พระพรหม

พระพรหม
พระพรหมเป็นพระผู้เป็นเจ้าของผู้สร้างโลกในศาสนาพราหมณ์ และเป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์แรกในตรีมูรติ พระองค์คงจะกลายมาจากพระประชาบดีพระผู้สร้างในคัมภีร์พระเวท ตามคัมภีร์กล่าวว่าพระองค์ทรงมีกายเป็นสีแดง มีสี่พักตร์ ทรงถือคทา หรือช้อน หรือประคำ หรือคันศร หรือหม้อน้ำมนต์ และคัมภีร์พระเวท ชายาของพระองค์คือ พระสรัสวดี เทพีแห่งความรู้ พระองค์ทรงหงส์เป็นพาหนะ
ในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ค้นพบเศียรเทวรูป ปูนปั้นชิ้นหนึ่ง มี ๔ พักตร์ แต่พักตร์ที่ ๔ หักหายไป เหลือเพียง ๓ พักตร์ สันนิษฐานว่าเป็นเศียรพระพรหม เนื่องจากมีสภาพชำรุดมากจึงยากแก่การศึกษาให้ละเอียด พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช กำหนดให้มีอายุอยู่ในศิลปะทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖)

พระหริหระ
พระหริหระ
พระหริหระเป็นรูปที่รวมพระศิวะ (พระหระ) กับพระวิษณุ (พระหริ) เข้าด้วยกันคือ พระศิวะอยู่ซีกขวา พระวิษณุอยู่ซีกซ้าย ในประติมากรรมไทย เช่น สมัยสุโขทัยชอบทำรวมกัน คือ เป็นเทวดาองค์เดียว มีเนตรที่ ๓ ขวางอยู่กลาง พระนลาฏและทรงนาคเป็นสังวาล อันเป็นลักษณะของพระ ศิวะ แต่มี ๔ กร สองกรบนถือจักรและสังข์ อันเป็นลักษณะของพระวิษณุ
ได้ค้นพบพระหริหระสำริดองค์หนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช พระองค์ประทับนั่งห้อยพระบาทซ้าย พระหริหระองค์นี้ทรงมงกุฎลักษณะเดียวกันกับเทวรูปในศิลปะอินเดียภาคใต้ แบบโจฬะ ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ที่นลาฏมีพระเนตรที่ ๓ มีกรองศอ มีพาหุรัด ทองพระกร และยัชโญปวีต เทวรูปองค์นี้สามารถกำหนดอายุให้อยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖

หงส์
หงส์
หงส์เป็นนกชนิดหนึ่ง เป็นพาหนะของพระพรหมได้ค้นพบหงส์สำริดที่สวยงามตัวหนึ่งที่โบราณสถาน โบสถ์พราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราช นับเป็นหงส์ที่ยังสมบูรณ์มาก แม้ว่าบางส่วนจะถูกสนิมกัดกร่อนจนผุไปบ้าง คือ ที่บริเวณโคนปีกขวา หงส์ตัวนี้ได้รับการตกแต่งอย่างประณีตมาก ลวดลายยังคงเด่นชัดและงดงามมาก จากการที่มีลักษณะภายในลำตัวหงส์กลวง และที่บนหลังมีช่องที่หล่อขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าคงสร้างขึ้นเพื่อใช้งานบางอย่างและงานที่เหมาะสมที่สุดคงจะเป็นหม้อน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ เพราะหงส์เป็นสัตว์ที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อถือของพราหมณ์ จากลวดลายต่างๆ บนตัวหงส์อาจจะสันนิษฐานได้ว่าหงส์ตัวนั้นคงจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๑
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่กล่าวมาชี้ให้เห็นว่าได้มีการค้นพบประติมากรรมรูปเคารพของศาสนาพราหมณ์เป็นจำนวนมากในนครศรีธรรมราช โบราณวัตถุเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราชได้เป็นอย่างดี
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช