เจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรฯ

Socail Like & Share

ศรีศักร  วัลลิโภดม จาก “สยามใหม่” รายสัปดาห์

ฉบับที่ ๒๘๘  ๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๔

เมื่อคราวที่แล้วพูดถึงเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหง คราวนี้เลยอดไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรบ้าง เพราะถ้าว่ากันตามความเป็นจริงในทางประวัติศาสตร์นั้น เจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรเกิดขึ้นก่อนของพ่อขุนรามคำแหง

คือเกิดขึ้นเพราะรัชกาลที่หก โปรดให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตและเจ้าบ้านผ่านเมืองในสมัยนั้น เที่ยวสอบค้นกันจนได้พบพระเจดีย์ที่น่าจะเป็นพระเจดีย์ที่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้สร้างขึ้น ส่วนเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหงนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานขึ้น

ผลที่ตามมาก็คือเจดีย์ทั้งสองได้กลายเป็นอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะ ที่คนในปัจจุบันเชื่อถือว่าเกิดขึ้นจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ไป และแถมยังมีผลไปถึงความเป็นเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่นและของคนทั้งชาติในส่วนรวมด้วย

ในเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรนี้ ก็เช่นเดียวกันกับเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหง ข้าพเจ้ายังตระหนักในคุณค่าของความสำคัญที่มีต่อความเป็นปึกแผ่นทางสังคมของท้องถิ่นและของชาติ ไม่ได้มีเจตนาที่จะคัดค้านว่าไม่ดี หรือไม่ถูกต้อง แต่ในที่นี้เพียงนำมาเสนอเป็นแง่คิดในเรื่องข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เท่านั้น

ข้าพเจ้าใคร่นำความคิดในเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ที่เป็นสิ่งก่อสร้างอย่างโดด ๆ มาพิจารณาอีกว่ามีอยู่ในโลกทัศน์ของคนไทยในกรุงศรีอยุธยาหรือไม่ เพราะความเห็นของผู้ที่พบเจดีย์องค์นี้ ระบุว่าพบเจดีย์เพียงองค์เดียวโดด ๆ ร้างอยู่กลางป่าจึงเข้ากันได้ดีกับความคิด ในการสร้างอนุสาวรีย์ที่คนไทยในสมัย รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ได้อิทธิพลมาจากความคิดของคนทางตะวันตก

ทีนี้มาถึงเรื่องที่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารบ้างว่าทำไมถึงมีการกล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์ขึ้นหลังเมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ชัยชนะแล้ว ประการแรกต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า พงศาวดารคือเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่มีผู้เขียนขึ้น จึงมีทั้งข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์และการตีความตลอดจนการสอดแทรกความคิดเห็นเพิ่มเติมเสริมขึ้นของผู้ที่เขียนพงศาวดารนั้นขึ้น จะมีมากน้อยหรือพิลึกกึกกือแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับภูมิหลังของผู้เขียนเอง

เพราะฉะนั้น การที่จะอ้างพงศาวดารในการศึกษาทาง ประวัติศาสตร์จึงต้องมีการตรวจสอบเข้าไปถึงใครเป็นผู้เขียนขึ้นและเขียนขึ้นเมื่อใด

นับว่าโชคดีหน่อยที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีหลายฉบับ จึงพอเปรียบเทียบและประเมินหาข้อเท็จจริงได้ดีพอสมควร ก็พอสรุปการประเมินหาข้อเท็จจริงได้ว่า พงศาวดารฉบับที่น่าเชื่อถือได้ คือฉบับหลวงประเสริฐฯ ซึ่งเป็นการนำเอาจดหมายเหตุของโหรที่บันทึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงมาเรียบเรียงขึ้นนั้น ไม่ได้มีการกล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์ขึ้นในบริเวณที่สมเด็จพระนเรศวรทรงชนช้างชนะพระมหาอุปราชา มีการบอกแต่เพียงว่ามีการรบเกิดขึ้นและสมเด็จพระนเรศวรทรงชนะพระมหาอุปราชา

ส่วนพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์สวมพระศพของพระมหาอุปราชานั้น เป็นฉบับที่พวกนักปราชญ์ที่เคยบวชเรียนเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเขียนขึ้นพวกนี้มีความรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ได้ดีเช่น อินเดีย ลังกา พม่าและมอญ เป็นต้น

โดยเฉพาะลังกานั้นถือได้ว่า ทุกคนจะต้องมีความรู้เป็นอย่างดี โดยเหตุนี้จึงมักอ้างถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับประวัติพุทธศาสนาในลังกามาเปรียบเทียบ เพราะฉะนั้นในเรื่องที่เกี่ยวกับการชนช้างของสมเด็จพระนเรศวรเปรียบเทียบกับการชนช้างที่เกิดขึ้นในลังกาทุษฎะคามณี กับ พระยาเอฬาระทมิฬ

สมเด็จพระนเรศวรนั้นเปรียบเทียบได้กับพระเจ้าทุษฎะคามณี  ซึ่งเป็นวีรบุรุษของชาวลังกาและทรงเป็นผู้ที่ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ส่วนพระมหาอุปราชาคงเปรียบได้กับพระยาเอฬาระทมิฬ ซึ่งเป็นผู้ที่ย่ำยีพระพุทธศาสนา

ในพงศาวดารลังกามีอยู่ว่าเมื่อพระเจ้าทุษฎะคามณี ทรงชนช้างชนะโดยฟันพระยาเอฬาระทมิฬตายแล้ว ก็โปรดให้สร้างเจดีย์สวมพระศพของพระยาเอฬาระทมิฬไว้เป็นที่ระลึก

ตรงนี้แหละที่ผู้เขียนพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้นำมาต่อเติมให้เป็นเรื่องการสร้างพระเจดีย์ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาขึ้น

อย่างไรก็ตามการสร้างพระเจดีย์เพื่อเป็น การทำบุญ อันเนื่องจากการสงคราม ก็มีในสมัยอยุธยาเหมือนกันแต่เป็นการสร้างวัด ไม่ใช่เจดีย์โดด ๆ แบบการสร้างอนุสาวรีย์และยิ่งกว่านั้นไม่จำกัดอยู่เฉพาะเมื่อตอนได้ชัยชนะเท่านั้น ถึงแพ้ก็ยังสร้าง เช่นในรัชกาลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิคราวเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัยก็ได้มีการสร้างวัดสวนหลวงสบสวรรค์ขึ้นในที่พระราชทานเพลิง และสร้างพระสถูปบรรจุพระอัฐิ

ก่อนหน้ารัชกาลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นไปในรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง(เจ้าสามพระยา)ก็ได้มีการสร้างพระเจดีย์ บรรจุอิฐของเจ้าอ้ายและเจ้ายี่ที่สิ้นพระชนม์ ในการชนช้างแย่งราชสมบัติกรุงศรีอยุธยากัน

แต่พระเจดีย์ที่ว่านี้ก็สร้างขึ้นเป็นวัด ซึ่งในสมัยนั้นคงรวมอยู่ในเขตวัดราชบูรณะที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงสร้างอุทิศให้แก่สมเด็จพระนครินทราชาธิราช ซึ่งเป็นพระราชบิดา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *