ขวดเครื่องราชบรรณาการ

Socail Like & Share

สมัยที่มนุษย์รู้จักทำขวดขึ้นมาใช้ใหม่ๆ ขวดคงจะเป็นของมีราคาสำหรับคนชั้นสูง หรือมีอำนาจวาสนาเท่านั้นใช้ ดังนั้น จึงปรากฏว่า เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ปรากฏในจดหมายเหตุว่า ได้ใช้ขวดเครื่องถ้วยของจีนของญี่ปุ่นเป็นเครื่องราชบรรณาการ และเป็นของเสนาบดีไทยส่งไปกำนัลเสนาบดีต่างประเทศถึงยุโรปด้วย เข้าใจว่าขวดของจีนหรือของญี่ปุ่นนั้น คงจะเป็นขวดที่ทำด้วยดินเผาหรือเครื่องเคลือบ แบบขวดปักดอกไม้หรือแจกันของเราทุกวันนี้

พูดถึงขวดแล้ว ก็อดที่จะพูดถึงเหล้าไม่ได้ เพราะขวดเหล้าดูเหมือนจะแพร่หลายยิ่งกว่าขวดน้ำปลาหรือขวดยา ขวดน้ำหอมเสียอีก ว่ากันว่าคนไทยเราดื่มเหล้ากันทุกโอกาสที่จะดื่มได้ ดีใจก็ชวนกันไปดื่มเหล้า เสียใจก็พากันหาเหล้าดื่ม ไม่ดีใจไม่เสียใจไม่รู้จะทำอะไร ก็ดื่มเหมือนกัน จนมีคำพูดขำๆ ว่า คนนั้นคนนี้เขาดื่มเหล้าเพียงสองวันเท่านั้น คือวันที่ฝนตกกับวันที่ฝนไม่ตก หรือวันแดดออกกับวันที่แดดไม่ออก ก็คือดื่มทุกวันนั้นแหละ เรื่องความเสียเงินไปเพราะเหล้านี้ มีผู้ให้ความคิดเห็นแบบเศรษฐกิจของยายแก่ว่า ถ้าเราดื่มเหล้าขาววันละขวดเวลานี้เหล้าขาวขวดละ ๑๐ บาท ปีหนึ่งมี ๓๖๕ วัน เป็นเงินถึงปีละ ๓,๖๕๐ บาท ถ้าสิบปี เป็นเงินถึง ๓๖,๕๐๐ บาท คนที่บ่นว่าจนไม่มีเงินติดตัว แต่มีปัญญาหาเงินดื่มเหล้าได้ทุกวันนั้น น่าจะได้คิดว่าเรานี่ก็มีปัญญาหาเงินได้ปีละหลายพันบาทเหมือนกัน การดื่มเหล้า นอกจากจะเสียเงินทองแล้วยังเป็นชะนวนก่อให้เกิดความทะเลาะวิวาทได้ง่าย เพราะคนเมานั้น มักจะเห็นช้างเท่าหมู ไม่เกรงกลัวใครหรืออะไรทั้งนั้น เมื่อประจัญหน้ากันต่างคนต่างไม่กลัว ก็ต้องตายไปข้างหนึ่ง อาวุธที่ดีในวงเหล้าก็เห็นจะไม่มีอะไรดีไปกว่าขวดเหล้า เคยเห็นนักเลงเหล้าทะเลาะกันในร้านเหล้า คว้าอะไรไม่ทัน ก็คว้าขวดเหล้าฟาดเข้ากับโต๊ะแตกเป็นปากฉลาม ใช้เป็นอาวุธประหัตประหารกันได้ผลดีที่สุดอีกฝ่ายหนึ่งดับ ส่วนฝ่ายที่ทำร้ายก็เข้าไปเสวยตะรางสบายไป โทษของการดื่มเหล้ามีอเนกประการพระท่านเทศน์มาหลายพันปีแล้ว จนบัดนี้ก็ยังเทศก์อยู่คู่กับคนดื่มเหล้า เมื่อไรเหล้าจะหมดโลกสักทีก็ไม่ทราบ

ก่อนจะจบเรื่องนี้ ก็เห็นจะต้องยกคำของใครก็จำไม่ได้เสียแล้วที่กล่าวว่า “น้ำเต็มขวดนั้น เขย่าไม่ดัง แต่น้ำครึ่งขวดละก็เขย่าดังนัก” จะมีความหมายว่ากระไร ก็โปรดคิดเอาเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี