เซอร์วอลเตอร์ ราเล่ ผู้สร้างความยิ่งใหญ่ด้วยเสื้อคลุมตัวเดียว

Socail Like & Share

Sir Walter Raleigh
เซอร์วอลเตอร์ ราเล่ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2095 ในประเทศไทยก็อยู่ในสมัยอยุธยา

ราเล่ได้เข้าศึกษาในวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเมื่อตอนอายุ 14 ปี เรียนอยู่ได้ 3 ปี และยังไม่จบการศึกษาก็ออกไปเฉยๆ เขาอยากได้ความรู้ด้วยการท่องเที่ยวผจญภัยในโลกกว้างเพื่อหาประสบการณ์ ไม่ใช่เป็นการเรียนเฉพาะในห้องเรียนหรือห้องสมุด

ในขณะนั้น พวกเจ้านครต่างๆ ในประเทศฝรั่งเศสได้มีการรบพุ่งกันเพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่ ราเล่ได้ไปประเทศฝรั่งเศสหลังจากออกจากวิทยาลัย ในตอนนั้นเขามีอายุได้ 17 ปี และอาสาเข้ากับพวกหนึ่งทำการรบจนได้ชื่อเสียงว่าเป็นนักรบที่เก่งกล้า แล้วจึงกลับมาประเทศอังกฤษ ราเล่ได้อาสาออกไปรบอีกเมื่อมีเหตุจลาจลระหว่างอังกฤษกับไอร์แลนด์ จนมีชื่อเสียงในความกล้าหาญและฝีมือการรบมากขึ้นทุกที เมื่ออายุได้ 29 ปี ก็ได้เข้ารับราชการในราชสำนัก เป็นคนรับใช้ของเจ้าใหญ่นายโตคนหนึ่ง ซึ่งประเทศอังกฤษในเวลานั้นเป็นสมัยของ พระนางเจ้าอลิซาเบธ

พระนางเจ้าอลิซาเบธ ทรงอยู่ในราชสมบัติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2101-2146 ซึ่งยืนยาวถึง 45 ปี เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ ที่ปกครองด้วยพระราชอำนาจส่วนพระองค์มากที่สุด รากฐานแห่งความยิ่งใหญ่ของชาติได้เริ่มก่อขึ้นอย่างมั่นคง ด้วยอังกฤษได้เริ่มเข้าสู่การเป็นจ้าวโลก มีกองทัพเรือที่เข้มแข็ง การคมนาคมที่สะดวกจึงทำให้มีสินค้าแพร่ไพศาลไปทุกทิศ และได้เริ่มทำการหาเมืองขึ้นกันอย่างจริงจัง

พระนางเจ้าไม่เคยมีพระราชสวามี ไม่เคยอภิเษกสมรส จนตลอดพระชนม์ชีพ เป็นราชินีที่ฉลาด เข้มแข็ง ร้ายแรง มีความรู้สูง สามารถเขียนและพูดภาษากรีก ละติน ฝรั่งเศส และอิตาเลียนได้เป็นอย่างดี ทรงใช้อำนาจแบบเผด็จการ เข้มงวดและเหี้ยมหาญ เสนาบดีทั้งหลายของพระองค์มีหน้าที่เป็นเพียงราชเลขานุการปฏิบัติตามกระแสพระบรมราชโองการเท่านั้น

ในขณะที่ราเล่รับราชการเป็นเด็กรับใช้ของเจ้านายคนหนึ่งนั้น ชื่อเสียงและความกล้าหาญในการเป็นนักรบของเขา ได้ทราบไปถึงพระนางเจ้าอลิซาเบธ ก็ทรงทดลองให้งานกับราเล่และเป็นที่พอพระทัย สุดท้ายก็ได้รับเข้ารับราชการ กลายเป็นคนโปรดของพระราชินี

ในขณะที่เป็นคนโปรดของพระนางเจ้าอลิซาเบธ ราเล่มีอายุได้ 31 ปี และพระนางเจ้าอลิซาเบธมีพระชนม์ 50 พรรษา

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งราเล่เคยถอดเสื้อคลุมของตัวเองปูบนแผ่นดินที่ชื้นแฉะเพื่อให้พระนางเจ้าอลิซาเบธเสด็จดำเนินไป ขณะที่พระนางเจ้าเสด็จไปบนเสื้อนั้นก็ประทานยิ้มที่มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดแก่ราเล่โดยเฉพาะ พฤติการณ์อันนี้ คนทั้งหลายก็ทราบว่า ราเล่ได้ขึ้นสู่ความเป็นคนโปรดแล้ว

ราเล่ได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดพระองค์มากที่สุด ฐานะของเขาก็ดีขึ้นทุกที โดยได้รับพระราชทานฐานันดรเป็น “เซอร์” ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งแสดงว่าได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยเป็นที่สุด

ราเล่รู้ดีว่าชีวิตเมื่อมีขึ้นก็ต้องมีลง วิถีทางที่จะไม่ตกลงมาได้นั้น คือไม่ก้าวขึ้นไป เขากลัวที่จะตกต่ำลงมาแต่ก็อยากก้าวขึ้นไปให้มากๆ เหมือนกัน และได้เขียนข้อความด้วยหัวของแหวนเพชรไว้บนแผ่นกระจกซึ่งติดอยู่ในพระราชฐานที่ประทับของพระราชินี มีข้อความว่า
Fain would I rise, yet fear to fall
(เมื่อขึ้นได้สูงก็ชื่นชมยินดี แต่กลัวเสมอว่าอาจพลัดตกลงมา)

ต่อมาอีก 2-3 วัน เขาก็ได้เห็นข้อความเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระราชินี เขียนต่อลงมาจากข้อความของเขาว่า
If the heart fails thee, climb not at all
(ถ้าใจเธอไม่กล้าพอ ก็อย่าปีนขึ้นมา)

แต่ราเล่ก็มีความกล้าพอที่จะปีนขึ้นไป และก็ทำได้สำเร็จ เป็นที่พอพระทัยของราชินีเป็นอย่างมาก ได้เป็นตัวโปรดจะขอพระราชทานอะไรก็ได้ จนเขาได้กลายเป็นคนมั่งคั่งใหญ่หลวง ได้รับพระราชทานที่ดินราว 1 แสนไร่ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากสำหรับแผ่นดินเล็กๆ เช่นประเทศอังกฤษ

เสียงกล่าวร้ายติฉินนินทามีขึ้นทั่วไป หลังจากที่เขาได้ขึ้นสู่ฐานะสำคัญและมีความมั่นคงใหญ่หลวงนี้ แต่เขาก็ถือสุภาษิตที่ว่า “สุนัขย่อมจะเห่าแต่คนที่มันไม่รู้จัก” ซึ่งเป็นความจริงว่า ถ้าได้รู้จักมันคงไม่ทำเช่นนี้ หากใครที่ได้ติดต่อกับเขาอย่างใกล้ชิด เห็นนิสัยใจคออันแท้จริงของเขา ก็ต้องยอมรับว่าเขาเป็นคนดีและชอบคนคนนี้ขึ้นมาได้

ในการหาเมืองขึ้นและแย่งอำนาจกับสเปนซึ่งมีจักรภพยิ่งใหญ่ไพศาลในเวลานั้น ราเล่ก็ได้เป็นคู่คิดสำคัญของพระนางเจ้าอลิซาเบธ ราเล่มีความสนใจในเรื่องทรัพยากร เรื่องแร่ เรื่องพฤกษชาติ นำพันธุ์พืชจากเมืองขึ้นที่สามารถปลูกในอังกฤษได้มาปลูก ได้นำพันธุ์ยาสูบเวอร์จิเนียจากทวีปอเมริกาเข้ามาปลูก และเขาก็ได้ชื่อว่า เป็นคนแรกที่สอนให้ชาวอังกฤษ หรือชาวยุโรปรู้จักสูบยากล้อง เขาได้ใช้ที่ดินอันกว้างขวางของเขานั้นเป็นไร่มันฝรั่ง เป็นการลดหย่อนการซื้ออาหารจากประเทศอื่นเข้ามา ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศอังกฤษได้ และเขาก็ได้กลายเป็นนักค้นคว้าเรื่องสมุนไพรอย่างมากอีกด้วย เนื่องจากมีความสนใจในพฤกษชาติที่จะนำมาใช้เป็นยา โดยการนำมาปลูกและทดลอง

เขาได้เขียนเรื่องของเขาเองว่า ความฝันของเขาอยู่ที่การท่องเที่ยวแสวงหาเมืองขึ้น บุกเบิกและขุดค้นแผ่นดินในเมืองขึ้นให้เป็นประโยชน์ เอาวิชาความรู้ไปทำประโยชน์แก่เมืองขึ้น เอาทรัพยากรพืชผลพันธุ์พฤกษ์ของเมืองขึ้นมาทำประโยชน์แก่อังกฤษ เขาจะลงทุนของเขาเองถ้ารัฐบาลไม่ออกทุนให้ การขอพระราชทานที่ดินและทุนนั้น ก็เพื่อประโยชน์ที่เป็นผลถาวรแก่ประเทศชาติด้วย

เขาได้ของอนุญาตเพื่อไปทดลองลงทุนเพาะปลูกในทวีปอเมริกา และพระนางเจ้าอลิซาเบธก็ยอมให้เงินลงทุนก้อนใหญ่นั้นแก่ราเล่ แต่มีเงื่อนไขว่า ราเล่ต้องไม่ไปทำงานที่นั่นด้วยตนเอง ต้องอยู่ใกล้ชิดพระองค์ และทำหน้าที่เป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ จะไปอยู่ห่างไกลอย่างนั้นไม่ได้

ราเล่ได้ทำหน้าที่อย่างผู้บัญชาการกองทัพเรือ สร้างเรือรบ ฝึกสอนการรบ ออกคำสั่งให้เรือรบออกไปทำการในขณะที่มีการรบพุ่งกับสเปนอยู่เรื่อยๆ ในขณะนั้น และในบางครั้งเขาก็ต้องออกไปควบคุมเรือกลางทะเลเองบ้าง แต่พระนางเจ้าอลิเบธได้ออกคำสั่งว่า เมื่อมีการรบ ราเล่ต้องอยู่นอกแนวรบ ไม่ต้องเข้าไปรบด้วย ให้รีบกลับมาอยู่ใกล้ชิดพระองค์เพราะหน้าที่บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์สำคัญกว่า และก็เป็นการยากที่จะได้ชัยชนะเมื่อตัวผู้บังคับบัญชาไม่เข้ารบด้วย จนในที่สุดราเล่ก็ได้รับอนุญาตให้ออกไปทำการรบเองบ้าง และได้รับชัยชนะเสมอมา

ซึ่งทำให้ราเล่ เป็น “ตัวโปรด” ที่แท้จริง

ในสมัยหนึ่งมีเด็กหนุ่มอายุเพียง 19 ปี เป็นเด็กฉลาดและมักใหญ่ใฝ่สูงมาก แอบมาได้รับการโปรดปรานของพระราชินี ซึ่งเกือบจะมีคู่แข่งมาแย่งเอาความเป็นตัวโปรดไปเสีย ทั้งๆ ที่ราเล่ต้องแสวงหาเมืองขึ้นเพื่อก่อผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติตามแผนของเขา เขาก็ไม่ยอมสละความเป็นตัวโปรดของเขาไป เพราะเด็กหนุ่มคนนี้ได้กล่าวร้ายใส่โทษให้เขาต่างๆ นานา เขาต้องต่อสู้กับเด็กหนุ่มคนนี้และตำแหน่งของคนโปรดก็ยังไม่หลุดมือไป ในภายหลังราเล่ก็ได้รับพระราชทานคฤหาสน์ใหญ่แห่งหนึ่งชื่อ คฤหาสน์เชอร์บอร์น

คฤหาสน์เชอร์บอร์น เป็นคฤหาสน์ที่พระมหากษัตริย์อังกฤษเคยพระราชทานแก่คนโปรดปรานที่สุด มีประวัติที่ร้ายแรง แต่มีความสวยงามมาก ว่ากันว่าใครได้เห็นจะต้องหลงความงามจนต้องหยุดหายใจ และคนโปรดคนใดที่ได้รับพระราชทานคฤหาสน์นี้ สุดท้ายจะต้องถูกประหารชีวิตเสมอ

ราเล่ได้พยายามทำทุกอย่างที่เรียกว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก เขาขอพระราชทานอยู่เรื่อยๆ จนครั้งหนึ่งพระนางเจ้าอลิซาเบธก็ได้ตรัสถามเขาว่า “เมื่อไรเธอจะเลิกเป็นขอทานเสียที” และเขาก็ตอบว่า “เมื่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงเลิกเป็นผู้มีน้ำพระทัยเต็มเปี่ยมด้วยพระเมตตา” เขาก็จะได้สิ่งที่เขาขอเสมอ

แต่ในที่สุดเขาก็ต้องเผชิญกับเคราะห์กรรมที่เขาทำขึ้นเอง โดยเขาได้เกิดรักใคร่กับนางกำนัลของพระนางเจ้าอลิซาเบธ ที่ชื่อ อลิซาเบธ ทรอคมอร์ตัน และได้ลอบแต่งงานกัน เมื่อความลับรู้ไปถึงพระราชินีก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ ผู้ที่ได้รับพระราชทานคฤหาสน์เชอร์บอร์นที่ลงท้ายจะต้องถูกประหารชีวิตเสมอนั้นก็อาจจะเป็นความจริง เขาลืมนึกไปว่าการแต่งงานของเขาไม่อาจเป็นความลับได้เพราะศัตรูของเขาก็มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ราเล่ก็ต้องหนี เขาถูกตามจับมาขังไว้ในป้อมด้วยความผิดฐานลักลอบแต่งงานกับนางกำนัลของพระราชินีโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต

ส่วนนางกำนัลที่ชื่อ อลิซาเบธ ทรอคมอร์ตัน ก็ถูกขับออกจากราชสำนักให้ไปอยู่ที่คฤหาสน์เชอร์บอร์น โดยไม่มีสามี ในขณะที่เกิดเหตุการณ์นี้ อยู่ใน พ.ศ. 2126 ซึ่งราเล่มีอายุได้ 41 ปี และพระราชินี มีพระชนม์ได้ 60 พรรษาพอดี

ราเล่เป็นนักโทษถูกขังอยู่ใต้ความควบคุมภายในป้อง ได้รับเสรีภาพพอสมควรไม่ถึงกับเข้มงวดกวดขัน ราเล่เป็นที่รักของบรรดาทหารเรือ เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป ทหารเหล่านี้ก็ไม่พอใจเป็นอันมาก และราเล่เองก็คิดว่าการจับกุมนี้เขาคงได้เป็นอิสระในไม่ช้า และเมื่อมีเรือโปรตุเกสที่บรรทุกสินค้าหลายลำถูกเรืออังกฤษขับไล่มาเกยตื้นที่ฝั่งเกาะอังกฤษ ทำให้พลเมืองพากันไปแย่งเอาทรัพย์สินในเรือจนเกิดความจลาจล พวกทหารเรือจึงได้ร้องขอมายังรัฐบาลว่าให้ส่งราเล่ไปช่วย เพราะไม่สามารถปราบจลาจลในครั้งนี้ได้ พระราชินีก็ให้คนคุมตัวราเล่ไปเพื่อปราบจลาจลเมื่อเสร็จแล้วก็คิดจะนำมาขังใหม่ ราเล่ได้กระทำการไปได้อย่างเรียบร้อย และพระราชินีก็ตัดสินพระทัยปล่อยราเล่จากการคุมขัง แต่ไม่ยอมให้เข้าเฝ้าหรือรับราชการใกล้ชิดอีกต่อไป

ราเล่พอใจกับการถูกปลดออกจากตำแหน่งและได้รับอิสระในครั้งนี้ เพราะเขาจะได้มีโอกาสอยู่กับภรรยา และใช้เวลาทำงานอย่างคนนอกราชการ เขาได้ค้นคว้าเรื่องเครื่องสมุนไพรเพราะมีความสนใจในเภสัชกรรม ได้แสวงหาสรรพคุณทางยาจากพืชที่ได้นำมาปลูก และเริ่มสนใจในกวีนิพนธ์และไปมาหาสู่กับพวกกวี เริ่มสนใจในศาสนา โดยเฉพาะลัทธินิกายพูริเตน ซึ่งเป็นนิกายของพวกที่พากันอพยพไปอยู่ที่ทวีปอเมริกา และจากการค้นคว้าเครื่องสมุนไพรดังกล่าว จึงทำให้เขากลายเป็นหมอขึ้นมา

ราเล่ยังอยู่ในวัยที่ขยันขันแข็ง ยังมีความมักใหญ่ใฝ่สูงอยู่ ต้องการจะไปแสวงโชคที่อเมริกาอีก และเขาก็ได้รับการอนุญาตจากพระราชินี เขาได้ออกเดินทางไปเกียนาในปี พ.ศ. 2138 ขณะที่มีอายุได้ 43 ปี เขาได้รับการต้อนรับจากคนที่นี่เป็นอย่างดี และทราบดีว่าในอเมริกาที่เป็นเมืองขึ้นของสเปนนั้น คนพื้นเมืองที่เป็นชาวอินเดียนแดงและฝรั่งที่ทำมาหากินอยู่จำนวนมากได้รับความทารุณโหดร้าย แม้แต่ชาวสเปนเองที่มาตั้งภูมิลำเนาทำมาหากินอยู่ก็เบื่อหน่ายเกลียดชังรัฐบาลและข้าหลวงสเปนที่มาประจำ ราเล่ได้ไปทูลขอกำลังรบ ไปต่อสู้กับสเปน เพื่อจะแย่งดินแดนมาเป็นของอังกฤษ หรือตั้งขึ้นเป็นประเทศอิสระให้แก่ผู้ที่มาตั้งภูมิลำเนาอยู่นั้น และเป็นการตัดรอนความยิ่งใหญ่ของสเปนลงไป

แต่พระราชินีก็ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า แต่ราเล่ก็ได้รับพระราชทานกองทัพเรือน้อยๆ หลังจากได้พยายามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาชี้แจงเหตุผล ประกอบกับหาคนที่ใกล้ชิดช่วยเพ็ดทูล ราเล่ได้ชัยชนะจากสเปนทุกหนแห่ง ทำให้สเปนอ่อนแอลงไปทุกทีและต้องหมดลงเพราะอำนาจของอังกฤษเข้าไปแทนที่ จักรภพของอังกฤษได้แผ่ไพศาลไปครึ่งทวีปอเมริกา ทำให้ราเล่ภูมิใจในงานของเขาอย่างที่สุด

แต่การกระทำครั้งนี้ไม่มีใครเห็นดีเห็นงามกับราเล่ กลับถูกกล่าวโทษว่าทำให้เสียทางไม่ตรีกับสเปน และไม่ได้รับการยกย่องจากพระนางอลิซาเบธเหมือนแต่ก่อน ขณะนั้นพระนางอลิซาเบธก็ทรงพระชรา พวกศัตรูในราชสำนักก็ได้ยุยงพระนางและพระรัชทายาทผู้ที่จะได้สืบราชสมบัติ เมื่อพระนางเจ้าอลิซาเบธสิ้นพระชนม์ลงเขาก็จะดำเนินการอันนี้อย่างรอบคอบ พระเจ้าเจมส์ก่อนที่จะได้ราชสมบัติต่อก็มีความเกลียดชังราเล่มาก

ใน พ.ศ. 2146 พระนางเจ้าอลิซาเบธได้สิ้นพระชนม์ลง ด้วยพระชนมายุ 70 พรรษา เวลานี้ราเล่มีอายุได้ 51 ปี มีโรคภัยไข้เจ็บและสุขภาพที่เสื่อมโทรมจากการตรากตรำในช่วงหลังๆ เมื่อพระเจ้าเจมส์ได้รับพระราชสมบัติต่อก็ได้ตั้งนโยบายขึ้นใหม่ ด้วยการจะกลับไปผูกมิตรกับสเปน ทรัพย์สินต่างๆ ของราเล่ที่เคยได้รับก็ถูกริบคืนไปทีละน้อยจนหมด แต่ยังคงเหลือคฤหาสน์เชอร์บอร์นเท่านั้นที่ไม่ถูกริบ

3 เดือนกับ 24 วัน หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระนางเจ้าอลิซาเบธ คือในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2146 ราเล่ก็ถูกจับในข้อหาทรยศต่อประเทศชาติ เมื่อขึ้นศาลก็หาพยานไม่ได้สักปากเดียว และถูกพิพากษาตัดสินว่ามีความผิด ให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอต่อหน้าประชาชน

ชนชาวอังกฤษได้ทราบข่าวการพิพากษาประหารชีวิตราเล่ด้วยความขมขื่น เพราะรู้ดีว่าราเล่ได้ทำความดีไว้มากมาย คนบางกลุ่มยังกล้ายื่นฎีกาทูลเกล้าถวายต่อพระเจ้าเจมส์เพื่อให้ราเล่พ้นโทษ แต่ก็ไม่เป็นผล ราเล่ได้เขียนจดหมายถึงภรรยาว่าเมื่อเขาตายแล้วไม่ต้องไว้ทุกข์ เพราะไม่ทำให้เขากลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้

แม้วันที่ต้องประหารชีวิต ศัตรูของราเล่ก็ยังหาทางทรมานใจเขาให้มากขึ้น ด้วยการนำนักโทษคนอื่นๆ ที่ต้องถูกประหารชีวิตด้วยในวันนั้น ไปประหารชีวิตก่อน โดยให้ลาเร่มองเห็นจากที่คุมขังเพื่อให้เกิดความทรมานใจมากขึ้น

นักโทษได้ถูกประหารชีวิตไปต่อหน้าเขา และประชาชนเป็นอันมาก เป็นรายๆ ไป และเมื่อมาถึงคิวของราเล่ กลับต้องรอนานจนผิดสังเกตและล่วงเลยเวลาไปมาก และได้ทราบว่าราเล่ได้รับลดหย่อนผ่อนโทษจากพระเจ้าเจมส์ในวาระสุดท้าย จากการประหารชีวิตมาเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน

ราเล่ต้องมีชีวิตอยู่อย่างคนที่ตายไปแล้วเพราะโทษในครั้งนี้ และผู้คนก็ได้พูดกันว่า ใครที่ได้รับพระราชทานคฤหาสน์เชอร์บอร์น ไม่เป็นความจริงเสมอไปที่จะต้องถูกประหารชีวิตทุกราย แต่อาจเป็นเพียงการจำคุกไปตลอดชีวิตเท่านั้นก็ได้

ราเล่ได้เขียนหนังสือตำรา และค้นคว้าทดลองเครื่องสมุนไพรเพื่อทำยารักษาโรคด้วยพืชพันธุ์ต่างๆ ในขณะที่ถูกคุมขัง ผลที่ออกมาได้ผลดี ราเล่ได้กลายเป็นหมอในคุกรักษาโรคหายจนมีผู้เลื่อมใสและเล่าลือไปสู่ภายนอก คนภายนอกก็ขออนุญาตเข้าไปรักษากับราเล่จนเขามีชื่อเสียงโด่งดัง และได้รักษาโรคให้กับพระราชินีองค์ใหม่จนหาย พระราชินีจึงให้สัญญากับราเล่ว่าจะหาทางช่วยให้เขาพ้นโทษให้ได้

และมีเจ้าชายหนุ่มองค์หนึ่ง ชื่อว่าเจ้าชายเฮนรี่ ทราบว่าราเล่กำลังเขียนหนังสือตำราทางการเมือง แม้ว่าราเล่จะไม่ใช่นักศึกษาที่เปรื่องปราชญ์มาก่อนแต่ก็เชื่อว่าคงจะมีเรื่องดีๆ เพราะชีวิตที่สูงลงต่ำของเขาอาจทำให้เขามีความรู้สึกนึกคิดที่น่าเรียนรู้ ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ พระเจ้าเจมส์ก็อนุญาตให้ไปมาหาสู่กับราเล่ในคุกได้ และได้ขอความรู้จากราเล่เกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง

ราเล่ได้เขียนตำราประวัติศาสตร์เพื่อประโยชน์แก่เจ้าชายพระองค์นี้ โดยให้ชื่อว่า ประวัติศาสตร์โลก แต่การเขียนหนังสือในคุกก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ตรวจตราอย่างเข้มงวดตามลำดับชั้นของผู้บังคับบัญชา และในที่สุดก็มาถึงพระมหากษัตริย์ เรื่อง “ประวัติศาสตร์โลก ได้ถูกห้ามเขียนเมื่อเขียนมาได้ถึงสมัยโรมัน เพราะมีข้อความที่กระทบต่อพระมหากษัตริย์ นอกเหนือจากเรื่องนี้ ราเล่ได้เขียนตำราไว้อีก 3 เรื่อง คือ เรื่อง “เอกสิทธิ์ของรัฐสภา” , เรื่อง “คณะรัฐมนตรี” และเรื่อง “เล่าเรื่องสงคราม” ในสมัยหลังๆ เรื่องที่ 3 ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นหนังสือชั้นดี และเจ้าชายเฮนรี่ก็ได้มาฝากตัวเป็นศิษย์ไปมาหาสู่กับราเล่อยู่ตลอดเวลา

เมื่อเป็นเช่นนี้ความหวังของราเล่ในการที่จะพ้นโทษก็มีเสมอๆ และได้เป็นอาหารหล่อเลี้ยงให้เขามีชีวิตยืนยาวอยู่ได้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2159 พระเจ้าเจมส์ได้พระราชทานอภัยโทษให้ราเล่ออกจากคุก หลังจากที่ต้องติดอยู่นานถึง 13 ปี ในขณะนั้นเขามีอายุได้ 64 ปีแล้ว

แล้วก็มีคนพูดกันต่ออีกว่า ถ้าใครได้รับพระราชทานคฤหาสน์เชอร์บอร์นจะต้องถูกประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ก็ไม่ถูกต้อง เพราะราเล่สามารถพ้นโทษได้แล้ว

เมื่อพ้นโทษแล้ว พระเจ้าเจมส์จึงพระราชทานผู้คนและเครื่องมือสำหรับไปค้นหาแหล่งทอง เนื่องจากราเล่มีความชำนิชำนาญในภูมิประเทศที่เกียนา เขาต้องรับทำหน้าที่อันนี้ทั้งๆ ที่เขามีอายุถึง 64 ปีแล้ว

เพียงไม่กี่สัปดาห์ราเล่ก็ได้ไปถึงแหล่งค้นหาทอง แต่ได้เกิดเหตุการณ์ที่เขาไม่คิดมาก่อน เมื่อทหารสเปนกลุ่มหนึ่งได้เข้ามายิ่งพวกของราเล่ก่อน และได้ต่อสู้กัน แม้ราเล่จะมีคนน้อยกว่าแต่ก็ไม่มีใครหนี ไม่นานทหารสเปนก็ล่าถอยไป

ราเล่ก็ได้ค้นหาแหล่งทองต่อไป ทั้งๆ ที่มีอายุมาก ร่างกายอ่อนแอ มีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ก็บุกบั่นอย่างเต็มที่ ต่อมาเขาก็ได้ข่าวว่า การยิงกับทหารสเปน รัฐบาลถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะรัฐบาลสเปนได้กล่าวว่ารัฐบาลอังกฤษส่งราเล่ไปก่อความไม่สงบ คนที่ใกล้ชิดกับราเล่แนะนำให้เขาหนีไป แต่ราเล่คิดว่าในเมื่อเขาไม่ได้ทำความผิดจะหนีไปทำไม การหลบก็เท่ากับว่าตนรับผิดในสิ่งที่ทำ และสเปนจะต้องกล่าวหาประเทศอังกฤษได้มากขึ้น เขาจึงเดินทางกลับประเทศอังกฤษเพื่อแก้คดี และเขาก็ถูกจับอีกครั้ง

การแก้คดีของเขา ไม่ได้หมายความว่าเขาจะแก้คดีของตัวเขาเอง แต่เจตนาจะมาแก้คดีเมืองสำหรับประเทศอังกฤษ ราเล่ถูกขึ้นศาลอีกครั้งในข้อหาอุกฤษฏ์โทษ เป็นความเสื่อมเสียแก่ราชอาณาจักร เป็นคดีกบฏ

และศาลก็ได้ตัดสินประหารชีวิตราเล่ ซึ่งน้อยคนนักที่จะถูกตัดสินประหารเป็นครั้งที่ 2 พระเจ้าเจมส์จึงมีรับสั่งให้รีบดำเนินการประหารชีวิตโดยไม่รอช้า เนื่องจากทราบดีว่าประชาชนรักราเล่มาก และเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2161 เขาก็ถูกประหารชีวิตจริง ขณะนั้นราเล่มีอายุได้ 66 ปี

ความภายหลังปรากฏออกมาว่า ราเล่ตายด้วยฝีมือการทรยศของชนชาติเดียวกันเอง เนื่องจากศัตรูที่เกลียดชังราเล่ ได้พยายามทำลายเขามาตลอด เมื่อราเล่ออกจากคุกมาก็ไม่ได้เลิกคิดประทุษร้ายและพยายามทำลายใหม่ การที่ราเล่ไปหาแหล่งทองที่อเมริกาย่อมเป็นช่องทางที่ดีสำหรับพวกนี้ จึงได้สมรู้ร่วมคิดกันกับขุนนางสเปนเพื่อก่อความผิดให้ราเล่ ราเล่ได้ช่วงชิงดินแดนภายใต้การยึดครองของสเปนมามาก เขาจึงเป็นที่เกลียดชังของสเปนมาแต่ไหนแต่ไร จึงร่วมมือกันได้ด้วยดี

การค้นคว้าอย่างลึกซึ้งของนักประวัติศาสตร์อเมริกันได้กล่าวว่า ผู้ที่สมคบกับสเปนไม่ใช่คนอื่น แต่เป็นพระเจ้าเจมส์เองที่ทำความตกลงกันอย่างลับๆ เพื่อขายหัวราเล่ให้กับสเปน เพื่อรับสินบนที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง

ข้อยืนยันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นความจริงเพียงไร แต่ได้สังเกตเห็นในประวัติศาสตร์ว่า บุคคลใดแม้จะเป็นคนดีที่สุด แต่ถ้าท่านผู้ยิ่งใหญ่เกลียดชังเบื่อหน่าย หรือเลิกใช้ แต่แล้วภายหลังก็กลับมาใช้อีก ก็มักจะใช้ด้วยความไม่หวังดี มักมีเจตนาร้าย ให้ไปตาย หรือใช้ในสิ่งที่คนอื่นไม่ยอมทำเหลือเดนจากคนอื่น และสุดท้ายก็เกิดผลร้ายแก่ตัวผู้รับใช้เสมอ

การประหารชีวิตของร่าเล่ในครั้งนี้ เป็นการเอาคอพาดที่เขียง แล้วเอาขวานขนาดใหญ่ฟัน ราเล่ได้เขียนข้อความก่อนที่จะถูกนำไปประหารว่า “โลกนี้ทั้งโลกมิใช่อย่างอื่น โลกเป็นแต่เพียงคุกขนาดใหญ่ และมีวิธีประหารที่เลือกได้หลายๆ อย่างเท่านั้นเอง” เมื่อคิดดูก็เป็นความจริง อย่างเช่นราเล่ ที่ซึ่งถูกขังมาถึง 3 ครั้ง ถูกตัดสินประหารชีวิต 2 ครั้ง แม้ในเวลาที่รุ่งโรจน์ก็อยู่ในภาวะผูกพันไม่ผิดกับการถูกขังคุกมีความล่อแหลมความตายอยู่ทุกขณะ ไม่มีอิสระแก่ตัว ไม่เคยสบายใจแม้ในชีวิตนอกคุก

ความตายของราเล่ มิได้ปราศจากความสงสารเห็นใจจากคนทั้งหลาย แม้แต่ตัวเพชฌฆาตเองก็ต้องคุกเข่าร้องไห้ฟูมฟายอยู่ข้างๆ ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่เช่นนี้เนื่องจากจะเป็นการเสี่ยงต่อคอของเขาเอง ราเล่ปลอบให้เพชฌฆาตทำงานตามหน้าที่ โดยเอามือแตะไหล่ และบอกว่า เมื่อเอาคอพาดเขียงแล้ว ให้รอจนเขายกมือเป็นสัญญาณก่อนแล้วจึงค่อยฟัน

การที่เขาร้องขอต่อเพชฌฆาตเช่นนั้น จะเพื่อตั้งสตินึกอะไรไม่มีใครทราบได้ เขาเอาคอพาดเขียงและไม่ปล่อยให้เพชฌฆาตต้องรอนาน ในชั่วประเดี๋ยวเดียว เขาก็ยกมือขึ้นให้สัญญาณว่าให้ฟัน เขาร้องบอกว่า “ฟัน” ขวานก็ยังไม่ยอมลงมาที่คอ เขาต้องร้อง “ฟัน” อีกถึงสองครั้ง ขวานจึงฟันลงไปได้ และคอก็ไม่ขาดไปในทีเดียว เพชฌฆาตต้องฟันอีกถึงสองครั้ง

มีคนดูอยู่เป็นอันมากในที่สาธารณสถานการประหารชีวิต และมีคนหนึ่งร้องขึ้นมาว่า “หาหัวอย่างนี้ตัดอีกไม่ได้แล้ว” ซึ่งเป็นความจริงอย่างที่เขาพูด หัวอย่างราเล่หาได้ยากมาก และคนทั้งหลายก็ต้องยอมรับความเชื่อที่ว่า ตัวโปรดคนใดได้รับพระราชทานคฤหาสน์เชอร์บอร์น จะต้องถูกประหารชีวิตนั้นเป็นความจริงเสมอ