คนกวนใจคือคนอย่างไร

“จงกระทำต่อผู้อื่น เช่นเดียวกับที่ท่านต้องการให้ผู้อื่นกระทำต่อท่าน” คำกล่าวนี้อาจนำมาดัดแปลงได้ว่า “อย่ารบกวนความสงบสุขของผู้อื่น”

คนที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน ต้องไม่ส่งเสียงอึกทึกเกินความจำเป็น เช่น ไม่ควรเปิดวิทยุ โทรทัศน์เสียงดังเกินไป และไม่พูดกันด้วยการตะโกน เพื่อเป็นการถนอมน้ำใจกันไว้

มีบางคนบ่นว่า
“แย่จัง! ฉันอยู่อาคารสงเคราะห์ชนิดหน้าต่างแทบจะชนกัน ผัวเมียบ้านข้างๆ แกทะเลาะกันทุกเย็น” หรือ
“เพื่อนบ้านของฉันหูหนวกต้องเปิดโทรทัศน์เสียงดังเป็นประจำ เพราะไม่อย่างนั้นคุณน้าก็ไม่ได้ยิน ไอ้เราจะนอนสักสี่ทุ่ม แต่เขาชอบดูละครโทรทัศน์จนดึกถึงเที่ยงคืน ถ้ามันยาวกว่านั้นก็อยู่จนจบ ห้องนอนเราก็อยู่ติดห้องดูโทรทัศน์ของเขาเสียด้วย ไปๆ มาๆ เลยต้องหาทางออกแก้กลุ้ม ด้วยการเปิดโทรทัศน์จนจบเหมือนเขา เพราะถึงอย่างไรก็นอนไม่ได้อยู่ดี” หรือ
“ไม่ว่าฉันจะทำอะไร ก็ต้องคอยระวังชักม่านปิดเสียก่อน ไม่อย่างนั้นเป็นเจอตาคู่หนึ่งคอยสอดส่องอยู่เสมอ จนเราไม่รู้ว่าจะตีหน้าอย่างไรถูก”

นานๆ ที่สมศรี กับสุรีย์ ถึงจะได้พบกัน จึงคุยกันอย่างเพลิดเพลิน แต่เมื่อสินีเดินเข้ามา ทั้งสองก็หยุดการสนทนาลงทันที สินีไม่ทราบและไม่คิดว่า ทั้งคู่กำลังพูดถึงเรื่องส่วนตัวที่ไม่อยากให้คนอื่นรู้ และอาจต้องการคุยกันตามลำพัง

หรือ…สวัสดิ์ต้องการถอนเงินจึงไปธนาคาร เขาเขียนเช็คสั่งจ่ายเงินยังไม่เสร็จสุมาลีก็มาพบเข้า สุมาลีรีบเข้ามาคุย ทำให้สวัสดิ์รีบปิดตัวเลขที่เขียนไว้ในเช็คเพราะไม่สนิทกับสุมาลี สวัสดิ์ต้องคุยกับสุมาลีจนเสร็จ จึงเขียนเช็คให้สมบูรณ์และส่งให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารได้

ถ้าท่านเป็นสุมาลีที่อยากคุยกับสวัสดิ์มากเหลือเกิน หรืออย่างน้อยก็อยากจะทักเขา ท่านจะทำอย่างไร? คำตอบคือ ท่านต้องรอให้สวัสดิ์ทำธุระเสร็จเสียก่อน แล้วจึงค่อยเข้าไปแสดงตัว และท่านจะพบว่า สวัสดิ์ไม่รังเกียจ หรือต้องปกปิดอะไรให้เป็นที่ลำบากใจอีกเลย

สิริมาเป็นคนแต่งกายดี มีความพิถีพิถันในเรื่องเครื่องแต่งตัว ฐานะของเธอไม่ค่อยดีสักเท่าไร ก่อนจะซื้ออะไรก็ต้องคิดให้รอบคอบก่อน ถ้าสิริมาขอให้ท่านไปเป็นเพื่อนซื้อผ้าตัดเสื้อ เธอคิดว่าจะเอาผ้าสีอะไรมาทำเป็นลูกไม้เพื่อให้เข้ากัน จะใช้ด้าย กระดุมอย่างไรให้เข้ากัน ท่านบอกให้คนขายหยิบทุกอย่างมาให้ดู และออกความเห็นติชมไม่ขาดปาก สิริมาเกรงใจท่านที่เสียเวลามาเป็นเพื่อน จึงต้องเออออไปกับท่านด้วย ผลที่ออกมาคือ เสื้อที่สิริมาต้องการไม่ได้เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ เพราะท่านได้จัดการให้เธอทุกเรื่องแล้ว

คนอีกประเภทคือ คนที่รออะไรไม่ค่อยได้ อยากพูดอะไรก็พูดออกมาทันที เช่น มีเพื่อนคนหนึ่งจะออกไปซื้อของ บังเอิญท่านต้องการของบางอย่างอยู่พอดี จึงฝากเพื่อนคนนั้นไปซื้อ แต่ท่านก็ชวนเพื่อนพูดเรื่อยเปื่อยจนทำให้เพื่อนงงไปหมด ผลที่ได้คือ ทำให้เพื่อนคุณลืมซื้อของที่จำเป็นตั้งหลายอย่าง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

คนน่าเบื่อคือคนแบบไหน

มีชายหญิงจำนวนมากยืนจับกลุ่มคุยกันอย่างร่าเริงในห้องโถงขนาดใหญ่ ที่ตกแต่งอย่างงดงามด้วยแสงไฟหลากสี และดอกไม้สด ทุกคนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงามน่าดู เป็นวันฉลองครั้งใหญ่ที่สิริมามีอายุได้สิบหกปีบริบูรณ์ ซึ่งเธอเป็นธิดาคนเดียวของเจ้าบ้านผู้ที่มีฐานะร่ำรวย

สิริมาเป็นคนร่ำรวยและช่างพูดที่ใครๆ ก็รู้ดี แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าคำพูดของเธอจะแสดงความเขลาและน่าเบื่อได้มากเพียงใด

เธอแต่งกายในชุดสีชมพูสดใส และมองดูเพื่อนสาวคนอื่นของเธออย่างพินิจพิจารณาว่า จะมีใครที่แต่งตัวสวยกว่าเธอหรือเปล่าในงานนี้ ชุดของเธอมีราคาแพงมาก เธอยิ้มอย่างพอใจเมื่อไม่มีใครแต่งได้สวยกว่าเธอ เธอเดินไปที่กลุ่มเพื่อนและทักว่า
“แหม: วันนี้แขกของฉันมากันทุกคนเลยนะจ๊ะ เป็นอย่างไร ขนมเค้กวันเกิดอร่อยไหม? คุณพ่อสั่งโรงแรม…ทำให้ฉันเชียวนะ ราคาแพงมากอย่าให้บอกเลยว่าเท่าไหร่ ขืนบอกพวกเธอก็ต้องตาลุกเท่านั้นแหละ”

สิริมายิ้มออกอย่างกว้างทันที เมื่อรัศมีเพื่อนที่ปากหวานพูดอย่างเอาใจว่า
“แต่ฉันว่า ที่สวยและน่ากินกว่าขนมเค้ก คือเสื้อเธอชุดนี้”

สิริมาพูดต่อว่า
“โอ้โฮ! โดนแต่ค่าจ้างตัดร้านคุณ…ไงล่ะเธอ คุณแม่ยังแทบไม่เชื่อหู แล้วเอาไปปักอีกร้านหนึ่ง ค่าผ้าก็แพงอยู่แล้วนะ แต่คุณแม่บอกว่าไม่ปักก็ไม่เด่น”

สิริมาอวดต่อว่า
“เธอชอบผมของฉันไหม? ฉันทำที่ร้าน…ไงล่ะ แพงที่สุดในเมืองไทย แต่ก็สวยเสียจนเลิกเสียดายเงิน”

พรสวรรค์อวดขึ้นมาบ้างว่า
“เออ…คุณแม่ของฉันก็เคยไปทำร้านนั้น”
“แต่ท่านไปทำเฉพาะเวลาจะไปงานเท่านั้นแหละ เวลาปกติท่านบอกว่า ทำไม่ไหวหรอก ร้านนั้นแพงมาก”

สิริมาก็ขัดขึ้นทันทีว่า
“ทั้งคุณแม่และตัวฉันทำร้านนั้นเป็นประจำ ช่างเขาบอกว่า ‘ถึงจะอายุน้อยอย่างฉันก็ควรไปทำร้านดีๆ ผมจะได้ไม่เสีย’ เราจ่ายเงินให้เขาเสียจนเป็นของธรรมดาไปแล้ว ก็ยังถูกกว่าค่ากับข้าวบ้านฉันนะเธอ”

ทำให้หลายๆ คนร้องโอ้โฮ! ไปตามๆ กัน

สิริมายิ้มและอวดต่อไปว่า
“เพราะคุณพ่อฉันท่านรับประทานอาหารไทยไม่ค่อยได้”
“ท่านบอกว่าท่านเบื่อ ต้องอาหารฝรั่งถึงจะชอบ บางทีตอนเย็นๆ เราออกไปกินอาหารจีนที่…เหลา อร๊อยอร่อย ไปทีไรไม่เคยต่ำกว่าร้อยบางทีสองร้อยแน่ะ”

เพื่ออวดฐานะของตน ธิดาจึงรีบพูดขึ้นบ้างว่า
“ฉันก็เคยไปกิน เหล่านั้นอร่อยนะ”
ซึ่งความจริงแล้ว ธิดาไม่เคยไปกินอาหารที่ภัตตาคารนั้นเลย แต่อดที่จะอวดบ้างไม่ได้

ทำให้สิริมาท้วงขึ้นมาทันทีว่า
“แต่เธอคงไม่เคยกินอย่างที่พ่อฉันสั่งมากิน”
“เป็ดย่างไฟแดง หมูหัน ผัดตีนเป็ด….”

ธิดาตอบ
“เคย”
“เคยทุกอย่างแหละ แต่ฉันไม่ชอบผัดตีนเป็ดหรอก”

สิริมาถามธิดาว่า
“งั้นเธอชอบกินอะไรล่ะ ที่นั่นน่ะ?”

ธิดาชักอึกอัก
“อ้อ….อ้า….”
“ฉันชอบ…อ้า….ชอบปลาอบกับมะเขือเทศจ้ะ”
ทั้งๆ ที่เกิดมาก็ไม่เคยกินปลาอบกับมะเขือเทศสักหนเดียว แต่เธอก็ตอบไปเพราะจำได้จากรายการอาหารทางโทรทัศน์

สิริมาทำตาโต แล้วหัวเราะอย่างขบขัน
“อะไรกัน! ปลาอบ ที่เหลานี้ฉันรับรองได้ว่าไม่มีปลาอบ เพราะนั่นมันอาหารฝรั่ง นี่มันอาหารจีน เธอคงจะไปคนละเหลากับฉันเสียแล้วละมั้ง ธิดา?”

ทุกคนต่างก็หัวเราะในขณะที่ธิดาหน้าเสียเพราะความอาย ทำให้ทุกคนรู้ได้ทันทีว่า ธิดาไม่เคยไปภัตตาคารแห่งนั้นจริง แต่คุยโตโอ้อวดไปเท่านั้น

แต่ที่ไม่หัวเราะเหมือนคนอื่นมีอยู่คนเดียว คือ กิ่งแก้ว เธอมีอายุสิบหกปีเท่าสิริมา แต่มีความคิดเป็นผู้ใหญ่มากกว่า

กิ่งแก้วคิดในใจว่า
“คนที่มีมารยาทดี จะต้องไม่คุยเรื่องของตัวเองข่มคนอื่น อย่างที่สิริมาทำกับธิดา และไม่ควรพูดแต่เรื่องของตัวเองคนเดียว ขณะที่คนอื่นเขาก็อยากพูดเรื่องของเขามั่ง ฉันนั่งฟังเรื่องของสิริมาจนเมื่อยไปหมดแล้ว!”

ทันใดนั้น เพื่อนๆ ที่กำลังคุยกันอยู่ก็หยุดคุย กิ่งแก้วแทบสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงของผู้ชายคนหนึ่งพูดว่า
“แม่หนูคนนี้ล่ะ ชื่ออะไร?”

เขาแต่งกายชุดสากลราคาแพง มีท่าทางภูมิฐาน ดูก็รู้ว่าเป็นคนมีเงิน เขาคือบิดาของสิริมานั่นเอง กิ่งแก้วจึงรีบตอบว่า
“ชื่อกิ่งแก้ว รัตนพงศ์ ค่ะ”

บิดาสิริมาพูดว่า
“อ้อ! แล้วหนูกิ่งแก้วล่ะ ได้ไปดูภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปีแล้วหรือยัง?”

กิ่งแก้วก็ถามไปแบบงงๆ ว่า
“ภาพยนตร์? เรื่องอะไรคะ?”
ทุกคนทราบชื่อเรื่องภาพยนตร์กันหมดแล้วจึงแอบหัวเราะกิ่งแก้ว

เมื่อบิดาของสิริมาบอกชื่อภาพยนตร์ กิ่งแก้วก็ตอบไปทันทีว่า
“ไม่ได้ดูค่ะ”
ทุกคนหมดความสนใจในกิ่งแก้วลงทันที แต่เธอก็บอกกับตัวเองว่า
“คนที่พูดความจริงโดยไม่รีรอ ถ้าไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ ดีกว่าคนที่อวดฉลาด ไม่รู้ก็บอกว่ารู้ ไม่เคยทำก็บอกว่าเคยทำ พอเขาซักเข้าจริงๆ ก็ตอบไม่ได้ อย่างธิดาเมื่อกี้นี้”

ชายคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนของบิดาสิริมากำลังพูดคุยอยู่นาน พอเรื่องกำลังจะออกรสพ่อของสิริมาก็ขัดขึ้นว่า
“ไม่ใช่อย่างงั้นสักหน่อย อย่างงี้ต่างหาก คุณฟังผมเล่าดีกว่า….”

ชายคนนั้นมีสีหน้าที่ไม่พอใจนัก แต่ก็ไม่ได้โต้ตอบอะไร ทุกคนต้องหันไปฟังเจ้าของบ้านเล่าเรื่องนั้นกันอีกครั้ง

คำพูดของบิดาทำให้กิ่งแก้วนึกถึงท่านขึ้นมาทันที จากที่ท่านเคยพูดไว้ว่า
“คนรวยบางคนมักจะนึกว่าตัวมีดีวิเศษกว่าคนอื่นๆ บางคนนึกว่าตัวรู้หมดทุกอย่างไม่มีใครสู้ ใครจะถามอะไรก็ต้องตอบได้หมด คนรวยจะวิจารณ์ใครก็ต้องกลายเป็นถูก รสนิยมของคนรวยต้องดีที่หนึ่ง จะตัดสินว่ายังไงต้องยุติธรรมเป็นเยี่ยม ราวกับว่าโลกนี้เป็นของเขาเสียคนเดียว ทั้งๆ ที่คนรวยประเภทนี้คิดผิดอย่างมาก ความร่ำรวยของเขาไม่ได้มีอิทธิพลบังคับใจคนอื่นด้วย เขาไม่มีหน้าที่ให้คนอื่นทำสิ่งที่ไม่อยากทำ พูดสิ่งที่ไม่ต้องการพูด หรือหยุดพูดทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาจะหยุด….”

“อ้อ! คนรวยประเภทที่คุณพ่อเคยพูดนี่ได้แก่บิดาของสิริมานี่เอง!

มีสุภาพบุรุษคนหนึ่ง พูดกับสุภาพสตรีที่อยู่ข้างๆ เบาๆ ว่า
“นี่คุณ เบื่อเขามั่งไหม? เขาคุยแต่เรื่องตัวเอง ไม่น่าสนใจสักหน่อย ผมขี้เกียจฟังจัง”

กิ่งแก้วก็รู้ได้ทันทีเลยว่า “เขา” คนนั้นก็คือ บิดาของสิริมา
แต่ฝ่ายหญิงก็ตอบเบาๆ ว่า
“แต่เราต้องทำเป็นสุภาพค่ะ”
“เพราะมันเป็นบ้านของเขา เขาจะพูดอะไรก็ได้ตามใจเขา เรามีหน้าที่ฟังอย่างเดียวนี่คะ”

สุภาพบุรุษตอบ
“อย่างว่าแต่บ้านเขาเลย ที่ไหนๆ เขาก็คุยโตแต่เรื่องของเขาทั้งนั้นแหละ”
“นิสัยของเขาชอบคุยเรื่องตัวเอง ไม่ว่าใครจะอยากฟังหรือไม่ เขาก็คุยอย่างงี้แหละ นอกบ้านหรือในบ้านก็เหมือนกัน การคุยโตโอ้อวดของเขาเหมือนกับยาเสพติดน่ะแหละคุณ”

ฝ่ายหญิงพูดว่า
“ถ้าเราสุภาพให้กับคนที่น่าเบื่ออย่างนี้ เราก็ต้องสุภาพเรื่อยไป ต้องฝืนใจ และในที่สุด คนน่าเบื่อก็คงจะมาอยู่รอบตัวเรา….”
“งั้นเรากลับกันดีกว่า ผมเองก็เบื่อคนน่าเบื่อเหล่านี้เต็มทน”

ทั้งสองคนจึงเดินออกไปหาบิดาของสิริมา กล่าขอบคุณที่เชิญมาในงานและบอกลา กิ่งแก้วสังเกตเห็นว่า บิดาของสิริมาไม่ได้แสดงความเสียใจหรือเสียดายอะไรเลยที่ทั้งสองคนกลับไปเร็ว แต่กลับคุยเรื่องของตัวเองต่อ

มารดาของสิริมาเป็นคนรูปร่างเล็ก ผอมมาก หน้าตาขี้โรค และมีความทุกข์ แม้จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าราคาแพงจากต่างประเทศก็ตาม กิ่งแก้วอดที่จะเปรียบเทียบกับมารดาของเธอไม่ได้ว่า คุณแม่ของเธอมีความแจ่มใสอยู่ตลอดแม้จะไม่มีเสื้อผ้าราคาแพง หรือเครื่องเพชรแวววาวอย่างนี้ก็ตาม

มารดาของสิริมาบ่นกับเพื่อนหญิงที่นั่งอยู่ข้างๆ กันว่า
“แหม! นั่งนานๆ ก็ปวดหลังค่ะ ดิฉันน่ะ”
“ตั้งแต่ไปผ่าตัดแล้วก็สามวันดีสี่วันไข้เรื่อยมา เดี๋ยวปวดหัว เดี๋ยวปวดหลัง แข้งขามันเจ็บระบมไปหมด ไม่รู้ว่าเป็นยังไง….”

เพื่อนหญิงคนหนึ่งของเธอก็พูดในเชิงปลอบประโลมเธอว่า
“แต่คุณสิริยังดีนะคะ ที่มีทั้งแม่บ้านและสาวใช้คอยช่วยทำงาน”
“ถึงไม่สบายก็เหมือนสบาย อย่างน้อยก็สบายใจไม่ต้องทำงานหนักอย่างดิฉัน….”

มารดาของสิริมาหัวเราะและพูดว่า
“อะไรได้คะ! มันก็ไม่วายต้องทำเองอยู่ดีแหละค่ะ ยายแม่บ้านของดิฉันก็ท่าจะต้องไล่ออก เพราะว่าชอบกินเล็กกินน้อย ไว้ใจเรื่องเงินทองไม่ได้เลย เด็กรับใช้ก็มือไว วางอะไรก็หายเรื่อยแหละค่ะ”

อีกฝ่ายก็ตอบมาว่า
“ของดิฉันยิ่งแย่กวาค่ะ”
“โดยขนของเสียแทบหมดบ้าน คนใช้คนใหม่น่ะสิคะ จะอะไรเสียอีก ดิฉันไม่อยู่วันเดียว ทางนี้จ้างคนทำกุญแจผีมาไขตู้เซฟยกโทรทัศน์ วิทยุขึ้นรถบรรทุกไปเลย ดิฉันกลับมาตอนค่ำลมแทบใส่”
“แล้วจับได้ไหมค่ะ?”
“จับได้ค่ะ ตำรวจเขาเก่ง”
“โอ๊ย! งั้นก็ยังดี ของดิฉันน่ะ หายแล้วหายเลย แม่คนซักรีดไงคะ อยู่มาด้วยกันร่วมสิบปี เขาเกิดไม่พอใจขึ้นมา ขนของออกจากบ้าน แล้วเลยเอาเข็มกลัดของดิฉันไปด้วย เพชรตั้งหลายเม็ด”

อีกผ่ายใช้จิตวิทยาชมเชยคุณสิรี เธอจึงยิ้มออกมาได้
“แต่คุณผู้ชายมีเงินแยะจะตายไป อีกหน่อยก็ซื้อให้ใหม่ค่ะ”

คุณสิรีทำท่าทอดอาลัยแล้วพูดว่า
“ค่ะ เขาใจดีเขาก็ซื้อ เขาใจไม่ดีเขาก็ว่าเอาน่ะแหละค่ะ”
“แล้วโรคภัยไข้เจ็บก็มาก เขาเป็นโรคหัวใจด้วยนะคะ และแพทย์ยังสงสัยว่า จะเป็นเนื้อร้ายในกระเพาะอาหาร เพราะเขาปวดท้องตลอดเวลา บางทีหายปวดก็คุยได้อย่างนี้นะคะ พอปวดขึ้นมาก็ลงนอนดิ้นเลยค่ะ ลูกสาวดิฉันก็ขี้โรคค่ะ เดี๋ยวเป็นหวัด เดี๋ยวไอ ไม่ได้หยุดได้หย่อน”

กิ่งแก้วพลอยละเหี่ยใจไปด้วย จึงเดินก้มตัวห่างออกไปทันที และคิดว่าทำไมเขาทั้งสองคนไม่หาเรื่องสนทนาที่มันสดชื่นกว่านี้? ทั้งๆ ที่วันนี้ก็เป็นวันดีของลูกสาวแท้ๆ แต่ทำไมถึงสรรหาเรื่องความทุกข์โศกโรคภัย และเรื่องที่ทำให้จิตใจห่อเหี่ยวมาพูดกัน?

กิ่งแก้วรีบกลับมาบ้านก่อนเย็นหลังจากงานวันเกิดเลิกแล้ว คุณแม่ของเธอนั่งคอยอยู่ที่ระเบียง ในมือของท่านมีมาลัยดอกมะลิร้อยเป็นรูปกระต่ายตาแดงพวงเล็กๆ อยู่ กิ่งแก้วจึงถามขึ้นว่า
“คุณแม่คะ รับประทานของว่างแล้วหรือยังคะ?”
“ยังจ้ะ แม่รอน้องเล็ก” คือน้องชายคนรองของกิ่งแก้ว
“แต่หนูคงจะรับประทานมาอิ่มแปล้สินะ อาหารบ้านสิริมาต้องจัดอย่างเยี่ยมทีเดียว แม่ว่า”

กิ่งแก้วตอบแม่ว่า
“ใช่ค่ะ อาหารดีๆ แพงๆ แต่หนูทานไม่ค่อยลง”

คุณแม่แปลกใจแล้วถามว่า
“อ้าว! ทำไมล่ะจ้ะ?”
“เพราะว่าบ้านนั้นเขาคุยกันมากเหลือเกิน เรื่องความร่ำรวย แล้วก็ความหรูหรา คุณแม่ของสิริมาก็บ่นแต่เรื่องที่ฟังแล้วใจพลอยไม่สบายไปด้วย หนูฟังแล้วเลยไม่อยากทานอะไรไปเลยค่ะ แต่ขนาดทานไม่ค่อยได้ก็เรียกว่าอิ่มแปล้ อย่างคุณแม่ว่าเหมือนกันนะคะ เพราะว่าเป็นอาหารฝรั่งเสียมาก คุณพ่อของสิริมาทานอาหารไทยไม่ค่อยเป็นค่ะ”

คุณแม่มองลูกสาวแล้วยิ้มๆ คล้ายกับจะถามว่า
“งั้นกินอาหารอะไรล่ะ ถ้าเป็นคนไทย แล้วกินอาหารไทยไม่เป็น ต้องกินอาหารฝรั่งอย่างนั้นหรือ” แต่ก็ไม่ได้ถาม

กิ่งแก้วถามมารดาว่า
“คุณแม่คะ คนเราจะพูดเรื่องอะไรดีคะ จึงจะไม่ทำให้คนฟังเขาเบื่อ? เพราะวันนี้หนูไปเจอเอาคนน่าเบื่อเข้าทั้งบ้าน!”

มารดาไตร่ตรองและตอบอย่างช้าๆ ว่า
“แม่คิดว่า หัวข้อสนทนาที่ปลอดภัยที่สุด จะต้องเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับความเจ็บไข้ได้ป่วย ความทุกข์โศก การผ่าตัด หรือความยุ่งยากทางครอบครัว ซึ่งเก็บไว้เป็นเรื่องส่วนตัวเราเองจะดีกว่า”
“นอกจากนั้นก็ควรงดการคุยโว ยกตนข่มท่าน หรือโอ้อวด พูดแต่เรื่องของตนเอง ซึ่งคนอื่นเขาไม่สนใจฟัง คนน่าเบื่ออีกพวกคือ คนที่ชอบพูดเรื่องเดียวกันซ้ำๆ ซากๆ หรือบังคับให้คนฟังเรื่องของตัวจนถึงตอนจบ ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นแสนจะยาวและไม่น่าสนใจ”

“เวลาจะลากลับ หนูควรพูดอะไรกับสิริมาหรือเปล่าค่ะคุณแม่?”
“หนูอาจบอกว่า ‘ขอบใจที่เชิญฉันมา อาหารอร่อยมาก’ ถ้าใครให้ของขวัญ หนูก็อาจบอกว่า ‘ไม่เคยเห็นของที่ถูกใจอย่างนี้เลย’ หรือชมแม่บ้านว่า ‘จัดห้องได้สวยดีจริง’ แต่หนูต้องไม่ชมต่อหน้าคนอื่นๆ ว่า ‘คุณนี่ปากนิดจมูกหน่อยน่ารักจัง’ เพราะการชมเรื่องส่วนตัวของคนอื่นต่อหน้าคนมากๆ จะเป็นคนที่รสนิยมต่ำเท่านั้น จึงต้องระวังคำพูดให้มาก ส่วนการฟังก็ต้องระวังมากด้วยเช่นกัน เพราะผู้ฟังที่ดีจะเป็นที่นิยมของทุกคน อย่างที่หนูกำลังฟังแม่ตาไม่กระพริบอยู่เดี๋ยวนี้น่ะจ้ะ”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

ทำอย่างไรจึงจะ นั่ง ลุก เดิน ยืน ให้งดงามไม่มีที่ติ?

คุณแม่ได้สอนให้มิตรนั่งสวยๆ มาตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ เมื่อนั่งพื้นก็ให้นั่งพับเพียบเรียบร้อย เมื่อโตขึ้นก็รู้อีกว่า การนั่งเก้าอี้ก็ต้องนั่งให้สวยเช่นกัน โดยไม่นั่งไขว่ห้าง หรือนั่งทับขาตัวเองบนเก้าอี้ เพราะถ้าคนอื่นเห็นก็จะมองว่าเราไม่ใช่คนเรียบร้อย นั่งไม่สวย

มิตรต้องฝึกฝนเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี และเมื่อได้พยายามจนกลายเป็นนิสัยก็จะไม่ทำสิ่งที่ไม่เรียบร้อยอีกต่อไป

สตรีชั้นนำของโลก ล้วนได้รับการอบรมฝึกฝนมาแล้วทั้งสิ้น

ก่อนจะนั่งลงบนเก้าอี้ควรดูก่อนว่าเก้าอี้เปื้อนอะไรหรือไม่ ไม่ควรหย่อนตัวลงไปนั่งเลย ค่อยนั่งลงเมื่อเห็นว่าเก้าอี้สะอาดดีแล้ว เวลานั่งก็ให้นั่งตัวตรง ขาไขว้ไปทางเดียวกันทั้งสองข้าง น่องทั้งสองชิดกัน หรือถ้านั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ จะให้ขาทั้งคู่ชิดกันและตรงกัน มือทั้งสองประสานกันอยู่บนตัก นั่งตัวตรง ไหล่ไม่งุ้ม หลังไม่โกงเป็นอันขาด เวลาตอบหรือสนทนาให้ก้มตัวลงนิดหน่อย

เวลานั่งพับเพียบบนพื้น ถ้าจะเท้าแขนก็ทำได้ แต่ควรเอามือประสานกันบนตักถ้ามีแขกเหรื่อ หรืออยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ เพื่อให้แลดูสุภาพ เวลาพูดให้นั่งตัวตรง หรือก้มตัวนิดๆ ก็ได้

การลุกจากที่นั่ง ถ้าลุกจากเก้าอี้ ก็เอาขาทั้งสองรวมกันข้างหน้าเก้าอี้ ให้ยืดตัวตรงทันที ไม่เอามือยันเก้าอี้ตรงที่ใช้นั่งเพื่อลุกขึ้น จะทำให้ดูไม่สวยงาม ถ้าเป็นการลุกจากพื้นให้คลานถอยห่างจากที่นั่งเล็กน้อย ใช้มือข้างหนึ่งเท้าพื้นยัน ค่อยๆ ลุกขึ้น ถ้ามีผู้อาวุโสยังนั่งอยู่บนพื้นหรือเก้าอี้ ต้องค่อยๆ ก้มต่ำๆ ออกไปให้พ้นระยะก่อน แล้วจึงยืดตัวตรงได้

คนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว หากเดินหลังงองุ้มเป็นกุ้ง ก็จะดูไม่สวย หญิงที่มีรูปร่างสูงไม่ควรพยายามทำให้ดูเตี้ยด้วยการก้มตัวเดินจนกลายเป็นคนเดินหลังโกง ควรภูมิใจในความสูงของตน

แกว่งแขนแต่พองาม ไม่เดินลงฝีเท้าหนัก ถ้าเป็นบนเรือนให้เดินเบาที่สุด คนไทยโบราณถือว่า คนที่ลงฝีเท้าหนัก เงินทองจะวิ่งหนีหมด เพราะตกใจเสียงเท้า

ใบหน้าให้มองตรงไปข้างหน้า คางเชิดเล็กน้อยพองาม หลังตรง ค่อยๆ ก้าวไม่ต้องเร่งรีบ บางคนอาจหัดเดินตัวตรงด้วยการวางหนังสือไว้บนศีรษะแล้วค่อยๆ เดิน

สตรีที่สามารถยืนตัวตรงแม้จะอยู่คนเดียวหรือต่อหน้าผู้อื่น จนกลายเป็นนิสัย เวลาสนทนากับผู้อาวุโสก็เพียงก้มตัวลงเล็กน้อย ก็นับว่าวางตัวได้งามน่าชมเชย โดยไม่มีท่าทีหลุกหลิก ไม่หัวร่อต่อกระซิก ไม่บิดผ้าเช็ดหน้า ไม่ดึงเสื้อ หรือทึ้งผมเล่น

หากลองฝึกไปทีละน้อย ก็จะสามารถเป็นผู้ที่วางตัวได้งดงาม เป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้ที่ได้พบเห็นแน่นอน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

ผู้หญิงชอบสุภาพบุรุษชนิดไหน?

ผู้หญิงชอบคนที่มีเงินมากๆ มีรถยนต์โก้ๆ พูดเก่ง และช่างเอาใจ จริงหรือ? ถ้าต้องการให้สุภาพสตรีพอใจในตัวท่าน สุภาพบุรุษก็ควรทราบวิธีการต่อไปนี้

ผู้หญิงจะไม่ชอบเดินกับผู้ชายที่ไม่คอยเธอเมื่อข้ามถนน เวลาเดินก็รีบจ้ำไปข้างหน้า บางครั้งเธอต้องวิ่งตามทั้งๆ ที่ใส่รองเท้าส้นสูงกันทีเดียว การพูดไปสูบบุหรี่ไปเธอก็ไม่ชอบ ที่ท่านสูบบุหรี่เธออาจไม่รังเกียจ แต่ไม่ชอบให้ท่านเดินสูบไปตามถนนหลวงเพราะเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพ และเป็นอาการที่ไม่งามเลยถ้าสูบบุหรี่ในวัยเรียน นักศึกษาต่างประเทศเขาก็ไม่ทำกัน นอกจากพวกที่เกเร และเวลาที่ท่านพาเธอไปรับประทานอาหารเธอก็ไม่ชอบให้ท่านเปิดประตูเดินเข้าไปก่อนโดยไม่รอเธอ และก่อนจะนั่งลงก็ควรเลื่อนเก้าอี้ให้เธอนั่งลงเรียบร้อยเสียก่อน

วิมาลาบ่นว่า
“ไม่เคยเกลียดอะไรเท่ากับตอนที่สมศักดิ์สั่งขี้มูกเสียงลั่น!”

มาลินี
“เกลียดคนที่จับช้อนส้อมเหมือนกับด้ามจอบด้ามเสียม ไม่รู้ว่าจะกลัวมันหลุดมือไปข้างไหน”

อรศรี
“ชัยเขาไม่เคยใช้ช้อนกลาง ไปกินข้าวข้างนอกทีไรฉันเป็นกินไม่ลงสักที เพราะเขาชอบเอาช้อนของตัวเองตักกินหมดทุกชาม”

โสภา
“เขากินข้าวเกลี้ยงจานไม่เหลือสักเม็ด รีบๆ อย่างกับกลัวใครจะมาแย่ง น่าสงสารลำไส้ แล้วก็เวลาเขาซดน้ำแกงหรือซุปนะเธอ เสียงดังจนฉันต้องมองดูไปรอบๆ ตัว เผื่อจะมีใครรู้จักนั่งอยู่ และมองดูอยู่ จะได้คอยแก้ตัวทีหลัง”

สามีที่ไม่สู้จะเข้าใจเรื่องมารยาท ภรรยาที่รู้ดีก็จะพยายามเตือนเขาทางอ้อม สามีที่ดีก็ต้องรับคำวิจารณ์ไว้ เพราะเป็นความหวังดีของเธอ ที่ไม่อยากให้เขาแสดงอะไรออกไปให้อายเพื่อนฝูง

ถ้าท่านออกไปรับประทานอาหารกับเธอ แล้วมีเพื่อนของเธอมาพูดคุยด้วย เธอจะรู้สึกเดือนร้อนใจ ถ้าท่านยังคงนั่งอยู่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เวลาที่ท่านใช้ไม้จิ้มฟันต่อหน้าเธอ หน้าตาของท่านน่ารักไหม?

เมื่อสตรีอีกผู้หนึ่งเข้าในห้องนั้น สุภาพบุรุษจะลุกขึ้นยืน

เมื่อไปพบใคร ผู้มีมารยาทดีจะไม่อยู่นาน เพราะเจ้าของบ้านอาจมีธุระอื่นที่ต้องทำ เขาอาจเกรงใจไม่กล้าแสดงว่ารีบร้อน

เมื่อไปหาผู้ใด สุภาพบุรุษจะไม่บีบแตรรถเรียกเป็นอันขาด แต่จะลงจากรถไปกดออดหน้าบ้านแทน

เขาจะไม่พาเพื่อนสตรีไปในที่เริงรมย์ เช่น ไนต์คลับชั้นเลว

แม้ว่าเขากลัวเธอจะหลงทาง หรือมองข้ามเขาไปก็ตาม แต่เขาก็จะไม่ตะโกนเรียกชื่อของเธอในกลุ่มคน

เมื่อไปส่งเธอที่บ้าน ก็ไม่ควรเข้าไปในบ้าน ให้คอยดูแลเธอจนเข้าบ้านเรียบร้อยแล้วเท่านั้น แล้วจึงกลับ นอกเสียจากจะมีผู้เชื้อเชิญให้เข้าไปข้างใน

เมื่อเดินอยู่ข้างถนน สุภาพบุรุษจะต้องเดินริมนอกที่ติดกับถนน แล้วให้สตรีเดินด้านใน แม้จะมีสตรีสองคนก็ให้เดินเช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นการหยอกล้อ หรือด้วยประการใดก็ตาม เขาจะไม่แตะต้องเพื่อนหญิงเลย จะหลีกทางให้แก่สตรีก่อน ลุกให้สตรีนั่ง เปิดและปิดประตูให้ หลีกทางให้ขึ้นรถก่อน

ผู้ชายบางคนในสมัยนี้อาจคิดในใจว่า
“ผู้หญิงก็มีสิทธิความสามารถเท่ากับเรา ฉะนั้น เวลานี้รถโดยสารซึ่งเราก็เสียเงินเท่ากัน ฉันจะไม่ลุกให้เธอก็ได้ ใครจะทำไม”

ไม่มีใครทำไมหรอก แต่รับรองว่าขณะที่ท่านนั่งอยู่อย่างเป็นสุข แต่เธอกลับโหนราวจับของรถโดยสารอยู่ ถ้าไม่อยากลุกให้ ท่านก็ต้องพยายามเมินหน้าไปดูอย่างอื่นเสีย จิตสำนึกฝ่ายต่ำของท่านอาจกระซิบว่า
“แกล้งทำเป็นไม่เห็นเธอซี! แกล้งทำเป็นว่าไม่รู้ไม่ชี้ที่เธอยืนอยู่ข้างหน้าซี สิทธิของเราเท่ากันนี่นา!!”
ใช่หรือไม่?

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

โรคไม่ตรงต่อเวลา

มีหลายคนที่มักพูดว่า
“จะเกลียดใครเท่ากับคนไม่ตรงต่อเวลาเป็นไม่มีเลย”
“ดูหรือ นัดเราตั้งแต่บ่ายโมง ป่านนี้สองโมงกว่าแล้วยังไม่มาอีก!”
“ต้องบอกให้เขามาตอนห้าโมงเย็นนะจ๊ะ มิฉะนั้นเขาจะช้าหนึ่งชั่วโมงเสมอ ถ้าเธอต้องการให้เขามาหกโมงเย็น ก็บอกไปว่าห้า”

ดูเหมือนจะเป็นโรคที่ติดต่อลุกลามได้ง่าย กับนิสัยที่ไม่ตรงต่อเวลา คิดว่าจะตั้งนาฬิกาให้ปลุกสักตีห้าครึ่ง เพื่อจะตื่นมาดูหนังสือและทบทวนบทเรียนเตรียมสอบ แต่พอนาฬิกาปลุกดังขึ้น ก็บอกว่า
“ฮื้อ! รออีกเดี๋ยวน่า”
พอปิดตาลง ก็หลับเลยไปจนสาย งานก็ยังคงนอนอยู่ในกระเป๋าเรียน

เมื่อมาโรงเรียนสายได้วันหนึ่ง วันต่อไปก็จะพลอยสายไปด้วย นักเรียนที่ออกจากบ้านสาย มักจะพบกับผู้คนและเหตุการณ์ที่ทำให้หัวเสีย ต้องเบียดเสียดกันในรถประจำทาง การจราจรที่ติดขัด ก่อนจะถึงโรงเรียนหรือที่ทำงานก็เหน็ดเหนื่อยเสียแล้ว

แม้จะเป็นผู้ใหญ่แล้ว โรคไม่ตรงต่อเวลา ก็ติดต่อกันได้ง่าย เขายังใช้นิสัยเดิมอยู่อย่างนั้นทำให้เป็นที่น่าเบื่อและเอือมระอาต่อคนอื่นมาก ถ้าเป็นนัดไม่สำคัญเท่าไรก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นนัดสำคัญมากๆ ก็จะทำให้การงานพลอยเสียหายไปด้วย

คนที่ผิดนัดและผิดเวลามากๆ ถือว่าเป็นคนหยาบ ไม่ใช่ผู้ดี เพราะไม่แสดงความนับถือต่อคนที่นัด ต้องปล่อยให้เขารอ

ถ้าเพื่อนเชิญไปรับประทานอาหารที่บ้านเวลาทุ่มตรง ก็ควรไปไม่ให้ช้ากว่าทุ่มนัก ช้าสักห้านาทีก็ถือว่าช้าแล้ว แต่ถ้าเป็นเหตุสุดวิสัยก็พอจะให้อภัยได้ เช่น มีแขกมาหาที่บ้านในตอนนั้นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ถ้ารถของโรงเรียนจะพาไปทัศนาจรเวลาหกโมงเช้า แต่เมื่อเราตื่นสาย ปล่อยให้รถกับเพื่อนๆ รออยู่นานสองนาน เราควรให้รถไปก่อน หรือถ้าเขาต้องคอยนานก็ควรมีข้อแก้ตัวที่พอฟังได้ ไม่ใช่บอกเขาว่า
“แหม! นอนเสียเพลิน”
“โอโฮ! ความจริงไม่ควรรอเลย ไปก่อนก็ได้นี่นะ!” ฯลฯ
เพราะไหนๆ เขาก็รอแล้ว

บางคนก็บอกว่า
“อะไรจะมาร้ายเท่ากับ นาย ก. แกขอยืมเงินวันเสาร์ แล้วบอกว่าจะเอามาคืนวันเสาร์หน้า แต่แล้วอีกห้าเสาร์แกถึงโผล่มาบอกว่า โอ้โฮย! ลืมไปสนิทเลยว่านัดไว้จะมาเสาร์ไหนกันแน่ แล้วตกลงจะเอาเสาร์ไหนถึงจะดี?” โรคไม่ตรงเวลาจึงน่าจะแก้ให้หายเสียจริงๆ!”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

มารยาทหญิงไทย

หญิงครึ่งชายครึ่ง
มีสุภาษิตของโบราณกล่าวไว้ว่า
“เกิดเป็นหญิงก็ให้เห็นว่าเป็นหญิง
อย่าทอดทิ้งกิริยาอัชฌาสัย
เป็นหญิงครึ่งชายครึ่งไม่พึงใจ
ใครเขาไม่สรรเสริญเมินอารมณ์ฯ”

ที่โบราณท่านว่าหญิงครึ่งชายครึ่ง สมัยนี้มีอยู่เกลื่อนกลาด วัฒนธรรมดีงามของไทยต้องถูกทอดทิ้งโดยไม่มีใครสนใจ น่าเสียใจและเสียดายยิ่งนัก ไปรับเอาของตะวันตกที่นึกว่าโก้เก๋เข้ามาแทน แม้แต่ผู้ดีในตะวันตกเขาก็ยังไม่คิดว่าโก้ และไม่ประพฤติปฏิบัติกัน

การไหว้ของเยาวชนรุ่นใหม่บางคน แทบจะดูไม่ได้ บางคนก็ยกมือขึ้นอย่างเสียไม่ได้ บางคนก็รีบๆ ทำ อย่างเช่นมีคุณแม่บอกลูกชายวัยรุ่นว่า
“ลูกมากราบคุณอาเสีย”
ลูกชายก็วิ่งไปไหว้ไป จะหยุดไหว้ให้สวยสักนิดก็ไม่มีเวลา

ผู้หญิงก็เอาอย่างบ้าง นั่งพับเพียบหรือ? ไม่ไหวหรอก! เมื่อยขาตายเลย!! ก้มศีรษะมาก เวลาไหว้หรือ? ตายจริง! ทรงผมยุ่งหมดพอดี ทรงนี้เขาหวีมาเป็นพิเศษ ก้มมากนักไม่ได้! เมื่อแม่บอกว่า เดินฝีเท้าหนัก โบราณเขาว่า “สาวเรือนไหว” เงินทองจะหนีหมดน่ะหรือ? ปัทโธ่! เรื่องเล็ก สมัยนี้ต้องเดินสง่าๆ ถึงจะดี มัวแต่ย่องๆ อยู่จะทันหรือ? พวกผู้ใหญ่นี่ไม่รู้อะไร คร่ำครึโบราณ แล้วก็เจ้าระเบียบ พูดจากันไม่รู้เรื่อง!!

และในวันที่วัยรุ่นเหล่านี้เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิด ก็ต้องมานั่งพูดว่า
“เออ….จริงอย่างที่แม่สอนเหลือเกิน รู้ยังงี้เราเอาอย่างเสียก็จะดีซี”

บางทีเราอาจต้องมองจนเหลียวหลังกับการแต่งตัวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ได้แต่นึกอยู่ในใจว่า
“เอ! แม่คนนั้นแกเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงกันแน่?”

เพราะว่าเด็กผู้หญิงคนนั้นตัดผมสั้นเหมือนผู้ชาย ใส่กางเกงยีนฟิตเปรี๊ยะ ติดซิปข้างหน้า ใส่เสื้อเชิ้ตตัวใหญ่พับแขน ท่าเดินก็คล้ายผู้ชาย ปากเคี้ยวหมากฝรั่งหยับๆ ใต้วงแขนมีหนังสือการ์ตูนฝรั่งหนีบอยู่”

ส่วนผู้ชายที่เดินผ่านไป เขาใส่เสื้อฮาวายลายดอกกุหลาบ จนอดที่จะอมยิ้มไม่ได้

ข้างบ้านมีวัยรุ่นสาวน้อยคนหนึ่ง กำลังคลั่งไคล้ดนตรีสมัยใหม่จากอเมริกา ที่ร้องกรี๊ดๆ ออกมาจนแสบแก้วหู และท่าเต้นรำที่เหมือนคนเป็นโรคร้ายแรงน่ากลัว พอคุณแม่เรียก เธอก็ถลาจากจานเสียงมานั่งขัดสมาธิต่อหน้าแขก เวลานั่งอ่านหนังสืออยู่กับผู้ใหญ่ ก็เอนหลังลงบนเก้าอี้ เอาเท้าทั้งสองข้างพาดบนขอบโต๊ะที่ตั้งอยู่ปลายเก้าอี้พอดี

สาววัยรุ่นเหล่านี้ ส่งเสียงคุยข้ามศีรษะคุณย่าคุณยายอย่างหน้าตาเฉย จนท่านจะเป็นลมวันละหลายหน เวลายืนก็ยืนค้ำศีรษะท่านไม่คิดว่าผู้ใหญ่นั่งอยู่ตรงไหน เพราะถือว่าสะดวก

ผู้ใหญ่ก็ได้แต่บ่นกันลับหลังว่า
“อีกหน่อยเวลาฉันให้เขาชี้ว่าของอยู่ตรงไหน เขาคงถึงขนาดใช้นิ้วเท้าชี้!”

เด็กวัยรุ่นอาจจะพูดว่า
“หนูโตแล้ว คุณแม่อย่าสั่งสอนเหมือนกับหนูเป็นลูกแดงๆ เลย”
“คุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจหนูเลย”

พ่อแม่เข้าใจลูกดี ในฐานะที่เป็นผู้ให้กำเนิดของเด็กดี ที่งามทั้งกิริยามารยาท ไม่ใช่ในฐานะผู้ปกครองของเด็กวัยรุ่นที่มองดูไม่ออกว่าจะเอายังไงกันแน่

ในวันหนึ่ง มีกลุ่มของเด็กสาวแต่งกายเหมือนนัดกันมาแบบสะดุดตา คนที่ใส่ชุดสีสด แขนพองยาวรัดข้อมือ รองเท้าส้นสูงสามนิ้วครึ่ง คงจะไม่เคยใส่มาก่อน เพราะรองเท้าอาจจะกัดเสียจนปวดจึงต้องคอยยกเท้าออกนอกรองเท้าเสมอเมื่อปลอดคน บางคนก็เดินโขยกเขยก มองดูแล้วรู้ว่าไม่เคยชินกับรองเท้าประเภทนี้

เมื่อนั่งลงที่โต๊ะ ก็ส่งเสียงคุยโขมงโฉงเฉงไม่อายผู้คน พอสักพักเพื่อนอีกสามคนก็มาถึง กลุ่มนี้ใส่เสื้อเชิ้ตพับแขน สีม่วง เม็ดมะปรางแสด และสีเขียวสด ใส่กางเกงสีดำที่ฟิตจนขนาดถ้านั่งแรงๆ ก็มีหวังตะเข็บปริออกได้

“เฮ้ย! ไปทำอะไรมาวะ ไอ้ลูกแม่ ช้าเป็นบ้าเลย เพื่อนๆ บ่นกันจม”

ภาษาไทยที่ใช้ทักทายถูกแปลงเสียจนเป็นสะแลงไปหมด และลองนึกถึงคนฟังว่าเขาจะต้องเดือดร้อนและรำคาญหูกับถ้อยคำต่อไปมากแค่ไหน

หญิงไทยได้รับคำนิยมจากต่างชาติว่าเป็นชาติที่เป็นตัวอย่างที่ดีในด้านความอ่อนหวานละมุนละไม การแต่งกายงดงามถูกต้องตามกาลเวลา กิริยาท่าทางการพูดการจาก็นุ่มนวลอ่อนช้อย แต่ถ้าวัยรุ่นเป็นเสียอย่างนี้ ชื่อเสียง ที่เคยมีมา ก็อาจกลายเป็น ชื่อเสีย ไปได้ พร้อมๆ กับการที่ผู้หญิงไทยได้กลายเป็นหญิงครึ่งชายครึ่ง และมีจำนวนมากขึ้นอย่างไม่น่าพอใจ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

แต่งกายให้ถูกกาลเทศะ

ไม่ว่าท่านจะอยู่ในบ้านหรือออกไปข้างนอก หากทำตัวให้ดูสะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความนับถือเสื่อมใสขึ้น และก่อนที่ท่านจะให้คนอื่นรู้สึกนับถือในตัวท่าน ท่านก็ต้องนับถือตัวเองเสียก่อน

ไม่ว่าจะแต่งกายในชุดนอนหรือชุดอยู่กับบ้าน หากรู้สึกว่ามองดูดีแล้วในสายตาคนอื่นก็จะทำให้เกิดความสุข ท่านต้องพยายามทำตัวให้เรียบร้อยอยู่เสมอ ลองนึกถึงพ่อบ้านที่มีผ้าขาวม้าเป็นชุดอยู่กับบ้าน ว่าจะน่าดูเพียงไหน กางเกงแพร หรือโสร่ง ไม่ได้เชิดชูบุคลิกของคนขึ้นมาได้เลย

สิ่งแรกที่ท่านต้องคิดถึงเมื่อมีเพื่อนเชิญให้ไปรับประทานน้ำชา หรือข้าวกลางวัน ข้าวเย็นฟังดนตรี ดูละคร หรือภาพยนตร์ และเพื่อเป็นการแสดงความนับถือเขา ลองคิดดูว่าเขาเป็นคนจำพวกไหน ถ้าฐานะของเขาไม่ค่อยดีก็ควรแต่งกายอย่างธรรมดาที่สุด ไม่ควรสวมเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับให้เกินหน้าเขา เลือกเสื้อผ้าที่สวมสบาย ไม่สะดุดตาเกินไป ไม่พยายามทำตัวให้เด่นกว่าผู้ที่เชิญ แต่ถ้าเป็นงานราตรีสโมสร หรือการไปเที่ยวกันเอง ท่านจะแต่งให้เลิศเลอเพียงใดก็ย่อมได้

แต่ถ้าผู้ที่เชิญท่านไป เป็นผู้ที่มีเกียรติ ฐานะดี การแต่งกายของเขาก็คงไม่ธรรมดาแน่นอน ท่านก็ควรให้เกียรติเขา ควรแต่งกายของท่านให้สวยเป็นพิเศษในงานนั้น เพราะมันไม่ได้ทำให้เขารู้สึกด้อยแม้แต่นิดเดียว

หากท่านไม่ทราบว่าผู้ที่เชิญท่านมีฐานะอย่างไร ก็อาจโทรศัพท์และเปรยขึ้นว่า
“งานกันเองนะ ไม่ต้องแต่งตัวสวยสักนิดเดียว” หรือ
“เสื้อฮาวายสำหรับผู้ชายครับ”
เพียงเท่านี้ ผู้หญิงก็จะทราบทันทีว่า เธอก็ไม่ต้องใส่เสื้อผ้าที่งามหรูหรามากก็ได้

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน แฟชั่นการแต่งกายของสตรีและบุรุษก็เปลี่ยนไป การมีเสื้อผ้าดีๆ สักชุดสองสุดเพื่อออกงาน ก็เป็นการเพียงพอแล้ว หญิงที่ฉลาดอาจตัดเสื้อแบบเรียบๆ ที่ไม่ค่อยล้าสมัยสักสองชุด ใช้ดอกไม้สักช่อหนึ่งกลัดที่หน้าอกซ้ายหรือขวา การเพิ่มเติมเล็กๆ น้อยๆ จะทำให้เสื้อดูดีและไม่เป็นที่สังเกตว่าเราสวมชุดเก่าอีกแล้ว

มีน้อยครั้งที่มีโอกาสใช้เสื้อดำไว้ทุกข์ แต่ในงานประชุมเพลิงที่มีผู้คนมากมายก็ควรทำตัวในเป็นที่น่าดู ไม่ควรรื้อเอาเสื้อเก่าๆ ไปย้อมสีดำ หรือเอาของเก่าที่ล้าสมัยจนเกินไปและชำรุดแล้วมาใส่ การไว้ทุกข์เสื้อชุดดำไม่ควรเป็นแบบที่เลิศหรูแต่อย่างใด อาจเป็นผ้าธรรมดาที่ไม่มีลวดลาย ตัดแบบเรียบๆ แขนยาวครึ่งแขนหรือสั้น แต่ไม่ใช่ไม่มีแขนซะเลย ไม่ต้องเป็นผ้าลูกไม้ คอเสื้อตื้นพอควร ไม่ควรสวมเครื่องประดับวูบวาบ ถ้าไม่ใส่แหวนก็ควรเลือกต่างหูสักคู่ที่เป็นไข่มุก เพชร หรือหินที่ไม่มีสี เพราะการแต่งดำแล้วสวมแหวนมรกต หรือทับทิมจะไม่เข้ากัน ในงานประชุมเพลิงผู้แต่งกายไว้ทุกข์ควรสวมถุงเท้าไนลอนสีดำเพื่อความเรียบร้อยถ้าโอกาสอำนวย

ครูที่คอยสอนศิษย์ว่า
“ตัดเล็บเสีย ล้างมือให้สะอาด เสื้อต้องขาวและเรียบ รองเท้าต้องขัด หวีผมให้เรียบร้อย”
แต่ถ้าเสื้อผ้าของเองเองยังกระดำกระด่าง ยับยู่ยี่ ผมยุ่ง มือสกปรก รองเท้าไม่ได้ขัดเสียเลย ก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเช่นกัน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

มารยาทการแต่งกาย

กับคำกล่าวที่ว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” ไม่ได้หมายความว่า ต้องแต่งด้วยเสื้อผ้าที่มีราคา ทำผม หรือสวมรองเท้าใหม่ๆ แพงๆ แต่หมายความว่า ต้องแต่งกายให้เหมาะสมตามกาลเทศะมากกว่า

เรื่องการแต่งกายความสะอาดต้องมาเป็นข้อแรก ต้องเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เส้นผมจนถึงเล็บมือเล็บเท้า แบบเสื้อต้องเลือกให้เหมาะ ตัดเย็บได้รูป ไม่รุ่มร่าม ควรเลือกเสื้อผ้าแบบเรียบๆ อยู่ในความนิยมได้นาน หรือจะนำเสื้อผ้ามาแก้ไขดัดแปลงให้ดูแปลกตาและดูดีขึ้นก็ได้

การรู้จักซ่อมแซมสิ่งของที่ใช้รวมทั้งเสื้อผ้า ก็นับว่าเป็นหญิงที่ดี ก็เคยเห็นอยู่เสมอว่า บางคนเสื้อที่สวมกระดุมหลุด ตะเข็บปริ ขาดแล้วไม่ยอมซ่อม ใช้เข็มกลัดติดไว้ก่อนก็ใช้ได้

แม้แต่เสื้อผ้าชั้นในก็ต้องดูให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ เสื้อชั้นในที่สวมกับเสื้อเนื้อบางๆ ก็ควรให้มีสีที่เข้ากันได้ เช่น ถ้าเสื้อนอกสีขาว ก็ไม่ควรสวมเสื้อชั้นในสีดำหรือชมพู เพราะจะทำให้ดูน่าเกลียดไม่สุภาพ ถ้าเป็นเสื้อผ้าบางๆ เสื้อชั้นในก็ควรเป็นชนิดตัวยาว ก่อนออกไปข้างนอกควรตรวจตัวเองด้วยกระจกยาวตลอดตัวให้เรียบร้อยดีก่อน ไม่ควรให้กระโปรงในยาวกว่ากระโปรงนอกออกมา

ไม่ควรเอาอย่างการแต่งกายแบบดาราหรือนางแบบ ตามหนังสือแฟชั่น และไม่ควรเอาอย่างจากเพื่อนที่เขาสวมแบบนั้นแล้วสวย เพราะเราอาจใส่แล้วไม่สวยเหมือนเขาก็ได้ ต้องพิจารณาดูรูปร่างของตัวเองก่อนว่าเป็นอย่างไร เช่น นางแบบเป็นคนผอม ระหง คอยาว ใส่เสื้อปกตั้งแบบคอจีนได้สวยงาม แต่เราเป็นคนอ้วน เตี้ย หน้ากลมคอสั้น ถ้าใส่แบบเขาจะดูเหมือนกับไม่มีคอ มีแต่คาง เพราะเสื้อแบบนั้นจะทำให้คอยิ่งสั้น และถ้าเป็นคนท้วม ตะโพกใหญ่ ก็ไม่ควรนุ่งกระโปรงแคบๆ คับๆ เพราะจะยิ่งทำให้ตะโพกดูใหญ่ ท้องพลุ้ย ดูไม่ดีเลย

เลือกสีของเสื้อผ้าให้เหมาะกับผิว หญิงไทยไม่ควรเลือกผ้าสีฉูดฉาดบาดตาเพราะเป็นคนผิวคล้ำ หากใครผิวขาวก็โชคดีไปที่ใส่ได้ทุกสี คนสูงใหญ่ไม่ควรสวมเสื้อผ้าสีสดๆ หรือที่เป็นริ้วยาวใหญ่ คนอ้วนเตี้ยไม่ควรใส่สีอ่อนมากๆ และผ้าริ้วตามขวาง คนผอมบางไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่เข้ารูปทรง แต่ควรเลือกชนิดที่บานและติดระบายได้ตามชอบใจจะทำให้ดูอ้วนขึ้น ส่วนคนอ้วนก็ต้องเลือกแบบที่เรียบมากๆ คอเสื้อแบบธรรมดา ไม่มีลูกไม้ โบว์ หรือระบายติดรุ่มร่าม

ผ้ามีหลายเนื้อ หลายดอก หลายสี คนขายอยากขายสินค้าของเขาก็โฆษณาชวนเชื่อ เราไม่ควรหลงเชื่อคนขายตลอดเวลา โดยที่เขาอาจจะบอกว่า
“ผิวอย่างคุณใส่สีนี้สวยแน่ ซื้อชิ้นนี้ดีกว่า สวยกว่าโน่นอีก ฯลฯ”

หากไม่เชื่อตัวเราเอง เราก็มักได้ของผิดความประสงค์บ่อยๆ และทำให้เราเบื่อง่ายด้วย

ผ้าชนิดปนขนสัตว์ไม่ควรซื้อมาใช้ เพราะเมืองไทยมีอากาศร้อน จะทำให้ใส่ไม่สบาย ทำให้ร้อนและคัน เสื้อที่ใส่กลางวันควรเป็นผ้าทนน้ำทนสบู่ เพราะต้องซักกันบ่อยๆ ควรเลือกผ้าฝ้ายเนื้อเย็นๆ สบายๆ ชนิดลายดอกสะดุดตาทำให้เบื่อง่ายและทำให้จำได้ง่าย หรือชนิดที่เป็นแพรมัน ควรใช้ในตอนเย็นและกลางคืน ประเภทผ้าชีฟองควรใช้ในงานช่วงบ่ายและค่ำ

ไม่ควรใส่เครื่องประดับมากจนเกินไป จะดูไม่งามตา ถ้าสวมสร้อยทองก็ไม่ควรสวมแหวนไข่มุก ถ้ากลัดเข็มกลัดไข่มุกก็ต้องสวมสายสร้อยด้วยสัก 2 ชิ้น ถ้าใส่มากกว่านี้จะดูไม่ดี บ่งบอกถึงรสนิยมที่ต่ำ

ในงานศพ มีความโศกเศร้า ไม่ควรใส่เสื้อผ้าแบบที่ดูมากเกินไป เช่น ดอกลูกไม้ ปักลูกปัด ปักดอกผ้าบางๆ ผ้าต่วนมันระยิบระยับ ควรเลือกแบบที่เรียบ มีแขน คอไม่ลึก ผ้าแบบเรียบๆ ไม่สะดุดตา ถ้าจะใส่เครื่องประดับก็ควรเป็นสีขาวหรือดำแค่ชิ้นเดียว ไม่ควรแต่งหน้าเข้มเกินไป และควรมีมารยาทที่ดีงามแก่ผู้พบเห็น ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพแก่งานนั้น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

มารยาทของสุภาพสตรี

เมื่ออยู่ต่อหน้าสตรี สุภาพบุรุษจะต้องระวังรักษาชื่อ “สุภาพบุรุษ” ไว้ และสตรีก็จะต้องรักษาชื่อ “สุภาพสตรี” ไว้เช่นกัน

ไม่ใช่สิ่งที่ดีในการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ท่านควรหลีกเลี่ยงคำวิจารณ์จากคนอื่นให้มากที่สุด การนินทาไม่จำเป็นต้องเป็นการทำลับหลัง แต่การตำหนิในใจ ก็หมายถึง เขากำลังนินทาท่านเหมือนกัน

เมื่อออกไปไหนกับเพื่อนชายที่ทุกคนคิดว่าเหมาะสมแล้ว แต่ก็ควรนึกถึงข้อต่อไปนี้

ชายเป็นเพศที่แข็งแรง เขาอยากให้ท่านทราบว่าเขาเป็นคนแข็งแรง แม้เขาจะเตี้ยกว่าท่าน หรือรูปร่างอาจดูผอมไปก็ตาม โดยเฉพาะผู้ที่จะเข้ามาร่วมชีวิตกับท่าน เขาจะทนไม่ได้ถ้าท่านมองเขาอย่างประหลับประเหลือง และบอกไปตรงๆ ว่า
“จ้างให้ คุณก็เปิดไม่ออก” หรือ
“มา…ฉันทำเองดีกว่า คุณทำแล้วชักช้าไม่ทันใจ” ฯลฯ

พยายามทำให้เขารู้สึกว่า เขาเป็นคนแข็งแรงที่สุดในโลก อย่าให้เขารู้สึกว่าเขาอ่อนแอโดยใช่เหตุ ถ้าเขาเปิดประตูภัตตาคารให้ท่านก็ให้เดินเข้าไปเฉยๆ ขอบคุณเสียหน่อย ไม่ต้องยื่นมือไปช่วยเขาเปิด อย่าแย่งเขาเลื่อนเก้าอี้ถ้าเขาจะเลื่อนให้ และไม่ควรเลื่อนให้เขาเป็นการตอบแทน แม้ท่านจะรู้ดีว่า
“พุทโธ่! กะเก้าอี้เบาแค่นั้น เราก็ทำเองได้”

มันเป็นหน้าที่ที่เขาควรจะทำ ก็ปล่อยให้เขาทำ ถ้าเขาชอบทำเขาก็เป็นผู้ที่รู้จักมารยาทของสุภาพบุรุษ

ถ้าท่านออกไปรับประทานอาหารกับเพื่อนชาย ก็ไม่ควรหยิบอาหารจากจานของท่านให้เขาชิม ไม่ว่าจะสนิทสนมกันหรือไม่ก็ตาม การจิ้มอาหารด้วยส้อมของท่านส่งให้เขาไม่ใช่มารยาทที่ดี ให้เขารับประทานจากจานเขาเอง นอกจากจะช่วยตักข้าวเติมให้ หรือเลื่อนกับข้าวไปทางเขาบ้างก็พอ

แม้ท่านอยากจะสำรวจใบหน้า จมูก ผม หรือลิปสติก หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ก็ไม่ควรยกเครื่องสำอางขึ้นมาแต่งเติมที่โต๊ะอาหารเด็ดขาด ถ้าอยากจะทำเช่นนั้นก็ควรขอตัวไปห้องน้ำดีกว่า แล้วค่อยออกมาร่วมโต๊ะใหม่เมื่อเสร็จธุระแล้ว และให้สำรวจความเรียบร้อยทุกอย่างก่อนออกมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นรอยแป้งใหม่ที่ทาลงไป หรือขี้รังแคตามไหล่เสื้อ ตรวจว่ามีเศษอาหารติดอยู่ที่ฟันหรือไม่ ตามเสื้อมีหยดอาหารติดอยู่หรือเปล่า

การหวีผมผัดหน้า ต้องทำเป็นการส่วนตัว ไม่ควรหวีผมแม้แต่ในรถ หรือในที่ซึ่งผู้อื่นจะเห็นได้

จงสำรวจหน้าตาของท่านว่า มีอะไรที่ดูปลอมเกินไปหรือเปล่า ก็ให้แก้ไขเสียก่อน การแต่งหน้าตาที่เข้มเกินไป หรือผิดธรรมชาติก็อาจดูไม่เหมาะ และสุภาพบุรุษของท่านก็อาจไม่ชอบแบบนั้นด้วย ท่านควรจะแต่งให้เข้ากับสถานการณ์ตอนนั้นด้วย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

มารยาทของแขกผู้ไปพัก

วิมาลา ได้รับจดหมายเชิญจากเพื่อนเก่า ซึ่งมีข้อความว่า
“ปิดภาคนี้ ทั้งคุณชินกับฉันอยากให้เธอไปพักกับเราสักสองสามอาทิตย์….”

รตีกับชิน มีบ้านชายทะเลไม่ใหญ่นัก เขาทั้งสองมีฐานะปานกลาง และมีลูกชายหญิงสองคน

เมื่อวิมาลาไปพักอยู่กับผู้ใหญ่ที่หัวหิน ซึ่งมีฐานะมั่งคั่ง ก็จะเอากระเป๋าเดินทางไปสองใบ ใส่เสื้อผ้าชุดดีๆ รองเท้าเกินสองคู่ และชุดชายหาดที่ทันสมัย แต่ครั้งนี้เธอหิ้วกระเป๋าติดตัวไปใบเดียว และเอาเสื้อผ้าที่ใส่สบายไปด้วยเท่านั้น

วิมาลาได้ชื่อว่าเป็น แขกที่น่ารัก และมักได้รับเชิญให้ไปพักตามบ้านเพื่อน และญาติทุกวันปิดภาค เธอได้อธิบายแก่ผู้ที่สงสัยเรื่องนี้ว่า
“ถ้าเรามีแขกและอยากให้แขกเขาทำอย่างไรกับเรา เราก็ทำอย่างนั้นกับเขาสิ จะไปยากอะไร”

วิมาลาได้ตอบจดหมายของรตีทันทีที่ไปถึงว่า เธอจะไปด้วยความเต็มใจ เพราะเธอไม่ชอบการโทรศัพท์ หรือฝากบอกไปกับคนอื่น ในตอนท้ายของจดหมายวิมาลาได้เขียนว่า
“ฉันเกือบจะอดใจวันที่จะได้พบเธอและคุณชิน ตลอดจนหลานๆ ต่อไปไม่ไหวแล้วละซี”

เมื่อวิมาลาไปถึงบ้านท้ายไร่ที่ศรีราชาของรตี ขณะรตีเข้าครังไปดูอาหารเธอได้เข้าไปจัดข้าวของเสื้อผ้าอย่างเรียบร้อย วางรองเท้าไม่ให้เกะกะอยู่มุมหนึ่ง วางกระเป๋าบนหลังตู้ใหญ่ ของใช้สำหรับชำระล้างหน้าตาใส่ขันรวมไว้ใกล้อ่างล้างมือ บนเตียงที่ปูผ้าคลุมไว้เธอไม่เอาเสื้อผ้าลงไปวาง นอกจากชุดนอนสะอาดๆ ชุดเดียว เพราะถ้าเป็นเสื้อผ้าสีเข้มๆ อาจทำให้สีอ่อนๆ ของผ้าคลุมเตียงคล้ำลงได้ และเมื่อยังไม่ถึงเวลานอนเธอก็จะไม่นั่งลงบนเตียง

แขกที่ดีจะสังเกตการณ์จัดระเบียบบ้านของเจ้าของว่าเป็นคนเรียบร้อยแค่ไหน หากเป็นคนมีระเบียบ ทุกอย่างก็จะอยู่ในที่ของมันไม่เกะกะ และในฐานะผู้ได้รับเชิญ ก็จะต้องทำให้ได้เท่ากับเจ้าของบ้านด้วย ถึงแม้ปกติแล้วท่านจะไม่ได้เป็นคนเรียบร้อย แต่ก็ต้องพยายามทำให้ได้ อย่าทำให้เลอะเทอะเป็นที่น่ารังเกียจ ไม่ต้องให้เขาต้องตามคอยเก็บของให้ ต้องวางให้เป็นที่เป็นทาง ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการเสียชื่อเสียเปล่าๆ

ห้องน้ำที่สะอาดจะบ่งบอกถึงความสะอาดของคนในบ้าน เช่นเดียวกับมือและเล็บที่สะอาด ก็บอกนิสัยของเจ้าของได้

ก่อนจะออกจากห้องน้ำทุกครั้ง ต้องดูให้ทั่วว่า สะอาดเรียบร้อยแล้วหรือยัง ไม่ปล่อยให้น้ำนองพื้น มีรอยโคลนสกปรก หรือยังไม่สะอาดแล้วเดินออกไปไม่สนใจ

รตีพูดว่า
“ฉันไม่ชวนยายนั่นมาอีกละเธอ หนก่อนเอาผ้าเช็ดตัวของฉันไปใช้”

แม้แต่ลูกๆ ของรตี ก็ต้องแยกกันใช้ผ้าขนหนูไม่ให้ปะปนกัน

วันรุ่งขึ้น ก่อนลงไปชายหาด วิมาลาก็จัดเตียงก่อน ตกตอนเย็นรตีก็ห้ามว่า
“ทีนี้อย่าทำนะ ปล่อยไว้เถอะ”

วิมาลายืนกรานจะทำเอง เพราะรู้ดีว่า รตีต้องทำงานบ้านเอง และไม่มีคนใช้

รตีพูดว่า
“แต่เธอมาพักผ่อนจ้ะ ฉันไม่ต้องการให้เธอทำอะไรสักอย่าง”

วิมาลาตอบเลี่ยงอย่างฉลาดว่า
“งั้นเราทำกันทั้งสองคน เสร็จเร็วด้วย และฉันก็อยากช่วยเธอมั่งนิดๆ หน่อยๆ”

ทุกๆ เช้า ลูกๆ ของรตี จะแย่งกันเข้าห้องน้ำ กว่าจะเสร็จหมดทุกคนทำให้วิมาลาต้องคอยนานมาก เธอจึงต้องตื่นเช้ากว่าใครๆ แล้วเข้าห้องน้ำเสียให้เรียบร้อย จึงออกไปแต่งตัว เธอแจ่มใสอยู่ในเสื้อผ้าชุดสะอาดกว่าคนอื่นๆ จะเสร็จกัน ในขณะที่หัวยุ่งหน้ายุ่งจากที่นอน วิมาลาไม่เคยปรากฏตัวให้ใครเห็น หรือเดินออกไปรอบๆ บ้านทั้งๆ ที่ใส่เพียงเสื้อคลุม หรือขณะที่รตีกำลังวุ่นอยู่กับงานบ้านเธอก็ไม่ไปคุยหัวเราะกับชิน

รตีเคยบ่นสามีว่า
“ชอบทิ้งขี้บุหรี่ทั้งบ้าน หาที่เขี่ยให้ก็ไม่เห็นเขี่ย”

วิมาลาเคยแย้งขึ้นว่า
“โธ่! ช่างเถอะ อยากสูบก็ให้เขาสูบไปเถอะน่าเธอ”

เมื่อสัปดาห์หนึ่งสิ้นสุดลงวิมาลาก็จากไป ในห้องที่เธอพักเรียบร้อย ไม่มีข้าวของตกหล่นหลงลืมไว้ให้เป็นภาระเจ้าของบ้านต้องคอยส่งคืนตามไปให้ ในวันรุ่งขึ้น ในฐานะแขกที่ดี วิมาลาก็ได้เขียนจดหมายสั้นๆ เพื่อขอบใจ รตีกับชินไว้ สำหรับการพักผ่อนที่บ้านชายทะเลของเขา ที่ทำให้เธอได้รับด้วยความสุขใจ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์