โรคไม่ตรงต่อเวลา

Socail Like & Share

มีหลายคนที่มักพูดว่า
“จะเกลียดใครเท่ากับคนไม่ตรงต่อเวลาเป็นไม่มีเลย”
“ดูหรือ นัดเราตั้งแต่บ่ายโมง ป่านนี้สองโมงกว่าแล้วยังไม่มาอีก!”
“ต้องบอกให้เขามาตอนห้าโมงเย็นนะจ๊ะ มิฉะนั้นเขาจะช้าหนึ่งชั่วโมงเสมอ ถ้าเธอต้องการให้เขามาหกโมงเย็น ก็บอกไปว่าห้า”

ดูเหมือนจะเป็นโรคที่ติดต่อลุกลามได้ง่าย กับนิสัยที่ไม่ตรงต่อเวลา คิดว่าจะตั้งนาฬิกาให้ปลุกสักตีห้าครึ่ง เพื่อจะตื่นมาดูหนังสือและทบทวนบทเรียนเตรียมสอบ แต่พอนาฬิกาปลุกดังขึ้น ก็บอกว่า
“ฮื้อ! รออีกเดี๋ยวน่า”
พอปิดตาลง ก็หลับเลยไปจนสาย งานก็ยังคงนอนอยู่ในกระเป๋าเรียน

เมื่อมาโรงเรียนสายได้วันหนึ่ง วันต่อไปก็จะพลอยสายไปด้วย นักเรียนที่ออกจากบ้านสาย มักจะพบกับผู้คนและเหตุการณ์ที่ทำให้หัวเสีย ต้องเบียดเสียดกันในรถประจำทาง การจราจรที่ติดขัด ก่อนจะถึงโรงเรียนหรือที่ทำงานก็เหน็ดเหนื่อยเสียแล้ว

แม้จะเป็นผู้ใหญ่แล้ว โรคไม่ตรงต่อเวลา ก็ติดต่อกันได้ง่าย เขายังใช้นิสัยเดิมอยู่อย่างนั้นทำให้เป็นที่น่าเบื่อและเอือมระอาต่อคนอื่นมาก ถ้าเป็นนัดไม่สำคัญเท่าไรก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นนัดสำคัญมากๆ ก็จะทำให้การงานพลอยเสียหายไปด้วย

คนที่ผิดนัดและผิดเวลามากๆ ถือว่าเป็นคนหยาบ ไม่ใช่ผู้ดี เพราะไม่แสดงความนับถือต่อคนที่นัด ต้องปล่อยให้เขารอ

ถ้าเพื่อนเชิญไปรับประทานอาหารที่บ้านเวลาทุ่มตรง ก็ควรไปไม่ให้ช้ากว่าทุ่มนัก ช้าสักห้านาทีก็ถือว่าช้าแล้ว แต่ถ้าเป็นเหตุสุดวิสัยก็พอจะให้อภัยได้ เช่น มีแขกมาหาที่บ้านในตอนนั้นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ถ้ารถของโรงเรียนจะพาไปทัศนาจรเวลาหกโมงเช้า แต่เมื่อเราตื่นสาย ปล่อยให้รถกับเพื่อนๆ รออยู่นานสองนาน เราควรให้รถไปก่อน หรือถ้าเขาต้องคอยนานก็ควรมีข้อแก้ตัวที่พอฟังได้ ไม่ใช่บอกเขาว่า
“แหม! นอนเสียเพลิน”
“โอโฮ! ความจริงไม่ควรรอเลย ไปก่อนก็ได้นี่นะ!” ฯลฯ
เพราะไหนๆ เขาก็รอแล้ว

บางคนก็บอกว่า
“อะไรจะมาร้ายเท่ากับ นาย ก. แกขอยืมเงินวันเสาร์ แล้วบอกว่าจะเอามาคืนวันเสาร์หน้า แต่แล้วอีกห้าเสาร์แกถึงโผล่มาบอกว่า โอ้โฮย! ลืมไปสนิทเลยว่านัดไว้จะมาเสาร์ไหนกันแน่ แล้วตกลงจะเอาเสาร์ไหนถึงจะดี?” โรคไม่ตรงเวลาจึงน่าจะแก้ให้หายเสียจริงๆ!”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์