สมเด็จพระสุริโยทัย

Socail Like & Share

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๙๑ ระบุว่า
“…แผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเป็นทุรยศ ประพฤติเหตุว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราช สวรรคตแล้ว เสนาบดียกพระยอดฟ้าราชกุมาร พระชนม์สิบเอ็ดขวบ ขึ้นครองราชย์สมบัติ เจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ มารดาพระสมเด็จพระสุริโยทัยยอดฟ้า กระทำทุจริตสามัคคีรสสังวาสด้วยขุนชินราช ให้ฆ่าพระยอดฟ้าเสีย ยกขุนชินราชขึ้นผ่าน
พิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา เสนาพฤฒามาตย์มีความพิโรธเคืองแค้น คิดฆ่าขุนชินราช และแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เสีย…”

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงได้เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ครองราชย์ต่อมา ครองราชย์ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๙๑-๒๑๑๑ ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์อย่างละเอียดจะพบว่า ยุคนี้เป็นยุคแห่งการเริ่มต้น กรุงศรีอยุธยาต้องรับศึกหนักจากพม่าที่มีพลังกองทัพมหึมาเข้าประชิดใกล้พระนครหลายครั้ง ในแต่ละครั้งก็ได้ทำความเสียหายไว้เป็นอันมาก เฉพาะการประจัญบานครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๐๙๑ ไทยได้สูญเสียวีรกษัตรีที่กล้าหาญ พระนามว่า “สมเด็จพระสุริโยทัย” ไปท่ามกลางสนามรบ

ทัพในครั้งนี้เป็นเหมือนการสำรวจสถานการณ์ความมั่นคงของไทย พระเจ้าตเบ็งชเวตี้ได้ข่าวว่าไทยกำลังเกิดจลาจล จึงคิดฉวยโอกาสรวบไทยไว้ในอาณาเขตในขณะที่กำลังวุ่นวาย แต่เมื่อเข้ามาบ้านเมืองก็สงบสุขแล้ว ก็เพียงแต่ตรวจตราเพื่อเตรียมหาทางประชิดใหม่ แล้วยกทัพกลับไปโดยไม่ได้รบ และอีกไม่นานก็ยกกำลังพลมากมายมาตีกรุงศรีอยุธยา ในการรบครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกว่า “สงครามคราวสมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้าง” ซึ่งมีอยู่ในหนังสือเรื่อง ไทยรบพม่า

วีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัยนั้นล้ำเลิศสุดจะกล่าวได้ แม้ตามประวัติศาสตร์จะกล่าวเหตุการณ์ไว้ไม่ละเอียดพิสดาร แม้จะเป็นเวลานานมาแล้ว ปัจจุบันก็ยังหาวีรสตรีที่ได้ประกอบวีรกรรมเสียสละสูงเช่นพระนางไม่ได้เลย

เพื่อสรรเสริญสักการะพระกรณียคุณให้ปรากฏตลอดไป ก็น่าจะได้เล่าขานวิเคราะห์ลักษณะที่แท้จริงของพระองค์

สมเด็จพระสุริโยทัย เป็นกุลสตรีสูงศักดิ์ เพียบพร้อมไปด้วยขัตติยราชนารี ที่ทรงพระปรีชาชาญแกล้วกล้า องอาจเด็ดเดี่ยว น้ำพระทัยเปี่ยมไปด้วยความรักชาติ เทิดทูนพระมหากษัตริย์ ในฐานะพระอัครมเหสีก็ทรงมีความกตัญญูต่อพระราชสวามี ถวายชีวิตเป็นราชพลีโดยไม่ทรงเสียดาย ทรงเป็นผู้มีความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดาอย่างประเสริฐในฐานะพระราชมารดา ทรงปลูกฝังให้รู้จักเสียสละ รักชาติบ้านเมือง กล้าเผชิญภัยพิบัติอย่างองอาจ ฝึกให้ชำนาญการรบเพื่อเตรียมป้องกันประเทศ รอบรู้ยุทธศาสตร์ทั้งการใช้อาวุธและการคชกรรม

ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของสมเด็จพระสุริโยทัย มิได้มีแต่ที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารอย่างเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็พบว่า ในสมัยแผ่นดินของสมเด็จพระยอดฟ้า ที่สิทธ์ขาดการปกครองเป็นของเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ บรรดาข้าราชการและราชวงศ์สำคัญก็หวาดระแวงไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระอนุชาต่างพระมารดาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ขณะเมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเทียรราชา ได้เสด็จหลบหนีราชภัยไปทรงผนวชอยู่ระยะหนึ่ง ที่วัดราชประดิษฐาน ระหว่างที่ราชตระกูลขาดผู้นำ พระราชภาระการปกครองดูแลพระราชโอรสธิดา ข้าทาส บริพาร ตลอดจนทรัพย์ศฤงคาร และป้องกันมิให้ผู้ใดมาข่มเหงเบียดเบียนท่ามกลางภัยนานา ก็น่าจะตกเป็นของสมเด็จพระสุริโยทัยเพียงผู้เดียว เพราะถ้าหากว่าท่านไม่ทรงแข็งแกร่ง สมเด็จพระสวามีก็คงจะออกผนวชอย่างหมดกังวลไม่ได้

ชาวไทยต้องเตรียมฝึกการรบอย่างชำนิชำนาญในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา เพื่อไว้รับมือกับศัตรูที่จะเข้ามารุกราน ไม่ว่าหญิงหรือชายก็ต้องคอยระมัดระวังภัย จนมีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “เมื่อสิ้นหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก” ไทยเรามีศิลปะล้ำเลิศในการเรียนรู้วิชาการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยอาวุธ ทั้งหญิงและชายต่างก็ต้องฝึกฝน ในจารึกครั้งสุโขทัยได้บรรยายสภาพบ้านเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า “มีเมืองกว้าง ช้างหลาย” ซึ่งเมืองช้างหลายมิได้อยู่ที่สุโขทัยเพียงที่เดี่ยว เพราะได้ปรากฏว่าผืนแผ่นดินไทยในสุวรรณภูมินั้นอุดมไปด้วยช้างมากมาย ชาวไทยนิยมจับช้างมาฝึกให้ทำงาน และช่วยงานสงครามทุกสมัย ชาวไทยจึงได้ประโยชน์ต่างๆ จากการที่มีช้างเป็นจำนวนมากนี้

แนวทางของสภาวะสังคมไทยดังกล่าว เมื่อวิเคราะห์ดู จะเห็นถึงน้ำใจของคนไทยว่ามีความรักชาติสูง ดังนั้น การดำรงพระจริยาวัตรของราชตระกูลสมเด็จพระเทียรราชา และสมเด็จพระสุริโยทัยจึงได้มีความยึดมั่นในอุดมการณ์รักชาติอย่างสูง ได้ฝึกหัดวิชาต่อสู้ป้องกันตัว ตลอดจนวิชาคชกรรมตามอย่างของบรรพบุรุษอย่างชำนาญ สามารถนำมาใช้ได้ทันที และได้ถ่ายทอดอบรมให้พระราชโอรสและพระราชธิดามีความรู้อย่างดีด้วย สมเด็จพระสุริโยทัยจึงอาจหาญขอตามเสด็จไปด้วยโดยมิได้หวาดหวั่นในขณะที่มีศึกพระเจ้าตเบ็งชเวตี้ยกเข้ามา

พระราชโอรสและพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระสุริโยทัย มีอยู่ ๕ พระองค์คือ

๑. พระราเมศวร
๒. พระวิสุทธิกษัตรี
๓. พระบรมดิลก
๔. พระเทพกษัตรี
๕. สมเด็จพระมหินทราธิราช
พระองค์แรกและพระองค์สุดท้ายเป็นชาย นอกจากนั้นเป็นหญิง

พระราเมศวร
เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ มีความเข็มแข็ง กล้าหาญในการสงคราม มีความรักชาติ รักเกียรติภูมิ ได้อยู่ในตำแหน่งรัชทายาท แต่ได้เพลี่ยงพล้ำต่อพระเจ้าบุเรงนองในสงครามช้างเผือก จึงต้องไปเป็นตัวประกันอยู่ที่กรุงหงสาวดี

พระวิสุทธิกษัตรี
มีพระนามเดิมว่า พระสวัสดิราช เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชทานให้เป็นอัครมเหสีของ พระมหาธรรมราชา ครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ และพระสุพรรณกัลยา พระราชโอรสและพระราชธิดาที่มีพระชนม์ชีพเพื่ออุทิศให้แก่แผ่นดิน

พระบรมดิลก
เป็นพระนามที่ลี้ลับไม่เปิดเผยแจ่มแจ้ง ปรากฏในหนังสือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐว่า มีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษา ประกอบวีรกรรมกับสมเด็จพระราชชนนีในสมรภูมิรบ เป็นขัตติราชกุมารี มีความรู้ในการศึกและคชกรรม มีความสามารถในวิชาการสำคัญต่างๆ คือ มีความกล้าหาญ มีน้ำพระทัยเข้มแข็ง รักชาติศาสนา มีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระชนกชนนีนาถ เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อแผ่นดิน

พระเทพกษัตรี
เป็นพระราชธิดาที่ต้องพลัดพรากไปอยู่ต่างแดน เพราะพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต ได้ขอพระราชทานไปเป็นพระอัครมเหสี แต่พระเจ้าบุเรงนองก็มาชิงตัวเอาไปต่อ

สมเด็จพระมหินทราธิราช
ได้เป็นกษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระราชบิดา ในการบริหารราชการบ้านเมืองต้องประสบกับความยุ่งยาก ในปลายรัชสมัยต้องเสียพระทัยแสนสาหัส เพราะต้องเสียเอกราชอธิปไตยให้แก่พม่าเป็นครั้งแรก

ประวัติศาสตร์จากพระราชพงศาวดารก่อนที่จะถึงวีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัย แสดงให้เห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน มีความว่าดังนี้

“พระเจ้าหงสาวดี(พระเจ้าตเบ็งชเวตี้) ยกทัพข้ามเมืองกาญจนบุรี ถึงพระนครศรีอยุธยา ณ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้นห้าค่ำ ตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลกุ่มดอง ทัพพระมหาอุปราช ตั้งค่ายที่ตำบลเพนียด ทัพพระเจ้าแปร ตั้งค่ายตำบลบ้านใหม่มะข่ามหย่อง ทัพพระยาพสิม ตั้งค่ายตำบลทุ่งประเชษฐ์

ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้นห้าค่ำ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช จะเสด็จยกพยุหโยธาทวยหาญออกไปดูกำลังข้าศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง

จึงทรงเครื่องราชอลังการยุทธ เสด็จทรงช้างต้นพลายแก้วจักรรัตน์ สูงหกศอกคืบห้านิ้ว เป็นพระคชาธารประดับคชาลังการอาภรณ์เครื่องมั่น มีกลางช้างและควาญ

ฝ่ายพระสุริโยทัยผู้เป็นพระอัครมเหสี ประดับองค์เป็นพระยามหาอุปราช ทรงเครื่องสำหรับราชรณรงค์ เสด็จทรงช้างพลายนาคพินายสุริยสำหรับกษัตริย์ สูงหกศอกเป็นพระคชาธาร ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่นเสร็จมีกลางช้างแลควาญ

พระราเมศวรทรงเครื่องศรีธิราชปิลันธนาวราภรณ์ สำหรับพิชัยยุทธสงครามเสร็จเสด็จทรงช้างต้นพลายมงคลจักรพาฬ สูงห้าศอกคืบสิบนิ้ว ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่นมีกลางช้างแลควาญ

พระมหินทราธิราชทรงราชวิภูษณาลังกาภรณ์ สำหรัพระมหาพิชัยยุทธรณรงค์ เสด็จทรงช้างต้นพลายพิมานจักรพรรดิ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว ประดับด้วยกุญชรอลงกตเครื่องมั่น มีกลางช้างแลควาญ

ครั้นได้มหาศุภวารฤกษ์ราชดิถี พระโหราลั่นฆ้องชัยประโคมอุโฆษ แตรสังข์อึงอินทเภรี

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ก็ยาตราพระคชาธาร พระอัครมเหสีและพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ โดยเสด็จเหล่าคชพยุหดั้ง กั้นแทรกแซงดาษไป บ้างโลดเล่นเต้นรัวระบำไป มีทหารประจำขี่กรกุมปืน ปลายขอประจำคอทุกตัวสาร ควาญประจำท้ายล้อมเป็นดั่นดงโดยขนัด

แล้วถึงหมู่พยุหแสนยากรโยธาหาญเดินเท้า ถือดาบดั้งเสโลหโตมรหอกใหญ่ หอกคู่ธงทวนธนูปืนนกสับคับคั่ง ซ้ายขวาหน้าหลัง โดยขบวนคชพยุหสงคราม

เสียงเท้าพลและช้างสะเทือนดังพสุธาดลจะทรุด

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า เสด็จยืนพระคชาะรประมวลพล แลคชพยุหโดยขบวนตั้งอยู่ ณ โคกพระยา

ฝ่ายกองตระเวนเห็นดังนั้น ก็เข้าไปกราบทูลพระเจ้าหงสาวดี โดยได้เห็นทุกประการ สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีตรัสว่า ชะรอยจะเป็นทัพพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ยกออกมาจะกระทำคชพยุหสงครามกับเรา พระองค์ตรัสให้ยกพลหลวงออกจากค่ายตั้งโดยขบวน สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีทรงเกราะเครื่องพิชัยยุทธ ย่อมทับถมด้วยวิชาศาสตร์เวทคาถา แล้วสอดใส่พระมหาสุพรรณสังวาลประดับเพชรพื้นราม สรรพคุณเวทคาถาต่างๆ พระมหามาลาลงเลขยันต์กันสรรพศัสตราวุธภยันตราย สำหรับราชรณรงค์ยุทธ เสร็จเสด็จทรงช้างต้นพลายมงคลปรานทวีป สูงเจ็ดศอก เป็นพระคชาธารประดับคชภรณ์เครื่องมั่นมีกลางช้างแลควาญ เครื่องสูงสำหรับราชรณรงค์แห่โดยขนาด มีหมู่ทหารถือดาบดั้งหมื่นหนึ่ง ล้อมพระคชาธาร พระเจ้าแปรประดับเครื่องอลังการเครื่องพิชัยยุทธ ทรงช้างต้นพลายเทวนาคพินาย สูงหกศอกคืบเจ็ดนิ้ว เป็นพระคชาธาร ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่นมีควาญแลกลางช้างเป็นกองหน้า มีทหารดาบสองมือพันห้าร้อยล้อมพระคชาธาร ช้างท้าวพระยารามัญคับคั่งตั้งโดยขบวนกันกงเป็นขนัด เหล่าพยุหโยธาเดินเท้าถือสรรพศัสตราดาดาษโดยขบวน สมเด็จพระเจ้าหงสาวดี ก็ยกพยุหโยธาทวยหาญออกตั้งยังท้องทุ่งตรงหน้าทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ห่างกันประมาณร้อยเส้น เสด็จยืนพระคชาธารคอยฤกษ์ จึงตรัสให้พลม้ารำทวนชักชิงคลองกันไปให้เริงหน้าทัพ ฝ่ายพลเครื่องเล่น เต้นรำเฮฮาเป็นโกลาหล ฝ่ายพลดาบดั้ง ดาบสองมือ ก็รำล่อเลี้ยงกันไปมา

ขณะนั้นพระเจ้าหงสาวดีทอดพระเนตรดูอากาศ เห็นอาทิตย์แจ่มดวงหมดเมฆหมอกแล้ว คิชฌราชบินนำหน้าทัพ ครั้นเห็นศุภนิมิตราชฤกษ์ดั่งนั้น ก็ให้ลั่นฆ้องชัยอุโฆษแตรสังข์อึงอินทเภรีขึ้นพร้อมกัน ก็ตรัสให้ขับพลเข้าโจมตีทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช

ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช ดำรัสให้แยกพลเป็นปีกกา พลโยธาทั้งสองฝ่ายบ้างแห่โห่โกลาหล เข้าปะทะประจัญตีฟันแทงแย้งยุทธ ยิงปืนระดมศัสตราธุมาการตระหลบไปทั้งอากาศ

พลทั้งสองฝ่าย บ้างตาย บ้างลำบาก กลิ้งกลาดเกลื่อนท้องทุ่งเป็นอันมาก

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ก็ขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี

พระคชาธารเสียทีให้หลังแก่ข้าศึก เอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกดั่งนั้น ก็ขับพระคชาธาร ตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า

พระสุริโยทัยเห็นพระราชสวามีเสียที ไม่พ้นมือข้าศึก ทรงกตัญญูภาพ ก็ขับพระคชาธารพลายทรงสุริยกษัตริย์สะอึกออกรับ

พระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่าง แบกถนัด

พระคชาธารพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที

พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระอังสาพระสุริโยทัย ขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ

พระราเมศวรกับพระมหินทราธิราช ก็ขับพระคชาธารถลันจะเข้าแก้พระมารดาไม่ทันที พอสมเด็จพระชนนีสิ้นพระชนม์กับคอช้าง พระราเมศวร พระมหินทราธิราช พี่น้องทั้งสององค์ถอยรับข้าศึกกันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครได้ โยธาชาวพระนครแตกพ่าย ข้าศึกรี้พลตายเป็นอันมาก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าจึ่งให้เชิญพระศพพระสุริโยทัย ผู้เป็นอัครมเหสี มาไว้ตำบลสวนหลวง

ครั้นกองทัพสมเด็จพระเจ้าหงสาวดี ยกไปแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าให้แต่งการพระราชทานเพลิงศพพระสุริโยทัย ซึ่งขาดคอช้างเสร็จแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ถวายบังคมลากลับขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลก ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงนั้นเป็นพระเจดีย์วิหาร เสร็จแล้วให้นามชื่อวัด สบสวรรค์”

เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้ช่างเขียนที่มีฝีมือ เขียนรูปภาพ และแต่งโคลงบรรยายประกอบ โดยทรงเลือกสรรเหตุการณ์ในพระราชพงศาวดาร โดยตอนพิเศษเป็นเหตุการณ์ตอนที่สมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้าง โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้เขียนภาพ ซึ่งได้ให้รางวับเป็นที่ ๓ และพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์โคลงสดุดีพระเกียรติด้วยพระองค์เอง โดยมีความว่า

“บุเรงนองนามราชเจ้า จอมรา มัญเฮย
ยกพยุหแสนยา ยิ่งแกล้ว
มอญม่านประมวลมา สามสิบ หมื่นแฮ
ถึงอยุธเยศแล้ว หยุดใกล้นคราฯ
พระมหาจักรพรรดิเผ้า ภูวดล สยามเฮย
วางค่ายรายรี้พล เพียบหล้า
ดำริจักใคร่ยล แรงศึก
ยกนิกรทัพกล้า ออกตั้งกลางสมรฯ
บังอรอรรคเรศผู้ พิสมัย ท่านนา
นามพระสุริโยทัย ออกอ้าง
ทรงเครื่องยุทธพิชัย เช่นอุป ราชแฮ
เถลิงคชาธารคว้าง ควบเข้าขบวนไคลฯ
พลไกรกองน่าเร้า โรมรัน กันเฮย
ช้างพระเจ้าแปรประจัน คชไท้
สารทรงชวดเซผัน หลังแล่น เตลิดแฮ
เตลงขับคชไล่ใกล้ หวิดท้ายคชาธารฯ
นงคราญองค์เอกแก้ว กระษัตรีย์
มานมนัศกัตเวที ยิ่งล้ำ
เกรงพระราชสามี มลายพระ ชนม์เฮย
ขับคเชนทรเข่นค้ำ สอึกสู้ดับกรฯ
ขุนมอญร่อนง้าวฟาด ฉาดฉะ
ขาดแล่งตราบอุระ หรุบดิ้น
โอรสรีบกันพระ ศพสู่ นครแฮ
สูญชีพไป่สูญสิ้น พจน์ผู้สรรเสริญฯ”

ประวัติศาสตร์ของชาติไทยจากเหตุการณ์ของสมเด็จพระสุริโยทัย ทำให้รู้ว่าในอดีตต้องเผชิญกับภัยรอบด้านเสมอ การสร้างอาณาจักรให้มั่นคงในดินแดนแหลมทองไม่ใช่จะเจริญอย่างสงบสุขมาตามลำพัง แต่ต้องต่อสู้ เสียสละ สามัคคี เสียเลือดเนื้อทับถมบนผืนแผ่นดินไปด้วยวิญญาณบรรพบุรุษคนแล้วคนเล่าหลายยุคหลายสมัย ความเป็นนักรบและมีเลือดนักสู้ของไทยไม่เลือกว่าเป็นบุรุษหรือสตรี

สมเด็จพระสุริโยทัยทรงเป็นสายเลือดไทยที่มีความเป็นนักสู้ที่กล้าหาญ เสียสละเพื่อชาติ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นหลักสำคัญของบ้านเมือง เป็นประมุขของชาติ หากสูญสิ้นไปบ้านเมืองก็ระส่ำระสาย ในยามสงครามหากขาดผู้บัญชาการทัพก็ย่อมเกิดความเพลี่ยงพล้ำได้ง่าย สมเด็จพระสุริโยทัยจึงเป็นผู้ช่วยชาติและผืนแผ่นดินไทยให้รอดพ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีงามของวีรกษัตรีไทยที่รักชาติเสมอชีวิต ลูกหลานชาวไทยจึงควรทะนุถนอมบำรุงแผ่นดินไทยไว้ให้คงอยู่อย่างสงบ เหมือนที่สมเด็จพระสุริโยทัยทรงรักและหวงแหน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สายไหม จบกลศึก