พระอุมา

Socail Like & Share

พระอุมา
พระอุมา แปลตามตัวว่า แสงสว่าง นางเป็นชายาของพระอิศวรหรือพระศิวะ และมีหลายนาม เช่น เทวี (เทพธิดา) และปารพตี (ชาวเขาเพราะเป็นธิดาแห่งท้าวหิมวัต คือ ภูเขาหิมาลัย) เป็นต้น เนื่องจากนางเป็นศักติ (กำลังแรง) ของพระอิศวร นางจึงมีลักษณะ ๒ ประการ คือ เรียบร้อยและรุนแรงโหดร้าย สำหรับลักษณะหลังทำให้มีผู้เคารพนับถือนางมาก และทำให้นางมีนามหลายนาม เช่น ทุรคา (ผู้เข้าถึงได้โดยยาก) กาลี (ผู้มีผิวดำ) และไภรวี (ผู้รุนแรง) เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ผู้บูชานางด้วยโลหิต ในลักษณะโหดร้าย นางมี ๑๐ กร และถืออาวุธต่างๆ กัน นางมีนามว่ามหิษมรรทินี เมื่อฆ่ามหิษะ คือ อสูรในรูปควาย
คัมภีร์อุตตร-กามิกาคม กล่าวว่าเมื่อปรากฏกายเดี่ยว (ไม่มีเทพ) นางจะมี ๔ กร ๓ เนตร สวมกรัณทกุฎ และสวมผ้าไหม ถือปาศะ (บ่วง) และอังกุศะ (ขอสับช้าง) ส่วน ๒ กรหน้าเป็นปางกฏกะ (ทำมือกำดอกไม้แต่ไม่มีดอกไม้ แสดงว่าจะต้องมีดอกไม้สดมาปักเป็นประจำ) ส่วนอีกกรหนึ่ง จะปล่อยลงมาข้างลำตัว มี ๒ เนตร พระฉวีเป็นสีทองสง่างาม บางทีแม้จะประทับยืนเดี่ยวๆ ก็มี ๒ กรเท่านน โดยจะถือนกแก้วหรือกระจก ดอกบัวสีฟ้า หรือบางทีจะถือตรีศูล และปาศะ (บ่วง) หรืออาวุธอื่นๆตามแต่ศิลปินจะจัดให้ ในบางกรณีจะมีถึง ๖ กร โดย ๔ กรหลังถือปาศะ อังกุศะ สังข์และจักร ส่วน ๒ กรหน้าจะอยู่ในปางประทานพรและ ประทานอภัย และที่ปรากฏว่ามีถึง ๑๐ กร ๕ เศียรก็มีบ้าง เป็นปางที่แสดงอาการดุร้าย โดยกรทั้ง ๑๐ ถืออาวุธประจำของพระศิวะในท่ากอดรัดพระศิวะ โดยจะประทับนั่งบนพระเพลาของพระศิวะ ถ้าประทับนั่งเคียงบนแท่นเดียวกัน พระบาทข้างหนึ่งของเทพีจะเป็นซ้าย หรือขวา จะต้องห้อย ลงมาเสมอ ”

ในนครศรีธรรมราชได้ค้นพบประติมากรรมพระอุมาสำริดองค์หนึ่ง นางประทับยืนในท่าตริภังค์ (แปลว่า หักสามส่วน หมายถึงการยืนเอียงศีรษะ ไหล่และตะโพก) ทรงดอกบัวอยู่ในพระหัตถ์ขวา ทรงมกุฎรูปหม้อทรงสูง (กีรีฏะ- มกุฎ) ทรงสไบรอบพระอุระ ชายผ้าพันรอบพระโสณี (ตะโพก) ผูกเป็นโบทั้งสองข้าง ตามประเพณีแล้วนางจะประทับยืนอยู่บนฐานอีกฐานหนึ่งทางเบื้องซ้ายของนาฏราชา รูปแบบของประติมากรรมชิ้นนี้มีควานคล้ายคลึงกับนางปารวตีสำริด ที่พบที่ตำบลตันชอร์ เมืองมัทราส ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ที่แสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์รัฐบาลเมืองมัทราส ประเทศอินเดีย และนางปารวตีสำริด ศิลปะอินเดียแบบทมิฬ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ มาก ดังนั้นพระอุมาองค์นี้จึงเป็นศิลปะของกลุ่มชนภาคใต้ อิทธิพลศิลปะอินเดียภาคใต้อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *