มารยาทของผู้ไปเยี่ยม

“ฉันจะไม่มีวันไปบ้านนั้นอีก เจ้าประคุณ! กว่าจะเข้าได้ถึงตัวเขา มันบทบาทมากจริง ต้องมีคนออกมาถามชื่อเสียงเรียงนาม เสร็จแล้วยังต้องยืนคอยเสียจนขาแข็ง กว่าเขาจะเปิดประตูให้เข้าไปพบ”

มีไม่น้อยที่ต้องพบกับคำกล่าวเช่นนี้ โดยเฉพาะหากต้องการพบบุคคลสำคัญ หรืออาจคิดว่าตนสำคัญ จึงทำให้ผู้มาเยือนต้องคอยอยู่เป็นเวลานาน ส่วนมารยาทของผู้ไปเยี่ยมที่สำคัญก็มีดังนี้

เมื่อท่านถึงบ้านของผู้ที่อยากพบ คนรับใช้อาจถามชื่อของท่านก่อนเปิดประตูและเชิญให้เข้าไปนั่งคอย ใช่ว่าเจ้าของบ้านจะไม่สุภาพหรือไม่ยินดีต้อนรับท่าน แต่ถ้าเป็นคนใหญ่คนโต เขาก็อาจกลัวคนรบกวน หรือกลัวโจร ท่านก็ควรทำตามเขาไป แต่ถ้าคนรับใช้บอกว่า ผู้ที่ท่านอยากพบไม่อยู่บ้าน ท่านก็ควรลุกขึ้นพร้อมกับบอกว่า
“อย่างนั้นฉันไปก่อนละ ขอบใจมาก”

และไม่ควรถามเขาต่อไปว่า ไปไหน นานไหม ปกติกลับเมื่อไร ใครมารับไปหรือเปล่า ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่ธุระของท่าน และคนใช้ก็อาจไม่รู้คำตอบ หรืออาจตอบผิดๆ ถูกๆ

อย่ามองขึ้นไปบนบ้าน หรือแอบชะโงกดูในห้องอื่น ว่าเจ้าของบ้านอยู่หรือเปล่า หรืออยู่แต่ไม่อยากพบท่าน อย่าทำท่าทางว่าไม่เชื่อเขา หรือรู้สึกว่าเขาดูถูกแล้วไม่ยอมมาพบ แต่ให้คิดว่าเขาไม่อยู่จริงๆ ถ้าอยู่เขาต้องพบท่านแน่ จะทำให้จิตใจของท่านสบาย เพราะในขณะนั้นเจ้าของบ้านอาจจะไม่อยู่จริงๆ หรืออาจยังไม่ว่างที่จะต้อนรับท่าน

ก่อนท่านจะกลับก็ควรวางนามบัตร หรือบันทึกสั้นๆ ไว้กับคนใช้ บ้านใหญ่ๆ บางบ้านอาจมีถาดให้คนใช้ถือรับนามบัตร หรือใช้รองดินสอกระดาษ ทำให้แขกคิดว่าเจ้าของบ้านมีรสนิยมสูง แต่ท่านอาจจะแย้งว่า
“โอ๊ย! บ้านเรามันไม่ใหญ่โตถึงขนาดนั้นดอก”
แต่การแสดงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ดังกล่าว ก็อาจทำให้บ้านเล็กๆ ของท่านดูคล้ายกับใหญ่โตขึ้นมาได้

คนรับใช้จะเป็นผู้แสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่และระเบียบวินัยของบ้านได้อย่างดี คนใช้ที่ได้รับการอบรมมาดี เมื่อส่งน้ำ หรือพูดกับนาย หรือ

แขก เขาก็จะนั่งคุกเข่า ย่อตัวลง ไม่พูดห้วนๆ ไม่แสดงกิริยากระด้างกระเดื่อง

บ้านที่มีป้ายติดบอกไว้ว้า “ไม่อยู่บ้าน” ท่านก็ควรให้นามบัตรไว้ แสดงว่าเจ้าของบ้านไม่พร้อมที่จะรับแขก

ท่านอย่าเดินเข้าไปทางประตูหลัง หรือสำรวจรอบบ้านเป็นอันขาด ถ้ากดกระดิ่งประตูหน้าบ้านแล้วไม่มีคนตอบ ยกเว้นจะเป็นญาติพี่น้อง หรือคนสนิทสนมกันจริงๆ หากท่านทำอย่างนั้นเท่ากับท่านถือวิสาสะโดยที่ท่านไม่มีสิทธิ์ บางครั้งเจ้าของบ้านอาจนั่งอยู่ตรงหน้าต่างหลังพอดีและยังไม่ได้แต่งกายให้เรียบร้อยพอที่จะรับแขก หรือกำลังทำอาหาร หรือต้องทำอย่างอื่นอยู่ และไม่มีคนใช้จะไปเปิดประตูให้ท่าน จึงไม่ได้ลุกไปเปิดให้เอง เจ้าของบ้านอาจรู้สึกละอายใจถ้าท่านเข้าไปตอนนั้น

ถ้าท่านมีเรื่องที่จะบอก แต่เจ้าของบ้านไม่อยู่ ให้ท่านเขียนข้อความไว้หลังนามบัตรของท่าน วางไว้ที่มองเห็นง่าย หรือฝากคนใช้เอาไว้ ถ้าเป็นการไปเยี่ยมเฉยๆ ก็แค่บอกชื่อไว้เท่านั้น ไม่ต้องพูดว่า
“วันหลังจะมาใหม่นะ เรียนคุณด้วย”
เพราะอาจเป็นเวลาอีกนานกว่าท่านจะมา ทำให้เจ้าของบ้านคอยการมาของท่านอยู่เสมอ ไม่ควรเขียนการนัดหมายทิ้งไว้ว่า
“จะมาพรุ่งนี้สามโมงเช้า”
เพราะเขาอาจไม่อยู่บ้าน หรือมีธุระอย่างอื่นในตอนนั้น และไม่สามารถที่จะตอบให้ท่านรู้ได้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

กิริยาส่อตระกูล

วรรณีเป็นคนเดินสวย ท่าทางสุภาพ หลังตรง ก้าวเท้าไม่ยาวหรือสั้นเกินไป แกว่งแขนเล็กน้อย ไม่เดินยักย้ายสะโพกจนน่าเกลียด ท่าเดินของเธอแสดงให้เห็นถึงความสุภาพในนิสัยที่แท้จริงของเธอด้วย

วรรณีมีท่าทีสุภาพน่าชมแม้เวลาเดินกับคุณพ่อคุณแม่ อาจารย์ หรือผู้ใหญ่ที่อาวุโสกว่า เธอรู้จักเดินข้างหลังห่างจากผู้ใหญ่ประมาณ 1 ฟุต และถ้าอยู่ใกล้ๆ กับผู้ใหญ่เธอก็จะเอามือทั้งสองประสานกันไว้น้อมตัวลงเล็กน้อย เมื่อผู้ใหญ่พูดด้วยก็ตอบอย่างชัดเจนอ่อนหวาน

ในงานประจำปีของโรงเรียนเก่า การแต่งกายของวรรณีดูเรียบร้อยน่าดู เธอจะเข้าไปนั่งใกล้คุณแม่ที่อยู่ในกระโจมใหญ่ ในนั้นมีแขก นักเรียน และผู้ใหญ่หลายคนนั่งชมการแสดงอยู่ เธอจะก้มตัวผ่านผู้ที่นั่งอยู่ก่อน และก้มตัวลงมากเมื่อผ่านผู้ที่มีอาวุโสมาก ในวันนั้นเธอสวมกระโปรงบานพองน่ารัก เพื่อกันไม่ให้ชายกระโปรงหรือส่วนของเสื้อผ้าไปถูกผู้อื่นเข้า เธอจึงต้องใช้มือจับกระโปรงไว้เล็กน้อย

มีนักเรียนเก่าคนหนึ่งที่นั่งอยู่ก่อน ได้ก่อให้เกิดความรำคาญแก่คนที่นั่งอยู่แถวนั้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเขาพูดเสียงดัง โยกเก้าอี้ไปมา เขย่าขาอย่างสบายอารมณ์ตลอดเวลา ลากเก้าอี้ให้เกิดเสียงดัง ทำให้พรมที่ปูบนสนามส่วนที่เขานั่งอยู่ก็ย่นยู่เป็นลูกคลื่น สักครู่ก็ลุกขึ้นไปนั่งเก้าอี้ตัวอื่นอีกเมื่อเจอเพื่อนเก่าที่คุยกันถูกคอ

หลายๆ คน รวมทั้งวรรณีก็อดที่จะมองด้วยความรู้สึกรำคาญ และติเตียนไม่ได้

พอเพลงสรรเสริญพระบารมีดังขึ้นในงานโรงเรียนนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็เสด็จพระราชดำเนินถึงบริเวณงาน ทุกคนในงานก็ถวายความเคารพอย่างถูกแบบแผน โดยลุกขึ้นยืนตรง มือสองข้างปล่อยข้างลำตัว หันหน้าไปด้านที่ประทับยืนอยู่ เมื่อเพลงจบทุกคนก็ถวายความเคารพอีกครั้งหนึ่ง

นักเรียนและคนอื่นๆ ที่ได้รับการอบรมมาดี ก็สามารถถวายความเคารพได้อย่างสวยงาม ไม่ขัดเขิน มีความสุภาพน่าชม

ฝ่ายชาย ถ้าสวมหมวก แต่งเครื่องแบบ ก็ต้องยืนตรง ทำท่าวันทยหัตถ์ ส่วนผู้ชายที่แต่งกายสากลธรรมดาไม่ได้สวมหมวกหรือเครื่องแบบ ก็ให้ยืนตรงหันหน้าไปทางสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แล้วถวายคำนับ ก้มศีรษะและส่วนไหล่ช้าๆ ให้ต่ำพอควร กลับมายืนตรง ไม่ผงกศีรษะเร็วเกินไป เพราะจะดูไม่สุภาพสวยงาม

คุณพ่อของวรรณีแต่งกายชุดสากลธรรมดา สวมหมวก วรรณได้สังเกตเห็นว่า ก่อนพ่อจะถวายคำนับท่านก็ถอดหมวกออกก่อน

คุณแม่และวรรณีก็ถวายความเคารพแบบ ถอนสายบัว หรือย่อเข่าลงต่ำ ก่อนถอนสายบัวก็ยืนตัวตรงเท้าชิด หันหน้าไปทางพระองค์ท่าน ชักขาไปข้างหลังข้างหนึ่ง ย่อเข่าลงช้าๆ ก้มศีรษะลงต่ำเล็กน้อย แล้วเงยศีรษะขึ้นพร้อมกับชักขาที่ไขว้กลับที่เดิม ตั้งเข่าตรง ยืนตรง เมื่อองค์ประธานประทับบนพระเก้าอี้เรียบร้อยแล้ว ทุกคนจึงนั่งลงอย่างสุภาพ

วรรณีกระซิบถามคุณแม่ว่า
“คุณแม่คะ เพลงเคารพมีแต่เท่านี้หรือคะ?”

“หลายเพลงจ้ะ ที่ลูกต้องยืนตรงเคารพ เช่น เพลงชาติ เพลงมหาฤกษ์ มหาชัย และเพลงคำนับ เป็นต้น นอกจากนั้นก็มีเพลงประโคมอีก ซึ่งลูกต้องยืนถวายความเคารพ เมื่อประโคมขณะเสด็จฯ ลง หรือเสด็จฯ ออก และเวลาเสด็จฯ กลับด้วย”

วรรณีนั่งชมการแสดงอยู่นานจนรู้สึกเมื่อย แต่เมื่อมองไปทางคุณแม่ ท่านยังนั่งตัวตรง เท้าชิด เข่าชิด มือวางไว้บนตักอยู่

คุณแม่เตือนวรรณีเบาๆ
“ลูกอย่านั่งเอาเท้าไขว้กันจ้ะ”
“อย่าไขว่ห้างด้วย ไม่สวยเลย น่าเกลียด ดูไม่ใช่คนไทย ดูคนนั้นสิ! นั่งโยกหน้าโยกหลังอยู่ได้ จะนั่งจะลุกไม่สุภาพเสียแล้ว ลูกใครนะ!”

วรรณีฟังคุณแม่ น้ำเสียงของท่านแม้จะเบาแต่ก็แสดงความติเตียนเต็มที่ และเมื่อเห็นนักเรียนเก่าคนเดิมกำลังทำท่าทางหลุกหลิก เธอก็รู้สึกในใจทันทีว่า “อ้อ! นี่แหละเขาถึงพูดกันว่า สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อตระกูล ยังไงล่ะ! คุณแม่ยังอยากรู้เลยว่า นี่ลูกใคร จึงได้ไม่มีใครสั่งสอนกันมาเสียบ้างเลย”

วรรณีได้ถวายความเคารพ หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินกลับ รอจนรถยนต์พระที่นั่งผ่านลับสายตาไป ขณะที่คุณพ่อคุณแม่ก้มมองลูกสาวท่านก็ยิ้มออกมา และทราบดีว่าแขกในงานวันนั้น มองดูวรรณีอย่างชมเชย ในมารยาทที่ดีงามของเธอ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในการสนทนา

มีสิ่งหนึ่งที่ท่านต้องถามตัวเอง และไม่มีใครกล้าบอกท่านได้ กับคำว่า “เราพูดมากเกินไปหรือเปล่า?… ที่เราพูดนั้นมีใครเขาอยากสนใจฟังหรือเปล่า?”

ในทัศนะของท่านเอง หน้าที่การงานของท่านอาจน่าสนใจเหลือเกิน แต่คนอื่นที่ฟังอยู่อาจไม่อยากฟังสักเท่าใดนัก อาจต้องฟังเพราะเสียไม่ได้ ถ้าจะฝืนเล่าให้เขาฟังไปจนจบก็ถือว่าเป็นรสนิยมที่ต่ำมาก อาจทำให้แขกเบื่อได้ง่ายในอารมณ์เช่นนี้ เพราะแขกอาจจะอยากนั่งพักเฉยๆ หรือฟังสิ่งอื่นที่ไม่ใช่การพูดยาวๆ ของเจ้าของบ้าน

เป็นของที่น่าเบื่อหากมีการพูดถึงเรื่องงาน ท่านคงอยากคุยเรื่องโรงเรียน และ เด็กๆ ของฉัน หากท่านเป็นครู และถ้าคนฟังเป็นครูด้วยเขาคงเบื่อจนแทบอยากจะกรี๊ดออกมา แต่ถ้าเขามีอาชีพอื่นที่ไม่ใช่ครู ก็อาจจะสนใจ เพราะเท่ากับได้เพิ่มความรู้หากได้ฟังเรื่องของท่าน เช่นเดียวกับที่ท่านชอบฟังเรื่องของศัลยแพทย์ที่เล่าถึงการผ่าตัดสำคัญ เป็นสิ่งใหม่ให้ความรู้ และแปลกไปจากอาชีพจำเจที่ต้องพบอยู่ประจำทุกวัน จึงทำให้ท่านไม่เบื่อที่จะฟัง

แต่ไม่ใช่หัวข้อที่ดีที่จะนำเรื่องนายที่กระทรวง หรือคุณหญิงของท่าน มาสนทนา หรือในเรื่องจดหมายโต้ตอบที่ท่านต้องรับมอบหมายให้เขียนหรือให้แปล หัวข้อเหล่านี้เป็นการสนทนาที่ไร้สาระ ผู้ที่ฟังจะไม่ได้รับประโยชน์หรือความรู้สึกแม้แต่นิดเดียว

แต่บางท่านอาจนึกในใจว่า
“งั้นก็ไม่ต้องพูดกันน่ะซี นั่งเฉยๆ เป็นเบื้อเป็นใบ้กันเท่านั้น”

ท่านไม่ควรนั่งเฉยๆ ต่อหน้าแขกถ้าท่านเป็นเจ้าของบ้าน และถ้าเป็นแขกที่ให้เขาเชิญตลอดรายการก็อาจจะไม่ได้รับเชิญเป็นครั้งที่สอง เจ้าของบ้านต้องสนทนาติดต่อกันไปไม่ให้ชะงักลงกลางคัน ถ้าแขกหยุดลง อย่าให้แขกเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า
เอาละ! ถึงเวลาที่เราควรกลับแล้วละซี เขาถึงไม่พูดอีกต่อไป คงหาทางไล่ทางอ้อมกระมัง

เจ้าของบ้านต้องเป็นผู้แนะนำหัวข้อเรื่องสนทนาต่อไปอย่าให้ติดขัด แม้แขกจะหมดเรื่องพูดไปแล้วก็ตาม

เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วย โดยเฉพาะเรื่องเจ็บไข้ที่น่ารังเกียจ ไม่ทำให้สดชื่น ไม่น่าฟัง ก็ไม่ควรยกมาพูดกับแขกหรือมิตรสหายของท่าน ถ้าอยากพูดก็ควรไปพูดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคนั้นๆ โดยเฉพาะ

เรื่องที่เล่าให้แขกฟังเรื่องหนึ่งๆ ไม่ควรยาวกว่า 1 นาที แต่แม้ว่าผู้เล่าจะมีวิธีการหรือเทคนิคในการบรรยายอย่างดีเท่าใดก็ตามก็มักไม่ใคร่สนใจกับเรื่องที่ยาวมากๆ นี้ และถ้าผู้พูดต้องการดึงดูดความสนใจจากผู้ฟังแล้วก็ อย่าคิดดังๆ ออกมาเป็นคำพูดสลับไปด้วย เช่น
“เอ! วันนั้นวันศุกร์หรือวันเสาร์กันนะ? ดูสินึกไม่ออกเสียแล้ว ฉันคิดว่าวันศุกร์มากกว่า เอ! ไม่ใช่หรอก วันเสาร์ต่างหาก เพราะคุณสวัสดิ์ไม่ได้ไปทำงานวันเสาร์”

เพราะกว่าท่านจะรู้ว่าเป็นวันใดกันแน่นั้น ในเรื่องที่ท่านกำลังจะเล่าให้เขาฟัง ผู้ฟังของท่านก็อาจหมดความสนใจไปเสียแล้ว

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

ผู้ฟังที่ดี

ถ้าเราเล่าเรื่องสนุกเรื่องหนึ่งให้ใครฟัง แต่เขากลับมองอย่างใจลอยออกไปนอกหน้าต่าง เขาไม่ได้รับฟังมาตั้งแต่เมื่อไร มีอะไรดึงดูดความสนใจเขาไป หรือเพราะไม่เป็นสนใจแก่เขาเกี่ยวกับเรื่องที่คุณเล่า

เรื่องที่ท่านพูดคงไม่น่าสนใจพอแก่การฟัง แต่เขาก็ได้แสดงความไม่สุภาพออกมา โดยไม่สนใจการพูดดีของท่าน ทำให้ท่านรู้สึกเก้อและน้อยใจ ทำให้มิตรภาพของเขาและท่านเสื่อมลง ถ้าท่านหยุดพูดเสียเขาจะรู้ตัวว่าได้เสียมารยาทต่อท่าน แต่ถ้าท่านเล่าต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเขาก็คงหันกลับมาฟังท่าน และรู้สึกตัวว่าเรื่องก่อนหน้านี้เขาไม่ได้รู้เรื่องเลย และอาจรู้สึกหวาดๆ ในใจ หากท่านพูดขึ้นมาว่า
“เอ๊ะ! ผมพูดถึงตอนไหนแล้วนะครับ?”

ถ้าผู้ที่ทำเช่นนี้เป็นบุตรธิดาของท่านเอง ท่านก็อาจยื่นมือไปตีสักเผียะ แล้วหยุดพูดได้ง่ายๆ พร้อมกับถามว่า
“เมื่อกี้พูดถึงอะไรกันนะลูก?”
ถ้าลูกตอบไม่ได้ก็หมายความว่าต้องสั่งสอนกันยาวขึ้นไปอีก

แต่สำหรับคนอื่น เมื่อท่านเลิกเล่าก็อาจหยุดฟังท่านเสียเฉยๆ แล้วพูดเรื่องอื่นต่อไป ปล่อยให้ท่านนึกถึงความหยาบคายของเขาอยู่คนเดียว

สมมติว่า ท่านกำลังเล่าเรื่องๆ หนึ่งให้เขาฟัง เมื่อมีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น และต้องการพูดกับเขา เมื่อเขารับโทรศัพท์เรียบร้อยแล้วก็มาบอกกับท่านว่า
“คุณสุรีย์พูดมาว่า เธอจะมาที่นี่สักประเดี๋ยว”

แล้วท่านจะรู้สึกว่า ไม่อาจนำเขากลับไปพูดเรื่องเดิมได้อีก เพราะเขาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ได้สนใจที่ท่านเล่าเท่าใดนัก ถ้าเขาอยากฟัง เขาก็จะแนะขึ้นว่า
“เมื่อกี้เล่าถึงอะไรแล้วนะ?”
แต่ถ้าเขาไม่ได้ฟัง ท่านจะถามว่า
“ฉันเล่าถึงไหนแล้วคุณ?” แล้วเขาก็จะไม่ทราบคำตอบ

ไม่ว่าเรื่องนั้นจะน่าสนใจหรือน่าเบื่อเท่าใดก็ตาม ผู้ฟังที่ดีจะต้องฟังจนจบ โดยไม่แสดงอาการหยาบคายใดๆ ออกมาก่อนที่จะเล่าจบ

ผู้เล่าที่ดีก็ต้องรู้จักสังเกตสีหน้าของผู้ฟังว่า เขาแสดงท่าทีเบื่อหรือยัง? หรือเขาอยากให้ถึงทีเขาเล่าบ้างเต็มทีแล้ว?

ผู้ฟังที่ดีต้องฟังและคิดเงียบๆ พร้อมกันในใจว่า
“ฉันก็มีเรื่องเล่าเหมือนกัน แต่เดี๋ยว รอให้เขาเล่าจบก่อน” และนึกโครงเรื่องที่จะเล่าไปในใจด้วย เพื่อกันลืม และเรื่องที่มีคนเล่าต่อไปก็ต้องฟังอย่างสุภาพด้วยความสนใจ

ผู้ฟังที่ดีควรวิจารณ์เรื่องที่ได้ฟัง เมื่อผู้เล่าเล่าจบลงแล้ว เช่น
“โอ้โฮ! สนุกดีจริง!” หรือ “จะไปว่าเขาก็ไม่ถูก” หรือ “เรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงป้าของผม….”

เป็นการยกย่องผู้เล่า แสดงให้เห็นว่าท่านได้ฟังเรื่องของเขาโดยตลอด พอที่จะจับข้อความได้แม้จะไม่ใช่ทุกตอนก็ตาม เรื่องที่เขาเล่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง เรื่องต่อไปจะถูกนำมากล่าวถึง

ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งในการเป็นผู้ฟังที่ดี ในทัศนะของท่านเรื่องนั้นอาจจะไม่น่าสนใจ แต่ในทัศนะของคนอื่นเรื่องของท่านก็อาจไม่น่าสนใจด้วยเช่นกัน เป็นทางของชีวิตที่อาจมีได้บ้างเสียบ้าง จะเป็นผู้รับอย่างเดียวคงไม่ได้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

การกล่าวคำขอบคุณ

ถ้ามีโอกาสได้ไปต่างประเทศ จะอดสังเกตไม่ได้ว่า ฝรั่งเขาขยัน ขอบใจ กันเสียจริง คนขยับให้นั่งในรถบัสก็ขอบใจ เด็กเก็บตั๋วโดยสารรับเงินไปก็ขอบใจ พอส่งตั๋วกลับมาเราก็ยังขอบใจกลับไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด หรืออย่างในตลาด ที่แม่ค้าขายของให้เรา เราก็บอกขอบใจ เมื่อส่งสตางค์ให้เขา เขาก็ขอบใจกลับมาอีก ได้ยินคนพูด thank you วันหนึ่งไม่รู้กี่หน จนอดที่จะพูดไปด้วยไม่ได้ เพราะหากไม่พูดก็อาจถูกมองว่าเป็นคนป่าเถื่อน ไม่รู้จักมารยาทที่ดีงามได้

คนไทยเสียอีกที่เวลาใครทำอะไรให้ ถ้าไม่ใช่สิ่งใหญ่โต ก็ไม่ได้แสดงความเป็นผู้ดีของเรา มักถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ชายบางคนอาจพบเหตุการณ์ทำนองนี้มามากแล้ว ที่ต้องขยับที่นั่งให้สตรีในรถโดยสาร และบางคนกลับบอกว่าเสียเงินเท่ากัน นั่งให้สบายเองดีกว่า จึงไม่ยอมลุกให้

ผู้หญิงบางคนก็ไม่นั่งแถมยังค้อนใส่ เพราะถือว่าคนที่ลุกให้เป็นคนอื่น จนทำให้เขาเก้อที่ลุกให้ แต่บางคนก็รีบนั่งจนลืมบอกขอบใจ เพราะกลัวคนอื่นแย่ง เจ้าของที่นั่งเดิมถ้าเขาไม่ถือสาก็ไม่เป็นไร แต่คนที่ถือมากๆ ก็จะไม่ลุกให้ใครอีก สมัยนี้จึงหาคนดีที่ลุกให้สตรีนั่งได้น้อยเต็มที

เคยเห็นผู้ชายคนหนึ่งเปิดประตูที่เขาเพิ่งผ่านเข้าไป ให้สตรีคนหนึ่ง เธอเดินเข้าไปอย่างสง่า โดยไม่หันไปมองเขาสักนิด ราวกับว่าเขาเป็นยามที่ต้องทำตามหน้าที่ของเขา และยังมีผู้ชายอีกหลายคนเดินตามกันเข้าไป ทำให้ผู้ชายคนนั้นต้องยืนถือลูกบิดประตูจนเข้ากันไปจนหมดขบวน ทั้งๆ ที่เขาอยากจะปล่อยให้บานประตูกลับไปกระแทกหน้าใครเข้าได้ แต่ก็ไม่อาจทำได้

บุรุษหนุ่มผู้แต่งตัวดีคนหนึ่ง นั่งมากับรถยนต์คันหรู ได้ขับอย่างสง่าเข้าไปจอดที่หน้าป้อมตำรวจยาม แล้วส่งเสียงถามไปว่า
“ซอยพิชิตเลยมาแล้วหรือยัง หมู่?”

ตำรวจตอบ
“ซอยที่สามจากนี่ครับ”

บุรุษคนนั้นไม่ได้กล่าวขอบใจแม้แต่คำเดียว แล้วรีบขับรถเข้าไปอย่างโก้

หลายคนอาจจะแย้งว่า เขาทำตามหน้าที่ของเขา ไม่อย่างนั้นก็ต้องขอบใจตี๋เวลาที่เขายกกาแฟมาตั้งให้ แล้วเราก็ต้องให้เงินเต็มอัตราไปทุกเช้าหรือ?

ทำไมจะทำไม่ได้? ดีเสียอีก จะได้ฝึกตัวเอง และตี๋ก็คงไม่รังเกียจที่มีคนมาพูดอย่างนั้นกับเขา

บิดามารดามีหน้าที่ต้องฝึกหัดให้บุตรธิดาของตนกล่าวคำขอบคุณจนเคยชิน เมื่อผู้ใหญ่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ ก็ควรสอนให้ไหว้ และเมื่อได้รับการช่วยเหลือจากผู้น้อยก็ให้พูดขอบใจ

ถ้าผู้ใหญ่ได้รับการช่วยเหลือจากเด็กแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม ก็ควรขอบใจเด็ก ขอบใจคนสระผม ช่างตัดผม เมื่อเขาทำงานให้แล้วอย่างเรียบร้อย ขอบใจคนเติมน้ำมันรถ หรือคนประจำลิฟต์ ขอบใจคนที่เก็บเงินท่าน แม้แต่คนในครอบครัว เช่น คนรับใช้ที่เหน็ดเหนื่อย ขอบใจสามีจากความมีน้ำใจของเขา โลกจะสดใสน่าอยู่ และเต็มไปด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันยิ่งขึ้นไปอีกหลายเท่าด้วยเพียงสองคำเท่านี้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

เสียงพูดที่น่าฟัง

ผู้ดี คือ ผู้ที่มีมารยาทดี ไม่จำเป็นต้องถือกำเนิดในสกุลสูง หรือได้รับการศึกษาพิเศษกว่าคนทั่วไป

มารยาทดี คือ มารยาทที่บ่งบอกถึงความสุภาพในคนได้ชัดเจน คือ การปราศรัย ถ้อยคำสำนวนที่พูด การเปล่งเสียงพูด คำกล่าวที่ว่า “สำเนียงบอกภาษา กิริยาบอกสกุล” จึงให้ความหมายไว้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องอธิบายใดๆ

คนบางคนพูดทีหนึ่ง หัวเราะทีหนึ่ง อาจได้ยินไปสามบ้านแปดบ้าน ผู้ไม่ต้องการฟังก็ต้องฟังไปด้วย เพราะพูดดังจนเกินความต้องการ

“แหม! เสียงเท่าฟ้า หน้าเท่ากลอง มิน่าเล่าอยู่บ้านไหนไม่ติด” เป็นคำพูดของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่พูดถึงผู้ใหญ่อีกคนที่ชอบไปพักตามบ้านญาติๆ โดยไม่ซ้ำที่

หากคนใดถูกกล่าวหาดังนี้ ก็คงไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะฟังดูก็รู้ว่า ไม่ใช่คำชมเชยเลยสักนิด

ในที่ประชุม ผู้ดีย่อมไม่พูดเสียงอึกทึก เสียงพูดที่สงบไม่อึงอลแม้แต่ในบ้านของเราเอง ก็แสดงถึงการได้รับการอบรมมาแล้วด้วยดี และบ่งถึงสกุลของผู้ดีที่แท้จริงด้วย

เป็นการแสดงความหมายที่ต่ำช้าของผู้พูดที่น่าละอายอย่างยิ่ง ถ้าพูดเสียงเอ็ดในร้านรวง ตามถนน ในรถโดยสาร ในโรงละคร หรือโรงภาพยนตร์ หรือในสถานที่อันควรแก่การสักการบูชา

เรื่องพูดของผู้ชายอาจมีได้หลายอย่าง เช่น ถกเถียงกันเรื่องการเมือง หรือธุรกิจการงาน เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องบุตรภรรยา แต่ผู้หญิงมักชอบพูดเรื่องของ “เธอๆ เขาๆ” การไปทัศนาจร เรื่องแฟชั่น เรื่องหนังสือ เรื่องครอบครัวและลูกๆ ซึ่งเป็นการสนทนาที่ไม่ได้ให้ร้ายกับผู้อื่น เว้นแต่จะได้พูดเสียงดัง จนเป็นที่รำคาญของผู้อื่นเท่านั้น ควรใช้เสียงสุภาพ เบาๆ อ่อนโยน และน่าฟังถ้าพูดในที่มีคนแปลกหน้ารวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจะพูดถึงเรื่องของคนอื่น เสียงที่ดังไปอาจทำให้คนๆ นั้นได้ยินเข้าจนได้

แต่จะเป็นการดียิ่งถ้าไม่พูดก้าวก่ายถึงผู้ใดในที่ประชุมชน ในการสนทนาของท่าน ควรให้ได้ยินแต่เฉพาะคนที่ท่านกำลังพูดอยู่ด้วยกันเท่านั้นพอ แต่ก็มิได้หมายความว่า จะต้องพูดค่อยเสียจนคนอื่นจำเป็นต้องถามว่า “ว่าอย่างไรนะครับ?” เสียงที่เบาเป็นเสียงกระซิบอยู่เสมอจนผู้ฟังได้ยินไม่ชัดจะก่อให้เกิดความน่ารำคาญขึ้นได้โดยง่าย

ระดับเสียงของเราควรรู้จักปรับให้อยู่ในเกณฑ์พอดี ไม่ดังหรือค่อยเกินไป พูดให้ได้ยินแบบชัดถ้อยชัดคำ ไม่ตะกุกตะกัก ไม่อ้อมแอ้ม ออกเสียงให้ชัดทุกตัวอักษร ที่เป็นตัวอย่างของเราได้ก็คือนักพูดที่ดี หัดฟัง และเลียนแบบผู้ที่เราชอบ ตัวอย่างที่ไม่ดีก็พยายามหลีกเลี่ยง หากเราไม่สามารถตักเตือนเขาได้ ก็ทำตัวเราให้ดีเท่านั้นพอ

ย่อมเป็นที่ติดอกติดใจของผู้ฟัง หากผู้พูดพูดได้รื่นหู น่าฟัง น่าสนทนาด้วย แต่คนเช่นนี้ก็หายากสักหน่อย เสน่ห์นี้เราสามารถฝึกหัดไว้เป็นสมบัติติดตัวเราได้ เพราะมันมีคุณค่ามากมายเมื่อฝึกได้จริงแล้ว

ที่มา:จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

มารยาทที่ดีงามของผู้พูดและผู้ฟัง

ย่อมมีการแสดงได้ทุกวิถีทางเพื่อให้เป็นมารยาทที่ดีงามออกมา เช่น การกระทำ การสนทนา การแต่งกาย การพยายามเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ความมีเสน่ห์ การต้อนรับขับสู้ด้วยความปรานีและจริงใจ

ลิ้นของคนเราเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะผูกใจมิตรหรือตัดมิตร คำที่พูดออกไปโดยไม่ยั้งคิดไม่อาจเอากลับคืนมาได้ เหมือนกับลูกศรที่พุ่งออกจากคันธนู

รัตนาถามพี่สาวว่า
“ทำไมน้องจึงจะฉลาดแล้วก็พูดให้ถูกใจคนได้เสมอล่ะคะ? เวลาพูดอะไรโผงผางออกไปแล้ว น้องต้องกลับมาคิดเสียใจทุกทีว่า ไม่ควรเลยที่จะพูดออกไป”

“อีกปัญหาหนึ่ง ก็คือ น้องไม่ชอบคนแปลกหน้าเลย เพราะถ้าเจอเข้าแล้วก็คิดไม่ออกว่าจะพูดอะไรกับเขา เพราะเกิดมาก็เพิ่งเคยพบกัน ไม่รู้จักนิสัยใจคอว่าเขาจะชอบอะไร”

พี่สาวตอบว่า
“นั้นไม่ใช่แปลว่าน้องเป็นคนน่าเบื่อ”
“เพราะว่าคนที่น่าเบื่อที่สุด ก็คือคนที่พูดไม่หยุดปาก พูดถึงแต่เรื่องของตัวเอง และความสนใจของตัวเอง โดยไม่ใส่ใจว่าใครเขาจะสนใจหรือเปล่า”
“แต่น้องก็เป็นคนน่าเบื่อ ที่พูดออกไปโดยไม่ยั้งคิด แล้วกลับคำพูดไม่ทัน”

น้องสาวพูดต่อว่า “โธ่ จริงๆ นะคะ บางทีมานึกเสียใจไม่หายเลย”

พี่สาวถามน้องตรงๆ
“อาจเป็นเพราะน้องพูดมากไปหรือเปล่า?”
“คนที่พูดตลอดเวลาคล้ายกับกลัวว่าจะเกิดความเงียบขึ้นนั่นแหละจ้ะ ที่ถลำตัวลงไปแล้วเลยแก้ไม่ทัน การกลัวความเงียบนี้ เปรียบเหมือนคนที่กลัวจะจมน้ำเมื่อเริ่มหัดว่ายน้ำใหม่ๆ น่ะจ้ะ บางคนก็ไม่ค่อยสนใจฟังว่าใครเขาจะพูดอะไรกัน เพราะมัวแต่พะวงคิดว่า ตัวเองจะหาเรื่องอะไรมาพูดในอึดใจต่อไป พี่อยากให้กฎสักข้อ เรื่องการสนทนาว่า ‘อย่ารีบร้อน อย่าด่วนพูดด่วนคิด ค่อยทำค่อยไป’ เป็นกฎเดียวกันกับเวลาเราเรียนว่ายน้ำนั่นแหละจ้ะ ถ้ารีบนักก็มักจะจม ซ้ำเหนื่อยสู้ค่อยเป็นค่อยไปดีกว่า”

รัตนาสงสัยจึงถามว่า
“พี่คะ เขาว่ากันว่า คนที่เป็นนักฟังที่ดีน่ะวิเศษนัก แปลว่าอะไรคะ? แปลว่าเราเอาแต่ฟัง แล้วไม่พูดยังงั้นหรือคะ?”

“เปล่าจ้ะ น้องพูดไม่ถูกนัก คนที่นั่งฟังด้วยความสนใจต่างหากที่เราอยากคุยด้วย แต่คนที่ฟังแล้วใจไปไหนก็ไม่รู้ เรียกว่าใช้ไม่ได้เลย บางทีเขาถามอะไรออกมา คนๆ นั้นก็ทำท่าเลื่อนลอย แล้วกลับมาสู่ภวังค์อีก โดยไม่รู้สักนิดว่าเราพูดอะไรออกไปมั่ง ถ้าโดนอย่างนี้เข้าบางทีถึงเข็ด”

“การสนทนาที่ดี คล้ายกับการให้ และ รับ แต่น้ำหนักจะอยู่ในข้าง รับ มากกว่า ให้ คนที่เอาแต่พูดเรื่องของตัวเองโดยไม่ให้โอกาสคนอื่นพูดบ้างเลย คือคนที่ไม่มีความคิด ช่างไม่คิดเลยว่า คนฟังเขาอาจเบื่อเราแทบตาย แต่ต้องสวนมารยาทที่ดีไว้ โดยอดทนนั่งฟังไปอย่างนั้น ฉะนั้นน้องจง ‘คิดก่อนพูด’

“ในวงเพื่อนฝูง ก็ยิ่งต้องพยายามพูดแต่สิ่งที่เพราะหู เวลาพูดกับใครก็ควรรู้บ้างว่าเขาชอบอะไร เช่น แม่ของเราย่อมไม่คุยเรื่องลูกห้าคนของท่าน ทำอย่างโน้นอย่างนี้กับชายโสดที่ไม่รู้จัก ไม่พูดเรื่องการแต่งกายของผู้หญิงกับผู้ชายที่ไม่สนใจเรื่องนี้ เป็นต้น

รัตนาพูดขึ้นว่า
“คุณแม่ไม่เคยชมพวกเรากับแขกเลยน่ะสิคะ”
“บางทีน้องชักจะน้อยใจ เพราะแม่ใครๆ เขาก็ชมลูกว่าดีที่สุด สวยที่สุดกันทั้งนั้น”

พี่สาวอธิบาย
“นั่นแหละรู้ไว้เถอะจ้ะ ว่าคุณแม่ฉลาดและทำถูกแล้ว แม่ที่เห่อลูกน่ะน่าเบื่อออกจะตาย”
“บางทีชมเสียเลอเลิศว่า ลูกสาวของตัวสวยที่สุด แต่ในสายตาของคนอื่นเขาอาจเห็นว่า ไม่เห็นจะสวยเท่าไรเลย! หรือยกยอลูกตัวเองว่าดียังงั้นดียังงี้ คนอื่นอาจเห็นว่า ชมกันเกินไป ลูกของเขาดีกว่าเขายังไม่เห็นต้องชม! อะไรอย่างนี้ เราจะรักใครหรือชมใครเราเก็บเอาไว้ในใจได้ เพราะคนเราก็ต่างจิตต่างใจกัน เขาอาจไม่เห็นด้วยกับที่เราชมทุกถ้อยคำก็ได้”

รัตนาพูดว่า
“น้องสังเกตว่าคนพูดมากๆ น่ะ มีเรื่องกันเก่งนะคะพี่ คนพูดน้อยๆ คบกันได้ยืนยานกว่า”
“เห็นมาหลายคนแล้วนะคะอย่างนี้น่ะ”

“จริงสิ! ส่วนคนเงียบๆ น่ะ เป็นเพื่อนกันได้นานกว่า จริงของน้อง แต่วิธีที่ดีคือ เดินสายกลาง ไม่พูดมากและก็ไม่ใช่ว่าเงียบสงบเหมือนรูปปั้นอยู่ตลอดเวลาที่คนอื่นเขาพูดกัน”

“คนที่เล่าเรื่องซ้ำอีกอย่าง น้องเบื่อจัง”

พี่สาวพูด
“บางคนมีเรื่องตลก เล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก คนฟังคนเดียวกัน พอได้ยินเรื่องที่เคยฟังมาก่อน ก็ต้องยืนทำเป็นหัวร่อชอบใจ ทั้งๆ ที่บางทีฟังจนเบื่อ จนจะยืนหัวร่อไม่ออก”
“เรื่องการชมเชยเยินยอกันจนเกินไปก็เหมือนกันจ้ะ อย่าทำได้เป็นดี มันเหมือนกับเอาน้ำตาลสักสิบก้อนไปใส่ในน้ำชากาแฟถ้วยเดียว ทำให้เกินหวานจนกลายเป็นเอียนไป”

รัตนาถาม
“แล้วที่เราถกเถียงกันล่ะคะ จะเป็นมารยาททรามหรือเปล่า?”

“ตามแต่เรื่องจ้ะ แต่พี่ว่าเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรถกเถียงกัน ก็คือเรื่องศาสนาต่างกัน ที่ชอบกันก็คนละแนว เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ทำให้แตกมิตรกันง่าย”

“พี่คะ คุณป้าชอบพูดว่า ‘ว่าไงนะๆ’ ทุกทีเลยที่ใครๆ เขาพูดกัน บางทีน้องรู้สึกรำคาญ เพราะน้องก็พูดออกชัดเจนจนคุณป้ายังต้องถามอีกว่า ‘ไหนว่าไงนะ’ รู้สึกว่ามันเป็นนิสัยของท่านเสียแล้วกระมังคะ?”

เมื่อนึกถึงคุณป้าที่มีนิสัยอย่างนั้นจริงๆ ทำให้พี่สาวของรัตนาถึงกับหัวเราะ
“ความจริงคุณป้าก็คงไม่ตั้งใจจะพูดอย่างนั้นหรอก และพี่เคยได้ยินคนหลายคนนอกจากคุณป้าที่ชอบพูดว่า ‘อะไรนะ?’ ทั้งที่ได้ยินออกถนัดชัดเจน ใช่จ้ะ พี่คิดว่า อย่างนี้ก็เรียกเป็นนิสัยเสียอย่างหนึ่งได้ ซึ่งถ้าแก้ได้ก็ควรจะแก้”

รัตนาว่า
“คนที่คุยสนุกน่ะน้องชอบค่ะ ยิ่งอย่างคุณอาอย่างนี้ พูดสนุก หัวร่อเก่ง อยู่ใกล้ๆ แล้วพลอยสบายใจ”

พี่สาวพูด
“อารมณ์ขันมีไม่มากนักในตัวคน แต่ใครได้ไว้ก็นับว่าโชคดีจ้ะ”
“อย่างคุณอาของเรานี่ ท่านสามารถทำให้โต๊ะอาหารของท่าน หรือห้องของท่านเป็นที่อบอุ่นร่าเริงได้เสมอ เพราะท่านคุยสนุก ท่านเป็นคนช่างสังเกตและช่างจดจำ พูดอะไรออกมาใครๆ ก็ชอบฟัง บางคนพยายามพูดตลก แต่แล้วก็ไม่มีคนหัวเราะ แต่คุณอาพูดสิ่งธรรมดาๆ ออกมา แล้วคนก็หัวเราะกันครืน แปลกไหมล่ะ?”

รัตนาว่า
“เวลาคุณอาเล่าอะไรเศร้าๆ น้องก็น้ำตาซึมเลยทีเดียวค่ะ”

พี่สาวแสดงความคิดเห็นด้วยว่า
“มีไม่กี่คนนะ ที่มีพรสวรรค์อย่างคุณอา”
“จะพูดอะไรดูมันเป็นจริง เห็นมโนภาพได้เลย”

“อ้อ! พี่คะ น้องบอกพี่เมื่อกี้ว่า น้องไม่ชอบคนแปลกหน้า เย็นนี้จะมีแขกมาหาที่บ้าน และคุณแม่กับพี่จะไม่อยู่ น้องจะคุยอะไรกับเขาล่ะคะ? ไม่เคยรู้จักนิสัยใจคอกันมาก่อนเลย?”

“ในการพบคนแปลกหน้า ที่น้องไม่เคยพบมาก่อนเลยอย่างนี้ พี่ก็แนะอะไรไม่ได้ นอกจากให้น้องลองพูดเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง เช่นถามว่า ‘คุณชอบดูภาพยนตร์ไหมคะ’ ‘ชอบประเภทใดคะ’ ถ้าเขาชอบ ก็จะคุยกันเรื่องภาพยนตร์ได้ แต่ถ้าเขาแสดงทีท่าว่าไม่สนใจ น้องก็ต้องลองอย่างอื่น เมื่อคุยถึงสิ่งหนึ่งเป็นระยะนานพอแล้ว ก็ควรหาเรื่องใหม่ๆ อื่นๆ มาพูดแทน เช่น เรื่องสวนดอกไม้ของน้อง การไปเดินทางในวันหยุด เรื่องงานใหม่ และเรื่องอะไรอื่นๆ ที่อยู่ในหัวข้อ ‘ปลอดภัย’ จำไว้นะจ้ะ การสนทนาน่ะไม่ใช่รถแข่ง ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนติดต่อกันไปทุกเรื่องโดยไม่มีการหยุดพักเลย”

รัตนาได้พูดกับแขกแปลกหน้าเมื่อพบเข้าจริงๆ ว่า
“ดิฉันมาอยู่เมืองนี้นานแล้วค่ะ คุณแม่ปลูกลำไย และเคยได้รางวัลที่หนึ่งเมื่อการประกวดคราวที่แล้ว แต่ในวันหยุดเราก็ลงไปกรุงเทพฯ บ้างเหมือนกันค่ะ”

ชายคนนั้นไม่ได้สนใจเรื่องสวนลำไย จึงบอกมาว่า
“ตัวผมเองชอบกีฬากลางแจ้ง ไม่ค่อยจะมีเวลาทำสวน”

“อ้อ! พี่ชายของดิฉันก็เล่นฟุตบอลเสมอค่ะ นี่ก็จะสมัครเข้าแข่งขันทีมฟุตบอลสมัครเล่น”

“ดีจริง งั้นวันหลังผมจะคุยเรื่องกีฬากับพี่ชายของคุณให้สนุกเชียว”

การสนทนาได้นำไปสู่หลายๆ หัวข้อจนชักจะเฝือ รัตนาจึงพูดว่า
“พรุ่งนี้คุณพ่อคุณแม่จะขับรถไปที่น้ำตก คุณว่างไหมคะ?”
“ว่างครับ ขอบคุณ”
“บ้านเราคิดจะซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ คุณคิดว่ายี่ห้อไหนดีคะ?”
รัตนาคิดว่าการถามความเห็นจากเขาในเรื่องนี้ เรื่องกีฬา ราคาสินค้าที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว และเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องที่ง่ายและปลอดภัย

แขกแปลกหน้าก็รู้สึกว่าการสนทนากับรัตนาเป็นไปด้วยดี เมื่อนำชีวิตแบบต่างๆ มาเล่าให้เธอฟัง เรื่องงานที่เธอสนใจ เรื่องการรื่นเริง เรื่องวันหยุดที่สนุกสนาน เรื่องตลกเบาสมองต่างๆ ฯลฯ เมื่อรู้หัวข้อที่ต่างคนต่างมีความสนใจและต้องการพูดถึงแล้ว ก็จะกลายเป็นของสนุก และการสนทนาก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น

รัตนาได้สนทนาอย่างไม่เก้อเขิน ทำให้แขกเพลิดเพลิน รัตนาเองก็ได้ความรู้ใหม่ๆ จากการสนทนา ทำให้พี่สาวของรัตนาพอใจมากเมื่อเย็นวันนั้นผ่านไป

รัตนาถาม
“พี่ล่ะคะ? พี่ไปงานเลี้ยงแล้วมีอะไรเล่าให้น้องฟังบ้าง?”
“พี่พบผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำให้พี่แทบสะอึก เมื่อได้ยินหล่อนสนทนากัน ครั้งหนึ่งหล่อนพูดว่า ‘คุณคะ ลูกชายคุณที่ตาบอดน่ะสนิทไหม’ และอีกครั้งหนึ่ง ‘อ้อ! หลานคุณที่พิการน่ะ เขาว่ายิ่งหมดหวังหนักขึ้นจริงหรือคะ?’ แล้วก็ ‘คุณไม่เหงาหรือว้าเหว่มากหรือคะ หลังจากคุณสวัสดิ์สิ้นชีวิตเสียแล้วอย่างนี้?’ และคำสุดท้ายที่ได้ยินคือ ‘นี่คุณจะโกรธกับเขาจริงๆ แล้วจะถึงโรงถึงศาลหรือเปล่าคะนี่?’ จริงๆ นะ พี่ไม่เคยเห็นใครมารยาททรามเท่านี้!”

การพูดเกี่ยวกับความสูงวัยของใครคนหนึ่ง เป็นถ้อยคำที่ควรละเว้นอีกอย่างหนึ่ง เช่น “คุณแลดูไม่แก่เท่าอายุหกสิบของคุณเลย” หรือ “เมื่อสามสิบปีมาแล้ว คุณสวยหยอกเมื่อไร!”

ผู้หญิงคนที่พี่สาวรัตนาพูดถึง ได้บอกชายหนุ่มในงานนั้นว่า
“นี่เธอ! ทำไมเดินควงผู้หญิงอย่างนั้นนะ หาที่สวยกว่านี้ไม่ได้แล้วหรือ?”
และเมื่อเขาตอบว่า
“ก็เพราะนั่นน้องสาวผมเองขอรับ!” หล่อนจะรู้สึกอย่างไร

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

ศิลปะของการสนทนา

มีความแตกต่างกันมากระหว่างคนที่พูดชวนฟังกับคนที่พูดไม่มีสาระ เมื่อฟังอยู่ไม่นานก็จะทราบได้ว่าต้องการฟังคนแบบไหนมากกว่ากัน

การสนทนาที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้
ก. เล่ารายละเอียดมากเกินไป คือ พูดเสียยืดยาวแต่มีใจความที่เป็นสาระสั้นนิดเดียว เช่น อยากจะพูดถึงแม่ค้าคนหนึ่งที่ขายขนมประเภทกวน เมื่อห่อให้ลูกค้าคนหนึ่งเสร็จ ก็จะต้องดูดนิ้วเป็นประจำ แล้วเผลอไปพูดถึงเรื่องของคุณแม่ที่ไปด้วยกัน ที่เพิ่งกลับจากสระบุรี ไปนมัสการพระพุทธบาท
“แหม! เดี๋ยวนี้เขาสร้างขึ้นไปเสียจนจำของเดิมไม่ได้เลย คุณแม่น่ะถึงกับเกือบหลงทาง เมื่อก่อนไปเป็นป่าเขาลำเนาไพรทั้งนั้น ผิดกับเดี๋ยวนี้….ฯลฯ….ฯลฯ กว่าจะมาถึงตอนแม่ค้าดูดนิ้วมือ ผู้ฟังของท่านก็ลืมความเดิมที่เล่าค้างอยู่หมดแล้ว

ข. คนละเรื่อง เป็นการเล่าสองเรื่องปะปนในเวลาเดียวกัน เช่น
“เออ! ฉันเล่าให้ฟังเรื่องงานวันเกิดของสมสมรหรือยัง? พอดีได้ไปพบคุณลุงของเขาเข้าที่นั่น เพิ่งกลับจากญี่ปุ่นนะเธอ แหม! เอามุกมาเลี้ยงแยะเชียวสวยๆ ทั้งนั้น เห็นบอกว่าสินค้าประเภทกระเป๋าน่ะซ้วยสวย ถูกกว่าบ้านเราด้วย สมสมรงี้บ่นอุบ ว่าไม่ได้ฝากซื้อบ้างเสียดาย”

ค. ให้โอกาสคนอื่นบ้าง ไม่ว่าท่านจะเป็นนักพูดที่วิเศษอย่างไรก็ตาม จงให้โอกาสคนอื่นได้พูดบ้าง โดยอาจแนะขึ้นมาว่า
“ไหน อมรา ลองเล่าถึงตอนที่เธอไปอยู่โรงแรมเวียงเหนือแล้วเดินเข้าห้องผิดซิ”

แสดงให้เห็นว่าท่านไม่ได้ทำให้ตัวเองเป็นจุดสนใจของผู้ฟังตลอดเวลา แต่ได้เปิดโอกาสให้อมราได้เล่าเรื่องของเธอ ซึ่งเธอเคยเล่าให้ท่านชอบใจมาแล้ว อมราก็จะดีใจ ท่านเองก็พอใจ ผู้ฟังก็หัวเราะชอบใจ จึงเกิดความสมบูรณ์แบบขึ้น

ง. “ฉายซ้ำ” คนแก่ที่นำเรื่องมาฉายซ้ำเพราะความหลงลืม แต่คนไม่แก่ที่ทำอย่างนี้ อาจเป็นเพราะเคยทำให้คนอื่นขบขันในเรื่องนี้มาแล้ว จึงนำมาเล่าซ้ำๆ อีกหลายหน จนคนฟังรู้สึกระอา ต้องฟังซ้ำจนจำได้ขึ้นใจไปเลย

จ. เมื่อคนขรึมอยู่ในวง คนที่พูดเก่งไม่เคยติดขัด หากนำคนขรึมในวงมาเล่าอะไรสักอย่าง พยายามเริ่มต้นหัวเราะในข้อความตลกที่เขาพูด จะทำให้เขาภูมิใจในตัวเอง และขรึมต่อไปไม่ได้นาน

ฉ. สโมสรนินทา ควรละการนินทาโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการสนทนาในสังคมใดก็ตาม หากใครอยากนินทาจนทนไม่ไหวก็ให้ปล่อยเขา ไม่ควรเข้าไปร่วมด้วยเป็นอันขาด

ช. ความลับคับอก อย่าพยายามพูดเป็นเงื่อนงำในที่ประชุมชน ควรนำมาปรึกษากันโดยลำพัง เพราะท่านไม่สามารถจะขยายความลับนั้นให้ทุกคนรู้ได้ เช่น หลังจากรอคอยมานาน สมชายก็ได้ใช้หนี้ให้ท่านแล้ว ท่านก็ไม่ควรบอกกับเพื่อนของท่านว่า
“นี่ๆ เขาจ่ายเงินมาแล้วนะ เฮอ กว่าจะได้แทบล้มประดาตาย”

ซ. อวสานของบทสนทนา ขณะเล่าเรื่องพยายามกวาดสายตาไปมองผู้ฟังให้มากที่สุด แม้ว่าท่านจะไม่รู้จักเขา หรือแม้ว่าสิ่งที่ท่านนำเสนอไม่ทำให้คนอื่นสนใจฟัง ไม่ควรจับตามองแค่คนเดียวหรือสองคน ต้องดูแลทุกคนที่ตกอยู่ในฐานะผู้ฟังเท่าๆ กัน หากมองเฉพาะคนคนเดียว แขกคนอื่นๆ จะรู้สึกว่า เขาไม่ควรยืนตรงนั้น เพราะไม่ได้รับการต้อนรับ และอาจคิดว่า
“แหม! รู้ยังงี้เราอยู่บ้านเสียก็จะดี”

การทำให้ผู้รับเชิญรู้สึกไม่สะดวกใจ เป็นการขาดศิลปะในการต้อนรับและสนทนา นับว่าเป็นมารยาทที่ไม่ดี

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

การสังสรรค์

ความเป็นมิตรในการสังสรรค์ จะหาได้จากคนสองคนขึ้นไป ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไร การศึกษาต่างกันอย่างไร รวยหรือจน มีอาชีพหรือไม่มี จะเป็นคนในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม หากได้พบปะกัน ก็จะต้องมีการสนทนากัน การสังสรรค์ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ บริษัทห้างร้านก็ต้องมีการประชุม พบปะปรึกษาหารือกัน คนทั่วไปก็อาจสนทนาปรับทุกข์กันในเรื่องส่วนตัว หรือเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นต่างๆ ได้

ในงานปาร์ตี้ที่มีการลีลาศ ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนต้องออกไปลีลาศ หรือต้องลีลาศได้ คนส่วนใหญ่มักจะพอใจกับการจับกลุ่มสังสรรค์สนทนากันตามโต๊ะมากกว่า หรือในโอกาสที่มีการเลี้ยงอย่างใดอย่างหนึ่ง หลายคนก็แยกตัวออกมาสนทนากันโดยลำพัง ในสมัยก่อนจะมีการพบปะเพื่อสนทนากันถึงละคร หนังสือ บทเพลง หรือการเมือง ซึ่งผู้พูดจะมีคนเดียว และอีกฝ่ายต้องรับฟัง ไม่มีการแย่งกันพูด แต่ปัจจุบันก็มักจะแย่งกันพูดจนไม่รู้เรื่อง จึงต้องแยกออกไปคุยกันตามลำพังกับคนที่สนิทหรือถูกคอกัน

ถ้ามีคนพูดขัดขึ้นมาระหว่างที่คนหนึ่งกำลังพูดอยู่ คนแรกก็ควรหยุดพูดทันที เพราะหากพูดพร้อมกันจะทำให้คนอื่นฟังไม่รู้เรื่อง และนี่ก็หมายถึงว่า คนที่สองได้แสดงความไม่มีมารยาทออกมา และต้องการแสดงว่า คนแรกพูดไม่สนุก ตนจึงต้องช่วยพูด เมื่อเป็นเช่นนี้คนแรกที่ต้องเงียบไปก็จะรู้สึกไม่พอใจ แต่ต้องพยายามอดกลั้น ไม่แสดงความไม่สุภาพออกมา

การที่จะพูดว่า “ขออภัยเถอะ คุณว่ายังงั้นผิดไปละมัง” และเล่าต่อด้วยถ้อยคำของตัวเอง นับว่าเป็นความไม่สุภาพ เป็นมารยาทที่น่าเกลียดอย่างยิ่งเมื่อมีการขัดคอ และผู้ที่ถูกขัดคอแต่กลับนั่งฟังเงียบอย่างสุภาพ ก็คือคนที่สุภาพที่สุด

อีกจำพวกหนึ่ง คือ พวกที่ชอบเอาถ้อยคำของใครคนหนึ่งที่กำลังสนทนาอยู่ขึ้นมาทำให้เป็นตลก ซึ่งทำให้เจ้าของไม่พอใจอย่างยิ่ง

สวัสดิ์: “วันนั้นผมกำลังนั่งดื่มโซดาอยู่ พอดีกับ….”
สุรีย์: “คุณสวัสดิ์แน่ใจหรือคะว่าโซดาเปล่าๆ?”
คนอื่น: “ฮา! ฮา! ฮา! (เพื่อความสุภาพที่ไม่ให้สุรีย์พูดเก้อ)

ผลที่เกิด สวัสดิ์ลืมว่าจะพูดเรื่องอะไรต่อไป และขณะที่ทุกคนกำลังตั้งใจฟังก็เลยผ่านไปถึงเรื่องอื่นๆ

อีกพวกคือ พวกที่ชอบขัดคอแล้วเสริมต่อ เช่น ถ้าท่านพูดว่า “วันก่อนฉันได้อ่านหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง เรื่องโพงพาง…” และกำลังจะพูดว่า “บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่หก” ก็พอดีมีคนประเภทนี้ต่อให้ว่า “รัชกาลที่หกล่ะ” เพื่อแสดงว่า ฉันก็รู้เหมือนกัน

บางคนชอบคุยเรื่องอื่นในขณะที่คนหนึ่ง กำลังพยายามจะพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการแสดงที่ไร้มารยาทอย่างหนึ่ง ทำให้ผู้พูดรู้สึกโมโห และผู้ฟังก็ไม่รู้ว่าจะฟังเรื่องอะไรดี

ประยูรได้เล่าเรื่องการเดินทางที่สนุกสนานของเขาอย่างเพลิดเพลินให้กับ สวัสดิ์ สมนึก และสุธี ฟัง แต่เมื่อสุปรียานึกขึ้นได้ว่า เพื่อนของประยูรสั่งให้เขาไปหาพรุ่งนี้เช้า จึงรีบบอกออกมา ทำให้ประยูรลืมตอนท้ายของเรื่องที่เล่า คนที่ฟังอยู่ก็ไปสนใจฟังเรื่องอื่นและพูดเรื่องอื่น จนประยูรไม่ได้พูดตอนสนุกของเรื่องที่เล่าอยู่ เนื่องจากความไม่สุภาพของสุปรียา

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

การโอภาปราศรัย

“จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น
อย่ากระชั้นกระโชกให้เคืองหู
ไม่ควรขึ้งก็อย่าขึ้งถึงมึงกู
คนจะหลู่ลวนลามไม่ขามใจ”

“อ่านอะไรน่ะ นิตย์?”
นิตย์เกือบสะดุ้งเพราะเสียงทักใกล้ๆ ตัว

นิตย์ตอบพี่ชาย
“อ่านเตือนใจตัวเองเท่านั้นแหละ”

“คนสมัยนี้บางทีถือว่า หัวตัวใหม่ก็เลยทำให้ลืมๆ ไปเหมือนกันว่าผู้ดีเขาพูดจาปราศรัยอย่างไรกัน!”

“เฮ้ย! แกเสียดสีฉันเรอะ?”
เนาว์พูดตะคอกเหมือนจะหาเรื่อง แล้วเดินมาตรงหน้าน้องชายที่นั่งพิงเสาเรือนวางหนังสือเก่าๆ ที่หน้ากระดาษเหลืองไว้บนตัก

นิตย์พูดอย่างเรียบๆ
“เปล่าเลย แต่เมื่อวานนี้คุณแม่บ่นว่าพี่เนาว์พูดกับป้าเล็กไม่เพราะเลย”
“พอเจอกัน พี่เนาว์ก็ทักป้าเล็กว่า ‘ว่าไงป้า!’ ทำให้คุณแม่ยืนตัวชาเลย เพราะกลัวป้าเล็กจะโกรธ แล้วพอป้าเล็กขึ้นบ้านได้ครู่เดียว พี่เนาว์ก็มายืนสูบบุหรี่พ่นควันใส่หน้าป้าเล็ก พูดเสียงดัง คุณแม่บอกว่าเคราห์ดีนะที่เป็นป้าเล็ก ขืนเป็นคนอื่นละก็……..”

“ใครจะทำไม? หรือแกจะอวดเก่ง หาไอ้นิตย์?”
เนาว์เดินก้าวเข้ามาใกล้กับนิตย์อีกแล้วพูดว่า
“ทำสั่งสอนดีไปเถอะ เดี๋ยวเตะไส้แตก!”

“ผมไม่ทำไมพี่เนาว์หรอก” นิตย์ก็ตอบแบบเรียบๆ ตามนิสัยของเขา
“แต่บอกให้ก่อนว่า คุณแม่เสียใจมาก พอป้าเล็กไปแล้วคุณแม่บ่นใหญ่…..”

พี่ชายส่งเสียงดังขึ้น
“โกหกตอแหล!”
“เราไม่เห็นได้ยินซักกะคำ อย่ามาปั้นน้ำเป็นตัวหน่อยเลยวะ ไอ้เด็กเมื่อวานซืน”

“พี่เนาว์จะได้ยินยังไงล่ะ พอป้าเล็กขึ้นเรือนไม่ถึงอึดใจ เพื่อนๆ พี่เนาว์ก็มาเป่าปากเรียกให้ออกไปดูเขาชกกันนอกบ้าน!”

“แกเฉยเหอะ พูดมากเดี๋ยวจะเจ็บตัว”
แล้วเนาว์ก็เอามือล้วงกระเป๋ากางเกง วางท่า เดินแบะไหล่ พ่นควันบุหรี่เดินออกไปทันที แล้วหันมาพูดอีกนิดนึงว่า
“เฮ้ย ไอ้หมาวัด เคยได้ยินสุภาษิตว่า ปลาหมอตายเพราะปากไหมล่ะ? ถ้าไม่เคยก็ฟังเอาไว้ แกพูดมากนักระวังให้ดีก็แล้วกัน”

ถ้อยคำที่เนาว์ขู่แบบลมๆ แล้งๆ ไม่ได้ทำให้นิตย์วิตกกังวลเลย เนาว์พี่ชายที่แก่กว่านิตย์แค่ปีเดียว เขาเป็นคนมีนิสัยเกเรมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเขาพูดจาอะไรออกมา คุณแม่ก็มักจะพูดอยู่เสมอว่า
“ฟังไม่ได้เสียเลย!”

เนาว์ไม่เคยพูดอย่างสุภาพ ผิดกับนิตย์ที่สุภาพเสมอไม่ว่าจะกับคนชราหรือเด็ก หญิงหรือชาย จนทำให้เนาว์หมั่นไส้และมักหาเรื่องทะเลาะด้วยบ่อยๆ เพราะหาว่านิตย์เป็นคนโปรดของพ่อแม่

นิตย์ไม่ได้สนใจกับเสียงฝีเท้าเบาๆ ยังคงหยิบหนังสือมาอ่านต่อ จนเสียงนั้นใกล้เข้ามา และมีเสียงพูดว่า
“มีใครอยู่บ้านมั่ง?”

นิตย์เห็นชายคนหนึ่งเมื่อเงยหน้าขึ้น เขาแต่งกายภูมิฐานในชุดสากลสีเทาแก่ เป็นผู้ที่มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีเลือดฝาดเหมือนไม่เคยทำงานหนักมาเลยในชีวิต แม้จะเขาจะมีอายุมากแล้ว เขาเปิดหมวกและยิ้มให้นิตย์อย่างปรานีเมื่อนิตย์ยกมือไหว้เขาอย่างนอบน้อม

“คุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่หรือ?” เขาพูดและนั่งลงบนเก้าอี้หวายที่อยู่ใกล้ๆ ตัว

ชายคนนี้ทำท่าเหมือนกับรู้จักพ่อแม่ของนิตย์มาก่อน จึงทำให้เขารู้สึกแปลกใจ
“คุณพ่อไม่อยู่ขอรับ ส่วนคุณแม่ก็เพิ่งเดินออกไปส่งคุณป้าเมื่อครู่นี้ กรุณาคอยสักประเดี๋ยวนะขอรับ ผมจะไปเอาน้ำเย็นมาให้ เชื่อว่าอีกสักครู่คุณแม่ก็จะกลับขอรับ”

นิตย์ก็รีบไปหาแก้วที่สะอาดพร้อมถาดรองถ้วยมา เอาน้ำแข็งหยดน้ำยาอุทัยหนึ่งหยดแล้วเติมน้ำสุกลงไป นำไปต้อนรับแขก แล้วยกบุหรี่กับไม้ขีดไฟไปให้ ชายคนนั้นหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบแล้วก็มองดูหน้านิตย์ และพูดขึ้นว่า
“หิวจริงบ่ายโมงเศษแล้วยังไม่ได้กินข้าวเลย มีอะไรพอจะยกมาให้กินมั่งไหมล่ะ?”

จู่ๆ ก็มีแขกมาขอรับประทานอาหารอย่างนี้ทำให้นิตย์รู้สึกแปลกใจไม่น้อย และชายคนผู้นี้ก็พูดต่อราวกับรู้ใจว่า
“มีอะไรก็ไปยกมากินเถอะ ไม่ต้องกลัวคุณแม่ว่าหรอก ถ้าไม่ให้กินละซี คุณแม่จึงจะโกรธ”

ในตู้กับข้าวไม่มีอะไรอื่น นอกจากข้าวผัดกับแกงจืดที่เย็นเฉียบ ที่เหลือจากเนาว์กินแล้ว นิตย์ยกไปตั้งไฟอุ่น แล้วทอดไข่ดาวอีกฟองหนึ่ง จัดอาหารทั้งหมดใส่ถาดที่สะอาด พร้อมช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ ไปตั้งไว้บนโต๊ะเล็กๆ ตรงหน้าชายคนนั้น

“อา….วิเศษ!” ชายคนนั้นถูมือไปมาแล้วลงมือรับประทานด้วยความหิว

แล้วนิตย์ก็คิดขึ้นมาว่า
“ขนมไม่มีเลย จะเอาอะไรเลี้ยงเขาดี?”
นิตย์จึงไปหยิบเอาส้มมาเช็ดให้สะอาด จัดวางไว้ในจาน แล้วเอามีดทองและจานแก้วใบขนาดพอเหมาะไปตั้งให้ และเพื่อให้แขกได้ล้างมือหลังจากปอกส้มแล้ว ก็ได้นำชามแก้วใบเล็กใส่น้ำสะอาดไปด้วย

เมื่อชายคนนั้นรับประทานอาหารเสร็จ ก็จุดบุหรี่สูบอีกมวนหนึ่ง และได้ยินเสียงที่ชินหูมาจากบันไดหลังบ้านว่า
“เฮ้ย! ไอ้ดำปืน ไปหยิบผ้าเช็ดตัวให้พ่อหน่อย พ่อจะไปว่ายน้ำ โว้ยๆ รอเดี๋ยวพรรคพวก จะรีบไปหาอะไรวะ รอพ่อแกก่อนซี”

ชายที่เป็นแขกมองดูนิตย์อย่างแปลกใจ ราวกับจะถามว่า “นั่นใคร?” แต่ก็ไม่ได้ถาม พอดีเนาว์โดยโครมๆ ขึ้นบันไดเรือนมาอย่างขัดใจ เขาร้องใส่หน้านิตย์ด้วยความโมโหเมื่อมองไปเห็นผู้ที่นั่งสูบบุหรี่อยู่
“ไอ้บ้า หูมันตึงหรือยังไงวะ?”
“เรียกคอแทบแตกไม่ได้ยิน มายืนหา….อะไรอยู่ตรงนี้เดี๋ยวพ่อเตะชัก!”

นิตย์ถามเบาๆ
“พี่เนาว์จะเอาอะไร?”
“ขอโทษนะฟังไม่ถนัด”

“หูของแกมันอยากให้ดึงจนยานลากดินใช่ไหมล่ะ?”
“บอกว่าผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดตัวโว้ย ไอ้นิตย์ แกไปหยิบมาเร็วๆ นะ ไม่งั้นไอ้พวกที่มันคอยอยู่ข้างล่างเสด็จไปซะก่อนละ….”

เนาว์เหลือบไปเห็นชายที่นั่งอยู่บนเก้าอี้หวาย ท่าทางของชายคนนั้นเหมือนกับไม่เห็นหรือไม่ใส่ใจกับใครเลย จึงทำให้เนาว์ลดเสียงพูดลงนิดหน่อย
“เฮ้ย! นั่นใครวะ?”

เพราะกลัวเสียมารยาทนิตย์จึงตอบเบาๆ ว่า
“แขก….มาหาคุณแม่น่ะซี”
“รอเดี๋ยวนะ ผมจะไปเอาผ้าเช็ดตัวมาให้”

เนาว์ได้เข้าไปในครัวเพื่อหาเสบียงติดตัวไปด้วยขณะที่นิตย์กำลังเดินเข้าห้องไปหยิบของให้ แต่แล้วโทสะเขาพลุ่งขึ้นทันที เมื่อเห็นว่าข้าวผัดที่เหลือไว้เพื่อจะห่อเอาไปกินได้หายไปแล้ว

เนาว์ตะโกนลั่นบ้าน
“ไอ้นิตย์ ไอ้จอมตะกราม”
“แกเอาข้าวของพ่อแกไปกินซะแล้วเรอะ?
“ธ่อ! ไอ้นี่วอนเดี๋ยวพ่อเตะหมอบ!”

นิตย์รีบวิ่งเข้ามาเอามือจุ๊ปากตัวเองเพื่อให้พี่ชายสงบคำ
“จุ๊ๆ พี่เนาว์อย่าเอะอะนักซี แขกขอกินน่ะ เขายังไม่ได้กินข้าวเลยตั้งบ่ายโมงกว่าแล้ว”

“ไอ้บ้า แล้วแกก็ดันให้เขาไปกินเรอะ? ก็ทำไมเขาไม่ออกไปกินในตลาดล่ะ?”

“โธ่ ตลาดอยู่ไกลบ้านเราตั้งเยอะ แล้วเราก็พอมีข้าวเหลืออยู่ด้วย พี่เนาว์ก็กินแล้ว”

เนาว์ตะโกนอีกว่า
“กินแล้วๆ! แกพูดดีนัก เดี๋ยวฉันเอากำปั้นยัดปากเข้าให้หรอก”

เนาว์จงใจจะให้แขกฟังได้ยินถนัดขึ้น จึงกะโกนออกไปอีกว่า
“เห็นเขาแต่งตัวโก้หน่อย ไอ้บ้านี่ก็หมอบเสียแล้ว ก็ไอ้พวกลูกหนี้ของพ่ออีกน่ะแหละ ไม่มีใครหรอก มีอย่างหรือ ไปไหนๆ เที่ยวได้ขอข้าวเขากิน มันจะใช้ได้หรือวะ?”

นิตย์ร้อนใจจนแทบจะลุกขึ้นเต้น
“อย่าอึงไปซีพี่เนาว์ก็…..”
และพยายามพูดให้เนาว์ใจเย็น
“พระร่วงท่านยังรับสั่งเลยว่า-อันธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ อย่างเลิศดีตามมีและตามเกิด ให้เพลินเพลิดกายากว่าจะกลับ….”

เนาว์ก็พูดสวนขึ้นมาว่า
“หยุดเหอะ ยิ่งฟังแล้วยิ่งหมั่นไส้”
“งั้นแกไปต้มไข่มาหลายๆ ใบ เอาเกลือห่อมาหน่อย ฉันจะเอาไปกินที่บ่อน้ำกับไอ้พวกหมาวัดข้างล่างนั่น!” เนาว์หมายถึงเพื่อนของเขาอีก 4-5 คน ที่รออยู่ข้างล่าง ซึ่งแต่ละคนก็แต่งกายแบบนักเลง คุยกันเสียงดังไม่เกรงใจเจ้าของบ้าน

เนาว์กับเพื่อนต่างก็พากันกันไปเมื่อได้ของที่ต้องการแล้ว และยังใช้คำหยาบประชดประชันแขกผู้มาเยือน ตามนิสัยของเขาทิ้งท้ายไว้หลายประโยค

ชายคนนั้นไม่ได้แสดงกิริยาเดือนร้อนอะไรเลย ยังคงนั่งเงียบ นิ่งเฉย ไม่โต้ตอบแม้แต่คำเดียว นิตย์คิดว่าเขาคงเป็นคนใจเย็นมากๆ

นิตย์จึงพยายามเอาใจเขา
“คุณลุงครับ คุณลุงคงไม่โกรธพี่ผม….”

เขายิ้มให้นิตย์เล็กน้อยแล้วตอบว่า
“ใครเขาด่าว่าเรา เราไม่ยอมรับ คำด่าว่านั้นก็ตกเป็นของเขาเอง”
“ถุงถืออย่างนี้เสีย จึงโกรธคนได้น้อยครั้งเต็มที”

“แต่ผมถือเอาความเคยชินที่ไม่ยอมโกรธพี่เนาว์ เพราะพี่เนาว์เป็นคนมีนิสัยอย่างนี้เสมอครับ พี่เนาว์คบเพื่อนผิดๆ เพื่อนพูดหยาบ พี่เนาว์ก็เอาอย่าง เพราะถือว่าเป็นของโก้เก๋ เพื่อนแต่งตัวไม่น่าดู ไว้ผมยาว นุ่งกางเกงขาลีบๆ ใส่เสื้อตัวโตๆ รองเท้าปลายแหลมเปี๊ยบ พี่เนาว์ก็เอาอย่าง เพราะนึกว่าโก้และดี”

“คุณแม่ของเธอไม่เอ็ดเอามั่งหรืออย่างไร?”

นิตย์ตอบ
“เอ็ดซีครับ”
“เอ็ดเสียจนไม่อยากจะเอ็ดไปเอง เพราะพี่เนาว์ไม่เชื่อ เอ็ดเท่าไหร่ๆ พี่เนาว์ก็ทำหูทวนลมเสีย บางทีแถมเอ็ดเอาคุณแม่เข้าให้อีก”

ชายคนนั้นบ่นเบาๆ
“อือม์! เด็กสมัยนี้บางคนใช้ไม่ได้เลย”
“เอ๊ะ! มีเสียงฝีเท้านะ คุณพ่อคุณแม่ของเธอมาแล้วละกระมัง?”

นิตย์เดินไปที่ประตูโดยก้มตัวผ่านชายคนนั้นไป แล้วพูดว่า
“ใช่ครับ คุณพ่อกับคุณแม่มาพร้อมกันพอดีเลย…”

ชายคนนั้นพูด
“ดีจริง”
แล้วเขาก็เอนตัวพิงเก้าอี้อย่างสบาย สายตาของเขามองไปทางที่เจ้าของบ้านกำลังจะก้าวเข้ามา

เมื่อคุณแม่ของนิตย์เห็นเขาเข้าก็รีบเดินเข้าไปสวมกอดเขา เขาก็กอดตอบคุณแม่ ส่วนคุณพ่อก็เข้าไปจับมือเขาเขย่าอย่างสนิทสนม ชายคนนั้นจึงถอดหมวกออกแล้วพูดว่า
“อ้วนขึ้นทั้งสองคน เป็นไง? สบายดีหรือน้อง?”

คุณแม่พูดว่า
“ค่ะ คุณพี่น่ะสิคะ จะมาก็ไม่บอก แหม! โผล่ขึ้นมาเล่นเอาดิฉันตกใจ”

ชายคนนั้นหัวเราะและพูดอย่างใจเย็นว่า
“บอกเสียก็ไม่ตื่นเต้นน่ะซี ไอ้ข้อสำคัญก็คือ พี่ได้มานั่งใช้เวลาชั่วใจอยู่บนเรือนนี้ด้วยตัวเอง และจะบอกให้เธอทั้งสองรู้ว่าพี่ตัดสินใจอย่างไร….”

คุณพ่อถาม
“ในข้อไหนครับ?”

ชายคนนั้นตอบ
“อ้าว! ก็ที่พี่บอกมาในจดหมายอย่างไรล่ะ
“พี่ขอหลานชายคนหนึ่งไปอยู่ที่เมืองนอก โดยพี่จะออกทุนการศึกษาให้หมด และให้ความสุขทุกอย่างเหมือนกับเป็นลูกของพี่แท้ๆ นั่นไง เพราะพี่เองไม่มีลูก เลยอยากได้หลานแทน เวลานี้พี่รู้ดีว่าคนไหนจะดีกว่ากัน ระหว่างเนาว์กับนิตย์”

เมื่อนิตย์ได้ฟังก็ถึงกับตกตะลึง ดีใจ ประหลาดใจ ระคนกันไป ตัวชาจนแทบไม่มีความรู้สึก คุณแม่จึงหันมาเรียกว่า
“นิตย์ มาหาคุณลุงสิลูก”

คุณพ่อถาม
“กราบคุณลุงหรือยัง?”

คุณลุงยิ้ม ยกมือขึ้นตบบ่านิตย์ แล้วตอบแทนว่า
“เรียบร้อยแล้ว”
“ว่าไง เรียนจบ ม.ศ. ห้าแล้วนี่ อยากไปเรียนต่อที่เมืองนอกกับลุงไหมล่ะ?”

คุณแม่จึงอธิบายเมื่อเห็นว่านิตย์ยังคงตะลึงอยู่ว่า
“นิตย์ลูกรัก นี่คือคุณลุงของลูกแท้ๆ เป็นพี่ชายคนเดียวของแม่ แต่คุณลุงไปทำงานประจำอยู่ต่างประเทศ ลูกๆ ของแม่จึงไม่ได้มีโอกาสรู้จัก คุณลุงใจดีจ้ะ และอยากได้ลูกแม่คนหนึ่งไปอยู่ด้วย”

นิตย์จึงพูดขึ้นมาว่า
“แต่พี่เนาว์ควรจะได้ไปเมืองนอกก่อนผม”

คุณลุงถาม
“เพราะเหตุใด หลาน?”
นิตย์ตอบลุงว่า
“เพราะอายุมากกว่าผมถึงหนึ่งปีขอรับ”

คุณลุงหัวเราะชอบใจแล้วพูดว่า
“เปล่าเลย อายุมากหรือน้อยกว่ากันไม่สำคัญหรอกหลาน มันสำคัญตรงที่ว่า ความคิดมากกว่ากันหรือเปล่า?” เพียงแต่ลุงมานั่งได้ครู่เดียวก็เห็นว่า นิตย์เป็นคนดี มีความอ่อนน้อมและโอภาปราศรัยเป็นที่รื่นหู ลุงจึงตกลงใจทันที”

คุณแม่บอกว่า
“เนาว์ก็เรียนจบ ม.ศ. ห้าเหมือนกันค่ะ คุณพี่”

คุณลุงตอบว่า
“รู้แล้วละ สองคนนี่เรียนเท่ากัน อายุมากกว่ากันนิดหนึ่ง แต่ความคิดมากน้อยกว่ากันเยอะแยก พี่ตกลงใจแน่ว่า ชอบนายนิตย์คนนี้”

คุณพ่อจึงเย้านิตย์ว่า
“แต่ว่านิตย์น่ะจะยอมจากบ้านไปได้หรือ?”
“ถ้าแม่เขาไม่มีนิตย์ เขาคงแย่ทีเดียว เพราะเป็นหูเป็นตาให้พ่อแม่ได้ดีเหลือเกิน”

คุณแม่พูดขึ้นว่า
“จริงสิคะ ดิฉันคงคิดถึงนิตย์แย่ เพราะนายเนาว์แกไม่เป็นที่พึ่งเสียเลย”

คุณลุงจึงเสริมขึ้นว่า
“คนดีน่ะใครๆ ก็ต้องการ จริงไหมเธอ”

นิตย์ได้แต่ฟังคำชมด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจจนบอกไม่ถูก เพราะไม่รู้จะพูดหรือต้องทำอย่างไร

ที่มา:จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์