พระนางมหาเทวีจิระประภา

Socail Like & Share

วีรสตรีราชวงศ์มังราย หรือพระนางมหาเทวีจิระประภา ปกครองอาณาจักรล้านนาระหว่าง พ.ศ. ๒๐๘๘-๒๐๘๙ เป็นช่วงสงครามกลางเมืองในเชียงใหม่ และถูกรุกรานจากกองทัพสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา จนต้องยอมอ่อนน้อมส่งเครื่องราชบรรณาการให้กับกองทัพของกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่พระเจ้าไชยเชษฐาจะเสด็จมาจากอาณาจักรล้านช้างเพื่อปกครองอาณาจักรล้านนา ตามที่ขุนนางของล้านนากราบทูลเชิญพระนางมหาเทวีจิระประภา

สันนิษฐานกันว่า พระนางมหาเทวีจิระประภา เป็นพระธิดาของพระเมืองเกษเกล้า เจ้าเมืองเชียงใหม่ ที่ครองเมืองระหว่าง พ.ศ. ๒๐๖๘-๒๐๘๑ ก่อนที่พระนางมหาเทวีจิระประภาจะได้ครองเมืองเชียงใหม่ก็เกิดเหตุการณ์วุ่นวายตลอดมา คือ พระเมืองเกษเกล้า ถูกขุนนางเชียงใหม่ต่อต้าน และปลดจากตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ และให้กลับไปครองเมืองน้อยที่เคยครองอยู่ แล้วอัญเชิญท้าวชาย ซึ่งเป็นโอรสพระเมืองเกษเกล้า ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่อยู่ได้ ๕ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๘๑-๒๐๘๖ แล้วปลงพระชนม์ท้าวชายเสีย และกลับไปอัญเชิญพระเมืองเกษเกล้ามาครองเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งที่ ๒ และเมื่อครองเมืองอยู่ได้แค่ ๒ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๘๖-๒๐๘๘ ก็ถูกปลงพระชนม์อีก

ใน พ.ศ. ๒๐๘๘ เกิดความแตกแยกขึ้นกับขุนนางเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองต่างๆ มีการแข่งขันแย่งชิงอำนาจกัน ต่างก็สนับสนุนให้เจ้านายของตนขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ มีแสนคร้าว เป็นหัวหน้ากลุ่มเมืองเชียงใหม่ ได้เชิญพระยาเขมรุ่ง เจ้าเมืองเชียงตุง มาครองเมืองเชียงใหม่ แต่เจ้าเมืองเชียงตุงก็ปฏิเสธ จึงไปเชิญเจ้าเมืองนาย แต่เจ้าเมืองนายก็ยังไม่มา แสนคร้าวจึงถูกกำจัด

กลุ่มหัวเมืองอื่นๆ ที่ประกอบไปด้วย เจ้าหมื่นสามล้านอ้ายเจ้าเมืองลำปาง หมื่นแก้วเจ้าเมืองเชียงราย หมื่นมโนเมืองเชียงแสน และหมื่นยี่เจ้าเมืองพาน ได้อัญเชิญพระไชยเชษฐาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต อาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระเมืองเกษเกล้า มาครองเมืองเชียงใหม่

ในระหว่างที่พระไชยเชษฐากำลังเดินทางมาครองเมืองเชียงใหม่ กองทัพแสนหวี ที่นำโดยหมื่นหัวเตี่ยน ก็ยกมารบกับแสนคร้าว เมื่อสู้ไม่ได้ก็หนีไปเมืองลำพูน ไปขอกำลังจากรุงศรีอยุธยาให้ไปช่วย บรรดาเจ้าเมืองต่างๆ ที่อัญเชิญให้พระไชยเชษฐายกทัพมาจากเมืองเชียงแสน ก็จับแสนคร้าวและพวกฆ่าเสีย แล้วอัญเชิญ พระนางมหาเทวีจิระประภา ให้ครองเมืองเชียงใหม่ชั่วคราว จนกว่าพระไชยเชษฐาจะเสด็จมาถึงจากกรุงศรีสัตนาคนหุต

กองทัพของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ได้ยกมาจากกรุงศรีอยุธยา ไปตีเมืองเชียงใหม่ในปีเดียวกันนี้ จึงทำให้พระนางมหาเทวีจิระประภา ต้องยอมส่งเครื่องราชบรรณาการให้ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๐๘๙ พระไชยเชษฐาได้เสด็จมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อถึงเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย ขุนนางเชียงใหม่มารับเสด็จ ได้ทรงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์วัดเชียงยืน พระแก้วมรกต และพระมหาเจดีย์หลวง พระนางมหาเทวีจิระประภาจึงสละราชย์ให้พระไชยเชษฐา ทรงครองเมืองเชียงใหม่ต่อไป

ในช่วงเวลาของการจลาจล แย่งยิงอำนาจ รวมทั้งถูกรุกรานจากภายนอก พระนางมหาเทวีจิระประภาก็เป็นสตรีที่สามารถปกครองเมืองเชียงใหม่เอาไว้ได้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ศิรินันท์ บุญศิริ