อาหารการกินของคนไทย

Socail Like & Share

การกินอยู่
“การกิน” โดยความหมายทั่วไป หมายถึงการเอาสิ่งที่เป็นอาหารเข้าไปในปาก เพื่อให้กระบวนการย่อยอาหารต่างๆ ของร่างกายเปลี่ยนอาหารเหล่านี้ให้เป็นสารเคมีที่มีประโยชน์สำหรับให้ร่างกายเจริญเติบโต “การอยู่” หมายถึงการทรงสภาพความมีชีวิตอยู่ได้ การกินอยู่จึงหมายถึง การกินอาหารเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้

หากพิจารณาปัจจัยสี่ ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้เป็นสิ่งสำคัญของมนุษย์ อันได้แก่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค จะเห็นได้ว่าอาหารเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุด มนุษย์ต้องการอาหารนับตั้งแต่แรกปฏิสนธิในครรภ์มารดา จนกระทั่งคลอดออกมามีชีวิต และถึงวาระสุดท้ายของชีวิต คือตาย และแม้กระทั่งตายไปแล้ว ญาติพี่น้องหรือลูกหลานที่มีชีวิตอยู่ก็ยังต้องเซ่นสรวงบูชา ใส่บาตรไปให้กิน จนกลายเป็นประเพณีต่างๆ สืบทอดกันมา เช่น ประเพณีชิงเปรต (ภาคใต้) และประเพณีบุญข้าวประดับดิน (ภาคอีสาน) เป็นต้น

มนุษย์ในสมัยดึกดำบรรพ์ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ และกินอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ กล่าวได้ว่าการเดินทางร่อนเร่นั้นมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการหาแหล่งอาหาร การกินและความอยู่รอดปลอดกัย ต่อมาเมื่อมนุษย์รู้จักตั้งหลักแหล่งแล้วก็เรียนรู้การหาอาหารมากิน เช่น เรียนรู้วิธีจับสัตว์ไว้กินเนื้อ และกินผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ จนกระทั่งการหาอาหาร การกิน การกินอยู่จึงวิวัฒนากากลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ในสังคม

อาหารการกินของคนไทย
ประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ราษฎรส่วนใหญ่ มีอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่และการประมง อาหารการกินที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนไทย ส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับผลผลิตของแต่ละอาชีพ อาหารที่จัดว่ามีความสำคัญควบคู่กับความเป็นอยู่ของชาวไทยตลอดมาข้าวสวย ได้แก่ ข้าวและปลา ในสมัยสุโขทัย มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ว่า “เมืองสุโขทัยนี้ดี ในนํ้ามีปลา ในนามีข้าว…” ปัจจุบันนี้ ข้าวและปลา ก็ยังคงครองความสำคัญอยู่ สำหรับชีวิตคนไทยจนมีการพูดติดปากว่า “ข้าวปลาอาหาร” “กับข้าวกับปลา” เป็นต้น

ข้าว
ข้าว เป็นอาหารหลักของคนไทย ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ข้าว” ไว้ว่า “เมล็ดของพืชจำพวกหญ้าที่ใช้เป็นอาหารสำคัญ ปลูกกันในประเทศร้อน โดยมาก (โบราณใช้ว่า เข้า) มีชนิดใหญ่สองชนิด คือ ข้าวเจ้าและข้าวเหนียว และข้าวสองชนิดนี้ เรียกชื่อต่างๆ กันตามลักษณะอีกมากมาย เช่น ข้าวปิ่นทอง ข้าวเหนียวกัญญา” ในสมัยโบราณ ได้แบ่งชนิดหรือพันธุ์ของข้าวออกไปตามลักษณะฤดูกาล เช่น ข้าวสามเดือนทันสารท ข้าวกลางปี สี่เดือนสุก ข้าวหนักหรือข้าวนาปี ข้าวนาสวนและข้าวนาทุ่งหรือข้าวนาเมือง ส่วนปัจจุบันได้จำแนกข้าวที่ปลูกกันได้ในประเทศไทยออกเป็น ๓ ประเภท ตามสภาวะของนํ้าในการเจริญเติบโต คือ ข้าวไร่ ข้าวสวน ข้าวนาเมือง และแบ่งออกได้เป็น ๒ ชนิด ตามลักษณะของเมล็ดคือ ข้าวเจ้าและข้าวเหนียว

ข้าวเจ้า เป็นข้าวที่มีเนื้อเมล็ดใส หุงแล้วเมล็ดจะร่วนสวยและไม่ติดกัน เป็นอาหารหลักของชาวไทยภาคกลางและภาคใต้ ส่วนข้าวเหนียวเป็นข้าวที่มีเนื้อเมล็ดขุ่นกว่าข้าวเจ้า เมื่อหุงหรือนึ่งแล้วเมล็ดจะเหนียวติดกัน เป็นอาหารหลักของชาวไทยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คนไทยภาคกลางและภาคใต้นิยมใช้ข้าวเหนียวทำขนมต่างๆ และทำเหล้าโรง เกี่ยวกับความแตกต่างใน เรื่องการกินข้าวเจ้าและข้าวเหนียวของคนไทย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบาย ไว้ว่า “หม่อมฉันไปพบเค้าเงื่อนเมื่อไปมณฑลพายัพครั้งแรก เวลานั้นต้องเดินทางด้วยใช้ช้างม้าเป็นพาหนะและต้องมีลูกหาบขนของเมื่อถึงที่พักแรม หม่อมฉันสังเกตเห็นพวกลูกหาบพากันตั้งเตานึ่งข้าวเหนียวใส่กล่องสานสำหรับตะพายทุกวัน แต่เวลาเช้าหามีใครนึ่งข้าวเหนียวอย่างเราหุงข้าวเจ้าไม่ หม่อมฉันถามเขาบอกว่า นึ่งข้าวเวลาเย็นวันละครั้งเดียวก็พอกินในวันหน้าตลอดวัน ถามต่อไปว่า เหตุใดจึงชอบกินข้าวเหนียว เขาบอกว่ากินข้าวเหนียวหิวช้ากว่ากินข้าวเจ้า ได้ความเพียงนี้ ไม่ได้สืบสาวกระแสความต่อไป พิเคราะห์คำที่เรียกว่าข้าวเหนียว เป็นคำของชาวใต้หมายความว่า เหนอะหนะเท่านั้น ในมณฑลพายัพ ดูเหมือนเขาเรียกกันแต่ว่า “ข้าว” ถ้าคำว่าข้าวเจ้า หมายความว่า ข้าวพระยาเสวยก็น่าจะเรียกกันในมณฑลพายัพก่อน เพราะผู้ดีไม่ต้องทำการหนัก กินได้วันละหลายเวลา จึงเรียกข้าวพรรค์นี้ว่าข้าวผู้ดี ที่ทูลมานี้โดยเดา ถ้าจะหาหลักฐานต่อไป จะต้องหาคนชาวมณฑลพายัพมาไล่เลียง เสียดายที่พระราชชายาสิ้นพระชนม์เสีย หาไม่มีจดหมายไปทูลถาม ก็จะได้ความละเอียด….”

อย่างไรก็ตาม แม้ราษฎรในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะกินข้าวเหนียวกัน แต่มีอยู่ไม่น้อยที่กินข้าวเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคนในเมืองหรือคนในตัวอำเภอ ตัวจังหวัด และดูเหมือนข้าวเจ้าจะถูกเตรียมไว้ต้อนรับแขกเมืองที่กินข้าวเหนียวไม่เป็น ด้วยเหตุนี้ ข้าวเจ้าจึงมีความสำคัญมากสำหรับคนไทยสมดังที่กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ให้ความหมายของคำว่าข้าวเจ้าไว้ว่า “ข้าวเจ้านี้จะว่าไปก็เป็นเจ้า เป็นใหญ่แก่ข้าวทั้งหลาย ในการที่เป็นคุณแก่มนุษย์ทั้งปวง หรือว่าอีกอย่างหนึ่ง ข้าวเจ้าเป็นเชื้อชีวิตของมนุษยโลกมากกว่าข้าวอย่างอื่นทั้งหมด และเป็นกำลังอันใหญ่ อันเดียวแห่งความเป็นไปในชีวิตของชาวชมพูทวีปเรานี้ เมื่อจะคิดไปก็เป็นของคู่กันกับชีวิตมนุษย์ สำหรับอาศัยซึ่งกันและกัน ราวกะนํ้ากับปลาข้าวเหนียว

ในกระบวนการกินข้าวเหนียวด้วยกัน ได้มีผู้เปรียบเทียบระหว่างคนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไว้ประเด็นหนึ่งว่า คนภาคเหนือถือเรื่องการแต่งตัวเพื่อความสวยความงามเป็นใหญ่ แต่คนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือเรื่องการกินเพื่อความอยู่รอดเป็นใหญ่ ดังมีคำกล่าวเป็นภาษาพื้นเมืองของแต่ละถิ่นว่า
ภาคเหนือ    

ตุ๊กบ่ได้กิ๋น            บ่มีไผต๋ามไฟส่องต๊อง
ตุ๊กบ่ได้เอ้ได้ย่อง        ชาวบ้านเปิ้นแคน
หมายความว่า
ทุกข์ไม่ได้กิน                ไม่มีใครเอาไฟส่องท้องดู
ทุกข์ไม่ได้โก้ได้เก๋(แต่งตัวสวย)     ชาวบ้านเขาดูแคลน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทุกข์บ่มีเสื้อผ้า            ฤๅเฮือนพอมีลี้อยู่
ทุกข์บ่มีข้าวอยู่ในท้อง        นอนลี้อยู่บ่เป็น
หมายความว่า    
ทุกข์ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่        ฝาเรือนพอมีแอบซ่อนอยู่ได้
ทุกข์ไม่มีข้าวอยู่ในท้อง    นอนหลบอยู่ไม่เป็น

ที่มา:กรมศิลปากร