โบราณสถานในศาสนาพราหมณ์

ขณะนี้ได้ค้นพบชุมชนโบราณขนาดใหญ่ในเขตอำเภอขนอม, สิชล, ท่าศาลา และอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นชุมชนโบราณที่ทอดตัวไปตามแนวยาวของผืนทราย ซึ่งยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ที่ทอดตัว ในแนวเหนือ-ใต้ในเขตอำเภอดังกล่าว
อาจจะกล่าวได้ว่าในชุมชนโบราณแห่งนี้มีโบราณสถานที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะได้ค้นพบโบราณวัตถุหรือรูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์ ปรากฏอยู่ควบคู่กับโบราณสถานเหล่านี้ เช่น ศิวลึงก์, เทวรูป พระวิษณุ, เทวรูปพระพิฆเนศวรและโยนิ เป็นต้น
จากการสำรวจทางโบราณคดีในขณะนี้ปรากฏว่าได้พบโบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ในชุมชนโบราณแห่งนี้ ไม่น้อยกว่า ๕๐ แห่ง โบราณสถานส่วนใหญ่คงอยู่ริมแม่น้ำ (คลอง) ในเขตอำเภอสิชล เช่น คลองท่าทน, คลองท่าควาย คลองท่าเรือ และคลองเทพราช เป็นต้น
จากการกำหนดอายุเบื้องต้นของโบราณสถานเหล่านี้ โดยอาศัยรูปแบบทางศิลปกรรมของโบราณวัตถุที่พบร่วมกับโบราณสถานและอักษรปัลลวะบางตัวที่สลักอยู่ในชิ้นส่วนของอาคารโบราณสถานบางแห่ง เราอาจจะกล่าวได้ว่าโบราณสถานเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔ อันนับเป็นโบราณสถานรุ่นแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยัง หลงเหลืออยู่
โบราณสถานในชุมชนโบราณแห่งนี้จำนวนไม่น้อยที่ถูกรอจนโบราณวัตถุหรือรูปเคารพ และชิ้นส่วนของอาคาร ซึ่งทำด้วยหินและอิฐกระจัดกระจายโดยทั่วไป ชิ้นส่วนที่ทำด้วยหินได้แก่ ฐานเสา ธรณีประตู กรอบประตู และเสา เป็นต้น และยังมีโบราณสถานอีกไม่น้อยที่ยังคงอยู่ภายใต้เนินดินซึ่งคงจะหมายถึงว่ายังไม่ถูกขุดคุ้ยทำลาย
รอบๆ โบราณสถานที่อยู่ห่างจากลำน้ำมักจะมีสระน้ำโบราณปรากฏอยู่โดยทั่วไป สระน้ำโบราณเหล่านี้คงจะขุดขึ้นเนื่องในความเชื่อหรือพิธีกรรมทางศาสนา และการบริโภคของชุมชน แต่โบราณสถานบางแห่งแม้จะอยู่ใกล้ลำน้ำแต่ก็ปรากฏสระน้ำโบราณเช่นกัน โดยสระน้ำโบราณ มักจะอยู่ในด้านอื่นๆ ที่ตรงข้ามกับด่านที่ติดลำคลอง
ในบรรดาโบราณสถานเหล่านี้ โบราณสถานบนเขาคา นับว่าน่าสนใจมาก เพราะได้ค้นพบโบราณวัตถุ (รูปเคารพ) ของไวษณพนิกาย และไศวนิกาย ที่มีอายุอยู่ในช่วงเดียวกันอยู่ด้วยกันหลายชิ้น นอกจากนี้ยังได้พบโยนิ (หรืออาจจะเป็นฐานรูปเคารพ) ขนาดใหญ่ ลำรางนามนต์ และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่ส่วนใหญ่ทำด้วยหินปูนและอิฐ เช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ กระจายอยู่ทั่วไปทั้งภูเขาลูกนี้ แต่สิ่งเหล่านี้พบในปริมาณมากและขนาดใหญ่กว่าในแหล่งโบราณคดีอื่นๆ คงจะเป็นเพราะมีโบราณสถานหลายหลังหรือไม่ก็โบราณสถานขนาดใหญ่อยู่บนภูเขาลูกนี้ จนนักโบราณคดีบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าโบราณสถานแห่งนี้อาจจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนโบราณแหล่งนี้ และศูนย์กลางของโบราณสถานทั้งหลายในบริเวณนี้ก็ได้ เพราะรอบๆ โบราณสถานแห่งนี้โดยเฉพาะทางด้านเหนือห่างออกไปในรัศมีราว ๕๐๐-๑,๐๐๐ เมตร ได้พบโบราณสถานที่ชาวบ้านพบรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ทั้งไศวนิกาย และไวษณพนิกาย กระจายอยู่อย่างหนาแน่นเป็นพิเศษ
ด้วยเหตุนี้ ชุมชนโบราณแห่งนี้คงจะเป็นพัฒนาการของชุมชนยุคแรกๆ ต่อเนื่องมาจนถึงยุครุ่งเรืองยุคหนึ่งของรัฐตามพรลิงค์ก็เป็นได้
ยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนคาดหมายว่า เมื่อได้ดำเนินการทางโบราณคดี ในชุมชนโบราณแห่งนี้อย่างจริงจังและถูกหลักวิชาแล้ว เราคงจะได้ข้อมูลที่มีค่ายิ่งเกี่ยวกับอารยธรรม อิทธิพลศาสนาพราหมณ์ในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก เพราะหลักฐานเหล่านี้อาจจะรองรับเอกสารจีนที่กล่าวว่าในราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ ในบริเวณเมือง Tun-sun ซึ่งเป็นรัฐ ทางชายฝั่งทะเล ด้านตะวันออก มีความเจริญทางการค้ามาก มีชนต่างชาติเป็นจำนวนมากอยู่ในชุมชนนี้ ดังปรากฏว่ามี พวกฮู (Hu) ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นี่ถึง ๕๐๐ ครอบครัวและพวกพราหมณ์ชาวอินเดียกว่าพันคน ซึ่งจำนวนหนึ่งได้ แต่งงานกับสตรีชาวพื้นเมืองก็เป็นได้
ในช่วงสมัยต่อจากบริเวณที่เราพบอารยธรรมอิทธิพล ศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองในชุมชนโบราณสิชล คือ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เป็นต้นมา เราพบว่าชุมชนโบราณ อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ได้เจริญรุ่งเรืองในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชและเจริญสืบต่อมาทุกยุคสมัยตราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เพราะได้ค้นพบโบราณวัตถุและโบราณ สถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์หลายแห่งในชุมชนโบราณแถบนี้ เช่น โบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่มีลวดลายแบบศิลปะโจฬะ อายุราวพุทธศตวรรษที่๑๖-๑๘ (บางท่านก็ว่าราวพุทธศตวรรษที่ 20-21) ซึ่งเราค้นพบที่ตำบลท่าเรือ อันเป็นชุมชนทางการค้าที่สำคัญในสมัยโบราณ ในเขตอำเภอเมือง นอกจากนี้เทวสถานภายในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชหลายแห่งได้รับการบูรณะมาทุกยุคทุกสมัย จนกระทั่งทุกวันนี้ เช่น หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ และเสาชิงช้า เป็นต้น ส่วนที่ไม่ได้รับการบูรณะก็ยังคงมีอยู่ เช่น ฐานพระสยม และโบสถ์พราหมณ์ เป็นต้น เทวสถานเหล่านี้ส่วนใหญ่ประชาชนยังประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอยู่
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช