เครื่องดนตรีประเภท:เครื่องดีด

Socail Like & Share

เครื่องดนตรีประเภท:เครื่องดีด

เครื่องสายมีกะโหลกเสียง  และใช้นิ้วมือหรือไม้ดีด  ดีดสายให้สั่นสะเทือนเกิดเสียงเป็นเครื่องดนตรีประเภทหนึ่ง ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยืนยันว่ามีกำเนิดขึ้นในตะวันออกก่อน  เครื่องสายที่ใช้ดีดเหล่านี้เราเรียกตามคำบาลีและสันสกฤตว่า”พีณ” พีณโบราณที่เรียกว่า พีณน้ำเต้าที่มีกล่าวถึงพีนไว้ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง สมัยสุโขทัย

พีณน้ำเต้า

พีณน้ำเต้า  เป็นพีณสายเดียว คงจะเป็นของพราหมณ์ทำขึ้นเล่นกันมาก่อนยังมีเพลงร้องเพลงหนึ่งชื่อว่า “พราหมณ์ดีดน้ำเต้า” พีณชนิดนี้ชาวอินเดียคงจะนำมาเล่นแพร่หลายอยู่ในดินแดนแหลมอินโดจีนนี้ก่อน และขอมโบราณ  หรือมอญเขมร  ได้รับช่วงไว้ก่อนที่ชนชาวไทยจะอพยพลงมา  ที่เรียกชื่อว่า พีณน้ำเต้า  เพราะเอาเปลือกผลน้ำเต้ามาตัดครึ่งลูก แล้วเอาทางจุกหรือทางขั้วไว้เจาะตรึงติดกับไม้คันพีณ  ซึ่งเรียกว่า “ทวน” เพื่ออุ้มเสียงให้เกิดกังวาน

วิธีเล่นพีณน้ำเต้า ผู้เล่นจะต้องไม่สวมเสื้อ ใช้มือซ้ายจับทวนแล้วเอากะโหลกพีณประกบติดกับเนื้อตรงอกเบื้องซ้ายของผู้เล่น  ใช้มือขวาดีดสายผู้เล่นที่ชำนาญจะขยับกะโหลกน้ำเต้าเปิดปิดอยู่ตรงทรวงอก  เพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามต้องการ  และใช้นิ้วมือซ้ายช่วยกดหรือเผยอเพื่อให้สายดึงหรือหย่อนดีดประสานกับเสียงขับร้องของผู้เล่นเอง

พีณเพียะ

พีณเพียะ  หรือพีณเปี๊ยะ หรือบางทีก็เรียกแต่ว่า เพียะหรือ เปี๊ยะ มีกล่าวถึงในพงศาวดารลานช้าง เป็นทำนองว่า พระมหากษัตริย์ของชนชาวไทยในสมัยโบราณเมื่อครั้งยังตั้งอาณาจักรไทยอยู่ในประเทศจีนตอนใต้  ได้ส่งนักดนตรีนักกลอน และครูละครฟ้อนรำ  ลงมาฝึกสอนคนไทยด้วยกัน  ซึ่งอพยพแยกย้ายกันลงมาตั้งอาณาจักรไทยอยู่ในแหลมอินโดจีน และได้ส่งครูมาสอนให้รู้จักทำและรู้จักเล่นพีณเพียะด้วย  มีกล่าวถึงในกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถเสน เรียกว่า “พีณเพลีย” ในหนังสือนิรุทธคำฉันท์  จะเรียก พีณเพียะว่า “เพยีย” เช่น “จำเรียงสานเสียง ประอรประเวียง กรกรีดเพยียทอง เต่งติงเพลงพิณ ปี่แคนทรลอง สำหรับลบอง ลเบง เฉ่งฉันทร์”  แต่ในโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ เรียกไว้ว่า “เพลี้ย” เช่นที่ว่า

สายาเข้าคว้าเล่น หลายกล

เดอรดีดเพลี้ยพาล รยกชู

พีณเพียะ  ลักษณะคล้ายพีณน้ำเต้า แต่พีณเพียะทำเพิ่มขึ้นเป็น ๒ สาย และ ๔ สายก็มี  กะโหลกก็ทำด้วยเปลือก ลูกน้ำเต้าตัดครึ่งลูกก็มี ทำด้วยกะลามะพร้าวก็มี  เวลาดีดก็เอากะโหลกประกบติดไว้กับหน้าอกขยับเปิดปิด  เพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามต้องการ เช่นเดียวกับดีดพีณน้ำเต้า ตามที่ปรากฎในท้องถิ่นภาคเหนือ  ผู้เล่นมักจะดีดคลอขับร้องของตนเอง

กระจับปี่

กระจับปี่ ก็คือพีณ ๔ สายชนิดหนึ่งนั่นเอง  ตัวกะโหลกกระจับปี่ทำแบนทั้งด้านหน้าและหลังอย่างตัว GUITAR แต่รูปกลมรี หนาประมาณ ๗ ซม.  ด้านยาวของกะโหลกประมาณ ๔๔ ซม. ด้านกว้างประมาณ ๔๐ ซม.  ทำคันหรือทวนเรียวยาว ตอนปลายทวนทำแบนและบานปลายแบะผายออกไป  มีลิ่มสลักเป็นลูกบิดสำหรับขึ้นสาย  ๔ อัน สาย ๔ เส้นนั้นใช้สามเอ็น  มีตะพานหรือนมรับนิ้วสำหรับกดสาย ๑๑ อัน ตรงกะโหลกด้านหน้าทำแผ่นไม้บาง ๆ ค้ำสายให้ตุงออก แผ่นไม้บาง ๆ นี้เรียกว่า “หย่อง” เวลาเล่นใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับไม้ดีดเขี่ยสายให้สั่นสะเทือนเกิดเสียง  ไม้ดีดนั้นทำด้วยเขา ด้วยกระดูกสัตว์ หรือ กระ

“กระจับปี่” ว่ากันว่า เพี้ยนมาจากา “กัจฉปิ”  ซึ่งเป็นคำชวา และว่า “กัจฉปิ” ก็เพี้ยนมาอีกต่อหนึ่งจากคำในภาษาบาลีและสันสกฤตว่า “กัจฉปะ” ซึ่งแปลว่า เต่า

ซึง

ซึง เป็นเครื่องดีดมี ๔ สาย รวมทั้งคันทวนและกะโหลกยาวประมาณ ๘๑ ซม. กะโหลกกลม ตัวกะโหลกและคันทวนของซึงมักทำด้วยไม้แก่นเนื้อแข็งชิ้นเดียวกัน ขุดคว้านตอนที่เป็นกะโหลกให้เป็นโพรง และใช้ไม้ตัดกลมเจาะรูกลางแผ่นทำเป็นฝาปิดด้านหน้า เพื่ออุ้มเสียงให้เกิดกังวาน  คันทวนทำเป็นเหลี่ยมด้านหน้าแบน ตอนปลายทำโค้งและขุดให้เป็นร่อง เจาะรูสอดลูกบิดข้างละ ๒ อัน รวม ๔ อัน สายทั้ง ๔ สาย นี้ใช้เส้นลวดขนาดเล็ก ๒ สาย ใหญ่ ๒ สาย มีหย่องสำหรับหนุนสายตรงกลางกะโหลกด้านหน้า และมีตะพานหรือนมรับนิ้ว ๙ อัน

ซึง  เป็นเครื่องดีด ที่ชาวไทยในภาคเหนือของประเทศไทย  นิยมใช้ถือแนบหน้าอกด้วยมือซ้าย และมือขวาถือไม้ดีดซึ่งทำด้วยเขาหรือกระดูกสัตว์ดีดใช้ดีดเดี่ยวและใช้บรรเลงร่วมกับปี่ซอ

จะเข้ เป็นเครื่องดีด เข้าใจว่าแก้ไขมาจากพีณ  ทำให้วางราบไปตามพื้น รูปร่างอย่างจระเข้ ขุดให้กลวงเป็นโพรงข้างในเพื่อช่วยให้เกิดเสียงก้องกังวาน  ตัวจะเข้ทำเป็น ๒ ตอน ตอนตัวและหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ทำด้วยไม้แก่นขนุน ยาวประมาณ ๕๒ ซม. กว้างประมาณ ๒๙ ซม. ตอนหางยาวประมาณ ๗๘-๘๐ ซม. กว้างประมาณ ๑๑.๕ ซม. รวมทั้งท่อนหัวและท่อนหางยาวประมาณ ๑๓๐-๑๓๒ ซม. มีแผ่นไม้ปิดท้องเบื้องล่าง จะเข้ตัวหนึ่งมีเท่ารองตอนตัว ๔ และปลายหาง ๑ สูงจากปลายเท้าวางพื้นถึงหลังประมาณ ๑๙ ซม. ทำหลังนูนกลาง สองข้างลาดลง ขึ้นสายโยงเรียดไปตามหลังตัวจะเข้จากทางหัวไปทางหางสามสาย สาย ๑ ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก ๒ สายเป็นสายเอ็น

มีลูกบิดประจำสาย ๆ ละ ๑ อัน สำหรับเร่งเสียง มี “หย่อง” รับสายทางหาง ใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลมทำด้วยกระดูกสัตว์หรือด้วยงา  ยาวประมาณ ๕-๖ ซม. เครียนด้วยเส้นด้ายติดกับปลายนิ้วชี้ของผู้ดีด

ไทยเราเห็นจะรู้จักเล่นจะเข้มานานไม่น้อยกว่าสมัยแรกาตั้งกรุงศรีอยุธยาจึงมีกล่าวถึงในกฎมนเทียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา  แต่ปรากฎว่า เพิ่งนำเข้าผสมวงเครื่องสายและวงมโหรีเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *