ความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นบ้าน

วัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา
เรือนพักอาศัยนั้นถือว่าเป็นศูนย์รวมของชีวิตในสังคมทุกๆ สังคม
เพราะสะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ การศึกษาเรื่องเรือนพักอาศัยของแต่ละแห่งนั้นย่อมหยั่งทราบถึงเนื้อหาสาระของสังคมที่แฝงเร้นอยู่ในรูปทรงของอาคารนั้นอีกด้วย ฉะนั้นการค้นคว้าศึกษาเรือนท้องถิ่นหรือเรือนชาวบ้านนั้น นอกจากสถาปนิกแล้วกลุ่ม
นักศึกษาทางคติชนวิทยายังมุ่งสนใจกันอย่างกว้างขวาง ใน
เรื่องของการศึกษาคติพื้นถิ่นและชีวิตพื้นถิ่น (Folklore and Folklife) โดยที่สาขาวิชาชีวิตพื้นถิ่นได้เน้นถึงวัฒนธรรม ทางด้านวัตถุ เช่น สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Folk Archi¬tecture) ศิลปกรรมพื้นถิ่น (Folk Art)เป็นต้น เพราะเรือนของแต่ละท้องถิ่นนี้ย่อมมีลักษณะเฉพาะตัวและเป็น รูปแบบทางประเพณีนิยม (Tradition Building Type) ที่ประชาชนนิยมสร้างสืบเนื่องกันต่อมา เป็นเวลาหลายชั่วอายุคนแล้ว อีกทั้งลักษณะเรือนพักอาศัยแบบพื้นบ้านหรือพื้นถิ่นยังเป็นสถาปัตยกรรมที่นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยา ถือว่าเป็นแหล่งศูนย์กลางที่สะท้อนถึงสภาพวัฒนธรรมของแต่ละสังคมได้เป็นอย่างดี
การศึกษาเรือนพื้นบ้านหรือเรือนที่มีรูปแบบทางประเพณีนิยมของลานนาย่อมมีความมุ่งหมายดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่การศึกษาในครั้งนี้จะเน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบวัฒนธรรมเชิงพฤติกรรม และคติความเชื่อพร้อมทั้งพิธีกรรมและประเพณีบางประการที่สัมพันธ์ กับขั้นตอนการก่อสร้าง กับเนื้อที่และรูปทรงของอาคาร ตลอดถึงคติความเชื่อบางอยางในการตั้งถิ่นฐานระดับต่างๆ ของชุมชนลานนามากกว่าที่จะอธิบายในเชิงระบบการก่อสร้างหรือแง่ของสถาปัตยกรรมศึกษาโดยตรงโดยจะอาศัยแนวทางทางคติชน วิทยาหรือคติชาวบ้านเป็นแนวทางในการศึกษา หากจะพิจารณาเฉพาะแง่สถาปัตยกรรมโดยตรง เพียงส่วนเดียวแล้ว ย่อมไม่กว้างขวาง เพราะตัวสถาปัตยกรรม (อาคาร) มิใช่ เป็นผลผลิตทางวัสดุก่อสร้างระบบการก่อสร้าง หรือทาง เทคโนโลยีเพียงส่วนเดียว แต่สถาปัตยกรรมคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ พฤติกรรมและความต้องการที่ลี้ลับเพื่อขจัดความกลัวและสร้างความหวังให้แก่ชีวิต เนื่องจากความเชื่อต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ ที่อยู่นอกเหนือจากความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และทั้งยังเป็นการสั่งสมมรดกของอดีตที่ต่อเนื่องมาสู่ปัจจุบันอีกด้วย
ความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นบ้าน
สถาปัตยกรรมจำแนกออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สถาปัตยกรรมแบบพื้นบาน (Arche-typcs) และสถาปัตยกรรมแบบยิ่งใหญ่ (Master Works)
ความแตกต่างระหว่างสถาปัตยกรรม ๒ ประเภทดังกล่าวนี้ก็คือ สถาปัตยกรรมแบบพื้นบ้านนั้น ได้แก่ อาคารประเภท บ้าน โรงนา และอาคารที่แสดงถึงฝีมือการปลูกสร้างของชาวบ้านชาวนาโดยทั่วไป ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความชาญฉลาดของวิธีการก่อสร้างและฝีมือของผู้สร้าง ซึ่งมีประสบการณ์จากความรู้พื้นๆ และการแก้ปัญหาอย่างซื่อๆ และตรงไปตรงมา ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการดำรงชีวิตที่อยู่อย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดอีกด้วย อาคารมักมีรูปแบบคล้ายๆ กัน เพราะสร้างกันตามประเพณีที่เคยประพฤติสืบต่อเนื่องกันมา ไม่มีสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบโดยเฉพาะแต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นช่างปลูกสร้างกันเอง เพราะได้รับการถ่ายทอดระบบวิธีการก่อสร้างมาจากสมาชิกรุ่นก่อนๆ ของสังคม ตัวสถาปัตยกรรมมักถูกละเลยและมอง ข้ามจากกลุ่มนักออกแบบสมัยปัจจุบันและไม่ค่อยเอ่ยถึงกันนัก
ส่วนงานสถาปัตยแบบยิ่งใหญ่นั้น คือ สถาปัตยกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงอารยธรรมของแต่ละชุมชนเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ และแสดงศักยภาพของการก่อสร้างของสังคมแต่ละสังคมเป็นประดุจดั่งสิ่ง แสดงถึงหลักชัยของความก้าวหน้า (Milestone) ทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ของแต่ละประเทศหรือแต่ละภูมิภาค ตัวสถาปัตยกรรมมักเป็นอาคารที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยของแต่ละประเทศ เช่น พีรามิด อียิปต์ โคโรเซียมของโรมัน วิหารเซนต์บีเตอร์ ที่นครวาติกันหรือวัดพระแก้วของไทย เป็นต้น ตัวสถาปัตยกรรมมักเป็นที่กล่าวถึงกันโดยทั่วไป
และผู้รู้ทางสถาปัตยกรรมบางท่านยังแบ่งประเภทสถาปัตยกรรมออกเป็นหลายประเภทหลายระดับ คือ
สถาปัตยกรรมประเภท Folk Architecture
สถาปัตยกรรมประเภท Vernacular Architecture
สถาปัตยกรรมประเภท Spiritual Architecture
สถาปัตยกรรมประเภท Monumental Architecture
สถาปัตยกรรมประเภท Utilitarian Architecture
สถาปัตยกรรมประเภท Folk Architecture ได้แก่ สถาปัตยกรรมประเภทอาคารพักอาศัยของชาวบ้านทั่วๆ ไป ในแต่ละท้องถิ่นที่ได้พัฒนารูปแบบ จนมีลักษณะเฉพาะตัว แม้ว่ากลุ่มชนนั้นๆ จะอพยพโยกย้ายไปอาศัยในแดนอื่นๆ แต่ก็ยังสร้างอาคารในรูปแบบเดิมที่ตนคุ้นเคย โดยไม่ได้ดัดแปลงรูปแบบให้สอดคล้องกับภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอาคารแสดงให้เห็นฝีมือในการตกแต่งแบบง่ายๆ ของชาวบ้าน
สถาปัตยกรรมประเภท Vernacular Architecture ได้แก่ อาคารที่พัฒนารูปแบบจาก Folk Architecture แต่รูปแบบของอาคาร ย่อมมีการพัฒนาต่อไปให้เหมาะสมกับสภาพท้องที่และดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังปรับปรุงให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมและวัสดุก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย
Spiritual Architecture คือ อาคารที่ออกแบบเพื่อผลทางจิตใจของมนุษย์ (อาคารทางศาสนา) อาคารที่สร้าง เพื่อสิ่งเคารพนับถือของชุมชน ตัวอาคารแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ที่สูงกว่าอาการทั่วไป อาคารส่วนใหญ่เป็นอาคารที่ดีที่สุดและเป็นอาคารที่คนทั่วไปชื่นชม สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถรวบยอดของช่างในแต่ละท้องถิ่น
ส่วนอาคารประเภท Monumental Architecture- คือ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นให้มั่นคง และถาวรเป็นพิเศษกว่าอาคารประเภท Folk. Architecture และ Vernacular
อาคารมักมีรูปทรงที่เป็นแท่งก้อน เป็นอาคารซึ่งแต่เดิมสร้างเป็นอนุสรณ์และเป็นเกียรติแก่คนตายหรือผู้ที่จากใป
Utilitarian Architecture ได้แก่ สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบให้สนองกับประโยชน์ใช้สอยเฉพาะอย่างนอกเหนือจากอาคารทางศาสนา อาคารบ้านพักอาศัย หรืออาคารประเภทอนุสาวรีย์
สรุปความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นบ้านจึงได้แก่ สถาปัตยกรรมประเภท Achetypes หรือสถาปัตยกรรมประเภท Folk Architecture และ Vernacular Architecture นั่นเอง และเรือนลานนา ตั้งแต่ระดับชาวบ้านจนถึงเรือนพักอาศัยที่มีขนาดใหญ่โตที่สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบทางประเพณีนิยมอันมีลักษณะเฉพาะตัวนั้นจึงจัดอยู่ในสถาปัตยกรรมพื้นบ้านได้ทั้งสิ้น
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์