เสือชนิดต่างๆ

Socail Like & Share

เสือเป็นสัตว์สี่เท้าที่ดุร้ายในจำพวกแมว กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร มีอยู่หลายชนิด เช่น เสือโคร่ง เสือดาว เป็นต้น ใครที่ไม่เคยเห็นเสือก็จงดูแมวเป็นตัวอย่าง ลักษณะของเสือเมื่อเวลาเข้าจับเหยื่อไม่ผิดกับแมวเมื่อเวลาจับนกหนูเป็นอาหาร คนโบราณจึงว่า เสือนั้นเป็นลูกหลานของเสือโคร่งแมว และจิ้งจกเป็นตายายของจระเข้ ทำไมบรรพบุราของสัตว์พวกนี้จึงรูปร่างเล็กกว่าลูกหลานก็ไม่ทราบ

พูดถึงกระบวนสัตว์ดุร้ายที่เป็นสัตว์บกสี่เท้ากันแล้ว ถัดจากราชสีห์ลงมาแล้วก็ไม่มีสัตว์ใดเกินกว่าเสือไปได้  เพราะเสือนอกจากกัดหมูวัวควายของชาวบ้านไปกินแล้ว บางตัวยังอาจเอื้อมมากัดคนไปกินเป็นอาหารก็ยังมี เสือบางตัวในประเทศอินเดียกว่าจะถูกสังหารลงไปได้  ปรากฏว่ากินคนไปตั้ง ๒-๓๐๐ คน แต่สำหรับเมืองไทยแล้ว เสือตัวไหนร้ายขนาดกัดคนเสือตัวนั้นจะมีโอกาสอยู่ดูโลกไม่นานเลย ไม่ช้าก็ถูกล่าโดยญาติหรือมิตรสหายของผู้ตาย ทั้งนี้ก็เพราะว่าในเมืองไทยปืนมีมากกว่าในประเทศอินเดียนั่นเอง

เสือมีมากมายหลายชนิดก็จริง แต่เสือที่ใหญ่และน่ากลัวจริงๆ ก็เห็นจะมีแต่เสือโคร่งหรือเสือลายพาดกลอนเท่านั้น โดยเฉพาะเสือโคร่งนับเป็นเสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เสือโคร่งอวัยวะกล่องเสียงเจริญกว่าเสือชนิดอื่นสามารถคำรามเสียงดังก้องเช่นเดียวกับสิงโต และเสือดาวซึ่งเป็นเสือมีลายจุดเล็กและดุร้ายเหมือนกัน

เมื่อเราพูดถึงเสือโคร่งว่าเป็นเสือที่ดุร้ายที่สุดแล้ว เรามาศึกษาเรื่องของเสือโคร่งกันดูก็คงไม่ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว

เสือโคร่งนั้นเรียกกันว่าเสือลายพาดกลอนหรือเสือใหญ่ก็เรียก ลักษณะสีของตัวทั่วไปเป็นสีน้ำตาลแกมเหลืองแกมแดงจางๆ สีเข้มมากตอนบนตัว และจางขาวลงไปทางด้านใต้ท้อง มีลายสีดำลากจากบนหลังลงไปทางข้างคอ ข้างตัวและตะโพก หางลายดำเป็นปล้องๆ ปลายหางสีดำ (ไม่มีพู่ปลายหางอย่างสิงโต) ที่หน้าก็มีลายดำในพื้นสีน้ำตาล ลายดำบนช่วยปลายขาหน้ามีน้อยหรือไม่มีเลย

เสือโคร่งอายุรุ่นหนุ่มสาวมีสีเข้มสวย พออายุมากสีจางลงทุกที เสือแก่ๆ บางตัวสีจางและลายไม่ใคร่ชัด ชาวบ้านป่าเรียกกันว่า สาง และก็อาจจะเป็นเพราะคำนี้เอง เราจึงมีคำว่าเสือสางใช้ควบคู่กัน

ที่ข้างแก้มตั้งแต่ใต้หูลงไปจนถึงคางมีขนสีขาวยาวกว้างออกไป ทำให้หน้าของมันกว้างกลมใหญ่น่ากลัวขึ้นอีกมาก หนวดสีขาวค่อนข้างยาว หูสั้นกลมหลังหูสีดำ มีดวงสีขาวกลไปทางปลายหู เวลามันขู่หูของมันรี่ไปข้างหลัง ปลายจมูกมีแถบที่ไม่มีขน เป็นหนังสีชมพูอ่อน ม่านตากลม เวลามันขู่คำรามจะเห็นเขี้ยวยาวทั้งสี่ อยู่ที่กรามล่าง ๒ ซี่ กรามบน ๒ ซี่ และฟันหน้าบนซี่เล็กๆ ๖ ซี่ เล็บหดได้อย่างแมว

เสือโคร่งนี้มีผู้พบว่าเป็นสีขาวก็มีสีดำก็มี แต่ก็น้อยมาก

ขนาดของเสือโคร่ง ส่วนมากยาวจากจมูกถึงโคนหางราว ๑.๖๕-๒.๙๕ ม. หางยาวราว ๙๐ ซม. สูงที่ไหล่ราว ๐.๙๐-๑.๐๔ ม. มีบางตัวใหญ่กว่านี้แต่ก็ไม่มากนัก เสือโคร่งขนาดใหญ่ในอินเดียบางตัวยาวจากจมูกถึงปลายหาง ๓.๖๐ ม. เสือโคร่งในไซบีเรีย บางตัวยาวถึง ๓.๙๐ ม. ในประเทศไทยมีน้อยตัวที่ยาวถึง ๓.๓๐ ม. การวัดความยาวนี้ควรวัดก่อนถลกหนัง ถ้าหากถลกหนังแล้ววัดความยาวที่หนังจะได้ขนาดที่ผิดความจริง เพราะหนังของมันเมื่อดึงแรงๆ จะยืดยาวออกไปอีกได้มาก ชาวบ้านมักพูดกันเสมอว่า เขาเคยยิงเสือใหญ่ได้ถึง ๑๐ ศอก หรือ ๑๒ ศอก (๕ ม. หรือ ๖ ม.) เป็นการวัดด้วยการคาดคะเนเชื่อไม่ได้

เสือโคร่งนี้ท่านผู้รู้แบ่งออกเป็นชนิดได้ถึง ๙ ชนิด มีอยู่กระจายทั่วไปในหลายประเทศ เช่นแถบเอเชียอาคเนย์ อาฟกานิสถาน เปอร์เซีย และไซบีเรีย ประเทศจีน เกาหลี เกาะสุมาตรา เกาะชวาและบาหลี

เสือโคร่งส่วนมากผสมพันธุ์ ตั้งท้องราว ๑๔-๑๕ อาทิตย์ คลอดลูกครั้งละ ๒-๔ ตัว มีน้อยที่จะมีถึง ๖ ตัว ตัวเมียเป็นสัดปีละหลายครั้ง ฉะนั้นจึงผสมพันธุ์ได้ตลอดปีไม่เป็นฤดู จึงพบลูกเสือเล็กๆ ได้ทุกฤดู

นางเสือโคร่งมักจะแยกไปจากตัวผู้เมื่อมันจะออกลูก โดยมากหวงลูก มันจะต่อสู้ไม่ยอมให้ตัวผู้เข้าใกล้ได้ ลูกมักจะอยู่กับแม่จนโตเกือบเท่าแม่ ตัวเมียมักจะไม่ยอมให้ตัวผู้ทับในระยะที่ยังเลี้ยงลูก ฉะนั้นแม่เสือจึงตั้งท้องราว ๓-๔ ปีต่อครั้ง

มีนิทานเกี่ยวกับการเกิดหรือกำเนิดของสัตว์เล่าต่อๆ มาเป็นปรัมปรานิทานว่า ครั้งหนึ่งสัตว์ทั้งหลายได้พากันไปหาพระอิศวรผู้เป็นเจ้า ทูลถามว่าสัตว์ชนิดไหนควรจะมีลูกปีละกี่ครอก และครอกหนึ่งจะต้องมีกี่ตัว เสือทูลถามพระอิศวรว่า ตนจะมีลูกได้เท่าไร พระอิศวรตอบโดยไม่ทันคิดเหมือนตอบสุกรและสุนัขไปว่า มีลูกปีละ ๗ ครั้งๆ  ละ ๗ ตัว เสือก็ทูลลากลับไป ฝ่ายมนุษย์เฝ้าอยู่ที่นั้นด้วยจึงอุทธรณ์คัดค้านขึ้นตามประสาของมนุษย์แม้จนทุกวันนี้ว่า ถ้าพระอิศวรให้เสือมีลูกปีละ ๗ ครั้งๆ ละ ๗ ตัวละก็ อีกไม่นานมนุษย์จะไม่มีเหลืออยู่ในโลก เพราะถูกเสือกินเป็นภักษาหารเสียหมด พระอิศวรผู้เป็นเจ้าทรงได้คิด จึงแปลงตัวเป็นนกคุ้ม ไปแบบอยู่ข้างทางที่เสือเดินผ่านไป ฝ่ายตัวแทนเสือเมื่อเดินกลับมากลัวจะลืมเรื่องคลอดลูกก็เดินท่องไปว่าปีละ ๗ ครั้งๆ ละ ๗ ตัว ท่องไปเรื่อยๆ พอถึงตรงที่นกคุ้มแอบอยู่ นกคุ้มก็บินปร๋อขึ้นโดยเร็วเป็นเหตุให้เสือตกใจ ท่องพรที่พระอิศวรประทานผิดไปเป็น ๗ ปี ครั้งละหนึ่งตัว ว่ากันว่าเพราะเสือลืมพรท่องไว้อย่างนี้เสือจึงออกลูกหลายปีต่อครั้งอย่างที่ว่าไว้ข้างต้นนั้นแล

เสือโคร่งมักจะอยู่โดดเดี่ยว ถ้าเราพบเสืออยู่หลายๆ ตัว มักจะเป็นครอบครัวของมันคือพ่อแม่และลูกเท่านั้น เสือโคร่งมักจะนอนพักผ่อนในเวลากลางวันและออกหากินในเวลากลางคืน ชอบเดินตามทางเดิน ด่านสัตว์หรือที่ตามหาดทราย ระยะทางที่มันเดินหากินอาจจะไกลถึง ๒๐-๓๐ กม. ก็ได้ อาหารสำคัญสำหรับเสือก็คือหมูป่าอีเก้งและกวาง สัตว์ที่ใหญ่กว่านี้เช่น วัวแดง กระทิง ช้าง ควายป่า มันก็กินหากได้โอกาส แต่สัตว์พวกนี้มีเขางาเป็นอาวุธ ถ้าเสือเผลอเป็นถูกทำร้ายถึงตายหรือสาหัสไปเหมือนกัน โดยเฉพาะพวกวัวแดง กระทิง หรือควายป่านั้นมันมีวิธีสู้เสือโดยตั้งทัพเป็นวงกลมเอาตัวเมียและลูกไว้ข้างในวง ตัวที่แข็งแรงหรือตัวผู้หันหน้าออกนอกสู้เสือ เสือก็ต้องล่าถอยไปเหมือนกันไม่กล้าเข้าใกล้ ช้างก็เหมือนกันถ้าเสือตัวไหนบังอาจก็อาจจะถูกช้างจับขยี้เสียได้ง่ายๆ เหมือนกัน

สำหรับคนนั้น  สัตว์เกือบทุกชนิดมันจะไม่กล้าเข้าใกล้ เสือก็เช่นกัน มันคงจะสอนกันมาหรือรู้โดยสัญชาติญาณว่าสัตว์สองขาอย่างคนอย่าเข้าใกล้มีอันตรายรอบข้างทีเดียว เสือจึงกลัวที่จะต้องเผชิญหน้ากับคน และมันจะไม่ชอบกินคนเลยถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เสือที่กัดคนคือเสือที่ต้องต่อสู้เพื่อป้องกันตัว เสือแม่ลูกอ่อนที่หวงลูกเหมือนสัตว์ทั้งหลาย เสือที่ได้รับบาดเจ็บผูกอาฆาต ดังนั้นพรานป่าที่ยิงเสือไม่ตายได้รับบาดเจ็บไป จึงถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องตามไปสังหารมันให้ตาย ไม่เช่นนั้นคนอื่นจะต้องรับเคราะห์จากเสือตัวนั้นเป็นแน่

อย่างไรก็ตามเสือที่บังเอิญเคยกินคนมาแล้ว มักจะไม่ค่อยกลัวคน เพราะมันคงรู้ว่าคนนั้นเนื้อหนังมังสาอ่อนนุ่มน่ากินยิ่งกว่าสัตว์อื่นก็เป็นได้ เสือกินคนจึงเป็นเสือที่น่ากลัว และต้องพยายามกำจัดเสียโดยเร็ว

เสือโคร่งไม่ค่อยร้องคำรามบ่อยๆ มันคำราม “ฮาว” แล้วลงท้าย “ฮู” ซ้ำกัน ๒-๓ ครั้งไม่ใคร่มากกว่านั้น ตอนจะจบมักจะหยุดเป็นช่วงสั้นๆ “อาวฮู อาวอู อูอุอุ” หากมันตกใจอะไรทันทีทันใดมันจะส่งเสียงดัง “วูฟ”

เสือโคร่งว่ายน้ำได้เก่ง บางครั้งว่ายน้ำจากช่องทะเลจากเกาะไปหาฝั่ง หรือฝั่งไปหาเกาะเป็นระยะทางไกลๆ ได้ สมัยเมื่อราว ๕๐-๖๐ ปีมาแล้ว เล่ากันว่าที่เกาะแห่งหนึ่งในทะเลสาบสงขลาเขตอำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง ในคืนดึกสงัดมีคนได้ยินเสียงเสือและเสียงจระเข้กัดกันและคำรามดังก้องท้องน้ำ พอรุ่งขึ้นเช้าคนก็ไปพบทั้งศพเสือและศพจระเข้ลอยอยู่ในทะเลตรงช่องระหว่างเกาะหนึ่งไปยังอีกเกาะหนึ่ง เข้าใจกันว่าเสือว่ายน้ำจะไปยังอีกเกาะหนึ่ง ไปพบจระเข้ ซึ่งเป็นเจ้าถิ่นเข้าก็เกิดต่อสู้กัน สุดท้ายทั้งเสือทั้งจระเข้ก็สิ้นชีวิตทั้งสองฝ่าย เรื่องของการต่อสู้ก็เป็นอย่างนี้เอง ไม่ว่าคนหรือสัตว์มักจะสิ้นสุดลงด้วยความตาย ทั้งๆ ที่ตั้งต้นด้วยความลำพองเหมือนตนเองจะไม่ตายฉะนั้น

เสือที่จับมาเลี้ยงตั้งแต่เล็กๆ นั้น ว่ากันว่าสามารถเลี้ยงให้เชื่องหัดให้เล่นละครสัตว์ได้ แต่ภาษิตไทยหรือคำพังเพยของเราก็มีอยู่ว่าเลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้ เรื่องที่จะให้มันรู้จักกตัญญูรู้คุณนั้นไม่มี ซ้ำร้ายเผลอตัวเมื่อไรมันจะกัดเอาตายเมื่อนั้น เหมือนเลี้ยงคนอกตัญญูนั่นแหละ

เสือที่กินคนมามากนั้น เล่ากันว่าวิญญาณผีร้ายของคนจะเข้าสิงอยู่ในเสือ จนทำให้เสือมีอิทธิฤทธิ์สามารถจะแปลงร่างเป็นคนได้ พวกพรานป่าเล่าว่า เวลาไปนั่งห้างยิงสัตว์ถ้ามีคนมาเรียกเวลากลางคืนห้ามล่งไปอย่างเด็ดขาด เพราะเสือสมิงจะแปลงร่างเป็นคนมาหลอกให้พรานลงไป พรานคนไหนเวทย์มนต์คาถาไม่แข็งลงไปก็ถูกเสือกัดตาย โดยมากเสือสมิงจะแปลงเป็นร่างคนที่พรานรักเช่นบุตรภรรยาเป็นต้น จะเท็จจริงอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่พวกพราน ซึ่งอยู่ในกรุงหรือตัวเมืองจะไม่ยอมเชื่อเรื่องเช่นนี้ เขาว่าที่เห็นเป็นคนนั้นเพราะพวกพรานนั่งถ่างตาตั้งแต่หัวค่ำจนดึกดื่นเที่ยงคืน ความง่วงเหงาหาวนอนประกอบด้วยความเงียบสงัดของป่าชัฏเป็นเหตุให้ตาของพวกนั่งห้างคอยยิงสัตว์ฝาดไปก็ได้

อีกอย่างหนึ่งคำว่าเสือสมิงนั้น ว่ากันว่าครั้งแรกเป็นคนมีวิชาความรู้เรื่องอยู่ยงคงกระพันมาก พอแก่วิชามากเข้าก็กลายเป็นเสือสมิงไปได้เหมือนกัน นี่เป็นความเชื่อของคนโบราณที่ยังตกทอดเป็นมรดกมาถึงพวกเรา

เพราะความดุร้ายของเสือและความทะนงองอาจของมัน เราจึงนิยมว่าเสือเป็นสัตว์ที่เก่งกล้าสามารถไม่กลัวใคร เสือเป็นสัตว์ที่ไม่อาศัยสัตว์อื่นในการแสวงหาอาหาร มันหิวก็จับสัตว์อื่นกินเอง หาไม่ได้ก็อด หาได้ก็มีอาหารเหลือฟุ่มเฟือย เรามีคำพังเพยอยู่คำหนึ่งว่า “อาหารเสือ” คือวันไหนไม่มีก็ไม่มีที่จะบริโภค วันไหนมีก็บริโภคจนไม่หมด เช่น ภิกษุสงฆ์ เป็นต้น คำโคลงโลกนิติ์ของเราบทหนึ่งยกย่องเสือไว้ว่า

ยามจนทนกัดก้อน        กินเกลือ
อย่าเที่ยวแล่เนื้อเถือ        พวกพ้อง
อดอยากเยี่ยงอย่างเสือ    สงวนศักดิ์
โซก็เสาะใส่ท้อง            กัดเนื้อกินเอง

ผิดกับสุนัขจิ้งจอกที่คอยตามหลังเสือ คอยแทะเนื้อกระดูกที่เหลือจากเสือกินเป็นอาหารแล้ว

เสือนั้นว่ากันว่าเป็นเจ้าแห่งป่า หากว่าป่านั้นไม่มีสิงโตหรือราชสีห์อยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมกลังเกรงเสือ พวกพรานป่าเขาให้ข้อสังเกตว่า หากเราเดินป่าซึ่งปกติมีเสียงสัตว์หรือนกร้องกันเซ็งแซ่แล้วจู่ๆ เสียงทุกชนิดก็หยุดชงักลงทันที เรียกว่าป่าทั้งป่าสงบนิ่งละก็ พึงรู้เถิดว่าเจ้าป่าหรือเสือกำลังมาหรืออยู่ในที่ใกล้ๆ นั่นเองให้ระวังตัวได้ เพราะเสือมีตบะและอำนาจอย่างนี้เอง เมื่อใครล่าเสือได้ เขาจึงเอาหนังหน้าผากเสือมาทำเป็นของขลัง คือลงยันต์แล้วพกติดตัวไปว่าทำให้คนเกรงขาม เป็นที่ปรารถนาของพวกนักเลงสมัยก่อนนัก

หัวกะโหลกเสือนั้นพวกคนมีเงินเขาเอาไปขัดแล้วเลี่ยมเงินหรือทองตรงเขี้ยวของมันเอาไปวางเป็นที่เขี่ยบุหรี่ เป็นเครื่องประดับบารมีของคนเราประการหนึ่ง

หนังสือก็เป็นที่ปรารถนาของคนเรา เขานำไปเป็นเครื่องประดับหรือเครื่องใช้ไม้สอยแสดงถึงความมั่งมีประการหนึ่งเหมือนกัน เพราะเป็นของแพงหายาก

เพราะความดุร้ายของเสือนี่เอง เราจึงเรียกพวกโจรหรือนักเลงอันธพาลหรือพวกโจรปล้นสะดมก็ตัวฉกาจว่าอ้ายเสือ และตามคตินิยมของพวกโจรปล้น เมื่อจะขึ้นปล้นบ้านใดก็มักจะตะโกนว่าไอ้เสือบุก เป็นการข่มขวัญเจ้าทรัพย์ให้กลัวไว้ก่อนโดยอ้างเอาชื่อเสือเป็นสมัญญานามของพวกตน แต่ถ้าถูกเจ้าทรัพย์หรือเจ้าหน้าที่ต่อต้านหนาแน่นจนไม่สามารถจะทำการได้สำเร็จก็ต้องร้องว่า อ้ายเสือถอย แล้วก็วิ่งหนีเหมือนกัน บางทีหนีไม่ทันอ้ายเสือก็ถูกยิงตายอยู่ข้างถนนก็มี

ท่านผู้รู้กล่าวว่ากริยาของเสือมีอยู่ ๒ ประการคือ
๑. ซ่อนเร้นอยู่ในที่ลับ คอยตะครุบหมู่เนื้อกินเป็นอาหาร
๒. เนื้อชนิดใดชนิดหนึ่งที่มันตะครุบได้แล้ว ถ้าล้มลงข้างซ้ายก็ไม่กิน

กริยาของเสือเหลืองเช่นนี้ท่านเปรียบเหมือนพระสาวกของพระพุทธองค์ที่อยู่ในเสนาสนะป่าอันสงัด เจริญภาวนาจนมีความชำนาญในอภิญญาหก และไม่บริโภคอาหารอันได้มาด้วยมิจฉาชีพ และได้มาโดยประการที่ไม่ชอบธรรม

ก็เพราะความกล้าหาญของเสือนี่เอง เราจึงมีองค์การหนึ่งขึ้น เพื่อฝึกหัดอบรมให้เยาวชนของเราเป็นคนดีเมื่อเติบโตขึ้น นั่นคือลูกเสือ

ผู้ที่เริ่มตั้งกิจการลูกเสือขึ้นครั้งแรกคือ ลอร์ค บาเดนเพาเวล (Lord Badenpowell) ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ สำหรับประเทศไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงจักรีเป็นผู้ทรงริเริ่มตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี