นิโคไล เลนิน(Nikolai Lenin)

Socail Like & Share

มีน้อยคนในประวัติศาสตร์ที่จะได้รับความรักของคนทั้งหลายอย่างเลนิน เลนินได้ความเคารพรักของคนอย่างลึกซึ้ง เพราะได้ใช้สติปัญญาทั้งหมด เพื่อบริการคนของตน เขามีสมรรถภาพในการอธิบายความคิดที่เข้าใจยากที่สุดให้เป็นถ้อยคำที่เข้าใจง่ายที่สุด เขาพูดได้อย่างที่เขาคิด พูดทุกอย่างด้วยความซื่อ ไม่มีลับลมคมใน ถ้าเขาทำอะไรผิดเขาก็จะแสดงความผิดของเขาออกมาเอง

เลนินมีความมุ่งหมายอยู่อย่างเดียวตลอดชีวิต คือ จัดระเบียบสังคมใหม่ ไม่ให้มีการกดขี่ ไม่มีการทำนาบนหลังคน ไม่มีการตกงาน ไม่มีการใช้เล่ห์เหลี่ยมตลบตะแลงในการเมืองระหว่างประเทศ และไม่ให้มีสงคราม เขาจึงได้สละความสุขส่วนตัวและความมักใหญ่ใฝ่สูงทุกอย่างเพื่อความมุ่งหมายนี้

เลนินเกิดในปี พ.ศ. 2413 เป็นคนชั้นกลาง มีฐานะทางครอบครัวที่ดี บิดาเป็นศึกษาธิการจังหวัด มารดาเป็นบุตรีของนายแพทย์ เขาเติบโตขึ้นมาด้วยการแวดล้อมไปด้วยผู้ที่มีการศึกษา แต่เมืองที่เขาเกิดนั้น คือ ซิมเบิสกะ เป็นถิ่นแห่งมนุษย์ประหลาด เช่น สเตนกา ราชิน และเป็นศูนย์กลางของพวกนักคิดในทางปฏิวัติ

สเตนกา ราชิน เป็นทหารคอสแซค คือทหารม้าที่มีความกล้าหาญ โลดโผน ผจญภัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของรัสเซีย พวกเขาจะเที่ยวปล้นค้นมั่งคั่งเพื่อเอาทรัพย์สินมาแจกจ่ายแก่คนยากจน คนยากจนจึงเป็นมิตรกับเขา พวกเขาหาที่หลบซ่อนได้ง่ายจึงจับตัวได้ยาก

นอกจากนี้พวกเขายังเที่ยวยุพวกทาสให้ลุกขึ้นประทุษร้ายนายเงิน จับเจ้าเมืองบางคนที่กดขี่ราษฎรโยนลงมาจากหอสูงจนถึงแก่ความตาย ปล้นและฆ่าเจ้าหน้าที่ที่เก็บภาษีตามหมู่บ้านเอาเงินแจกจ่ายให้ราษฎรที่เสียภาษี แต่สุดท้ายก็ถูกจับแขวนคอที่เมืองซิมเบิสกะ เรื่องนี้มีอิทธิพลต่อจิตใจของเลนินมาก และเขาก็ได้เหตุการณ์นี้มาตั้งแต่เด็กๆ

พ่อแม่และครอบครัวของเขาไม่ได้โน้มเอียงไปในทางปฏิวัติ และอยากปลูกฝังให้ลูกได้ดีทางการเมือง ลูกทุกคนได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีรวมทั้งเลนินด้วย พี่ชายของเลนินที่ชื่อ อะเล็กซานเดอร์ ได้ศึกษาถึงขั้นมหาวิทยาลัย ตัวเลนินเองก็ได้เข้าเรียนที่เมืองซิมเบิสกะ ในโรงเรียนชั้นสูงมีอาจารย์ใหญ่ชื่อ เกเรนสกี ลูกชายของเขาก็เรียนที่นี่เช่นกัน และไม่มีใครนึกฝันว่าวันหนึ่งเด็กทั้งสองคนนี้จะกลายมาเป็นคนสำคัญในประวัติศาสตร์ของรัสเซียได้

เมื่อเลนินอายุได้ 16 ปี ในปี พ.ศ.2429 เรียนอยู่ปีสุดท้ายของชั้นมัธยม ได้เกิดเรื่องที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยถูกจับข้อหาลอบปลงประชนม์พระเจ้าซาร์ จึงถูกประหารชีวิตทั้งกลุ่ม และในนั้นก็มีพี่ชายของเลนินที่ชื่อว่า อะเล็กซานเดอร์อยู่ด้วย ทำให้เขาฝังใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก

เลนินได้เข้ามหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2430 เขาถูกทางราชการสั่งให้ทางมหาวิทยาลัยคอยดูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นน้องชายของผู้ที่ถูกประหารชีวิตในคดีอุกฉกรรจ์ และทางวิทยาลัยก็ไม่อยากให้เขาอยู่ด้วย เขาถูกคัดชื่อออกจากวิทยาลัยหลังจากเรียนอยู่ได้ไม่กี่เดือน โดยที่มหาวิทยาลัยให้เหตุผลว่า เขาเป็นนักศึกษาที่มีอิทธิพลร้ายแรงแก่นักศึกษาคนอื่นๆ

เขาได้ศึกษาส่วนตัวอย่างเงียบๆ กับครูคนหนึ่ง ต่อมาก็ได้ไปสอบเข้าโรงเรียนกฎหมาย ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เขาสอบได้เป็นเนติบัณฑิต และได้เป็นทนายตอนอายุ 24 ปี ว่าความอยู่ได้ 3 ปี ก็ถูกจับไปไซบีเรีย ฐานยุยงผู้คนและก่อความไม่สงบ

เขายินดีที่จะไป เพราะยังดีกว่าถูกประหารอย่างพี่ชาย ความคิดเรื่องปฏิวัติจึงมีขึ้นเต็มหัวใจ เขาเป็นนักปฏิวัติที่แท้จริง มีความรอบคอบ รู้กฎการปฏิวัติที่ต่างกับการจลาจล เพราะปฏิวัติเป็นการกุศล ส่วนจลาจลเป็นบาป เขาต้องทำปฏิวัติไม่ใช่จลาจล การปฏิวัติต้องมีแผนการ มีลัทธิ มีจุดมุ่งหมาย ไม่ใช่การแย่งชิงความยิ่งใหญ่จากผู้อื่นมาไว้ในมือ และก็ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น

ไซบีเรียเป็นที่เหมาะชั่วคราวสำหรับเขาในการที่จะทำให้ประเทศรัสเซียดีขึ้น โดยเฉพาะให้ประชาชนมีชีวิตอย่างมนุษย์ทั่วไป เขาได้ทำงานหนักเพื่อสร้างแผนการที่ละเอียดรอบคอบ สร้างปรัชญาการเมืองและระบอบเศรษฐกิจที่ใหญ่ เลนินได้ทำงานเหล่านี้โดยอาศัยการช่วยเหลือจากสตรีคนหนึ่งที่มีชื่อว่า กรุปสกายา ซึ่งเธอเป็นเพื่อนสมัยเรียนที่เซนต์ปีเตอร์เบิร์ก ซึ่งมีความคิดในทางปฏิวัติเช่นเดียวกัน และถูกเนรเทศมาเหมือนกัน เธอเป็นเลขานุการและเป็นคู่คิดของเลนิน สุดท้ายก็แต่งงานกันที่ไซบีเรีย

ในปี พ.ศ. 2443 เลนินมีอายุได้ 30 ปีพอดี การเนรเทศก็ได้สิ้นสุดลง และเขาได้เดินทางมายังเยอรมนี ได้ตั้งหนังสือพิมพ์ขึ้นมาฉบับหนึ่งชื่อ Iskra ที่แปลว่า ประกายไฟ ข้อความข้างในเต็มไปด้วยการชักชวนให้ปฏิวัติในรัสเซีย นักปฏิวัติในรัสเซียก็ยึดเขาเป็นหัวหน้าคนหนึ่ง แต่รัฐบาลเยอรมันก็เนรเทศเขาออกจากเยอรมนีอีก

เขาต้องเป็นคนพเนจร แต่ไปทางไหนก็ได้รับความนิยมนับถือ ได้พวกพ้อง ได้ตั้งสาขาติดต่อกับคนในไซบีเรียอย่างสะดวก การหาโอกาสปฏิวัติมีอยู่ทั่วไปในรัสเซีย เพื่อปราบนักปฏิวัติ รัฐบาลของพระเจ้าซาร์ต้องทำความพยายามอย่างมาก ทั้งประหารชีวิต เนรเทศไปไซบีเรีย แทนที่จะดำเนินการในทางทีดี เช่น บรรเทาทุกข์ราษฎร ช่วยราษฎรที่อดอยาก แต่กลับเพิ่มการกดขี่มากขึ้น จึงทำให้เงาการปฏิวัติยิ่งแผ่ขยายโตขึ้นทุกทีแทนที่จะจางหายไป

ครั้งหนึ่งมีราษฎรหลายหมื่นคนพร้อมลูกเมีย ได้เดินขบวนไปที่พระราชวังของพระเจ้าซาร์ เพื่อเข้าไปร้องขออาหารด้วยความอดอยาก ผู้นำขบวนเป็นพระในคริสต์ศาสนา แต่กลับถูกทหารรักษาการณ์ยิงกราดออกมา กองทหารม้าคอนแซคก็บุกเข้ามาและใช้อาวุธสังหารราษฎรอย่างทารุน มีคนตายที่หน้าพระราชวังประมาณ 1,500 คน

พระเจ้าซาร์และรัฐบาลเห็นว่า ยิ่งปราบก็ยิ่งก่อให้เกิดนักปฏิวัติขึ้น แต่ถ้าให้การบรรเทาทุกข์ หรือทำให้ราษฎรพอใจก็เท่ากับว่ายอมแพ้และจะทำให้พวกปฏิวัติฮึกเหิมว่าตนชนะได้ ทางที่จะระงับความยุ่งยากและทำให้เกิดความสงบ จะต้องทำสงครามขึ้นภายนอก ต้องเลือกมหาสงครามที่จะชนะได้ง่าย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำสงครามกับใคร จึงหันมาที่ญี่ปุ่นเพราะแม้ญี่ปุ่นจะรบชนะจีนมาแล้ว แต่ก็ไม่มีกำลังมากพอที่จะต่อต้านรัสเซียได้ การหาเหตุทำสงครามกับญี่ปุ่นก็ไม่ยาก จึงได้ทำสงครามกับญี่ปุ่นใน ปี พ.ศ.2447

เลนินเห็นว่าเป็นโอกาส การปฏิวัติจะทำได้ในขณะรัสเซียมีสงคราม และลอบเข้าไปในรัสเซียได้ เขาและพรรคพวกชวนกันให้มีการหยุดงานและก่อวินาศกรรมบ้าง สงครามญี่ปุ่น-รัสเซียได้เลิกหลังจากทำไปได้ปีเดียว ถึงรัสเซียจะแพ้แต่ภายในประเทศก็จับพวกนักปฏิวัติได้เป็นจำนวนมาก และเลนินก็หนีไปได้อีก

เขาพเนจรเรื่อยไปไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่ก็ไม่ได้หยุดดำเนินการปฏิวัติ ยังพูด เขียน หาพวกพ้อง แต่มิได้แสวงหามติมหาชนอื่นเหมือน ปาเดริวสกี เพราะไม่สามารถทำอย่างนั้นได้

ในปี พ.ศ. 2457 สงครามโลกได้เกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งมีอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และอีกฝ่ายหนึ่งมีเยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี ครั้งนี้เขาระวังตัวมาขึ้น เขาดูผลของสงครามให้แน่นอนก่อน และยังไม่ตัดสินใจทำอะไรลงไป แม้สงครามจะดำเนินมาแล้วตั้ง 2 ปี แต่วันหนึ่งพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าซาร์ได้ถึงการอวสานลงขณะที่เขาอยู่ในเมืองซูริกประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขาได้ก่อการปฏิวัติใหญ่หลวงขึ้นในรัสเซียและก็ทำได้เป็นผลสำเร็จ

แต่การปฏิวัติครั้งนี้ไม่ใช่เพราะเขา แต่เป็นของ เกเรนสกี ลูกชายของอาจารย์ในโรงเรียนที่เขาเคยเรียนด้วยกันที่เมืองซิมเบิสกะ สมัยเมื่อ 40 ปีมาแล้ว เกเรนสกี ไวกว่าเลนินมาก เขากระทำการได้สำเร็จ ได้เป็นประธานาธิบดีแห่งมหาชนรัสเซียที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้

ในรัสเซียตอนนี้เป็นเรื่องชิงไหวชิงพริบกัน แย่งความเป็นใหญ่ จะหาประวัติศาสตร์แย่งชิงความเป็นใหญ่ได้เหมือนรัสเซียคงไม่มีอีกแล้ว

สงครามโลกครั้งที่ 1 ในปีแรก รัสเซีย โปแลนด์ กาลิเซีย ต้องพ่ายแพ้อย่างใหญ่หลวง ดินแดนสำคัญต้องตกอยู่ในมือของเยอรมัน และเสียกำลังผู้คนอย่างน่าใจหาย ทหารรัสเซียบาดเจ็บและตายถึง 3,800,000 คน ซึ่งในบรรดาสัมพันธมิตร รัสเซียสูญเสียมากยิ่งกว่าใครๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนก็เห็นว่ารัฐบาลไร้ความสามารถ จนพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ต้องเปลี่ยนตัวแม่ทัพนายกอง รัฐมนตรีกลาโหม เปลี่ยนไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น และในปีที่ 2 ของสงครามโลก ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2458 พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ก็ทรงให้ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า พระองค์จะออกสนามรบเอง

การออกรบในครั้งนี้ทำให้เป็นการอวสานของพระองค์ ของวงศ์โรมานอฟ และขัตติยธิปไตยในรัสเซีย การทำเช่นนี้พระองค์อาจเข้าใจว่า จะทำให้พระองค์และวงศ์กษัตริย์เป็นที่รักใคร่ของราษฎร แต่ไม่ได้นึกถึงผลร้ายที่จะเกิดอีกทางหนึ่ง เพราะเมื่อพระองค์ออกไปรบ ภายในรัสเซียก็ตกอยู่ในมือของ รัสปูติน

เยอรมันส่งรัสปูตินมาเพื่อทำลายล้างรัสเซีย เขามีความร้ายในตัวมากพอที่จะก่อการร้าย เขาปลอมตัวเป็นพระเร่ร่อนพเนจรมาจากไซบีเรีย มีวิชาสะกดจิตอย่างแรงกล้า

ในเวลานั้นพระราชินีรัสเซียเป็นผู้ที่เลื่อมใสในศาสนามาก การนั่งสวดมนต์อ้อนวอน คือความสุขของพระนาง ทรงมีโอรสที่จะเป็นรัชทายาทแต่ก็เป็นคนขี้โรคเกินการรักษาของแพทย์ คือ เมื่อหกล้มหรือมีบาดแผลนิดเดียวก็ทำให้เลือดออกจนซูบซีด ต้องล้มป่วยอยู่นานกว่าจะฟื้น พระราชินีต้องระวังเหมือนไข่ในหิน และแม้จะไม่มีบาดแผลเลือดออก พระโอรสก็เจ็บป่วยอยู่บ่อยๆ

เรื่องของพระโอรสทำความวิตกให้พระราชินีมาก เพราะแพทย์ก็ไม่อาจรักษาได้ และเมื่อรัสปูตินเข้ามาอาสาว่าจะรักษาพระโอรส และรักษาจนอาการดีขึ้นได้ เพราะการสะกดจิตสามารถรักษาโรคบางโรคได้จริงๆ ในสายตาของพระราชินีในตอนนั้น รัสปูตินคือพระเจ้า และได้ปลดพระประจำราชสำนักที่เป็นพระฝรั่งเศส ชื่อ ฟิลิปป์ เดอ ลียองส์ ออกจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้งรัสปูตินขึ้นมาแทนที่ รัสปูตินจึงได้เข้ามาอยู่ในพระราชสำนักรัสเซียตั้งแต่บัดนั้น

พระราชินีทรงมีกำเนิดเป็นเจ้าหญิงเยอรมัน ได้รับการศึกษาอย่างอังกฤษ มีความนิยมในอังกฤษมากกว่าเยอรมัน เมื่อรัสเซียเข้าสงครามเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ ก็สนพระทัยมาก ทรงช่วยงานกาชาดเป็นอย่างดี มีกำลังแรงกล้า แต่มีใจคับแคบ แม้แต่พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ยังตกอยู่ใต้อิทธิพลของพระมเหสี

อำนาจของรัสปูตินได้เพิ่มมากขึ้นจนสามารถให้คุณหรือโทษต่อใครก็ได้ เพราะการยกย่องของพระราชินี เมื่อพูดอะไรพระราชินีก็เชื่อ ใครที่อยากจะได้ดีทางลัดก็ต้องเข้าเป็นพวกของรัสปูติน พวกรัสปูตินมีมากขึ้น และแวดล้อมด้วยสาวสวยที่มาฝากตัวเป็นศิษย์ นายพลคนหนึ่งรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับความประพฤติที่เลวร้ายของเขาที่มีต่อสตรี ถวายต่อพระเจ้าซาร์โดยตรง พระเจ้าซาร์ก็ไม่กล้าวินิจฉัย จึงเอาหลักฐานไปให้พระราชินีดู นายพลผู้นั้นจึงถูกปลดออกจากตำแหน่งไป

รัสปูตินมีอำนาจมากขึ้น จนถึงขึ้นถอดถอนหรือแต่งตั้งรัฐมนตรีได้ เขามีงานเลี้ยงรับรองยิ่งใหญ่เหมือนพระเจ้าแผ่นดิน ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 นายกรัฐมนตรีชื่อ โกเกมีกิน ถูกพระราชินีบังคับให้ลาออก และแต่งตั้งสมุหพิธีการในราชสำนักที่ชื่อ แล สตีอรเบอร์ ขึ้นรับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทน เพราะผู้นี้เป็นลูกศิษย์ของรัสปูติน

พวกเจ้าใหญ่นายโตของรัสเซียก็แลเห็นว่ารัสปูตินเป็นตัวร้าย คนที่สังหารเขาได้ก็ต้องเป็นเจ้าใหญ่นายโตเท่านั้น จนในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2459 เจ้าชายซูยูปอฟ หลานเขยของพระเจ้าซาร์ ได้เชิญรัสปูตินให้ไปงานเลี้ยงที่บ้านเป็นการส่วนตัว และอยู่กันแค่ 2 คน เจ้าชายได้เอายาพิษใส่ลงในเครื่องดื่มของรัสปูติน แต่ยาพิษไม่สามารถทำอะไรเขาได้ เขารู้ตัวและพยายามจะออกไปจากวัง แต่เจ้าชายก็ได้ยิงเขาด้วยปืนอีก 2 ครั้ง เขาจึงต้องจบชีวิตลง พระเจ้าซาร์ต้องทิ้งสนามรบมาเพื่อฝังศพของรัสปูติน ซึ่งได้จัดขึ้นอย่างมโหฬาร

การฆ่ารัสปูตินไม่สามารถระงับการปฏิวัติได้ พอถึงเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460 คนงานสภากาชาดหลายเมืองหยุดงานไปเฉยๆ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ คนในโรงงานทำอาวุธก็หยุดงานหลายแห่ง ต่อมาอาหารในกรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์กก็ไม่มีกินเพราะไม่มีคนส่งให้ ในวันที่ 8 มีนาคม ราษฎรเข้ายึดโรงงานทำขนมปังหลายแห่ง จึงเริ่มเกิดการปฏิวัติขึ้นด้วยราษฎรเอง

ราษฎรต้องล้มตายไปเป็นจำนวนมากด้วยการปราบปรามของตำรวจ ในวันที่ 10 มีนาคม โรงงานและโรงเรียนในเซนต์ปีเตอร์เบิร์กปิดกันหมด มีผู้คนเต็มถนน นักปฏิวัติก็ชักชวนให้คนในชุมชนทำการปฏิวัติ และถูกตำรวจยิงตายไปมาก แต่ทหารบางกลุ่มก็เกิดความเห็นต่อราษฎรจึงเข้าต่อสู้กับตำรวจ

เมื่อพระเจ้าซาร์ทราบเช่นนั้น ก็รับสั่งให้ปราบจลาจลอย่างเด็ดขาด และมอบอำนาจนี้ให้นายพลฮาบาลอฟ โดยเขาประกาศให้ราษฎรอยู่ในความสงบ ห้ามเดินขบวน ห้ามมั่วสุมกัน หากมีการก่อความไม่สงบขึ้นที่ไหนก็จะยิงโดยไม่ปราณี

แต่ราษฎรก็ไม่ได้สนใจกับประกาศนี้ มีคนมากมายมาเดินขบวนตามถนนในวันทอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม ถูกตำรวจยิงกราดล้มตายเป็นจำนวนมาก ในวันที่ 12 มีนาคม กองทหารรักษาพระองค์ก็มาเข้าช่วยราษฎรด้วยและได้ละทิ้งพระเจ้าซาร์ไว้ กองทหารอื่นๆ ก็เข้าช่วยราษฎรด้วย แล้ว เกเรนสกี ก็ออกมาเป็นผู้บัญชาการปฏิวัติ ราษฎรกับทหารได้เข้ายึดโรงแสงสรรพาวุธ เปิดเรือดจำปล่อยนักโทษ วางเพลิงเผาสถานีตำรวจหลายแห่ง กองทหารของรัฐบาลที่ยังมีอยู่บ้างก็ต้องกักไว้ในกรมกองเพราะกลัวจะไปเข้ากับราษฎรเสียอีก นายพลฮามาลอฟที่ได้รับคำสั่งจากพระเจ้าซาร์มาให้ปราบกบฏ ก็ไม่สามารถทำได้

รัสเซียมีสภาที่พระเจ้าซาร์ตั้งขึ้นอยู่แล้ว เรียกว่า สภาดูม่า เพื่อไว้ตอบสนองความต้องการของชาวรัสเซียที่อยากมีรัฐสภาเหมือนประเทศอื่น ซึ่งมีหน้าที่คล้ายสภาองคมนตรี อาจมีการประชุมอภิปรายถวายคำแนะนำแก่พระเจ้าซาร์ แต่ก็อาจจะรับหรือไม่รับคำแนะนำนั้นก็ได้ ในสภานี้มีความโน้มเอียงไปทางปฏิวัติไม่น้อย เมื่อเกิดการปฏิวัติ สภาดูม่า ก็ฉวยโอกาสตั้งตนเป็นสภาแห่งชาติ ทำนองว่าเป็นรัฐบาลชั่วคราว แต่จะไม่เรียกว่ารัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีอย่างที่หลายประเทศเรียกกัน แต่จะเรียกว่า คณะกรรมการ มีการเลือกคนในสภาและพรรคต่างๆ ทำนองรัฐบาลผสม โดยมีประธานกรรมการที่มีฐานะอย่างนายกรัฐมนตรี คือ นายโรดซียังโก เป็นประธานสภาดูม่าอยู่แล้วนั่นเอง

อันที่จริงคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการมีอย่างไรก็ยังไม่แน่ใจ จะได้รับการรับรองของพลเมืองหรือไม่ก็ยังไม่รู้ ตั้งกันไปอย่างนั้นเอง จนกระทั่งนายทหารผู้บังคับบัญชากรมกองต่างๆ ที่มาเข้ากับราษฎรได้บอกให้คำมั่นมาว่า ทหารจะสนับสนุนคณะกรรมการนี้ ขอให้กรรมการคณะนี้ใช้อำนาจและหน้าที่อย่างเป็นรัฐบาลที่แท้จริง จะให้ออกคำสั่งเรียกใช้ทหารเหล่านี้ได้ คณะกรรมการจึงได้ประกอบกันขึ้นเป็นรัฐบาลที่แท้จริง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ก็ยังคงเรียกกกรมการอยู่นั่นเอง ในคณะรัฐบาลใหม่นี้ เกเรนสกีได้รับเลือกเป็นกรรมการยุติธรรม คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

วิธีการของพวกนี้ก็ดำเนินตามแบบการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส คือตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยให้ราษฎรเลือกผู้ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกสภา และในเวลาเดียวกัน ก็ให้ราษฎรเลือกเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นต่างๆ ใหม่ และให้ทหารมีสิทธิออกเสียงเลือกได้ด้วย

แม้การจะได้ดำเนินมาถึงขึ้นนี้แล้ว พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ซึ่งประทับอยู่ในที่บัญชาการฐานทัพก็ยังไม่ทรงหมดหวังที่จะปราบการปฏิวัติ ได้ทรงส่งนายพลอีกคนหนึ่ง คือ อิวานอฟ คุมกองทหารที่เลือกคัดเป็นพิเศษไปปราบการปฏิวัติ แต่กองทหารของนายพลอิวานอฟนี้ ก็ไม่สามารถจะเข้ากรุงเปโตกราดหรือเซนต์ปีเตอร์เบิร์กได้ รัฐบาลชั่วคราวได้โทรเลขถึงแม่ทัพนายกองที่คุมทหารอยู่ในที่ต่างๆ ขอให้ร่วมมือสนับสนุนรัฐบาลใหม่ ก็ได้รับตอบว่าให้ความร่วมมือ ยิ่งกว่านั้น พระราชวงศ์ชั้นสูงขนาดแกรนด์ดุ๊กหลายองค์ ก็เสนอให้ความร่วมมือแก่รัฐบาลใหม่ด้วย พระเจ้าซาร์ไม่รู้จะทำประการใด ก็มีรับสั่งให้เข้ามายังกรุงเปโตกราด ให้นายโรดซียังโกออกไปเฝ้า แต่โรดซียังโกก็ไม่ออกไป

พระเจ้าซาร์เสด็จเข้ามาเอง แต่เข้ากรุงเปโตกราดไม่ได้ จึงเสด็จไปกองบัญชาการของนายพลรุซกี ซึ่งทรงเชื่อว่าเป็นนายพลที่จงรักภักดีต่อพระองค์ที่สุด กองบัญชาการของนายพลผู้นี้อยู่ที่เมืองปสะก๊อฟ แต่ในที่นี้ก็ได้ทรงสอบถามแม่ทัพนายกองต่างๆ ของพระองค์มีความเห็นว่าประการใด ทุกคนตอบว่า เห็นควรจะทรงออกจากราชสมบัติ

ในวันที่ 15 มีนาคม รัฐบาลชั่วคราวได้ส่งผู้แทนสองคนไปเฝ้าพระเจ้าซาร์ ทูลขอให้ลาออกจากราชสมบัติ พระเจ้าซาร์ไม่มีทางขัดขืนได้ ปัญหาอยู่ที่ว่า ใครจะสืบราชสมบัติต่อไป เพราะการลาออกจากราชสมบัตินั้น พระเจ้าแผ่นดินที่ลาออกมีสิทธิจะบอกว่าลาออกเพื่อใคร และให้ราชสมบัติแก่ใคร ผู้มีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะได้ราชสมบัติก็คือ พระราชโอรสของพระองค์ซึ่งทรงเป็นรัชทายาทอยู่แล้ว แต่พระเจ้าซาร์ก็ทรงทราบว่า สุขภาพอนามัยของพระโอรสไม่ดีเลย พระเจ้าซาร์จึงทรงสละราชสมบัติเพื่อแกรนด์ดุ๊กไมเคิล พระอนุชาธิราช และทรงร้องขอไปยังรัฐบาลใหม่ให้ยกแกรนด์ดุ๊กไมเคิลขึ้นสืบราชสมบัติ

แกรนด์ดุ๊กไมเคิล ซึ่งมองเห็นภัยในกาลข้างหน้าไม่ยอมรับราชสมบัติที่พระเจ้าซาร์พระราชทานให้ และบอกไปยังรัฐบาลใหม่ว่าไม่ยอมรับ นอกจากสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้แต่งตั้ง

นี่คืออวสานแห่งราชวงศ์โรมานอฟ ซึ่งเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือคนกว่า 100 ล้านคน สมบูรณ์ด้วยศฤงคารบริวาร ผู้สาบานว่าจะซื่อตรงจงรัก เราจะเห็นได้ว่า การปฏิวัติในรัสเซียไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงอย่างไรเลย การปฏิวัติในฝรั่งเศสในสมัยหลุยส์ที่ 16 เสียอีกที่ยังเสียเลือดเนื้อมากกว่า ไม่มีใครคาดหมายเลยว่า พระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าซาร์จะพังทลายลงง่ายเช่นนี้ นักประวัติศาสตร์ทุกคนให้ความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า ความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าซาร์ เป็นเสมือนสิ่งก่อสร้างมหึมา ที่รากกร่อนผุพังไปนานแล้ว เมื่อยังไม่มีใครกล้าผลักดัน ก็ยังตั้งอยู่อย่างมหึมาน่าสะพรึงกลัว แต่พอมีคนใจกล้ากล้าลองผลักดันเข้านิดเดียวก็พังทลาย การพยายามรักษาความยิ่งใหญ่ด้วยความโหดร้าย เป็นการทำลายรากฐานแห่งความยิ่งใหญ่ของตัวเอง ไม่มีใครจะรักษาความยิ่งใหญ่ไว้ได้นาน ด้วยวิธีการอันโหดร้ายนี้

ข้อควรสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ การปฏิวัติซึ่งมีผลเปลี่ยนโฉมหน้าของรัสเซีย และเปลี่ยนโฉมหน้าของโลก ให้เป็นสีแดงไปซีกหนึ่งนั้น เป็นการใช้กำลังเล็กน้อยในกรุงเปโตกราดนั้นเอง พลเมืองทั่วไปยังไม่รู้ว่าการปฏิวัตินั่นคืออะไร ทราบแต่ว่ามีการปฏิวัติ ซึ่งรัสเซียได้คิดคำใช้ใหม่ว่า เรโวลุตเซีย และราชวงศ์โรมานอฟสิ้นสูญไปแล้ เรื่องได้เกิดขึ้นอย่างเดียวกันกับเมื่อ 92 ปีที่แล้ว เมื่อพวกทหารได้คิดการปฏิวัติโดยมุ่งหมายให้พระมหากษัตริย์รัสเซียอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และให้เจ้าชายคอนสตันตินขึ้นครองราชย์สมบัติแทน พระเจ้าเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 1 เพราะทหารรักเจ้าชายคอนสตันตินมาก คำว่า รัฐธรรมนูญ นั้นรัสเซียก็ยังไม่มีใช้ ต้องเอาคำฝรั่งเศสมาใช้ว่า คองสติตูซิยอง ทหารได้ก่อการจลาจลขึ้น ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2368 ทหารทั้งกองวิ่งมาโห่ร้อง ขอให้เจ้าชายคอนสตันตินทรงพระเจริญ ขอให้คองสติตูซิยองจงเจริญ การจลาจลครั้งนี้ รัฐบาลปราบลงได้ เวลาเอาตัวมาชำระ เมื่อตุลาการถามว่าคองสติตูซิยอง ที่ร้องกันนั้นคืออะไร มีหลายคนตอบว่า คือ เจ้าหญิงชายาของเจ้าชายคอนสตันติน ซึ่งเขารักมาก นี้เป็นเรื่องเมื่อ 92 ปีก่อน การปฏิวัติครั้งนี้เวลาล่วงมาเกือบ 100 ปี พลเมืองไม่ได้รับการศึกษาดีขึ้นอย่างไร มีคนเป็นอันมากเดินทางเข้ามาเปโตกราด หาซื้อรูปถ่ายของ เรโวลุตเซีย ที่เขาได้ทราบว่าขึ้นเป็นใหญ่แทนพระเจ้าซาร์ เขาอยากรู้ว่าเรโวลุตเซียหน้าตาเป็นอย่างไร

เมื่อพระเจ้าซาร์ลาออกจากราชสมบัติ โดยปราศจากผู้สืบสาย อำนาจในการบ้านการเมืองจึงตกอยู่แก่รัฐบาลชั่วคราว และอังกฤษกับฝรั่งเศสก็รีบรับรองรัฐบาลใหม่ เพื่อให้รัสเซียสู้สงครามต่อไป รัฐบาลใหม่ของรัสเซียได้ให้ความมั่นใจแก่อังกฤษ ฝรั่งเศส ว่าจะสู้สงครามจนถึงชัยชนะ และรัฐบาลใหม่นี้ ก็ประพฤติเรียบร้อย ไม่รุนแรง ไม่เข้าแทรกแซงในงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปล่อยให้สภานั้นทำงานโดยเสรีภาพ

บุคคลอีกคนหนึ่ง ซึ่งได้ลงแรงทำงานมากในเรื่องปฏิวัติ และยังไม่ได้เอ่ยชื่อมาจนกระทั่งบัดนี้ คือ ทร้อตสกี บุคคลผู้นี้เป็นผู้ฉลาด มีความรู้สูง และหาพรรคพวกมาไว้ได้มากเหมือนกัน ในระหว่างที่เกิดการปฏิวัตินี้ ทร้อตสกีอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้รีบเดินทางเข้ามาประเทศรัสเซีย ด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษฝรั่งเศส ส่วนเลนินซึ่งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ก็เดินทางเข้ารัสเซียด้วยความช่วยเหลือของเยอรมัน และเข้าถึงกรุงเปโตกราด เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2460 การเดินทางเข้ารัสเซียด้วยความช่วยเหลือของเยอรมันเช่นนี้ ทำให้เลนินตกฐานะยากลำบากมากในชั้นต้น เพราะถึงอย่างไรคนรัสเซียก็ไม่ชอบเยอรมัน ซึ่งจะยังเป็นศัตรูกันอยู่ ยิ่งกว่านั้นเมื่อเลนินเข้าไปถึง ก็ชักชวนไปในทางที่จะให้รัสเซียเลิกสงคราม อ้างว่ามีความจำเป็นต้องปรับปรุงภายในประเทศเพื่อผลดีแห่งการปฏิวัติ การทำสงครามต่อไปไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่ทางเสียแก่ประเทศเช่นนี้ ยิ่งทำให้คนเห็นเลนินเป็นเอเยนต์กินสินบนของเยอรมันมากขึ้น

ในขณะนี้ ผู้ที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ เกเรนสกี ซึ่งมีคณะปฏิวัติคณะใหญ่ เรียกชื่อว่า โซเวียต หนุนหลังอยู่ และเกเรนสกียืนยัให้รัสเซียดำเนินการสงครามอยู่ข้างฝ่ายอังกฤษ ฝรั่งเศสต่อไป เมื่อเลนินเข้ามาชักจูงในทางตรงกันข้าม พวกของเกเรนสกี ก็เสนอความเห็นให้จับเลนิน แต่เกเรนสกียังไม่ทำ “ปล่อยเขาเถอะ” เกเรนสกีพูด “เขาเป็นคนสติไม่ค่อยดี”

แต่การชักชวนของเลนิน ในการที่จะให้รัสเซียปลีกตัวออกจากสงคราม เพื่อปรับปรุงการภายในของรัสเซียเองนั้นได้ผลมากขึ้นทุกที ส่วนดวงดาวประจำชีพของเกเรนสกีก็กำลังรุ่งโรจน์ ในเดือนพฤษภาคม ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ เกเรนสกีได้เป็นประมุขของรัสเซียโดยมีคณะโซเวียตหนุนหลัง ส่วนเลนินและพวกของทร้อตสกี ทำงานร่วมกัน ยังคงแยกกันอยู่เป็นคนละพวก พวกของเลนินมีจำนวนมากกว่า เรียกกันว่ บอลเชวิค ซึ่งแปลว่า พวกข้างมาก ส่วนทางทร้อตสกีมีพวกน้อยกว่า ที่เรียกกันว่า เมนเชวิค แปลว่า พวกข้างน้อย แต่ก็มีความสำคัญมากเหมือนกัน และเป็นอันว่า คณะพรรคการเมืองที่สำคัญของรัสเซียเวลานั้น มีอยู่ 3 คือ โซเวียตของเกเรนสกี บอลเชวิคของเลนิน และเมนเชวิคของทร้อตสกี

เลนินคงดำเนินกุศโลบายอันเดียว แสดงให้คนเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงการภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสังคมและเศรษฐกิจ การปฏิวัติไม่ได้หมายถึงการแย่งอำนาจปกครองจากมือคนคนหนึ่ง หรือพวกหนึ่งมาไว้ในมือคนหนึ่งหรืออีกพวกหนึ่งเท่านั้น แต่หมายถึง งานใหญ่หลวงที่จะต้องทำต่อภายหน้า การโค่นพระเจ้าซาร์ หรือทำลายราชวงศ์โรมานอฟให้ล้มราบไปนั้น ไม่ได้หมายความว่า การปฏิวัติสำเร็จ การปฏิวัติเพิ่งเริ่มขึ้นเท่านั้นเอง การทำสงครามต่อไป มีแต่จะเกิดความพินาศแก่รัสเซีย งานเฉพาะหน้าของรัสเซียเวลานี้อยู่ที่ปรับปรุงการภายใน ซึ่งถ้ามัวติดสงครามอยู่ก็ไม่มีทางจะปรับปรุงได้

ส่วนเกเรนสกี พยายามยึดทางทหาร เอาใจใส่กับทหารเป็นพิเศษ ถึงกับออกไปอยู่กับทหารในสนามรบในบางครั้ง บัญชาการรบด้วยตนเอง ทำงานขันแข็งจนกระทั่งในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 เกเรนสกีเองเป็นผู้บัญชาการรุกรบอย่างใหญ่ เป็นการรุกรบครั้งแรกที่รัสเซียได้ทำตั้งแต่เกิดการปฏิวัติมา การที่เกเรนสกีเข้าไปยึดทหารเป็นที่พึ่ง ถึงกับบัญชาการรบเองเช่นนี้ เปิดช่องให้เลนินมีทางโจมตีเกเรนสกีก็ได้ดียิ่งขึ้น คือ เลนินประกาศว่า เกเรนสกีทำอย่างนั้น โดยหวังความช่วยเหลือของอังกฤษฝรั่งเศส สำหรับจะได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ต่อไป

เผอิญการรุกรบที่เกเรนสกีเปิดขึ้นนั้นก็ไร้ผล ความขาดแคลนเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งในทหารและในชีวิตของพลเมือง ความขาดแคลนอาหารนั้นเป็นภัยที่พลเมืองได้รับอยู่นานแล้ว คราวนี้ทหารในสนามรบเองก็เกิดความขาดแคลนลงไปด้วย ทหารคนหนึ่งได้ขนมปังเพียงวันละ 1 ใน 4 ของปอนด์ จะทำการรบไปได้อย่างไร เครื่องใช้ก็หมดเปลืองไป จนทหารบางกรมกองไม่มีรองเท้าจะใช้ ความตายเพราะอดอยากเจ็บไข้ในสนาม มีมากกว่าความตายด้วยอาวุธของข้าศึก จึงได้เกิดมีทหารหนีทัพเป็นจำนวนมากหลาย เกเรนสกีเห็นว่าการที่เกิดมีทหารหนีทัพก็เนื่องจากการปลุกปั่นของพวกบอลเชวิค และเมนเชวิค จึงรับสั่งจับเลนินและทร้อตสกี และพรรคพวกคนสำคัญๆ ทร้อตสกีกับพวกบอลเชวิค เมนเชวิคหลายๆ คนถูกจับ เลนินหนีได้ แต่ก็มิได้หนีออกจากรัสเซีย คงหลบหนีซุ่มซ่อนอยู่ในรัสเซียนั่นเอง เกเรนสกีได้พยายามประกาศว่า ทั้งเลนิน และทร้อตสกีเป็นเอเยนต์ของเยอรมัน และเป็นศัตรูของประเทศชาติ เป็นอันว่าต่างฝ่ายต่างกล่าวหากัน พวกของเลนินและทร้อตสกี ก็คงดำเนินการป่าวประกาศว่า เกเรนสกีประจบอังกฤษ ฝรั่งเศส เพื่อรักษาความยิ่งใหญ่ของตัวไว้ โดยไม่นึกถึงความยากลำบากของพลเมือง

แต่สิ่งที่ต้องตัดสินความแพ้ชนะของทั้งสองฝ่ายนี้ก็คือความขาดแคลนนั้นเอง สำหรับทหารในสนามรบนั้น นอกจากจะขาดแคลนเรื่องอาหาร และเครื่องหุ้มห่อร่างกายแล้ว กระสุนปืนเองก็บกพร่องขาดแคลนลงไปด้วย เป็นปัญหาที่เกเรนสกีเองไม่สามารถจะแก้ได้ ทหารที่เกเรนสกีพยายามเกาะไว้นั้นก็หันมาเห็นจริงและเลื่อมใสทางเลนิน สุดท้ายทหารก็ยื่นคำขาดต่อเกเรนสกีเองว่าต้องเลิกสงคราม เกเรนสกีถูกบังคับให้สั่งปล่อยพวกบอลเชวิค และเมนเชวิคที่จับไว้ เลนินกับทร้อตสกีก็ร่วมมือกัน พรรคพวกของเลนินมีมากขึ้น เพราะทหารมาเข้าด้วยมากขึ้นทุกที

ในที่สุดเลนินก็ยึดอำนาจด้วยกำลัง มีการสู้รบกันบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นสงครามกลางเมืองใหญ่หลวง เพราะฝ่ายรัฐบาลไม่มีอะไรจะสู้ สุดท้ายเหลือกองทหารหญิงกองเดียวที่เป็นพวกของรับบาล ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2460 รัฐมนตรีต่างๆ ถูกจับมาขังในป้อง เกเรนสกีพยายามรวบรวมทหารคอสแซคนอกกรุงเปโตกราดเพื่อต่อสู้แต่ก็ไม่สำเร็จ เลนินมีชัยมาตั้งรัฐบาลใหม่ที่มอสโก และรัสเซียก็ทำสันติภาพกับเยอรมัน ในคณะรัฐบาลใหม่ซึ่งเลนินเป็นประมุขนี้ ทร้อตสกีได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อได้อำนาจอันแท้จริงไว้ในมือแล้ว เลนินก็ทำตามที่ตนพูด คือปรับปรุงการภายใน เริ่มตั้งแต่ประกาศให้ที่ดินเป็นสิทธิแก่ผู้ที่กำลังทำอยู่ ซึ่งเป็นการรอนริบที่ดินจากพวกเจ้าที่ดิน และใช้คนเป็นสัตว์อยู่ในที่ดินของตัว และต่อมาไม่ช้าก็ประกาศเอาที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐ ริบทรัพย์สมบัติของวัด ซึ่งเป็นแหล่งมั่งคั่งอีกแห่งหนึ่ง ริบบ้านเรือนเคหสถานของผู้มั่งคั่งให้ราษฎรที่ไม่มีบ้านได้เข้าไปอยู่

การปฏิวัติในรัสเซียเริ่มต้นด้วยการไม่เสียเลือดเนื้อมาก แต่ได้มาเสียเลือดเนื้อมากในตอนปรับปรุงตามวิธีของเลนิน พวกคนมั่งมี พวกเจ้าใหญ่นายโตต้องแตกกันไปอยู่ต่างประเทศ หาอาชีพเพียงพอจะให้มีชีวิตอยู่ได้ คนชั้นดุ๊กของรัสเซีย พอใจที่จะรับงานแม้เพียงเป็นคนขับรถ หรือเดินอาหารในเรสเตอรองต์ที่กรุงปารีส สำหรับคนพวกนี้ รัสเซียกลายเป็นประเทศบ้านแตกสาแหรกขาด แต่สำหรับพลเมืองทั่วไป การถูกบังคับให้ทำงานด้วยวิธีการอันแรงร้าย ก็ทำให้มีกินมีอยู่ พูดกันตามความยุติธรรม ฐานะของคนยากจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมกรและชาวนานั้นดีขึ้นกว่าในสมัยซาร์เป็นอันมาก ฐานะของพลเมืองรัสเซียอาจไม่ดีกว่าพลเมืองชาติอื่น แต่ดีกว่าฐานะของตนเองในสมัยซาร์แน่

เซอร์ Bernard Pares คนอังกฤษซึ่งถือกันว่าเป็นนักศึกษาที่รู้ความเป็นไปในรัสเซียดีที่สุด และเขียนเรื่องรัสเซียด้วยความเที่ยงธรรมที่สุด ได้เขียนประวัติศาสตร์รัสเซีย จนกระทั่งถึงสมัยสุดท้ายกล่าวถึงเลนินว่า คนทั้งหลายมองดูเลนินเหมือนโมเสส และเชื่อฟังคำสั่งสอนของเลนินเหมือนบัญญัติ 10 ประการ ที่โมเสสถือลงมาจากยอดเขาซินาอี เป็นอันว่าทั้งนักเขียนอังกฤษ อเมริกา เขียนสอดคล้องต้องกัน ว่าประชาชนชาวรัสเซียรักเลนินเหมือนเทพเจ้า

เลนินเป็นนักปฏิวัติที่ประสบความสำเร็จ เพราะได้ความร่วมมือของประชาชนอย่างแท้จริง เขาทำงานอย่างเผด็จการ แต่เป็นผู้เผด็จการที่ฟังเสียงประชาชน และอารมณ์ดีอยู่ทุกขณะ ครั้งหนึ่งในที่ประชุมใหญ่ หญิงนักการเมืองคนหนึ่ง ลุกขึ้นกล่าวผรุสวาทต่อเลนินอย่างหยาบคาย ชูปืนขึ้นให้ดู บอกว่ามีปืนอยู่สำหรับจะฆ่าเลนิน เลนินหัวเราะและพูดขอต่อที่ประชุมให้อภัยแก่หญิงนั้น เป็นเหตุให้หญิงนั้นรอดอันตรายไม่ถูกฆ่าตายในที่ประชุม

แต่เลนินเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่อายุสั้น มีโรคภัยไข้เจ็บมาก และถึงแก่ความตายเมื่ออายุเพียง 54 ปี นับว่าเป็นอายุน้อยสำหรับผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย แต่สามารถดำรงความยิ่งใหญ่และความรักความนิยมไว้จนกระทั่งตาย เมื่อตายแล้วจึงยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง กรุงเปโตกราดได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เลนินกราด ที่ฝังศพของเลนินเป็นปูชนียสถานสำคัญที่สุดของรัสเซีย ซึ่งมีคนไปทำสักการบูชาอยู่เป็นเนืองนิตย์

ความตายของเลนิน ได้ทิ้งประเทศรัสเซียไว้ในความแข่งดีของบุคคลสองคน คือทร้อตสกี กับ สตาลิน

ชื่อเลนินก็ดี สตาลินก็ดี ไม่ใช่ชื่อกำเนิด เป็นแต่นามที่ใช้ในเวลาเตรียมการปฏิวัติ ชื่อจริงของเขาอ่านยากกว่านี้มาก ชื่อจริงของเลนินชื่อ Vladimir Ilyich Ulianov ชื่อจริงของสตาลิน ชื่อ Yosif Visarionovitch Dzhugasshvili

สตาลินเกิดภายหลังเลนิน 9 ปี เมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้นในรัสเซีย สตาลินมีอายุเพียง 39 ปี แต่ 38 ปีที่ผ่านมานั้น ก็โลดโผนผจญภัยไม่น้อยกว่าผู้อื่น เคยเข้าคุก 5 ครั้ง ไม่ใช่ถูกจำเพียงเวลาเล็กน้อย ได้รับการปล่อยแล้วก็ทำผิดใหม่ ที่จริงถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลานานปี แต่หนีคุกได้เรื่อยๆ จับเอามาขังใหม่ก็หนีได้ใหม่ สุดท้ายก็ต้องไปอยู่ไซบีเรีย อย่างเดียวกับเลนิน เวลาเกิดปฏิวัติในรัสเซีย สตาลินยังอยู่ที่ไซบีเรีย เพิ่งมาเข้าพวกอยู่กับเลนินเมื่อภายหลังปฏิวัติ

แต่มาเข้าพวกก็เด่นขึ้นเร็วมาก ความเด่นของบุคคลผู้นี้ อยู่ที่ความเป็นนกปฏิวัติ ไม่มีใครจะสามารถปฏิบัติตามคำสั่งของเลนินได้ผลสำเร็จเรียบร้อยเหมือนสตาลิน สั่งไว้อย่างไรทำให้อย่างนั้น บางทีไม่ต้องสั่งเพียงแต่ความประสงค์อย่างกว้างๆ ก็ทำมาได้สำเร็จ เลนินได้สังเกตเห็นทั้งความสามารถและความมักใหญ่ใฝ่สูงของบุคคลนี้ เลนินชอบใช้ แต่ไม่ไว้วางใจ ความมักใหญ่ใฝ่สูงของสตาลินทำให้เลนินหวั่นใจทุกขณะ เขาได้รับเลือกขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเลนินตั้งขึ้น อันที่จริงไม่มีใครเหมาะสำหรับตำแหน่งนี้เท่าสตาลิน เพราะคุณสมบัติที่ต้องการมากที่สุดในหน้าที่เลขาธิการพรรค คือ ความเป็นนักปฏิวัติ สมรรถภาพทางดำเนินการให้เกิดผลตามมติของที่ประชุม หรือตามคำสั่งของประมุข แต่บุคคลผู้นี้ทำให้เลนินวิตกอยู่ตลอดเวลา วิตกในนิสัยใฝ่สูง ซึ่งเลนินเองมองเห็นอย่างชัดแจ้ง ถึงกับครั้งหนึ่งเลนินแนะนำสมาชิกที่สำคัญๆ พรรคคอมมิวนิสต์ให้ลงมติเอาคนอื่นเป็นเลขาธิการแทนสตาลิน แต่ก็ไม่สามารถเอาสตาลินออกได้

การที่เลนินไม่ไว้วางไว้ ถึงกับพยายามขับไล่เช่นนี้ สตาลินก็ทราบแต่ทำไม่รู้ สตาลินยังแสดงความเคารพความจงรัก และทำตนเป็นศิษย์ที่ภักดีต่อเลนินอยู่เสมอ ทั้งต่อหน้าและลับหลังเลนิน สุดท้ายเลนินก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน

จากปากคำของคนสนิทที่ปฏิบัติเลนินอยู่ใกล้ชิดในเวลาป่วยหนัก เลนินก็แสดงความวิตกในเรื่องคนที่จะเป็นทายาทรับอำนาจแทนตนต่อไป เลนินพูดถึงสตาลินว่ามีลักษณะเป็นผู้ดีน้อยไป เป็นคนถือตัวหยาบคาย และเกรงจะไม่เป็นมิตรกับราษฎรจริงๆ พูดถึงทร้อตสกีว่ามีความรู้เป็นผู้ดีมากกว่าเลนิน ความรู้ความคิดก็ดีกว่า แต่เป็นคนไม่ตัดสินอะไรแน่นอน เปลี่ยนความคิดเห็นได้ง่าย ตกลงใจไว้อย่างหนึ่ง พอมีใครมาชักจูงไปทางอื่น ก็หันเหเปลี่ยนไป คนชนิดนี้จะฉลาดสักเพียงไร ก็ไม่เหมาะสำหรับจะเป็นผู้นำประเทศ เช่น รัสเซีย รวมความว่า เลนินมองก็ไม่รู้จะเลือกใครเป็นทายาทรับภาระการบ้านเมืองเมื่อตนล่วงลับไปแล้ว เลนินจึงต้องตายอย่างปล่อยให้คนที่อยู่ข้างหลังแย่งชิงกันเอง

นอกจากทร้อตสกีกับสตาลิน ยังมีคนอีกสองคนซึ่งมีความสำคัญ คือ กาเมเนฟ และ ชิโนเวียฟ ซึ่งเราไม่ค่อยได้ยินชื่อ เพราะมีความสำคัญอยู่ไม่มากนัก สตาลินได้มงเห็นอยู่แล้วว่า คู่แข่งอันแท้จริงของตนนั้น คือ ทร้อตสกี จึงได้พยายามผูกมิตรกับกาเมเนฟ และซิโนเวียฟ เพื่อให้ตนมีกำลังเหนือทร้อตสกีอยู่เสมอ เมื่อ 3 กำลังมารวมกันเข้าเช่นนี้ ก็แน่ใจว่าจะสามารถเอาชนะทร้อตสกีได้

เมื่อเลนินถึงแก่กรรม ถ้าสตาลินจะเอาอำนาจเป็นของตนแต่ผู้เดียว ก้มีเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะเอาได้ แต่สตาลินเองได้เสนอความเห็นให้ตั้งคณะปกครองสามคณะ ทำนอง Triumvirate ของโรมันสมัยโบราณ ผู้ที่อยู่ในคณะปกครองสามคนนี้ คือ กาเมเนฟ ซิโนเวียฟ และตัวสตาลินเอง วิธีการที่ไม่ตะกรุมตะกราม ใจเร็วด่วนได้ หาอำนาจคนเดียวในทันทีทันใดเช่นนี้ เป็นผลดีแก่สตาลินเป็นอันมาก ผลดีประการแรกคือ ทำให้คนเห็นว่าสตาลินเสงี่ยมเจียมตัว ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง และผลประการที่สองซึ่งเป็นผลสำคัญยิ่งกว่าคือ วิธีตั้งคณะปกครอง 3 คนอย่างนี้เป็นทางให้สามารถกำจัดทร้อตสกีออกไปได้แน่นอน

แต่ทร้อตสกียังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพยายามผูกมิตรกับแม่ทัพนายกองทั้งหลายไว้เป็นกำลัง หนึ่งปีภายหลังที่เลนินถึงแก่กรรม สตาลินก็ได้แสดงออกมาอย่างเปิดเผยว่า งานสำคัญที่สุดของรัสเซียไม่ได้อยู่ที่การทหาร เพราะไม่ต้องการจะรบกับใคร ในเวลานี้จุดประสงค์ของการปฏิวัติก็ดี แผนการของเลนินก็ดี ความสำคัญยิ่งใหญ่อยู่ที่เศรษฐกิจ หัวใจของลัทธิคอมมิวนิสต์ก็อยู่ในเรื่องเศรษฐกิจนี้เอง การทหารในเวลานี้ใครๆ ก็ทำได้ แต่เรื่องเศรษฐกิจนั้นต้องการผู้มีความสามารถเป็นพิเศษ และก็มองไม่เห็นใครนอกจากทร้อตสกี จึงต้องขอให้ทร้อตสกีย้ายจากกลาโหมมาว่ากระทรวงเศรษฐการ

ที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เห็นชอบ อนุมัติให้ย้ายทร้อตสกีจากกลาโหมมาไว้เศรษฐการ ทร้อตสกีก็รู้ว่าเป็นการสังหารอนาคตของทร้อตสกี เป็นการตัดหนทางตัดกำลังของทร้อตสกีโดยตรง แต่ก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยง ต้องยอมรับตำแหน่งเศรษฐการ แล้วก็มีเรื่องขัดแย้งกันมากหลายกับสตาลิน ซึ่งสุดท้ายทร้อตสกีก็อยู่ในรัสเซียไม่ได้ ต้องร่อนแร่พเนจรไปหลายแห่ง สุดท้ายได้ไปพักอาศัยเป็นหลักแหล่งอยู่ในประเทศเม็กซิโก เกิดเขียนประวัติของสตาลินขึ้นมา เขียนอย่างละเอียดลออ เป็นหนังสือเล่มขนาดใหญ่ เป็นประวัติละเอียดที่สุดที่จะพึงเขียนได้ในเรื่องชีวิตของมนุษย์ที่ยังไม่ตาย นอกจากจะมีข้อความละเอียดพิสดารแล้ว ทร้อตสกียังสามารถหารูปถ่ายยุคต่างๆ ในชีวิตของสตาลิน ตั้งแต่เป็นเด็กจนกระทั่งเติบโต

เขียนเนื้อเรื่องและเตรียมภาพประกอบไว้ได้มากแล้วก็เขียนคำนำ ซึ่งเป็นคำนำที่ยืดยาว สมกับเป็นหนังสือเรื่องใหญ่ พิมพ์ตัวเล็กๆ ในหน้ากระดาษขนาดใหญ่ถึง 4 หน้าครึ่งแล้ว ยังไม่จบคำนำ นั่งเขียนอยู่ในบ้านที่อยู่ของตัวในประเทศเม็กซิโก เขียนมาถึงตอนที่ว่า

“เลนินได้สร้างเครื่องจักรทั้งหลายไว้ให้พรักพร้อม สร้างด้วยความร่วมมือของประชาชนเสมอมา และฟังเสียงประชาชน ถ้าไม่ใช่จากปากคำก็จากหนังสือพิมพ์ ถ้าไม่ฟังเองก็ฟังจากศิษย์ ส่วนสตาลินไม่ได้สร้างเครื่องจักรอันใด แต่ถืออำนาจเข้ายึดครองเท่านั้น ในกรณีเช่นนี้ก็ต้องใช้คุณสมบัติพิเศษอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ใช่คุณสมบัติของบุคคลที่ประวัติศาสตร์จะยอมรับว่าเป็นนักริเริ่ม นักคิด นักเขียนหรือนักพูด เครื่องจักรทั้งหลายได้เติบโตขึ้นจากความคิด แต่ลักษณะอันแรกของสตาลินเป็นคนดูหมิ่นความคิดความคิดได้…”

เขียนได้เพียงเท่านี้ ถูกคนร้ายเอาขวานพกฟันลงบนเบื้องหลังของศีรษะถึงแก่ความตาย เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2483

เมื่อทร้อตสกีถึงแก่ความตาย มีอายุ 63 ปี ทร้อตสกีเกิดก่อนสตาลิน 2 ปี

เมื่อทร้อตสกีไม่สามารถจะเป็นคู่แข่งของสตาลินได้แล้ว บุคคลอีกสองคนคือ กาเมเนฟ กับ ซิโนเวียฟ ก็ร่วงหล่นไปโดยง่าย ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2468 ได้เกิดมีความเห็นขัดแย้งระหว่างกาเมเนฟกับสตาลิน เอาเรื่องขึ้นสู่ที่ประชุม หัวหน้าสายของพรรคกาเมเนฟแพ้คะแนนถึง 1 ใน 10 จึงลาออกไป ต่อมาอีกปีหนึ่งใน พ.ศ. 2489 ซิโนเวียฟได้มอบหมายหน้าที่ให้ติดต่อบัญชาการแก่เอเยนต์คอมมิวนิสต์ในประเทศอังกฤษ ให้มีการหยุดงานทั่วไป การหยุดงานไม่ได้ผล ซิโนเวียฟเลยร่วงหล่นไปอีก ตั้งแต่นั้นมาสตาลินก็ครองอำนาจในรัสเซียเพียงผู้เดียว

ข้อความที่กล่าวในเรื่องเลนิน ซึ่งได้กล่าวเลยไปถึงเรื่องของคนสำคัญรัสเซียอีกหลายคน คือ เกเรนสกี ทร้อตสกี และสตาลินนี้ เรื่องราวแจ่มชัดอยู่ในตัว โครสร้างความยิ่งใหญ่ของตนเองด้วยวิธีการหรือกุศโลบายอย่างไร ท่านคงจะได้เห็นแง่เงื่อนมาโดยลำดับแล้ว
ที่มา:พลตรี หลวงวิจิตวาทการ