นางเสือง

Socail Like & Share

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเสด็จจาริกธุดงค์ไปนมัสการเจดียสถานที่สำคัญตามหัวเมืองต่างๆ เป็นประจำ ในขณะที่ดำรงอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎอยู่ในสมณเพศ พระองค์เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ไปถึงเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นราชธานีของไทยแต่โบราณ บริเวณปริมณฑลที่เป็นที่ตั้งเมืองเรียกว่า เนินปราสาทปัจจุบัน ทรงพบแท่งศิลาแท่งหนึ่งในสภาพที่หักพังออกจากแท่นฐาน ตะแคงตกอยู่กับพื้นดิน เมื่อวิเคราะห์แล้วก็ทรงเข้าพระทัยว่า แท่งศิลานี้คือ ศิลาจารึกโบราณวัตถุที่สำคัญ ส่วนชาวเมืองสุโขทัยในสมัยนั้นให้ความสำคัญและถือว่าคือศาลเจ้าได้เคารพกันทั่วไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้นำแท่งศิลานี้มากรุงเทพมหานครพร้อมกับพระองค์และได้นำพระแท่นมนังศิลาบาตรลงมาด้วย ศิลาจารึกหลักนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอ่านได้ เป็นพระองค์แรก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ และเรียกศิลาจารึกนี้ว่า “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง” ซึ่งยังเรียกกันอยู่จนถึงปัจจุบัน เนื้อหาสาระในแผ่นศิลานับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการอ่านแปลใหม่ให้มีความสมบูรณ์และถูกต้องที่สุดอีกหลายครั้งในสมัยหลังๆ ทำให้ได้ทราบประวัติศาสตร์ชาติไทยแรกก่อตั้งอาณาจักรในดินแดนสุวรรณภูมิ คือ การก่อตั้งกรุงสุโขทัย พระราชวงศ์ ตลอดจนสภาพสังคม และความเป็นอยู่ของชาวสุโขทัยอย่างแจ่มชัด มีข้อความตอนต้นกล่าวไว้ดังนี้

“พ่อกูชื่อสรีอินทราทิตย แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสามผู้หญิงโสง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้าขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า ไพร่ฟ้าหน้าใส พ่อกูหนีญญ่ายพายจแจ้น กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อ กูชื่อพระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวานอันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตายยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดั่งบำเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึ่งได้เมืองแก่กูทั้งกลม เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองษุกโขไทนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ข้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส…”

จารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือที่เรียกกันภายหลังว่า จารึกสุโขทัยหลักที่๑ ยังมีจารึกที่กล่าวถึงการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย ที่ได้ค้นพบในสมัยต่อมาอีกหนักหนึ่ง คือ จารึกวัดศรีชุม หรือจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ กล่าวถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เป็นช่วงเวลาก่อนเหตุการณ์ในจารึกหลักที่ ๑ เมื่อชาวไทยพยายามรวบรวมกำลัง ต้านขอมที่ปกครองกรุงสุโขทัยอยู่ให้หลุดพ้นจากอำนาจเพื่ออิสรภาพ เป็นเรื่องราวที่เชื่อมต่อประวัติศาสตร์การก่อตั้งชาติไทยให้เป็นอาณาจักรที่เป็นปึกแผ่น และการสร้างชาติที่มีระเบียบดีงามสมบูรณ์ด้วยศิลปวัฒนธรรม หล่อหลอมความเป็นไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ความในจารึกวัดศรีชุมกล่าวว่า กษัตริย์ขอมได้พระราชทานนามให้พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด กมรแดงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ มอบพระแสงขรรค์ชัยศรีเป็นอาวุธ และพระราชทานพระธิดานาม สุขรมหาเทวี เป็นพระชายา ทำให้สภาพของพ่อขุนผาเมืองเปรียบเสมือนเป็นเชื้อพระวงศ์ขอมผู้หนึ่ง พ่อขุนผาเมือง มีพระสหายนามพ่อขุนบางกลางหาว ปกครองอยู่เมืองบางยาง ได้ร่วมคบคิดกันต่อสู้ให้ชาวไทยหลุดพ้นจากอำนาจขอม เมื่อตกลงแล้วต่างก็ยกทัพตีกระหนาบกันเข้ามายึดกรุงสุโขทัย โขลญลำพงคงเป็นอุปราช สำเร็จราชการในภาคนี้ และครองเมืองสุโขทัยอยู่ ได้ออกต้านทานเป็นสามารถ สู้ฝีมือไม่ได้แตกพ่ายไป พ่อขุนผาเมืองเข้าเมืองได้ก่อน แล้วทรงอัญเชิญพ่อขุนบางกลางหาวเข้าเมือง จัดการอภิเษกเป็นเจ้าเมืองครองกรุงสุโขทัยให้เป็นใหญ่ ในดินแดนไทยข้างเหนือบริเวณดังกล่าว และทรงยกนามของตนถวายแก่พ่อขุนบางกลางหาวเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย พระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ดังที่ปรากฏในศิลาจารึก ส่วนพ่อขุนผาเมืองได้กลับไปครองเมืองราดตามเดิม

ประวัติศาสตร์ไทยที่ได้จากจารึกสมัยที่ตั้งตัวเป็นปึกแผ่นใหม่ๆ ในสุวรรณภูมินั้น มีคติสอนใจ และทิ้งปัญหาไว้ให้ขบคิดอยู่หลายประการ คติสอนใจนั้น ได้แก่ การรักความเป็นไท และการสร้างความเป็นชาตินั้น จะต้องอาศัยความสามัคคีเป็นสำคัญ การใช้สติปัญญาผ่อนสั้นผ่อนยาวเพื่อผูกไมตรีกับทั้งพันธมิตรและศัตรู ถ้าพ่อขุนผาเมืองจะตั้งตัวเป็นกษัตริย์ก็ย่อมทำได้ แต่ที่ทรงมอบให้แก่เพื่อนนั้นเป็นสิ่งที่ยากต่อการเข้าใจ การกระทำของบรรพบุรุษไทยนั้นเป็นเหตุผลที่ลึกซึ้งเหลือวิสัยที่คนปัจจุบันจะล่วงถึงได้ แต่ความรู้สึกที่อยู่ในจิตใจของลูกหลานไทยทุกสมัยต่างก็สรรเสริญและชื่นชมเทิดทูนไม่มีวันเสื่อมคลาย ในกาลต่อมาก็ปรากฏว่าขอมไม่ได้มารบกวนไทยอีกจากการรวมกันเป็นปึกแผ่นนี้ ในระยะที่ไทยกำลังตั้งตัวได้ก็มีการจัดบ้านเมืองให้เรียบร้อยและรุ่งโรจน์สูงสุดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งเป็นเวลาที่สถาปนาอาณาจักรแล้วได้ไม่นาน ที่กล่าวนี้คือ ภูมิหลังของประวัติศาสตร์สุโขทัย

การกระทำของพ่อขุนผาเมือง เป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ได้ขบคิดกันต่างๆ นานา จากหลักฐานประวัติศาสตร์ทำให้ตีความกันว่า “นางเสือง” ที่ปรากฏนามในจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ นั้นคือ พระธิดาพ่อขุนศรีนาวนำถุม เจ้าเมืองสุโขทัยองค์ก่อน ซึ่งเป็นบิดาของพ่อขุนผาเมืองนั่นเอง นางเสืองจะเป็นพี่สาวหรือน้องสาวของพ่อขุนผาเมืองก็ไม่อาจสันนิษฐานได้ พ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาวนอกจากจะเป็นพระสหายกันแล้ว ยังมีความเกี่ยวดองที่ใกล้ชิดกันด้วย จึงทำให้เข้าใจเหตุผลในน้ำพระทัยของพ่อขุนผาเมืองได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ความสับสนเกี่ยวกับประวัติการก่อตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชานี ทำให้นักประวัติศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่า นางเสืองมิใช่คนไทย แต่เป็นสตรีขอมที่มาอภิเษกกับพ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ โดยอนุมานเอาว่า พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดยังต้องมีพระชายาเป็นนางสุขรมหาเทวี ธิดากษัตริย์ขอมที่ปกครองดินแดนสุโขทัยขณะนั้น เพื่อผลทางการเมืองที่จะผูกมัดให้พ่อขุนไทยทั้งหลายที่ดูแลหัวเมืองในปกครองของตนให้อยู่ในอำนาจ และพ่อขุนศรีอินทราทิตย์คงจะเป็นเช่นเดียวกัน

ถ้าพิจารณาชื่อ สำเนียงคำว่า “เสือง” จะรู้สึกว่าเป็นภาษาไทยแต่ดั้งเดิม แม้จะไม่สามารถหาความหมายได้ แต่ก็มีคำที่พอจะเทียบเคียงได้ว่าเป็นคำโดด มิได้เป็นคำสมาส เหมือนอย่างคำเขมร และศัพท์คำว่า เสือง ในภาษาเขมร ก็ปรากฏว่าไม่มีอีกด้วยเช่นกัน จึงทำให้เชื่อได้อย่างไม่ลังเลว่า นางเสืองนั้นจะต้องเป็นคนไทยแน่นอน มีผู้สันนิษฐานว่า เสือง นี้แปลว่า “รุ่งเรือง”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเห็นว่านางเสืองเป็นคนไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์ บทละครเรื่องพระร่วง ไว้ตอนหนึ่งว่า
“….พระเจ้าศรีอินทราทิตย์นี้ได้อภิเษกกับนางเสือง ซึ่งเป็นราชธิดาของพระเจ้ากรุงสุโขทัยพระองค์ก่อน ด้วยเหตุที่เป็นผู้สืบพระวงศ์ของพระเจ้ากรุงสุโขทัยองค์ก่อนประการหนึ่ง และเพราะเหตุที่ชาวเมืองสุโขทัยได้พร้อมกันถวายราชสมบัติด้วยอีกประการหนึ่ง พระเจ้าศรีอินทราทิตย์จึงได้ประดิษฐานราชวงศ์มั่นคงในพระนครสุโขทัยสืบมา…”

ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้กล่าวไว้ในคำอธิบายศิลาจารึกว่า
“เจ้าเมืองสุโขทัยองค์ก่อน คือ พ่อขุนศรีนาวนำถม ผู้เป็นพระบิดาของพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด พ่อขุนบางกลางหาว ผู้เป็นมิตรสหายของพ่อขุนผาเมือง ที่แรกจะเป็นเหตุใดไม่ปรากฏ สองสหายนั้นจึงได้ตั้งใจตีเมืองสุโขทัย บางทีจะเป็นเพราะพ่อขุนศรีนาวนำถม สิ้นพระชนม์ลงในเมืองสุโขทัยก็เป็นได้….”

สตรีคนแรกที่ได้ยินชื่อในประวัติศาสตร์สุโขทัยคือ นางเสือง ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็นมเหสีของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และเป็นพระราชชนนีพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ก่อกำเนิดลายสือไทย และเป็นเจ้าของหลักศิลาจารึกหลักดังกล่าว จึงถือได้ว่านางเสืองนั้นคือ ขัตติยนารีผู้ยิ่งใหญ่ ที่ดำรงพระชนม์อยู่อย่างเงียบๆ แต่ในความสงบเงียบนั้น ถ้าได้พิจารณาถึงลักษณะของวัฒนธรรมไทยแล้ว จะเห็นว่าสังคมไทยมิได้กำหนดให้สตรีมีบทบาทโลดแล่นเสมอบุรุษ แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่ามีบทบาทผลักดันอยู่เบื้องหลังเหมือนพลังที่มองไม่เห็น เช่นนางเสืองนี้ พระโอรสที่เป็นวีรกษัตริย์ที่ปราดเปรื่องทั้งการรบและการพัฒนา ย่อมอยู่บนพื้นฐานของการปลูกฝังดูแลเอาใจใส่จากพระชนนีอย่างดี แม่เป็นผู้กำกับอยู่เบื้องหลังอย่างภาคภูมิใจ สุขุม สงบ และมุ่งมั่นจะให้โอรสสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น เป็นประโยชน์ และมีความรักแผ่นดิน แต่นางเสืองก็มีประวัติให้ศึกษาได้น้อยมาก

นางเสืองไม่ปรากฏว่ามีบทบาทอยู่ในที่ใดเลย แม้ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็มีอยู่คำเดียวแท้ๆ ว่า “แม่กูชื่อนางเสือง” แต่ผลงานที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกมีนับตั้งแต่พ่อขุนบางกลางหาว ผู้เป็นสวามีนางเสือง ที่ริเริ่มต่อต้านกู้บ้านเมืองด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีกำลังใจดีไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง มีปรากฏต่อไปว่าพ่อขุนบานเมือง พ่อขุนองค์ที่ ๒ ซึ่งเป็นโอรสของพ่อขุนบางกลางหาวนั้น เป็นพ่อเมืองที่ดี รักน้อง ถนอมน้ำใจน้อง วางใจน้อง รู้จักใช้น้อง ไม่ริษยาที่น้องมีชื่อเสียง บ้านเมืองมีความอยู่เย็นเป็นสุข แม่ของพ่อขุนบานเมืองคือนางเสือง และมีความปรากฏต่อไปว่า พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนองค์ที่ ๓ เป็นลูกของพ่อขุนบางกลางหาว น้องของพ่อขุนบานเมือง ทั้งกล้า ทั้งฉลาด ทั้งดี คุณสมบัตินี้ทำให้แผ่อานุภาพไปได้กว้างขวางจนได้รับยกย่องให้เป็นมหาราช ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงตรงที่ว่า หาอะไรมาได้ก็เอามาบำเรอพ่อ บำเรอแม่ บำเรอพี่ จะเห็นน่าเอ็นดูด้วยกันทุกคน พ่อขุนรามคำแหงนี้ลูกของนางเสือง

ครอบครัวของพ่อขุนบางกลางหาวมีเยื่อใยที่เหนียวแน่นลึกซึ้งสุขุมนัก แม้ ๗๐๐-๘๐๐ ปีผ่านไป เมื่อได้ยินได้ฟังก็ยังชื่นใจ ใครเป็นคนผูกเยื่อใยนี้ในครอบครัว พ่อขุนบางกลางหาวเอากำลังใจมาจากไหน ทำไมจึงดูเป็นคนไม่มีกังวล พ่อขุนบานเมือง พ่อขุนรามคำแหง ทำไมจึงน่ารัก น่าเคารพ น่าสรรเสริญ น่าบูชา ทำไมจึงมีจริยวัตรงดงามนัก

ไม่มีใครตอบได้ เพราะไม่ได้จารึกไว้ในศิลา แต่ผู้ที่เป็นภรรยาเป็นแม่อย่างไทยๆ สมัยก่อนจะตอบได้เงียบๆ ในใจของตนว่า ที่มาของผลดังกล่าวมีนางเสืองเป็นเหตุ เพราะเมียอย่างไทยๆ ย่อมรู้ว่านางเสืองจะต้องทำอะไรบ้าง ที่พ่อขุนบางกลางหาวมีกำลังใจดี ตัดสินใจดี ไม่มีห่วงกังวล แม่อย่างไทยๆ ย่อมรู้ว่าควรจะทำอย่างไรในการที่มีลูกชายหลายคน แล้วบังเอิญที่น้องก็เก่งกว่าพี่ การเลี้ยงน้องไม่ให้กำเริบกับพี่นั้น แม่อย่างไทยๆ ถนัดเท่าๆ กับเลี้ยงพี่ให้มีเมตตาจิตต่อน้อง

เมียอย่างไทยๆ สมัยก่อนรู้ดีว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควรที่จะก้าวล้ำหน้าสามี ในศิลาจารึกจึงไม่ปรากฏเรื่องราวของนางเสืองมาก แม่อย่างไทยๆ รู้ดีว่า การรักษาเกียรติยศไว้ให้ลูกเป็นหน้าที่ที่สุดยอดของแม่ การที่พ่อขุนรามคำแหงประกาศให้โลกรู้ว่าแม่ของพ่อขุนชื่ออะไรนั้น เป็นสิ่งสูงสุดสำหรับแม่อย่างไทยๆ เพราะพ่อขุนองค์อื่นๆ ในชั้นหลังจนถึงสมัยอยุธยาเราก็ไม่รู้ว่าพระราชชนนีหรือพระมเหสี มีพระนามว่าอย่างไรกันบ้าง

ในฐานะแม่เมืองของไทยองค์แรกที่ไม่ปรากฏบทบาทในประวัติศาสตร์ แต่ที่สุโขทัยมีพระรูปศักดิ์สิทธิ์อยู่รูปหนึ่ง ชาวเมืองเรียกกันว่า “พระแม่ย่า” เชื่อกันว่าเป็นเจ้านายราชวงศ์สุโขทัยที่สำคัญมาก คนรักมาก เคารพมาก เพราะคนไทยไม่ได้ปั้นรูปขึ้นมาบูชากันง่ายๆ เจ้านายในรูปปั้นนั้นจึงต้องเป็นผู้หญิงที่เป็นแม่ของพ่อขุนแผ่นดินใดแผ่นดินหนึ่ง และเป็นย่าของพ่อขุนในแผ่นดินถัดมา หลายคนเชื่อกันว่า เป็นพระรูปฉลองพระองค์ของนางเสือง ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในศาลพระแม่ย่า หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย

นางอมรา ศรีสุชาติ นักโบราณคดี ได้ตั้งสมมุติฐานว่ารูปประติมากรรมหิน ที่เรียกกันว่า “พระแม่ย่า” นี้ น่าจะเป็น “รูปเทพีต้นน้ำ” เพราะสถานที่ที่พบอยู่บริเวณซอกเขาหรือ “โซก” ซึ่งหมายถึง ร่องน้ำจากเขาหลวงที่ไหลลงมาสะสมเป็นธารน้ำ ไหลลงตามคันดินกั้นน้ำที่คนสุโขทัยในอดีตทำไว้เหมือนเขื่อน เพื่อกักน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง และเครื่องแต่งกายของรูปประติมากรรมนี้ก็ใกล้เคียงกับประติมากรรมเขมรมากกว่าไทย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สายไหม จบกลศึก