พระมหาเทวีพระกนิษฐาของพระมหาธรรมราชาที่๑

Socail Like & Share

ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อาณาจักรสุโขทัยขยายอาณาเขตได้กว้างขวางที่สุด เมื่อสิ้นพ่อขุนรามคำแหงฯ เจ้าเมืองทั้งหลายก็ไม่ยอมขึ้นกับพระยาเลอไทยซึ่งเป็นราชโอรสของพ่อขุนรามคำแหงฯ อาณาจักรได้แตกเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย เมื่อถึงสมัยที่พระมหาธรรมราชที่๑(ลิไทย) ปกครอง พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และได้สร้างความเข้มแข็งให้กลับคืนสู่อาณาจักรสุโขทัย จารึกหลักที่ ๘ จารึกเขาสุมนกูฏ ระบุว่า พระมหาธรรมราชาลิไทยปราบได้เมืองตลอดทั้งลำน้ำป่าสัก และลำน้ำน่าน แล้วจึงเสด็จไปประทับที่สองแคว คือ เมืองพิษณุโลกถึง ๗ ปี

ส่วนทางเมืองสุโขทัยนั้น ปรากฏในเรื่องพระสีหลปฏิมา หรือพระพุทธสิหิงค์ ใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ความว่า ในสมัยที่พระมหาธรรมราชา หรือพระยาลิไทยครองกรุงสุโขทัยนั้น สมเด็กพระรามาธิบดีที่ ๑(อู่ทอง) เสด็จไปทรงยึดเมืองชัยนาท(นักประวัติศาสตร์หมายถึง เมืองพิษณุโลก)ได้ โดยทำทีว่าเอาข้าวมาขาย ขณะที่เมืองพิษณุโลกเกิดทุพภิกขภัย ทรงตั้งมหาอำมาตย์วัตติเดช คือ ขุนหลวงพงั่ว จากเมืองสุพรรณบุรีไปครอง พระมหาธรรมราชาลิไทยต้องส่งบรรณาการเป็นอันมากไปถวายสมเด็จพระรามาธิบดีที่๑ เพื่อขอเมืองพิษณุโลกคืน เมื่อได้เมืองคืนแล้ว พระมหาธรรมราชาลิไทย “ทรงตั้งพระมหาเทวีผู้เป็นพระกนิษฐา(น้องหญิง) ของพระองค์ให้ครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัย…ส่วนพระองค์ อัญเชิญพระสีหลปฏิมาไปบูชาที่เมืองชัยนาท” เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สวรรคตแล้ว ขุนหลวงพงั่ว ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ยึดเมืองพิษณุโลกได้ อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปบูชาที่กรุงศรีอยุธยา และมหาอำมาตย์ชื่อ พรหมไชยยึดเมืองสุโขทัยได้

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สวรรคต พ.ศ. ๑๙๑๒ ดังนั้นปีที่พระมหาธรรมราชาที่๑ เสด็จนำไพร่พลและกองทัพของเจ้าเมืองต่างๆ กลับมาไหว้พระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏ(เขาพระบาทใหญ่) ที่เมืองสุโขทัยจะต้องเป็นช่วงที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สวรรคตแล้ว ดังนั้นพระมหาเทวีคงจะครองราชย์ ณ เมืองสุโขทัยประมาณ พ.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๑๒

ปรากฏพระนามพระมหาเทวีอีกครั้งในศิลาจารึกวัดช้างล้อม ซึ่งพ่อนมไสดำ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๗ ข้อความจารึกเล่าถึงพ่อนมไสดำ บวชถวายพระมหาธรรมราชาที่สวรรคต แล้วย้ายสำนักอีกครั้ง บวชถวายพระมหาเทวีที่สวรรคต และเมื่ออุทิศที่เรือนตนสร้างวัดแล้ว ยังได้สร้างพระหินองค์หนึ่งอุทิศถวายเป็นบุญแด่พระมหาเทวี พระมหาเทวีจึงสวรรคตก่อน พ.ศ. ๑๙๒๗

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: วีณา โรจนราธา