สมเด็จพระสุริโยทัย

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๙๑ ระบุว่า
“…แผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเป็นทุรยศ ประพฤติเหตุว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราช สวรรคตแล้ว เสนาบดียกพระยอดฟ้าราชกุมาร พระชนม์สิบเอ็ดขวบ ขึ้นครองราชย์สมบัติ เจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ มารดาพระสมเด็จพระสุริโยทัยยอดฟ้า กระทำทุจริตสามัคคีรสสังวาสด้วยขุนชินราช ให้ฆ่าพระยอดฟ้าเสีย ยกขุนชินราชขึ้นผ่าน
พิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา เสนาพฤฒามาตย์มีความพิโรธเคืองแค้น คิดฆ่าขุนชินราช และแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เสีย…”

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงได้เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ครองราชย์ต่อมา ครองราชย์ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๙๑-๒๑๑๑ ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์อย่างละเอียดจะพบว่า ยุคนี้เป็นยุคแห่งการเริ่มต้น กรุงศรีอยุธยาต้องรับศึกหนักจากพม่าที่มีพลังกองทัพมหึมาเข้าประชิดใกล้พระนครหลายครั้ง ในแต่ละครั้งก็ได้ทำความเสียหายไว้เป็นอันมาก เฉพาะการประจัญบานครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๐๙๑ ไทยได้สูญเสียวีรกษัตรีที่กล้าหาญ พระนามว่า “สมเด็จพระสุริโยทัย” ไปท่ามกลางสนามรบ

ทัพในครั้งนี้เป็นเหมือนการสำรวจสถานการณ์ความมั่นคงของไทย พระเจ้าตเบ็งชเวตี้ได้ข่าวว่าไทยกำลังเกิดจลาจล จึงคิดฉวยโอกาสรวบไทยไว้ในอาณาเขตในขณะที่กำลังวุ่นวาย แต่เมื่อเข้ามาบ้านเมืองก็สงบสุขแล้ว ก็เพียงแต่ตรวจตราเพื่อเตรียมหาทางประชิดใหม่ แล้วยกทัพกลับไปโดยไม่ได้รบ และอีกไม่นานก็ยกกำลังพลมากมายมาตีกรุงศรีอยุธยา ในการรบครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกว่า “สงครามคราวสมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้าง” ซึ่งมีอยู่ในหนังสือเรื่อง ไทยรบพม่า

วีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัยนั้นล้ำเลิศสุดจะกล่าวได้ แม้ตามประวัติศาสตร์จะกล่าวเหตุการณ์ไว้ไม่ละเอียดพิสดาร แม้จะเป็นเวลานานมาแล้ว ปัจจุบันก็ยังหาวีรสตรีที่ได้ประกอบวีรกรรมเสียสละสูงเช่นพระนางไม่ได้เลย

เพื่อสรรเสริญสักการะพระกรณียคุณให้ปรากฏตลอดไป ก็น่าจะได้เล่าขานวิเคราะห์ลักษณะที่แท้จริงของพระองค์

สมเด็จพระสุริโยทัย เป็นกุลสตรีสูงศักดิ์ เพียบพร้อมไปด้วยขัตติยราชนารี ที่ทรงพระปรีชาชาญแกล้วกล้า องอาจเด็ดเดี่ยว น้ำพระทัยเปี่ยมไปด้วยความรักชาติ เทิดทูนพระมหากษัตริย์ ในฐานะพระอัครมเหสีก็ทรงมีความกตัญญูต่อพระราชสวามี ถวายชีวิตเป็นราชพลีโดยไม่ทรงเสียดาย ทรงเป็นผู้มีความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดาอย่างประเสริฐในฐานะพระราชมารดา ทรงปลูกฝังให้รู้จักเสียสละ รักชาติบ้านเมือง กล้าเผชิญภัยพิบัติอย่างองอาจ ฝึกให้ชำนาญการรบเพื่อเตรียมป้องกันประเทศ รอบรู้ยุทธศาสตร์ทั้งการใช้อาวุธและการคชกรรม

ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของสมเด็จพระสุริโยทัย มิได้มีแต่ที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารอย่างเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็พบว่า ในสมัยแผ่นดินของสมเด็จพระยอดฟ้า ที่สิทธ์ขาดการปกครองเป็นของเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ บรรดาข้าราชการและราชวงศ์สำคัญก็หวาดระแวงไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระอนุชาต่างพระมารดาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ขณะเมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเทียรราชา ได้เสด็จหลบหนีราชภัยไปทรงผนวชอยู่ระยะหนึ่ง ที่วัดราชประดิษฐาน ระหว่างที่ราชตระกูลขาดผู้นำ พระราชภาระการปกครองดูแลพระราชโอรสธิดา ข้าทาส บริพาร ตลอดจนทรัพย์ศฤงคาร และป้องกันมิให้ผู้ใดมาข่มเหงเบียดเบียนท่ามกลางภัยนานา ก็น่าจะตกเป็นของสมเด็จพระสุริโยทัยเพียงผู้เดียว เพราะถ้าหากว่าท่านไม่ทรงแข็งแกร่ง สมเด็จพระสวามีก็คงจะออกผนวชอย่างหมดกังวลไม่ได้

ชาวไทยต้องเตรียมฝึกการรบอย่างชำนิชำนาญในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา เพื่อไว้รับมือกับศัตรูที่จะเข้ามารุกราน ไม่ว่าหญิงหรือชายก็ต้องคอยระมัดระวังภัย จนมีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “เมื่อสิ้นหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก” ไทยเรามีศิลปะล้ำเลิศในการเรียนรู้วิชาการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยอาวุธ ทั้งหญิงและชายต่างก็ต้องฝึกฝน ในจารึกครั้งสุโขทัยได้บรรยายสภาพบ้านเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า “มีเมืองกว้าง ช้างหลาย” ซึ่งเมืองช้างหลายมิได้อยู่ที่สุโขทัยเพียงที่เดี่ยว เพราะได้ปรากฏว่าผืนแผ่นดินไทยในสุวรรณภูมินั้นอุดมไปด้วยช้างมากมาย ชาวไทยนิยมจับช้างมาฝึกให้ทำงาน และช่วยงานสงครามทุกสมัย ชาวไทยจึงได้ประโยชน์ต่างๆ จากการที่มีช้างเป็นจำนวนมากนี้

แนวทางของสภาวะสังคมไทยดังกล่าว เมื่อวิเคราะห์ดู จะเห็นถึงน้ำใจของคนไทยว่ามีความรักชาติสูง ดังนั้น การดำรงพระจริยาวัตรของราชตระกูลสมเด็จพระเทียรราชา และสมเด็จพระสุริโยทัยจึงได้มีความยึดมั่นในอุดมการณ์รักชาติอย่างสูง ได้ฝึกหัดวิชาต่อสู้ป้องกันตัว ตลอดจนวิชาคชกรรมตามอย่างของบรรพบุรุษอย่างชำนาญ สามารถนำมาใช้ได้ทันที และได้ถ่ายทอดอบรมให้พระราชโอรสและพระราชธิดามีความรู้อย่างดีด้วย สมเด็จพระสุริโยทัยจึงอาจหาญขอตามเสด็จไปด้วยโดยมิได้หวาดหวั่นในขณะที่มีศึกพระเจ้าตเบ็งชเวตี้ยกเข้ามา

พระราชโอรสและพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระสุริโยทัย มีอยู่ ๕ พระองค์คือ

๑. พระราเมศวร
๒. พระวิสุทธิกษัตรี
๓. พระบรมดิลก
๔. พระเทพกษัตรี
๕. สมเด็จพระมหินทราธิราช
พระองค์แรกและพระองค์สุดท้ายเป็นชาย นอกจากนั้นเป็นหญิง

พระราเมศวร
เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ มีความเข็มแข็ง กล้าหาญในการสงคราม มีความรักชาติ รักเกียรติภูมิ ได้อยู่ในตำแหน่งรัชทายาท แต่ได้เพลี่ยงพล้ำต่อพระเจ้าบุเรงนองในสงครามช้างเผือก จึงต้องไปเป็นตัวประกันอยู่ที่กรุงหงสาวดี

พระวิสุทธิกษัตรี
มีพระนามเดิมว่า พระสวัสดิราช เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชทานให้เป็นอัครมเหสีของ พระมหาธรรมราชา ครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ และพระสุพรรณกัลยา พระราชโอรสและพระราชธิดาที่มีพระชนม์ชีพเพื่ออุทิศให้แก่แผ่นดิน

พระบรมดิลก
เป็นพระนามที่ลี้ลับไม่เปิดเผยแจ่มแจ้ง ปรากฏในหนังสือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐว่า มีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษา ประกอบวีรกรรมกับสมเด็จพระราชชนนีในสมรภูมิรบ เป็นขัตติราชกุมารี มีความรู้ในการศึกและคชกรรม มีความสามารถในวิชาการสำคัญต่างๆ คือ มีความกล้าหาญ มีน้ำพระทัยเข้มแข็ง รักชาติศาสนา มีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระชนกชนนีนาถ เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อแผ่นดิน

พระเทพกษัตรี
เป็นพระราชธิดาที่ต้องพลัดพรากไปอยู่ต่างแดน เพราะพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต ได้ขอพระราชทานไปเป็นพระอัครมเหสี แต่พระเจ้าบุเรงนองก็มาชิงตัวเอาไปต่อ

สมเด็จพระมหินทราธิราช
ได้เป็นกษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระราชบิดา ในการบริหารราชการบ้านเมืองต้องประสบกับความยุ่งยาก ในปลายรัชสมัยต้องเสียพระทัยแสนสาหัส เพราะต้องเสียเอกราชอธิปไตยให้แก่พม่าเป็นครั้งแรก

ประวัติศาสตร์จากพระราชพงศาวดารก่อนที่จะถึงวีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัย แสดงให้เห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน มีความว่าดังนี้

“พระเจ้าหงสาวดี(พระเจ้าตเบ็งชเวตี้) ยกทัพข้ามเมืองกาญจนบุรี ถึงพระนครศรีอยุธยา ณ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้นห้าค่ำ ตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลกุ่มดอง ทัพพระมหาอุปราช ตั้งค่ายที่ตำบลเพนียด ทัพพระเจ้าแปร ตั้งค่ายตำบลบ้านใหม่มะข่ามหย่อง ทัพพระยาพสิม ตั้งค่ายตำบลทุ่งประเชษฐ์

ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้นห้าค่ำ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช จะเสด็จยกพยุหโยธาทวยหาญออกไปดูกำลังข้าศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง

จึงทรงเครื่องราชอลังการยุทธ เสด็จทรงช้างต้นพลายแก้วจักรรัตน์ สูงหกศอกคืบห้านิ้ว เป็นพระคชาธารประดับคชาลังการอาภรณ์เครื่องมั่น มีกลางช้างและควาญ

ฝ่ายพระสุริโยทัยผู้เป็นพระอัครมเหสี ประดับองค์เป็นพระยามหาอุปราช ทรงเครื่องสำหรับราชรณรงค์ เสด็จทรงช้างพลายนาคพินายสุริยสำหรับกษัตริย์ สูงหกศอกเป็นพระคชาธาร ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่นเสร็จมีกลางช้างแลควาญ

พระราเมศวรทรงเครื่องศรีธิราชปิลันธนาวราภรณ์ สำหรับพิชัยยุทธสงครามเสร็จเสด็จทรงช้างต้นพลายมงคลจักรพาฬ สูงห้าศอกคืบสิบนิ้ว ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่นมีกลางช้างแลควาญ

พระมหินทราธิราชทรงราชวิภูษณาลังกาภรณ์ สำหรัพระมหาพิชัยยุทธรณรงค์ เสด็จทรงช้างต้นพลายพิมานจักรพรรดิ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว ประดับด้วยกุญชรอลงกตเครื่องมั่น มีกลางช้างแลควาญ

ครั้นได้มหาศุภวารฤกษ์ราชดิถี พระโหราลั่นฆ้องชัยประโคมอุโฆษ แตรสังข์อึงอินทเภรี

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ก็ยาตราพระคชาธาร พระอัครมเหสีและพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ โดยเสด็จเหล่าคชพยุหดั้ง กั้นแทรกแซงดาษไป บ้างโลดเล่นเต้นรัวระบำไป มีทหารประจำขี่กรกุมปืน ปลายขอประจำคอทุกตัวสาร ควาญประจำท้ายล้อมเป็นดั่นดงโดยขนัด

แล้วถึงหมู่พยุหแสนยากรโยธาหาญเดินเท้า ถือดาบดั้งเสโลหโตมรหอกใหญ่ หอกคู่ธงทวนธนูปืนนกสับคับคั่ง ซ้ายขวาหน้าหลัง โดยขบวนคชพยุหสงคราม

เสียงเท้าพลและช้างสะเทือนดังพสุธาดลจะทรุด

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า เสด็จยืนพระคชาะรประมวลพล แลคชพยุหโดยขบวนตั้งอยู่ ณ โคกพระยา

ฝ่ายกองตระเวนเห็นดังนั้น ก็เข้าไปกราบทูลพระเจ้าหงสาวดี โดยได้เห็นทุกประการ สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีตรัสว่า ชะรอยจะเป็นทัพพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ยกออกมาจะกระทำคชพยุหสงครามกับเรา พระองค์ตรัสให้ยกพลหลวงออกจากค่ายตั้งโดยขบวน สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีทรงเกราะเครื่องพิชัยยุทธ ย่อมทับถมด้วยวิชาศาสตร์เวทคาถา แล้วสอดใส่พระมหาสุพรรณสังวาลประดับเพชรพื้นราม สรรพคุณเวทคาถาต่างๆ พระมหามาลาลงเลขยันต์กันสรรพศัสตราวุธภยันตราย สำหรับราชรณรงค์ยุทธ เสร็จเสด็จทรงช้างต้นพลายมงคลปรานทวีป สูงเจ็ดศอก เป็นพระคชาธารประดับคชภรณ์เครื่องมั่นมีกลางช้างแลควาญ เครื่องสูงสำหรับราชรณรงค์แห่โดยขนาด มีหมู่ทหารถือดาบดั้งหมื่นหนึ่ง ล้อมพระคชาธาร พระเจ้าแปรประดับเครื่องอลังการเครื่องพิชัยยุทธ ทรงช้างต้นพลายเทวนาคพินาย สูงหกศอกคืบเจ็ดนิ้ว เป็นพระคชาธาร ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่นมีควาญแลกลางช้างเป็นกองหน้า มีทหารดาบสองมือพันห้าร้อยล้อมพระคชาธาร ช้างท้าวพระยารามัญคับคั่งตั้งโดยขบวนกันกงเป็นขนัด เหล่าพยุหโยธาเดินเท้าถือสรรพศัสตราดาดาษโดยขบวน สมเด็จพระเจ้าหงสาวดี ก็ยกพยุหโยธาทวยหาญออกตั้งยังท้องทุ่งตรงหน้าทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ห่างกันประมาณร้อยเส้น เสด็จยืนพระคชาธารคอยฤกษ์ จึงตรัสให้พลม้ารำทวนชักชิงคลองกันไปให้เริงหน้าทัพ ฝ่ายพลเครื่องเล่น เต้นรำเฮฮาเป็นโกลาหล ฝ่ายพลดาบดั้ง ดาบสองมือ ก็รำล่อเลี้ยงกันไปมา

ขณะนั้นพระเจ้าหงสาวดีทอดพระเนตรดูอากาศ เห็นอาทิตย์แจ่มดวงหมดเมฆหมอกแล้ว คิชฌราชบินนำหน้าทัพ ครั้นเห็นศุภนิมิตราชฤกษ์ดั่งนั้น ก็ให้ลั่นฆ้องชัยอุโฆษแตรสังข์อึงอินทเภรีขึ้นพร้อมกัน ก็ตรัสให้ขับพลเข้าโจมตีทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช

ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช ดำรัสให้แยกพลเป็นปีกกา พลโยธาทั้งสองฝ่ายบ้างแห่โห่โกลาหล เข้าปะทะประจัญตีฟันแทงแย้งยุทธ ยิงปืนระดมศัสตราธุมาการตระหลบไปทั้งอากาศ

พลทั้งสองฝ่าย บ้างตาย บ้างลำบาก กลิ้งกลาดเกลื่อนท้องทุ่งเป็นอันมาก

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ก็ขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี

พระคชาธารเสียทีให้หลังแก่ข้าศึก เอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกดั่งนั้น ก็ขับพระคชาธาร ตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า

พระสุริโยทัยเห็นพระราชสวามีเสียที ไม่พ้นมือข้าศึก ทรงกตัญญูภาพ ก็ขับพระคชาธารพลายทรงสุริยกษัตริย์สะอึกออกรับ

พระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่าง แบกถนัด

พระคชาธารพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที

พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระอังสาพระสุริโยทัย ขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ

พระราเมศวรกับพระมหินทราธิราช ก็ขับพระคชาธารถลันจะเข้าแก้พระมารดาไม่ทันที พอสมเด็จพระชนนีสิ้นพระชนม์กับคอช้าง พระราเมศวร พระมหินทราธิราช พี่น้องทั้งสององค์ถอยรับข้าศึกกันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครได้ โยธาชาวพระนครแตกพ่าย ข้าศึกรี้พลตายเป็นอันมาก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าจึ่งให้เชิญพระศพพระสุริโยทัย ผู้เป็นอัครมเหสี มาไว้ตำบลสวนหลวง

ครั้นกองทัพสมเด็จพระเจ้าหงสาวดี ยกไปแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าให้แต่งการพระราชทานเพลิงศพพระสุริโยทัย ซึ่งขาดคอช้างเสร็จแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ถวายบังคมลากลับขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลก ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงนั้นเป็นพระเจดีย์วิหาร เสร็จแล้วให้นามชื่อวัด สบสวรรค์”

เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้ช่างเขียนที่มีฝีมือ เขียนรูปภาพ และแต่งโคลงบรรยายประกอบ โดยทรงเลือกสรรเหตุการณ์ในพระราชพงศาวดาร โดยตอนพิเศษเป็นเหตุการณ์ตอนที่สมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้าง โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้เขียนภาพ ซึ่งได้ให้รางวับเป็นที่ ๓ และพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์โคลงสดุดีพระเกียรติด้วยพระองค์เอง โดยมีความว่า

“บุเรงนองนามราชเจ้า จอมรา มัญเฮย
ยกพยุหแสนยา ยิ่งแกล้ว
มอญม่านประมวลมา สามสิบ หมื่นแฮ
ถึงอยุธเยศแล้ว หยุดใกล้นคราฯ
พระมหาจักรพรรดิเผ้า ภูวดล สยามเฮย
วางค่ายรายรี้พล เพียบหล้า
ดำริจักใคร่ยล แรงศึก
ยกนิกรทัพกล้า ออกตั้งกลางสมรฯ
บังอรอรรคเรศผู้ พิสมัย ท่านนา
นามพระสุริโยทัย ออกอ้าง
ทรงเครื่องยุทธพิชัย เช่นอุป ราชแฮ
เถลิงคชาธารคว้าง ควบเข้าขบวนไคลฯ
พลไกรกองน่าเร้า โรมรัน กันเฮย
ช้างพระเจ้าแปรประจัน คชไท้
สารทรงชวดเซผัน หลังแล่น เตลิดแฮ
เตลงขับคชไล่ใกล้ หวิดท้ายคชาธารฯ
นงคราญองค์เอกแก้ว กระษัตรีย์
มานมนัศกัตเวที ยิ่งล้ำ
เกรงพระราชสามี มลายพระ ชนม์เฮย
ขับคเชนทรเข่นค้ำ สอึกสู้ดับกรฯ
ขุนมอญร่อนง้าวฟาด ฉาดฉะ
ขาดแล่งตราบอุระ หรุบดิ้น
โอรสรีบกันพระ ศพสู่ นครแฮ
สูญชีพไป่สูญสิ้น พจน์ผู้สรรเสริญฯ”

ประวัติศาสตร์ของชาติไทยจากเหตุการณ์ของสมเด็จพระสุริโยทัย ทำให้รู้ว่าในอดีตต้องเผชิญกับภัยรอบด้านเสมอ การสร้างอาณาจักรให้มั่นคงในดินแดนแหลมทองไม่ใช่จะเจริญอย่างสงบสุขมาตามลำพัง แต่ต้องต่อสู้ เสียสละ สามัคคี เสียเลือดเนื้อทับถมบนผืนแผ่นดินไปด้วยวิญญาณบรรพบุรุษคนแล้วคนเล่าหลายยุคหลายสมัย ความเป็นนักรบและมีเลือดนักสู้ของไทยไม่เลือกว่าเป็นบุรุษหรือสตรี

สมเด็จพระสุริโยทัยทรงเป็นสายเลือดไทยที่มีความเป็นนักสู้ที่กล้าหาญ เสียสละเพื่อชาติ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นหลักสำคัญของบ้านเมือง เป็นประมุขของชาติ หากสูญสิ้นไปบ้านเมืองก็ระส่ำระสาย ในยามสงครามหากขาดผู้บัญชาการทัพก็ย่อมเกิดความเพลี่ยงพล้ำได้ง่าย สมเด็จพระสุริโยทัยจึงเป็นผู้ช่วยชาติและผืนแผ่นดินไทยให้รอดพ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีงามของวีรกษัตรีไทยที่รักชาติเสมอชีวิต ลูกหลานชาวไทยจึงควรทะนุถนอมบำรุงแผ่นดินไทยไว้ให้คงอยู่อย่างสงบ เหมือนที่สมเด็จพระสุริโยทัยทรงรักและหวงแหน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สายไหม จบกลศึก

พระนางมหาเทวีจิระประภา

วีรสตรีราชวงศ์มังราย หรือพระนางมหาเทวีจิระประภา ปกครองอาณาจักรล้านนาระหว่าง พ.ศ. ๒๐๘๘-๒๐๘๙ เป็นช่วงสงครามกลางเมืองในเชียงใหม่ และถูกรุกรานจากกองทัพสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา จนต้องยอมอ่อนน้อมส่งเครื่องราชบรรณาการให้กับกองทัพของกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่พระเจ้าไชยเชษฐาจะเสด็จมาจากอาณาจักรล้านช้างเพื่อปกครองอาณาจักรล้านนา ตามที่ขุนนางของล้านนากราบทูลเชิญพระนางมหาเทวีจิระประภา

สันนิษฐานกันว่า พระนางมหาเทวีจิระประภา เป็นพระธิดาของพระเมืองเกษเกล้า เจ้าเมืองเชียงใหม่ ที่ครองเมืองระหว่าง พ.ศ. ๒๐๖๘-๒๐๘๑ ก่อนที่พระนางมหาเทวีจิระประภาจะได้ครองเมืองเชียงใหม่ก็เกิดเหตุการณ์วุ่นวายตลอดมา คือ พระเมืองเกษเกล้า ถูกขุนนางเชียงใหม่ต่อต้าน และปลดจากตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ และให้กลับไปครองเมืองน้อยที่เคยครองอยู่ แล้วอัญเชิญท้าวชาย ซึ่งเป็นโอรสพระเมืองเกษเกล้า ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่อยู่ได้ ๕ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๘๑-๒๐๘๖ แล้วปลงพระชนม์ท้าวชายเสีย และกลับไปอัญเชิญพระเมืองเกษเกล้ามาครองเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งที่ ๒ และเมื่อครองเมืองอยู่ได้แค่ ๒ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๘๖-๒๐๘๘ ก็ถูกปลงพระชนม์อีก

ใน พ.ศ. ๒๐๘๘ เกิดความแตกแยกขึ้นกับขุนนางเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองต่างๆ มีการแข่งขันแย่งชิงอำนาจกัน ต่างก็สนับสนุนให้เจ้านายของตนขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ มีแสนคร้าว เป็นหัวหน้ากลุ่มเมืองเชียงใหม่ ได้เชิญพระยาเขมรุ่ง เจ้าเมืองเชียงตุง มาครองเมืองเชียงใหม่ แต่เจ้าเมืองเชียงตุงก็ปฏิเสธ จึงไปเชิญเจ้าเมืองนาย แต่เจ้าเมืองนายก็ยังไม่มา แสนคร้าวจึงถูกกำจัด

กลุ่มหัวเมืองอื่นๆ ที่ประกอบไปด้วย เจ้าหมื่นสามล้านอ้ายเจ้าเมืองลำปาง หมื่นแก้วเจ้าเมืองเชียงราย หมื่นมโนเมืองเชียงแสน และหมื่นยี่เจ้าเมืองพาน ได้อัญเชิญพระไชยเชษฐาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต อาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระเมืองเกษเกล้า มาครองเมืองเชียงใหม่

ในระหว่างที่พระไชยเชษฐากำลังเดินทางมาครองเมืองเชียงใหม่ กองทัพแสนหวี ที่นำโดยหมื่นหัวเตี่ยน ก็ยกมารบกับแสนคร้าว เมื่อสู้ไม่ได้ก็หนีไปเมืองลำพูน ไปขอกำลังจากรุงศรีอยุธยาให้ไปช่วย บรรดาเจ้าเมืองต่างๆ ที่อัญเชิญให้พระไชยเชษฐายกทัพมาจากเมืองเชียงแสน ก็จับแสนคร้าวและพวกฆ่าเสีย แล้วอัญเชิญ พระนางมหาเทวีจิระประภา ให้ครองเมืองเชียงใหม่ชั่วคราว จนกว่าพระไชยเชษฐาจะเสด็จมาถึงจากกรุงศรีสัตนาคนหุต

กองทัพของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ได้ยกมาจากกรุงศรีอยุธยา ไปตีเมืองเชียงใหม่ในปีเดียวกันนี้ จึงทำให้พระนางมหาเทวีจิระประภา ต้องยอมส่งเครื่องราชบรรณาการให้ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๐๘๙ พระไชยเชษฐาได้เสด็จมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อถึงเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย ขุนนางเชียงใหม่มารับเสด็จ ได้ทรงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์วัดเชียงยืน พระแก้วมรกต และพระมหาเจดีย์หลวง พระนางมหาเทวีจิระประภาจึงสละราชย์ให้พระไชยเชษฐา ทรงครองเมืองเชียงใหม่ต่อไป

ในช่วงเวลาของการจลาจล แย่งยิงอำนาจ รวมทั้งถูกรุกรานจากภายนอก พระนางมหาเทวีจิระประภาก็เป็นสตรีที่สามารถปกครองเมืองเชียงใหม่เอาไว้ได้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ศิรินันท์ บุญศิริ

พระราชเทวีแห่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒

อัครมเหสีของพระมหากษัตริย์สุโขทัยมีตำแหน่งเป็น พระราชเทวี โดยเฉพาะในยุคที่ขนานนามพระมหากษัตริย์ว่า มหาธรรมราชา แต่พบหลักฐานว่าพระอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) พระมหากษัตริย์อยุธยา ที่ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๖๗-๑๙๙๑ นั้น ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับปลีก หมายเลข ๒/ก ๑๐๔ ต้นฉบับของหอสมุดวชิรญาณหน้าต้น(ตอนA) บรรทัดที่ ๓๖-๔๐ ได้ขานตำแหน่ง “ราชเทวี” ไว้ดังนี้

“อันดับนั้นพระราชเทวีทูลแต่พระบรมราชาธิราชเจ้า ด้วยจะย่อมหงอก(คงเป็นพิธีกระทำเมื่อย่างสู่ปัจฉิมวัย) แม่นางษาขามารดาแลจะขอชื่อให้ สมเด็จผู้เป็นเจ้าก็ประสาทคานหามทองไม้เท้าทองแลเครื่องราชาประโภค ให้นามกรชื่อพรประสิทธิ์ แม่นางษาขาพระราชมารดานางพญาแลมหาธรรมราชาธิราชนั้น”

ตีความหมายจากข้อความนี้ได้ว่า พระราชเทวีพระองค์นี้เป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชโอรสผู้ครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ และเป็นพระเชษฐภคินี(พี่สาว)ของมหาธรรมราชา ในขณะนั้นคือ มหาธรรมราชาที่ ๔(บรมปาล)

มีบันทึกในตำนานสิบห้าราชวงศ์ เล่มที่ ๒ ผูกที่ ๔ ว่า เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล) สวรรคต พระยายุธิษเฐียร ซึ่งเป็นโอรส ได้ขึ้นครองพิษณุโลก ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๘๑-๑๙๙๔ แต่ไม่พอพระทัยที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไม่ทรงแต่งตั้งให้เป็นมหาอุปราชตามที่ทรงสัญญาไว้ จึงไปอยู่กับพระเจ้าติโลกราช แห่งเชียงใหม่ ในฐานะลูกหลวง ทำให้เกิดสงครามยืดเยื้อ ระหว่างพระเจ้าติโลกราชกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ผู้ปกครองพิษณุโลกต่อจากนั้นก็น่าจะเป็นพระราชเทวี เพราะมีความชอบธรรมในฐานะเป็นพระเชษฐภคินีของมหาธรรมราชาที่ ๔ ซึ่งมีพระราชชนกร่วมกัน คือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๓(ไสยลือไทย) ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อพระยาเชลียงนำพระเจ้าติโลกราชมาตีเมืองพิษณุโลกใน พ.ศ. ๒๐๐๔ ตามที่ระบุใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ และเข้าล้อมเมืองอยู่เป็นเวลานานนั้น เป็นช่วงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้เสด็จมาที่เมืองพิษณุโลกพอดี โคลงยวนพ่ายว่า เสด็จมาถึงพิษณุโลกด้วยความยินดี จึงตีความกันว่า คงเสด็จมาเยี่ยมพระราชชนนี สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ร่วมบัญชาการป้องกันเมือง ตำนานสิบห้าราชวงศ์ว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปรึกษากับ “แม่พระยาใต้” พระยาใต้ก็คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งแม่พระยาใต้ทรงแนะนำให้ “เอาเวียงเป็นเล้าเป็นโรงเถอะ” สงครามครั้งนี้ เอกสารฝ่ายเหนือว่า กองทัพสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถหนีออกจากวงล้อมได้ ซึ่งพระเจ้าติโลกราชก็เสด็จกลับนครเชียงใหม่ แต่เอกสารฝ่ายใต้ว่า ทัพเหนือตีพิษณุโลกไม่ได้ก็เลิกทัพกลับไป

พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐว่า พ.ศ. ๒๐๐๕ พระยากลาโหมยกพลไปตีได้เมืองสุโขทัยคืนมา พ.ศ. ๒๐๐๖ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จมาเสวยราชย์ที่เมืองพิษณุโลก และยังคงทำสงครามชิงหัวเมืองเหนือกับพระเจ้าติโลกราช ระหว่างนี้โคลงยวนพ่ายบันทึกไว้ว่า พระราชชนนีสิ้นพระชนม์แล้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงเสด็จออกทรงพระผนวช ใน พ.ศ. ๒๐๐๘

พระราชเทวีแห่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ จึงเป็นกษัตริย์ผู้ครองเมืองพิษณุโลก ที่เป็นศูนย์กลางของเมืองที่เคยอยู่ในอาณาจักรสุโขทัย ในยุคที่อยู่ใต้อิทธิพลของอยุธยา และมีส่วนในการบัญชาการรบป้องกันรักษาเมืองไว้ได้ จากการรุกรานของพระเจ้าติโลกราช แห่งอาณาจักรล้านนา

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: วีณา โรจนราธา

สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์

พระนามเต็มของสมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์ ที่ปรากฏในจารึกวัดบูรพาราม คือ “สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์อัครราชมหิศีเทพยธรณีดิลกรัตนบพิตรเป็นเจ้า” ซึ่งเป็นอัครมเหสีในพระมหาธรรมราชาที่ ๒ แห่งอาณาจักรสุโขทัย

นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ตีความว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๒ นี้เป็นพระองค์เดียวกับที่ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ระบุว่า ศักราช ๗๔๐(พ.ศ. ๑๙๒๑) สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑(ขุนหลวงพงั่ว) เสด็จไปตีเมืองชากังราว พระมหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเป็นสามารถ แต่เห็นว่าจะต่อรบด้วยมิได้ จึงออกถวายบังคม แต่นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ว่าเป็นคนละองค์กัน

ระยะต่อมา วัดบูรพารามก็ได้จารึกเหตุการณ์เมื่อพระมหาธรรมราชาพระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา ได้ร่วมกับเจ้าเมืองอื่นๆ ทำให้อาณาจักรสมบูรณ์ขึ้นในทุกรัฐ ได้แก่ รัฐกาว(น่าน) ในทิศเหนือ รัฐชวา(หลวงพระบาง) ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองพระบาง(นครสวรรค์) ในทิศใต้ เมืองนครไทยในทิศตะวันออก เมืองเพชรบูรณ์ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ เมืองไตรตรึงส์ และเมืองเชียงทองในทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมืองนาคปุระในทิศตะวันตก และเมืองเชียงแสนถึงฝั่งแม่น้ำพิงค์(ปิง) แม่น้ำโขง ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

พระมหาธรรมราชาพระองค์นี้ ได้เสด็จออกผนวชเช่นเดียวกับพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ลิไทย ผู้เป็นสมเด็จพระราชชนก และในปี พ.ศ. ๑๙๕๑ พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ก็ได้เสด็จสวรรคตลง

พระราชภาระที่หนักหน่วงในการกอบกู้เอกราชบ้านเมืองจึงต้องเป็นของพระอัครมเหสีคือ สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์ ในขณะนั้นตรงกับที่กรุงศรีอยุธยากำลังแผ่อิทธิพลขึ้นมาครอบครองอาณาจักรสุโขทัย ในจารึกวัดบูรพาราม มีว่า สมเด็จพระราชเทวีทรงเป็นผู้มีปัญญา มีบุญ มีความงาม มีศีล มียศ เป็นขัตติยา สมบูรณ์ด้วยฐิติผู้สูงสุดในแผ่นดิน ผู้ได้รับการฝึกอบรม และเป็นผู้ร่าเริงราวกับนางเทวนารีอัปสร พระนางพิมพา พระนางมหามายา พระนางจันทิมา และพระนางสุรัสวดี เป็นผู้ศรัทธาในพระรัตนตรัยที่ประเสริฐ พระนางมีพระราชโอรส ๒ องค์ องค์โตได้ขึ้นเป็นพระยา ทรงพระนามรามราชาธิราช ส่วนองค์เล็กมีพระนามว่า ศรีธรรมาโศกราช รามราชาธิราช ก็คือ พระยารามที่ออกถวายบังคมพระมหากษัตริย์อยุธยา สมเด็จพระนครินทราธิราช พร้อมพระยาบาลเมือง ใน พ.ศ. ๑๙๖๒ หลังจากที่พระมหาธรรมราชาที่ ๓(ไสยลือไทย) สวรรคตแล้ว พระมหากษัตริย์อยุธยาจึงโปรดให้พระยาบาลเมืองครองพิษณุโลก ส่วนพระยารามก็ได้ครองสุโขทัย

ในจารึกวัดอโสการาม และจารึกวัดบูรพาราม ได้พรรณนาการบุญกุศลที่สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์ทรงบำเพ็ญไว้มากมาย ใน พ.ศ. ๑๙๔๒ พระนางทรงสร้างวัดอโสการาม ใน พ.ศ. ๑๙๕๕ ทรงสร้างวัดบูรพาราม และทรงสถาปนาปูชนียวัตถุสถานทุกสิ่งพร้อมมูล ได้อาราธนาพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานในพระมหาธาตุเจดีย์ ทรงปลูกพระศรีมหาโพธิ ทรงสถาปนาพระเถระเพื่อปกครองวัด ทรงอุปสมบทพระภิกษุและบรรพชาสามเณร ทรงบำเพ็ญมหาทานถวายเครื่องบริขารเป็นทรัพย์มหาศาล ถวายที่นาและแต่งไพร่ไว้ดูแลวัด นอกจาก ๒ วัดนี้ ก็ยังทรงสร้างวัด ทิกษิณาราม และวัดลังการาม และทรงบูรณะอุปถัมภ์วัดศรีวิสุทธาวาสที่พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ทรงผนวช วัดเสนางที่พระมหาธรรมราชาประทับ วัดศรีจุฬาวาสที่สงสการ(พิธีปลงศพ)สมเด็จพ่อออก วัดพระธรรมราชบูรณ์ที่สงสการสมเด็จราชมารดา ทรงอุทิศส่วนกุศลถวายแด่บรรพบุรุษทั้งฝ่ายพระมหาธรรมราชาที่ ๒ และฝ่ายพระนางเอง

นอกเหนือจากพระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์ได้ทรงบำเพ็ญไว้ในจารึกแล้ว ก็ยังมีอื่นๆ อีกมาก พระนาม “ศรีจุฬาลักษณ์” จึงมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์เป็นที่เล่าขานสืบต่อกันมา วรรณคดีไทยที่ได้รับการตีความว่าแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ชื่อ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ก็อาจมีเค้าความคิดเดิมจากสมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์บ้างก็เป็นได้ เนื้อหาอาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้างเพราะผ่านมาหลายยุคหลายสมัยเป็นเวลายาวนานแล้ว พระนามเดิมของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ คือ นางนพมาศ เป็นสนมของสมเด็จพระร่วงเจ้า องค์ที่หมายถึงพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ลิไทย ตำแหน่ง “ศรีจุฬาลักษณ์” ยังลดความสำคัญลงเรื่อยๆ จะเห็นได้ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน สมัยอยุธยา ศรีจุฬาลักษณ์ เป็นเพียง ๑ ใน ๔ ของนางท้าวพระสนมเอก คือ อินสุเรนทร ศรีสุดาจัน อินทรเทวี และศรีจุลาลักษ

หลักฐานที่ยืนยันว่า สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์มีตัวตนจริง คือ ศิลาจารึกและโบราณสถาน ทรงเป็นอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์สุโขทัย ทรงสร้างถาวรวัตถุมากมายให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ถึงศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ในสมัยของราชอาณาจักรไทยแห่งนี้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: วีณา โรจนราธา

พระมหาเทวีพระกนิษฐาของพระมหาธรรมราชาที่๑

ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อาณาจักรสุโขทัยขยายอาณาเขตได้กว้างขวางที่สุด เมื่อสิ้นพ่อขุนรามคำแหงฯ เจ้าเมืองทั้งหลายก็ไม่ยอมขึ้นกับพระยาเลอไทยซึ่งเป็นราชโอรสของพ่อขุนรามคำแหงฯ อาณาจักรได้แตกเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย เมื่อถึงสมัยที่พระมหาธรรมราชที่๑(ลิไทย) ปกครอง พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และได้สร้างความเข้มแข็งให้กลับคืนสู่อาณาจักรสุโขทัย จารึกหลักที่ ๘ จารึกเขาสุมนกูฏ ระบุว่า พระมหาธรรมราชาลิไทยปราบได้เมืองตลอดทั้งลำน้ำป่าสัก และลำน้ำน่าน แล้วจึงเสด็จไปประทับที่สองแคว คือ เมืองพิษณุโลกถึง ๗ ปี

ส่วนทางเมืองสุโขทัยนั้น ปรากฏในเรื่องพระสีหลปฏิมา หรือพระพุทธสิหิงค์ ใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ความว่า ในสมัยที่พระมหาธรรมราชา หรือพระยาลิไทยครองกรุงสุโขทัยนั้น สมเด็กพระรามาธิบดีที่ ๑(อู่ทอง) เสด็จไปทรงยึดเมืองชัยนาท(นักประวัติศาสตร์หมายถึง เมืองพิษณุโลก)ได้ โดยทำทีว่าเอาข้าวมาขาย ขณะที่เมืองพิษณุโลกเกิดทุพภิกขภัย ทรงตั้งมหาอำมาตย์วัตติเดช คือ ขุนหลวงพงั่ว จากเมืองสุพรรณบุรีไปครอง พระมหาธรรมราชาลิไทยต้องส่งบรรณาการเป็นอันมากไปถวายสมเด็จพระรามาธิบดีที่๑ เพื่อขอเมืองพิษณุโลกคืน เมื่อได้เมืองคืนแล้ว พระมหาธรรมราชาลิไทย “ทรงตั้งพระมหาเทวีผู้เป็นพระกนิษฐา(น้องหญิง) ของพระองค์ให้ครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัย…ส่วนพระองค์ อัญเชิญพระสีหลปฏิมาไปบูชาที่เมืองชัยนาท” เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สวรรคตแล้ว ขุนหลวงพงั่ว ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ยึดเมืองพิษณุโลกได้ อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปบูชาที่กรุงศรีอยุธยา และมหาอำมาตย์ชื่อ พรหมไชยยึดเมืองสุโขทัยได้

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สวรรคต พ.ศ. ๑๙๑๒ ดังนั้นปีที่พระมหาธรรมราชาที่๑ เสด็จนำไพร่พลและกองทัพของเจ้าเมืองต่างๆ กลับมาไหว้พระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏ(เขาพระบาทใหญ่) ที่เมืองสุโขทัยจะต้องเป็นช่วงที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สวรรคตแล้ว ดังนั้นพระมหาเทวีคงจะครองราชย์ ณ เมืองสุโขทัยประมาณ พ.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๑๒

ปรากฏพระนามพระมหาเทวีอีกครั้งในศิลาจารึกวัดช้างล้อม ซึ่งพ่อนมไสดำ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๗ ข้อความจารึกเล่าถึงพ่อนมไสดำ บวชถวายพระมหาธรรมราชาที่สวรรคต แล้วย้ายสำนักอีกครั้ง บวชถวายพระมหาเทวีที่สวรรคต และเมื่ออุทิศที่เรือนตนสร้างวัดแล้ว ยังได้สร้างพระหินองค์หนึ่งอุทิศถวายเป็นบุญแด่พระมหาเทวี พระมหาเทวีจึงสวรรคตก่อน พ.ศ. ๑๙๒๗

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: วีณา โรจนราธา

นางเสือง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเสด็จจาริกธุดงค์ไปนมัสการเจดียสถานที่สำคัญตามหัวเมืองต่างๆ เป็นประจำ ในขณะที่ดำรงอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎอยู่ในสมณเพศ พระองค์เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ไปถึงเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นราชธานีของไทยแต่โบราณ บริเวณปริมณฑลที่เป็นที่ตั้งเมืองเรียกว่า เนินปราสาทปัจจุบัน ทรงพบแท่งศิลาแท่งหนึ่งในสภาพที่หักพังออกจากแท่นฐาน ตะแคงตกอยู่กับพื้นดิน เมื่อวิเคราะห์แล้วก็ทรงเข้าพระทัยว่า แท่งศิลานี้คือ ศิลาจารึกโบราณวัตถุที่สำคัญ ส่วนชาวเมืองสุโขทัยในสมัยนั้นให้ความสำคัญและถือว่าคือศาลเจ้าได้เคารพกันทั่วไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้นำแท่งศิลานี้มากรุงเทพมหานครพร้อมกับพระองค์และได้นำพระแท่นมนังศิลาบาตรลงมาด้วย ศิลาจารึกหลักนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอ่านได้ เป็นพระองค์แรก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ และเรียกศิลาจารึกนี้ว่า “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง” ซึ่งยังเรียกกันอยู่จนถึงปัจจุบัน เนื้อหาสาระในแผ่นศิลานับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการอ่านแปลใหม่ให้มีความสมบูรณ์และถูกต้องที่สุดอีกหลายครั้งในสมัยหลังๆ ทำให้ได้ทราบประวัติศาสตร์ชาติไทยแรกก่อตั้งอาณาจักรในดินแดนสุวรรณภูมิ คือ การก่อตั้งกรุงสุโขทัย พระราชวงศ์ ตลอดจนสภาพสังคม และความเป็นอยู่ของชาวสุโขทัยอย่างแจ่มชัด มีข้อความตอนต้นกล่าวไว้ดังนี้

“พ่อกูชื่อสรีอินทราทิตย แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสามผู้หญิงโสง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้าขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า ไพร่ฟ้าหน้าใส พ่อกูหนีญญ่ายพายจแจ้น กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อ กูชื่อพระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวานอันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตายยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดั่งบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึ่งได้เมืองแก่กูทั้งกลม เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองษุกโขไทนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ข้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส…”

จารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือที่เรียกกันภายหลังว่า จารึกสุโขทัยหลักที่๑ ยังมีจารึกที่กล่าวถึงการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย ที่ได้ค้นพบในสมัยต่อมาอีกหนักหนึ่ง คือ จารึกวัดศรีชุม หรือจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ กล่าวถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เป็นช่วงเวลาก่อนเหตุการณ์ในจารึกหลักที่ ๑ เมื่อชาวไทยพยายามรวบรวมกำลัง ต้านขอมที่ปกครองกรุงสุโขทัยอยู่ให้หลุดพ้นจากอำนาจเพื่ออิสรภาพ เป็นเรื่องราวที่เชื่อมต่อประวัติศาสตร์การก่อตั้งชาติไทยให้เป็นอาณาจักรที่เป็นปึกแผ่น และการสร้างชาติที่มีระเบียบดีงามสมบูรณ์ด้วยศิลปวัฒนธรรม หล่อหลอมความเป็นไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ความในจารึกวัดศรีชุมกล่าวว่า กษัตริย์ขอมได้พระราชทานนามให้พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด กมรแดงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ มอบพระแสงขรรค์ชัยศรีเป็นอาวุธ และพระราชทานพระธิดานาม สุขรมหาเทวี เป็นพระชายา ทำให้สภาพของพ่อขุนผาเมืองเปรียบเสมือนเป็นเชื้อพระวงศ์ขอมผู้หนึ่ง พ่อขุนผาเมือง มีพระสหายนามพ่อขุนบางกลางหาว ปกครองอยู่เมืองบางยาง ได้ร่วมคบคิดกันต่อสู้ให้ชาวไทยหลุดพ้นจากอำนาจขอม เมื่อตกลงแล้วต่างก็ยกทัพตีกระหนาบกันเข้ามายึดกรุงสุโขทัย โขลญลำพงคงเป็นอุปราช สำเร็จราชการในภาคนี้ และครองเมืองสุโขทัยอยู่ ได้ออกต้านทานเป็นสามารถ สู้ฝีมือไม่ได้แตกพ่ายไป พ่อขุนผาเมืองเข้าเมืองได้ก่อน แล้วทรงอัญเชิญพ่อขุนบางกลางหาวเข้าเมือง จัดการอภิเษกเป็นเจ้าเมืองครองกรุงสุโขทัยให้เป็นใหญ่ ในดินแดนไทยข้างเหนือบริเวณดังกล่าว และทรงยกนามของตนถวายแก่พ่อขุนบางกลางหาวเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย พระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ดังที่ปรากฏในศิลาจารึก ส่วนพ่อขุนผาเมืองได้กลับไปครองเมืองราดตามเดิม

ประวัติศาสตร์ไทยที่ได้จากจารึกสมัยที่ตั้งตัวเป็นปึกแผ่นใหม่ๆ ในสุวรรณภูมินั้น มีคติสอนใจ และทิ้งปัญหาไว้ให้ขบคิดอยู่หลายประการ คติสอนใจนั้น ได้แก่ การรักความเป็นไท และการสร้างความเป็นชาตินั้น จะต้องอาศัยความสามัคคีเป็นสำคัญ การใช้สติปัญญาผ่อนสั้นผ่อนยาวเพื่อผูกไมตรีกับทั้งพันธมิตรและศัตรู ถ้าพ่อขุนผาเมืองจะตั้งตัวเป็นกษัตริย์ก็ย่อมทำได้ แต่ที่ทรงมอบให้แก่เพื่อนนั้นเป็นสิ่งที่ยากต่อการเข้าใจ การกระทำของบรรพบุรุษไทยนั้นเป็นเหตุผลที่ลึกซึ้งเหลือวิสัยที่คนปัจจุบันจะล่วงถึงได้ แต่ความรู้สึกที่อยู่ในจิตใจของลูกหลานไทยทุกสมัยต่างก็สรรเสริญและชื่นชมเทิดทูนไม่มีวันเสื่อมคลาย ในกาลต่อมาก็ปรากฏว่าขอมไม่ได้มารบกวนไทยอีกจากการรวมกันเป็นปึกแผ่นนี้ ในระยะที่ไทยกำลังตั้งตัวได้ก็มีการจัดบ้านเมืองให้เรียบร้อยและรุ่งโรจน์สูงสุดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งเป็นเวลาที่สถาปนาอาณาจักรแล้วได้ไม่นาน ที่กล่าวนี้คือ ภูมิหลังของประวัติศาสตร์สุโขทัย

การกระทำของพ่อขุนผาเมือง เป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ได้ขบคิดกันต่างๆ นานา จากหลักฐานประวัติศาสตร์ทำให้ตีความกันว่า “นางเสือง” ที่ปรากฏนามในจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ นั้นคือ พระธิดาพ่อขุนศรีนาวนำถุม เจ้าเมืองสุโขทัยองค์ก่อน ซึ่งเป็นบิดาของพ่อขุนผาเมืองนั่นเอง นางเสืองจะเป็นพี่สาวหรือน้องสาวของพ่อขุนผาเมืองก็ไม่อาจสันนิษฐานได้ พ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาวนอกจากจะเป็นพระสหายกันแล้ว ยังมีความเกี่ยวดองที่ใกล้ชิดกันด้วย จึงทำให้เข้าใจเหตุผลในน้ำพระทัยของพ่อขุนผาเมืองได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ความสับสนเกี่ยวกับประวัติการก่อตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชานี ทำให้นักประวัติศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่า นางเสืองมิใช่คนไทย แต่เป็นสตรีขอมที่มาอภิเษกกับพ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ โดยอนุมานเอาว่า พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดยังต้องมีพระชายาเป็นนางสุขรมหาเทวี ธิดากษัตริย์ขอมที่ปกครองดินแดนสุโขทัยขณะนั้น เพื่อผลทางการเมืองที่จะผูกมัดให้พ่อขุนไทยทั้งหลายที่ดูแลหัวเมืองในปกครองของตนให้อยู่ในอำนาจ และพ่อขุนศรีอินทราทิตย์คงจะเป็นเช่นเดียวกัน

ถ้าพิจารณาชื่อ สำเนียงคำว่า “เสือง” จะรู้สึกว่าเป็นภาษาไทยแต่ดั้งเดิม แม้จะไม่สามารถหาความหมายได้ แต่ก็มีคำที่พอจะเทียบเคียงได้ว่าเป็นคำโดด มิได้เป็นคำสมาส เหมือนอย่างคำเขมร และศัพท์คำว่า เสือง ในภาษาเขมร ก็ปรากฏว่าไม่มีอีกด้วยเช่นกัน จึงทำให้เชื่อได้อย่างไม่ลังเลว่า นางเสืองนั้นจะต้องเป็นคนไทยแน่นอน มีผู้สันนิษฐานว่า เสือง นี้แปลว่า “รุ่งเรือง”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเห็นว่านางเสืองเป็นคนไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์ บทละครเรื่องพระร่วง ไว้ตอนหนึ่งว่า
“….พระเจ้าศรีอินทราทิตย์นี้ได้อภิเษกกับนางเสือง ซึ่งเป็นราชธิดาของพระเจ้ากรุงสุโขทัยพระองค์ก่อน ด้วยเหตุที่เป็นผู้สืบพระวงศ์ของพระเจ้ากรุงสุโขทัยองค์ก่อนประการหนึ่ง และเพราะเหตุที่ชาวเมืองสุโขทัยได้พร้อมกันถวายราชสมบัติด้วยอีกประการหนึ่ง พระเจ้าศรีอินทราทิตย์จึงได้ประดิษฐานราชวงศ์มั่นคงในพระนครสุโขทัยสืบมา…”

ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้กล่าวไว้ในคำอธิบายศิลาจารึกว่า
“เจ้าเมืองสุโขทัยองค์ก่อน คือ พ่อขุนศรีนาวนำถม ผู้เป็นพระบิดาของพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด พ่อขุนบางกลางหาว ผู้เป็นมิตรสหายของพ่อขุนผาเมือง ที่แรกจะเป็นเหตุใดไม่ปรากฏ สองสหายนั้นจึงได้ตั้งใจตีเมืองสุโขทัย บางทีจะเป็นเพราะพ่อขุนศรีนาวนำถม สิ้นพระชนม์ลงในเมืองสุโขทัยก็เป็นได้….”

สตรีคนแรกที่ได้ยินชื่อในประวัติศาสตร์สุโขทัยคือ นางเสือง ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็นมเหสีของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และเป็นพระราชชนนีพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ก่อกำเนิดลายสือไทย และเป็นเจ้าของหลักศิลาจารึกหลักดังกล่าว จึงถือได้ว่านางเสืองนั้นคือ ขัตติยนารีผู้ยิ่งใหญ่ ที่ดำรงพระชนม์อยู่อย่างเงียบๆ แต่ในความสงบเงียบนั้น ถ้าได้พิจารณาถึงลักษณะของวัฒนธรรมไทยแล้ว จะเห็นว่าสังคมไทยมิได้กำหนดให้สตรีมีบทบาทโลดแล่นเสมอบุรุษ แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่ามีบทบาทผลักดันอยู่เบื้องหลังเหมือนพลังที่มองไม่เห็น เช่นนางเสืองนี้ พระโอรสที่เป็นวีรกษัตริย์ที่ปราดเปรื่องทั้งการรบและการพัฒนา ย่อมอยู่บนพื้นฐานของการปลูกฝังดูแลเอาใจใส่จากพระชนนีอย่างดี แม่เป็นผู้กำกับอยู่เบื้องหลังอย่างภาคภูมิใจ สุขุม สงบ และมุ่งมั่นจะให้โอรสสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น เป็นประโยชน์ และมีความรักแผ่นดิน แต่นางเสืองก็มีประวัติให้ศึกษาได้น้อยมาก

นางเสืองไม่ปรากฏว่ามีบทบาทอยู่ในที่ใดเลย แม้ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็มีอยู่คำเดียวแท้ๆ ว่า “แม่กูชื่อนางเสือง” แต่ผลงานที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกมีนับตั้งแต่พ่อขุนบางกลางหาว ผู้เป็นสวามีนางเสือง ที่ริเริ่มต่อต้านกู้บ้านเมืองด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีกำลังใจดีไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง มีปรากฏต่อไปว่าพ่อขุนบานเมือง พ่อขุนองค์ที่ ๒ ซึ่งเป็นโอรสของพ่อขุนบางกลางหาวนั้น เป็นพ่อเมืองที่ดี รักน้อง ถนอมน้ำใจน้อง วางใจน้อง รู้จักใช้น้อง ไม่ริษยาที่น้องมีชื่อเสียง บ้านเมืองมีความอยู่เย็นเป็นสุข แม่ของพ่อขุนบานเมืองคือนางเสือง และมีความปรากฏต่อไปว่า พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนองค์ที่ ๓ เป็นลูกของพ่อขุนบางกลางหาว น้องของพ่อขุนบานเมือง ทั้งกล้า ทั้งฉลาด ทั้งดี คุณสมบัตินี้ทำให้แผ่อานุภาพไปได้กว้างขวางจนได้รับยกย่องให้เป็นมหาราช ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงตรงที่ว่า หาอะไรมาได้ก็เอามาบำเรอพ่อ บำเรอแม่ บำเรอพี่ จะเห็นน่าเอ็นดูด้วยกันทุกคน พ่อขุนรามคำแหงนี้ลูกของนางเสือง

ครอบครัวของพ่อขุนบางกลางหาวมีเยื่อใยที่เหนียวแน่นลึกซึ้งสุขุมนัก แม้ ๗๐๐-๘๐๐ ปีผ่านไป เมื่อได้ยินได้ฟังก็ยังชื่นใจ ใครเป็นคนผูกเยื่อใยนี้ในครอบครัว พ่อขุนบางกลางหาวเอากำลังใจมาจากไหน ทำไมจึงดูเป็นคนไม่มีกังวล พ่อขุนบานเมือง พ่อขุนรามคำแหง ทำไมจึงน่ารัก น่าเคารพ น่าสรรเสริญ น่าบูชา ทำไมจึงมีจริยวัตรงดงามนัก

ไม่มีใครตอบได้ เพราะไม่ได้จารึกไว้ในศิลา แต่ผู้ที่เป็นภรรยาเป็นแม่อย่างไทยๆ สมัยก่อนจะตอบได้เงียบๆ ในใจของตนว่า ที่มาของผลดังกล่าวมีนางเสืองเป็นเหตุ เพราะเมียอย่างไทยๆ ย่อมรู้ว่านางเสืองจะต้องทำอะไรบ้าง ที่พ่อขุนบางกลางหาวมีกำลังใจดี ตัดสินใจดี ไม่มีห่วงกังวล แม่อย่างไทยๆ ย่อมรู้ว่าควรจะทำอย่างไรในการที่มีลูกชายหลายคน แล้วบังเอิญที่น้องก็เก่งกว่าพี่ การเลี้ยงน้องไม่ให้กำเริบกับพี่นั้น แม่อย่างไทยๆ ถนัดเท่าๆ กับเลี้ยงพี่ให้มีเมตตาจิตต่อน้อง

เมียอย่างไทยๆ สมัยก่อนรู้ดีว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควรที่จะก้าวล้ำหน้าสามี ในศิลาจารึกจึงไม่ปรากฏเรื่องราวของนางเสืองมาก แม่อย่างไทยๆ รู้ดีว่า การรักษาเกียรติยศไว้ให้ลูกเป็นหน้าที่ที่สุดยอดของแม่ การที่พ่อขุนรามคำแหงประกาศให้โลกรู้ว่าแม่ของพ่อขุนชื่ออะไรนั้น เป็นสิ่งสูงสุดสำหรับแม่อย่างไทยๆ เพราะพ่อขุนองค์อื่นๆ ในชั้นหลังจนถึงสมัยอยุธยาเราก็ไม่รู้ว่าพระราชชนนีหรือพระมเหสี มีพระนามว่าอย่างไรกันบ้าง

ในฐานะแม่เมืองของไทยองค์แรกที่ไม่ปรากฏบทบาทในประวัติศาสตร์ แต่ที่สุโขทัยมีพระรูปศักดิ์สิทธิ์อยู่รูปหนึ่ง ชาวเมืองเรียกกันว่า “พระแม่ย่า” เชื่อกันว่าเป็นเจ้านายราชวงศ์สุโขทัยที่สำคัญมาก คนรักมาก เคารพมาก เพราะคนไทยไม่ได้ปั้นรูปขึ้นมาบูชากันง่ายๆ เจ้านายในรูปปั้นนั้นจึงต้องเป็นผู้หญิงที่เป็นแม่ของพ่อขุนแผ่นดินใดแผ่นดินหนึ่ง และเป็นย่าของพ่อขุนในแผ่นดินถัดมา หลายคนเชื่อกันว่า เป็นพระรูปฉลองพระองค์ของนางเสือง ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในศาลพระแม่ย่า หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย

นางอมรา ศรีสุชาติ นักโบราณคดี ได้ตั้งสมมุติฐานว่ารูปประติมากรรมหิน ที่เรียกกันว่า “พระแม่ย่า” นี้ น่าจะเป็น “รูปเทพีต้นน้ำ” เพราะสถานที่ที่พบอยู่บริเวณซอกเขาหรือ “โซก” ซึ่งหมายถึง ร่องน้ำจากเขาหลวงที่ไหลลงมาสะสมเป็นธารน้ำ ไหลลงตามคันดินกั้นน้ำที่คนสุโขทัยในอดีตทำไว้เหมือนเขื่อน เพื่อกักน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง และเครื่องแต่งกายของรูปประติมากรรมนี้ก็ใกล้เคียงกับประติมากรรมเขมรมากกว่าไทย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สายไหม จบกลศึก

พระนางจามเทวี

บางก็เขียนเป็น จัมมเทวี หรือ จามะเทวี ก็มี พระนางจามเทวีเป็นราชธิดาของพระเจ้าจักรพรรดิราช แห่งกรุงละโว้(ลพบุรี) เชื่อกันว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย(ลำพูน) ครองราชย์ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓

SONY DSC

ในตำนานและนิทานพื้นบ้านเมืองเหนือหลายฉบับ ได้ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับพระนางจามเทวี ซึ่งรู้จักกันอย่างแพร่หลาย เช่น เรื่องจามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญไชย ชินกาลมาลีปกรณ์ และตำนานมูลศาสนา ย้อนเรื่องราวไปถึงสมัยพุทธกาล ตามด้วยเรื่องพระฤาษีวาสุเทพสร้างเมืองต่างๆ พระฤาษีวาสุเทพชักชวนพระฤาษีสุกกะทันต์มาช่วยสร้างเมืองในที่มีพุทธพยากรณ์ว่า จะเกิดเมืองใหญ่และจะเป็นที่บังเกิดพระบรมสารีริกธาตุ ฤาษีสุกกะทันต์แนะนำให้ขอเปลือกหอยสังข์จากพระฤาษีสัชชนาไลย แล้วให้สร้างเมืองตามสัณฐานเปลือกหอยสังข์นั้น เมื่อฤาษีวาสุเทพปรึกษาเรื่องหาผู้ที่จะครองเมือง ฤาษีสุกกะทันต์ก็แนะนำให้เชิญนางจามเทวี ธิดาของพระเจ้าจักรพรรดิราชแห่งกรุงละโว้ ซึ่งเป็นผู้ที่มีรูปงาม เป็นเบญจกัลยาณี มีศีลและมีความสามารถ มีพระสวามีที่ศรัทธาบวชเป็นเพศบรรพชิต ฤาษีทั้งสองจึงให้ทูตที่ชื่อ นายควยะ ไปทูลขอนางจามเทวีมาครองเมือง

พระสวามีของนางจามเทวีนี้ ในเรื่องจามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญไชย ว่าเป็นเจ้าประเทศราชในเมืองรามัญ ผู้แปลเรื่อง ชินกาลมาลีปกรณ์ คือ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร ก็ได้ทำเชิงอรรถขยายความไว้ในหนังสือนั้นว่า อาจเป็นเมืองรามที่อยู่ใกล้เมืองลพบุรีก็ได้ เพราะต้นฉบับใบลานเดิมว่า รามนคเร แปลว่า ในเมืองราม ส่วนตำนานมูลศาสนาก็ว่า เมืองรา หรือเมืองราม

จางจามเทวีได้ออกเดินทางมาตามลำน้ำปิงโดยทางเรือ เมื่อได้รับราชานุญาตจากพระเจ้าจักรพรรดิราชแล้ว ซึ่งขณะนั้นนางมีครรภ์ได้ ๓ เดือน นางจามเทวีขอพระราชทานผู้ติดตามจากเมืองละโว้จากบิดา เพื่อนำมาสร้างประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง ซึ่งมี พระมหาเถระ พราหมณ์ บัณฑิต คหบดี แพทย์ ช่างฝีมือต่างๆ และนายช่างฝ่ายโยธาจำนวนมาก ตั้งแต่ครั้งนี้ พระนางจามเทวีจึงเป็นผู้นำพุทธศาสนา นิกายหินยาน และศิลปะวิทยาการแบบทวารวดี มาเผยแพร่ในทางเหนือ และส่งอิทธิพลถึงอาณาจักรล้านนา มอญ และพม่าในสมัยต่อมาด้วย

นางจามเทวีใช้เวลา ๗ เดือน ในการเดินทางจากละโว้ไปถึงหริภุญชัย จากตำนานมูลศาสนาได้กล่าวว่า นางจามเทวีได้สร้างสถานที่มีชื่อขึ้นหลายแห่ง เช่น เมืองพระบาง เมืองคันธิกะ เมืองบุรัฐ เมืองบุราง เมืองเทพบุรี เมืองบางพล เมืองราเสียด หาดเสียว เมืองตาก สระเหงา พุทธสรณาคมน์ ดอยอาบน้ำนาง ดอยผาแต้ม ปลาเต่า บ้านทา พระเจดีย์ปวิสิตปกะ และบ้านรัมมกะคาม เป็นต้น

พระฤาษีวาสุเทพและฤาษีสุกกะทันต์ และชาวเมืองได้อัญเชิญนางจามเทวีให้ประทับเหนือแผ่นทองประกอบพิธีอภิเษก เมื่อเสด็จมาถึงนครหริภุญชัย เมืองนี้จึงมีชื่อว่า “หริปุญ์ชย” หรือ “หริภุญชัย”

พระนางจามเทวีประสูติพระโอรสแฝด ๒ พระองค์ หลังจากจากครองราชย์ได้เพียง ๗ วัน ซึ่งพระโอรสมีพระนามว่า พระมหันตยศ หรือมหายศ กับ พระอนันตยศ หรืออินทวรราช

พระนางจามเทวีได้ช้างมงคลมาสู่พระบารมี เนื่องจากได้ทรงสร้างบุญกุศลเพิ่มพูนบารมีในพระพุทธศาสนา

พระเจ้ามิลักข(ตำนานมูลศาสนาว่า ขุนลัวะ) พระนามติลังก(บางฉบับว่าพิลังกะ หรือ วิลังคราช ก็มี) ได้ยกทัพมายึดนครหริภุญชัย ขณะนั้นพระโอรสมีพระชนม์ได้ ๕ พรรษา(ตำนานบางตอนบอกว่า ๗ พรรษา) พระกุมารทั้งสองได้ทรงช้างสำคัญออกศึก เมื่อช้างข้าศึกเห็นก็ตกใจหนีแตกตื่นไปจนหมดสิ้น พระเจ้ามิลักขราชจึงถวายพระธิดาฝาแฝด ๒ องค์ ให้กับพระมหันตยศ และพระอนันตยศ พระนางจามเทวีก็จัดการอภิเษกสมรสให้แก่พระโอรสและพระธิดาทั้งสอง จึงทำให้มิลักขรัฐ และนครหริภุญชัยมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน แต่บางตำนานก็กล่าวไว้ว่า พระนางจามเทวีทรงใช้เล่ห์ทางไสยศาสตร์ในการรบ ทำให้พระเจ้ามิลักขราชหลงรักพระนางจนหมดพลังอำนาจ จนถึงกับต้องฆ่าตัวตาย

พระนางจามเทวีได้อภิเษกให้พระมหันตยศขึ้นครองนครหิรภุญชัย และให้พระอนันตยศเป็นพระยาอุปราช เมื่อมีพระชนม์ได้ ๗ พรรษา บรรดาประชาราษฎร์มีความร่มเย็นเป็นสุข พระนางจามเทวีทรงสร้างวัดใหญ่ ๕ ตำบลรอบเมือง เพื่อบำรุงพระศาสนา มี สร้างอรัญญิกรัมมการามทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สร้างมาลุวารามด้านตะวันออก สร้างอาพัทธารามด้านทิศเหนือ สร้างมหาวนารามด้านทิศตะวันตก และสร้างมหารัดารามด้านทิศใต้

ต่อมา พระอนันตยศได้ทูลลาไปครองนครเขลางค์ ที่พระองค์ได้ขอให้พระสุพรหมฤาษีสร้างถวายให้บริเวณใกล้แม่น้ำวัง และเพื่อสร้างความเจริญให้กับนครเขลางค์ อยู่มาไม่นานพระเจ้าอนันตยศก็ได้กลับมารับพระนางจามเทวี และขอพระภิกษุ และผู้คนจากหริภุญชัยไปอยู่ด้วย พระนางจามเทวีคอยดูแลให้คำปรึกษาด้านการปกครองแก่พระเจ้าอนันตยศอยู่ที่นครเขลางค์เป็นเวลา ๓ ปี พระเจ้าอนันตยศขอให้สุพรหมฤาษีสร้างอาลัมพางคะนคร ซึ่งอยู่ใกล้นครเขลางค์เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์ เมื่อครบ ๓ ปี พระเจ้าอนันตยศ ได้ขอให้พระนางจามเทวีประทับอยู่ต่อ แต่เพื่อให้เจ้าอนันตยศได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ของกษัตริย์อย่างแท้จริง พระนางจามเทวีจึงของประทับที่อาลัมพางคะนครแทน พระเจ้าอนันตยศขอให้พระนางจามเทวีอยู่ต่ออีก ๑ ปี แต่พระนางฯ ประทับต่อได้แค่ ๑ เดือนก็เกิดประชวรต้องเสด็จกลับนครหริภุญชัย เมื่อกลับถึงนครหริภุญชัย พระนางจามเทวีก็ได้พระราชทานมหาทาน และทรงสมาทานศีล ฟังธรรมเทศนาถึง ๗ วัน พอถึงวันที่ ๘ อาการประชวรได้กำเริบจนถึงสวรรคต พระเจ้ามหันตยศได้ให้ประกอบพีถวายพระเพลิง และให้สร้างพระเจดีย์ทางด้านตะวันตกของตัวเมือง บรรจุพระอัฐิของพระนางจามเทวี นามว่า สุวรรณจังโกฏเจดีย์

พระราชประวัติพระนางจามเทวีมีเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์สอดแทรกอยู่มาก เนื่องจากมีการบันทึกไว้เป็นตำนาน ที่รวบรวมจากนิยายปรัมปราที่เล่าต่อกันมา จึงไม่อาจหาข้อเท็จจริงได้แน่ชัด จึงได้มีผู้ศึกษาวิเคราะห์ตีความประวัติศาสตร์ของพระนางจามเทวีไว้มาก เช่น

ฤาษีผู้สร้างเมืองเป็นใครมาจากไหน
นายมานิต วัลลิโภดม นักโบราณคดี เสนอไว้ในบทความเรื่อง หลักฐานโบราณคดีที่หริภุญชัย และเวียงท่ากาน ได้อ้างถึงตำนานเกี่ยวกับไทยเขินใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๑ ว่า มีเรื่องฤาษีสร้างเมือง คือโอรสทั้งสี่ของพระยาวองตีฟาง โพธิญาณแห่งเมืองวิเทหราช คือเมืองหนองแสหรือตาลีฟู บวชเป็นฤาษีมาบำเพ็ญธรรมทางใต้ พบสถานที่ที่มีแสงพุ่งจากพื้นดิน ก็กราบไว้พระเกศาธาตุที่ผุดขึ้นมา สถานที่นี้เป็นที่สร้างเมืองลำพูนหรือหริภุญชัย ดังนั้นฤาษีที่กล่าวถึงในเรื่องเกี่ยวกับพระนางจามเทวี ก็คือ โอรสของเจ้าผู้ครองเมืองหนองแส

พระนางจามเทวีและชนพื้นเมืองที่อาณาจักรหริภุญชัยเป็นชนชาติใด
จากสันนิษฐานเดิมของนักโบราณคดีมีอยู่ว่า พระนางจามเทวีเป็นขอม เพราะมาจากละโว้ ต่อมาพบศิลาจารึกภาษามอญที่เมืองลพบุรีและเมืองนครปฐม เป็นอักษรรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ตรงกับสมัยพระนางจามเทวี และเป็นที่ยอมรับในหมู่นักโบราณคดี ว่าในเวลานั้นศิลปะทวารวดีของมอญมีอิทธิพลสูงในดินแดนภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน และมีอิทธิพลแผ่ขยายถึงภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย และยังพบว่าศิลาจารึกรุ่นแรกหลายหลักที่พบที่ลำพูนเป็นภาษามอญและเป็นเรื่องราวในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จึงมีผู้สรุปว่าพวกเมงคบุตร หรือชาวเมงค์เป็นมอญ นายมานิต ลัลลิโภดม อ้างหนังสือเรื่องแหลมอินโดจีนสมัยโบราณ วิเคราะห์เรื่องเมงไว้ว่า พวกแม้ว ชื่อที่แท้จริงคือ เมงหรือเหม็ง และเรียกตัวเองว่ามุง นายมานิตเห็นว่า มุงก็คือไทมุง จึงอาจเป็นไปได้ว่า เมง คือเผ่าไทย ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องฤาษีที่สร้างเมืองเป็นโอรสผู้ครองแคว้นยูนนาน ซึ่งยุคนั้นมีพระเจ้าสินุโล แห่งราชวงศ์ไทยมุง หรือไทเมืองปกครอง และนายมานิตเชื่อว่า พระนางจามเทวีจะต้องเป็นไทย หรือเกี่ยวพันกับไทยด้วย ซึ่งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพระสวามีของพระนางจามเทวีในหนังสือ สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน ว่าเมืองรามที่พระสวามีพระนางจามเทวีไปปกครองอาจเป็นเมืองอโยธยา และพระสวามีของพระนางจามเทวีคงเป็นโอรสของพระยากาวัณดิส กษัตริย์ไทยผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงนครชัยศรี ซึ่งส่งเหล่าพราหมณ์ปุโรหิตไปช่วยปรับปรุงราชการงานเมืองที่ละโว้ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ตำนานและนิทานที่ระบุว่า พระนางจามเทวีเป็นชาวเมืองลำพูนมาก่อน เช่น ตำนานพระราชประวัติพระนางจามเทวีฉบับที่นายสุทธวารี สุวรรณภาชน์ แปลและเรียบเรียง ซึ่งพ้องกับนิทานที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับฟังขณะแวะเรือที่บ้านหนองดู่(ปัจจุบันคือบ้านหนองดู่ อยู่ริมแม่น้ำปิง ในเขตอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน) ว่าพระนางจามเทวีเป็นชาวบ้านหนองดู่ ดังได้ทรงเล่าไว้ในหนังสือ อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิงค์ตั้งแต่เชียงใหม่ถึงปากน้ำโพ เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔ ว่า

“บ้านหนองดู่มีเรื่องนิทานเล่ากันว่า เป็นบ้านเศรษฐี ซึ่งเป็นบิดาของนางจามเทวี เดิมจะยกนางจามเทวีให้แก่บุตรเศรษฐีบ้านหนองเหวี่ยง แต่ที่หลังกลับคำ ด้วยเห็นบุตรเศรษฐีบ้านหนองเหวี่ยงรูปชั่ว บิดาสองฝ่ายวิวาทกัน ร้อนถึงพระอินทร์ จึงให้พระวิสุกรรมมารับนางไปถวายพระฤาษีวาสุเทพ พระฤาษีวาสุเทพชุบนางให้งามยิ่งขึ้น แล้วส่งไปถวายเป็นธิดาเจ้ากรุงละโว้”

จากการศึกษาเปรียบเทียบในรูปสหวิทยาการ เมื่อนำผลการศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ เช่น โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และมานุษยวิทยา มาวิเคราะห์ตีความ ทำให้มองเห็นประวัติศาสตร์ได้กว้างขึ้น เช่นเรื่องที่ว่า ผู้คนที่รับอิทธิพลศิลปะทวารวดีเป็นมอญ เพราะพบจารึกภาษามอญในศิลปะทวารวดีนั้น ก็ไม่ใช่ความถูกต้องเสมอไป เพราะสมัยสุโขทัยเมื่อมีลายสือไทยแล้ว ก็ยังพบจารึกภาษาขอมไปพร้อมกันด้วย ดังนั้นภาษามอญจึงเป็นเพียงภาษาหนึ่งที่ใช้ในหมู่ชนที่รับอิทธิพลของศิลปะทวารวดีเท่านั้น และชนเผ่าสมัยทวารวดีก็มิใช่มีเฉพาะพวกมอญ แต่จะต้องมีทั้งคนพื้นเมืองดั้งเดิม ผู้ที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากถิ่นอื่นทั้งจากทางทะเล เช่น พวกอินเดีย และพวกที่เคลื่อนย้ายจากบ้านเมืองใหญ่น้อยในทวีป โดยอาศัยเส้นทางคมนาคมทางบกที่มีอยู่ ซึ่งต้องมีพวกสยามหรือไทยอยู่ด้วยแน่นอน

ปีประสูติ ระยะเวลาครองราชย์ และปีสวรรคตของพระนางจามเทวี
มีผู้บันทึกและวิเคราะห์ต่างกัน เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าครองราชย์ พ.ศ. ๑๒๐๕ ครองราชย์ ๗ ปี นายมานิต วัลลิโภดม สอบค้นว่าประสูติเมื่อง พ.ศ. ๑๑๖๖ ครองราชย์ พ.ศ. ๑๒๐๕ ครองราชย์ ๑๘ ปี สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๑๒๕๘ พระชันษาได้ ๙๒ ปี ตำนานฉบับที่นายสุทธวารี สุวรรณภาชน์ แปลและเรียบเรียงว่า ประสูติ พ.ศ. ๑๑๗๖ ครองราชย์ พ.ศ. ๑๒๐๒ สละราชสมบัติ พ.ศ. ๑๒๓๑ และสวรรคต พ.ศ. ๑๒๗๔ เป็นต้น

เกี่ยวกับพระนางจามเทวี แม้จะมีประเด็นให้ศึกษาเรื่องราวอีกมาก แต่หลักฐานต่างๆ ก็ระบุตรงกันว่า พระนางจามเทวีทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม รู้หลักการปกครอง ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา และทรงส่งเสริมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ดินแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย จังหวัดลำพูนจึงขอความร่วมมือกรมศิลปากร ให้สร้างพระอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีไว้เป็นที่เคารพสักการะ มีขนาดสูง ๒ เมตร ๔๐ เซนติเมตร เป็นรูปที่ทรงยืนในพระอิริยาบถพระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ปลายแตะพื้น พระหัตถ์ขวาเชื้อเชิญต้อนรับ ประดิษฐานอยู่ในสวนสาธารณะ ริมถนนพหลโยธิน ในอำเภอเมืองลำพูน หางจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศใต้ประมาณ ๑ กิโลเมตร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: วีณา โรจนราธา

พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระธิดาของ พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ(หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร ทรงพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ตรงกับวันทางจันทรคติ คือ วันศุกร์ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอก ที่บ้านของพลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ บิดาของหม่อมหลวงบัว ซึ่งตั้งอยู่ ณ บริเวณถนนพระราม ๖ หรือถนนบรรทัดทอง จังหวัดพระนคร โดยมีคุณหญิงริน ภรรยาท่านเจ้าคุณศรีวิศาลวาจา เป็นแพทย์ผู้ถวายพระประสูติกาล

หลังจากที่ประสูติได้ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้ว่า สิริกิติ์ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร โดยในขณะนั้นทรงมีฐานันดรศักดิ์เป็น หม่อมราชวงศ์หญิง

ทรงมีพระเชษฐา ๒ องค์คือ
หม่อมราชวงศ์กัลป์ยาณกิติ์ กิติยากร(ภายหลังดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ก่อนถึงแก่อนิจกรรม)

หม่อมราชวงศ์อดุลยกิติ์ กิติยากร(พระบิดาของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และเป็นท่านตาของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ปัจจุบันถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) และพระกนิษฐภคินี ๑ องค์ คือ หม่อมราชวงศ์หญิงบุษบา กิติยากร(ปัจจุบันคือ ท่านผู้หญิงบุษบา สันทนพงษ์)

เมื่อในช่วงแรกประสูตินั้น ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พระบิดาได้ทรงย้ายจากงานราชการทหารไปรับราชการประจำอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา พระมารดาก็ได้เดินทางติดตามไปด้วย หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จึงเจริญวัยภายใต้ความดูแลของเจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ และคุณท้าววนิดาพิจาริณี ผู้เป็นคุณตาคุณยายในประเทศไทย ต่อมาพระบิดาได้ลาออกจากราชการและเสด็จกลับเมืองไทยพร้อมด้วยพระมารดา เมื่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีอายุได้ ๒ ขวบเศษ เพื่อประทับอยู่ใกล้ชิดพร้อมกันทั้งครอบครัว ที่วังของราชสกุลกิติยากร ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเทเวศร์ ในกรุงเทพมหานคร

ในปี ๒๔๘๐ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้เริ่มเข้าศึกษาชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ที่อยู่บริเวณปากคลองตลาด ซึ่งขณะนั้นอยู่ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ และภายในปีเดียวกันก็สามารถสอบผ่านชั้นประถมปีที่ ๑ ได้ ต่อมากรุงเทพฯ ได้กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายการโจมตีทางอากาศอยู่เนืองๆ เนื่องจากผลของสงครามโลกครั้งที่ ๒ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จึงได้ย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวีย คอนแวนต์ ในชั้นประถมปีที่ ๒ ซึ่งอยู่ใกล้กับวัง และปลอดภัยในการเดินทางมากกว่า

ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ศึกษาอยู่ ณ โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ คอนแวนต์ นั้น ยังทรงเลือกเรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเรียนเปียโน เป็นวิชาพิเศษ นอกจากการเรียนในหลักสูตรปกติแล้ว ทรงมุ่งหวังที่จะเรียนเปียโนเป็นวิชาชีพจึงทรงฝึกฝนอย่างจริงจัง

ขณะมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา ทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ บิดาต้องไปรับราชการในตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสำนักเซนต์เจมส์ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต้องต้องตามเสด็จไปด้วย ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ และได้ทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ควบคู่ไปกับการทรงเปียโนตลอดมา ด้วยมีพระประสงค์เข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรี Conservatoire National de Musigue แห่งกรุงปารีส

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพระบิดาต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวฯ ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงคุ้นเคยกับครอบครัวกิติยากรเป็นอย่างดี เนื่องจากโปรดขับรถทางไกลจากเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไปประพาสและประทับที่สถานเอกอัครราชทูต กรุงปารีสบ่อยครั้ง และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยยิ่งขึ้นเพราะทรงมีความสนพระราชหฤทัยในการดนตรีเช่นเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ขณะที่ทรงขับรถพระที่นั่งออกจากเมืองโลซานน์ ต้องเสด็จเข้ารับการรักษาเป็นเวลา ๓ สัปดาห์ ที่โรงพยาบาลในมอร์เซส จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์พร้อมด้วยหม่อมราชวงศ์บุษบาและหม่อมหลวงบัว กิติยากร เข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการเป็นประจำ เมื่อพระอาการทุเลาดีขึ้น สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ได้ทรงขออนุญาตให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เสด็จไปเฝ้าฯ ถวายการพยาบาลที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงเป็นพระธุระดูแลที่พักและจัดการศึกษาของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้ศึกษาต่อในโรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงในวิชาชีพพิเศษกุลสตรีแห่งเมืองโลซานน์ คือที่ Pensionnat Rinatc Rive จึงทำให้ความสัมพันธ์สานสายใยใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นระหว่างหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้รับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคล พระบิดา เมื่อ ๑ ปีต่อมา เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ก็โปรดให้มีพระราชพิธีหมั้นเป็นการภายใน ณ โรงแรมวินด์เซอร์ เมืองโลซานน์ และเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ก็ได้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม ภายหลังจากเสด็จฯ นิวัตสู่ประเทศไทยและถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลแล้ว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พร้อมกับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดตามแบบแผนโบราณราชประเพณี

ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเฉลิมพระอิสริยยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ สมพระเกียรติยศแห่งพระมเหสีคู่พระบารมี ทั้งการพระอภิบาลพระราชโอรสพระราชธิดา ๔ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และทรงสนองพระราชประสงค์ตามแนวพระราชดำริแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร เช่น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ทรงรับพระราชภารกิจในตำแหน่งสภานานิยา สภากาชาดไทย แทนสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าซึ่งเสด็จสวรรคต ทำให้สภากาชาดเป็นกิจการที่อำนวยประโยชน์แก่ชาวไทยอย่างกว้างขวางด้วยพระปรีชาสามารถ และเป็นที่รู้จักกันทั่วไป จนได้รับการสนับสนุนร่วมมือจากกองทุนจากประเทศต่างๆ มากมาย ต่อมาระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม-๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวช ตลอดเวลา ๑๕ วัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ สนองพระราชประสงค์ด้วยพระปรีชาสามารถ โดยเฉพาะการเป็นองค์ประธานในการประชุมองคมนตรี และการประชุมพิจารณาพระราชบัญญัติต่างๆ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอภิไธยเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีในการถวายพระเกียรติยศแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ผู้ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เฉกเช่นสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๕ จึงนับได้ว่าทรงเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถองค์ที่สองในประวัติศาสตร์ไทย

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในพระราชภารกิจทุกประการตลอดระยะเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จติดตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทั้งแผ่นดิน ด้วยน้ำพระราชหฤทัยเมตตาที่ทรงห่วงใยพสกนิกรนับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน ทรงตรากตรำพระวรกายในการเสด็จฯ ยังท้องถิ่นทุรกันดารที่การคมนาคมไม่เอื้ออำนวย เป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญและเต็มไปด้วยภัยอันตราย ด้วยพระราชปณิธานมุ่งมั่น ที่จะขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรของพระองค์ ให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขบนผืนแผ่นดินไทยโดยทั่วหน้ากัน

ทรงได้เล็งเห็นปัญหาต่างๆ ของประเทศอย่างลึกซึ้ง จากการเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดตั้งหน่วยงาน องค์กร และมูลนิธิในพระราชินูปถัมภ์มากมาย เพื่อสานต่อพระราชดำริให้เกิดผลประโยชน์ต่อราษฎรอย่างจริงจัง เช่น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่สามารถสร้างงานส่งเสริมอาชีพให้แก่ครอบครัวของเกษตรกรทั่วประเทศ

พระราชกรณียกิจต่างๆ นับเนื่องมากว่า ๕๐ ปี ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงนำพระเกียรติยศมาสู่ชาติไทย และนำความปลาบปลื้มปีติแก่พสกนิกรข้าแผ่นดินทั้งหลาย การเสด็จโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปยังต่างประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ด้วยพระปรีชาสามารถและพระราชจริยาวัตรที่งดงาม สมพระเกียรติยศแห่งขัตติยราชนารีคู่พระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกทั้งการรับสนองพระบรมราโชบายตามพระราชดำริในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา การสาธารณสุข การศาสนา การสังคมสงเคราะห์ การอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติในทุกๆ ด้าน ตลอดจนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของพสกนิกรของพระองค์ พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นานัปการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ปวงชนชาวไทยต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มปีติกันทั่วหน้า

ทั้งในและต่างประเทศที่พระเกียรติคุณได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์โดยกว้างขวาง เช่นที่สถาบันการศึกษาและองค์กรระดับชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาต่างๆ แด่พระองค์ อาทิ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเซเรส(CERES) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ มหาวิทยาลัยทัฟส์ แห่งมลรัฐแมสซาซูเซทส สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรม เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองบุโรพุทโธ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเทิดพระเกียรติคุณ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ มหาวิทยาลัยโตโก ประเทศญี่ปุ่น ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เป็นต้น

นับเป็นมหามงคลสมัยของชาติไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในพุทธศักราช ๒๕๔๗ รัฐบาลและปวงชนชาวไทย จึงพร้อมใจร่วมกันจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยการจัดทำโครงการและกิจกรรมหลากหลาย ที่ล้วนแต่เกิดจากความสำนึกในพระเกียรติคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานไว้แก่พสกนิกรชาวไทย ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
โดย: คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ
กรมศิลปากร สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

ยอร์ช เอเลียตนักประพันธ์หญิงของอังกฤษ

George Eliot
ยอร์ช เอเลียต เป็นนักประพันธ์หญิงในประเทศอังกฤษ ที่มีชื่อเสียงที่สุด และในฝรั่งเศสก็มีนักประพันธ์หญิงที่มีชื่อเสียงเช่นกัน คือ ยอร์ช ซังด์ ซึ่งนักประพันธ์หญิงของฝรั่งมักชอบใช้นามปากกาเป็นชื่อชาย

ในวงวรรณคดีของอังกฤษ ยอร์ช เอเลียต ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่ง เธอมีชื่อเรียกสองอย่างคือ มารี อานน์ หรือ มาเรียน อีแวนส์ เธอเกิดเมื่อ พ.ศ. 2362 ตายเมื่อ พ.ศ. 2423 มีอายุได้ 61 ปี

เธอเกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2362 เป็นลูกของชาวนา คำว่าชาวนาของฝรั่งไม่ได้หมายความว่ายากจน ฝรั่งที่มีฐานะเป็น Farmer และมี Farm ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะที่นา แต่เป็นที่เพาะปลูกอย่างอื่น และการเลี้ยงสัตว์ด้วย มีฐานะมั่งคั่งทีเดียว ยอร์ช เอเลียต ได้ศึกษาในโรงเรียนที่ดีพอควร แต่จะหนักไปในทางศาสนามากกว่า

มารดาของเธอถึงแก่กรรมขณะที่เธอมีอายุเพียง 15 ปี อีก 1 ปีต่อมาพี่สาวก็แต่งงานออกไป เธอต้องรับภาระแม่บ้านตั้งแต่นั้นมา ต้องออกจากโรงเรียนและจ้างครูมาสอนที่บ้าน เธอเรียนภาษาเยอรมัน อิตาเลียน และดนตรี เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก และสนใจวิชาที่เกี่ยวกับการทายลักษณะจากการดูสมองของคน

เธอเริ่มแปลประวัติพระเยซูคริสต์จากภาษาเยอรมัน เมื่อมีอายุได้ 25 ปี ใช้เวลา 2 ปีก็แปลเสร็จ และได้พิมพ์หนังสือออกจำหน่าย แล้วเธอก็ใช้เวลาเกือบปีไปกับการเดินทางท่องเที่ยวไปในภาคพื้นยุโรป ไปเมืองเจนีวา ประเทศสวิส ถ้อยคำสำนวนที่แปลหนังสือออกไปมีคนนิยมอ่านมากเพราะเธอรู้ภาษาต่างประเทศดีทั้งถ้อยคำสำนวน เธอได้ท่องเที่ยวรู้จักโลกภายนอกพอสมควร เคยเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เวสต์มินสเตอร์รีวิวหลายครั้ง เมื่ออายุ 32 ปี จึงได้ทำงานในหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์

เธอได้เข้าสมาคมกับนักเขียนคนสำคัญๆ อย่าง เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์, ยอร์ช เฮนรี เลวิส และได้แปลหนังสือจากภาษาเยอรมันอีกเรื่องหนึ่ง ชื่อ “หัวใจศาสนาคริสต์” ยอร์ช เอเลียต เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมากจากการแปลหนังสือเรื่องนี้

เธอได้อยู่กินกันอย่างสามีภรรยากับยอร์ช เฮนรี เลวิส ซึ่งเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ตอนที่มีอายุได้ 35 ปี โดยไม่ได้แต่งงานกันตามกฎหมาย และอยู่กันมาถึง 24 ปี ยอร์ช เฮนรี เลวิส ก็ถึงแก่กรรมลง

เธอได้เริ่มแต่งหนังสือเป็นงานชิ้นแรกของตนเองเมื่ออายุ 37 ปี เมื่อมีเล่มแรก ก็ตามมาด้วยเล่มที่ 2 ที่ 3 จึงทำให้เธอมีชื่อเสียงขึ้น หนังสือเรื่องสำคัญที่ยอร์ช เอเลียต แต่งไว้มีดังนี้

1. The Sad fortune of Rev, Amos barton แต่งในปี พ.ศ. 2400
2. Mr. Gilfil’s Love Story แต่งในปี พ.ศ. 2400
3. Jane’s Repentance แต่งในปี พ.ศ. 2400
4. Adam Bede แต่งในปี พ.ศ. 2402
5. The Mill on the Floss แต่งในปี พ.ศ. 2403
6. Silas Marner แต่งในปี พ.ศ. 2404
7. Romola แต่งในปี พ.ศ. 2406
8. Felix Holt แต่งในปี พ.ศ. 2409
9. The Spanish Gypsy แต่งในปี พ.ศ. 2411
10. Agatha แต่งในปี พ.ศ. 2411
11. The Legend of Jubal แต่งในปี พ.ศ. 2411
12. Armgart แต่งในปี พ.ศ. 2411
13. Middlemarch แต่งในปี พ.ศ. 2414
14. Daniel Deronda แต่งในปี พ.ศ. 2419
15. Impressions of Theophrastus Such, แต่งในปี พ.ศ. 2422

หนังสือที่เป็นนิยายชีวิตจริงคือ 3 เรื่องแรก นอกนั้นเป็นนวนิยาย เรื่องที่ทำชื่อเสียงและขายดีมากที่สุดคือเรื่องที่ 4 กับเรื่องที่ 13

หลังจากที่สามีเสียชีวิตลง ในปี พ.ศ. 2421 ยอร์ช เอเลียต มีอายุ 59 ปี เธอได้พบกับชายอีกคนหนึ่งชื่อ จอห์น ครอส ตอนเธออายุ 60 ปี จึงได้แต่งงานกัน เธอถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ. 2423 หลังจากที่อยู่กินกันมาได้ไม่ถึงปี สามีใหม่ของเธอมีอายุอ่อนกว่าถึง 20 ปี และถึงแก่กรรมลงเมื่อปี พ.ศ. 2467

ยอร์ช เอเลียตเป็นคนที่ยิ้มยากเต็มที ใบหน้าและแววตาของเธอเต็มไปด้วยความเศร้าโดยไม่ต้องมีเหตุผลว่ามีเรื่องราวอะไรที่ทำให้เศร้า แต่ผู้ที่เคยเห็นยอร์ช เอเลียต จะบอกว่า เมื่อเธอยิ้ม เธอจะงามเหมือนเทพอัปสร บางทีนักประพันธ์อาจมีลักษณะเช่นนี้ก็ได้ ความเศร้าอาจทำให้เป็นคนช่างคิด และความช่างคิดก็อาจทำให้เป็นนักพันธ์ขึ้นได้

ยอร์ช เอเลียต เป็นคนสวยแต่ไม่สนใจการแต่งกาย การสวมแว่นตาในที่ชุมชน ที่สมัยนั้นหญิงทั่วไปไม่ทำกันเธอก็ทำ ขณะนั้นวิชาการดูลักษณะคนด้วยการวิเคราห์รูปศีรษะกำลังได้รับความนิยม เพราะเชื่อกันว่า รูปของศีรษะจะบอกได้ว่าส่วนไหนจะมีมันสมองมาก มีนิสัย สติปัญญาเป็นอย่างไร เพื่อทำการค้นคว้าในทางนี้ ได้มีคนกลุ่มหนึ่งตั้งกันเป็นสโมสรขึ้น และเพื่อให้สโมสรนี้ตรวจดูตามที่กำลังค้นคว้า ยอร์ช เอเลียต ยอมโกนผมจนหมดศีรษะในขณะที่เธอยังเป็นสาวอยู่
สามีของยอร์ช เอเลียต ที่ชื่อ ยอร์ช เฮนรี เลวิสนั้น มีรูปร่างหน้าตาที่น่าเกลียด มีผู้เขียนได้พรรณนาถึงหน้าตาของชายคนนี้ว่า ลิงขนาดใหญ่ในสวนสัตว์เมื่อมองเห็น ก็คงคิดว่ายอร์ช เฮนรี เลวิสมาแย่งความน่าเกลียดของมันไป แต่เพราะความเลื่อมใสในมันสมองของบุคคลนี้ ยอร์ช เอเลียตจึงยอมสละตนให้ และเห็นถึงความแตกต่างของร่างกายและมันสมองที่ธรรมชาติสร้างมาให้กับเขา ก่อนจะมาพบยอร์ช เอเลียต ผู้ชายคนนี้เคยแต่งงานมาแล้ว และมีลูกหลายคน เลวิสมาอยู่กับยอร์ช เอเลียต โดยที่ไม่ได้หย่ากับภรรยาเก่า ยอร์ช เอเลียตเองก็ต้องหาเงินส่งให้ภรรยาเก่า และลูกๆ ของเลวิส ส่งเสียให้ลูกเขาได้เรียนอย่างดีมีค่าเล่าเรียนที่แพงมาก ยอร์ช เอเลียตต้องถูกตัดขาดจากพ่อแม่พี่น้องไม่ให้ใช้นามสกุลเดิม จะใช้ของสามีก็ไม่ได้ จึงตั้งขึ้นเอง แต่นามนี้ก็กลายมาเป็นความนิยมของคน เพราะบทประพันธ์ ความสามารถทางการประพันธ์จึงช่วยทำให้มีเกียรติและช่วยล้างความประพฤติที่ไม่ดีไปได้

ตั้งแต่เขียนบทประพันธ์เรื่องใหญ่เล่มแรกเธอก็ใช้นามว่า ยอร์ช เอเลียต พอมาถึงเรื่องที่ 4 คือ Adam Bede ได้รับความนิยมมากขึ้น ทุกคนต่างถามว่ายอร์ช เอเลียตคือใคร ทุกคนเข้าใจว่าเป็นผู้ชาย มีผู้พิพากษาหัวเมืองคนหนึ่งไปสืบมาว่า ยอร์ช เอเลียต เป็นชายที่ชื่อ ลิกกิ้นส์ อยู่ที่นิวตัน เป็นคนยากจน การแต่งหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ทำประโยชน์ให้ รายได้และความร่ำรวยไปตกอยู่กับสำนักพิมพ์หมด

เมื่อผู้พิพากษาพูดออกไปคนก็เชื่อ มีคนพากันไปที่นิวตันเพื่อดูตัวนักประพันธ์ที่น่าสงสาร ตัวลิกกิ้นส์เองก็รู้ข่าวเช่นกันแต่ก็ปล่อยให้เขามาดู ผู้คนมาพบลิกกิ้นส์ในฐานะยากจน ไม่มีคนใช้ ต้องซักเสื้อผ้าและทำอะไรด้วยตัวเอง และได้พากันเรี่ยไรเงินมาให้ลิกกิ้นส์ ลิกกิ้นส์ก็รับไว้ ในอังกฤษนั้นมติมหาชนจะมีความรุนแรงมาก หนังสือเรื่อง Adam Bede ขายดีมาก แต่ข่าวลือก็แพร่ออกไปว่า สำนักพิมพ์ร่ำรวยด้วยบทประพันธ์ของลิกกิ้นส์ แต่ยังปล่อยให้เขาอยู่อย่างยากจน จึงมีการเรี่ยไรกันเป็นการใหญ่ และประชาชนก็ได้ป่าวประกาศความหน้าเลือดของสำนักพิมพ์และเรี่ยไรเงินให้ลิกกิ้นส์อีก

สำนักพิมพ์จึงคิดว่า ถ้าปล่อยไว้ประชาชนก็คงเข้าใจผิดไปเรื่อย สำนักพิมพ์อาจเสียหายได้ถ้าไม่รีบระงับ สำนักพิมพ์จึงบังคับให้ยอร์ช เอเลียต แสดงตัวออกมา

และเมื่อประชาชนรู้ว่าเจ้าของเรื่อง Adam Bede คือผู้หญิงที่อยู่กับเลวิส โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถูกพ่อแม่พี่น้องตัดขาดหมด แต่การกระทำเช่นนี้สังคมอังกฤษถือว่าเลวร้ายมาก จึงวิพากวิจารณ์กันว่า ผู้ที่มีความสามารถในการพันธ์เช่นนี้ แต่มีความประพฤติเช่นนี้ ควรจะได้รับการให้เกียรติหรือไม่ แต่สุดท้ายผู้คนก็ไปเกลียดชังยอร์ช เฮนรี เลวิสแทน เพราะคิดว่ายอร์ช เอเลียตนั้นถูกล่อให้หลงทางจึงต้องทำเช่นนั้น

แต่ทั้งสองคนก็อยู่กันมาได้โดยไม่ได้เปลี่ยนสภาพของชีวิตแต่อย่างใด บทประพันธ์ของยอร์ช เอเลียต ได้ออกมาเรื่อยๆ และได้รับความนิยม มีรายได้ดีมาก จนสามารถซื้อบ้านหรูหราที่รีเยนต์ ปาร์ก ในกรุงลอนดอนได้ ซึ่งบ้านเช่นนี้ต้องเป็นผู้มั่งคั่งจริงๆ ถึงจะซื้อได้ และเรื่อง Middlermarch ก็ได้ออกมา เมื่อตอนเธออาย 52 ปี ได้รับความนิยมมากกว่าเรื่อง Adam Bede เสียอีก คราวนี้เธอได้รับเชิญไปงานสังคมทุกแห่ง แม้แต่งานในราชสำนัก พวกคนใหญ่คนโตก็ให้เกียรติยกย่อง แม้แต่อีเมอร์สันของอเมริกา และริชาร์ด วากเนอร์ของเยอรมัน ยังมาเยี่ยมเธอที่บ้าน ความผิดของเธอถูกอิทธิพลของการประพันธ์ลบล้างได้ไม่ใช่น้อย

ยอร์ช เอเลียต เก่งที่จะเป็นนักเขียน แต่การพูดสนทนาและการรับแขกเธอทำไม่เป็นเลย เวลามีแขกมาเยี่ยมที่บ้านก็ต้องอาศัยสามีที่พูดเก่ง รับแขกเก่ง ร้องเพลงเก่ง เล่านิทานตลกได้เก่งอีกด้วยมาช่วย ต่อมาภายหลังเธอได้ย้ายไปอยู่นอกลอนดอน และซื้อคฤหาสน์ที่โตกว่าและแพงกว่าบ้านหลังเดิมอีกหลายเท่า

บรรดานักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ให้คะแนนแก่ยอร์ช เอเลียตว่า เป็นนักประพันธ์ที่มีแฟนๆ มากที่สุดในอังกฤษ และชื่อเสียงของเธอก็ดังไปทั่วยุโรปและอเมริกาด้วย มีชาวสวิสคนหนึ่งเขียนจดหมายถึงเธอว่า เขาพยายามเรียนภาษาอังกฤษเพื่อให้รู้ภาษาอังกฤษอย่างดีไว้สำหรับอ่านบทประพันธ์ของยอร์ช เอเลียต

เลวิสได้ถึงแก่กรรมลง เมื่อยอร์ช เอเลียตมีอายุได้ 59 ปี และเธอได้แต่งงานใหม่เมื่อตอนอายุ 60 ปี

เป็นเรื่องที่น่าเกลียดที่ผู้หญิงอายุ 60 ปีแล้วแต่งงานใหม่กับชายที่อ่อนกว่าถึง 20 ปี แต่ด้วยจอห์น ครอส เป็นผู้ที่นิยมชมชอบในบทประพันธ์ เห็นว่าเธอเป็นเทพธิดามาช้านานแล้ว เขาเป็นถึงนายธนาคาร มีฐานะมั่งคั่งมากกว่ายอร์ช เอเลียต จึงไม่มีทีท่าว่าจะมาแต่งเพื่อเอาสมบัติ

จอห์น ครอส ได้ให้เหตุผลว่า บทประพันธ์ของยอร์ช เอเลียต ได้สร้างความงาม ความเป็นหนุ่มสาว สร้างชีวิตให้เป็นฤดูใบไม้ผลิอยู่เสมอ เขาเห็นว่าเธอเป็นสาวอยู่ตลอดกาล และเชื่อว่าชีวิตของเขาจะยืนยาวไปอีกนานถ้าได้อยู่กับนักประพันธ์เช่นยอร์ช เอเลียต อัจฉริยภาพในการประพันธ์ทำให้หญิงอายุ 60 ปี มีสภาพอย่างสาวสวยและทำให้คนหลงได้ และเขาก็มีชีวิตยืนยาวไปจนถึงอายุ 85 ปีจริงๆ แต่หลังจากแต่งงานได้ 6 เดือน ยอร์ช เอเลียต ก็จบชีวิตลง สาเหตุจากไปฟังคอนเสิร์ตในลอนดอน แล้วถูกลมจนเป็นไข้ และไม่สามารถรักษาให้หายได้

ที่มา:พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ

เกิตเตอ นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่

Johann Wolfgang Von Goethe
เกิตเตอ เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2292 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2375 มีอายุยืนยาวถึง 83 ปี

ในบรรดานักประพันธ์ทั้งหลาย ถือว่าเขาเป็นอัจฉริยบุรุษ และมีเรื่องราวชีวิตที่ต่างจากคนธรรมดาทั่วไป เขาได้แต่งหนังสือเป็นภาษาละติน เปรียบเทียบความฉลาด ระหว่างคนนอกศาสนาคริสต์กับศาสนาคริสต์ตอนอายุได้ 8 ปี เขียนนวนิยายเรื่องแรก และเขียนได้ถึง 7 ภาษา ตอนอาย 11 ปี เริ่มท้าดวลต่อสู้กับคนคนหนึ่งตอนอายุ 12 เมื่ออายุ 16 เริ่มมีความรัก ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องรักจนกระทั่งอายุถึง 74 ปี

เยอรมันได้มีงานฉลองวันครบรอบ 100 ปีนับจากวันตายของเกิตเตอ ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2474 อย่างมโหฬาร และในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2492 ทั้งยุโรปและอเมริกา ได้มีการประชุมและประกอบพิธีใหญ่หลวงเพื่อฉลองวันครบรอบ 200 ปี นับจากวันเกิดของเกิตเตอ ซึ่งเป็นเวลาที่สงครามโลกเพิ่งเสร็จสิ้นลงใหม่ๆ ด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมัน เกิตเตอก็เป็นคนเยอรมัน เขาได้รับความยกย่องถึงเพียงนี้ก็นับว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งเช่นกัน

ในเวลาที่เกิตเตอเกิด ไม่มีใครคิดว่าจะมีชีวิตรอด แต่เขาก็กลับมามีอนามัยที่แข็งแรงมาก เคยป่วยประมาณแค่ 3 ครั้ง ตลอดอายุ 83 ปี ปู่ทอดของเขาเป็นช่างเหล็ก ปู่เป็นช่างเสื้อ แต่พ่อของเขาได้รับราชการมีตำแหน่งสูงถึงเป็นที่ปรึกษาราชการของเมืองแฟรงก์เฟิร์ต

ขณะที่เกิตเตอเกิด มารดาของเขามีอายุเพียง 18 ปี ชอบเล่านิยายให้เกิตเตอฟัง วิธีเล่านิยายของมารดาอาจทำให้เกิตเตอกลายมาเป็นนักประพันธ์ก็ได้ ในเรื่องการศึกษาบิดาของเขาเป็นคนเข้มงวดมาก แม้เขาจะเรียนอยู่กับบ้านแต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด เขาได้รับการศึกษาอย่างดี สามารถแต่งหนังสือได้ตั้งแต่เด็กๆ

แต่เมื่อเกิตเตอโตขึ้น บิดาก็ให้เขาทำตามใจชอบไม่เข้มงวดกวดขัน บิดาของเขาต้องการให้เรียนด้านกฎหมาย เมื่อเรียนจบอยากให้เป็นอาจารย์สอนกฎหมาย จุดมุ่งหมายของบิดาที่แท้จริงก็คือ เพื่อต้องการให้เขารับตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินด้วย เพราะผู้ที่จะรับตำแหน่งนี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย

เมื่ออายุ 16 ปี เกิตเตอได้เข้าศึกาวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยไลปซิค พ่อแม่ของเกิตเตอเป็นคนมั่งคั่งและตามใจลูก เมื่อโตขึ้นเขาก็มีนิสัยอย่างคนหนุ่มที่คะนองทั้งหลาย เริ่มเที่ยวจัด มีเรื่องรัก ชอบเข้าสังคม ชอบการเลี้ยง ฟังดนตรี ดูละคร และเที่ยวเตร่ เพื่อนฝูงจะตักเตือนอย่างไรเขาก็ไม่ยอมฟัง

ที่เขาประพฤติเช่นนี้ก็ดูเหมือนว่าเพื่อให้รู้จักโลก รู้จักชีวิต รู้จักมนุษย์ แล้วนำความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ เพราะในไม่ช้าเขาก็หยุดพฤติกรรมนั้นไปเอง เหมือนตั้งใจจะหยุด เขาได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสตราสบูร์กจนสำเร็จวิชากฎหมาย ออกไปอยู่บ้านนอกดำเนินชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เริ่มอ่านเชกสเปียร์ และโฮเมอร์ เหมือนกับจะฝังตัวอยู่ในบทประพันธ์นี้

เกิตเตอได้เขียนหนังสือมาตั้งแต่เล็ก ทั้งนิยาย สารคดี และเคยเขียนลงหนังสือพิมพ์ต่างๆ มากมาย หนังสือที่เขาแต่งประมาณกันว่าราว 60 เรื่อง แต่เรื่องที่สำคัญๆ มีดังนี้

1. ละครเรื่อง Die Laune des Verliebten แต่งในปี พ.ศ. 2310
2. ละครเรื่อง Die Mitschuldigen แต่งในปี พ.ศ. 2311
3. ละครเรื่อง Goeiz Von Berlichingen แต่งในปี พ.ศ. 2314
4. นวนิยายเรื่อง Der Wanderer แต่งในปี พ.ศ. 2315
5. นวนิยายเรื่อง Wandereres Sturmlied แต่งในปี พ.ศ. 2315
6. ละครเรื่อง Prometheus แต่งในปี พ.ศ. 2316
7. ละครเรื่อง Erwin und Elmive แต่งในปี พ.ศ. 2316
8. นวนิยายเรื่อง Faust ตอนต้น แต่งในปี พ.ศ. 2316
9. นวนิยายเรื่อง Werther แต่งในปี พ.ศ. 2317
10. นวนิยายเรื่อง Clavigo แต่งในปี พ.ศ. 2317
11. นวนิยายเรื่อง Wilhelm Meister แต่งในปี พ.ศ. 2320
12. กวีนิพนธ์เรื่อง Iphigenie แต่งในปี พ.ศ. 2322
13. กวีนิพนธ์เรื่อง Die Geheimisse แต่งในปี พ.ศ. 2327
14. ละครเรื่อง Nansika แต่งในปี พ.ศ. 2329
15. นวนิยายเรื่อง Edmont แต่งในปี พ.ศ. 2330
16. ละครเรื่อง Tasso แต่งในปี พ.ศ. 2332
17. นวนิยายเรื่อง Hermann und Dorothen แต่งในปี พ.ศ. 2340
18. นวนิยายเรื่อง Achileis แต่งในปี พ.ศ. 2342
19. สารคดีเรื่อง Die Naturliche Tochter แต่งในปี พ.ศ. 2342
20. สารคดีเรื่อง Die Wahlverwandtschaffen แต่งในปี พ.ศ. 2351
21. สารคดีเรื่อง Zur Farbenlehre แต่งในปี พ.ศ. 2351
22. ประวัติตัวเองเรื่อง Dichtung und Wahrheit แต่งในปี พ.ศ. 2354
23. นวนิยายเรื่อง Lehrjahre แต่งในปี พ.ศ. 2372
24. นวนิยายเรื่อง Faust แต่งในปี พ.ศ. 2374

และมีหนังสืออีกสองเล่มที่ได้แต่งร่วมกันกับนักประพันธ์สมัยเดียวกันที่ชื่อว่า ชิลเลอร์ คือ เรื่อง Horen กับเรื่อง Xenien

ในปี พ.ศ. 2314 เรื่องที่ 3 ที่แต่งคือ Goetz vod Berlichingen ได้รื้อแก้ไขใหม่อีก 2 ปีต่อมา และอีก 7 ปีต่อมา กวีนิพนธ์เรื่องที่ 12 คือเรื่อง Iphigenie ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นละคร

เรื่องที่สร้างอิทธิพลยิ่งใหญ่และเป็นความสำเร็จที่สุดของเกิตเตอ คือเรื่อง Werther ซึ่งเป็นนวนิยายที่แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2317 โดยเขาได้พรรณนาการแต่งกายของ Werther เรื่องว่า ใส่เสื้อสีน้ำเงิน ใส่กั๊กสีเหลือง เมื่อมีคนลองแต่งดูก็กลายเป็นการนำสมัย ชายหนุ่มพากันแต่งเช่นนี้ทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ Werther จบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย จึงทำให้ในยุโรปมีสถิติการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอย่างแปลกประหลาด เรื่องนี้จึงทำให้เกิตเตอมีชื่อเสียงอย่างแท้จริง ซึ่งขณะที่แต่งเรื่องเขามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น

เรื่อง Werther ยังได้สร้างฐานะที่มั่นคงให้กับเกิตเตอด้วย เพราะเพียง 1 ปี ภายหลังเขียนเรื่องเสร็จ เจ้านครไวมา ก็เชิญให้เกิตเตอไปอยู่ในราชสำนัก ซึ่งเกิตเตอมีความปิติยินดีมาก

เมื่อ พ.ศ. 2318 เกิตเตอ มีอายุเพียง 26 ปี ได้เข้าไปสู่ราชสำนักไวมา มีที่อยู่ใกล้พระราชวัง แต่งหนังสือและทำกิจธุระที่เกี่ยวกับการเมืองได้ เกิตเตอพยายามให้เจ้านครไวมาทำการปกครองอย่างดี และที่นี่ก็มีนักดนตรีเยอรมันผู้เรืองนามของโลกที่ชื่อ บีโธเวน อยู่ด้วย และเป็นเพื่อนที่ดีของเกิตเตอ

เกิตเตอได้ทำนครไวมา ให้เป็นศูนย์กลางแห่งอักษรศาสตร์ของยุโรปตลอดเวลา 50 ปี ผู้มีการศึกษาอย่างดีทั้งชายหญิงได้มาขอความรู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นสโมสรทางวิชาการอักษรศาสตร์ เกิตเตอได้จัดตั้งโรงละครขึ้นและเป็นผู้จัดการด้วยตนเอง เขาหาความรู้เรื่อยไป เขามีความรู้รอบตัว แม้กระทั่งในเรื่องวิทยาศาสตร์ พฤกษศาสตร์ และสรีรศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2331 เกิดเตอได้พบสตรีที่ชื่อ วุลปิยุส ขณะนั้นเขามีอายุ 39 ปี เกิดความรักใคร่และได้อยู่ด้วยกัน ก่อนหน้านี้เกิตเตอก็มีภรรยาลับมากมาย เป็นหญิงรับใช้บ้าง เป็นลูกสาวครูเต้นรำบ้าง เรียนที่มหาลัยไหนก็รักกับผู้หญิงที่นั่น รักคนไหนก็แต่งหนังสือเพื่อคนนั้น อาจเป็นเพราะเหตุนี้ หนังสือดีๆ จึงได้เกิดมาจากสมองของเกิตเตอ แต่เขาก็ไม่ได้แต่งงานกับผู้หญิงคนไหนเลยแม้แต่ วุลปิยุส ในปี พ.ศ. 2332 เกิตเตอมีลูกชาย 1 คน และเพิ่งทำพิธีแต่งงานกับวุลปิยุส เมื่อลูกชายมีอายุ 11 ปีแล้ว

เกิตเตอได้พบและทำความรู้จักกับนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งของเยอรมันที่ชื่อว่า ชิลเลอร์ ขณะนั้นเกิตเตอมีอายุได้ 45 ปี ส่วนชิลเลอร์อ่อนกว่าเขาถึง 10 ปี ชีวิตของทั้งสองแตกต่างกันทุกประการ ตัวชิลเลอร์เป็นคนเคร่งครัดในศาสนา เป็นคนยากจน ส่วนเกิตเตอเป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า เป็นคนมั่งคั่ง ในตอนแรกก็ไม่ค่อยลงรอยกัน แต่เมื่อคบกันนานเข้า ความคิดเห็นที่แตกแยกก็สามารถประสานกันได้อย่างดีเลิศ หนังสือที่เขาทั้งสองแต่งร่วมกันจึงเป็นหนังสือที่ดีที่สุด

ชีวิตของเกิตเตอส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความราบรื่น เขาต่างกับผู้ยิ่งใหญ่อื่นๆ ก็ตรงที่เป็นคนเจ้าชู้มาก ข้อเสียของเขาก็มีเท่านี้ ความเศร้าสลดในชีวิตบั้นปลายของเขาก็เพราะภรรยา บุตร และเพื่อนฝูงที่รักใคร่ได้ตายจากไปตามๆ กัน เขามีอายุที่ยืนยาว จนกระทั่งอายุ 74 ปี ยังมีเรื่องรักขึ้นมาใหม่ เขาเกิดมาเพื่อเรื่องรักอย่างแท้จริง

บทละครและนวนิยายของเกิตเตอ ได้สร้างชีวิตจิตใจของคนขึ้นใหม่ ไม่แต่เฉพาะในเยอรมนี แต่เป็นยุโรปทั้งทวีป งานที่เขาทำไว้เป็นงานที่ไม่ตาย ขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่งานประพันธ์ของเขาก็มีผู้แปลออกเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา เขาสามารถใช้บทละครและนวนิยายสร้างจิตใจคนให้เข้าสู่รูปใหม่ ระบอบใหม่ เขาจึงได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง

เกิตเตอตายบนเก้าอี้นวมในขณะที่นั่งอยู่ นักเขียนคนหนึ่งของฝรั่งเศส ได้เขียนถึงการตายของเขาไว้ว่า

ในเวลาคืนที่สองยามล่วงไปแล้ว และเริ่มต้นวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2375 เกิตเตอยังนั่งอยู่บนเก้าอี้นวม มีคนใช้ที่ซื่อสัตย์คนเดียวเป็นผู้ปฏิบัติ เกิตเตอยังมีโอกาสแสดงความอารี บอกให้คนใช้ไปหลับนอนโดยมิต้องอยู่เฝ้า ส่วนตัวเองก็หลับอยู่บนเก้าอี้นวม จนกระทั่งเวลาเช้า พอลืมตาตื่นก็แลเห็นแสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์ของวันใหม่ ข้างๆ เกิตเตอคงมีแต่คนใช้ ซึ่งรีบตื่นก่อนและมาคอยเฝ้าดูแลอยู่

“วันที่เท่าไรแล้ว” เกิตเตอถาม
“วันที่ 22 ขอรับ” คนรับใช้ตอบ
“ฤดูใบไม้เริ่มผลิแล้ว” เกิตเตอกล่าว

พอพูดคำนี้แล้ว ดวงจิตและร่างกายที่อ่อนเพลียก็กลับเข้าสู่สภาพเดิม เกิตเตอหลับต่อไป หัวใจยิ่งอ่อนลง ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้ ยังเหลือปากที่พูดได้บ้างในบางครั้ง

“เห็นไหม ผู้หญิงที่ดวงหน้างดงามนั้น ใส่ตุ้มหูสีดำยืนอยู่ที่นั่น” เกิตเตอละเมอ ความจริงในห้องนั้นไม่มีผู้หญิงเลย แต่เพราะในชีวิตของเขามีผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย จนต้องละเมอเพ้อฝันเมื่อใกล้ดับจิต

“เปิดหน้าต่างนั่นหน่อย ฉันต้องการแสงสว่าง”

คนใช้ได้เปิดหน้าต่างให้ตามความประสงค์ของเกิตเตอ ไม่ว่าคำนี้จะเป็นคำละเมอ หรือคำพูดจริงก็ตาม

“เอากระดาษแข็งแผ่นนั้นมานี่” เกิตเตอกล่าวต่อ

เขาละเมอต่อ คนใช้ไม่สามารถทำตามได้เพราะไม่มีกระดาษแข็งอะไรอยู่ที่นั่น ความตายไม่เลือกหรือเว้นผู้ใด หัวใจของเขาเริ่มอ่อนลงไป ดวงวิญญาณของเขาออกจากร่างเมื่อถึงเวลาเที่ยงวัน ของวันที่ 22 หน้าต่างที่เปิดไว้ เป็นเหมือนหนทางที่ให้วิญญาณเขาออกไป คอของเขาเอนพับอยู่กับพนักข้างซ้ายของเก้าอี้นวมนั่นเอง

ที่มา: พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ