อายุเท่าไรจึงเรียกว่าผู้เฒ่า

Socail Like & Share

คำว่าเฒ่านั้นตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็นวิเศษหมายความว่าแก่ มีอายุมาก เฒ่าแก่ เป็นนามหมายถึง ตำแหน่งข้าราชการฝ่ายใน ผู้ใหญ่ที่เป็นประธานในการหมั้นและขั้นหมากผู้สูงอายุ

คำว่าผู้เฒ่าในที่นี้หมายเอาถึงอู้มีอายุมาก หรือคนแก่คนชรา แต่คำว่าคนแก่คนชราดูจะไม่เป็นที่ต้องการของคนบางคน เพราะคำว่าแก่และชรา ดูจะใกล้คำว่าตายเข้าไปมาก จึงไม่มีใครต้องการคำนี้ เมื่อไม่กี่ปีมานี้จึงมีนักจิตวิทยาเปลี่ยนคำนี้เสียใหม่ว่าผู้สูงอายุ ดูจะทำให้มีความหมายน่าเกรงขาม ไม่อ่อนปวกเปียกเหมือนคำว่าแก่และชราดังที่ใช้มาแต่เดิม อย่างไรก็ตาม คำว่าผู้เฒ่าในความหมายธรรมดาแล้วก็คือไม่ใช่คนหนุ่มหรือคนสาวหรือคนวัยกลางคนนั้นเป็นของที่ไม่มีใครจะเถียงได้

แต่ปัญหามีอยู่ว่าคำผู้เฒ่านั้น หมายถึงคนที่มีอายุขนาดไหนปูนไหน จึงจะเรียกว่าเฒ่า ตามกฎหมายเก่าของเรา เด็กเจ็ดข้าว เฒ่าเจ็ดสิบ ท่านว่าทำผิดก็อย่าเอาโทษเลย ในที่นี้ก็จะถือเอายุติไม่ได้ว่าผู้เฒ่าต้องอายุเจ็ดสิบ เพราะเฒ่าเจ็บสิบกฎหมายไม่เอาโทษเท่านั้นเอง ถือว่าแก่มากหลงๆ ลืมๆ ไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี พอๆ กับเด็กอายุเจ็ดขวบ แต่เดี๋ยวนี้กฎหมายมาตรานี้ยกเลิกไปเสียแล้ว แต่ที่อายุต่ำกว่าเจ็ดสิบก็ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้เฒ่า

ตามคติของฝรั่งเขาว่าชีวิตคนเราเริ่มต้นเมื่ออายุ ๔๐ ดังนั้นคนผิวขาวชาวยุโรปอเมริกา อาจจะถือว่าคนแก่นั้นต้องอายุ ๗๐-๘๐ ปีขึ้นไปก็ได้ ตามคติของไทยคนอายุ ๖๐ ปี ก็น่าจะเป็นคนเฒ่าคนชราแล้ว เพราะตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญของข้าราชการว่าข้าราชการอายุครบ ๖๐ ปี ต้องเกษียณอายุ ต้องออกรับบำเหน็จหรือบำนาญ เว้นแต่ทางการจะต่ออายุให้จนถึง ๖๕ ปี

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี