พระราชพิธีสังเวยพระป้าย

การสังเวยพระป้ายจัดเป็นงานพระราชพิธีโดยเหตุที่พระป้าย คือแผ่นป้ายภาษาจีนพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระป้ายนี้จีนเรียกว่า เกสิน เป็นป้ายชื่อของบรรพบุรุษบุพการีที่ตั้งไว้พระราชพิธีสังเวยพระป้ายสำหรับบูชาประจำบ้าน เพราะธรรมเนียมจีนเคารพนับถือ กตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ การบูชาเซ่นสรวงแสดงว่าเป็นคนดีมีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ และให้ความเจริญแก่ผู้ปฏิบัติ

พระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์ลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้ว แบบเก๋งจีนทำด้วยไม้จันทน์จำหลักลงรักปิดทอง จารึกพระปรมาภิไธยเป็นอักษรจีนที่ด้านหลังเรือนแก้ว มีฉัตรทอง ๕ ชั้น ตั้ง ๒ ข้าง

ส่วนพระป้ายที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน เป็นแผ่นป้ายพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีคู่หนึ่ง พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถคู่หนึ่ง จารึกบนแผ่นไม้จันทน์ ปิดทองขอบไม้จันทน์จำหลักลายจีน พระป้ายทั้ง ๒ คู่ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีนทำด้วยไม้ จันทน์จำหลักลายลงรักปิดทอง ตั้งอยู่ ณ ท้องพระโรงกลาง หน้าห้องพระบรรทมชั้นบนของพระที่นั่ง เวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน

พระราชพิธีสังเวยพระป้าย คือการถวายอาหารคาวหวานเซ่นไหว้บรรพบุรุษตามธรรมเนียมจีน พระราชพิธีนี้เริ่มมีมาแต่รัชกาลที่ ๕ กำหนดการสังเวยแต่เดิมนั้น สังเวยที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ ก่อน ๑ วันตรงกับวันไหว้ของจีน ส่วนที่พระที่นั่งอัมพรสถานสังเวยในวันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๑ ของจีน ซึ่งเป็นวันตรุษจีน (วันขึ้นปีใหม่) พระราชพิธีนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระองค์เอง หากบางปีมีพระราชกรณียกิจอื่นไม่สามารถพระราชดำเนินได้ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอ หรือพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ประกอบพระราชกรณียกิจแทนพระองค์

เครื่องสังเวยเป็นเครื่องคู่มี หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมเข่ง ขนมเปี๊ยะ ซาละเปา ผลไม้ กระดาษเงิน กระดาษทอง วิมานเทวดาทำด้วยกระดาษ (ภาษาจีนเรียกว่า กิมฮวยอั้งติ๋ว) ผ้าสีชมพู ประทัด (ได้ตัดออกไปเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๖) ดอกไม้ ธูป เทียนเงิน เทียนทอง

เครื่องสังเวยพระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อเริ่มมีพระราชพิธีนี้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จัดทูนเกล้าฯ ถวาย ครั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงจัดต่อมา ปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ ที่วังสระปทุมจัดทูนเกล้าฯ ถวาย ส่วนเครื่องสังเวยที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ เดิมเป็นของกรมท่าซ้ายที่สกุลพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน โชติกเสถียร) จัดทูนเกล้าฯ ถวาย ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เครื่องสังเวยเป็นของหลวงที่สำนักพระราชวังจัดทำตลอดมา

พระราชพิธีสังเวยพระป้ายนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถึง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะ ทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องสังเวย ขณะนั้นพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินลงจากพระที่นั่งไปทรงเผากระดาษเงิน กระดาษทอง (สมัยก่อนทรงจุดประทัดด้วย) แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ เมื่อธูปที่จุดปักไว้ที่เครื่องสังเวยหมดดอกแล้ว เจ้าหน้าที่จึงลาถอนเครื่องสังเวยและนำวิมานเทวดา (กิมฮวยอั้งติ๋ว) ไปปักในแจกันที่โต๊ะเครื่องบูชา พร้อมทั้งผูกผ้าสีชมพู เป็นเสร็จพิธี

ที่มา:กรมศิลปากร

กิริยามารยาทของคนไทย

กิริยามารยาท
กิริยามารยาทของคนไทยเป็นเรื่องของการปฏิบัติระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือของตนเองที่สังคมไทยยอมรับแล้วว่าเป็นสิ่งควรยึดถือปฏิบัติ ถ้าใครไม่กระทำตามก็จะได้รับการตำหนิติเตียนว่าไร้จรรยามารยาท สิ่งเหล่านี้ได้แก่อิริยาบถทั้ง ๔ (เดิน ยืน นั่ง นอน) รวมถึงการพูดจา การสมาคม การแสดงความเคารพ เป็นต้น

กิริยามารยาทของไทยเป็นสิ่งสำคัญซึ่งแสดงออกทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี บ่งบอกถึง ความเป็นไทย และถือเป็นเอกลักษณ์ของชาติประการหนึ่ง มารยาทไทยแม้ว่าจะมีการรับเอาอารยธรรมจากตะวันตกเข้ามา แต่เราก็สามารถทำให้ดูอ่อนช้อย นุ่มนวลแบบไทยๆ ได้ เช่น การนั่งเก้าอี้ ถ้านั่งต่อหน้าผู้ใหญ่นั่งเท้าชิด มือวางประสานไว้บนตัก ถ้ามีอาวุโสมากก็นั่งลงศอก เป็นต้น ชี้ให้เห็นถึงสังคมไทยถือระบบอาวุโส ผู้น้อยนับถือผู้ใหญ่ เป็นต้น

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ได้พยายามรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีในด้านต่างๆ ของสมัยอยุธยาสืบต่อมาอย่างเคร่งครัด จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับขณะทรงผนวชได้รู้จักชาวต่างประเทศและเข้ากับราษฎรได้อย่างดี ทำให้รู้ถึงเหตุการณ์บ้านเมืองของประเทศใกล้เคียง เมื่อเสวยราชย์จึงดำเนินนโยบายไม่แข็งกร้าวกับชาวต่างประเทศอีกต่อไปเหมือนกับรัชกาลก่อนๆ ทำให้อิทธิพลตะวันตกได้เข้ามาและมีส่วนทำให้พระองค์ต้องเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่าง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงกิริยามารยาทด้วยการนำอารยธรรมของฝรั่งเข้ามา เช่น การนั่งเก้าอี้ ในสมัยก่อนใช้วิธีการนั่งกับพื้น ต่อมาเมื่อมีเก้าอี้ใช้จึงได้ทำตามฝรั่ง “เมื่อในราชสำนักเลิกหมอบเฝ้า เริ่มใช้เก้าอี้ใหม่ๆ ในระยะแรกๆ คนไทยยังคงนั่งเก้าอี้ไม่เป็น ผู้หญิงขึ้นไปนั่งพับเพียบ ส่วนชายนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้ จนรัชกาลที่ ๔ ต้องมีประกาศพระบรมราชโองการแนะนำวิธีการนั่งเก้าอี้ โดยให้ใช้วิธีหย่อนก้นเท่านั้นลงบนเก้าอี้ ส่วนขาให้ห้อยลงไป คนไทยก็เปลี่ยนจากนั่งพับเพียบและขัดสมาธิบนเก้าอี้มาเป็นนั่งอย่างถูกต้องเรียบร้อยบนเก้าอี้”

ส่วนกิริยาอาการอื่นๆ ทรงเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือ ทรงเริ่มปฏิบัติกับชาวต่างประเทศก่อน โดยยอมให้ชาวต่างประเทศทำความเคารพตามแบบของตน เช่น การโค้งคำนับ แทนการกราบไหว้ ถ้าเป็นชาวจีนก็อาจลุกขึ้นยืนกุ๋ย (Kowtow) เคารพตามอย่างจีนเคารพพระเจ้าแผ่นดินจีน ถ้าเป็นแขกหรือฝรั่ง จะเคารพอย่างไทยหรือยืนเปิดหมวก ก้มศีรษะ ยกมือเคารพอย่างแขก อย่างฝรั่งตามจารีตของตน และยืนเข้าเฝ้าแทนการหมอบคลาน จากหลักฐานประวัติศาสตร์ไทยในต่างประเทศได้กล่าวว่า “อนึ่งตามพระราชประเพณีการเข้าเฝ้าในขณะนั้น ผู้เข้าเฝ้าจะต้องถอดเกือก และกระบี่ทิ้งไว้ข้างนอก แล้วหมอบกราบเข้าไปในท้องพระโรง คลานไปอยู่ตามลำดับตำแหน่งของตน เซอร์จอน เบาริ่ง (Sir John Bowring) เห็นว่าการกระทำดังกล่าวและการไปนั่งอยู่ในที่แถวหลังๆ จะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศแก่พระเจ้าแผ่นดินของตน จึงเรียกร้องขอให้ไม่ต้องถอดรองเท้า ไม่ต้องถอดกระบี่ ไม่ต้องคลาน ไม่ต้องหมอบ และต้องได้นั่งแถวหน้าอีกด้วยในเวลาเข้าเฝ้า พระจอมเกล้าฯ ก็ไม่ขัด และยังจูงมือเซอร์จอน เบาริง (Sir John Bowring) เข้าไปในท้องพระโรงเป็นการ ส่วนตัวก่อนเข้าเฝ้า ให้เลือกดูเองว่าอยากจะนั่งที่ตรงไหน พอถึงวันเฝ้า เซอร์จอน เบาริง (Sir John Bowling) ก็เดินเข้าไปอย่างโอ่อ่าไม่ต้องถอดรองเท้า ไม่ถอดกระบี่ ตรงเข้าไปนั่งตรงที่ๆ ตนเลือกไว้ แถวที่ทัดเทียมกันกับเจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ทำให้เซอร์จอน เบาริงพอใจเป็นอันมาก มิหนำซ้ำตอนเลิกเข้าเฝ้ายังมีรับสั่งให้เข้าไปเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ณ ห้องชั้นในของพระองค์อีก นั่งเก้าอี้ คุยกัน และทรงรินเหล้าให้ เซอร์จอน เบาริง ดื่มด้วยพระองค์เอง”

นอกจากนี้ยังนำอารยธรรมของฝรั่งมาใช้เช่น การจับมือสั่น (Shake hands) ด้วยการที่พระองค์ทรงพระราชทานพระหัตถ์ให้เจ้ากาวิโลรส (เจ้าประเทศราชผู้ครองนครเชียงใหม่) ซึ่งมาเข้าเฝ้าเพื่อกราบถวายบังคมทูลลากลับ จากนั้นก็ได้ใช้เป็นธรรมเนียมแพร่หลายในเมืองไทย นอกจากนี้ยังโปรดให้บรรดาทูตและขุนนางผู้ใหญ่นั่งร่วมโต๊ะเสวยอาหารด้วย นับเป็นครั้งแรกที่กษัตริย์ไทยเสวยอาหารร่วมกับขุนนาง เป็นต้น

การที่พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมบางอย่างนี้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต่างประเทศเริ่มมีสัมพันธภาพต่อไทยดีขึ้น

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้ประเพณีเก่าอีกอย่างหนึ่งในวันเสด็จออกมหาสมาคม ในพระที่นั่งอมรินทรวันิจฉัย ด้วยพระราชทานบรมราชานุญาตให้พวกฝรั่งที่อยู่ในกรุงเทพฯ เข้าเฝ้าด้วย เรื่องนี้ในเวลานั้นก็ไม่มีใครเห็นเป็นการแปลกประหลาดนัก เพราะเป็นแต่มีฝรั่งสัก ๑๐ คนเข้าไปยืนเฝ้าอยู่ข้างหลังแถวที่ขุนนางหมอบ แต่การนั้นมีผลมาก เพราะฝรั่งเหล่านั้นพากันเขียนบอกข่าวออกไปถึงนานาประเทศว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหม่ทรงเปลี่ยนขนบธรรมเนียมหันเข้าหาอริยธรรมอย่างฝรั่ง ผิดกับพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์อื่นๆ ทางตะวันออก ฝรั่งตามต่างประเทศพากันพิศวง เริ่มเกิดไมตรีจิตต่อประเทศสยามผิดกว่าแต่ก่อน แม้ด้วยทรงเปลี่ยนแปลงประเพณีเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าที่ถือว่าเป็นการเคารพอย่างยิ่งของไทยนั้น เป็นธรรมเนียมที่กดขี่ผู้น้อยเพื่อยกย่องผู้ใหญ่เท่านั้น ไม่ทรงเห็นว่าจะมีประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างหนึ่งอย่างใด จึงทรงเปลี่ยนอิริยาบถจากหมอบคลานเป็น ยืน เป็นเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมและกราบไหว้นั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นก้มศีรษะ ทรงให้เหตุผลว่า เมืองใด ประเทศใดจะเจริญได้ด้วยการที่ผู้ใหญ่ต้องไม่กดขี่ผู้น้อย ทรงเห็นตัวอย่างจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ได้เลิกธรรมเนียมการกดขี่ให้ผู้น้อยหมอบคลาน กราบไหว้ต่อเจ้านาย และผู้มีบรรดาศักดิ์ และประเทศเหล่านั้นก็มีแต่ความเจริญสืบมา

อีกประการหนึ่งไทยได้ติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น การหมอบคลานอยู่กับพื้นทำให้พวกฝรั่ง แขกเมืองที่เข้ามาเฝ้าเดินกรายศีรษะเข้ามายืนคํ้าเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ของไทยที่กำลังเฝ้าอยู่ จึงโปรดให้ยกเลิกประเพณีนี้เสีย เป็นยืนเฝ้าหรือนั่งเก้าอี้เฝ้าแทน และใช้ถวายคำนับตามแบบตะวันตก

ประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าได้ประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการ ในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๑๖ โดยในวันนั้น ขณะที่เสด็จออกมหาสมาคมในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนหมอบเฝ้าอยู่เต็มท้องพระโรง เมื่อเสร็จพระราชพิธี เสนาบดีกราบบังคมทูลถวายราชสมบัติตามโบราณราชประเพณีแล้วก็โปรดให้อาลักษณ์อ่านประกาศเลิกธรรมเนียมหมอบคลาน เปลี่ยนเป็นยืนเฝ้าและถวายความเคารพ ด้วยการโค้งศีรษะคำนับแทน เมื่ออ่านประกาศจบ บรรดาผู้ที่หมอบเฝ้าอยู่กราบถวายบังคมอีก ๓ ครั้ง แล้วยืนขึ้นพร้อมกันจำเพาะตรงที่หมอบอยู่นั้น เมื่อยืนขึ้นพร้อมกันแล้วก้มศีรษะถวายคำนับพร้อม กัน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย ที่ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยยืนตรงอยู่เฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ได้ทรงประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่และประกาศเป็นพระราชบัญญัติเข้าเฝ้า เมื่อปีระกา เบญจศก ตรงกับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๖

พระราชบัญญัติ
ข้อ ๑. ว่าพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง เมื่อจะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระที่นั่งฤๅที่เสด็จออกแห่งใดๆ ก็ดี เมื่อเดินเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่งแล้ว ให้ก้มศีรษะถวายคำนับครั้งหนึ่ง แล้วจึงเดินไปยืนที่ตำแหน่งของตนเฝ้า เมื่อไปถึงที่ยืนเฝ้าแล้วให้ก้มศีรษะถวายคำนับอีกครั้งหนึ่ง แล้วยืนให้เรียบร้อยเป็นปกติ ห้ามมิให้เดินไปเดินมาแลยืนหันหน้าหันหลัง ในเวลาที่เสด็จออก แลมิให้ยืนเอามือไพล่หลังแลท้าวเอว แลเอามือไปท้าวผนังแลเสา ฤๅที่ต่างๆ แลสูบบุหรี่หัวเราะพูดกันเสียงดังต่อหน้าพระที่นั่ง ให้ยืนให้เรียบร้อยเป็นลำดับตามบรรดาศักดิ์ผู้ใหญ่ ผู้น้อย ถ้ามีกิจราชการที่จะต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้วให้เดินออกมาจากที่เฝ้า ยืนตรงหน้าพระที่นั่งก้มศีรษะถวายคำนับแล้วจึงกราบบังคมทูลพระกรุณา เมื่อสิ้นข้อความที่กราบบังคมทูลพระกรุณาแล้วให้ก้มศีรษะลงถวายคำนับ จึงให้เดินถอยหลังมาที่ยืนเฝ้าอยู่ตามเดิม ถ้าจะถวายหนังสือ ฤๅสิ่งของสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ให้ถือสองมือเดินตรงเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่งพอสมควรก้มศีรษะลงถวายคำนับก่อน จึงถวายของนั้นต่อพระหัตถ์ ถ้าถวายของนั้นเสร็จ แล้วให้เดินถอยหลัง ถ้าเป็นที่ใกล้ให้ถอย ๓ ก้าว ฤๅ ๕ ก้าวพอสมควร ถ้าเป็นที่ไกลให้ถอยหลังออกมา ๗ ก้าว กลับหน้าเดินไปยืนตามที่ ถ้าจะมีพระบรมราชโองการดำรัสด้วยผู้หนึ่งผู้ใดที่ยืนอยู่ในที่เฝ้านั้น ก็ให้ผู้นั้นยืนคงอยู่ตามที่ก้มศีรษะถวายคำนับแล้วจึงรับพระบรมราชโองการ เมื่อรับพระบรมราชโองการกราบบังคมทูลสิ้นข้อความแล้วก็ให้ก้มศีรษะลงถวายคำนับ อนึ่ง พระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ที่ได้เข้ามายืนเฝ้าในเวลาที่เสด็จออกอยู่นั้น ถ้ามีพระบรมราชโองการ โปรดพระราชทานเก้าอี้ให้นั่งจึงนั่งได้ ห้ามมิให้นั่งลงกับพื้น แลนั่งบนเก้าอี้ ฤๅนั่งที่แห่งใดๆ ตามชอบใจในเวลาที่เสด็จออกต่อหน้าพระที่นั่ง แลผู้ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้นั่งเก้าอี้เฝ้าอยู่นั้น นั่งให้เป็นปกติ ห้ามมิให้ยกเท้าขึ้นบนเก้าอี้แลไขว่ห้างเหยียดเท้าตะแคงตัว ทำกิริยาหาความสบายให้เกินกิริยาที่นั่งเป็นปกติเป็นอันขาด เมื่อเวลาเสด็จขึ้นก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับให้พร้อมกัน แต่แขกเมืองประเทศราช เมื่อจะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ให้ทำกิริยาคารวะตามเพศ บ้านเมืองของตนก่อน เมื่อทรงพระกรุณาโปรดให้ยืนจึงยืนได้

ข้อ ๒. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกประทับอยู่ที่แห่งใดๆ ก็ดี ข้าราชการแลมหาดเล็กซึ่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ในที่นั้น ถึงเสด็จออกประทับอยู่ช้าหลายชั่วโมง ก็ห้ามมิให้ข้าราชการแลมหาดเล็กที่ยืนเฝ้าอยู่นั้น นั่งลงในที่แห่งใดๆ เป็นอันขาด เว้นไว้แต่ที่เป็นกำบังลับพระเนตรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงนั่งได้ แลในเวลาที่เสด็จออกทรงประทับอยู่ ณ ที่แห่งใดๆ นั้น ข้าราชการแลมหาดเล็กยืนเฝ้าอยู่ในที่โดยลำดับแล้ว ผู้ซึ่งจะเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ภายหลังที่มิได้มีราชการที่จะกราบบังคมทูลพระกรุณา ห้ามมิให้เดินผ่านหน้าพระที่นั่งแลเดินผ่านหน้าข้าราชการที่ยืนเฝ้าอยู่ก่อนนั้น ให้เดินหลีกเลี่ยงเข้ายืนตามตำแหน่งของตนที่ควรจะยืน เว้นไว้แต่ผู้ที่จะรับพระบรมราชโองการจึงเดินผ่านหน้าเพื่อนข้าราชการไปมาได้

ข้อ ๓. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทางสถลมารค ข้าราชการแลราษฎร ชายหญิงที่จะมาคอยดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนินก็ดี จะทรงช้าง ทรงม้า ทรงรถ ฤๅจะทรงพระที่นั่งอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินมาถึงหน้าผู้ที่ยืนคอยดูกระบวนเสด็จ พระราชดำเนินอยู่นั้น ให้คนเหล่านั้นก้มศีรษะถวายคำนับจงทุกคน ห้ามมิให้นั่ง มิให้ยืน ดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนินบนชานเรือน บนหน้าต่างเรือน แลบนที่สูงที่ไม่ควรจะนั่ง จะยืน ถ้าทรงม้า ทรงรถ ไม่มีกระบวนนำกระบวนตามเสด็จพระราชดำเนิน ผู้ซึ่งอยู่บนชานเรือน แลบนที่สูงไม่ทันรู้ว่าเสด็จพระราชดำเนินแต่พอแลเห็นว่าเป็นรถพระที่นั่ง ฤๅม้าพระที่นั่งก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับ ห้ามมิให้นั่ง มิให้หมอบเป็นอันขาด แลในเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินทรงช้าง ทรงม้า ทรงรถ ฤๅทรง พระที่นั่งอย่างหนึ่งอย่างใดมาในทางสถลมารค ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดไปบนหลังม้าฤๅไปบนรถ พบปะกระบวน นำเสด็จพระราชดำเนิน ก็ให้หยุดม้าหยุดรถริมทาง ถ้าเสด็จพระราชดำเนินมาถึงตรงหน้าแล้ว ให้ถอดหมวกก้มศีรษะ ถวายคำนับอยู่บนรถ บนหลังม้า ไม่ต้องลงจากรถ จากหลังม้า ต่อเสด็จพระราชดำเนินไปสิ้นกระบวนเสด็จแล้ว จึ่งให้ออกเดินรถ เดินม้าต่อไป ถ้าเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ข้าราชการแลราษฎรชายหญิงที่อยู่แพ อยู่เรือนริมนํ้าให้ยืนขึ้นก้มศีรษะถวายคำนับจงทุกคน ถ้ามาด้วยเรือพบกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน ถ้าเรือเล็กยืนไม่ได้ก็ให้ถอดหมวกก้มศีรษะถวายคำนับในเรือ ไม่ต้องยืน ถ้าเป็นเรือใหญ่ควรจะยืนได้ ก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับตามธรรมเนียม

ข้อ ๔. ข้าราชการเมื่อจะเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง แลจะออกจากพระบรมมหาราชวัง ฤาจะไปกิจธุระแห่งหนึ่งแห่งใดก็ดี ถ้าพบท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ ที่ได้ทำคำนับยำเกรงตามธรรมเนียมเก่าฉันใด ก็ให้ทำคำนับยำเกรงอย่างธรรมเนียมใหม่ให้เหมือนกัน ธรรมเนียมที่ยืนเหมือนกับนั่งเหมือนกับหมอบ ธรรมเนียมที่เปิดหมวกก้มศีรษะเหมือนกับกราบไหว้อย่างแต่ก่อนนั้น ถ้าผู้หญิงจะไปเฝ้าแลพบท่านผู้ใหญ่ไม่ต้องเปิดหมวก เป็นแต่ก้มศีรษะลงคำนับ เมื่อกระทำคำนับแล้ว หมวกนั้นจะเปิดก็ได้ ไม่เปิดก็ได้ แลผู้คนข้าทาสที่ใช้การงานอยูในบ้านเรือนนั้นก็อย่าให้ท่านผู้ที่เป็นเจ้าเป็นนายบังคับ ให้ข้าทาสหมอบคลาน ให้บังคับให้ข้าทาส ใช้ยืน ใช้เดิน ตามพระราชบัญญัติซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งไว้นี้ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือน ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง พระราชวังบวร ให้กระทำตามพระราชบัญญัติประกาศนี้จงทุกประการ ประกาศมา ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ คํ่า ปีระกา เบญจศก

พร้อมกันนี้ก็โปรดให้บรรดาผู้เข้าเฝ้าแต่งกายโดยสวมรองเท้า ถุงเท้าด้วย เพื่อป้องกันมิให้ชาวต่างประเทศดูหมิ่น และอนุโลมให้เข้ากับประเพณีนิยมของชาวตะวันตก

ประเพณีการเข้าเฝ้านั้นเลิกได้ยากกว่าการแต่งกายและการไว้ผม ในระยะแรกนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแก้ไขประเพณีเป็น ๒ อย่างด้วยกัน คือ

๑. การเข้าเฝ้าแบบไทย หรือการเข้าเฝ้าแบบเดิมใช้ในเวลาเสด็จออกขุนนางในท้องพระโรง ตามปกติ หรือเข้าเฝ้าในที่อื่น อันมิได้กำหนดให้เฝ้าอย่างใหม่ ให้ใช้ประเพณีหมอบคลานเฝ้าอยู่กับพื้น และแต่งกายโดยไม่สวมถุงเท้ารองเท้าตามเดิม

๒. การเข้าเฝ้าแบบใหม่ หรือการเข้าเฝ้าอย่างฝรั่ง ใช้ในโอกาสเสด็จออกรับแขกเมือง หรือในงานพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งใช้วิธียืนเฝ้าและถวายคำนับอย่างฝรั่ง หากโปรดให้นั่งก็จะนั่งเก้าอี้ด้วยกันหมด การแต่งกายก็ให้ใช้เครื่องแบบหรือเสื้อนอกเปิดอก ผูกผ้าผูกคอ และใส่ถุงเท้า รองเท้า อย่างฝรั่ง เพียงแต่ยังคงนุ่งผ้าโจงกระเบนตามแบบเดิมอยู่เท่านั้น

ต่อมาเมื่อการเข้าเฝ้าแบบใหม่ได้เป็นที่ทราบและนิยมปฏิบัติกันแพร่หลายแล้ว ก็โปรดให้เลิกเข้าเฝ้าแบบเดิม และใช้การเข้าเฝ้าแบบใหม่เป็นแบบฉบับของบ้านเมืองสืบต่อมาจนทุกวันนี้

แม้ว่าจะมีประกาศให้ยืนเข้าเฝ้าแทนการหมอบคลานแล้วก็ตาม แต่การหมอบคลานยังคงมีปฏิบัติกันอยู่ เพราะคนไทยยังไม่ทิ้งนิสัยที่ผู้น้อยต้องอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เช่น การหมอบกราบพระมหากษัตริย์ การคลานยกของให้ผู้ใหญ่ ดังนั้นผู้มีมารยาทจึงควรทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไร และควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับโอกาสและสถานที่

กิริยามารยาทของคนไทยมีลักษณะที่อ่อนช้อยนุ่มนวลมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว และยังมีวิธีการสอน การอบรมกิริยามารยาทในรูปแบบต่างๆ ดังจะเห็นได้จากคำกลอนในสุภาษิตสอนสตรี คำกลอนสวัสดิรักษาของสุนทรภู่ หรือกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

“อนึ่งเขละอย่าถ่มเมื่อลมพัด        ไปถูกสัตว์เสื่อมมนต์ดลคาถา
อนึ่งพบปะพระสงฆ์ทรงศีลา        ไม่วันทาถอยถดทั้งยศทรัพย์
อนึ่งอย่าด่าว่าแดดแลลมฝน        อย่ากังวลเร่งวันให้พลันดับ
เมื่อเช้าตรู่สุริยงจะลงลับ        จงคำนับสุริยันพระจันทร ”
สวัสดีรักษา หน้า ๖-๗

“เมื่อจะจรนอนเดินดำเนินนั่ง    จงระวังในจิตขนิษฐา
อย่าเหม่อเมินเดินให้ดีมีอาฌา    แม้นพลั้งพลาดบาทาจะอายคน
เห็นผู้ใหญ่ฤๅใครเขานั่งแน่น        อย่าไกวแขนปัดเช่นไม่เห็นหน
ค่อยวอนว่าข้าขอจรดล        นั่นแลคนจึงจะมีปรานีนาง
แม้นสมรจะไปนอนทเรือนไหน    อย่าหลับไหลลืมกายจนสายสาง
ใครเห็นเข้าเขาจะเล่านินทานาง    ความกระจ่างออกกระจายเพราะกายตัว”
สุภาษิตสอนสตรี หน้า ๔๙-๕๑

สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยุคแรกระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๑-๒๔๘๗ เป็นยุคที่รัฐบาลในสมัยนั้นพยายามฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาติ ได้กำหนดเป็นระเบียบหรือแนวทางในการสร้างชาติดังได้กล่าวมาแล้ว ในเรื่องจรรยามารยาทได้ออกประกาศและพระราชบัญญัติต่างๆ เช่นออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๘๕ พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมซึ่งประชาชนชาวไทย ต้องปฏิบัติตามฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๔๘๔)และฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๘๕)ทั้ง ๓ ฉบับมีใจความคล้ายคลึงกัน ดังนี้

“มาตรา ๓ บุคคลทุกคนจักต้องรักษาจรรยามารยาทอันดีงามในที่สาธารณสถานหรือที่ปรากฏแก่สาธารณชน โดย
๑. ไม่ก่อให้เกิดเสียงอื้อฉาวโดยใช่เหตุ หรือใช้วาจาเสียดสี หรือลามกหยาบคาย หรือแสดงกิริยาวาจาเป็นเชิงเสียดสีเย้ยหยัน ผู้ที่ปฏิบัติตนในทางเชิดชูหรือส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ
๒. ไม่ใช้กำลังเบียดเสียดยื้อแย่งในที่ชุมนุมชน เช่น ในการโดยสารยานพาหนะ การเข้าซื้อบัตรผ่านประตูหรือเข้าประตูสถานที่สำหรับมหรสพ เป็นต้น
๓. ไม่ก่อความรำคาญ ด้วยการห้อมล้อม หรือกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุสมควร
๔. ไม่ก่อให้เกิดความปฏิกูล หรือขีดเขียนในที่อันไม่ควรทำ
๕. ไม่อาบนํ้าตามถนนหลวงอันเป็นที่ชุมนุมชน
๖. ไม่นั่ง นอน หรือยืนบนราวสะพาน
๗. ไม่นั่ง หรือนอนบนทางเท้า

มาตรา ๔ ในการปฏิบัติต่อบ้านเรือน บุคคลทุกคนจักต้องรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่าที่ปรากฏแก่สาธารณชน โดย
๑. ไม่ตากผ้าหรือสิ่งอื่นให้รุงรังอย่างอุจาด
๒. ไม่ขีดเขียน หรือปิดข้อความหรือภาพอันอุจาด
๓. ไม่ปล่อยให้สิ่งของมีลักษณะรุงรัง
๔. ไม่ทำส้วมและที่สำหรับทิ้งมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลอันมีลักษณะอุจาด

มาตรา ๖ บุคคลทุกคนจักต้องเคารพตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณี คือ
๑. เคารพธงชาติเวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกาทุกวัน พร้อมกัน
๒. เคารพธงชาติ ธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ เมื่อชักขึ้นหรือลงประจำสถานที่ราชการ เมื่อเชิญมาตามทางราชการหรืออยู่กับที่ประจำแถวหรือหน่วยทหาร ยุวชนทหาร หรือลูกเสือ
๓. เคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงเคารพอื่นๆ ซึ่งบรรเลงในงานตามทางราชการในงานสังคมหรือในโรงมหรสพ

มาตรา ๗ ในที่สาธารณสถานหรือที่ปรากฏแก่สาธารณชน คนไทยจักไม่ต้องขอสิ่งใด ๆ จากคนต่างด้าว อันจะส่อให้เขาดูหมิ่น

มาตรา ๘ คนไทยจักต้องมีสมรรถภาพและมารยาทเกี่ยวกับวิธีดำเนินงานอาชีพโดยขะมักเขม้น และเอาใจใส่ แสดงกิริยาวาจาอันสุภาพ ในการติดต่อกับลูกจ้าง ผู้ว่าจ้างและผู้โดยสารยวดยานพาหนะ”

ที่มา:กรมศิลปากร

ต้นไม้มงคลที่ควรปลูกทางทิศอาคเนย์

ทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้)

ปลูก สารภี ยอ กระถิน

ต้นสารภี
สารภี(ochrocarpus siamensis)เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ขึ้นประปรายในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบทั่วประเทศ เนื้อไม้สีน้ำตาลแกมแดง เสี้ยนตรงสมํ่าเสมอและถี่เนื้อละเอียดแข็ง ค่อนข้างทนทาน เลื่อยผ่า ไสตกแต่งง่าย ใบหนาแข็งรูปไข่ยาว มีสีเขียวเข้มเป็นมัน พุ่มใบดก ไม่ผลัดใบ
ใบมียางขาวดอกเล็กเป็นช่อสีเหลือง ดอกออกเป็นช่อสวย มีกลิ่นหอม
ผลกลมยาวลักษณะคล้ายลูกมะกอก เปลือกหนา รับประทานได้ แต่ไม่มีรสอร่อยอย่างใด
เนื้อไม้ทำปืน ฝา รอด ตง เสา ฯลฯ
ประโยชน์ทางยา
ดอกปรุงเป็นยาหอมชูกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงเส้นประสาท แก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย สารภี เป็นไม้ไทยๆ ที่มีอายุยืน

ยอบ้าน
ยอ (ยอบ้าน) (Morinda citrifolia)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม ใบหนาแข็งสีเขียวเข้ม ใบโต ขนาดฝ่ามือ ก้านใบเป็นสี่เหลี่ยม ใบมีรสขมจัดใช้ปรุงเป็นผักรองห่อหมก หรือแกงอ่อมรับประทานเป็นอาหารได้
ดอกเล็กๆ สีขาว มีผลกลมยาว โตขนาดผลไข่ไก่ เป็นตารอบผล เป็นปุ่มๆ ตลอดผล
ผลอ่อนสีเขียว พอแก่จัดสีขาว มีกลิ่นฉุนมาก คนแก่ชอบรับประทานผลสุก มีปลูกตามบ้านทั่วๆ ไป
สีจากเนื้อไม้ ใบ เปลือกราก ให้สีเหลืองแกมแดง ใช้ย้อมผ้า
ประโยชน์ทางยา
-ผลอ่อน รับประทานเป็นยาแก้คลื่นเหียน อาเจียน
-ผลสุกงอม เป็นยาขับระดูสตรีและขับลมในลำไส้
-ใบ อังไฟพอตายนึ่ง ปิดหน้าอก หน้าท้อง แก้ไอ แก้ม้ามโต แก้จุกเสียด แก้ไข้
-ใบสด ตำพอกศีรษะเป็นยาแก้เหา
-ใบสด ลวกน้ำข้าวร้อนๆ ปิดพอกแผลกลาย รักษาแผล
-ใบสด ย่างไฟพอตายนึ่ง ปิดตามแขนขา แก้อาการปวดเมื่อย

ยอป่า
ยอป่า (Morinda coreia, Ham.)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ต้นใบกิ่งก้าน คล้ายกับยอบ้าน ผิดกันแต่ยอป่าใบแคบ ยาวเรียวกว่า มีผลกลม ตาตื้น ผลเกลี้ยงไม่มีปุ่มนูนเหมือนยอบ้าน ขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณทั่วๆ ไป เว้นแต่ทางภาคใต้
โบราณท่านปลูกใกล้บ้าน เพื่อประโยชน์ใช้สอยในการประกอบอาหารและเป็นยารักษาโรคบางชนิด เหตุผลที่เกี่ยวกับเคล็ดลับความเชื่อคงหวังให้ผู้คน “สรรเสริญ เยินยอ” หรือ “ยกยอ ปอปั้น” ในสิ่งที่ดีงาม

กระถิน
กระถิน (Leucaena glauca, Benth)
เป็นไม้พุ่ม ถิ่นเดิมของอเมริกา ใบเล็กย่อย ละเอียด ลักษณะใบคล้ายมะขาม ดอกเป็นดอกรวมกลมโตเท่าผลมะไฟ เป็นฝอยฟูคล้ายดอกกระทุ่มสีขาวล้วน ฝักแบนยาวประมาณ ๔ นิ้ว กว้างครึ่งนิ้ว มีเมล็ดเรียงอยู่ข้างในฝัก แบนคล้ายเมล็ดแตงกวา ปลูกกันทั่วไปเป็นแนวรั้วบ้าน
ยอดอ่อนและฝัก รับประทานเป็นผักสดได้ดี มีกลิ่นคล้ายชะอม
ประโยชน์ทางยา
รับประทานแก้ท้องร่วง สมานแผล ห้ามเลือด
คติความเชื่อ บางแห่งเชื่อกันว่าป้องกันเสนียดจัญไร
ที่มาโดย:รศ. สุนทร ปุณโณทก

ความเชื่อพื้นบ้านอันสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในสังคมอีสาน

ความเชื่อชาวอีสาน
นิยามและขอบเขต
ความเชื่อ คือ การยอมรับอันเกิดอยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์ต่อพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่เป็นผลดีหรือผลร้ายต่อมนุษย์นั้นๆ หรือสังคมมนุษย์นั้นๆ แม้ว่าพลังอำนาจ เหนือธรรมชาติเหล่านั้นไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง แต่มนุษย์ในสังคมหนึ่งยอมรับและให้ความเคารพเกรงกลัวสิ่งเหล่านี้เรียกว่าความเชื่อ
ฉะนั้นความเชื่อจึงมีขอบเขตกว้างขวางมาก ไม่เพียงแต่จะหมายถึง ความเชื่อในดวงวิญญาณทั้งหลาย (belief in spiritual beings) ภูติผี คาถาอาคม โชคลาง ไสยเวทย์ต่างๆ ยังรวมถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มนุษย์ยอมรับนับถือ เช่น ต้นไม้ (ต้นโพธิ์ ต้นไทร) ป่าเขา เป็นต้น
นักมานุษยวิทยามีความเห็นว่า มนุษย์ในสังคมบุพกาลมีความเชื่อประจำกลุ่มของตน เช่น การเคารพนับถือเทพเจ้าประจำกลุ่ม หรือดวงวิญญาณที่ปกป้องคุ้มครองกลุ่มมนุษย์ จะต้องกระทำพิธีกรรมเซ่นสรวงบวงพลีเพื่อวิงวอนขอร้องให้เทพเจ้า หรือดวงวิญญาณเหล่านั้นปกป้องคุ้มครองเพทภัยให้แก่กลุ่มชน จากความเชื่อในเรื่องวิญญาณเหล่านี้ได้พัฒนาเติบโตตามธรรมชาติ และสภาวะทางสังคมมนุษย์มาเป็นศาสนาสมัยใหม่ ซึ่งเป็นระบบระเบียบมากกว่าความเชื่อในครั้งบุพกาล
ขอบเขตในการศึกษาความเชื่อในสังคมอีสานนี้จำกัดอยู่ก่อนที่จะรับวัฒนธรรมสมัยใหม่ มุ่งที่จะศึกษาความเชื่อพื้นฐานของสังคม โดยยึดตำนานนิทานปรัมปรา และพยายามแยกให้เห็นว่าความเชื่อเหล่านั้นไม่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา ถึงแม้จะพบว่ามีพิธีกรรมจำนวนมากในท้องถิ่นอีสานที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธกับความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณก็ตามที แต่ก็พอจะแยกแยะได้จากพิธีกรรมเหล่านั้นว่าส่วนใดเป็นแบบพุทธ ส่วนใดเป็นคติความเชื่อเรื่องภูติผี ก่อนที่จะกล่าวถึงความเชื่อในสังคมอีสาน อันสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในสังคมนั้น ใคร่อยากจะชี้ให้เห็นถึงความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาล การกำเนิดโลกของชาวลุ่มแม่น้ำโขง หรืออาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โลกทรรศน์เกี่ยวกับจักรวาล และโลก” เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจพื้นฐาน และเป็นการแยกแยะให้เห็นว่าความเชื่ออันสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ของคนไทยแต่ละกลุ่มย่อมแตกต่างกัน ตามสภาพของภูมิศาสตร์ และการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ถึงแม้ว่าโครงสร้างของวัฒนธรรมส่วนใหญ่จะเหมือนกัน แต่ก็มีส่วนปลีกย่อยที่ต่างไปจากกลุ่มคนไทยภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้อยู่ไม่น้อย
ที่มาโดย:รองศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

หุ่น:หุ่นตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

แม้จะเพิ่งผ่านพ้นช่วงเวลาของการพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนของขวัญจนสุขสำราญกันถ้วนหน้า  บางคนก็อาจจะฉลองต่อเนื่องไป กิจกรรมแห่งความบันเทิงต่างๆ ก็มีมาเสนอเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวไกลถึงเพียงนี้  การเล่นมหรสพอย่างหนึ่งที่มีให้พบเห็นอยู่เสมอคือ หุ่น ชนิดต่างๆ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ อธิบายว่า หุ่น หมายถึง รูป, รูปแบบ, รูปตุ๊กตา, รูปแบบที่จำลองจากของจริงต่าง ๆ หรือหมายถึง รูปปั้นหรือแกะสลักที่ทำโกลนไว้เพื่อเป็นแบบชั่วคราว  หรือในภาษาปาก หมายถึง รูปทรงของร่างกายเป็นต้น เช่น คนนี้หุ่นดี นอกจากนี้ หุ่นยังหมายถึง ชื่อการเล่นมหรสพที่ใช้รูปหุ่นแสดงเป็นเรื่องราว เช่น หุ่นกระบอก หุ่นจีน โดยปริยายหมายถึงบุคคลที่กลายเป็นเครื่องมือของผู้อื่นโดยได้รับแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งบังคับบัญชา  แต่ไม่มีอำนาจอะไรอย่างแท้จริง เช่น เป็นหุ่นให้เขาเชิด รัฐบาลหุ่น

หุ่น มีหลายชนิด เช่น หุ่นกระบอก หมายถึง หุ่นชนิดหนึ่งมีแต่ส่วนหัวและมือ ๒ ข้างลำตัวทำด้วยไม้กระบอก มีผ้าเย็บเป็นถุงคลุม เวลาเชิดใช้มือสอดเข้าไปจับไม้กระบอกนั้นเชิด หุ่นขี้ผึ้ง หมายถึง หุ่นที่ทำด้วยขี้ผึ้งเป็นต้น มักทำเป็นรูปคนที่มีชื่อเสียง สวมใส่เสื้อผ้า มองดูคล้ายคนจริงๆ หุ่นจีน หมายถึง หุ่นชนิดหนึ่ง ทำเป็นตัวละครในวรรณกรรมจีน มีทั้งชนิดครึ่งท่อนและเต็มตัว ใช้คนเชิดคนเดียว หุ่นนิ่ง ใช้เป็นคำเรียกภาพวาดหรือภาพถ่ายของสิ่งที่ไม่เคลื่อนไหวว่า ภาพหุ่นนิ่ง หุ่นพยนต์ (อ่านว่า หุ่น-พะ-ยน) หมายถึง รูปที่ผู้ทรงวิทยาคมเอาวัตถุมาผูกขึ้นแล้วเสกเป่าให้เป็นเหมือนรูปที่มีชีวิต หุ่นยนต์ หมายถึง หุ่นที่ทำเป็นรูปคนมีเครื่องกลไกภายใน สามารถทำงานหลายอย่างแทนมนุษย์ได้ โดยปริยายหมายถึง ผู้ที่ทำงานตามที่ถูกสั่งโดยไม่ต้องใช้สมองและไม่มีชีวิตจิตใจดุจเป็นเครื่องจักรกล หุ่นไล่กา หมายถึง หุ่นที่มักทำเป็นรูปคนสวมเสื้อผ้าสำหรับลวงนกกาให้กลัว ทำให้ไม่กล้าลงมากินพืชผลในไร่นา หุ่นใหญ่ หมายถึง หุ่นชนิดทำจำลองย่อส่วนตัวละครขนาดสูงประมาณ ๒ ศอก ตัวหนึ่งใช้คนเชิด ๓ คน ใช้แสดงละครเล็ก

จินดารัตน์  โพธิ์นอก

พระกัสสปะ:นามของพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๓

กนกวรรณ  ทองตะโก

ตามที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน  โปรดให้อัญเชิญพระทันตธาตุของพระกัสสปะพุทธเจ้าที่ประดิษฐานในพระราชวังภูฏานมาประดิษฐานที่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา และเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้สักการะ โดยได้อัญเชิญพระทันตธาตุมาประดิษฐานไว้ที่สนามหลวงในงานกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวถึงพระกัสสปะพุทธเจ้าไว้ว่า

กัสสปะ เป็นนามพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๓ ในจำนวน ๕ องค์ ในภัทรกัลปนี้ (พระพุทธเจ้าโคดม เป็นองค์ที่ ๔) ในคัมภีร์พุทธวงศ์  ขุทกนิกาย สุตตันตปิฎก และในอรรถกถาชกตก ตอนทูเรนิทาน กล่าวต้องกันว่า พระกัสสปพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในกรุงพาราณสีได้กำเนิดในสกุลพราหมณ์  เป็นโอรสของพรหมทัตพราหมณ์กับนางธนวดีพราหมณี  ได้ครองฆราวาสอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ ปี มีปราสาท ๓ หลัง คือ

๑. หังสปราสาท

๒.  ยสปราสาท

๓.  สิรินันทปราสาท

มีสนมกำนัล ๔๘,๐๐๐ คน มีภริยาชื่อนางสุนันทา มีบุตรชื่อวิชิตเสน ได้เห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และพระสมณะ  ได้เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (การเสด็จออกบรรพชาของพระพุทธเจ้า) ทรงบำเพ็ญมหาปธานจริยาอยู่ประมาณ ๗ วัน ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ควงไม้ไทรนิโครธ ทรงประกาศพระธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน มีมหาสังฆสันนิบาตครั้งเดียว มีพระอรหันต์มาประชุมประมาณ ๒๐,๐๐๐ องค์ พระติสเถระเป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระภารทวาชเถรเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย  พระสรีรกายสูง ๒๐ ศอก พระชนมายุประมาณ ๒๐,๐๐๐ ปี ประดิษฐานพระศาสนาเท่าพระชนมายุ เสด็จนิพพานที่เสตพยคาม กรุงพาราณสี

พระทันตธาตุนี้ แม้แต่ประชาชนชาวภูฏานเองยังไม่มีโอกาสได้เข้าไปสักการะบ่อย ๆ เพราะทางการภูฏานเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี  จะเปิดให้ประชาชนภูฏานสักการะได้เพียงปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น คือในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งเป็นวันดรากอนเยียร์ของภูฏาน  จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนชาวไทยจะได้สักการะพระทันตธาตุ  และเป็นครั้งแรกในโลกที่ประเทศภูฏานยินดีให้อัญเชิญพระทันตธาตุออกนอกประเทศ

การสะเดาะเคราะห์

ซึ่งเราจะเห็นว่าการสะเดาะเคราะห์เป็นวิธีการที่แต่ละสำนัก  แต่ละอาจารย์จะมีวิธีชี้แนะ พิธีกรรม ที่ผิดแผกแตกต่างกันไป อยู่ที่ความเชื่อ  ความเหมาะสมแต่ละเรื่องราวของแต่ละท้องถิ่น  แต่ก็ขอให้เข้าใจว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ใช่เป็นวิธีการที่จะทำให้เคราะห์กรรมเหล่านั้นหมดไปเสียเลยทีเดียว เพียงแต่อาจจะผ่อนหนักให้เป็นเบา หรือผลของกรรมตามมาล่าช้าเท่านั้นเอง  ซึ่งจะของแนะนำหลักเกณฑ์โดยการไปทำสิ่งเหล่านี้คือ

1.  บริจาคโลงศพให้ศพไร้ญาติ ซึ่งถ้าหากว่าสถานที่แห่งนั้นมีการออกใบอนุโมทนาบัตรให้  ก็ควรที่จะนำไปเผาไฟ พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่า ข้าพเจ้า(ชื่อ+นามสกุล) ขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลในการกระทำครั้งนี้ ให้แก่เจ้ากรรมนายเวร และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือผู้ที่ข้าพเจ้าเคยล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจ จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ให้จงมารับเอาส่วนบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้ทำในครั้งนี้ พร้อมกับช่วยรับเอาทุกข์เอาโศกเอาโรคภัยไปด้วย ขอให้ข้าพเจ้าจงแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง และประสบแต่ความสุข ความโชคดีมีชัยความสมหวังในสิ่งที่ปรารถนา ทุกประการด้วยเทอญ

2.  การบริจาคเงินร่วมในโครงการไถ่ชีวิตสัตว์ใหญ่ ซึ่งก็อยู่ที่กำลังความพร้อมในการที่จะทำ ว่าทำได้แค่ไหน อีกทั้งเมื่อได้ทำบุญไปแล้วควรเลิกกินเนื้อสัตว์ด้วยก็จะยิ่งดี

3.  การบริจาคโลหิต อาจจะไปบริจาคโลหิต ถ้าร่างกายของเรามีความแข็งแรงเพียงพอ หรือจะบริจาคเงินเพื่อซื้อโลหิตให้แก่ผู้ป่วย ก็แล้วแต่ความพร้อมของแต่ละบุคคล

ในการสะเดาะเคราะห์ทั้งหมดนี้ จะทำเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ อยู่ที่กำลังความสามารถของเรา ไม่จำเป็น่ที่จะต้องทำทั้ง 3 เรื่องพร้อมกัน  ซึ่งนี่คือการชี้แนะในการแก้ไขทางด้านร่างกาย แต่ทางด้านจิตวิญญาณที่มีการเวียนว่ายตายเกิด ว่าใครเมื่อตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไรที่ไหนอย่างไร ก็อย่างคำสอนที่กล่าวว่า เมื่อคนเราตายไปแล้วจิตวิญญาณก็จะล่องลอยถอยออกจากร่างในส่วนต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และจะไปเกิดในภพภูมิที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

ถ้าจิตวิญญาณออกทางตา ผู้ตายดวงตาจะเบิกโพลง ก็ไปเกิดเป็น นก กา ไก่ ที่ใช้ดวงตาแสวงหาอาหาร ถ้าจิตวิญญาณออกทางปาก ผู้ตายปากจะเปิดกว้าง ก็ไปเกิดเป็น กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ปากขมุบขมิบตลอดเวลา ถ้าจิตวิญญาณออกทางหู ผู้ตายรูหูจะเปิดกว้าง ก็ไปเกิดเป็น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ใช้หูโบกสะบัด ถ้าจิตวิญญาณออกทางจมูก ผู้ตายรูจมูกจะเปิดกว้าง ก็ไปเกิดเป็น มด แมลงหวี่ แมลงวัน ที่ใช้จมูกสูดดมหากิน ถ้าจิตวิญญาณออกทางสะดือผู้ตายรูสะดือจะใหญ่ ก็ไปเกิดเป็นสามัญชนธรรมดาหาเช้ากินค่ำ ถ้าจิตวิญญาณออกทางกระหม่อม ก็ไปเกิดเป็นเทวดา หรือเป็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ถ้าจิตวิญญาณออกทางประตูวิญญาณ ทุกทวารก็ปิดสนิท ก็กลับสู่นิพพาน ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด

ข้อมูลจาก สถานปฏิบัติธรรมเสียงทิพย์

พิธีซัดน้ำ

นฤมล บุญแต่ง

วัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานนั้น บางส่วนเมื่อเวลาผ่านไปได้มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัย  ปัจจุบันพิธีการหลายอย่างที่มีมาแต่โบราณกาลจึงขาดหายไป เช่น พิธีซัดน้ำ สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  มีเรื่องเล่าว่า ซัดน้ำ คือการสาดน้ำในพิธีแต่งงานบ่าวสาวตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณ  ซึ่งมีพรรณนาไว้ในบทเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานพลายแก้วกับนางพิม  และตอนแต่งงานพระไวยกับนางศรีมาลา พิธีนี้เริ่มเวลาบ่ายของวันสุกดิบก่อนพิธีแต่งงาน  จะมีพิธีซัดน้ำที่เรือนหอ เจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าบ่าว กับกลุ่มของเจ้าสาวกับเพื่อนๆ จะออกมานั่งในพิธีให้ห่างกันพอควรต่อหน้าพระสงฆ์ที่นิมนต์มาสวดพระพุทธมนต์ พระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ในพิธี  เป็นผู้นำมงคลสวมให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว  โดยมีสายสิญจน์โยงไปที่หม้อน้ำมนต์  เมื่อพระสงฆ์ให้ศีลสวดมนต์ถึงบทชยันโต  ก็ตีฆ้องชัย  พระเถระผู้เป็นประธานก็สาดน้ำมนต์รดบ่าวสาวและกลุ่มเพื่อนที่น้องห้อมล้อม  ที่ต้องซัดน้ำเพราะนั่งเบียดรวมกันอยู่ จึงต้องใช้น้ำซัดไปจะได้ทั่วถึง จนน้ำหมดบาตรจึงหยุด หรือพอเจ้าบ่าวเจ้าสาวร่นเข้าไปชิดเคียงกันแล้วจึงหยุด ต่อจากนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ก็ยกบาตรน้ำมนต์เทรดบ่าวสาวคนละครั้ง คนรดสุดท้ายเมื่อเทรดหมดบาตรแล้วก็เอาบาตรครอบศีรษะเจ้าบ่าวเจ้าสาวคนละครั้ง เมื่อเสร็จพิธีพวกเจ้าบ่าวเจ้าสาวจึงกลับเข้าห้องผลัดเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม

พิธีแต่งงานของชาวอินเดียก็มีการรดน้ำคล้ายของเรา โดยอธิบายว่าน้ำเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์  น้ำจึงเป็นส่วนสำคัญในพิธีแต่งงาน  บ่าวสาวต้องเข้าพิธีอาบน้ำสนานกาย  ให้กายบริสุทธิ์เสียก่อนจึงจะดำเนินพิธีอย่างอื่นต่อไปได้ ดังนั้นพิธีซัดน้ำในงานแต่งงานของไทยจึงน่าจะเป็นเรื่องทำตนให้สะอาดก่อนเข้าพิธีแต่งงานในวันรุ่งขึ้น  ที่ใช้น้ำมนต์ก็เพื่อชำระล้างมลทินอัปรีย์จัญไรให้หมดไป  การรดน้ำจึงเป็นเพียงการเริ่มต้นพิธีเท่านั้น  ไม่ใช่ตัวพิธีแต่งงานอย่างปัจจุบัน  การซัดน้ำตามประเพณีโบราณ ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็นพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์  เพราะการซัดน้ำเป็นเรื่องยุ่งยากเปียกเปื้อน จึงเปลี่ยนมารดที่ศีรษะอย่างเดียวต่อมาเห็นว่าการรดที่ศีรษะทำให้ผมเจ้าสาวเสียทรงที่ตกแต่งไว้ จึงเลื่อนมารดที่มือนิดหนึ่ง ด้วยสังข์บรรจุน้ำมนต์ เพื่อให้คล้ายคลึงกับพิธีดั้งเดิม

ทรงผมเด็กไทยสมัยโบราณ

เด็กไทยสมัยก่อนอาจจะมีอิสระวิ่งเล่นกันได้อย่างเสรี แต่สำหรับทรงผมแล้วพวกหนู ๆ เขาไม่มีสิทธิ์เลือก เพราะเด็กไทยสมัยโบราณมีทรงผมภาคบังคับให้ทำแค่ 4 ทรงเท่านั้น ไม่ว่าจะจู้จี้แค่ไหนก็ไม่มีทางแต่งสวยเสริมหล่อกันได้มากกว่านี้

สี่ทรงบังคับ

ทรงผมทรงแรกเป็นทรงที่ลูกหลานคนรวยในละครไทยแท้ทุกเรื่องต้องไว้กัน นั่นคือผมจุก คาดว่าที่ลูกคนรวยชอบทำเพราะทำแล้วดูสวยน่ารักดี แถมยังมีมวยให้เสียบปิ่นทอง เงิน นาก หรือคล้องพวงมาลัยได้ด้วย แต่ถ้าเป็นเด็ก ๆ ลูกคนจนที่ไม่มีเครื่องประดับมีค่า พ่อแม่ก็จะใช้ผ้ามัดไว้ หรือบางบ้านอาจจะถักเป็นเปียก่อนแล้วค่อยยกขึ้นไปขมวดมุ่นบนกระหม่อม ผมจุกจะได้อยู่นานไม่หล่นลงมารุงรัง

ทรงบังคับลำดับที่สองเรียกว่าผมแกละ โดยพ่อแม่จะโกนผมลูกออกเหลือไว้เป็นกระจุกที่เรียกว่าแกละ ส่วนจะเหลือกี่แกละนั้นไม่มีใครห้ามแล้วแต่คนโกนเองว่าจะเมตตาไว้ชีวิตเส้นผมกี่ปอย เด็กบางคนอาจมีสองแกละ สามแกละ หรือสี่แกละด้วยซ้ำไป ถ้าได้พ่อแม่ดีไซน์เก่ง ๆ

ผมทรงที่สามเรียกว่าผมโก๊ะ คนโกนจะเหลือผมอยู่แค่กระจุกเดียวตรงขวัญ(ส่วนโค้งของศีรษะ) ส่วนบริเวณอื่นจับโกนจนล้านเลี่ยนเหมือนโล่งหมด

และทรงสุดท้ายเรียกว่าผมเปีย เป็นทรงที่ต่อเนื่องมาจากผมแกละและผมโก๊ะ พอผมปอายที่เหลือให้นั้นยาวมากจนรุงรังทิ่มหน้าทิ่มตา พ่อแม่ก็จะจับมาถักเป็นหางเปียให้เรียบร้อย แล้วปล่อยให้แกว่งไกวเล่นลมตามการเคลื่อนไหวของเด็ก จะไม่จับไปขมวดเป็นจุกแบบผมจุก

การตัดสินใจว่าเด็กคนไหนจะทำผมทรงไหน คนโบราณใช้วิธีเสี่ยงทายโดยการหาดินมาปั้นตุ๊กตาเด็กไว้แกละผูกจุก ไว้โก๊ะแล้วให้เด็กเลือกหยิบเอาเองว่าเจ้าตัวชอบทรงไหน แปลว่านั่นคือทรงที่ถูกโฉลกกับเด็กคนนั้น ตุ๊กตาพวกนี้ปั้นแค่หยาบ ๆ เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาหรือบอกว่าเพศหญิงหรือเพศชาย แต่คนที่เหนื่อยหนักที่สุดเห็นจะเป็นคนที่ทำตุ๊กตาแกละ เพราะจะต้องปั้นหลายตัวหน่อย คือทำเป็นตุ๊กตาหนึ่งแกละ สองแกละ สามแกละ หรือจะสารพัดแกละก็ว่ากันไป เด็กจะต้องทำผมทรงที่ตัวเองเลือกไปจนกว่าจะถึงวัยโกนจุกเมื่ออายุ 11-12 ปี ถึงจะเปลี่ยนทรงได้

ขวัญกับทรงผม

ผมไทยทุกทรงจะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ จะต้องมีปอยผมเหลืออยู่ตรงส่วนที่เป็นขวัญ คนโบราณให้เหตุผลว่าขวัญคือที่สถิตย์วิญญาณของคน จึงต้องมีผมมาปกคลุมไว้เสมอ ไม่อย่างนั้นขวัญจะไม่มีที่อยู่และอาจหนีไปที่อื่น ทำให้เด็กไม่สบายหรืออาจถึงตายได้ แม้แต่ตอนโกนผมไฟเมื่อเด็กอายุได้ 1 เดือน หรือเด็กเป็นเหาต้องโกนผมทิ้งทั้งศีรษะ ผมตรงขวัญก็ยังเป็นสิ่งที่จะแตะต้องไม่ได้ ต้องเก็บรักษาไว้เหมือนเดิม

ความเชื่อของไทยข้อนี้ตรงกับชาวอินเดีย คนอินเดียเรียกบริเวณขวัญว่า “พรหมรันทร” เพราะถือว่าเป็นทางที่อาตมันหรือวิญญาณของคนเราจะเข้า-ออก เวลาคนเจ็บใกล้ตาย พวกโยคีจะทุบขม่อมบริเวณขวัญให้แตก เพื่อช่วยให้วิญญาณหลุดพ้นออกไปจากร่างได้สะดวก คนเจ็บจะได้หมดทุกข์

ส่วนในศาสนาพราหมณ์ เทพเจ้าพราหมณ์แทบทุกองค์จะไว้ผมยาวขมวดมุ่นเป็นมวยกลางศีรษะ ศิษยานุศิษย์ในศาสนาพราหมณ์ทั้งหลายจึงต้องให้ลูกหลานทำมวยกลางศีรษะ คล้ายการใส่ยูนิฟอร์มบริษัทให้เทพเห็นว่าเด็กพวกนี้ขอฝากเนื้อฝากตัวเป็นพนักงานในสังกัดของเทพเจ้า เทพจะได้เอ็นดูประทานพรให้และช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัย

คนไทย พ.ศ.นี้อาจจะคิดว่ามีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้นที่ไว้ผมแกละหรือผมโก๊ะ แต่ที่จริงผมทั้ง 4 ทรงนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับเพศใดโดยเฉพาะ ถ้าเด็กผู้หญิงเลือกหยิบตุ๊กตาแกละหรือโก๊ะ ก็ต้องไว้ผมทรงนั้นไปจนกว่าจะโตเหมือนกัน

 

 

ตุ๊กตาเสียกบาลศิลปะกับความเชื่อ

งานสะเดาะเคราะห์ที่เป็นอุตสาหกรรมศิลป์

“ตุ๊กตาเสียกบาล”

ชื่อนี้อาจไม่คุ้นหู..ภาพอาจไม่คุ้นตาเท่าเครื่องถ้วยชามสังคโลกที่ใคร ๆ รู้จัก

แต่คุณค่าของตุ๊กตาเสียกบาลจากศรีสัชนาลัย ไม่เพียงแต่เป็นงานสะสมที่นักสะสมศิลปโปรดปาน พอ ๆ กับสังคโลก

หากสะท้อนภาพขนบธรรมเนียมยุคเก่า ซึ่งชายหญิงใช้โอนอันตรายทั้งปวงซึ่งจะเกิดกับตนเองไปให้กับตุ๊กตานั้น ตุ๊กตาเหล่านี้ เคลือบด้วยน้ำยา

จากเตาเผาตามแหล่งต่าง ๆ โดยเฉพาะในเขตศรีสัชนาลัย พบตุ๊กตาที่ปั้นเป็นเพศหญิงชาย ในอิริยาบถต่าง ๆ กัน มากมาย เช่น

หากเป็นหญิงจะเกล้าผมมวย มีจุก เปลือยอก นั่งตัวตรง มืออุ้มเด็กทารกหรือเด็กอ่อนแนบอก พนมมือทั้งสองข้างถือดอกไม้ หรือพัด

ส่วนชาย หัวจะแบน แก้มตุ่ยคล้ายอมหรือเคี้ยวหมากหรือเมี่ยงข้างใดข้างหนึ่ง มืออุ้มไก่ชน หรือปลากัด เป็นต้น

ที่เรียกว่า “ตุ๊กตาเสียกบาล” ก็เพราะเป็นตุ๊กตาที่ทำขึ้นเพื่อนำไปตัดศีรษะ การตัดศีรษะก็เพื่อสะเดาะเคราะห์หรือต่ออายุของบุคคลที่นำมาปั้นเป็นตุ๊กตา ทั้งชายและหญิง

เช่นผู้หญิงไทยสมัยก่อนกลัวอันตรายจากการคลอด เพราะการทำคลอดสมัยโบราณอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของทั้งแม่และเด็ก

สตรีใกล้คลอดจึงมีการทำตุ๊กตาเป็นรูปนางและบุตร แล้วไปตัดศีรษะ โอนอันตรายไปให้ตุ๊กตานั้นแทน

ตุ๊กตาที่คอไม่ขาด…ยังพอหลงเหลืออยู่ให้เห็นเป็นคุณค่าทางงานศิลปะ ที่สะท้อนชีวิต..ความอยู่รอด..ความเชื่อถือของคนสมัยโบราณ

โดยเฉพาะ พบได้ที่เตาเผาเก่าที่ศรีสัชนาลัย ผลิตทั้งเครื่องถ้วยชาม วัสดุทางสถาปัตยกรรม ตุ๊กตาคน ตุ๊กตาสัตว์ ที่นี่คือแหล่งเตาเผามูลค่ามหาศาล แม้สักห้าพันโกฏิ…ก็มิอาจประเมินได้

“ตุ๊กตาเสียกบาล” หนึ่งในศิลปอุตสาหกรรมไทย สมัยศรีสัชนาลัย