กิริยามารยาทของคนไทย

Socail Like & Share

กิริยามารยาท
กิริยามารยาทของคนไทยเป็นเรื่องของการปฏิบัติระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือของตนเองที่สังคมไทยยอมรับแล้วว่าเป็นสิ่งควรยึดถือปฏิบัติ ถ้าใครไม่กระทำตามก็จะได้รับการตำหนิติเตียนว่าไร้จรรยามารยาท สิ่งเหล่านี้ได้แก่อิริยาบถทั้ง ๔ (เดิน ยืน นั่ง นอน) รวมถึงการพูดจา การสมาคม การแสดงความเคารพ เป็นต้น

กิริยามารยาทของไทยเป็นสิ่งสำคัญซึ่งแสดงออกทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี บ่งบอกถึง ความเป็นไทย และถือเป็นเอกลักษณ์ของชาติประการหนึ่ง มารยาทไทยแม้ว่าจะมีการรับเอาอารยธรรมจากตะวันตกเข้ามา แต่เราก็สามารถทำให้ดูอ่อนช้อย นุ่มนวลแบบไทยๆ ได้ เช่น การนั่งเก้าอี้ ถ้านั่งต่อหน้าผู้ใหญ่นั่งเท้าชิด มือวางประสานไว้บนตัก ถ้ามีอาวุโสมากก็นั่งลงศอก เป็นต้น ชี้ให้เห็นถึงสังคมไทยถือระบบอาวุโส ผู้น้อยนับถือผู้ใหญ่ เป็นต้น

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ได้พยายามรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีในด้านต่างๆ ของสมัยอยุธยาสืบต่อมาอย่างเคร่งครัด จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับขณะทรงผนวชได้รู้จักชาวต่างประเทศและเข้ากับราษฎรได้อย่างดี ทำให้รู้ถึงเหตุการณ์บ้านเมืองของประเทศใกล้เคียง เมื่อเสวยราชย์จึงดำเนินนโยบายไม่แข็งกร้าวกับชาวต่างประเทศอีกต่อไปเหมือนกับรัชกาลก่อนๆ ทำให้อิทธิพลตะวันตกได้เข้ามาและมีส่วนทำให้พระองค์ต้องเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่าง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงกิริยามารยาทด้วยการนำอารยธรรมของฝรั่งเข้ามา เช่น การนั่งเก้าอี้ ในสมัยก่อนใช้วิธีการนั่งกับพื้น ต่อมาเมื่อมีเก้าอี้ใช้จึงได้ทำตามฝรั่ง “เมื่อในราชสำนักเลิกหมอบเฝ้า เริ่มใช้เก้าอี้ใหม่ๆ ในระยะแรกๆ คนไทยยังคงนั่งเก้าอี้ไม่เป็น ผู้หญิงขึ้นไปนั่งพับเพียบ ส่วนชายนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้ จนรัชกาลที่ ๔ ต้องมีประกาศพระบรมราชโองการแนะนำวิธีการนั่งเก้าอี้ โดยให้ใช้วิธีหย่อนก้นเท่านั้นลงบนเก้าอี้ ส่วนขาให้ห้อยลงไป คนไทยก็เปลี่ยนจากนั่งพับเพียบและขัดสมาธิบนเก้าอี้มาเป็นนั่งอย่างถูกต้องเรียบร้อยบนเก้าอี้”

ส่วนกิริยาอาการอื่นๆ ทรงเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือ ทรงเริ่มปฏิบัติกับชาวต่างประเทศก่อน โดยยอมให้ชาวต่างประเทศทำความเคารพตามแบบของตน เช่น การโค้งคำนับ แทนการกราบไหว้ ถ้าเป็นชาวจีนก็อาจลุกขึ้นยืนกุ๋ย (Kowtow) เคารพตามอย่างจีนเคารพพระเจ้าแผ่นดินจีน ถ้าเป็นแขกหรือฝรั่ง จะเคารพอย่างไทยหรือยืนเปิดหมวก ก้มศีรษะ ยกมือเคารพอย่างแขก อย่างฝรั่งตามจารีตของตน และยืนเข้าเฝ้าแทนการหมอบคลาน จากหลักฐานประวัติศาสตร์ไทยในต่างประเทศได้กล่าวว่า “อนึ่งตามพระราชประเพณีการเข้าเฝ้าในขณะนั้น ผู้เข้าเฝ้าจะต้องถอดเกือก และกระบี่ทิ้งไว้ข้างนอก แล้วหมอบกราบเข้าไปในท้องพระโรง คลานไปอยู่ตามลำดับตำแหน่งของตน เซอร์จอน เบาริ่ง (Sir John Bowring) เห็นว่าการกระทำดังกล่าวและการไปนั่งอยู่ในที่แถวหลังๆ จะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศแก่พระเจ้าแผ่นดินของตน จึงเรียกร้องขอให้ไม่ต้องถอดรองเท้า ไม่ต้องถอดกระบี่ ไม่ต้องคลาน ไม่ต้องหมอบ และต้องได้นั่งแถวหน้าอีกด้วยในเวลาเข้าเฝ้า พระจอมเกล้าฯ ก็ไม่ขัด และยังจูงมือเซอร์จอน เบาริง (Sir John Bowring) เข้าไปในท้องพระโรงเป็นการ ส่วนตัวก่อนเข้าเฝ้า ให้เลือกดูเองว่าอยากจะนั่งที่ตรงไหน พอถึงวันเฝ้า เซอร์จอน เบาริง (Sir John Bowling) ก็เดินเข้าไปอย่างโอ่อ่าไม่ต้องถอดรองเท้า ไม่ถอดกระบี่ ตรงเข้าไปนั่งตรงที่ๆ ตนเลือกไว้ แถวที่ทัดเทียมกันกับเจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ทำให้เซอร์จอน เบาริงพอใจเป็นอันมาก มิหนำซ้ำตอนเลิกเข้าเฝ้ายังมีรับสั่งให้เข้าไปเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ณ ห้องชั้นในของพระองค์อีก นั่งเก้าอี้ คุยกัน และทรงรินเหล้าให้ เซอร์จอน เบาริง ดื่มด้วยพระองค์เอง”

นอกจากนี้ยังนำอารยธรรมของฝรั่งมาใช้เช่น การจับมือสั่น (Shake hands) ด้วยการที่พระองค์ทรงพระราชทานพระหัตถ์ให้เจ้ากาวิโลรส (เจ้าประเทศราชผู้ครองนครเชียงใหม่) ซึ่งมาเข้าเฝ้าเพื่อกราบถวายบังคมทูลลากลับ จากนั้นก็ได้ใช้เป็นธรรมเนียมแพร่หลายในเมืองไทย นอกจากนี้ยังโปรดให้บรรดาทูตและขุนนางผู้ใหญ่นั่งร่วมโต๊ะเสวยอาหารด้วย นับเป็นครั้งแรกที่กษัตริย์ไทยเสวยอาหารร่วมกับขุนนาง เป็นต้น

การที่พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมบางอย่างนี้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต่างประเทศเริ่มมีสัมพันธภาพต่อไทยดีขึ้น

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้ประเพณีเก่าอีกอย่างหนึ่งในวันเสด็จออกมหาสมาคม ในพระที่นั่งอมรินทรวันิจฉัย ด้วยพระราชทานบรมราชานุญาตให้พวกฝรั่งที่อยู่ในกรุงเทพฯ เข้าเฝ้าด้วย เรื่องนี้ในเวลานั้นก็ไม่มีใครเห็นเป็นการแปลกประหลาดนัก เพราะเป็นแต่มีฝรั่งสัก ๑๐ คนเข้าไปยืนเฝ้าอยู่ข้างหลังแถวที่ขุนนางหมอบ แต่การนั้นมีผลมาก เพราะฝรั่งเหล่านั้นพากันเขียนบอกข่าวออกไปถึงนานาประเทศว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหม่ทรงเปลี่ยนขนบธรรมเนียมหันเข้าหาอริยธรรมอย่างฝรั่ง ผิดกับพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์อื่นๆ ทางตะวันออก ฝรั่งตามต่างประเทศพากันพิศวง เริ่มเกิดไมตรีจิตต่อประเทศสยามผิดกว่าแต่ก่อน แม้ด้วยทรงเปลี่ยนแปลงประเพณีเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าที่ถือว่าเป็นการเคารพอย่างยิ่งของไทยนั้น เป็นธรรมเนียมที่กดขี่ผู้น้อยเพื่อยกย่องผู้ใหญ่เท่านั้น ไม่ทรงเห็นว่าจะมีประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างหนึ่งอย่างใด จึงทรงเปลี่ยนอิริยาบถจากหมอบคลานเป็น ยืน เป็นเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมและกราบไหว้นั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นก้มศีรษะ ทรงให้เหตุผลว่า เมืองใด ประเทศใดจะเจริญได้ด้วยการที่ผู้ใหญ่ต้องไม่กดขี่ผู้น้อย ทรงเห็นตัวอย่างจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ได้เลิกธรรมเนียมการกดขี่ให้ผู้น้อยหมอบคลาน กราบไหว้ต่อเจ้านาย และผู้มีบรรดาศักดิ์ และประเทศเหล่านั้นก็มีแต่ความเจริญสืบมา

อีกประการหนึ่งไทยได้ติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น การหมอบคลานอยู่กับพื้นทำให้พวกฝรั่ง แขกเมืองที่เข้ามาเฝ้าเดินกรายศีรษะเข้ามายืนคํ้าเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ของไทยที่กำลังเฝ้าอยู่ จึงโปรดให้ยกเลิกประเพณีนี้เสีย เป็นยืนเฝ้าหรือนั่งเก้าอี้เฝ้าแทน และใช้ถวายคำนับตามแบบตะวันตก

ประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าได้ประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการ ในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๑๖ โดยในวันนั้น ขณะที่เสด็จออกมหาสมาคมในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนหมอบเฝ้าอยู่เต็มท้องพระโรง เมื่อเสร็จพระราชพิธี เสนาบดีกราบบังคมทูลถวายราชสมบัติตามโบราณราชประเพณีแล้วก็โปรดให้อาลักษณ์อ่านประกาศเลิกธรรมเนียมหมอบคลาน เปลี่ยนเป็นยืนเฝ้าและถวายความเคารพ ด้วยการโค้งศีรษะคำนับแทน เมื่ออ่านประกาศจบ บรรดาผู้ที่หมอบเฝ้าอยู่กราบถวายบังคมอีก ๓ ครั้ง แล้วยืนขึ้นพร้อมกันจำเพาะตรงที่หมอบอยู่นั้น เมื่อยืนขึ้นพร้อมกันแล้วก้มศีรษะถวายคำนับพร้อม กัน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย ที่ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยยืนตรงอยู่เฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ได้ทรงประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่และประกาศเป็นพระราชบัญญัติเข้าเฝ้า เมื่อปีระกา เบญจศก ตรงกับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๖

พระราชบัญญัติ
ข้อ ๑. ว่าพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง เมื่อจะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระที่นั่งฤๅที่เสด็จออกแห่งใดๆ ก็ดี เมื่อเดินเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่งแล้ว ให้ก้มศีรษะถวายคำนับครั้งหนึ่ง แล้วจึงเดินไปยืนที่ตำแหน่งของตนเฝ้า เมื่อไปถึงที่ยืนเฝ้าแล้วให้ก้มศีรษะถวายคำนับอีกครั้งหนึ่ง แล้วยืนให้เรียบร้อยเป็นปกติ ห้ามมิให้เดินไปเดินมาแลยืนหันหน้าหันหลัง ในเวลาที่เสด็จออก แลมิให้ยืนเอามือไพล่หลังแลท้าวเอว แลเอามือไปท้าวผนังแลเสา ฤๅที่ต่างๆ แลสูบบุหรี่หัวเราะพูดกันเสียงดังต่อหน้าพระที่นั่ง ให้ยืนให้เรียบร้อยเป็นลำดับตามบรรดาศักดิ์ผู้ใหญ่ ผู้น้อย ถ้ามีกิจราชการที่จะต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้วให้เดินออกมาจากที่เฝ้า ยืนตรงหน้าพระที่นั่งก้มศีรษะถวายคำนับแล้วจึงกราบบังคมทูลพระกรุณา เมื่อสิ้นข้อความที่กราบบังคมทูลพระกรุณาแล้วให้ก้มศีรษะลงถวายคำนับ จึงให้เดินถอยหลังมาที่ยืนเฝ้าอยู่ตามเดิม ถ้าจะถวายหนังสือ ฤๅสิ่งของสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ให้ถือสองมือเดินตรงเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่งพอสมควรก้มศีรษะลงถวายคำนับก่อน จึงถวายของนั้นต่อพระหัตถ์ ถ้าถวายของนั้นเสร็จ แล้วให้เดินถอยหลัง ถ้าเป็นที่ใกล้ให้ถอย ๓ ก้าว ฤๅ ๕ ก้าวพอสมควร ถ้าเป็นที่ไกลให้ถอยหลังออกมา ๗ ก้าว กลับหน้าเดินไปยืนตามที่ ถ้าจะมีพระบรมราชโองการดำรัสด้วยผู้หนึ่งผู้ใดที่ยืนอยู่ในที่เฝ้านั้น ก็ให้ผู้นั้นยืนคงอยู่ตามที่ก้มศีรษะถวายคำนับแล้วจึงรับพระบรมราชโองการ เมื่อรับพระบรมราชโองการกราบบังคมทูลสิ้นข้อความแล้วก็ให้ก้มศีรษะลงถวายคำนับ อนึ่ง พระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ที่ได้เข้ามายืนเฝ้าในเวลาที่เสด็จออกอยู่นั้น ถ้ามีพระบรมราชโองการ โปรดพระราชทานเก้าอี้ให้นั่งจึงนั่งได้ ห้ามมิให้นั่งลงกับพื้น แลนั่งบนเก้าอี้ ฤๅนั่งที่แห่งใดๆ ตามชอบใจในเวลาที่เสด็จออกต่อหน้าพระที่นั่ง แลผู้ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้นั่งเก้าอี้เฝ้าอยู่นั้น นั่งให้เป็นปกติ ห้ามมิให้ยกเท้าขึ้นบนเก้าอี้แลไขว่ห้างเหยียดเท้าตะแคงตัว ทำกิริยาหาความสบายให้เกินกิริยาที่นั่งเป็นปกติเป็นอันขาด เมื่อเวลาเสด็จขึ้นก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับให้พร้อมกัน แต่แขกเมืองประเทศราช เมื่อจะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ให้ทำกิริยาคารวะตามเพศ บ้านเมืองของตนก่อน เมื่อทรงพระกรุณาโปรดให้ยืนจึงยืนได้

ข้อ ๒. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกประทับอยู่ที่แห่งใดๆ ก็ดี ข้าราชการแลมหาดเล็กซึ่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ในที่นั้น ถึงเสด็จออกประทับอยู่ช้าหลายชั่วโมง ก็ห้ามมิให้ข้าราชการแลมหาดเล็กที่ยืนเฝ้าอยู่นั้น นั่งลงในที่แห่งใดๆ เป็นอันขาด เว้นไว้แต่ที่เป็นกำบังลับพระเนตรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงนั่งได้ แลในเวลาที่เสด็จออกทรงประทับอยู่ ณ ที่แห่งใดๆ นั้น ข้าราชการแลมหาดเล็กยืนเฝ้าอยู่ในที่โดยลำดับแล้ว ผู้ซึ่งจะเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ภายหลังที่มิได้มีราชการที่จะกราบบังคมทูลพระกรุณา ห้ามมิให้เดินผ่านหน้าพระที่นั่งแลเดินผ่านหน้าข้าราชการที่ยืนเฝ้าอยู่ก่อนนั้น ให้เดินหลีกเลี่ยงเข้ายืนตามตำแหน่งของตนที่ควรจะยืน เว้นไว้แต่ผู้ที่จะรับพระบรมราชโองการจึงเดินผ่านหน้าเพื่อนข้าราชการไปมาได้

ข้อ ๓. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทางสถลมารค ข้าราชการแลราษฎร ชายหญิงที่จะมาคอยดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนินก็ดี จะทรงช้าง ทรงม้า ทรงรถ ฤๅจะทรงพระที่นั่งอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินมาถึงหน้าผู้ที่ยืนคอยดูกระบวนเสด็จ พระราชดำเนินอยู่นั้น ให้คนเหล่านั้นก้มศีรษะถวายคำนับจงทุกคน ห้ามมิให้นั่ง มิให้ยืน ดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนินบนชานเรือน บนหน้าต่างเรือน แลบนที่สูงที่ไม่ควรจะนั่ง จะยืน ถ้าทรงม้า ทรงรถ ไม่มีกระบวนนำกระบวนตามเสด็จพระราชดำเนิน ผู้ซึ่งอยู่บนชานเรือน แลบนที่สูงไม่ทันรู้ว่าเสด็จพระราชดำเนินแต่พอแลเห็นว่าเป็นรถพระที่นั่ง ฤๅม้าพระที่นั่งก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับ ห้ามมิให้นั่ง มิให้หมอบเป็นอันขาด แลในเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินทรงช้าง ทรงม้า ทรงรถ ฤๅทรง พระที่นั่งอย่างหนึ่งอย่างใดมาในทางสถลมารค ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดไปบนหลังม้าฤๅไปบนรถ พบปะกระบวน นำเสด็จพระราชดำเนิน ก็ให้หยุดม้าหยุดรถริมทาง ถ้าเสด็จพระราชดำเนินมาถึงตรงหน้าแล้ว ให้ถอดหมวกก้มศีรษะ ถวายคำนับอยู่บนรถ บนหลังม้า ไม่ต้องลงจากรถ จากหลังม้า ต่อเสด็จพระราชดำเนินไปสิ้นกระบวนเสด็จแล้ว จึ่งให้ออกเดินรถ เดินม้าต่อไป ถ้าเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ข้าราชการแลราษฎรชายหญิงที่อยู่แพ อยู่เรือนริมนํ้าให้ยืนขึ้นก้มศีรษะถวายคำนับจงทุกคน ถ้ามาด้วยเรือพบกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน ถ้าเรือเล็กยืนไม่ได้ก็ให้ถอดหมวกก้มศีรษะถวายคำนับในเรือ ไม่ต้องยืน ถ้าเป็นเรือใหญ่ควรจะยืนได้ ก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับตามธรรมเนียม

ข้อ ๔. ข้าราชการเมื่อจะเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง แลจะออกจากพระบรมมหาราชวัง ฤาจะไปกิจธุระแห่งหนึ่งแห่งใดก็ดี ถ้าพบท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ ที่ได้ทำคำนับยำเกรงตามธรรมเนียมเก่าฉันใด ก็ให้ทำคำนับยำเกรงอย่างธรรมเนียมใหม่ให้เหมือนกัน ธรรมเนียมที่ยืนเหมือนกับนั่งเหมือนกับหมอบ ธรรมเนียมที่เปิดหมวกก้มศีรษะเหมือนกับกราบไหว้อย่างแต่ก่อนนั้น ถ้าผู้หญิงจะไปเฝ้าแลพบท่านผู้ใหญ่ไม่ต้องเปิดหมวก เป็นแต่ก้มศีรษะลงคำนับ เมื่อกระทำคำนับแล้ว หมวกนั้นจะเปิดก็ได้ ไม่เปิดก็ได้ แลผู้คนข้าทาสที่ใช้การงานอยูในบ้านเรือนนั้นก็อย่าให้ท่านผู้ที่เป็นเจ้าเป็นนายบังคับ ให้ข้าทาสหมอบคลาน ให้บังคับให้ข้าทาส ใช้ยืน ใช้เดิน ตามพระราชบัญญัติซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งไว้นี้ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือน ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง พระราชวังบวร ให้กระทำตามพระราชบัญญัติประกาศนี้จงทุกประการ ประกาศมา ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ คํ่า ปีระกา เบญจศก

พร้อมกันนี้ก็โปรดให้บรรดาผู้เข้าเฝ้าแต่งกายโดยสวมรองเท้า ถุงเท้าด้วย เพื่อป้องกันมิให้ชาวต่างประเทศดูหมิ่น และอนุโลมให้เข้ากับประเพณีนิยมของชาวตะวันตก

ประเพณีการเข้าเฝ้านั้นเลิกได้ยากกว่าการแต่งกายและการไว้ผม ในระยะแรกนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแก้ไขประเพณีเป็น ๒ อย่างด้วยกัน คือ

๑. การเข้าเฝ้าแบบไทย หรือการเข้าเฝ้าแบบเดิมใช้ในเวลาเสด็จออกขุนนางในท้องพระโรง ตามปกติ หรือเข้าเฝ้าในที่อื่น อันมิได้กำหนดให้เฝ้าอย่างใหม่ ให้ใช้ประเพณีหมอบคลานเฝ้าอยู่กับพื้น และแต่งกายโดยไม่สวมถุงเท้ารองเท้าตามเดิม

๒. การเข้าเฝ้าแบบใหม่ หรือการเข้าเฝ้าอย่างฝรั่ง ใช้ในโอกาสเสด็จออกรับแขกเมือง หรือในงานพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งใช้วิธียืนเฝ้าและถวายคำนับอย่างฝรั่ง หากโปรดให้นั่งก็จะนั่งเก้าอี้ด้วยกันหมด การแต่งกายก็ให้ใช้เครื่องแบบหรือเสื้อนอกเปิดอก ผูกผ้าผูกคอ และใส่ถุงเท้า รองเท้า อย่างฝรั่ง เพียงแต่ยังคงนุ่งผ้าโจงกระเบนตามแบบเดิมอยู่เท่านั้น

ต่อมาเมื่อการเข้าเฝ้าแบบใหม่ได้เป็นที่ทราบและนิยมปฏิบัติกันแพร่หลายแล้ว ก็โปรดให้เลิกเข้าเฝ้าแบบเดิม และใช้การเข้าเฝ้าแบบใหม่เป็นแบบฉบับของบ้านเมืองสืบต่อมาจนทุกวันนี้

แม้ว่าจะมีประกาศให้ยืนเข้าเฝ้าแทนการหมอบคลานแล้วก็ตาม แต่การหมอบคลานยังคงมีปฏิบัติกันอยู่ เพราะคนไทยยังไม่ทิ้งนิสัยที่ผู้น้อยต้องอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เช่น การหมอบกราบพระมหากษัตริย์ การคลานยกของให้ผู้ใหญ่ ดังนั้นผู้มีมารยาทจึงควรทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไร และควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับโอกาสและสถานที่

กิริยามารยาทของคนไทยมีลักษณะที่อ่อนช้อยนุ่มนวลมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว และยังมีวิธีการสอน การอบรมกิริยามารยาทในรูปแบบต่างๆ ดังจะเห็นได้จากคำกลอนในสุภาษิตสอนสตรี คำกลอนสวัสดิรักษาของสุนทรภู่ หรือกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

“อนึ่งเขละอย่าถ่มเมื่อลมพัด        ไปถูกสัตว์เสื่อมมนต์ดลคาถา
อนึ่งพบปะพระสงฆ์ทรงศีลา        ไม่วันทาถอยถดทั้งยศทรัพย์
อนึ่งอย่าด่าว่าแดดแลลมฝน        อย่ากังวลเร่งวันให้พลันดับ
เมื่อเช้าตรู่สุริยงจะลงลับ        จงคำนับสุริยันพระจันทร ”

สวัสดีรักษา หน้า ๖-๗

“เมื่อจะจรนอนเดินดำเนินนั่ง    จงระวังในจิตขนิษฐา
อย่าเหม่อเมินเดินให้ดีมีอาฌา    แม้นพลั้งพลาดบาทาจะอายคน
เห็นผู้ใหญ่ฤๅใครเขานั่งแน่น        อย่าไกวแขนปัดเช่นไม่เห็นหน
ค่อยวอนว่าข้าขอจรดล        นั่นแลคนจึงจะมีปรานีนาง
แม้นสมรจะไปนอนทเรือนไหน    อย่าหลับไหลลืมกายจนสายสาง
ใครเห็นเข้าเขาจะเล่านินทานาง    ความกระจ่างออกกระจายเพราะกายตัว”
สุภาษิตสอนสตรี หน้า ๔๙-๕๑

สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยุคแรกระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๑-๒๔๘๗ เป็นยุคที่รัฐบาลในสมัยนั้นพยายามฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาติ ได้กำหนดเป็นระเบียบหรือแนวทางในการสร้างชาติดังได้กล่าวมาแล้ว ในเรื่องจรรยามารยาทได้ออกประกาศและพระราชบัญญัติต่างๆ เช่นออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๘๕ พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมซึ่งประชาชนชาวไทย ต้องปฏิบัติตามฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๔๘๔)และฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๘๕)ทั้ง ๓ ฉบับมีใจความคล้ายคลึงกัน ดังนี้

“มาตรา ๓ บุคคลทุกคนจักต้องรักษาจรรยามารยาทอันดีงามในที่สาธารณสถานหรือที่ปรากฏแก่สาธารณชน โดย
๑. ไม่ก่อให้เกิดเสียงอื้อฉาวโดยใช่เหตุ หรือใช้วาจาเสียดสี หรือลามกหยาบคาย หรือแสดงกิริยาวาจาเป็นเชิงเสียดสีเย้ยหยัน ผู้ที่ปฏิบัติตนในทางเชิดชูหรือส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ
๒. ไม่ใช้กำลังเบียดเสียดยื้อแย่งในที่ชุมนุมชน เช่น ในการโดยสารยานพาหนะ การเข้าซื้อบัตรผ่านประตูหรือเข้าประตูสถานที่สำหรับมหรสพ เป็นต้น
๓. ไม่ก่อความรำคาญ ด้วยการห้อมล้อม หรือกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุสมควร
๔. ไม่ก่อให้เกิดความปฏิกูล หรือขีดเขียนในที่อันไม่ควรทำ
๕. ไม่อาบนํ้าตามถนนหลวงอันเป็นที่ชุมนุมชน
๖. ไม่นั่ง นอน หรือยืนบนราวสะพาน
๗. ไม่นั่ง หรือนอนบนทางเท้า

มาตรา ๔ ในการปฏิบัติต่อบ้านเรือน บุคคลทุกคนจักต้องรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่าที่ปรากฏแก่สาธารณชน โดย
๑. ไม่ตากผ้าหรือสิ่งอื่นให้รุงรังอย่างอุจาด
๒. ไม่ขีดเขียน หรือปิดข้อความหรือภาพอันอุจาด
๓. ไม่ปล่อยให้สิ่งของมีลักษณะรุงรัง
๔. ไม่ทำส้วมและที่สำหรับทิ้งมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลอันมีลักษณะอุจาด

มาตรา ๖ บุคคลทุกคนจักต้องเคารพตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณี คือ
๑. เคารพธงชาติเวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกาทุกวัน พร้อมกัน
๒. เคารพธงชาติ ธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ เมื่อชักขึ้นหรือลงประจำสถานที่ราชการ เมื่อเชิญมาตามทางราชการหรืออยู่กับที่ประจำแถวหรือหน่วยทหาร ยุวชนทหาร หรือลูกเสือ
๓. เคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงเคารพอื่นๆ ซึ่งบรรเลงในงานตามทางราชการในงานสังคมหรือในโรงมหรสพ

มาตรา ๗ ในที่สาธารณสถานหรือที่ปรากฏแก่สาธารณชน คนไทยจักไม่ต้องขอสิ่งใด ๆ จากคนต่างด้าว อันจะส่อให้เขาดูหมิ่น

มาตรา ๘ คนไทยจักต้องมีสมรรถภาพและมารยาทเกี่ยวกับวิธีดำเนินงานอาชีพโดยขะมักเขม้น และเอาใจใส่ แสดงกิริยาวาจาอันสุภาพ ในการติดต่อกับลูกจ้าง ผู้ว่าจ้างและผู้โดยสารยวดยานพาหนะ”

ที่มา:กรมศิลปากร