มารยาทของสุภาพสตรี

Socail Like & Share

เมื่ออยู่ต่อหน้าสตรี สุภาพบุรุษจะต้องระวังรักษาชื่อ “สุภาพบุรุษ” ไว้ และสตรีก็จะต้องรักษาชื่อ “สุภาพสตรี” ไว้เช่นกัน

ไม่ใช่สิ่งที่ดีในการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ท่านควรหลีกเลี่ยงคำวิจารณ์จากคนอื่นให้มากที่สุด การนินทาไม่จำเป็นต้องเป็นการทำลับหลัง แต่การตำหนิในใจ ก็หมายถึง เขากำลังนินทาท่านเหมือนกัน

เมื่อออกไปไหนกับเพื่อนชายที่ทุกคนคิดว่าเหมาะสมแล้ว แต่ก็ควรนึกถึงข้อต่อไปนี้

ชายเป็นเพศที่แข็งแรง เขาอยากให้ท่านทราบว่าเขาเป็นคนแข็งแรง แม้เขาจะเตี้ยกว่าท่าน หรือรูปร่างอาจดูผอมไปก็ตาม โดยเฉพาะผู้ที่จะเข้ามาร่วมชีวิตกับท่าน เขาจะทนไม่ได้ถ้าท่านมองเขาอย่างประหลับประเหลือง และบอกไปตรงๆ ว่า
“จ้างให้ คุณก็เปิดไม่ออก” หรือ
“มา…ฉันทำเองดีกว่า คุณทำแล้วชักช้าไม่ทันใจ” ฯลฯ

พยายามทำให้เขารู้สึกว่า เขาเป็นคนแข็งแรงที่สุดในโลก อย่าให้เขารู้สึกว่าเขาอ่อนแอโดยใช่เหตุ ถ้าเขาเปิดประตูภัตตาคารให้ท่านก็ให้เดินเข้าไปเฉยๆ ขอบคุณเสียหน่อย ไม่ต้องยื่นมือไปช่วยเขาเปิด อย่าแย่งเขาเลื่อนเก้าอี้ถ้าเขาจะเลื่อนให้ และไม่ควรเลื่อนให้เขาเป็นการตอบแทน แม้ท่านจะรู้ดีว่า

“พุทโธ่! กะเก้าอี้เบาแค่นั้น เราก็ทำเองได้”

มันเป็นหน้าที่ที่เขาควรจะทำ ก็ปล่อยให้เขาทำ ถ้าเขาชอบทำเขาก็เป็นผู้ที่รู้จักมารยาทของสุภาพบุรุษ

ถ้าท่านออกไปรับประทานอาหารกับเพื่อนชาย ก็ไม่ควรหยิบอาหารจากจานของท่านให้เขาชิม ไม่ว่าจะสนิทสนมกันหรือไม่ก็ตาม การจิ้มอาหารด้วยส้อมของท่านส่งให้เขาไม่ใช่มารยาทที่ดี ให้เขารับประทานจากจานเขาเอง นอกจากจะช่วยตักข้าวเติมให้ หรือเลื่อนกับข้าวไปทางเขาบ้างก็พอ

แม้ท่านอยากจะสำรวจใบหน้า จมูก ผม หรือลิปสติก หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ก็ไม่ควรยกเครื่องสำอางขึ้นมาแต่งเติมที่โต๊ะอาหารเด็ดขาด ถ้าอยากจะทำเช่นนั้นก็ควรขอตัวไปห้องน้ำดีกว่า แล้วค่อยออกมาร่วมโต๊ะใหม่เมื่อเสร็จธุระแล้ว และให้สำรวจความเรียบร้อยทุกอย่างก่อนออกมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นรอยแป้งใหม่ที่ทาลงไป หรือขี้รังแคตามไหล่เสื้อ ตรวจว่ามีเศษอาหารติดอยู่ที่ฟันหรือไม่ ตามเสื้อมีหยดอาหารติดอยู่หรือเปล่า

การหวีผมผัดหน้า ต้องทำเป็นการส่วนตัว ไม่ควรหวีผมแม้แต่ในรถ หรือในที่ซึ่งผู้อื่นจะเห็นได้

จงสำรวจหน้าตาของท่านว่า มีอะไรที่ดูปลอมเกินไปหรือเปล่า ก็ให้แก้ไขเสียก่อน การแต่งหน้าตาที่เข้มเกินไป หรือผิดธรรมชาติก็อาจดูไม่เหมาะ และสุภาพบุรุษของท่านก็อาจไม่ชอบแบบนั้นด้วย ท่านควรจะแต่งให้เข้ากับสถานการณ์ตอนนั้นด้วย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์