สถานที่ในอดีต

คลองบางลำภูคือคลองอะไร?

สาเหตุที่จะเขียนเรื่องนี้ก็เพราะได้อ่านจดหมายเหตุฉบับหนึ่ง บอกว่าคลองบางลำภูมีวัด ๕ วัด นอกกำแพงเมือง ๓ วัด ในกำแพงเมือง ๒ วัด

นอกกำแพงคือ วัดสังเวชฯ, วัดตรีทศเทพ, วัดปรินายก

ในกำแพงคือ วัดรังษีสุทธาวาส,วัดบวรนิเวศฯ,

ก็เลยทำให้สงสัยว่า คลองบางลำภูนั้นมีอยู่แค่ไหน?

ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ตอนรัชกาลที่ ๑ กล่าวไว้ว่า

“ในจุลศักราช ๑๑๔๕ ปีเถาะเบ็ญจศก (พ.ศ.๒๓๒๖) โปรดให้ตั้งกองสักเลขไพร่หลวงสมกำลังและเลขหัวเมืองทั้งปวง แล้วให้เกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้อกำแพงกรุงเก่าลงมาบ้าง ลงมือก่อสร้างพระนครทั้งพระบรมมหาราชวัง และพระราชบวรสถานมงคลในปีนั้น โปรดให้รื้อป้อมวิชชเยนทร์และกำแพงเมืองธนบุรีข้างฟากตะวันออกเสีย ขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเก่า เกณฑ์เขมร ๑๐,๐๐๐ คนเข้ามาขุดคลองคูพระนคร ด้านตะวันออกตั้งแต่บางลำภูตลอดมาออกแม่น้ำข้างใต้เหนือวัดสามปลื้ม ยาว ๘๕ เส้น ๑๓ วา กว้าง ๑๐ วา ลึก ๕ ศอก พระราชทานชื่อ คลองรอบกรุง”

สรุปแล้วคลองที่เราเรียกกันว่าคลองบางลำภู ก็ดี คลองผ่านฟ้า ก็ดี คลองสะพานหัน ก็ดี และคลองโอ่งอ่างก็ดี ชื่อที่แท้ของมันก็คือ คลองรอบกรุง แต่คนมักเรียกชื่อตามถิ่นที่คลองผ่านไปเป็นตอน ๆ เหมือนอย่างแม่น้ำท่าจีน ตอนที่ผ่านนครชัยศรีคนก็เรียกแม่น้ำนครชัยศรี

นี่ก็เช่นกัน ตอนปากคลองด้านเหนือผ่านบางลำภูคนก็เรียกคลองบางลำภู ตอนกลางผ่านสะพานหัน คนก็เรียกตรงนั้นว่าคลองสะพานหัน ส่วนปลายคลองด้านใต้นั้นแต่เดิมจะเรียกว่าคลองวัดสามปลื้มหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ถ้าจะเรียกกันเช่นนั้นน่าจะเรียก “คลองวัดเชิงเลน” มากกว่า เพราะวัดเชิงเลนอยู่ริมคลองกว่า และปากคลองกว่า แต่ที่มาเรียกกันว่า “คลองโอ่งอ่าง” นั้นก็เป็นเพราะเรือโอ่งอ่างจากปากเกร็ดมาจอดค้างอ้างแรมขายโอ่งอ่างกันเป็นประจำ และก็แน่นขนัดจนไป-มาไม่ค่อยสะดวก

เรื่องนี้พอจะมีหลักฐานเอกสารสนับสนุน ในนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่

“เชิงเลนเป็นตลาดสล้าง       หลักเรือ

โอ่งอ่างบางอิฐเกลือ                    เกลื่อนกลุ้ม

หลีกร่องช่องเล็กเหลือ                 ลำบาก ยากแฮ

ออกแม่น้ำย่ำกุ้ม                         ถี่ฆ้องสองยาม”

ถ้าคลองบางลำภูมีแค่ผ่านฟ้าละก็ ๕ วัแน่ แต่ถ้าตลอดไปจนออกแม่น้ำต้นใต้ละก็ ๑๑ วัด คือต่อจากที่กล่าวแล้วก็มีวัดราชนัดดา วัดเทพธิดา วัดสระเกศ วัดสามปลื้ม วัดเชิงเลน

ถ้าจะคิดอย่างปัจจุบันก็ ๑๐ วัด เพราะวัดรังษีสุทธาวาสกับวัดบวรรวมกันเสียแล้วแต่เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๘๕)

วัดเชิงเลนคือวัดอะไร?

ถ้าเราดูจากพงศาวดาร จะเห็นว่าไม่ได้กล่าวถึงวัดเชิงเลนเลย ทั้ง ๆ ที่คลองนี้ขุดผ่านหน้าวัดนี้มา วัดสามปลื้ม ซึ่งอยู่ในเข้าไปเสียอีก กลับถูกกล่าวถึง ถ้าเราจะเชื่อแต่พงศาวดารวัดนี้ก็ยังมีอยู่ หลักฐานโบราณวัตถุย่อมเชื่อถือได้หนักแน่นกว่าเอกสาร

วัดนี้เป็นวัดเก่า เมื่อรัชกาลที่ ๑ กรมพระราชวังหลังทรงสถาปนาใหม่แล้วพระบาทสมเด็ดพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานนามใหม่ว่า “บพิตรพิมุข” มาสมัยรัชกาลที่ ๕ คงจะได้ปฏิสังขรณ์อีกบ้าง จึงได้เสด็จประพาส พลับพลารับเสด็จซึ่งสร้างโดยพระราชทรัพย์ก็ยังอยู่ และอยู่ริมคลองนี้ด้วย น่าที่กรมศิลปากรจะได้ไปเหลียวแลดูบ้าง เพราะเป็นหลักฐานของการเริ่มยุคสมัยสถาปัตย์แบบใหม่ของไทย เป็นพลับพลาโถง แต่ถ้าต้องการให้ทึบก็กางมานเฟี้ยมออกมาเป็นฝาได้ ท่อนล่างเป็นลูกกรงลายฉลุ ระบายชายคาก็ฉลุด้วยฝีมืออย่างวิจิตร ทั้งฝาและพื้นประกอบด้วยไม้สักทั้งสิ้น จึงได้อยู่ยงคงทนมาจนบัดนี้

เว้นแต่หลังคาเท่านั้น ที่เริ่มพังไปบ้างแล้ว แต่ตราประจำรัชกาลที่หน้าจั่วนั้นยังสมบูรณ์

พลับพลาหลังนี้เมื่อเสร็จสิ้นการประพาสแล้วก็คงจะปิดไว้เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร เพราะเป็นของหลวงยากที่ใครจะอาจเอื้อมข้องแวะ

จนต่อมาเมื่อสมัยเริ่มการศึกษาแผนใหม่ได้ใช้เป็นโรงเรียนมัธยม

แต่ต่อมาการศึกษาขยายตัว นักเรียนมากขึ้นก็ต้องสร้างโรงเรียนใหม่ เมื่อย้ายไปอยู่อาคารใหม่ที่เก่านี้ก็คงจะถูกปิดไว้อย่างเดิม

ปัจจุบันเป็นที่อยู่ของพระ แต่จะจำพรรษาหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะได้ถูกกันออกมาอยู่กำแพงวัดเสียแล้ว และสองข้างก็ถูกขนาบด้วยตึกแถว

ปัจจุบันพลับพลาหลังนี้คงจะเป็นหนามยอกอกของวัด เพราะจะซ่อมก็ไม่มีเงิน และก็จะใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่าย่อมจะรื้อจะขายก็ไม่ได้ เพราะเป็นของหลวง ก็เลยปล่อยให้พังไปเองตามสภาพ ช่างไม่มีใครเห็นคุณค่าของโบราณสถานเสียเลย หรือจะเห็นว่าของสมัยรัชกาลที่ ๕ ไม่เก่า

ถ้าจะว่าในทางฝีมือช่างแล้วยังวิจิตรกว่าโรงกษาปณ์ที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเสียอีก น่าสงสาร

คำ “เชิง” แปลว่า ตีน

“เชิงสะพาน” ก็ตีนสะพาน

“เชิงเลน” ก็คือตีนเลน

วัดนี้แต่เดิมคงจะอยู่ริมแม่น้ำและหันหน้าลงแม่น้ำด้วย (เพราะแม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคม) แล้วดินหน้าวัดคงจะงอกออกไป เวลาน้ำลงจึงเป็นหาดเลนไปไกล ชาวบ้านจึงเรียก “วัดเชิงเลน” แล้วภายหลังมาขุดคลองรอบกรุงผ่านข้างวัด ก็จึงหันหน้าลงคลองอีกแห่ง ศาลาท่าน้ำด้านในคลองคงจะถูกรื้อไปเพราะทำถนนเลียบคลอง จึงเหลือแต่พลับพลาซึ่งอยู่ในเข้ามาหน่อย หน้าวัดด้านริมแม่น้ำก็ถูกเฉือนทำถนนเสียอีกวัดจึงเลยอยู่ในเข้ามา

คลองหลอดอยู่ที่ไหน?

ถ้าเราดูพงศาวดารต่อมาอีกหน่อยจะพบว่า

“แล้วขุดคลองหลอดจากคลองคูเมืองเดิม ๒ คลอง ออกไปบรรจบคลองรอบกรุงที่ขุดใหม่”

คลองรอบกรุงเราก็ทราบกันแล้วคือคลองบางลำภู หรือคลองผ่านฟ้า หรือคลองสะดานหัน หรือคลองโอ่งอ่างดังที่กล่าวแล้ว

แล้วท่านก็ขุด คลองหลอด จากคลองคูเมืองเดิม ๒ คลอง

คลองหลอด ๒ คลองที่ท่านขุดก็คือ ตรงหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์(ข้างวัดสิริอำมาตย์) ไปทะลุระหว่างวัดเทพธิดากับวัดราชนัดดาไปลงคลองรอบกรุงตรงข้างป้อมมหากาฬคลองหนึ่ง และตรงข้างวัดราชบพิตร ระหว่างโรงหนังศรีอยุธยาไปสะพานถ่าน ไปกทม. ปัจจุบันผ่านคุกลหุโทษไปลงคลองรอบกรุงตรงสามยอด

นี่คือ “คลองหลอด”

แต่ปัจจุบันเรามาเรียกคลองคูเมืองเดิมว่าคลองหลอดกัน

ถ้าเช่นนนั้นคลองคูเมืองเดิมชื่ออะไรเล่า

ไม่ปรากฎว่ามีชื่อตั้ง มีแต่ชื่อที่เรียกกันเองตามสัญญลักษณ์ที่เห็นเช่นเรียก “คลองท่าโรงโม่” บ้าง “คลองตลาด” บ้าง

ที่เรียกคลองท่าโรงโม่ เพราะมีโรงโม่แป้งอยู่ปากคลอง และมีท่าเรือข้ามฟากอยู่ข้างโรงโม่ด้วย

ที่เรียกคลองตลาด เพราะมีตลาดอยู่ในคลอง คือตลาดลอยเรือ หรือที่เรียกกันว่า “ตลาดท้องน้ำ” คือลอยเรืองซื้อขายกันในท้องน้ำ ตั้งแต่สะพานมอญจนหลามออกไปปากคลอง

ชื่อนี้มีในจดหมายเหตุสองแห่งคือนิราศถลางของนายมีหมื่นพรหมฯ

“ครั้นเสด็จคำร่ำฝากออกจากท่า

จวนเวลารุ่งรางสว่างไสว

ได้ฤกษ์งามยามพฤหัสกำจัดภัย

ก็ล่วงไปจากท่าหน้าวัดโพธิ์

ถึงตลาดท้องน้ำระกำหวล”

นี่ ถัดจากวัดโพธิ์มาก็มาถึงตลาดท้องน้ำ ตลาดที่ติดในน้ำเขาเรียก “ตลาดท้องน้ำ” นะครับ ไม่ใช่ “ตลาดน้ำอย่างปัจจุบัน ฟังดูเหมือนตลาดขายน้ำ

ปัจจุบันโครงสร้างทางภาษาของเราเปลี่ยนไป คือภาษาของเราเองไปแปลเป็นภาษาฝรั้งเพื่อนำฝรั่งเที่ยวแล้วเราก็แปลจากภาษาฝรั่งกลับมาเป็นไทยอีกที มันก็ได้ภาษาอย่างนี้แหละครับ ยัง “แม่น้ำแคว” อีกคำ

อีกแห่งก็จดหมายเหตุความทรงจำของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าไว้ว่า

“การก่อสร้างซึ่งเกิดขึ้น เมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์ครั้งนั้นอีกหลายอย่าง ว่าแต่ตามที่ฉันจำได้ คือทำถนนริมกำแพงรอบพระนครอย่าง ๑ สร้างสวนสราญรมย์อย่าง ๑ แต่งคลองตลาด ตอนระหว่างสะพานช้าง โรงสีกับสะพานมอญ…”

เห็นไหมละครับ ว่าคนชั้นหลังเรานี่ เข้าใจผิด เรียก “คลองตลาด” เป็น “คลองหลอด” แต่ชื่อที่ถูกยังเหลืออยู่ก็มี คือ ปากคลองนี้เรายังเรียก “ปากคลองตลาด” กันอยู่ ก็บริเวณปากคลองตลาดปัจจุบันนี้ไงและปัจจุบันก็เป็นตลาดไปเสียด้วย แต่แต่ก่อนนี้ไม่ได้เป็นตลาดหรอก ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเป็นตลาดนี้เป็นโรงเรียนอำนวยศิลป์

บ้านหม้อสะพานมอญ

เห็นจะไม่ต้องเล่ากระมังครับว่าทำไมทั้งสองแห่งนี้จึงได้ชื่ออย่างนั้น

อี่นี่ผมได้ความรู้จากคนรถราง ขณะขึ้นรถรางทีเดียว คนรถรางหนุ่มกับคนรถรางแก่เขาคุยกัน พอรถรางถึงตรงนี้คนหนุ่มก็ถาม

ก็คงจะถามเรื่อยเปื่อยไปยังงั้นละไม่ได้หวังคำตอบอะไร แต่เผอิญถูกคนแก่ที่แกรู้เข้า แกก็ตอบ

“ก็เรือมอญขายหม้อพากันมาจอดตรงนี้นะซี”

เท่านี้ก็คงจะหลับตาเห็นภาพ ก็เหมือนกับเรือโอ่งอ่างในคลองโอ่งอ่างแหละครับ เป็นธรรมดาของตลาดเมื่อขายอะไรก็ขายกันเป็นพืดเป็นแถบไป บรรดาหม้อนอกจากในเรือข้างตลิ่งแล้ว ร้านค้าข้างบนก็คงจะกองเป็นพืดเป็นแถวไป บริเวณตรงนั้นจึงเรียกบ้านหม้อ และ สะพานมอญ

พูดถึง “บ้านหม้อ” ทำให้ผมนึกถึง “บ้านดอกไม้” เมื่อคราวที่มีงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” เมื่อปีที่แล้วที่สวนอัมพรเห็นจัดให้มีบ้านอะไรต่ออะไร บ้านขายเหล้า บ้านดนตรี บ้านดอกไม้ บ้านใบตอง ฯลฯ

บ้านใบตองก็ประดิษฐ์เครื่องใบตอง บ้านดอกไม้ก็ประดิษฐ์ดอกไม้ ซึ่งใช้ดอกไม้จริง ๆ

ก็ไม่ได้ผิดคิดร้ายอะไรหรอกครับ แต่อยากจะเรียนให้ทราบว่า บ้านดอกไม้ ที่คู่กับ บ้านบาตร หลังวัดสระเกศนั้นไม่ใช่เขาทำดอกไม้แบบนี้นะครับ เป็น ดอกไม้ไฟ สำหรับจุดเวลามีงานศพหรือเทศกาลลอยกระทงเดือนสิบสอง

สะพานหก

ถัดจากสะพานมอญมาก็สะพานหก คือตรงหน้าวัดราชประดิษฐกับหน้าสุสานวัดราชบพิธมุมกระทรวงมหาดไทย

ม.จ.วิเศษศักดิ์  ชยางกูร เคยทรงเล่าให้ฟังว่า สมัยท่านเป็นนักเขียนเคยข้ามเป็นไม้แผ่นเดียว มีลูกปืนใหญ่มัดลวดถ่วงอยู่ฝั่งข้างนี้ (ฝั่งวัดราชประดิษฐ์) เวลาเรือมาก็เอาเท้าเหยียบให้กระดกเพื่อให้เรือผ่าน

แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในจดหมายเหตุความทรงจำว่า เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็ดกลับจากสิงคโปร์ได้มาทรงสร้างสะพานหกเพื่อให้รถข้ามคลองเหมือนอย่างที่ปัตตาเวีย ก็คงจะสร้างทับสะพานไม้เดิมนี่กระมัง แต่ปัจจุบันดูแล้วไม่มีร่องรอยว่าจะเป็นสะพานรถข้ามเลยเพราะแคบ

ตรงตีนสะพานหกฝั่งวัดราชประดิษฐ์ ปัจจุบันมีอนุสาวรีย์อยู่แห่งหนึ่ง เป็นรูปหมู ได้ยินว่าเกิดขึ้นเพราะบรรดาข้าราชบริพารในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนารถพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ด้วยความระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ได้พากันมาบำเพ็ญทักษิณานุปทานอุทิศส่วนกุศลถวายท่านที่วัดราชประดิษฐ์ เมื่อทำบุญกันเสร็จแล้วเงินยังเหลืออยู่ไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยทำอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่ระลึก

และเนื่องจากท่านประสูตรปีกุนก็เลยทำเป็นรูปหมู

วันประสูติของท่านคือวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑ ปีกุน จ.ศ.๑๒๒๕ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๖๒

องค์นี้แหละครับที่ประทานนามให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์

และก็องค์นี้แหละครับที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เมื่อครั้งยังเป็นทารกได้เต้นอยู่ในวงพระพาหา(แขน) เมื่อครั้งท่านเสด็จตรวจราชการที่พิษณุโลก หาใช่สมเด็จพระศรีนครินทร์ไม่

สะพานช้างโรงสี

ถัดจากสะพานหกมา ก็สะพานช้างโรงสี ตรงมุมระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกรมแผนที่เก่า ทอดข้ามไปสี่กั๊กเสาชิงช้า ที่เรียก “สะพานช้าง” เพราะเป็นสะพานสำหรับช้างข้าม

แต่ก่อนช้างเป็นพาหนะสำคัญจะไปไหนก็ต้องนึกถึงช้างเสมอ เพราะขบวนต่าง ๆ ประกอบด้วยช้าง ไปรบก็ช้าง สะพานไม้แผ่นเดียวนั้นคนข้ามได้แต่ช้างข้ามไม่ได้ จึงต้องสร้างสะพานสำหรับช้าง และฝั่งตรงข้ามคือฝั่งกระทรวงมหาดไทยนั้น แต่ก่อนมีโรงสีเลยเรียก “สะพานช้างโรงสี”

สะพานสำหรับช้างข้ามนี้ เมื่อครั้งสร้างกำแพงพระนครนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับพระอนุชาธิราชได้เลยทรงพระราชดำริที่จะทำตรงใต้ปากคลองมหานาค เพื่อข้ามคลองรอบกรุงเหมือนกัน แต่พระพิมลธรรมวัดโพธิ์ได้ถวายพระพรว่า ไม่มีอย่างธรรมเนียมมาแต่ก่อนและหากเกิดสงครามขึ้นแล้ว ข้าศึกจะเข้าถึงพระนครได้ง่าย

อนึ่งแม้มีการอะไรขึ้น จะแห่กระบวนเรือรอบพระนครก็ไม่ได้ ก็ทรงเห็นด้วย จึงไม่ได้สร้าง แต่คลองตลาดนี้เป็นคลองในพระนคร จึงได้สร้าง

สะพานรถราง

ถัดสะพานช้างโรงสีมาหลังกลาโหมตรงนี้แต่เดิมเป็นสะพานรถรางมีบางท่านบอกว่าแต่เดิมเป็นสะพานไม้และหกได้ สงสัยจะมีการเข้าใจผิดแบบคลองตลาด เป็นคลองหลอดเสียละกระมัง

สะพานรถรางหกได้ก็เหลือเชื่ออยู่แล้ว แล้วยังแถมเป็นไม้เสียอีก รถรางคันหนึ่งไม่ใช่เบา ๆ อย่างรถยนต์นะครับ

ผมเองก็นั่งรถรางมา ๓๐ กว่าปี ยังไม่เคยเห็นสะพานรถรางตรงนี้หกได้ ถ้าใครไปพินิจดู จะเห็นว่าไม่มีทางจะหกได้เลย เพราะสะพานรถรางไม่ใช่สะพานข้ามไปตรง ๆ แต่เป็นสะพานเอื้ยง ๆ แบบฝานบวบ รถรางไม่ใช่คันสั้น ๆ อย่างรถยนต์ จะได้หักเลี้ยวได้ง่าย

สุดท้ายนี้ผมขอจบบทความนี้ด้วยเพลงฉลองกรุงที่ว่า “โอ้ว่ารัตนโกสินทร์ เมืองอินทร์ เมืองแก้วแพรวสี…”

ถ้าคำว่า “โกสินทร์” แปลว่าพระอินทร์ได้ คำว่า “นาคินทร์” และ “หัสดินทร์” ก็เห็นจะแปลว่า พระอินทร์ได้

ผมได้สองคำนี้มาจากสมุทโฆษคำฉันทร์ครับ ความเต็มเขามีว่า “เลิศล้านศุภลักษณ์นาคินทร์ สิบหมู่พัสดินทร์อุทิศวงศ์ไกวัล”

ก็ลองแปลดูเถอะครับว่าเขาเอาคำ “อินทร์” มาเข้าสนธิในฐานะอะไร