ปาเดริวสกี(Ignace Jan Paderewski)

Socail Like & Share

ปาเดริวสกี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2403 ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2483 มีอายุอยู่ได้ 80 ปี เขาเป็นชาวโปแลนด์ และเป็นนักดนตรี ตอนอายุได้ 16-17 ปี ก็เดินทางไปแสดงดนตรีในประเทศต่างๆ พออายุ 19-21 ปี ก็ได้เป็นครูสอนเปียโนในวิทยาลัยดนตรีกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่ออายุ 27-31 ปี ไปแสดงดนตรีที่กรุงเวียนนา กรุงลอนดอน และสหรัฐอเมริกา แต่พออายุ 59 ปี เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ของประเทศโปแลนด์

เขาเป็นนักดนตรีชั้นเอกของโลกคนหนึ่ง ที่กู้อิสรภาพของประเทศโปแลนด์เอาไว้ และตัวเขาเองก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยความที่ชอบดนตรีมาก จึงทำให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ได้แค่ 2 ปี ก็ต้องเลิกการเมืองมาเป็นนักดนตรีต่อ

ประเทศโปแลนด์ตั้งขึ้นราว พ.ศ. 1400 เป็นจุดเคราะห์ร้ายจุดหนึ่งในแผนที่ยุโรป ล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมา เมื่อรัสเซียแข็งแรงขึ้นก็ตกเป็นของรัสเซีย และถูกเชือดเฉือนแบ่งปันกันมาเป็นลำดับในภายหลัง ในปี พ.ศ. 2315 ได้มีการตกลงแบ่งดินแดนโปแลนด์ออกเป็น 3 ส่วน เป็นของรัสเซีย ปรัสเซีย และออสเตรีย โดยแบ่งกันคนละส่วน ต่อมาอีก 21 ปี ก็แบ่งกันใหม่อีก และต่อมาอีก 2 ปี ก็แบ่งกันอีก แบ่งกันอยู่ในระหว่าง 3 ประเทศนี้แต่เปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งเท่านั้น ใน พ.ศ. 2406 รัสเซียได้ดินแดนส่วนใหญ่ที่สุดของโปแลนด์ไป และได้ครอบครองยาวนานมาถึง 50 ปี แต่ดินแดนโปแลนด์ทั้งหมดต้องตกไปอยู่ในความครอบครองของเยอรมันในปี พ.ศ. 2457 เนื่องจากได้เกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น

โปแลนด์ต้องสูญเสียอิสรภาพและตกอยู่ในอำนาจของชาติอื่นเป็นเวลาหลายร้อยปี มีหลายครั้งที่ชนรักชาติของโปแลนด์ได้ทำความพยายามกอบกู้อิสรภาพ แต่ก็ต้องประสบเคราะห์กรรมร้ายแรงเช่นคนรักชาติอื่นๆ

ชาวโปแลนด์ขึ้นชื่อและรู้กันทั่วโลกว่า เป็นหมู่ชนที่รักชาติมาก มารี วาลิวสกา ยอมเป็นภรรยาลับของนะโปเลียนเพื่อหวังว่าประเทศจะได้อิสรภาพ มีคนมากมายยอมตาย ยอมตกเป็นทาส เป็นเมืองขึ้น เพื่อกอบกู้อิสรภาพเช่นกัน พวกเขาภูมิใจในชาติของเขา ไม่มีใครสามารถทำให้พวกเขายินดีไปเป็นชาติอื่น หรือลดความภูมิใจในชาติของเขาได้เลย

ชื่อเสียงที่ยิ่งใหญ่ทางดนตรีของปาเดริวสกี ทำให้เขาได้เล่นดนตรีถวายพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซีย พระเจ้าแผ่นดินทรงพอพระราชหฤทัยยิ่งนักที่ได้เห็นว่านักดนตรีที่เด่นที่สุดของโลกนั้นเป็นนักดนตรีรัสเซียเสมอ แต่ปาเดริวสกีได้กล่าวตอบว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าพระราชหฤทัยผิดไป” “ข้าพเจ้าเป็นโปล(ชาวโปแลนด์)”

คำตอบเช่นนั้นถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถ้าเป็นคนอื่นคงจะถูกตัดหัวหรือเนรเทศไปไซบีเรียแล้ว พระเจ้าซาร์ทรงทราบดีทีเดียวว่าปาเดริวสกีเป็นชาวโปแลนด์ แต่ที่รับสั่งเช่นนั้นก็เพื่อต้องการยกย่องเขา พระราชทานเกียรติอย่างสูงให้ ถึงกับยอมให้เป็นชาวรัสเซีย พระราชดำรัสทุกๆ คำของพระเจ้าซาร์รัสเซียถือเป็นกฎหมาย เพราะพระองค์ทรงปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การรับสั่งเช่นนั้นย่อมมีผลในทางกฎหมายทำให้ปาเดริวสกีเปลี่ยนสัญชาติจากโปลมาเป็นรัสเซียได้ทันที ถ้าเป็นคนอื่นก็อาจจะดีใจที่พ้นจากสัญชาติของเมืองขึ้น และได้ถือสัญชาติของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่เช่นรัสเซีย แต่ปาเดริวสกีกลับไม่ยอมรับ เขาขอเป็นโปล ชาติเดิมของเขา เขากล้าปฏิเสธพระราชดำรัสของพระเจ้าซาร์นิโคลลาส ซึ่งมีน้อยคนนักที่ทำเช่นนี้

ปาเดริวสกี เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 ในเบื้องต้นได้รับการศึกษาไม่ใช่ชั้นดีอะไร เมื่ออายุได้ 12 ปี ก็ตัดสินใจที่จะเรียนดนตรี และเลือกเรียนเปียโน เมื่อเข้าโรงเรียนดนตรี ครูบอกว่าเขามือเล็กเกินไปไม่เหมาะกับการเรียนเปียโน และแนะนำให้เขาเรียนปี่ เพราะว่าปอดเขาแข็งแรง แต่เขามีนิสัยตัดสินใจแน่วแน่มาตั้งแต่เด็ก เขาก็จะเรียนเปียโนให้ได้ อย่างที่ครูว่ามือของเขาเล็กไปจริงๆ สำหรับการเรียนเปียโน แต่ด้วยมันสมองที่ว่องไวต่อวิชาดนตรี ก็ได้ช่วยให้มือที่เล็กของเขากลายเป็นมือที่มีความสามารถ มีอาจารย์เปียโนผู้หนึ่งชื่อ เกินทอป์ฟ ได้เห็นความสามารถพิเศษในตัวเด็กคนนี้ ก็รับไว้เป็นศิษย์ส่วนตัว ปาเดริวสกีได้ครูดี ความสามารถของเขาจึงก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว

เมื่ออายุ 16 ปี เขาได้ออกท่องเที่ยวตามเมืองต่างๆ เพื่อแสดงดนตรี เงินอาจจะหาได้ไม่มาก แต่เขามีความชำนาญในดนตรีมากขึ้น เมื่ออายุ 18 ปี เขาก็ได้แต่งงานกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน อายุ 19 ปี ได้เป็นครูสอนเปียโนในวิทยาลัยที่เขาเรียนอยู่ อายุ 20 ปี ภรรยาของเขาได้ถึงแก่กรรมในขณะคลอดบุตร บุตรรอดชีวิตแต่อ่อนแอเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ อีก 1 ปีต่อมาเขาก็เลิกสอนเพื่อหาโอกาสเรียนใหม่ เขาได้เดินทางไปเบอร์ลิน พยายามฝากตัวเป็นศิษย์ของ เลซิติตสกี นักเปียโนชั้นเอกของยุโรปในเวลานั้น และเริ่มหัดแต่งเพลง เขาได้ทำความรู้จักกับสตรีชั้นสูงคนหนึ่ง เป็นตระกูลขุนนาง และมีอิทธิพล เธอชื่อว่า บารอนเนส โดโรเสน สตรีผู้นี้ได้ช่วยให้เขาได้ออกแสดงเพื่อเก็บเงินเป็นทุนเรียนต่อไป การแสดงของเขาประสบผลสำเร็จยิ่งใหญ่ ชื่อเสียงของเขาได้แพร่หลายออกไปมาก วิทยาลัยดนตรีที่สตราบูร์ก ได้ขอจ้างเขาเป็นครูสอนในวิทยาลัย เขาทำอยู่ได้ปีเดียวก็ลาออก เขาไม่ต้องการสอนแต่ต้องการเรียนและได้กลับมาอยู่กับอาจารย์ที่เบอร์ลินใหม่

เขาพยายามศึกษาอย่างหนักและจริงจังกับอาจารย์ที่ดีที่สุด ออกแสดงให้ประชาชนฟังเมื่อมีโอกาสจนได้ชื่อเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปาเดริวสกีกลายเป็นนักเปียโนชั้น 1 ที่อาจารย์ของเขารับรองว่ามือชั้นนี้จะไปแสดงที่ไหนก็ได้ เขาจึงลองเสี่ยงโชคไปปารีสมหานครแห่งศิลปะ และเป็นอย่างที่อาจารย์ว่าไว้ เขาประสบความสำเร็จ เพราะสังคมแห่งปารีสได้ให้ความยกย่องเขาอย่างนักเปียโนชั้นเอกจริงๆ

แต่เมื่อเขาไปลอนดอน กลับตรงกันข้ามกับที่เบอร์ลินและปารีส เขาต้องประสบกับความล้มเหลวอย่างไม่นึกฝัน ความนิยมชมชอบที่เขาเคยได้มา กลับไม่มีสำหรับที่นี่ มีนักวิจารณ์คนหนึ่งชื่อ เบอร์นาร์ด ชอว์ ได้เขียนลงในหนังสือพิมพ์ว่า ขณะที่ปาเดริวสกีเล่นเปียโนเขาอยากจะให้มันพังไปเลยเพราะไม่อยากฟังต่อไป เขาเขียนว่าเขาสรรเสริญในความพยายามของปาเดริวสกีมาก แต่ที่ปาเดริวสกีเล่นเป็นอะไรก็ไม่รู้ มันไม่ใช่ดนตรี

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้จัดการของเขาก็แนะนำให้ออกไปจากอังกฤษ ไปหาชื่อเสียงที่อื่น แต่เขาก็ไม่ยอม เพราะเชื่อว่าคงเป็นเพราะรสนิยมทางดนตรีของอังกฤษไม่เหมือนชนชาติภาคพื้นยุโรป จึงทำให้เขาประสบความล้มเหลว เขาต้องรู้ให้ได้ว่าคนอังกฤษมีรสนิยมอย่างไร เขาออกท่องเที่ยวไปตามหัวเมืองต่างๆ ในอังกฤษ และได้แสดงฝีมือมากมายหลายแห่ง แล้วก็จดจำไว้ว่าแบบไหนที่คนอังกฤษชอบ และแบบไหนที่เขาไม่ชอบ

เมื่อคิดว่ารู้เรื่องรสนิยมของชาวอังกฤษแล้ว เขาก็กลับไปลอนดอนอีกครั้ง คราวนี้เขาได้รับความนิยมทุกหนแห่ง ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม พระราชินีแห่งอังกฤษก็โปรดให้เข้าไปเล่นถวาย พวกขุนนางและผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษก็เข้ามาคบหาสมาคมกับเขา มีผู้คนในอังกฤษมากมายขอลายเซ็นจากเขา ซึ่งเป็นการรับรองว่าเขาได้เป็นนักเปียโนเอกของโลก ในขณะนั้นเขามีอายุเพียง 30 ปีเท่านั้น

ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก็ได้เชื้อเชิญให้เขาไปเล่น เขาได้แสดงในคาร์เนกีฮอลล์ มีคนฟังแน่น และได้รับความนิยมชมชอบอย่างสูงสุด จึงไม่มีข้อสงสัยอีกต่อไปในเรื่องที่ว่าเขาเป็นนักเปียโนชั้นเอกของโลก

ในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ อีกหลายแห่งเขาก็ได้ไปแสดงฝีมือ และได้รับความสำเร็จเช่นกัน วันหนึ่งมีเด็กหนุ่มสองคนมาขอให้เขาไปแสดงในเมืองเล็กแห่งหนึ่ง ปาเดริวสกีเห็นว่ารายได้จะไม่เพียงพอ แต่เด็กหนุ่มก็รับประกัน และขอทำสัญญากับปาเดริวสกีว่า ในการแสดงครั้งนี้เขาจะจ่ายค่าแรงให้แก่ปาเดริวสกีเป็นจำนวน 2 พันเหรียญ ส่วนที่เหลือจะเป็นของเขาทั้งสองคน ปาเดริวสกีจึงตกลงทำสัญญากับเด็กหนุ่มสองคนนั้น

แต่เขาก็ต้องประสบกับความล้มเหลว รายได้ทั้งหมดที่เก็บได้ไม่ถึง 2 พันเหรียญ อาจเป็นเพราะที่นั่นเป็นเมืองเล็ก หรือมีการโฆษณาไม่ดีพอ หรืออาจจะเป็นเพราะเด็กหนุ่มนั้นจัดการไม่เป็น รายได้จึงไม่พอจ่ายตามสัญญา และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เด็กหนุ่มทั้งสองอยู่ในฐานะลำบากไม่รู้จะทำอย่างไร จึงขออ้อนวอนขอความกรุณาจากปาเดริวสกี เขาจึงตัดสินใจว่า จากเงินที่เก็บได้ให้จ่ายค่าใช้จ่ายที่จำเป็นไปก่อน เหลือเท่าไรก็ให้เด็กหนุ่มทั้งสองคิดเป็นค่าเหน็ดเหนื่อยของเขาในการจัดการ จะคิดเท่าไรก็ตามใจ เหลือเงินเท่าไรแล้วค่อยให้เขา

เด็กหนุ่มทั้งสองปฏิบัติตามคำแนะนำของปาเดริวสกีอย่างซาบซึ้งใจ เพราะถ้าไม่ได้รับการผ่อนผันเช่นนี้ ปาเดริวสกีจะไปฟ้องร้องเอาค่าจ้างตามสัญญา หรืออาจลดให้เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้เขาทั้งสองลำบากมาก ปรากฏว่าในครั้งนี้ปาเดริวสกีได้รับค่าจ้างจากการแสดงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แต่เด็กสองคนนั้น ในอีก 38 ปีต่อมา คนหนึ่งที่ชื่อ เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ได้เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และได้ตอบแทนบุญคุณของปาเดริวสกีด้วยการช่วยเหลือส่งอาหารให้แก่ราษฎรชาวโปแลนด์ที่อดอยากเป็นอันมาก

นับจากนั้นเขาก็ท่องเที่ยว แสดงฝีมือได้รับความนิยมชมชอบของมหาชน ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ต่อมาเขาก็ได้แต่งงานกับบารอนเนส โดโรเสน สตรีมีอิทธิพลที่ได้ช่วยเหลือเขาเมื่อครั้งที่เข้าศึกษาในเบอร์ลิน ลูกของเขาที่เกิดกับภรรยาเก่า ได้ถึงแก่ความตายเมื่ออายุ 19 ปี เพราะขี้โรคอ่อนแอตลอดมา

ปาเดริวสกีได้มาเช่าบ้านอยู่ที่เมืองมอร์ช ริมทะเลสาบ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายหลังจากที่บุตรถึงแก่กรรมแล้ว และที่นี่เองที่ทำให้ความคิดเขาเปลี่ยนไป ดินแดนสวิสได้ทำให้เขาระลึกถึงคุณค่าของเสรีภาพ เสรีภาพของพลเมืองเพียง 3 ล้านคนในสวิสเซอร์แลนด์ทำให้เขานึกถึงชาวโปล 30 ล้านคน ที่ต้องตกเป็นทาสของชาติอื่น ซึ่งคนเหล่านั้นเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน เป็นฝรั่งเช่นกัน ร่างกายผิวพรรณก็แบบเดียวกัน ทำไมจึงต้องมีความแตกต่างกันเช่นนี้

เขาได้เขียนหนังสือแล้วก็พิมพ์ลอบส่งเข้าไปแจกจ่ายเป็นข้อความกระตุ้นเตือนใจชาวโปแลนด์ให้พยายามสร้างอิสรภาพ เพราะไม่สามารถพูดกันได้ หนังสือหลายพันเล่มที่ถูกส่งถึงมือชาวโปแลนด์ ตำรวจรัสเซียพยายามทำลายเสียแต่ก็ได้กระจายออกไปอย่างทั่วถึงกันแล้ว

การแสดงดนตรีของเขาก็กลายเป็นเรื่องการเมืองไปด้วย เขาได้ฉวยโอกาสพูดในที่ประชุมชนที่ฟังดนตรี จากการที่เขาท่องเที่ยวแสดงดนตรีในหมู่คนมากมายตามเมืองใหญ่ต่างๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา เขาขอความเห็นใจและความกรุณาต่อชาวโปแลนด์ที่ไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ต้องตกเป็นทาส เขาแต่งเพลงที่สามารถเรียกน้ำตาและดึงดูดใจผู้ฟังทั้งในยุโรปและอเมริกาให้เมตตาสงสารชาวโปแลนด์ได้เหมือนถูกสะกดจิต

ปาเดริวสกีได้ใช้คำพูดด้วยดนตรี เพื่อกู้อิสรภาพของโปแลนด์ได้เป็นอย่างดี เขาทำมันเพียงคนเดียวแต่ได้ใจมหาชนอย่างกว้างขวางและแท้จริง

ในปี พ.ศ. 2457 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น โดยฝ่ายหนึ่งเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นออสเตรีย และฮังการี ปาเดริวสกีจึงได้เปลี่ยนวิธีการมาเป็นขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล เขาได้เข้าหารัฐบาลฝรั่งเศสก่อน แต่เป็นการเสี่ยงมากเพราะเวลานั้นฝรั่งเศสกับรัสเซียยังเป็นพันธมิตรกัน การที่เมืองขึ้นอย่างรัสเซียจะร้องขอต่อฝรั่งเศสให้ตนเป็นอิสระ มีทางสำเร็จน้อยมาก แต่เขาก็เดินถูกทาง เขาเข้าหารัฐบาลฝรั่งเศสในฐานะที่เป็นพลเมืองคนสำคัญของโปแลนด์ที่โลกรู้จักและนิยมชมชอบ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเขาไม่มีอำนาจหน้าที่หรือได้รับการแต่งตั้งอะไรเลย แต่รัฐบาลฝรั่งเศสก็ไม่ปฏิเสธ และให้ความหวังว่าจะช่วยเหลือเขา

ต่อมาเขาก็ทำแบบเดียวกันนี้กับประเทศอังกฤษ และก็ได้ผลเช่นกัน แล้วไปยังอเมริกา ซึ่งที่นี่มีชาวโปแลนด์ทำมาหากินอยู่มาก เขารวบรวมชาวโปแลนด์ให้มีการติดต่อกัน และเตรียมพร้อมสำหรับงานที่จะต้องทำในวันข้างหน้า

การปฏิวัติได้เกิดขึ้นในรัสเซียในปี พ.ศ. 2460 รัสเซียถอนตัวจากสงครามและทำสันติภาพกับเยอรมัน จึงเป็นความหวังที่เด่นชัดขึ้นที่จะให้ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาช่วยเหลือ ปาเดริวสกีได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นในอเมริกา ซึ่งประกอบไปด้วยตัวเขาเองและชาวโปแลนด์ชั้นอาวุโส เพื่อดำเนินการกู้อิสรภาพ เขาพยายามขอกู้เงิน 1 ล้านเหรียญจากธนาคารอเมริกันแต่ก็ไม่มีที่ใดให้กู้ เพราะผู้ที่เป็นเพียงบุคคลหรือคณะบุคคลที่เป็นแค่คณะกรรมการ และไม่มีอะไรเป็นประกัน ธนาคารก็ไม่สามารถให้กู้ได้

ปาเดริวสกี ได้เข้าหาพันเอกเฮาส์ ให้ช่วยพูดกับประธานาธิบดีวิลสันในเรื่องอิสรภาพของโปแลนด์ ซึ่งในเวลานั้นพันเอกเฮาส์ เป็นผู้ที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาให้ความไว้วางใจ ปาเดริวสกีได้ประกาศอิสรภาพของโปแลนด์ในอเมริกาในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 และเขาก็ได้รับการแต่งตั้งจากชาวโปแลนด์ให้เป็นผู้แทน ที่มีอำนาจเจรจาการเมืองกับรัฐบาลอเมริกันหรือรัฐบาลใดก็ได้

มาถึงตอนนี้เขาได้ออกมาเล่นดนตรีให้ประชาชนฟังอีก หลังจากที่ไม่ได้เล่นมาช้านาน ขณะเล่นเขาได้ประกาศว่า ถ้าโปแลนด์ยังไม่ได้เอกราชอย่างแท้จริงเขาจะไม่แตะต้องดนตรีอีกต่อไป คำประกาศเช่นนี้ทำให้คนจำนวนมากอยากฟังดนตรีของเขาอีก และอยากให้รัฐบาลอเมริกันช่วยเหลือโปแลนด์ให้เป็นเอกราชจริงๆ มีการพูดกันไปหลายพันหลายหมื่นปากจึงกลายเป็นมติมหาชนขึ้น ประธานาธิบดีวิลสันได้ประกาศออกมาว่า จะช่วยให้โปแลนด์ได้เป็นเอกราช ซึ่งเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของปาเดริวสกี

ดินแดนโปแลนด์ส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในความยึดครองของเยอรมัน ภายหลังที่รัสเซียปลีกตัวออกไปจากสงคราม และทำสันติภาพกับเยอรมันแล้ว ปาเดริวสกีจึงได้เดินทางไปยุโรป เข้าไปถึงด่านซิก เพื่อทำความลำบากให้แก่เยอรมัน จึงได้ก่อเหตุจลาจลขึ้นในที่ต่างๆ เมื่อครั้งเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับเยอรมันมีคนหนุ่มของโปแลนด์ถูกเกณฑ์มาเป็นทหารเป็นจำนวนมาก เมื่อรัสเซียเลิกทำสงครามการปลดปล่อยทหารไม่ได้ทำอย่างเรียบร้อย ทำให้อาวุธยังตกอยู่ในมือคนหนุ่มๆ ของโปแลนด์ ซึ่งคนหนุ่มเหล่านี้ยอมรับว่าปาเดริวสกีเป็นผู้นำในการกอบกู้อิสรภาพ และได้ก่อการจลาจลขึ้นในที่ต่างๆ ลอบทำร้ายกองทหารเยอรมัน เมื่อทางเยอรมันทราบเหตุไม่สงบนี้ ก็พยายามจับตัวปาเดริวสกีให้ได้ ที่โรงแรมแห่งหนึ่งปาเดริวสกีเกือบจะถูกจับ แต่คนหนุ่มของโปแลนด์ได้มาช่วยกันเป็นจำนวนมาก โดยใช้ปืนกลต่อสู้กับทหารเยอรมันเกิดการล้มตายทั้งสองฝ่าย แต่ปาเดริวสกีก็รอดมาได้

เขาพยายามชักชวนเพื่อนร่วมชาติให้ทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรให้มากที่สุด มีชายฉกรรจ์ชาวโปล อาสาเป็นทหารในกองทัพพันธมิตรเป็นอันมาก ประเทศสัมพันธมิตรจึงเห็นใจให้ความช่วยเหลือ ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมนี ที่ประชุมสันติภาพที่แวร์ซายได้ยกประเทศโปแลนด์ขึ้นเป็นเอกราชและให้ความอุ้มชูต่อมา เพราะแม้โปแลนด์จะได้เอกราชแล้วก็ยังประสบกับภัยพิบัติเป็นอันมาก ทั้งทุพภิกขภัยความอดอยาก โรคระบาดร้ายแรง ซึ่งนานาประเทศต้องช่วยส่งอาหาร ส่งเงินสำหรับซื้อเวชภัณฑ์และยาต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ ไม่มีชาติใดจะได้รับความช่วยเหลืออุปถัมภ์จากนานาประเทศเหมือนโปแลนด์ เนื่องจากความเมตตาสงสารเห็นอกเห็นใจที่ปาเดริวสกีได้สร้างไว้ด้วยคำพูด ด้วยบทเพลง ด้วยความพากเพียรพยายามของเขา

ปาเดริวสกีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศด้วยเมื่อโปแลนด์เป็นเอกราชแล้ว จากนักดนตรี ก็ได้กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่องานใหญ่ในการกู้อิสรภาพเป็นผลสำเร็จแล้ว ปาดัวริวสกีก็ตกอยู่ในฐานะเดียวกันกับโบลิวาร์ คือ ถ้าการกู้อิสรภาพยังไม่เป็นผลสำเร็จก็คงไม่มีใครออกมาว่าอะไรได้ แต่เมื่อสำเร็จไปได้ก็มีคนมากมายออกมาแสดงตัวว่าได้เป็นผู้กอบกู้อิสรภาพด้วย ทุกคนมีสิทธิ์จะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นประมุขแห่งชาติ จึงเกิดความแตกแยกขึ้นเช่นเดียวกับเรื่องของโบลิวาร์

แต่ความแตกต่างของปาเดริวสกีที่ไม่เหมือนกับโบลิวาร์ คือ โบลิวาร์ทนอยู่ ทนสู้ ยอมฆ่าคนที่คิดร้าย มีความพยายามทางการเมืองตลอดเวลา แต่สำหรับปาเดริวสกีจะมองว่า ตำแหน่ง “มนตรี” จะสูงกว่าตำแหน่ง “ดนตรี” ไปได้อย่างไร แต่ประเทศโปแลนด์อยู่ได้ด้วยความสงสารเห็นอกเห็นใจจากนานาประเทศเพราะปาเดริวสกี ดังนั้นการเป็นประมุขของรัฐบาลโปแลนด์จึงไม่มีใครจะเหมาะสมเท่ากับเขา รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ เช่น ลอยด์ยอร์ช ก็นับถือและให้เกียรติเขาอย่างเป็นมิตรสนิทสนม เพราะความแก่งแย่งชิงความเป็นใหญ่กันเช่นนี้ ปาเดริวสกีจึงทนอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 2 ปี ก็ต้องออกไป และได้กลับมายังทะเลสาบสวิส มาเล่นเปียโนของเขาใหม่

ที่วิลลาริมทะเลสาบสวิส เสียงเปียโนของเขาได้ดึงดูดคนใกล้เคียงให้แตกตื่นมาฟังกันอย่างคับคั่ง “ปาเดริวสกีกลับมาเล่นดนตรีใหม่” เป็นข่าวที่สำคัญของโลกไม่น้อยไปกว่าข่าวสงครามหรือสันติภาพ จากสวิสเขาก็ไปยัง ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก แสดงในคาร์เนกีฮอลล์แห่งเดียวกับที่แสดงครั้งแรก ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็อยากเห็นเขาในฐานะนักดนตรีมากว่าในฐานะนายกรัฐมนตรี เขาเดินทางท่องเที่ยวและได้แสดงไปทั่ว ความเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็เป็นเพียงความฝัน ตอนนี้เขาตื่นจากฝันมาเป็นปาเดริวสกีคนเดิมแล้ว

ในปี พ.ศ. 2473 ปาเดริวสกีเดินทางมาลอนดอน ขณะนั้นเขามีอายุ 70 ปีแล้ว ซึ่งเป็นเวลาที่พระเจ้ายอร์ชที่ 5 พระเจ้ากรุงอังกฤษกำลังประชวร เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ปาเดริวสกีในฐานะที่เป็นนักเปียโนฝีมือเอก ไม่ใช่ฐานะนายกรัฐมนตรี พระองค์ยังทรงบังคับให้พระราชินีแมรี ไปฟังการแสดงของเขาที่โรงละครใหญ่แห่งหนึ่งอีกด้วย

ในระยะนี้ปาเดริวสกีได้พบกับเด็กหนุ่มที่เขากรุณาลดหย่อนค่าแสดงให้ คือ เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ซึ่งบัดนี้เขาได้ขึ้นสู่ทำเนียบขาวเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาแล้ว ท่านผู้นี้ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศโปแลนด์ โดยส่งแป้งสาลีและอาหารไปช่วยบรรเทาทุกข์แก้ความอดอยากเป็นอันมากตั้งแต่ปี พ.ศ.2472 ถึง พ.ศ. 2476

ปาเดริวสกี ได้กลับไปอยู่เคหสถานริมทะเลสาบสวิสเมื่ออายุเลย 70 ปีแล้ว บารอนเนส โดโรเสน ภรรยาของเขาที่อยู่ด้วยกันมากว่า 30 ปี ก็ยังเป็นเพื่อนชีวิตที่ดีของเขาอยู่เสมอ

ปี พ.ศ. 2482 เขามีอายุถึง 79 ปีแล้ว อากาศบริสุทธิ์ริมทะเลสาบสวิสทำให้เขามีอายุยืนนานจนต้องประสบกับความช้ำใจอีกครั้ง เนื่องจากได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น กองทัพเยอรมนีบุกเข้าโปแลนด์ รัสเซียก็บุกเข้ามาด้วย ทั้งสองประเทศร่วมมือกันเพื่อจะแบ่งโปแลนด์คนละครึ่ง เอกราชของโปแลนด์สร้างไว้ได้แค่ 20 ปี ก็ต้องถูกแบ่งปันกันไปอีก

เขายังพยายามหาทางช่วยประเทศชาติ แม้จะมีอายุ 79 ปีแล้ว เขาออกเดินทางไปสหรัฐอเมริกาด้วยความยากลำบาก จากสวิส ไปฝรั่งเศส เข้าสเปน เมื่อรัฐบาลสเปนไม่ยอมสลักหลังหนังสือเดินทางให้เขาก็เดินทางไปต่อยังโปรตุเกสได้สลักหนังสือเดินทางที่นั่น และไปถึงนิวยอร์ก

รัฐบาลโปแลนด์และรัฐสภาได้อพยพไปอยู่อเมริกา ปาเดริวสกีได้รับตำแหน่งประธานรัฐสภาโปแลนด์อีกครั้งในอเมริกา

ในปี พ.ศ. 2484 เขาก็ถึงแก่กรรมลง เมื่อมีอายุได้ 81 ปี โดยที่เขาไม่ทราบเลยว่าอนาคตของชาติจะเป็นอย่างไรต่อไป

การนำเอาเรื่องโบลิวาร์ กับ ปาเดริวสกี มาไว้คู่กันนี้ เพื่อให้รู้วา ถ้าอยากเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทางการเมืองด้วยการกอบกู้อิสรภาพ ด้วยการปฏิวัติ หรือการทำงานใหญ่อย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านจะเลือกอย่างโบลิวาร์ หรืออย่างปาเดริวสกี คือ เมื่อทำงานสำเร็จแล้ว ท่านจะรั้งอำนาจความเป็นใหญ่ไว้ในมือท่านต่อไป และต่อสู้ฝ่าฟันอย่างโบลิวาร์ หรือจะวางมืออย่างปาเดริวสกี

ทั้งสองวิธีจะให้ความยิ่งใหญ่แก่ท่านเช่นเดียวกัน แต่เหตุการณ์ที่ต้องเผชิญจะผิดกันมาก เมื่อทำงานใหญ่สำเร็จย่อมมีผู้แย่งกันเป็นคนสำคัญ และตำแหน่งสูงสุดก็มีอยู่ตำแหน่งเดียว ผู้ที่ได้ครองตำแหน่งนั้นย่อมต้องมีศัตรู ถูกริษยา และประทุษร้าย หากต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปก็ต้องสู้ การต่อสู้ทางการเมืองไม่อาจเอาความดีต่อสู้กับความร้ายได้เสมอไป ซึ่งบางครั้งก็ต้องสู้ด้วยความร้ายเช่นกัน อย่างเช่นโบลิวาร์ที่ต้องปราบ ต้องฆ่าคน และฆ่ามิตรของตัวเอง จึงต้องกลายเป็นคนเลวร้ายไป มีการจองเวรกันไปเรื่อยๆ กลายเป็นผลที่ร้ายแรงแก่ผู้ที่ตั้งต้นทำความดีอย่างชีวิตของโบลิวาร์

โบลิวาร์ต้องรอจนกระทั่งตัวตายไปแล้วถึง 12 ปี ถูกฝังศพหมกดินอยู่ที่บ้านเล็กๆ ชายฝั่งทะเล กว่าความดีจะให้ผล มีผู้เห็นคุณความดีขึ้นมา รัฐบาลของประเทศทั้งหลายที่เขาได้สร้างอิสรภาพให้พร้อมใจกันเอาขบวนเรือรบไปรับศพ เขาเพิ่งได้รับเกียรติและได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่จริงๆ ก็ตอนนี้

บุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกับโบลิวาร์อีกคนคือ นะโปเลียน ประสบโชคชะตาคล้ายคลึงกัน เขาถูกปล่อยเกาะจนถึงแก่ความตาย ศพก็ถูกฝังไว้ที่เกาะเล็กๆ นั้น ศพของนะโปเลียนถูกฝังอยู่นานถึง 19 ปี กว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะได้นำมาไว้ในปารีส

แต่ปาเดริวสกีมีชีวิตที่ราบรื่นกว่าโบลิวาร์ เพราะเมื่อประสบความแก่งแย่ง ริบษาแล้วเขาก็หนีทันที กลับไปใช้ชีวิตนักดนตรีอย่างเดิม วิธีนี้ทำให้มีคนสงสารเห็นอกเห็นใจและเห็นความดีเร็ว เขาไม่มีชื่อเสียงในทางร้ายมีแต่ทางดี แม้ช่วงที่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้อาศัยความนิยมชมชอบของตัวแสวงหาทางทำประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวโปแลนด์ เช่น ช่วยบรรเทาทุกข์ภัย ความอดอยากของราษฎร ซึ่งเป็นการสร้างคุณงามความดีไม่ได้ประกอบการร้ายอย่างโบลิวาร์ ความยิ่งใหญ่ของปาเดริวสกีนั้นไม่มีใครตั้งปัญหา ไม่มีใครคัดค้าน ไม่มีความมัวหมอง จึงเป็นทางเลือกที่ดีอยู่เหมือนกัน

เรื่องของปาเดริวสกีสอนให้รู้ว่า บุคคลผู้ที่รักชาติและมีความมุ่งหมายที่แท้จริง ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็สามารถทำงานอันยิ่งใหญ่เพื่อกอบกู้อิสภาพของประเทศได้ ใครจะคิดว่านักเปียโน นักดนตรีที่มีอาชีพวิชาการห่างไกลการเมืองจะสามารถทำได้ อย่างปาเดริวสกีเขาทำได้ด้วยดนตรี เขาให้สมรรถภาพในทางนี้เรียกร้องความสงสารความเห็นอกเห็นใจจากโลก

ตรงกันข้ามกับโบลิวาร์ ที่ทำงานใหญ่ด้วยกำลัง ใช้อาวุธ แต่ปาเดริวสกีทำงานด้วยการเรียกร้องดวงใจของประชาชน ซึ่งได้ผลดีไม่น้อย ซึ่งเห็นได้ชัดว่า มนุษย์สามารถสร้างคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติและตัวเองได้ ไม่ว่าในวิถีทางใด และไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพใด

เรื่องของปาเดริวสกี ก็ได้สอนอีกว่า การพยายามหาความรู้การศึกษาให้ดีจริง เป็นกุศโลบายที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างความยิ่งใหญ่ จากการศึกษาเขาก็ก้าวมาเป็นครูสอนดนตรีที่วิทยาลัยถึงสองแห่ง คือที่ วอร์ซอ และที่สตราบูร์ก แต่เขาก็พยายามเรียนให้สูงขึ้นไปอีก เขาพอใจที่จะเรียนมากกว่าเป็นครู และต้องการเรียนจริงๆ

กุศโลบายที่ดีที่สุดในการสร้างความยิ่งใหญ่ คือพยายามให้ตัวเองรู้จักผู้อื่นนานกว่าที่จะให้ผู้อื่นรู้จักตัวเอง พยายามให้ตัวเองเข้าใจคนอื่น มากกว่าที่จะให้คนอื่นเข้าใจตัว การแสดงฝีมือที่ลอนดอนครั้งแรกของปาเดริวสกีเป็นความล้มเหลวที่ไม่นึกฝัน ไม่น่าเชื่อ เพราะไม่คิดว่าฝีมือของตนจะมาล้มเหลวที่นี่ และแทนที่เขาจะคิดว่าคนอังกฤษไม่รู้จักของดีที่เขามี เขากลับคิดว่าตัวเองยังไม่รู้จักรสนิยมของคนอังกฤษดีพอ เขาจึงพยายามเรียนรู้ และเขาก็ได้รู้ว่ารสนิยมของชาวอังกฤษเป็นอย่างไร เขาแสวงหาความนิยมได้แม้กระทั่งองค์พระราชินี ความยิ่งใหญ่ของเขาอยู่ที่ความพยายามให้ตัวเองรู้จักผู้อื่น ไม่ใช่พยายามให้ผู้อื่นรู้จักตัวเองแต่ฝ่ายเดียว

ที่มา:พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ