พระนางจามเทวี

Socail Like & Share

บางก็เขียนเป็น จัมมเทวี หรือ จามะเทวี ก็มี พระนางจามเทวีเป็นราชธิดาของพระเจ้าจักรพรรดิราช แห่งกรุงละโว้(ลพบุรี) เชื่อกันว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย(ลำพูน) ครองราชย์ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓

SONY DSC

ในตำนานและนิทานพื้นบ้านเมืองเหนือหลายฉบับ ได้ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับพระนางจามเทวี ซึ่งรู้จักกันอย่างแพร่หลาย เช่น เรื่องจามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญไชย ชินกาลมาลีปกรณ์ และตำนานมูลศาสนา ย้อนเรื่องราวไปถึงสมัยพุทธกาล ตามด้วยเรื่องพระฤาษีวาสุเทพสร้างเมืองต่างๆ พระฤาษีวาสุเทพชักชวนพระฤาษีสุกกะทันต์มาช่วยสร้างเมืองในที่มีพุทธพยากรณ์ว่า จะเกิดเมืองใหญ่และจะเป็นที่บังเกิดพระบรมสารีริกธาตุ ฤาษีสุกกะทันต์แนะนำให้ขอเปลือกหอยสังข์จากพระฤาษีสัชชนาไลย แล้วให้สร้างเมืองตามสัณฐานเปลือกหอยสังข์นั้น เมื่อฤาษีวาสุเทพปรึกษาเรื่องหาผู้ที่จะครองเมือง ฤาษีสุกกะทันต์ก็แนะนำให้เชิญนางจามเทวี ธิดาของพระเจ้าจักรพรรดิราชแห่งกรุงละโว้ ซึ่งเป็นผู้ที่มีรูปงาม เป็นเบญจกัลยาณี มีศีลและมีความสามารถ มีพระสวามีที่ศรัทธาบวชเป็นเพศบรรพชิต ฤาษีทั้งสองจึงให้ทูตที่ชื่อ นายควยะ ไปทูลขอนางจามเทวีมาครองเมือง

พระสวามีของนางจามเทวีนี้ ในเรื่องจามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญไชย ว่าเป็นเจ้าประเทศราชในเมืองรามัญ ผู้แปลเรื่อง ชินกาลมาลีปกรณ์ คือ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร ก็ได้ทำเชิงอรรถขยายความไว้ในหนังสือนั้นว่า อาจเป็นเมืองรามที่อยู่ใกล้เมืองลพบุรีก็ได้ เพราะต้นฉบับใบลานเดิมว่า รามนคเร แปลว่า ในเมืองราม ส่วนตำนานมูลศาสนาก็ว่า เมืองรา หรือเมืองราม

จางจามเทวีได้ออกเดินทางมาตามลำน้ำปิงโดยทางเรือ เมื่อได้รับราชานุญาตจากพระเจ้าจักรพรรดิราชแล้ว ซึ่งขณะนั้นนางมีครรภ์ได้ ๓ เดือน นางจามเทวีขอพระราชทานผู้ติดตามจากเมืองละโว้จากบิดา เพื่อนำมาสร้างประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง ซึ่งมี พระมหาเถระ พราหมณ์ บัณฑิต คหบดี แพทย์ ช่างฝีมือต่างๆ และนายช่างฝ่ายโยธาจำนวนมาก ตั้งแต่ครั้งนี้ พระนางจามเทวีจึงเป็นผู้นำพุทธศาสนา นิกายหินยาน และศิลปะวิทยาการแบบทวารวดี มาเผยแพร่ในทางเหนือ และส่งอิทธิพลถึงอาณาจักรล้านนา มอญ และพม่าในสมัยต่อมาด้วย

นางจามเทวีใช้เวลา ๗ เดือน ในการเดินทางจากละโว้ไปถึงหริภุญชัย จากตำนานมูลศาสนาได้กล่าวว่า นางจามเทวีได้สร้างสถานที่มีชื่อขึ้นหลายแห่ง เช่น เมืองพระบาง เมืองคันธิกะ เมืองบุรัฐ เมืองบุราง เมืองเทพบุรี เมืองบางพล เมืองราเสียด หาดเสียว เมืองตาก สระเหงา พุทธสรณาคมน์ ดอยอาบน้ำนาง ดอยผาแต้ม ปลาเต่า บ้านทา พระเจดีย์ปวิสิตปกะ และบ้านรัมมกะคาม เป็นต้น

พระฤาษีวาสุเทพและฤาษีสุกกะทันต์ และชาวเมืองได้อัญเชิญนางจามเทวีให้ประทับเหนือแผ่นทองประกอบพิธีอภิเษก เมื่อเสด็จมาถึงนครหริภุญชัย เมืองนี้จึงมีชื่อว่า “หริปุญ์ชย” หรือ “หริภุญชัย”

พระนางจามเทวีประสูติพระโอรสแฝด ๒ พระองค์ หลังจากจากครองราชย์ได้เพียง ๗ วัน ซึ่งพระโอรสมีพระนามว่า พระมหันตยศ หรือมหายศ กับ พระอนันตยศ หรืออินทวรราช

พระนางจามเทวีได้ช้างมงคลมาสู่พระบารมี เนื่องจากได้ทรงสร้างบุญกุศลเพิ่มพูนบารมีในพระพุทธศาสนา

พระเจ้ามิลักข(ตำนานมูลศาสนาว่า ขุนลัวะ) พระนามติลังก(บางฉบับว่าพิลังกะ หรือ วิลังคราช ก็มี) ได้ยกทัพมายึดนครหริภุญชัย ขณะนั้นพระโอรสมีพระชนม์ได้ ๕ พรรษา(ตำนานบางตอนบอกว่า ๗ พรรษา) พระกุมารทั้งสองได้ทรงช้างสำคัญออกศึก เมื่อช้างข้าศึกเห็นก็ตกใจหนีแตกตื่นไปจนหมดสิ้น พระเจ้ามิลักขราชจึงถวายพระธิดาฝาแฝด ๒ องค์ ให้กับพระมหันตยศ และพระอนันตยศ พระนางจามเทวีก็จัดการอภิเษกสมรสให้แก่พระโอรสและพระธิดาทั้งสอง จึงทำให้มิลักขรัฐ และนครหริภุญชัยมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน แต่บางตำนานก็กล่าวไว้ว่า พระนางจามเทวีทรงใช้เล่ห์ทางไสยศาสตร์ในการรบ ทำให้พระเจ้ามิลักขราชหลงรักพระนางจนหมดพลังอำนาจ จนถึงกับต้องฆ่าตัวตาย

พระนางจามเทวีได้อภิเษกให้พระมหันตยศขึ้นครองนครหิรภุญชัย และให้พระอนันตยศเป็นพระยาอุปราช เมื่อมีพระชนม์ได้ ๗ พรรษา บรรดาประชาราษฎร์มีความร่มเย็นเป็นสุข พระนางจามเทวีทรงสร้างวัดใหญ่ ๕ ตำบลรอบเมือง เพื่อบำรุงพระศาสนา มี สร้างอรัญญิกรัมมการามทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สร้างมาลุวารามด้านตะวันออก สร้างอาพัทธารามด้านทิศเหนือ สร้างมหาวนารามด้านทิศตะวันตก และสร้างมหารัดารามด้านทิศใต้

ต่อมา พระอนันตยศได้ทูลลาไปครองนครเขลางค์ ที่พระองค์ได้ขอให้พระสุพรหมฤาษีสร้างถวายให้บริเวณใกล้แม่น้ำวัง และเพื่อสร้างความเจริญให้กับนครเขลางค์ อยู่มาไม่นานพระเจ้าอนันตยศก็ได้กลับมารับพระนางจามเทวี และขอพระภิกษุ และผู้คนจากหริภุญชัยไปอยู่ด้วย พระนางจามเทวีคอยดูแลให้คำปรึกษาด้านการปกครองแก่พระเจ้าอนันตยศอยู่ที่นครเขลางค์เป็นเวลา ๓ ปี พระเจ้าอนันตยศขอให้สุพรหมฤาษีสร้างอาลัมพางคะนคร ซึ่งอยู่ใกล้นครเขลางค์เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์ เมื่อครบ ๓ ปี พระเจ้าอนันตยศ ได้ขอให้พระนางจามเทวีประทับอยู่ต่อ แต่เพื่อให้เจ้าอนันตยศได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ของกษัตริย์อย่างแท้จริง พระนางจามเทวีจึงของประทับที่อาลัมพางคะนครแทน พระเจ้าอนันตยศขอให้พระนางจามเทวีอยู่ต่ออีก ๑ ปี แต่พระนางฯ ประทับต่อได้แค่ ๑ เดือนก็เกิดประชวรต้องเสด็จกลับนครหริภุญชัย เมื่อกลับถึงนครหริภุญชัย พระนางจามเทวีก็ได้พระราชทานมหาทาน และทรงสมาทานศีล ฟังธรรมเทศนาถึง ๗ วัน พอถึงวันที่ ๘ อาการประชวรได้กำเริบจนถึงสวรรคต พระเจ้ามหันตยศได้ให้ประกอบพีถวายพระเพลิง และให้สร้างพระเจดีย์ทางด้านตะวันตกของตัวเมือง บรรจุพระอัฐิของพระนางจามเทวี นามว่า สุวรรณจังโกฏเจดีย์

พระราชประวัติพระนางจามเทวีมีเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์สอดแทรกอยู่มาก เนื่องจากมีการบันทึกไว้เป็นตำนาน ที่รวบรวมจากนิยายปรัมปราที่เล่าต่อกันมา จึงไม่อาจหาข้อเท็จจริงได้แน่ชัด จึงได้มีผู้ศึกษาวิเคราะห์ตีความประวัติศาสตร์ของพระนางจามเทวีไว้มาก เช่น

ฤาษีผู้สร้างเมืองเป็นใครมาจากไหน
นายมานิต วัลลิโภดม นักโบราณคดี เสนอไว้ในบทความเรื่อง หลักฐานโบราณคดีที่หริภุญชัย และเวียงท่ากาน ได้อ้างถึงตำนานเกี่ยวกับไทยเขินใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๑ ว่า มีเรื่องฤาษีสร้างเมือง คือโอรสทั้งสี่ของพระยาวองตีฟาง โพธิญาณแห่งเมืองวิเทหราช คือเมืองหนองแสหรือตาลีฟู บวชเป็นฤาษีมาบำเพ็ญธรรมทางใต้ พบสถานที่ที่มีแสงพุ่งจากพื้นดิน ก็กราบไว้พระเกศาธาตุที่ผุดขึ้นมา สถานที่นี้เป็นที่สร้างเมืองลำพูนหรือหริภุญชัย ดังนั้นฤาษีที่กล่าวถึงในเรื่องเกี่ยวกับพระนางจามเทวี ก็คือ โอรสของเจ้าผู้ครองเมืองหนองแส

พระนางจามเทวีและชนพื้นเมืองที่อาณาจักรหริภุญชัยเป็นชนชาติใด
จากสันนิษฐานเดิมของนักโบราณคดีมีอยู่ว่า พระนางจามเทวีเป็นขอม เพราะมาจากละโว้ ต่อมาพบศิลาจารึกภาษามอญที่เมืองลพบุรีและเมืองนครปฐม เป็นอักษรรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ตรงกับสมัยพระนางจามเทวี และเป็นที่ยอมรับในหมู่นักโบราณคดี ว่าในเวลานั้นศิลปะทวารวดีของมอญมีอิทธิพลสูงในดินแดนภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน และมีอิทธิพลแผ่ขยายถึงภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย และยังพบว่าศิลาจารึกรุ่นแรกหลายหลักที่พบที่ลำพูนเป็นภาษามอญและเป็นเรื่องราวในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จึงมีผู้สรุปว่าพวกเมงคบุตร หรือชาวเมงค์เป็นมอญ นายมานิต ลัลลิโภดม อ้างหนังสือเรื่องแหลมอินโดจีนสมัยโบราณ วิเคราะห์เรื่องเมงไว้ว่า พวกแม้ว ชื่อที่แท้จริงคือ เมงหรือเหม็ง และเรียกตัวเองว่ามุง นายมานิตเห็นว่า มุงก็คือไทมุง จึงอาจเป็นไปได้ว่า เมง คือเผ่าไทย ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องฤาษีที่สร้างเมืองเป็นโอรสผู้ครองแคว้นยูนนาน ซึ่งยุคนั้นมีพระเจ้าสินุโล แห่งราชวงศ์ไทยมุง หรือไทเมืองปกครอง และนายมานิตเชื่อว่า พระนางจามเทวีจะต้องเป็นไทย หรือเกี่ยวพันกับไทยด้วย ซึ่งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพระสวามีของพระนางจามเทวีในหนังสือ สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน ว่าเมืองรามที่พระสวามีพระนางจามเทวีไปปกครองอาจเป็นเมืองอโยธยา และพระสวามีของพระนางจามเทวีคงเป็นโอรสของพระยากาวัณดิส กษัตริย์ไทยผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงนครชัยศรี ซึ่งส่งเหล่าพราหมณ์ปุโรหิตไปช่วยปรับปรุงราชการงานเมืองที่ละโว้ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ตำนานและนิทานที่ระบุว่า พระนางจามเทวีเป็นชาวเมืองลำพูนมาก่อน เช่น ตำนานพระราชประวัติพระนางจามเทวีฉบับที่นายสุทธวารี สุวรรณภาชน์ แปลและเรียบเรียง ซึ่งพ้องกับนิทานที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับฟังขณะแวะเรือที่บ้านหนองดู่(ปัจจุบันคือบ้านหนองดู่ อยู่ริมแม่น้ำปิง ในเขตอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน) ว่าพระนางจามเทวีเป็นชาวบ้านหนองดู่ ดังได้ทรงเล่าไว้ในหนังสือ อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิงค์ตั้งแต่เชียงใหม่ถึงปากน้ำโพ เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔ ว่า

“บ้านหนองดู่มีเรื่องนิทานเล่ากันว่า เป็นบ้านเศรษฐี ซึ่งเป็นบิดาของนางจามเทวี เดิมจะยกนางจามเทวีให้แก่บุตรเศรษฐีบ้านหนองเหวี่ยง แต่ที่หลังกลับคำ ด้วยเห็นบุตรเศรษฐีบ้านหนองเหวี่ยงรูปชั่ว บิดาสองฝ่ายวิวาทกัน ร้อนถึงพระอินทร์ จึงให้พระวิสุกรรมมารับนางไปถวายพระฤาษีวาสุเทพ พระฤาษีวาสุเทพชุบนางให้งามยิ่งขึ้น แล้วส่งไปถวายเป็นธิดาเจ้ากรุงละโว้”

จากการศึกษาเปรียบเทียบในรูปสหวิทยาการ เมื่อนำผลการศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ เช่น โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และมานุษยวิทยา มาวิเคราะห์ตีความ ทำให้มองเห็นประวัติศาสตร์ได้กว้างขึ้น เช่นเรื่องที่ว่า ผู้คนที่รับอิทธิพลศิลปะทวารวดีเป็นมอญ เพราะพบจารึกภาษามอญในศิลปะทวารวดีนั้น ก็ไม่ใช่ความถูกต้องเสมอไป เพราะสมัยสุโขทัยเมื่อมีลายสือไทยแล้ว ก็ยังพบจารึกภาษาขอมไปพร้อมกันด้วย ดังนั้นภาษามอญจึงเป็นเพียงภาษาหนึ่งที่ใช้ในหมู่ชนที่รับอิทธิพลของศิลปะทวารวดีเท่านั้น และชนเผ่าสมัยทวารวดีก็มิใช่มีเฉพาะพวกมอญ แต่จะต้องมีทั้งคนพื้นเมืองดั้งเดิม ผู้ที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากถิ่นอื่นทั้งจากทางทะเล เช่น พวกอินเดีย และพวกที่เคลื่อนย้ายจากบ้านเมืองใหญ่น้อยในทวีป โดยอาศัยเส้นทางคมนาคมทางบกที่มีอยู่ ซึ่งต้องมีพวกสยามหรือไทยอยู่ด้วยแน่นอน

ปีประสูติ ระยะเวลาครองราชย์ และปีสวรรคตของพระนางจามเทวี
มีผู้บันทึกและวิเคราะห์ต่างกัน เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าครองราชย์ พ.ศ. ๑๒๐๕ ครองราชย์ ๗ ปี นายมานิต วัลลิโภดม สอบค้นว่าประสูติเมื่อง พ.ศ. ๑๑๖๖ ครองราชย์ พ.ศ. ๑๒๐๕ ครองราชย์ ๑๘ ปี สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๑๒๕๘ พระชันษาได้ ๙๒ ปี ตำนานฉบับที่นายสุทธวารี สุวรรณภาชน์ แปลและเรียบเรียงว่า ประสูติ พ.ศ. ๑๑๗๖ ครองราชย์ พ.ศ. ๑๒๐๒ สละราชสมบัติ พ.ศ. ๑๒๓๑ และสวรรคต พ.ศ. ๑๒๗๔ เป็นต้น

เกี่ยวกับพระนางจามเทวี แม้จะมีประเด็นให้ศึกษาเรื่องราวอีกมาก แต่หลักฐานต่างๆ ก็ระบุตรงกันว่า พระนางจามเทวีทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม รู้หลักการปกครอง ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา และทรงส่งเสริมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ดินแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย จังหวัดลำพูนจึงขอความร่วมมือกรมศิลปากร ให้สร้างพระอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีไว้เป็นที่เคารพสักการะ มีขนาดสูง ๒ เมตร ๔๐ เซนติเมตร เป็นรูปที่ทรงยืนในพระอิริยาบถพระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ปลายแตะพื้น พระหัตถ์ขวาเชื้อเชิญต้อนรับ ประดิษฐานอยู่ในสวนสาธารณะ ริมถนนพหลโยธิน ในอำเภอเมืองลำพูน หางจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศใต้ประมาณ ๑ กิโลเมตร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: วีณา โรจนราธา