วิธีและมารยาทในการกินของไทย

วิธีกินอาหารของคนไทย
ธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณบริโภคอาหารด้วยวิธีนั่งราบลงบนเสื่อหรือพรมนิยมจัดกับข้าวใส่ถาดเป็นสำรับ ข้าวสุกและขันน้ำจะวางไว้ข้างตัว วิธีกินอาหารของคนไทยแต่เดิมใช้มือเป็นพื้น เพิ่งจะมาใช้ช้อน หรือช้อนส้อม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า “เรื่องใช้ช้อนส้อมนั้น หม่อมฉันนึกได้ถึงหนหลัง ครั้งกินอาหารจัดใส่จานเชิงเรียงไว้บนโต๊ะ (โตก) เงิน มีช้อนอันหนึ่งกับ ส้อมสองง่ามอันหนึ่งวางไว้ในจานเชิงใบหนึ่งที่ในสำรับเสมอ ถ้าสำรับเลี้ยงพระมีช้อนหอยมุกอันเดียว ไม่เห็นมีส้อม ช้อนนั้นคงสำหรับตักแกง หรือของเหลวอย่างอื่น แต่ส้อมสำหรับจิ้มอะไรเพราะกับข้าวที่อยู่ในจาน ก็อาจจะหยิบได้ด้วยมือทั้งนั้น คิดดูเห็นว่า เห็นจะใช้ส้อมเมื่อประสงค์จะแยกกับข้าวออกเป็นหลายชิ้น เอามือซ้ายถือส้อมแทงอาหารไว้กับที่ เอามือขวาฉีกอาหารออกไปเป็นอีกชิ้นหนึ่ง คือใช้ส้อมมิให้มือซ้ายเปื้อนเท่านั้น ที่ว่าฝรั่งเพิ่งใช้มีดช้อนส้อมนั้น หม่อมฉันเคยเห็นหนังฉายเรื่องหนึ่ง เขาทำเรื่องครั้งพระเจ้าเฮนรีที่๘ อาหารไทยประเทศอังกฤษ เห็นจะราวเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๐ ก็ยังกินด้วยมือ ถ้าว่าถึงเมือง ไทยนี้ ยังจำได้ว่าเพิ่งใช้มีดช้อนส้อมอย่างฝรั่ง เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากประพาสเมืองสิงคโปร์เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ เริ่มตั้งโต๊ะเสวยที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีเจ้านายบางพระองค์เอาพระหัตถ์ซ้ายถือส้อมปักแทงชิ้นอาหารให้ทะลุรึงไว้กับจานเอาพระหัตถ์ขวาถือมีดหั่นเป็น อาหารชิ้นน้อยๆ เรียกเยาะกันว่า “แผลงศร” ก็เห็นจะมาแต่ลักษณะใช้ช้อนส้อมสองง่ามนั่นเอง….”

ในระยะแรกๆ ที่เจ้านายไทยหันมาใช้ช้อนส้อมแทนมือและนั่งโต๊ะกินอาหารนั้น เป็นสิ่งยุ่งยากใจมาก เพราะความไม่เคยชินจนกลายเป็นเรื่องตลกขบขันไป ดังปรากฏในโคลงเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ ว่า

ที่เสวยเคยอยู่แล้ว    หมดจด
ใช้ซ่อมมีดช้อยชด    แช่มช้า
ลางองค์สั่นดดดด    พลัดพลาด
จับเชือดไม่ถูกถ้า        เงือดเงื้อเถือไถลฯ

กินเป็นเล่นซ่อมช้อน    พัลวัน
ที่ไม่เป็นดูขัน        ขัดข้อง
อยู่วังท่านเคยฉัน    มือเปิบ
นั่งโต๊ะจับจดจ้อง        บอกถ้าป่าจริงฯ

มารยาทในการกินของไทย
ค่านิยมของสังคมไทยแต่โบราณ ได้วางระเบียบการกินอาหารไว้ว่า ภายในครอบครัวนั้นสามีเป็นผู้กินอาหารก่อนแต่ลำพังคนเดียว ต่อเมื่ออิ่มแล้ว ภรรยาจึงเข้านั่งกิน และหลังจากมารดาแล้วจึงจะถึงเวรพวกลูกๆ ซึ่งมีสำรับของตนต่างหาก ไม่ว่าจะมีสัก ๑๐ หรือ ๑๕ คน ในหลังคาเดียวกันอาหารที่เหลือจากสำรับเหล่านั้น ก็จะแจกจ่ายให้บ่าวไพร่ไป ผู้ที่มีหน้าที่ในการปรุงรสอาหาร และจัดสำรับกับข้าวคาวหวานได้แก่สตรี รวมทั้งมีหน้าที่พิเศษในการปรนนิบัติสามี ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมีวรรณกรรมหลายเรื่องที่สะท้อนให้เห็นภาระหน้าที่ของสตรีในการปรนนิบัติสามี ซึ่งต้องถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด เช่น

“เจ้าพี่สี่โมงเช้า            ดูกับเข้าแลของหวาน
เสร็จเจ้าเอามากราน        หมอบพัดวีพี่เกษมสันต์
สี่โมงเช้าพี่หย้อม            ดูการ
เครื่องเข้าเล่าของหวาน    แต่งไว้
เสร็จเจ้าเข้ามากราน        กรายแซ่
โบกปัดพัดวีให้            พี่นี้สำราญฯ
เพลาห้าโมงเช้า            เรียมกินเข้าเจ้ามาคัล
ว่องไวใช้สอยขยัน        หานางใดไม่เหมือนเลย
ห้าโมงยามเมื่อเช้า        เชยอร
กินเข้าชมนวลสมร        หมอบเฝ้า
ว่องไวใช้สอยสอน        นางอื่น
หาสตรีเปรียบเจ้า        ห่อนได้เหมือนเลยฯ”

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สตรีก็ยังคงถือเป็นหน้าที่ในการปรนนิบัติสามีเรื่องอาหารการกินดังปรากฏในเสภาเรืองขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานพลายแก้วกับนางพิมพิลาไลยนางศรีประจันได้สอนนางพิมเมื่อจะส่งตัวเข้าหอว่า
“…………………………….        แม่วิตกอยู่ด้วยเจ้าจะเลี้ยงผัว
ฉวยขุกคำทำผิดแม่คิดกลัว        อย่าทำชั่วชั้นเชิงให้ชายชัง
เนื้อเย็นจะเป็นซึ่งแม่เรือน        ทำให้เหมือนแม่สอนมาแต่หลัง
เข้านอกออกในให้ระวัง        ลุกนั่งนอบนบแก่สามี”

และตอนนางอัปสรสอนนางสร้อยฟ้า ผู้เป็นลูกเมื่อจะส่งตัวลงมายังกรุงศรีอยุธยาว่า
“ต้องเอาใจสามีทุกวี่วัน    ให้ผัวนั้นเมตตาอย่าจืดจาง
จงเคารพนบนอบต่อสามี    กิริยาพาทีอย่าอางขนาง
จะยั่วยวนฤๅว่ามีที่ระคาง    ไว้ให้ว่างคนผู้อยู่ที่ลับ
สังเกตดูอย่างไรชอบใจผัว    ทั้งกินอยู่สิ้นทั่วทุกสิ่งสรรพ
ทำให้ได้อย่าให้ต้องบังคับ    เป็นแม่เรือนเขาจึงนับว่าดีจริง
อันเป็นเมียจะให้ชอบใจผัว    สิ่งสำคัญนั้นก็ตัวของผู้หญิง
ทำให้ผัวถูกใจไม่มีทิ้ง        ยังอีกสิ่งก็อาหารตระการใจ
ถ้ารู้จักประกอบให้ชอบลิ้น    ถึงแก่สิ้นเพราพริ้งไม่ทิ้งได้
คงต้องง้อขอกินทุกวันไป    จงใส่ใจจัดหาสารพัน”

นอกจากนี้ สตรีไทยยังได้รับอบรมสั่งสอนให้เป็นผู้ที่รักความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเฉพาะมารยาทในการกินข้าว สตรีไทยจะต้องเคร่งครัดมาก ในสมัยที่คนไทยยังกินข้าวด้วยมือ บรรพชนได้กำหนดมารยาทในการกินไว้ดังนี้ การเปิบข้าวแต่ละคำเข้าปาก ควรเป็นคำขนาดพอดีอย่าให้โตคับปาก ค่อยๆ ปั้นข้าวด้วยปลายนิ้วมือ (นิ้วมือเปื้อนได้เพียงข้อเดียวเท่านั้น) อย่าให้ข้าวร่วงพรูลงมา เมื่อใส่ปาก ก้างปลา เปลือก หรือเมล็ด เศษอาหารควรวางที่ขอบจานให้เรียบร้อย พยายามอย่าให้ข้าวเลอะปากจาน (มีกำหนดให้เปื้อนได้เพียงขอบจานในเท่านั้น) การกินควรแบ่งทีละส่วนไม่ให้เลอะเทอะจนน่าเกลียด หมั่นกวาดและเกลี่ยข้าวในจานให้น่าดู เวลาซดนํ้าแกงไม่ควรมีเสียงดัง หรือดูดมือดัง “รวบ” เป็นอันขาด

ปัจจุบันมารยาทในการกินอาหาร พอจะกล่าวได้โดยทั่วไปดังนี้ ต้องไม่ทำเสียงดังจากกิริยาต่างๆ ในการกิน เช่น เคี้ยวอาหาร ซดน้ำแกง กวาดตักอาหารจากจานชาม หรือดื่มนํ้าเสียงดัง ไม่ควรกินคำโตเกินไป และอ้าปากเคี้ยว ไม่ควรกินมูมมาม ควรนั่งตัวตรงขณะกิน ต้องกินพร้อมคนอื่น ไม่กินเร็วหรือช้าเกินไป ขณะกินอาหารไม่ควรเขย่าขาหรือเคาะโต๊ะ ไม่ควรเอียงจานข้าวตักอาหาร ไม่เคาะช้อนส้อมเสียงดัง ควรให้เงียบที่สุด อิ่มแล้วควรรวบช้อนส้อมไว้ตรงกลางจาน ฯลฯ

ที่มา:กรมศิลปากร