เครื่องดนตรีพื้นเมืองมังคละ

กลองมังคละโบราณเป็นดนตรีพื้นเมืองที่ปรากฎว่าเล่นกันในท้องถิ่น จังหวัดพิษณุโลกเท่านั้น จะเป็นดนตรีไทยเดิมหรือได้มาจากมอญก็ยังไม่มีใครสืบประวัติได้  วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก  ได้ส่งนักศึกษาออกไปพัฒนาชนบทในโครงการฝึกหัดครูชนบท  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ และอาจารย์วิชานาฎศิลปดนตรีของวิทยาลัย(อนงค์  นาคสวัสดิ์)  ได้สนใจทำการค้นคว้าฟื้นฟูขึ้นโดยจัดให้มีการรำในเทศกาลตรุษสงกรานต์ขึ้นชุดหนึ่ง เรียก รำมังคละ มีผู้เล่นเป็นชาย ๘ คน หญิง ๘ คน รำทำท่าเกี้ยวพาราสีกันหลาย ๆ แบบ ทำให้เป็นที่สนุกครื้นเครงยิ่ง และเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ดนตรีมังคละ ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกถือว่าเป็นดนตรีพื้นเมืองของจังหวัดอีกด้วย

จากการค้นคว้าของอาจารย์นาฏศิลป์ของวิทยาลัย  ในขณะนั้นได้พบข้อมูลจากหนังสือจดหมาย ระยะทางไปพิษณุโลก  พระนิพนธ์สมเด็จเจ้าฟ้านริศรานุวัติวงศ์ตอนหนึ่งตรัสถึงกลองมังคละว่า

“พอกินเข้าแล้ว พระยาเทพามาบอกว่า มังคละมาแล้ว ลืมเล่าถึงมังคละไป คือวันเมื่อพักอยู่ที่ไทรโรงโซน ได้ยินเสียงไกล ๆ เป็นกลองตีเป็นเพลง  แต่จะสังเกตว่าเป็นอะไรไม่ได้ รุ่งขึ้นกำลังเดินเรือมาตามทาง  ได้ยินอีกหนหนึ่ง ที่นี้ใกล้เขาแห่นาคกันอยู่ริมตลิ่ง  แต่ไม่แลเห็นว่าอะไรเพราะพงบังเสีย  นึกเอาว่าเถิดเทิง เพราะได้ยินฆ้องแลกลองโครม ๆ แต่ก็ผิดกว่าเถิดเทิงเลวอยู่มาก ก็นึกเสียว่าเถิดเทิงบ้านนอกมันคงลักขูอยู่เอง ครั้นมาจอดที่วัดสกัดน้ำมันได้ยินอีกไกลไกลจึงได้ถามท่านสมภารว่าอะไร  ท่านสมภารอธิบายว่าปี่พาทย์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า มังคละพระยาเทพาอยู่ที่นั้นด้วย ก็เลยอธิบายว่าเป็นกลองคล้ายสองหน้า มีฆ้องมีปี่ ปี่พาทย์ชนิดนี้เล่นไม่ว่าการมงคลเลการอัปมงคล  หากันวันกับคืนหนึ่ง เป็นเงิน ๗ ตำลึง จึงได้ขอให้พระยาเทพาเขาเรียกมาตีให้ฟัง เมื่อเขาจัดมาแล้วเขาจึงมาบอก ได้ขึ้นไปดูมังคละ ทีแรกตีเพลงนมยานกทกแป้งฤาอะไรแป้ง จำไม่ได้ถนัดที่เขาบอกเครื่องมังคละนี้ เป็นเครื่องเบญจดุริยางแท้ มีกลองเล็กรูปเหมือนเถิดเทิงแต่สั้นขึงหนังหน้าเดียวมีไม้ตียาว ๆ (ที่หมาย๑) ตรงกับ “วาตต” ใบหนึ่งมีกลองขึงสองหน้าเหมือนกลองมลายู เป็นตัวผู้ใบหนึ่ง ตรงกับ “วิตตํ” เป็นตัวเมียใบหนึ่ง ตรงกับ “อาตตวิตตํ” มีไม้ตีตรงตรง (ที่หมาย ๒) กลองสามใบนี้ ต้องหุ้มผ้าดอกเหลือไว้แต่หน้า  เพราะว่าฝีมือขึ้นแลฝีมือทำหุ่นดูไม่ได้  แลมีปี่คันหนึ่งตัวเป็นทำนองปี่จีน  ลิ้นเป็นปี่ชวาตรงกับ “สุสิรํ” มีฆ้องแขวนราว ๓ ใบ เสียงต่าง ๆ กันตรงกับ “ฆนํ” เสียงเพลงนั้นเหมือนกลองมลายู เข้ากับกลองเล่าโต๊ว ไม่น่าฟัง แปลว่าหนวกหู เพลงปี่ก็ไม่อ่อนหวานเป็นทำนองลูกเล่นอะไรอันหนึ่ง ฆ้องก็ตีพร้อมกันโครม ๆ แปลว่ากึกก้องมากกว่า เพราะลองให้ตีดู ๒ เพลง หนวกหูเต็มที เลยให้อัฐไล่มันไปบ้านแล้วกลับลงมานอน”….

นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีพื้นเมืองโบราณที่เล่นกันในท้องถิ่นไทยอยู่อีกบ้างบางชนิดมีลักษณะหยาบ ๆ ทำจากไม้ซาง ไม้ไผ่ ทำเสียงสูงต่ำได้ไม่มาก  บางขึ้นก็ทำได้เสียงเดียว จะขอนำมากล่าวโดยย่อจากหนังสือเรื่องตำนานเครื่องมโหฬี ปี่พาทย์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศืเธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ดังนี้

เครื่องดนตรีที่ทำด้วย ไม้ซาง มีลักษณะคล้าย ๆ กัน ๔ ชนิดคือ

๑.  เรไร เรไรมีลักษณะเป็นไม้ซางต่อกับเต้าเป่า  เป่าได้เพียงเสียงเดียว(เคยใช้เป็นเครื่องประโคม เวลาพระลงอุโบสถที่วัดบวรนิเวศมาแต่ก่อน แต่ในพื้นเมืองเขาจะใช้เพื่อกิจกันใดมาแต่เดิมไม่ทราบ)

๒.  เต้ง มีลักษณะคล้ายเรไร แต่เป็นไม้ซางยาว ๆ สามอันเรียงกันต่อกับเต้าเป่าพวกแม้วยังเล่นเข้ากับการฟ้อนรำทางเมืองชายพระราชอาณาเขตภาคเหนือ

๓.  นอ มีลักษณะเหมือน “เต้ง” แต่เต้าเป่ากลมป้อน  มีก้านสั้นกว่าเต้ง มีไม้ซาง ซึ่งสั้นกว่าของเต้งเรียงชนิด ๆกัน ๓ อัน ต่อกับเต้าเป่า

๔.  จ้องหน่อง เป็นเครื่องดนตรีที่ไทยเราชอบเล่นกันมาแต่โบราณ แต่จะเป็นแบบของชาติไทยมาแต่เดิมหรือได้มาแต่ประเทศอื่นข้อนี้สงสัยอยู่ ลักษณะของจ้องหน่อง เป็นไม้ไผ่เหลาบาง ๆ แล้วแกะเป็นลิ้นให้กระเทือนได้ด้วย เอามือดีดหรือผูกเชือกกะตุก  ผู้เล่นเอาปากอมตรงที่ลิ้น เอามือดีดที่หัวหรือกระตุกเชือกและทำอุ้งปากให้เกิดเสียงกังวาลเป็นเสียงต่ำ  ทำเป็นลำนำได้ เป็นเครื่องสำหรับเล่นคนเดียว เล่ากันมาว่า สำหรับเจ้าบ่าวไปเกี้ยวเจ้าสาว  โดยดีดที่นอกบ้านให้สัญญาณแก่สาว ปัจจุบันไม่มีใครเล่นได้แล้ว

หนังสืออุเทศก์

ดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ

กรมพระยา ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์

พ.ศ. ๒๔๘๒

ธนิต  อยู่โพธิ์  เครื่องดนตรีไทย  พ.ศ. ๒๕๑๐

๘๙ หน้า

สุดใจ  ทศพร  ดนตรีประถมศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๒