สมเด็จเจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี

Socail Like & Share

เป็นพระราช ชายานารีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลักฐานเก่าใช้ กุลฑลทิพยวดี หรือ กุณฑลทิพยวดี ก็มี

พระนามเดิมของสมเด็จเจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี คือ พระองค์เจ้าหญิงจันทบุรี พระราชธิดาองค์ที่ ๒๓ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติจากเจ้าจอมมารดาทองสุก หรือเจ้านางทองสุก (พระราชธิดาของพระเจ้าอินทวงค์ แห่งนครเวียงจันทน์) ประสูติเมื่อปีมะเมีย สัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๑๖๐ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๑)

ต่อมา เจ้าจอมมารดาทองสุก พระมารดาสิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ. ๒๓๔๖ เวลานั้นสมเด็จเจ้าฟ้า กุณฑลทิพยวดี มีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา เจ้าจอมแว่น ซึ่งเป็นบาทบริจาริกาชาวเวียงจันทน์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงรับหน้าที่เป็นผู้อภิบาลพระองค์สืบต่อมา

เหตุการณ์สำคัญเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ มีหลักฐานจาก พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ได้กล่าวถึงว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีตามเสด็จพระราชดำเนินไปทรงลอยพระประทีปที่พระตำหนักแพ ครั้นพอถึงเวลาจุดดอกไม้ไฟ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระชนกนาถ ทรงพระกรุณาว่ากำลังประชวรพระเนตรอยู่ จึงโปรดให้เสด็จกลับพระตำหนัก ระหว่างทางเสด็จกลับนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงประสบอุบัติเหตุพลัดตกลงแม่นํ้า แต่ทรงไม่เป็นอันตราย เพราะทรงเกาะทุ่นหยวกไว้ได้ ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า

…พระเจ้าลูกเธอ พระองค์หญิงองค์ ๑ ปรากฏพระนามว่า พระองค์เจ้าจันทบุรี … เสด็จกลับขึ้นมาถึงเรือบัลลังก์กับตำหนักแพต่อกันพลาดตกนํ้าหายไป พี่เลี้ยงนางนมร้องอื้ออึงขึ้น คนทั้งปวงตกใจพากันลงนํ้าเที่ยวค้นหา จึงพบพระองค์เจ้าลูกเธอพระองค์นั้น เกาะทุ่นหยวกอยู่ท้ายนํ้า หาได้เป็นอันตรายไม่ เป็นอัศจรรย์…

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพิจารณาด้วยพระกรุณาจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ว่า พระราชธิดาพระองค์นี้ทรงกำพร้าพระมารดามาแต่ทรงพระเยาว์ ทั้งยังทรงดำรงฐานะเป็นพระราชนัดดา แห่งเจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ สมควรสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เลื่อนชั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑล ทิพยวดี เมื่อวันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีเถาะนพศก จ.ศ. ๑๑๖๙ ตรงกับวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๕๐ ดังปรากฏพระบรมราชโองการใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ตอนหนึ่งว่า

…พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ เจ้าจอมมารดาก็เป็นบุตรีเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต สิ้นชีพเสียแต่เมื่อปีกุนเบญจศก แต่พระชนม์พระองค์เจ้าได้ ๕ พรรษา ไม่มีมารดา ทรงพระกรุณามาก พระองค์เจ้านี้ อัยกาก็เป็นเจ้าประเทศราชยังดำรงชีพอยู่ ควรจะสถาปนาให้มีอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๒ ค่ำ จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระนาม ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๓ ค่ำ พระราชทานสุพรรณบัฏ เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี แล้วมีงานสมโภชอีก ๓ วัน

ในปี พ.ศ. ๒๓๕๑ สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมีพระชนมายุได้ ๑๑ พรรษา ครบกำหนดโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีโสกันต์ เจ้าฟ้าตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า เพื่อให้เป็นแบบแผนไว้ในแผ่นดินสืบต่อไป นับว่าเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์เต็มตามตำรา โบราณราชประเพณีทุกประการ ดังปรากฏหลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ตอนหนึ่งว่า

ในปีมะโรงสัมฤทธิศกนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี พระชนมายุได้ ๑๑ พรรษา ถึงกำหนดโสกันต์ ทรงพระราชดำริว่าตั้งแต่ตั้งแผ่นดินมา ยังหาได้กระทำการพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าให้เต็มตามตำราไม่ และแบบแผนพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าอย่างครั้งกรุงเก่านั้น เจ้าฟ้าพินทวดี พระราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงแนะสอนไว้ ในพระราชวังบวรฯ ครั้งโสกันต์พระองค์เจ้า ๓ พระองค์เป็นเยี่ยงอย่างอยู่แล้ว จึงโปรดให้เจ้าพนักงานตั้งเขาไกรลาศ ณ ชาลาในพระราชวัง ตั้งการพระราชพิธี มีเตียง พระมณฑป บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและตั้งราชวัติฉัตรรายทางนั่งกลาบาต และมีการเล่นต่างๆ ตลอดสองข้างทางที่จะเดินกระบวนแห่แต่ประตูราชสำราญมา

หลังจากที่สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีโสกันต์ได้เพียงปีเดียว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระชนกนาถก็เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ เป็นรัชกาลที่ ๒ ครั้งนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงพระเจริญวัยขึ้นมากพระสิริโฉมงดงามยิ่ง ทั้งยังทรงเพียบพร้อมไปด้วยพระคุณลักษณะที่อ่อนหวานละมุนละไม จนเป็นที่เลื่องลือกล่าวขวัญกันทั่วไปในราชสำนัก ครั้นเมื่อถึงเวลามงคลฤกษ์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ในฐานะพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก ทางฝ่ายในกำหนดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงเป็นผู้เชิญเสด็จฯ เข้าสู่พระมหามณเฑียรเป็นปฐมฤกษ์

เหตุการณ์ครั้งนั้น มีเกร็ดเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ความงามของสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เป็นชนวนที่ทำให้สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงขุ่นเคืองพระทัยพระราชสวามีมาตราบจนสิ้นรัชกาล เหตุที่ตอนแรกนั้น สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงตั้งพระทัยที่จะถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีอยู่ก่อนแล้ว ถึงกับตรัลชมความงามของสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีต่อเบื้องพระพักตร์ แต่ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงทำทีเป็นไม่สนพระราชหฤทัย ทั้งยังทรงตำหนิสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ดังนั้นในเวลาต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีขึ้นดำรงตำแหน่ง พระราชชายานารี จึงทำให้สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงขัดเคืองพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับเสด็จฯ ไปอยู่กับสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระราชโอรส ที่พระราชวังเดิม และไม่เสด็จฯ เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกต่อไปตราบจนสิ้นรัชกาล

เนื่องจากสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงเป็นผู้ที่มีพระจริยวัตรที่นุ่มนวลอ่อนโยน เปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณาต่อบุคคลทุกชนชั้น ทั้งยังทรงมีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เป็นนิจ จึงมิได้ทรงถือพระองค์ว่าเป็นที่โปรดปรานแต่ประการใด โดยเฉพาะทรงถวายความเคารพนบนอบต่อสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ด้วยพระอุปนิสัยดังกล่าวนี้ จึงเป็นส่วนส่งเสริมให้สมเด็จ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงสามารถชนะพระทัยสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ได้สำเร็จในที่สุด นับว่าสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงเป็นผู้ที่มีความเพียรในการประกอบกรรมดีโดยแท้จริง และเนื่องจากพระองค์ทรงยึดมั่นศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาอย่างมั่นคงตลอดมา ยังผลให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชสวามี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ทรงรับหน้าที่ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์เป็นงานหลวงมาจนตลอดรัชสมัย

สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี มีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวม ๔ พระองค์ คือ
๑. เจ้าฟ้าอาภรณ์ ประสูติวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๓๕๙ ในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงช่วยกำกับกรมพระคชบาล สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๑ ทรงเป็นต้นราชสกุล อาภรณกุล

๒. เจ้าฟ้าชายกลาง ประสูติวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๓๖๒ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงรับราชการในกรมวัง ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า เจ้าฟ้ามหามาลา และทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่น และกรมขุนปราบปรปักษ์ตามลำดับ โปรดให้กำกับราชการในกรมวัง กรมพระคชบาล และกรมสังฆการีธรรมการ ในรัชกาลที่ ๕ เลื่อนเป็นกรมพระบำราบปรปักษ์และสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่พร้อมกันสมมุติให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนัก และว่าราชการในพระคลังทั้งปวง ต่อมาได้ทรงว่าราชการในกระทรวงมหาดไทยอีกกระทรวงหนึ่ง สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ทรงเป็นต้นราชสกุล มาลากุล

๓. เจ้าฟ้าหญิง ประสูติในวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๖๓ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๒

๔. เจ้าฟ้าชายปิ๋ว ประสูติในวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๖๕ สิ้นพระชนม์ ในรัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๘๓

สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเป็นพระราชมารดาที่ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เป็นผลให้บรรดาพระราชโอรสทั้งสามพระองค์ ต่างก็ทรงได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ โปรดให้สุนทรภู่ กวีเอกในสมัยนั้น เป็นผู้ถวายพระอักษรแก่พระราชโอรสทุกพระองค์ ซึ่งในเวลาต่อมาได้ปรากฏงานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าของสุนทรภู่ ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ถึงสองเรื่อง คือ เรื่อง สวัสดิรักษาคำกลอน แต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ และเรื่อง เพลงยาวถวายโอวาท แต่งถวาย เจ้าฟ้าชายกลางและเจ้าฟ้าชายปิ๋ว ตามลำดับ

ครั้นเมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ใน พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๓ สืบต่อมา ครั้งนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงต้องทำหน้าที่พระมารดา ดูแลอบรมพระราชโอรสทั้งสามพระองค์ด้วยความเข้มแข็ง ทั้งยังทรงถือเป็นธุระในการถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์อยู่เป็นนิจ ตามที่พระราชสวามีทรงมอบหมายหน้าที่ไว้แต่เดิม ด้วยความจงรักภักดี นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงนํ้าพระทัยที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรมของพระองค์ ที่ทรงรับอุปการะสุนทรภู่อยู่ระยะหนึ่ง ในช่วงที่กวีเอกผู้นี้ตกอยู่ในฐานะลำบาก ยากเข็ญ จนถึงกับต้องไปอุปสมบทจำพรรษาอยู่ที่วัดราชบูรณะ ดังปรากฏหลักฐานตอนท้ายเรื่อง เพลงยาวถวายโอวาท ซึ่งสุนทรภู่ได้ถวายพระพรแด่สมเด็จเจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี และพระราชโอรสว่า

ควรมิควรส่วนผลาอานิสงส์ ซึ่งรูปทรงสังวรรัตน์ประภัสสร
ให้สี่องค์ทรงมหาสถาวร ถวายพรพันวษาขอลาเอย

ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงพระประชวรด้วยพระโรคโบราณ มาเป็นเวลานาน และสิ้นพระชนม์เมื่อวันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีจอสัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๒๐๐ ตรงกับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๘๑ รวมพระชนมายุ ๔๐ พรรษา

พระประวัติสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีนั้น เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงคุณลักษณะของกุลสตรีไทยที่มีความยึดมั่นในหลักธรรมพรหมวิหาร ๔ ในการดำเนินพระชนม์ชีพมาโดยตลอด ด้วยทรงเป็น “ผู้ให้” ที่ ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข โดยมิได้หวังผลตอบแทน ตราบจนคุณความดีนั้นส่งผลให้พระองค์ทรงประสบกับความสุขและความสำเร็จในที่สุด

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: อรวรรณ ทรัพย์พลอย