พิธีกรรม

ทำขวัญนาค

ก่อนที่จะทำความเข้าใจความหมายของพิธีกรรม จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจ ความหมายของศาสนาหรือความเชื่อเป็นเบื้องต้นก่อน นักมานุษยวิทยาได้ให้ความสนใจและถกเถียงกันมากถึงความหมายของศาสนา หรือระบบความเชื่อของมนุษย์ ฉลาดชาย รมิตานนท์ ได้สรุปคำจำกัดความเอาไว้อย่างรัดกุมแล้วว่าศาสนาต่างๆ ของมนุษย์หลากหลายมาก ไม่ว่าจะในด้านของอำนาจและรูปแบบขององค์กรของ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีตำแหน่งแห่งที่ในจักรวาล และรวมทั้งวิถีทางต่างๆ ที่มนุษย์สืบความสัมพันธ์กับอำนาจและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น ในศาสนาของมนุษย์บางศาสนาอาจประกอบด้วยเทพเจ้าหรือเทวดามากมายหลายองค์ บางศาสนาก็องค์เดียว หรือไม่มีเลย บางศาสนาก็มีเพียงผีหรือวิญญานและขอบขีดของอำนาจก็อาจลดหลั่นจนน้อยนิด สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่มีอำนาจเหนือมนุษย์เหล่านี้อาจเขามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตของมนุษย์อยู่เสมอๆ หรือบางทีก็อาจจะอยู่ห่างๆ ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว สิ่งเหล่านี้อาจให้โทษหรือให้คุณแก่มนุษย์ได้ เพราะฉะนั้นในการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ มนุษย์อาจรู้สึกเกรงขามและเกรงกลัว แต่กระนั้นมนุษย์ก็ยังอาจต่อรองกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจเหนือธรรมชาติทั้งหลาย หรือบางครั้งก็พยายามเอาชนะทางปัญญา หรือว่าให้ถึงที่สุดคือ “ลวง” หรือ “ต้ม” สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติเสียด้วยซ้ำไป ซึ่งก็อาจสรุปได้ว่า หากพิจารณาในแง่มุมทางมานุษยวิทยาแล้ว ความเชื่อถือในผีสาง เทวดา ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นความเชื่อทางศาสนานั่นเอง
อย่างไรก็ตามลักษณะของความเชื่อดังกล่าวนี้ บางครั้งมักเรียกกันว่าเป็น magic ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นความเชื่อที่งมงายของสังคมดั้งเดิมที่แตกต่างกับ religion อันเป็นความเชื่อที่มีความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า และเกี่ยวข้องกับศีลธรรมจรรยาในการดำรงชีวิตของสังคมที่มีระดับความเจริญสูงกว่าสังคมดั้งเดิม แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบสังคมต่างๆ ของนักมานุษยวิทยา ก็ยังไม่สามารถสรุปชี้ชัดได้ว่า พฤติกรรม ๒ รูปแบบนี้แยกกันอย่างเด็ดขาดอย่างไร สำหรับรายละเอียดในเรื่องนี้มีมากเกินกว่าจะกล่าวถึงในที่นี้ได้ แต่ในรายงานนี้ เมื่อกล่าวถึงความเชื่อ จะหมายถึงพฤติกรรมที่เป็นทั้ง ๒ แบบ รวมๆ กันไป
นอกจากนี้แล้ว ศาสนายังครอบคลุมถึงความเชื่อในระบบจักรวาล (cosmology) และค่านิยม (value) ซึ่งมักปรากฏในรูปของนิทานปรัมปราคติ (myth) ต่างๆ อันเป็นเรื่องที่แสดงถึงกำเนิดของสิ่งต่างๆ กระทั่งถึงคติที่เกี่ยวกับ นรก สวรรค์ การเกิด การตาย ตลอดถึงเรื่องวิญญาณทั้งที่ดีและเลวของมนุษย์และสัตว์
มนุษย์จะแสดงออกให้เห็นซึ่งความเชื่อทางศาสนาโดยดูได้จากพิธีกรรม เพราะการที่มนุษย์ทั้งหลายสร้างพิธีกรรมต่างๆ ขึ้นมา มนุษย์เหล่านั้นก็ย่อมจะต้องมีวัตถุประสงค์ และมีความหมายตามความเข้าใจอันเกิดจากพื้นฐานความเชื่อทางศาสนาของตน กล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือตัวพิธีกรรมเองนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือพฤติกรรมที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อความเชื่อทางศาสนาของตน ดังนั้น พิธีกรรมในที่นี้ จึงหมายถึง พฤติกรรมที่เป็นรูปธรรมของศาสนาความเชื่อนั่นเอง
พิธีกรรมที่ปฏิบัติกันโดยทั่วๆ ไปในสังคมไทย ภายในรอบปีหนึ่งอาจจำแนกได้เป็น ๓ ประเภทด้วยกันคือ (๑) พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน (๒) พิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต และ (๓) พิธีกรรมที่เกี่ยวกับชุมชนหรือสังคม
พิธีกรรมประเภทต่างๆ เหล่านี้ มีส่วนสำคัญทำให้เกิดเทศกาลต่างๆ ขึ้นมา และมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการละเล่นชนิดต่างๆ ขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับพิธีกรรมทั้งนี้ เพราะส่วนประกอบสำคัญของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาจะมีการเซ่นสรวงบูชาหรือทำบุญหรือทำทาน การกินเลี้ยง การสนุกสนานรื่นเริงที่เป็นพิธีกรรม หรือที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม
เราอาจพิจารณาพิธีกรรมประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
(๑) พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน
ในสังคมแบบชนเผ่าและสังคมที่ยังเป็นชมรมกสิกรรม หรือสังคมเกษตรกรรมนั้น การทำมาหากินอันเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะมนุษย์ยังต้องพึ่งพา ผลผลิตของธรรมชาติและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอันเป็นวิถีชีวิตที่สำคัญของมนุษย์ในสังคมแบบนี้
เมื่อวิถีชีวิตที่สำคัญของมนุษย์เกี่ยวเนื่องสำคัญกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ มนุษย์ก็จะต้องประกอบพิธีกรรมขึ้นมาตามคติความเชื่อทางศาสนาที่คล้ายคลึงและแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างคติหนึ่งของมนุษย์ก็คือ “ถ้าเราจำลองเลียนแบบธรรมชาติขึ้นแล้ว ก็จะบันดาลหรือบังคับให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริงดังใจปรารถนา” ดังนั้น ชาวนาแต่ก่อนเมื่อจะลงมือดำนา จะต้องสร้างนาจำลองขนาดสักหนึ่งตารางเมตรขึ้นก่อน แล้วดำกล้าลงในนานั้นห้าหกกอ นาจำลองนั้นเรียกว่า “ตาแรก” หรือ “ตาแฮก’, (ตา คือ ตาราง-แรก คือ แรกเริ่มดำ) ถ้าบำรุงข้าวในตาแรกนั้นได้งาม ข้าวในนาทั้งหมดก็จะงามตามไปด้วย นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความเชื่อถือดั้งเดิมที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถ “บังคับ” ธรรมชาติได้ด้วยการจำลองแบบธรรมชาติย่อส่วนลงมาทำด้วยมือมนุษย์เองก่อน ยังมีพิธีกรรมอีกหลายอย่างในชีวิตจริงของชาวนาไทย-ลาวที่ใช้วิธีจำลองแบบธรรมชาติเพื่อบังคับให้ธรรมชาติเป็นไปตามแบบที่จำลอง พิธีกรรมเหล่านี้เป็นการ “บงการ” (command) มิใช่เป็นการ “วิงวอน” (implore) ต่อธรรมชาติ
พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน ดูจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และจะมีอยู่เกือบตลอดทั้งปี แต่ช่วงของความสำคัญจะอยู่ระหว่างหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต และก่อนจะเริ่มฤดูการผลิตใหม่ นี่เป็นการกำหนดช่วงเวลาอย่างกว้างๆ ตามลักษณะสังคมชาวนาที่ผูกอยู่กับธรรมชาติเท่านั้น และดังที่ยกกรณีชนชาติไทย-ลาวจะทำพิธีกรรมตาแรกมานั้นจะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของพิธีกรรมก่อนจะเริ่มฤดูการผลิตใหม่ ซึ่งยังติดอยู่กับชาวนาในชนบทสืบมาช้านาน และนั่นคือ “ประเพณีราษฎร์”
จากพิธีกรรมของประเพณีราษฎร์เรื่อง “ตาแรก” ซึ่งน่าจะเริ่มขึ้นจากชมรมกสิกรรมของสังคมมนุษย์เมื่อยังรวมกัน อยู่เป็นแบบชนเผ่า ครั้นเมื่อสังคมมีพัฒนาการมากขึ้นกระทั่งเป็นบ้านเป็นเมือง เป็นแว่นแคว้นมีกษัตริย์หรือพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทั้งประเทศ พิธีกรรมก็จะได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมเมืองดังกรณีที่พระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะต้องทรงทำพิธีกรรมนี้ด้วยดังปรากฏระเบียบอยู่ในกฎหมายตราสามดวงในหมวด “กฎมณเฑียรบาล” ว่าเดือนหก “จรดพระราชอังคัล” (หรือ-จรดพระราชนังคัล) ซึ่งกระทำติดต่อกันมาจนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลทุกวันนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชนิพนธ์ในหนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” เอาไว้ว่าจรดพระนังคัลเป็นพิธีลงมือไถ ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าพิธีการไถนาของพระเจ้าแผ่นดิน นั่นเอง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งในความหมายรวมๆ ว่า “แรกนาขวัญ” และอันคำว่า “แรกนา” ก็ย่อมมีความหมายเดียวกันว่า “นาแรก” และดูจะไม่แตกต่างอะไรกันกบ “ตาแรก” ที่กล่าวมาแล้ว และรัชกาลที่ ๕ ทรงอธิบายต่อไปอีกว่า ‘’…การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นธรรมเนียม มีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีน สี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ ไม่มีเวลาเว้นว่าง ด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้…. เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ …ก็ด้วยความหวาดหวั่นอันตราย คือน้ำฝน น้ำท่ามากไป น้อยไป ด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นเหตุอันตราย ไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง จึงได้ต้องแส่หาทางที่จะแก้ไขและทางที่จะอุดหนุน…. จึงต้องอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้างทำการซึ่งไม่มีโทษ นับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด”
นอกเหนือจากนี้ พระเจ้าแผ่นดินยังมีพระราชภาระทำพระราชพิธีพิรุณศาสตร์คือขอฝน พระราชพิธีไล่เรือหรือไล่น้ำซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้น้ำลด ทำให้ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวได้ และพระราชพิธีอื่นๆ อีกมาก พระเจ้าแผ่นดินยังมีหน้าที่ที่จะต้องรักษาฝูงสัตว์อันเป็นประโยชน์ในการเกษตร และในทางอื่นๆ ที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดิน เช่น ฝูงควายป่าแถวเมืองกาญจนบุรี ฝูงโคแถวเมืองโคราช และโขลงช้างป่าซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ วัวและควายป่านั้นจับมาฝึกใช้งานและจ่ายให้แก่ราษฎรเพื่อทำไร่ไถนาในยามที่ขาดแคลน ส่วนช้างเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ทางสงครามและเศรษฐกิจมาก ฝูงสัตว์เหล่านี้จึงมีกรมกองราชการคอยอนุรักษ์ดูแล และต้องกราบบังคมทูลถวายรายงานถึงจำนวนสัตว์ในโขลงและในฝูงต่างๆ ให้ทรงทราบอยู่เป็นนิจ
การที่พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจด้านนี้ด้วยพระราชพิธีต่างๆ นั้น สาระสำคัญก็คือการรักษาและส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน ที่ว่าเป็น “พระราชพิธี” ก็คือ “พิธีกรรม” อันเนื่องมาจากความเชื่อทางศาสนานั่นเอง และเป็นสิ่งที่เคยกระทำมาแต่เริ่มแรกเมื่อมนุษย์ยังชมรมกันอยู่เป็นชนเผ่า ครั้นเมื่อเป็นบ้านเป็นเมืองเป็นแว่นแคว้นขึ้นก็ได้รับการพัฒนาพิธีกรรมให้ซับซ้อนมากขึ้น มีการ ละเล่นที่เป็นลักษณะ “ประเพณีหลวง” เข้ามาประกอบซึ่งก็โดยมีพื้นฐานมาจากการละเล่นของ “ประเพณีราษฎร์” ทั้งสิ้น
(๒) พิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต
ในเวลาชั่วชีวิตของคนตั้งแต่เกิดไปจนกระทั่งตาย ย่อมจะต้องผ่านเหตุการณ์ที่ถือกันว่าสำคัญเป็นระยะๆ มา
เมื่อแรกเกิด ก็ต้องทำพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิดเพื่อให้แน่ใจเป็นประกันว่าเด็กเกิดมานั้นจะมีชีวิตรอดได้ไม่ตาย เสียใน ๓ วัน ๗ วัน และมีความเจริญเติบโตจนกว่าจะย่างเข้าเขตระยะที่จะเป็นผู้มีวัยรุ่นจึงทำพิธีตัดจุก เพื่อแสดงว่าพ้นจากวัยเด็กแล้ว จะได้เป็นคนมีกำลังใจมั่นคงประพฤติแต่สิ่งที่ชอบที่ควร ว่าเฉพาะผู้ชายยังจะต้องเข้าพิธีบวชเรียนอีกระยะหนึ่ง แล้วถึงระยะที่เหย้าเรือนซึ่งต้องเข้าพิธีแต่งงาน เพื่อความสุขสบายความเจริญแก่ครอบครัว และในที่สุดก็ถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการตายเพื่อให้มีชีวิตอยู่เป็นสุขในโลกหน้า พิธีกรรมเหล่านี้เมื่อทำสืบต่อกันมาก็เกิดเป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิตขึ้น ฝรั่งเรียกประเพณีอย่างนี้เป็นคำเฉพาะว่า rite of passage ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทุกชาติทุกภาษาทั้งที่ยังป่าเถื่อนอยู่ และที่เจริญแล้ว พิธีกรรมที่ทำถ้าว่าด้วยความเจตนาที่กระทำก็ลงรอยเดียวกันคือเพื่อความสุขความเจริญ แต่ถ้าว่าด้วยรายละเอียดก็มีต่างๆ ที่คล้ายคลึงกันก็มี ที่ไม่เหมือนกันก็มี ทั้งนี้ก็มีมาแต่เหตุทางวัฒนธรรมและสังคมเป็นส่วนใหญ่
พิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตนี้มีความสำคัญในระดับครอบครัวญาติมิตรในหมู่บ้าน มีบทบาทสำคัญในการย้ำความเป็นสมาชิกของกลุ่มญาติ และรักษาความสัมพันธ์ของผู้คนในครัวเรือน เช่นระหว่างคนแก่กับคนหนุ่มสาว หรือในระหว่างญาติมิตรเป็นต้น
การละเล่นที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาที่เกี่ยวกับชีวิตนี้มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย และจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันบ้างแตกต่างกันบ้างไปทั่วทุกท้องถิ่นของประเทศไทยเป็นต้นว่าการทำขวัญ ไม่ว่าจะเป็นทำขวัญเด็ก ทำขวัญโกนจุก ทำขวัญบวชนาค และตลอดถึงทำขวัญบ่าวสาวในการแต่งงาน ฯลฯ นอกจากนั้นก็มีการละ เล่นดนตรี โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพิธีกรรมของงานศพ ซึ่งทางภาคใต้จะมีวงกาหลอ ทางภาคอีสาน แถบชนชาติเขมร แถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ จะมีวงตุ้มโมง หรือทุ่มโมง เป็นต้น
(๓) พิธีกรรมที่เกี่ยวกับชุมชนหรือสังคมหรือประเทศ
พิธีกรรมนี้จะเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า เทวดา และผีทุกชนิด และจะเป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะมาร่วมงานได้ทั้งหมด
ในสังคมแบบชนเผ่า พิธีกรรมเลี้ยงผีบ้านผีเรือนซึ่งเป็นประเภท “ผีดี” จะมีความสำคัญ และยังปรากฏอยู่ในชนเผ่าต่างๆ ที่ยังล้าหลังทางเทคนิควิทยาในทุกวันนี้ หรือแม้กระทั่งในสังคมที่ก้าวหน้าพอสมควร แต่ยังยึดมั่นอยู่ในขนบเก่าอย่างสังคมชาวนาก็จะยังคงมีอยู่ด้วย (การกล่าวถึงสังคมกลุ่มที่ยังนับถือผี และมีความล้าหลังทางเทคนิควิทยานี้ มิได้มีจุดประสงค์จะยกย่องหรือเหยียดหยามแต่ประการใด) ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงมีข้อความตอนหนึ่งว่า-“พระขพุง ผีเทพดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผีไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอั้นบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย”- แสดงให้เห็นว่าในคราวแคว้นสุโขทัยนั้นมีการนับถือผีที่เชื่อกันว่าสิงสถิตย์อยู่บนภูเขาทางด้านทิศใต้ซึ่งเป็นใหญ่ที่สุด และเป็นผีดีที่คุ้มครองเมืองสุโขทัย เชื่อกันถึงขนาดว่ากษัตริย์สุโขทัยจะต้องทำพิธีกรรมบวงสรวงผีเทพดานี้ให้ดีเป็นประจำ หากทำไม่ถูกต้องแล้วบ้านเมืองก็จะล่มจม
แต่การนับถือผีของสังคม แคว้นสุโขทัยก็ควบคู่ไปกับการนับถือพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ด้วย เฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับ พระพุทธศาสนานั้นจะเห็นได้จากข้อความอีกตอนหนึ่งที่ว่า-“…ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนณึ่งจึ่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกใม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน บริพารกฐินโอยทานแล่ปี แล้ญิบล้านไปสูดญัติกฐินเถิงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกันแต่ อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน ดํบงํคกลองด้วยเสียงพาดเสียงพิณ
เสียงเลื้อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้ยน เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวงเที้ยร ย่อมคนเสียดกันเข้ามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก”-ความข้อนี้เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นพิธีกรรมของชุมชนหรือของสังคมหรือของประเทศเขตแคว้นสุโขทัยที่นับถือพระพุทธเจ้าหรือนับถือพระพุทธศาสนา เมื่อถึงเทศกาลออกพรรษาก็มีพิธีกรรมสำคัญกล่าวคือมีการทอดกฐินในเวลาหนึ่งเดือนจึงหมดเทศกาล งานกฐินสำคัญที่ไปทอด ณ วัดอรัญญิกทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัยนั้นทำให้มีการละเล่นหลายชนิดดังได้ระบุไว้ชนิดหนึ่งว่าการละเล่น “เผาเทียน-เล่นไฟ” แล้วยังมีการเล่นดนตรี การเล่น ร้องเพลง การเล่นระบำด้วย
นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมอื่นๆ อีก เป็นต้นว่าพิธีกรรม เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ เข้าพรรษา ฯลน เป็นต้น
พิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับชุมชนฯ เหล่านี้ จะมีบทบาทสำคัญในการที่ทำให้ชาวบ้าน ต่างมีความรู้สึกร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งเป็นโอกาสที่ชาวบ้านจะได้ร่วมกันทำบุญทำทาน กินเลี้ยง และรื่นเริง สนุกสนานด้วยกัน หนุ่มสาวก็จะมีโอกาสพบปะกัน อีกทั้ง ยังเป็นเหตุให้มีการรวมญาติรวมมิตรที่อาศัยอยู่ห่างไกลได้มา ร่วมสังสรรกันอีกครั้งหนึ่ง ทั้งหมดนี้คือ พิธีกรรมที่จะทำให้ชาวบ้านทุกคนรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนหรือสังคมหรือประเทศนั้นๆ
ที่มาโดย:ปรานี วงษ์เทศ

การละเล่นและพิธีกรรมในสังคมไทย

มโนราห์
โดยทั่วไปมักเป็นที่เข้าใจกันว่า การละเล่นต่างๆ ที่ปรากฏในสังคมไทยตั้งแต่อดีต และที่ยังหลงเหลือร่องรอยอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน เป็นการละเล่นสนุกเพื่อพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น และถ้าหากจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมอยู่บ้างก็เกี่ยวแต่ในเรื่องการบันเทิงแต่ถ่ายเดียว
ด้วยข้อจำกัดทางความคิดเช่นนี้ จึงทำให้การศึกษาเรื่องการละเล่นที่ปรากฏในสังคมไทยจึงเน้นแต่เพียงรูปแบบว่าเล่นอย่างไร ? คือ ร้องอย่างไร ? รำอย่างไร ? เป็นส่วนมาก ไม่ค่อยพิจารณาถึงเนื้อหา และบทบาท ตลอดจนความหมายทั้งหมดของการละเล่นนั้นๆ ที่มีต่อสังคมส่วนรวม
รายงานนี้จึงมีจุดมุ่งหมายจะพยายามศึกษาการละเล่น โดยมีสมมติฐานว่า การละเล่นส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในสังคมไทยทั้งในอดีตและที่ยังเหลืออยู่นั้น ล้วนแต่มีรากฐานที่สัมพันธ์ อย่างแยกไม่ออกกับพิธีกรรมความเชื่อเกือบทั้งสิ้น แม้แต่กรณีการพูดเรื่องทางเพศในการเล่นเพลงโต้ตอบต่างๆ ก็ตาม ข้อมูลที่ใช้ประกอบในการเรียบเรียงส่วนใหญ่จะได้มาจากเอกสารต่างๆ ที่มีผู้ศึกษาไว้แล้วและจากประสบการณ์ในการทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยา
จากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นพัฒนาการของสังคมไทย จะเห็นได้ว่า ดินแดนประเทศไทยนี้ ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นที่อยู่ของคนหลายเผ่าพันธุ์ที่เข้ามาผสมปนเปกินเป็นเวลาหลายศตวรรษ จนมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่กล่าวได้ว่า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Homogeneous culture) ดังจะเห็นได้จากภาษาระบบความเชื่อ และประเพณีต่างๆ ที่มีที่มาจากสภาพแวดล้อมในทางภูมิศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของประชาชนใน ประเทศนี้เป็นสำคัญ กล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือ ลักษณะของสังคมไทยเป็นสังคมที่เรียกกันว่า สังคมตามประเพณี (tradi¬tional society) ที่มีพื้นฐานมาจากสังคมที่มีพัฒนาการมาจากสังคมแบบเผ่าพันธุ์ ซึ่งแยกอยู่โดดๆ มีความสมบูรณ์ของตัวเองมาเป็นสังคมแบบชาวนา (peasant society) ที่มีลักษณะสำคัญคือ ในขณะที่ยังรักษาลักษณะบางอย่างของวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนอยู่ ก็ยอมรับและต้องการรูปแบบบางอย่างของวัฒนธรรมแบบเมืองเข้ามาผสมผสาน และเปลี่ยนแปลงรูปแบบเดิมของตนอยู่เรื่อยๆ ทำให้สังคมแบบชาวนามีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ (part society) และเช่นเดียวกับสังคมชาวนาอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนผืนแผ่นดินใหญ่ที่ลักษณะทางวัฒนธรรมไทยอาจจำแนกออกได้เป็น ๒ ระดับมาแต่โบราณ คือ วัฒนธรรมของคนในระดับชั้นผู้นำ หรือชนชั้นสูงเรียกว่า ประเพณีหลวง (great tradition) และลักษณะของวัฒนธรรมของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินหรือชนชั้นต่ำา ซึ่งจะแตกต่างออกไปตามท้องถิ่นต่างๆ เรียกว่า ประเพณีราษฎร (little tradition)
ความสัมพันธ์ที่แสดงถึงความกลมกลืน เป็นอันหนึ่งเดียวกันของประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์ก็คือ ได้มีการเลียนแบบหยิบยืมวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ประเพณีหลวงเองก็ได้แบบอย่างของประเพณีราษฎร์มาประสมประสานกับวัฒนธรรมต่างประเทศจนกลายเป็นประเพณีหลวงโดยสมบูรณ์ หลังจากนั้นแล้วก็จะมีอิทธิพลส่งกลับไปสู่ ประเพณีราษฎรอีกครั้งหนึ่งโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ดังกล่าว ทำให้ประเพณีราษฎร์ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามประเพณีหลวง ในเรื่องการละเล่นก็เช่นเดียวกันที่จะจำแนกได้เป็น ๒ ระดับ คือ ส่วนที่เป็นประเพณีราษฎร์และประเพณีหลวง แหละในสังคมลักษณะเช่นสังคมไทยดังที่กล่าวมาแล้วนี้ การพักผ่อนหย่อนใจส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับพิธีกรรมและการทำมาหากินในรูปของการละเล่นต่างๆ ในที่นี้จะชี้ให้เห็นว่าการละเล่นเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่มีความหมายต่อสังคมไทย อย่างไรเพื่อความเข้าใจร่วมกันจึงจะให้คำจำกัดความของการละเล่นและพิธีกรรมรวมทั้งอธิบายถึงลักษณะของการละเล่น และพิธีกรรมต่างๆ ในสังคมไทย เป็นส่วนแรกและจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ของการละเล่นกับระบบความเชื่อเป็นส่วนที่สอง ในส่วนสุดท้าย จะเป็นการสรุปถึงความหมายของการละเล่นในสังคมไทยและบทบาทที่การละเล่นเคยมีในสังคมไทย โดยสังเขป
การละเล่น หมายถึง การเล่นดนตรี การเล่นเพลง การเล่นรำ การเล่นที่ต้องร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ที่เรียกว่า มหรสพ หรือศิลปะการแสดง (performing art) แต่ไม่รวมการละเล่นของเด็ก
ลักษณะสำคัญของการละเล่น
ลักษณะสำคัญของการละเล่นของไทยแต่ดั้งเดิมนั้น มีความสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนาอย่างน้อย ๔ ประการ คือ
๑. ผู้ให้กำเนิดไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา และมักเกี่ยวพันกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ข้อนี้มีปรากฏในพงศาวดารล้านช้าง ว่าหลังจากพระยาแถนหลวง (น่าจะหมายถึงพระอินทร์) ได้สร้างบ้านแปงเมือง ตลอดถึงเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินให้มนุษย์เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ดำริที่จะสร้าง “เครื่องอันจักเล่นจักหัวและเสพรำคำขับทั้งมวล” ให้แก่มนุษย์ พระยาแถนหลวงจึงสั่งให้ “ศรีคันธพะเทวดา” (น่าจะหมายถึงคันธรรพเทวดา) “….ลง มาบอกสอนคนทั้งหลายให้เฮ็คฆ้องกลองกรับ เจแวปี่พาทย์ พิณเพี๊ยะเพลงกลอนได้สอนให้ดนตรีทั้งมวล และเล่าบอกส่วนครูอันขับฟ้อนฮ่อนนะสิ่งสว่าง ระเมงละมางทั้งมวลถ้วนแล้ว…”
เรื่องราวของพระยาแถนหลวงหรือ “แถน” นี้มีบทบาทและมีอิทธิพลสูงต่อความรู้สึกนึกคิดของชนชาติไทย-ลาว โดยเฉพาะแถบที่อาศัยอยู่ละแวกริมแม่น้ำโขงและใกล้เคียงนับตั้งแต่ดินแดนภาคอีสาน และภาคเหนือของประเทศไทยตลอดไปจนถึงชาวลาวในประเทศลาว และชาวไทยลื้อแห่งสิบสองปันนาในเขตปกครองตนเองมณฑลยูนนานที่ประเทศจีน เพราะพระยาแถนหลวงหรือ “แถน” ก่อให้เกิดการ บวงสรวงด้วยบั้งไฟ และการรำ การเซิ้งบั้งไฟ ในช่วงฤดูแล้ง หรือสงกรานต์
กล่าวโดยสรุปแล้ว “แถน” เป็นผู้ให้กำเนิดทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในสังคมของชนชาติไทย-ลาว และดูเหมือนจะเป็นความเชื่อที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งหลงเหลือร่องรอยให้เห็นอยู่
เรื่องพระยาแถนหลวงให้ “ศรีคันธพะเทวดา” ลงมาสอนการร้องรำให้แก่มนุษย์นี้ ตรงกันกับเรื่องพระวิศุกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนสามองค์ของ “ดุริยเทพ” คือเทพเจ้าแห่งดุริยางค์ดนตรีของไทย
เกี่ยวกับกำเนิดของการร้องและรำนี้มีเรื่องราวแต่งเป็นคัมภีร์และบทละครเล่าสืบกันมาหลายกระแสด้วยกัน เช่น เรื่องราวของ “ศิวนาฏราช” ที่ทรงร่ายรำปราบมารหรืออสูร แล้วกลายเป็นแบบฉบับการร่ายรำสืบมา และพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เรื่อง “ธรรมา ธรรมะ สงคราม” ก็กล่าวถึงธรรมะเทพบุตร ปราบปรามอธรรมะเทพบุตรลงได้แล้วสอนให้ประชาราษฎรร้องรำ รื่นเริงสืบมาเป็นแบบฉบับ ส่วนพระราชนิพนธ์ของพระองค์อีกเรื่องหนึ่งคือ “พระภะรตเบิกโรง” เป็นเรื่องของพระภะรตมุนีผู้เป็นบรมครู ละคร อยากจะให้มีการละครเป็นการฉลอง และเพื่อให้เทวดาผู้ใหญ่โปรด จึงร่ายรำสั่งสอนลูกศิษย์ไว้ให้เป็นแบบอย่างสำหรับเล่นละคร
แม้แต่โนราก็มีที่มาด้วยเหตุ “เทพนิมิต” กล่าวคือ ราชธิดาของกษัตริย์เมืองหนึ่งฝันไปว่ามีเทพธิดามาร่ายรำให้ดู การร่ายรำนั้นรำทั้งหมด ๑๒ ท่า มีเครื่องประโคมดนตรี คือกลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ และแตร การประโคมดนตรี ลงกับท่ารำเป็นจังหวะกัน ราชธิดาองค์นี้จำได้แต่มีเหตุต้องถูกเนรเทศในขณะที่ทรงพระครรภ์ด้วย เหตุเพราะกินดอกบัวเข้าไป ต่อมาทรงคลอดลูกเป็นชายจึงได้รับการถ่ายทอดวิชา ร่ายรำตาม “เทพนิมิต” ให้ทั้งหมด กระทั่งเข้าเมืองได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และเครื่องต้น คือ เทริด กำไรแขนปั้นเหน่ง สังวาล พาดเฉียง ๒ ข้าง ปีกนกแอ่น หางหงส์ สนับเพลา ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นเครื่องทรงของกษัตริย์ทั้งสิ้น จากนั้นก็ถ่ายทอดการร่ายรำโนรานี้ให้แพร่หลาย เครื่องแต่งตัวโนราจึงเป็นเครื่องทรงของกษัตริย์
เกี่ยวกับ “เทพนิมิต” นี้ ยังมีเรื่องเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงแต่งเพลงบุหลันลอยเลื่อนจากเหตุที่ทรงพระสุบินว่ามีเทวดาบรรเลงดุริยางค์ดนตรีแล้วทรงจำได้จึงทรงจัดเป็นโน้ตไว้ ต่อมาเรียกชื่อเพลงนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “เพลงทรงพระสุบิน” ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปในหมู่นักดนตรีไทย
ความเป็นมาของเพลงสาธุการซึ่งเป็นเพลงในพิธีกรรมที่สำคัญเพลงหนึ่งของไทยนั้น เชื่อกันมาว่าพระอิศวรซึ่งเป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดูแพ้พนัน “ซ่อนหา” กับพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้เสร็จใหม่ๆ จึงต้องทำเพลงถวายเพื่อแสดงความยอมอ่อนน้อมต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และให้ชื่อเพลงนี้ว่า “สาธุการ”
นอกเหนือจากนี้แล้ว การรำมวยอันเป็นสิ่งที่สืบทอดอยู่ในสังคมภาคอีสานมาเป็นเวลาช้านานนั้น มีความเป็นมาที่ผูกพันอยู่กับงานบุญประเพณีโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพระธาตุต่างๆ ของภาคอีสาน กล่าวคือมักจะมีการรำมวยถวายพระธาตุ เป็นต้น นอกจากนั้นก็รำมวยเนื่องในพิธีทางพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่าแห่ปราสาทผึงออกพรรษา ฯลฯ
๒. มีความเชื่อถือและศรัทธาต่อ “เทวดา-ครู-ผี” อย่างเหนียวแน่น
ข้อนี้เกี่ยวพันมาจากข้อแรกในด้านที่ว่า “เทวดา- ครู-ผี” ซึ่งรวมเรียกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจทั้งหลายในโลก เป็นผู้ให้กำเนิดเครื่องมือและการละเล่นนั้นๆ ดังนั้นจึงต้องทำความเคารพกราบไหว้ก่อนจะลงมือเล่น
การละเล่นบางชนิด ผู้เล่นจะต้องผ่านพิธีครอบจาก “ครู” เสียก่อนจึงจะเล่นได้ซึ่งในพิธีครอบนั้นจะต้องทำต่อหน้าเทวดาและผีดีทั้งหลายโดย “ครูผู้ใหญ่” ที่ได้รับการมอบหมายจากเทวดาและผีดีโดยเฉพาะ เหตุที่ต้องผ่านพิธีครอบเสียก่อนก็เพราะมีความเชื่อถือด้วยความเกรงกลัวว่าหากฉวยพลาดพลั้งหรือละเลยปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ที่ได้รับการตราเอาไว้ อาจจะทำให้ผู้เล่นเป็นบ้าใบ้หรือล้มตายลงไปได้
โองการคำไหว้ครูของนักดนตรีไทยนั้นจะระบุนาม เทวดาที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ให้กำเนิดศิลปการดนตรีและขับร้อง ดังนี้
“พระวิศุกรรมผู้ทรงฤทธิ์
ท่านประสิทธิ์สาปสรรค์
เครื่องเล่นสิ่งสารพันในใต้หล้า
อีกทั้งท่านเทวดาปัญจสีขร
พระกรเธอถือพิณดีดดังเสนาะสนั่น
พระปรคนธรรพพระครูเฒ่า….ฯ”
สำหรบ “เทวดาปัญจสีขร” นั้น ในวงการศึกษาทางดุริยางคศิลปของไทยนับถือกันว่าเป็นบรมครูใหญ่ทางดนตรี ปีพาทย์ซึ่งจะต้องเคารพกราบไหว้บูชา ดังนั้น ใน “เพลงยาว ไหว้ครูมโหรี” ของเก่าจึงมีกล่าวคำนับเอาไว้ว่า
“ยอกรกึ่งเกล้าบงกชเกศ
ไหว้ไทเทเวศร์เป็นใหญ่
อันเรืองรู้ครูครอบพิณไชย
สถิตย์ในฉ้อชั้นกามา
ทรงนามชื่อปัญจศีขร
ได้สั่งสอนสานุศิษย์ในแหล่งหล้า
เป็นตำรับรับร้องสืบมา
ปรากฏเกียรติในแผ่นดินดอน”
บทไหว้ครูเสภาที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดมาจาก “นายอยู่” บ้านผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเกือบ ๗๐ ปีมาแล้วจะมีลักษณะแสดงให้เห็นความเชื่อได้อย่างดีทีเดียวว่า
o สิบนิ้วจะประนมเหนือเกศา
ไหว้พระพุทธพระธรรมล้ำโลกา
พระสงฆ์ทรงศีลาว่าโดยจง
คงคายมนามาเป็นเกณฑ์
พระสุเมรึหลักโลกสูงระหง
ดินน้ำลมไฟอันมั่นคง
จึงดำรงได้รอดมาเป็นกาย
ไหว้ครูบิดาแลมารดา
ครูพักอักษรสิ้นทั้งหลาย
อนึ่งจะบังคมองค์นารายณ์
อันสถิตแทบสายสมุทรไท
เอาพระยานาคราชเป็นอาสน์แก้ว
หามีเหตุไม่แล้วหาตื่นไม่
ทรงสังข์จักรคทาเกรียงไกร
ไวยกูณฐ์มาเป็นพระรามา
อนึ่งจะบังคมบรมพงศ์
ทรงหงส์เหินระเห็จพระเวหา
ไหว้องค์พระอิศวรเจ้าโลกา
พระนารายณ์รามาธิบดี
ไหว้พระฤาษสิทธิ์แลคนธรรพ์
พระวิษณุกรรม์อันเรืองศรี
สาปสรรเครื่องเล่นในธรณี
จึงได้มีปรากฏแต่ก่อนมา ฯ
ท้ายที่สุดนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการ “ไหว้ครู” ซึ่งจะมีพัฒนาการ แตกแขนงออกไปกว้างขวาง โดยจะไหว้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เชื่อถือที่เคารพว่าศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มชนนั้นๆ และจะปรากฏเนื้อความที่มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จากกลอนไหว้ครูของเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองซึ่ง เอนก นาวิกมูล และสุกัญญา สุจฉายา ได้ รวบรวมเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองภาคกลางเอาไว้อย่างดีที่สุดแล้ว ทั้งเป็นตัวอย่างของกลอนไหว้ครูของเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองทั่วไปทุกท้องถิ่นที่จะต้องกระทำก่อนจะถึงเวลาเล่นจริง
๓. เป็นการละเล่น ไม่ใช่การแสดง
ข้อนี้ หมายถึงการละเล่นเหล่านี้มิได้ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นการแสดงโดยวิธีชักชวนคน ออกจากบ้านไปซื้อบัตร เข้าชมอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยเยี่ยงในปัจจุบัน หากเป็นการละเล่นที่ทั้งผู้เล่นและผู้ชมมีความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และเกิดความมั่นคงในชุมชนของตน
การเล่นเพลง การเล่นดนตรี ตลอดถึงการเล่นระบำ รำฟ้อนต่างๆ ผู้ชมต่างรู้กันดีอยู่พอสมควรถึงระเบียบวิธีการเล่นนั้นๆ แล้ว หรือกล่าวได้อีกว่าผู้ชมรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเล่นอะไรและเล่นอย่างไร มีเนื้อหาสาระสำคัญว่ากระไร ทั้งนี้เพราะเป็นพิธีกรรมที่ต่างก็มีประสบการณ์กัน มาพอสมควร ยกเว้นเสียแต่คนใหม่ที่ยังไม่เคยผ่าน แต่ที่ผู้ชมยังถือโอกาสมีส่วนร่วมอยู่ด้วยนั้น เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องประกอบพิธีร่วมกัน และในขณะที่ผู้เล่นกำลังเล่นอยู่นั้น ผู้ชมก็สามารถที่จะทำอะไรหรือแสดงอาการกิริยาอะไรขึ้นมาได้ตามชอบใจโดยที่ไม่ขัดกับพิธีกรรมที่กำลังดำเนินอยู่ เช่น การเดินไปมาหรือพูดคุยกัน
ในระดับชุมชนหมู่บ้าน การละเล่นอย่างทรงเจ้าเข้าผี การละเล่นนางด้งนางสาก การเล่นเพลงประเภทต่างๆ เช่น เพลงพิษฐาน เพลงพวงมาลัย ฯลฯ ตลอดถึงการเล่นแม่ศรี รวมไปถึงระดับสูงในราชสำนักอย่างการเล่นระเบ็งโมงครุ่ม คุลาตีไม้ ตลอดไปถึงโขนละครไม่ว่าจะเรื่องรามเกียรติ์หรืออุณรุท ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องที่ผู้ชมรู้มาก่อนจากประสบการณ์ และคำบอกเล่าว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร และลงท้ายอย่างไร แต่ผู้ชมซึ่งเป็นสมาชิกในชุมชนนั้นๆ หรือในสังคมระดับนั้นๆ ต่างก็มีความเชื่อถือร่วมกันกับผู้แสดง และมีบทบาทในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงด้วย
การละเล่นเหล่านี้ ในชั้นต้นโดยทั่วไปแล้วไม่มีการยกพื้น ไม่มีเวทีเยี่ยงการแสดงทั่วไป หากจับเล่นกันบนลานดินทั่วไปหรือในพื้นที่ที่กำหนดร่วมกันขึ้นมา แล้วผู้ชมก็ตีวงนั่งล้อมการละเล่นนั้นๆ โดยอาจจะอุ้มลูกจูงหลานเข้ามาด้วยก็ได้ ในขณะที่อยู่ร่วมกับการแสดงนั้นก็อาจจะพูดคุยปัญหาต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังเล่นกันอยู่ก็ได้ การนำเอาลูกหลานเข้าไปร่วมด้วยนี้เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์หรือ เป็นการสั่งสอนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
๔. ไม่เล่นทั่วไป แต่จะเล่นเนื่องในโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา
ข้อนี้ หมาย ถึงการละเล่นส่วนใหญ่จะผูกพันอยู่กับพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ และความมั่นคงของชุมชนเพราะในยามปกติจะไม่เล่นกัน แต่จะต้องเล่นเฉพาะโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา หรือมิฉะนั้น ก็ในกรณีพิเศษซึ่งสมาชิกในสังคมตกลงกันว่าจะต้องเล่น เพราะถ้าหากไม่เล่นขึ้นมาแล้วจะเกิดความเดือดร้อนเสียหาย การละเล่นจึงต้องสัมพันธ์กับกาลเทศะด้วย
ที่มาโดย:ปรานี วงษ์เทศ

พิธีกรรมที่รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์

พิธีกรรม เป็นพฤติกรรมที่บ่งถึงความเชื่อของบุคคล และสังคม การศึกษาเกี่ยวกับพิธีกรรมจะทำให้เข้าใจถึงจุดประสงค์ของศาสนาที่แท้จริง จุดประสงค์ของผู้ประกอบพิธี และผลของพิธีที่มีต่อบุคคลและสังคม ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับพิธีกรรมจึงสำคัญมาก

ในที่นี้จะกล่าวถึงพิธีกรรมของชาวนครศรีธรรมราชที่รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์โดยสังเขป ดังนี้
พิธีกรรมเกี่ยวกับชุมชน มักจะเป็นพิธีการ เช่น พระราชพิธีเป็นต้น พิธีการเหล่านี้มักจะเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจการเมืองการปกครอง ดังเช่นพิธีแรกนาขวัญ ได้ถูกยกเลิกไปในตอนปลายรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้พิธีตรียัมพวาย พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และ พิธีขอฝน เป็นต้น ก็ถูกยกเลิกไปในเวลาต่อมา

พิธีเหล่านี้ในยุคที่นครศรีธรรมราชรุ่งเรืองมักจะมีกษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครหรือผู้ปกครองเมืองเป็นผู้ทำทั้งสิ้น จุดประสงค์ของพิธีต่างๆ นอกจากเพื่อความเจริญของแผ่นดินและของประชาชนแล้ว ส่วนหนึ่งก็แสดงถึงบุญญาธิการของผู้ปกครองเมือง เช่น การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเพื่อแสดงความจงรัก ภักดีของบริวาร เป็นต้น กระนั้นก็ตาม พิธีการบางอย่างก็ยังคงสืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะประชาชน ได้มีส่วนร่วมมาตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อการเมืองการปกครองเปลี่ยนไปผู้ปกครองเมืองไม่ได้เป็นผู้นำในการพิธี แต่ประชาชนทั่วไปก็ยังปฏิบัติอยู่ เช่น พิธีสารทเดือนสิบ และพิธีสงกรานต์เป็นต้น พิธีเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเชื่อของบุคคลที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนา และปทัสฐานของสังคมที่สืบต่อกันมา

ตรียัมปวาย

พิธีตรียัมพวาย (แห่นางกระดาน) พิธีตรียัมพวายหรือโล้ชิงช้าพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชเรียกว่า “พิธีแห่นางกระดาน” ที่เรียกเช่นนี้คงจะเพราะว่ามีการแห่นางกระดานแทนการโล้ชิงช้า เป็นพิธีต้อนรับเทพเจ้าของพราหมณ์โดยปกติ ถือว่าพระอิศวรจะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง ครั้งละ ๑๐ วัน คือตั้งแต่ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนอ้าย ถึง แรม ๑ ค่ำ จึงเสด็จกลับ และพระนารายณ์ เสด็จลงมาเป็นเวลา ๕ วัน ตั้งแต่แรม ๑ คํ่า ถึงแรม ๕ ค่ำ เดือนอ้าย พิธีนี้เพิ่งเลิกไปในปลายรัชกาลที่ ๖ คงเหลือเพียง เสาชิงช้าเป็นอนุสรณ์ในนครศรีธรรมราชทุกวันนี้ โบราณสถานที่เกี่ยวข้องในพิธีนี้ คือ เสาชิงช้า โบสถ์พราหมณ์ หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ และฐานพระสยม

พิธีแรกนาขวัญ

พิธีแรกนาขวัญ เป็นพิธีประจำเมืองมาแต่โบราณ โดยจัดในเดือนหก กระทำเองโดยไม่ต้องรับอนุญาตจากส่วนกลาง มีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี แม้พิธีนี้จะถูกยกเลิกไปตอนปลายรัชกาลที่ ๕ แต่ประชาชนยังมีความเชื่อเรื่องนี้อยู่ จึงยังคงเลือกวันมงคลในการแรกไถนาอยู่ โดยดูฤกษ์จากตำราที่กล่าวมา และการบูชาเทพเจ้าประจำท้องนายังมีอยู่โดยทั่วไป

สวดภาณยักษ์

พิธีสวดภาณยักษ์เพื่อไล่แม่มด
เป็นส่วนหนึ่งของพิธีตรุษ หรือ สัมพัจฉรฉินท์ อันเป็นพระราชพิธีสิ้นปีที่สืบเนื่องมาจากอินเดียภาคใต้ ในชวาก็มีพิธีเช่นนี้มักเริ่มทำพิธีในวันแรม ๑๔ คํ่า เดือน ๔ โดยมีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์เพื่อไล่เสนียดจัญไรออกจากตัวเมือง พิธีนี้ยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕

น้ำพิพัฒน์สัตยา

พิธีดื่มนํ้าพระพิพัฒน์สัตยา
เป็นพิธีสาบานของผู้ถืออาวุธ และผู้เข้ามาสวามิภักดิ์ ต่อกษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครว่าจะซื่อสัตย์สุจริต มีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ ในบริเวณพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร น้ำที่ใช้ในพิธีนี้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแหล่งต่อไปนี้ เช่น น้ำบ้วนปากนาคราช ลานสกา และห้วยเขามหาชัย เป็นต้น พิธีนี้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕

พิธีขอฝน

พิธีขอฝน (พระพิรุณศาสตร์)
กระทำโดยเชื่อว่ามีเทวดาประจำในธรรมชาติต่างๆ พิธีนี้ประกอบด้วยความเชื่อแบบดั้งเดิม พิธีพราหมณ์และพิธีสงฆ์

สารทเดือนสิบ
พิธีสารทเดือนสิบ

น่าจะเกิดจากความเชื่อเรื่องวิญญาณ และกรรมประกอบกัน โดยเชื่อว่าคนเมื่อตายแล้ววิญญาณอาจจะขึ้นสวรรค์ หรือลงนรกตามแต่กรรมที่ทำไว้ในขณะมีชีวิต วิญญาณที่ลงนรกจะเป็นเปรตและจะขึ้นจากนรกได้ ก็เพราะผลบุญที่ญาติมิตรอุทิศให้ ดังนั้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ จะขึ้นมารับผลบุญและกลับในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำบุญในโอกาสนี้ พิธีนี้น่าจะตรงกับพิธีพราหมณ์ คือศราทธ

พิธีสงกรานต์

พิธีสงกรานต์
ชาวทมิฬทางอินเดียภาคใต้ถือว่าวันสงกรานต์ (วันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน) เป็นวันขึ้นปีใหม่ มีการตกแต่งประดับร่างกายอย่างหรูหราในวันนี้ สัตว์และเครื่องใช้จะได้หยุดงานและตกแต่งอย่างสวยงามลักษณะเดียวกันกับที่เป็นอยู่ในนครศรีธรรมราช โดยในนครศรีธรรมราชเรียกวันที่ ๑๓ ว่าวันเจ้าเมืองเก่า วันที่ ๑๔ เรียกว่าวันว่าง และวันที่ ๑๕ เรียกว่าวันเจ้าเมืองใหม่ ในวันที่ ๑๕ มักจะจัดพิธีขึ้นเบญจา อันเป็นพิธีพราหมณ์แด่ผู้มีอายุด้วย

พิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต เป็นพิธีที่มุ่งความเจริญรุ่งเรืองต่อชีวิตโดยตรง เช่น ให้มีพลานามัยสมบูรณ์ ไม่มีโรคภัย ให้อายุยืน และให้ผู้อื่นเมตตา เป็นต้น พิธีมักจะอ้อนวอนอำนาจที่อยู่เหนือมนุษย์ การภาวนาให้เกิดฤทธิ์เดชขึ้นในพิธีและการใช้วัตถุหรือสัตว์นำเคราะห์ไปจากบุคคล

การอ้อนวอนอำนาจเหนือมนุษย์มักจะปรากฏอยู่ในพิธี เกือบทุกพิธี เช่น พิธีฝังรก พิธีขึ้นเปล พิธีทำขวัญเด็ก และพิธีทำขวัญนาค เป็นต้น การภาวนาให้เกิดฤทธิ์ปรากฏ ในพิธีการใช้เวทย์มนต์คาถา เมตตามหานิยม เป็นต้น ส่วนการใช้วัตถุหรือสัตว์เป็นสื่อปรากฎชัดเจนในพิธีเชิญ แม่ซื้อ และสะเคาะเคราะห์ ซึ่งใช้ตุ๊กตาเป็นตัวแทนในการนำโชคร้ายของบุคคลไป

พิธีแทบทุกพิธีจะเริ่มต้นคล้ายคลึงกัน คือ การตั้งนโม การชุมนุมเทวดา และการพรรณนาคุณหรือสรรเสริญคุณ
พิธีที่สำคัญ คือ พิธีฝังรก พิธีขึ้นเปล พิธีเชิญแม่ซื้อ พิธีทำขวัญเด็ก พิธีทำขวัญนาค พิธีแต่งงาน และพิธีศพ

พิธีมงคลอื่นๆ หมายถึงพิธีการบางอย่างที่เราสามารถกระทำในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตก็ได้ เช่น พิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีตั้งศาลพระภูมิ พิธีทำขวัญเรือ พิธีทำขวัญข้าว ซึ่งพิธีหลังทั้งสองพิธีอาจจะเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจ

พิธีกรรมจำนวนไม่น้อยที่มีความสัมพันธ์กับสภาพภูมิศาสตร์และการประกอบอาชีพของประชาชนในสังคม โดยต้องขึ้นอยู่กับสภาพธรรมชาติ เช่น น้ำ, ดินฟ้าอากาศ, ศัตรูพืช เป็นต้น อาจจะทำให้ประชาชนต้องทำพิธีต่างๆ เพื่ออ้อนวอน เทวดาประจำธรรมชาติเมื่อใดที่สิ่งเหล่านี้อำนวย เพราะวิทยาศาสตร์อาจจะทำให้พิธีการบางอย่างหายไปก็ได้ เช่น ระบบชลประทานอาจจะทำให้พิธีทำขวัญข้าวหายไป เป็นต้น

นอกจากนี้พิธีกรรมในมหรสพก็มีอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์แฝงอยู่ไม่น้อยเลย ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากพิธีกรรมในการแสดงหนังตะลุง ซึ่งต้องเชิดรูปพระศิวะ (อิศวร) และมีบทสรรเสริญคุณพระศิวะและเทพอื่นๆ (โดยทั่วไปมักจะพบว่ามีพระวิษณุและพระพรหมเสมอ) ประกอบ ด้วยก่อนที่จะเริ่มการแสดง อันอาจจะเป็นพิธีกรรมที่สืบต่อความเชื่อเกี่ยวกับศิวนาฏราชก็เป็นได้

ด้วยวิวัฒนาการอันยาวนานของนครศรีธรรมราชท่ามกลางสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยก่อการพัฒนาทางอารยธรรม และวัฒนธรรม ทำให้นครศรีธรรมราชพัฒนาอารยธรรมได้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์

ก่อนที่หลักฐานทางด้านโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์จะปรากฏในบริเวณนครศรีธรรมราชและศาสนานี้จะหยั่งรากลงอย่างมั่นคง ในราวพุทธศตวรรษที่ ๙ นั้น นครศรีธรรมราชได้มีชุมชนที่มีพัฒนาการสูงอยู่ก่อนแล้ว ชุมชนเหล่านั้นมีความเชื่อดั้งเดิมและวิถีชีวิตที่เป็นของตนเองอยู่แล้วเช่นกัน ดังที่ปรากฏในหลักฐานทางโบราณคดี ที่พบในบริเวณนี้

แต่เมื่อชุมชนโบราณในบริเวณนี้ได้รับอิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์เข้ามาก็ผสมเอาความเชื่อดั้งเดิมที่ตนมีอยู่กับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนทำให้พัฒนาการทางอารยธรรมที่รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองอย่างมากนับตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ เป็นต้นมา และต้องยอมรับว่าชุมชนแห่งนี้ได้รับอิทธิพลทางศาสนาเหล่านั้นอย่างเลือกสรรเพื่อการพัฒนาทางวัฒนธรรม ในชุมชนของตนเป็นอย่างดีอันจะเห็นได้จากการมีศิลปกรรมที่เป็นงานสร้างสรรค์ของตนเองโดยเฉพาะจำนวนมากและการมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นต้น

ยิ่งเวลาผ่านมานานเท่าใดมรดกทางวัฒนธรรมที่รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราชก็ยิ่งทวีขึ้นเท่านั้น ซ้ำอิทธิพลทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์เหล่านี้ได้ผสมกลมกลืนกับพุทธศาสนาซึ่งเจริญสูงสุดในนครศรีธรรมราชเช่นกันกับความเชื่อดังเดิมเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี กระนั้นก็ตาม มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้จำนวนไม่น้อยที่ยากแก่การที่จะตีความหรือสรุปอย่างง่ายๆ จากข้อมูล ที่มีอยู่อย่างจำกัดในขณะนี้ ดังนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนที่ควรจะกระทำคือ รีบศึกษามรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้โดยเร็วก่อนที่มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้บางส่วนจะถูกทำลาย หรือสูญหายไปกับกาลเวลาอย่างน่าเศร้าสลด

ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

ศิลาจารึกและเอกสารเนื่องในศาสนาพราหมณ์

ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย
ในปัจจุบันนี้ได้ค้นพบจารึกที่มีอายุก่อน พ.ศ. ๑๘๒๖ ในภาคใต้จำนวน ๙ หลักโดยตัวอักษรที่พบในจารึกระยะแรก เป็นตัวอักษรอินเดียใต้ แบบคฤนถ์-ปัลลวะ และทมิฬ-ปัลลวะ มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๓ จากนั้นอักษรได้เริ่มกลายรูปไปบ้าง จนระยะสุดท้ายพบจารึกอักษรมอญโบราณในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ส่วนภาษานั้นในระยะแรก พบภาษาสันสกฤต และทมิฬตามแบบอินเดีย สำหรับภาษาพื้นเมืองที่พบคือ มอญโบราณและเขมรโบราณ
ในบรรดาจารึกเหล่านี้เป็นจารึกที่ค้นพบในนครศรีธรรมราช จำนวน ๖ หลัก (ที่เหลือพบที่ตะกั่วป่า ๑ หลัก และไชยา ๒ หลัก) ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะจารึกที่เกี่ยวเนื่องกับอิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์โดยสังเขปดังนี้
๑. ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย เป็นศิลาจารึกที่เพิ่งค้นพบใหม่เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๒ ณ หุบเขาช่องคอย บ้านคลองท้อน หมู่ที่ ๙ ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์
ศิลาจารึกหลักนี้มีข้อความจารึกเป็นภาษาสันสกฤต ตัวอักษรเป็นแบบที่ใช้ในอินเดียใต้ และยังพบในชวาอีกด้วย เรียกว่าอักษรคฤนถ์-ปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐
บางท่านเห็นว่าเนื้อหาในศิลาจารึกหลักนี้เป็นเรื่องของ ไศวนิกายกล่าวคือ
ตอนที่ ๑ ประกาศให้ทราบว่า ศิลาจารึกหลักนี้เป็นจารึกอุทิศบูชาพระศิวะ
ตอนที่ ๒ กล่าวนอบน้อมพระศิวะ แล้วเสริมว่าผู้เคารพในพระศิวะมา (ในที่นี้) เพราะจะได้ประโยชน์ที่พระศิวะประทานให้
ตอนที่ ๓ กล่าวสรรเสริญคนดี ไม่ว่าเขาจะอยู่ในที่ไหน ก็จะทำให้เจ้าถิ่นได้รับความสุข
แต่กระนั้นก็ตาม มีบางท่านยังไม่เห็นด้วยกับคำแปลเหล่านี้บางส่วน เพราะในขณะนี้ยังสำรวจไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีใดๆ ในบริเวณที่ค้นพบศิลาจารึก ที่จะสนับสนุนได้ว่าศิลาจารึกหลักนี้ว่าด้วยเรื่อง ไศวนิกาย
๒. ศิลาจารึกวัดมเหยงคณ์ (จารึกหลักที่ ๒๗) เป็นจารึกภาษาสันสกฤตตัวอักษรที่ใช้คล้ายกับที่พบในเขมรโบราณ (อักษรอินเดียใต้) อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ โดยทั่วไปมักจะเข้าใจกันว่าเนื้อหาของศิลาจารึกหลักนี้ “กล่าวถึงวินัยสงฆ์ในพระพุทธศาสนา” ตามที่ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒ แต่ผู้เขียนเห็นว่าหากพิจารณาให้ถ่องแท้เนื้อหาของจารึกหลักนี้ น่าจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น หากแต่มีอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์อยู่ด้วย ดังคำแปลที่คัดมาจากหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒ ดังต่อไปนี้
“….พระระเบียงและห้องอาหารกับอุโบสถาคาร อาหารสำหรับคณะสงฆ์และบุคคลต่างๆ….การนมัสการพระบารมี การเขียนหนังสือ การจำหน่ายน้ำหมึกกับแผ่น (สำหรับเขียน) เครื่องบูชา อาหารเครื่องบำรุงคณะพราหมณ์ ของพระอคัสติมหาตมัน….มีทั้งธรรมกถา ประกอบด้วยธูป ประทีป พวงมาลัย ธงพิดาน จามร ประดับด้วยธงจีน….บุญกุศลอื่นๆ ตามคำสอน คือ การปฏิบัติพระธรรมไม่ขาดสักเวลา การบริบาลประชาราษฎร์ การทนต่ออิฏฐารมณ์และอนิฎฐารมณ์ การชำนะอินทรีย (ให้สงบ)….ผู้ได้ทรัพย์สมบัติโดยความองอาจ….ชื่ออรรณาย…”
เป็นที่น่าเสียดายที่ศิลาจารึกหลักนี้ชำรุดมาก แต่เนื้อหาเท่าที่มีอยู่ก็นับว่ามีประโยชน์ในการศึกษาอารยธรรมของบรรพบุรุษไม่น้อยเลย ในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่าศิลาจารึกหลักนี้ น่าจะเป็นการสรรเสริญบุคคล อันสังเกตได้จากเนื้อหาโดยรวม ที่กล่าวถึงจริยาวัตรของท่านผู้นี้และโดยเฉพาะข้อความบางตอน เช่น “ผู้ได้ทรัพย์สมบัติโดยความองอาจ” และ “ชื่ออรรณาย” เป็นต้น
ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์นั้นจะเห็นได้ว่า ศิลาจารึกหลักนี้ได้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจน ดังความตอนที่ว่า “….อาหารเครื่องบำรุงคณะพราหมณ์ของพระอคัสติมหาตมัน…” ทั้งนี้ เพราะคำว่า “คณะพราหมณ์” และ “พระอคัติมหาตมัน” ปรากฏชัดแจ้งอยู่แล้ว
คำว่า “พระอคัสติมหาตมัน” หมายถึง พระอดัสยะ ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระศิวะที่เสวยพระชาติเป็นพระเทพครู พระอคัสยะนี้เป็นผู้นำศาสนาฮินดูและอารยธรรมต่างๆ ให้แก่อินเดียภาคใต้ในชวานั้นการนับถือบูชาพระอคัสยะ จะกระทำควบคู่ไปกับการบูชาศิวลึงค์ ดังนั้น คณะพราหมณ์ในที่นี้คงจะหมายถึงคณะพราหมณ์ในลัทธิไศวนิกาย
นอกจากนี้ศิลาจารึกหลักนี้ยังได้สะท้อนให้เห็นลักษณะการผสมผสานกันเป็นอย่างดี ระหว่างพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ในชุมชนเดียวกัน เหมือนกับที่เราพบโบราณวัตถุของศาสนาทั้งสองที่มีอายุช่วงเดียวกันอยู่ในแหล่งโบราณคดีเดียวกัน ณ แหล่งโบราณคดีหลายแห่งในนครศรีธรรมราช และลักษณะการผสมกลมกลืนเช่นนี้ก็ยังคงสืบเนื่องมาจนบัดนี้
๓. ศิลาจารึกวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (จารึก หลักที่ ๒๙) ศิลาจารึกหลักนี้มี ๒ ด้าน ด้านแรกยังไม่มีการอ่านและแปล ด้านที่ ๒ สลักด้วยอักษรและภาษาทมิฬ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของศาสนาพราหมณ์โดยตรง ดังความที่อ่านแปลได้ซึ่งคัดมาจากหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒ ดังนี้
“สวัสติ ศรีศก….ร้อยห้าล่วงแล้ว….วันจันทร์ ตรงกับ….
ธรรมเสนาบดี….ดังนี้ คือ พราหมณ์….โดยคำสั่งธรรม
เสนาบดี….หนึ่ง….ธรรม ..ถ้าผู้ใดทำอันตรายแก่ คงคา
….โคสีแดง ถูกฆ่าเสีย….มารดา….บาป….เตลฺลาม….
คำรบแปด…”
นอกจากศิลาจารึกที่กล่าวมาแล้วนี้ยังมีศิลาจารึกหลักอื่นๆ ในนครศรีธรรมราชที่สะท้อนให้เห็นอารยธรรมและอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เช่น ในศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ (วัดเสมาเมือง) ซึ่งสลักด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. ๑๓๑๘ ได้เปรียบเทียบกษัตริย์เหมือนกับเทพบางองค์ของศาสนาพราหมณ์ และเปรียบเทียบอาคารบางแห่ง (ที่ปรากฏในศิลาจารึก) เหมือนวิมานของเทพบางองค์ และในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งพบ ณ วัดหัวเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สลักด้วยอักษรอินเดียกลาย ภาษาสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ ก็ได้เปรียบเทียบกษัตริย์จันทรภาณุศรีธรรมราช แห่งตามพรลิงค์กับเทพบางองค์ของศาสนาพราหมณ์เช่นกัน เป็นต้น
๔. ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรธรรมราช ได้มีการค้นพบหนังสือบุด (สมุดข่อย) ว่าด้วยตำนานพราหมณ์ เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งกล่าวถึงการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์มาสู่นครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าเรื่องราวนี้เกิดในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ซึ่งเสวยราชย์ในกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๑๘๙๓ เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการส่งเทวรูปมากรุงศรีอยุธยา แต่เกิดเหตุต้องประดิษฐานไว้ที่นครศรีธรรมราช รายละเอียดในการทำพิธีกรรมต่างๆ สิทธิพิเศษที่พราหมณ์ได้รับจากกษัตริย์ และการออกกฎหมายในรัชกาลต่างๆ เป็นต้น จนหนังสือเขียนจบลงเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๗๖ ในรัชกาลสมเด้จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
๕. ตำราเกี่ยวกับไสยศาสตร์และพิธีกรรม ในนครศรีธรรมราชได้ค้นพบหนังสือบุดที่ว่าด้วยไสยศาสตร์และพิธีกรรมเป็นจำนวนมาก ตำราเหล่านี้มีหลายประเภท เช่น ฤกษ์ยาม เวทย์มนต์ คาถา ตำราดูลักษณะสัตว์ ยันต์ และตำราโหร เป็นต้น ในบรรดาตำราโหรนั้น เนื้อหาจากมหากาพย์รามายณะ นับเป็นตำราที่สำคัญเล่มหนึ่งที่นำมาใช้ในการทำนายทายทัก โดยเรียกกันว่า “ศาสตรา”
นอกจากนี้ยังค้นพบตำราที่ว่าด้วยการประกอบพิธีกรรมต่างๆ อีกไม่น้อย เช่น การทำขวัญ การชุมนุมเทวดา การสรรเสริญเทวดา การสะเดาะเคราะห์ การบูชาเทวดา การตั้งศาลพระภูมิ และรายละเอียดในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น
ตำราเหล่านี้มีอยู่โดยทั่วไปตามบ้านและตามวัด เพราะชาวบ้านยังคงใช้กันอยู่ และส่วนหนึ่งได้รับการเก็บมารักษา รวบรวมและศึกษาค้นคว้าวิจัยตามศูนย์วัฒนธรรมของสถาบันการศึกษาต่างๆ
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

โบราณสถานในศาสนาพราหมณ์

ขณะนี้ได้ค้นพบชุมชนโบราณขนาดใหญ่ในเขตอำเภอขนอม, สิชล, ท่าศาลา และอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นชุมชนโบราณที่ทอดตัวไปตามแนวยาวของผืนทราย ซึ่งยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ที่ทอดตัว ในแนวเหนือ-ใต้ในเขตอำเภอดังกล่าว
อาจจะกล่าวได้ว่าในชุมชนโบราณแห่งนี้มีโบราณสถานที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะได้ค้นพบโบราณวัตถุหรือรูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์ ปรากฏอยู่ควบคู่กับโบราณสถานเหล่านี้ เช่น ศิวลึงก์, เทวรูป พระวิษณุ, เทวรูปพระพิฆเนศวรและโยนิ เป็นต้น
จากการสำรวจทางโบราณคดีในขณะนี้ปรากฏว่าได้พบโบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ในชุมชนโบราณแห่งนี้ ไม่น้อยกว่า ๕๐ แห่ง โบราณสถานส่วนใหญ่คงอยู่ริมแม่น้ำ (คลอง) ในเขตอำเภอสิชล เช่น คลองท่าทน, คลองท่าควาย คลองท่าเรือ และคลองเทพราช เป็นต้น
จากการกำหนดอายุเบื้องต้นของโบราณสถานเหล่านี้ โดยอาศัยรูปแบบทางศิลปกรรมของโบราณวัตถุที่พบร่วมกับโบราณสถานและอักษรปัลลวะบางตัวที่สลักอยู่ในชิ้นส่วนของอาคารโบราณสถานบางแห่ง เราอาจจะกล่าวได้ว่าโบราณสถานเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔ อันนับเป็นโบราณสถานรุ่นแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยัง หลงเหลืออยู่
โบราณสถานในชุมชนโบราณแห่งนี้จำนวนไม่น้อยที่ถูกรอจนโบราณวัตถุหรือรูปเคารพ และชิ้นส่วนของอาคาร ซึ่งทำด้วยหินและอิฐกระจัดกระจายโดยทั่วไป ชิ้นส่วนที่ทำด้วยหินได้แก่ ฐานเสา ธรณีประตู กรอบประตู และเสา เป็นต้น และยังมีโบราณสถานอีกไม่น้อยที่ยังคงอยู่ภายใต้เนินดินซึ่งคงจะหมายถึงว่ายังไม่ถูกขุดคุ้ยทำลาย
รอบๆ โบราณสถานที่อยู่ห่างจากลำน้ำมักจะมีสระน้ำโบราณปรากฏอยู่โดยทั่วไป สระน้ำโบราณเหล่านี้คงจะขุดขึ้นเนื่องในความเชื่อหรือพิธีกรรมทางศาสนา และการบริโภคของชุมชน แต่โบราณสถานบางแห่งแม้จะอยู่ใกล้ลำน้ำแต่ก็ปรากฏสระน้ำโบราณเช่นกัน โดยสระน้ำโบราณ มักจะอยู่ในด้านอื่นๆ ที่ตรงข้ามกับด่านที่ติดลำคลอง
ในบรรดาโบราณสถานเหล่านี้ โบราณสถานบนเขาคา นับว่าน่าสนใจมาก เพราะได้ค้นพบโบราณวัตถุ (รูปเคารพ) ของไวษณพนิกาย และไศวนิกาย ที่มีอายุอยู่ในช่วงเดียวกันอยู่ด้วยกันหลายชิ้น นอกจากนี้ยังได้พบโยนิ (หรืออาจจะเป็นฐานรูปเคารพ) ขนาดใหญ่ ลำรางนามนต์ และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่ส่วนใหญ่ทำด้วยหินปูนและอิฐ เช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ กระจายอยู่ทั่วไปทั้งภูเขาลูกนี้ แต่สิ่งเหล่านี้พบในปริมาณมากและขนาดใหญ่กว่าในแหล่งโบราณคดีอื่นๆ คงจะเป็นเพราะมีโบราณสถานหลายหลังหรือไม่ก็โบราณสถานขนาดใหญ่อยู่บนภูเขาลูกนี้ จนนักโบราณคดีบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าโบราณสถานแห่งนี้อาจจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนโบราณแหล่งนี้ และศูนย์กลางของโบราณสถานทั้งหลายในบริเวณนี้ก็ได้ เพราะรอบๆ โบราณสถานแห่งนี้โดยเฉพาะทางด้านเหนือห่างออกไปในรัศมีราว ๕๐๐-๑,๐๐๐ เมตร ได้พบโบราณสถานที่ชาวบ้านพบรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ทั้งไศวนิกาย และไวษณพนิกาย กระจายอยู่อย่างหนาแน่นเป็นพิเศษ
ด้วยเหตุนี้ ชุมชนโบราณแห่งนี้คงจะเป็นพัฒนาการของชุมชนยุคแรกๆ ต่อเนื่องมาจนถึงยุครุ่งเรืองยุคหนึ่งของรัฐตามพรลิงค์ก็เป็นได้
ยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนคาดหมายว่า เมื่อได้ดำเนินการทางโบราณคดี ในชุมชนโบราณแห่งนี้อย่างจริงจังและถูกหลักวิชาแล้ว เราคงจะได้ข้อมูลที่มีค่ายิ่งเกี่ยวกับอารยธรรม อิทธิพลศาสนาพราหมณ์ในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก เพราะหลักฐานเหล่านี้อาจจะรองรับเอกสารจีนที่กล่าวว่าในราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ ในบริเวณเมือง Tun-sun ซึ่งเป็นรัฐ ทางชายฝั่งทะเล ด้านตะวันออก มีความเจริญทางการค้ามาก มีชนต่างชาติเป็นจำนวนมากอยู่ในชุมชนนี้ ดังปรากฏว่ามี พวกฮู (Hu) ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นี่ถึง ๕๐๐ ครอบครัวและพวกพราหมณ์ชาวอินเดียกว่าพันคน ซึ่งจำนวนหนึ่งได้ แต่งงานกับสตรีชาวพื้นเมืองก็เป็นได้
ในช่วงสมัยต่อจากบริเวณที่เราพบอารยธรรมอิทธิพล ศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองในชุมชนโบราณสิชล คือ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เป็นต้นมา เราพบว่าชุมชนโบราณ อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ได้เจริญรุ่งเรืองในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชและเจริญสืบต่อมาทุกยุคสมัยตราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เพราะได้ค้นพบโบราณวัตถุและโบราณ สถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์หลายแห่งในชุมชนโบราณแถบนี้ เช่น โบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่มีลวดลายแบบศิลปะโจฬะ อายุราวพุทธศตวรรษที่๑๖-๑๘ (บางท่านก็ว่าราวพุทธศตวรรษที่ 20-21) ซึ่งเราค้นพบที่ตำบลท่าเรือ อันเป็นชุมชนทางการค้าที่สำคัญในสมัยโบราณ ในเขตอำเภอเมือง นอกจากนี้เทวสถานภายในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชหลายแห่งได้รับการบูรณะมาทุกยุคทุกสมัย จนกระทั่งทุกวันนี้ เช่น หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ และเสาชิงช้า เป็นต้น ส่วนที่ไม่ได้รับการบูรณะก็ยังคงมีอยู่ เช่น ฐานพระสยม และโบสถ์พราหมณ์ เป็นต้น เทวสถานเหล่านี้ส่วนใหญ่ประชาชนยังประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอยู่
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

พระพรหม

พระพรหม
พระพรหมเป็นพระผู้เป็นเจ้าของผู้สร้างโลกในศาสนาพราหมณ์ และเป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์แรกในตรีมูรติ พระองค์คงจะกลายมาจากพระประชาบดีพระผู้สร้างในคัมภีร์พระเวท ตามคัมภีร์กล่าวว่าพระองค์ทรงมีกายเป็นสีแดง มีสี่พักตร์ ทรงถือคทา หรือช้อน หรือประคำ หรือคันศร หรือหม้อน้ำมนต์ และคัมภีร์พระเวท ชายาของพระองค์คือ พระสรัสวดี เทพีแห่งความรู้ พระองค์ทรงหงส์เป็นพาหนะ
ในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ค้นพบเศียรเทวรูป ปูนปั้นชิ้นหนึ่ง มี ๔ พักตร์ แต่พักตร์ที่ ๔ หักหายไป เหลือเพียง ๓ พักตร์ สันนิษฐานว่าเป็นเศียรพระพรหม เนื่องจากมีสภาพชำรุดมากจึงยากแก่การศึกษาให้ละเอียด พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช กำหนดให้มีอายุอยู่ในศิลปะทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖)

พระหริหระ
พระหริหระ
พระหริหระเป็นรูปที่รวมพระศิวะ (พระหระ) กับพระวิษณุ (พระหริ) เข้าด้วยกันคือ พระศิวะอยู่ซีกขวา พระวิษณุอยู่ซีกซ้าย ในประติมากรรมไทย เช่น สมัยสุโขทัยชอบทำรวมกัน คือ เป็นเทวดาองค์เดียว มีเนตรที่ ๓ ขวางอยู่กลาง พระนลาฏและทรงนาคเป็นสังวาล อันเป็นลักษณะของพระ ศิวะ แต่มี ๔ กร สองกรบนถือจักรและสังข์ อันเป็นลักษณะของพระวิษณุ
ได้ค้นพบพระหริหระสำริดองค์หนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช พระองค์ประทับนั่งห้อยพระบาทซ้าย พระหริหระองค์นี้ทรงมงกุฎลักษณะเดียวกันกับเทวรูปในศิลปะอินเดียภาคใต้ แบบโจฬะ ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ที่นลาฏมีพระเนตรที่ ๓ มีกรองศอ มีพาหุรัด ทองพระกร และยัชโญปวีต เทวรูปองค์นี้สามารถกำหนดอายุให้อยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖

หงส์
หงส์
หงส์เป็นนกชนิดหนึ่ง เป็นพาหนะของพระพรหมได้ค้นพบหงส์สำริดที่สวยงามตัวหนึ่งที่โบราณสถาน โบสถ์พราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราช นับเป็นหงส์ที่ยังสมบูรณ์มาก แม้ว่าบางส่วนจะถูกสนิมกัดกร่อนจนผุไปบ้าง คือ ที่บริเวณโคนปีกขวา หงส์ตัวนี้ได้รับการตกแต่งอย่างประณีตมาก ลวดลายยังคงเด่นชัดและงดงามมาก จากการที่มีลักษณะภายในลำตัวหงส์กลวง และที่บนหลังมีช่องที่หล่อขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าคงสร้างขึ้นเพื่อใช้งานบางอย่างและงานที่เหมาะสมที่สุดคงจะเป็นหม้อน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ เพราะหงส์เป็นสัตว์ที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อถือของพราหมณ์ จากลวดลายต่างๆ บนตัวหงส์อาจจะสันนิษฐานได้ว่าหงส์ตัวนั้นคงจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๑
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่กล่าวมาชี้ให้เห็นว่าได้มีการค้นพบประติมากรรมรูปเคารพของศาสนาพราหมณ์เป็นจำนวนมากในนครศรีธรรมราช โบราณวัตถุเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราชได้เป็นอย่างดี
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

พระพิฆเนศวร์

พระพิฆเนศวร์
พิฆเนศวร์ แปลตามรูปศัพท์ว่าอุปสรรค ดังนั้น พระพิฆเนศวร์เป็นเทพแห่งอุปสรรคและสิ่งกีดขวางทั้งปวง สามารถกีดขวางมนุษย์ เทวดาและมารร้ายต่างๆ ได้ และในขณะเดียวกันก็สามารถกำจัดเครื่องกีดขวางทั้งปวงได้ พระองค์มีพระนามต่างๆ กันออกไปมากมายตามแต่ประวัติในแต่ละคัมภีร์ เช่น พิฆเนศวร คชานนะ เอกทันต์ คณปติ คเณศพิฆนราชะ เหรัมพะ ลัมโพทระ สุรปกรรณะ และคุหา¬ครชะ เป็นต้น พระองค์เป็นโอรสของพระศิวะและนางปารวตี (อุมา) ปัจจุบันเป็นที่นับถือของชาวฮินดูมาก เมื่อจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือจัดงานฉลองเกี่ยวกับศาสนาทุกครั้ง จะต้องสักการะพระพิฆเนศวร์ก่อน เพื่อให้พิธีกรรมและงานดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปโดยปราศจากอุปสรรคใดๆ
พระพิฆเนศวร์มีเศียรเป็นช้าง เป็นเชษฐาของพระขันธกุมารเทพเจ้าแห่งการสงคราม เป็นเจ้าแห่งสติปัญญา ความเฉลียวฉลาดและเจ้าแห่งอุปสรรค ด้วยเหตุนั้นจึงมีผู้เคารพนับถือมาก ในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นเจ้าแห่งภูตผีปีศาจและคณะ (คนแคระ) คือ ผู้รับใช้ของพระอิศวรด้วย ทรงหนูเป็นพาหนะ
ในประติมากรรมพระพิฆเนศวร์จะประทับนั่งและประทับยืน บัลลังก์ที่ประทับบางทีก็เป็นบัลลังก์ดอกบัว บางทีก็ทรงหนู เนื่องจากพุงใหญ่มากจึงนั่งขัดสมาธิไม่ได้ต้องแยกขา การยืนมักยืนตรงไม่ยืนตริภังค์หรือทวีภังค์อย่างเทพอื่นๆ เพราะพุงใหญ่ งวงมักทำห้อยลงมาทางซ้ายหรือขวา ส่วน ใหญ่ห้อยไปทางซ้าย มักจะมี ๒, ๔, ๖, ๘, ๑๐ และ ๑๖ กร แต่ส่วนใหญ่นิยมทำ ๔ กร มีงูพันรอบอกและเอวแห่งละตัว สิ่งที่ถือมักต่างกันออกไปตามแบบที่ปรากฏ ส่วนใหญ่จะเป็น ปาศะ (บ่วง) อังกุศะ (ขอสับช้าง) ลูกแอปเปิล ลูกหว้า ไม้ไผ่ มะพร้าว มะม่วง ก้อนน้ำตาล ศักติ (หอก) ลูกศร และธนู ดาบและโล่ ค้อน คทา ตรีศูล ทวน และธง
ในจังหวัดนครศรีธรรมราชเท่าที่ทราบ ในขณะนี้ได้มีการค้นพบพระพิฆเนศวร์ ๔ องค์ เป็นศิลา ๑ องค์ และที่เหลืออีก ๓ องค์เป็นสำริด
พระพิฆเนศวร์ศิลาองค์นี้ ได้ค้นพบ ณ วัดพระเพรง สถานที่เดียวกันกับที่พบพระวิษณุรุ่นเก่าที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพระพิฆเนศวร์ที่ทรงมี ๒ กร พระกรขวาหักหายไปพร้อมทั่งปลายงวงและพระกรรณ พระหัตถ์ซ้ายถือขนมโมทกะ (ขนมต้ม) อันเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ เหนือพระนาภีมีแนวชายผ้าคาดไว้ ทรงพาหุรัด ไม่ทรงสวมมงกุฎ ไม่ประดับพระศอ แต่ประดับเชือกศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ คือ ยัชโญปวีต อันหมายถึง การเป็นทวิชาชาติ คือ ผู้เกิดสองหน ทรงประทับนั่งสมาธิ การที่ประติมากรรมชิ้นนี้มีลักษณะเป็นธรรมชาติและไม่มีการประดับด้วยเครื่องประดับมากมาย จึงจัดได้ว่าเป็นพระพิฆเนศวร์ที่เก่าแก่ที่สุดในภาคใต้องค์หนึ่ง และมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒
ส่วนประติมากรรมพระพิฆเนศวร์สำริดอีก ๓ องค์ ได้ค้นพบที่
เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ในอำเภอเมืองทั้งสิ้น แต่ละองค์จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ องค์แรก ได้แก่ พระพิฆเนศวร์ประทับยืน มี ๔ กร กรขวาหลังทรงถือสังข์ กรขวาหน้าทรงถืองาขวาของตนเองที่หักไป กรหลังซ้ายถือบ่วงบาศ และกรซ้ายหน้าถือขนมโมทากะ พระเศียรประดับด้วยกระบังหน้า มีพาหุรัดทองกร แสะกรองศอ มีสายยัชโญปวีต ทรงนุ่งผ้าสั้น มีเข็มขัดผ้าคาด และชายผ้าห้อยลงมาข้างหน้าประทับยืนบนฐานสี่เหลี่ยม ๒ ชั้น ฐานชั้นล่างมีจารึกอักษรทมิ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ปรากฏอยู่ จึงอาจจะกำหนดได้ว่าประติมากรรมชิ้นนี้มีอายุ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ และได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรม จากอินเดียภาคใต้ แต่กระบังหน้าคล้ายกับพระคเณศจากบาสัก ศิลปะขอมแบบเกาะแกร์ (ราวพ.ศ. ๑๔๖๕-๑๔๙๐) องค์ที่สองเป็นพระพิฆเนศวร์ที่มีรูปแบบเหมือนกับองค์แรกทุกประการ จะแตกต่างกันออกไปก็เพียงแต่องค์นี้ประทับนั่งเท่านั่น สิ่งที่แปลกมากในศิลปกรรมชิ้นนี้คือ พระองค์ประทับนั่ง บนฐานสี่เหลี่ยมที่มีร่องน้ำอย่างเดียวกันกับโยนิโทรณะที่พบโดยทั่วไปในนครศรีธรรมราชใต้ฐานดังกล่าวยังมีหนูพาหนะของพระองค์หมอบอยู่ด้วย การที่มีฐานเช่นนี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่าในการประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์นั้น คงจะรองรับน้ำที่รดผ่านพระองค์ไปใช้ในกิจพิธีต่างๆ เพื่อสิริมงคล เทวรูปองค์นี้คงจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ และพระพิฆเนศวร์องค์สุดท้าย เป็นพระพิฆเนศวร์ ๒ กรหัตถ์ขวาทรงถืองาตนเองที่หัก หัตถ์ซ้ายทรงถือขนมโมทากะ ประทับนั่งสมาธิเหนือฐานสี่เหลี่ยม พระเศียร ประดับด้วยกระบังหน้าและหมวกทรงกระบอก คล้ายเทวรูปพระนารายณ์ที่พบโดยทั่วไปในภาคใต้ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบปัลลวะของอินเดียภาคใต้ มีกรองศอ พาหุรัดทองพระกร สายยัญโญปวีต และผ้าคาดบั้นพระองค์ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม นับเป็นประติมากรรมที่งดงามและประณีตมาก ด้วยเหตุที่รับอิทธิพลจากศิลปะปัลลวะดังกล่าวมาก อาจจะกำหนดอายุได้ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

พระอุมา

พระอุมา
พระอุมา แปลตามตัวว่า แสงสว่าง นางเป็นชายาของพระอิศวรหรือพระศิวะ และมีหลายนาม เช่น เทวี (เทพธิดา) และปารพตี (ชาวเขาเพราะเป็นธิดาแห่งท้าวหิมวัต คือ ภูเขาหิมาลัย) เป็นต้น เนื่องจากนางเป็นศักติ (กำลังแรง) ของพระอิศวร นางจึงมีลักษณะ ๒ ประการ คือ เรียบร้อยและรุนแรงโหดร้าย สำหรับลักษณะหลังทำให้มีผู้เคารพนับถือนางมาก และทำให้นางมีนามหลายนาม เช่น ทุรคา (ผู้เข้าถึงได้โดยยาก) กาลี (ผู้มีผิวดำ) และไภรวี (ผู้รุนแรง) เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ผู้บูชานางด้วยโลหิต ในลักษณะโหดร้าย นางมี ๑๐ กร และถืออาวุธต่างๆ กัน นางมีนามว่ามหิษมรรทินี เมื่อฆ่ามหิษะ คือ อสูรในรูปควาย
คัมภีร์อุตตร-กามิกาคม กล่าวว่าเมื่อปรากฏกายเดี่ยว (ไม่มีเทพ) นางจะมี ๔ กร ๓ เนตร สวมกรัณทกุฎ และสวมผ้าไหม ถือปาศะ (บ่วง) และอังกุศะ (ขอสับช้าง) ส่วน ๒ กรหน้าเป็นปางกฏกะ (ทำมือกำดอกไม้แต่ไม่มีดอกไม้ แสดงว่าจะต้องมีดอกไม้สดมาปักเป็นประจำ) ส่วนอีกกรหนึ่ง จะปล่อยลงมาข้างลำตัว มี ๒ เนตร พระฉวีเป็นสีทองสง่างาม บางทีแม้จะประทับยืนเดี่ยวๆ ก็มี ๒ กรเท่านน โดยจะถือนกแก้วหรือกระจก ดอกบัวสีฟ้า หรือบางทีจะถือตรีศูล และปาศะ (บ่วง) หรืออาวุธอื่นๆตามแต่ศิลปินจะจัดให้ ในบางกรณีจะมีถึง ๖ กร โดย ๔ กรหลังถือปาศะ อังกุศะ สังข์และจักร ส่วน ๒ กรหน้าจะอยู่ในปางประทานพรและ ประทานอภัย และที่ปรากฏว่ามีถึง ๑๐ กร ๕ เศียรก็มีบ้าง เป็นปางที่แสดงอาการดุร้าย โดยกรทั้ง ๑๐ ถืออาวุธประจำของพระศิวะในท่ากอดรัดพระศิวะ โดยจะประทับนั่งบนพระเพลาของพระศิวะ ถ้าประทับนั่งเคียงบนแท่นเดียวกัน พระบาทข้างหนึ่งของเทพีจะเป็นซ้าย หรือขวา จะต้องห้อย ลงมาเสมอ ”
ในนครศรีธรรมราชได้ค้นพบประติมากรรมพระอุมาสำริดองค์หนึ่ง นางประทับยืนในท่าตริภังค์ (แปลว่า หักสามส่วน หมายถึงการยืนเอียงศีรษะ ไหล่และตะโพก) ทรงดอกบัวอยู่ในพระหัตถ์ขวา ทรงมกุฎรูปหม้อทรงสูง (กีรีฏะ- มกุฎ) ทรงสไบรอบพระอุระ ชายผ้าพันรอบพระโสณี (ตะโพก) ผูกเป็นโบทั้งสองข้าง ตามประเพณีแล้วนางจะประทับยืนอยู่บนฐานอีกฐานหนึ่งทางเบื้องซ้ายของนาฏราชา รูปแบบของประติมากรรมชิ้นนี้มีควานคล้ายคลึงกับนางปารวตีสำริด ที่พบที่ตำบลตันชอร์ เมืองมัทราส ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ที่แสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์รัฐบาลเมืองมัทราส ประเทศอินเดีย และนางปารวตีสำริด ศิลปะอินเดียแบบทมิฬ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ มาก ดังนั้นพระอุมาองค์นี้จึงเป็นศิลปะของกลุ่มชนภาคใต้ อิทธิพลศิลปะอินเดียภาคใต้อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

พระศิวะ

พระศิวะเทพ
พระศิวะเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งในบรรดาเทพผู้ยิ่งใหญ่สามองค์ของพราหมณ์ พระศิวะเป็นเทพเจ้าผู้ทำลายล้าง ในขณะที่พระพรหมเป็นผู้สร้างและพระวิษณุเป็นผู้รักษา ในคัมภีร์พระเวท (ในฤคเวทและอถรรพเวท) ได้กล่าวถึง คำว่า ศิวะ (แปลว่าฤกษ์งามยามดี) ว่าเป็นนามหนึ่งของ รุทระ ในบทสวดสรรเสริญทั้งหมดก็ใช้รุทระทั้งสิ้น รุทระ เป็นเทพที่นำความเจ็บไข้และความตายมาสู่มนุษย์ ต่อมาในยุคหลังๆ จึงได้รับการเรียกว่า “ศิวะ” ศิวะมีชื่อเรียกต่างออกไปอีกมาก เช่น มหาเทวะ รุทระ ธูรชฏิ นีลกัณฑ์ และตรีเนตร เป็นต้น ในการบูชาพระศิวะนั้นจะใช้ลึงค์เป็น สัญลักษณ์ และมีการทำรูปปั้นขนาดเท่ามนุษย์ด้วย แต่ที่นิยมกันมากที่สุด คือ ลึงค์ ในบรรดาศาสนสถานของพระศิวะนั้นจะนิยมประดิษฐานศิวลึงค์เป็นองค์ประธาน ส่วนรูปพระศิวะจะประดิษฐานไว้ตามมุมต่างๆ ในวัด เป็นส่วนประกอบเท่านั้นเอง พระศิวะเป็นเทพสูงสุดในลัทธิไศวนิกาย
วิวัฒนาการของลึงค์อาจจะเริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ อย่างการขุดค้นโมเหนโชดาโร และฮารัปปาในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุได้ค้นพบหินเล็กๆ รูปทรงกระบอก และรูปกรวย หินรูปทรงกระบอกนี้อาจจะหมายถึงสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และหมายถึงสัญลักษณ์ของพระศิวะเอง ในแบบของอวัยวะเพศชาย ส่วนหินรูปทรงกลมแผ่นแบนๆ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ ๑/๒ นิ้ว ถึง ๔ ฟุต ก็พบว่าอยู่ในหลุมขุดค้นเดียวกันกับหินรูปทรงกระบอก คงจะหมายถึง สัญลักษณ์ของ “โยนี”
หรืออวัยวะเพศหญิง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของชีวิต เลือดเนื้อ และการสืบต่ออายุ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ สัญลักษณ์ของความเป็นมารดา ผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ชีวิตมนุษยชาติ หลักฐานเหล่านี้อาจจะเข้าใจได้ว่า ชาวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนับถือบูชาเทพหญิงและชาย ในแบบของ “ลึงค์” และ “โยนี” ต่อมาคติการนับถือแบบนี้ก็ตกทอดมาเป็นมรดกทางศาสนาให้กับชาวฮินดูในสมัยประวัติศาสตร์
ลึงค์ อาจจะแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ลึงค์ที่เคลื่อนย้ายได้ และลึงที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ ลึงค์ที่เคลื่อนย้ายได้ คือ บรรดาลึงค์ที่ทำด้วยดิน (ดินดิบและดินเผา) โลหะ (ทอง) เงิน ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว หินมีค่า ไข่มุก ปะการัง หินตาแมว ผลึกหินควอร์ทซ์ หยก) และลึงค์ที่เคลื่อนย้ายไม่ได้มีอยู่ด้วยกัน ๙ ประเภท คือ สวายัมภูวะ คือ ลึงค์ที่เกิดเองตามธรรมชาติ เคลื่อนย้ายไม่ได้ ประดิษฐานอยู่ในที่ต่างๆ รวม ๖๘ แห่งทั่วอินเดีย ไควตะ คือ ลึงค์ที่มีรูปร่างเหมือนเปลวไฟ หรือเหมือนมือ ๒ มือ ในท่าเทพนม หรือเหมือนสิ่วหรือสามง่ามก็ได้ คานปัตยะ คือ ลึงค์ที่สร้างโดยพวกคานาส (พวกคนแคระ) มีรูปร่างเหมือนผลแตงกวา มะนาว หรือ แอปเปิล อรรษะ คือ ลึงค์ที่พวกฤษีใช้บูชา มีรูปร่างเหมือนผลมะพร้าวที่ยังไม่ปอกเปลือก มานุษ คือ ลึงค์ที่ต้องสร้างโดยมือมนุษย์ สร้างตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ ในอาคม มนุษย์ลึงค์มี ๓ ส่วน ส่วนล่างสุดเป็นรูปสามเหลี่ยม เรียกว่า พรหมภาค ตอนกลางเป็นรูปหกเหลี่ยมเรียกว่าวิษณุ ภาคตอนยอดสุดเป็นรูปกลมเรียกว่า รุทรภาค ขนาดสูงต่ำของแต่ละภาคหรือแต่ละส่วนขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ที่วางไว้
ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทรงกล่าวถึง ศิวลึงค์ว่า “… คือ องค์กำเนิดของเพศชาย ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระอิศวรหรือศิวะ หมายถึงการสร้างสรรค์ความมั่งคั่ง ความเจริญรุ่งเรือง ในขณะเดียวกันก็หมายถึงตรีมูรติ (พระผู้เป็นเจ้าสามองค์ในศาสนาพราหมณ์) ด้วย คือ ส่วนสี่เหลี่ยมเบื้องล่างเรียกว่า พรหมภาค (พระพรหม) ส่วนกลาง แปดเหลี่ยมเรียกว่า วิษณุภาค (พระวิษณุ) ส่วนยอดรูปทรงกระบอกเรียกว่า รุทรภาค (พระอิศวร) โดยทั่วไปทั้งสามส่วนมักจะมีความสูงเท่ากัน มีฐานรองรับซึ่งมีร่องให้น้ำมนต์ไหลเรียกว่า “โยนี” และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ กล่าวว่า ลุงค์คือ สัญลักษณ์เพศชาย ใช้แทนองค์พระอิศวร วิษณุภาค คือ ส่วนที่เป็นรูปแปดเหลี่ยม และ รุทรภาค คือ ส่วนยอดรูปกลมของศิวลึงค์
ในบรรดามนุษย์ลึงค์นั้นมุขลึงค์นับว่าน่าสนใจเพราะมีหน้าคนสลักอยู่ อาจจะหน้าเดียวหรือหลายหน้าก็ได้
ในรูปของเทพนั้นพระศิวะทรงเป็นมหาโยคี ทรงมุ่นมวยผมเป็นชฎา (อย่างน้อยก็ในระยะแรก) ทรงนุ่งหนังเสือ และถือตรีศูล ทรงมีเนตรที่ ๓ ขวางอยู่กลางพระนลาฏ ซึ่งถ้าลืมขึ้นเมื่อใดก็จะเกิดเป็นไฟบรรลัยกัลป์เผาผลาญโลก ทรงทัดจันทร์เสี้ยวเป็นปิ่น และสวมนาคเป็นสังวาล ประติมา- กรรมที่สำคัญของพระองค์คือพระอิศวร ทรงฟ้อนรำ หรือ พระศิวะนาฏราช เพราะผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งยกย่องพระองค์เป็นใหญ่จะถือว่าจังหวะการฟ้อนรำของพระองค์อาจบันดาลเหตุร้ายให้เกิดแก่โลกได้ พระศิวะปางโกรธเรียกว่า พระศิวะโภท คือ ผู้ทำลายที่น่ากลัว นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นภูเตศวร คือ เจ้าแห่งภูตผีปีศาจด้วย ชายาของพระองค์ คือ พระอุมา (ปารพตี) และพาหนะ คือ โคนนทิ

ศิวนาฏราช
(๑) ศิวนาฏราช
ในที่นี้จะกล่าวถึงรูปเคารพของพระศิวะที่ค้นพบในจังหวัดนครศรีธรรมราชในรูปของเทพก่อน ซึ่งมีอยู่เพียงชิ้นเดียวเท่านั้น คือ พระศิวนาฏราช หรือนาฏราชา ซึ่งค้นพบที่โบสถ์พราหมณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ภาพนี้เป็นศิลปะของกลุ่มชนภาคใต้ อิทธิพลของศิลปะอินเดียภาคใต้ อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓ แต่ลักษณะทางประมาณวิทยาของศิลปกรรมชิ้นนี้ มีความคล้ายคลึงกับพระศิวนาฏราชสำริด ศิลปะอินเดียแบบ ทมิฬ สมัยราชวงศ์โจฬะ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบอร์ด กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษมาก ดังนั้นประติมากรรมซึ่งค้นพบ ณ นครศรีธรรมราช จึงอาจจะกำหนดอายุให้สูงขึ้นไปได้อีกหลายศตวรรษ
ประติมากรรมสำริดชิ้นนี้ แสดงจักรวาลของลัทธิไศว¬นิกายโดยวงโค้งรูปเกือกม้าที่มีเปลวไฟพวยพุ่งโดยรอบ การเคลื่อนไหวทั้งหมดเกิดขึ้นได้จากจังหวะนาฏลีลาของพระศิวะ บทบาทของสัญลักษณ์ที่แสดงถึงหน้าที่ของพระศิวะ คือ กลองที่ทรงไว้ในพระหัตถ์ขวาด้านหลังในภาวะที่เป็นพระผู้รักษา พระหัตถ์ขวาด้านหน้าอยู่ในท่าปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายด้านหลังทรงอัคนีสัญลักษณ์ของการทำลาย ด้วย พระอังคุส (นิ้วหัวแม่มือ) กับพระดรรชนี (นิ้วชี้) ในขณะที่พระหัตถ์ซ้ายด้านหน้าชี้ยังพระบาทที่ยกขึ้น อันเป็นที่พำนักแห่งวิญญาณ พระองค์ทรงอยู่ในท่าภุชงคตราสิต เป็นหนึ่งใน ๑๐๘ ท่า ของนาฏลีลาและนาฏราชาในแบบของอินเดียใต้ ที่นิยมกันทั่วไป พระเกศาที่มุ่นเป็นเกลียวประดับด้วยขน นกยูง ดอกไม้และงูพิษ มีสัญลักษณ์ของพระองค์อีกสองอย่างประดับอยู่ คือ กปาละ และพระจันทร์เสี้ยวที่พระกรรณข้างขวาทรงกุณฑลรูปมกร ส่วนพระกรรณข้างซ้ายทรงกุณฑลรูปจักร กุณฑลแบบแรกแสดงถึงครึ่งเพศชาย และกุณฑลแบบหลัง แสดงถึงครึ่งเพศหญิง พระบาทขวาทรง เหยียบอปัสมารปุรุษ ชื่อ มุยลก ซึ่งถืองูเห่าอยู่ในมือซ้าย

ศิวลึงค์
(๒) ศิวลึงค์
รูปเคารพที่สำคัญมากในลัทธิไศวนิกายที่ค้นพบมาก ในนครศรีธรรมราชอีกอย่างหนึ่ง คือ ศิวลึงค์ ซึ่งส่วนใหญ่สลักด้วยศิลาและพบกระจัดกระจายโดยทั่วไปในชุมชนโบราณ แทบทุกแห่งของนครศรีธรรมราช ศิวลึงค์เหล่านี้มีหลายรูปแบบและหลายขนาด โดยพอจะจัดได้ว่าลึงค์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ และในขณะนี้ยังไม่มีการค้นพบมุขลึงค์ในนครศรีธรรมราช ในที่นี้จะแบ่งศิวลึงค์ ที่ค้นพบในนครศรีธรรมราชออกเป็นกลุ่มๆ ดังนี้ คือ
กลุ่มที่ ๑ ศิวลึงค์ที่สลักอยู่กับโยนิโทรณะ
ขณะนี้ได้ค้นพบประติมากรรมศิวลึงค์ขนาดเล็กสลักติดอยู่กับฐาน (หรือโยนีหรือโยนิโทรณะ) เพียงสองชั้นเท่านั้น ลักษณะของศิวลึงค์เหล่านี้คล้ายคลึงกับที่ค้นพบ ณ ดงศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี และปัจจุบันย้ายมาจัดแสดง ณ พิพิธภณฑสถานแห่งชาติพระนคร
กลุ่มที่ ๒ ศิวลึงค์ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าลึงค์แบ่งออกได้เป็นสามส่วน คือ ส่วนยอดรูปทรงกลม เรียกว่า รุทรภาค ถัดลงมาเป็นรูปแปดเหลี่ยมเรียกว่า วิษณุภาค และส่วนรูปสี่เหลี่ยมเรียกว่า พรหมภาค โดยทั่วไปลึงค์ที่สร้างให้มีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาดิอย่างมาก จะมีอายุเก่ากว่าลึงก์ที่ทำขึ้นตามแบบแผนคตินิยม คือ ลึงค์ที่สร้างให้ส่วนทั้งสามมีขนาดไล่เลี่ยเท่ากัน โดยตลอด ลึงค์ในกลุ่มนี้จัดว่าเป็นตัวอย่างของลึงค์ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะว่าส่วนมากรูปทรงกลม (รุทรภาค) จะมีขนาดใหญ่กว่าส่วนรูปแปดเหลี่ยม (วิษณุภาค) และส่วนรูปสี่เหลี่ยม (พรหมภาค) รวมกัน จึงจัดได้ว่ามีอายุอยู่ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒
กลุ่มที่ ๓ ศิวลึงค์ยุคตามแบบแผนคตินิยม
ศิวลึงค์ในยุคนี้นิยมสลักตามคตินิยมทุกประการ คือ สลักให้ความสูงของส่วนยอด (รุทรภาค) ส่วนแปดเหลี่ยม (วิษณุภาค) และส่วนฐานสี่เหลี่ยม (พรหมภาค) เท่ากันหมด หรือไล่เลี่ยกัน ศิวลึงค์ในกลุ่มนี้มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔
กลุ่มที่ ๔ ศิวลึงค์ที่ไม่ทราบรูปแบบที่แน่นอน 

ได้ค้นพบศิวลึงค์บางองค์ที่ชำรุดมาก จนไม่สามารถสังเกตรูปแบบที่แน่ชัดได้ และศิวลึงค์บางองค์ยังฝังอยู่ในดินและเป็นที่เคารพของประชาชนโดยทั่วไปอยู่ในเทวสถาน ไม่สามารถขุดขึ้นมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นรูปทรงใดแน่

โยนิโทรณะ
(๓) โยนิโทรณะ
โยนิโทรณะ คือ ฐานที่ประดิษฐานศิวลึงค์ มักจะมีร่องเพื่อให้น้ำไปลงตามพิธีกรรมและความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ได้มีการค้นพบโยนิโทรณะเป็นจำนวนมากในนครศรีธรรมราช โยนิโทรณะเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นศิลาทั้งสิ้น ในที่นี้อาจจะแบ่งรูปแบบของ โยนิโทรณะ ดังกล่าวออกเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้ คือ
กลุ่มที่ ๑ โยนิโทรณะที่ไม่มีร่องรอยการสลัก
นับเป็นโยนิโทรณะแบบดั้งเดิม เพราะเป็นเพียงหินที่เจาะรูเท่านั้น ไม่มีร่องรอยการประดับตกแต่งแต่อย่างใดเลย อาจจะกำหนดให้มีอายุใกล้ เคียงกับศิวลึงค์รุ่นแรกที่พบในนครศรีธรรมราช คือ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ สำหรับรูนั้นอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิง หรือใช้สำหรับเสียบ ศิวลึงค์ก็ได้
กลุ่มที่ ๒ โยนิโทรณะที่ไม่ได้เจาะรู
เป็นโยนิโทรณะที่มีร่องรอยการสลักและตกแต่งให้มีรูปร่างและขนาดที่สวยงามรวมทั้งมีร่องน้ำด้วย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ได้มีการสลักเป็นรูลงไปในแผ่นศิลาดังกล่าวนี้เลย ดังนั้นการประดิษฐาน ศิวลึงค์บน โยนิโทรณะแบบนี้จึงอาจจะวางฐานศิวลึงค์ไปบนแผ่นโยนิโทรณะโดยไม่ต้องมีการเสียบด้วยเดือยแต่อย่างใด อาจจะกำหนดให้โยนิโทรณะแบบนี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ นับเป็นแบบที่พบน้อยมาก
กลุ่มที่ ๓ โยนิโทรณะที่เจาะรูไม่ทะลุ
มีโยนิโทรณะแบบหนึ่ง มีการตกแต่งองค์ประกอบทั้ง ภายนอก และภายในเช่นเดียวกับโยนิโทรณะโดยทั่วไปทุกประการ มีร่องน้ำ และมีการเจาะรูที่ตรงกลางแผ่นศิลาด้วย หากแต่รูที่เจาะนั้นไม่ได้เจาะให้ผ่านทะลุแผ่นศิลา อาจจะเจาะให้ลึกเพียงครึ่งหนึ่งของแผ่นศิลาเท่านั้น กำหนดให้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ เช่นเดียวกัน
กลุ่มที่ ๔ โยนิโทรณะที่เจาะรูทะลุตลอด

โยนิโทรณะแบบนี้มีรูปแบบเหมือนกับแบบที่สามทุกประการ หากต่างกันเพียงว่าโยนิโทรณะแบบนี้มีการเจาะรูที่ตรงกลางแผ่นศิลา โดยเจาะให้รูดังกล่าวทะลุผ่านแผ่นศิลาลงไปโดยตลอด กำหนดให้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ เช่นกัน
กลุ่มที่ ๕ โยนิโทรณะที่ฐานสูงมาก และมีลวดลายประดับ
ในบรรดาโยนิโทรณะที่ค้นพบในนครศรีธรรมราช มักจะสลักด้วยศิลาที่ไม่หนามากนัก คือไม่เกิน ๖ นิ้ว แต่กระนั้นก็ตามได้มีการค้นพบโยนิโทรณะแบ่งชิ้น ซึ่งมีความสูงมาก คือ ราว ๑ เมตรเศษ ลักษณะด้านบนมีการตกแต่ง ให้มีร่องน้ำ และรูที่เจาะไม่ทะลุผ่านตลอด เช่นเดียวกับโยนิ- โทรณะแบบที่สาม แต่ลักษณะที่พิเศษไปจากแบบอื่นๆ คือ เป็นโยนิโทรณะที่มีฐานสูงมาก และมีลวดลายสลักประดับทุกด้านของฐานนี้ มีการสลักฐานเป็นลวดบัวขึ้นไปเป็นชั้นๆ และมีเสาด้วย เหมือนกับการสลักภาพจำลองอาคาร อาจจะกำหนดให้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

พระวิษณุ

ประติมากรรมรูปเคารพของศาสนาพราหมณ์ที่ค้นพบในนครศรีธรรมราช
ด้วยเหตุที่นครศรีธรรมราชมีความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับอินเดียอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่โบราณกาลที่กล่าวมา ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์อันเป็นศาสนาที่สำคัญของชาวอินเดีย ปรากฏอยู่อย่างกระจัดกระจายโดยทั่วไป ในนครศรีธรรมราช ซึ่งในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะประติมากรรมรูปเคารพของศาสนาพราหมณ์ที่ค้นพบในนคร ศรีธรรมราชเท่านั้น

พระวิษณุ
พระวิษณุ
พระวิษณุเป็นเทพองค์หนึ่งในสามองค์ของเทพตรีมูรติของพราหมณ์ (พระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุ) มีหน้าที่ปกปักรักษาความสงบสุขของจักรวาล ส่วนพระพรหม และพระศิวะ มีหน้าที่สร้างและทำลายตามลำดับ พระวิษณุ เป็นเทพที่เก่าแก่ปรากฏมาตั้งแต่ยุคพระเวท เพราะปรากฏในพระเวททั้งสี่ (ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอถรรพเวท) แต่ไม่ได้ เป็นเทพสูงสุด เป็นเพียงเทพแห่งพระอาทิตย์ มหาภารตะกล่าวว่า พระวิษณุเป็นโอรสองค์สุดท้ายของพระอาทิตย์ (ในบรรดาโอรส ๑๒ องค์) มีอำนาจและพลังเหนือโอรสองค์อื่นๆ การถือกำเนิดจากพระอาทิตย์ของวิษณุ ช่วยส่งให้วิษณุกลายเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ในยุคต่อมา ในคัมภีร์พระเวทตอนหลังๆ (ในพราหมณะ) ได้บรรยายถึงพระอัคนี พระวายุและพระสุริยะ ว่าเป็นเจ้าแห่งดิน ฟ้า และสวรรค์อันเป็นการจัดให้เทพทั้งสามมีความสัมพันธ์กัน อันเป็นทางนำไปสู่การรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือตรีมูรติของเทพทั้งสาม โดยพระอาทิตย์เป็นเทพผู้สร้างส่วนหน้าที่ทำลายล้างเป็นหน้าที่ของพระอัคนี (อันเป็นหน้าที่โดยตรงของพระศิวะ ในยุคต่อมา) ส่วนพระวายุหรือเทพเจ้าแห่งลมมีความสัมพันธ์กับพระอินทร์ เทพเจ้าแห่งแสงสว่างและมีความสัมพันธ์กับ พระวิษณุเทพแห่งแสงอาทิตย์อีกด้วย ส่วนชื่อนารายณะ วสุเทวะ รามะ และกฤษณะ เป็นชื่อที่เกิดขึ้นทีหลัง ครั้นในยุคปุราณะพระวิษณุได้รับยกย่องว่าเป็นเทพสูงสุดองค์หนึ่ง ในเทพสูงสุดสามองค์ของศาสนาพราหมณ์เป็นเทพสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย
พระวิษณุทรงมีผิวคล้ำา มีสี่กร ทรงถือสังฃ์ จักร คทา และดอกบัว (หมายถึงธรณี) ตามลำดับ ทรงมีมเหสีนามว่า พระลักษมีหรือพระศรี เทพีแห่งโชกลาภ และทรงครุฑเป็นพาหนะ
ประติมากรรมพระวิษณุที่ประดิษฐานอยู่เป็นองค์ประธานในโบสถ์มักมี ๓ ท่านด้วยกัน คือ ท่ายืน นั่ง และนอน ท่ายืนเรียกว่า สทนกะ-มูรติ ท่านั่งเรียกว่า อาสนะ-มูรติ และท่านอนเรียกว่า สยนะ-มูรติ ท่าทั้งสามนี้แต่ละท่ายังแบ่งออกเป็น ๔ แบบย่อย คือ แบบโยคะ แบบโภคะ แบบวีระ และแบบอาภิจาริกะ แบบต่างๆ นี้แตกต่างกันออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับความปรารถนาของผู้บูชา
ในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ค้นพบประติมากรรม รูปเคารพพระวิษณุหลายองค์กล่าวคือ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ค้นพบประติมากรรมพระวิษณุ ศิลาซึ่งจัดเป็นเทวรูปที่เก่าที่สุดในประเทศไทยหรือในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ๒ องค์ คือ พระวิษณุซึ่งค้นพบ ณ หอพระนารายณ์ ตำบลในเมือง ปัจจุบันย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราชองค์หนึ่ง และอีกองค์หนึ่ง คือพระวิศณุซึ่งได้ค้นพบ ณ วัดพระเพรง ตำบลนาสาร ปัจจุบันย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทร ดิสกุล ได้ทรงกล่าวถึงเทวรูปทั้งสององค์นี้ว่า “เทวรูปที่เก่าที่สุดในประเทศไทย หรือภาคเอเชียอาคเนย์ คงเป็นเทว รูป ที่ค้นพบทางภาคใต้ของประเทศไทย เช่น เทวรูปพระนารายณ์ศิลา ซึ่งค้นพบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สูง ๖๙ ซม. และปัจจุบันรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เทวรูปองค์นี้คงมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ เพราะเหตุว่าแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะอินเดียสมัยมถุรา และอมราวดีตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ ๘-๙) โดยเฉพาะการถือสังข์ในหัตถ์ซ้ายล่าง และหัตถ์ขวาล่างแสดงปางประทานอภัย ยังได้ค้น พบเทวรูปแบบนี้ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชอีก ๒ องค์ แต่คงสลักขึ้นหลังเทวรูปองค์ที่กล่าวมานี้เล็กน้อย เพราะหัตถ์ขวาล่างได้เปลี่ยนเป็นถือดอกบัวแล้ว”
ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ มีความเห็นเกี่ยวกับเทวรูปกลุ่มดังกล่าวนี้ว่า “ประติมากรรมที่แสดงอิทธิพลอินเดียที่เก่าที่สุดที่ได้พบในคาบสมุทรของประเทศไทยก็คือ พระวิษณุ ซึ่งพบที่วัดศาลาทึง อำเภอไชยา ประติมากรรมชิ้นนี้มีรูปแบบอยู่ในกลุ่มพระวิษณุที่เก่าที่สุดของอินเดีย สมัยกุษาณะที่มถุรา (พ.ศ. ๖๒๑-๗๔๓) พระวิษณุในรุ่นนี้พระหัตถ์ซ้ายหลังทรงจักร อย่างไรก็ดีประ¬ติมากรรมรูปพระวิษณุนี้คงได้รับ อิทธิพล ศิลปะอินเดียที่ใกล้ที่สุดจากพระวิษณุที่พบในลุ่มแม่น้ำกฤษณา ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีอายุอยู่ในราชวงศ์อีกษวากุ แห่งเมืองนครชุนนะโกณฑะ (พ.ศ. ๗๑๘-๗๙๓) เพราะรูปแบบมีลักษณะร่วมทางประติมาณวิทยา ได้แก่ ลักษณะผ้านุ่งและกติสุตรา (เข็มขัดผ้ารัดตะโพก) ซึ่งม้วนห้อยลงมาทางด้านหน้า รวมทั้งตุ้มหูซึ่งตกแต่งด้วยพู่ ทำนองเดียวกันจากลักษณะรูปแบบที่ใกล้เคียงกันมากของประติมากรรมรูปพระวิษณุนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าได้มีการติดต่อกันโดยตรงระหว่างอินเดียภาคตะวันออกเฉียงใต้กับชุมชนผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณคอคอคกระของคาบสมุทร ความละม้ายคล้ายคลึงนี้ยังเป็นหลักฐานยืนยันถึงความรวดเร็วที่ศาสนาและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของศิลปะจากอินเดียมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สอดคล้องกับจดหมายเหตุของราชวงศ์จีน ซึ่งกล่าวถึงความเจริญของศูนย์กลางการค้าในคาบสมุทร พร้อมด้วยชาวอินเดียที่อพยพมาสร้างถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมากในกลางพุทธศตวรรษที่ ๘ นอกจากประติมากรรมที่ผุกร่อน ซึ่งพบที่ถ้ำสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว ยัง ได้พบพระวิษณุที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอีก ๒ องค์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช”
ดังนั้น สรุปได้ว่าพระวิษณุที่ค้นพบ ณ หอพระนารายณ์ มีลักษณะทางประติมาณวิทยาเช่นเดียวกันกับองค์ที่ค้นพบที่วัดศาลาทึง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีรูปแบบเป็นรูปแบบของพระวิษณุที่เก่าที่สุดในศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ประติมากรรมชิ้นนี้มีรูปลักษณะที่แตกต่างไปจากรูปแบบของศิลปะอินเดียมากกว่าพระวิษณุจากไชยา ส่วนพระวิษณุที่ค้นพบ ณ วัดพระเพรงนั้น ถึงแม้ว่าพระหัตถ์ซ้ายจะทรงถือสังข์อยู่ข้างพระโสณี ส่วนพระหัตถ์ขวาหน้าทรงถือสัญลักษณ์ซึ่งถ้าไม่เป็นดอกบัวก็เป็นก้อนดิน ซึ่งคล้ายกับพระวิษณุองค์อื่นๆ สมัยต่อมา แต่ ประมาณวิทยาแสดงให้เห็นว่ามีอายุอยู่ในระยะหลังกว่าพระวิษณุที่ทรงแสดงปางประทานอภัยด้วยพระหัตถ์ขวา พระวิษณุ ที่ค้นพบ ณ หอพระนารายณ์จึงควรมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ และพระวิษณุที่พบ ณ วัดพระเพรงควรมีอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ถึงราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑
ในระยะต่อมาประติมากรรมพระวิษณุที่ค้นพบในภาคใต้ซึ่งมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา ส่วนใหญ่เป็นพระวิษณุ ๔ กร ทรงถือจักร (ในพระหัตถ์ขวาบน) สังข์ในพระหัตถ์ซ้ายบน คทา (ในพระหัตถ์ซ้ายล่าง) และธรณีหรือดอกบัว (ในพระหัตถ์ขวาล่าง) สวมหมวกทรงกระบอก นุ่ง ผ้ายาวคล้ายผ้าโสร่ง มีจีบอยู่ทางด้านหน้า เทวรูปเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น ๒ หมู่ คือ หมู่หนึ่งคาดผ้าเฉียง และอีกหมู่หนึ่งคาดผ้าตรง ผูกเป็นปมอยู่ทางด้านขวา หมู่คาดผ้าเฉียงนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับเทวรูปในศิลปะสมัยหลังคุปตะ คือ สมัยราชวงศ์ปัลลวะทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ของประเทศอินเดีย ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นอันมาก เทวรูปเหล่านี้คงอยู่ในระยะเวลาอันสั้น ส่วนหมู่ที่คาดผ้าตรงนั้นคงอยู่นานกว่า เพราะแสดงวิวัฒนาการให้เห็นได้ คือ จากหมวก และขอบผมที่เป็นเส้นตรงคู่กันทางด้านหน้าของศีรษะเปลี่ยนเป็นขอบหมวกยังคงเป็นเส้นตรง แต่ขอบผมเป็นเส้นโค้งลงตรงหน้าผาก และต่อมาได้รวบขอบหมวกและขอบเส้นผม เป็นเส้นเดียวกัน วาดเป็นมุมแหลมบนหน้าผาก และยังมีเทวรูปอีกหมู่หนึ่งซึ่งค้นพบทางภาคใต้โดยเฉพาะเป็นเทวรูป พระวิษณุ ๔ กร เช่นเดียวกัน แต่ไม่คาดผ้าคงมีแต่เข็มขัดคาดอยู่บนส่วนบนของผ้าทรงแบบโสร่ง พระอุระผึ่งผาย และพระหัตถ์ก็ไม่ติดกับลำพระองศ์ หมู่นี้ศาสตราจารย์ โอ’ คอนเนอร์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวอเมริกันจัดว่าคงจะเป็นแบบที่คิดขึ้นเองในภาคใต้ของประเทศไทย และมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔
ในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีการค้นพบ ประติมากรรมพระวิษณุศิลาในกลุ่มสุดท้ายตามที่ศาสตราจารย์ โอ- คอนเนอร์กล่าว ๒ องค์ และพระวิษณุทั้งสององค์นั้นมีสภาพชำรุด และค้นพบในสถานที่เดียวกัน คือ วัดพระนารายณ์ อำเภอท่าศาลา องค์แรกพบเพียงส่วนพระองค์ แต่แสดงให้เห็นว่าเป็นประติมากรรมที่มีความงดงามมาก มีความประณีตในการสลัก แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จทางด้านงานศิลปกรรมชั้นสูงของท้องถิ่นนี้ เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความเชี้ยวชาญและความมั่นใจของช่างที่สลัก ซึ่งแตกต่างจากประติมากรรมรุ่นก่อน ซึ่งช่างผู้สลักยังขาดประสบการณ์และความมั่นใจอยู่ มีการสลักให้กรแยกออกจากพระองค์ ไม่มีการใช้กรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวกับพระองค์ อย่างที่นิยมทำกันในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ในเขมร เป็นต้น นอกจากนี้ยังไม่นิยมใช้เครื่องยึดเหนี่ยวอื่นๆ เช่น วงโค้ง อีกด้วย ในด้านกายวิภาคนั้นมีความละเอียดอ่อนใกล้เคียงกับธรรมชาติมาก พระวิษณุองค์นี้มีอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ส่วนพระวิษณุองค์ที่สอง ก็พบเฉพาะส่วนองค์เช่นเดียวกัน มีลักษณะพระอังสากว้าง ปั้นพระองค์คอดเล็ก พระอุระค่อนข้างสูง ส่วนองค์นี้เป็นส่วนองค์ของพระวิษณุ ๔ กร ที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับพระวิษณุองค์แรก
กระนั้นก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ มีความเห็นว่าพระวิษณุองค์นี้ มีรูปแบบใกล้เคียงกับศิลปะฟูนัน แบบพนมดา และกำหนดให้มีอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๓
ที่กล่าวมานั้นล้วนแต่เป็นพระวิษณุลอยตัวทั้งสิ้น ในที่นี้จะกล่าวถึงภาพสลักนูนสูงของพระวิษณุบ้าง ได้มีการค้นพบพระวิษณุสลักบนแผ่นศิลาทรายที่วัดเทพราช(ร้าง)ตำบล เทพราช อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน ๑ องค์ พระวิษณุองค์นี้มี ๔ กร แม้ว่าแผ่นศิลาที่สลักจะสึกกร่อนลบเลือนมากแล้ว แต่ยังมองเห็นรูปแบบทรงศิลปกรรมได้พอควร พระวิษณุนี้นับว่าแปลกกว่าองค์อื่นๆ ที่ค้นพบในภาคใต้ เพราะโดยทั่วไปที่ผ่านมาล้วนพบประติมากรรมลอยตัวทั้งสิ้น ประติมากรรมองค์นี้อาจกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒- ๑๔
ส่วนรูปเคารพพระวิษณุสำริดได้ค้นพบในนครศรีธรรมราช จำนวน ๒ องค์ค้นพบ ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ตำบลในเมือง อำเภอเมือง (ซึ่งบัดนี้อาคารได้พังทลายไปหมดแล้ว เหลือเพียงร่องรอยฐานรากที่ฝังอยู่ในดินเท่านั้น) ทั้งสององค์ รูปเคารพของศาสนาพราหมณ์เป็นจำนวนมาก ค้นพบที่เทวสถานแห่งนี้
พระวิษณุสำริดองค์แรกมีลักษณะคล้ายกับศิลปะขอมหลายอย่าง โดยเฉพาะในศิลปะแบบนครวัดและบายนมาก เป็นพระวิษณุ ๔ กร หัตถ์ขวาหลังทรงจักร หัตถ์ขวาหน้าทรงถือธรณี หัตถ์ซ้ายหลังทรงสังข์ และหัตถ์ซ้ายหน้าทรงคทา พระพักตร์ยิ้มแย้มเป็นพิเศษ สวมกระบังหน้าหรือ มงกุฎมีพระมัสสุเหนือริมพระโอษฐ์บน ทรงผ้านุ่งสั้นมีเข็มขัด และชายผ้าด้านหน้ามีลักษณะเหมือนหางปลาย้อยลงมาเลย ผ้านุ่งทรงกำไลทั้งพระหัตถ์และพระบาท มีพาหุรัด และมีกรองศออาจจะกำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙
ส่วนพระวิษณุสำริด ๔ กร องค์สุดท้ายดูเหมือนจะ เป็นต้นเค้าของเทวรูปสำริดที่พบเป็นจำนวนมากในศิลปะแบบสุโขทัย อันจะเห็นได้ว่าในศิลปะแบบนั้นพบเทวรูปสำริดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเทวรูปองค์นี้มาก ตั้งแต่วิวัฒนาการของมงกุฎไปกลายเป็นยอดแหลมหรือลักษณะของผ้านุ่งที่ไปเพิ่มการประดับประดาให้วิจิตรพิเศษยิ่งขึ้น รวมทั้งเข็มขัดก็ได้วิวัฒนาการไปเช่นเดียวกัน พระวิษณุองค์นี้หัตถ์ขวาซ้ายหน้าแสดงปางประทานพร อาจจะกำหนดอายุของเทวรูปองค์นี้ให้อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช