ความเป็นมาของเครื่องปั้นดินเผาไทย

Socail Like & Share

สำหรับเครื่องปั้นดินเผาของไทยนั้น อาจารย์จิต บัวบุศย์ ผู้ค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้คนหนึ่ง ได้กล่าวไว้ว่า ความเป็นมาของเครื่องปั้นดินเผาของไทยจัดเป็นสมัยต่างๆ ๙ สมัย เริ่มด้วยสมัยก่อนสุวรรณภูมิ (ประมาณก่อน พ.ศ. ๕๐-พ.ศ. ๓๐๐) คนไทยได้ค่อยๆ อพยพลงมาสู่แหลมอินโดจีน ได้ปะปนกับพวกอินเดียและมอญ-ขะแมร์ที่อยู่ในอาณาเขตนี้ ทำเครื่องปั้นดินเผาสืบมาวิวัฒนาการขึ้นจากแบบเดิม ต่อไปเป็นสมัยสุวรรณภูมิ (อ้ายลาวประมาณ พ .ศ. ๓๐๐- ๘๐๐) เครื่องปั้นดินเผาของอินเดีย มอญ-ขะแมร์ได้เจริญขึ้น เพราะได้รับอิทธิพลทางเครื่องปั้นดินเผาไทยวัฒนธรรมจากอินเดียเนื่องจากการเผยแพร่พุทธศาสนา แต่ส่วนของคนไทยนั้นคงพัฒนาการจากแบบหม้อทะนนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงรูปทรงไปอย่างอื่น มีอยู่ทั่วไป ในแถบเมืองสุวรรณภูมิคือจังหวัดนครปฐมเดี๋ยวนี้ และตามเมืองเก่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำ สำคัญอื่นๆ ในยุคนี้ช่างไทยในอาณาจักรอ้ายลาวอันเป็นดินแดนไทยในแถบจีนก็ได้ทำเครื่องปั้นดินเผาแพร่หลายขึ้นเหมือนกัน พ้นจากนี้ไป เป็นสมัยทวาราวดี (น่านเจ้าประมาณ พ.ศ. ๘๐๐-๑๔๐๐) เป็นสมัยของพวกมอญ แต่การค้นคว้าทางศิลปวัตถุทางเครื่องปั้นดินเผาก็แสดงว่าอาณาจักรของไทยก็มีอยู่ทั่วไป รวมกันอยู่เป็นเมืองเล็กๆ หลายแห่ง เครื่องปั้นดินเผามีรูปทรงสองโค้งกลับกัน ปากผายเป็นปากแตร ได้ขุดพบหลายแห่งในเขตอ้ายลาวและในประเทศไทย ในประเทศไทยพบที่เมืองเชียงแสนเดิม ในแม่น้ำยมที่เมืองสวรรคโลก ในแม่น้ำยมเก่าที่เมืองเชลียงเดิม ในแม่น้ำราชบุรีตรงเขตอำเภอโพธาราม

สมัยเชลียงหรือสมัยขอมมีอำนาจ (ประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐ – ๑๖๐๐) คือขอมตีได้อาณาจักรมอญต่างๆ และมีอำนาจเด็ดขาดเมื่อราว พ.ศ. ๑๖๐๐ เครื่องปั้นดินเผาที่พบในประเทศไทยแบ่งออกเป็น ๓ พวกคือ ทำโดยช่างไทย ทำโดยช่างมอญและทำโดยช่างขอม

สมัยก่อนสุโขทัยและเชียงแสน (ประมาณ พ.ศ. ๑๔๐๐-๑๘๐๐) ยุคนี้มีความรู้ในการทำเครื่องปั้นดินเผาของไทยสูงมาก สามารถทำเคลือบได้หลายชนิด เช่นเดียวกับช่างไทย ที่ทำอยู่ในประเทศจีน เพราะความรู้ต่างๆ ของช่างไทย ย่อมแลกเปลี่ยนกันได้ทั้งอยู่ในจีน และในอาณาจักรไทย แยกได้ดังนี้

๑. เคลือบเหล็กที่เป็นสีนํ้าตาลแก่นํ้าตาลอ่อน
๒. เคลือบขี้เถ้าสีขาวสำหรับเครื่องหิน
๓. เคลือบขี้เถ้าสีเทาเป็นเคลือบใสสำหรับเคลือบหิน
๔. เคลือบหินหรือที่เรียกว่าเคลือบศิลาดล แบ่งเป็นเคลือบใส เคลือบขุ่น และเคลือบทึบ

๕. เคลือบใสทับสลิพขาว

ถัดไปเป็นสมัยสุโขทัยและเชียงแสน (พ.ศ. ๑๘๐๐ – ๒๐๐๐) เป็นสมัยที่ไทยเริ่มตั้งอาณาจักรใหญ่ ๒ อาณาจักร สมัยนี้เองที่เราทำเครื่องเคลือบสังคโลก เป็นสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งเครื่องสังคโลกนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้สนใจทั่วไป

ที่นี้เราหันมาคูเครื่องเคลือบดินเผาที่เราเรียกว่าไหขอมหรือเครื่องปั้นดินเผาของขอมหรือสมัยลพบุรีดูบ้างศิลปพวกนี้คือศิลประหว่าง พ.ศ. ๑๑๐๐ – ๑๖๐๐ ดังที่ว่ามาแล้วข้างต้น เครื่องเคลือบดินเผาของขอมนี้บางท่านว่าเป็นของที่พวกขอมทำขึ้น แต่ถ้าเราจะดูรูป แบบแล้วจะเห็นว่าคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับเครื่องเคลือบดินเผาที่ขุดพบที่สุโขทัย, เชลียงหรือเชียงแสน ส่วนใหญ่ของศิลปสมัยนี้จะพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เช่น พิมาย หรืออีกหลายอำเภอในเขตจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ จึงทำให้ฉงนสนเท่ห์ว่าเป็นฝีมือใครกันแน่ ขอมหรือไทย ตามความเห็นของอาจารย์จิต บัวบุศย์ ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น เห็นว่าศิลปเหล่านี้เป็นทั้งศิลปของไทยและของขอมของมอญผสมกัน แต่ถ้าดูวิธีทำหรือรูปแบบแล้วก็พอจะแยกออกจากกันได้

มาถึงตอนนี้ ท่านอาจจะสงสัยว่าเครื่องเคลือบดินเผาของไทย และของขอมทำไมจึงอยู่ระคนปนกันเช่นนั้น เพื่อความเข้าใจอันดี เรามาศึกษาประวัติศาสตร์ตอนนี้กันดูเสียก่อน ก็คงจะเข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น เพราะว่าอาณาจักรของขอมและของไทยนั้นต่างแย่งกันไปแย่งกันมาอยู่ และคนไทยเรานั้นหาได้อยู่ในอาณาบริเวณที่เราเรียกว่าประเทศไทยอย่างทุกวันนี้ไม่ ไทยเรากระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในแหลมอินโดจีน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายไว้ในเรื่องพระร่วงตอนหนึ่งว่า

“แผ่นดินในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ เมื่อก่อน พ.ศ. ๑๘๐๐ แม้มีชนชาติไทยมาอยู่เป็นอันมากแล้ว ยังอยู่ในอำนาจของพวกขอม ซึ่งแผ่อาณาเขตเข้ามาจากประเทศกัมพูชา แต่เมื่อแผ่นดินยังเป็นของพวกลาว (คือละว้า) พระเจ้าราชาธิราชเมืองขอมตั้งอุปราชมาปกครองอยู่ที่เมืองละโว้ (คือเมืองลพบุรีเดี๋ยวนี้) และให้ข้าหลวงไปตั้งปกครองอยู่เป็นแห่งๆ ต่อขึ้นไป แดนดินเห็นจะเป็นของขอมตั้งแต่ชายทะเลขึ้นไปจนเมืองเชียงแสน แต่พวกขอมกำหนดอาณาเขตที่เป็นเมืองไทยเดี๋ยวนี้เป็น ๒ ส่วน เรียกชื่อต่างกัน ส่วนข้างเหนือ (ดูเหมือนจะเป็นตั้งแต่ปากน้ำโพขึ้นไป) เรียกว่า “อาณาเขตสยาม” ส่วนข้างใต้ลงมาเรียกว่า “อาณาเขตละโว้” มีจารึกชื่อปรากฏอยู่กับภาพที่นครวัดทั้งพวกชาวสยามและชาวละโว้ ครั้นถึงสมัยเมื่อขอมหย่อนกำลังลง พวกไทยลงมาอยู่ทางเมืองเชียงแสนมากขึ้น ก็ชิงอาณาเขตทางลุ่มแม่น้ำโขงได้จากขอมตั้งประเทศลานนา (คือมลฑลพายัพ) ขึ้นเป็นอิสระก่อน ต่อมาถึงราว พ.ศ. ๑๘๐๐ พวกไทยที่อยู่ในอาณาเขตสยามต่อลงมาข้างใต้มีกำลังมากขึ้นก็เป็นขบถต่อขอมบ้าง ผู้เป็นหัวหน้าชื่อพ่อขุนบางกลางท้าว เจ้าเมืองบางยางได้กำลังของพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด (เห็นจะอยู่ในประเทศลานนา) มาช่วยร่วมมือกันตีเมืองสุโขทัย ข้าหลวงขอมสู้ไม่ไหวก็ทิ้งอาณาเขตสยามหนีลงไปเมืองละโว้ พวกไทยจึงรวมเมืองในอาณาเขตสยามตั้งเป็นอิสระเอาเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี และเชิญพ่อขุนบางกลางท้าวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นปฐมกษัติริย์ ราชวงศ์สุโขทัย ทรงพระนามว่า “พระเจ้าศรีอินทราทิตย์” เรียกนามราชอาณาเขตตามชื่อเมืองราชธานีว่า “กรุงสุโขทัย”  แต่ชาวต่างประเทศที่อยู่ใกล้เคียงทั้งพวกขอมและพวกมอญ ซึ่งเรียกว่า “สยาม” อยู่ตามเดิมประเทศอื่นจึงเรียกตามอย่าง เช่นจีนเรียกว่า “เสียมก๊ก” และเขตตอนใต้ลงมาว่า “หลอฮกก๊ก” ตามคำ “ละโว้” ซึ่งเป็นนามของอาณาเขตมาแต่เดิม แต่ไทยหาได้ใช้คำ “สยาม” เรียกเป็นชื่อบ้านเมืองของตนไม่

เท่าที่ยกมากล่าวนี้ก็พอจะทำให้ท่านเห็นแล้วว่าคนไทยนั้นเคยอยู่ในอำนาจขอม และแทรกซึมอยู่ทั่วไปแต่ก็มีหัวหน้า ซึ่งเป็นคนไทยควบคุมอยู่เป็นแห่งๆ อย่างพ่อขุนบางกลางท้าวเจ้าเมืองบางยางเป็นต้น ดังนั้น เมื่อคนไทยอยู่ที่ไหน การประดิษฐ์ของใช้ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องกระทำขึ้น เรื่องเครื่องปั้นดินเผาฝีมือของคนไทยจึงกระจัดกระจายอยู่ตามชุมนุมของคนไทยทั่วไปในสมัยก่อน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี