พิธีกรรมที่รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์

Socail Like & Share

พิธีกรรม เป็นพฤติกรรมที่บ่งถึงความเชื่อของบุคคล และสังคม การศึกษาเกี่ยวกับพิธีกรรมจะทำให้เข้าใจถึงจุดประสงค์ของศาสนาที่แท้จริง จุดประสงค์ของผู้ประกอบพิธี และผลของพิธีที่มีต่อบุคคลและสังคม ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับพิธีกรรมจึงสำคัญมาก

ในที่นี้จะกล่าวถึงพิธีกรรมของชาวนครศรีธรรมราชที่รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์โดยสังเขป ดังนี้
พิธีกรรมเกี่ยวกับชุมชน มักจะเป็นพิธีการ เช่น พระราชพิธีเป็นต้น พิธีการเหล่านี้มักจะเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจการเมืองการปกครอง ดังเช่นพิธีแรกนาขวัญ ได้ถูกยกเลิกไปในตอนปลายรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้พิธีตรียัมพวาย พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และ พิธีขอฝน เป็นต้น ก็ถูกยกเลิกไปในเวลาต่อมา

พิธีเหล่านี้ในยุคที่นครศรีธรรมราชรุ่งเรืองมักจะมีกษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครหรือผู้ปกครองเมืองเป็นผู้ทำทั้งสิ้น จุดประสงค์ของพิธีต่างๆ นอกจากเพื่อความเจริญของแผ่นดินและของประชาชนแล้ว ส่วนหนึ่งก็แสดงถึงบุญญาธิการของผู้ปกครองเมือง เช่น การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเพื่อแสดงความจงรัก ภักดีของบริวาร เป็นต้น กระนั้นก็ตาม พิธีการบางอย่างก็ยังคงสืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะประชาชน ได้มีส่วนร่วมมาตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อการเมืองการปกครองเปลี่ยนไปผู้ปกครองเมืองไม่ได้เป็นผู้นำในการพิธี แต่ประชาชนทั่วไปก็ยังปฏิบัติอยู่ เช่น พิธีสารทเดือนสิบ และพิธีสงกรานต์เป็นต้น พิธีเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเชื่อของบุคคลที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนา และปทัสฐานของสังคมที่สืบต่อกันมา

ตรียัมปวาย

พิธีตรียัมพวาย (แห่นางกระดาน) พิธีตรียัมพวายหรือโล้ชิงช้าพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชเรียกว่า “พิธีแห่นางกระดาน” ที่เรียกเช่นนี้คงจะเพราะว่ามีการแห่นางกระดานแทนการโล้ชิงช้า เป็นพิธีต้อนรับเทพเจ้าของพราหมณ์โดยปกติ ถือว่าพระอิศวรจะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง ครั้งละ ๑๐ วัน คือตั้งแต่ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนอ้าย ถึง แรม ๑ ค่ำ จึงเสด็จกลับ และพระนารายณ์ เสด็จลงมาเป็นเวลา ๕ วัน ตั้งแต่แรม ๑ คํ่า ถึงแรม ๕ ค่ำ เดือนอ้าย พิธีนี้เพิ่งเลิกไปในปลายรัชกาลที่ ๖ คงเหลือเพียง เสาชิงช้าเป็นอนุสรณ์ในนครศรีธรรมราชทุกวันนี้ โบราณสถานที่เกี่ยวข้องในพิธีนี้ คือ เสาชิงช้า โบสถ์พราหมณ์ หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ และฐานพระสยม

พิธีแรกนาขวัญ

พิธีแรกนาขวัญ เป็นพิธีประจำเมืองมาแต่โบราณ โดยจัดในเดือนหก กระทำเองโดยไม่ต้องรับอนุญาตจากส่วนกลาง มีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี แม้พิธีนี้จะถูกยกเลิกไปตอนปลายรัชกาลที่ ๕ แต่ประชาชนยังมีความเชื่อเรื่องนี้อยู่ จึงยังคงเลือกวันมงคลในการแรกไถนาอยู่ โดยดูฤกษ์จากตำราที่กล่าวมา และการบูชาเทพเจ้าประจำท้องนายังมีอยู่โดยทั่วไป

สวดภาณยักษ์

พิธีสวดภาณยักษ์เพื่อไล่แม่มด
เป็นส่วนหนึ่งของพิธีตรุษ หรือ สัมพัจฉรฉินท์ อันเป็นพระราชพิธีสิ้นปีที่สืบเนื่องมาจากอินเดียภาคใต้ ในชวาก็มีพิธีเช่นนี้มักเริ่มทำพิธีในวันแรม ๑๔ คํ่า เดือน ๔ โดยมีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์เพื่อไล่เสนียดจัญไรออกจากตัวเมือง พิธีนี้ยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕

น้ำพิพัฒน์สัตยา

พิธีดื่มนํ้าพระพิพัฒน์สัตยา
เป็นพิธีสาบานของผู้ถืออาวุธ และผู้เข้ามาสวามิภักดิ์ ต่อกษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครว่าจะซื่อสัตย์สุจริต มีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ ในบริเวณพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร น้ำที่ใช้ในพิธีนี้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแหล่งต่อไปนี้ เช่น น้ำบ้วนปากนาคราช ลานสกา และห้วยเขามหาชัย เป็นต้น พิธีนี้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕

พิธีขอฝน

พิธีขอฝน (พระพิรุณศาสตร์)
กระทำโดยเชื่อว่ามีเทวดาประจำในธรรมชาติต่างๆ พิธีนี้ประกอบด้วยความเชื่อแบบดั้งเดิม พิธีพราหมณ์และพิธีสงฆ์

สารทเดือนสิบ

พิธีสารทเดือนสิบ

น่าจะเกิดจากความเชื่อเรื่องวิญญาณ และกรรมประกอบกัน โดยเชื่อว่าคนเมื่อตายแล้ววิญญาณอาจจะขึ้นสวรรค์ หรือลงนรกตามแต่กรรมที่ทำไว้ในขณะมีชีวิต วิญญาณที่ลงนรกจะเป็นเปรตและจะขึ้นจากนรกได้ ก็เพราะผลบุญที่ญาติมิตรอุทิศให้ ดังนั้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ จะขึ้นมารับผลบุญและกลับในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำบุญในโอกาสนี้ พิธีนี้น่าจะตรงกับพิธีพราหมณ์ คือศราทธ

พิธีสงกรานต์

พิธีสงกรานต์
ชาวทมิฬทางอินเดียภาคใต้ถือว่าวันสงกรานต์ (วันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน) เป็นวันขึ้นปีใหม่ มีการตกแต่งประดับร่างกายอย่างหรูหราในวันนี้ สัตว์และเครื่องใช้จะได้หยุดงานและตกแต่งอย่างสวยงามลักษณะเดียวกันกับที่เป็นอยู่ในนครศรีธรรมราช โดยในนครศรีธรรมราชเรียกวันที่ ๑๓ ว่าวันเจ้าเมืองเก่า วันที่ ๑๔ เรียกว่าวันว่าง และวันที่ ๑๕ เรียกว่าวันเจ้าเมืองใหม่ ในวันที่ ๑๕ มักจะจัดพิธีขึ้นเบญจา อันเป็นพิธีพราหมณ์แด่ผู้มีอายุด้วย

พิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต เป็นพิธีที่มุ่งความเจริญรุ่งเรืองต่อชีวิตโดยตรง เช่น ให้มีพลานามัยสมบูรณ์ ไม่มีโรคภัย ให้อายุยืน และให้ผู้อื่นเมตตา เป็นต้น พิธีมักจะอ้อนวอนอำนาจที่อยู่เหนือมนุษย์ การภาวนาให้เกิดฤทธิ์เดชขึ้นในพิธีและการใช้วัตถุหรือสัตว์นำเคราะห์ไปจากบุคคล

การอ้อนวอนอำนาจเหนือมนุษย์มักจะปรากฏอยู่ในพิธี เกือบทุกพิธี เช่น พิธีฝังรก พิธีขึ้นเปล พิธีทำขวัญเด็ก และพิธีทำขวัญนาค เป็นต้น การภาวนาให้เกิดฤทธิ์ปรากฏ ในพิธีการใช้เวทย์มนต์คาถา เมตตามหานิยม เป็นต้น ส่วนการใช้วัตถุหรือสัตว์เป็นสื่อปรากฎชัดเจนในพิธีเชิญ แม่ซื้อ และสะเคาะเคราะห์ ซึ่งใช้ตุ๊กตาเป็นตัวแทนในการนำโชคร้ายของบุคคลไป

พิธีแทบทุกพิธีจะเริ่มต้นคล้ายคลึงกัน คือ การตั้งนโม การชุมนุมเทวดา และการพรรณนาคุณหรือสรรเสริญคุณ
พิธีที่สำคัญ คือ พิธีฝังรก พิธีขึ้นเปล พิธีเชิญแม่ซื้อ พิธีทำขวัญเด็ก พิธีทำขวัญนาค พิธีแต่งงาน และพิธีศพ

พิธีมงคลอื่นๆ หมายถึงพิธีการบางอย่างที่เราสามารถกระทำในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตก็ได้ เช่น พิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีตั้งศาลพระภูมิ พิธีทำขวัญเรือ พิธีทำขวัญข้าว ซึ่งพิธีหลังทั้งสองพิธีอาจจะเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจ

พิธีกรรมจำนวนไม่น้อยที่มีความสัมพันธ์กับสภาพภูมิศาสตร์และการประกอบอาชีพของประชาชนในสังคม โดยต้องขึ้นอยู่กับสภาพธรรมชาติ เช่น น้ำ, ดินฟ้าอากาศ, ศัตรูพืช เป็นต้น อาจจะทำให้ประชาชนต้องทำพิธีต่างๆ เพื่ออ้อนวอน เทวดาประจำธรรมชาติเมื่อใดที่สิ่งเหล่านี้อำนวย เพราะวิทยาศาสตร์อาจจะทำให้พิธีการบางอย่างหายไปก็ได้ เช่น ระบบชลประทานอาจจะทำให้พิธีทำขวัญข้าวหายไป เป็นต้น

นอกจากนี้พิธีกรรมในมหรสพก็มีอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์แฝงอยู่ไม่น้อยเลย ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากพิธีกรรมในการแสดงหนังตะลุง ซึ่งต้องเชิดรูปพระศิวะ (อิศวร) และมีบทสรรเสริญคุณพระศิวะและเทพอื่นๆ (โดยทั่วไปมักจะพบว่ามีพระวิษณุและพระพรหมเสมอ) ประกอบ ด้วยก่อนที่จะเริ่มการแสดง อันอาจจะเป็นพิธีกรรมที่สืบต่อความเชื่อเกี่ยวกับศิวนาฏราชก็เป็นได้

ด้วยวิวัฒนาการอันยาวนานของนครศรีธรรมราชท่ามกลางสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยก่อการพัฒนาทางอารยธรรม และวัฒนธรรม ทำให้นครศรีธรรมราชพัฒนาอารยธรรมได้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์

ก่อนที่หลักฐานทางด้านโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์จะปรากฏในบริเวณนครศรีธรรมราชและศาสนานี้จะหยั่งรากลงอย่างมั่นคง ในราวพุทธศตวรรษที่ ๙ นั้น นครศรีธรรมราชได้มีชุมชนที่มีพัฒนาการสูงอยู่ก่อนแล้ว ชุมชนเหล่านั้นมีความเชื่อดั้งเดิมและวิถีชีวิตที่เป็นของตนเองอยู่แล้วเช่นกัน ดังที่ปรากฏในหลักฐานทางโบราณคดี ที่พบในบริเวณนี้

แต่เมื่อชุมชนโบราณในบริเวณนี้ได้รับอิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์เข้ามาก็ผสมเอาความเชื่อดั้งเดิมที่ตนมีอยู่กับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนทำให้พัฒนาการทางอารยธรรมที่รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองอย่างมากนับตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ เป็นต้นมา และต้องยอมรับว่าชุมชนแห่งนี้ได้รับอิทธิพลทางศาสนาเหล่านั้นอย่างเลือกสรรเพื่อการพัฒนาทางวัฒนธรรม ในชุมชนของตนเป็นอย่างดีอันจะเห็นได้จากการมีศิลปกรรมที่เป็นงานสร้างสรรค์ของตนเองโดยเฉพาะจำนวนมากและการมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นต้น

ยิ่งเวลาผ่านมานานเท่าใดมรดกทางวัฒนธรรมที่รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราชก็ยิ่งทวีขึ้นเท่านั้น ซ้ำอิทธิพลทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์เหล่านี้ได้ผสมกลมกลืนกับพุทธศาสนาซึ่งเจริญสูงสุดในนครศรีธรรมราชเช่นกันกับความเชื่อดังเดิมเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี กระนั้นก็ตาม มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้จำนวนไม่น้อยที่ยากแก่การที่จะตีความหรือสรุปอย่างง่ายๆ จากข้อมูล ที่มีอยู่อย่างจำกัดในขณะนี้ ดังนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนที่ควรจะกระทำคือ รีบศึกษามรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้โดยเร็วก่อนที่มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้บางส่วนจะถูกทำลาย หรือสูญหายไปกับกาลเวลาอย่างน่าเศร้าสลด

ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *