เกิตเตอ นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่

Socail Like & Share

Johann Wolfgang Von Goethe
เกิตเตอ เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2292 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2375 มีอายุยืนยาวถึง 83 ปี

ในบรรดานักประพันธ์ทั้งหลาย ถือว่าเขาเป็นอัจฉริยบุรุษ และมีเรื่องราวชีวิตที่ต่างจากคนธรรมดาทั่วไป เขาได้แต่งหนังสือเป็นภาษาละติน เปรียบเทียบความฉลาด ระหว่างคนนอกศาสนาคริสต์กับศาสนาคริสต์ตอนอายุได้ 8 ปี เขียนนวนิยายเรื่องแรก และเขียนได้ถึง 7 ภาษา ตอนอาย 11 ปี เริ่มท้าดวลต่อสู้กับคนคนหนึ่งตอนอายุ 12 เมื่ออายุ 16 เริ่มมีความรัก ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องรักจนกระทั่งอายุถึง 74 ปี

เยอรมันได้มีงานฉลองวันครบรอบ 100 ปีนับจากวันตายของเกิตเตอ ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2474 อย่างมโหฬาร และในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2492 ทั้งยุโรปและอเมริกา ได้มีการประชุมและประกอบพิธีใหญ่หลวงเพื่อฉลองวันครบรอบ 200 ปี นับจากวันเกิดของเกิตเตอ ซึ่งเป็นเวลาที่สงครามโลกเพิ่งเสร็จสิ้นลงใหม่ๆ ด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมัน เกิตเตอก็เป็นคนเยอรมัน เขาได้รับความยกย่องถึงเพียงนี้ก็นับว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งเช่นกัน

ในเวลาที่เกิตเตอเกิด ไม่มีใครคิดว่าจะมีชีวิตรอด แต่เขาก็กลับมามีอนามัยที่แข็งแรงมาก เคยป่วยประมาณแค่ 3 ครั้ง ตลอดอายุ 83 ปี ปู่ทอดของเขาเป็นช่างเหล็ก ปู่เป็นช่างเสื้อ แต่พ่อของเขาได้รับราชการมีตำแหน่งสูงถึงเป็นที่ปรึกษาราชการของเมืองแฟรงก์เฟิร์ต

ขณะที่เกิตเตอเกิด มารดาของเขามีอายุเพียง 18 ปี ชอบเล่านิยายให้เกิตเตอฟัง วิธีเล่านิยายของมารดาอาจทำให้เกิตเตอกลายมาเป็นนักประพันธ์ก็ได้ ในเรื่องการศึกษาบิดาของเขาเป็นคนเข้มงวดมาก แม้เขาจะเรียนอยู่กับบ้านแต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด เขาได้รับการศึกษาอย่างดี สามารถแต่งหนังสือได้ตั้งแต่เด็กๆ

แต่เมื่อเกิตเตอโตขึ้น บิดาก็ให้เขาทำตามใจชอบไม่เข้มงวดกวดขัน บิดาของเขาต้องการให้เรียนด้านกฎหมาย เมื่อเรียนจบอยากให้เป็นอาจารย์สอนกฎหมาย จุดมุ่งหมายของบิดาที่แท้จริงก็คือ เพื่อต้องการให้เขารับตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินด้วย เพราะผู้ที่จะรับตำแหน่งนี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย

เมื่ออายุ 16 ปี เกิตเตอได้เข้าศึกาวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยไลปซิค พ่อแม่ของเกิตเตอเป็นคนมั่งคั่งและตามใจลูก เมื่อโตขึ้นเขาก็มีนิสัยอย่างคนหนุ่มที่คะนองทั้งหลาย เริ่มเที่ยวจัด มีเรื่องรัก ชอบเข้าสังคม ชอบการเลี้ยง ฟังดนตรี ดูละคร และเที่ยวเตร่ เพื่อนฝูงจะตักเตือนอย่างไรเขาก็ไม่ยอมฟัง

ที่เขาประพฤติเช่นนี้ก็ดูเหมือนว่าเพื่อให้รู้จักโลก รู้จักชีวิต รู้จักมนุษย์ แล้วนำความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ เพราะในไม่ช้าเขาก็หยุดพฤติกรรมนั้นไปเอง เหมือนตั้งใจจะหยุด เขาได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสตราสบูร์กจนสำเร็จวิชากฎหมาย ออกไปอยู่บ้านนอกดำเนินชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เริ่มอ่านเชกสเปียร์ และโฮเมอร์ เหมือนกับจะฝังตัวอยู่ในบทประพันธ์นี้

เกิตเตอได้เขียนหนังสือมาตั้งแต่เล็ก ทั้งนิยาย สารคดี และเคยเขียนลงหนังสือพิมพ์ต่างๆ มากมาย หนังสือที่เขาแต่งประมาณกันว่าราว 60 เรื่อง แต่เรื่องที่สำคัญๆ มีดังนี้

1. ละครเรื่อง Die Laune des Verliebten แต่งในปี พ.ศ. 2310
2. ละครเรื่อง Die Mitschuldigen แต่งในปี พ.ศ. 2311
3. ละครเรื่อง Goeiz Von Berlichingen แต่งในปี พ.ศ. 2314
4. นวนิยายเรื่อง Der Wanderer แต่งในปี พ.ศ. 2315
5. นวนิยายเรื่อง Wandereres Sturmlied แต่งในปี พ.ศ. 2315
6. ละครเรื่อง Prometheus แต่งในปี พ.ศ. 2316
7. ละครเรื่อง Erwin und Elmive แต่งในปี พ.ศ. 2316
8. นวนิยายเรื่อง Faust ตอนต้น แต่งในปี พ.ศ. 2316
9. นวนิยายเรื่อง Werther แต่งในปี พ.ศ. 2317
10. นวนิยายเรื่อง Clavigo แต่งในปี พ.ศ. 2317
11. นวนิยายเรื่อง Wilhelm Meister แต่งในปี พ.ศ. 2320
12. กวีนิพนธ์เรื่อง Iphigenie แต่งในปี พ.ศ. 2322
13. กวีนิพนธ์เรื่อง Die Geheimisse แต่งในปี พ.ศ. 2327
14. ละครเรื่อง Nansika แต่งในปี พ.ศ. 2329
15. นวนิยายเรื่อง Edmont แต่งในปี พ.ศ. 2330
16. ละครเรื่อง Tasso แต่งในปี พ.ศ. 2332
17. นวนิยายเรื่อง Hermann und Dorothen แต่งในปี พ.ศ. 2340
18. นวนิยายเรื่อง Achileis แต่งในปี พ.ศ. 2342

19. สารคดีเรื่อง Die Naturliche Tochter แต่งในปี พ.ศ. 2342
20. สารคดีเรื่อง Die Wahlverwandtschaffen แต่งในปี พ.ศ. 2351
21. สารคดีเรื่อง Zur Farbenlehre แต่งในปี พ.ศ. 2351
22. ประวัติตัวเองเรื่อง Dichtung und Wahrheit แต่งในปี พ.ศ. 2354
23. นวนิยายเรื่อง Lehrjahre แต่งในปี พ.ศ. 2372
24. นวนิยายเรื่อง Faust แต่งในปี พ.ศ. 2374

และมีหนังสืออีกสองเล่มที่ได้แต่งร่วมกันกับนักประพันธ์สมัยเดียวกันที่ชื่อว่า ชิลเลอร์ คือ เรื่อง Horen กับเรื่อง Xenien

ในปี พ.ศ. 2314 เรื่องที่ 3 ที่แต่งคือ Goetz vod Berlichingen ได้รื้อแก้ไขใหม่อีก 2 ปีต่อมา และอีก 7 ปีต่อมา กวีนิพนธ์เรื่องที่ 12 คือเรื่อง Iphigenie ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นละคร

เรื่องที่สร้างอิทธิพลยิ่งใหญ่และเป็นความสำเร็จที่สุดของเกิตเตอ คือเรื่อง Werther ซึ่งเป็นนวนิยายที่แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2317 โดยเขาได้พรรณนาการแต่งกายของ Werther เรื่องว่า ใส่เสื้อสีน้ำเงิน ใส่กั๊กสีเหลือง เมื่อมีคนลองแต่งดูก็กลายเป็นการนำสมัย ชายหนุ่มพากันแต่งเช่นนี้ทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ Werther จบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย จึงทำให้ในยุโรปมีสถิติการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอย่างแปลกประหลาด เรื่องนี้จึงทำให้เกิตเตอมีชื่อเสียงอย่างแท้จริง ซึ่งขณะที่แต่งเรื่องเขามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น

เรื่อง Werther ยังได้สร้างฐานะที่มั่นคงให้กับเกิตเตอด้วย เพราะเพียง 1 ปี ภายหลังเขียนเรื่องเสร็จ เจ้านครไวมา ก็เชิญให้เกิตเตอไปอยู่ในราชสำนัก ซึ่งเกิตเตอมีความปิติยินดีมาก

เมื่อ พ.ศ. 2318 เกิตเตอ มีอายุเพียง 26 ปี ได้เข้าไปสู่ราชสำนักไวมา มีที่อยู่ใกล้พระราชวัง แต่งหนังสือและทำกิจธุระที่เกี่ยวกับการเมืองได้ เกิตเตอพยายามให้เจ้านครไวมาทำการปกครองอย่างดี และที่นี่ก็มีนักดนตรีเยอรมันผู้เรืองนามของโลกที่ชื่อ บีโธเวน อยู่ด้วย และเป็นเพื่อนที่ดีของเกิตเตอ

เกิตเตอได้ทำนครไวมา ให้เป็นศูนย์กลางแห่งอักษรศาสตร์ของยุโรปตลอดเวลา 50 ปี ผู้มีการศึกษาอย่างดีทั้งชายหญิงได้มาขอความรู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นสโมสรทางวิชาการอักษรศาสตร์ เกิตเตอได้จัดตั้งโรงละครขึ้นและเป็นผู้จัดการด้วยตนเอง เขาหาความรู้เรื่อยไป เขามีความรู้รอบตัว แม้กระทั่งในเรื่องวิทยาศาสตร์ พฤกษศาสตร์ และสรีรศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2331 เกิดเตอได้พบสตรีที่ชื่อ วุลปิยุส ขณะนั้นเขามีอายุ 39 ปี เกิดความรักใคร่และได้อยู่ด้วยกัน ก่อนหน้านี้เกิตเตอก็มีภรรยาลับมากมาย เป็นหญิงรับใช้บ้าง เป็นลูกสาวครูเต้นรำบ้าง เรียนที่มหาลัยไหนก็รักกับผู้หญิงที่นั่น รักคนไหนก็แต่งหนังสือเพื่อคนนั้น อาจเป็นเพราะเหตุนี้ หนังสือดีๆ จึงได้เกิดมาจากสมองของเกิตเตอ แต่เขาก็ไม่ได้แต่งงานกับผู้หญิงคนไหนเลยแม้แต่ วุลปิยุส ในปี พ.ศ. 2332 เกิตเตอมีลูกชาย 1 คน และเพิ่งทำพิธีแต่งงานกับวุลปิยุส เมื่อลูกชายมีอายุ 11 ปีแล้ว

เกิตเตอได้พบและทำความรู้จักกับนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งของเยอรมันที่ชื่อว่า ชิลเลอร์ ขณะนั้นเกิตเตอมีอายุได้ 45 ปี ส่วนชิลเลอร์อ่อนกว่าเขาถึง 10 ปี ชีวิตของทั้งสองแตกต่างกันทุกประการ ตัวชิลเลอร์เป็นคนเคร่งครัดในศาสนา เป็นคนยากจน ส่วนเกิตเตอเป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า เป็นคนมั่งคั่ง ในตอนแรกก็ไม่ค่อยลงรอยกัน แต่เมื่อคบกันนานเข้า ความคิดเห็นที่แตกแยกก็สามารถประสานกันได้อย่างดีเลิศ หนังสือที่เขาทั้งสองแต่งร่วมกันจึงเป็นหนังสือที่ดีที่สุด

ชีวิตของเกิตเตอส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความราบรื่น เขาต่างกับผู้ยิ่งใหญ่อื่นๆ ก็ตรงที่เป็นคนเจ้าชู้มาก ข้อเสียของเขาก็มีเท่านี้ ความเศร้าสลดในชีวิตบั้นปลายของเขาก็เพราะภรรยา บุตร และเพื่อนฝูงที่รักใคร่ได้ตายจากไปตามๆ กัน เขามีอายุที่ยืนยาว จนกระทั่งอายุ 74 ปี ยังมีเรื่องรักขึ้นมาใหม่ เขาเกิดมาเพื่อเรื่องรักอย่างแท้จริง

บทละครและนวนิยายของเกิตเตอ ได้สร้างชีวิตจิตใจของคนขึ้นใหม่ ไม่แต่เฉพาะในเยอรมนี แต่เป็นยุโรปทั้งทวีป งานที่เขาทำไว้เป็นงานที่ไม่ตาย ขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่งานประพันธ์ของเขาก็มีผู้แปลออกเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา เขาสามารถใช้บทละครและนวนิยายสร้างจิตใจคนให้เข้าสู่รูปใหม่ ระบอบใหม่ เขาจึงได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง

เกิตเตอตายบนเก้าอี้นวมในขณะที่นั่งอยู่ นักเขียนคนหนึ่งของฝรั่งเศส ได้เขียนถึงการตายของเขาไว้ว่า

ในเวลาคืนที่สองยามล่วงไปแล้ว และเริ่มต้นวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2375 เกิตเตอยังนั่งอยู่บนเก้าอี้นวม มีคนใช้ที่ซื่อสัตย์คนเดียวเป็นผู้ปฏิบัติ เกิตเตอยังมีโอกาสแสดงความอารี บอกให้คนใช้ไปหลับนอนโดยมิต้องอยู่เฝ้า ส่วนตัวเองก็หลับอยู่บนเก้าอี้นวม จนกระทั่งเวลาเช้า พอลืมตาตื่นก็แลเห็นแสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์ของวันใหม่ ข้างๆ เกิตเตอคงมีแต่คนใช้ ซึ่งรีบตื่นก่อนและมาคอยเฝ้าดูแลอยู่

“วันที่เท่าไรแล้ว” เกิตเตอถาม
“วันที่ 22 ขอรับ” คนรับใช้ตอบ
“ฤดูใบไม้เริ่มผลิแล้ว” เกิตเตอกล่าว

พอพูดคำนี้แล้ว ดวงจิตและร่างกายที่อ่อนเพลียก็กลับเข้าสู่สภาพเดิม เกิตเตอหลับต่อไป หัวใจยิ่งอ่อนลง ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้ ยังเหลือปากที่พูดได้บ้างในบางครั้ง

“เห็นไหม ผู้หญิงที่ดวงหน้างดงามนั้น ใส่ตุ้มหูสีดำยืนอยู่ที่นั่น” เกิตเตอละเมอ ความจริงในห้องนั้นไม่มีผู้หญิงเลย แต่เพราะในชีวิตของเขามีผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย จนต้องละเมอเพ้อฝันเมื่อใกล้ดับจิต

“เปิดหน้าต่างนั่นหน่อย ฉันต้องการแสงสว่าง”

คนใช้ได้เปิดหน้าต่างให้ตามความประสงค์ของเกิตเตอ ไม่ว่าคำนี้จะเป็นคำละเมอ หรือคำพูดจริงก็ตาม

“เอากระดาษแข็งแผ่นนั้นมานี่” เกิตเตอกล่าวต่อ

เขาละเมอต่อ คนใช้ไม่สามารถทำตามได้เพราะไม่มีกระดาษแข็งอะไรอยู่ที่นั่น ความตายไม่เลือกหรือเว้นผู้ใด หัวใจของเขาเริ่มอ่อนลงไป ดวงวิญญาณของเขาออกจากร่างเมื่อถึงเวลาเที่ยงวัน ของวันที่ 22 หน้าต่างที่เปิดไว้ เป็นเหมือนหนทางที่ให้วิญญาณเขาออกไป คอของเขาเอนพับอยู่กับพนักข้างซ้ายของเก้าอี้นวมนั่นเอง

ที่มา: พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ