มารยาทในการกราบไหว้

Socail Like & Share

ในปัจจุบันได้มีตำราเกี่ยวกับกิริยามารยาทของไทยมากมาย เพื่อให้อนุชนได้ศึกษา เช่นมารยาทไทย ของ ม.ล.ปีย์ มาลากุล เป็นต้น จะเห็นได้ว่ากิริยามารยาทของไทยการกราบไหว้ได้มีการวางกฎเกณฑ์ว่าควรประพฤติปฏิบัติอย่างไรมาหลายยุคหลายสมัย จนก่อให้เกิดเป็นแบบฉบับปฏิบัติกันสืบต่อๆ มา ดังจะศึกษาได้จากตำราต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

การกราบไหว้ เป็นกิริยามารยาทอีกอย่างหนึ่งที่จัดว่าเป็นเอกลักษณ์ไทยที่แสดงให้เห็นถึงอุปนิสัย อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักเคารพยกย่องให้เกียรติผู้อื่น เป็นคุณสมบัติที่คนไทยปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน เป็นมารยาทที่ดีอันจะนำความเจริญความมีสิริมงคลมาสู่ผู้ประพฤติปฏิบัติ

การกราบไหว้เป็นวิธีแสดงความเคารพของคนไทยเมื่อเวลาพบปะ หรือให้สิ่งของเงินทองกัน แต่จะใช้วิธีใดนั้นต้องพิจารณาเหตุการณ์ สถานที่และเวลาว่าควรจะกราบหรือไหว้

การประนมมือเป็นเบื้องต้นของการกราบไหว้ มาจากคำว่า “อัญชลี” ซึ่งหมายถึง การกระพุ่มมือไว้ที่ทรวงอก ให้ฝ่ามือทั้งสองประกบกัน ปลายนิ้วมือตั้งขึ้น นิ้วมือทั้งสองข้างทุกนิ้วแนบชิดสนิทกัน อย่าให้เหลื่อมลํ้ากัน ข้อศอกทั้งสองแนบชิดกับชายโครง

การกราบ มาจากคำว่า “อภิวาท” คือ การหมอบลงที่พื้นพร้อมกับกระพุ่มมือ หรือพร้อมกับการประนมมือ หรือได้แก่การประนมมือยกขึ้นจรดหน้า แล้วจรดหรือลดมือลงที่พื้นพร้อมด้วยหน้าลงกราบ แบ่งวิธีปฏิบัติตามประเภทของบุคคลที่ควรเคารพ คือ

๑. กราบพระพุทธรูป หรือพระสงฆ์ แบมือหรือควํ่ามือลงกับพื้น ไม่ตั้งมือเหมือนกราบบุคคล การกราบพระที่ถูกต้อง คือ กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ให้ส่วนทั้ง ๕ สัมผัสพื้น เข่าทั้ง ๒ มือทั้ง ๒ และหน้าผาก ยกเว้นสถานที่ไม่เหมาะสมหรือไม่อำนวยให้ก้มลงกราบได้เช่น ในท้องถนน ยานพาหนะ ก็ใช้วิธีไหว้อย่างนอบน้อมให้นิ้วหัวแม่มือจรดหน้าผาก หรืออาจใช้วิธีกราบอีกแบบหนึ่งที่ผู้หญิงนิยมใช้กัน คือ กราบแบบเทพธิดา ด้วยการหมอบเก็บเท้า ข้อศอกทั้งสองวางกับพื้นตลอดครึ่งแขนพนมมือตั้งเหนือพื้นก้มศีรษะไปหามือจนหน้าผากจรดนิ้วหัวแม่มือแล้วควํ่ามือลงกับพื้น ก้มศีรษะลงให้หน้าผากสัมผัสพื้นแล้วกลับรวบมือพนมอีก ก้มลงกราบ ๓ ครั้งติดต่อกัน หรืออาจยันตัวขึ้นนั่งตรงก่อนแล้วกราบใหม่ ทำจนครบ ๓ ครั้งก็ได้ ในปัจจุบันการรับศีล ฟังเทศน์ บางแห่งใช้นั่งเก้าอี้ การกราบจึงต้องดัดแปลงให้เหมาะสม

๒. กราบบิดา มารดา ครูอาจารย์ บุคคลทั่วไปและกราบศพ ใช้การกราบแบบนั่งพับเพียบเก็บเท้า ก้มตัวลงหมอบเอี้ยวตัวให้ข้อศอกแนบกับพื้นตลอดถึงมือ พนมมือตั้งขึ้น ก้มศีรษะลงให้หน้าผากจรดมือ ไม่ต้องแบราบและกราบเพียงครั้งเดียว

การไหว้มาจากคำว่า “วันทา” หรือ “นมัสการ” คือการยกมือประนมขึ้นจรดหน้าผาก ก้มศีรษะลงเล็กน้อยให้ลำตัวอ่อนลงนิดๆ จะได้ไม่แข็งกระด้าง

การไหว้ แบ่งวิธีปฏิบัติตามประเภทของบุคคลที่เคารพ คือ
๑. ไหว้พระ ยกมือประนมขึ้นจรดหน้าผาก ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว
๒. ไหว้บิดา มารดา ครูอาจารย์ ยกมือประนมจรดส่วนกลางของหน้า ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก
๓. ไหว้ผู้ที่เคารพทั่วไป ยกมือประนมจรดส่วนล่างของหน้า ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดปลายคาง เมื่อผู้น้อยไหว้ผู้ใหญ่แล้วผู้ใหญ่ควรจะรับไหว้ เว้นแต่พระภิกษุ เพราะมีวินัยห้ามไว้ แต่ภิกษุรับไหว้กันเองได้

มารยาทอีกอย่างหนึ่งที่ได้จากการปรับปรุง และวางระเบียบเกี่ยวกับภาษา เพื่อให้คนไทยรู้สึกภาคภูมิใจในการพูดหรือใช้ภาษาของตน ได้มีคำใหม่เกิดขึ้นอีกคำหนึ่ง คือคำว่า “สวัสดี” ใช้กล่าวในโอกาสแรกที่พบกัน คำนี้พุระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เป็นคนบัญญัติขึ้น ทางราชการออกประกาศให้ใช้คำนี้ เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๘๖ กำชับให้ข้าราชการทุกคนกล่าวคำ “สวัสดี” ต่อกัน ในโอกาสที่พบกันครั้งแรกของวัน และให้ช่วยแนะนำแก่ผู้ที่อยู่ในครอบครัวของตนให้รู้จักกล่าวคำ “สวัสดี” เช่นเดียวกัน

ธรรมเนียมแต่ก่อนของไทยเมื่อพบปะกันก็ทักทายกัน เช่นทักว่า “สบายดีหรือ” “ไปไหน” “กินข้าวหรือยัง” ถ้าพบกันบ่อยๆ ก็ต้องคิดหาคำทักที่แปลกออกไป จึงเป็นการลำบาก คำว่า “สวัสดี” จึงเป็นคำที่เหมาะ เพราะใช้ในทุกโอกาสและเวลา และใช้กันแพร่หลายทั่วไป ดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

“สวัสดี” เป็นภาษาสันสกฤต มาจากสุ + อสฺติ สุ แปลว่า ดี งาม ง่ายและอสฺติ แปลว่า มี รวมความว่า มีความดี ความงาม ความง่าย(สะดวก) ฉะนั้นคำว่า สวัสดีที่นิยมใช้กันอยู่แปลว่า ความสะดวก แต่พิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า “สวัสดี” ให้ความรู้สึกที่ซาบซึ้งมากกว่าความสะดวกมากนัก

ที่มา:กรมศิลปากร