พระราชเทวีแห่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒

Socail Like & Share

อัครมเหสีของพระมหากษัตริย์สุโขทัยมีตำแหน่งเป็น พระราชเทวี โดยเฉพาะในยุคที่ขนานนามพระมหากษัตริย์ว่า มหาธรรมราชา แต่พบหลักฐานว่าพระอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) พระมหากษัตริย์อยุธยา ที่ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๖๗-๑๙๙๑ นั้น ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับปลีก หมายเลข ๒/ก ๑๐๔ ต้นฉบับของหอสมุดวชิรญาณหน้าต้น(ตอนA) บรรทัดที่ ๓๖-๔๐ ได้ขานตำแหน่ง “ราชเทวี” ไว้ดังนี้

“อันดับนั้นพระราชเทวีทูลแต่พระบรมราชาธิราชเจ้า ด้วยจะย่อมหงอก(คงเป็นพิธีกระทำเมื่อย่างสู่ปัจฉิมวัย) แม่นางษาขามารดาแลจะขอชื่อให้ สมเด็จผู้เป็นเจ้าก็ประสาทคานหามทองไม้เท้าทองแลเครื่องราชาประโภค ให้นามกรชื่อพรประสิทธิ์ แม่นางษาขาพระราชมารดานางพญาแลมหาธรรมราชาธิราชนั้น”

ตีความหมายจากข้อความนี้ได้ว่า พระราชเทวีพระองค์นี้เป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชโอรสผู้ครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ และเป็นพระเชษฐภคินี(พี่สาว)ของมหาธรรมราชา ในขณะนั้นคือ มหาธรรมราชาที่ ๔(บรมปาล)

มีบันทึกในตำนานสิบห้าราชวงศ์ เล่มที่ ๒ ผูกที่ ๔ ว่า เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล) สวรรคต พระยายุธิษเฐียร ซึ่งเป็นโอรส ได้ขึ้นครองพิษณุโลก ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๘๑-๑๙๙๔ แต่ไม่พอพระทัยที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไม่ทรงแต่งตั้งให้เป็นมหาอุปราชตามที่ทรงสัญญาไว้ จึงไปอยู่กับพระเจ้าติโลกราช แห่งเชียงใหม่ ในฐานะลูกหลวง ทำให้เกิดสงครามยืดเยื้อ ระหว่างพระเจ้าติโลกราชกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ผู้ปกครองพิษณุโลกต่อจากนั้นก็น่าจะเป็นพระราชเทวี เพราะมีความชอบธรรมในฐานะเป็นพระเชษฐภคินีของมหาธรรมราชาที่ ๔ ซึ่งมีพระราชชนกร่วมกัน คือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๓(ไสยลือไทย) ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อพระยาเชลียงนำพระเจ้าติโลกราชมาตีเมืองพิษณุโลกใน พ.ศ. ๒๐๐๔ ตามที่ระบุใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ และเข้าล้อมเมืองอยู่เป็นเวลานานนั้น เป็นช่วงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้เสด็จมาที่เมืองพิษณุโลกพอดี โคลงยวนพ่ายว่า เสด็จมาถึงพิษณุโลกด้วยความยินดี จึงตีความกันว่า คงเสด็จมาเยี่ยมพระราชชนนี สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ร่วมบัญชาการป้องกันเมือง ตำนานสิบห้าราชวงศ์ว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปรึกษากับ “แม่พระยาใต้” พระยาใต้ก็คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งแม่พระยาใต้ทรงแนะนำให้ “เอาเวียงเป็นเล้าเป็นโรงเถอะ” สงครามครั้งนี้ เอกสารฝ่ายเหนือว่า กองทัพสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถหนีออกจากวงล้อมได้ ซึ่งพระเจ้าติโลกราชก็เสด็จกลับนครเชียงใหม่ แต่เอกสารฝ่ายใต้ว่า ทัพเหนือตีพิษณุโลกไม่ได้ก็เลิกทัพกลับไป

พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐว่า พ.ศ. ๒๐๐๕ พระยากลาโหมยกพลไปตีได้เมืองสุโขทัยคืนมา พ.ศ. ๒๐๐๖ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จมาเสวยราชย์ที่เมืองพิษณุโลก และยังคงทำสงครามชิงหัวเมืองเหนือกับพระเจ้าติโลกราช ระหว่างนี้โคลงยวนพ่ายบันทึกไว้ว่า พระราชชนนีสิ้นพระชนม์แล้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงเสด็จออกทรงพระผนวช ใน พ.ศ. ๒๐๐๘

พระราชเทวีแห่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ จึงเป็นกษัตริย์ผู้ครองเมืองพิษณุโลก ที่เป็นศูนย์กลางของเมืองที่เคยอยู่ในอาณาจักรสุโขทัย ในยุคที่อยู่ใต้อิทธิพลของอยุธยา และมีส่วนในการบัญชาการรบป้องกันรักษาเมืองไว้ได้ จากการรุกรานของพระเจ้าติโลกราช แห่งอาณาจักรล้านนา

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: วีณา โรจนราธา