พระศิวะ

Socail Like & Share

พระศิวะเทพ
พระศิวะเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งในบรรดาเทพผู้ยิ่งใหญ่สามองค์ของพราหมณ์ พระศิวะเป็นเทพเจ้าผู้ทำลายล้าง ในขณะที่พระพรหมเป็นผู้สร้างและพระวิษณุเป็นผู้รักษา ในคัมภีร์พระเวท (ในฤคเวทและอถรรพเวท) ได้กล่าวถึง คำว่า ศิวะ (แปลว่าฤกษ์งามยามดี) ว่าเป็นนามหนึ่งของ รุทระ ในบทสวดสรรเสริญทั้งหมดก็ใช้รุทระทั้งสิ้น รุทระ เป็นเทพที่นำความเจ็บไข้และความตายมาสู่มนุษย์ ต่อมาในยุคหลังๆ จึงได้รับการเรียกว่า “ศิวะ” ศิวะมีชื่อเรียกต่างออกไปอีกมาก เช่น มหาเทวะ รุทระ ธูรชฏิ นีลกัณฑ์ และตรีเนตร เป็นต้น ในการบูชาพระศิวะนั้นจะใช้ลึงค์เป็น สัญลักษณ์ และมีการทำรูปปั้นขนาดเท่ามนุษย์ด้วย แต่ที่นิยมกันมากที่สุด คือ ลึงค์ ในบรรดาศาสนสถานของพระศิวะนั้นจะนิยมประดิษฐานศิวลึงค์เป็นองค์ประธาน ส่วนรูปพระศิวะจะประดิษฐานไว้ตามมุมต่างๆ ในวัด เป็นส่วนประกอบเท่านั้นเอง พระศิวะเป็นเทพสูงสุดในลัทธิไศวนิกาย
วิวัฒนาการของลึงค์อาจจะเริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ อย่างการขุดค้นโมเหนโชดาโร และฮารัปปาในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุได้ค้นพบหินเล็กๆ รูปทรงกระบอก และรูปกรวย หินรูปทรงกระบอกนี้อาจจะหมายถึงสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และหมายถึงสัญลักษณ์ของพระศิวะเอง ในแบบของอวัยวะเพศชาย ส่วนหินรูปทรงกลมแผ่นแบนๆ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ ๑/๒ นิ้ว ถึง ๔ ฟุต ก็พบว่าอยู่ในหลุมขุดค้นเดียวกันกับหินรูปทรงกระบอก คงจะหมายถึง สัญลักษณ์ของ “โยนี”
หรืออวัยวะเพศหญิง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของชีวิต เลือดเนื้อ และการสืบต่ออายุ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ สัญลักษณ์ของความเป็นมารดา ผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ชีวิตมนุษยชาติ หลักฐานเหล่านี้อาจจะเข้าใจได้ว่า ชาวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนับถือบูชาเทพหญิงและชาย ในแบบของ “ลึงค์” และ “โยนี” ต่อมาคติการนับถือแบบนี้ก็ตกทอดมาเป็นมรดกทางศาสนาให้กับชาวฮินดูในสมัยประวัติศาสตร์
ลึงค์ อาจจะแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ลึงค์ที่เคลื่อนย้ายได้ และลึงที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ ลึงค์ที่เคลื่อนย้ายได้ คือ บรรดาลึงค์ที่ทำด้วยดิน (ดินดิบและดินเผา) โลหะ (ทอง) เงิน ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว หินมีค่า ไข่มุก ปะการัง หินตาแมว ผลึกหินควอร์ทซ์ หยก) และลึงค์ที่เคลื่อนย้ายไม่ได้มีอยู่ด้วยกัน ๙ ประเภท คือ สวายัมภูวะ คือ ลึงค์ที่เกิดเองตามธรรมชาติ เคลื่อนย้ายไม่ได้ ประดิษฐานอยู่ในที่ต่างๆ รวม ๖๘ แห่งทั่วอินเดีย ไควตะ คือ ลึงค์ที่มีรูปร่างเหมือนเปลวไฟ หรือเหมือนมือ ๒ มือ ในท่าเทพนม หรือเหมือนสิ่วหรือสามง่ามก็ได้ คานปัตยะ คือ ลึงค์ที่สร้างโดยพวกคานาส (พวกคนแคระ) มีรูปร่างเหมือนผลแตงกวา มะนาว หรือ แอปเปิล อรรษะ คือ ลึงค์ที่พวกฤษีใช้บูชา มีรูปร่างเหมือนผลมะพร้าวที่ยังไม่ปอกเปลือก มานุษ คือ ลึงค์ที่ต้องสร้างโดยมือมนุษย์ สร้างตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ ในอาคม มนุษย์ลึงค์มี ๓ ส่วน ส่วนล่างสุดเป็นรูปสามเหลี่ยม เรียกว่า พรหมภาค ตอนกลางเป็นรูปหกเหลี่ยมเรียกว่าวิษณุ ภาคตอนยอดสุดเป็นรูปกลมเรียกว่า รุทรภาค ขนาดสูงต่ำของแต่ละภาคหรือแต่ละส่วนขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ที่วางไว้
ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทรงกล่าวถึง ศิวลึงค์ว่า “… คือ องค์กำเนิดของเพศชาย ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระอิศวรหรือศิวะ หมายถึงการสร้างสรรค์ความมั่งคั่ง ความเจริญรุ่งเรือง ในขณะเดียวกันก็หมายถึงตรีมูรติ (พระผู้เป็นเจ้าสามองค์ในศาสนาพราหมณ์) ด้วย คือ ส่วนสี่เหลี่ยมเบื้องล่างเรียกว่า พรหมภาค (พระพรหม) ส่วนกลาง แปดเหลี่ยมเรียกว่า วิษณุภาค (พระวิษณุ) ส่วนยอดรูปทรงกระบอกเรียกว่า รุทรภาค (พระอิศวร) โดยทั่วไปทั้งสามส่วนมักจะมีความสูงเท่ากัน มีฐานรองรับซึ่งมีร่องให้น้ำมนต์ไหลเรียกว่า “โยนี” และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ กล่าวว่า ลุงค์คือ สัญลักษณ์เพศชาย ใช้แทนองค์พระอิศวร วิษณุภาค คือ ส่วนที่เป็นรูปแปดเหลี่ยม และ รุทรภาค คือ ส่วนยอดรูปกลมของศิวลึงค์
ในบรรดามนุษย์ลึงค์นั้นมุขลึงค์นับว่าน่าสนใจเพราะมีหน้าคนสลักอยู่ อาจจะหน้าเดียวหรือหลายหน้าก็ได้
ในรูปของเทพนั้นพระศิวะทรงเป็นมหาโยคี ทรงมุ่นมวยผมเป็นชฎา (อย่างน้อยก็ในระยะแรก) ทรงนุ่งหนังเสือ และถือตรีศูล ทรงมีเนตรที่ ๓ ขวางอยู่กลางพระนลาฏ ซึ่งถ้าลืมขึ้นเมื่อใดก็จะเกิดเป็นไฟบรรลัยกัลป์เผาผลาญโลก ทรงทัดจันทร์เสี้ยวเป็นปิ่น และสวมนาคเป็นสังวาล ประติมา- กรรมที่สำคัญของพระองค์คือพระอิศวร ทรงฟ้อนรำ หรือ พระศิวะนาฏราช เพราะผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งยกย่องพระองค์เป็นใหญ่จะถือว่าจังหวะการฟ้อนรำของพระองค์อาจบันดาลเหตุร้ายให้เกิดแก่โลกได้ พระศิวะปางโกรธเรียกว่า พระศิวะโภท คือ ผู้ทำลายที่น่ากลัว นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นภูเตศวร คือ เจ้าแห่งภูตผีปีศาจด้วย ชายาของพระองค์ คือ พระอุมา (ปารพตี) และพาหนะ คือ โคนนทิ

ศิวนาฏราช
(๑) ศิวนาฏราช
ในที่นี้จะกล่าวถึงรูปเคารพของพระศิวะที่ค้นพบในจังหวัดนครศรีธรรมราชในรูปของเทพก่อน ซึ่งมีอยู่เพียงชิ้นเดียวเท่านั้น คือ พระศิวนาฏราช หรือนาฏราชา ซึ่งค้นพบที่โบสถ์พราหมณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ภาพนี้เป็นศิลปะของกลุ่มชนภาคใต้ อิทธิพลของศิลปะอินเดียภาคใต้ อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓ แต่ลักษณะทางประมาณวิทยาของศิลปกรรมชิ้นนี้ มีความคล้ายคลึงกับพระศิวนาฏราชสำริด ศิลปะอินเดียแบบ ทมิฬ สมัยราชวงศ์โจฬะ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบอร์ด กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษมาก ดังนั้นประติมากรรมซึ่งค้นพบ ณ นครศรีธรรมราช จึงอาจจะกำหนดอายุให้สูงขึ้นไปได้อีกหลายศตวรรษ
ประติมากรรมสำริดชิ้นนี้ แสดงจักรวาลของลัทธิไศว¬นิกายโดยวงโค้งรูปเกือกม้าที่มีเปลวไฟพวยพุ่งโดยรอบ การเคลื่อนไหวทั้งหมดเกิดขึ้นได้จากจังหวะนาฏลีลาของพระศิวะ บทบาทของสัญลักษณ์ที่แสดงถึงหน้าที่ของพระศิวะ คือ กลองที่ทรงไว้ในพระหัตถ์ขวาด้านหลังในภาวะที่เป็นพระผู้รักษา พระหัตถ์ขวาด้านหน้าอยู่ในท่าปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายด้านหลังทรงอัคนีสัญลักษณ์ของการทำลาย ด้วย พระอังคุส (นิ้วหัวแม่มือ) กับพระดรรชนี (นิ้วชี้) ในขณะที่พระหัตถ์ซ้ายด้านหน้าชี้ยังพระบาทที่ยกขึ้น อันเป็นที่พำนักแห่งวิญญาณ พระองค์ทรงอยู่ในท่าภุชงคตราสิต เป็นหนึ่งใน ๑๐๘ ท่า ของนาฏลีลาและนาฏราชาในแบบของอินเดียใต้ ที่นิยมกันทั่วไป พระเกศาที่มุ่นเป็นเกลียวประดับด้วยขน นกยูง ดอกไม้และงูพิษ มีสัญลักษณ์ของพระองค์อีกสองอย่างประดับอยู่ คือ กปาละ และพระจันทร์เสี้ยวที่พระกรรณข้างขวาทรงกุณฑลรูปมกร ส่วนพระกรรณข้างซ้ายทรงกุณฑลรูปจักร กุณฑลแบบแรกแสดงถึงครึ่งเพศชาย และกุณฑลแบบหลัง แสดงถึงครึ่งเพศหญิง พระบาทขวาทรง เหยียบอปัสมารปุรุษ ชื่อ มุยลก ซึ่งถืองูเห่าอยู่ในมือซ้าย

ศิวลึงค์
(๒) ศิวลึงค์
รูปเคารพที่สำคัญมากในลัทธิไศวนิกายที่ค้นพบมาก ในนครศรีธรรมราชอีกอย่างหนึ่ง คือ ศิวลึงค์ ซึ่งส่วนใหญ่สลักด้วยศิลาและพบกระจัดกระจายโดยทั่วไปในชุมชนโบราณ แทบทุกแห่งของนครศรีธรรมราช ศิวลึงค์เหล่านี้มีหลายรูปแบบและหลายขนาด โดยพอจะจัดได้ว่าลึงค์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ และในขณะนี้ยังไม่มีการค้นพบมุขลึงค์ในนครศรีธรรมราช ในที่นี้จะแบ่งศิวลึงค์ ที่ค้นพบในนครศรีธรรมราชออกเป็นกลุ่มๆ ดังนี้ คือ
กลุ่มที่ ๑ ศิวลึงค์ที่สลักอยู่กับโยนิโทรณะ
ขณะนี้ได้ค้นพบประติมากรรมศิวลึงค์ขนาดเล็กสลักติดอยู่กับฐาน (หรือโยนีหรือโยนิโทรณะ) เพียงสองชั้นเท่านั้น ลักษณะของศิวลึงค์เหล่านี้คล้ายคลึงกับที่ค้นพบ ณ ดงศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี และปัจจุบันย้ายมาจัดแสดง ณ พิพิธภณฑสถานแห่งชาติพระนคร
กลุ่มที่ ๒ ศิวลึงค์ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าลึงค์แบ่งออกได้เป็นสามส่วน คือ ส่วนยอดรูปทรงกลม เรียกว่า รุทรภาค ถัดลงมาเป็นรูปแปดเหลี่ยมเรียกว่า วิษณุภาค และส่วนรูปสี่เหลี่ยมเรียกว่า พรหมภาค โดยทั่วไปลึงค์ที่สร้างให้มีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาดิอย่างมาก จะมีอายุเก่ากว่าลึงก์ที่ทำขึ้นตามแบบแผนคตินิยม คือ ลึงค์ที่สร้างให้ส่วนทั้งสามมีขนาดไล่เลี่ยเท่ากัน โดยตลอด ลึงค์ในกลุ่มนี้จัดว่าเป็นตัวอย่างของลึงค์ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะว่าส่วนมากรูปทรงกลม (รุทรภาค) จะมีขนาดใหญ่กว่าส่วนรูปแปดเหลี่ยม (วิษณุภาค) และส่วนรูปสี่เหลี่ยม (พรหมภาค) รวมกัน จึงจัดได้ว่ามีอายุอยู่ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒

กลุ่มที่ ๓ ศิวลึงค์ยุคตามแบบแผนคตินิยม
ศิวลึงค์ในยุคนี้นิยมสลักตามคตินิยมทุกประการ คือ สลักให้ความสูงของส่วนยอด (รุทรภาค) ส่วนแปดเหลี่ยม (วิษณุภาค) และส่วนฐานสี่เหลี่ยม (พรหมภาค) เท่ากันหมด หรือไล่เลี่ยกัน ศิวลึงค์ในกลุ่มนี้มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔
กลุ่มที่ ๔ ศิวลึงค์ที่ไม่ทราบรูปแบบที่แน่นอน 

ได้ค้นพบศิวลึงค์บางองค์ที่ชำรุดมาก จนไม่สามารถสังเกตรูปแบบที่แน่ชัดได้ และศิวลึงค์บางองค์ยังฝังอยู่ในดินและเป็นที่เคารพของประชาชนโดยทั่วไปอยู่ในเทวสถาน ไม่สามารถขุดขึ้นมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นรูปทรงใดแน่

โยนิโทรณะ
(๓) โยนิโทรณะ
โยนิโทรณะ คือ ฐานที่ประดิษฐานศิวลึงค์ มักจะมีร่องเพื่อให้น้ำไปลงตามพิธีกรรมและความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ได้มีการค้นพบโยนิโทรณะเป็นจำนวนมากในนครศรีธรรมราช โยนิโทรณะเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นศิลาทั้งสิ้น ในที่นี้อาจจะแบ่งรูปแบบของ โยนิโทรณะ ดังกล่าวออกเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้ คือ
กลุ่มที่ ๑ โยนิโทรณะที่ไม่มีร่องรอยการสลัก
นับเป็นโยนิโทรณะแบบดั้งเดิม เพราะเป็นเพียงหินที่เจาะรูเท่านั้น ไม่มีร่องรอยการประดับตกแต่งแต่อย่างใดเลย อาจจะกำหนดให้มีอายุใกล้ เคียงกับศิวลึงค์รุ่นแรกที่พบในนครศรีธรรมราช คือ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ สำหรับรูนั้นอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิง หรือใช้สำหรับเสียบ ศิวลึงค์ก็ได้
กลุ่มที่ ๒ โยนิโทรณะที่ไม่ได้เจาะรู
เป็นโยนิโทรณะที่มีร่องรอยการสลักและตกแต่งให้มีรูปร่างและขนาดที่สวยงามรวมทั้งมีร่องน้ำด้วย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ได้มีการสลักเป็นรูลงไปในแผ่นศิลาดังกล่าวนี้เลย ดังนั้นการประดิษฐาน ศิวลึงค์บน โยนิโทรณะแบบนี้จึงอาจจะวางฐานศิวลึงค์ไปบนแผ่นโยนิโทรณะโดยไม่ต้องมีการเสียบด้วยเดือยแต่อย่างใด อาจจะกำหนดให้โยนิโทรณะแบบนี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ นับเป็นแบบที่พบน้อยมาก
กลุ่มที่ ๓ โยนิโทรณะที่เจาะรูไม่ทะลุ
มีโยนิโทรณะแบบหนึ่ง มีการตกแต่งองค์ประกอบทั้ง ภายนอก และภายในเช่นเดียวกับโยนิโทรณะโดยทั่วไปทุกประการ มีร่องน้ำ และมีการเจาะรูที่ตรงกลางแผ่นศิลาด้วย หากแต่รูที่เจาะนั้นไม่ได้เจาะให้ผ่านทะลุแผ่นศิลา อาจจะเจาะให้ลึกเพียงครึ่งหนึ่งของแผ่นศิลาเท่านั้น กำหนดให้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ เช่นเดียวกัน
กลุ่มที่ ๔ โยนิโทรณะที่เจาะรูทะลุตลอด

โยนิโทรณะแบบนี้มีรูปแบบเหมือนกับแบบที่สามทุกประการ หากต่างกันเพียงว่าโยนิโทรณะแบบนี้มีการเจาะรูที่ตรงกลางแผ่นศิลา โดยเจาะให้รูดังกล่าวทะลุผ่านแผ่นศิลาลงไปโดยตลอด กำหนดให้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ เช่นกัน
กลุ่มที่ ๕ โยนิโทรณะที่ฐานสูงมาก และมีลวดลายประดับ
ในบรรดาโยนิโทรณะที่ค้นพบในนครศรีธรรมราช มักจะสลักด้วยศิลาที่ไม่หนามากนัก คือไม่เกิน ๖ นิ้ว แต่กระนั้นก็ตามได้มีการค้นพบโยนิโทรณะแบ่งชิ้น ซึ่งมีความสูงมาก คือ ราว ๑ เมตรเศษ ลักษณะด้านบนมีการตกแต่ง ให้มีร่องน้ำ และรูที่เจาะไม่ทะลุผ่านตลอด เช่นเดียวกับโยนิ- โทรณะแบบที่สาม แต่ลักษณะที่พิเศษไปจากแบบอื่นๆ คือ เป็นโยนิโทรณะที่มีฐานสูงมาก และมีลวดลายสลักประดับทุกด้านของฐานนี้ มีการสลักฐานเป็นลวดบัวขึ้นไปเป็นชั้นๆ และมีเสาด้วย เหมือนกับการสลักภาพจำลองอาคาร อาจจะกำหนดให้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *