เจ้าจอมแว่น

Socail Like & Share

สนมเอกผู้จงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือ เจ้าจอมแว่น หรือคุณเสือเจ้าจอมแว่น

เจ้าจอมแว่นเป็นชาวเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๒ ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมากรุงเทพฯ ขณะที่พระองค์ยังดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ และทรงเป็น แม่ทัพยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ ใน พ.ศ. ๒๓๒๑ ในครั้งนั้น ได้ “…กวาดครอบครัวลาวชาวเมืองกับทั้งพระราชบุตรธิดา วงศานุวงศ์และขุนนางท้าวเพี้ยทั้งปวง กับทรัพย์สิ่งของเครื่องศาสตราวุธ และช้างม้าเป็นอันมาก และเชิญพระพุทธปฏิมากรพระแก้วมรกต พระบาง เลิกทัพกลับมายังกรุงธนบุรี…”

เจ้าจอมแว่นได้ถวายความจงรักภักดี หลังจากตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมายังกรุงเทพฯ ปฏิบัติรับใช้ใกล้ชิดพระองค์ตลอดมา จนกระทั่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติและสวรรคต เจ้าจอมแว่นเป็นสนมเอกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดปรานไว้วางพระราชหฤทัย และพระราชทานอภัยโทษให้เสมอ มีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาเป็นส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องราวของเจ้าจอมแว่น นับตั้งแต่เริ่มแรกที่ตามเสด็จฯ มาถึงกรุงเทพฯ ตามที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง โครงกระดูกในตู้ ความว่า

“เมื่อเจ้าจอมแว่นมาอยู่ในทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยาฯ แล้ว ท่านผู้หญิงก็หึงหวงมาก มีปากเสียงกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ด้วยเรื่องคุณแว่นนี้อยู่บ่อยๆ

จนคืนวันหนึ่ง ท่านผู้หญิงถือดุ้นแสมไบ่ยืนคอยดักอยู่ในที่มืด บนนอกชานเรือน พอคุณแว่นเดินออกมาจากเรือนหลังใหญ่ อันเป็นที่อยู่ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านผู้หญิงก็เอาดุ้นแสมตีหัว คุณแว่นก็ร้องขึ้นว่า

“เจ้าคุณขา คุณหญิงตีหัวดิฉัน”

สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็โกรธยิ่งนัก ฉวยได้ดาบออกจากเรือนจะมาฟันท่านผู้หญิง ฝ่ายท่านผู้หญิงก็วิ่งเข้าเรือนที่ท่านอยู่ แล้วปิดประตูลั่นดาลไว้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เอาดาบฟันประตูอยู่โครมๆ”

เจ้าจอมแว่นรับราชการในพระองค์โดยมิได้มีพระองค์เจ้า และทำหน้าที่ดูแลบรรดาพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์อย่างเข้มงวด จนเป็นที่ เกรงกลัวได้รับฉายาว่า “คุณเสือ” โดยส่วนตัว เจ้าจอมแว่นคงต้องการ มีพระองค์เจ้าดังปรากฏความใน สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๔ ความว่า

“…ที่ในวิหารพระโลกนาถมีรูปจำหลักด้วยศิลาอ่อนทำเป็นเด็กแต่งเครื่องอาภรณ์ติดฝาผนังไว้ ๒ ข้างพระพุทธรูป เล่ากันมาว่าเมื่อสร้างวัดพระเชตุพนนั้น เจ้าจอมแว่นพระสนมเอกผู้เป็นราชูปถาก ซึ่งเจ้านายลูกเธอเกรงกลัวเรียกกันว่า “คุณเสือ” อีกนาม ๑ กราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ว่า อยากจะทำบุญอธิษฐานขอให้มีลูก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปเด็ก ๒ รูป อย่างเป็นเครื่องประดับพระวิหาร…”

การทำเช่นนี้ เป็นความใน ที่รู้กันในหมู่คนใกล้ชิดไม่ได้เป็นที่เปิดเผย แต่มีความปรากฏในจารึกคำโคลงใต้ภาพเด็ก ข้างพระพุทธรูปในวิหารพระโลกนาถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ความว่า

“รจนาสุดารัตนแก้ว กุมารี หนึ่งฤๅ
เสนออธิบายบุตรี ลาภไซร้
บูชิตเชษฐชินศรี เฉลาฉลัก หินเฮย

บุญส่งจงลุได้ เสด็จด้วยดั่งถวิล

กุมารหนึ่งพึงฉลักตั้ง ติดผนัง
สถิตย่อยู่เบื้องหลัง พระไว้
คุณเสือสวาดิหวัง แสวงบุตร ชายเฮย
เฉลยเหตุธิเบศร์ให้ สฤษดิแสร้งแต่งผล”

ผู้คนมักนิยมไปกราบไหว้บูชาพระพุทธโลกนาถ ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในปัจจุบัน เพราะเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องให้บุตร และจะประสบผลสำเร็จหากขอในคืนวันเพ็ญ ซึ่เป็นวันสำคัญทางพุทธศาศนา นอกจากสร้างรูปเด็กถวายประดับในวิหารพระโลกนาถแล้ว ในงานเทศน์มหาชาติครั้งหนึ่ง เจ้าจอมแว่น ยังทำกระจาดใหญ่ใส่เด็กผมจุกแต่งเครื่องหมดจดงดงาม ติดกัณฑ์เทศน์ถวายเป็นสิทธิขาด นับเป็นความคิดแปลกแหวกแนว อาจจะสืบเนื่องมาจากความต้องการมีพระองค์เจ้าเป็นอย่างยิ่งก็เป็นได้

เจ้าจอมแว่นถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และถวายสืบต่อมาถึงบรรดาพระเจ้าลูกเธอด้วย โดยถวายการดูแลเคร่งครัดเป็นที่เกรงกันในบรรดาพระเจ้าลูกเธอรุ่นเล็กที่ยังทรงพระเยาว์ ในส่วนพระเจ้าลูกเธอรุ่นใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น ทรงสนิทสนมมากกับเจ้าจอมแว่น ตรัสเรียกชื่อว่า ‘พี่แว่น’ เมื่อมีปัญหาส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นที่ขัดพระราชหฤทัยก็ได้ทรงอาศัยพี่แว่นช่วยเพ็ดทูลความต่างๆ ได้ เนื่องจากเป็นคนโปรดและทรงทราบว่า จงรักภักดีอย่างยิ่ง จึงได้รับพระราชทานอภัยเสมอ ดังเหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงพระครรภ์กับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าจอมแว่นเป็นผู้กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบ โดยขอพระราชทานไม่ให้กริ้วมาก และในปลายรัชสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระโกศทองใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๑ ครั้นสร้างแล้วเสร็จ มีรับสั่งให้เชิญไปตั้งถวายให้ทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งเป็นที่ประทับ ตั้งอยู่หลายวันก็มิได้ตรัสให้ยกไปเก็บในคลัง จนบรรดาข้าราชบริพารต่างพากันไม่สบายใจเห็นเป็นลางร้าย เจ้าจอมแว่นเป็นผู้กราบบังคมทูลวิงวอนให้ยกไปเก็บ พระองค์มีรับสั่งว่า

“…กูทำสำหรับให้ตัวกูเอง
จะเป็นอัปมงคลทำไม…” กับทั้งตรัสว่าไม่ทรงถือ ถ้าหากว่า “…ไม่เอามาตั้งดู ทำไมกูจะได้เห็น…” แต่ก็โปรดเกล้าฯ ให้ยกพระโกศไปเก็บตามคำกราบบังคมทูล

นอกจากจะถวายการรับใช้ใกล้ชิดพระองค์แล้ว เจ้าจอมแว่นยังเป็นผู้มีฝีมือในการปรุงอาหารด้วย กล่าวกันว่าท่านเป็นต้นคิดประดิษฐ์ขนมไข่เหี้ยขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชประสงค์จะเสวยไข่เหี้ย ซึ่งสมัยโบราณนิยมกินกับมังคุด แต่ขณะนั้นหาได้ยาก เจ้าจอมแว่นจึงคิดประดิษฐ์ขนมไข่เหี้ยขึ้นถวายแทน

บรรดาพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ้าจอมแว่นก็ได้ถวายอภิบาลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เนื่องจากเจ้าฟ้ากุณฑลฯ มีพระมารดา คือเจ้าหญิงทองสุก เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอินทวงศ์ เจ้ากรุงเวียงจันทน์ และทรงกำพร้าพระชนนี ตั้งแต่พระชนม์ ๕ พรรษา เมื่อสิ้นรัชกาลแล้ว เจ้าจอมแว่นว่างราชการ จึงรับเป็นธุระถวายอภิบาลเจ้าฟ้ากุณฑลฯ ตลอดมา เพราะต่างมีเชื้อสายเป็นชาวเวียงจันทน์ด้วยกัน จนกระทั่งเจ้าฟ้ากุณฑลฯ ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และด้วยความเข้มแข็งและเฉียบขาดตาม ฉายา “คุณเสือ” เจ้าจอมแว่นได้ทำให้เจ้าฟ้ากุณฑลฯ ทรงอยู่ในราชสำนักได้อย่างผาสุก และยังได้ถวายอภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ๓ พระองศ์ต่อมา คือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ากลาง (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์) และเจ้าฟ้าปิ๋ว และเจ้าจอมแว่นถึงแก่อนิจกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ศิรินันท์ บุญศิริ