ประเพณีการทำขวัญผึ้ง

Socail Like & Share

ขวัญผึ้ง

ประเพณีการทำขวัญผึ้ง
ตำบลศรีคีรีมาส อำเภอคีรีมาส สุโขทัย
การทำขวัญผึ้งเป็นประเพณีของชาวตำบลศรีคีรีมาศ อำเภอคีรีมาศ สุโขทัยมาเป็นเวลานาน เพิ่งจะเลิกพิธีกรรมของประเพณีนี้เมื่อประมาณ ๔๐ กว่าปีมานี้เอง (นับถึง พ.ศ. ๒๕๒๖) ศูนย์ศึกษาและวิจัยวัฌนธรรมพื้นบ้าน หัวเมืองฝ่ายเหนือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก ได้ศึกษาประเพณีดังกล่าวตามแนวทางประ วัติศาสตร์-การฟื้นประวัติศาสตร์ (Historical reconstruc¬tion) อันเป็นแนวทางหนึ่งในวิชาคติชน (Folklore) มุ่งที่จะฟื้นประเพณีให้กลับมาเข้าสู่แนวทางปฏิบัติของชาวตำบล ศรีคีรีมาศให้ได้ตรงตามแนวปฏิบัติของประเพณีแบบดั้งเดิม ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เพื่อจะศึกษาโครงสร้างของประเพณี ทั้งโครงสร้างพื้นผิว และโครงสร้างลึก (deep structure) อันจะเป็นพื้นฐานให้ศึกษาหน้าที่ของประเพณีนี้ที่มีต่อสังคม

วิธีการศึกษาที่ใช้ในการฟื้นประเพณีครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นวิธีการเบื้องต้นของระเบียบวิธีวิจัยเชิงธรรมชาตินิยมซึ่งกำหนคให้ผู้ศึกษาเข้าไปรู้จักและคลุกคลีอยู่ในสังคมประเพณีนั้นโดยตรง ทั้งนี้ได้มีนิสิตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก ผู้ได้ศึกษาวิชาคติชน ระดับปริญญาโทจำนวน ๑๑ คน ปริญญาตรี จำนวน ๒๑๑ คน เข้าไปศึกษาในกลุ่มผู้เกี่ยวเนื่องในพิธีกรรมจำนวนประมาณ ๑,๗๐๐ คน การศึกษาได้กระทำต่อเนื่องกันเริ่มในเดือนธันวาคม ๒๕๒๕ จนถึงวันประกอบพิธีคือวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๖

ความมุ่งหมายในการนำเสนอบทความครั้งนี้ ก็เพื่อจะให้รายละเอียดของพิธีกรรมที่ใช้ในประเพณีการทำขวัญผึ้ง ตลอดจนการวิเคราะห์หาโครงสร้างลึกของประเพณี ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างเสริมทฤษฎีคติชน กับเพื่อใช้ประกอบเป็นแนวทางอันอาจจะใช้ในการวางแผนงานพัฒนาสังคมเศรษฐกิจการศึกษาและวัฒนธรรม

การนำเสนอบทความจัดกระทำเป็นสองตอน ตอนแรกกล่าวถึงรายละเอียดของประเพณีและตอนที่สองกล่าวถึงการวิเคราะห์หาโครงสร้างลึกของประเพณีตามสำนึกของผู้วิเคราะห์ซึ่งได้เข้าร่วมในพิธีกรรมของประเพณีในฐานะผู้สังเกตการณ์มาโดยตลอด

การศึกษารายละเอียดของประเพณีนั้นแบ่งเป็นสองขั้นตอนเริ่มแรกจากการสนทนาสัมภาษณ์วิทยากรตามวิธีการเบื้องต้นของระเบียบวิธีการวิจัยเชิงธรรมชาตินิยม วิทยากรที่ให้ข้อมูลมีทั้งหมด ๙ คน เป็นชาย ๘ คน หญิง ๑ คน อายุสูงสุดของวิทยากร ๗๒ ปี ต่ำสุด ๕๐ ปี วิทยากรทุกคนเคยเห็นพิธีกรรมของประเพณีการทำขวัญผึ้งมาแล้ว

เมื่อสัมภาษณ์และได้ข้อมูลต่างๆ ของประเพณีตั้งแต่ความมุ่งหมาย รายละเอียดของพิธีกรรมแล้ว ผู้ศึกษาได้ร่วมกับวิทยากรวางขั้นตอนของพิธีกรรมขึ้น จากนั้นได้นำพิธีกรรมที่เรียบเรียงขั้นตอนขึ้นนี้ไปเสนอให้ชาวบ้านอื่นๆ ผู้เคยร่วมพิธีกรรมได้วิจารณ์ความถูกต้อง จำนวนชาวบ้านที่ให้คำวิจารณ์ทั้งหมด ๕๐ คน

จากนั้นนำข้อวิจารณ์ของชาวบ้านดังกล่าวมาเสนอวิทยากร และขอความเห็นเกี่ยวกับขั้นตอนและรายละเอียดของพิธีกรรม เมื่อได้ข้อยุติแล้ว จึงเรียบเรียงขั้นตอนและรายละเอียดของพิธีกรรมขึ้นอีกครั้งหนึ่งพร้อมทั้งสรรหาบุคคลผู้ประกอบพิธีและผู้เกี่ยวข้องในการประกอบพิธีตามคำแนะนำของวิทยากร เมื่อได้บุคคลตามที่ต้องการทุกประการแล้ว จึงเตรียมดำเนินการพิธีกรรมตามประเพณีที่เคยทำมา

ส่วนการวิเคราะห์หาโครงสร้างลึกของประเพณีตามสำนึกของผู้วิเคราะห์นั้น ผู้ศึกษาได้ประมาณการจากสภาพการณ์ทุกประการของพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็นในด้านของสถานที่ เวลา บุคคลและพฤติกรรมของบุคคล ตลอดจนสิ่งแฝงเร้นในสำนึกของผู้เข้าร่วมในพิธีกรรม

รายละเอียดของประเพณี
พิธีกรรมของประเพณีทำขวัญผึ้งจัดขึ้นในวันขึ้นสามค่ำเดือนสาม สถานที่ประกอบพิธีอยู่ในป่าทึบ ห่างจากหมู่บ้านราว ๒๐๐ เส้น สถานที่ประกอบพิธีอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม แต่มีหลักเกณฑ์การเลือกสถานที่ว่า จะต้องมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมักจะเป็นต้นยาง และต้นไม้นั้นจะต้องเคยมีผึ้งหลวงมาทำรังอยู่เสมอๆ ทุกปี

เมื่อกำหนดสถานที่แล้ว ในวันขึ้นสองค่ำเดือนสาม ชาวบ้านจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นชายฉกรรจ์จำนวนไม่น้อยกว่า ๓๐ คน จะไปเตรียมสถานที่ประกอบพิธี โดยถากถางพื้นที่รอบต้นไม้ใหญ่ที่ใช้ประกอบพิธี แล้วกำหนดเขตโดยใช้ไม้ไผ่สานสูงประมาณเอวกั้นเป็นอาณาเขตเป็นวงกลม มีต้นไม้ใหญ่เป็นจุดศูนย์กลางของวงกลมมีรัศมีสามวา ไม้ไผ่ สานจะเป็นรั้วกั้นเป็นปริมณฑลรอบต้นไม้ใหญ่ เว้นช่องทางให้เข้าแปดช่องทาง เรียกว่าประตูแปดทิศ แต่ละประตูจะมีศาลตีนเดียวทำด้วยไม้ไผ่ สูงประมาณสองวา สำหรับเป็นที่วางเครื่องเซ่นสังเวย ตรงหน้าต้นไม้ใหญ่จะมีศาลตีนเดียวใหญ่อีกหนึ่งศาล การเตรียมสถานที่จะต้องรีบกระทำให้เสร็จในตอนบ่ายของวันขึ้นสองค่ำเดือนสาม

ในวันเดียวกันนี้ ชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนโดยเฉพาะ เด็ก สตรี และคนชรา ซึ่งมิได้ออกไปเตรียมสถานที่จะช่วยกันทำขนมแดกงาเป็นรูปรังผึ้ง เพื่อจะเตรียมนำไปติดไว้รอบๆ บริเวณสถานที่ประกอบพิธี จะมีรังผึ้งซึ่งทำจากขนมแดกงากี่รังก็ได้ แต่จะต้องมีรังหนึ่งซึ่งยาวประมาณหนึ่งศอก เป็นรังผึ้งหลวงที่ใช้ประกอบพิธีกรรม

การทำรังผึ้งด้วยขนมแดกงา เริ่มต้นด้วยการนำข้าวเหนียวไปล้างด้วยน้ำให้สะอาดแช่น้ำไว้จนข้าวเหนียวขึ้นน้ำ แล้วนำไปนึ่งให้สุก เมื่อสุกแล้วเทข้าวเหนียวที่ยังร้อนอยู่ลงไปในครกไม้ที่ใช้ตำข้าว โรยเกลือลงไปบนข้าวเหนียวเล็กน้อย โขลกให้ข้าวเหนียวแหลกจนค่อนข้างเหลวนำงาดำที่คั่วแล้วผสมลงในข้าวเหนียว โขลกจนน้ำมันงาออก สังเกตว่าน้ำมันงาออกได้จากการที่ข้าวเหนียวไม่ติดครก เมื่อโขลกข้าวเหนียวจนได้ที่แล้วจึงนำไปใส่กระด้ง นวดและผสมงาดำ อีกจนข้าวเหนียวนั้นออกสีดำ นำไปปั้นเป็นรูปรังผึ้งแล้ว ติดไว้กับกิ่งไม้ พร้อมที่จะนำไปแขวนรอบๆ บริเวณประกอบพิธีกรรมในวันรุ่งขึ้น

ชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งจะจัดเตรียมเครื่องเซ่นสังเวยไว้ให้พร้อมก่อนเช้าตรู่วันขึ้นสามค่ำ เดือนสาม เครื่องเซ่นสังเวยประกอบด้วยบายศรี หัวหมูหนึ่งหัว ตีนหมูสี่ตีน หางหมูหนึ่งหาง ไก่ต้มหนึ่งตัว เหล้าป่า ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวขาว ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ข้าวสุกจากปากหม้อ ผักหญ้าปลายำ มะพร้าวอ่อนหนึ่งผล หมากพลูสามคำ ธูปสามดอก เทียนขี้ผึ้งหนึ่งเล่ม

นอกจากนี้แล้วชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนจะต้องเตรียมเหล้าป่าไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อจะได้นำไปในวันรุ่งขึ้นครั้นรุ่งเช้าวันขึ้นสามค่ำ เดือนสาม เมื่อน้ำค้างบนใบหญ้าเริ่มแห้งแล้ว ชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนจะช่วยกันนำรังผึ้ง เครื่องเซ่นสังเวย และเหล้าเดินทางไปยังสถานที่ประกอบพิธีในป่าทึบดังกล่าวแล้ว การเดินทางไปนั้นจะไปเป็นหมู่คณะใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นหญิง ชาย เด็ก และคนชรา จะเข้าไปร่วมพิธีโดยทั่วกัน ในขณะที่เดินทางไปก็จะส่งเสียงดัง ไม่ว่าจะเป็นการคุยกันหรือการร้องรำทำเพลง ตลอดจนการเคาะจังหวะต่างๆ ให้เป็นที่ครึกครื้นสนุกสนาน สตรีและเด็กจะเตรียมเสบียงอาหารกลางวันมาด้วย

ประมาณเพล ชาวบ้านทั้งหมดที่มาในพิธีก็จะมารวมกันอยู่รอบๆ บริเวณสถานที่ประกอบพิธี ส่งเสียงดังแสดงความสนุกสนานโดยตลอด
บุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบ้านในเรื่องของพิธีกรรม จะนำเครื่องเซ่นสังเวยไปจัดไว้ที่ศาลตีนเดียว ทั้งเก้าศาล และที่ศาลใหญ่นั้นจะมีเครื่องเซ่นสังเวยขนาดใหญ่วางไว้ข้างหน้าด้วย

ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งจะต้องเป็นผู้หลักผู้ใหญ่และมีฐานะดีจะนำผ้าม่วง ผ้าไหม ไปพันรอบต้นไม้ใหญ่แล้วแขวนพวงเงิน พวงทอง ด้ายขาว ด้ายแดง อย่างละ ๑ ไจ ไว้รวมกัน ด้ายแดงด้ายขาวอีกส่วนหนึ่งจะนำไปพันรอบต้นไม้ใหญ่เก้ารอบ

ส่วนชาวบ้านรุ่นหนุ่ม จะนำรังผึ้งซึ่งทำด้วยขนมแดกงาไปประคบ แขวนไว้ตามต้นไม้ รอบๆ บริเวณสถานที่ทำพิธี ชาวบ้านทั้งหลายต่างก็จะพูดคุยกันด้วยเสียงอันดังว่า “มีรังผึ้งมากจริง” “มีผึ้งมากจริง”

ครั้นได้เวลาประกอบพิธีกรรมทำขวัญผึ้ง ชาวบ้านทุกคนจะเงียบสงบ ผู้ที่จะประกอบพิธีประมาณ ๒๐ คนจะเข้าไปนั่งอยู่ในเขตปริมณฑล ส่วนชาวบ้านอื่นๆ จะนั่งอยู่รอบนอก

ชาวบ้านราวเก้าคนจะจุดธูปเทียน และนำไปปักไว้ที่ศาลใหญ่และศาลทั้งแปดทิศ แล้วผู้ทำพิธีทำน้ำมนต์เพื่อใช้ปัดเสนียดจัญไร พรมน้ำมนต์ที่เครื่องเซ่นสังเวยและประพรมน้ำมนต์แก่ผู้ที่อยู่ในปริมณฑล ไพว้พระรัตนตรัย กระทำธรณีสาร แล้วร่ายคำสวดและทำขวัญดังต่อไปนี้

สาธุ สักเค กาเม คิริสิตร ตะเต จันทริเขวิมาเร ทีเป รเถจะคาเม ตรุวันคาหะเน เคหวัดทุมมิ เขตเตทุมมาจายันตุเควา ชะระทะระวิสะเมยะ คะคันทัมนา คามิตถัง ถาสังค เตยะตังนิวาระวัดจะนัง สาคะโอเมสุนันตุ ทำมาสะวะนะกาโร อะยัมพะทันตา ทำมะสะวะนะกาโรอะยัมพะทันตา ทำมะสะวะนะกาโร อะยัมพะทันตา

บททำขวัญ บทเชิญนางไม้
ข้าพเจ้าจะขออัญเชิญพระภูมิเจ้าหน้าที่ นางแม่ธรณี นางแม่คงคา (ไอ) ขอเชิญพระอินทร์ พระพรหม พระยม พระกาฬ พระเวสสูวัณ ขอเชิญเทพยดาอารักษ์ผู้ปกปักรักษาอยู่ในบ้าน ป่าพงไพรใหญ่ยาวในเขาหลวง ขอเชิญทั้งปวงจงมาสังเวยเครื่องกระยาหารทั้งหัวหมู เป็ด (อ้อ เป็ดไม่มีนะ) มีไก่ (หัวเราะ) ขนมต้มขนมแกง ขนมต้มลูกใหญ่ (หัวเราะ) ขนมต้มมีขนมต้ม ขนมแกง ข้าวเหนียวแดงข้าวเหนียวขาว ขอเชิญจงมาขอเชิญพระยานางไม้ทั้งปวงที่อยู่ในเขาหลวงขอเชิญจงมาให้พร้อมกันในวันนี้ วันนี้ก็ฤกษ์งามยามดี ขอเชิญเจ้าป่าดงพงไพรใหญ่กว้างใน เขาหลวงขอเชิญทั้งปวงจงมาประสิทธิ์พรให้แก่พวกข้าพเจ้า ที่ได้มากันในวันนี้ ต่อนี้ไปก็จะเชิญนางไม้แล้วนะครับ

ข้าพเจ้าจะประนมหัตถ์นมัสการนิ้วข้าพเจ้าสิบนิ้วจะยกขึ้นเหนือหว่างคิ้วข้าพเจ้าทั้งสองมังคละปัดโต ประกอบไปด้วยมิ่งมงคลแปดประการ ข้าพเจ้าจะขอเชิญ (เอย….) ขวัญ เจ้าพระยานางไม้เจ้าแม่เอย….เอย….มาเถิดนะมะแม่มามาเร็วพลันข้าพเจ้าจะขอเชิญเทพ (ไอ) พยาดา พระยานางไม้ เจ้าแม่ (เออ….เอย) มาเถิดมาอยู่เขาหลวงอย่าเป็นห่วงซึ่งสิงขรอย่าเที่ยวเร่ร่อนอยู่กลางดินกินผลไม้ ดงยาง นางเป็น บาขวัญเจ้าพระยานางไม้ เจ้าแม่เอยมาเถิดนะมะแม่มา ม้า มาเป็นใหญ่ในเขาหลวง อย่าขอเขาหลวงข้าพเจ้าจะเชิญซึ่งทั้งพญาผึ้งทั้งปวงมาอยู่เขาหลวงมาอยู่ที่นี่ อยู่พงไพรป่าพงไพรใหญ่ยาวที่เขาหลวง ข้าพเจ้าจะขอเชิญ (เอย….) พ่อผึ้งและแม่ผึ้งทั้งปวงจงชวนพาลูกหลานพร้อมกับทั้งบริวารมาทำรังรวงยาใหญ่ยาวที่เขาหลวงฝ่ายมนุษย์ทั้งปวงก็รวบรัดมัดคบพู่ผึ้งก็บินหวู่ ๆๆๆ ว่อนร่อนอยู่ตามอากาศฝ่ายประเหมาะผึ้งที่มีความสามารถจึงรวบรัดตัดรังใส่ถังและครุแล้วก็โรยครุลงถึงพื้นพระธรณีเอย….บัดนี้จึงเอาไปถวายพระชินสีห์องค์พระสัมมาสัมพุทโธธิญาณ ตั้งแต่ทั้งนั้นพระยาคชสารกับวานร เอาไปถวายพระพุทธเจ้าเป็นคำกล่าวมาตั้งแต่ครั้งนาน

บัดนี้ข้าพเจ้าจะขอทำขวัญผึ้งมีข้าวเหนียวนั้นแทนทำรังรวงมีขนมต้มลูกใหญ่ เอาน้ำอ้อย น้ำตาลใส่เป็นรังผึ้งจึงเป็นประเพณีมาถึงกาลบัดตั้งแต่โบราณมาจนกระทั่งถึงบัดนี้…นี้ข้าพเจ้าจะขอเชิญเทพยดาอารักษ์ที่ข้าพเจ้าได้ชุมเชิญมาสังเวยในเครื่องกระยาหารในครั้งนี้จงมาคุ้มครองป้องกันประสิทธิ์ธะพรให้แก่พวกข้าพเจ้าที่ได้มาทำขวัญในกาลพิธีครั้งนี้ขอจงให้ประสบแต่ความสุข ความเจริญ อย่าได้มีโพยภัยเข้ามากดกั้นใน (วิทยากรพูดกันเองฟังไม่รู้เรื่อง) โพยภัยอย่าได้มี มีแต่ความสุขความเจริญ พร้อมกันทุกถ้วนหน้าจงถึงนิพพาน ทั่งเถอะธนสาร ทั่วกาลนานเทอญ ขอจงอวยชัยให้พรแก่ข้าพเจ้าจงมี คนใดที่เสียงโตๆ ให้โห่ร้องเอาชัย ข้าพเจ้าครั้งนี้ก็สาธุพร้อมๆ กัน พวกเรานะก็เสร็จพิธี

เมื่อร่ายคำสวดและทำขวัญแล้วกลุ่มชาวบ้าน ทั้งชายหญิงก็จะสมมติตนว่าเป็นพ่อผึ้งแม่ผึ้งมาจากป่าต่างๆ นำเด็กๆ ซึ่งสมมติว่าเป็นลูกผึ้ง ชวนกันเข้ามาทางประตูทั้งแปดทิศ ผู้เฝ้าประตูจะซักถามที่มาของผึ้งสมมติเหล่านั้น เมื่อเข้ามาแล้ว ก็จะชวนกันออกไปทางประตูที่อยู่ตรงกันข้าม แล้วชวนกันเข้ามาใหม่อีกทางประตูอื่นๆ จนครบแปดประตู จากนั้นผู้ประกอบพิธีทั้งหมดก็จะอำลาต้นไม้ใหญ่เป็นอันเสร็จพิธี

หลังจากเสร็จพิธี ชาวบ้านจะเล่นขโมยรังผึ้ง โดยสมมติให้ชาวบ้านหลายๆ คนเป็นขโมยไปลักรังผึ้งที่แขวนไว้ตามต้นไม้ ชาวบ้านหลายๆ คนสมมติว่าเป็นตำรวจจะไปจับกุมขโมยเหล่านั้นมาให้ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาจะตัดสินให้จำคุกขโมยทั้งหลายเป็นปี แต่จำนวนปีที่ต้องโทษในคุกนั้นให้เปลี่ยนเป็นดื่มเหล้าเป็นก๊อก เช่นจำคุกสิบปี ก็ให้ดื่มเหล้าสิบก๊อกแทน การเล่นเช่นนี้จะเป็นที่สนุกสนานของชาวบ้านมาก ในเวลาเล่นจะมีเสียงหัวเราะดังลั่นไปทั่ว ในขณะเดียวกันชาวบ้านที่เมามากจนขาดสติ ก็จะได้รับการพยุงจากเพื่อนๆ เป็นอย่างดี เมื่อเป็นที่สนุกสนานพอสมควรแล้ว ชาวบ้านก็จะเดินทางกลับเป็นคณะเช่นเดียวกับตอนที่มาประกอบพิธี

บทวิเคราะห์ประเพณีทำขวัญผึ้งโดยใช้สำนึกของผู้ศึกษา
การวิเคราะห์ประเพณีการทำขวัญผึ้งในครั้งนี้ ผู้ศึกษาได้ใช้สำนึกของตนเองเป็นหลัก เหตุที่ผู้ศึกษาใช้วิธีอันล่อแหลมเช่นนี้ในการวิเคราะห์ก็เพราะว่าผู้ศึกษารู้จักและคลุกคลีอยู่กับชาวตำบลศรีคีรีมาศเป็นเวลา ๑๖ ปี และได้ทำวิจัยในตำบลนี้เกี่ยวกับคติชนแล้วสองเรื่อง กับเป็นผู้ศึกษาประเพณีการทำขวัญผึ้งมาแล้วประมาณห้าปี อนึ่งในการฟื้นประเพณีนี้ขึ้นมานั้นผู้ศึกษาอยู่ในฐานะของผู้ฟื้นและผู้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ผู้ศึกษาขอเสนอผลการวิเคราะห์เป็นข้อๆ ดังนี้
๑. สถานที่ซึ่งใช้ประกอบพิธี เป็นสถานที่ซึ่งชาวบ้านคาดว่าผึ้งจะมาทำรัง เหตุนี้จึงต้องทำในป่าลึก
หมายเหตุ การนำเสนอรายละเอียดของประเพณีนี้จัดทำในรูปของสไลด์และเทปบันทึกเสียง
๒. วันที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม คือวันขึ้นสามค่ำ เดือนสาม เพราะเป็นฤดูกาลที่ผึ้งจะทำรังด้วยดอกสมุนไพร พร้อมที่จะมีการตีผึ้งได้ในเดือนห้า
๓. ประเพณีนี้น่าจะเกิดขึ้นจากการที่ราษฎรส่งส่วยให้แก่แผ่นดินแทนการใช้แรงงานการส่งส่วยเช่นที่ว่านี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น
๔. ประเพณีนี้เล็กไปเพราะมีการปรับปรุงประมวลรัษฎากรใน พ.ศ. ๒๔๗๖
๕. ชาวบ้านทั่วไปถือว่าพิธีกรรมนี้จะนำศิริมงคลมาให้แก่ผู้ตีผึ้ง ทำให้ได้น้ำผึ้งคุณภาพดี มีปริมาณมากนี้เป็นโครงสร้างพื้นผิวของประเพณี
๖. สิ่งซ่อนเร้นในใจของชาวบ้านในการประกอบพิธีกรรมตามประเพณีนี้ก็คือต้องการความปลอดภัยจากสัตว์ร้าย และสิ่งลึกลับต่างๆ ในขณะออกไปตีผึ้ง ด้วยเหตุนี้จึงต้องประกอบพิธีกรรมเพื่อให้หลักประกันว่าสิ่งลึกลับอันมีอำนาจในป่าจะไม่ทำอันตราย การส่งเสียงดังและให้มีเล่นเสียงดัง ก็เพื่อเป็นการขับไล่สัตว์ร้ายให้หนีไปไกลๆ จากพิธีเป็นเวลาหลายๆ เดือนคลุมไปจนถึงเวลาไปตีผึ้งซึ่งจะมาทำรังในป่าบริเวณประกอบพิธีกรรมด้วย ข้อความในข้อ ๖ นี้ แสดงโครงสร้างลึกของประเพณีการทำขวัญผึ้ง

ที่มาโดย:ดร. ประจักษ์ สายแสง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *