พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

Socail Like & Share

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระธิดาของ พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ(หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร ทรงพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ตรงกับวันทางจันทรคติ คือ วันศุกร์ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอก ที่บ้านของพลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ บิดาของหม่อมหลวงบัว ซึ่งตั้งอยู่ ณ บริเวณถนนพระราม ๖ หรือถนนบรรทัดทอง จังหวัดพระนคร โดยมีคุณหญิงริน ภรรยาท่านเจ้าคุณศรีวิศาลวาจา เป็นแพทย์ผู้ถวายพระประสูติกาล

หลังจากที่ประสูติได้ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้ว่า สิริกิติ์ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร โดยในขณะนั้นทรงมีฐานันดรศักดิ์เป็น หม่อมราชวงศ์หญิง

ทรงมีพระเชษฐา ๒ องค์คือ
หม่อมราชวงศ์กัลป์ยาณกิติ์ กิติยากร(ภายหลังดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ก่อนถึงแก่อนิจกรรม)

หม่อมราชวงศ์อดุลยกิติ์ กิติยากร(พระบิดาของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และเป็นท่านตาของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ปัจจุบันถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) และพระกนิษฐภคินี ๑ องค์ คือ หม่อมราชวงศ์หญิงบุษบา กิติยากร(ปัจจุบันคือ ท่านผู้หญิงบุษบา สันทนพงษ์)

เมื่อในช่วงแรกประสูตินั้น ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พระบิดาได้ทรงย้ายจากงานราชการทหารไปรับราชการประจำอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา พระมารดาก็ได้เดินทางติดตามไปด้วย หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จึงเจริญวัยภายใต้ความดูแลของเจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ และคุณท้าววนิดาพิจาริณี ผู้เป็นคุณตาคุณยายในประเทศไทย ต่อมาพระบิดาได้ลาออกจากราชการและเสด็จกลับเมืองไทยพร้อมด้วยพระมารดา เมื่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีอายุได้ ๒ ขวบเศษ เพื่อประทับอยู่ใกล้ชิดพร้อมกันทั้งครอบครัว ที่วังของราชสกุลกิติยากร ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเทเวศร์ ในกรุงเทพมหานคร

ในปี ๒๔๘๐ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้เริ่มเข้าศึกษาชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ที่อยู่บริเวณปากคลองตลาด ซึ่งขณะนั้นอยู่ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ และภายในปีเดียวกันก็สามารถสอบผ่านชั้นประถมปีที่ ๑ ได้ ต่อมากรุงเทพฯ ได้กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายการโจมตีทางอากาศอยู่เนืองๆ เนื่องจากผลของสงครามโลกครั้งที่ ๒ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จึงได้ย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวีย คอนแวนต์ ในชั้นประถมปีที่ ๒ ซึ่งอยู่ใกล้กับวัง และปลอดภัยในการเดินทางมากกว่า

ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ศึกษาอยู่ ณ โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ คอนแวนต์ นั้น ยังทรงเลือกเรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเรียนเปียโน เป็นวิชาพิเศษ นอกจากการเรียนในหลักสูตรปกติแล้ว ทรงมุ่งหวังที่จะเรียนเปียโนเป็นวิชาชีพจึงทรงฝึกฝนอย่างจริงจัง

ขณะมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา ทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ บิดาต้องไปรับราชการในตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสำนักเซนต์เจมส์ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต้องต้องตามเสด็จไปด้วย ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ และได้ทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ควบคู่ไปกับการทรงเปียโนตลอดมา ด้วยมีพระประสงค์เข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรี Conservatoire National de Musigue แห่งกรุงปารีส

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพระบิดาต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวฯ ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงคุ้นเคยกับครอบครัวกิติยากรเป็นอย่างดี เนื่องจากโปรดขับรถทางไกลจากเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไปประพาสและประทับที่สถานเอกอัครราชทูต กรุงปารีสบ่อยครั้ง และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยยิ่งขึ้นเพราะทรงมีความสนพระราชหฤทัยในการดนตรีเช่นเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ขณะที่ทรงขับรถพระที่นั่งออกจากเมืองโลซานน์ ต้องเสด็จเข้ารับการรักษาเป็นเวลา ๓ สัปดาห์ ที่โรงพยาบาลในมอร์เซส จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์พร้อมด้วยหม่อมราชวงศ์บุษบาและหม่อมหลวงบัว กิติยากร เข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการเป็นประจำ เมื่อพระอาการทุเลาดีขึ้น สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ได้ทรงขออนุญาตให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เสด็จไปเฝ้าฯ ถวายการพยาบาลที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงเป็นพระธุระดูแลที่พักและจัดการศึกษาของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้ศึกษาต่อในโรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงในวิชาชีพพิเศษกุลสตรีแห่งเมืองโลซานน์ คือที่ Pensionnat Rinatc Rive จึงทำให้ความสัมพันธ์สานสายใยใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นระหว่างหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้รับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคล พระบิดา เมื่อ ๑ ปีต่อมา เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ก็โปรดให้มีพระราชพิธีหมั้นเป็นการภายใน ณ โรงแรมวินด์เซอร์ เมืองโลซานน์ และเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ก็ได้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม ภายหลังจากเสด็จฯ นิวัตสู่ประเทศไทยและถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลแล้ว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พร้อมกับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดตามแบบแผนโบราณราชประเพณี

ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเฉลิมพระอิสริยยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ สมพระเกียรติยศแห่งพระมเหสีคู่พระบารมี ทั้งการพระอภิบาลพระราชโอรสพระราชธิดา ๔ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และทรงสนองพระราชประสงค์ตามแนวพระราชดำริแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร เช่น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ทรงรับพระราชภารกิจในตำแหน่งสภานานิยา สภากาชาดไทย แทนสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าซึ่งเสด็จสวรรคต ทำให้สภากาชาดเป็นกิจการที่อำนวยประโยชน์แก่ชาวไทยอย่างกว้างขวางด้วยพระปรีชาสามารถ และเป็นที่รู้จักกันทั่วไป จนได้รับการสนับสนุนร่วมมือจากกองทุนจากประเทศต่างๆ มากมาย ต่อมาระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม-๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวช ตลอดเวลา ๑๕ วัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ สนองพระราชประสงค์ด้วยพระปรีชาสามารถ โดยเฉพาะการเป็นองค์ประธานในการประชุมองคมนตรี และการประชุมพิจารณาพระราชบัญญัติต่างๆ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอภิไธยเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีในการถวายพระเกียรติยศแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ผู้ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เฉกเช่นสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๕ จึงนับได้ว่าทรงเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถองค์ที่สองในประวัติศาสตร์ไทย

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในพระราชภารกิจทุกประการตลอดระยะเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จติดตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทั้งแผ่นดิน ด้วยน้ำพระราชหฤทัยเมตตาที่ทรงห่วงใยพสกนิกรนับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน ทรงตรากตรำพระวรกายในการเสด็จฯ ยังท้องถิ่นทุรกันดารที่การคมนาคมไม่เอื้ออำนวย เป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญและเต็มไปด้วยภัยอันตราย ด้วยพระราชปณิธานมุ่งมั่น ที่จะขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรของพระองค์ ให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขบนผืนแผ่นดินไทยโดยทั่วหน้ากัน

ทรงได้เล็งเห็นปัญหาต่างๆ ของประเทศอย่างลึกซึ้ง จากการเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดตั้งหน่วยงาน องค์กร และมูลนิธิในพระราชินูปถัมภ์มากมาย เพื่อสานต่อพระราชดำริให้เกิดผลประโยชน์ต่อราษฎรอย่างจริงจัง เช่น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่สามารถสร้างงานส่งเสริมอาชีพให้แก่ครอบครัวของเกษตรกรทั่วประเทศ

พระราชกรณียกิจต่างๆ นับเนื่องมากว่า ๕๐ ปี ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงนำพระเกียรติยศมาสู่ชาติไทย และนำความปลาบปลื้มปีติแก่พสกนิกรข้าแผ่นดินทั้งหลาย การเสด็จโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปยังต่างประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ด้วยพระปรีชาสามารถและพระราชจริยาวัตรที่งดงาม สมพระเกียรติยศแห่งขัตติยราชนารีคู่พระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกทั้งการรับสนองพระบรมราโชบายตามพระราชดำริในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา การสาธารณสุข การศาสนา การสังคมสงเคราะห์ การอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติในทุกๆ ด้าน ตลอดจนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของพสกนิกรของพระองค์ พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นานัปการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ปวงชนชาวไทยต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มปีติกันทั่วหน้า

ทั้งในและต่างประเทศที่พระเกียรติคุณได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์โดยกว้างขวาง เช่นที่สถาบันการศึกษาและองค์กรระดับชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาต่างๆ แด่พระองค์ อาทิ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเซเรส(CERES) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ มหาวิทยาลัยทัฟส์ แห่งมลรัฐแมสซาซูเซทส สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรม เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองบุโรพุทโธ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเทิดพระเกียรติคุณ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ มหาวิทยาลัยโตโก ประเทศญี่ปุ่น ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เป็นต้น

นับเป็นมหามงคลสมัยของชาติไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในพุทธศักราช ๒๕๔๗ รัฐบาลและปวงชนชาวไทย จึงพร้อมใจร่วมกันจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยการจัดทำโครงการและกิจกรรมหลากหลาย ที่ล้วนแต่เกิดจากความสำนึกในพระเกียรติคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานไว้แก่พสกนิกรชาวไทย ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
โดย: คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ
กรมศิลปากร สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์