป็นอันมากสืบลงมา ”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี สิ้นพระชนม์เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๗๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นต้นสกุล “นรินทรกุล” พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ แรม ๑๔ ค่ำ ปีชวด จ.ศ. ๑๑๙๐ (พ.ศ. ๒๓๗๑) ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สถาปนาพระนามพระอัฐิเป็น “กรมหลวงนรินทรเทวี” เนื่องจากทรงเห็นว่า ยังไม่มีพระนามบรรดาศักดิ์ ดังปรากฏในคำประกาศตั้งพระอัฐิ หนังสือจดหมายเหตุ เรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ว่า

“ในรัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งกรมพระอัฐิเจ้านายอีก ๓ พระองค์ ตั้งเมื่อปีใดใน จดหมายเหตุอาลักษณ์หาปรากฏปีไม่ คือ

พระเจ้าไอยิกาเธอ พระองค์เจ้ากุ เป็นกรมหลวงนรินทรเทวี พระองค์ ๑ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชี เป็นกรมขุนรามินทรสุดา พระองค์ ๑ สมเด็จพระมาตุจฉาฯ เป็นกรมขุนอนัคฆนารี พระองค์ ๑

มีจดหมายเหตุอาลักษณ์ อยู่ดังนี้
ทรงตั้งพระอัฐิ กรมหลวงนรินทรเทวี
ทรงตั้งพระอัฐิ กรมขุนรามินทรสุดา
ทรงตั้งพระอัฐิ กรมขุนอนัคฆนารี

ประกาศตั้งพระอิฐ
ทรงพระราชดำริว่าพระบรมราชวงศ์อันนี้ ได้ดำรงถาวรวัฒนาการมา พระราชวงศานุวงศ์มีพระบรมธรรมิกราชาธิราช ๔ พระองค์ด้วยกัน บางพระองค์ได้ดำรงมามีพระนามปรากฏโดยบรรดาศักดิ์นั้นๆ บางพระองค์ทิวงคตเสียก่อน แต่ยังมิได้สร้างพระนครนี้ก็มี บางพระองค์ก็ดำรงมาแต่หามีพระนามปรากฏตามบรรดาศักดิ์ไม่ มีแต่พระอัฐ ซึ่งได้เชิญประดิษฐานไว้ในหอพระอัฐิข้างใน ในหอพระอัฐิข้างนอก เมื่อคราวใดพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแลพระราชวงศานุวงศ์คิดถึงพระเดชพระคุณ และจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระราชวงศานุวงศ์ซึ่งทิวงคตแล้ว ยังมีอยู่แต่พระอัฐินั้นๆ ก็หามีสำคัญที่จะออกพระนามให้รู้ชัดโดยสะดวกได้ไม่ อนึ่งเมื่อคราวใดจะกล่าวเรื่องราวในพระราชพงศาวดาร ก็ออกพระนามผิดบ้าง ถูกบ้างไม่ต้องกัน ยากที่จะเข้าใจได้ จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้ประกาศแก่พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรม แลพระราชวงศานุวงศ์แลข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงให้รู้จงทั่วกันว่า พระอัฐิพระบรมชนกนาถในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นพระบรมไอยกาใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระบรมไปยกาในพระบาทสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช แลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ให้เรียกว่า พระอัฐิในสมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดี

อนึ่ง พระราชธิดาผู้ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น ยังหามีพระนามปรากฏโดยบรรดาศักดิ์ไม่ เพราะว่าเจ้าต่างกรมแลพระองศ์เจ้าฝ่ายในในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่าพระบรมวงศ์เธอทั้งสิ้นแล้ว บัดนี้จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้เรียกพระอัฐิพระราชธิดาผู้ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกว่าพระอัฐิในพระประถมบรมวงศ์

อนึ่ง พระเจ้าน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นยังหามีพระนามปรากฏโดยบรรดาศักดิ์ไม่ จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาพระนามพระอัฐิเป็นกรมหลวงนรินทรเทวี… ”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ทรงสร้างสรรค์ผลงานชิ้นสำคัญเรื่องหนึ่งซึ่งมีคุณค่ามากทั้งในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ตลอดจนพระราชพิธีสำคัญๆ ในขณะนั้น เป็นมรดกทางปัญญาที่สืบทอดมาถึงอนุชนรุ่นหลัง ผลงานดังกล่าว คือ จดหมายเหตุความทรงจำ ซึ่งเป็นบนทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ถึง พ.ศ. ๒๓๖๓ ในรัชกาลที่ ๒ ลักษณะเป็นการจดบันทึก จากความทรงจำเท่าที่จำความได้ มิได้เรียงลำดับเหตุการณ์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า

“จดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีนี้ ไม่ใช่ผู้รู้แต่งจดหมายเหตุและพงคาวดาร ไม่ใช่จินตกวีทั้งสองอย่าง เป็นข้อความที่ท่านทรงจำไว้ ตั้งแต่จำความได้จนตลอดเวลาที่เขียน คงจะเป็นเวลาที่ทรงพระชรา มีผู้ทูลว่าข้อความจะสูญเสียหมด ขอให้จดลงไว้ จึงได้พยายามจดลงไว้ตามแต่ที่จะนึกได้โดยไม่ต้องอาศัยหลักอะไรเลย”

เมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้หนังสือเรื่องนี้มาจากวังหน้า ๑ เล่มสมุดไทย ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ ทรงเห็นว่ามีข้อความแปลก จึงได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้แต่งเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาหาตัวผู้เขียนพร้อมทั้งมีพระราชวิจารณ์และในที่สุดมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าผู้แต่งน่าจะเป็นกรมหลวงนรินทรเทวี เนื่องจากเหตุผล ๓ ประการ คือ

๑. โวหารท่วงทีถ้อยคำเป็นสำนวนผู้หญิง

๒. ผู้แต่งหนังสือเรื่องนี้เป็นผู้รู้เรื่องราวภายในใกล้ชิดมาก

๓. กระบวนใช้ถ้อยคำทำให้เห็นว่าจะเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตในหนังสือเรื่องนี้ถึงคำว่า กรมหมื่น โดยมิได้ออกพระนาม ๒ แห่ง คือ

“วันเดือนแปด แรมค่ำหนึ่ง ปีมะโรง สัมฤทธิศก เจ้าฟ้ากรมพระสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ไว้พระศพบนปราสาท พระโองการตรัสสั่งกรมหมื่นว่าสิ้นลูกคนนี้แล้วพระเนตรมืดสี่ด้าน พระกรรณตึงสี่ด้าน อากรขนอนตลาดเจ้า ดูชำระเถิดอย่าทูลเลย” อีกแห่งหนึ่งว่า

“ณ เดือนห้า จุลศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลู นพศก กรมหมื่นสิ้นพระชนม์ ประชุมเพลิง ณ วัดราชบุรณะ” ดังนั้น กรมหมื่นพระองค์นี้ คือ กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ เป็นพระสามีของพระองค์เจ้ากุ พระน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นผู้เก็บอากรตลาดท้ายสนมต่อเจ้าฟ้า กรมหลวงศรีสุนทรเทพ จนตลอดพระชนมายุ ถ้อยคำที่จดลงไว้ไม่ใช้ว่าสิ้นพระชนม์ ไม่ใช้ว่าถวายพระเพลิง ตรงกับข้อความที่เล่ากันว่า กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ไม่ไว้พระองค์เป็นเจ้าแท้ กรมหลวงนรินทรเทวีอยู่ข้างจะกดขี่ มีตัวอย่าง กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ทรงเล่าว่าเจ้านายไปทูลลาโสกันต์ กรมหลวงนรินทรเทวีประทับบนยกพื้นในประธานท้องพระโรง เรียกเจ้าที่ไปทูลลาให้ขึ้นไปนั่งบนยกพื้นด้วย แต่กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์มานั่งอยู่ที่พื้นเฉลียงและหมอบกราบเจ้านายที่ไปทูลลา เพราะเหตุฉะนั้นผู้แต่งหนังสือนี้จึงได้ใช้คำผิดกับเจ้านายองค์อื่นสิ้นพระชนม์

พร้อมทั้งทรงตั้งชื่อหนังสือเรื่องนี้ว่า “จดหมายเหตุความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่จุลศักราช ๑๑๒๙ ถึงจุลศักราช ๑๑๘๒ เป็นเวลา ๕๓ ปี”

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวิจารณ์และมีพระบรมราชวินิจฉัยล่วงไปแล้ว ๘ ปี หอพระสมุดฯ ได้หนังสือจดหมายเหตุความทรงจำมาอีก ๑ ฉบับ เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ ข้อความในจดหมายมีเนื้อความยาวต่อจากฉบับเดิมไปอีกประมาณ ๑ เล่มสมุดไทย สิ้นสุดลงใน พ.ศ. ๒๓๘๑ เมื่อพิจารณาดูพระชนมายุของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๓๗๐ จึงเกิดข้อวิจารณ์ต่อมาว่าจดหมายเหตุฉบับนี้ใครเป็นผู้แต่ง เนื่องจากมีข้อความเกินพระชนมายุของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวีไปถึง ๑๐ ปี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชา- นุภาพ ได้ทรงแสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมพร้อมทั้งทรงวินิจฉัยไว้ดังนี้

“การพิมพ์หนังสือจดหมายเหตุความทรงจำคราวนั้น มีเหตุสำคัญเกิดขึ้นในทางโบราณคดี เนื่องด้วยพระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างหนึ่ง คือว่า จดหมายเหตุความทรงจำที่ได้มาใหม่ฉบับนี้เนื้อเรื่องมีต่อลงมาจนปีฉลู จุลศักราช ๑๒๐๐ ตามจดหมายเหตุในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยา ทิพากรวงศ์ปรากฏว่า กรมหลวงนรินทรเทวี สิ้นพระชนม์ เมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๑๘๙ …เป็นข้อสงสัยเกิดขึ้นว่า ถ้าเช่นนั้นก็จะไม่ใช่กรมหลวงนรินทรเทวีแต่งจดหมายเหตุความทรงจำ ดังพระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพราะเรื่องในฉบับที่ได้มาใหม่มีลงมาภายหลังท่านสิ้นพระชนม์มาถึง ๑๐ ปี ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจำจะต้องวินิจฉัยความสงสัยนี้พร้อมกับที่ให้พิมพ์หนังสือจดหมายเหตุความทรงจำฉบับนี้ จึงได้เรียบเรียงข้อวินิจฉัยของข้าพเจ้าพิมพ์ไว้ข้างท้าย ด้วยอยากจะให้ท่านทั้งหลายได้อ่านตัวจดหมายเหตุเสียให้ตลอดก่อนจะได้ช่วยกันวินิจฉัย”

สรุปข้อวินิจฉัยเรื่องผู้แต่งจดหมายเหตุความทรงจำ พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ความว่า หนังสือเรื่องนี้มี ๒ สำนวน สำนวนแรกแต่งแต่ต้นมาจบเพียงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต อีกสำนวนหนึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๓ และคงตั้งใจจะทำตามสำนวนเดิม

“แต่จับได้ว่าต่างสำนวน ตั้งแต่กระบวนเรียบเรียงเรื่อง สำนวนใหม่รู้เรื่องข้างฝ่ายหน้ามากไม่ใคร่รู้เรื่องข้างฝ่ายใน กระบวนโวหารที่เรียงหนังสือ สำนวนเดิมมีกระบวนยอพระเกียรติเติมแต่แห่งละเล็กละน้อย สัมผัสนานๆ จึงใช้ สำนวนใหม่ชอบยอพระเกียรติ กล่าวทุกโอกาสและชอบเล่นสัมผัสจัด แม้ศัพท์ก็ใช้พลาดๆ ไม่เหมือนสำนวนต้น ข้าพเจ้า คิดเห็นเช่นนี้ ไม่ไว้ใจเกรงจะพลาดอยากจะหารือผู้อื่นให้หลายๆ คนด้วยกัน แต่หนังสือนี้จะรีบพิมพ์ เวลาไม่พอ จึงได้นำไปถวายหารือท่านผู้ซึ่งข้าพเจ้านับถือว่าชำนาญในกระบวนหนังสือยิ่งกว่าข้าพเจ้าพระองค์หนึ่ง ขอให้ช่วยตรวจ เมื่อท่านตรวจแล้วก็เห็นพ้องกันว่า เป็นหนังสือ ๒ สำนวน มิใช่แต่งคนเดียวกันทั้งตอนต้นและตอนหลัง เพราะฉะนั้นยังเชื่อได้ว่า ตอนต้นนั้นกรมหลวงนรินทรเทวีทรงแต่ง ดุจพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ตอนหลังยังทราบไม่ได้ว่าเป็นของผู้ใดแต่ง ข้าพเจ้าอยากจะเดาว่า เจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในวังหน้า ดูผู้แต่งสำนวนหลังอยู่ข้างจะเอาใจใส่ ข้างการวังหน้า”
อย่างไรก็ตามจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีจัดเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่ามาก ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวิจารณ์ไว้ตอนหนึ่งว่า

“จดหมายฉบับนี้ ปรากฏชัดว่าได้จดลงโดยความซื่อตรงและความที่จำได้ ไม่มีนึกแต่งให้พิสดารเป็นอัศจรรย์ ให้ผู้อ่านพิศวงอย่างหนึ่งอย่างใดเลย ถ้าจะมีการตื่น ท่านก็ตื่นส่วนพระองค์ท่านเองตามความเห็นที่จับใจท่านขึ้นมาอย่างไร เวลาก็ดี ข้อความก็ดี ที่เคลื่อนคลาดบ้าง ก็เป็นธรรมดา หนังสือที่ท่านไม่ได้จดลงไว้โดยทันทีมาเขียนต่อภายหลัง แต่ข้าพเจ้ายืนยันได้ว่าหนังสือฉบับนี้ไม่มีความเท็จเลย ความที่เคลื่อนคลาดนั้น ด้วยลืมบ้าง ด้วยทราบผิดไปบ้าง เรียงลงไม่ถูกเป็นภาษาไม่สู้แจ่มแจ้งบ้าง ทั้งวิธีเรียงหนังสือ ในอายุชั้นนั้นไม่สู้จะมีเครื่องมือสำหรับเขียนบริบูรณ์และคล่องแคล่วเหมือนอย่างทุกวันนี้ ถ้าจะเขียนหนังสือแล้วคิดนานๆ บรรจุความให้แน่นในวรรคหนึ่งแล้วจดลงไป ผู้ใดแต่ง หนังสือให้สั้นและให้จุความมากได้ผู้นั้นแต่งหนังสือดี ไม่เหมือนอย่างเวลานี้ ที่เขียนหน้ากระดาษหนึ่งได้ใจความสักบรรทัดเดียว…

แต่เป็นเคราะห์ดีที่สุดที่จดหมายกรมหลวงนรินทรเทวีฉบับนี้ไม่ปรากฏแก่นักเลงแต่งหนังสือในรัชกาลที่๔ หรือในรัชกาลประจุบันนี้ตกอยู่ในก้นตู้ได้จนถึงรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗ นี้ นับว่าเป็นหนังสือพรหมจารี ไม่มีด้วงแมลงได้เจาะไชเลย ความยังคงเก่าบริบูรณ์”

และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์ว่า

“หนังสือเรื่องนี้ถึงเป็น ๒ สำนวน ก็ยังเป็นหนังสือดีตลอดเรื่องด้วยเรื่องพงศาวดารในตอนหลัง ก็มีเรื่องแปลกๆ ซึ่งไม่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารอยู่หลายเรื่อง เป็นหนังสือน่าอ่านและควรนับถือทั้ง ๒ ตอน”

จะเห็นได้ว่าแม้จะทรงมีผลงานเพียงชิ้นเดียวก็ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ทางด้านวิชาการ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์และโบราณคดี เนื่องจากในสมัยโบราณการจดบันทึกเรื่องราว หรือเหตุการณ์ต่างๆ มักไม่นิยมบันทึกไว้ เป็นผลให้ข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์คลาดเคลื่อน ซึ่งนักประวัติศาสตร์โบราณคดีต้องใช้การสันนิษฐานอยู่เสมอ และเมื่อปรากฏหลักฐานอื่นๆ มาลบล้างข้อสันนิษฐานได้ ก็จะเกิดทฤษฎีและข้อสันนิษฐานใหม่ๆ อีกต่อไป จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี จึงมีประโยชน์ในการรักษาข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถสอบค้นข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์นั้นๆ ได้ จดหมายเหตุฉบับนี้จัดว่าเป็นข้อมูลชั้นต้น เป็นสิ่งที่ผู้จดบันทึกพบเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง ประกอบทั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนรินทรเทวี ทรงเป็นผู้มีความจำเป็นเลิศ จึงทำให้ข้อมูลเป็นประโยชน์อย่างมากต่อวิชาการในปัจจุบัน ดังพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวไว้ใน “คำบรรยาย
ความเห็นและความคิดที่จะเรียบเรียงหนังสือนี้’’ เป็นข้อสนับสนุนว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ทรงมีความจำดีมาก

“แต่ถึงดังนั้น ควรจะเห็นเป็นอัศจรรย์ในความทรงจำของท่าน หรือถ้าหากว่าจะเป็นเหตุให้มีผู้สงสัยความทรงจำ จะได้ถึงเพียงนี้ทีเดียวหรือ ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ข้าพเจ้าเคยเห็นเจ้านายฝ่ายในที่ทรงแม่นยำเช่นนี้หลายพระองค์ แต่ไม่ยิ่งกว่า และไม่สิ้นพระชนม์ ภายหลังที่สุด เช่น พระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา อันสิ้นพระชนม์แล้วได้ ๘ เดือนนี้ทรงจำแม่นจนกระทั่งวันเดือนปีอันเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งทั่วไปทุกสิ่งลักษณะ ความจำเช่นนี้อย่างเดียวกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะอ้างให้เห็นได้ว่า ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ความที่ทรงจำวันคืนแม่นก็ปรากฏอยู่ฉะนี้ จึงเห็นได้ว่า กรมหลวงนรินทรเทวีนี้ความทรงจำของท่านคงเป็นลักษณะเดียวกันกับกรมหลวงวรเสรฐสุดา

ส่วนข้อความที่จดนั้น ท่านได้เปรียบอย่างหนึ่ง เพราะท่านมีพระสามีอาจจะรู้ราชการจากทางนั้นได้ แต่ก็ปรากฏว่าถ้าเป็นการแผ่นดินแท้เช่นการทัพศึก ท่านเห็นเกินความสามารถที่ท่านจะพรรณนาให้ถูกต้องได้ ได้ว่าความรวบเข้าเป็นหมวดๆ พอให้รู้เหตุการณ์ ถ้าเป็นเรื่องราวซึ่งออกจะปกปิดกันในเวลานั้น หรือเรื่องราวซึ่งท่านเห็นไม่สู้เป็นพระเกียรติยศ ท่านได้จดลงไว้แต่ย่อพอเป็นเครื่องสังเกตข้อที่ท่านจดลงพิสดารกว่าที่อื่น ล้วนเป็นเรื่องที่ท่านพอพระทัย แต่เมื่ออ่านทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่าพระญาณของท่านในทางทรงจำและความพอพระทัย เข้าพระทัยในเหตุการณ์สูงอยู่กว่าคนแก่สามัญเป็นอันมาก”

จึงอาจกล่าวได้ว่านอกจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี จะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายในที่เคารพยกย่องแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์แล้ว ยังอาจถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญของชาติในการสร้างสรรค์งานวิชาการอีกด้วย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: เบญจมาส แพทอง

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี

ในสมัยโบราณแม้สตรีไทยจะมิได้มีบทบาททางการเมืองและการปกครอง แต่ก็มีบทบาทและความสำคัญอย่างยิ่งในการปกครองบ้านเรือน และการอบรมดูแลบุตรธิดา บริหารงานบ่าวไพร่ดำเนินกิจการ เป็นผลประโยชน์แก่ครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่ผู้นำเป็นทหาร และอยู่ในยุคที่ต้องกอบกู้บ้านเมือง หรือปราบปรามอริราชศัตรู เสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ ภรรยาจึงต้องเป็นผู้มีความเข้มแข็ง อดทน สามารถปกครองครัวเรือนได้ ซึ่งเท่ากับช่วยสนับสนุนกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่การงานแก่สามีด้วย เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี หลายฉบับกล่าวว่า สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี มีพระอุปนิสัยเด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง ต้องตามลักษณะที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นที่เกรงพระทัยของสมเด็จพระราชสวามี พระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดาตลอดมา

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เป็นพระบรมราชินีพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ เป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระนามเดิมว่า “นาก” เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๐๙๙ ตรงกับวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๘๐ พระชนกพระนามว่า “ทอง” พระชนนีพระนามว่า “สั้น” ซึ่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประกาศเฉลิมพระนามพระอํฐิว่า “สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี” มีนิวาสสถานเดิมอยู่ที่ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พระชนกนั้นถึงแก่พิราลัยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี ส่วนพระชนนีนั้นภายหลังผนวชเป็นรูปชี ประทับ ณ วัดอัมพวันเจติยาราม จนถึงรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระประยูรญาติร่วมพระชนกชนนีของสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี ที่ปรากฏในหนังสือเรื่อง อธิบายราชินิกูลบางช้าง มีดังนี้
๑. เจ้าคุณหญิงแวน
๒. เจ้าคุณหญิงทองอยู่ หรือเรียกกันว่า เจ้าคุณผู้ใหญ่ ได้สมรสกับท่านตาขุนทองผู้เป็นญาติกัน
๓. เจ้าคุณชายชูโต มีภรรยาชื่อทองดี เป็นต้นตระกูลชูโต สวัสดิ-ชูโต และ แสง-ชูโต
๔. สมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี
๕. เจ้าคุณชายแตง
๖. เจ้าคุณหญิงชีโพ
๗. เจ้าคุณชายพู
๘. เจ้าคุณหญิงเสม
๙. เจ้าคุณหญิงนวล หรือที่เรียกว่าเจ้าคุณโต ต่อมาสมรสกับเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี ต้นตระกูลบุนนาค
๑๐. เจ้าคุณหญิงแก้ว หรือเรียกว่า เจ้าคุณบางช้าง สมรสกับพระยาสมุทรสงคราม (ศร) ต้นตระกูล ณ บางช้าง

บุรพชนของสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี เป็นคหบดีผู้มีชื่อเสียงในเขตอัมพวา เมื่อสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงเจริญวัย มีพระสิริโฉมงดงาม เพียบพร้อมด้วยความรู้และคุณสมบัติของกุลสตรีในตระกูลสูง กิตติศัพท์จึงเลื่องลือทั่วไป มีเรื่องเล่าว่า ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยานั้น พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้สืบหาสตรีรูปงามผู้มีตระกูลและทรัพย์ทั้งในและนอกกรุงไปเป็นบาทบริจาริกา ได้มีผู้มาขอทาบทามกับพระชนกพระชนนีของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี แต่ทั้งสองพระองค์ไม่ประสงค์จะให้พระธิดาประทับห่างไกล ณ สถานที่อันเข้มงวดด้วยจารีตประเพณีเช่นนั้น จึงได้จัดคนไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ซึ่งรับราชการอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ให้ทรงช่วยหาทางผ่อนผัน สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ได้ทรงสู่ขอสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ไว้ให้แก่พระราชโอรสแล้ว พระเจ้าแผ่นดินจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตามที่กราบบังคมทูลขอ ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จไปรับราชการในตำแหน่งหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี ได้ทรงสมรสกับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี และประทับ ณ นิวาสสถานที่ตำบลอัมพวานั้น ต่อมาหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียอิสรภาพแก่พม่า ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ มีพระราชโอรสพระราชธิดารวมทั้งสิ้น ๙ พระองค์ ดังนี้

๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่สมัยอยุธยา

๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชาย สิ้นพระชนม์ตั้งแต่สมัยอยุธยา

๓. สมเด็จเจ้าฟ้าฉิมใหญ่ เป็นพระราชชายาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชมารดาของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต

๔. สมเด็จเจ้าฟ้าชายฉิม คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

๔. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงแจ่ม คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ

๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

๗. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุ้ย คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์

๘. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

๙. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเอี้ยง คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี

ถึงสมัยธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงได้รับเลื่อนตำแหน่งราชการและบรรดาศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับ ท้ายสุดคือ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในฐานะภรรยาขุนนางขั้นผู้ใหญ่ ก็ได้ทรงมีบรรดาศักดิ์สูงตามพระราชสวามีไปด้วย ในระหว่างนี้ได้ประทับ ณ ทำเนียบเจ้าพระยาอุปราช อันป็นตำแหน่งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงดำรงเทียบเท่า ทำเนียบนี้อยู่ในบริเวณกรมอู่ทหารเรือปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเสด็จเข้าประทับค้างแรมกับพระธิดาพระองค์ใหญ่ (เจ้าฟ้าฉิมใหญ่) ซึ่งเป็นพระราชชายาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต ณ พระตำหนักในพระราชวังเสมอ จนกระทั่งพระราชธิดา (เจ้าฟ้าฉิมใหญ่) สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๓๒๒

ก่อนเกิดจลาจลในกรุงธนบุรี พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งดำรงตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จไปราชการสงคราม ณ ประเทศกัมพูชา นั้นปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระสัญญาวิปลาส เกิดความหวาดระแวงบุคคลแวดล้อม ตั้งแต่พระภิกษุสงฆ์ ข้าราชการฝ่ายใน จนถึงพ่อค้าประชาชนทั่วไป ประกอบกับมีผู้กราบบังคมทูลยุยงให้หลงผิด ดังนั้นจึงมีผู้ต้องพระราชอาญาจำจอง โบยตี หรือประหาร เป็นจำนวนไม่น้อย ในบรรดาผู้ต้องพระราชอาญานี้ มีสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี ตลอดจนพระประยูรญาติรวมอยู่ด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าทรงกระทำความผิดเรื่องใด จึงนับว่าทรงได้รับทุขเวทนาจากความผันผวนของบ้านเมือง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบปรามจลาจลราบคาบและทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชินี แต่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ก็ยังคงประทับ ณ พระตำหนักเดิมทางฝั่งธนบุรี มิได้เสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวัง เป็นแต่เสด็จเข้ามาเป็นครั้งคราว คงจะเป็นด้วยขณะนั้นเจริญพระชนมายุถึง ๔๕ พรรษาแล้ว จึงมีพระราชประสงค์จะประทับอยู่อย่างสงบ ร่วมกับพระราชโอรสมากกว่า พ.ศ. ๒๓๔๙ เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้เสด็จประทับในพระราชวังเดิมธนบุรี สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ก็ทรงเข้าประทับ ณ ที่นั้นด้วยจนกระทั่งสิ้นรัชกาลที่ ๑

พ.ศ. ๒๓๕๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงสถาปนาพระเกียรติสมเด็จพระราชชนนีเป็น “สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์” เทียบอย่างกรมพระเทพามาตย์ที่สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงตามโบราณราชประเพณี ดังความในจดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ ต่อไปนี้

“ตั้งกรมสมเด็จพระพันปีหลวง
ณ วัน ๒ ฯ ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๒ ปีมะเมียโทศก เพลาเช้า ๒ โมง ๖ บาท
พญารักษ์ ๑
พระอาลักษณ์ ๑
พระราชสมบัติ ๑
พระโหรา ๑
ขุนโชติ ๑
ขุนสารประเสริฐ ๑
นายชำนิโวหาร ๑
นายเทียรฆราช ๑
นั่งพร้อมกัน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานตั้งเครื่อง

ใบศรีแก้ว ใบศรีทอง ใบศรีเงิน มโหรีปี่พาทย์ฆ้องไชยพร้อม ลงพระนามสมเด็จพระพันปีหลวงเป็นพระอมรินทรามาตย์

หมื่นสุวรรณอักษรจาฤกแผ่นพระสุพรรณบัฏเป็นอักษร ๓ บรรทัด แผ่นพระสุพรรณบัฏ กว้าง ๗ นิ้ว ยาว ๑๔ นิ้ว หนัก ๑ ๓/๓

ทองร่อนบางตะพาน พระหีบเงินถมยาคำตะทองหนัก ๑๓ ส่วน ใส่พานทอง มอบหลวงธรรมเสนาไว้ในพระอุโบสถ

ครั้น ณ วัน ๖ฯ๗ ๑๑ ค่ำ จึงเชิญพานพระสุพรรณบัฏขึ้นเหนือพระเสลี่ยงอันวิจิตรไปด้วย

ราชาอาสน์อภิรม ราชาอาสน์ชุมสาย ราชาอาสน์พัดโบก ราชาอาสน์จ่ามอน เป็นอินทร์พรหมเทวดาเกณฑ์แห่แตรสังข์ แห่ไปที่พระมณฑลพระตำหนักตึก

พระสงฆ์ ๑๕ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นต้น สวดพระพุทธมนต์ ๓ วัน

ครั้น ณ วัน ๒๑๐ ฯ ๑๑ ค่ำ เพลาเช้า ๑ โมง กับ ๒ บาท เสด็จสรงมุระธาภิเษก

พระสังฆราช พระพนรัจน์ พระญาณสังวร ถวายนํ้าพระพุทธมนต์ พราหมณถวายนํ้าสังข์ กรด เสร็จแล้ว เสด็จออกมาถวายเข้าสงฆ์ พระสงฆ์ฉันแล้ว ได้ฤกษ ๓ โมง กับ ๕ บาท ขุนสารประเสริฐ ขุนมหาสิทธิ์ เชิญพานพระสุพรรณบัฏเข้าไป พระอาลักษณ์เป็นผู้ถวายต่อพระหัตถ์ เจ้าฟ้ากรมหลวง (พิทักษมนตรี) ถวายตราประจำที่แล้วพระราชทานให้เลี้ยงข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อยพร้อมกัน

ในรัชกาลนี้ เข้าใจว่าได้เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง แต่อาจจะไม่ประทับเป็นการถาวร เนื่องจากหลักฐานบางแห่งว่าประทับ ณ พระตำหนักเดิมที่ฝั่งธนบุรีตลอดพระชนม์ชีพ ในช่วงปลายแห่งพระชนม์ชีพนั้น ปรากฏว่าสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนามาก เสด็จไปทรงศีลและบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดระฆังโฆสิตารามเป็นนิจ ทรงสถาปนาและบูรณปฏิสังขรณ์ พระอารามต่างๆ เช่น ทรงสถาปนาวัดเงิน ซึ่งเป็นวัดโบราณตั้งอยู่ในท้องที่คลองบางพรหมใหม่ และทรงบูรณะวัดอัมพวันเจติยาราม ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งสมเด็จพระรูป ศิริโสภาคย์มหานาคนารี พระราชชนนี ทรงสร้าง ณ บริเวณนิวาสสถานเดิม เป็นต้น

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เป็นเจ้านายอีกพระองค์หนึ่งที่มีพระชนมพรรษายืนยาวถึง ๓ รัชกาล คือ ดำรงพระชนม์ชีพจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงวันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ จ.ศ. ๑๑๘๘ ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๖๓ จึงเสด็จสวรรคต พระชนมพรรษาได้ ๘๙ พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง จัดเป็นพิธีใหญ่อย่างสมพระเกียรติ และอัญเชิญพระบรมอัฐิเข้าประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง ปรากฏรายละเอียดในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ดังนี้

“ในปีชวดนั้น ทรงพระดำริว่า กองทัพศึกค่อยสงบลงแล้ว พระศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ยังค้างอยู่ จึงรับสั่งให้เจ้าพนักงานซ่อมแซมประดับประดาพระเมรุให้งดงามดีดังเก่า การสารพัดทั้งปวงเหมือนพระบรมศพอย่างใหญ่เสร็จแล้ว ครั้น ณ เดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ (อังคารที่ ๒๒ เมษายน ๒๓๗๑) ได้เชิญพระบรมสารีริกธาตุออกมาสู่พระเมรุ มีการมหรสพ ๑ วัน ๑ คืน เชิญพระบรมสารีริกธาตุกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง รุ่งขึ้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ (วันที่ ๒๔ เมษายน) ได้เชิญพระบรมอัฐิออกสู่พระเมรุ มีการมหรสพวัน 9 ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ได้เชิญพระบรมอัฐิกลับ ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ได้เชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ แห่มาขึ้นพระมหาพิไชยราชรถ แห่กระบวนใหญ่เข้าสู่พระเมรุ ได้มีการมหรสพสมโภช ๗ วัน ๗ คืน และบำเพ็ญพระราชกุศลถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญเป็นอันมาก ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๖ แรม ๔ คา (วันที่ ๒ พฤษภาคม) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการและท้าวพระยาหัวเมืองประเทศราช พร้อมกันกราบถวายบังคมถวายพระเพลิงพระบรมศพ แล้วสมโภชพระบรมอัฐิอีก ๓ วัน ๓ คืน เป็นคำรบ ๑๐ วัน ๑๐ คืน ครั้น ณ เดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ แห่พระบรมอัฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง”

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ในรัชกาลก่อนๆ ที่เคยดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีให้สูงขึ้น จึงทรงประกาศเฉลิมพระนามใหม่ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ได้เฉลิมพระนามใหม่เป็น “สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ฉวีงาม มาเจริญ

เจ้าฟ้ามงกุฎ

อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง สำหรับงานการฉลองกองกุศล
ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์ แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป
หากพระองค์ทรงพิภพปรารภเล่น ให้รำเต้นเล่นละครคิดกลอนใหม่
เติมแต้มต่อติดประดิษฐ์ไว้ บำรุงใจไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน

จากพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สะท้อนให้เห็นถึงประวัติวรรณคดีไทยในสมัยอยุธยาว่ามี “เจ้าสตรี” ที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านกวีนิพนธ์โดยทรงพระนิพนธ์เรื่องอิเหนาไว้ ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ

เจ้าฟ้ามงกุฎเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕ – ๒๓๐๑) ประสูติแต่เจ้าฟ้าสังวาลย์ มีพระภคินีพระองค์หนึ่ง พระนามว่า เจ้าฟ้ากุลฑล

พระประวัติเจ้าฟ้ามงกุฎไม่ปรากฏหลักฐานเท่าใดนัก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นขัตติยนารีที่ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี ตามธรรมเนียมราชประเพณีของราชสำนักฝ่ายใน โดยเฉพาะทรงพระปรีชาสามารถเป็นพิเศษในด้านกวีนิพนธ์ ดังปรากฏหลักฐานว่า ทรงพระนิพนธ์บทละครที่เกี่ยวข้องกับพงศาวดารชวาเรื่อง “อิเหนา” ตามที่นางข้าหลวงชาวมลายู ซึ่งเป็นเชลยจากเมืองปัตตานีได้เล่าถวายเจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์ ในการนี้ เจ้าฟ้ากุลฑล พระภคินี ทรงพระนิพนธ์บทละครเรื่อง ดาหลัง ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎทรงพระนิพนธ์บทละครเรื่อง อิเหนา ต่อมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทอดพระเนตรพระนิพนธ์บทละครทั้งสองเรื่อง ของพระราชธิดา ทรงพอพระราชหฤทัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระราชนิพนธ์บทละครของพระราชธิดาทั้งสองพระองค์มาเล่นละคร นับแต่นั้นเป็นต้นมา

พระนิพนธ์บทละครเรื่องดาหลัง และอิเหนา ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพงศาวดารชวาเรื่องเดียวกัน เพียงแต่เป็นการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันไป จึงกลายเป็นบทละครถึงสองเรื่อง โดยนิยมเรียกว่า “อิเหนาใหญ่” และ “อิเหนาเล็ก” ตามลำดับ ในการนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระวินิจฉัยว่า ในสมัยอยุธยาคงจะหมายถึง เรื่องอิเหนาของพระองค์ใหญ่ กับเรื่องอิเหนาของพระองค์เล็ก

เป็นที่น่าเสียดายว่าพระนิพนธ์บทละครเรื่อง “อิเหนา” ของเจ้าฟ้ามงกุฎ ต้นฉบับได้สูญหายกระจัดกระจายไปหมดแล้ว คงปรากฏเพียงพระนามของเจ้าฟ้ามงกุฎ ขัตติยนารีแห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้ทรงพระปรีชาสามารถด้านกวีนิพนธ์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้จดจำและรำลึกถึงพระเกียรติคุณสืบไป

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: อรวรรณ ทรัพย์พลอย

เจ้าฟ้ากุลฑล

ขัตติยนารีแห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้ทรงพระปรีชาสามารถด้านกวีนิพนธ์
เจ้าฟ้ากุลฑล เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕ – ๒๓๐๑) ประสูติจาก เจ้าฟ้าสังวาลย์ มีพระขนิษฐาพระองค์หนึ่ง พระนามว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ

เป็นสมัยที่มีความเจริญรุ่งเรืองในด้านวรรณกรรม และศิลปะการละครมากในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เพราะทรงส่งเสริมทำนุบำรุงยิ่งกว่าในรัชกาลก่อนๆ ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงสันนิษฐานว่า พระราชธิดาทั้งสองพระองค์คือ เจ้าฟ้ากุลฑล และเจ้าฟ้ามงกุฎ น่าจะทรงมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการฝึกหัดควบคุมการซ้อมละครหลวงอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย

เจ้าฟ้ากุลฑล มีบทบาทและความสำคัญปรากฏหลักฐานในฐานะกวีหญิงของราชสำนักฝ่ายใน โดยทรงพระนิพนธ์บทละครที่เกี่ยวข้องกับพงศาวดารชวาเรื่อง ‘อิเหนา’ ตามที่นางข้าหลวงชาวมลายู ซึ่งเป็นเชลยจากเมืองปัตตานี ได้เล่าถวายเจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์ ในการนี้ เจ้าฟ้ากุลฑลได้ทรงพระนิพนธ์ บทละครเรื่อง ‘ดาหลัง’ ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎทรงพระนิพนธ์ บทละครเรื่อง “อิเหนา” และในเวลาต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระนิพนธ์บทละครของพระราชธิดาทั้งสองพระองค์มาเล่นละครใน นิยมเรียกบทละครทั้งสองเรื่องว่า “อิเหนาใหญ่” และ “อิเหนาเล็ก” ตามลำดับ

อิเหนาเป็นตัวเอกของพงศาวดารชวา ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวชวาและมลายูนิยมนำมาเล่นหนัง หรือละคร บางแห่งเรียกว่า ละครแขก หรือหนังแขก ส่วนดาหลัง หมายถึง คนพากย์หนังของชวาซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังจอ ทำหน้าที่เชิดตัวหนัง แล้วพากย์เป็นกาพย์กลอนบรรยายเรื่องให้คนฟัง

ต้นฉบับพระนิพนธ์บทละครเรื่อง ดาหลัง ของเจ้าฟ้ากุลฑลได้สูญหายกระจัดกระจายไปหมดแล้ว แต่ยังคงปรากฏพระเกียรติคุณของพระองค์สืบไป ดังปรากฏหลักฐานจากพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง อิเหนา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ความว่า

อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง สำหรับงานการฉลองกองกุศล
ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์ แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป
หากพระองค์ทรงพิภพปรารภเล่น ให้รำเต้นเล่นละครคิดกลอนใหม่
เติมแต้มต่อติดประดิษฐ์ไว้ บำรุงใจไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: อรวรรณ ทรัพย์พลอย

กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ

กรมหลวงโยธาทิพ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ บางแห่งเรียก พระราชกัลยาณี ส่วน กรมหลวงโยธาเทพ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี

กรมหลวงโยธาทิพ และกรมหลวงโยธาเทพ เป็นเจ้านายฝ่ายในซึ่งดำรงพระอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้าในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นต้นว่า พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ รวมถึงเอกสารบันทึกของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังราชสำนักกรุงศรีอยุธยาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้พรรณนาเรื่องราวที่เป็นพระชะตาชีวิตของเจ้านายทั้งสองพระองค์ไว้มีความใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว พระอำนาจวาสนาดูจะผันผวนตามพระอัธยาศัยของพระเจ้าแผ่นดินแต่ละพระองค์เป็นสำคัญ ดังจะแยกกล่าวโดยลำดับดังต่อไปนี้

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้กรมหลวงโยธาทิพ ซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ อยู่ใกล้พระองค์มาแต่ยังมิได้เสวยราชย์ เช่นในรัชกาลเจ้าฟ้าไชย เมื่อทรงคิดการกับพระศรีสุธรรมราชาพระเจ้าอา จะกำจัดเจ้าฟ้าไชยออกจากราชสมบัติ เมื่อจะลอบออกจากพระราชฐาน พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า

“…ครั้นเพลาค่ำ พระนารายณ์เป็นเจ้าก็พาพระขนิษฐาของพระองค์ลอบหนีออกทางประตู ตัดสระแก้วไปหาพระเจ้าอาพระศรีสุธรรมราชา…”

เมื่อพระศรีสุธรรมราชาได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๗ ทรงสถาปนาสมเด็จพระนารายณ์เป็นมหาอุปราช เสด็จไปประทับ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนพระขนิษฐายังคงประทับที่พระตำหนักในเขตพระราชฐานชั้นในดังเดิม ภายหลังเกิดเหตุให้ต้องเสด็จหนีราชภัยออกมาเฝ้าสมเด็จพระ นารายณ์ฯ เพราะพระศรีสุธรรมราชาต้องพระราชหฤทัยในพระสิริโฉมโปรดให้ขึ้นไปเฝ้า แต่พระนางมิทรงปลงพระทัยด้วยจึงลอบหนีออกมา ดังความในพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า

“…พระราชกัลยาณีมิได้ขึ้นไป หนีลงมาพระตำหนักแล้วบอกเหตุกับพระนม พระนมจึงเชิญพระราชกัลยาณีเข้าไปในตู้พระสมุดแล้วหามออกมา แสร้งว่าจะเอาพระสมุดไปยังพระราชวังบวรสถานมงคล นายประตูก็มิได้สงสัย ครั้นไปถึงพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว พระราชกัลยาณีก็ออกจากตู้เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระเชษฐาริราช ทรงพระกันแสงทูลประพฤติเหตุทั้งปวง”

ด้วยเหตุที่พระศรีสุธรรมราชาประพฤติพระองค์ไม่สมควรดังกล่าว สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงยึดพระราชอำนาจ สำเร็จโทษพระศรีสุธรรมราชา แล้วเสด็จขึ้นครองราชย์ ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระขนิษฐาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ ภายหลังทรงตั้งเป็น กรมหลวงโยธาทิพ คู่กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ซึ่งทรงตั้งเป็น กรมหลวงโยธาเทพ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ไทย ทรงอธิบายการตั้งกรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ ว่ามิใช่เป็นการสถาปนาพระอิสริยยศ

“…ความจริงคือโปรดให้รวมคนเข้าสังกัดหมวดหมู่ตั้งขึ้นเป็นกรมใหม่ ๒ กรม ให้เจ้ากรมเป็นหลวงมีชื่อว่า หลวงโยธาทิพ กรม ๑ หลวงโยธาเทพ กรม ๑ กรมหลวงโยธาทิพ ให้ขึ้นในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟื้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาเทพให้ขึ้นในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี คนทั้งหลายจึงเรียกพระนามสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์นั้นว่า เจ้ากรมหลวงโยธาทิพ และเรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอว่า เจ้ากรมหลวงโยธาเทพ ไม่ใช่เป็นพระนามส่วนพระองค์…”

การตั้งพระราชวงศ์ฝ่ายในให้ทรงกรมมีขึ้นในโอกาสนั้นเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ จึงเป็นเจ้านายฝ่ายในสองพระองค์แรกที่ได้ทรงกรม

เมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เปลี่ยนเป็นแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินพระองศ์ใหม่ทรงสถาปนากรมหลวงโยธาทิพเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา มีพระราชโอรสพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าพระขวัญ ซึ่งทรงได้รับการเฉลิมพระเกียรติยศ โดยโปรดให้มีการพระราชพิธีโสกันต์ พระราชทานตามราชประเพณีโบราณ เมื่อทรงเจริญพระชันษา มีข้าไทและคนทั้งปวงนับถือมาก กรมพระราชวังบวรฯ คือ ขุนหลวงสรศักดิ์จึงวางแผนลวงไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพจึงต้องทรงพบกับการสูญเสียที่ทรงพระโศกาอาดูรมาก เมื่อขุนหลวงสรศักดิ์ขึ้นเสวยราชสมบัติจึงกราบถวายบังคมทูลลาออกไปประทับ ณ พระตำหนักตึกริมวัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งได้เสด็จประทับสืบมาจนสิ้นพระชนม์ ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ดังมีความในพระราชพงศาวดารว่า
“…ในปีนั้น (ปีมะสัปตศก) เจ้าพระอัยกี กรมหลวงโยธาทิพ ทิวงคต ณ พระตำหนักตึกริมวัดพุทไธสวรรย์นั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินให้ช่างไม้กระทำการเมรุ ขื่อยาวห้าวาสองศอก โดยสูงยี่สิบวาสองศอก แลพระเมรุทองกลาง แลการพระเมรุทั้งปวงนั้น หกเดือนเศษจึ่งแล้ว เชิญพระโกศทองขึ้นราชรถพร้อมเครื่องอลงกตแห่แหนเป็นอันมาก นำมาสู่พระเมรุทอง แลการที่บูชาให้ทานทั้งปวงตามอย่างพระราชประเพณีมาแต่ก่อน สมโภชเจ็ดวัน การศพนั้นสำเร็จบริบูรณ์…”

ส่วนกรมหลวงโยธาเทพเป็นพระราชธิดาที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดปรานเช่นกัน มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี แต่ผู้คนทั่วไปเรียกตามนามกรม ที่ทรงกำกับดูแลว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามิได้กล่าวถึงพระอุปนิสัยพระราชจริยวัตร หรือพระราชกิจที่ชัดเจนในกรมหลวงโยธาเทพ แต่เอกสารของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาติดต่อทางพระราชไมตรีในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พรรณนารายละเอียดไว้อย่างสนใจยิ่งว่า เป็นพระราชธิดาที่สมเด็จพระชนกนาถ ไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงกำกับดูแลการต่างๆ ในพระราชสำนัก ด้วยทรงพระปรีชาชาญกว่าราชนารี พระองค์ใดในสมัยนั้น

ลาลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมากรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้เขียนจดหมายเหตุการเดินทาง เล่าเรื่องถึงความสำคัญของเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ ไว้ดังนี้

“…พระราชธิดาพระองค์นั้น ทรงพระเกียรติยศและเสด็จประทับ ณ พระมนทิราลัย เยี่ยงพระอัครมเหสี พระชายาของพระมหากษัตริย์… ล้วนยำเกรงพระราชธิดาทั้งสิ้น และนับถือพระราชธิดาเสมอว่าเป็นแม่เจ้าชีวิตของตน เมื่อมีคดีอย่างไรเกิดขึ้น พระสนมเหล่านี้ก็ตกอยู่ในการพิจารณาทางยุติธรรม โดยทำนองเดียวกันกับพวกนางพระกำนัลและพวกขันทีทั้งปวง ด้วยบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถจะออกมาข้างหน้าเพื่อร้องเรียนยังโรงศาลได้ พระราชธิดาจึงจำเป็นต้องทรงเป็นผู้ชำระตัดสินและลงพระอาญา เพื่อป้องกันมิให้วิวาทต่อกัน อันเป็นการทำลายความสงบเรียบร้อยภายในพระราชนิเวศน์…”

นอกจากสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพจะทรงรับพระราชภาระกำกับดูแลราชการในพระราชสำนักฝ่ายในต่างพระเนตรพระกรรณแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะทรงมีบทบาทในการติดต่อกับชาวต่างประเทศในส่วนที่เป็นการรับรองคณะราชทูตและคณะผู้แทนทางการค้า การศาสนาที่เข้ามาหลายกลุ่มหลายพวก ดังพบหลักฐานในจดหมายเหตุของ เซเบเรต์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีระหว่าง พ.ศ. ๒๒๓๐ – ๒๒๓๑ ซึ่งราชทูตผู้นี้ได้พยายามที่จะขอเข้าเฝ้าสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายของต่างๆ เมื่อขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ที่พระราชวังเมืองลพบุรี บันทึกว่า

“…เราได้พยายามหลายครั้งแล้วที่จะหาโอกาสเฝ้าสมเด็จพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงสยาม…”

“ในระหว่างที่รอรับประทานอาหารอยู่นั้น เราได้พูดกับมองซิเออร์คอนซตันซ์อีกครั้งหนึ่ง ขอให้จัดการให้เราได้เฝ้าสมเด็จพระราชธิดา เพื่อเราจะได้นำของต่างๆ ของมกุฏราชกุมารีฝรั่งเศสถวาย มองซิเออร์คอนซตันซ์จึงบอกกับเราว่า เวลานี้สมเด็จพระราชธิดากำลังประชวรพระโรคหืดอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา และพระบาทก็แพลงมาช้านานแล้ว ซึ่งไม่มีใครจะรักษาให้หายได้เลย มองซิเออร์คอนซตันซ์จึงเชื่อว่า สมเด็จพระราชธิดาคงจะไม่เสด็จออกให้เราเฝ้า แต่คงจะโปรดให้เจ้าพนักงานมารับของถวายจากเราเป็นแน่แล้ว มองซิเออร์คอนซตันซ์ได้ยอพระเกียรติยกคุณความดีต่างๆ ของสมเด็จพระราชธิดาให้เราฟัง…”

ความที่ คอนซแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เล่าให้ราชทูตฟังตามที่ราชทูตบันทึกไว้ก็คือ

“… พระเจ้ากรุงสยามผู้เป็นชนกทรงรักใคร่โปรดปรานสมเด็จพระราชธิดาเป็นอันมาก และได้ทรงมอบการฝ่ายในให้อยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชธิดาเหมือนกับพระมเหสีในประเทศสยาม ได้เคยดูแลการฝ่ายในแต่โบราณราชประเพณีมา … ในส่วนที่เกี่ยวด้วยมหาดเล็กเด็กชานั้น สมเด็จพระราชธิดาก็ทรงปกครองว่ากล่าวได้ทั้งสิ้น และทรงพระเมตตากรุณาแก่พวกมหาดเล็กเด็กชา จนพวกนี้กลายเป็นคนหยิ่งจองหองไปหมด…”

อย่างไรก็ดี ของขวัญที่มกุฎราชกุมารีฝรั่งเศสที่ราชทูตฝรั่งเศสอัญเชิญมาเพื่อถวายสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพในครั้งนั้น เจ้าพนักงานภูษามาลาได้เป็นผู้มาอัญเชิญไปถวาย ดังที่ราชทูตเซเบแรต์ เล่าไว้ต่อมาว่า

“…เมื่อได้รับประทานอาหารเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาของพระเจ้ากรุงสยาม…ได้มาหาเราเพื่อมารับของที่มกุฎราชกุมารีฝรั่งเศสได้ส่งมาถวายสมเด็จพระราช¬ธิดา…”

“เจ้าพนักงานเหล่านี้จึงได้บอกกับเราว่า สมเด็จพระราชธิดาทรงขอบใจมกุฎราชกุมารีที่ได้ส่งของมาถวายดังนี้ และทรงเสียพระทัยเป็นอย่างมากที่พระองค์ต้องประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา หาได้ตามเสด็จพระราชบิดาขึ้นมาเมืองลพบุรีไม่ เพราะเหตุที่ยังทรงพระประชวรอยู่ จึงเป็นการจำเป็นที่จะเสด็จออกให้เราเฝ้ายังไม่ได้…”

การถวายของขวัญแก่กันระหว่างราชกุมารีพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส กับสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาน่าจะเป็นธรรมเนียมทางการทูตอย่างเป็นทางการ ซึ่งสมเด็จกรมหลวง โยธาเทพได้ทรงปฏิบัติอย่างสมพระเกียรติยศแห่งราชสำนักฝ่ายในของสยามโดยไม่ขาดตกบกพร่อง ดังมี หลักฐานบาญชีของที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานไปยังมกุฎราชกุมารีในจดหมายของมองซิเออร์เวเรต์ ในปี ค.ศ. ๑๖๘๗ ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๓๐ ซึ่งน่าจะเป็นมูลเหตุที่ราชกุมารีฝรั่งเศสโปรดให้ราชทูตเซเบเรต์ เชิญของมาถวายตอบแทนก็อาจเป็นได้

บาญชีสิ่งของที่สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ โปรดให้นำไปถวายมกุฎราชกุมารีฝรั่งเศสนั้น ล้วนเป็นของมีค่าหายาก ซึ่งราชสำนักสยามเลือกซื้อหาไว้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นแทบทั้งสิ้น เช่น กานํ้า ทองคำฝีมือญี่ปุ่น หม้อใส่ชอกอเล็ตทำด้วยทองคำ หีบปิดทอง ถ้วยทองคำ ขวดเงิน โถเงิน ตุ๊กตาผู้หญิง ญี่ปุ่นทำด้วยเงินกาไหล่ทองลงยามือถือถ้วย มีลานไขให้เดินได้ ฉากญี่ปุ่นมีรูปนกและรูปต้นไม้ เสื้อญี่ปุ่นงามอย่างที่สุด กระปุกหมึก ที่สำหรับใส่หนังสือเลี่ยมเงิน เครื่องลายครามอย่างงามที่สุด ๖๔๐ ชิ้น และยังมีของอื่นๆ อีกมาก

ซึ่งนอกจากของถวายราชกุมารีฝรั่งเศสแล้ว ในคราวเดียวกัน สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพยังทรงจัดของมีค่าไปถวาย ดุกเดอบรุกอยน์ ด้วย

ตลอดรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช น่าจะถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาของความรุ่งโรจน์สูงสุดแห่งพระชนม์ชีพ เพราะเมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชาขึ้นเสวยราชสมบัติต่อมา ได้ทรงสถาปนาสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย คู่กับสมเด็จกรมหลวงโยธาทิพ ซึ่งเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา แต่ในพระราชพงศาวดาร พรรณนาความในทำนองว่า สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพไม่ทรงปลงพระทัยที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว จนสมเด็จพระเพทราชาต้องทรงใช้คุณไสย ดังความที่บันทึกไว้ว่า

“…ทรงพระกรุณาให้หมอทำเสน่ห์ ครั้นได้หมอมาแล้ว ก็ให้กระทำตามวิธีเสน่ห์ แลกรมหลวงโยธาเทพก็คลั่งไคล้ใหลหลง ทรงพระกันแสงถึงพระเจ้าอยู่หัวเป็นกำลัง…”
สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพทรงพระครรภ์ประสูติพระราชโอรส พระญาติวงศ์ทั้งหลายถวายพระนามว่า เจ้าพระตรัสน้อย แต่สมเด็จพระเพทราชาพระชนกนาถตรัสเรียกว่า สำมะยัง

เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพทรงพาเจ้าพระตรัสน้อยเสด็จออกไปประทับ ณ พระตำหนักริมวัดพุทไธสวรรย์ เช่นเดียวกับสมเด็จกรมหลวงโยธาทิพ และน่าจะเป็นเพราะทรงเกรงราชภัยจะมีมาถึงพระราชโอรสเช่นเดียวกับเจ้าพระขวัญ พระราชนัดดา จึงโปรดให้เจ้าพระตรัสน้อยทรงผนวชอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์ ณ วัดพุทไธสวรรย์มาจนตลอดแผ่นดินขุนหลวงสรศักดิ์ พระเจ้าท้ายสระ และแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนี้เอง ที่พระภิกษุเจ้าพระตรัสน้อย พระโอรสในสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งในพระราชพงศาวดารขานพระนามว่า “เจ้าพระ” เกือบจะต้องได้รับอันตรายอันเนื่องมาจากความหวาดระแวงของราชสำนัก เมื่อครั้งเกิดกบฏจีนนายก่ายเข้าปล้นพระราชวังหลวง ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ เมืองลพบุรี เจ้าพระตรัสน้อย เสด็จเข้ามาช่วยป้องกันรักษา พระราชวัง ดังที่ความในพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า
“…จึงพระยาเพชรพิชัยและข้าราชการทั้งหลาย ซึ่งอยู่รักษาพระนครนั้นก็แต่งหนังสือบอกให้เรือเร็วถือขึ้นไป ณ เมืองลพบุรี กราบทูลพระกรุณาให้ทราบเหตุนั้นทุกประการ ดำรัสว่า พระสมีสำมยัง นั้นจะเอาราชสมบัติเองหรือประการใด ฝ่ายเจ้าพระวัดพุทไธสวรรย์ ก็เสด็จลงเรือเร็วขึ้นไป ณ เมืองลพบุรี เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินถวายพระพรแถลงเหตุนั้นให้ทราบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระโสมนัสยินดีหายที่ข้อทรงพระวิตก…”

ภายหลังจากเกิดเหตุที่พระโอรสเกือบต้องราชภัย ราว ๑ ปี สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระอัยกีในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็สิ้นพระชนม์ โปรดเกล้าฯ ให้มีงานพระเมรุ ณ วัด พุทไธสวรรย์ ซึ่งเป็นพระอารามที่เจ้าพระตรัสน้อย พระโอรสทรงผนวชประทับจำพรรษาอยู่ ดังปรากฏความอยู่ในพระราชพงศาวดารว่า

“..ในปีเถาะนั้น สมเด็จพระอัยกีกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเสด็จอยู่ ณ พระตำหนักริมวัดพุทไธสวรรย์นั้น ดับสูญสิ้นพระชนม์ จึงโปรดให้ทำพระเมรุมาศขนาดน้อย ณ วัดพุทไธสวรรย์นั้น แล้วเชิญพระโกศขึ้นพระยานุมาศแห่เข้าพระเมรุ พระราชทานพระสงฆ์ สดัปกรณ์และมีงานมหรสพสามวัน แล้วเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพตามโบราณราชประเพณีสืบๆ กันมา…”

หลังจากสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพสิ้นพระชนม์แล้ว สันนิษฐานว่า เจ้าพระตรัสน้อยคงจะทรงผนวชอยู่ ณ วัดพุทไธสวรรย์ โดยสงบเงียบสืบมาโดยไม่ทรงเกี่ยวข้องกับราชการบ้านเมืองแต่อย่างใด เพราะไม่ปรากฏเรื่องราวที่กล่าวถึงเจ้านายพระองค์นี้อีกเลย

กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ ราชนารีแห่งราชสำนักกรุงศรีอยุธยานับเป็นสตรีไทยที่มีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบภารกิจอันเป็นเรื่องราชการบ้านเมือง โดยทรงเป็นเจ้านายผู้หญิงที่ได้รับ พระราชทานให้ทรงกรมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปกครองของไทย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: บุหลง ศรีกนก

เจ้าแม่วัดดุสิต

พระนมและผู้ถวายพระอภิบาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อทรงพระเยาว์คือ เจ้าแม่วัดดุสิต ท่านผู้นี้เป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ซึ่งเป็นขุนนางคนสำคัญ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

นามของเจ้าแม่วัดดุสิตนั้น มีที่มาเนื่องจากท่านได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับวัดดุสิดาราม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรดให้สร้างขึ้น จึงได้ชื่อว่าเจ้าแม่วัดดุสิต

มีที่มาต่างกันไปในประวัติของเจ้าแม่วัดดุสิต เช่นที่กล่าวไว้ในหนังสือโครงกระดูกในตู้ ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ปราโมช ว่า มีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าทางสายสมเด็จพระมหาธรรมราชาชื่อบัว และที่กล่าวไว้ในหนังสือราชนิกุลรัชกาลที่ ๕ ของสมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา ภาณุพันธุวงศ์วรเดช ว่า มีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าชื่อบัวเช่นกัน ส่วนที่กล่าวไว้ในหนังสือเจ้าชีวิตของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ว่า เป็นหม่อมเจ้าชื่ออำไพ

เจ้าแม่วัดดุสิต พระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คงจะเป็นที่เกรงพระทัยด้วย ดังเหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระเจ้าเสือขณะเป็นขุนหลวงสรศักดิ์ มีเรื่องไม่พอใจกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ซึ่งขณะนั้นเป็นขุนนางที่มีบทบาทในราชสำนักมาก ขุนหลวงสรศักดิ์ได้ชกปากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ มีความผิด เจ้าแม่วัดดุสิตเป็นผู้ที่ช่วยกราบทูลขอพระราชทานโทษให้

ต่อมาบ้านของเจ้าแม่วัดดุสิตนั้น ก็เป็นที่ประทับของกรมพระเทพามาตย์ พระมเหสีของสมเด็จพระเพทราชา ดังความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชสมัย พระเจ้าเสือว่า

“ในขณะนั้นสมเด็จพระอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ (สมเด็จพระเพทราชา – ผู้เขียน) ซึ่งเป็นพระราชมารดาเลี้ยงของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน (สมเด็จพระเจ้าเสือ – ผู้เขียน) ได้อภิบาลบำรุงรักษาพระองค์มาแต่พระเยาว์นั้น ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว จึงทูลลาพระเจ้าแผ่นดินออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดดุสิต และที่พระตำหนักวัดดุสิตนี้เป็นตำหนักมาก่อนครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า และเจ้าแม่ผู้เฒ่า ซึ่งเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า และเป็นมารดาเจ้าพระยาโกษาเหล็ก โกษาปาน ซึ่งได้ช่วยไปกราบบังคมทูลขอพระราชทานโทษสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ขณะที่เป็นหลวงสรศักดิ์ และชกเอาปากเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ครั้งนั้น และเจ้าแม่ผู้เฒ่าก็ได้ตั้งตำหนักอยู่ในที่นี้ ครั้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ และสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยงก็เสด็จตั้งพระตำหนักอยู่ในที่นี้สืบต่อกันมาแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งเป็นกรมพระเทพามาตย์”

ในประวัติศาสตร์ไทย เจ้าแม่วัดดุสิต จึงเป็นสตรีสำคัญท่านหนึ่ง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ธีระ แก้วประจันทร์

พระสุพรรณกัลยา

พระสุพรรณกัลยาเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและพระวิสุทธิกษัตรี พระนามที่ปรากฏในเอกสารต่างๆ มีต่างกันบ้าง เช่น พระปก พระสุวรรณ พระสุวรรณกัลยา พระสุวรรณเทวี พระสุพรรณกัลยาณี และพระสุพรรณกัลยาพระสุพรรณกัลยา

ในหนังสือพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ มีส่วนที่เกี่ยวพันกับพระสุพรรณกัลยาว่า

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสมภพที่เมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๘ พระองค์เป็นราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระราชชนนีคือ พระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิอันเกิดด้วยพระสุริโยทัย สมเด็จพระนเรศวรฯ มีพระพี่นางองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระสุพรรณกัลยาณี และพระน้องยาองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระเอกาทศรถ

คราวพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาใน พ.ศ. ๒๑๐๖ เมื่อมีชัยชนะได้ตรัสขอสมเด็จพระนเรศวรฯ ไปเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรม สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงต้องเสด็จออกไปอยู่เมืองหงสาวดี เมื่อพระชันษาได้ ๙ ปี

ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๑๑๒ สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จไปหงสาวดีทูลฟ้องพระเจ้าบุเรงนองว่า ถูกสมเด็จพระมหินทราธิราชปองร้าย ทางกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้เสด็จไปรับพระวิสุทธิกษัตรีกับพระโอรสธิดาจากพิษณุโลกมาอยู่ในพระนครศรีอยุธยา

เมื่อพระเจ้าบุเรงนองเคลื่อนกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในเดือน๑๑ พ.ศ. ๒๑๑๑ นั้น สมเด็จพระนเรศวรฯ พระชันษาได้ ๑๕ ปี ได้ตามเสด็จมาในกองทัพหลวงด้วย เมื่อตีกรุงศรีอยุธยาได้ใน พ.ศ. ๒๑๑๒ พระเจ้าบุเรงนอง ทรงตั้งให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาปกครองกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ถวายพระสุพรรณกัลยาณีแก่พระเจ้าบุเรงนอง เป็นตัวจำนำแทนสมเด็จพระนเรศวรฯ ทำให้สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ช่วยสมเด็จพระชนกปกครองบ้านเมือง

แท้ที่จริงแล้ว บันทึกเรื่องราวของพระสุพรรณกัลยา และเรื่องสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงเป็นตัวประกันอยู่ที่กรุงหงสาวดี ไม่มีในพระราชพงศาวดาร หรือพงศาวดารฉบับหลวงของไทยฉบับใด แต่มีเรื่องราวในพงศาวดารฉบับราษฎร์ และเอกสารต่างประเทศที่พอจะประมวลกันได้ ที่ปรากฏข้อเท็จจริงของพระประวัติอยู่ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ข้างต้น

คำให้การขุนหลวงหาวัด
(เป็นเอกสารที่มีอยู่ในหอหลวง แปลในรัชกาลที่ ๔ จากภาษามอญ ซึ่ง แปลจากภาษาพม่าอีกชั้นหนึ่ง) และคำให้การชาวกรุงเก่า (เป็นเอกสารที่ได้จากหอสมุดรัฐบาลพม่าที่เมืองร่างกุ้งใน พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นภาษาพม่าคัดมาแปลเป็นภาษาไทย) บันทึกเกี่ยวกับพระสุพรรณกัลยาไว้ตรงกัน มีต่างกันบ้างในรายละเอียดเพียงเล็กน้อย ซึ่งประมวลได้ว่า

พระสุวรรณกัลยา เป็นพระราชธิดาพระสุธรรมราชาและพระบรมเทวี มีพระอนุชา ๒ พระองค์ คือ พระนเรศวรฯ และพระเอกาทศรถ

เมื่อพระเจ้าหงสาวดียกทัพมาถึงเมืองพิษณุโลก พระสุธรรมราชาเห็นว่าสู้รบต้านทานไม่ได้ ก็แต่งเครื่องบรรณาการแล้วพาพระราชธิดาและพระราชโอรสออกไปเฝ้า และตามเสด็จพระเจ้าหงสาวดีมาล้อมพระนครศรีอยุธยา

เมื่อตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว พระเจ้าหงสาวดีมอบราชสมบัติให้พระสุธรรมราชา แล้วนำพระมหินทร์ พระสุวรรณกัลยา และพระนเรศวรฯ ไปเมืองหงสาวดี ทรงตั้งพระสุวรรณกัลยาเป็นอัครมเหสี พระนเรศวรฯ นั้นก็โปรดปรานเหมือนพระราชบุตร

วันหนึ่งพระนเรศวรฯ เล่นชนไก่กับพระมหาอุปราชา ไก่พระมหาอุปราชาแพ้ พระมหาอุปราชาก็ขัดใจแกล้งพูดเยาะเย้ยว่า ไก่เชลยเก่ง พระนเรศวรฯ ทรงแค้นพระทัยคิดอุบายหนี แล้วทูลชวนพระพี่นาง แต่พระสุวรรณกัลยาทรงขอให้พระนเรศวรเสด็จหนีไปโดยไม่ต้องห่วงพระนาง

ต่อมาเมื่อพระนเรศวรฯ ชนช้างกับพระมหาอุปราชา ได้ฟันพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ได้รับชัยชนะ พระเจ้าหงสาวดีทรงแค้นเคืองจึงฟันพระสุวรรณกัลยาสินพระชนม์ คำให้การขุนหลวงหาวัดว่า พร้อมพระราชโอรส คำให้การชาวกรุงเก่าว่า พร้อมพระราชธิดา

หลักฐาน ๒ ชิ้นนี้ เก็บจากคำบอกเล่าของบุคคลที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ ซึ่งห่างจากเหตุการณ์จริงร่วม ๒๐๐ ปี ทั้งผ่านกระบวนการแปลกลับไปกลับมา ความวิปลาสคลาดเคลื่อนจึงมีอยู่มาก

สังคีติยวงศ์
(เป็นหนังสือภาษามคธ ที่สมเด็จพระวันรัตน วัดพระเชตุพน แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๒ ในรัชกาลที่ ๑ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษมณ) แปลในรัชกาลที่ ๖) กล่าวถึงพระสุพรรณกัลยาว่า

“พระราชบุตรของพระมหาธรรมราชาสินั้นทรงพระนามว่า สมเด็จพระนริสสราช สมเด็จพระราชบิดาได้ถวายแก่พระเจ้าหงษาพร้อมกับสมเด็จพระราชธิดา พระเจ้าหงษาจึงได้พาไปเมืองหงษานคร พระองค์ได้อยู่ในเมืองหงษานครกับด้วยพระภาดาหลายปี

เมื่อได้โอกาสก็หนีจากหงษานครนั้นมาอยู่ในกรุงอโยชฌนคร พระอุปราชราชบุตรของพระเจ้าหงษาราชได้ติดตามมา แล้วทำสงครามกัน พระองค์ได้ชนช้างกับด้วยพระอุปราช ฟันพระเศียรพระอุปราชขาดด้วยดาบดํ้ายาว (ของ้าว) ได้ฆ่าอุปราชตายในสนามรบ พระองค์จึงได้มีไชยเหนือคอช้าง พระองค์จึงเป็นมหายศมหาเดชยิ่งกว่าพระราชาในสมัยนั้น”

ในเอกสารชาวต่างประเทศที่เข้ามาสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ โดยเฉพาะเรื่องสมเด็จพระนเรศวรฯ ต้องทรงเป็นตัวประกันอยู่กรุงหงสาวดีนั้น พบว่ามีการพรรณนาเรื่องอาณาจักรสยาม (Description of the Kingdom of Siam) เยเรเมียส ฟาน ฟลีต ชาวดัตช์ บันทึกเมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๔) ฉบับแปลของสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ว่า

“…ประเทศสยามได้ส่งเครื่องบรรณาการให้อังวะหลายปี แต่ในที่สุดพวกสยามกับความช่วยเหลือของชายผู้หนึ่ง ซึ่งคนทั้งหลายเรียกว่า “พระองค์ดำ” (The black King) ได้สลัดแอกของต่างชาติไปได้ พระองค์ทรงเป็นรัชทายาทของบัลลังก์สยาม และเมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงไปเป็นตัวประกันที่ราชสำนักหงสาวดี อย่างใดก็ตาม เนื่องจากพระองค์ทรงอดทนต่อการดูถูกหมิ่นประมาทมามากจนทำให้ทรงคิดหนี คืนหนึ่งพระองค์ทรงหนีไปกับพวกขุนนาง ๓๐๐ คน ซึ่งล้วนแต่เป็นบริวารของพระองค์ พระองค์และพวกเขาได้เดินทางกลับประเทศสยาม”

ในช่วง พ.ศ. ๒๑๕๔ – ๒๑๕๘ จดหมายเหตุของ Peter Floris ชาวดัตช์ ซึ่งเดินทางเข้ามาทำงานกับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้ กล่าวถึงเรื่องสยามเป็นเมืองขึ้นของพะโค (หงสาวดี) และว่าทั้งสมเด็จพระนเรศวรฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงได้รับการเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ในราชสำนักพะโค แล้วหนีกลับกรุงศรีอยุธยาว่า

“Siam is an auncient Kingdome and hath alwayes bene very mightye, but afterwards it hath bene subdued by the King of Pegu, becomming tributaries unto him. Butt it continued not long in that estate, for this King, Dying, lefte issue 2 sonnes, which were brought upp in the Kings courte of Pegu; who flying from thence to Siam, whereas the eldeste, called Raja Api, in the Maleys language the Fyery King, but by the Portingalls and other nations the Blacke King…”

The Ship of Sulaiman (บันทึกของทูตเปอร์เซียซึ่งเดินทางเข้ามาสยามในช่วงหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗) ก็กล่าวถึงเรื่องที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ต้องประทับเป็นตัวประกันอยู่ที่พะโคเช่นกัน และทรงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหงสาวดี จนเป็นที่อิจฉาของพระมหาอุปราชาว่า

“It happened that the son of the Siamese governor was at the royal court employed in waiting upon the king but unfortunately the young man’s honest character and the large amount of favor that the king accorded him only served to arouse the jealousy of the King’s son, for such was the faulty nature of the crown prince. It was not long before the relationship between these two young men took a turn for the worse”

ส่วนเรื่องถวายพระสุพรรณกัลยาให้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองนั้น บันทึกไว้ชัดเจนในพงศาวดารฉบับหอแก้วของพม่า (Hmannan Yazawin Dawgyi ซึ่งพระเจ้าจักกายแมงของพม่า โปรดให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตชำระเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้นายต่อแปลเป็นภาษาไทยชื่อ มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า)ว่า

“ในขณะนั้นออกยาพิศนุโลกผู้ครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา ได้ถวายบุตรีพระชนม์ ๑๗ ปี กับพระพี่เลี้ยง ๑๕ คน ทรงพระนามพระราชบุตรีนั้นว่า พระสุวรรณ (Bra Thawan) พระเจ้าหงษาวดีก็ทรงรับไว้ แล้วพระองค์รับสั่งให้ตามเสด็จพระองค์ไปเมืองเวียงจันทร์ด้วย”

เมื่อรวมกับหลักฐานที่ยืนยันว่า หลังเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒ สมเด็จพระนเรศวรฯ ประทับอยู่ในประเทศแล้ว ก็คือพระราชพงศาวดารฉบับที่มีความแม่นยำทางศักราช คือ พระราชพงศาวดาร กรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งบันทึกว่า

“ศักราช ๙๓๓ มะแมศก (พ.ศ. ๒๑๑๔) นํ้าน้อย อนึ่ง สมเด็จพระณะรายบพิตรเป็นเจ้า (สมเด็จพระนเรศวรฯ) เสด็จขึ้นไปเสวยราชสมบัติเมืองพิศณุโลก”

จึงได้ข้อสรุปว่า พระสุพรรณกัลยามีตัวตนจริงและแลกพระองค์กับสมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จไปเป็นตัวประกันที่กรุงหงสาวดี เปิดโอกาสให้สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ฟื้นฟูบ้านเมืองจนกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ นับเป็นการเสียสละพระองค์อย่างสูงส่งของพระสุพรรณกัลยา เพราะอาจจะต้องถึงเสียสละชนม์ชีพก็ได้ หากสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงกู้ชาติสำเร็จ

คำให้การ ๒ ฉบับดังกล่าวข้างต้น เป็นหลักฐานที่กล่าวถึงวาระสุดท้ายของพระสุพรรณกัลยา และมีหลักฐานชาวตะวันตกที่พรรณนาถึงความโหดร้ายของพระเจ้านันทบุเรงในระยะเวลานั้น ซึ่งน่าจะเป็นภัยต่อพระสุพรรณกัลยา เช่น

จดหมายเหตุของ Faria y Souza ชาวโปรตุเกส ที่อยู่พะโค (หงสาวดี) ขณะนั้น ได้เล่าถึงความคลุ้มคลั่งของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง เมื่อทรงทราบข่าวสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชา เช่น บางวันเผาราษฎรตายเป็นหมื่นแล้วโยนศพทิ้งแม่นํ้าจนปิดเส้นทางคมนาคมเป็นต้น

“the King of Pegu in a rage for the death of his son turned his fury against the people, and some days bornt about ten thousand throwing so many into the river as stopped the passage even of boats. He forbid them sowmg which caused such a famine that they not only eat one another to which purpose there was a pubic butchery of mans flesh. But devoured part of their own bodies. ”

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการพม่าได้แสดงหลักฐานพม่าที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้คือ พระราชพงศาวดาร มหาราชวงศ์ (ฉบับย่อ U Kala Mahayazawingyoke) ฉบับที่แต่งโดย อูกาลา ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับ เชื้อพระวงศ์ในรัชกาลพระเจ้าบุเรงนอง มีมเหสีพระนาม พระสุวรรณ (Amyo Yone อะเมี้ยวโยง) ซึ่งเป็นพระพี่นางของพระนริศกษัตริย์อยุธยา และมีพระราชธิดาประสูติด้วยพระเจ้าบุเรงนอง พระนามว่า เจ้าหญิงน้อย (Min Atwe – เมงอทเว) อยู่ด้วย เอกสารฉบับนี้มิได้กล่าวถึงเรื่องพระสุพรรณกัลยาถูกประหารชีวิต และ อูกาลา มีมารดาที่สืบเชื้อสายเจ้าเมืองพิษณุโลก นักวิซาการพม่าจึงเชื่อว่า ภายหลังการล่มสลายของกรุงหงสาวดี พระสุพรรณกัลยายังมีพระชนม์ชีพอยู่

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: วีณา โรจนราธา