หมากฝรั่งกับคนไทย

คนไทยสมัยเก่า เคี้ยวหมากปากเปรอะ คนรุ่นคุณย่าคุณยายท่านจะเคี้ยวหมากเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจชอบ ถ้าอยากจะบ้วนน้ำหมากสีแดงเหมือนโลหิตตรงไหนก็ได้ที่คิดว่าไม่ทำให้สกปรกเกินไป เวลาสนทนากันก็ไม่ต้องระวังว่าน้ำหมากจะหก ฝรั่งจึงอดที่จะสงสัยในสิ่งนี้ไม่ได้

แต่คนไทยที่เห็นฝรั่งเคี้ยวยางชนิดหนึ่งในปากกลับไม่เห็นว่าน่ารังเกียจ คนไทยสมัยใหม่ไม่คิดว่าจะกินหมากอย่างคุณย่าคุณยาย แต่กลับซื้อหมากฝรั่งมาไว้เคี้ยวต้องใช้เงินไปสัปดาห์ละหลายบาท เพราะคิดว่าโก้เก๋ จะได้ดูเหมือนอย่างฝรั่งเขา ทั้งๆ ที่สรรพคุณของหมากฝรั่งก็ไม่เห็นว่าจะมี

สมมติว่าท่านเคี้ยวหมากฝรั่งจนติดเสียแล้วก็แล้วไป แต่ขอให้พยายามรักษาไว้ซึ่งมารยาทของสุภาพชน ดังนี้

ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่งในที่สาธารณะชน หรือต่อหน้าผู้อาวุโส หรือผู้ที่ไม่ชอบกิริยาแบบนี้

ไม่ควรเคี้ยวเสียงดังจั๊บๆ จนน่าเกลียด ถ้าจำเป็นก็ต้องออกไปห่างๆ คนอื่น ไม่เคี้ยวเสียงดังต่อหน้าคนอื่น เพราะอาจทำให้เขาคลื่นเหียนและรำคาญได้จากกลิ่นหมากฝรั่งในปากของท่าน ที่สลับกับเสียงเคี้ยวที่น่ารำคาญ

เวลาเคี้ยวไม่ควรแลบลิ้นเลียริมฝีปากแผล็บๆ หรือสูดน้ำลายดังซี้ดซ้าดด้วยความเผ็ดซ่า

อย่าดึงหมากฝรั่งในปากออกมาเป็นสายยาวยืดและม้วนกลับเข้าไปใหม่เหมือนเด็ก

ไม่ควรหยิบหมากฝรั่งที่เคี้ยวแล้วออกมาให้ผู้อื่นเห็นเป็นอันขาด ควรทิ้งไปเลย ควรทิ้งในที่ที่เหมาะสม เพราะอาจทำให้คนอื่นไปเหยียบหรือจับเข้าได้

ไม่ควรเอาหมากฝรั่งที่คนอื่นเคี้ยวแล้วมาเคี้ยวต่อเป็นอันขาด ไม่ว่าจะสนิมสนมกันเพียงใดก็ตาม

ก่อนทิ้งถังขยะให้ห่อด้วยกระดาษเสียก่อน เพื่อไม่ให้ติดเหนียวเหนอะหนะไปทั่ว

การแต่งตัวและการกระทำของเยาวชนสมัยนี้ เมื่อมองแล้วก็ชวนให้ปวดหัว ถ้าเขามีอายุผ่านวัยคะนองไปสักนิด แล้วนึกถึงตนเองในท่าทางเช่นนี้ ก็คงรู้สึกละอายและเสียใจไม่น้อย ถ้าเขาคิดขึ้นมาได้ว่าไม่ใช่มารยาทที่ดีงาม

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

มารยาทในที่สาธารณะ

“แหม! ไม่ได้เจอเธอตั้งน้านนาน สวยขึ้นแยะนี่ จำเกือบไม่ได้แน่ะ จริงๆ นะ สมัยเธออยู่ที่โรงเรียนน่ะ ท่าทางยังกับยายเพิ้งดูไม่ได้เชียว ทำไมถึงได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายอย่างนี้”

“เธอก็เหมือนกันแหละย่ะ อย่ามาทำชมเขาข้างเดียวหน่อยเลย อยากให้ฉันชมตอบก็บอกมาเสียตรงๆ เถอะ ตอนแรกนึกว่านางเอกหนังเสียอีก…”

คนแถวๆ นั้นต้องหันมามอง เมื่อได้ยินสองเสียงที่ดังลั่นมาจากเด็กสาวรุ่นสองคน ที่กำลังเลือกซื้อผ้าที่ตลาดพาหุรัด ทั้งสองคนแต่งตัวทันสมัย สีฉูดฉาด ใส่รองเท้าส้นสูงมาก ไม่เหมาะกับรูปร่างเลย ท่าทางไม่แคร์สายตาใคร ต่างก็แย่งกันคุยเรื่องความสวยงาม เรื่องผ้า นินทาคนเคยรู้จักเสียดังลั่น

คนหนึ่งยืนเท้าสะเอว ในปากเคี้ยวหมากฝรั่งหยับๆ แล้วพูดว่า
“จำยายเล็กได้ไหม? ยายเล็กที่ชื่อจริงว่า อุบลวรรณ แต่งหน้ายังกะแขกขายผ้าน่ะ เค้าจะไปเมืองนอกย่ะ”

“อุ๊ยตาย! เซอะอย่างงั้นน่ะหรือ จะไปถึงเมืองนอก เวลาสอบก็ได้ที่โหล่ทุกที อย่ามาโม้ให้ฟังเลย เดี๋ยวฉันหัวเราะตะเข็บปริ”

มีสาวรุ่นอีกคนหนึ่งเดินผ่านมา เธอแต่งกายเรียบๆ เสื้อผ้าก็มีสีอ่อนเย็นตา เหมาะกับอากาศที่ร้อนๆ เธอมองดูทั้งสองคนที่คุยกันดังลั่นอย่างเวทนา เมื่อชำระเงินค่าผ้าแล้วก็ออกจากร้านไป อีกฟากหนึ่งของถนน บิดาของเธอก็นั่งรออยู่ที่ร้านขายเครื่องดื่ม เธอข้ามถนนด้วยความระมัดระวังแล้วเข้าไปนั่งใกล้บิดา ยิ้มให้บิดาและวางห่อผ้าลง

บิดาถาม
“ร้อนเหงื่อแตกเชียว เล็กได้ของหมดทุกอย่างไหม?”

“ได้ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ ที่อุตส่าห์นั่งรอเล็ก คุณแม่ยังไปซื้อขนมไม่กลับหรือคะ?”

“ยังจ้ะ สงสัยว่าจะเจอของอื่น เลยหยุดซื้อกระมัง จึงได้ช้า พ่อสั่งไอศกรีมให้เล็กแล้วนะ”

“ขอบพระคุณค่ะ”

“เล็กนั่งซึมไปนี่ คิดอะไรหรือลูก?”

“เล็กเจอเพื่อนเก่าโรงเรียนสองคนที่ค่ะ เขาพูดถึงเรื่องเล็ก”

“อ้อ! ดีสินะ แสดงว่าเขาจากไปแล้วก็ยังไม่ลืมเรา”

“ไม่ใช่อย่างนั้นน่ะสิคะ คุณพ่อ เขากำลังนินทาเล็กเสียงลั่นเลย ว่าหน้าตาเหมือนแขกและเรียนได้ที่โหล่ ความจริงเล็กเรียนไม่เก่ง แต่เล็กก็พยายามเสมอ สองคนนั่นก็เคยผลัดกันได้ที่โหล่ออกบ่อยไปค่ะ”

บิดาปลอบ
“อย่าเสียใจเลยลูก ลืมเสียก็แล้วกัน”

“แต่เขาพูดกันเสียงลั่นร้านเลย คุณพ่อคะ ใครๆ ต้องหันไปดูเขาทั้งนั้นแหละค่ะ ถึงเขาจะไม่พูดเรื่องเล็ก เล็กก็อดดูเขาไม่ได้ เพราะเขาแต่งกายสะดุดตาเหลือเกิน”

บิดาพูด
“คนที่ชอบแต่งตัวสะดุดตา และพูดคุยเสียงดังในที่สาธารณะน่ะ ไม่ใช่คนมีมารยาทดีหรอกนะ ลูก”
“แม้แต่คนที่เอาความลับส่วนตัวในบ้านของตัวเองมาแผ่ให้คนอื่นทราบ ก็เรียกว่า เสียมารยาท เท่ากับว่าเราพังกำแพงบ้านเราเองให้คนอื่นมองเข้าไปดูอย่างสบายทีเดียว”

เล็กตอบว่า
“อ้อ! เล็กจำได้ค่ะ มิสซิสแจ็คเกอลีน เคนเนดี้ อย่างไรล่ะคะ คุณพ่อ สามีของเธอสิ้นชีวิตไปทั้งคน เธอยังไม่เคยร้องไห้คร่ำครวญให้คนภายนอกเห็นเลย”

บิดาพูด
“ถูกละ แม้ว่าเวลาเธออยู่ตามลำพังที่บ้าน เธอคงจะต้องเสียจนแทบจะไม่มีน้ำตาเหลือ เห็นไหมล่ะ….แล้วโลกก็นิยมชมชอบว่าเธอเป็นคนกล้าหาญ”

สายตาของเล็กมองออกไปนอกร้านขณะที่รับประทานไอศกรีมอยู่ เธอมองเห็นชายคนหนึ่งถือห่อของพะรุงพะรัง เดินตามหลังสตรีที่มือเปล่า และเธอเป็นเจ้าของร้านขายผ้าที่ชายคนนี้ซื้อมาทั้งสิ้น ชายคนนี้มีร่มสีแสดคล้องแขนมาด้วย ถุงผ้าก็มีชื่อร้านของสตรีผู้นี้

เล็กพูดขึ้นว่า
“แหม! ดูสิคะคุณพ่อ ผู้ชายคนนั้นสุภาพจังเลย เขาไม่ยอมให้ผู้หญิงถืออะไรเลย”

บิดายิ้มแล้วพูดว่า
“ตรงกันข้ามจ้ะลูก ผู้หญิงคนนั้นไม่สุภาพต่างหาก ตามปกติ ถ้าของหนักมากเกินแรงผู้หญิงจึงขอให้ผู้ชายช่วยถือ ไม่ใช่ว่าจะให้เขาขนให้ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งของที่มองดูก็รู้ว่าเป็นของผู้หญิง เช่น ร่มสีแสบตาอย่างนั้น เธอก็ควรจะถือเอง และห่อของ ถุงผ้าเท่าที่พอจะช่วยเขาได้”

เล็กบอกว่า
“เขาอาจจะเป็นคนรถของเธอนะคะ คุณพ่อ”

พ่อตอบว่า
“พ่อคิดว่าไม่ใช่ ดูการแต่งกายของเขารู้สึกว่าเขาก็เป็นคนฐานะเท่าเธอ ถ้าเผื่อเขาเป็นเพื่อนชายของเธอ พ่อก็แน่ใจว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เขาจะไม่มีวันพาเธอออกมาซื้อของอีก แต่ถ้าเขาเป็นพ่อ พ่อคิดว่าจะไม่ดูหน้าผู้หญิงคนนี้อีกเลยนั่นแน่ะ”

เล็กหัวเราะชอบใจ และพูดว่า
“ผู้หญิงก็ต้องคิดรอบคอบเหมือนกันนะคะ สมัยนี้”

คุณพ่อตอบ
“ใช่จ้ะ ผู้ชายเขาไม่รังเกียจที่จะช่วยถือของที่ดูคล้ายกับของผู้ชายหรอก แต่เกณฑ์ให้เขาถือของผู้หญิงมองดูก็เห็นชัดอย่างนี้ พ่อว่ามันเป็นการบังคับจิตใจมากเกินไปสักหน่อย”

ชายหญิงอีกคู่หนึ่ง ฝ่ายหญิงเอามือเกาะแขนฝ่ายชายไว้แล้วเดินผ่านไป เล็กก็พูดขึ้นว่า
“คุณพ่อคะ คู่นี้ทำท่าเหมือนฝรั่งนะคะ”
“เวลาเดินก็ต้องควงแขนกันด้วย คนไทยด้วยกันเอาแบบฝรั่งมาทำแล้วดูพิลึกจังนะคะ”

บิดาอธิบาย
“ลูกรู้ไหมว่า ฝรั่งเขาก็ไม่ทำกันพร่ำเพรื่อ”
“ถ้าเดินทางในที่มืดหรือขรุขระ ฝ่ายชายจะบอกให้หญิงเกาะแขนเขาไว้เป็นหลัก จะได้ไม่หกล้ม นอกจากนั้นชายจะบอกให้หญิงเกาะแขนชายเสมอเป็นการช่วยเหลือ เวลาจะข้ามถนนเขาก็มักจะกุมข้อศอกฝ่ายหญิงไว้เบาๆ ช่วยให้รู้ว่าควรข้ามเมื่อไหร่ แต่เขาไม่เดินจูงมือ หรือควงแขนกันในเวลากลางวันอย่างประเจิดประเจ้อและฟุ่มเฟือยหรอก ยกเว้นบางคู่ที่เป็นสามีภรรยากัน และเดินเล่นช้าๆ นั่นแหละเขาอาจจะควงแขนกันไว้”

เล็กถามต่อ
“คุณพ่อคะ คนเดินตามถนนแล้วกินหมากฝรั่งไปพลางนี่มารยาททรามไหมคะ?”

พ่อตอบ
“พ่อคิดว่า คงไม่มีอะไรทรามและน่าเกลียดไปกว่าแล้วละลูก อีกพวกหนึ่งคือ คนที่เดินตามถนนและสูบบุหรี่ไปด้วย ยิ่งถ้าชายกับหญิงเดินด้วยกัน และฝ่ายหนึ่งสูบบุหรี่พ่นควันฉุยละก็ พ่อคิดว่าเป็นภาพที่ดูไม่ได้เอาเลยทีเดียว”

เล็กถามต่อว่า
“ถ้าไม่ใช่ถนนหลวงล่ะค่ะ? เขาจะสูบบุหรี่ไม่ได้หรือคะ?

พ่อตอบ
“ถ้าไม่ใช่ถนนหลวง ก็ควรออกไปนอกเมืองเลยทีเดียว ที่ผู้ชายสามารถเดินทอดน่องพลางสูบบุหรี่ หรือยาเส้นไปพลางได้อย่างสบายอารมณ์”

และมีชายคนหนึ่งกำลังจะข้ามถนน เขาทิ้งซองบุหรี่ไว้บนถนนถูกลมพัดอยู่ไปมา เมื่อมีรถยนต์วิ่งผ่านไปมาซองบุหรี่นั้นก็ปลิวไปอีกด้านของทางเดินข้างถนน

บิดาพูดขึ้นว่า
“ถ้าคนไทยสะเพร่า มักง่าย อย่างนี้ทุกคน บ้านเมืองเราคงจะสกปรกแย่”
“พ่อเห็นนิสัยคนมักง่ายแล้วอดไม่ค่อยได้ วันก่อนนี้เราไปเขาดินกัน ลูกก็คงจำได้ว่ามีคนกินถั่ว อ้อยควั่น และน้ำอัดลม แล้วทิ้งถุง ทิ้งชานอ้อยกับขวดเปล่าเอาไว้เต็มลานริมน้ำ ดูราวกับกองขยะ ลมพัดมาทีหนึ่งก็ปลิวไปถึงไหนๆ ทั้งๆ ที่กระป๋องทิ้งเศษผงเขาก็มีไว้ให้ แต่ไม่ใช้เสียดื้อๆ อย่างงั้นแหละ ใครจะทำอะไร!”

เล็กเปรยขึ้นว่า
“แล้วก็เด็กคนนั้น ที่ชอบเก็บดอกไม้เวลาเจ้าหน้าที่เขาเผลออีกละคะ คุณพ่อ จำได้ไหมคะ?”
“เสียดายดอกกุหลาบสวยๆ เก็บแล้วก็เอาไปขยี้ทิ้ง อยากให้หนามคมๆ มันตำมือเสียมั่ง จะได้เข็ด”

พ่อพูดตอบว่า
“นั่นนะซี คนพวกนี้น่าจะได้รับการอบรมเรื่องมารยาท และให้รู้จักรักษาความสะอาดของบ้านเมืองกันทุกวัน จนเข้าหัวสมอง เวลาพ่อขับรถไปตามถนน พ่อมักจะเห็นคนในรถข้างหน้าปาเศษขยะออกมาจากรถลงบนถนน ขณะที่รถกำลังแล่น วันหนึ่งลมมันพัดมาทางพ่อ ใบตองห่อขนมจากรถคันหน้าเลยลอยมาปะหน้าหม้อรถของพ่อ ต้องแกะและต้องล้างกันยกใหญ่ เพราะว่าเป็นใบตองห่อข้าวเหนียวแดง!”

เล็กหัวเราะอย่างขบขัน พอดีกับที่มารดาเดินเข้ามาในร้านพร้อมถุงใส่ของ อากาศร้อนจนทำให้เหงื่อหยด มารดาของเล็กพูดอย่างอารมณ์ดีว่า
“ซื้อได้หลายอย่าง แทนที่จะอย่างเดียวตามเคยค่ะ”
“ขอน้ำส้มเย็นๆ สักขวดเถอะค่ะ”

บิดาเรียกบ๋อยมาสั่งพร้อมกับพูดว่า
“กำลังคุยกับเล็กถึงเรื่องความสะเพร่า มักได้ และเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่บางคน”

ภรรยาของเขาตอบ
“อย่าว่าแต่ผู้ใหญ่เลยค่ะ เด็กๆ สมัยนี้ ก็เรียนรู้ความเห็นแก่ตัวตั้งแต่หัวเท่ากำปั้นเหมือนกันนะคะ”

เล็กสงสัย
“ลูกใครคะ คุณแม่?”

แม่อธิบาย
“แม่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าลูกใคร แต่วันก่อนนี้ แม่นั่งดูเด็กๆ เล่นชิงช้าและไม้ลื่นอยู่ที่เขาดินน่ะ แม่เห็นลูกของผู้หญิงคนหนึ่งไม่ได้เล่นอะไรเลย เพราะว่าคนอื่นๆ ไม่ยอมผลัดให้เล่นเลย แถมแม่ของเด็กยังร้องบอกลูกตัวเองว่า ‘อย่าลงจากชิงช้าๆ ขืนลงละก็ คนอื่นแย่งขึ้นแล้วไม่ได้ขึ้นอีกอย่ามาร้องนา’ แม่รู้สึกสลดใจมาก ผู้ใหญ่ควรจะสอนให้เด็กรู้จักเพียงพอ และเสียสละให้คนอื่นบ้าง แต่นี่กลับตรงกันข้าม”

คุณพ่อควักกระเป๋าสตางค์ออกมาเมื่อบ๋อยเข้ามาเก็บเงิน แล้วพูดกับลูกสาวว่า
“ลูกทายซิว่า แม่กับพ่อใครมีเงินในกระเป๋ามากกว่ากัน?”

เล็กตอบ
“คุณพ่อสิคะ”

“ผิด แม่ต่างหาก เพราะพ่อเอาเงินให้ลูกไปซื้อของเสียเกือบหมด เอ้า…ทายอีกทีนะ ทำไมแม่จึงไม่จ่ายเงินแทนพ่อบ้างเวลาเราออกมากินอะไรกันข้างนอกอย่างนี้?”

“เพราะคุณพ่อเป็นสุภาพบุรุษน่ะสิคะ”

บิดามารดายิ้มชอบใจ มารดาพูดหยอกว่า
“พ่อลูกรักกันแย่ ลูกสาวก็ปากหวาน พ่อก็ช่างให้ท้ายเข้าข้างตัวเอง”

บิดาพูดต่อว่า
“เปล่าหรอกจ้ะ ฉันอยากจะหัดให้เล็กเขารู้ไว้ว่า เมื่อไหร่ผู้ชายควรเป็นคนออกเงิน และเมื่อไหร่ผู้หญิงไม่ควรให้เขาออกเงินให้ตัว”

ลูกสาวอยากรู้และถามว่า
“เมื่อไหร่มั่งล่ะคะคุณพ่อ?”

คุณพ่ออธิบายว่า
“ตามธรรมเนียมนั้น ถ้ารู้จักกันดี และของราคาไม่แพงเช่นหนังสือพิมพ์ เขาอาจออกสตางค์ซื้อให้เราได้ แต่ถ้าผู้ชายคนนั้นเป็นคนที่เรารู้จักอย่างผิวเผิน และของมีราคามากกว่าหน่อยหนึ่ง ผู้หญิงก็ไม่ควรรับ ไม่ควรยอมให้เขาออกเงินเลยทีเดียว เธอควรจะวางเงินให้คนขาย และบอกว่า ‘นี่ของดิฉัน’ ผู้ชายคงจะไม่กล้าเซ้าซี้อีกต่อไป”

ลูกสาวยังซักต่อว่า
“เขาจะไม่หาว่าเราหยาบคายหรือคะ”

พ่อตอบ
“จะว่าอย่างนั้นได้หรือ? ในเมื่อเรารู้จักกับเขาน้อยมากและของก็ไม่มีราคาสักหน่อย เรื่องอะไรเขาจะต้องมาออกเงินให้เรา ในเมื่อเราออกของเราเองได้? เราจะไปทำพันธะให้ตัวเองทำไม ในเมื่อถ้าไม่พบเขา เราก็ต้องจ่ายเงินเองอยู่ดี?”

มารดาพูดว่า
“จำไว้เถอะเล็ก เวลาจากไปอยู่ไกลจะได้ไม่ทำอะไรผิดพลาด”

แล้วมารดาก็หันไปพูดกับบิดาต่อว่า
“คุณจะไม่อธิบายให้ลูกฟังถึงการเดินถนน นั่งโต๊ะ หรือนั่งในรถยนต์หรือคะ?”

สามีตอบ
“ได้ซีจ้ะ”
“เล็กจำไว้นะว่าเวลาเดินถนนนั้น ตามประเพณี ผู้ชายต้องเดินข้างนอก หญิงเดินด้านใน หมายความว่า ชายเดินด้านที่อยู่ใกล้ถนนเสมอ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากยวดยานให้หญิง”

“อ้อ! เล็กไม่เคยสังเกตหรอกค่ะ ดูเหมือนว่าเราจะเดินกันตามสบายมากกว่านะคะ”

บิดากล่าว
“นั่นนะซิ”
“แต่ถ้าชายคนหนึ่ง เดินกับหญิงสองคน เขาจะต้องไม่เดินกลางให้หญิงขนาบข้างเป็นอันขาด แต่จะเดินชิดขอบถนน แล้วหญิงสองคนก็เดินใกล้กัน”

ลูกสาวขมวดคิ้วแล้วถามว่า
“ทำไมอย่างนั้นล่ะคะ?”

คุณพ่ออธิบาย
“เหตุผลมีอย่างเดียวว่า ขณะที่เขาพูด เขาจะได้มองตรงมาทางหญิงทั้งสองพร้อมกันเลยทีเดียว ถ้าเขาเดินกลางเขาจะต้องหันไปพูดกับคนนั้นที คนนี้ที ส่วนการนั่งรถยนต์นั้น ถ้าเป็นรถยนต์ส่วนตัวพวงมาลัยขวาเจ้าของรถยนต์ที่เป็นหญิงจะนั่งบนเบาะด้านหลังทางซ้าย เฉียงกันกับคนขับเสมอ ฉะนั้นถ้าเล็กเป็นแขกมาใหม่นั่งไปด้วย เล็กก็ควรรู้ว่า ควรนั่งด้านหลังคนขับ และปล่อยที่นั่งด้านซ้ายไว้ให้หญิงเจ้าของรถนั่ง”

คุณแม่พูดขึ้น แล้วชวนกันหิ้วของออกจากร้านไป
“ไปกันเถอะ แล้วอยากทราบอะไรก็เอาไปซักกันที่บ้านเผื่อเขาจะต้องการโต๊ะของเรา”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

การแนะนำตัว

วันนี้เป็นฤดูหนาวที่อากาศเย็น แต่ใจของรำไพร้อนตั้งแต่เช้า ทำอะไรก็ขัดไปหมด จนพี่สาวของเธอที่ชื่อ รำภา ทนไม่ได้ต้องถามขึ้นมาว่า
“เป็นอะไรไปน่ะ รำไพ เดินงุ่นง่านยังกับเสือติดจั่น วันนี้ไม่ถักเสื้อต่อหรือจ๊ะ?”

รำไพตอบ
“ไม่หรอกค่ะ”
“มีเรื่องไม่ค่อยสบายใจ ไอ้ที่ไม่สบายก็เพราะว่าความรู้ด้านนี้ของน้องมันไม่ค่อยจะมี จะหาหนังสืออ่านให้แตกฉานก็หาไม่ได้”

พี่สาวพูดขึ้นว่า
“หนังสืออะไรกันที่จะหาไม่ได้ในเมืองไทย? มีออกเต็มตลาดไป”
“แล้วก็เรื่องอะไรที่รำไพกลุ้มใจ ไหนเข้ามาในนี้ซิ”

รำไพเดินเข้ามาอย่างไม่ค่อยสบายใจ แล้วพูดว่า
“หัวหน้าของน้องที่บริษัทเขาจะจัดงานเลี้ยงต้อนรับฝรั่งที่เป็นผู้จัดการใหญ่จากยุโรปและอเมริกา เขามอบให้น้องเป็นเจ้าของงานร่วมกับเขาค่ะ หมายความว่า น้องจะต้องคอยแนะนำให้ใครต่อใครรู้จัก ฝรั่งรู้จักไทย ไทยรู้จักชาติอื่นๆ แหม! น้องละงงไปหมดเลย เพราะยังคิดไม่ออกว่าจะทำยังไงถูก แล้วแนะนำเสร็จ เขาจะพูดอะไรกัน หรือได้แต่ยืนเก้อ?”

รำภาถามขึ้นว่า
“น้องอยากรู้ว่า ควรแนะนำใครให้กับใคร ยังงั้นหรือ?”

รำไพตอบ
“น้องไม่ทราบว่า ผู้หญิงกับผู้ชายน่ะเราจะแนะนำให้ใครมารู้จักกับใคร ชายหรือหญิง?”

รำภาให้คำตอบว่า
“เราต้องแนะนำชายให้รู้จักหญิงเสมอจ้ะ”
“จำไว้นะ ธรรมเนียมต่างประเทศนั้น ไม่ว่าหญิงจะอายุสักสิบแปด หรือชายใจใหญ่สักปานใด ผู้แนะนำจะต้องแนะนำชายให้รู้จักกับหญิง เช่น น้องอาจพูดว่า… “คุณดอนคะ ดิฉันขอแนะนำให้รู้จักคุณสุมาลีค่ะ”

รำไพพูด
“อ้อ! ในงานนี้ท่านเอกอัครราชทูตก็จะมาร่วมด้วยค่ะ”
“นึกถึงแต่ท่านเหล่านี้เท่านั้น น้องก็ชักใจคอไม่ดีเสียแล้ว กลัวเปิ่นออกมาละแย่ทีเดียว”

รำภาแนะนำว่า
“สำหรับท่านราชทูต น้องก็ใช้คำแนะนำได้ง่ายๆ เช่น ดิฉันใคร่จะขอแนะนำให้ ฯพณฯ รู้จักกับคุณหญิงราชไมตรี ภาษาอังกฤษก็เรียก ฯพณฯ ว่า Your Excellency”

“ทีนี้สำหรับคนธรรมดาๆ มั่งล่ะคะ พี่” รำไพถาม

รำภาตอบน้องสาวว่า
“บางคนนิยมพูดลอยๆ เช่น ‘คุณดอน นี่คุณสุมาลี’ แต่พี่คิดว่าไพเราะสู้ทั้งประโยคไม่ได้ ยิ่งบางคนพูดว่า ‘คุณดอนคุณสุมาลี…คุณสุมาลี นี่คุณดอน’ ยิ่งไม่ไพเราะใหญ่ เพราะซ้ำชื่อทั้งสอง ชื่อละสองหน”

“น้องจะสังเกตได้ว่า ถ้าสามีแนะนำภรรยาให้รู้จักกับคนอื่น เขาจะพูดแทนนามภรรยาว่า ‘ภรรยาผม’ ไม่ใช่ ‘คุณประภา’ หรือ ‘ประภา ธนารักษ์’ เช่น สามีแนะนำว่า ‘คุณณรงค์ครับ ผมอยากแนะนำให้รู้จักภรรยาของผม’ ถ้าสนิทกันกับคนๆ นั้นมาก สามีอาจพูดได้ว่า ‘ประภามารู้จักคุณณรงค์หน่อย’ แต่ข้อหลังนี้ต้องใช้สำหรับเพื่อนที่เก่าแก่รู้จักกันดีกับสามีจริงๆ”

“ฝ่ายภรรยาก็เช่นเดียวกัน เธอจะแนะนำให้ใครคนหนึ่งรู้จักสามีได้โดยใช้สรรพนามแทนชื่อสามีว่า ‘สามีของดิฉัน’ เช่น เธออาจพูดว่า ‘นี่คุณสมศักดิ์คะ ดิฉันขอแนะนำให้รู้จักสามีดิฉันค่ะ’ หรือ ‘คุณสมศักดิ์คะ นี่คุณยศ สามีดิฉันค่ะ’

“ส่วนในการติดต่อธุรกิจ ฝรั่งนิยมใช้เรียกชื่อสกุล เช่น Mr. White หรือ Mrs. White กับคนอื่น เขาไม่นิยมเรียกชื่อแรก เช่น John หรือ Mary และไม่นิยมใช้คำว่า My husband หรือ My wife ในการพูดจาติดต่อเกี่ยวกับการงาน”

รำไพถามต่อว่า
“บางทีเราอาจถามเขาว่า เขารู้จักกันมาก่อนหรือยังก็ได้ ใช่ไหมคะ?”
“เช่น ‘คุณกัลยา รู้จักคุณสุมาลีแล้วใช่ไหมคะ?’ หรือ ‘คุณกัลยาเคยพบคุณสุมาลีมาแล้วนี่คะ ใช่ไหม’”

รำภาบอกว่า
“พี่คิดว่า เลือกเอาข้อความแรกดีกว่าใช่ไหม? ตรงปลายตัดทิ้งเสียไพเราะกว่า”

รำไพถามพี่สาวต่อว่า
“แล้วน้องจะพูดยังไงต่อไปอีกล่ะคะ? เพราะว่าแนะนำเขาแล้ว เขาก็คงจะพากันยืนเก้ออยู่ตรงนั้นเอง เขาจะหาเรื่องอะไรมาคุยกันต่อได้ล่ะคะ?”

รำภาตอบน้องสาวว่า
“อ้อ! นั่นเป็นหน้าที่ของน้องอีกจ้ะ น้องจะต้องทราบว่า คนที่น้องแนะนำนั้น เขาชอบอะไร ทำอะไร เช่น ‘Mr. White คะ ดิฉันขอแนะนำให้รู้จักคุณณรงค์ ผู้ชนะเลิศกอล์ฟประจำปีนี้ค่ะ’ ถ้าคนหนึ่งสนใจในงานของคนที่ถูกแนะนำให้รู้จัก การสนทนาก็จะดำเนินไปได้อย่างง่ายและรวดเร็ว ถ้าเขาไม่ใคร่สนใจ อย่างน้อยที่สุด พี่ว่าเขาก็ยังจะพอหาเรื่องมาสนทนาได้นานพอใช้ ภายหลังจากที่ทราบเป็นเลาๆ ว่า อีกฝ่ายหนึ่งชอบอะไร และเป็นใคร”

รำไพแสดงความเข้าใจด้วยการพยักหน้าน้อยๆ ส่วนรำภากล่าวต่อว่า
“ขอแต่อย่าพูดอย่างนี้จ้ะ เช่น ‘Mr. White คะ จับมือกับคุณณรงค์สิคะ’ หรือ ‘Mr. White คะ ดิฉันอยากให้คุณเป็นเพื่อนกับคุณณรงค์ต่อไปค่ะ’ อะไรอย่างนี้ไม่น่าฟังเลย อย่าถามว่า ‘คุณชื่ออะไร?’ เพราะคนบางคนไม่ชอบบอกชื่อของเขาง่ายๆ ถ้าอยากรู้ว่าเราได้คุยกับใครอยู่ ก็จงถามบุคคลที่สามภายหลังว่า ผู้หญิงใส่ชุดสีเทานั่นชื่ออะไรคะ?’ เมื่อทราบแล้วจำเอาไว้ พอเจอผู้หญิงชุดเทาอีก น้องก็อาจเข้าไปคุยด้วยได้ โดยเรียกชื่อเธอถูกต้องทันที”

รำไพขัดขึ้นว่า
“พี่คะ งานนี้เขาจะมีการเลี้ยงแบบหรูหรามากเชียวค่ะ ข้างหน้าแต่ละที่นั่งมีบัตรเขียนชื่อตั้งเอาไว้ เราจะเลือกที่นั่งเองไม่ได้ ชื่ออยู่ตรงไหน เราก็นั่งตรงนั้น”

รำภาพูดว่า
“น่าสนุก”
“น้องคงไม่มีอะไรสงสัยสินะจ๊ะ?”

รำไพบอกพี่สาวว่า
“มีสิคะ มีมากทีเดียว เพราะน้องกลัวว่าอาจโดนนั่งใกล้กับใครที่น้องไม่อยากรู้จักเท่าไรนัก และไม่อยากบอกชื่อของน้องด้วย”

รำภาตอบ
“ในกรณีอย่างนี้คงเป็นไปไม่ได้หรอกจ้ะ”
“เพราะบนโต๊ะมีบัตรชื่อน้องวางอยู่ น้องจะเก็บเสียก็ไม่ได้ พี่คิดว่าคงไม่มีใครที่น้องรู้สึกไม่ชอบถึงขนาดไม่อยากให้เขารู้ชื่ออยู่ในงานนี้กระมัง”

รำไพยังรู้สึกไม่สบายใจและตอบว่า
“ก็ไม่แน่นักค่ะ”

พี่สาวพูดต่อ
“อือม์ พี่ก็เห็นใจ เพราะรำไพยังเป็นสาวอายุยี่สิบเศษเท่านั้น ถ้าเป็นการเลี้ยงโต๊ะธรรมดาไม่มีบัตรชื่อ แล้วเขาถามว่าน้องชื่ออะไร น้องไม่อยากบอกว่าชื่อรำไพ ก็อาจเลี่ยงไปพูดได้ว่า ‘ดิฉันเป็นหลานคุณวรพงศ์ เทพอารักษ์ เป็นคนกว้างขวาง ใครๆ ก็เคยได้ยินชื่อ’ หรือ ‘ดิฉันก็คนหนึ่งในบรรดาพวกสกุล เทพอารักษ์ ค่ะ’ เรื่องอย่างนี้สิพี่สบายใจได้ เพราะพี่อายุสามสิบกว่าปีแล้ว พี่จึงจะบอกคนที่ถามชื่อพี่ได้ทันทีว่า ‘ดิฉันชื่อรำภา เทพอารักษ์’ น้องคงจะหลีกไปได้หรอกจ้ะ ถ้าเขาส่งบัตรชื่อจากใกล้จานของเขามาให้น้องดูแล้วพูดว่า ‘นี่ชื่อผม คุณล่ะครับ?’ น้องก็ควรส่งบัตรชื่อน้องให้เขาอ่านเสียก็แล้วกัน พี่คิดว่าไม่มีอะไรน่ารังเกียจจนน้องต้องเก็บเอาไปกลุ้มใจนะจ๊ะ”

รำไพตอบอย่างหนักแน่นว่า
“ค่ะ ถ้ามันช่วยไม่ได้ก็แล้วไป เพราะน้องก็ไม่ใช่คนคิดมาก และอาจไม่มีคนนั่งข้างๆ ที่น้องรังเกียจถึงขนาดนั้นตามที่พี่ว่า”
“อ้อ! เมื่อเราแนะนำเขาแล้ว เขาพูดยังไงกันคะ?”

รำภาตอบ
“เขาก็พูดว่า ‘ผมดีใจมากที่ได้มีโอกาสรู้จักคุณ’ หรือ ‘รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รู้จักคุณ’ ‘ยินดีที่รู้จักคุณ’ แต่ถ้าเป็นคนที่เราอยากเจอมานานแล้ว พอได้รับการแนะนำ เราอาจพูดได้ว่า ‘แหม! ดิฉันดีใจจริงๆ ค่ะ ที่ได้รู้จักคุณ’ หรือ ‘ยินดีเหลือเกินที่ได้รู้จักคุณในที่สุด’ และอาจเสริมได้ว่า ‘เพื่อนๆ ของดิฉันกล่าวถึงคุณเสมอ พวกเราชอบอ่านบทความที่คุณเขียนกันมากค่ะ’ สมมติว่า เด็กสาวถูกแนะนำให้รู้จักเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เด็กหนุ่มคนนี้รู้จักเผินๆ กับเพื่อนของเธอที่ชื่อว่าวิมาลา เธออาจพูดว่า ‘วิมาลาเคยพูดถึงชื่อคุณค่ะ’ แต่ไม่พูดว่า ‘โอ้โฮ! ฉันได้ยินวิมาลาพูดถึงคุณบ่อยจนหูชา จนรู้สึกว่าได้รู้จักตัวคุณมานมนานแล้ว ทั้งๆ ที่เพิ่งจะเห็นวันนี้เอง!’”

“เด็กสาวต้องพูดให้น้อยหน่อย และต้องไม่บอกเด็กหนุ่มหรือชายหนุ่มใดๆ ว่า ตัวเธอหรือเพื่อนเธอมีความสนใจในเขาเพียงใด ถึงขนาดเอาชื่อเขาไปกล่าวถึงบ่อยๆ ลับหลังเขา เธออาจเพียงพูดว่า ‘วิมาลาเคยพูดว่า คุณเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ปีนี้ใช่ไหมคะ?’ แล้วเขาก็จะตอบว่า ‘ถูกแล้วครับ ขณะนี้ผมกำลังฝึกงานอยู่’ ฟังดูไพเราะ เรียบร้อยกว่าการพูดเรื่อยเจื้อยเมื่อได้พบกันครั้งแรกตั้งก่ายกอง!”

เมื่อรำไพนึกถึงอีกเรื่องก็ถามขึ้นว่า
“พี่คะ จับมือกันแบบฝรั่งนี่ ทำยังไงถึงจะถูกคะ?”

รำภายิ้มก่อนจะอธิบายว่า
“หญิงยื่นมือขวาออกไป ชายยื่นมือขวาออกมาสัมผัสกันเบาๆ แต่อย่าปล่อยมือเราให้ห้อยๆ ตกๆ เหมือนที่ฝรั่งเรียกว่า ‘ปลาตาย’ ให้เขาเป็นฝ่ายจับมือคนเดียว และก็อย่าจับมือรุนแรงจนเกินต้องการ ทำให้พอดีๆ แหละเหมาะ ในงานเช่นนี้ น้องในฐานะเจ้าของงานคนหนึ่งจะต้องจับมือกับแขกทุกคน จึงควรลุกขึ้นยืนเสมอ และจับมือด้วยความเต็มอกเต็มใจ หญิงต่อหญิงอาจจับมือกันได้ หรือไม่จับกันก็ได้ เมื่อได้คุยกับใครมานานพอแล้วตลอดงาน ขากลับจะลาจากกันก็ไม่จำเป็นต้องจับมือ”

“ถ้าน้องนั่งอยู่ และมีแขกสตรีเข้ามา น้องไม่ต้องลุกไปทักทายก็ได้ แต่ถ้าสตรีนั้นอายุสูงกว่ามากก็ควรลุกขึ้น ถ้าอายุเท่ากัน หรือน้อยกว่าก็ไม่จำเป็น นอกจากน้องเห็นว่าแขกคนนั้นเพิ่งมาถึง และยังไม่ได้รับการแนะนำอะไรเลย หากน้องเป็นคนแนะนำ ก็ลุกขึ้น ถ้าคนอื่นเป็นคนแนะนำ น้องก็ไม่ต้องลุก คอยจนเขามาถึงที่เรานั่งอยู่ก่อน ถ้าเขาอายุมากกว่าควรลุกเสียหน่อย ถ้าอายุน้อยกว่าหรือเท่ากัน ก็นั่งอยู่อย่างเดิมขณะที่รับการแนะนำได้ไม่ผิด”

รำไพมีคำถามอีก
“พี่คะ เวลาเขาจะกลับล่ะคะ?”

รำภาตอบ
“ถ้าแขกแสดงความประสงค์จะกลับ น้องก็จับมือกับเขา แล้วพูดว่า ‘ดิฉันหวังว่าเราจะได้พบกันอีก สวัสดีค่ะ’ หรือ ‘ดิฉันเพลินกับการคุยของเรามากค่ะ’ หรือ ‘ขอบคุณที่อุตส่าห์ฟังดิฉันคุย ลาก่อนนะคะ’ หรือ ‘ขอบคุณที่กรุณามางานนี้ค่ะ สวัสดีค่ะ’”

รำไพพูดต่อว่า
“แหม! เรื่องยุ่งเหมือนกันนะคะ แล้วเมื่อไหร่เราจะรู้ได้ว่าไม่สมควรแนะนำล่ะคะ?” “น้องพอจะรู้เรื่องการแนะนำให้รู้จักกันแล้วค่ะ

รำภาตอบ
“ดีจ้ะ”

รำไพถามต่อ
“น้องอยากรู้ว่า ตอนไหนที่ไม่ควรแนะนำ?”

รำภา
“ก็เช่น อย่าแนะนำแขกที่เพิ่งมาใหม่แก่แขกที่กำลังจะลากลับอยู่ในเวลานั้นแล้ว อย่าแนะนำบุคคลที่สามเข้าไป ในขณะที่คนสองคนกำลังคุยกันอย่างสนุกสนาน”

รำไพถามต่อ
“มีอีกข้อหนึ่งค่ะพี่”
“คือถ้าเราอยากแนะนำตัวเราเอง เราจะทำยังไงคะ?”

รำภาบอกว่า
“น้องก็เดินเข้าไปหาคนๆ นั้น พูดว่า ‘คุณหญิงราชไมตรีคะ คุณแม่ดิฉันเป็นเพื่อนกับคุณหญิงใช่ไหมคะ? ดิฉันเป็นลูกของคุณราตรี เทพอารักษ์ ค่ะ’ หรือกับหญิงวัยเดียวกัน น้องอาจเข้าไปถามว่า ‘คุณสุมาลีใช่ไหมคะ?’ น้องก็อธิบายว่า ‘พี่รำภาพี่สาวดิฉันพูดถึงคุณเสมอค่ะ’ เมื่อเขาตอบ ‘อ๋อ! น้องของรำภาหรือคะ? เธอชื่อรำไพหรือรำพรล่ะคะ?’ น้องตอบเขาว่า ‘รำไพค่ะ’ เขาอาจพูดต่อว่า ‘แหม! ยินดีที่ได้พบเธอในที่สุดค่ะ รำไพ’ แต่ถ้าเป็นพี่ชายหรือน้องชายของเพื่อน ควรจะกล่าว ‘สวัสดีเฉยๆ’ น้องไม่ควรแนะนำตัวให้รู้จักเพื่อนของแม่ หรือเพื่อนของพี่ ฯลฯ ถ้าแม่และพี่รู้จักเขาเพียงผิวเผิน อย่าพูดว่า ‘นี่คุณ แนะนำฉันให้รู้จักคนนั้นหน่อยซิ’ อย่าพูดว่า ‘คุณไม่รู้จักคุณยศหรือ? ตายแล้ว! ไม่เชื่อหรอก!’ หรือ ‘ไม่เห็นบอกฉันเลยว่า เพื่อนเธอคนนี้ชื่ออะไร’ หลีกเลี่ยงการพูดว่า ‘อ้าว! นี่สองคนยังไม่รู้จักกันหรือคะ?’ หรือ ‘นี่คุณจะไม่แนะนำฉันรู้จักกับเพื่อนคุณมั่งหรือ? คนอะไร!’ บางทีน้องอาจพบว่า เราแนนำตัวเองให้กับคนที่เขาลืมเราแล้ว เช่น ‘คุณหญิงราชไมตรีคะ ดิฉัน รำไพ เทพอารักษ์ ค่ะ’ ถ้าคุณหญิงทำท่าว่าจำเธอไม่ได้ น้องก็เสริมว่า ‘ดิฉันเป็นเพื่อนของสุรางค์บุตรสาวของคุณหญิงค่ะ เราเคยไปที่บ้านของสุรางค่อยๆ ค่ะ’ อย่างนี้จะช่วยเตือนความจำของคุณหญิงได้ดีขึ้น ท่านอาจตอบว่า ‘อ๋อ! เธอน่ะเอง ขอโทษที่ฉันจำเธอไม่ได้ เพราะหนุ่มสาวโตเร็วและเปลี่ยนแปลงกันมาก ขอบใจที่อุตส่าห์ทักฉันนะจ๊ะ ฯลฯ’

รำไพพูดว่า
“บางทีเราก็แนะนำคนโดยไม่ได้ตั้งใจนะคะพี่”
“เช่นเมื่อวันก่อน น้องพูดกับป้าไสวว่า ‘ป้าคะ ลุงบุญมีคนสวนอยากให้เอาหางนกยูงต้นโน้นมาปลูกข้างทางค่ะ’ ป้าไสวเลยรู้จักว่าคนสวนเราชื่อลุงบุญมี”

รำภามองดูนาฬิกาแล้วพูดว่า
“สายมากแล้ว พี่จะต้องไปธุระเสียทีว่าไงจ๊ะ รำไพ? พอจะสบายใจขึ้นมั่งไหม ก่อนงานใหญ่คราวนี้?”

รำไพไหวพี่สาวอย่างนอบน้อมแล้วพูดว่า
“ค่ะพี่ ขอบพระคุณมากที่สุด”
“น้องพอจะมั่นใจตัวเองขึ้นบ้าง ไม่ไปทำผิดพลาดให้ฝรั่งเห็นละค่ะ”

รำภาพูดเสริมว่า
“แต่น้องต้องสังเกตด้วยนะจ๊ะ ว่าประเพณีของเขาก็งามของเราก็งาม แต่จะงามแตกแตกกัน เพราะของเรานั้นผู้น้อยต้องเข้าไปแนะนำตัวต่อผู้ใหญ่เสมอ ไม่ว่าหญิงหรือชาย เราใช้วิธีไหว้และรับไหว้ แต่ฝรั่งจะใช้วิธีจับมือ”

รำไพหัวเราะเบาๆ และพูดว่า
“บางทีฝรั่งอยู่เมืองไทยก็ชอบไหว้ค่ะ มองดูเก้งก้างเขินๆ แต่เขาชอบ”
“ที่บริษัทของน้องน่ะมีบ่อยเชียว ที่เขาไม่ยอมจับมือ แต่ชอบไหว้แทน”

พี่สาวตอบ
“เราก็ควรภูมิใจละจ้ะ”
“ถ้าเขาไหว้ได้ก็ให้ไหว้เถอะ เราไหว้ตอบเขา เขาก็พอใจที่เขาทำอย่างเราได้ และจะพอใจกว่าจับมือเสียอีก พี่มีเรื่องขำอีกนิดหนึ่ง คือฝรั่งที่พี่รู้จักเขามาบ่นว่า คนไทยบางคนนี่เป็นยังไงไม่รู้ พอเขาไหว้กลับยื่นมือขวาออกมาจะจับมือกับเขา พอเขาพูดไทยด้วยก็แกล้งทำเป็นไม่เข้าใจ ไม่พยายามเข้าใจเอาเสียยังงั้นแหละ แล้วพยายามส่งภาษาฝรั่งกับเขาจนได้ อันที่จริงพี่ว่า แม้เราอาจเคยจับมือ หรือพูดฝรั่งได้คล่องแค่ไหน แต่ก็ควรถือเป็นความภูมิใจข้อหนึ่งที่คนต่างชาติยังชอบประเพณีของเรา และพยายามทำตามประเพณีเรา”

รำไพตอบ
“นั่นสิคะ ถ้ามีฝรั่งมาไหว้น้องละก็ น้องคงรีบรับไหว้ไปเลยด้วยความดีใจ ส่วนเรื่องภาษาไทยนั้นไม่ต้องพูดถึงละค่ะ เพราะน้องคล่องกว่าภาษาอื่นๆ อยู่แล้ว ขืนโดนฝรั่งพูดไทยด้วยละก็ น้องคงรีบคุยด้วยไม่ทันเชียว!”

สองคนพี่น้องก็หัวเราะกันอย่างสนุกสนาน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

บัตรอวยพรวันขึ้นปีใหม่

ศศิธรได้รับบัตร ส.ค.ส. ในวันปีใหม่จากเพื่อนฝูงและญาติที่อยู่ต่างจังหวัดบางคนมากเหลือเกิน เธอพูดกับคุณแม่ของเธอว่า
“สมัยนี้บัตร ส.ค.ส.ขายดีนะคะคุณแม่ ใครๆ ก็ต้องส่งกัน”

คุณแม่ตอบ
“ไม่ใช่เพราะตื่นเต้นตามสมัยดอกจ้ะ”
“แต่เพราะว่าคนที่ส่ง ส.ค.ส. ให้กัน เขาคิดถึงกัน และอยากจะแสดงว่า ระลึกถึงมากเป็นพิเศษในโอกาสปีใหม่อย่างนี้ แม่ว่าดีนะ ส.ค.ส. เพียงแผ่นเดียว แสดงให้เห็นถึงน้ำใจไมตรีและมิตรภาพอันดีพร้อมเสร็จ”

“อย่างสุวรรณีเพื่อนรักของหนู เขาอยู่ต่างจังหวัด หนูจะเขียนจดหมายไปถึงเขาด้วย แล้วใส่ของไปกับ ส.ค.ส. ติดแสตมป์เท่าส่ง ส.ค.ส. เฉยๆ ไปรษณีย์เขาคงจับไม่ได้หรอกนะคะ จดหมายตอนนี้ออกมากมาย เขาคงไม่มานั่งตรวจดูทีละอันหรอก…”

คุณแม่ติงขึ้นทันทีว่า
“แต่ลูกก็ไม่ซื่อสัตย์น่ะสิจ๊ะ”
“ถ้าลูกจะส่งจดหมายไปด้วย ลูกต้องติดแสตมป์เท่าส่งจดหมาย ไม่ใช่ครึ่งเดียว มีคนโกงอย่างนี้มากมาย เขาจับได้เขาก็ส่งกลับคืนไป หรือไม่ไปปรับเอาปลายทาง มันจะดีอะไรล่ะจ๊ะ?”

“ถ้าคุณแม่กับคุณพ่อส่ง ส.ค.ส. ไปให้คนอื่น คุณแม่เขียนชื่อใครนำหน้าคะ?”

“ความจริงไม่มีกฎหรอกจ้ะ แต่แม่ชอบเขียนชื่อคุณพ่อขึ้นหน้า”

“คุณแม่เขียนชื่อหนูไปด้วยนี่คะ หนูเห็น”

“จ้ะ สำหรับญาติๆ และเพื่อนสนิท แม่ต่อชื่อลูกลงไปข้างท้ายด้วย แต่แม่เขียนชื่อหนูถัดลงมาอีกบรรทัดหนึ่ง”

ศศิธรดูบัตร ส.ค.ส.ของมารดาและของตนเองอยู่ และเลือกมาหนึ่งแผ่น
“คุณแม่คะ ดูสิคะ แผ่นนี้จากบริษัทที่เราซื้อเครื่องกระป๋องเขาเสมอๆ”

คุณแม่ตอบรับ
“จ้ะ แทบจะไม่ต้องบอกเลย”

“ทำไมเขาพิมพ์รูปกระป๋องอาหารต่างๆ ขวดอาหาร และตราเครื่องกระป๋องเอาไว้เต็มไปหมด ไม่เห็นจะเป็นการส่งความสุขเท่าไรเลยนะคะ” ศศิธรอดหัวเราะไม่ได้

คุณแม่ตอบ
“นั่นซี แม่ก็ว่าไม่ค่อยเหมาะ ที่จะโฆษณากันอีกในวันสำคัญอย่างนี้ เอาไว้โอกาสอื่น หรือสักนิดหนึ่งตามปฎิทินน่าจะเหมาะสมกว่า”

แล้วศศิธรก็หยิบอีกแผ่นขึ้นมา
“นี่จากคุณลุงค่ะ”
ด้านหน้าของบัตรพิมพ์เป็นภาพเทพธิดากำลังโปรยดอกไม้จากพานอย่างสวยงาม
“ข้างในคุณลุงเขียนว่า ‘ส่งความรักและระลึกถึงมายังหลานด้วย’ เอ! อย่างนี้ควรเขียนไหมคะ?”

คุณแม่พูด
“ได้สิจ๊ะ เพราะนี่ไม่ใช่จดหมายนี่ เพียงแต่ต่อขึ้นไปนอกเหนือจากลงชื่อนิดหน่อยเท่านั้น แล้วก็ไม่ได้ทำให้หนักซอง เพราะไม่ได้เขียนในกระดาษอีกแผ่นหนึ่ง”

“แผ่นนี้ก็เหมือนกัน จากป้าประภา เขียนว่า ‘คิดถึงมากและอยากมาหาอีก ยายหนูศศิธรคงจะโตเป็นสาวแล้ว บอกด้วยว่าพี่คิดถึงจากพี่ประภา’ ป้าประภาก็เขียนมาใน ส.ค.ส. เหมือนกัน ถ้าหนูเขียนถึงคนสนิทสนมกันจะแทรกข้อความเหล่านี้นิดๆ หน่อยๆ ไปได้ไม่เป็นไรจ้ะ แต่ถ้าเขียนถึงคนไม่สนิท ควรเซ็นชื่อเท่านั้น ไม่ควรเขียนข้อความใดๆ ลงไปอีก”

ศศิธรชูบัตรขึ้นแล้วอ่าน
“พูดถึงเซ็นชื่อ ในบัตรของคุณลุงก็เซ็นเสียเยอะเชียวค่ะ”
“เขียนว่า จากพี่ทั้งสองและลูกๆ-ป้อม, แป๋ว, ป๋อม และแป๋ม อย่างนี้จ้ะ ใช้ได้ไหมคะคุณแม่?”

คุณแม่อธิบาย
“ได้จ้ะ เพราะว่าเราสนิทกันมาก ถ้าเป็นคนอื่น คุณลุงกับคุณป้าก็คงจะเซ็นชื่อและนามสกุลเท่านั้น ไม่ใส่ชื่อลูกๆ ลงไปด้วย”
“ถ้าแม่จะส่งบัตร ส.ค.ส. ถึงครูเก่าแก่ของแม่ ครูคนนี้ไม่รู้จักคุณพ่อหรือลูก แม่ก็เซ็นชื่อแม่คนเดียวเท่านั้น แต่ถ้าส่งถึงคนที่แม่หวังและอยากให้เจอคุณพ่อหรือท่านวันหนึ่ง แม่ก็เขียนชื่อคุณพ่อและลูกลงไปด้วย”

ศศิธรมาสะดุดอยู่ที่บัตรแผ่นหนึ่ง จากที่เธอดูมาอย่างเพลิดเพลิน ด้านหน้าของบัตรเป็นภาพวาดทิวทัศน์ในป่าไม้ที่ร่มรื่น ดูสงบและเย็นตา ใช้สีฟ้าเทา เทาอ่อนแก่ ขาวแต้ม และตัดเส้นด้วยสีดำ

ศศิธรพูดว่า
“แผ่นนี้แปลก….สีสันเรียบๆ ไม่ฉูดฉาดเลยนะคะ”

“อ๋อ! นี่มาจากเพื่อนคนหนึ่งของแม่ สามีของเขาเพิ่งถึงแก่กรรมลง ลูกจะเห็นว่า คนที่รู้จักมารยาทงามนั้น ทำอะไรก็ไม่ผิด เขาไม่เลือกภาพหีบศพส่งมาให้เรา และเขาไม่เลือกภาพสีฉูดฉาด หรือละครรำร้องสีสวยติดกากเพชรส่งมา แต่เขาเลือกภาพเรียบๆ เย็นตา ที่เหมาะสมกับเวลาไว้ทุกข์ของเขา โดยที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ไปด้วย เมื่อแม่ส่งตอบแทนไปให้เขา แม่ก็เลือกภาพเรียบๆ ไม่ฉูดฉาดร่าเริงเกินไปนักประเภทนี้เหมือนกัน”

ศศิธรถาม
“ถ้าคนกำลังอยู่ในความทุกข์อย่างเพื่อนคุณแม่คนนี้ไม่ส่งบัตร ส.ค.ส. ก็ไม่ผิดใช่ไหมคะ?”
“หนูหมายความว่า ถึงคุณแม่ส่งไปให้เขาแล้ว เขาไม่ต้องส่งตอบแทนมาก็ไม่เป็นไร ใช่ไหมคะ คุณแม่?”

แม่ตอบว่า
“ในระยะเช่นนี้ ความทุกข์ก็เอาเวลาของเขาหมดไปแล้ว เราจึงเรียกว่าไม่ผิดจ้ะ แม้ว่าเขาจะส่ง ส.ค.ส. มาให้เราหรือไม่ส่ง และจะส่งตอบแทนมาหรือไม่ก็ตาม”

คุณแม่ชูบัตรขึ้นแล้วพูดว่า
“เออแน่ะ บัตรใบนี้เซ็นชื่อสีแดงแปร๊ดเชียว”

ศศิธรหันไปมองพร้อมกับหัวเราะ
“อ๋อ! จากยายราศีเพื่อนหนูเองค่ะ ราศีเขาเป็นคนชอบทำอะไรแผลงๆ เสมอ นี่คงเอาหมึกแดงเซ็นให้ทุกคนละซี”

คุณแม่ก็อธิบายว่า
“ตามธรรมเนียมแล้ว เขาไม่นิยมเซ็นชื่อจ่าหน้าซอง หรือเขียนด้วยหมึกสีแดง เขียว หรือแสดนะจ๊ะ นอกจากว่าเจตนาจะให้เป็นสีเดียวกับตัวอักษรคำอวยพรที่พิมพ์ไว้ในบัตร ส.ค.ส.”
“สมัยนี้มีซองที่มีสีแจ๊ดๆ ซับข้างในซอง ซึ่งก็ไม่เรียกว่าผิดอีกน่ะแหละ เพราะนิยมกันทำให้สะสวยขึ้น”

ศศิธรพูดว่า
“ซองนี้เขาเขียนที่อยู่ไว้ข้างหลังซองด้วยค่ะ”

คุณแม่ตอบว่า
“นี่ก็จากเพื่อนคุณพ่อ ซึ่งไม่ได้พบกันมานาน จนเราไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน เขาจึงเขียนตำบลที่อยู่มาให้หลังซองด้วย เราจะได้ส่ง ส.ค.ส. ไปตอนแทน และจดหมายไปติดต่อกันได้อีกภายหลังไงล่ะจ๊ะ”

ศศิธรจัดบัตร ส.ค.ส. ในกล่องกระดาษเป็นหมวดหมู่อย่างเรียบร้อย แล้วถามมารดาต่อว่า
“คุณแม่คะ หนูถามเรื่องบัตรอวยพรวันเกิดหน่อยได้ไหมคะ?”

“ได้ซิจ๊ะ ลูกอยากทราบอะไร?”

“ทำไมบางคนส่งบัตรอวยพรมาให้หนู? บางคนไม่ส่ง? นี่เป็นเพราะว่าบางคนนิยมตามแบบฝรั่งหรือเปล่าคะ?”

คุณแม่อธิบายศศิธรว่า
“พูดกันไปแล้ว เรื่องการส่งบัตรอวยพร นี่ก็เอาอย่างมาจากตะวันตกแทบทั้งนั้นแหละจ้ะ การที่มีใครเขาส่งบัตรอวยพรมาให้ลูก ก็หมายความว่า เขาแสดงความปรารถนาดีอย่างจริงใจมาให้ ถ้ามีคนส่งของขวัญวันเกิด หรือของขวัญปีใหม่มาให้ลูกจากทางไกล ลูกอาจส่งของปีใหม่ตอบแทนไปให้เขาได้ แต่สำหรับของวันเกิด เมื่อได้รับแล้วควรรีบเขียนเป็นจดหมายขอบใจตอบไปยังผู้ส่งทันที อย่าใช้บัตรที่พิมพ์เสียสวยหรูเป็นการขอบใจ บางคนเขาว่า พอได้รับบัตรขอบใจที่ผู้ส่งแทบไม่ต้องหยิบเขียนเองสักใบละก็ เขารู้สึกเหมือนถูกคนทุบหัวแรงๆ เลยทีเดียว จดหมายขอบใจแม้ว่าจะสั้นหน่อย จึงมีค่ามากกว่าบัตรพิมพ์ที่มาจากร้านเครื่องเขียนเสมอจ้ะ”

ศศิธรถามต่อว่า
“อย่างหนูได้รับจดหมายจากพี่พรรณ ลูกของคุณป้า ให้ไปพักอยู่ที่บ้านศรีราชาด้วย แล้วหนูไปไม่ได้ จะตอบยังไงถึงจะถูกล่ะคะ?”

คุณแม่บอกว่า
“ลูกก็ต้องมีจดหมายตอบไป บอกว่าเสียใจที่มาไม่ได้ และบอกเหตุผลไปด้วยว่าทำไมจึงมาไม่ได้ พร้อมกับขอบคุณที่เขาชวนมา”

ศศิธรพูดต่อ
“วันก่อนหนูเห็นคุณพ่อเขียนตอบงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง แต่เขียนบนบัตรสั้นๆ เท่านั้นแหละค่ะ ไม่ได้เขียนเป็นจดหมายหรอกค่ะ”

คุณแม่อธิบายต่อว่า
“อ๋อ! งานเลี้ยงนั่น เพื่อนรักของคุณพ่อชวนจ้ะ แล้วก็เวลาชวนเขาส่งบัตรอันนิดๆ เขียนด้วยมือมาให้เรา แสดงว่าไม่ใช่วงนอก แต่เป็นงานสำหรับเพื่อนสนิทและญาติไม่กี่คน คุณพ่อจึงเขียนในบัตรว่า ‘ขอบใจที่เชิญ วันศุกร์จะมาได้ราวทุ่มพร้อมภรรยา’ แล้วเอาไปฝากไว้ที่บ้านของผู้เชิญ เพราะผู้เชิญเผอิญไม่อยู่บ้าน การที่เราบอกให้เขารู้ตัวว่า เราจะมาในงานได้หรือไม่ได้ จึงสำคัญมาก เพราะเจ้าของงานจะได้จัดที่และปริมาณอาหารได้ถูกต้องไม่ขาดเหลือ”

ศศิธรพูดว่า
“อ๋อ! ครูสอนหนูว่า ในบัตรเชิญของฝรั่ง เขาเขียนไว้ตรงมุมบัตรด้านหนึ่งว่า R.S.V.P. เพราะเขาอยากรู้ว่าคนที่ได้รับเชิญจะมาได้หรือไม่”

แม่ถาม
“ลูกทราบไหมล่ะว่า R.S.V.P. หมายความว่าอะไร?”

ศศิธรยิ้มก่อนที่ตอบว่า
“แปลว่า ‘Repondez s’ il vous plait’ ค่ะเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลเป็นภาษาอังกฤษตรงตัวว่า ‘Answer if you please’ ภาษาไทยก็บอกว่า ‘ขัดข้องโปรดตอบ’ อะไรอย่างนี้ละมัง”

คุณแม่บอกว่า
“ใช่แล้วจ้ะ ทั้งนี้ก็เพราะเจ้าของงานอยากทราบจำนวนคน สำหรับจะได้กะอาหารได้ถูกต้องนั่นเอง คนที่ไปไม่ได้จึงควรเขียนหรือโทรศัพท์ไปบอก”
“เย็นนี้แม่ก็จะใช้บัตรชื่อของแม่ เพราะแม่มีเพื่อนชาวต่างประเทศมาพักอยู่ที่โรงแรมในกรุงเทพฯ นี่ แม่ต้องการให้เขาทราบว่า เบอร์โทรศัพท์ของเราคืออะไร และเราจะเชิญเขามารับประทานอาหารที่บ้านค่ำวันพรุ่งนี้ด้วย”

ศศิธรทำหน้ายินดีแล้วพูดว่า
“หรือค่ะ?”
“เขาจะโทรศัพท์มาหรือคะ?”

คุณแม่บอกว่า
“เขาอาจไม่โทร ถ้าเขาไม่มีความจำเป็น แต่ให้เขารู้เบอร์ไว้ดีแล้ว แม่จึงใช้นามบัตร เพราะมีเบอร์โทรศัพท์ ชื่อและสกุลของคุณพ่อและแม่ ตลอดจนตำบลที่อยู่อย่างพร้อมสรรพ ในกรณีนี้ แม่เขียนชื่อของแหม่มไว้ เหมือนชื่อแม่ในบัตร พนักงานที่โรงแรมผู้รับนามบัตรนี้ไว้ จะได้ให้กับแหม่มได้ถูกต้อง และแม่เริ่มเขียนคำเชิญในตอนท้ายชื่อแม่ ไปต่อเอาด้านหลังถึงตอนจบ เพราะถ้าแม่พลิกไปเขียนด้านหลังทั้งหมด แล้วแหม่มไม่ได้พลิกดู ก็เป็นอันว่าแหม่มจะไม่รู้ว่า แม่เชิญมาที่นี่พรุ่งนี้”

ศศิธรพูดอย่างพอใจว่า
“แหม! คุณแม่รอบคอบดีจัง”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

มารยาทในโรงมหรสพ

ปีนี้วันเกิดของโฉมฉายมีเหตุการณ์พิเศษขึ้น เพราะคุณพ่อคุณแม่อนุญาตให้พาเพื่อนไปชมภาพยนตร์รอบบ่ายได้หลายคน โดยคุณพ่อได้จองตั๋วล่วงหน้าไว้ให้ถึงสองวัน เพื่อนๆ ของเธอก็ตื่นเต้นไม่น้อย ทุกคนนัดพบกันที่บ้านของโฉมฉาย แต่งกายกันอย่างสะสวย มีใบหน้าที่ยิ้มแย้ม

โฉมฉายพูดขึ้น
“เราจะไปรถคันเดียวกันจ้ะ”
“ไหนพวกเรามากันกี่คน? หนึ่ง-สอง-สาม-สี่-ห้า อ้อ! คนขับอีกเป็นหก พอดีทีเดียว รถคันนี้คงจะบรรทุกได้ไม่เกินหกคน แค่นี้ก็พอไหว หน้าสามหลังสามนะจ๊ะ”

มีเสียงหัวร่อต่อกระซิกอย่างแจ่มใสเกิดขึ้นรอบข้างเมื่อทุกคนเข้าไปนั่งในรถ แล้วก็ถึงที่โรงภาพยนตร์

โฉมฉายและเพื่อนๆ รู้สึกรำคาญมากเมื่อภาพยนตร์ฉายไปได้สักห้านาทีแล้ว เพราะคนที่มาช้าบางคนจะเข้าไปที่นั่งตรงแถวที่พวกเธอนั่งอยู่ก่อน เพื่อให้เขาผ่าน ทุกคนก็ต้องเบือนหัวเข่าไปเสียข้างหนึ่งก่อน ถ้าผ่านไม่ได้ก็ต้องลุกขึ้นยืนให้ผ่านไป

สุดาบ่นเบาๆ
“แหม! เบื่อจัง”
“ทำไมไม่รู้จักหัดมาให้มันตรงเวลาเสียมั่งนะ!”

โฉมฉายกระซิบตอบ
“จุ๊! อย่าเพิ่งไปว่าเขาเลย เดี๋ยวคนอื่นจะรำคาญเราเอา”

สุดายังอดที่จะพูดไม่ได้
“แปลกนะ”
“เราอุตส่าห์ลุกยืนให้ผ่าน เขาจะบอกว่า ‘ขอบใจ’ สักคำก็ไม่ได้ แม้แต่เวลาจะเข้ามา อย่างน้อยๆ ก็ควรบอกเราก่อนว่า ‘ขอโทษ’

โฉมฉายคิดเหมือนกับสุดาทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้โต้ตอบ

ระหว่างดูภาพยนตร์อยู่เพลินๆ มีหญิงที่มาช้าเดินเข้าทางแถวหลังที่พวกเธอนั่งผ่านไป สุดาจึงชะโงกมากระซิบว่า
“โอ้โฮ! มารยาททรามที่สุดเลยเธอ ไอ้กระเป๋าของเขาปัดหัวฉันไปเลย ดูซี! ผมยุ่งเลย”

ระหว่างที่ภาพยนตร์ฉาย ยังมีคนที่ลุกไปห้องน้ำ หรือที่เอาลูกเล็กมาด้วยก็ปล่อยให้ร้องน่ารำคาญจนดูหนังแทบไม่รู้เรื่อง เพราะรบกวนประสาทมาก

นงพงาที่นั่งอยู่ถัดไปบ่นเบาๆ ว่า
“เอาเด็กมาทำไมไม่รู้ซี”
“เด็กจะไปดูหนังอย่างนี้รู้เรื่องยังไง๊?”

เสาวณิตก็พูดขึ้นเบาๆ ว่า
“เขาคงไม่มีคนเลี้ยงละมัง แม่คงต้องเลี้ยงเอง พอแม่อยากดูหนังลูกก็ต้องมาด้วย”

นงพงาพูดอย่างโมโหว่า
“งั้นแม่ก็ไม่ควรมาดูหนังซี”
“ถ้าหาคนดูแลลูกไม่ได้ แม่ก็ควรจะเสียสละไม่ดูหนังเสียเลย อย่างน้อยก็ดูโทรทัศน์เอาก็ยังจะดีกว่า ทำอย่างงี้น่ะไม่มีความคิดเลย”

ส่วนสาววัยรุ่นราวสี่ห้าคนที่นั่งอยู่แถวหน้า มีคนหนึ่งสวมกำไลแบบอินเดียนที่ทำด้วยทองเหลืองหรือโลหะ ใส่ซ้อนกันหลายอัน เวลาเธอขยับข้อมือก็มีเสียงดังกรุ๋งกริ๋งอยู่ตลอดเวลา อีกคนก็เอาขนมเข้าไปกิน เวลาแกะก็มีเสียงดังกรอบแกรบ สร้างความรำคาญอย่างมาก บางคนก็พูดกันไม่เกรงใจใคร นั่งพากย์หนังที่เคยดูมาแล้ว และอ่านข้อความในจอไปด้วย ทำให้ทุกคนหันมาดูด้วยความไม่พอใจ

อีกคนก็กำลังเป็นหวัดอย่างรุนแรง ซึ่งจริงแล้วก็ไม่ควรมาดูภาพยนตร์ เพราะสามารถแพร่เชื้อโรคให้คนอื่นได้ เนื่องจากเธอไอ สั่งน้ำมูก และจามสลับกันไป และน่ารำคาญที่สุด

คนที่ตั้งหน้าตั้งตาคุยไม่หยุดปาก ต้องทำให้คนอื่นหมดความสนุกไปด้วย และตัวเองก็ต้องมาเสียเงินดูภาพยนตร์ก็คงไม่รู้เรื่อง ถ้านั่งดูโทรทัศน์ หรือเปิดแผ่นเสียงที่บ้านแล้วคุยกันไปพลางก็คงไม่รู้เรื่องเช่นกัน

หญิงกลางคนที่นั่งอยู่ข้างหน้า ก็คงหมดความอดทน จึงหันมาจ้องหน้า แต่สาวรุ่นกลุ่มนั้นก็ไม่ได้สนใจ แถมยังพูดอีกว่า
“ดูยายนั่นแกทำหน้าตาเข้าซี”

สำหรับวัยรุ่น คนมีอายุดูเหมือนจะต้องเป็นคนล้าสมัยตลอดเวลา น้อยนักที่จะได้รับความเคารพนับถือจากวัยรุ่น การจ้องมองของหญิงกลางคนคนนั้นกลับยิ่งเพิ่มเสียงให้คึกคักมาขึ้นอีก

ชายคนหนึ่งที่นั่งอยู่ใกล้กัน เขาไม่หันมาจ้อง แต่พูดกับวัยรุ่นคนที่เคี้ยวขนมไม่ขาดปากอย่างเรียบๆ ว่า
“ขอโทษเถอะ ถ้าคุณพูดเสียเอง แล้วเราก็ไม่ได้ยินหนังพูดเลยซี”

เขาตั้งใจว่า ถ้าวัยรุ่นพวกนี้ไม่ยอมหยุด เขาก็จะไปเรียกเจ้าหน้าที่ในโรงภาพยนตร์มาจัดการแน่นอน
เมื่อภาพยนตร์และเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีจบลง ทุกคนถวายความเคารพแล้วเดินออกไปเป็นแถว โฉมฉายก็ไม่ได้หยุดรอเพื่อนเนื่องจากเนื้อที่ไม่อำนวย แต่เธอเดินออกไปรอที่ด้านนอกเพราะสะดวกกว่า

โฉมฉายพาเพื่อนๆ เข้าไปในภัตตาคารสะอาดแห่งหนึ่งก่อนจะกลับบ้าน เมื่อสั่งขนมและเครื่องแล้ว ทุกคนต่างก็นั่งวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ชมกันมาตามสมควรแก่กาลเทศะอย่างสนุกสนาน

มีสตรีกับชายคนหนึ่งเดินมานั่งโต๊ะใกล้ๆ ทั้งคู่เพิ่งออกมาจากโรงภาพยนตร์เหมือนกัน พอนั่งลง เธอก็เปิดกระเป๋า หยิบตลับแป้งขึ้นมาส่องดูหน้า เอามือแตะผม เอาแป้งแตะปลายจมูก แตะแก้ม แตะคาง เหมือนผัดหน้าใหม่ทั้งหมด แล้วก็ล้วงเอาหวีเล็กๆ ออกมาหวีผม หยิบกระดาษนิ่มๆ ออกมาเช็ดปาก อ้าปากเสียกว้าง เช็ดแล้วเช็ดอีกจนลิปสติคเก่าไม่เหลือ แล้วเธอก็เอาลิปสติคออกมาวาดริมฝีปากจนเป็นสีแดงสดใส แล้วของทุกอย่างก็ถูกกวาดลงไปอยู่ในกระเป๋า เธอยกขวดน้ำหอมขึ้นมาเปิดจุกดมแล้วแตะที่ขมับ แล้วบ่นว่า “ข้างนอกร้อนจัง!”

ท่าทางของชายที่มากับเธอดูเหมือนว่า เขาทรมานมากที่ต้องนั่งดูการแต่งหน้าทาปากของเธอ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้สนใจเรื่องนี้เลย

โฉมฉายเตือนตัวเองทันทีว่า
“คุณแม่เคยสอนเราไม่ให้หวีผมแต่งหน้าในที่สาธารณะ และต่อหน้าใครๆ แม้แต่เอามือแตะผม หรือจับดึงเสื้อผ้าก็ยังไม่ควร ผู้หญิงคนนี้คงไม่ได้รับการอบรมมาอย่างเรา แหม! หน้าตาสวยๆ น่าเสียดาย”

คุณแม่ถาม เมื่อโฉมฉายกลับมาถึงบ้าน
“สนุกไหม ลูก?”
โฉมฉายตอบ
“สนุกค่ะ”
“ลูกได้รับความรู้มาอีกหลายอย่าง”

คุณแม่ซักด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม
“เช่นอะไรบ้างจ้ะ?”
โฉมฉายตอบ
“คนที่ทำให้คนอื่นเกิดความรำคาญน่ะสิคะ คุณแม่”
“ลูกไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า คนที่ไปช้า คนที่พูดมาก กินขนมและขยี้กระดาษ หรือนั่งไอ นั่งโยกเก้าอี้ในโรงภาพยนตร์น่ะ ทำความเดือดร้อนให้คนอื่นมากแค่ไหน”

คุณแม่พูด
“ลูกยังไม่เคยเจอคนน่ารำคาญอีกพวกหนึ่ง พวกนี้ก็คือคนที่นัดเราแล้วไม่มาตามนัด แม่เคยมีเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งนัดกันไปดูละครสมัยเก่า แต่เขาให้แม่นั่งคอยเสียจนละครเกือบจบฉากหนึ่ง แม่จำได้ว่าแม่อยากดูไอ้ฉากหนึ่งนั่นมากเสียจนเกิดโมโหและตั้งแต่นั้นต่อมา แม่กับเขาไม่เคยนัดกันไปไหนอีกเลย”

“คุณแม่คะ สมมติว่าเราจะไปดูการละเล่นกลางแจ้งอย่างนี้น่ะ เราพูดกันได้โดยไม่เสียมารยาทใช่ไหมคะ?”

“อ๋อ! ถ้าเป็นละครสัตว์ กีฬา หรือการเล่นกลางแจ้งน่ะ ลูกควรพูดกันสิจ๊ะ เพราะอย่างเราไปดูฟุตบอล ถ้านั่งเฉย มันจะไปสนุกอะไรล่ะ หรือถ้าคณะแตรวงของละครสัตว์เขาเดินสวนสนามให้เราดู เด็กๆ ก็มักส่งเสียงโห่ร้อง แม่คิดว่ามีอย่างเดียวที่จะก่อให้เกิดความรำคาญในกลางแจ้งอย่างนี้ ก็คือ คนที่สูบบุหรี่นั่นเอง บางคนพอใจจะสูบก็สูบ ควันถูกลมพัดมาเข้าจมูกเข้าตาใครก็ไม่สนใจ กับอีกพวกหนึ่งคือ พวกที่มีนิสัยชอบยืนเวลาตื่นเต้นจนบังคนที่นั่งข้างหลังหมด คุณพ่อของลูกน่ะ ถึงกับตะโกนบอกพวกนี้ว่า
“นั่งลงได้แล้ว!”
“เพราะถ้าเราไม่เตือนเขาเสียมั่ง ทุกคนที่นั่งแถวหลังก็จะต้องพลอยยืนดูไปด้วย แล้วลูกลองคิดดูสิว่า แถวต่อๆ ไปจะเกิดอะไรขึ้น บางทีเราก็พบว่า ผู้หญิงที่กางร่มเพราะกลัวโดนแดดผิวเสีย ก็ทำให้น่ารำคาญมาก ถ้ามีคนกางร่มหรือใส่หมวกนั่งอยู่ข้างหน้าเรา เราก็ไม่อาจดูอะไรๆ กลางแจ้งได้ถนัด”

ด้วยความโกรธแทนสุดา โฉมฉายจึงตั้งคำถามขึ้นอีกว่า
“คุณแม่คะ คนที่เดินผ่านเราไปโดยไม่ขอโทษ และปัดหัวเราด้วยกระเป๋าและเสื้อผ้าของตัว จะเรียกว่าหยาบคายไหมค่ะ?”

คุณแม่ตอบ
“อ๋อ! ใช่แน่นอนจ้ะ”
“ทำไมล่ะ ลูกไปโดนเข้าอย่างนั้นรึ?”
“เปล่าค่ะ สุดาน่ะค่ะ เขาหัวยุ่งเลย เพราะผู้หญิงคนที่มาสายเดินผ่านแล้วก็ไม่ระวัง กลับเอากระเป๋าปัดหัวเขา แถมไม่ขอโทษสักคำนะคะ!”

คุณแม่ทำหน้าเคร่งขรึมและพูดว่า
“อือม์ นี่สิที่น่าเป็นห่วงนัก ในเรื่องมารยาทของคนเรา แม้แต่เราไม่สาย และจะขอทางเข้าไปนั่งในที่ ก็ควรจะกล่าวขอโทษ และเมื่อรบกวนคนอื่นแล้ว ควรพูดว่าขอบคุณให้ติดปาก เพราะเขาต้องถูกเรารบกวนแท้ๆ ต้องยืนให้เราผ่านขณะที่เขานั่งของเขาสบายๆ แล้ว”

“บางคนมีการลุกไปเข้าห้องน้ำ ไปซื้อขนมของขบเคี้ยวอีกนะคะ คุณแม่”
“อย่างนั้นหรือจ๊ะ? ลูกคงรำคาญมากซิ”
“ยังรำคาญสู้ผู้ชายที่สูบบุหรี่ตรงหน้าลูกไม่ได้ค่ะ ควันมันปลิวมาเข้าตาลูกจนแสบไปหมด ผู้หญิงที่มากับเขาก็ดูเหมือนว่าจะไม่สูบบุหรี่ค่ะ ลูกเห็นเธอขยี้ตาหลายหน และมองดูเขา แต่เขาไม่สังเกตค่ะ ลูกยังแปลกใจเลยว่า ทำไมเธอไม่ขอให้เขาหยุดสูบบุหรี่เสียก่อน”

“พูดถึงเรื่องไปดูภาพยนตร์ แม่ยังไม่ได้บอกลูกใช่ไหมจ๊ะว่า คุณพ่อมีแขกสามคนที่เราจะเชิญมารับประทานอาหารที่บ้าน แล้วพาไปดูภาพยนตร์เรื่องใหม่เอี่ยมของกรุงเทพฯ ขณะนี้?”

โฉมฉายถามอย่างตื่นเต้น
“เมื่อไหร่คะ?”
“วันศุกร์หน้าจ้ะ ตอนแรกคุณพ่อคิดว่า จะพาเขาไปที่ภัตตาคารหรูๆ แต่แล้วก็คิดว่า บ้านเราก็เรียบร้อยพอ ฝีมือกับข้าวก็ดีพอควร ควรเอาเขามาบ้านเราจะดีกว่า นี่แม่ก็ได้ยินว่า คุณพ่อไปจองตั๋วเอาไว้เรียบร้อยแล้ว”

โฉมฉายพูดขึ้นว่า
“ความจริงการจองตั๋วนี่ดีจังนะคะ”
“ถ้าคุณพ่อไม่จองตั๋วไว้ให้เพื่อนกับลูกละก็ ไม่แน่ใจว่าจะเบียดคนไหวหรือเปล่า และจะได้ดูหรือเปล่าก็ยังไม่ทราบเลยค่ะ”

คุณแม่พูดด้วยความภาคภูมิใจ
“คุณพ่อของลูกเป็นคนรอบคอบเสมอ”
“เวลาเราเชิญแขกไปดูภาพยนตร์หรือละครแม่คิดว่าควรจองตั๋วเสมอ เพื่อความโล่งใจ และสบายใจ และขจัดความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้น ทำให้แขกต้องเดือดร้อนและคอยนาน เอาละ….แม่เองก็จะไปเตรียมทำรายการอาหารที่จะเลี้ยงแขกเย็นวันศุกร์ ลูกมาช่วยแม่คิดสิจ๊ะ”

โฉมฉายเดินตามคุณแม่ไป คุณแม่ก็ภูมิใจที่ลูกน่ารักอย่างโฉมฉาย

อรศรีทนความรำคาญในโรงภาพยนตร์ไม่ไหว จึงไม่ชอบดูมัน เธอให้เหตุผลว่า
“ฉันทนฟังคนขยำกระดาษแก้ใส่หูไม่ไหว ทำไมต้องเกิดหิวโหยในโรงหนังโรงละครก็ไม่รู้ ของที่เขากินก็จะต้องเฉพาะบรรจุในถุงกระดาษแก้วเสียด้วย ไอ้ที่ร้ายรองลงมาคือ ดูดน้ำหวานจากถ้วยกระดาษจนหยดสุดท้าย แหม! เสียงซืดซาด รำคาญสิ้นดี”

นอกจากนี้อรศรียังเกลียดเสียงคนข้างหลังที่เคี้ยวหมากฝรั่งจั๊บๆ เกลียดเสียงผู้หญิงข้างๆ ที่กินลูกหยีใส่พริกแล้วทำเสียงซูดซาดไปด้วย เกลียดควันบุหรี่จากผู้ชายที่นั่งข้างหลัง และเกลียดเสียงร้องลั่นของเด็กเล็กๆ ที่ร้องสลับกับบอกแม่ว่า “กลับบ้านแม่…กลับบ้าน” ที่สุด ทำให้ดูภาพยนตร์เกือบไม่รู้เรื่อง

เราก็อาจเจอเหตุการณ์เช่นเดียวกับอรศรี ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง อาจจะเคยรำคาญจนถึงขั้นอยากจะเอาปลาสเตอร์แผ่นโตๆ ไปปิดปากนักพากษ์ที่อยู่ข้างหลัง เรากำลังดูอยู่เพลินๆ ก็เล่าเหตุการณ์เสียหมด เช่น “อย่ากลัวพระเอกตายหน่อยเลยน่า เดี๋ยวพอจะจบไอ้ตัวโกงก็โดนกระสุนลูกหลง แล้วพระเอกก็ตกลงหนีออกจากที่คุมขังมาได้…”

การกระทำที่กล่าวมาทั้งหมดจัดว่าเป็นการเสียมารยาท แม้ผู้ที่ได้รับการศึกษาดีบางครั้งก็อาจเผลอเรอได้เหมือนกัน

ไม่ว่าท่านจะออกไปไหนท่านควรแต่งตัวให้สุภาพเพื่อมารยาทที่ดีงาม ไม่ใช่ใส่ชุดอยู่กับบ้านไปในชุมชน คนทั่วไปที่มองเห็นเขาก็คงไม่ว่าอะไร แต่ถ้าท่านไปเจอคนสำคัญที่ควรเคารพนับถือเข้าคงไม่เป็นการดีแน่ และอาจนึกอยู่ในใจว่า
“แหม! ถ้ารู้อย่างนี้ เราก็คงจะแต่งตัวให้ดีกว่านี้”

เมื่อออกไปไหนเราจะไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะไปเจอใครเข้า ดังนั้นจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ

เมื่อต้องเข้าไปชมมหรสพ ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม น้ำมันใส่ผมที่กลิ่นแรง เพราะกลิ่นที่แรงเกินไปจะไปก่อความรำคาญให้กับผู้อื่นได้

คนที่เข้ามาในโรงมหรสพสายกว่าคนอื่น คือคนที่เห็นแก่ตัวที่สุด เพราะรู้อยู่แล้วว่าการที่ต้องให้คนที่นั่งอยู่ก่อนต้องลุกขึ้นยืนในความมืด เพื่อที่จะให้เขาเดินผ่านไปได้มันขลุกขลักขนาดไหน บางคนอาจทำกระเป๋าหล่น หารองเท้าไม่เจอ หรือไปเหยียบขาคนอื่นเข้า

สุภาพบุรุษควรดูแลสุภาพสตรีที่ท่านพาไปชมภาพยนตร์หรือละคร คอยช่วยระวังไม่ให้เธอพลาดลื่นล้มในความมืด ควรให้เธอนั่งให้เรียบร้อยก่อนแล้วท่านถึงจะนั่งลงได้

สุภาพสตรีก็ไม่ควรนำของกินเล่นของขบเคี้ยวเข้าไปกิน จนทำให้เกิดเสียงดังรบกวนผู้อื่นให้เกิดความรำคาญได้

ผู้ที่เข้าชมมหรสพถ้าอยากคุยกันก็ทำได้แค่กระซิบเบาๆ เท่านั้น ไม่ควรออกจากโรงภาพยนตร์เร็วก่อนเพลงสรรเสริญพระบารมี เวลาลุกขึ้นก็ไม่ควรลุกลนดึงแต่งเสื้อผ้าให้เข้ารูป เพราะมีเวลาถมเถไปที่แต่งได้ในภายหลัง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

มารยาทบนรถประจำทาง

นุชนาฏถามขึ้น เมื่อเห็นพี่สาวหอบหนังสือหลายเล่ม ใบหน้าก็เป็นมัน แสดงให้รู้ว่าการเดินทางมาจากโรงเรียนวันนี้ เธอต้องโหนรถเมล์มาตลอดทาง
“พี่ขวัญ ทำไมอ่อนระโหยโรยแรงอย่างนั้นเชียวหรือคะ?”

ขวัญใจตอบน้องสาวว่า
“โอย เหนื่อยแทบตายเชียวแหละ ห้อยโหนโจนทะยานมาตลอดทางเลยรู้ไหม” แล้วเธอก็วางหนังสือลงบนโต๊ะ หยิบผ้าเช็ดหน้าออกมาซับเหงื่อ

เกียรติน้องชายคนเล็กที่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ข้างๆ ก็พูดขึ้นมาบ้างว่า
“แหม! ขนาดนั้นเชียวเหรอครับ พูดยังกับสมุนพระรามแน่ะ ทำไมนะถึงไม่มีใครเอื้อเฟื้อพี่สาวเราเลย”
ขวัญใจทรุดตัวลงนั่งระหว่างน้องทั้งสองแล้วเริ่มปรับทุกข์กัน

ขวัญใจพูด
“หายากนักละสมัยนี้ สุภาพบุราหายากเต็มที เราขึ้นรถเมล์ ไม่ค่อยจะมีเล้ยที่จะเอื้อเฟื้อ แย่มากใจดำ

เกียรติน้องชายพูดว่า
“ไหงพูดงั้นล่ะครับ พี่กลาง พูดอย่างนี้ไม่ดีนา ผมคนหนึ่งไงล่ะครับ ที่เป็นสุภาพบุรุษ ไม่เคยเลยที่จะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เวลาที่ควรจะเอื้อเฟื้อ มันรู้สึกอึดอัดใจอายพิกล ถ้าหากจะให้สุภาพสตรี เด็ก หรือคนแก่ยืนโหนรถในขณะที่เรานั่งอย่างสบาย ผู้หญิงน่ะซี บางทีเขาลุกให้ก็ไม่นั่ง เราก็เลยเก้อ บางทีนึกๆ ก็ไม่อยากลุกให้ กลัวได้อายต้องตัดสินใจอยู่เป็นนาน”

นุชนาฎบอกว่า
“ไม่จริง ไม่จริง เธอละก็ดีแต่ว่าผู้หญิง”

ขวัญใจต้องห้ามเสีย ก่อนที่จะมีการโต้เถียงต่อไป
“นี่น้องจ๋า ฟังพี่หน่อยได้ไหม พูดก็พูดเถิด ว่ากันที่จริงน้องพูดก็มีเหตุผลทั้งสองฝ่าย คือบางที พวกของเกียรติก็ไม่ยอมเอื้อเฟื้อเลย คนประเภทนี้เราน่าจะเรียกว่า “ผู้ชาย” ไม่ใช่ “สุภาพบุรุษ” แต่บางที สุภาพบุรุษเขาเอื้อเฟื้อ สุภาพสตรีก็ไม่ยอมนั่ง ทำให้เขาเก้อ น่าเห็นใจอยู่หรอก อุตส่าห์ปรารถนาดีเสียสละออกอย่างนั้น เพราะฉะนั้น กลางจำไว้นะจ้ะว่า ถ้ามีสุภาพบุรุษเขาเอื้อเฟื้อแล้ว เราต้องนั่ง บางทีพี่เห็นบางคนนั่งเหมือนกัน แต่จะขอบคุณสักคำก็ไม่มี น่าเกลียดมาก เป็นมารยาทที่ไม่งามเลย คนไทยเราน่าจะเอาอย่างฝรั่งเขาอยู่ข้อหนึ่งคือ ฝรั่งเขาขอบคุณกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะโดยสารแท็กซี่ เขาก็ขอบคุณโชเฟอร์ โชเฟอร์ก็ขอบคุณผู้โดยสาร เข้าร้านอาหาร เขาก็ขอบคุณบริกร คำว่า Thank you และ Sorry ติดปากเขาเสมอ ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็เป็นความน่ารักอย่างมาก การกล่าวขอบคุณไม่ทำให้เราเสียอะไรเลย แต่กลับมีผลมากมายมหาศาล เป็นการสร้างความน่ารัก น่านับถือ น่าเอ็นดู ให้กับตัวเราด้วย ใครๆ จะชมเชยเราว่าเป็นผู้มีมารยาทงาม และเต็มใจจะช่วยเหลือเราอยู่เสมอ”

เกียรติพูดว่า
“พี่ขวัญพูดน่าฟัง ผมเห็นด้วย เช้าๆ ผมออกไปโรงเรียน เจอเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเสมอ เป็นเด็กมัธยม ราวๆ ม.ศ. ๒-๓ มารยาทดีมาก ผมได้ยินแกขอบคุณค่ะ ขอบคุณค่ะ ไม่ว่าจะมีคนลุกให้หรือถือกระเป๋าให้ ถ้าแกมีที่นั่งก็ช่วยเหลือถือกระเป๋า ถือหนังสือให้นักเรียนคนอื่นๆ ด้วย

นุชนากพูดบ้างว่า
“บางคนก็ใจดำเหลือเกิน ไม่เห็นช่วยเหลือใครเลย ทำไมเขาไม่รู้สึกกระดากใจบ้างนะ ชอบกลจริง กลางจะเล่าให้ฟัง เมื่อวานซืน กลางไปสุขุมวิทกับเพื่อน ขึ้นรถไปถึงสี่แยกราชประสงค์ รถคันนั้นแน้นแน่น มีคนแก่ขึ้นไปคนหนึ่ง แก่มากเชียวอายุราวๆ ๖๐ ได้ แกขึ้นไม่ค่อยได้ อยู่แค่ประตูรถยืนก็ไม่ถนัด และตรงเก้าอี้ตัวหน้าประตูนั่นแหละ มีผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่นั่งอยู่ ถ้าจะโหนรถเมล์ก็จะไม่ลำบากอะไรเลย รูปร่างก็ผึ่งผายดี แต่จิตใจไม่สูงเลย นั่งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน แหม! กลางโมโหจังเลย คนพากันมองเป็นตาเดียว ถ้ากลางมีที่นั่งนะคะ กลางจะลุกทันทีเลย อยากจะรู้ว่า แม้แต่ผู้หญิงเขายังลุก นายคนนั้นจะรู้สึกอายไหมนะ”

ขวัญใจพูดต่อว่า
“นั่นซี การขึ้นรถเมล์ก็เป็นการได้ประสบการณ์เหมือนกัน บางทีเราก็ได้เห็นอะไรๆ แปลกๆ จากในรถเมล์”

เกียรติพูดขึ้นว่า
“บางคนนะครับ พอขึ้นมาก็จุดบุหรี่สูบควันโขมง ช่างไม่เกรงใจผู้โดยสารอื่น และเด็กเล็กที่ยัดเยียดแออัดกันเสียเลย บางคนก็ส่งเสียงคุยราวกับรถเมล์เป็นรถส่วนตัวของฉัน โดยไม่คิดว่าใครเขาจะรำคาญ ที่ร้ายนักก็ยังมี ประเภทกล่าวคำด่าว่าด้วยความคะนองปาก ช่างไม่คิดว่าคนฟังเขาจะตีราคาคนพูดอย่างไรเลย

ขวัญใจพูดกับเกียรติว่า
“เกียรติ! ที่โรงเรียนน้องมีนักเรียนแต่งตัวแบบจิ๊กโก๋ไหม แหม! พี่เห็นกลุ่มหนึ่งเมื่อเช้านี้ ไม่รู้ว่านักเรียนที่ไหน เห็นข้างหลัง นุ่งกางเกงทรงสมัยใหม่คับแสนคับจดมดเข้าไปก็คงตาย เอวกางเกงเลื่อนลงมาอยู่ที่สะโพก! โอย! ผมก็ยาวยังกะผู้หญิง!”

เกียรติตอบ
“ทรง Beatles ฮะ”

ขวัญใจพูดต่อว่า
“รู้แล้วจ้ะ มันน่าเกลียด ทำไมเขาจึงเอากางเกงแบบนั้นมาแต่งกับเครื่องแบบ ดูน่าเกลียดพิลึก นักเรียนหญิงบางคนนุ่งกระโปรงสั้นเต่อเหลือเกิน น่าเกลียดมาก ที่สงสารพ่อแม่ของเด็กพวกนั้นเหลือเกิน ลูกหลานทำไม่ดีผู้ใหญ่ก็หนักใจ เธอสองคนจำไว้นะจ๊ะพี่พูดนี่ เพื่อให้เห็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดี ซึ่งเราควรหลีกเลี่ยง เรื่องคุยกันเสียงดังลั่นในรถเมล์อีก พี่ขอร้องอย่าเอารถเมล์เป็นสถานที่สังสรรค์เป็นอันขาด พี่คิดว่าทั้งกลางและเกียรติ คงจะทำได้โดยไม่อึดอัด เพราะเราได้รับการอบรมมาดีแล้วทั้งนั้น คนเป็นสัตว์ประเสริฐ ก็ต้องมีระเบียบวินัย จริงไหมจ๊ะ”

นุชนาฏบอกพี่สาวว่า
“ไม่เคยคิดจะทำเลยค่ะ พี่ขวัญ ไว้ใจได้จริงไหมเกียรติ”

เกียรติตอบ
“จริงครับ รับเอาด้วยเกียรติของสุภาพบุรุษน้อย”

นุชนาฏพูดต่อว่า
“อย่ากลายเป็นเกียรติของผู้ชายไปก็แล้วกัน”
พี่น้องทั้งสามคนก็หัวเราะกันอย่างมีความสุข

ขวัญใจพูดว่า
“พี่ไปอาบน้ำละนะ คุยเพลินอยู่ตั้งนานสองนาน น้องจะได้ทำงานกันเสียที

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

ผู้แทรกแซงความสุขของผู้อื่น

สายจิตบอกเมื่อวันก่อนว่า
“ฉันพบวิมาลาที่โรงเรียนของเขาโดยบังเอิญแท้ๆ ไม่ทราบเลยว่าวิมาลาเป็นครูอยู่ที่นั่น เราได้คุยกันนิดเดียว ไม่สมกับที่คิดถึงเขาแทบแย่”

จึงอดไม่ได้ที่จะถามต่อว่า “ทำไมล่ะ?”
“ก็ยายสุมาลีน่ะซี จำยายสุมาลีที่พูดเป็นต่อยหอยสมัยอยู่โรงเรียนเก่าได้ไหม? นั่นแหละ เกิดไปพบเขาด้วย พอเห็นหน้าเขาก็รี่เข้ามาเลย เรากำลังคุยเรื่องของเราอยู่ก็เลยต้องเงียบ เพราะไม่ใช่เรื่องที่สุมาลีจะสนใจฟัง และไม่ใช่เรื่องที่เราควรเล่าให้เขาฟัง ตกลงวันนั้น ฉันเลยนั่งฟังเขาเล่าเรื่องของเขานี่ว่า วันหน้าจะต้องชวนวิมาลาออกไปข้างนอกสักหน่อย จะได้คุยกันให้สนุกสมใจ”

ในขณะที่เขากำลังสนทนากันเรื่องของเขา เราก็ไม่จำเป็นต้องยื่นหน้าเข้าไปเป็นส่วนเกินเลย แต่ควรจะทักทายกันในฐานะที่รู้จักกันสักสองสามคำ ถ้าเขาไม่ได้เชิญชวนให้สนทนาด้วย ก็ไม่ควรจะพาตัวเองเข้าไป

การเข้าไประหว่างการสนทนาดังกล่าวเป็นการก่อกวนความสงบสุข ไม่ใช่มารยาทที่ดี เป็นสิ่งที่หยาบคายไร้ความคิด ท่านคงจำได้เมื่อตอนยังเด็ก เวลาที่พ่อแม่กำลังคุยอยู่กับผู้ใหญ่แล้วลูกๆ พูดสอดขึ้นมา ก็จะถูกเอ็ดกันบ่อยครั้ง แต่เมื่อโตขึ้นไม่มีใครเอ็ด ก็เลยทำตัวก่อกวนความสงบต่อไปโดยไม่รู้ตัว

ท่านควรใช้ปฏิภาณสำรวจความรู้สึกของเพื่อนสองคน หรือบุคคลใดก็ตามที่ไม่ได้พบกันมานาน และเขาก็สนิทสนมชอบพอกันด้วย ว่าท่านควรทักเขาด้วยอาการแจ่มใส แต่ไม่พูดให้นานเกินไป เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้เขาได้สนทนากันต่อไปด้วยความสงบตามลำพัง

หากมีคนใดคนหนึ่งชวนท่านเข้าไปคุย ก็ควรปฏิเสธคำชวนนั้นอย่างสุภาพ และเลี่ยงไปทำธุระของตัวท่านเองดีกว่า

แต่ถ้าเขาเชิญอย่างจริงใจ และท่านก็รู้ว่าเขาไม่มีเรื่องส่วนตัวสนทนากันต่อ ท่านก็สามารถเข้าไปร่วมสนทนาด้วยได้ไม่ผิดอะไร

ที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง สวัสดิ์ได้พาสุมณีไปรับประทานอาหาร เขาเลือกโต๊ะที่มีเก้าอี้เพียงสองตัวและสั่งอาหาร เมื่อบ๋อยนำอาหารมาวางบนโต๊ะแต่ยังไม่ครบทุกอย่าง ซึ่งเป็นเวลาที่สินีเดินเข้ามา เธอเดินเข้าไปคุยกับสุมณีในฐานะที่เป็นเพื่อนกัน สวัสดิ์ก็ต้องลุกให้สินีนั่งลงคุย ทั้งๆ ที่จะลงมือรับประทานอาหารอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมาชะงักลง อาหารก็เริ่มเย็นลงทุกที สวัสดิ์ก็ยืนเกะกะอยู่ บ๋อยจึงนำอาหารจานอื่นมาวางไม่สะดวก สวัสดิ์ต้องเมื่อยขาและหิวแทบแย่ กว่าสินีจะสนทนาจบ พอสินีลุกไปอาหารก็เย็นชืดหมดทุกอย่าง สินีไม่รู้จักเลือกเวลาให้ถูกต้อง ทั้งสวัสดิ์และสุมณีจึงไม่ยินดียินร้ายกับการมาของเธอเลย

การทำตัวก่อกวนความสงบสุขเช่นนี้ เป็นการทำให้คนอื่นเบื่อหน้าเราไปเลยก็ได้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

คนพูดน้ำลายกระเซ็น

อรสาแอบปลีกตัวออกไปจากห้องอย่างเงียบๆ โดยไม่มีใครสังเกต ขณะที่กำลังสนทนากันอยู่อย่างเพลิดเพลินในกลุ่มเพื่อน เธอยืนอยู่ที่อ่างล้างหน้า กำลังเอาผ้าเช็ดหน้าแตะน้ำเช็ดที่จมูกและแก้มอย่างนุ่มนวล จึงอดไม่ได้ที่จะต้องถามเธอว่า “ทำไมต้องทำอย่างนั้น?”

อรสาหันมาด้วยสีหน้าไม่ค่อยพอใจ จนอดคิดไม่ได้ว่าเธออาจไม่ชอบคำถามแบบนั้น แต่อรสาก็บอกว่า
“ยายสายสุรีย์น่ะซีเธอ เรียกชื่อฉันทีเดียว น้ำลายเต็มหน้าฉันหมดเลย ไอ้เราจะบอกหรือก็จะโกรธเอา จะเช็ดก็ไม่รู้จะตั้งต้นตรงไหน เพราะมันเต็มไปทั้งหน้า เลยต้องเดินออกมาเอาดื้อๆ ให้เสียมารยาทอย่างนี้เอง”

“สายสุรีย์พูดเก่งจนเกินพอดี เรื่องที่เธอคุยก็สนุกดี แต่เมื่อเธอเล่าต้องมีคนถอยฉากออกมาห่างๆ ในระยะปลอดภัย เพราะกลัวเธอจะพ่นน้ำลายใส่หน้าเอา”
“แล้วยังชอบเรียกชื่อตัวเองอีกนะเธอ”
“สายสุรีย์ยังโง้น สายสุรีย์ยังงี้ โธ่! เขาช่างไม่รู้ตัวเลยว่าไอ้ตัว ส. ทั้งหลายของเขาน่ะ มันทำให้คนต้องหลบกันเป็นพัลวัน พอเจอเขาเข้าละแทบจะต้องกางร่มกั้นกันทีเดียว”

เมื่อสอบถามเธอต่อว่า
“เขารู้ตัวหรือเปล่าว่า พูดแล้วน้ำลายกระเด็นบ่อยๆ”

อรสาตอบว่า
“ทำไมจะไม่รู้ แต่เขาไม่รู้ว่าจะแก้ยังไงน่ะซี ไอ้ที่เสียน่ะ”
“เป็นเธอ เธอจะแก้อย่างไร? ของมันเคยทำมาแต่ไหนๆ จะแก้น่ะไม่ใช่ง่ายนา”
“สิ่งที่เขาต้องทำก็คือ พูดให้ช้ากว่านี้มากที่สุด และพอถึงตัวอักษรอันตราย เช่น บ, ป, ผ, ฝ, ส, ฟ พวกนี้ก็ต้องระวังเป็นพิเศษ นอกจากนั้นก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะขัดขวางไม่ให้เขาเป็นนักพูดที่พูดแล้วมีคนกล้าฟังใกล้ๆ ได้เลยนี่”

บางครั้งเราก็เคยเผลอพูดแบบพ่นน้ำลายใส่หน้าผู้ฟังมาแล้ว ซึ่งทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ผู้พูดต้องปล่อยเลยตามเลย เพราะไม่รู้จะไปสรรหาคำขอโทษได้ที่ไหน และการจะนำเอาผ้าเช็ดหน้ามารอไว้ที่ปากขณะพูด หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าซับริมฝีปากบ่อยๆ ก็ไม่ควรทำ วิธีแก้ก็คือ ควรพยายามใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในเวลาพูด และพูดให้ช้าลง

ควรหลีกเลี่ยงการสนทนาชนิดเร็วปรื๋อ ถ้ารู้ตัวว่าพูดแล้วน้ำลายกระเซ็นและต้องไม่หัวเราะเสียงดังๆ เป็นอันขาด เพราะจะมีคนหลบกันมากกว่าเวลาพูดเสียอีก

หากท่านต้องยืนฟังประจันหน้ากับคนที่พูดน้ำลายกระเซ็นคนหนึ่ง ควรยืนห่างกันพอสมควรเพื่อความปลอดภัย และในบางครั้งต้องฝืนคุยกับคนที่ชอบยื่นหน้าเข้ามาจนชิด ยิ่งถอยหนีก็ดูเหมือนว่าเขาจะยิ่งขยับเข้ามาใกล้ จนอยากจะเอามือยันเอาไว้ หรือผลักให้กระเด็นไปเลยทีเดียว

ในการสนทนา ควรยืนห่างกันในระยะชั่วเอื้อมแขน เพื่อป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ ไม่มีใครอยากให้หน้าของตัวเองเปื้อนน้ำลายของคนอื่น เพราะแค่เพียงนิดเดียวก็เป็นที่น่ารังเกียจแก่เขา

ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด ที่จะต้องสนทนากันอย่างใกล้ชิดเกินพอดี เพราะแม้ว่าจะอยู่ไกลกันกว่าชั่วมือเอื้อม ผู้ฟังก็อาจได้ยินเสียงของท่านได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

คนชอบทำเด่น

ก่อนปิดภาคเรียน มีงานรื่นเริงที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีละครเวทีขนาดย่อมอยู่ด้านหนึ่งของสนาม ละครเรื่อง “พระลอ” กำลังดำเนินไปถึงฉาก “ชมสวนขวัญ” ในขณะที่กรรณิการ์กับศศิธรกำลังคุยกันอยู่ นักเรียนคนไหนพอใจในตัวละครก็มีกล้องถ่ายรูปมาถ่ายภาพไปเก็บไว้ดูกัน

กรรณิการ์กับศศิธรรับขนมจีบซาลาเปามาขายให้แก่นักเรียนคนอื่นๆ ทั้งสองเพิ่งว่างเพราะเพิ่งขายหมดไป แต่ก็ปรึกษากันต่อว่าจะไปช่วยร้านไหนขายของดี? เพราะนักเรียนทุกชั้นต่างก็ออกร้านกันคนละร้าน แต่เมื่อเห็นเด็กหญิงคนหนึ่งเดินผ่านมาทั้งสองก็หยุดชะงักการพูดทันที

เมื่อเด็กคนนั้นเดินผ่านไปแล้ว กรรณิการ์จึงพูดขึ้นว่า
“นั่นแหละ ถ้าชั้นของเรามีเพื่อนร่วมชั้นอย่างเบญจมาศหลายๆ คนละก็ อย่าว่าแต่จะขายของขาดทุนเลย ฉันว่าจะขายไม่ได้เลยด้วยซ้ำไปน่ะซี”

ศศิธรเห็นด้วยและพูดว่า
“จริงนะ เวลาเราทำอะไร เบญจมาศไม่เห็นเคยยื่นมือเข้ามาช่วยเลย เอาแต่สบายท่าเดียว แล้วก็แต่งตัวเดินฉายไปฉายมา”

กรรณิการณ์พูดตัดบท
“แต่อย่าไปพูดถึงเขาเลย เดี๋ยวจะกลายเป็นนินทา”
“แน่ะ! คุณครูทางโน้นกวักมือเรียกเราแล้ว คงจะให้ไปช่วย ไปกันดีกว่า”

เมื่อพูดถึงเบญจมาศ
ในวันนี้ เบญจมาศรู้สึกราวกับว่าโลกทั้งโลกเป็นของเธอ เธอมีความสุขมาก เพราะคุณแม่ตัดเสื้อชุดใหม่ที่ทันสมัยให้ โบคาดผมกับรองเท้าก็เข้ากัน ไม่มีใครเถียงว่าเบญจมาศเป็นคนสวย แต่มีน้อยคนที่จะชอบเธอ เพราะเบญจมาศไม่ชอบช่วยเหลือใครไม่ว่าจะเป็นงานของโรงเรียนหรือของเพื่อน เธอคิดเสมอว่าผลตอบแทนที่ได้รับน้อยมาก บางทีก็แทบจะไม่มีเลย มันเป็นการเหนื่อยเปล่า

คุณครูเคยพูดให้ฟังในชั้นเรียนว่า
“คนที่อยากกว้างขวาง มีเคล็ดลับนิดเดียว”
“คือไม่เอาใจใส่ในตัวเองมาก แต่เอาใจใส่ในคนอื่นมากกว่าตัวเอง มีความใส่ใจในทุกสิ่งทุกอย่างและทุกคนที่ได้พบเห็น ชอบรู้จักคนและสนใจในเขา มีความคิดดี ใจดี เมตตากรุณา และมารยาทที่แสดงออกมา ก็อ่อนหวานไม่แข็งกระด้าง”

แต่คำพูดนี้เบญจมาศไม่ได้เอามาใส่ใจ เธอไม่อยากเอาใจใคร ไม่ต้องการรู้จักมารยาทที่ดี และไม่นึกถึงใครมากกว่าตัวเธอเอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เบญจมาศมีเพื่อนน้อย

“พี่เบญจมาศคะๆ ขอหนูถ่ายรูปหน่อยคะ แหม! วันนี้พี่แต่งตัวสวยจัง หนูมองไกลๆ นึกว่าดาราเดินอยู่ในโรงเรียนเราแน่ะค่ะ”

เสียงที่ประสานกันนี้ ทำให้เบญจมาศรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นดาราภาพยนตร์จริงๆ เธอเชิดคอขึ้นอย่างสวยงามเมื่อมองเด็กนักเรียนที่ชั้นต่ำกว่า ขณะที่เด็กถ่ายภาพเธอกันใหญ่ เธอก็ยิ้มแล้วยิ้มอีก จนแทบจะลืมตัวไปชั่วขณะ เธอควรจะทักทายเด็กเหล่านั้นบ้างถ้าเป็นคนอัธยาศัยดี เช่น
“พวกน้องๆ ก็สวยกันออกในวันนี้!”
แต่เธอเห็นว่าเสื้อผ้าที่คนอื่นใส่มาในงานวันนี้ไม่สวยเลยสักชุด เธอจึงไม่คิดที่จะพูดแบบนั้น

คุณครูร้องมาจากเพิงศาลาไทยแบบง่ายๆ ที่ทาด้วยสีสันสวยงามชวนมองว่า
“เบญจมาศ อยู่ว่างๆ ก็มาช่วยร้านขายขนมจีนแกงไก่หน่อยซีจ๊ะ”

เบญจมาศยิ้มพอเป็นพิธีเมื่อเหลือบมองไปทางครู แต่ก็นึกในใจว่า ที่ร้านนั่นมันร้อนแสนร้อน ขืนเข้าไปก็เท่ากับลงนรกทั้งเป็น ไฟในเตาอั้งโล่ก็ปะทุลูกไฟออกมา เสื้อของเธอคงเป็นจุดไหม้เกรียม คนแถวนั้นก็ดูเหน็ดเหนื่อย มีเหงื่อไคลราวกับน้ำ เพียงเพื่อเงินที่น้อยนิดเสียเหลือเกิน

เบญจมาศเดินผ่านแล้วตอบครูว่า
“หนูจะไปช่วยเขาทางโน้นพอดีค่ะ คุณครู”

เมื่อครูมองตามก็พบว่า เธอไปนั่งดูละครอยู่กับนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่ง ทำให้ครูต้องส่ายหน้าอย่างท้อแท้

ในขณะที่นั่งดูละคร เบญจมาศก็คุยไปพลาง พูดว่าฉากต่อไปจะเป็นอย่างไร พูดเสียงดังจนเด็กคนอื่นต้องหันมามอง แต่เมื่อเห็นว่าเป็นคนสวยอย่างเบญจมาศทุกคนก็ไม่กล้าพูด แต่เนาวรัตน์ที่อยู่ชั้นสูงกว่าเบญจมาศก็ได้พูดขึ้นอย่างไม่เกรงใจว่า
“นี่ สงบปากเสียมั่งเถอะ พากย์ลั่นยังกะฆ้องปากแตก ละครอย่างนี้ เขาไม่ต้องการจ้างคนพากย์จ้ะ”

จึงทำให้เบญจมาศสงบลงได้ แต่นิสัยช่างพูดของเธอทำให้สงบอยู่ได้ไม่นาน เธอเที่ยวเอาข้อศอกถองคนโน้น กระทุ้งคนนี้ ดึงแขนเพื่อน สะกิดสะเกาตลอดเวลา จนเพื่อนๆ รำคาญ แต่เธอเผลอไปกระทุ้งเอาเนาวรัตน์ก็เลยโดยเอ็ดว่า
“แหม! เธอนี่หน้าตาสวยๆ แต่มารยาทไม่ดีเลย คนดีเขาไม่นั่งกระทุ้งคนอื่นหรือวุ่นวายกับใครๆ อยู่ไม่สุขยังงี้หรอก ฉันเองก็ไม่เคยสะกิดใคร เพราะยังงั้นใครมาสะกิดฉัน ฉันก็รำคาญ เลิกทีน่า”

เบญจมาศพยายามเลิก และภาวนาในใจให้เนาวรัตน์ลุกขึ้นไปเสีย พอถึงฉากที่สาม เนาวรัตน์ก็ลุกขึ้นไปจริงๆ ทำให้เบญจมาศมีโอกาสคุยอย่างออกรสต่อไป หัวเราะเสียงดัง ทำท่าทางคล้ายกำลังเล่นละคร และยิ่งออกท่าทางมากขึ้นเมื่อมีคนมองมาที่เธอ เพราะคิดว่าดึงความสนใจจากคนอื่นมาได้

เบญจมาศแกล้งหัวเราะออกมาทั้งๆ ที่ละครไม่มีอะไรให้ขบขัน แต่เป็นเพราะเมื่อสักครู่มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า
“เบญจมาศ เวลาเธอหัวเราะนี่ หน้าเธอสวยกว่าตอนไม่ยิ้มไม่หัวเราะอีก”

เธอตั้งใจว่าต่อไปนี้จะหัวเราะวันละสิบชั่วโมง

ทุกคนสงสัยว่าเมื่อไหร่เสียงหัวเราะเสียงกระซิบจะหยุดเสียที เบญจมาศเปิดปากยิ้มตลอดเวลาเหมือนจะโฆษณายาสีฟัน คุยดังบ้างเบาบ้างตามใจชอบ เธอก่อความเดือดร้อนรำคาญใจให้ทุกคนโดยไม่สนใจว่าใครจะอยากฟังละครมากกว่า

เมื่อละครเลิก จะมีการแสดงการฟ้อนรำต่อ ซึ่งเบญจมาศก็ต้องแสดงด้วย เธอรีบไปแต่งตัวกับเพื่อนที่แสดงฟ้อนรำเชียงใหม่ แต่เครื่องแต่งกายของเธอสวยกว่าคนอื่น ผ้าไหมก็ยกเงิน เสื้อเป็นผ้าไหมแท้ เครื่องประดับที่ศีรษะก็สูงจนแทบเอียงคอไม่ได้ เธอทาเล็บสีแดงแจ๊ด แต่งหน้ามากเกินไปจนดูไม่สวย เมื่อเดินออกมาหน้าเวทีเธอก็อดยิ้มไม่ได้ เพราะคิดว่าทุกสายตาต้องจ้องอยู่ที่เธอคนเดียว

เสียงดนตรี เสียงซอ เสียงขลุ่ยที่อ่อนโยน ฟังแล้วซาบซึ้ง ทำให้เบญจมาศอดคิดไม่ได้ว่าเธอกำลังลอยอยู่เหนือเมฆ

เบญจมาศมองซ้ายทีขวาทีเมื่อเดินมาอยู่หน้าเวที แล้วกราดยิ้มไปทั่ว ทุกสายตามองดูเธอทั้งนั้นจริงๆ ทุกคนมองแล้วก็ยิ้ม…แล้วก็กระซิบกระซาบกัน และเขาคงพูดกันว่า
“นั่นไง ดาราดวงเด่นของโรงเรียน สวยเหลือเกิน สวยเหมือนดาราจริงๆ น่ะแหละ รำก็สวยกว่าเพื่อน แต่งตัวก็เด่นกว่าใครหมด รอประเดี๋ยวเถอะ จะมีตากล้องมาจับภาพเยอะแยะนับไม่ถ้วนเชียวละ”

แม้จะไม่ได้ยินคำที่เขาพูดกัน แต่เบญจมาศก็เชื่อว่า เขาคงพูดอย่างนิยมชมชอบในตัวเธอ เพราะทุกสายตามองเธอแล้วก็หันมายิ้มกัน

ผู้ฟ้อนรำทุกคนค่อยๆ ฟ้อนจากไปเมื่อดนตรีจบลง แต่เบญจมาศถ่วงเวลารำอยู่หน้าเวทีนานกว่าเพื่อน เมื่อมีเสียงปรบมือดังลั่น เธอก็เข้าใจว่าเขาปรบมือให้เธอคนเดียว เพราะเธอสวย รำเก่ง แต่งกายก็สะดุดตาราคาแพงกว่าใคร คนที่ไม่ชอบเธอก็คิดผิดไปหน่อยแล้ว

เบญจมาศยังคงฝันหวานต่อไปอีกหลายนาที หลังจากที่ทุกคนล้างหน้าเอาเครื่องสำอางออกหมด และเปลี่ยนเสื้อผ้าไปในงานกันแล้ว แม้จะเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วก็ไม่ยอมล้างเครื่องสำอางออก เพราะเธอคิดว่าถ้าล้างออก ใครจะรู้ล่ะว่าเธอเป็นดาราละคร?

เบญจมาศรู้สึกตัวชา เมื่อก้าวออกมาจากหลังเวทีแล้วได้ยินเสียงพูดกันของผู้ปกครองนักเรียนว่า
“ฉันก็กลั้นหัวเราะแทบแย่ แม่หนูคนนั้น แกแต่งหน้าเหมือนงิ้วมองดูหลอกตา ไม่สวยน่ารักเหมือนคนอื่นๆ แถมยังทำท่าจะไม่เข้าโรง แกคงเป็นคนชอบทำเด่นเท่านั้นแหละ”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

ผลเสียของมารยาทงาม

หญิงวัยกลางคนที่นั่งขายของอยู่ใต้ต้นมะม่วง ส่งเสียงทักดังขึ้นมาจนทำให้ผู้ที่ถูกเรียกถึงกับต้องหยุดแล้วหันมายิ้มอย่างพอใจ
“โอ้โฮ! แต่งตัวสวยจริ๊ง จะไปไหนยะแม่ปุก?”
“จะไปเที่ยวงานตรงนี้หน่อยจ้ะน้า” ปุกหมายถึงงานแสดงสินค้าที่มีการประกวดความงามด้วย
“น้าจะไม่ไปหรือจ้ะ?”
แล้วแม่ปุกก็เดินไปอย่างรวดเร็ว

วันนี้แม่ปุกภูมิใจกับการแต่งตัวของหล่อนมาก ผิวของเธอดำ ใส่เสื้อสีแดง กระโปรงจีบรอบสีดำ มีลายดอกเป็นสีขาว แดง เขียว ทำให้สะโพกของเธอใหญ่ขึ้นอีกหลายเท่า เธอเป็นคนสูงใหญ่จึงมองคล้ายกับเธอเอากระโจมไปนุ่งไว้มากกว่าจะเป็นกระโปรง บนผมกลัดด้วยดอกไม้พลาสติก เซ็ทผมเป็นหลอดโตบ้างเล็กบ้างข้างหลังศีรษะ ใส่เสื้อรัดติ้วคล้ายกับเนื้อจะทะลักออกมาทำให้ดูอ้วนยิ่งขึ้น ลายดอกของกระโปรงก็โตเกินไป เสื้อติดระบาย ติดลูกไม้ ปักเป็นดอกไม้ ใส่รองเท้าและกระเป๋าสีอ่อนมาก ทำให้สังเกตได้ง่ายยิ่งขึ้นว่ามีมือโตเท้าโต ผ้าตัดเสื้อก็ใช้ผ้าต่วนที่มันวาว กระโปรงเย็บตะเข็บไม่เท่ากัน จึงดูสั้นบ้างยาวบ้างเวลาเดิน

นายสน คนงานโรงปอ ที่ถีบจักรยานออกมา มาเจอกับแม่ปุกที่ตลาดพอดี นายสนใส่กางเกงขายาวมีหูรูดผูกที่เอว มีลายตามยาวสีน้ำเงินขาว เสื้อแขนยาวคอปกแหลม ผ้าเป็นแบบเดียวกับกางเกง ซึ่งเหมือนกับเอาชุดนอนมาใส่ แต่นายสนก็ไม่สนใจว่าใครจะคิดยังไง แกคิดว่าใส่สบายก็พอแล้ว แล้วปั่นจักรยานต่อไปที่ท้ายตลาด

แม่ปุกหยุดทักเพื่อนเก่าที่ชื่อ ชด ชดเป็นคนสวย แต่งตัวเรียบร้อยไม่มีที่ติ แต่เธอกลับเอาโรลม้วนผมเสียเต็มหัว จนดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่นี่เป็นภาพชินตาของปุก ไม่ว่าชดจะออกไปไหนก็ต้องทำผมแบบนี้ โดยไม่แคร์สายตาของใคร

เมื่อปุกถึงงานก็จัดการซื้อตั๋วแล้วเดินโขยกเขยกเข้าไป เพราะรองเท้าส้นสูงกัด ใครเห็นก็ต้องมองเธอซ้ำๆ แม่ปุกยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เพราะคิดว่าตัวเองสวยคนถึงได้มองขนาดนี้

ปุกหารู้ไม่ว่า คนที่มองเธอสะกิดและพูดกันว่า
“ดูยายเพิ้งคนนี้ซี แต่งหน้าแต่งตัวยังกับจะไปออกงิ้ว”
อีกคนหนึ่งก็พูดว่า
“ฉันว่ายิ่งกว่างิ้วซะอีก ยังกะเล่นละครสัตว์”

แม่ปุกเดินชมงานด้วยความมั่นใจในความสวยของตัวเอง จนไปเจอกับนายสุวรรณคนข้างบ้าน ที่เดินสูบบุหรี่มาคนเดียว

นายสุวรรณเป็นคนพูดจาโผงผางไม่เกรงใจใคร เมื่อมาเดินเข้าคู่กับแม่ปุก ทำให้คนยิ่งมองเข้าไปใหญ่ แม่ปุกก็เพิ่มความภาคภูมิใจมากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งสองเดินมาหยุดที่ร้านอาหารที่ตั้งเรียงกันเป็นตับ

นายสุวรรณชวนปุกว่า
“แวะกินอะไรหน่อยนะ ปุก”
“อ๋าย ไม่ต้องทำหน้าอย่างงั้นหรอก หนอยแน่! กลัวเราจะให้ออกเงินเลี้ยงอย่างงั้นเรอะ? อย่ากลัวๆ คนอย่างนายสุวรรณไม่ต้องรอให้แม่ปุกเลี้ยงแน่ ฉันเป็นเจ้ามือเองวันนี้”

แม่ปุกตอบแหยๆ
“แฮ่ะๆ พี่สุวรรณก็คิดมากไปได้”
“ฉันไม่ได้นึกอย่างนั้นสักหน่อย”
แล้วเธอก็นั่งลงบนม้าเตี้ยๆ ที่ไม่ค่อยสะอาดนัก แล้วเรียกจีนคนขายมา
“นี่เอาเย็นตาโฟมาสองชาม ใส่เส้นแยะๆ นะ”

นายสุวรรณก็ตะโกนลั่น จนคนที่นั่งอยู่ก่อนต้องมองกันเป็นตาเดียว
“ของอั๊วใส่พริกสองช้อน”

เมื่อของกินมาเสิร์ฟ นายสุวรรณก็นั่งแบบขัดสมาธิบนม้านั่ง แต่พอนั่งไม่สบายก็งอเข่าขึ้นแล้วเอาเท้าวางบนม้านั่งแทน แล้วเขาก็ทำสิ่งที่ไม่ใครคาดคิด
“เอาข้าวมาชาม เกาเหลาหนึ่ง” เขาแผดเสียงสั่ง

เมื่อได้ของที่สั่งมา ทุกคนก็ได้ยินเสียง โฮก! ซีด! เสียงสูดปากซี้ดซ้าดสลับกันไป

นายสุวรรณกำลังอร่อยอยู่กับอาหาร เขานั่งยองๆ บนม้านั่ง กินข้าวตกเลอะเทอะบนโต๊ะ บนดิน ติดปากเต็มไปหมดจนดูแทบไม่ได้ ตักแกงใส่ปากเสียงดังโฮก เสียงเคี้ยวดังจั๊บๆ ลั่น ยกมือแคะฟันโดยไม่ปิดปาก แล้วเอามือที่แคะเช็ดกับกางเกงที่นุ่ง เมื่อเจอก้างปลาหรือกระดูกในอาหารก็ใช้มือควานไปหยิบทิ้งไว้เกลื่อนกลาดบนโต๊ะ ถ้าเคี้ยวเจอก้างหรือกระดูกก็พ่นพรวดไปทางซ้ายบ้างขวาบ้าง จนคนที่นั่งกินอยู่ต้องรีบลุกหนีไป

ฝ่ายแม่ปุก กินไปพลาง พูดพลาง หัวเราะพลาง แม้จะมีข้าวอยู่เต็มปาก จนข้าวหกออกมานอกปาก ยกมือยกไม้ ออกท่าทาง ยักคิ้วหลิ่วตาเวลาคุยกัน ถ้าเป็นเรื่องตื่นเต้นแม่ปุกก็จะโบกไม้โบกมือ และหัวเราะก้ากๆ ดังลั่นนานๆ จนตาเธอปิด เนื้อกระเพื่อม ถ้าเป็นเรื่องขำขัน ทำความรำคาญให้แก่คนที่นั่งใกล้ๆ เป็นอันมาก

เมื่อกินอาหารเสร็จ นายสุวรรณก็พาแม่ปุกไปนั่งกระเช้าสวรรค์ เป็นครั้งแรกที่แม่ปุกได้นั่ง เธอส่งเสียงร้องกรี้ดๆ จนแสบแก้วหู ขย่มเก้าอี้ที่นั่งอย่างแรงด้วยความกลัว เมื่อกระเช้าขึ้นสูงเสียงโวยวายของแม่ปุกก็ทำให้คนที่ดูอยู่ข้างล่างอดขำไม่ได้ แต่สำหรับคนที่นั่งกระเช้าอยู่ข้างๆ ด้วยก็ไม่ค่อยจะพอใจกันนัก

หลังจากทั้งสองลงมาจากกระเช้าสวรรค์ ก็พากันเดินดูสินค้าต่างๆ พูดคุยติโน่นชมนี่เสียงดังไม่สนใจว่าคนขายจะพอใจหรือไม่

นายสุวรรณหันมาชวนปุก
“กลับกันเสียทีดีไหม”
“ไปนั่งรถกินลมสักพัก”

แม่ปุกเห็นด้วยทันทีและถามว่า
“พี่สุวรรณเอารถมาเองหรือ?”

นายสุวรรณเดินนำหน้า พาแม่ปุกไปนั่งรถ ขับฉวัดเฉวียนไปบนเส้นทางใจกลางกรุงเทพฯ ขณะขับรถนายสุวรรณก็จุดบุหรี่สูบ แล้วหมุนหารายการเพลงจากสถานีวิทยุ ไม่ได้จับพวงมาลัยรถทั้งสองมือ รถจึงแฉลบเข้าไปทางขวาเกินครึ่งถนน แม่ปุกก็ชวนให้ดูสินค้าที่ตั้งเรียงรายตามร้านต่างๆ นายสุวรรณก็หันไปดู มองซ้ายทีขวาที ทันใดนั้นทั้งสองถึงกับสะดุ้งโหยง เมื่อมีเสียงดังโครม จากการที่รถไปปะทะกับท้ายกระบะคันใหญ่จนบุบไปทั้งแถบ

ตำรวจเดินมาแล้วพูดว่า
“ผมขอดูใบอนุญาตหน่อย”
“ผมนึกแล้วว่าคุณต้องชน เพราะคุณขับรถไม่ดูทาง ตาดูอยู่นอกทางตลอดเวลา ชนท้ายเขานี่ผิดทุกประตู คุณจะว่ายังไง?”

นายสุวรรณจึงตอบด้วยเสียงอ่อยๆ
“ไม่ว่าไงหรอกครับ ผู้หมวด”
และนึกอยู่ในใจว่าเป็นความผิดของแม่ปุกที่เป็นตัวการทำให้เขาเคราะห์ร้ายอย่างนี้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์