พระวิษณุ

Socail Like & Share

ประติมากรรมรูปเคารพของศาสนาพราหมณ์ที่ค้นพบในนครศรีธรรมราช
ด้วยเหตุที่นครศรีธรรมราชมีความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับอินเดียอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่โบราณกาลที่กล่าวมา ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์อันเป็นศาสนาที่สำคัญของชาวอินเดีย ปรากฏอยู่อย่างกระจัดกระจายโดยทั่วไป ในนครศรีธรรมราช ซึ่งในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะประติมากรรมรูปเคารพของศาสนาพราหมณ์ที่ค้นพบในนคร ศรีธรรมราชเท่านั้น

พระวิษณุ
พระวิษณุ
พระวิษณุเป็นเทพองค์หนึ่งในสามองค์ของเทพตรีมูรติของพราหมณ์ (พระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุ) มีหน้าที่ปกปักรักษาความสงบสุขของจักรวาล ส่วนพระพรหม และพระศิวะ มีหน้าที่สร้างและทำลายตามลำดับ พระวิษณุ เป็นเทพที่เก่าแก่ปรากฏมาตั้งแต่ยุคพระเวท เพราะปรากฏในพระเวททั้งสี่ (ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอถรรพเวท) แต่ไม่ได้ เป็นเทพสูงสุด เป็นเพียงเทพแห่งพระอาทิตย์ มหาภารตะกล่าวว่า พระวิษณุเป็นโอรสองค์สุดท้ายของพระอาทิตย์ (ในบรรดาโอรส ๑๒ องค์) มีอำนาจและพลังเหนือโอรสองค์อื่นๆ การถือกำเนิดจากพระอาทิตย์ของวิษณุ ช่วยส่งให้วิษณุกลายเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ในยุคต่อมา ในคัมภีร์พระเวทตอนหลังๆ (ในพราหมณะ) ได้บรรยายถึงพระอัคนี พระวายุและพระสุริยะ ว่าเป็นเจ้าแห่งดิน ฟ้า และสวรรค์อันเป็นการจัดให้เทพทั้งสามมีความสัมพันธ์กัน อันเป็นทางนำไปสู่การรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือตรีมูรติของเทพทั้งสาม โดยพระอาทิตย์เป็นเทพผู้สร้างส่วนหน้าที่ทำลายล้างเป็นหน้าที่ของพระอัคนี (อันเป็นหน้าที่โดยตรงของพระศิวะ ในยุคต่อมา) ส่วนพระวายุหรือเทพเจ้าแห่งลมมีความสัมพันธ์กับพระอินทร์ เทพเจ้าแห่งแสงสว่างและมีความสัมพันธ์กับ พระวิษณุเทพแห่งแสงอาทิตย์อีกด้วย ส่วนชื่อนารายณะ วสุเทวะ รามะ และกฤษณะ เป็นชื่อที่เกิดขึ้นทีหลัง ครั้นในยุคปุราณะพระวิษณุได้รับยกย่องว่าเป็นเทพสูงสุดองค์หนึ่ง ในเทพสูงสุดสามองค์ของศาสนาพราหมณ์เป็นเทพสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย
พระวิษณุทรงมีผิวคล้ำา มีสี่กร ทรงถือสังฃ์ จักร คทา และดอกบัว (หมายถึงธรณี) ตามลำดับ ทรงมีมเหสีนามว่า พระลักษมีหรือพระศรี เทพีแห่งโชกลาภ และทรงครุฑเป็นพาหนะ
ประติมากรรมพระวิษณุที่ประดิษฐานอยู่เป็นองค์ประธานในโบสถ์มักมี ๓ ท่านด้วยกัน คือ ท่ายืน นั่ง และนอน ท่ายืนเรียกว่า สทนกะ-มูรติ ท่านั่งเรียกว่า อาสนะ-มูรติ และท่านอนเรียกว่า สยนะ-มูรติ ท่าทั้งสามนี้แต่ละท่ายังแบ่งออกเป็น ๔ แบบย่อย คือ แบบโยคะ แบบโภคะ แบบวีระ และแบบอาภิจาริกะ แบบต่างๆ นี้แตกต่างกันออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับความปรารถนาของผู้บูชา
ในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ค้นพบประติมากรรม รูปเคารพพระวิษณุหลายองค์กล่าวคือ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ค้นพบประติมากรรมพระวิษณุ ศิลาซึ่งจัดเป็นเทวรูปที่เก่าที่สุดในประเทศไทยหรือในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ๒ องค์ คือ พระวิษณุซึ่งค้นพบ ณ หอพระนารายณ์ ตำบลในเมือง ปัจจุบันย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราชองค์หนึ่ง และอีกองค์หนึ่ง คือพระวิศณุซึ่งได้ค้นพบ ณ วัดพระเพรง ตำบลนาสาร ปัจจุบันย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทร ดิสกุล ได้ทรงกล่าวถึงเทวรูปทั้งสององค์นี้ว่า “เทวรูปที่เก่าที่สุดในประเทศไทย หรือภาคเอเชียอาคเนย์ คงเป็นเทว รูป ที่ค้นพบทางภาคใต้ของประเทศไทย เช่น เทวรูปพระนารายณ์ศิลา ซึ่งค้นพบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สูง ๖๙ ซม. และปัจจุบันรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เทวรูปองค์นี้คงมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ เพราะเหตุว่าแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะอินเดียสมัยมถุรา และอมราวดีตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ ๘-๙) โดยเฉพาะการถือสังข์ในหัตถ์ซ้ายล่าง และหัตถ์ขวาล่างแสดงปางประทานอภัย ยังได้ค้น พบเทวรูปแบบนี้ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชอีก ๒ องค์ แต่คงสลักขึ้นหลังเทวรูปองค์ที่กล่าวมานี้เล็กน้อย เพราะหัตถ์ขวาล่างได้เปลี่ยนเป็นถือดอกบัวแล้ว”
ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ มีความเห็นเกี่ยวกับเทวรูปกลุ่มดังกล่าวนี้ว่า “ประติมากรรมที่แสดงอิทธิพลอินเดียที่เก่าที่สุดที่ได้พบในคาบสมุทรของประเทศไทยก็คือ พระวิษณุ ซึ่งพบที่วัดศาลาทึง อำเภอไชยา ประติมากรรมชิ้นนี้มีรูปแบบอยู่ในกลุ่มพระวิษณุที่เก่าที่สุดของอินเดีย สมัยกุษาณะที่มถุรา (พ.ศ. ๖๒๑-๗๔๓) พระวิษณุในรุ่นนี้พระหัตถ์ซ้ายหลังทรงจักร อย่างไรก็ดีประ¬ติมากรรมรูปพระวิษณุนี้คงได้รับ อิทธิพล ศิลปะอินเดียที่ใกล้ที่สุดจากพระวิษณุที่พบในลุ่มแม่น้ำกฤษณา ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีอายุอยู่ในราชวงศ์อีกษวากุ แห่งเมืองนครชุนนะโกณฑะ (พ.ศ. ๗๑๘-๗๙๓) เพราะรูปแบบมีลักษณะร่วมทางประติมาณวิทยา ได้แก่ ลักษณะผ้านุ่งและกติสุตรา (เข็มขัดผ้ารัดตะโพก) ซึ่งม้วนห้อยลงมาทางด้านหน้า รวมทั้งตุ้มหูซึ่งตกแต่งด้วยพู่ ทำนองเดียวกันจากลักษณะรูปแบบที่ใกล้เคียงกันมากของประติมากรรมรูปพระวิษณุนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าได้มีการติดต่อกันโดยตรงระหว่างอินเดียภาคตะวันออกเฉียงใต้กับชุมชนผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณคอคอคกระของคาบสมุทร ความละม้ายคล้ายคลึงนี้ยังเป็นหลักฐานยืนยันถึงความรวดเร็วที่ศาสนาและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของศิลปะจากอินเดียมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สอดคล้องกับจดหมายเหตุของราชวงศ์จีน ซึ่งกล่าวถึงความเจริญของศูนย์กลางการค้าในคาบสมุทร พร้อมด้วยชาวอินเดียที่อพยพมาสร้างถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมากในกลางพุทธศตวรรษที่ ๘ นอกจากประติมากรรมที่ผุกร่อน ซึ่งพบที่ถ้ำสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว ยัง ได้พบพระวิษณุที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอีก ๒ องค์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช”

ดังนั้น สรุปได้ว่าพระวิษณุที่ค้นพบ ณ หอพระนารายณ์ มีลักษณะทางประติมาณวิทยาเช่นเดียวกันกับองค์ที่ค้นพบที่วัดศาลาทึง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีรูปแบบเป็นรูปแบบของพระวิษณุที่เก่าที่สุดในศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ประติมากรรมชิ้นนี้มีรูปลักษณะที่แตกต่างไปจากรูปแบบของศิลปะอินเดียมากกว่าพระวิษณุจากไชยา ส่วนพระวิษณุที่ค้นพบ ณ วัดพระเพรงนั้น ถึงแม้ว่าพระหัตถ์ซ้ายจะทรงถือสังข์อยู่ข้างพระโสณี ส่วนพระหัตถ์ขวาหน้าทรงถือสัญลักษณ์ซึ่งถ้าไม่เป็นดอกบัวก็เป็นก้อนดิน ซึ่งคล้ายกับพระวิษณุองค์อื่นๆ สมัยต่อมา แต่ ประมาณวิทยาแสดงให้เห็นว่ามีอายุอยู่ในระยะหลังกว่าพระวิษณุที่ทรงแสดงปางประทานอภัยด้วยพระหัตถ์ขวา พระวิษณุ ที่ค้นพบ ณ หอพระนารายณ์จึงควรมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ และพระวิษณุที่พบ ณ วัดพระเพรงควรมีอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ถึงราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑
ในระยะต่อมาประติมากรรมพระวิษณุที่ค้นพบในภาคใต้ซึ่งมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา ส่วนใหญ่เป็นพระวิษณุ ๔ กร ทรงถือจักร (ในพระหัตถ์ขวาบน) สังข์ในพระหัตถ์ซ้ายบน คทา (ในพระหัตถ์ซ้ายล่าง) และธรณีหรือดอกบัว (ในพระหัตถ์ขวาล่าง) สวมหมวกทรงกระบอก นุ่ง ผ้ายาวคล้ายผ้าโสร่ง มีจีบอยู่ทางด้านหน้า เทวรูปเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น ๒ หมู่ คือ หมู่หนึ่งคาดผ้าเฉียง และอีกหมู่หนึ่งคาดผ้าตรง ผูกเป็นปมอยู่ทางด้านขวา หมู่คาดผ้าเฉียงนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับเทวรูปในศิลปะสมัยหลังคุปตะ คือ สมัยราชวงศ์ปัลลวะทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ของประเทศอินเดีย ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นอันมาก เทวรูปเหล่านี้คงอยู่ในระยะเวลาอันสั้น ส่วนหมู่ที่คาดผ้าตรงนั้นคงอยู่นานกว่า เพราะแสดงวิวัฒนาการให้เห็นได้ คือ จากหมวก และขอบผมที่เป็นเส้นตรงคู่กันทางด้านหน้าของศีรษะเปลี่ยนเป็นขอบหมวกยังคงเป็นเส้นตรง แต่ขอบผมเป็นเส้นโค้งลงตรงหน้าผาก และต่อมาได้รวบขอบหมวกและขอบเส้นผม เป็นเส้นเดียวกัน วาดเป็นมุมแหลมบนหน้าผาก และยังมีเทวรูปอีกหมู่หนึ่งซึ่งค้นพบทางภาคใต้โดยเฉพาะเป็นเทวรูป พระวิษณุ ๔ กร เช่นเดียวกัน แต่ไม่คาดผ้าคงมีแต่เข็มขัดคาดอยู่บนส่วนบนของผ้าทรงแบบโสร่ง พระอุระผึ่งผาย และพระหัตถ์ก็ไม่ติดกับลำพระองศ์ หมู่นี้ศาสตราจารย์ โอ’ คอนเนอร์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวอเมริกันจัดว่าคงจะเป็นแบบที่คิดขึ้นเองในภาคใต้ของประเทศไทย และมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔
ในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีการค้นพบ ประติมากรรมพระวิษณุศิลาในกลุ่มสุดท้ายตามที่ศาสตราจารย์ โอ- คอนเนอร์กล่าว ๒ องค์ และพระวิษณุทั้งสององค์นั้นมีสภาพชำรุด และค้นพบในสถานที่เดียวกัน คือ วัดพระนารายณ์ อำเภอท่าศาลา องค์แรกพบเพียงส่วนพระองค์ แต่แสดงให้เห็นว่าเป็นประติมากรรมที่มีความงดงามมาก มีความประณีตในการสลัก แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จทางด้านงานศิลปกรรมชั้นสูงของท้องถิ่นนี้ เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความเชี้ยวชาญและความมั่นใจของช่างที่สลัก ซึ่งแตกต่างจากประติมากรรมรุ่นก่อน ซึ่งช่างผู้สลักยังขาดประสบการณ์และความมั่นใจอยู่ มีการสลักให้กรแยกออกจากพระองค์ ไม่มีการใช้กรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวกับพระองค์ อย่างที่นิยมทำกันในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ในเขมร เป็นต้น นอกจากนี้ยังไม่นิยมใช้เครื่องยึดเหนี่ยวอื่นๆ เช่น วงโค้ง อีกด้วย ในด้านกายวิภาคนั้นมีความละเอียดอ่อนใกล้เคียงกับธรรมชาติมาก พระวิษณุองค์นี้มีอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ส่วนพระวิษณุองค์ที่สอง ก็พบเฉพาะส่วนองค์เช่นเดียวกัน มีลักษณะพระอังสากว้าง ปั้นพระองค์คอดเล็ก พระอุระค่อนข้างสูง ส่วนองค์นี้เป็นส่วนองค์ของพระวิษณุ ๔ กร ที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับพระวิษณุองค์แรก
กระนั้นก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ มีความเห็นว่าพระวิษณุองค์นี้ มีรูปแบบใกล้เคียงกับศิลปะฟูนัน แบบพนมดา และกำหนดให้มีอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๓
ที่กล่าวมานั้นล้วนแต่เป็นพระวิษณุลอยตัวทั้งสิ้น ในที่นี้จะกล่าวถึงภาพสลักนูนสูงของพระวิษณุบ้าง ได้มีการค้นพบพระวิษณุสลักบนแผ่นศิลาทรายที่วัดเทพราช(ร้าง)ตำบล เทพราช อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน ๑ องค์ พระวิษณุองค์นี้มี ๔ กร แม้ว่าแผ่นศิลาที่สลักจะสึกกร่อนลบเลือนมากแล้ว แต่ยังมองเห็นรูปแบบทรงศิลปกรรมได้พอควร พระวิษณุนี้นับว่าแปลกกว่าองค์อื่นๆ ที่ค้นพบในภาคใต้ เพราะโดยทั่วไปที่ผ่านมาล้วนพบประติมากรรมลอยตัวทั้งสิ้น ประติมากรรมองค์นี้อาจกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒- ๑๔
ส่วนรูปเคารพพระวิษณุสำริดได้ค้นพบในนครศรีธรรมราช จำนวน ๒ องค์ค้นพบ ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ตำบลในเมือง อำเภอเมือง (ซึ่งบัดนี้อาคารได้พังทลายไปหมดแล้ว เหลือเพียงร่องรอยฐานรากที่ฝังอยู่ในดินเท่านั้น) ทั้งสององค์ รูปเคารพของศาสนาพราหมณ์เป็นจำนวนมาก ค้นพบที่เทวสถานแห่งนี้
พระวิษณุสำริดองค์แรกมีลักษณะคล้ายกับศิลปะขอมหลายอย่าง โดยเฉพาะในศิลปะแบบนครวัดและบายนมาก เป็นพระวิษณุ ๔ กร หัตถ์ขวาหลังทรงจักร หัตถ์ขวาหน้าทรงถือธรณี หัตถ์ซ้ายหลังทรงสังข์ และหัตถ์ซ้ายหน้าทรงคทา พระพักตร์ยิ้มแย้มเป็นพิเศษ สวมกระบังหน้าหรือ มงกุฎมีพระมัสสุเหนือริมพระโอษฐ์บน ทรงผ้านุ่งสั้นมีเข็มขัด และชายผ้าด้านหน้ามีลักษณะเหมือนหางปลาย้อยลงมาเลย ผ้านุ่งทรงกำไลทั้งพระหัตถ์และพระบาท มีพาหุรัด และมีกรองศออาจจะกำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙
ส่วนพระวิษณุสำริด ๔ กร องค์สุดท้ายดูเหมือนจะ เป็นต้นเค้าของเทวรูปสำริดที่พบเป็นจำนวนมากในศิลปะแบบสุโขทัย อันจะเห็นได้ว่าในศิลปะแบบนั้นพบเทวรูปสำริดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเทวรูปองค์นี้มาก ตั้งแต่วิวัฒนาการของมงกุฎไปกลายเป็นยอดแหลมหรือลักษณะของผ้านุ่งที่ไปเพิ่มการประดับประดาให้วิจิตรพิเศษยิ่งขึ้น รวมทั้งเข็มขัดก็ได้วิวัฒนาการไปเช่นเดียวกัน พระวิษณุองค์นี้หัตถ์ขวาซ้ายหน้าแสดงปางประทานพร อาจจะกำหนดอายุของเทวรูปองค์นี้ให้อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *