หอไตรวัดระฆัง ฯ “เรือนสามหอ” ของ รัชกาลที่ ๑

Socail Like & Share

วัดระฆังโฆสิตาราม แต่เดิมเรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร

พุทธศักราช ๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก พระเจ้าตากสินมหาราชได้กู้อิสรภาพของไทยกลับคืนมาได้ และเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ตั้งพระนครหลวงขึ้นใหม่เรียกว่า กรุงธนบุรีในปีพุทธศักราช ๒๓๑๑

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงครองราชย์แล้ว ทรงใฝ่พระทัยเป็นธุระในพระพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ยกวัดบางหว้าใหญ่ขึ้นเป็นพระอารามหลวง

พุทธศักราช ๒๓๑๒ มีพระราชปรารภว่า พระไตรปิฎกกระจัดกระจายเสียหายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าข้าศึก มีพระราชประสงค์จะรวบรวมชำระสอบทานพระไตรปิฎกนั้นเสียให้ถูกต้องครบถ้วนตามเดิม จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎก จากนครศรีธรรมราช พร้อมกันนั้นได้อาราธนาพระอาจารย์สีขึ้นมาด้วย

เดิมพระอาจารย์สีอยู่วัดพนัญเชิงอยุธยา เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ทั้งเป็นผู้ทรงคุณทางวิปัสนาธุระ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ท่านหลบลงไปอยู่นครศรีธรรมราช

เมื่อพระอาจารย์สีมาอยู่ที่วัดบางหว้าใหญ่แล้ว จึงทรงสถาปนาพระอาจารย์สี ขึ้นเป็นสมเด็ดพระสังฆราชแล้วให้ประชุมพระเถรานุเถระทำสังคยานาพระไตรปิฎก

ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงรับราชการอยู่กับพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพระราชวรินทร์ ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา มีพระชนมายุได้ ๓๓ พรรษา ทรงย้ายบ้านมาจากอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มาตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้พระราชวังพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อรับพระราชโองการให้เป็นแม่ทัพไปตีเมืองโคราช จึงรับสั่งให้รื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งหลังคามุงจาก ฝาสำหรวดกั้นด้วยกระแซง มาปลูกถวายวัดบางหว้าใหญ่

หอพระไตรปิฎก

อีก ๑๔ ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในพ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา ได้ทรงปรารภถึงพระตำหนัก และหอประทับนั่งหลังนั้น ทรงใคร่จะปฏิสังขรณ์ให้มั่นคงสวยงามยิ่งขึ้น และมีพระราชประสงค์จะให้เป็นหอพระไตรปิฎก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้สืบถามเรื่องระฆังของวัดบางหว้าใหญ่ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงทราบมาว่าขุดได้ในวัดและมีเสียงไพเราะนัก ก็ได้ความว่าขุดได้ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ จึงรับสั่งให้ขุดสระลงในที่นั้น เป็นรูปสี่เหลี่ยมเรื่องอิฐก่อกรุไม้กั้นโดยรอบเพื่อกันทลาย แล้วรื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งจากที่เดิมมาปลูกลงในสระ เป็นรูปเรือน ๓ หลังแฝด ห้องกลางเป็นห้องโถง เปลี่ยนหลังคามุงจากเป็นมุงกระเบื้อง ชายคามีกระเบื้องกระจังดุษรูปเทพประนม เรียงรายเป็นระยะ ๆ เปลี่ยนฝาสำหรวดและฝากั้นกระแซงเป็นฝาไม้สักลูกปกนกายในเรียบเขียนรูปภาพ บานประตูหอด้านใต้เขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางโถง แกะเป็นนกวายุภักษ์ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานประตูนอกชานแกะเป็นมังกรลายกนกดอกไม้ มีซุ้มข้างบนเป็นลายกนกดอกไม้เหมือนกัน ภายนอกติดคันทวยสวยงาม

ทรงสร้างตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ ๒ หลัง ประดิษฐานไว้ในหอด้านเหนือและหอด้านใต้ ทั้งนี้อยู่ในความควบคุมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นผู้ทรงอำนวนการสร้าง โดยเฉพาะลายรดน้ำและลายแกะ นัยว่าเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านกับครูช่างที่มาจากกรุงศรีอยุธยา

เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ฯ ให้จัดพระราชพิธีมหกรรมและเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง แล้วได้ทรงปลูกต้นจันทร์ไว้ในทิศทั้ง ๘ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงอิศรสุนทรและครูช่างอยุธยา เสร็จแล้วทรงประกาศพระราชอุทิศเป็นหอพระไตรปิฎก(แต่มีผู้เรียกว่า “ตำหนักต้นจันทน์” จนทุกวันนี้) กับได้ทรงขอระฆังเสียงดังดีไปไว้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และได้ทรงสร้างระฆังมาพระราชทานแทนไว้ ๕ ลูก

เหตุนี้วัดบางหว้าใหญ่จึงได้รับพระราชทานนามว่า วัดระฆังโฆสิตารามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงบันทึกถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำหรับแบบอย่างฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ ที่พึงชม หรือควรกำหนดใจรู้ไว้ว่าเฉพาะเรื่องหอพระไตรปิฎก ของวัดระฆังฯ ดังนี้

“….ภายในหอพระไตรปิฎก จำได้แน่ว่าทำในรัชกาลที่ ๑ ท่วงทีประหลาดกว่าหอไตรที่ไหนหมด เป็นหอฝากระดานมุงกระเบื้องสามหลังแฝด มีชานหน้า ปลูกอยู่กลางสระดูเหมือนหนึ่งว่า หลังซ้ายขวาจะเป็นที่ไว้คัมภีร์พระปริยัติธรรม หลังกลางจะเป็นที่บอกหนังสือ หรือดูหนังสือ ฝีมือที่ทำหอนี้อย่างประณีตแบบกรุงเก่า มีสิ่งที่ควรชมอยู่หลายอย่าง คือ

๑.  ชายคามีกระเบื้องกระจังเทพประนมอย่างกรุงเก่า ถ้าผู้ใดไม่เคยเห็นจะดูที่นี่ได้

๒. ประตูและซุ้ม  ซึ่งจะเข้าในชาลา สลักลายอย่างเก่า งามประหลาดตาทีเดียว

๓.  ประตูหอกลาง ก็สลักงามอีก ต่างลายกับประตูนอก

๔.  ฝาในหอกลาง เขียนเรื่องรามเกียรติ์ฝีมือพระอาจารย์นาค ผู้เขียนมารประจญในพระวิหารวัดพระเชตุพน ท่วงทีขึงขังนัก

๕.  บานประตูหอขวา เขียนรดน้ำ ลายยกโดยตั้งใจจะพลิกแพลงมากแต่ดูหาสู้ดีไม่

๖.  ฝาในหอขวา เขียนภาพเรื่องเห็นจะเป็นชาดก ฝีมือเรียบ ๆ

๗.  ตู้สำหรับไว้พระไตรปิฎกตั้งอยู่ในหอทั้งซ้ายขวามีมากมายใหญ่จนออกประตูไม่ได้ก็มี เขียนลายรดน้ำหลายฝีมือด้วยกัน แต่ล้วนดี ๆ มีฝีมือ คนที่ผูกลายบานมุกด์ ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็หลายใบ ผู้ใดที่รักการช่างได้ไปชมที่นั่นแล้วจะไม่อยากกลับบ้าน

การบูรณะปฏิสังขรณ์

หอพระไตรปิฎกอันล้ำค่านี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงโดยลำดับ เริ่มแต่เสาตอม่อขาด หลังคารั่ว กระเบื้องกระจังหล่นหาย ตัวไม้ผุ ฝาบางกร่อน จนถึงแตกร้าวและทะลุ จิตรกรรมฝาผนังลบเลือน สระตื้นเขินและสกปรก

ความเสื่อมโทรมดังกล่าวนี้เนื่องมาจากขาดการเอาใจใส่ดูแล มิหนำซ้ำถึงกับใช้เป็นที่เก็บศพก็เคย

ต่อมายังมีการสร้างกุฏีและอาคารอื่น ๆ อันเนื่องในการฌาปนกิจศพจนประชิด ทำให้บริเวณหอพระไตรปิฎกขาดความสง่างาม หากปล่อยไว้ในสภาพเช่นนี้ต่อไปก็เป็นที่น่าวิตกว่าจะถึงจุดที่จะสูญเสียจิตรกรรมฝาผนังอันมีค่าอย่างไม่อาจจะเอากลับคืนมาได้อีก

กรมศิลปากร  ได้พยายามที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ แต่ก็ยังหางบประมาณไม่ได้

ทางวัดเรี่ยไรมาได้ก็ไม่พอแก่การ ทั้งยังต้องการผู้รู้ผู้ชำนาญ ทั้งทางสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และอื่นๆ เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ให้ถูกต้องตามหลักวิชา

ด้วยเหตุนี้ พระราชธรรมภาณี ผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงมีลิขิตลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๑๑ มายังสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ขอให้คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปกรรมให้ความร่วมมือกับทางวัดในการบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตปิฎก เพื่อให้เป็นศิลปสถานอันงามเด่นสืบไป

คณะกรรมาธิการฯ รับสนองคำของของวัดด้วยความยินดี และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ หลายท่านมาร่วมกันตั้งเป็นคณะอนุกรรมการบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกขึ้นเมื่อวันที่  ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๑ โดยทูลเชิญศาสตราจารย์หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ทรงเป็นประธาน

คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้ประชุมกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม  ๒๕๑๑ ที่วัดระฆังฯ แล้วได้เริ่มเตรียมงานและจัดหาทุนสะสมไว้จนถึงได้ทำสัญญาบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๑๓ และการบูรณะได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๑๓

คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปกรรมได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึงโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์ศิลปสถานอาคารไม้หลังสำคัญที่สุดอันเนื่องด้วยพระบรมราชบรรพบุรุษนี้ด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณา “ชมเชย” การกระทำทั้งนี้ว่า “เป็นความดำริชอบ” ทั้งยังพระราชทานพรให้การกระทำของพวกเรา “จงได้ดำเนินให้สำเร็จลุล่วงเป็นผลดีทุกสถานต่อไป” (ตามหนังสือ ของสำนักราชเลขาธิการที่ รล.๐๐๐๒/๑๒๐๙ ลงวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๑๒

ใช่แต่เท่านั้นยังพระราชทานเงินก้นถุงมาให้เป็นประเดิมสำหรับการบูรณะปฏิสังขรณ์อีกด้วย นับเป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วลงมติว่าสถานที่ใหม่ซึ่งเหมาะสมที่สุดสำหรับชลอหอพระไตรปิฎกไปประกอบขึ้นใหม่ ได้แก่บริเวณลานพระอุโบสถในเขตพุทธาวาส ทางด้านตะวันตก ซึ่งมีกำแพงรั้วโดยรอบ สะดวกแก่การดูแลรักษา

อนึ่ง หอพระไตรปิฎกที่บูรณะขึ้นใหม่นี้มิได้มุ่งหมายที่จะใช้เป็นหอพระไตรปิฎก คงบูรณะไว้เป็นอาคารสำคัญทางศิลปะและประวัติศาสตร์เท่านั้น

ครั้นวันเสาร์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อจำลองรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ณ วัดระฆังฯ

เมื่อเสร็จการนั้นแล้วพระราชธรรมภาณี รักษาการเจ้าอาวาส และศาสตราจารย์หม่อมเจ้ายาใจฯ ประธานอนุกรรมการฯ กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหอพระไตรปิฎก ทั้งสองพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปลูกต้นจันทน์ในสนามหญ้า หอพระไตรปิฎกแล้วเสด็จขึ้นทอดพระเนตรภายในหอพระไตรปิฎกด้วยความสนพระทัยราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และทรงมีพระกระแสรับสั่งไถ่ถามและแนะนำเป็นหลายประการ

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการ ฯ รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้า หาที่สุดมิได้ ทั้งยังรู้สึกเสมือนว่าได้นิมิตรเห็นสายใยทิพย์อันเรืองรองแห่งกาลเวลาซึ่งเชื่อมโยงและย้อนหลังนับด้วยศตวรรษกลับไปยังรัชกาลที่ ๑ คือพระบรมปฐมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีผู้ทรงพระราชทานเรือนสามหอ ซึ่งมีอายุเท่ากับกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์นั้นด้วย

นับเป็นมหามงคลเป็นมิ่งขวัญก่อให้เกิดความอิ่มเอมและปิติโสมนัสในดวงจิตของผู้ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันมหามงคลนั้นทั่วหน้ากัน

 

ที่มา :
มสรศิลปวัฒนธรรม
สุจิตต์  วงษ์เทศ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *