ประเพณีแอ่วสาว

Socail Like & Share

ประเพณีอู้สาว

ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษกับการแบ่งเนื้อที่เรือนและกฎเกณฑ์การใช้เนื้อที่ของประเพณีแอ่วสาว
ผีที่ใกล้ชิดคน คือ ผีบรรพบุรุษเป็นผีประจำอยู่ในเรือนคอยดูแลเอาใจใส่ให้ลูกหลานที่ยังอยู่มีความสุขความเจริญ หากลูกหลานตั้งตนอยู่ในจารีตประเพณี หรือคอยให้ร้ายแก่คนในบ้านที่ประพฤตินอกรีตนอกรอยประเพณี นี้เป็นคติความเชื่อของคนไทยมาแต่เดิมซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังนับถืออยู่ และการเรียกผีบรรพบุรุษของแต่ละภาคของไทยเรียกชื่อต่างๆ กันไป ทางภาคเหนือเรียกว่า “ผีปู่ย่า” ตามความเห็นของ Andrew Turton ผู้บรรยายวิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัย ลอนดอนกล่าวว่า “ผีปู่ย่า” คือวิญญาณกลุ่มเครือญาติอาวุโส และมีความสำคัญในโครงสร้างของครอบครัวที่สิงสถิตของผีปู่ย่านั้นเขาจะปลูกศาลหรือหอไว้ทางเบื้องหัวนอน บางทีอาจจะตรงมุมบ้านที่เห็นว่าเหมาะสมศาลเป็นเรือนเล็กๆ ยกพื้นสูง มีหิ้งวางเครื่องบูชา เช่น พานดอกไม้ธูปเทียน
เชี่ยนหมากคนโทน้ำวางเอาไว้ ผีปู่ย่านี้ยังแยกออกเป็น “ผี เรือน” อีก คือเมื่อมีคนในตระกูลแยกออกไปตั้งเรือนเป็นครอบครัวใหม่ ก็จะแยกหรือแบ่งผีเอาไปด้วย คือ แบ่งเอาดอกไม้บูชาผีปู่ย่าไปยังบ้านเรือนของตนและไปทำหิ้งไว้ด้านหัวนอนไม่สร้างศาล หรือหอผีอีกเพราะถือว่าหอผีนั้นอยู่ที่บ้านเดิม คือ “เก้าผี” แล้ว หิ้งผีที่แยกมาจากหอเก้า“ผี” นั้นจะอยู่ในห้องนอนใหญ่ที่สมาชิกในครอบครัวนอนอยู่รวมกัน โดยทำหิ้งยาวประมาณ ๒ เมตร หรือเล็กกว่านั้น ติดอยู่กับฝาเรือนบริเวณที่ติดกับเสาเอก” (หรือ เสามงคล ได้แก่ เสาต้นที่ ๒ ด้านตะวันออกนับจากด้านในสุดของเรือนนอนออกมา ซึ่งจะมีเสานางอยู่ตรงกันข้าม) ฉะนั้นภายในห้องนอนนี้จึงเป็นส่วนที่สิงสถิตของผีปู่ย่าอีกด้วย ถือเป็นบริเวณหวงห้ามสำหรับผู้ที่ไม่ใช่เครือญาติหรือผู้ที่ “ไม่เป็นผีเดียวกัน” (ผีบรรพบุรุษเดียวกัน) การล่วงล้ำเข้าไปในห้องนอนซึ่งมี “ข่มประตู” แบ่งเขตไว้จะถือว่าผิดผี (ผิดจารีตข้อห้ามของสังคมลานนา ทำให้ผีบรรพบุรุษโกรธ) ผู้ที่ล่วงล้ำเข้าไปจะต้องทำพิธี “เสียผี” (คือ ต้องสมาด้วยเครื่องสังเวยพร้อมกับเงินค่าปรับ) ผู้ที่แยกผีเรือนไปด้วยนี้มักจะเป็นฝ่ายหญิงเพราะการสืบต่อผีปู่ย่านั้น สืบทอดทางผ่ายหญิง แม้ที่บ้านเก้าผีที่มีศาลแล้วก็ยังมีหิ้งผีบรรพบุรุษผีเรือนอยู่ภายในห้องนอนอีกหิ้งผีภายใน ห้องนี้เป็นที่สิงสถิตของผีที่มีอาวุโสต่ำตามศักดิ์ของเครือญาติ ส่วนวิญญาณผีบรรพบุรุษเก่าๆ แก่ๆ ก็จะอยู่กับหอผีที่อยู่นอกตัวเรือน
ฉะนั้นห้องนอนจึงเป็นห้องที่เป็นส่วนหวงห้าม และเป็นบริเวณส่วนตัวของสมาชิกในตระกูลเดียวกันเท่านั้นที่จะเข้าออกได้ ซึ่งอาจจะเรียกว่า “ส่วนใน” ก็ย่อมได้ “ส่วนนอก” ก็คงได้แก่เติ๋นและชานนั่นเองเพราะอยู่นอกเขตหวงห้ามเป็นส่วนเปิดเสรีที่แขก และบุคคลภายนอก จะขึ้นมานั่งคุยกับเจ้าของบ้านได้โดยไม่มีข้อห้ามทางสังคมแต่อย่างใด แม้กระทั่งหนุ่มจากบ้านอื่นจะมา “แอ่วสาว” ในยามค่ำคืนก็มี

สิทธิที่จะนั่งคุยกับลูกสาวของเจ้าของบ้านได้จนถึงเวลาดึกๆ โดยที่พ่อแม่ของสาวไม่รังเกียจแต่อย่างใด แม้พ่อแม่จะเปิดโอกาสให้หนุ่มๆ ได้พบลูกสาวของตนก็ตาม หากแต่ประเพณีการ “เสียผี” หรือสมาลาโทษผีเรือนเมื่อมีการละเมิดแนวปฏิบัติโดยที่พ่อแม่นอนฟังอยู่ด้วยในห้องนอนหรือแอบสังเกตการณ์จากช่องของฝาเรือน การแอ่วสาวนั้นเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างหนึ่งของลานนา วางกติกาในลักษณะระบบปทัสถาน (Norm) จากคติความเชื่อของการนับถือผีบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นประเพณีที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวในหมู่บ้านได้มีโอกาสคุ้นเคยกันด้วยตัวเองอย่างตรงไปตรงมาในสายตาของผู้ใหญ่ คำว่า“แอ่วสาว” แปลว่า “ไปเที่ยวหาผู้หญิงโดยฝ่ายชายจะเป็นผู้ไป ตามปกติในภาคเหนือในช่วง ๕๐-๖๐ ปีที่แล้วมาหลังประกอบการงานในตอนกลาง วันและหลังรับประทานอาหารเย็นเสร็จแล้วประมาณ ๒๑.๐๐ น. เป็นต้นไป หนุ่มจะนำเอาเครื่องดนตรี ได้แก่ ซึง สะล้อ เปี๊ยะ ขลุ่ย เป็นต้นออกจากบ้านไปหาสาวที่หมายจะรัก การที่เขาไม่ไปแต่หัวค่ำเพราะเกรงว่าจะไป “เหยียบเอาถ้วยน้ำพริก” เข้า คือ หมายถึงว่าเกรงจะไปเจอเวลาอาหารเย็น เพราะชาวเหนือส่วนใหญ่จะรับประทานอาหารเย็นกันเกือบจะ ๒ ทุ่มแล้ว ขณะที่เดินไประหว่างทาง มือก็จะดีดซึงหรือสีสะล้อเบาๆ พร้อมกับ “จ้อย” (พรํ่าบทกวีประเภทค่าวเป็นทำนองเสนาะอ่อนหวาน) ไปด้วย ส่วนหญิงสาวจะนั่งทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปั่นฝ้าย มัดพลู เสียบหมากอยู่บริเวณเติ๋นตรงส่วน “ฝาลับนาง” ฝ่ายชายเมื่อมาถึงบ้านผู้หญิงแล้วก็มักจะขึ้นมานั่งตรงเติ๋นในส่วนที่เรียกว่า “ขม” คือบริเวณชายเติ๋นที่ชิดกับชานเรือน บทเจรจาผูกรักของหนุ่มสาวในช่วงนี้มีลักษณะพิเศษต่างกว่าภาคอื่นๆ กล่าวคือ หนุ่มและสาวจะต้องเรียนรู้คำกล่าวเจรจาที่สืบต่อกันมา หรือแต่งขึ้นใหม่ด้วยปฏิภาณ เป็นถ้อยคำที่มีสัมผัสคล้องจองเหมือนคำประพันธ์ประเภท “ค่าว” เพียงแต่คำกล่าวเหล่านั้นมักจะสั้นพอได้ใจความที่แสดงความในใจโต้ตอบกัน บทเจรจาดังกล่าวเรียกว่า “คำคร่าว-คำเครือ “คำอู้บ่าว-อู้สาว” หรือ “คำหยอกสาว”จัดว่าเป็นวรรณกรรมมุขะปาฐะอย่างหนึ่ง ศัพท์บางคำที่ใช้นั้นเป็นสื่อทางสัญลักษณ์ ที่มีความหมายที่ลึกซึ้ง การที่บิดา- มารดาของหญิงสาวให้สิทธิแก่ลูกสาวของตนพูคคุยในเชิงเกี้ยวพาราสี (courtship) กับชายหนุ่มได้โดยเสรีที่บ้านในยามค่ำคืนได้ และลูกสาวจะมีโอกาสพูดคุยกับหนุ่มเชิงรักใคร่ก็ต่อเมื่อตนอายุได้ ๑๕ ปีขึ้นไป เพราะถือว่าเป็นสาวแล้ว การที่ลูกสาวได้สิทธิเช่นนี้ภาษาถิ่นของลานนาเรียกว่า “ประเพณี อยู่นอก” ศัพท์คำนี้ใช้กับลูกสาวโดยเฉพาะ เนื่องจากถึงเวลาหลับนอนแล้วแต่ลูกสาวยังคงพูดคุยกับ หนุ่มที่บริเวณเติ๋นนอกต้องนอนอยู่ ขณะเกี้ยวพาราสีกันนั้นหนุ่มสาวจะยึดขอบเขตและกติกาของการ “นับถือผี” เพราะสาวจะไม่เปิดโอกาสให้หนุ่มแตะเนื้อต้องตัวหนุ่มเองก็จะไม่ล่วงละเมิดจับต้องตัวสาวหรือล่วงล้ำเข้าไปในส่วนหวงห้ามอันเป็นที่สิงสถิตของผีเรือน หากละเมิดข้อห้ามดังกล่าวก็จะถือว่า “ผิดผี”
เพราะทำให้ผีบรรพบุรุษหรือผีเรือนโกรธ เมื่อหนุ่ม “ผิดผี” แล้วก็ต้องทำพิธี “เสียผี” หรือ “ใส่ผี” ให้ถูกต้องตามประเพณีการ “เสียผี” หรือ “ใส่ผี” ก็คือการขอขมาต่อผีบรรพบุรุษและผีเรือนของผู้หญิงโดยฝ่ายชายจะต้องนำเครื่องสังเวยมีหัวหมูต้มให้สุก ๑ หัว ขนม ข้าวต้มมัด ดอกไม้ธูป เทียน และสุรา ๑ ขวด อาจจะมีไก่ต้มอีกสัก ๑-๒ ตัว แล้ว แต่เจ้าของผี (บิดามารดาของผู้หญิง) จะบอกให้ทราบพร้อมกับเงิน “ค่าผี” มากน้อยแล้วแต่คู่กรณีทางฝ่ายหญิงจะเรียกร้องมา นำมาให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงทำพิธีสังเวย “ผีปู่ย่า” ที่หอเก้าผี หรือที่หิ้งผีภายในตัวเรือนเป็นอันเสร็จพิธี แต่อย่างไรก็ตามการผิดผีจะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อหญิงและชายต่างรับปากฝากรักกันแล้ว
เมื่อหนุ่มคุยกับสาวเป็นเวลาพอสมควร หนุ่มก็มักจะชวนกันเดินกลับเป็นกลุ่ม หากหนุ่มคนใดที่มีคนรักเป็นที่ยอมรับกันแล้ว หนุ่มสาวคู่นั้นอาจจะคุยกันต่อหลังจากพวก หรือคนอื่นๆ เดินทางกลับหมู่บ้านของตนแล้ว พวกที่แอ่วสาวกลับมาดึกๆ จะมีการ “จ้อย” ขับลำนำไปตามทาง ซึ่งลำนำในการ “จ้อย” นั้นอาจจะกล่าวถึงผู้หญิงในเชิงตัดพ้อ หากเดินทางกลับเป็นหมู่บางครั้งจะ “จ้อย” ในทำนองตลกคะนองไม่เป็นสาระนักและเป็นลำนำสั้นๆ เรียกว่า “ค่าวว้อง” และ “ค่าวก้อม” เพราะเมื่อจ้อยหรือขับจบเรื่องก็จะวนขึ้นต้นบทเดิมใหม่ วนเวียนไปมา ส่วนการ “จ้อย” ในเชิงตัดพ้อนอกเหนือจากเป็นการระบายความอึดอัดในอกแล้ว ก็ยังเป็นการให้เสียงไปด้วยว่าผู้ที่ส่งเสียงอยู่นั้นมิได้มาร้าย ลำนำในช่วงนี้ส่วนใหญ่จะพรรณนาถึงดาวเดือนในยามดึกน้ำค้างและหมอกอันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติยามค่อนรุ่ง เคล้ากับคำอวยพรให้ผู้หญิงมีความสุข ส่วนตัวผู้ชายจะวังเวงอ้างว้างในเชิงหมดหวังและทอดอาลัย เพราะหญิงมีคู่เสียแล้ว (ง่อมงันใจดวงธัยเหี่ยวม้าน บ่มีคู่ป้องนอนพิง บ่มีคู่ซ้อน ใฝ่ข้องอาสิง หนาวเย็นคิง คนเดียวดั้น เพิ่นมีคู่สมเซยซมเฝื้อฝันแต่ตัวชายเรายากไร้)
ครั้นหนุ่มกลับมาถึงบ้านก็จะนอนที่เติ๋นหน้าห้องนอนนั่นเอง โดยไม่ต้องปลุกใคร เพราะเติ๋นจะใช้เป็นส่วนนอนของลูกชายเมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม และเริ่ม “แอ่วสาว” ได้แล้ว
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *