คติการปลูกเรือนเครื่องผูก

เรือนเครื่องผูก

บทเขียนเรื่อง “คติการปลูกเรือนเครื่องผูก” นี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อประกอบการสัมมนาระดับชาติไทยศึกษาเรื่องวัฒนธรรมพื้นบ้าน ในด้านคติความเชื่อซึ่งจัดขึ้นโดยโครงการไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทเขียนนี้เริ่มจากสมมติฐานของคำว่า “คติ” ถ้าคำว่าคติ มีความหมายว่าความเป็นไป ลักษณะ และวิธีแล้ว บทเขียนเรื่อง “คติการปลูกเรือนเครื่องผูก” ก็จะมีเนื้อหาสาระ แสดงความเป็นไปของลักษณะแห่งรูปแบบตลอดวิธีการปลูกเรือนและคุณค่าของเรือนไทยประเภทนี้ โดยลำดับ บทเขียนเรื่องนี้ได้รวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงขึ้นภายในเวลากระชั้นกับวันที่กำหนดการสัมมนา จึงย่อมจะมีเนื้อหาสาระสำคัญหายหกตกหล่นไปบ้างยังไม่ควรถือว่าเป็นบทเขียนที่สมบูรณ์นัก ขอเพียงเป็นแต่เอกสารประกอบการสัมมนา ซึ่งอาจมีการเพิ่มเติมรายละเอียดในการบรรยายต่อไป และในส่วนการพรรณนา อธิบายความซึ่งอาจจะขรุขระไม่เรียบร้อยด้วยถ้อยคำ ซึ่งผู้เรียบเรียงไม่สู้เป็นประสาในการที่จะขัดเกลาให้งดงามได้ ก็พร้อมที่จะรับความติเตียนด้วยเมตตาแต่ท่าน ผู้อ่านผ่านบทเขียนนี้ แต่ทั้งนี้จะอย่างไรก็ตาม เนื้อความที่ปรากฏในบทเขียนทั้งหมดได้เรียบเรียงขึ้นด้วยความบริสุทธิ์ใจในการที่จะผดุงรักษาและเผยแพร่คติการปลูกเรือนเครื่องผูก อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนในชาติมิให้เสื่อมสูญไป ขอได้รับทราบจากความจริงใจของผู้เรียบเรียงมา ณ ที่นี้
เรือนซึ่งคนได้ปลูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยโดยทั่วไปนั้นมักจะมีแบบอย่างและลักษณะทรวดทรงของเรือน การใช้วัสดุในการปลูกสร้าง ทำเรือน วิธีการในการปลูกเรือน ตลอดจนกระทั่งการตกแต่งความ สวยงาม แก่ตัวเรือน ล้วนเป็นไปต่างๆ กัน ซึ่งทั้งนี้อาจเป็นไปโดยอิทธิพลจากสภาพของลมฟ้าอากาศเป็นเงื่อนไข บันดาลให้เป็นไปได้ประการหนึ่ง หรืออาจเป็นไปโดยอิทธิพลของขนบประเพณีนิยมของคนในสังคมหนึ่งๆ ที่ถือเข้าไว้ และสืบทอดกันต่อๆ มา เป็นเหตุให้เกิดรูปแบบของเรือนเป็นเช่นนั้นๆ หรืออาจจะเป็นเหตุด้วยความจำกัดในการได้มาซึ่งวัสดุซึ่งได้ใช้ปลูกสร้างทำเรือนในถิ่นนั้นๆ จึงทำให้เกิดรูปแบบขึ้นเฉพาะในถิ่นนั้น หรืออาจจะเนื่องด้วยเหตุผลส่วนบุคคล หรืออาศัยเหตุอื่นๆ อีกนานาประการ ซึ่งเป็นเหตุให้เรือนที่คนได้ปลูกสร้างขึ้นทั่วไปนั้นมีรูปแบบทรวดทรงตลอดจนกระทั่งความสวยงามมีต่างๆ กันออกไปได้
รูปแบบของเรือนซึ่งมีลักษณะต่างๆ หลากหลายออกไป โดยเนื่องมาแต่เหตุนานาประการดังกล่าวอย่างย่อนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่มีสาระสำคัญทางด้านวัฒนธรรม โดยที่เรือนแต่ละแบบๆ นั้น ล้วนแสดงให้เห็นความคิดความสามารถของตนในการแก้ปัญหาเพื่อให้ได้ที่อยู่อาศัย อันเป็นวัตถุปัจจัยขึ้นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีพของตนเอง และคนในครอบครัวได้อย่างเหมาะสมในทุกโอกาสเป็นที่คุ้มกันภัยได้ เป็นที่ อาศัยได้ด้วยความปกติสุข และเป็นที่กำเนิดสมาชิกของสังคม อันจะเป็นผู้สืบทอดพืชพันธ์มนุษยชาติต่อไปในกาลข้างหน้าอีกด้วย นอกจากนี้เรือนแต่ละแบบ ยังแสดงสาระสำคัญที่ผูกพันกับพฤติกรรมและวิถีชีวิตของคน ผู้เป็นเจ้าของเรือน และสมาชิกในครัวเรือนนั้น ในด้านขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ อันเป็นไปเพื่อการมีชีวิตที่ดีกว่า ดังนี้เรือนแต่ละแบบ จึงเป็นประจักษ์พยานทางวัฒนธรรม ทั้งในด้าน วัตถุธรรม คุณธรรม มีพร้อมเพรียงอยู่ในเรือนนั้น
เรือนเครื่องผูก เป็นเรือนที่อยู่อาศัยประเภทหนึ่ง สำหรับคนไทยระดับชาวบ้าน เรือนประเภทนี้ได้รับการปลูกขึ้นเป็นที่อยู่มีทั่วไปในชนบททุกภาคของประเทศไทย เรือนเครื่องผูกได้รับการปลูกสร้างขึ้น โดยอาศัยวัสดุที่มีอยู่และพึงหาได้ในพื้นถิ่นนั้นๆ รูปแบบและขนาดของเรือนกำหนดขึ้นอย่างเหมาะสมกับสภาพฝนฟ้าอากาศและความเป็นอยู่และวิธีการในการปลูกสร้างเรือนประเภทนี้ ยังแสดงให้เห็นความ รู้และความสามารถของคนระดับชาวบ้านในการแก้ปัญหาในการสร้าง ที่อยู่อาศัยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ก็เพื่อการมีชีวิตที่ดีกว่า เรือนเครื่องผูกจึงเป็นประจักษ์พยานทางวัฒนธรรมทั้งในด้านวัตถุธรรมและคุณธรรม อันเป็นไปเพื่อคนผู้ซึ่งได้อาศัยเรือนนั้นมีชีวิตวัฒนาโดยลำดับ
เรือนเครื่องผูกมีความเป็นมาอันเป็นภูมิหลังที่มีสาระสำคัญ และคติในการปลูกสร้างที่เป็นการแสดงออกทางด้านวัฒนธรรมของชาว บ้านในการปลูกที่อยู่อาศัยอันเป็นวัตถุปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้ชีวิตและสังคมตั้งมั่นและดำเนินไปได้ด้วยดี
ที่มาโดย:จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาเขตกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

การวิเคราะห์ความเชื่อในสังคมอีสาน

ประเพณี
จากการศึกษาเรื่องความเชื่อในสังคมอีสาน พบว่าชาวอีสานยังมีความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าศาสนาพุทธจะเข้าไปมีบทบาทในวิถีประชาของสังคมอย่างแท้จริงก็ตาม แต่ปรัชญาหรือหลักธรรมของศาสนาพุทธหาได้ลบล้างความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณในสังคมอีสานไม่ฉะนั้น เมื่อพิจารณาฮีตสิบสอง (คือจารีตที่จะต้องประพฤติปฏิบัติในรอบสิบสองเดือน) จะพบว่ามีจารีต หรือพิธีกรรมที่เนื่องด้วยความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณอยู่ไม่น้อยกว่าพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ และยังพบว่าพิธีกรรมอันเนื่องด้วยความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณไม่น้อยในภาคอีสาน ได้นำพระภิกษุมาร่วมพิธีอยู่ด้วย ซึ่งพระภิกษุชาวอีสานหาได้ปฏิเสธพิธีกรรมเนื่องด้วยผี ที่ชาวบ้านมาใช้วัด เป็นสถานที่จัดกิจกรรม และพระภิกษุก็เป็นผู้นำในการประกอบกิจกรรมเช่นการแห่บั้งไฟ (ใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการสร้าง ตกแต่งบั้งไฟ)
ฉะนั้นจะเป้นความเชื่อในเรื่องโลกและจักรวาลก็ดี การสร้างโลกก็ดี การกำเนิดมนุษย์ ตลอดจนพิธีกรรมในรอบชีวิตของบุคคล (เกิด แต่งงาน แก่ ตาย) มักจะวนเวียนอยู่ในความเชื่อเรื่องภูติผีซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณฝังแน่นอยู่ ในกระแสจิตสำนึกของสังคม อีสานในสมัยอดีต และในปัจจุบันก็หาเสื่อมคลายไปอย่างสิ้นเชิงไม่ ถึงแม้ว่ากระแสจิตสำนึกใหม่ๆ หรือค่านิยมใหม่ๆ ได้เข้าไปมี อิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตอยู่มากแล้วก็ตาม ถ้าเราจะพิจารณาดูในฮีต สิบสอง อันเป็นบทบัญญัติ ให้ปวงประชาจะต้องกระทำในรอบ ๑๒ เดือน คือรอบปี จะเห็นว่ามีพิธีกรรม เนื่องด้วยความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณอยู่ไม่น้อย ดังนี้
๑. พิธีกรรมกรรมเนื่องด้วยความเชื่อภูติผีในฮีตสิบสอง
พบว่าบทบัญญัติในฮีตสิบสองนั้นได้กำหนดพิธีกรรมเนื่องด้วยความเชื่อภูติผีวิญญาณอยู่ด้วย เช่น บุญไหว้ผีตาแฮก (ผีประจำไร่นา) บุญชำฮะ ซึ่งมีพิธีถอดถอนหลักบ้านหลักเมืองและมีการตอกหลักบ้านหลักเมืองให้เที่ยงให้ตรง โดยถือเคล็ดว่าถ้าหลักเมืองเที่ยงตรงแล้ว บ้านเมืองจะอยู่อย่างสันติสุข บุญไหว้ผีปู่ตาซึ่งถือเป็นพิธีกรรมใหญ่ของหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังพบว่ามีพิธีกรรมทางศาสนาที่ปะปนกับความเชื่อเรื่องภูติผี เช่น บุญข้าวประดับดิน ซึ่งทำกันในเดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ชาวบ้านจะเตรียมอาหารไว้จำนวนมาก แบ่งเป็น ๔ ส่วน ส่วนหนึ่งถวายพระที่วัด ส่วนที่สองเลี้ยงลูกหลานภายในครอบครัว ส่วนที่สามแจกญาติข้างเคียง ส่วนที่สี่ห่อใส่ใบตองเป็นห่อ แยกกันอาหารหวานคาวไว้เป็นห่อๆ แล้วนำไปไว้ตามต้นไม้บริเวณวัด ตอนยํ่ารุ่งก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อเป็นการอุทิศให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว พอเช้าก็นำอาหารไปทำบุญที่วัด ส่วนบุญบั้งไฟก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือเป็นความเชื่อภูติผีวิญญาณ ดังกล่าวแล้ว
๒. พิธีกรรมเนื่องด้วยความเชื่อเรื่องภูติผีอื่นๆ
พบว่าพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นพิธีกรรม เนื่องมาจากความเชื่อเรื่องภูติผี เช่น การเกิด มีการปักตาแหลวห้อ (เฉลว) เพื่อเป็นการป้องกันภูติผีมารบกวนทารก และแม่ลูกอ่อน ตาแหลวห้อนี้ทำด้วยไม้ไผ่ขนาดฝาบาตร พันด้าย ดำ แดง ขาว ไว้ที่วงรอบการแต่งงานมีการไหว้ผี เสียผี การสู่ขวัญ ก็เป็นพิธีกรรมเนื่องด้วยความเชื่อเรื่องภูติฝีเช่นเดียวกัน หรือความเชื่อเรื่องคองผีหลวง และความ และความเชื่อเรื่องโชคลางต่างๆ
๓. ความเข้าใจเรื่องพุทธ ผี ของชาวอีสานกับการปรับตัวเข้ากับสังคมสมัยใหม่
จากการสอบถามชาวบ้านโดยทั่วไปแล้ว พบว่าชาวบ้านอีสานจะไม่แยกว่าอะไรเป็นพุทธ เป็นผี นั้นคือจะเชื่อถือให้ความเคารพ และประกอบพิธีกรรมตามจารีตทุกผู้ทุกนาม แม้แต่พระภิกษุที่เป็นชาวท้องถิ่นเอง (ที่ไม่ได้ศึกษาปริยัติธรรมสมัยใหม่) ก็ไม่นิยมชี้ให้ชาวบ้านเห็นว่าพิธีกรรมใดเป็นพิธีกรรมเนื่องด้วยผีสาง หรือพิธีกรรมใดเป็นพิธีกรรมของพุทธ และโดยปกติแล้วสังคมอีสานก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะแยก กลับเห็นพิธีกรรมเหล่านั้น เป็นพิธีกรรมที่จะนำมาเพื่อความสันติสุข เป็นศิริมงคลของครอบครัวและสังคม และไม่พึงใจที่จะละเว้นไม่ประกอบพิธีกรรม หรือไม่เคารพนับถือด้วยแนวคิดดังกล่าวนอาจจะเป็นคำตอบที่ดีในคำถามว่า “ทำไมความเชื่อ เรื่องภูติผีวิญญาณในสังคมอีสานนั้นยังฝังแน่นอยู่ในกระแสจิตสำนึกของชาวอีสานมากกว่าท้องถิ่น อื่นๆ โดยเฉพาะชาวภาคกลาง”
ในสังคมปัจจุบันกระแสความคิดใหม่ๆ ที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ได้เข้าไปกับการศึกษาระบบโรงเรียนและสื่อสารมวลชน ชาวอีสานโดยทั่วไปก็รับรู้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าได้ละเลยหรือทอดทิ้งความเชื่อระบบเก่าๆ ที่ยึดถืออยู่ในสังคมไม่ การที่พบว่าในสังคมอีสานบางท้องที่ละเลยพิธีกรรมประจำปีของหมู่บ้านในบางปีนั้น หาได้เป็นเครื่องยืนยันว่า ความเชื่อในพิธีกรรมเหล่านั้นหมดไป จากความคิดจิตสำนึกของชาวอีสานไม่ แต่ที่ละเลยเพราะไม่มีผู้นำในการกระทำ พิธีกรรมประการหนึ่ง หรือสภาวะทางเศรษฐกิจไม่อำนวย อีกประการหนึ่ง ฉะนั้นจึงพบว่าพิธีกรรมที่ได้งดเว้นไปบ้าง ในบางปีนั้น ภายหลังต่อมาเมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น หรือเกิดความยุ่งยากในสังคม คือมีผู้คนล้มตาย (มากกว่าปกติ ซึ่งเป็นธรรมดา) หรือมีการทะเลาะวิวาท หรือมีผู้ร้ายชุกชุม พิธีกรรมเหล่านั้นก็ได้มีการนำมาประพฤติปฏิบัติกันอีก
ถึงแม้ว่าพิธีกรรมอันเป็นกิจประเพณีส่วนรวมของสังคมจะคลี่ คลายลงไปมากก็ตาม แต่ความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณของปัจเจกบุคคล หาได้เจือจางลงไปอย่างสิ้นเชิงไม่ นั่นคือกิจประเพณีส่วนบุคคลนั้นยึดถือปฏิบัติอยู่ เช่น ออกจากหมู่บ้านไปเรียนหนังสือ หรือประกอบอาชีพ จะต้องจุดธูปเทียนบอกกล่าวพ่อเชื้อแม่เชื้อหรือผีปู่ตา รวมทั้งการแต่งงานเสียผี นอกจากนี้ในท่ามกลางวิทยาการสมัยใหม่ในการรักษาโรค เช่น การแพทย์อันทันสมัยได้แพร่กระจายไปสู่สังคมชนบทอีสาน แต่ชาวอีสานจำนวนมากก็ยังนิยมหาพ่อมดหมอผีอยู่ และเชื่อว่าโรคบางชนิดที่การแพทย์สมัยใหม่ไม่อาจจะรักษาได้ แต่การรักษาโรค แบบดั้งเดิมจะช่วยได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวอีสานเองนั้นไม่ได้ปฏิเสธวิทยาการสมัยใหม่ แต่ก็ไม่ทอดทิ้งคติความเชื่อดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง
ที่มาโดย:รองศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณในสังคมอีสาน

รำผีฟ้า
ความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณของสังคมไทยทุกภูมิภาคนั้นได้ผสมผสานกับพุทธศาสนาอย่างกลมกลืน แต่เราอาจจะพอแยกให้เห็นว่าส่วนใดเปฌนความเชื่อทางพุทธศาสนา และส่วนใดเป็นความเชื่อเรื่องภูติผี แต่อย่างไรก็ตามถ้าเป็นพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน (Popular Bhuddhism) นั้นจะแยกได้ยากมาก เพราะพิธีกรรมต่างๆ นั้นเป็นความเชื่อเรื่องภูติผีปะปนอยู่มาก เช่น คนไทยนิยมนำพระพุทธรูปมาเป็น
เครื่องลางของขลัง ซึ่งตามปรัชญาพุทธศาสนาแล้วจะปฏิเสธอาถรรพ์เวทย์ หรือไสยเวทย์อย่างสิ้นเชิง แต่ตามที่คนไทยชาวพุทธประพฤติปฏิบัตินั้นหาได้ปฏิเสธเรื่องคาถาอาคมและไสยเวทย์แต่อย่างไร ยิ่งในสังคมสมัยอดีตความเชื่อเรื่องไสยเวทย์ยังมีอิทธิพลต่อสังคมมากเท่านั้น ส่วนการทรงเจ้าเข้าผีนั้นอาจจะแยกออกจากพุทธศาสนาได้ค่อนข้างจะชัดเจน
ความเชื่อเรื่องภูติผีนั้นฝังแน่นอยู่กับคตินิยมของคนไทยอย่างแน่นแฟ้นตั้งแต่สมัยอดีต แม้แต่ทางบ้านเมือง ยังมีราชพิธีเกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องภูติผีอยู่ไม่น้อยในรอบปีหนึ่งๆ เช่นการเซ่นสรวงพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และหลักเมือง รวมทั้งพิธีสอบสวนคดีความสมัยอดีตโดยใช้พิธีลุยไฟ ดำน้ำ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของจำเลย ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวเป็นความเชื่อในเรื่องภูติผีวิญญาณทั้งสิ้น แม้แต่สมัยกรุงสุโขทัยซึ่งศาสนาพุทธกำลังเจริญรุ่งเรือง แต่การนับถือผีสางก็ยังนิยมกันอยู่ เช่น พระขะพุงผี และถือว่าเป็นผีที่ให้ความคุ้มครองเมืองสุโขทัย ดังปรากฏอยู่ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ว่า เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้… มีพระขะพุงผี เทพดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้ แลไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยงเมืองนี้ดี ผิไหว้ บ่ดีพลีบ่ถูก ผีในเขาอั้นบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย…”
ความเชื่อเรื่องภูติผีฯ ในสังคมอีสานนั้นยังฝังแน่นอยู่ในวิถีประชาของสังคมในรอบศตวรรษที่ผ่านมา นั่นคือ ก่อนที่จะได้พัฒนาแนวคิด ไปตามทัศนะของกระแสความคิดใหม่ๆ ซึ่งเข้าไปมีอิทธิพลต่อวิถีประชาในสมัยการใช้ระบบโรงเรียนตาม พ.ร.บ. ประถมศึกษา (พ.ศ. ๒๔๖๔) หรือสมัยที่มีการพัฒนาการคมนาคมหัวเมืองอีสาน (น่าจะเริ่มนับจากสมัยสร้างทางรถไฟ คือปลายรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖) แม้ว่าในปัจจุบันนี้ความเชื่อเรื่องภูติผีจะเจือจางลงไปมากก็ตาม แต่ในชนบทที่ห่างไกลยังมีพิธีกรรมเรื่องภูติผีในรอบปีอยู่ ความเชื่อเรื่องภูติผีที่สำคัญๆ ของอีสาน ซึ่งเป็นบ่อเกิดในพิธีกรรมต่างๆ น่าจะได้แก่
๑. ผีแถน หรือผีฟ้าผีแถน
ในความเชื่อของสังคมอีสานนั้น เชื่อว่าผีที่ยิ่งใหญ่กว่าผีทั้งหลายนั้นคือ ผีแถน มีลักษณะเป็นเทพมากกว่าเป็นผี นั่นคือผีแถนเป็นผู้สร้างโลก สร้างสรรพสิ่งต่างๆ ให้แก่โลก คงปรากฏอยู่ในนิทานเรื่องขุนบรม และยังเชื่อว่ามนุษย์นั้น ติดต่อกับแถนได้ในสมัยก่อน เช่น อาจจะขอร้องให้พระยาแถนช่วยเหลือดับยุคเข็ญแก่มนุษยโลกได้ แต่ภายหลังพระยาแถนอดทนต่อความรำคาญของพวกมนุษย์ไม่ไหวจึงไม่ยอมให้ติดต่ออีก นอกจากนี้ชนชั้นผู้ปกครองมีเชื้อสายสืบมาจากพระยาแถนอีกด้วย
แต่ในการศึกษาพิธีกรรมในรอบปีของสังคมอีสานแล้ว ไม่ปรากฏว่าได้มีพิธีกรรมใดๆ ที่เป็นพิธีกรรมที่เซ่นสรวง บวงพลีพระยาแถนโดยตรง แต่อาจจะมีพิธีกรรมเกี่ยวเนื่องอยู่บ้าง เช่น การแห่บั้งไฟ ลำผีฟ้าผีแถน (รักษาโรค) ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวก็ไม่ได้แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าเป็นการเซ่นสรวงเพื่อแสดงความขอบคุณที่คุ้มครองเพทภัย หรือวิงวอนให้คุ้มครองเพทภัยแก่สังคมมากนัก แต่จากความเชื่อที่ติดค้างอยู่ในกระแสความคิดของปัจเจกบุคคลชาวอีสาน หรือการอ้างถึงพระยาแถนนั้น ดูเหมือนว่าสังคมอีสานเคารพเกรงกลัวพระยาแถน เหมือนเทพเจ้าสำคัญที่สุดในสังคมนั้น
เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของพระยาแถนตามทัศนะ ความเชื่อของสังคมอีสานที่ปรากฏอยู่ในพิธีกรรม จึงใคร่จะกล่าวถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องดังนี้
๑. พิธีแห่บั้งไฟ เพื่อให้พระยาแถนให้ฝนแก่มนุษย์ พิธีแห่บั้งไฟของชาวอีสานนั้น มีความเชื่อว่าพระยาแถนลืมหน้าที่ที่จะต้องให้ฝนแก่มนุษย์โลก ฉะนั้นจึงต้องจัดพิธีกรรมนี้ขึ้นเพื่อเป็นการเตือนพระยาแถนให้ทราบว่าชาวบ้านชาวเมืองกำลังเดือดร้อนต้องการน้ำฝนเพื่อการปลูกพืชและถึงฤดูการทำนาแล้ว ชาวอีสาน จึงต้องทำบั้งไฟ จุดให้พลุ่งขึ้นไปบนฟ้า เสมือนหนึ่งเป็นการสื่อสารระหว่างมนุษย์ กับพระยาแถน นอกจากนี้ยังมีการเล่นอวัยวะเพศผู้ชาย (ทำด้วยไม้ท่อนใหญ่ๆ นำมาแห่ด้วย) และการเซิ้ง การรำที่มีความหมายในเชิงหยาบโลน ในบางท้องที่อาจจะทำรูปตุ๊กตาชายหญิงประกบกันและสามารถขยับขึ้นลงได้ การเซิ้งก็คดีการเล่นอวัยวะเพศก็ดี เป็นส่วนหนึ่งของพิธีการแห่บั้งไฟ และเชื่อกันว่าถ้าไม่เซิ้งคำหยาบๆ หรือเล่นอวัยวะเพศรวมอยู่ในพิธีแห่ บั้งไฟแล้วฝนฟ้าจะไม่ตก เพราะพวกผีเผต ผียักษ์จะมาขัดขวางไม่ให้ฝนตกลงมาถึงพื้นดิน ในความคิดที่มีการเล่นสิ่งสกปรกหยาบโลนนี้น่าจะเป็นความเชื่อที่ว่า พวกภูติผีไม่ชอบคำหยาบคาย หรือสิ่งอัปมงคล ซึ่ง เราจะสังเกตได้จากการตั้งชื่อเด็กของคนไทยมักจะตั้งชื่อในความ หมายที่ต่ำหยาบ เพื่อให้ผีเกลียดผีจะไม่รบกวนเด็กทารก เช่น อ้ายหมา หมู หนู หรือชมเด็กที่น่ารักว่า “น่าตาน่าเกลียด” หรืออีกกระแสความคิดหนึ่งเชื่อว่าเป็นการทำให้ผีพอใจ เพราะพวกผีชอบสิ่งสกปรก และจะให้สิ่งที่มนุษย์ต้องการ แต่ความเชื่อในกลุ่มชาวเกษตรกรรมโบราณเชื่อกันว่า อวัยวะเพศ (ชาย) เป็นเครื่องหมายแห่งการเจริญพืชพันธุ์ จะเป็นความเชื่อกระแสความคิดใดๆ ก็ตาม ต่างก็เป็นความเชื่อที่สังคมอีสานยึดมั่น และได้กระทำพิธีกรรมกันสืบต่อมา เพื่อต้องการผลแห่งพิธีกรรม (คือฝน) โดยไม่ได้ยึดมั่นในหลักปรัชญาแห่งความเชื่อนั้นๆ ว่าจะเป็น กระแสความคิดใด
๒. การเทศน์เรื่องพระยาคันคากตำนานแห่บั้งไฟ ในบางท้องที่จะมีการเทศน์เรื่องพระยาคันคาก (คางคก) หรือท้าวคันคาก รวมอยู่ในพิธีแห่บั้งไฟด้วยเรื่องท้าวคันคากนี้ เป็นตำนานพื้นบ้านกล่าวถึงท้าวคันคากต่อสู้กับพระยาแถน เพื่อให้แถนส่งน้ำฝนลงมายังมนุษย์โลก เนื่องจากพวกกบ เขียด อันเบนบริวารของท้าวคันคากเดือดร้อน เพราะไม่มีน้ำอาศัย เป็นสงครามใหญ่ระหว่างสัตว์กับเทพเจ้า ในที่สุดพระยาแถนพ่ายแพ้จึงต้องให้ฝนตามฤดูกาล ซึ่งเรื่องราวคันคากนี้ก็เป็นความเชื่อส่วนหนึ่งเกี่ยวกับพระยาแถนตามโลกทรรศน์ของชาวอีสาน จนมีการผูกเป็นตำนานและพระสงฆ์ นำมาเทศน์ในที่ประชุมชนรวมอยู่ในพิธีกรรมการขอฝน ซึ่งบางแห่งจัดเป็นพิธีใหญ่มีการตระเตรียมงานอยู่หลายวันรวมทั้งนิมนต์ภิกษุมาสวดคาถาปลาคอ 108 จบ ในพิธีกรรมเดียวกันนี้ด้วย (คาถาปลาคอนี้เป็นคาถาภาษาบาลีคล้ายกับคาถาที่ใช้สวดในพิธีพิรุณศาสตร์ของภาคกลาง)
๓. การรำผีฟ้าเพื่อรักษาโรค บางแห่งเรียกว่า “รำผีแถน” เป็นการรักษาโรคแบบหนึ่งของชาวอีสาน โดยมีความเชื่อว่าโรคที่เกิดจากการกระทำของภูติผี หรือโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ ญาติพี่น้องจะหาหมอทำ (ธรรม?) มาทำพิธีตั้งขันห้าขันแปด (เครื่องบูชา) และมีหมอแคนมาเป่า เจ้าพิธีจะรำแบบหมอลำเนื้อความในทำนองขับไล่ผี และเชิญพระยาแถนมาช่วยปกป้องคุ้มภัยแก่คนไข้ เจ้าพิธีจะอยู่ในลักษณะภวังค์เหมือนคนทรงสามารถถามไถ่อาการคนไข้หรือสาเหตุการเจ็บป่วยได้ เช่น ผิดผี หรือชะตาถึงเคราะห์จะต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์ หรือเซ่นผี เสียผี ฯลฯ ซึ่งรวมอยู่ในพิธีรำผีฟ้าผีแถนนี้ด้วยลักษณะการรักษาโรคโดยวิธีรำผีฟ้าผีแถนนี้เป็นความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณของสังคมอีสาน ซึ่งไม่อาจจะอธิบายตามแนววิทยาศาสตร์ได้ แต่ผู้เจ็บป่วยก็มักจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บนั้นหลังทำพิธี
๒. ผีปู่ตาวิญญาณบรรพบุรุษประจำหมู่บ้าน
ผีปู่ตา บางท้องที่เรียกว่า “ผีตาปู่” เป็นดวงวิญญาณบรรพบุรุษประจำหมู่บ้านที่ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง ไม่อาจจะกำหนดได้ว่าเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษสายใด สกุลใด แต่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวิญญาณบรรพบุรุษของชาวหมู่บ้านนั้นทุกคน ในชนบทอีสานทุกหมู่บ้านจะมีศาลปู่ตา (เรียกว่า ตูบปู่ตา) สร้างด้วยไม้ มุงหลังคา (หญ้า สังกะสี) ไม่ใหญ่มากนัก การตั้งตูบปู่ตาเป็นทำเลอยู่นอกหมู่บ้านไม่ไกลนัก (ไม่กำหนดทิศที่แน่นอน) มักจะยึดพื้นที่เป็นดอนน้ำท่วมไม่ถึง มีต้นไม้ใหญ่ๆ ขึ้นอยู่หนาแน่น (เพราะชาวบ้านไม่กล้าไปตัดไม้ในบริเวณนั้น) บางครั้งเรียกว่าดอนปู่ตา หรือดง ปู่ตง
จากความเชื่อของชาวบ้าน เชื่อว่า “เจ้าปู่ (ผีปู่ตา) จะเป็นผู้คุ้มครองลูกบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากอันตราย และภัยพิบัติทั้งปวง วัวควายและสัตว์เลี้ยงทุกอย่างก็ถือว่าอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าปู่ด้วย นอกจากนี้เจ้าปู่ยังแสดงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ให้ปรากฏ โดยวิธีบันดาลให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามความปรารถนาของผู้บนบาน (ในภาษาท้องถิ่นว่า-บา) เมื่อได้สิ่งที่ปรารถนาตามที่บาปู่ตาไว้แล้วชาวบ้านจะแก้บนหรือเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “เสียค่าคาย” ในการเสียค่าคายนี้อาจจะมาทำรวมในวันที่มีพิธีเลี้ยงผีปู่ตาประจำปี ของหมู่บ้านก็ได้ โดยปกติจะกำหนดในเดือน ๖ (วันกำหนด โดยชาวบ้าน) ฉะนั้น ผีปู่นั้นเป็นเสมือนที่พึ่งทางใจของชาวบ้านเมื่อได้รับความเดือดร้อน เช่น ของหาย เดินทางไกลไปรับ หรือเมื่อถูกเกณฑ์ทหาร ชาวบ้านจะไปบาผีปู่ตา ที่ตูบ เพื่อวิงวอนให้เจ้าปู่ช่วยบันดาลให้สมกับความตั้งใจ ไม่เพียงแต่เท่านั้นชาวบ้านทุกคนยังเกรงกลัวต่ออิทธิฤทธิ์ของเจ้าปู่ ไม่มีใครที่จะดูแคลน หรือไม่ยำเกรง ฉะนั้น เรื่องเล่าที่แสดงถึงอิทธิฤทธิ์ของเจ้าปู่ยังคงจดจำและคิดอยู่ที่ปากชาวบ้านทุกคน เช่น คนรุ่นใหม่ไม่เชื่อไม่เคารพผีปู่ตา กล่าววาจาเชิงดูถูกดูแคลน มักจะมีอันเป็นไป เช่น ปวดท้อง เป็นไข้ หรือมีอาการเพ้อ จึงต้องไปหาหมอจ้ำ (เจ้าพิธีที่ติดต่อกับวิญญาณผีปู่ตา) เพื่อทำพิธีขอขมาผีปู่ตาอาการดังกล่าวจะหายไปทันที ฉะนั้นคนไม้ สัตว์ ในบริเวณดอนปู่ตาชาวบ้านจะไม่กล้าไปนำมาไว้ที่บ้าน เพราะเกรงว่าจะมีอันเป็นไป หรือที่เรียกว่า “ขวง” หรือเข็ดขวง
๑) สถานะของผีปู่ตาในความเชื่อของชาวอีสาน
ผีปู่ตา เป็นผีบรรพบุรุษของชาวบ้านที่เชื่อกันว่าเมื่อบรรพบุรุษของตนสิ้นชีวิตไปแล้วก็จะกลับมาให้ความคุ้มครองป้องภยันตรายแก่ลูกหลานของผู้ตาย และไม่อาจจะกำหนดเฉพาะได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของสกุลใด มีชีวิตอยู่ในสมัยใด จึงเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษรวมๆ ของชาวบ้าน ในสังคมนั้นๆ เมื่อพิจารณาทางด้านเชื่อทำให้เข้าใจว่าเป็นผีบรรพบุรุษของญาติทั้งฝ่ายหญิงและชาย คือ ปู่ และตา ฉะนั้น น่าจะสรุปได้ว่าเป็นผีบรรพบุรุษของเผ่าพันธุ์
ตามลักษณะของพิธีกรรม และความเชื่อเรื่องผีปู่ตานี้ ส่อให้เห็นว่าชาวบ้านอีสานมีทัศนะเกี่ยวกับโลกว่ามีโลกของผีและโลกของมนุษย์ โลกของผีอันเป็นที่อยู่ของวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว และอาจจะติดต่อสื่อสารกันได้ระหว่างโลกของผีและมนุษย์ โดยผ่านตัวกลางคือหมอจ้ำหรือขะจ้ำ ขะจ้ำจะถูกคัดเลือกโดยเจ้าปู่ เมื่อขะจ้ำคนเดิมล่วงลับไปแล้วขะจ้ำ จะทำหน้าที่ดูแลตูบปู่ตา และเช่นสรวงบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนประจำวันพระ (๑๕ คํ่า และ ๘ คํ่า) การสื่อสารระหว่างโลกมนุษย์และโลกผีนั้นจะกระทำครั้งใหญ่ประจำปีเรียกว่าการเลี้ยงผี ปู่ตา ชาวบ้านในหมู่บ้านจะมารวมกันออกเงิน ซื้อหมู ๒ ตัว เหล้า และอาหารอย่างอื่นเท่าที่หาได้แล้ว แห่แหนด้วยกลองยาวมารวมชุมนุมกันที่ตูบปู่ตาตั้งแต่บ่าย เมื่อเจ้าปู่มาซูน (เข้าทรง) ขะจ้ำแล้ว มนุษย์กับผีสามารถสื่อสารติดต่อกันได้ ผีปู่ตาจะสั่งสอนกล่าวตักเตือนชาวบ้าน หรือตอบคำถามของชาวบ้านที่สงสัยเรื่องราวที่เกี่ยวกับตนเอง หรือชุมชน ตลอดจนการทำนายดินฟ้า นอกจากนี้ยังมีการขอร้องให้เจ้าปู่ช่วยคุ้มครองป้องกันภัย เช่น ไม่ให้วัวควาย เป็นโรคห่า หรือคุ้มครองลูกหลานที่ออกไปประกอบอาชีพในต่างถิ่น เป็นต้น นอกจากพิธีกรรมประจำปีนี้ ชาวบ้าน อาจจะติดต่อกับผีปู่ตาได้ในบางครั้งโดยไปหาขะจ้ำเข้าทรง เพื่อขอร้องให้ขจัดปัดเป่าภัยพิบัติของตนก็ได้ ซึ่งเป็นความ ต้องการของปัจเจกบุคคล หลังจากนั้นก็มีการเสียค่าคายตามกำหนดหรือตามที่เจ้าตัวบาไว้ (บนบาน)
จากแนวคิดที่ว่าผีหรือวิญญาณมีโลกเฉพาะ และย่อมอยู่เหนือธรรมชาติ คือ อิทธิฤทธิ์ ฉะนั้นขะจ้ำก่อนที่จะเชิญวิญญาณเจ้าปู่มาซูนนั้น จะต้องเตรียมตัวตามขั้นต่างๆ เพื่อให้บริสุทธิ์หรืออยู่ในสภาพเหนือมนุษย์นั้นคือจะต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด แต่งกายด้วยเสื้อผ้า เฉพาะเช่นเสื้อคลุมยาว สวมมงกุฎดอกไม้ และถือดาบเป็นอาวุธ ครั้น เมื่อผีเจ้าปู่มาเข้าทรงแล้ว เสียงพูดจะเปลี่ยนไป ใช้สรรพนามว่า “กู” เพื่อแสดงถึงความอยู่เหนือกว่าชาวบ้าน ดื่มเหล้าไม่เมา (จำนวนมาก ๆ) สูบยาโดยใช้ใบตองห่อพริกแห้งเป็นการแสดงให้เห็น “สภาพเหนือมนุษย์” ของขะจ้ำ ในขณะที่เจ้าปู่มาซูน
๒) ผีปู่ตาเป็นสถาบันที่ให้ความมั่นคงทางจิตใจของชาวบ้าน
ความเชื่อเรื่องผีปู่ตานี้เป็นบ่อเกิดของการเข้าเจ้าทรงผี เพื่อมนุษย์จะติดต่อกับวิญญาณ และการเช่นสรวงสังเวยก็เป็นส่วนที่มนุษย์จะอุทิศสิ่งของมีค่า อาหารต่อวิญญาณที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์หรือเพื่อเป็นการตอบแทนผลประโยชน์ที่ตนได้รับจากความช่วยเหลือของวิญญาณ การที่ชาวบ้านได้กระทำ พิธีเลี้ยงผีปู่ตาประจำปีหรือเสียค่าคายในการบาเจ้าปู่นั้น ก็เป็นการเอาใจหรือแสดงความกตัญญูที่ผีปู่ตาได้คุ้มครองรักษาเพทภัยต่างๆ แก่ตน ครอบครัว และชาวบ้านส่วนรวมทั้งหมู่บ้าน ให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และป้องกันภัยธรรมชาติอันที่จะมาเบียดเบียนชาวบ้านให้เกิดภัยพิบัตินานาประการ
สถาบันของผีปู่ตาได้รับการรับรองและร่วมมืออย่างดี จากสังคมของหมู่บ้านทางด้านการจัดองค์การของผีปู่ตา มีศาลที่บูชา มีกำหนดพิธีกรรมในการบวงสรวงที่แน่นอนมีผู้แทนในการติดต่อสื่อสารระหว่างชาวบ้านกับผีปู่ตา (ขะจ้ำ) มีผู้ช่วยขะจ้ำทำหน้าที่ช่วยเหลือในการทำพิธี ตลอดจนการเรี่ยไรเงินเพื่อใช้ในพิธีกรรมด้วย ถ้าเราพิจารณาถึงความ เชื่อและหน้าที่ของสถาบันผีปู่ตาแล้ว จะเห็นว่าเป็นสถาบันกลางของสังคมอันเป็นที่ยึดมั่นทางจิตใจ สามารถช่วยขจัดทุกข์ร้อนไม่ให้สังคม เกิดยุคเข็ญทั้งส่วนรวมและส่วนบุคคล โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของผีปู่ตานั้น มีส่วนให้ชาวบ้านวางใจต่อเพทภัยที่จะบัง เกิดแก่ส่วนรวมและส่วนบุคคล ไม่เพียงแต่เท่านั้นการที่ชาวบ้านได้ร่วมกระทำพิธีกรรมจะได้ร่วมมือร่วมแรงกันเป็นการเสริมสร้างสามัคคีธรรมระหว่างบุคคลในหมู่บ้าน โดยปราศจากช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจน และที่น่าจะพิจารณาให้ชัดไปได้ว่า สถาบันผีปู่ตานั้นทำหน้าที่ควบคุมความประพฤติของชาวบ้าน ไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดประพฤตินอกรีดประเพณีของสังคม โดยอาศัยอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติของเจ้าปู่ ซึ่งเป็นผลให้สังคมอยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และไม่ประพฤติผิดฮีตบ้านดองเมือง (จารีตประเพณี) อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของสังคมอย่างแท้จริง
ถึงแม้ว่าสังคมชาวอีสานจะนับถือศาสนาพุทธโดยทั่วไป แต่ก็เป็นการผสมผสานเรื่องความเชื่อผีสางเข้ากับพุทธศาสนาอย่างแยกกันไม่ออก เพราะเหตุว่าพุทธศาสนาให้ความมั่นคงทางจิตใจแก่ชาวบ้านไม่ได้ โดยเฉพาะอำนาจที่อยู่เหนือธรรมชาตินั้นเป็นความเชื่อที่พุทธศาสนาปฏิเสธอย่างสิ่นเชิง แต่ชาวบ้านหรือชาวพุทธหาได้ปฏิเสธไม่ เช่นน้ำท่วม ฝนแล้ง โรคระบาค ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการทำของ สิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติฉะนั้นจึงหันเข้ายึดมั่นในอำนาจของผีปู่ตา และขอความคุ้มครองจากผีปู่ตา รวมทั้งพระสงฆ์ที่เป็นชาวอีสานเองก็ไม่ได้ปฏิเสธความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณ
๓. ผีมเหสักข์หลักเมือง
ผีมเหสักข์หลักเมือง บางครั้งเรียกว่า “ผีอาฮัก” (อารักษ์) มีลักษณะเช่นเดียวกับหลักเมืองของภาคกลาง ต่างแต่ว่าในภูมิภาคอีสานนั้นมิใช่จะมีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น (ส่วนใหญ่หลักเมืองไม่ค่อยจะมี เพราะถูกห้ามหลังกบฏผีบ้า ผีบุญ สมัยรัชกาลที่ ๕) แต่ตามหมู่บ้านนั้นมีทุกหมู่บ้านเรียกว่า “หลักบ้าน” ซึ่งมักจะอยู่ในที่เด่นเห็นได้ชัด เช่น ทางสามแพร่งภายในหมู่บ้าน หรือบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน (แต่บางแห่งพบว่าอยู่บริเวณหน้าวัด แต่นอกเขตรั้ว) บริเวณใกล้หลักบ้านนั้นจะมีศาลากลางบ้านเป็นส่วนใหญ่ สำหรับใช้ในพิธีกรรมตอกหลักบ้านหลักเมือง หรือเรียกว่า “บุญชำฮะ”
ในความเชื่อที่ว่าหมู่บ้านจะอยู่ได้ปกติสุขนั้น เพราะผีอาฮักคุ้มครอง ให้ความเที่ยงตรง สังคมจะอยู่สงบสุข ถ้าบ้านเมืองมีโจรผู้ร้ายชุกชุม เจ้านายวุ่นวายแย่งอำนาจเกิดการตีรันฟันแทงหรือผู้คนในหมู่ บ้านทะเลาะวิวาทกันอยู่เนืองๆ เชื่อว่าหลักบ้านไม่เที่ยงตรง คือ หลักบ้านมันเหงี่ยงมันหง่วย จะต้องทำพิธีตอกหลักบ้านหลักเมือง คือ ถอดหลักบ้านแล้วตอกหลักใหม่ให้เที่ยงตรง ในพิธีกรรมนี้จะนิมนต์พระภิกษุ มาสวดมนต์ (ชยันโต) ด้วย
ตามปกติแล้วถ้าไม่มีเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ จะกระทำพิธีเซ่นสรวงหลักบ้านในเดือนเจ็ด เรียกว่า “บุญชำฮะ” ชาวบ้านจะพากันมาสร้างผาม (ปะรำพิธี) ที่บริเวณหลักบ้าน (ถ้ายังไม่มีศาลากลางบ้าน) นิมนต์พระภิกษุมาเจริญพระพุทธมนต์เย็น เช้าทำบุญถวายจังหัน ชาวบ้านทุกครัวเรือน จะนำดอกไม้ธูปเทียนอาหารมาร่วมพิธี พร้อมกับโอน้ำ ด้าย
หรือมีอาการผิดปกติถ้าเป็นผู้ใหญ่ ฯลฯ ส่วนเหตุการณ์สำคัญๆ บังเกิดแก่เครือญาติเป็นหน้าที่ของทุกคนจะต้องมาที่บ้านต้นตระกูลเพื่อจุดธูปเทียนบอกกล่าวพ่อเชื่อแม่เชื่อ เช่นแต่งงาน บวชนาค ขึ้นบ้านใหม่ หรือไปค้าขายได้กำไร และมีเด็กเกิดในตระกูล ฯลฯ เป็นต้น
๔. ความเชื่อผีอื่นๆ
ความเชื่อเรื่องผีสางในภาคอีสานนั้นยังมีอีกจำนวนมาก และผีบางจำพวกไม่เคยที่จะให้คุณแก่มนุษย์เลย เช่น ผีโพง ผีกะ (ปอบ) ผีเป้า (ผีกระสือ) ชาวอีสานถือว่าเป็นผีชั้นเลว ชอบแต่ที่จะรังแกมนุษย์ จึงไม่มีพิธีกรรมเซ่นสรวงบวงพลี แก่ผีเหล่านี้ จึงไม่กล่าวถึง
ส่วนผีเล็กๆ แต่สามารถให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ ที่น่าจะต้องกล่าวถึงได้อีก เช่นผีประจำไร่นา ช่วยให้ธัญพืชงอกงาม ไม่ถูกรบกวนจากศัตรูพืช หรือวิญญาณอื่นๆ เรียกว่า “ผีตาแฮก” การไหว้ผีตาแฮกจะกระทำกันทุกปีในราวเดือนหก คือเริ่มจะทำนา ชาวบ้านจะนำอาหารและไก่ต้ม ของหวาน ไปเลี้ยงผีตาแฮกที่ท้องนา และอธิษฐานให้พืชพันธุ์ดี เจริญงอกงามและฝนตกลงตามฤดูกาล ฯลฯ
ผีที่น่าจะต้องกล่าวถึงอีกประเภทหนึ่ง คือ “ผีฟ้า” มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่นับถือ นัยว่าจะเป็นผีฟ้าผีแถนนั่นเอง ต่างแต่ว่าพวกคนทรงนับถือ และนำมาทำพิธีกรรมในกลุ่มของตนเรียกว่า “นางเทียม” ฉะนั้นจึงมักเรียกว่า “ผีฟ้า นางเทียมนั้นคือคนทรงนั่นเอง นางเทียมจะเชิญวิญญาณให้มาซูน (ประทับทรง) พวกลูกค้าจะขอร้องให้ช่วยขจัดปัดเป่า ความเดือดร้อน รวมทั้งทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ พวกผีฟ้านางเทียมก็คือการทรงเจ้าเข้าผีของภาคกลางนั่นเอง ครั้นเมื่อถึงพิธีเลี้ยงผีฟ้าประจำปี พวกนางเทียมต่างๆ จะมารวมกันที่บ้านที่พวกนางเทียมถือว่าเป็นครู กระทำพิธีเซ่นสรวงด้วยอาหาร เหล้ายาพวกนางเทียมจะอยู่ในอาการภวังค์ และร่ายรำตามทำนองแคนและกลอง ชาวบ้านที่เป็นสานุศิษย์ก็จะไปร่วมพิธีด้วย
ที่มาโดย:รองศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

โลกและจักรวาลในโลกทรรศน์ของชาวอีสาน

ชาวอีสานสืบทอดวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง และมีความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติใกล้ชิดกับกลุ่มคนไทยในลานช้าง (ลาว) รวมทั้งมีความคล้ายคลึงกันทางด้านภาษา วรรณกรรม ตลอดจนความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งถ้าศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์แล้วพบว่า ชาวอีสานตลอดจนเวียงจันทน์ หลวงพระบาง ตกอยู่ใต้อำนาจการเมืองของราชธานีไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๒ สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งเมื่อก่อนหน้านี้ หัวเมืองอีสาน (เว้นโคราช) มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับราชธานีมากนัก ครั้นเมื่อมีการจัดตั้งหัวเมืองอีสานสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา ก็พบว่าหัวเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑- รัชกาลที่ ๔ นั้น ประชากรส่วนใหญ่ก็เป็นประชากรที่อพยพกวาดต้อนมาจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงเป็นส่วนใหญ่ ในการควบคุมหัวเมืองอีสานนั้นรัฐบาลกลางก็ยอมให้ปกครองกันเองตามธรรมเนียมการปกครองของลานช้าง คือ ใช้ระบบ อาญาสี่ (เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร) และขึ้นกับราชธานีไทยแบบประเทศราช (ยกเว้นเมืองนครราชสีมาเป็นหัวเมืองชั้นนอกและมีอำนาจควบคุมปกครองหัวเมืองเขมรป่าดงอีกด้วย) ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๓๖ (รัชสมัยรัชกาล ที่ ๕) เป็นต้นมา ได้มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมือง หัวเมืองอีสานจึงถูกผนวกเป็นรัฐประชาชาติเดียวกันกับราชธานีไทย โดย ส่งข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณไปควบคุมเรียกว่า “ระบบเทศาภิบาล” และลดอำนาจเจ้าเมืองลงจนถึงยกเลิกเจ้าเมือง ฉะนั้นโลกทรรศน์ต่างๆ ความเชื่อ คตินิยมของชาวอีสานยังคงมีลักษณะร่วมกับวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขงมาก กว่าวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในการศึกษาโลกทรรศน์ของสังคมอีสานจึงใช้เอกสาร ตำนาน และนิทานปรัมปรา ที่มีอิทธิพลและเจริญสืบเนื่องอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงอันมี อาณาจักรลานช้าง (ลาว) เป็นศูนย์กลาง
๑. ความเชื่อในการกำเนิดโลก
ความเชื่อในการกำเนิดโลก ชาวอีสานมีความเชื่อสืบทอดกันมาเกี่ยวกับการกำเนิดโลก ๒ แนวด้วยกัน คือ แนวตามพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง (ตามอัคคัญสูตร) และตามแนวความเชื่อดั้งเดิมของสังคมอีกแนวหนึ่ง คือ สรรพสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ พระยาแถน หรือแถนฟ้าหลวง หรือแถนฟ้าขื่น เป็นผู้สร้างผู้กำหนด แนวความเชื่อนี้ปรากฏเป็นเอกสาร ลายลักษณ์อยู่ในเรื่อง “ขุนบรม” หรือ “ขุนบอฮม” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวความเชื่อในเรื่องการกำเนิดโลก และจักรวาลตามแนวนี้มิได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา ฉะนั้นจึงน่าจะเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่ปรากฏอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ครั้นเมื่อมีการเขียนบันทึกตำนานทางพุทธศาสนา หรือตำนาน บ้านตำนานเมืองนั้น นิทานเรื่องขุนบรมก็ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรรวมอยู่ด้วย จึงพบว่าตำนานขุนบรมนั้นมีการบันทึกตามแนวตำนาน พุทธ ศาสนา อยู่บ้าง เช่น พยายามอธิบายว่า แถนฟ้าขื่นนั้นก็คือ พระอินทร์นั่นเอง เป็นการเชื่อมโยงความคิดระหว่างความเชื่อพื้นบ้านเข้ากับความเชื่อทางด้านศาสนาพุทธให้ผสมกลมกลืนกัน ดังปรากฏในนิทานเรื่องขุนบรม หน้า ๗๙ ว่า “แถนฟ้าขื่นนั้น คือ ตนพระยาอินทร์เจ้าฟ้าแล แถนองค์นี้หูหิ้งแล แถนผู้ให้เป็นฝน เป็นลมนั้นก็ดี แถนแต่งเป็นเครื่องไร่ เครื่องนา แลตั้งให้เป็นโลกทั้งหลายฝูงนี้ทั้งมวลเป็นองค์ประเสริฐยิ่งนักแล ชาวเมืองล่างปางก่อนนั้นเขาเรียกว่า ผีฟ้าผีแถนว่าอั้น” และนอกจากนี้ในหนังสือนิทานเรื่องขุนบรมนั้นยังได้กล่าวว่า มนุษยโลกและสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดจากผลน้ำเต้าปุ้ง (ปุ้ง- ใหญ่ ป่องกลาง) ๒ ผล ภายในน้ำปุ้งสองผลนี้ได้มีมนุษย์ชายหญิงมากมาย วัวควาย ช้างม้า และสรรพสิ่งต่างๆ ออกมาตามรอยรู ที่แถนสิ่ว แถนซี (ไช, เจาะ) ได้เจาะรูน้ำปุ้งทั้งสองผลนั้น ในการพิจารณาในความเชื่อเรื่องการกำเนิดโลกนี้ แสดงให้เห็นว่าเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่ปรากฏอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ก่อนที่แนวความเชื่อเรื่องการกำเนิดโลกของอินเดียจะเข้ามาสู่ในบริเวณนี้ คือ ที่เชื่อว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างโลกและเป็นผู้ทำลาย วนเวียนกันเช่นนี้ เป็นวัฏจักรไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่เรียกว่ามานวัตร หรือสมัยพระมนู ซึ่งแนวคิดในการกำเนิดโลกและสรรพสิ่งต่างๆ จากผลน้ำเต้าปุ้งนี้ เป็นความเชื่อของคนไทยที่อยู่ตามแถบลุ่มแม่น้ำโขงขึ้นไปจนถึงพวกไทยใหญ่ ไทยเขิน ไทยลื้อ อีกด้วย
ความเชื่อที่ว่าแถนฟ้าเป็นผู้สร้างโลกนี้ น่าจะเป็นความเชื่อของกลุ่มคนไทยที่เล่าสืบทอดกันมาโดยปากต่อปาก ผ่านชั่วอายุหนึ่งถึงอีกชั่วอายุหนึ่ง จนไม่อาจจะสืบหาต้นตอยุคสมัยของการกำเนิดแนวคิดนี้ได้ ครั้นเมื่อถึงสมัยเริ่มมีการบันทึกตำนานเรื่องราวที่เล่าสืบทอดกันมาแบบปากต่อปาก ก็ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์ และได้คัดลอกสืบต่อกันมา ฉะนั้นตำนานที่เป็นนิทานปรัมปราจึงได้รับการสืบทอดจดจำต่อมาในสังคมของคนไทยลุ่มแม่น้ำโขง
ความเชื่อในการกำเนิดโลกและจักรวาลนี้ ถ้าเราพิจารณาเปรียบเทียบกับกลุ่มคนไทยที่สืบทอดวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอยู่มาก นั่นคือกลุ่มวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (สุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ) จะอธิบายการกำเนิดโลกตามแนวมานวัตรดังกล่าวข้างต้นแนวหนึ่ง อีกแนวหนึ่งเป็นแนวของพุทธศาสนา ดังปรากฏอยู่ในอัคคัญสูตร คือ ก่อนจะกำเนิด โลกมีการรวมตัวของธาตุเป็นสารละลายร้อน ครั้นเย็นลง กลายเป็นแผ่นดิน พวกเทวดาหอมกลิ่นอายดินก็พากันลงมา กินง้วนดิน ง้วนดินมีส่วนทำให้เทวดาหมดอิทธิฤทธิ์ ไม่สามารถจะกลับไปสู่พิมานได้ จึงกลายเป็นมนุษย์ แนวคิดดังกล่าวนี้ยังปรากฏอยู่ในโองการแช่งน้ำพระพิพัฒน์อีกด้วย จากการศึกษาความเชื่อเรื่องการกำเนิดโลก และจักรวาลนี้ อาจจะแยกแยะการสืบทอดวัฒนธรรมของกลุ่มคนไทยแต่ละ กลุ่มได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ชัดเจนนักก็ตาม แต่เราอาจเห็นแนวคิด ความเชื่อที่สืบทอดกันมาแตกต่างกัน
๒. ความเชื่อเรื่องมนุษย์คู่แรกที่เป็นต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์
เรื่องมนุษย์คู่แรกต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์นี้ มีลักษณะเช่นเดียวกับความเชื่อมนุษย์คู่แรกของศาสนาคริสต์ ที่เชื่อกันว่า อาดัมกับอีวา เป็นมนุษย์คู่แรกที่เป็นต้นกำเนิดเผ่าพันธุ์มนุษยชาติทั้งมวล ในแนวคิดดังกล่าวนี้พุทธศาสนาไม่ได้อธิบายไว้ชัดเจนว่า มนุษย์คู่แรกที่เป็นต้นเผ่าพันธุ์คือใครนี้ และไม่ได้ให้ความสำคัญต่อมนุษย์คู่แรก แต่จากการสืบสวน จากแนวคิดพื้นบ้านของคนไทยกลุ่มต่างๆ พบว่าแต่ละกลุ่มมีเรื่องราวอธิบายการกำเนิดมนุษย์ว่า มนุษย์ทั้งหมดนี้ย่อมสืบพืชพันธุ์กันมาจากมนุษย์คู่แรก เล่าสืบทอดกันมาแบบปากต่อปาก ชั่วอายุหนึ่งต่อชั่วอายุหนึ่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ฉะนั้นในปัจจุบันนี้จึงมีลักษณะอยู่ในความทรงจำที่เลือนลาง ดังนี้
ในความเชื่อเรื่องมนุษย์คู่แรกต้นเผ่าพันธุ์ของประชาคมลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อว่า “ปู่สังกะลาย่าสังกะสี” เป็นบรรพ¬บุรุษคู่แรกที่เป็นต้นเผ่าพันธุ์ แต่เป็นภาพที่เลือนลางอยู่มาก กล่าวคือ เราไม่ได้เรื่องราวเกี่ยวกับปู่สังกะสาย่าสังกะสีที่เป็นรูปนิทานอธิบายเหตุที่มา หรือนัยประวัติของบรรพบุรุษคู่แรกนี้ กระนั้นก็ตามยังพบอยู่ในสำนวนพูดที่กล่าวถึงอดีต อันยาวนานมักจะกล่าวว่า “เมื่อครั้งปู่สังกะสาย่าสังกะสี” และนอกจากนี้ยังพบว่าประชาคมในภูมิภาคอีสานเกือบทุกผู้ทุกนาม จะรู้จักปู่สังกะสาย่าสังกะสีในความเชื่อเดียวกันคือเป็นมนุษย์คู่แรกของเผ่าพันธุ์ นอกจากนี้ประชาคมอีสานยังมีการกล่าวถึงชื่อบรรพบุรุษอื่นๆ อีก แต่มีความสำคัญน้อยกว่า ปู่สังกะสาย่าสังกะสี เช่น ปู่อึ้ม ย่าเผิ้ง และยายจำสวน ซึ่งการกล่าวถึงบรรพบุรุษต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์นี้ เป็นลักษณะสืบทอดแนวคิดกันต่อมา ไม่พบรายละเอียดว่าบรรพบุรุษ เหล่านั้นได้มีอิทธิฤทธิ์ในการปกป้องคุ้มครองเพทภัยแก่อนุชนรุ่นหลังอย่างไร จึงไม่มีพิธีกรรมในการเซ่นสรวงบวงพลีวิญญาณบรรพบุรุษเหล่านั้น ซึ่งต่างไปจากวิญญาณที่ให้คุณให้โทษแก่ประชาคมประเภทอื่นๆ เช่น ผีปู่ตา ผีแถน ตลอดจนผีฟ้า (นางเทียม) ประชาคมอีสานจะเกรงกลัว ต่อดวงวิญญาณดังกล่าวมาก จึงมีพิธีกรรมเซ่นสรวงกัน ประจำปี หรือตามโอกาสฤดูกาล
ผีบรรพบุรุษอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นที่รู้จัก และเคารพของชาวอีสาน คือ เฒ่าไลเฒ่าเยอ แม่ย่างาม แม่มด บรรพบุรุษ กลุ่มนี้มีลักษณะเป็นวิญญาณกึ่งเทพกึ่งผี ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองแผ่นดินไม่ให้เกิดเพทภัย หรือภัยพิบัติตามธรรมชาติ บรรพบุรุษทั้งสองคู่นี้เดิมเป็นเทพและแถนฟ้าขื่นได้บัญชาให้ลงมาปราบผีเผต ผียักษ์ที่มาเบียดเบียน มนุษย์ อันเป็นลูกหลานของขุนบรม ถืงแม้ว่าเฒ่าไล แม่ย่างาม เฒ่าเยอ แม่มดนี้ อาจจะไม่ค่อยอยู่ในความทรงจำของชาวอีสานแล้วก็ตามที แต่มีการบันทึกอยู่ในนิทานเรื่องขุนบรม และได้กำหนดหน้าที่ดูแลเพทภัยของแผ่นดินคล้ายกับพระเลอเมือง พระทรงเมืองของภาคกลาง
ในความเชื่อเรื่องมนุษย์คู่แรกต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์นี้ ประชาคมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และประชาคมภาคเหนือต่างก็มีเช่นเดียวกัน แต่อยู่ในลักษณะเลือนลางมาก โดยเฉพาะภาคกลาง กล่าวคือ ในประชาคมภาคเหนือเชื่อว่าบรรพบุรุษคู่แรกของเผ่าพันธุ์คือ “ปู่แสะย่าแสะ” แต่นัยประวัติของปู่แสะย่าแสะของภาคเหนือนั้น มีรูปแบบต่างไปจากปู่สังกะสาย่าสังกะสีของอีสาน คือ เป็นกึ่งเทพกึ่งผีเหมือน เฒ่าไล แม่ย่างาม และเฒ่าเยอ แม่มดของอีสาน เป็นวิญญาณบรรพบุรุษที่คุ้มครองเพทภัยมากกว่าเป็นมนุษย์คู่แรกที่เป็นต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์ แต่อย่างไรก็ตามจากความเชื่อของชาวพื้นบ้านมักจะกล่าวอ้างว่าเป็นบรรพบุรุษมนุษย์คู่แรกของเผ่าพันธุ์ แม้ในปัจจุบันนี้ยังมีพิธีกรรมทรงเจ้าเข้าผีเชิญดวงวิญญาณของปู่แสะย่าแสะมาประทับทรงเพื่อช่วยขจัดภัยพิบัติ หรือรักษาโรคภัยไข้เจ็บและช่วยเหลือเกื้อกูลให้ประสบโชคแก่ลูกค้า หรือเรียกว่าลูกเลี้ยงที่มาหามาเป็นสานุศิษย์ ส่วนความเชื่อเรื่องมนุษย์คู่แรกอันเป็นบรรพบุรุษของประชาคมภาคกลางนั้นเกือบจะไม่อยู่ในความทรงจำของประชาชนทั่วไป แต่ในกลุ่มที่เป็นเจ้าพิธีเกี่ยวกับภูติผีวิญญาณ ยังรู้จักอยู่โดยเฉพาะพวกสัปเหร่อ จะเล่าเรียนวิชาสืบทอดกันมาว่าวิญญาณบรรพบุรุษที่เป็นเจ้าของท้องที่ พื้นดิน และเชื่อว่าเป็นมนุษย์คู่แรกนั้นชื่อว่า “ยายกะลาตากะเล” ฉะนั้นก่อนที่จะเผาศพจะต้องจัดอาหารที่เป็นเครื่องยำใส่กระทงวางไว้ที่มุมเชิงตะกอน ๔ มุม เพื่อขออนุญาตใช้ที่ดินของยายกะลาตากะเล ซึ่งในความหมายเดียวกันนี้ท่านพระยาอนุมานราชธนได้เขียนไว้ในหนังสือ วัฒนธรรมและ ประเพณีต่างๆ ของไทย เรียกชื่อว่า “ยายกะลาตากะลี”
ถึงอย่างไรก็ตามความเชื่อในเรื่องมนุษย์คู่แรกต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์นี้เกือบจะไม่อยู่ในความทรงจำของประชาคมภาคกลางแล้วในปัจจุบัน ส่วนในภาคเหนือนั้น ความเชื่อในเรื่องปู่แสะย่าแสะได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นกึ่งเทพกึ่งผีที่มีอิทธิฤทธิ์สามารถให้คุณและให้โทษแก่มนุษย์ได้ แต่ในภาคอีสานความเชื่อเรื่อง “ปู่สังกะสาย่าสังกะสี” ยัง แสดงให้เห็นว่าเป็นมนุษย์คู่แรกที่เป็นต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์เด่นชัด และยังไม่มีอิทธิฤทธิ์สามารถให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะว่าในภาคอีสานนั้นมีดวงวิญญาณที่ให้คุณให้โทษแก่ประชาคมจำนวนมาก เช่น ผีแถน หรือ ผีฟ้า ผีปู่ตา ผีมเหสักข์หลักเมือง ฯลฯ เป็นต้น
ถ้าเราจะยึดเกณฑ์จากความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์นี้ อาจจะสรุปได้ว่าชนชาติไทยกลุ่มต่างๆ นั้นมีการสืบทอดวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ กัน นอกจากนี้ยังอาจจะแยกเผ่าพันธุ์ที่ย่อยไปจากความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษ ต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์อีกก็ได้ โดยพิจารณาจากความเชื่อ พิธีกรรม หรือคตินิยมอื่นๆ เป็นเกณฑ์กำหนด
๓. ความเชื่อเรื่องวีรบุรุษและรัฐ
ในความเชื่อเรื่องรัฐ การกำเนิดรัฐ และกำเนิดผู้นำทางสังคมของอีสานนั้นมีหลักฐานค่อนข้างจะชัดเจนกว่าคนไทยในกลุ่มอื่นๆ เพราะว่ามีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในนิทานเรื่องขุนบรม ดังที่เชื่อว่าขุนบรมนั้นเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขแถนฟ้าขื่น แถนฟ้าท่านบัญชาให้มาเกิดในมนุษยโลกเพื่อเป็นผู้ปกครองประชาชนที่เกิดจากผลน้ำเต้าปุ้ง ๒ ผลนั้น ฉะนั้นขุนบรมจึงเป็นเทพหรือเทวดานั่นเอง และได้รับบัญชาให้ลงมาคุ้มครองป้องภัยแก่มวลมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้คล้ายคลึงกับอินเดียที่เชื่อว่า ชนชั้นผู้ปกครองเป็นเทวบัญชา และจีนก็เชื่อสวรรค์บัญชาให้มาเกิด และในนิทานเรื่องขุนบรมนั้นได้กล่าวไว้ชัดเจนถึงหน้าที่ของชนชั้นผู้ปกครอง พร้อมทั้งบริวารขุนบรมที่เป็นมูลนายช่วยเหลือในการควบคุมสังคมว่าได้ติดตามขุนบรมมาจากเบื้องบน ตามบัญชาของแถนฟ้า และมีเชื้อสายมาจากผีแถนผีฟ้าเช่นเดียวกันว่า “จึงให้หาลูกแถนมาต้อนหน้านั้นชื่อว่า ขุนธรรมราช ผู้หนึ่งนั้นชื่อว่าขุนแสงมโนศาสตร์ เจ้านั้นรู้ศาสตร์เพททั้งมวล ไปก่อนขุนบรมราชา ผู้หนึ่งชื่อ ขุนอุ่น ผู้หนึ่งชื่อขุนคลี สองขุนนี้ขี่ม้าตามหลังขุนบรม” รวมทั้ง เฒ่าไล แม่ย่างาม เฒ่าเยอ แม่มด ไปช่วยปราบพวกผีพวกยักษ์ และให้ขุนคัว ขุนลางเชิงเป็นพลเสนา ฯลฯ เมื่อพิจารณารายชื่อบริวารของขุนบรมที่ตามลงมาเกิด และหน้าที่แถนฟ้าขื่นได้กำหนดให้แก่บริวารนั้น น่าจะพร้อมมูลตามหลักรัฐศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในฮีตสิบสองคองสิบสี่ของอีสาน คือ เง่าเมือง หมายถึงอำมาตย์ที่ซื่อสัตย์ (ขุนธรรมราช) ตาเมืองหมายถึงนักปราชญ์ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (ขุนแสงมโนศาสตร์) ขางเมือง (แปเมือง) และเขตเมือง หมายถึง เสนาข้าราชบริพารที่ซื่อสัตย์ (ขุนอุ่น ขุนคลี) เมฆเมือง หมายถึงเทวดาอารักษ์หลักเมือง (เฒ่าเยอ แม่ย่างาม เฒ่าไล แม่มด) และฝาเมือง หมายถึงทแกล้วทหาร (ขุนคัว ขุนลางเชิง) แสดงให้เห็นว่าแนวคิดในการกำเนิดชนชั้นผู้ปกครองที่ปรากฏอยู่ในนิทานเรื่องขุนบรมนี้ เป็นภาพแผนผังที่นำมาจากการจัดระเบียบการปกครองบ้านเมืองในสังคมของคนไทยลุ่มแม่น้ำโขงนั่นเอง แนวคิดในการกำหนดชนชั้นของชุมชนภาคอีสานนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่พบว่ามีการจัดจำแนก เป็นมูลนาย ไพร่ ทาส ไว้ชัดแจ้งเหมือนวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่ามีการจำแนกอย่างหลวมๆ ระหว่างมูลนายและไพร่บ้านไทยเมือง และได้สร้างความเชื่อว่าชนชั้นผู้ปกครองนั้นได้ถูกจัดส่งมาโดยแถน ให้มีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าไพร่บ้านไทยเมืองที่เกิดจากผลน้ำเต้าปุ้ง และชี้ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่แถนสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นของที่คู่กัน (คือคู่กันมาจากแถนแนนมาจากฟ้า) จะหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในแนวคิดเดียวกันนี้กลุ่มคนไทยในภาคอื่นๆ ก็มีความเชื่อในทำนองเดียวกัน คือ มีการแยกให้เห็นถึงการกำเนิดของชนชั้นผู้ปกครองต่างไปจากพวกไพร่บ้านไทยเมืองเช่นเดียวกัน เช่น ในภาคเหนือเชื่อว่า ลาวจักรราช ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชนชั้นผู้ปกครองนั้นได้ลงมาจาก สวรรค์ โดยไต่บันไดเงินลงมา เพื่อมาจัดตั้งบ้านแปงเมือง ดังปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนกว่า “ลาวจกเทวบุตรกับนางเทวธิดา รับเทวโองการแห่งสมเด็จอมรินทราธิราชแล้วก็พาบริวาร พันหนึ่งจุติจากเทวโลก ลงมายังยอดเขาเกตุบรรพต ถือเอาปฏิสนธิเป็นเพศมนุษย์โดยอุปปาติกกำเนิด ทรงสิริลักษณ์ดังราชกุมารอันมีชันษาได้ ๑๖ ปี แล้วก็นฤมิตรเกริ่นเงินก่ายลงมาจากจอมเขาเกตุบรรพต ลงมาสถิตเหนือแท่นเงินภายใต้ ร่มไม้หมากทัน (พุทรา) อันมีในที่ใกล้ฝั่งน้ำแม่ละว้านที ในพงศาวดารโยนกนั้นไม่ได้กล่าวถึงการกำเนิดโลกและจักรวาลเหมือนกลุ่มชนอีสาน แต่กล่าวว่าเมื่อลาวจกได้มาอยู่ที่ใต้ร่มพุทรานั้นเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเมืองไชยวรนคร และภายหลังได้ครองเมืองด้วยบุญบารมี ของลาวจก และบริวารพันหนึ่งนั้นก็คือข้าราชบริพาร (มูลนาย) นั่นเอง
ส่วนประชาคมภาคกลางนั้นก็มีความเชื่อเรื่องชนชั้นผู้นำ อยู่ในนิทานพื้นบ้านอยู่บ้าง แต่ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเพียงตำนาน เช่น พระร่วงส่งส่วยน้ำ เรื่องท้าวแสนปม ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นตำนานที่เล่าสืบต่อมา ปากต่อปาก จากชั่วอายุหนึ่งถึงอีกชั่วอายุหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าชนชั้นผู้ปกครองนั้นมีบุญญาธิการ แต่ไม่ได้จุติมาจาก สวรรค์เหมือนภาคอีสาน (ขุนบรม) และภาคเหนือ (ลาวจก เทพบุตร) แต่เรื่องพระเจ้าอู่ทองที่บันทึกเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๘๒ โดย วัน วลิต ชาวฮอลลันดา ที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ๙ ปี (พ.ศ. ๒๑๗๖-๒๑๘๕) ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ได้กล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกโดยสืบถามจากชาวบ้าน และสรุปว่าชาวไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อกันว่า (เล่ากันว่า) พระเจ้าอู่เป็นโอรสกษัตริย์จีน แต่ถูกเนรเทศเพราะมีนิสัยชอบรังแกลูกเมียขุนนาง จึงลงเรือพร้อมกับบริวารมาขึ้นฝั่งที่ปัตตานี สร้างเมืองลังกาสุขะ ภายหลังอพยพมาอยู่ที่ละคร (นครศรีธรรมราช) สร้างเมืองละครและขยายอำนาจมาถึงเมืองกุย (กุยบุรี) ภายหลังพระเจ้าอู่เคลื่อนย้ายต่อมาสร้างเมืองพริบพรี (เพชรบุรี) และเมืองบางกอก ในที่สุดมาตั้งอยู่ที่เมืองอยุธยา จากนิทานพื้นเมืองของภาคกลางที่เล่าสืบต่อมาเกี่ยวกับชนชั้นผู้นำนั้นมีหลายเรื่อง แต่ละเรื่องมีลักษณะร่วมกันคือชนชั้นผู้นำมิได้เป็นเทพ หรือจุติมาจากสวรรค์ เป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญ แต่มีบุญญาธิการ โดยเฉพาะเรื่องพระเจ้าอู่ (ภายหลังเรียกว่าอู่ทอง) นี้ชี้ให้เห็นว่าประชาคมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาติดต่อกับเมืองภายนอกอยู่มาก ฉะนั้นการสร้างนิทานนัยประวัติจึงกล่าวถึงเมืองจีน
เมืองลังกาสุขะ เมืองละคร ฯลฯ ซึ่งต่างไปจากประชาคมภาคเหนือและภาคอีสาน มักจะกล่าวถึงเมืองแถน เมืองสวรรค์ และนำมาผูกพันกับเรื่องชาติกำเนิด อธิบายความเป็นมาของประชาคมนั้นๆ
ที่มาโดย:รองศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ความเชื่อพื้นบ้านอันสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในสังคมอีสาน

ความเชื่อชาวอีสาน
นิยามและขอบเขต
ความเชื่อ คือ การยอมรับอันเกิดอยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์ต่อพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่เป็นผลดีหรือผลร้ายต่อมนุษย์นั้นๆ หรือสังคมมนุษย์นั้นๆ แม้ว่าพลังอำนาจ เหนือธรรมชาติเหล่านั้นไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง แต่มนุษย์ในสังคมหนึ่งยอมรับและให้ความเคารพเกรงกลัวสิ่งเหล่านี้เรียกว่าความเชื่อ
ฉะนั้นความเชื่อจึงมีขอบเขตกว้างขวางมาก ไม่เพียงแต่จะหมายถึง ความเชื่อในดวงวิญญาณทั้งหลาย (belief in spiritual beings) ภูติผี คาถาอาคม โชคลาง ไสยเวทย์ต่างๆ ยังรวมถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มนุษย์ยอมรับนับถือ เช่น ต้นไม้ (ต้นโพธิ์ ต้นไทร) ป่าเขา เป็นต้น
นักมานุษยวิทยามีความเห็นว่า มนุษย์ในสังคมบุพกาลมีความเชื่อประจำกลุ่มของตน เช่น การเคารพนับถือเทพเจ้าประจำกลุ่ม หรือดวงวิญญาณที่ปกป้องคุ้มครองกลุ่มมนุษย์ จะต้องกระทำพิธีกรรมเซ่นสรวงบวงพลีเพื่อวิงวอนขอร้องให้เทพเจ้า หรือดวงวิญญาณเหล่านั้นปกป้องคุ้มครองเพทภัยให้แก่กลุ่มชน จากความเชื่อในเรื่องวิญญาณเหล่านี้ได้พัฒนาเติบโตตามธรรมชาติ และสภาวะทางสังคมมนุษย์มาเป็นศาสนาสมัยใหม่ ซึ่งเป็นระบบระเบียบมากกว่าความเชื่อในครั้งบุพกาล
ขอบเขตในการศึกษาความเชื่อในสังคมอีสานนี้จำกัดอยู่ก่อนที่จะรับวัฒนธรรมสมัยใหม่ มุ่งที่จะศึกษาความเชื่อพื้นฐานของสังคม โดยยึดตำนานนิทานปรัมปรา และพยายามแยกให้เห็นว่าความเชื่อเหล่านั้นไม่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา ถึงแม้จะพบว่ามีพิธีกรรมจำนวนมากในท้องถิ่นอีสานที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธกับความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณก็ตามที แต่ก็พอจะแยกแยะได้จากพิธีกรรมเหล่านั้นว่าส่วนใดเป็นแบบพุทธ ส่วนใดเป็นคติความเชื่อเรื่องภูติผี ก่อนที่จะกล่าวถึงความเชื่อในสังคมอีสาน อันสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในสังคมนั้น ใคร่อยากจะชี้ให้เห็นถึงความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาล การกำเนิดโลกของชาวลุ่มแม่น้ำโขง หรืออาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โลกทรรศน์เกี่ยวกับจักรวาล และโลก” เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจพื้นฐาน และเป็นการแยกแยะให้เห็นว่าความเชื่ออันสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ของคนไทยแต่ละกลุ่มย่อมแตกต่างกัน ตามสภาพของภูมิศาสตร์ และการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ถึงแม้ว่าโครงสร้างของวัฒนธรรมส่วนใหญ่จะเหมือนกัน แต่ก็มีส่วนปลีกย่อยที่ต่างไปจากกลุ่มคนไทยภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้อยู่ไม่น้อย
ที่มาโดย:รองศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

คติความเชื่อและพิธีกรรมของคนไทยในจังหวัดนครปฐม

สารทจีน
นครปฐมเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ลุ่มภาคกลางของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๕๖ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๒,๑๘๕ ตารางกิโลเมตร และมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง คือ สุพรรณบุรี อยุธยา นนทบุรี สมุทรสาคร ราชบุรี กาญจนบุรี และกรุงเทพฯ
นครปฐมเป็นเมืองที่มีประวัติอันช้านาน นับตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ ประมาณ พ.ศ. ๓๐๐ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งพระธรรมทูตมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอาณาบริเวณนี้ในสมัยทวาราวดี ประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐-๑๖๐๐ นครปฐมเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรทวาราวดีในสมัยต่อมาถูกทอดทิ้ง เป็นเมืองร้าง และเริ่มมาเจริญขึ้นใหม่ ในสมัย รัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เมื่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ได้ไปพบพระสถูปเจดีย์ที่เมืองนครปฐม และโปรดฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระสถูป โดยก่อเจดีย์แบบลังกาครอบสถูปองค์เดิม เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างทางรถไฟผ่านเมืองนครปฐม การคมนาคมก็สะดวกยิ่งขึ้น ประชาชนก็ได้เริ่มอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ทำกินมากขึ้น
ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดฯ ให้ซ่อมองค์พระปฐมเจดีย์ สร้างถนนรอบบริเวณองค์พระเจดีย์ และเปลี่ยนชื่อเมืองเดิม คือ นครชัยศรี เป็น นครปฐม นอกจากนี้โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นที่ตำบลสนามจันทร์ และทรงแปรพระราชฐานมาประทับ พักผ่อน และฝึกซ้อมเสือป่าอยู่เสมอ ทำให้นครปฐมเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
เนื่องจากนครปฐมตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง ภูมิประเทศจึงเหมาะแก่การทำนาเป็นอย่างยิ่ง นครปฐมมีเนื้อที่ที่ใช้ในการทำนาถึง ๙ แสนไร่ ท้องที่บางแห่งสามารถทำนาได้ปีละ ๒ ครั้ง พันธุ์ข้าวจากนครปฐมเป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงมาก เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวพวงแก้ว ข้าวปิ่นแก้ว เป็นต้น นอกจากนั้นในที่บางส่วนที่เป็นที่ราบสูง ประชาชน นิยมการปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย ฝ้าย ข้าวโพด เป็นต้น ที่ดินบางส่วนของอำเภอสามพราน และนครชัยศรี มีดินดำซึ่งมีปุ๋ยธรรมชาติมาก นคร ปฐมจึงสามารถผลิตผลไม้ที่มีชื่อ ได้แก่ ส้มโอชนิดต่างๆ องุ่น มะม่วงและมะพร้าวพันธุ์ต่างๆ นอกจากการทำนา ทำไร่ และทำสวนผลไม้แล้ว ชาวนครปฐม โดยเฉพาะพวกที่มีเชื้อสายจีนยังนิยมทำการปศุสัตว์ เลี้ยงเป็ดไก่ และสุกรอีกด้วย ในปัจจุบัน นครปฐมเป็นแหล่งผลิตอาหารประเภทเนื้อหมู และเนื้อไก่ที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย
จากสภาพภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ และสภาพสังคม เศรษฐกิจ ทำให้นครปฐม มีลักษณะที่น่าศึกษาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาข้อมูลของประชากรที่มีเชื้อสายต่างๆ กัน กล่าวคือ คนไทย คนไทยเชื้อสายมอญ คนไทยเชื้อสายจีน เป็นต้น บทความนี้จะสนใจศึกษาในแง่ของคติความเชื่อ และพิธีกรรมของคนไทยในจังหวัดนครปฐม
๑. คติความเชื่อเดิม
ในสมัยโบราณตั้งแต่ก่อนที่พุทธศาสนาจะประดิษฐาน ในประเทศไทยนั้น ประชาชนที่อยู่ในดินแดนไทยปัจจุบันนั้นมีความเชื่อทางศาสนาตามแบบวิญญาณนิยม (Animism) คือ มีความเชื่อในเรื่องวิญญาณว่า วิญญาณนั้นมีอยู่จริงและทำพิธีบวงสรวงกราบไหว้เพื่อขอความอารักขาและความสวัสดีมีชัยในกิจการที่ตนทำอยู่ ในจารึกสุโขทัย กล่าวถึงการบวงสรวงเทพยดาที่รักษาเมืองสุโขทัย โดยเรียกว่า พระขะพุงผี โดยกล่าวว่าหากประชาชนทำการเซ่นพลีถูกต้องก็จะอยู่เย็นเป็นสุข แต่หาก “เซ่นบ่ดี พลีบ่ถูก” ก็อาจถูกลงโทษได้ คำว่า ผี ในที่นี้เป็นคำไทย หมายถึงวิญญาณนั่นเอง ในสมัย โบราณนั้น คนไทยเรียกวิญญาณทั้งหลายว่า ผี ทั้งสิ้น เช่น ผีบ้าน ผีเรือน ผีปู่ย่า ตายาย เป็นต้น แต่ต่อมาเมื่อรับพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นศาสนาประจำชาติจึงเริ่มมีการจำแนกว่า ถ้าเป็นวิญญาณชั้นต่ำ เรียกว่า ผี ดังนี้ ส่วนวิญญาณชั้นสูง ก็เป็นเทวดา พรหม เป็นต้น
ดังนั้น จึงพบว่าแนวความเชื่อแบบวิญญาณนิยมนี้จะปรากฏอยู่ในหลักฐานทั้งทางประวัติศาสตร์ และวรรณคดีของไทยจำนวนไม่น้อย และเมื่อชาวไทยได้รับเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของประชาชนตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ความเชื่อตามแบบวิญญาณนิยมก็มิได้สูญหายไป หากแต่ปฏิบัติควบคู่กัน
แนวความเชื่อเรื่องวิญญาณนิยมนี้ มีปรากฏชัดเจนในความเชื่อเรื่อง เจ้าที่ คนไทยเชื่อว่าในอาณาเขตบ้านแต่ละแห่งนั้น มีวิญญาณคอยดูแล-รักษา เรียกวิญญาณนี้ว่า เจ้าที่ มีความนิยมในการสร้าง ศาลพระภูมิ เป็นบ้านหลังเล็กๆ ให้อยู่ต่างหาก โดยมากมักกำหนดให้อยู่นอกชายคาบ้าน และให้หลีกเลี่ยงมิให้เงาบ้านทับศาลนี้ และเพื่อให้เจ้าที่โปรดปรานมากๆ เจ้าของบ้านที่มีฐานะจะใช้เงินจำนวนไม่น้อยใน
การจัดทำศาลพระภูมิ ให้เจ้าที่อยู่ ศาลพระภูมิที่ขายในท้องตลาดบางศาลมีราคาเป็นหมื่น
ต่อมา เมื่อมีการรื้อฟื้นความนิยมใน พระพรหม มากขึ้น คนไทยบางคนก็อาจอัญเชิญพระพรหมเป็นเจ้าที่ในที่ดินของตน ดังนั้น ศาลก็ต้องเปลี่ยนไปกลายเป็นศาลพระพรหม มีลักษณะเปิดทั้ง ๔ ด้าน ความสลับซับซ้อนในเรื่องการบูชาศาลพระภูมิจึงมากขึ้นตามยุคตามสมัยไปด้วย
มีผู้เข้าใจว่าเรื่องการตั้งศาลพระภูมินั้นเป็นอิทธิพลของพราหมณ์ ความจริงแล้วเรื่องความเชื่อในเรื่องวิญญาณเจ้าที่นั้นมีมาก่อนที่พราหมณ์จะเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย และเมื่อพราหมณ์เห็นว่าคนไทยเชื่อในเรื่องวิญญาณ จึงนำเอาพิธีทางศาสนา และการอธิบาย ตามคติพราหมณ์เข้ามาประกอบ ในสมัยต่อมา ผู้ที่ประกอบพิธีตั้งศาลพระภูมิจึงนิยมให้พราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี
สำหรับในจังหวัดนครปฐมนั้น มีข้อมูลที่น่าสนใจ กล่าวคือ ประชากร เชื้อสายจีน เมื่อประกอบพิธีทางศาสนา ในวันตรุษ และวันสารทจีนนั้น นิยมทำพิธีไหว้เจ้าที่ในตอนเช้า เมื่อชาวไทยนิยมไหว้พระภูมิหรือพระภูมิเจ้าที่อยู่แล้ว ชาวจีนจึงไหว้เจ้าที่ตามแบบไทย กล่าวคือ จัดของเซ่นไหว้ตามแบบจีน แต่ไปไหว้ที่ศาลพระภูมิ จากการสำรวจ ของข้าพเจ้าพบว่าประชากรในจังหวัดนครปฐมนิยมการไหว้เจ้าและพระภูมิเจ้าที่สูงถึงร้อยละ ๘๐ ที่ได้สถิติสูงเช่นนี้ เพราะเป็นพิธีทางศาสนาที่นิยมปฏิบัติทั้งคนไทย และคนไทยเชื้อสายจีน
นอกจากความเชื่อในเรื่องวิญญาณที่ปรากฏในเรื่องการบูชาพระภูมิเจ้าที่แล้ว ประชากรในจังหวัดนครปฐมยังมีความนิยมในการติดต่อกับวิญญาณโดยผ่านคนทรงด้วยการทรงเจ้าเข้าผี มิใช่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่มีมานานแล้วไม่เฉพาะในเมืองไทย แม้ในประเทศอื่นๆ ก็มีปรากฏการณ์นเช่นกัน แต่ลักษณะที่แปลก คือ แนวโน้มที่การนิยมการทรงเจ้าเข้าผี มีมากขึ้นในสมัยปัจจุบัน
การทรงเจ้า หมายถืงการอัญเชิญเทพเจ้าลงมาประทับในร่างมนุษย์ ถ้าเป็นวิญญาณต่ำก็มักจะเรียกว่า เข้าผี ประการหลังนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมกันนัก ลักษณะของการประทับทรงนั้นมีขีดขั้นต่างๆ กัน ถ้าวิญญาณประทับสนิทคนทรงจะอยู่ในลักษณะของคนหลับสนิท ไม่ได้ยินไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่วิญญาณพูดขณะประทับทรง ถ้าวิญญาณประทับไม่สนิทนัก คนทรงจะอยู่ในลักษณะครึ่งหลับครึ่งตื่น ได้ยินบ้าง รู้บ้าง เฉพาะขณะ เฉพาะตอน อีกแบบหนึ่ง คนทรงจะได้ยินตลอดเวลาแต่บังคับตัวเองไม่ได้ ต้องพูดและทำตามที่วิญญาณสั่งให้พูด
การที่ประชากรไทยหันไปให้ความสนใจ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าและวิญญาณที่มาประทับทรงนี้ อาจพิจารณาได้ว่ามีสาเหตุหลายประการ สืบเนื่องจากสังคมที่ซับซ้อนขึ้น ภาวะเศรษฐกิจ การเมือง ที่ขาดความมั่นคง ประชากรขาดความอุ่นใจ ทั้งในหลักพุทธศาสนาเองก็มิได้มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากนัก คนไทยจำนวนมากจึงหันไปสนใจในเรื่องการประทับทรงของเจ้าและวิญญาณต่างๆ โดยหวังว่า เทพและเจ้าเหล่านั้นจะสามารถช่วยให้ตนประสบความสำเร็จในกิจการค้า หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ
ปัญหาของการนับถือในเรื่องนี้ค่อนขางซับซ้อน และบ่อยครั้งกลายเป็นการสนับสนุนกลุ่มชนมิจฉาชีพที่แอบอ้างมาในรูปของเทพเจ้าต่างๆ
ประชากรส่วนหนึ่งในนครปฐมซึ่งมีเชื้อสายจีน ลักษณะหนึ่งของชาวจีน คือ ลักษณะสังเคราะห์นิยม นั่นคือ เชื่อว่า อะไรก็ตามถ้าปฏิบัติแล้วจะเป็นผลดีแก่ตน ก็จะปฏิบัติตามได้โดยง่ายดาย ดังนั้น ความเชื่อในเรื่องการทรงเจ้าจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในความนิยมเป็นอย่างยิ่งในจังหวัดนครปฐม ปัญหาที่ชาวนครปฐมนิยมไปหาเจ่า มักเป็นเรื่องให้ช่วยในกิจการค้ามากกว่าเรื่องอื่น เพราะชาวนครปฐมจำนวนมากนิยมประกอบอาชีพในการทำการค้า
นอกจากนั้นก็ยังมีความเชื่อในเรื่องวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร เป็นต้น มีการบวงสรวง สักการะตามฤดูกาลเสมอๆ
๒. ความเชื่อและการปฏิบัติในพุทธศาสนา
เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในนครปฐมมีเชื้อสายเป็นจีน ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วความเชื่อในหลักพระพุทธศาสนา ยังไม่ลึกซึ้งแสะชัดเจน ความเชื่อและการปฏิบัติออกมาในรูปแบบของการปฏิบัติตามประเพณีโดยขาดความเข้าใจในแก่นแท้ของพระธรรมเสียเป็นส่วนมาก
ชาวนครปฐม นิยมพิธีการบรรพชาอุปสมบทลูกหลาน ที่เป็นชาย ในฤดูกาลเข้าพรรษาเป็นอย่างมาก ถือเป็นกุศลผลบุญแก่บิดามารดาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้าได้บวชก่อนมีครอบครัวและนิยมจัดพิธีเป็นงานใหญ่และเอิกเกริกมาก โดยจะมีการทำพิธีถึง ๓ วัน ๓ คืน คือ วันสุกดิบซึ่งเป็นวันจัดเตรียมงาน จะมีพี่น้องญาติมิตรมาร่วมในงานมากมาย มีการจัดอาหารเลี้ยงแขกที่มาในงานตลอดงาน ในวันที่สองเป็นวันทำขวัญนาค จะมีการถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ จำนวนที่นิยมคือ ๙ รูป เพราะถือเลข ๙ เป็นเลขมงคล ในตอนกลางคืนเป็นการทำขวัญนาค นิยมว่าจ้างอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาทำขวัญนาค ช่วงนี้เป็นช่วงที่บิดามารดา และญาติพี่น้องร่วมกันปลาบปลื้มใจที่ได้มีโอกาสบวชลูกหลานของตน ในวันที่สาม เป็นวันที่แห่นาคไปเข้าโบสถ์เพื่อเข้ารับการบรรพชาอุปสมบท
ชาวนครปฐมนิยมจัดขบวนแห่นาครอบองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นสิ่งสักการะสูงสุดของชาวนครปฐม นำนาคขึ้นไปสักการะพระร่วงโรจนฤทธิ์แล้วจึงจะไปวัด ในขบวนที่แห่นาคนี้กลุ่มที่นำหน้าจะเป็นกลุ่มหญิงชายร่ายรำตามทำนองเพลงสากล เป็นที่ครึกครื้น แสะสนุกสนาน ถัดมาจึงเป็นขบวนเด็กหญิงมักนิยมแต่งชุดไทยสมัยต่างๆ คือ เครื่องไทยทาน บิดามารดาของนาคจะเป็นผู้ประคองไตร และบาตร สำหรับนาคเองนั้น มักอยู่ท้ายขบวน อาจจะนั่งสามล้อหรือรถบรรทุกเล็กเปิดประทุน หรือแคร่หาม โดยมีสัปทนสีสดใสกั้น ขบวนแห่นาคนี้ ดูจะตั้งใจจัดกันเป็นพิเศษในทุกงาน ในการฟ้อนรำนำหน้านาคในขบวนแห่นี้อธิบายว่า เปรียบเสมือนบรรดานางมารที่ร่ายรำอยู่ต่อหน้าเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนหน้าที่จะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั่นเอง จากการสำรวจ การประกอบพิธีทางศาสนาในวันสำคัญต่างๆ ของชาวนครปฐมพบว่า มีผู้ประกอบพิธีทางศาสนาในเทศกาลต่างๆ คิดเป็นร้อยละดังนี้
วันขึ้นปีใหม่    ๔๔
วันเข้าพรรษา    ๖๙
ตักบาตรเทโว    ๖๒
มาฆบูชา        ๔๒
สงกรานต์        ๕๖
จากตัวเลขดังกล่าว จะเห็นว่า ประชากรนิยมทำบุญในวันเข้าพรรษามากที่สุด สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ที่อาจทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะประชากรนิยมการบวชลูกหลานเป็นพระภิกษุในระหว่างพรรษา ดังนี้ในวันเข้าพรรษาจึงนิยมเตรียมอาหารไปถวายพระที่วัดเพราะมีความสัมพันธ์กับวัดเป็นพิเศษด้วยเป็นช่วงที่ลูกหลานของตนบวชอยู่นั่นเอง
สำหรับวันที่มีความหมายทางพุทธศาสนาที่แท้จริง คือ วันมาฆบูชาและวันวิสาฃบูชานั้นกลับมีประชากรทำพิธีทางศาสนาน้อยกว่า กล่าวคือร้อยละ ๔๒ และ ๔๗ ตามลำดับ วันมาฆบูชาตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันที่ชาวพุทธกำหนดระลึกถึงว่าเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมแก่พระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ชาวพุทธนิยมทำบุญรักษาศีล และฟังธรรมในวันดังกล่าว ชาวนครปฐมส่วนมากจะเป็นคนไทยสูงอายุที่นิยมไปทำบุญที่วัด และเพื่อรักษาอุโบสถศีล ก็นิยมนอนค้างเสียที่วัด ๑ คืน วันรุ่งขึ้นจึงจะกลับบ้าน ดังนี้
วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่ชาวพุทธทั่วไปนิยมทำบุญ เพื่อระลึกถึงวันสำคัญนี้ว่าตรงกับวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน ชาวนครปฐมนิยมบำเพ็ญกุศลเช่นเดียวกับวันมาฆบูชา และในวันนี้ในตอนกลางคืนจะทำพิธีเวียนเทียนด้วย เป็นที่สนุกสนานสำหรับชาวพุทธรุ่นเยาว์
วันสงกรานต์ เป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของไทย ตกประมาณเดือนเมษายน นอกจากการตักบาตรทำบุญแล้ว ชาวนครปฐมโดยเฉพาะคนไทย นิยมสรงน้ำพระ และสรงน้ำผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ มีการปล่อยนกปล่อยปลาเป็นการทำบุญเนื่องในเทศกาลนี้ด้วย คนทั่วไปนิยมเล่นสาดน้ำเช่น เดียวกับจังหวัดอื่นๆ
นอกเหนือจากเทศกาลสำคัญต่างๆ แล้ว งานที่สำคัญ อันเกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนาอีกงานหนึ่งคืองานพิธีศพ โดยทั่วไปแล้ว ศพคนไทยนิยมสวดศพ ๓, ๕, ๗ วัน แล้วเก็บ ไว้ ๑๐๐ วัน จึงทำพิธีฌาปนกิจศพ สำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนในนครปฐม จะจัดพิธีศพคละกัน คือ มีทั้งพิธีแบบจีน และแบบพุทธ ชาวจีนนิยมโลงศพไม้จำปา ทำตามแบบจีน มีการตั้งศพสวด ๓, ๕, ๗ วัน เช่นกัน โดยนิมนต์พระไทยไปสวดตอนกลางคืน เช่น การสวดศพไทยทั่วไป ขณะเดียวกัน ก็ทำกงเต็กเผากระดาษ นิมนต์พระจีนหรือพระญวนมาสวดให้วิญญาณของผู้ตายด้วย ศพจีนไม่นิยมทำฌาปนกิจ แต่จะไปฝังที่ฮวงซุ้ยของตระกูล หรือสุสานรวมในจังหวัดนครปฐม ในการทำพิธีศพ ชาวนครปฐมยังนิยมจัดงานใหญ่โต เช่นเดียวกับงานบวช จนบางครั้งกระทบกระเทือน เศรษฐกิจของครอบครัวลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ ค่านิยมของสังคมแบบนี้ยังสูงมากทั้งในหมู่ของชาวจีนและชาวไทย
นอกจากนั้นในงานสำคัญ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน ประชาชนทั้งไทยและจีนนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาสวด และถวายภัตตาหารเช่นเดียวกัน
การปฏิบัติพิธีอันเนื่องในพุทธศาสนานั้น จะเห็นว่า โดยทั่วไปแล้วนิยมปฏิบัติทั้งชาวไทยและชาวจีน โดยถือปฏิบัติตามประเพณี ความนิยมในสังคมมากกว่าที่จะเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนอย่างแท้จริง เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวนครปฐมเช่นเดียวกับประชากรในจังหวัดอื่นๆ อีกหลายแห่ง จึงขาดหลักธรรมในการที่จะยึดถือเป็นแกนในการดำเนินชีวิต
๓. ความเชื่อและการปฏิบัติในศาสนาแบบจีน
ชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดนครปฐมนั้น สันนิษฐานได้ว่าเริ่มตั้งแต่สมัยของรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการคมนาคมสะดวกขึ้น จากการสำรวจพบว่าชาวจีนในนครปฐมนั้น อพยพมาจากเมืองโผวเล้ง เซี่ยงไฮ้ นานกิง ปักกิ่ง และจากแคว้นเสฉวน ยูนาน กวางสี กวางตุ้ง เป็นต้น ส่วนมากเป็นแต้จิ๋ว และแซ่หรือตระกูลที่สำคัญ คือ ตั้ง ลิ้ม ลี้ เฮ้ง กู เลา อัน เป็นต้น แซ่อื่นๆ ยังมีอีกมากแต่จำนวนกระจายกันไป
ชาวจีนเหล่านี้ มีความเชื่อและการปฏิบัติศาสนาเช่นที่เคยนับถือปฏิบัติในประเทศจีน เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เป็นเวลานานนับร้อยปี ประเพณีความเชื่อ และวัฒนธรรมเหล่านี้ก็ยังตกทอดถึงบรรดา ลูกหลานที่เกิดในประเทศไทย ลูกหลานจีนเหล่านี้ แม้จะยังคงพูดภาษาจีนกับบิดามารดาของตนแต่ความผูกพันกับประเทศจีนเริ่มลดน้อยลง เพราะไม่มีความสัมพันธ์โดยตรง พิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ แม้จะยังปฏิบัติอยู่ก็มักเป็นไปตามประเพณี ไม่มีความหมายที่จะยึดถือในจิตใจมากเท่ากับคนรุ่นบิดามารดา หรือปู่ย่าตายายเอง และเมื่อเวลาผ่านไป พิธีกรรมเหล่านี้ก็นับวันจะหมดความหมายลง
แนวคำสอนที่สำคัญของขงจื้อในเรื่องความกตัญญูยังมีบทบาทและอิทธิพลพอสมควรในสังคมชาวจีนและชาวไทย เชื้อสายจีนในจังหวัดนครปฐม ขงจื้อให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในครอบครัวมาก และพิจารณาว่าสังคมที่ดีจะต้องเริ่มจากสังคมจุดเล็กที่สุดคือภายในครอบครัวนั่นเอง ความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ นั้น ขงจื้อได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ ๕ ประเภท เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา ความสัมพันธ์ระหว่างบุตรกับบิดามารดา ความสัมพันธ์ระหว่าง พี่กับน้อง เป็นต้น ความสัมพันธ์ที่ขงจื้อย้ำมากคือ ความสำคัญระหว่างบุตรกับบิดามารดา บุตรถึงเคารพรักและมีความกตัญญูต่อบิดามารดา โดยเห็นว่าความกตัญญูเป็นคุณธรรมพื้นฐานของมนุษย์ มนุษย์จะดีไม่สมบูรณ์หากขาดความกตัญญูต่อบิดามารดาของตนเอง มนุษย์จะแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อคนอื่นได้อย่างไร หากมนุษย์ขาคความ กตัญญูในบิดามารดาของต้น ซึ่งเบนผู้มีพระคุณแก่ตนโดยแท้จริง เรื่องความเคารพความกตัญญูต่อบิดามารดา และความเอาใจใส่ดูแลญาติผู้ใหญ่นี้เป็นสิ่งที่ชาวจีนปลูกฝังอบรมกันมาค่อนข้างลึกซึ้ง และเป็นคุณธรรมที่พอจะมองเห็นได้ในสังคมของจีนในนครปฐม
นอกจากแนวคำสอนสำคัญในเรื่องความกตัญญูนี้ ชาวจีนมีความเชื่อในวิญญาณของบรรพบุรุษอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นความเชื่อที่สอดคล้องกับหลักความกตัญญูที่กล่าวถึงแล้วในย่อหน้าที่ผ่านมา ความเชื่อในเรื่องวิญญาณบรรพบุรุษนี้เป็นความเชื่อดั้งเดิมของจีนที่มีมาก่อนสมัยขงจื้อและเล่าจื้อ จึงนับว่าเป็นความเชื่อดั้งเดิมของจีนอย่างแท้จริง พิธีกรรม ต่างๆ ของจีน จึงสืบเนื่องมาจากความเชื่อในวิญญาณบรรพบุรุษทั้งสิ้น
ในบทความนี้จึงจะขอกล่าวถึงเฉพาะพิธีที่สำคัญที่ชาวจีนในจังหวัดนครปฐมนิยมปฏิบัติกันมาก
พิธีกินเจเดือนเก้า พิธีนี้ชาวนครปฐมลูกหลานจีนให้ความสนใจกันมาก จะจัดงานพิธีที่โรงเจกลางเมือง ที่ถนนเทศา ในวันส่งเจ้าและรับเจ้า ซึ่งเป็นวันแรกและวันสุดท้ายของงานนั้นจะมีผู้คนมาร่วมมากจนต้องปิดถนนชั่วคราว ผู้ที่มาร่วมในพิธีทุกคนจะนุ่งขาว และรักษาศีล กินเจ คือ อาหารผัก ตลอดงาน ๑๑ วัน
ในพิธีนี้ ชาวจีนถือว่า เทพเจ้าจะเสด็จจากสวรรค์ลงมาตรวจโลกมนุษย์ ในระหว่างเวลาดังกล่าวจึงพร้อมใจกันรักษาศีล ทำบุญ เพื่อเทพเจ้าจะได้มีภาพพจน์ที่ดีของตน นำกลับไปรายงานต่อสวรรค์ พระพุทธศาสนานิกายมหายาน ได้ให้ความหมายไปในการบูชาพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ๙ พระองค์
ในระหว่างพิธีนี้ จะมีการปล่อยนก ปล่อยเต่า มีการลอยกระทงเพื่อเป็นการทำบุญอุทิศให้เจ้าด้วย มีผู้มาร่วมในงานนี้มากเป็นพิเศษ ผู้ที่มารักษาศีลกินเจ เคร่งครัดตลอด ๑๑ วัน มักเป็นชาวจีนผู้หญิงที่ค่อนข้างสูงอายุ อาหารเจ จะมีขายตลอดงานทั้งที่หน้าโรงเจ และในตลาดทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมรักษาศีล มีความสะดวกเป็นพิเศษ
พิธีสารทจีน ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ของปฏิทินจีน ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ของไทย  พิธีนี้เป็นพิธีทางศาสนาที่ทำบุญให้กับวิญญาณบรรพบุรุษ และวิญญาณทั่วไป เพื่อให้เกิดความสงบสุขทั้งในโลกวิญญาณ และโลกมนุษย์
ในจังหวัดนครปฐม ชาวจีนนิยมไหว้ ๓ ครั้ง คือ ไหว้เจ้าในตอนเช้าตรู่ ไหว้บรรพบุรุษในตอนสาย และไหว้ผีทั่วไปหรือผีไม่มีญาติในตอนบ่าย ในการไหว้แต่ละครั้ง จะมีการเผากระดาษเงินกระดาษทองให้ทุกครั้ง อาหารที่ใช้ไหว้เจ้าในตอนเช้าจะต่างไปจากอาหารที่ไหว้บรรพบุรุษในตอนสาย
พิธีตรุษจีน เทศกาลตรุษจีน เป็นพิธีที่ลูกหลานเชื้อสายจีนทุกบ้านทำพิธีไหว้ ซึ่งจัดแบบเดียวกับพิธีสารทจีน แต่ในเทศกาลตรุษจีนนี้เป็น เทศกาลปีใหม่ของจีนด้วย จึงมีการจัดเตรียมอาหารไหว้อย่างสมบูรณ์ และมีการฉลองกันอย่างเอิกเกริก โดยปกติจัดทำกัน ๓ วัน คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว ในวันไหว้ และวันเที่ยว ชาวจีนโดยเฉพาะในตลาดนครปฐมจะหยุดกิจการค้าเป็นส่วนมาก ด้วยมีความเชื่อตามประเพณีว่า เป็นวันแรกของปีไม่ควรทำงาน ถ้าทำงานในวันขึ้นปีใหม่แล้ว จะต้องทำงานหนักไปตลอดปี ในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวนครปฐมจะพบว่าราคาสินค้าในตลาดสูงกว่าปกติ เพราะมีร้านที่เปิดกิจการตามปกติเพียงไม่กี่ร้านจึงจำเป็นต้องจับจ่ายสินค้าอาหารกักตุนไว้ล่วงหน้า
ในสมัยก่อน เทศกาลตรุษจีนนี้ ชาวจีนจะหยุดงานตลอดทั้งสามวัน หรืออาจใช้เวลาเที่ยวนานหลายวัน แต่ปัจจุบันเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่ดีเท่าที่ควร การหยุดงานในเทศกาลตรุษจีนจึงจำกัดลงกว่าแต่ก่อน บางบ้านอาจทำพิธีไหว้ แต่ยังคงเปิดหน้าร้านทำการค้าตามปกติทั้งสามวันก็เป็นได้
เทศกาลเช็งเมง ในพิธีนี้เทศกาลเช็งเม้งตรงกับวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นวันที่ชาวจีนจัดเตรียมอาหารไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่หลุมฝังศพที่เรียกว่า ฮวงซุ้ย จุดประสงค์ของเทศกาลนี้เน้นให้ลูกหลาน ระลึกถึง และมีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว , และเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ไปตรวจตราทำความสะอาดฮวงซุ้ยด้วย เพราะตามปกติฮวงซุ้ย มักจะอยู่ห่างไกลจากบ้าน เนื่องจากภาระทางเศรษฐกิจ และอิทธิพลจากชาวพุทธ ชาวจีนบางบ้านเริ่มฌาปนกิจศพ ดังนั้นในวันเช็งเม้ง แทนที่จะออกไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย ก็อาจทำบุญไหว้กระดูกของบรรพบุรุษที่บ้านแทน

การจัดพิธีศพ  ชาวจีนให้ความสำคัญแก่การจัดพิธีศพมาก เพราะถือว่าหากวิญญาณผู้ตายสุขสงบ ลูกหลานที่มีชีวิตอยู่ก็สงบสุขไปด้วย ดังนั้นถ้าเป็นผู้มีฐานะดีจะจัดพิธีศพเป็นงานเอิกเกริกมากนับตั้งแต่สวดศพตามพิธีแบบไทย ทำกงเต็กแบบจีน ตลอดจนการเลือกหาฮวงซุ้ยที่เหมาะสมและหาวันฝังที่เหมาะสม เพื่อให้วิญญาณผู้ตายไปเป็นสุขจริงๆ นอกจากนั้นก็ยังนิยมทำพิธีสวดให้ผู้ตายเมื่อครบรอบ ๗ วัน ๔๙ วัน เป็นต้น
ด้วยความเชื่อในเรื่องวิญญาณบรรพบุรุษนี้แน่นแฟ้นมาก ชาวจีนจึงมีการประกอบพิธีทางศาสนาในโอกาสต่างๆ ล้วนแล้วแต่เนื่องในความเชื่อเรื่องวิญญาณทั้งสิ้น
ชาวจีนส่วนมากเป็นผู้ที่มีคติ ความเชื่อ และการปฏิบัติ อันเนื่องมาจากแหล่งสำคัญ ๔ ประการ คือ ความเชื่อในบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิม ความเชื่อในศาสนาเต๋า ความเชื่อในศาสนาขงจื้อ และศาสนาพุทธนิกายมหายาน แนวความเชื่อในศาสนาต่างๆ เหล่านี้ ก็ยังปรากฏในการปฏิบัติของคนไทยเชื้อสายจีนในนครปฐมในปัจจุบัน
ชาวนครปฐมที่อยู่ในย่านชุมชนทำการค้าขาย ส่วนมากเป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในนครปฐมในราวรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ ดังได้กล่าวไว้ ชาวจีนพวกนี้เป็นพวกที่ขาดการศึกษาและด้อยในวัฒนธรรม การปฏิบัติทางศาสนาพิธี อันสืบเนื่องจากศาสนาแบบจีนแม้จะยังปฏิบัติอยู่ก็ขาดความเข้าใจอย่างแท้จริง จึงเป็นการปฏิบัติอย่างผิวเผิน ขัดกับหลักการที่ขงจื้อสอนไว้ว่า การปฏิบัติศาสนพิธีนั้นจะต้องเป็นการแสดงออกของจิตใจ นอกจากนั้นชาวจีนเหล่านี้ อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ กล่าวคือ วัฒนธรรมจีนก็ไม่ได้นับถือเคร่งครัดเพราะมาเกิดและเติบโตในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็ยังมิได้ศึกษาและรับเอาวัฒนธรรม หรือศาสนาของคนไทยอย่างถ่องแท้ จึงทำให้ขาดหลักคุณธรรมที่จะยึดมั่นเมื่อการปฏิบัติในชีวิตของตน
นอกจากนั้น ชาวจีนที่อพยพมาอยู่ในนครปฐม เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียร อันเป็นลักษณะอุปนิสัยของชาติจีนอยู่แล้ว ประกอบกับนครปฐมอยู่ในภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ชาวจีนเหล่านี้จึงประสบความสำเร็จในด้านวัตถุ เป็นอย่างยิ่ง ชาวนครปฐมโดยทั่วไปมีฐานะดี มีรายได้โดยเฉลี่ยสูงกว่าหลายๆ จังหวัดในประเทศ ด้วยความสำเร็จทางเศรษฐกิจดังกล่าว จึงทำให้ชาวนครปฐมบางพวกมีความทะนงตนพอสมควร แต่เพราะขาดหลักคุณธรรมที่ยึดมั่นใน
จิตใจจึงทำให้ชาวนครปฐมเหล่านั้นย่อหย่อนในด้านคุณธรรม ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและส่วนรวม
ปัญหาที่ตามมาจะสะท้อนให้เห็นภาพเหล่านี้ชัดเจนขึ้น นั่นคือ ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรในกรณีสำคัญที่ปรากฏ ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันหลายครั้งมักเป็นอาชญากรจากนครปฐม หรือเกี่ยวข้องพัวพันกับจังหวัดนครปฐม สาเหตุของอาชญากรรมเหล่านั้น ไม่ใช่สาเหตุของความจน แต่เป็นสาเหตุของความยึดมั่นในอัตตาอย่างแรงกล้าจนเกินไปบางสาเหตุจากความรวยไม่พอบ้าง การแก่งแย่งเอารัดเอาเปรียบกันทางการค้าบ้าง ฯลฯ ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นปัญหาที่มี รากเหง้ามาจากกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง ทั้งสิ้น
ปัญหาของจังหวัดนครปฐมเป็นปัญหาซับซ้อน ผู้เขียนมีพื้นฐานการศึกษาในด้านศาสนา จึงเห็นว่าสาเหตุหนึ่งคือ ปัญหาที่เนื่องมาจากการขาดพื้นฐานยึดมั่นในทางจิตใจ เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรได้รับความสนใจ และแก้ไขให้ตรงจุด โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาจิตใจของชาวเมืองทุกระดับ ถ้าสามารถแก้ปัญหาดังกล่าว โดยทำให้ประชากรได้เข้าใจความหมายของศาสนาอย่างแท้จริงไม่ว่าจะเป็น พุทธศาสนา หรือศาสนาแบบจีน เมื่อปฏิบัติตามคำสอนของศาสนานั้นๆ โดยแท้จริงแล้ว ปัญหาสังคมจะคลี่คลายลง เมื่อนั้นนครปฐมจึงจะมีโอกาสลืมตาอ้าปากเป็นเมืองพระได้สมดังชื่อของเมืองอย่างแท้จริง
ที่มาโดย:รองศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิธีกรรมเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินแสดงออกด้วยการละเล่น

หลังเสร็จสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร มนุษย์ก็จะรอฤดูการผลิตครั้งใหม่ที่จะมาถึงต่อไป
ช่วงระหว่างเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวถึงฤดูกาลใหม่ ที่จะมานั้น ความแห้งแล้งปรากฏอยู่ทั่วไป เครื่องมือในการทำมาหากินประเภทที่ใช้หาปลาก็ไม่ค่อยได้ใช้ ที่ใช้อยู่เป็นระยะๆ ก็คือประเภทครก สาก กระด้ง เป็นต้น เครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ไม่ใหญ่โตนัก สามารถหยิบยกได้ด้วยคนๆ เดียว ไม่เหมือนไถและคราดที่ใช้ในการทำนานั้นต้องแบกต้องหามและต้องใช้แรงสัตว์ เช่น วัว ควายในการชักลาก
ความกังวลของมนุษย์ต่อฤดูการผลิตใหม่มีอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีน้ำบริบูรณ์เหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่ ถ้าหากฤดูการผลิตที่ผ่านมาน้ำไม่ดี ข้าวปลาอาหารไม่บริบูรณ์ ก็อยากจะรู้ว่าฤดูการผลิตต่อไปจะต้องประสบปัญหาเช่นที่ผ่านมาหรือไม่ นี่เป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมที่ต้องพึ่งธรรมชาติ แต่ก็มีความปรารถนาที่จะเป็นนายบีบบังคับควบคุมธรรมชาติ แม้จะเป็นนายบังคับไม่ได้ก็ขอเพียงให้รู้ล่วงหน้าว่าธรรมชาติ จะทำอย่างไรต่อไป
ดังกล่าวมาแล้วว่ามนุษย์มีความเชื่อในเรื่องผีเรื่องสาง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีผีสางสิงสถิตอยู่ทั้งนั้น แม้แต่ในเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ประกอบการทำมาหากินก็มีผี และผีเหล่านี้ก็เป็นผีดีไม่ใช่ผีร้าย ผีเท่านั้นที่จะรู้ความลับทั้งหลายในโลก รวมทั้งความเร้นลับของธรรมชาติด้วย ดังนั้น จึงก่อให้เกิดมีพิธีกรรมที่จะเล่นกับผี หรือที่จะเรียกผีเชิญผีมาสอบถาม แต่ผีพวกนี้มักพูดไม่ได้ หากฟังรู้เรื่องมนุษย์จะถามอะไรก็ได้ แต่ผีจะตอบด้วยการแสดงการกระทำเพื่อให้มนุษย์ไปคาดคะเนหรือเดาหรือเสี่ยงทายเอาเอง
จากการศึกษาและสำรวจภาคสนาม ได้ความว่าพิธีกรรมเชิญผีประเภทนี้มาเล่นเสี่ยงทายนั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่งทั่วทุกท้องถิ่นที่มีปัญหาเรื่องการทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง หรือภาคใต้ และน่าจะรวมทั้งในท้องถิ่นของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงด้วย
ตัวอย่างพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำมาหากินที่จะยกมานี้ ได้มาจากการร่วมเดินทางไปศึกษากับภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัย¬ศิลปากร เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ แหล่งที่ศึกษาก็คือ หมู่บ้านชาติตระการ ที่อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ดังมีรายงานต่อไปนี้
ก่อนการเล่นได้มีการไปเชิญผู้สูงอายุที่สุดในบ้าน คือ “ต้นหนอม” (นางถนอม หมั้นนาค) มาทำพิธีขอขมาต่อเจ้าปู่ วิญญาณเจ้าบ้านของหมู่บ้านเพื่อขอขมาลาโทษ เวลาเล่นจะได้ไม่มีเรื่องร้ายมาแทรก (จากการสอบถามทราบว่า เรื่องร้ายก็คือผีพรายจะเข้ามาสิงสู่คนเล่น คือ แทนที่วิญญาณเทวดา วิญญาณนางช้าง ลิงลม จะเข้า ผีปีศาจจะเข้าแทน ต้องขออำนาจเจ้าปู่เจ้าบ้านคุ้มครองผู้เล่นจะได้ไม่ถูกสิงด้วย วิญญาณร้ายแล้วเตลิดเข้าป่าหายไป)
เครื่องเซ่นในพิธีขอขมาเจ้าปู่บอกกล่าวก็คือ น้ำตาลทราย ๑ ช้อน หมาก ๑ คำ ข้าวสุก ใบพลู ๑ ใบ ยาเส้น น้ำ ๑ แกว น้ำมัน แป้ง ดอกไม้ ฯลฯ วางรวมๆ กันบนพื้นดิน คนแก่จะกล่าวเชิญเทวดาลงมาจากสวรรค์ และบอกเล่าเจ้าปู่เจ้าบ้าน กล่าวพอจับใจความได้ดังนี้ “เชิญนางฟ้า เจ้าที่ เจ้าทาง พ่อปู่เจ้าบ้าน ลงมาเล่น ลิงลม นางช้าง ลูกเขา เขาบ่เคยเห็นลงมาเถิด ลงมาอย่าเอาอย่างอื่นมาแทรก อย่าเอาแปลกมาปน นางฟ้า นางสวรรค์ ลงมารับมากินเครื่องเซ่น อย่าไปทวงไปทักเขา ให้เขาเล่นชื่น ให้เขาเล่นม่วนหลาย อย่าไปท้วงไปทักเขา”
จากนั้นชาวบ้านก็จะล้อมวงมาเล่นโดยเริ่มเล่นนางด้งก่อน มีการร้องเพลงตีกลอง กระทุ้งท่อนไม้ซางให้เกิดเสียง ผู้สังเกตได้บันทึกคำร้อง (เพลง) ของการละเล่นแต่ละอย่าง ไว้ดังนี้ (ถอดตามสำเนียงพื้นบ้าน)

นางด้ง
คำร้องนางด้ง
นางด้งเอย เข้าป่าล่าโหง    กระด้งฟัดข้าว ลงมาปี๊ดปี๊ด
ลงมาพายพาย กำดินกำทราย    มาให้นั่งเต้า มาชื่นข้าวเล่า หละแม่นางด้งเอย
คำร้องลิงลม
ลิงลมเอยมาอมข้าวพอง เด็กน้อยทั้งสอง มาทัดดอกจิก แกนหัวแกนหาง ตรงกลางดุกดิก มะพร้าวต๊กโต ขนมต้มพลู ไอ้แก้วหน้าหนู เล่นชู้กลางวัน อร่เล้เล่นเล
คำร้องนางควาย
นางควายเอย นางควายสองเขา ตะลาวติดลบ นบค้าง ค่าง ข้างยักดี คิ้วน้อยๆ ตกตากาแบ สั่นแท้ๆ ยกขึ้นขาควาย อี้เลเล่นเล
คำร้องนางช้าง
นางช้างเอย มาตัดเกาลัด ช้างกินใบไผ่ งังกินหญ้า ม้ากินสลัดได จานต้มไข่ ขมิ้นเหลืองอ่อน ไอ่เมไอม่อน ไอ่จ้นป่อระแม เห้โยนเอ้โยน
คำร้องนางกะลา
ต้นไม้เอย เจ้านอนไม่หลับ อย่าขยับอย่าขยาย (พอล้มลุกขึ้นฟ้อนร้องว่า “สาวน้อย เจ้ารำงามแท้ เจ้ารำงามเอย ระบำมาแต้ไหนเอย ระบำมาแต่โคราชเจ้าของมานอนพักญาติ มาร่วมกันรำฟ้อนเอย”)
รายละเอียดการเล่นมีดังนี้
นางด้ง
ก่อนเล่นจะต้องมีเครื่องบูชาเทวดา ที่นิยมกันมากได้แก่ แป้งหอม น้ำมัน หมาก ๑ คำ ซองดอกไม้พานธูปเทียน นำของบูชาเหล่านี้วางบนใบตองบนพื้นคนตีกลอง ก็เริ่มตีกลอง คนกระทุ้งท่อนไม้ซางก็กระทุ้งเป็นจังหวะไปเรื่อยๆ เหตุที่ต้องบูชาเทวดาก็เพราะว่าการละเล่นนี้ ชาวบ้านโดยเฉพาะคนสูงอายุเชื่อกันว่าผีวิญญาณร้ายจะคอยวนเวียนดูอยู่ หากมีโอกาสจะเข้าเชย (สิงสู่) คนที่เล่นต้องขออำนาจเทวดามาคุ้มครองผู้เล่นโดยมากมักเป็นผู้หญิง ๒ คน จับขอบกระด้งคนละด้าน มีคนเชิดนั่งล้อมวงร้องเพลง เชิญเทวดามาเข้าคนเล่น ชาวบ้านจะเอาน้ำใส่ภาชนะไปซ่อนไว้ไกลๆ ถ้าเทวดาเข้ามือคนทรงจะสั่นตอนแรกก็เบาๆ ก่อน กระด้งก็สั่นด้วยค่อยๆ แรงขึ้น จนสั่นรุนแรงไปมา คนถูกทรงก็จะถือกระด้งเดินสั่นไปรอบๆ วนไปมา แล้วเดินไปเที่ยวหาน้ำเรื่อยๆ จนสักพักก็กลับมาที่เก่า ชาวบ้านจะถามว่าปีนี้ ฝนจะตกดีหรือไม่ ถ้าตกดีให้ฝัดข้าว คนถูกทรงก็จะฝัดข้าว ถ้าฝนแล้งกระด้งก็จะหยุดสั่น เมื่อผู้เล่นเหนื่อยมากแล้วก็จะหยุดเล่น
นางกะลา
ก่อนเล่น ชาวบ้านจะมีการซักซ้อมกันก่อน เนื่องจากไม่ได้เล่นมานานแล้ว ตอนแรกก็มีการเอาผ้ามาผูกตาผู้เล่นโดยมากเป็นหญิงสาวที่ใจไม่แข็ง แล้วพาผู้เล่นขึ้นเหยียบ นั่งบนกะลามะพร้าวผ่าครึ่ง
ชาวบ้านล้อมวงร้องเพลงเชิญเทวดาเข้า พอเข้าผู้เล่นจะหมุนร่างเป็นวงรอยกะลาหมุนตามค่อยๆ เร็วขึ้นสักครู่ก็ล้มลงนอนกับดินสักพักก็ลุกขึ้นฟ้อนรำออกท่าทาง ชาวบ้านร้องเพลงประกอบรำจนเหนื่อย จะมีคนหนึ่งเข้าไปตะโกนเสียงดัง “ปี๊ด” ที่ข้างหูคนถูกทรงเทวดาก็จะออกไป
นางช้าง
อุปกรณ์การเล่นก็มี ผ้าขาวม่า ๓ ผืน ผืนหนึ่งพันเป็นงวง อีกผืนทำเป็นหาง และเอาคลุมหลังผู้เล่นไว้ ผู้เล่นมักเป็นผู้ชาย (ผู้หญิงจะไม่เล่น) จะนั่งคล่อมสากคู่เอาไว้ ในลักษณะเข่าทั้งสองแนบกับดิน จะมีผู้ชายกลุ่มหนึ่งคอยจับผ้าขาวม้าที่เป็นหางไว้ทางข้างหลังชาวบ้านล้อมวงร้อง เพลงเชิญวิญญาณช้างเข้าสิง ถ้าเข้าร่างกายผู้เล่นจะค่อยๆ สั่น โยกเยกไปมาซ้ายขวาจนค่อยๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผู้เล่นจะกระโจนไปข้างหน้าไปกัดกินท่อนกล้วย ฉีก และกลืนลงในท้องในลักษณะการกินของช้าง วิ่งวนไปมาสักพักคนก็เข้าไปเป่าปี๊ดวิญญาณก็ออกไป
จากการสังเกตการณ์การละเล่นนี้ในคืนวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๖ ณ. สนามโรงเรียนบ้านชาติตระการพบว่า ใช้เวลานานมากกว่าที่วิญญาณจะเข้าสิงต้องเปลี่ยนผู้เล่นหลายคน ดังชื่อต่อไปนี้ ผู้เล่นคนแรกคือบุเรงนอง ลอยเหม็น ไม่เข้า คนที่สองชื่อบุตร ไม่เข้า คนที่สามชื่อบรรจง ไม่เข้า คนที่สี่ชื่อเพลิน ไม่เข้า คนที่ห้าชื่อแหนง ถึงจะเข้าจากการสอบถามทราบว่าเหตที่วิญญาณไม่เข้าก็เพราะหันหัวไปไม่ถูกทิศ ตอนแรกหันหัวไปทางทิศบูรพา ต้องย้ายไปทางทิศอีสานและผลของการร่วมแรงกันร้องเพลงเสียงดังกระหึ่มก็มีผลให้วิญญาณช้างเข้าผู้เล่นเร็วด้วย
ลิงลม
ลักษณะการเล่นก็คล้ายๆ กับอย่างอื่นคือผู้เล่นจะนั่งกอดเข่าของตนก้มหน้าจรดเข่าอยู่ข้างบนครกตำข้าวขนาดใหญ่ ชาวบ้านจะเอาผ้าขาวม้าคลุมหน้าผู้เล่นแล้วจะร้องเพลงว่า “ลิงลมเอยมาอมข้าวพองเด็กน้อยทั้งสอง มาทัดดอกจิก แกนหัวแกนหาง ตรงกลางดุกดิก มะพร้าวต๊กโต ขนมต้มพลู ไอ้แกวหน้าหนูเล่นชู้กลางวัน อิ๊เลเล่นเล” พอวิญญาณเข้าร่างของคนเล่นจะสั่นโยกเยกไปมาจนรุนแรง แล้วกระโจน พุ่งพรวดออกไปข้างหน้าไปกินกล้วยที่ชาวบ้านเตรียมไว้ให้แล้วจะมองหาต้นไม้ปีนป่ายขึ้นไปจนถึงข้างบนสักครู่ก็ลงมา ก่อนจะลงชาวบ้านจะร้อง “ลงมาเร็วว้า ลงมาเร็วเหวย ลงมาไม่ได้ไต่ไม้ลงมา ลงมาไม่เป็นหกคะเมนลงมา ลงมาไม่รอดกอดต้นไม้ลงมา” พอลงถึงพื้นก็มีคนร้องปี๊ดวิญญาณก็ออกกลับสู่ปกติ
นางควาย (สัมภาษณ์ต้นหนอม)
การละเล่นนี้ไม่ได้เล่นมานาน ผู้เฒ่าผู้แก่พอจะระลึกถึงความหลังเล่าพอฟังจับใจความได้ว่า การเชิญผีนางควายเข้าจะใช้หัวควายที่ชำแหละเนื้ออย่างดีตากเนื้อแห้งโดยไม่มีกลิ่นเหม็นเลย แล้วใช้ไม้ขนาดพอเหมาะมือตอกต่อจากหัวควายนั้น เพื่อใช้จับเวลาให้ควายไถนา เมื่อบูชาเทวดาแล้ว คนทรงก็จะจับไม้ยาวๆ ที่ตอกไว้นั้นคนเชิญจะต้องเพลงเชิญเทวดาให้มาสิงสู่ในหัวควาย ถ้าเทวดามาตามคำเชิญมือคนที่ จับจะเริ่มสั่นทีละน้อยจนสั่นมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดหัวควายนั้นจะสั่นเคลื่อนไหว ชาวบ้านจะถามว่าฝนจะตกพอที่จะไถนาได้ไหม ถ้าได้ขอท่านแสดงฝีมือในการไถนาให้ดูหัวควายจะไถนาโดยวิ่งปราดๆ ไปข้างหน้า เร็วบ้าง เลี้ยวไปๆ มาๆ เหมือนกับการไถนาจริงๆ เหมือนควายไถเมื่อเหนื่อยแล้วก็เชิญเทวดาออกเป็นเสร็จการเล่นนางควาย
โดยสรุปแล้ว รายงานนี้เป็นการศึกษาการละเล่นโดยพยายามค้นหาความหมายที่แท้จริง ตลอดถึงค้นหาบทบาท และหน้าที่ที่การละเล่นจะพึงมีต่อชุมชนที่เป็นเจ้าของ ขณะเดียวกับการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของการละเล่นกับสถาบันอื่นๆ ในสังคม และศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของการละเล่นนั้นๆ พร้อมไปด้วย จะช่วยในการทำความเข้าใจทั้งรูปแบบและเนื้อหาตลอดจนพัฒนาการของการละเล่นได้ชัดเจนมากขึ้น และขณะเดียวกันก็จะทำให้เข้าใจถึงพัฒนาการของสังคม-วัฒนธรรมไทยได้ โดยจะเห็นถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มคนในท้องถิ่นต่างๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วก็มีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน บนพื้นฐานของความเชื่อทางศาสนาที่มีพัฒนาการมายาวนาน จากนั้นแต่ละชุมชนหรือสังคมก็จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดจนเกิดความหลากหลายไปตามความต้องการของแต่ละท้องถิ่น
การศึกษาเรื่องการละเล่น สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของพื้นฐานทางด้านความเชื่อของสังคมไทยที่มีความเชื่อทางศาสนาดั้งเดิมรับรองอยู่แล้ว ดังเช่นความเชื่อถือทางไสยศาสตร์ที่เกี่ยวกับผีสางต่างๆ ก่อนจะมีการรับวัฒนธรรมจากต่างแดนเข้ามาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมของตน จนยากที่จะแยกออกอย่างเด่นชัด สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาในลักษณะของพิธีกรรม และการละเล่นที่ผูกอยู่กับพิธีกรรม ของความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ซึ่งมีการทำมาหากินเป็นสำคัญ โดยเริ่มจากสังคมที่เป็นเผ่าพันธ์หาอาหารป่า แล้วจึงพัฒนามาเป็นสัง คม ที่ทำไร่ทำนาอยู่เป็นหลักแหล่ง เป็นบ้าน เป็นเมือง แว่นแคว้นต่างๆ ดังนั้นการละเล่นที่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ก็ย่อมต้องเข้าใจได้ โดยอาศัยความเข้าใจพัฒนาการของสังคมประกอบ และการคลี่คลาย ของลักษณะสังคมวิถีชีวิต และระบบความเชื่อด้วย
การเข้าใจถึงระบบความเชื่อ ซึ่งเป็นพื้นฐานของพฤติกรรมมนุษย์ รวมทั้งเรื่องการพักผ่อนหย่อนใจด้วยนั้น ยังช่วยให้เข้าใจหรืออธิบายถึงลักษณะของเพลง หรือการละเล่นที่ไม่อาจเข้าใจได้ โดยการศึกษาแค่เพียงรูปแบบอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น การเล่นเพลงโต้ตอบของหญิงชาย ที่มีเนื้อหาเรื่องทางเพศ และถ้อยคำหยาบคายมากมายจนกระทั่ง ชนชั้นสูงในสังคมถือว่าเป็นเรื่อง ‘ลามกตลกเล่น, และหยาบช้า ป่าเถื่อน หรือในบางครั้งมีความเข้าใจว่า ถือเป็นการระบายความเก็บกดทางเพศก็ดีนั้น เนื่องจากผู้ที่มีความคิดเช่นนั้นไม่ทำความเข้าใจ และไม่คำนึงถึงความหมายหรือความสำคัญของพฤติกรรมดังกล่าวต่อชุมชนที่เป็นเจ้าของ ที่มิได้แยกการละเล่นออกจากวิถีชีวิต-ความเชื่อของตน ดังที่สังคมปัจจุบันเป็นอยู่ ที่ผู้เล่น หรือผู้แสดง ผู้ชม เป็นคนละกลุ่มกันมิได้มีความสัมพันธ์ หรือความเชื่อร่วมกัน เพราะแท้ที่จริงการกล่าวถ้อยคำหยาบๆ หรือเกี่ยวกับเรื่องทางเพศก็ดี ที่กระทำโดยเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม มิใช่เป็นเรื่องสนุกอย่างเดียว มักเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ ที่เป็นลักษณะความเชื่อของชนเผ่าดั้งเดิมทุกแห่ง ซึ่งผูกพันกับ
ความมั่นคงปลอดภัยของการดำรงชีพและการเลี้ยงชีพ เป็นพื้นฐาน
จากการศึกษามาทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าการละเล่นหรือการพักผ่อนหย่อนใจของคนไทยในอดีตมักมีความสัมพันธ์อยู่กับพิธีกรรมและการทำมาหากิน โดยเห็นได้จากลักษณะต่างๆ เช่น ความเชื่อ หรือที่มา กำเนิดของการละเล่นที่เชื่อว่ามีกำเนิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งโอกาสที่เล่นจะเล่นตาม กาลเทศะ และจะเป็นส่วนหนึ่งของงานพิธีกรรมของชุมชนเสมอไม่เล่นทั่วไป เนื้อหาที่เป็นสัญลักษณ์ที่เน้นความอุดมสม บูรณ์-ความเชื่อทางศาสนาที่เป็นที่รับรู้ร่วมกับของชุมชน ซึ่งมีความหมายอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพของชุมชน และการละเล่นก็คือการเข้าร่วมพิธีกรรม เพื่อความอุดม-สมบูรณ์ และความมั่นคงปลอดภัยของชุมชน การละเล่นจึงมิใช่การแสดงในความหมายของการแสดงอย่างที่ปัจจุบันกระทำอยู่อย่างไรก็ตาม การละเล่นบางอย่างที่ความเชื่อเสื่อม คลายลงมากก็อาจพัฒนาไปเป็นการแสดงได้ในสมัยต่อๆ มา เช่น โขน ละคร หรือมหรสพพื้นบ้านพื้นเมือง เช่น การเล่นเพลงแค่พื้นฐานของความสัมพันธ์ดั้งเดิมที่ผูกพันกับพิธีกรรมก็มิได้สูญหายไปจนหมดสิ้น ยังคงมีร่องรอยให้ศึกษาได้แม้ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะทำให้บทบาทความหมายในทางความเชื่อหมดความสำคญไป นอกจากนี้ การละเล่นการแสดงสมัยใหม่ ซึ่งไม่ผูกพันกับพิธีกรรมอย่างโบราณ เจริญก้าวหน้า แพร่หลายมากขึ้น เช่น หนัง วิทยุ โทรทัศน์ วงดนตรี ฯลฯสามารถสนองตอบความต้องการสมัยใหม่ได้มากกว่า และปรับตัวให้เข้ากับการพัฒนาการ เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วไม่ติดกับกรอบของระบบความเชื่อ และเนื้อหาที่ซ้ำซากเป็นรูปแบบที่เรียกว่า “มีครู”
ความหมายของการละเล่นที่มีต่อชุมชนชนบทที่ห่างไกลความเจริญ ที่ยังคงมีบทบาทอยู่ในปัจจุบันจึงมิใช่เรื่องสนุกสนานไร้สาระหรือป่าเถื่อนดังที่เข้าใจกันประการใดประการหนึ่ง เพราะการละเล่น ในเทศกาลต่างๆ ตามประเพณี มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของ ผู้คนต่อชุมชนของตนเองว่าจะมีความอุดมสมบูรณ์ มีความสมัครสมานเป็นหนึ่งเดียวกัน และยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้ความอบอุ่นทางใจของชุมชนที่ห่างไกลเทคนิควิทยาและความเอาใจใส่ จากฝ่ายปกครองอีกด้วย
ที่มาโดย:ปรานี วงษ์เทศ

การละเล่นเนื่องในวันสงกรานต์

เล่นสงกรานต์
พิธีกรรมเพื่อคลายเครียด
“ดูช้างให้ดูหน้าหนาว ดูสาวให้ดูหนาร้อน” – เสฐียร โกเศศ อ้างคติโบราณมาแล้วอธิบายว่า หน้าหนาวช้างกำลังตกมันอาละวาดมาก เพราะขาดสิ่งที่ต้องการจึงเกิดเป็นโรคประสาทอย่างรุนแรง  แต่เรื่อง “ดูสาวให้ดูหน้าร้อน” นี้เห็นจะเป็นด้วยเป็นฤดูหลังการเก็บเกี่ยว งานพิธีต่างๆ จะ ทยอยกันมีมาให้สนุกสนานรื่นเริง นับตั้งแต่งานพิธีเกี่ยวกับ วัดวาอารามงานแต่งงาน งานศพ และงานอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้สาวๆ มีโอกาสแต่งเนื้อแต่งตัวไปเที่ยวงานเหล่านั้นได้เต็มที่ไม่เหมือนฤดูอื่นที่ต้องทำงาน
งานพิธีที่สำคัญที่ทุกคนต่างรอคอยก็คือ “สงกรานต์” ซึ่งจะมีขึ้นในฤดูเดือนห้าเป็นประมาณ
ดังกล่าวมาในตอนก่อนแล้วว่าเดือนแรกของปีคือ “เดือนอ้าย” ซึ่งเป็นคติที่มีมาก่อน ส่วนที่ว่า “สงกรานต์” เป็นเรื่องของการขึ้นปีใหม่นั้นมาสมัยหลัง ดังนั้นในการเสนอการศึกษาครั้งนี้ไม่ผูกติดอยู่กับกรณีว่าจะเป็นปีใหม่หรือไม่เป็นปีใหม่แต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่จะพิจารณา “สงกรานต์” ในแง่ของพิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาของมนุษย์ที่เกิดขึ้นระหว่างเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวและเตรียมที่จะถึงฤดูการผลิตใหม่
กึ่งกลางของช่วงเวลาที่เสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวกับฤดูการผลิตใหม่นั้นประมาณว่าเป็นวันที่ร้อนจัดที่สุดด้วยเหตุทางธรรมชาติที่พระอาทิตย์โคจรมาใกล้โลกที่สุด ซึ่งต่อมาภายหลังมนุษย์จึงศึกษาแล้วตกลงว่าเป็นวันสำคัญทางสุริยคติ แล้วถือกันว่าเป็นการเปลี่ยนศกใหม่ แต่ความเป็นธรรมชาติ มิได้เปลี่ยนแปลงไม่ว่าชนชาติใดจะเรียกชื่อนั้นว่าวันอะไร หรือจะเป็นเทศกาลอะไร
แต่เพื่ออนุโลมให้เข้าใจง่ายขึ้นและไม่สับสน จึงจะเรียกพิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาของมนุษย์นว่า“สงกรานต์” ตามที่เรียกกันในสมัยหลังๆ
ลักษณะสำคัญของพิธีกรรม “สงกรานต์” จะมีดังต่อไปนี้
๑. เซ่นสรวงบูชา เสฐียรโกเศศ บันทึกเรื่องนี้เอาไว้แล้วว่าเมื่อถึงวันสงกรานต์ มีพิธีบวงสรวงผีปู่ย่าตายายประจำหมู่บ้านซึ่งทางภาคอีสานเรียกว่า “ผีปู่ตา” ภาคเหนือ เรียกว่า “ผีปู่ย่า” และทางภาคใต้เรียกว่า “ผีตายาย” ต่อมา ก็กลายเป็นมีเรื่องของ “ผีประจำเมือง” ประเภท “ผีเสื้อเมือง” เข้าร่วมด้วย อันเป็นเหตุทำให้เกิดการละเล่นเกี่ยว กับผีอีกมากมาย
การทำพิธีกรรมนี้ก็คือนัดหมายกันนำอาหารหวานคาว ไปเซ่นสรวงสังเวยบูชากันที่ศาล หรือที่เรียกกันว่า “หอผี” ต่างครัวก็ต่างไป แล้วมีการบูรณะศาลหรือหอผีเพื่อขอความคุ้มครองและขอความอยู่เย็นเป็นสุขซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงปลอดภัยจากผีนั้นๆ
๒. กินเลี้ยง เมื่อเสร็จพิธีกรรมในการเซ่นสรวงบูชาผีบรรพบุรุษต่างๆ แล้ว ก็มีการกินเลี้ยงร่วมกันโดยเอาอาหารที่นำมานั้นแบ่งปันกันกิน
๓. การละเล่น หรือการพักผ่อนหย่อนใจ หลังจากเสร็จพิธีกรรมทั้งหมด ๒ ข้อแล้วก็จะเป็นการละเล่น ซึ่งจะได้แก่การสาดน้ำ ร้องเพลง และพิธีกรรมอื่นๆ ที่ต่อเนื่อง เมื่อคติพระพุทธศาสนาแพร่เข้ามา บทบาทของพระสงฆ์ก็จะมีส่วนสำคัญในพิธีกรรมเหล่านี้ทั้งหมด
การละเล่นที่แสดงออกในพิธีกรรมนี้จะมีอิสระเสรีสูงมาก เสฐียรโกเศศ จดเอาไว้ว่าผู้หญิงจะมีบทบาทสำคัญในการเล่นสาดน้ำและเล่นมอมหน้า การสาดน้ำนั้นไม่จำเพาะแต่จะสาดกันเองระหว่างหนุ่มสาว หากสามารถ “ถือขันน้ำ เร่ขึ้นกุฏิเพื่อสรงน้ำหลวงพี่ด้วย ปะเหมาะหลวงพี่ไม่ทันรู้ตัว ได้ยินเสียงโครมครามเหมือนมีโจรขึ้นปล้น ยังไม่ทันรู้ว่าเรื่องอะไรก็พอดีถูกสาดน้ำเข้าโครมใหญ่ ดีมิดีที่นอนหมอนมุ้งถูกน้ำสาดเปียกหมด… ตอนนี้ไม่ใช่สรงน้ำพระ แต่เป็นเรื่องสาดน้ำพระ”
เรื่องสาดน้ำพระนี้มีเล่นกันในภาคอีสานแต่ก่อน กล่าวโดยสรุปว่าการเล่นสาดน้ำไม่มียกเว้นว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือเป็นใคร ผู้หญิงก็บุกรุกสาดน้ำพระได้โดยไม่ถือเป็นเรื่องผิด (๒๕๐๐ : ๑๔๔) นอกจากนั้นยิ่งหนักขึ้นไปอีกก็คือการแห่พระสงฆ์ด้วยเกวียนโดย “ชาวบ้านช่วยกันตกแต่งเกวียน คาดผ้าสีแพรเป็นเพดานหลังคา และประดับประดาด้วยสิ่งต่างๆ ตามแต่จะเห็นงาม….แล้วนิมนต์พระสมภารเจาวัดหรือพระสงฆ์ที่นับถือขึ้นนั่งบนเกวียน มีขบวนแห่อย่างครึกครื้น เวียนประทักษิณอุโบสถสามรอบ แล้วก็ชักเกวียนไปยังที่ซึ่งจัดไว้ แต่ว่าไม่ได้ชักอย่างตรงไปตรงมา เขาเล่นชักเย่อกันด้วย โดยแบ่งพวกชาวบ้านออก เป็นพรรค บ้านเหนือ และพรรคบ้า,นใต้ หรือตลาดบ้านเหนือและตลาดบ้านใต้ พวกที่ชักล้วนเป็นคนหนุ่มคนสาวกำลังฉกรรจ์ทั้งนั้น ชกเย่อกันไป ชักเย่อกันมา ไม่ไปถึงไหน ลางทีนานตั้งชั่วโมงก็ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะกัน ถ้านานถึงเช่นนั้นก็ต้องหยุดพักเอาแรงกันเสียพักหนึ่ง แล้วจึงลงมือชักเย่อกันใหม่ต่อไป จนกว่าใครจะแพ้ลงข้างหนึ่ง ฝ่ายที่ชนะก็เต้นรำทำเพลงเยาะเย้ยฝ่ายที่แพ้อย่างสนึกสนาน
การเล่นสาดน้ำพระสงฆ์ก็ดี การนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นเกวียนแล้วเล่นชักเย่อก็ดี ไม่ถือเป็นบาป และไม่ถือเป็นผิด มิหนำซ้ำยังสามารถถูกเนื้อต้องตัวพระสงฆ์ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย บางทีก็ถึงขนาดกอดรัดฟัดเหวี่ยงเพื่อจับตัวพระสงฆ์ เรียกค่าไถ่ก็มี สำหรับ พระสงฆ์เอง ก็ถือเป็น สนุกไปกับฆราวาส โดยไม่ยึดว่าเป็นอาบัติ นอกจากนั้นแล้วการเล่นกันเองระหว่างหนุ่มสาวผู้เฒ่าผู้แก่ก็ถึงขนาดฉุดกระชากลากถูกันจนเสื้อผ้าขาดกระรุ่งกระริ่งไปทั้งหมด พวกผู้หญิงดูจะจงใจแก้แค้น ผู้ชาย หรือผู้หญิงมักจะเล่นสนุกกับผู้ชายมากกว่าจะเล่นกับผู้หญิงด้วยกันเอง บางทีพวกผู้หญิงก็รวมกลุ่มกันจับผู้ชายมาเล่นแผลงๆ ด้วยการมัดไว้กับต้นเสาเพื่อเรียกค่าไถ่เป็นเหล้าหรือของกินต่าง ๆ สุดแต่จะหาซื้อได้ หากผู้ชายที่ถูกจับมัดเรียกค่าไถ่ไม่ยอมปฏิบัติตามสิ่งที่ผู้หญิงต้องการก็อาจจะถูกทำประจาน เป็นต้นว่า ถูกจับถอดเสื้อกางเกงล่อนจ้อนเปลือยกาย และอาจจะถูกทำพิเรนๆ กับของลับ ฝ่ายชายบางรายถึงขนาดเอาในสับปะรดซึ่งมีความหยาบจนสากมาแกล้งถูที่ของลับผู้ชายให้เจ็บปวด ผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัวมีลูกมีผัวแล้วจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเล่นแผลงๆ เช่นนี้
จากการแสดงออกของมนุษย์ในเทศกาลสงกรานต์ เราจะเห็นว่ามีลักษณะเป็นพิธีกรรมที่ต้องการเป็นขบถต่อจารีตประเพณีดั้งเดิมของสังคม ทั้งนี้โดยได้รับการอนุมัติหรือได้รับการยอมรับจากสังคมแล้วที่จะแสดงอาการขบถนี้
อาการขบถ ในพิธีกรรม เนื่องในสงกรานต์นี้ จะมีลักษณะต่อต้านความสัมพันธ์ทางสังคมของคนที่เน้นความแตกต่างทางเพศ เน้นระบบอาวุโส และเน้นการเคารพนับถือพระสงฆ์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ในชีวิตประจำวันแล้วสังคมจะเคร่งครัดมากต่อการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากการอบรมสั่งสอนว่าเป็นประเพณีต้องปฏิบัติตามหรือในภาษาปัจจุบันหมายถึงมรรยาททางสังคมนั่นเอง
จากการศึกษาบทบาท สถานภาพของผู้หญิงในสังคมไทยจะเห็นได้ว่ามีหลักฐานในอดีตยืนยันว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ต้องทำงานหนัก รับภาระในครอบครัวมาโดยตลอดในขณะที่ผู้ชายมักจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งปีหรือมากกว่าถูกเกณฑ์เป็นทหารรับใช้ราชการ ผู้หญิงไทยจึงมีภาวะค่อนข้างกดดันที่ต้องรับภาระหลังการแต่งงาน ทั้งในการอบรมเลี้ยงดูลูก ทำมาหากิน และขณะเดียวกันฐานะทางสังคมของผู้หญิงกลับตกต่ำกว่าผู้ชาย ส่วนหนึ่งจากอิทธิพลของพุทธศาสนา และแม้ว่าจากการเปรียบเทียบกับสังคม จีน-อินเดีย ผู้หญิงไทยจะมีสถานภาพสูงกว่าก็ตาม ความกดดันนั้นได้รับการผ่อนคลายและแสดงออกในวันสงกรานต์อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะด้วยการกินเหล้า เล่นการพนัน สนุกทั้งวันทั้งคืน ไม่สนใจงานบ้าน แสดงกิริยาก้าวร้าวข่มขู่ผู้ชาย การยอมให้ชายอื่นถูกเนื้อต้องตัวได้
นอกจากนี้ความสัมพันธ์ทางสังคมอีก ๒ ด้านก็ได้รับการต่อต้าน ซึ่งแสดงถึงข้อขัดแย้งลึกๆ ในสังคมที่สมาชิกในสังคมเก็บกดไว้และแสดงออกในวันสงกรานต์ เช่น เด็กสามารถเล่นกับผู้ใหญ่ได้ ยั่วเย้าได้โดยไม่ถือว่าเป็นบาปเสียมรรยาทหรือเป็นการล่วงละเมิด และเช่นเดียวกับสถาบันสงฆ์ ซึ่งเป็นสถาบันที่ชาวบ้านให้ความเคารพยกย่องและพึงปฏิบัติต่อพระสงฆ์ด้วยความเคารพก็ถูกต่อต้านด้วยพฤติกรรมที่ไม่คำนึงถึงข้อห้ามหรือความเหมาะสมที่ผู้หญิงพึงสำรวมต่อสงฆ์ เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องบาปกรรม ทั้งพระสงฆ์เองตามประเพณี ความเชื่อก็ต้องประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และมีข้อห้ามมากมายที่ไม่สมควรวิสาสะกับผู้หญิง แต่ในวันสงกรานต์ กฎเกณฑ์ข้อห้ามต่างๆ ได้รับการอะลุ้มอล่วยให้ ละเมิดได้ พระสงฆ์สามารถเล่นกับสีกาหรือชาวบ้านได้ โดยไม่ถือว่าอาบัติ ถือเป็นการผ่อนคลายความเครียดเพื่อให้สามารถกลับไปอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดต่อไปได้
พิธีกรรมที่แสดงออกในรูปการละเล่นในวันสงกรานต์ จึงเป็นพิธีกรรมที่ต่อต้านข้อห้าม ระเบียบ กฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดไว้ โดยเฉพาะระหว่างความสัมพันธ์ของผู้หญิง-ผู้ชาย, ผู้น้อย-ผู้ใหญ่ และพระสงฆ์กับฆราวาส เป็นการต่อต้านที่ไม่เพียงเป็นที่ยอมรับจากสังคมเท่านั้น ยังได้รับการสนับสนุนให้ปฏิบัติอีกด้วย
พฤติกรรมทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงข้อขัดแย้งในสังคม ระหว่างสัมพันธภาพของกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่ย่อมเกิดขึ้นได้ และได้รับการผ่อนคลายหรือแสดงความกดดันออก เพื่อที่ความกดดันหรือความไม่พึงใจต่อสถานภาพ และบทบาทของบุคคลในสังคมจะไม่ถูกสะสมจนถึงขั้นที่เกิดการขัดแย้งอย่างแท้จริง เพราะการขัดแย้งที่แสดงออกในวันสงกรานต์ถูกพรางด้วยความสนุกด้วยเหตุนี้จึงน่าเป็นข้ออธิบายได้ว่า เหตุใดการละเล่นส่วนใหญ่จึงมีความรุนแรงก้าวร้าว ล่วงละเมิดกฎเกณฑ์ประเพณีที่เคยปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างเห็นได้ชัด พิธีกรรมที่ขบถต่อระเบียบทางสังคมนี้นับว่าเป็นพิธีกรรมที่มีบทบาททางสังคมอย่างยิ่ง ในแง่ที่ทำให้ความกดดันและความขัดแย้งในสังคมคลี่คลายระบายออก เพื่อสังคมจะสามารถกลับไปสู่ภาวะปกติสุขเช่นเดิมได้อีก พิธีกรรมดังกล่าวนี้ไม่เพียงปรากฏในสังคมไทย แต่พบปรากฏในกลุ่มสังคมดั้งเดิมหลายเผ่าพันธ์ที่สังคมเน้นความแตกต่าง ของเพศชาย เพศหญิง ที่สถานภาพของผู้หญิงถูกกดว่าต่ำกว่าชายและในกลุ่มที่มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ให้อิสระแก่ปัจเจกชนอย่างจำกัด พิธีกรรมดังกล่าวจึงทำหน้าที่ผ่อนคลายปัญหาต่างๆ ในแง่ความขัดแย้งในสังคม ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงก็เพื่อรักษาดุลย์ของสังคมให้อยู่โดยปกติสุขนั่นเอง
พิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาเพื่อคลายความเครียด หรือผ่อนคลายความกดดันในโอกาสสำคัญของช่วงเวลาดังกล่าวมาเช่นนี้ ไม่จำเพาะแต่ที่ปรากฏในสังคมไทย-ลาว เท่านั้น หากยังพบในกลุ่มชนอื่นๆ ที่มีสภาพสังคมลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย
จากการศึกษาพิธีกรรมของชนเผ่าซูลูในอัฟริกา แมกซ์ คลักมาน (Max Gluckman) เรียกพฤติกรรมนี้ว่า “พิธีกรรมที่เป็นขบถ” (ritual of rebellion) เพราะในสังคมของพวกซูลูมีความเชื่อว่าผู้หญิงมีอำนาจที่ชั่วร้ายสิงอยู่ และพร้อมกันนั้นก็มีอำนาจฝ่ายดีอยู่ในตัวเองด้วย (ตรง ข้ามกับผู้ชายเพราะผู้ชายไม่มีอำนาจที่ชั่วร้ายมาขัดแย้งอยู่) ตัวอย่างเวลาผู้หญิงมีประจำเดือน จะมีอันตรายต่อนักรบ พืช และวัว¬ควายที่เลี้ยงไว้ ถ้าหากให้ผู้หญิงเข้าใกล้หรือจับต้องในช่วงนี้ ผู้หญิงอาจกลายเป็นผีปอบทำร้ายผู้ชายได้ แต่ประจำเดือนของผู้หญิงก็มีคุณตรงที่ทำให้เกิดเด็กๆ ได้
การตั้งครรภ์ของผู้หญิงมีผลทางไสยศาสตร์ ต่อสังคม คือทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นสำหรับชาวอัฟริกันแล้วเห็นว่าความเป็นผู้หญิงเป็นทั้งผู้ให้กำเนิดวงศ์ตระกูล (ในฐานะภรรยาเป็นผู้ให้กำเนิดทารกที่จะสืบสกุลทางสามี) และเป็นทั้งจุดจบของวงศ์สกุล (ในฐานะลูกสาวที่นำจุดจบมาสู่วงศ์สกุลของบิดา) ข้อขัดแย้งเหล่านี้จะแสดงออกเฉพาะในช่วงเวลาหนึ่งของปี เมื่อจะเริ่มมีการเพาะปลูกที่ผู้หญิงจะได้ รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์แก่พืชผลและสังคม
ในพิธีกรรมผู้หญิงจะแต่งตัวเป็นผู้ชาย ถือหอกไล่ต้อนควายและวัว รีดนมวัวได้ ในขณะที่ยามปกติงานเหล่านี้เป็นของต้องห้ามของผู้หญิง และในบางช่วงของพิธีกรรม พวกผู้หญิงเด็กสาวจะเปลือยกายและตะโกนร้องเพลงหยาบๆ พวกผู้ชายต้องซ่อนตัวเองอยู่ในกระท่อมไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะอาจถูกพวกนี้จับหรือโจมตีเอาได้
คลักมาน เชื่อว่าพิธีกรรมนี้เป็นเสมือนเครื่องระบายความเครียดของผู้หญิงที่ถูกกดในสังคม และเป็นสิ่งที่สังคมได้หาทางออกเตรียมเอาไว้ให้โดยผ่านพิธีกรรม ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็มีจุดหมายเพื่อความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงของสังคม ทั้งนี้เพราะหลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมนี้แล้ว ผู้หญิงก็จะกลับไปมีสถานภาพดังเดิม
ลักษณะของ “พิธีกรรมที่เป็นขบถ” มิได้มีเพียงเท่าที่กล่าวมาแล้วนี้เท่านั้น หากยังมีอีกลักษณะหนึ่งที่น่าสนใจ ดังนี้
ในสังคมของชนเผ่าสวาสี (Swasi) มีพิธีกรรมหลังการเก็บเกี่ยวอันถือว่าเป็นพิธีกรรมระดับชาติที่มีเป้าหมายหรือศูนย์รวมอยู่ที่ความเป็น “กษัตริย์” พิธีกรรมนี้จะแสดงออกมาในรูปของการละเล่น ที่เกี่ยวกับการร้องเพลง กล่าวคือ เนื้อหาของเพลงที่ร้องออกมาจะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเกลียดชังและต่อต้านกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ แต่เพลง เหล่านี้ก็มีโอกาสนำมาร้องและเล่นได้เฉพาะเนื่องในโอกาสที่มีพิธีกรรมช่วงเวลานี้เท่านั้น และถือเป็นเพลงการละเล่นที่ศักดิ์สิทธิ์
บทบาทของการละเล่นเพลงอีนเกี่ยวเนื่องในพิธีกรรมดังกล่าวก็เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งภายในสังคมของพวกสวาสี ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อยู่ทางตอนใต้ของอัฟริกา และมีระบบกษัตริย์ที่ค่อนข้างมีอภิสิทธิ์มาก ดังนั้นจึงมีความกดดันทางสังคมสูง เพราะมีความเหลื่อมล้ำมากจนเห็นได้ชัดเจน
เมื่อได้ทำพิธีกรรมประจำปีนี้แล้ว ชาวสวาสีจะรู้สึกว่าตนได้ระบายความไม่พึงพอใจออกมาทั้งหมด การละเล่นที่แสดงออกมาทางเพลงซึ่งมีส่วนได้ตะโกนบริภาษกษัตริย์ ทำให้ชาวสวาสีเกิดความรู้สึกสงสารและเห็นใจว่าแท้ที่จริงแล้วการเป็นกษัตริย์ไม่ได้สบายนัก ทำให้ความรู้สึกกดดันผ่อนกลายลงไป ความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์หรือเป็นขบถต่อกัน ก็กลับคืนสู่ภาวะปกติ กล่าวคือชาวสวาสียังคงมีความจงรัก
ภักดีต่อกษัตริย์เหมือนเดิม ทำให้สังคมเกิดความสงบสุข และดำเนินวิถีชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยไม่เกิดจลาจล ทั้งยังมีความเชื่อร่วมกันอีกว่าพิธีกรรมนี้จะนำความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงมาสู่ประเทศของตน
ขณะนี้ยังไม่มีตัวอย่างในอดีตหรือปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับสังคมในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันที่จะแสดงออกให้เห็นดังชนเผ่าสวาสี แต่ในสังคมชนชาติไทย-ลาวเผ่าหนึ่งที่ “เสฐียรโกเศศ” บันทึกเอาไว้นั้นค่อนข้างจะให้ภาพที่ใกล้เคียง ถึงกระนั้นก็ไม่ควรด่วนสรุปว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน หรือมีความหมายอย่างเดียวกัน ดังจะคัดมาเสนอไว้ประกอบการพิจารณาต่อไปดังนี้
เสฐียรโกเศศ บันทึกเอาไว้ตอนหนึ่งถึงเรื่องวันสงกรานต์ที่แคว้นเชียงตุงว่า ประเพณีสงกรานต์ของแคว้นนี้ เจ้าฟ้าเชียงตุงจะต้องออกขุนนางประทับนั่งขัดสมาธินิ่งคล้ายพระพุทธรูปอยู่บนอาสนะ พวกขุนนางก็เข้าเฝ้าถวายบังคมโดยลำดับ เสร็จแล้วเจ้าฟ้าก็อวยพร เมื่ออวยพรเสร็จประตูด้านหลังที่นั่งก็ค่อยแย้มออก เจ้าฟ้าเชียงตุงจะเสด็จหายลับเข้าไปในประตู ทันใดนั้นพวกข้าราชการซึ่งเฝ้าอยู่อย่างสงบเสงี่ยมต่าง ก็ลุกขึ้นอย่างขมีขมัน เพื่อแย่งกันหนีออกจากที่เฝ้าอย่างสับสนอลหม่าน เหตุที่ต้องต่างหนีกันเช่นนั้นก็เพราะขณะนั้นเองมีพวกราษฎรยกพวกแห่กันมาเพื่อสาดน้ำสงกรานต์
ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการละเล่นในพิธีกรรม เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดอีกอย่างหนึ่งก็คือการละเล่นละครนอกอันเป็นการละเล่นของสามัญชนชาวบ้านเท่านั้น
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมท แสดงเรื่องราวของละครนอกเอาไว้ในหนังสือ “นาฏศิลป์ไทย” มีข้อความตอนหนึ่งว่าละครในเล่นเรื่องอุณรุท-รามเกียรติ์-อิเหนา ๓ เรื่อง นี้เท่านั้น บทละครในทั้ง ๓ เรื่องนี้ท้าวพระยามหากษัตริย์ เป็นตัวเอกทั้งสิ้น และบทละครก็แต่งไปในทางยกย่องส่งเสริม ท้าวพระยามหากษัตริย์ที่เป็นตัวเอกนั้น ไม่มีตอนใดเลยในบทละครที่จะทำให้มองเห็นไปว่าหมิ่นหรือมองเห็นท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นตัวตลก เป็นการยกย่องสรรเสริญโดยตลอดเพราะเป็นที่เล่นในพระราชฐาน แต่ละครนอกที่ชาวบ้านเขาเล่นดูกันนั้นท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นตัวตลกทั้งสิ้น ไม่มีความดีอะไรเลย ขี้ขลาดตาขาวสารพัด ท้าวสามลในเรื่องสังข์ทองก็เป็นตัวตลก ท้าวเสนากุกฏในเรื่องสังข์ศิลป์ชัยก็เป็นตัวตลก ท้าวสันนุราชในเรื่องคาวีก็เป็นตัวตลก ขึ้นชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินแล้วบทละครนอกเขียนให้เป็นตัวตลกหมด และแม้แต่บทละครนอกซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็รักษาลักษณะของละครนอกไว้ครบถ้วน
การละเล่นอย่างละครนอกที่ผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยการทำให้พระเจ้าแผ่นดินเป็นตัวตลกเช่นนี้ เราอาจจะต้องตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมให้พิจารณาการละเล่นเล่านิทานที่เกี่ยวกับ เรื่อง “ศรีธนญชัย” ได้อีกด้วยว่าเป็นการละเล่นที่ผ่อนคลายความเครียดของมนุษย์ในสังคมได้จริงๆ
พิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาที่แสดงออกด้วยการละเล่นเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในสังคม ในขณะเดียวกัน ก็เพื่อ “บงการ” ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคง ในสังคมนั้น ยังปรากฏเรื่องราวตามที่เสฐียรโกเศศอธิบายว่าทำได้โดยการเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปหญิงชายกอดกันกลม เรียกว่า “ปั้นเมฆ” เอาไปวางไว้ในที่ต่างๆ เช่น กลางท้องนา เพื่อให้เทวดาเล็งทิพยเนตรลงมาเห็นรูปหญิงชายกอดกันก็เกิดการกระตุ้นเร้าใจบันดาลให้ฝนเทลงมาๆ (เรื่อง “ปั้นเมฆ” มีปรากฏในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ใน “วัฒนธรรมหลวง” ด้วย) และเพื่อให้แน่ใจเพราะเกรงว่าเทวดาจะไม่เห็นจึงต้องมีการจุดบั้งไฟให้ดังกึกก้องสูงขึ้นไปบนท้องฟ้า เทวดาจะได้มองลงมาบนพื้นโลก ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็จะพากันร้องรำทำเพลงต่างๆ เช่น แห่นางแมว เซิ้ง ตลอดถึงเพลงที่ล้วนแล้วแต่แสดงความหยาบคาย รวมทั้งการแสดงกิริยาอาการที่ปกติแล้วจะไม่ทำกันออกมา เมื่อเทวดาเห็นเข้าจะได้ทนไม่ไหวจึงต้องส่งน้ำฝนลงมาบนพื้นโลก เรื่องความหยาบคายนี้มีถึงขนาดคนแก่คนหนุ่มสาวแสดงการร่วมเพศในขบวนแห่อย่างนางแมวเพื่อให้ผู้คนที่พบเห็นเอาน้ำสาดก็มี และไทยอาหมในแคว้นอัสสัมมีตระกูลที่จะต้องทำพิธีขอฝนด้วยการแก้ผ้าเปลือยกายล่อนจ้อนไต่เชือก ปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านแล้วประกาศคำขอฝน
ด้วยเหตุที่เป็นช่วงเวลาของการพิธีกรรมเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของสังคม และเพื่อความอุดมสมบูรณ์รวมทั้งความมั่นคงดังกล่าว บรรดาของอุจาดลามกทั้งหลายจึงมีโอกาสนำออกมาแสดงตอบโต้เป็นการละเล่นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการ พูดจาหรือร้องรำทำเพลง อย่างการละเล่นเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองทั้งหลาย เช่น เพลงฉ่อย เพลงโคราช และเพลงหมอลำ เป็นต้น ดังนั้นเหตุที่มาของการร้องเล่น ตอบโต้กันอย่างหยาบๆ และเผ็ดร้อนหรือที่เรียกกันว่า “แดง ๆ” ด้วยเรื่อง “สี ๆ” นั้น มิได้เป็นเพราะความเป็น “ไพร่” หรือชั้นต่ำอย่างที่เข้าใจกันมาแต่เดิม และทั้งไม่น่าจะเป็นปมเพศที่ถูกเก็บกด
ในสังคมฮินดูของประเทศอินเดีย มีพิธีกรรมโหลี ในวันโหลีที่ผู้คนจะแสดงการร้องรำ ทำเพลงที่หยาบโลนเป็นลามกอนาจารด้วย รวมทั้งมีการแสดงท่าร่วมเพศและกล่าวคำหยาบคายเท่าที่อยากจะกล่าวตะโกนโดยไม่มีใครรังเกียจ แต่เขาก็ผูกนิทานอธิบายพิธีกรรมนี้ขึ้นมาว่าการร้องเพลงหยาบคายนั้นเพื่อขับไล่นางยักษ์ผู้ที่ทำให้เกิดโรคระบาดหนีไป เรื่องนี้มิได้หมายความว่าการร้องรำทำเพลงประเภทพื้นบ้าน พื้นเมืองของไทยที่ด่าทอกันและอวดอวัยวะเพศกันนั้นจะต้องได้คติมาจากอินเดีย หากนำมาแสดงไว้เพื่อเปรียบเทียบชี้ให้เห็นว่ามนุษย์อาจจะมีแนวคิดที่พ้องกันหรือมีการติดต่อกันอย่างเหนียวแน่นได้
ลักษณะการแสดงความก้าวร้าวอย่างรุนแรงเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของมนุษย์ในสังคมนี้ยังมีอีกด้านหนึ่งคือ การละเล่นต่อสู้กัน ดังจะเห็นร่องรอยความเก่าแก่ที่อยู่ในสังคมมาแต่โบราณในกฎมณเฑียรบาลที่พระเจ้าแผ่นดินตราขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ซึ่งย่อมเป็นประจักษ์พยานว่าเป็นพระราชพิธีที่สำคัญมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และร่องรอยอันนี้มีอยู่ใน “วัฒนธรรมหลวง” ดังนั้นจึงจะ ต้องพักตัวอยู่ใน “ประเพณีราษฎร์” เป็นเวลาช้านานก่อนหน้าที่จะติดตามเข้ามาเป็น “ประเพณีหลวง”
กฎมณเฑียรบาล – เริ่มต้นกล่าวถึงงานพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์โดยระบุว่าเป็นพระราชพิธีเดือนห้า แต่มิได้กำหนดชื่อเรียก “สงกรานต์” และไม่มีข้อความตอนใดเกี่ยวข้องกับลักษณะ “สงกรานต์” ที่เกี่ยวกับการสาดน้ำ หากระบุรายละเอียดตั้งการพระราชพิธีออกสนามใหญ่เพื่อจัดให้มีพิธีกรรม
พิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาในพระราชพิธีเดือนห้าของกษัติริย์กรุงศรีอยุธยาจะเริ่มต้นด้วยการรัวกลองมโหรทึก และจับระบำ ต่อด้วยการละเล่นโมงครุ่ม ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จจออกเพื่อทรงเป็นประธานในพิธีกรรมนี้ จึงเริ่มการละเล่นล่อช้าง (เถื่อน) แข่งเกวียนเทียมวัวหรือมิฉะนั้นก็ชักเย่อวัวเทียมเกวียน จากนั้นจึงถึงรายการชนควาย ชนแรด ชนช้าง หัวล้านชนกัน ตีไก่ ต่อยมวย ตีคลีขี่ม้า การละเล่นต่อสู้ด้วยอาวุธ ฯลฯ
เสร็จการละเล่นหน้าพระที่นั่งชุดนี้แล้ว การละเล่นชุดที่สองก็ออกมาหลังจากตระเตรียมการพิธีปรับปรุงสนามใหญ่ให้เรียบร้อย
ชุดที่สองนี้จะเริ่มด้วยล่อช้างล่อม้าที่เป็นพาหนะแล้ว การละเล่นระเบงซึ่งเป็นการแสดงอย่างหนึ่งที่ประกอบด้วยการร่ายรำสั้นๆ แล้วจึงมีรำดาบตามด้วยโมงครุ่มอีก จากนั้นเป็นการละเล่นกุลาตีไม้ พุ่งหอก ยิงธนู เล่นแพน (หางนกยูง) บนที่สูง ตลอดถึงการเล่น (กระโดด) ลอดบ่วงและไต่เชือกหนัง ฯลฯ
จะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการละเล่นชุดแรกเป็นเรื่องของความก้าวร้าวรุนแรง โดยแสดงออกมาในรูปสัญลักษณ์ของการต่อสู้อย่างรุนแรง (ลาลูแบร์ ได้ชมการละเล่นชุดนี้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และมีบันทึกว่าการละเล่นเหล่านี้ของชาวสยามไม่รุนแรงเท่าที่ควร แสดงให้เห็นว่าเป็นการละเล่นในพิธีกรรมถือเอาเป็นสมมติหรือเอาเป็นเพียงสัญลักษณ์ของความรุนแรงเท่านั้น)
ส่วนชุดที่สองซึ่งจะเล่นหลังจากชุดแรกนานพอสมควร โดยมีพิธีกรรมอย่างอื่นมาขั้น
การละเล่นชุดที่สองมีลักษณะของการทำมาหากินอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการดีเกราะเคาะไม้ที่เล่นออกมาในรูป กุลาตีไม้ การพุ่งหอก การยิงธนู และเล่นแพนเพื่อต้อนสัตว์ ฯลฯ สะท้อนให้เห็นอาชีพล่าสัตว์ทั้งสิ้น การละเล่นชุดนี้เป็นเรื่องของพิธีกรรมที่ขอความอุดมสมบูรณ์และความปลอดภัยมั่นคงในชีวิตและสังคม
การละเล่นเหล่านี้มีประชาชนล้อมวงมุงดูด้วยความสนุกสนานที่ได้จากพิธีกรรมในส่วนนี้ทำให้เกิดการผ่อนคลายความตึงเครียดในอีกลักษณะหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเรื่องของการได้ดูการละเล่นของราชสำนัก แต่ท้ายที่สุดก็จะต้องมีการละเล่นที่จัดสำหรับพิธีกรรมขอความ อุดมสมบูรณ์ ในการประกอบอาชีพทำมาหากินและความมั่นคงของชีวิตและสังคม
ดังกล่าวมาแล้วว่าการละเล่นที่ปรากฏในกฎมณเฑียร บาลนี้เป็นประเพณีหลวงแล้ว แต่ร่องรอยที่เหลืออยู่เราย่อมเห็นได้ชัดเจนว่ามีพื้นฐานมาจากสังคม แบบชนเผ่าดั้งเดิมที่มีอาชีพล่าสัตว์หรือการเกษตรอย่างใดอย่างหนึ่งรองรับมาก่อน ที่น่าประหลาดก็คือการละเล่นเหล่านี้มีปรากฏสืบมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ โดยมีการเพิ่มเติมการละเล่นที่คล้ายคลึงกันเข้าไปอีก เช่น กะตั้วแทงควาย เป็นต้น และการละเล่นบางชนิดเพิ่งสูญหายไปจากพิธีกรรมใน “ประเพณีหลวง” เมื่อไม่นานมานี้เอง แต่ถึงแม้ว่าพิธีกรรมจริงจะไม่ใช้การละเล่นอย่างนี้แล้ว แต่การละเล่นชนิดนี้ก็ยังจดจำสืบทอดกันต่อมาโดยไม่ขาดสาย
ในหมายกำหนดการ พระราชพิธี เดือนห้าของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลดังได้ยกมาแล้วนั้น นอกจากการละเล่นอื่นๆ แล้ว การละเล่นที่เกี่ยวกับการประโคมดนตรีก็มีระบุอยู่ด้วย ดังข้อความตอนหนึ่งว่า “อินโทรตี อินทเภรี ศรีเกดตี ฆ้องไชย ขุนดนตรีตีหรทึก” ในรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไปเกี่ยวกับดนตรีที่มี บทบาทสำคัญอย่างยิ่งในพีธีกรรมต่างๆ ก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของดนตรีกับความเชื่อ ดนตรีที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโลกของมนุษย์กีบโลกอีนศักดิ์สิทธิ์ลึกลับตามความเชื่อทางศาสนา ดนตรีจึงมิได้มีความหมายเฉพาะเป็นเพียงเครื่องให้ความบันเทิงดังที่เข้าใจ
จากข้อความดังที่ยกมา จะเห็นว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นทรงตั้งข้าราชการให้มีตำแหน่งประจำในการเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชนิด และที่ปรากฏตอนนี้อย่างน้อย ๓ ชนิด คือ กลอง ๒ และฆ้อง ๑
เครื่องดนตรีชนิดที่เรียกกันว่า กลองมโหรทึก (หรทึก) มีบทบาทสำคัญมากในการพระราชพิธี ซึ่งล้วนเป็นเรื่องของความเชื่อทางศาสนา และจะมีปรากฏทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องใช้ประโคมโดยเฉพาะในเวลาที่พระมหากษัตริย์เสด็จเข้าเสด็จออกขุนนางในกิจการต่างๆ มีหลักฐานทางเอกสารว่าใช้งานที่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์สืบมาอย่างน้อย ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
กลองมโหรทึกทำด้วยโลหะผสมประกอบด้วยทองแดง ตะกั่ว และดีบุก อย่างละมากน้อยตามเกณฑ์ของการหล่อโลหะซึ่งเรียกกันต่อมาว่า “สำริด” และบางทีก็เรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า “กลองสำริด” และทำด้วยการหล่อหลอมลงในแบบที่กำหนดไว้อันแสดงให้เห็นความก้าวหน้าทางเทคนิควิทยาของการหล่อหลอมโลหะด้วย นายธนิต อยู่โพธิ์ กล่าว ว่ากลองมโหรทึกที่ใช้อยู่ในงานพิธีต่างๆ ทั้งในงานหลวง และงานราษฎร์เป็นกลองที่มีรูปกบโลหะตัวเล็กๆ อยู่บนหน้ากลองประจำ ๔ ทิศ บางลูกก็ทำกบซ้อนกัน ๓ ตัว และทางด้านข้างของตัวกลองมักทำช้างเดินตามกัน ๓ ตัว ตัวหน้าเขื่อง ตัวกลางย่อม และตัวหลังเล็ก เบื้องหลังช้างมีหอยโข่งหรือหอยทากเรียงกันไปอีก ๓ หรือ ๔ ตัว
เรื่องราวของกลองมโหรทึกมีรายละเอียดมากมาย นักโบราณคดีขุดค้นพบกลองชนิดนี้กระจายอยู่เกือบทั่วประเทศไทย และในประเทศอื่นๆ ตั้งแต่ประเทศจีนตอนใต้ลงมาจนทั่วแหลมทองก็พบเช่นเดียวกัน จากการค้นคว้ากล่าวว่ากลองมโหรทึกมีอายุเก่าที่สุดมาตั้งแต่สามพันปีมาแล้วโดยประมาณ และกระทั่งถึงทุกวันนี้รูปทรงและลักษณะสำคัญไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากเท่าใดเลย
ไม่จำเพาะแต่ปรากฏอยู่ในพิธีกรรมของชนเผ่าไทย- ลาวเท่านั้น แต่กลองมโหรทึกมีความสำคัญต่อพิธีกรรมของชนเผ่าอื่นๆ เป็นจำนวนมากที่ใช้ตีกลองชนิดนี้เพื่อขับไล่ผีร้ายและแสดงความยินดีต่อความอุดมสมบูรณ์
เพราะกลองมโหรทึกมีรูปกบรูปเขียด ฯลฯ ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพนธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากินของมนุษย์ยุคแรกเริ่มที่อาศัยอยู่อย่างเป็นชนเผ่า จึงกล่าวได้ว่ากลองชนิดนี้ใช้ในงานพิธีกรรม เพื่อความอุดมสมบูรณ์มาก่อน ในขณะเดียวกันก็ใช้ตีเพื่อขับไล่ผีร้ายที่จะมารังควานความสงบสุขเป็นการสร้างความมั่นคง ปลอดภัย ให้แก่ ชุมชน และสังคมมนุษย์ที่รวมกันอยู่
ร่องรอย ของการขับผีร้ายเพื่อปัดรังควานความไม่ดีทั้งมวลให้ออกไปจากสังคมจึงยังคงปรากฏอยู่ต่อมาจนเมื่อกลายเป็น “ประเพณีหลวง” แล้วดังกรณีที่พระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะต้องเริ่มต้นด้วยการตีกลองมโหรทึกในทุกพิธีกรรม การเอาเสียงกลองมโหรทึก เพื่อขับไล่ผีร้ายนี้ต่อมากลายเป็นใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าดังปรากฏในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนที่ว่าด้วย “พิธีสัมพัจฉรฉินท์” โดยทางภาคใต้ที่นครศรีธรรมราชเรียก “พิธีไล่แม่มด” แต่ชาวไทยลื้อที่สิบสองพันนายังจำได้ว่าพิธีขับไล่ผีร้ายดังนี้เคยใช้กลองชนิดหนึ่งระดมตีเพื่อให้เกิดเสียงดังกึกก้องเหมือนเสียงปืน
นายธนิต อยู่โพธิ์ ชี้ให้เห็นความสำคัญของกลองมโหรทึกต่อพิธีกรรมทางศาสนาว่ารัชกาลที่ ๔ พระราชทานกลองมโหรทึกให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามและวัดบวรนิเวศ โดยให้เลขวัดมีหน้าที่ประโคม และรัชกาลที่ ๕ พระราชทานกลองมโหรทึกให้วัดเบญจมบพิตร ทั้งนี้ก็เพื่อประโคมเวลาพระภิกษุลงพระอุโบสถทำวัตรสวดมนต์
ใน “ประเพณีราษฎร์” เราจะเห็นฆ้องและกลองแขวนอยู่ประจำวัดในชนบทเป็นส่วนมาก บางวัดก็แขวนไว้ในศาลา แต่บางวัดก็สร้างหอกลองขึ้นโดยเฉพาะ และจะตีฆ้อง กลองขัดกันเป็นเวลานานประมาณหนึ่งชั่วโมงทุกวัน แต่ก่อนตีทั้งเช้าและเย็นเรียก “ยํ่ารุ่ง” และ “ย่ำค่ำ” ต่อมาตีเฉพาะตอนเย็นเท่านั้น และปัจจุบันไม่ค่อยมีตี การตีฆ้อง กลองในลักษณะเช่นนี้นั้นด้านหนึ่งก็ถือการบอกหมายกำหนด เวลา แต่อีกด้านหนึ่งนั้นหมายถึงการขับไล่ผีร้ายและให้เกิดศิริมงคลเพื่อความมั่นคงของชุมชน
การบรรเลงดนตรีของมนุษย์ชนเผ่า ยุคเริ่มแรกไม่ได้บรรเลงขึ้นมาโดดเดี่ยว หากมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นกับพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็นตีเกราะเคาะไม้ก่อนออกล่าสัตว์หรือเป่าใบไม้เพื่อเลียนเสียงสัตว์ในการเรียกสัตว์ ล้วนเป้นเรื่องของการทำมาหากินไปทั้งสิ้นโกร่งและเกราะที่ทำด้วยไม้ไผ่แล้วแขวนไว้ประจำบ้านหรือประจำหมู่บ้าน นอกจากเป็นเครื่องตีเพื่อเตือนสัญญาณก่อนที่จะประดิษฐ์ กลองแบบต่างๆ ขึ้นมาแส้ว ยังเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เล่นเพื่อพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอีกด้วย แม้เมื่อไม่นานมานี้เมื่อเกิด “ราหูอมจันทร์” คือ เมื่อเกิดจันทรุปราคาหรือสุริยุปราคา เป็นต้น ประชาชนจะตีเกราะเคาะไม้ด้วยความเชื่อว่าราหูจะได้คาย
เมื่อสังคมมีพัฒนาการขึ้นมา เครื่องดนตรีกลายเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่จะใช้ติดต่อสื่อสารกับเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้มีสิ่งเหล่านี้จะมีอำนาจมาก กลองมโหรทึกก็สะท้อนลักษณะเช่นนี้ออกมาในรูปของการติดต่อกับผี และในขณะเดียวกันก็แสดงถึงความมั่งคั่งด้วยดังปรากฏคตินี้อยู่ในชนเผ่าต่างๆ หลีกฐานจากจารึกหลีกที่ ๒๑ ซึ่งพบที่ศาลเจ้าเมืองลพบุรี เป็นจารึกที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ กล่าวถึงการอุทิศสิ่งต่างๆ ให้กับศาสนสถานในเมือง ละโว้ (ลพบุรี) และในบรรดาสิ่งของที่อุทิศให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยผ่านศาสนสถานนั้นมีนางระบำ ๑ คน นักร้อง ๑ คน นักดีด ๑ คน นักสี ๑ คน โดยจารึกมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าเพื่อให้ “ทำการรับใช้ของพระกัมรเดงอัญศรีบรมวาสุเทพ ทุกวัน” เรื่องนี้เราจะเห็นอย่างชัดเจนขึ้นมาอีกว่าการละเล่นดนตรีตลอดถึงการละเล่นร้องรำต่างๆ ได้มีส่วนสัมพันธ์อย่างสำคัญกับพิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาสืบต่อมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกไม่ขาดสาย
ลักษณะให้นักดนตรีนักร้องนักรำประโคมถวายเพื่อบำเรอรับใช้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนานี้มีปรากฏก่อนหน้านี้แล้วที่ภาพปูนปั้นที่ฐานศาสนสถานซึ่งขุดพบที่เมืองคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นรูปนักดนตรีและนักร้องจำนวน ๕ คนนั่งเรียงแถวกันประหนึ่งกำลังบรรเลงบำเรอถวายศาสนสถาน
ความเชื่อว่าอุทิศสิ่งต่างๆ ให้กับศาสนสถานหรือวัดวาอารามแล้วจะได้บุญได้กุศลสูงส่งนี้เป็นคติที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาตลอดในบ้านเมืองแว่นแควนและใกล้เคียง ดังนั้นเราจึงพบการทำจารึกเพื่อประกาศแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าใครเป็นผู้อุทิศสิ่งของผู้คนถวายวัดจึงมีอยู่มากมายในประเทศไทย ดังตัวอย่างจารึกหลักที่ ๑๐๖ ซึ่งพบที่วัดช้างล้อม (ร้าง) จังหวัดสุโขทัยอันเป็นเรื่องราวในสมัยกรุงสุโขทัยระบุถึงการออกบวช สร้างวัด แล้วอุทิศผู้คนสิ่งของให้กับวัดและมีอยู่ตอนหนึ่งกล่าวว่าได้อุทิศ “พาทย์คู่หนึ่ง ให้ข้าสองเรือนตีบำเรอแก่พระเจ้า ฆ้องสองอันกลองสามอัน แตร สังข์ เขาควาย แต่งให้ไว้ถวายแก่พระเจ้า
เราจะเห็นว่านี้มิใช่การบริจาคเครื่องดนตรีให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปกองไว้เฉยๆ หากได้บริจาคผู้คนที่จะกระทำการละเล่นดนตรีและการละเล่นร้องรำเอาไว้ประจำวัดหรือศาสนสถานนั้นๆ ด้วย และมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำบำเรอกล่าวคือ บรรเลงและร้องรำถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันนับเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อทางศาสนา บุคคลเหล่านี้จะมีหน้าที่นำเครื่องดนตรีมาเล่นและร้องรำในพิธีกรรมของชุมชนที่อยู่แวดล้อมวัดและศาสนสถานเหล่านั้นด้วย เช่น พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการขับไล่ผีร้ายและวอนไหว้ผีดีเพื่อความอุดมและมั่นคง พิธีกรรมที่เกี่ยวกับงานศพและอื่นๆ ตลอดถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการบำบัดหรือรักษาโรค ฯลฯ การละเล่นเช่นนี้ในท้ายที่สุดก็มีพัฒนาการเป็นวงดนตรีแบบต่างๆ เช่น มังคละ ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนแถบพิษณุโลก พิจิตร กาหลอ ในภาคใต้ และ ตุ้มโมง ในกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่ากุยและถูกเรียกว่าส่วย แถบสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะวัดหรือศาสนสถานเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน หรือเป็นหลักของชุมชน บ้านเมืองในสมัยโบราณขยายกว้างขวางออกไปได้ก็ด้วยการอาศัยวัดและศาสนสถานตั้งชุมชนทั้งนั้น ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างจึงมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความกลมกลืนกันเพื่อความอุดมสมบูรณ์ และเพื่อความมั่นคงรวมกัน
ทั้งนี้โดยมีการละเล่นอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากพิธีกรรมของความ เชื่อศาสนา เป็นตัวโยงใยให้แสดงออกมาในรูปของสัญลักษณ์ต่างๆ นั่นเอง
เมื่อเรียกว่า “ดนตรี” นั้นหมายรวมทั้งที่เป็นการบรรเลงโดยไม่มีการร้องรับและทั้งที่มีการร้องรับขับลำนำคำคลอไปด้วย และทั้งหมดนี้จะทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับเทวดา หรือผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทำให้ความเชื่อทางศาสนานั้นมีปรากฎการณ์ขึ้นจริงต่อหน้าต่อตาเดี๋ยวนั้นกรณีเช่นนี้จะพบได้ทุกครั้งที่มีการไหว้ครู เช่น ไหว้ครูโขน ละคร และ ดนตรีไทยของกรมศิลปากร หรือของกลุ่มอื่นๆ ก็ตาม พิธีกรรมเช่นนี้จะต้องบรรเลงดนตรีปี่พาทย์ เริ่มด้วยสาธุการเพื่อนมัสการพระพุทธเจ้า ต่อจากนั้นจึงมีการอัญเชิญเทวดาที่เป็น “ครูใหญ่” ด้านศิลปะชนิดนั้นๆ เทวดาแต่ละองค์จะมีเพลงประจำองค์อันเป็นที่รับรู้กัน เมื่อดนตรีเปลี่ยนเป็นเพลงใดเพลงหนึ่งก็จะหมายความว่าเทวดาองค์นั้นๆ กำลัง เสด็จเข้ามาสู่บริเวณพิธี เพลงบางเพลงใช้เวลาบรรเลงนานเพราะเป็นเพลงยาว แต่เพลงบางเพลงใช้เวลาบรรรเลงน้อยเพราะเป็นเพลงสั้น นั่นก็จะหมายความถึงการติดต่อสื่อสารที่แสดงให้เห็นถึงความยากง่ายด้วยทั้งแสดงให้เห็นความขลังศักดิ์สิทธิ์ด้วย
จากการศึกษาภาคสนามในท้องถิ่นต่างๆ ที่มีการไหว้ครูหรือเข้าทรงตามพิธีกรรมของ “ประเพณีราษฎร์” ต่างก็มีความคล้ายคลึงกันกับ “ประเพณีหลวง” ที่กล่าวมา ดังที่เห็นจากพิธีลงข่วงซึ่งสมาชิกที่เคยรักษาอาการป่วยต่างๆ ด้วยการเข้าทรงผีฟ้าซึ่งมีอยู่ทั้งหมดในหมู่บ้านจะมาร่วมกันทำพิธีไหว้ครูผีฟ้า ในพิธีนี้จะเริ่มตั้งแต่หัวค่ำไปจนเกือบสว่าง สมาชิกที่ร่วมไหว้ครูผีฟ้าจะร่วมกันร่ายรำโดยมีเสียงแคนคลอตลอดเวลาและต่างก็มีความสนุกสนานเพลิดเพลินในพิธีกรรมนี้ แต่เมื่อเสร็จสิ้นพิธีนี้แล้ว ทุกคนจะบอกว่าไม่รู้ว่าตนเองได้ทำอะไรลงไปบ้าง
ความไม่รู้ตัวดังที่กล่าวอ้างมานั้น จะสอดคล้องกับความจริงที่ว่า โดยปกติแล้วต่างก็เป็นชาวไร่ ชาวนาแขนขาเก้งก้างและไม่เคยหัดรำมาก่อน แต่เมื่อเข้าพิธีแล้วก็ให้เกิดความขลัง ยิ่งเมื่อเสียงแคนคลอขึ้นก็จะค่อยๆ เคลิบเคลิ้มขึ้น นั่นคือลักษณะที่เชื่อกันว่าผีฟ้าเข้าสิง อาการที่แสดงออกมาก็คือตัวอ่อนแขนอ่อนแล้วก็ร่ายรำเข้าทำนองเพลง และ จังหวะของเพลงได้ในที่สุด
การร่ายรำได้อย่างถูกต้องตามจังหวะจะโคนนี้ ชาวบ้านจะยืนยันว่าตนเองไม่ใช่ผู้รำ เพราะรำไม่เป็น และไม่เคยหัดรำมาก่อน แต่ที่รำนั้นคือผีฟ้าต่างหาก
นี่คือตัวอย่างของการใช้ดนตรีเป็นสื่อสร้างโลก ที่ขลัง และศักดิ์สิทธิ์อันเต็มไปด้วยภูตผีวิญญาณ ให้มาปรากฏในโลกของความเป็นจริง
บทบาทของดนตรีเช่นที่กล่าวมานี้ มีปรากฏอยู่ในกลุ่มชนเผ่าไทย-ลาวเกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย แม้ในกล่มชนเผ่าอื่นก็เช่นเดียวกัน ดังปรากฏในแถบอีสานใต้ที่จังหวัด สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ในขณะเดียวกันก็มีปรากฏในกลุ่มชาวมุสลิมทางภาคใต้ของประเทศไทย และแท้ที่จริงแล้วชนชาตอื่นๆ ก็มีอยู่ด้วยดังมีตัวอย่างในชนเผ่าเคอร์มีส (kurmis) ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีภาษาพูดของตนเองเผ่าหนึ่งในเขตเบงกอลตะวันตกของประเทศอินเดีย กลุ่มชนเผ่านี้มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำเพราะอยู่ในบริเวณแห้งแล้ง เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดและเป็นกำลังขวัญแก่กลุ่มชนๆ นี้จึงมีพิธีร่ายรำที่เรียกว่า chhau dance อันเป็นการละเล่นร่ายรำ สวมหน้ากากในพิธีกรรมขอฝนจากพระพิฆเณศวร์ ซึ่งจะต้องกระทำกันเป็นประจำทุกปี เครื่องดนตรีที่สำคัญสำหรับการร่ายรำอันสำคัญนี้ก็คือกลอง ที่จะต้องระดมตีกันอย่างรุนแรง และให้ดังที่สุดเท่าที่จะดังได้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าดนตรีจะทำหน้าที่สื่อสารกับเทวดาหรือผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และดนตรี จะทำหน้าที่สร้างโลกที่เต็มไปด้วยภูตผีวิญญาณให้ปรากฏเป็นความจริงขึ้นมาแก่ตา
ที่มาโดย:ปรานี วงษ์เทศ

พิธีกรรมหลังการเก็บเกี่ยว

ลงแขกเกี่ยวข้าว
ถึงเริ่มฤดูการผลิตใหม่
ความเชื่อทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของมนุษย์ในช่วงเวลาที่สำคัญและน่าสนใจศึกษาที่สุดจะเห็นได้จากพิธีกรรมหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้น และพิธีกรรมที่ทำขึ้นเพื่อจะเริ่มฤดูการผลิตใหม่ที่กำลังจะมาถึง
ที่ว่าสำคัญและน่าสนใจศึกษาที่สุดก็เพราะพิธีกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้เกิดการละเล่นต่างๆ ที่สะท้อนสภาพชีวิต และลักษณะสังคมของมนุษย์มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ และลักษณะเช่นนี้เป็นปรากฏการณ์สากลที่เกิดมีอยู่เกือบจะทั่วโลกก็ว่าได้ ที่มีลักษณะสังคมคล้ายคลึงกัน
ถ้าหากศึกษาสภาพสังคมของชาวนา เราจะเห็นว่ามีความผูกพันอยู่กับผี ซึ่งมีทั้งผีดี และผีร้าย ดังนั้นจึงต้องมีพิธีกรรมที่เกี่ยวกกับผีอยู่ทุกขณะ และบางครั้งก็ไม่อาจจำแนกได้ว่าพิธีกรรมที่กำลังทำกันอยู่นั้น เกี่ยวเนื่องด้วยผีดีหรือผีร้าย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวเนื่องกันไป กล่าวคือในขณะที่กำลังไหว้ดีพลีถูกต่อผีดีเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ พิธีกรรมนั้นก็อาจจะปัดรังควานผีร้ายที่จะมาทำให้ความอุดมสมบูรณ์ ขาดหายไปพร้อมๆ กันด้วย
ที่เกี่ยวกับการทำนา จะเห็นว่ามีการ “สู่ขวัญ” ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับการทำนาอยู่ตลอดเวลา ก่อนจะลงมือเก็บเกี่ยวข้าวที่แตกรวงเหลืองอร่าม ก็จะมีการเซ่นวักตั๊กแตนผีประจำนา หรือบ้างก็ “สู่ขวัญนา” ซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์มากๆ ครั้นเมื่อเกี่ยวข้าวแล้วก็จะต้องเตรียมลานนวดข้าวไปพร้อมๆ กัน การทำขวัญลานหรือ สู่ขวัญลานก็เป็นพิธีกรรมที่จะขาดเสียมิได้ กระทั่งเมื่อนวดข้าวเสร็จก็ยังจะต้องสู่ขวัญข้าว สู่ขวัญยุ้ง ฯลฯ ต่อไปอีก
การเกิดของเพลงเกี่ยวข้าว (หรือ-เพลงเต้นกำรำเคียว) เพลงสงฟางเพื่อการนวดข้าว แล้วเอาเส้นฟางออกจากกองข้าว หรือออกจากเมล็ดข้าว เพลงสงคอลำพวนเพื่อเก็บเศษฟางละเอียดหรือฝัดขาว เพลงชักกระดานเพื่อรวบรวมเมล็ดข้าว ด้วยการชักกระดานให้เป็นกองพูน จะเกิดขึ้นมาโดยเพียงเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงโดยขาดการต่อเนื่องสัมพันธ์กับการทำขวัญหรือสู่ขวัญต่างๆ นั้นย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะ
พติกรรมที่แสดงออกมามีความต่อเนื่องกับการทำขวัญหรือสู่ขวัญโดยมีเครื่องมือเครื่องใช้ประกอบการละเล่นอยู่ด้วยนั้น ย่อมเป็นเครื่องหมายบ่งชี้ว่าการเล่นเพลงนั้นๆ เป็นไปเพื่อพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการทำมาหากินซึ่งกำลังปฏิบัติต่อเนื่องอยู่ และมนุษย์ต้องการผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์
ปัจจัยที่ทำให้เกิดเพลงประเภทนี้ขึ้นนั้น นอกเหนือจากการต่อเนื่องมาจากพิธีกรรมเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์และความสะดวกปลอดภัยในการทำงานนั้นๆ แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับกรณีที่สภาพสังคมยุคเก่าก่อนมีธรรมเนียมร่วมมือกันทำงาน ดังที่เรียกกันว่า “ลงแขก” ที่ญาติมิตรเพื่อนบ้านใกล้เคียงต่างเอื้อเฟื้อช่วยเหลือแรงงานซึ่งกันและกันโดยเริ่มตั้งแต่เกี่ยวข้าว นวดข้าว กระทั่งเอาข้าวขึ้นยุ้งเป็นอันเสร็จสิ้น ทั้งหมดเจ้าของนาจะต้องหุงหาอาหารเลี้ยงดูผู้มาช่วยทำงาน
อย่างน้อย 1 มื้อ และอย่างมากไม่เกิน 2 มื้อ แต่ถ้าหากไม่สามารถจัดหาอาหารมาเลี้ยงในเวลาที่ทำงานได้ เจ้าของนาที่ได้รับการช่วยเหลือก็จะต้องไปช่วยเหลือผู้ที่มาช่วยเป็นการตอบแทนสลับกันไปตามกำหนดเวลาที่จะต้องตกลงกันอย่างหลวมๆ ลักษณะรวมหมู่เป็นกลุ่มก้อนเช่นนี้ทำให้เอื้อต่อการที่จะสนองพิธีกรรมด้วยการร่วมกันเล่นเพลงขึ้นมาด้วย จุดประสงค์เริ่มแรกเพื่อความอุดมสมบูรณ์
ที่มาโดย:ปรานี วงษ์เทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างการละเล่นกับระบบความเชื่อ

ลอยกระทง
ดังกล่าวมาแล้วว่าส่วนประกอบที่สำคัญของพิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนามีอยู่ ๓ ประการ คือ (๑) การเซ่นสรวงบูชาหรือทำบุญ (๒) การกินเลี้ยง และ (๓) การละเล่นรื่นเริง
ส่วนประกอบทั้ง ๓ ประการนี้มีความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ ดังนั้น การละเล่นจึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดหรือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนา แต่การละเล่นที่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมนี้แสดงออกมาด้วยการกระทำอย่างเป็นสัญญลักษณ์ (symbolic action) ซึ่งเราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจขบวนการทั้งหมดของพิธีกรรม กับความเชื่อที่เกี่ยวข้องเสียก่อน เมื่อนั้น เราจึงจะเห็นสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับพิธีกรรม และทั้งมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตมนุษย์และต่อสังคม
พิธีกรรม ที่จะแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์และสังคมนั้น ได้แก่พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดเจนที่สุด ส่วนพิธีกรรมที่เกี่ยวกับด้านอื่นก็มีบทบาทเช่นเดียวกัน หากแต่รายงานเรื่องนี้จะชี้ให้เห็นอย่างละเอียดเพียงเรื่องเดียวโดยจะพยายามยกตัวอย่างให้เห็นทั้งในระดับประเพณีราษฎร์และประเพณีหลวง ส่วนพิธีกรรมอื่นๆ นั้นไม่อาจกล่าวได้โดยละเอียดเนื่องจากมีเนื้อที่จำกัด
ว่ากันที่จริงแล้วพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของมนุษย์นั้นจะมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากจะถือตามคติโบราณดั้งเดิมแท้ๆ ที่ว่าปีหนึ่งมี ๑๒ เดือน และเดือนแรกของปี หรือขึ้นปีใหม่กันในเดือนอ้าย” แล้ว พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำมาหากินก็จะมีตั้งแต่เดือนอ้ายไปจนจบ เดือนสิบสอง อย่างต่อเนื่องกัน
เรื่องขึ้นปีใหม่ในเดือนอ้ายนี้เป็นคติที่เก่าแก่กว่าขึ้นปีใหม่ในเดือนห้าหรือ “สงกรานต์” ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ประชาชนยังเชื่อถือทั้ง ๒ คติ กล่าวคือเมื่อเริ่มเดือนอ้ายก็มีพิธีกรรมขึ้นปีใหม่ ครั้นเมื่อถึงเดือนห้าก็มีขึ้นปีใหม่อีก อย่างน้อยที่สุดชื่อว่า “เดือนอ้าย” ย่อมเป็นเค้าให้เห็นอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นการนับเดือนที่หนึ่งอย่างไทยแท้ๆ กรณีนี้มีปรากฏในชนเผ่าไทย-ลาว ทุกแห่งตรงกัน เข้าใจว่ามาเปลี่ยนเป็นขึ้นปีใหม่ในเดือนห้า “สงกรานต์” โดยกลุ่มที่อยู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อเริ่มรับอารยธรรมอินเดียแล้วจึงแพร่หลายไปยังไทยเผ่าอื่นๆ ในภายหลัง
ดังได้ชี้ให้เห็นมาก่อนแล้วว่า “ประเพณีราษฎร์” และ “ประเพณีหลวง” นั้นมีความต่อเนื่องกัน, แต่มีความสลับซับซ้อนต่างกัน เพราะราชสำนักมีพื้นฐานมาจาก “ประเพณีราษฎร์” แต่ได้รับวัฒนธรรมจากต่างประเทศมาประสมประสานทำให้สร้าง “ประเพณีหลวง” ขึ้นมาด้วยการประสมประสานวัฒนธรรมต่างประเทศ เช่น วัฒนธรรมอินเดีย แต่ ก็ยังคงสาระสำคัญของ “ประเพณีราษฎร์” เอาไว้ ดังกรณี การย่อส่วนเพื่อ “บงการ” ธรรมชาติตามที่ยกมาแล้วในเรื่อง “ตาแรก” และการ “แรกนา” ดังนั้น จึงไม่ประหลาดใจเลยว่าพระราชพิธี ๑๒ เดือนที่กระทำ อยู่ในราชสำนักตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาลงมานั้น ก็คือสิ่งที่ได้เค้าโครงมาจาก “ประเพณีราษฎร์” และล้วนเป็นพิธีกรรมของประเพณีหลวง ที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน คงกรณีที่เดือนหกมีพระราชพิธีแรกนา ครั้นไปถึงเดือนสิบเอ็ด จะมีพิธีแข่งเรือเพื่อเสี่ยงทายผลผลิตในนาอีกครั้ง พอถึงเดือนสิบสองจะมีพิธีจุดประทีปลอยโคมเพื่อบัดพลีดีไหว้พระคงคาคือน้ำให้หล่อเลี้ยงข้าวกล้าซึ่งกำลังแตกรวงอร่าม แต่พอถึงอ้ายจะมีการชักว่าว แล้วลงเรือเพื่อไล่น้ำให้รีบลดลงไป มิฉะนั้นข้าวจะแก่เน่า เกี่ยวเก็บไม่ได้สะดวก ดังนี้เป็นต้น
พระราชพิธีดังกล่าวนั้น ไม่ปฏิเสธเลยว่ามีอิทธิพล วัฒนธรรมจากต่างประเทศอย่างอินเดียเข้ามาประสมประสาน จนซับซ้อนแล้ว แต่วัฒนธรรมอินเดียจะดำรงอยู่ไม่ได้ถ้าหากไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตการผลิตของสังคม และราชสำนักกรุงศรีอยุธยาก็คงจะไม่ทำขึ้นหรือไม่คิคทำขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีพื้นฐานสังคมดั้งเดิมรองรับมาก่อน ในที่นี้เชื่อว่าสังคมไทย – ลาวมีพื้นฐานพิธีกรรมของตนเองที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินรองรับอยู่แล้วอย่างมีความเป็นตัวของตัวเอง ดังกรณีที่ชนเผ่าไทย – ลาวมีความเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมี “ผี” สิงสถิตย์อยู่แล้วก็กระทำบวงสรวงบัดพลีดีไหว้ “ผี” เหล่านี้ เพื่อปกปักรักษาหรือเกื้อกูลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ การรับวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามานั้นเป็นเพียงเอามาประสมประสานให้มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์เป็นระเบียบวิธีมากขึ้น เท่านั้นเอง ไม่ใช่หยิบลอกเอาเข้ามาทั้งหมดอย่างที่ส่วนมากเข้าใจกัน
ถ้าหากพระราชพิธีที่เป็น “ประเพณีหลวง” ที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของมนุษย์ในดินแดนประเทศไทยนี้ ล้วนรับแบบอย่างมาจากอินเดียทั้งสิ้นทั้งมวล ก็น่าจะหมายความว่าการทำไร่ทำนาก็ต้องรับมาจากอินเดียด้วย แต่การทำกสิกรรมในดินแดนที่เป็นประเทศไทยนี้มีพัฒนาการมาเป็นเวลานับหมื่นปีแล้ว ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เป็น มนุษย์รุ่นแรกๆ รุ่นหนึ่งของโลกที่มีการทำกสิกรรม ดังนั้นพื้นฐานทางพิธีกรรมก็ย่อมจะมีอยู่ควบคู่กันไปด้วย แต่ย่อมเป็นสิ่งที่แน่นอนว่า พิธีกรรมเหล่านี้ย่อมคลี่คลายไปเรื่อยๆ จนทำให้คนรุ่นหลังๆ อาจจะไม่เข้าใจถึงสาระสำคัญของความหมายดั้งเดิม ดังที่ทุกวันนี้ก็อาจจะไม่มีใครเข้าใจความหมายเก่าแก่ของพิธีกรรมซึ่งทำสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน
ที่มาโดย:ปรานี วงษ์เทศ