สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์

Socail Like & Share

พระนามเต็มของสมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์ ที่ปรากฏในจารึกวัดบูรพาราม คือ “สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์อัครราชมหิศีเทพยธรณีดิลกรัตนบพิตรเป็นเจ้า” ซึ่งเป็นอัครมเหสีในพระมหาธรรมราชาที่ ๒ แห่งอาณาจักรสุโขทัย

นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ตีความว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๒ นี้เป็นพระองค์เดียวกับที่ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ระบุว่า ศักราช ๗๔๐(พ.ศ. ๑๙๒๑) สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑(ขุนหลวงพงั่ว) เสด็จไปตีเมืองชากังราว พระมหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเป็นสามารถ แต่เห็นว่าจะต่อรบด้วยมิได้ จึงออกถวายบังคม แต่นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ว่าเป็นคนละองค์กัน

ระยะต่อมา วัดบูรพารามก็ได้จารึกเหตุการณ์เมื่อพระมหาธรรมราชาพระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา ได้ร่วมกับเจ้าเมืองอื่นๆ ทำให้อาณาจักรสมบูรณ์ขึ้นในทุกรัฐ ได้แก่ รัฐกาว(น่าน) ในทิศเหนือ รัฐชวา(หลวงพระบาง) ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองพระบาง(นครสวรรค์) ในทิศใต้ เมืองนครไทยในทิศตะวันออก เมืองเพชรบูรณ์ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ เมืองไตรตรึงส์ และเมืองเชียงทองในทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมืองนาคปุระในทิศตะวันตก และเมืองเชียงแสนถึงฝั่งแม่น้ำพิงค์(ปิง) แม่น้ำโขง ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

พระมหาธรรมราชาพระองค์นี้ ได้เสด็จออกผนวชเช่นเดียวกับพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ลิไทย ผู้เป็นสมเด็จพระราชชนก และในปี พ.ศ. ๑๙๕๑ พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ก็ได้เสด็จสวรรคตลง

พระราชภาระที่หนักหน่วงในการกอบกู้เอกราชบ้านเมืองจึงต้องเป็นของพระอัครมเหสีคือ สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์ ในขณะนั้นตรงกับที่กรุงศรีอยุธยากำลังแผ่อิทธิพลขึ้นมาครอบครองอาณาจักรสุโขทัย ในจารึกวัดบูรพาราม มีว่า สมเด็จพระราชเทวีทรงเป็นผู้มีปัญญา มีบุญ มีความงาม มีศีล มียศ เป็นขัตติยา สมบูรณ์ด้วยฐิติผู้สูงสุดในแผ่นดิน ผู้ได้รับการฝึกอบรม และเป็นผู้ร่าเริงราวกับนางเทวนารีอัปสร พระนางพิมพา พระนางมหามายา พระนางจันทิมา และพระนางสุรัสวดี เป็นผู้ศรัทธาในพระรัตนตรัยที่ประเสริฐ พระนางมีพระราชโอรส ๒ องค์ องค์โตได้ขึ้นเป็นพระยา ทรงพระนามรามราชาธิราช ส่วนองค์เล็กมีพระนามว่า ศรีธรรมาโศกราช รามราชาธิราช ก็คือ พระยารามที่ออกถวายบังคมพระมหากษัตริย์อยุธยา สมเด็จพระนครินทราธิราช พร้อมพระยาบาลเมือง ใน พ.ศ. ๑๙๖๒ หลังจากที่พระมหาธรรมราชาที่ ๓(ไสยลือไทย) สวรรคตแล้ว พระมหากษัตริย์อยุธยาจึงโปรดให้พระยาบาลเมืองครองพิษณุโลก ส่วนพระยารามก็ได้ครองสุโขทัย

ในจารึกวัดอโสการาม และจารึกวัดบูรพาราม ได้พรรณนาการบุญกุศลที่สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์ทรงบำเพ็ญไว้มากมาย ใน พ.ศ. ๑๙๔๒ พระนางทรงสร้างวัดอโสการาม ใน พ.ศ. ๑๙๕๕ ทรงสร้างวัดบูรพาราม และทรงสถาปนาปูชนียวัตถุสถานทุกสิ่งพร้อมมูล ได้อาราธนาพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานในพระมหาธาตุเจดีย์ ทรงปลูกพระศรีมหาโพธิ ทรงสถาปนาพระเถระเพื่อปกครองวัด ทรงอุปสมบทพระภิกษุและบรรพชาสามเณร ทรงบำเพ็ญมหาทานถวายเครื่องบริขารเป็นทรัพย์มหาศาล ถวายที่นาและแต่งไพร่ไว้ดูแลวัด นอกจาก ๒ วัดนี้ ก็ยังทรงสร้างวัด ทิกษิณาราม และวัดลังการาม และทรงบูรณะอุปถัมภ์วัดศรีวิสุทธาวาสที่พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ทรงผนวช วัดเสนางที่พระมหาธรรมราชาประทับ วัดศรีจุฬาวาสที่สงสการ(พิธีปลงศพ)สมเด็จพ่อออก วัดพระธรรมราชบูรณ์ที่สงสการสมเด็จราชมารดา ทรงอุทิศส่วนกุศลถวายแด่บรรพบุรุษทั้งฝ่ายพระมหาธรรมราชาที่ ๒ และฝ่ายพระนางเอง

นอกเหนือจากพระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์ได้ทรงบำเพ็ญไว้ในจารึกแล้ว ก็ยังมีอื่นๆ อีกมาก พระนาม “ศรีจุฬาลักษณ์” จึงมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์เป็นที่เล่าขานสืบต่อกันมา วรรณคดีไทยที่ได้รับการตีความว่าแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ชื่อ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ก็อาจมีเค้าความคิดเดิมจากสมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์บ้างก็เป็นได้ เนื้อหาอาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้างเพราะผ่านมาหลายยุคหลายสมัยเป็นเวลายาวนานแล้ว พระนามเดิมของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ คือ นางนพมาศ เป็นสนมของสมเด็จพระร่วงเจ้า องค์ที่หมายถึงพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ลิไทย ตำแหน่ง “ศรีจุฬาลักษณ์” ยังลดความสำคัญลงเรื่อยๆ จะเห็นได้ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน สมัยอยุธยา ศรีจุฬาลักษณ์ เป็นเพียง ๑ ใน ๔ ของนางท้าวพระสนมเอก คือ อินสุเรนทร ศรีสุดาจัน อินทรเทวี และศรีจุลาลักษ

หลักฐานที่ยืนยันว่า สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์มีตัวตนจริง คือ ศิลาจารึกและโบราณสถาน ทรงเป็นอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์สุโขทัย ทรงสร้างถาวรวัตถุมากมายให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ถึงศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ในสมัยของราชอาณาจักรไทยแห่งนี้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: วีณา โรจนราธา